พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑

อ่าวเมืองนครศรีธรรมราช

วันที่ ๒ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๑ศก ๑๑๗

ถึงท่านกลาง กรมหลวงเทวะวงศ์

ด้วยระยะทางที่ฉันได้ออกมาครั้งนี้ ได้ออกจากเมืองสมุทปราการเวลาค่ำมีคลื่นแลลมอ่อน ๆ วันที่ ๒๔ เวลาย่ำค่ำถึงเกาะพงัน ทอดที่อ่าวธารเสด็จคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นเวลาเช้า ฉันไปดูลำธารที่พบใหม่โดยเรือกระเชียงเรือไฟเล็กลาก อ่าวนี้ถัดอ่าวเสด็จไปหน่อยหนึ่ง ต้องขึ้นเดิรบกไปทาง ๒๐ เส้นจึงได้ถึงน้ำตก เดิรขึ้นไปได้ตามริมลำธารอีก ๘ เส้น น้ำไม่สู้จะมากนัก แต่ยังดีกว่าธารประพาสหน่อยหนึ่ง จึงได้ให้ชื่อว่า ธารประเวศ จารึก จ, ป, ร, แลชื่อธารแล้วกลับมาขึ้นธารเสด็จ อาบน้ำที่น้ำตกชั้นล่าง เวลาบ่ายฝนตกหนัก ศาลาที่ทำไว้ไม่พอที่จะบังฝนได้ จึงต้องกินเข้าทั้งกำลังฝน เปียกบ้างแห้งบ้าง แล้วกลับมาลงเรือ เวลาค่ำออกเรือจากที่นั้น

วันที่ ๒๖ เวลาบ่ายถึงเมืองสงขลา เวลาบ่ายพระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ รายามุดาเมืองไทร กับตนกูมหมัดบุตรพระยายุทธการโกศล พระยาปลิต มาคอยรับอยู่พร้อมด้วยข้าหลวงแลผู้ว่าราชการเมืองกรมการเมืองสงขลาเมืองพัทลุง เวลาเย็นได้ขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์แลดูศาลาซึ่งได้สร้างไว้ที่เขาตังกวน เขาตัดทางลงมาถึงริมทเล ขึ้นที่แหลมทราย ตรงไปเขาตังกวนแลแยกอ้อมเขาไปถึงเมืองอีกทางหนึ่ง แม่เล็กได้ไปเที่ยวตลาดในเวลาเย็นวันนั้นโดยทางบกใช้รถม้า

วันที่ ๒๗ ได้ลงเรือกระเชียงไปขึ้นที่เมือง ดูออฟิศที่ว่าการเมืองแลศาลามณฑล ศาลอำเภอ ซึ่งได้ตั้งในที่จวนเก่า ได้ฟังอ่านคำพิพากษาแล้วจึงไปพักที่ ๆ อยู่ข้าหลวงเทศาภิบาล เวลาบ่ายไปดูถนนตลาด แลวัดมัชฌิมาวาสซึ่งพระรัตนมุนี เจ้าคณะมณฑลพึ่งมาถึงแลจะจำพรรษาอยู่วัดดอนแย้ มาคอยรับอยู่ในที่นั้นด้วย แล้วขึ้นรถไปดูถนนรอบกำแพงเมือง ซึ่งได้ทำขึ้นภายหลังฉันกลับจากยาวา ปลูกต้นไม้ริมทางแล้วเสร็จพอใช้ได้ยังไม่สู้แข็ง เวลาเย็นมีพยุฝน ต้องพักอยู่ที่บ้านพระยาวิเชียรคิรีจนสงบแล้วจึงได้กลับลงเรือ การทั้งปวงในเมืองสงขลาแลเห็นปรากฎได้ว่าจำเริญดีขึ้นทุกสิ่ง

วันที่ ๒๘ ได้ขึ้นม้าไปสวนพระยาวิเชียรคิรีที่น่าเขาเทวดา ระยะทาง ๒๐๐ เส้น ทางนี้เปนต้นทางที่จะไปเมืองไทร เปนทางที่ยังเรียบร้อยดี ไปแยกถัดคลองสำโรงไปหน่อยหนึ่ง ทางข้างขวาไปเมืองไทร แต่ว่าทางนี้มีที่พรุหล่ม ซึ่งตัดถนนข้ามไปแต่เดิม ทางจึงได้เสียอยู่ตอนหนึ่ง แยกข้างซ้ายเปนทางที่ไปสวนพระยาวิเชียรคิรี ปลายถนนนี้หมดอยู่เพียงน่าสวน ต่อไปก็เปนทางเดิรไปเมืองแขกมลายูฝั่งตวันออก ในที่สวนนี้ปลูกมพร้าวแลเปนที่หองซุ้ยฝังศพแลอัฐิ พักอยู่จนเวลาบ่ายจึงได้กลับ เวลาค่ำออกเรือ

วันที่ ๒๙ เวลาเช้า ถึงที่ทอดน่าเมืองกลันตัน พระยากลันตันรายามุดา พระรัษฎาธิบดีบุตร ลงมา ได้ให้สัญญาบัตรพระยากลันตันเปนพระยาเดชานุชิตจางวาง รายามุดาเปนพระยาพิพิธภักดี พระยากลันตัน พระรัษฎาธิบดีบุตรเปนพระโยธีปฏิยุทธรายามุดา แล้วได้ขึ้นไปเมืองกลันตัน คราวนี้ที่ปากน้ำเปิดช่องใหม่ ระยะทางใกล้ขึ้นกว่าแต่ก่อน การรับรองที่เมืองกลันตัน จัดเรียบร้อยแขงแรงดียิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน ใช้เรือจอดแทนกรุยร่องน้ำ ปักธงขาวตั้งแต่ปากน้ำขึ้นไปตลอดจนถึงเมือง ถึง ๖๐๐ ลำเศษ เรือแห่แลตามก็มาก เปนจำนวนเรือเกณฑ์ถึงพันลำ ปลูกพลับพลากลางสนาม ในระหว่างด้านหลังพลับพลากับจวนเจ้าเมืองตั้งร้านขายผ้า ๔ แถวประมาณสัก ๖๐ ร้าน มีร้านของกินสายนอกอีกข้างละแถว ตั้งเปนอย่างร้านบาซามลายูฤๅชวา มีหลังคาแลปรำร่มตลอด ทางปูด้วยผ้า ญาติพี่น้องทั้งหญิง ชาย} ดูสมัคสมานพรักพร้อมกันต้อนรับเลี้ยงดูสนิทสนมเหมือนอย่างหัวเมืองไทยๆ เวลาบ่ายกลับลงมา มีพยุแลฝนตั้งเมื่อจวนจะถึงปากอ่าว จึงได้ขึ้นพักอยู่บนที่พักซึ่งพระยากลันตันลงมาคอยรับอยู่ปากน้ำนั้น จนฝนหายจึงได้กลับลงมาเรือ ออกเรือเวลาค่ำ

วันที่ ๓๐ เวลาเช้าถึงเมืองตรังกานู พระยาตรังกานูป่วยเปนเหน็บชาข้อเปลี้ยไป จึงให้ตนกูบัตซาและตนกูอื่นๆ ซึ่งเข้าไปกรุงเทพฯ ลงมารับในเรือ พระราชินีขึ้นก่อนในเวลาเช้า เพื่อจะไม่ให้แดดรอนเพราะลูกขึ้นด้วย พระยาตรังกานูรับที่ประตูเรือน เมื่อเลี้ยงน้ำชาแล้วจะไปเที่ยวตลาด ก็ให้พี่น้องบุตรภรรยาซึ่งไม่เคยออกนอกบ้านเลยนั้นตามไปด้วยจนตลอดเวลากลับ ฉันขึ้นต่อเวลา ๔ โมงเช้า มีเรือทอดต่อติดกันตลอดลำน้ำทั้ง ๒ ข้าง ตั้งแต่ปากอ่าวจนถึงน่าเมืองและเรือตามเปนอันมาก พระยาตรังกานูให้บุตรชายคนใหญ่อายุ ๑๐ ขวบ กับญาติพี่น้องทั้งสิ้นลงมาคอยรับอยู่ที่ท่าน้ำ พระยาตรังกานูคอยรับอยู่ที่พื้นดิน่าบาไล (หอนั่ง) ดูอาการรูปร่างอ้วนพีบริบูรณ์แต่ปลกเปลี้ย เดิรพื้นราบต้องถือไม้เท้าไปไม่ได้ไกล ต้องพยุงเข้าบ่าสองข้าง ก้าวขึ้นสูงไม่ได้เลย ต้องเข้าปีกดันขึ้นไป ได้ไต่ถามดูลักษณอาการทำนองกรมพระราชวังบวรวิไชย แต่เห็นจะยังไม่แก่ถึงกรมพระราชวัง คงจะมีเวลาหาย เพราะป่วยอยู่ครั้งนี้ ๒ เดือนพึ่งจะคลายขึ้น เมื่อนั่งที่บาไลในที่ประชุมคนหลายร้อยคนครู่หนึ่งแล้ว จึงได้ไปยังเรือนที่อยู่ซึ่งย้ายเข้าไปอยู่ริมกำแพงเมือง เรือนนี้พึ่งทำขึ้นใหม่หลังนอกเปนตึกลักษณเรือนกรุงเทพ ฯ แต่ข้างในเข้าไปยังเปนเรือฝากระดานอย่างมลายู การตกแต่งเปนอย่างกรุงเทพ ฯ มีแขวนรูปภาพรูปถ่าย และในห้องนอนมีเตียง ครึกครื้นขึ้นมาก การเลี้ยงก็มีเครื่องโต๊ะอย่างใหม่ ๆ ตลอดจนการแต่งเนื้อแต่งตัวเปนชั้นใหม่ชั้นเก่า พวกหนุ่มๆ เปนอย่างกรุงเทพ ฯ พวกแก่ๆ คงแต่งตัวอยู่ตามเดิม แต่ออกมารับพร้อมกันหมดทั้งแก่ทั้งหนุ่มผิดกว่าแต่ก่อน เมื่อแต่ก่อนนั้นคนแก่ๆ ไม่ใคร่ออก เมื่อเลี้ยงดูกันตามเคยแล้วก็กลับลงมาในเวลาเที่ยง พระยาตรังกานู มีความปราถนาจะเข้าไปกรุงเทพ ฯ เปนอย่างยิ่ง โดยจริงเพราะเคยสนุกและเปนที่ไว้ใจเสียแล้ว ถ้าจะเทียบกับเมื่อคราวกลับจากยาวาและครั้งนี้ ก็ผิดไกลกันเปนอันมาก ครั้งนี้ดูสนิทสนมไม่ผิดกันกับเมืองกลันตัน

เวลาบ่ายออกจากเมืองตรังกานูมาทอดที่เกาะริดัง เวลาเย็นขึ้นหาด ครั้นเวลา ๘ ทุ่มออกเรือจากเกาะริดัง

วันที่ ๑ เดือนกรกฎาคม เวลาเที่ยงถึงบางนราแขวงเมืองสายบุรี หลวงพรหมภักดี ข้าหลวง พระยาหนอง ก พระยาสาย พระพิพิธภักดี ผู้ช่วยเมืองตานี พระโยธานุประดิษฐ ผู้ช่วยเมืองยะหริ่ง กับข้าหลวงประจำเมืองแขกลงมาหาในเรือ เวลาบ่ายขึ้นบก เขาตั้งพลับไว้เหมือนหมู่บ้าน พระยายะหริ่ง พระยายะลา พระยาระแงะ หลวงจีนคณานุรักษ์เมืองตานีคอยรับอยู่ในที่นั้น ที่ตำบลบางนรานี้เปนภาคภูมิดีมาก เมื่อเข้าช่องปากน้ำไปนิดเดียวก็ถึงลำน้ำใหญ่ ซึ่งขึ้นไปได้ถึงเมืองกลันตันเมืองระแงะ หมู่บ้านใหญ่ที่ตรงปากช่องมีเรือนและสวนมะพร้าว จำนวนคนในที่นั้นถึงพันเศษ ต่อขึ้นไปข้างเหนือน้ำก็มีบ้านเรือนรายไป มีต้นมพร้าวมาก พระยาสายและพวกเมืองสายได้ตั้งโรงจักรทำแป้งมันสำโรงในที่นี้ มีเรือเมล์สิงคโปร์มาทอดอยู่ลำหนึ่ง รับบันทุกเป็ดไก่โคปลามพร้าว และเรือใบขนาดใหญ่ ๆ หลายลำ สินค้าออกจากที่นี่มาก สังเกตดูว่าไชยภูมิที่ดีกว่าตำบลตุลูบัน ซึ่งพระยาสายลงมาตั้งอยู่เปนเมืองใหม่นั้น เวลาค่ำออกเรือจากบางนรา

วันที่ ๒ เวลาเที่ยงจึงมาทอดในที่นี้ บันดาคนที่มาทั้งปวงมีความสุขสบายดี กำหนดจะได้ขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชในเวลาพรุ่งนี้ ค้างอยู่ ๔ คืนแล้วจึงจะได้ไปเมืองหลังสวนและเมืองชุมพร จะกลับถึงกรุงเทพ ฯ ตามกำหนดเดิม ขอให้เธอนำข่าวทั้งนี้ แจ้งให้พระบรมวงศานุวงศและข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายในทราบด้วย

สยามินทร์

  1. ๑. พระยาสุขุมนัยวินิต (คือเจ้าพระยายมราช ปั้น สุขุม) เปนข้าหลวงเทศาภิบาล

  2. ๒. พระรัตนมุนี (แก้ว) วัดประยุรวงศ์ ต่อมาได้เปนที่พระเทพมุนี แล้วเลื่อนเปรพระธรรมเจดีย์มาอยู่วัดพระเชตุพน

  3. ๓. พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณสงขลา)

  4. ๔. สวนนี้เรียกกันว่า “สวนตูน” แต่เจ้าของขนานนามว่า สวนวัฑฒีวัน

  5. ๕. การที่ทรงตั้งเปนจางวาง พวกมลายูถือว่าทรงตั้งเปนสุลต่าน เจ้าเมืองเปนแต่รายา จึงพอใจเปนจางวาง แต่คงว่าราชการเมืองอยู่นั่นเอง เปนประเพณีเช่นนี้มาถึง ๓ ชั่วคน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ