พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๒

เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ ทอดที่เมืองภูเก็จ

วันที่ ๓๐ เมษายน รัตนโกสินทร๒๓ศก ๑๐๙

ถึงที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งอยู่รักษาพระนคร

ด้วยแต่ก่อนได้บอกมาแต่พลับพลาท่าตะเภาจนถึงวันที่ ๑๙ เดือนเมษายน ขาดแต่เพียงในวันนั้นเวลาเย็นไปดูบ้านท่าตะเภาซึ่งเปนเมือง แต่หมู่บ้านร่องแร่งไม่น่าจะกล่าวถึง ค้างอยู่ที่พลับพลาอีกคืนหนึ่ง วันที่ ๒๐ ขึ้นมาพร้อมด้วยเจ้านายขุนนางบางคน เหลือนั้นไปช้าง ช้างในไปวอ ออกจากพลับพลาเดิรไปตามทางที่ตัดแต่ง การซึ่งเรียกว่าตัดทางทำทางนั้น จะเข้าใจว่าเหมือนตัดทางเสด็จจากพระปฐมเจดีย์ไปพระแท่น ฤๅตั้งแต่พระบาทลงมาเมืองปราจิณบุรีนั้นไม่ได้ ตัดทางนี้คือตัดกิ่งไม้และต้นไม้เล็กๆ ซึ่งรกระข้างทางเพราะทางโทรเลขในเมืองชุมพร ซึ่งพระรามบริรักษ์ออกมาเกณฑ์ในทำนั้น ไม่ได้ทำกี่เส้น เปนแต่มาเบียดเบียนราษฎร จนแตกตื่นไปหมดแล้วก็เลิกกันเท่านั้น ชื่อเสียงยังเปนที่เกลียดชังรุนแรงมาก ทางที่ตัดไปเดี๋ยวนี้ คือตามทางเดิมซึ่งเปนทางช้างเดิรบันทุกสินค้าเข้าออกกับเมืองกระ คือ ขาออกเปนสินค้ากรุงเทพฯ มีหม้อเข้าเปนสำคัญกว่าอื่น ขากลับบันทุกหวายชุมพรเปนต้น ซึ่งเปนสินค้าเกิดที่เมืองกระเข้ามาเมืองชุมพร ค่าจ้างบันทุกไปบันทุกมาเที่ยวละสี่บาท ถึงว่าช้างอกกว้างน่าจะต้องเดิรทางโตๆ ก็จริง แต่ช้างไม่ได้เดิรทางใหญ่เลย ก้าวเท้าเกือบจะตรงกันทั้งสี่รอยซึ่งเปนทางเดิรจึ่งได้มีเท่ากับ “พอจุรอยผู้เดียวเดิร” ทางตอนแรกๆ ไปก็ดูตั้งใจที่จะตัดตอไม้เล็ก ๆ ออกไปให้ได้สี่ศอก แต่เพราะวันจวนเหลือเกินนัก จึ่งได้อยู่ตามเดิม เปนแต่ตัดหนีหล่มเพียงเก้าวาสิบวาเส้นหนึ่ง ตัดแต่ต้นไม้สองข้างซึ่งช้างเดิรอยู่นั้นเขาไม่ได้ใช้กูบ ช้างเราไปมีกูบ ต้องตัดกิ่งไม้เสียพอไม่ให้ระ แต่ซึ่งจะปราบฉายทางให้ราบนั้น ถึงมีเวลาเท่าไรก็ปราบฉายไม่ได้ เพราะตั้งแต่พ้นทุ่งนา ซึ่งเรียกว่ากรอกธรณี เปนนาพระยาชุมพรเปนต้นออกไป ก็เปนที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไปตลอด ตะพานที่ข้ามลำน้ำนั้น ถ้าจะทำให้ตลอดทุกลำน้ำลำห้วยก็จะเปนการเหลือกำลัง ถ้าจะนับตลอดทางแล้วเปนหลายร้อยตำบลที่ต้องข้ามต้องใช้ขับม้าแลช้างลุยน้ำ เว้นไว้แต่ที่เปนลำคลองใหญ่ คือคลองชุมพรซึ่งทบไปทบมาต้องข้ามหลายครั้ง แต่น้ำก็ตื้น ตะพานแรกพวกที่คุมช้างไปไม่ทราบพาช้างเดิรทางตะพานจนตะพานหัก ก็ต้องขับม้าลุยน้ำไป ลำบากอยู่แต่เมื่อจะขึ้นตลิ่งเปนที่ชันสูงทุกแห่ง ตั้งแต่กรอกธรณีออกไปจนถึงบ้านถ้ำสนุก มีนาเกือบจะติดต่อกันไปแต่ร้างเสียหลายตำบล ด้วยเรื่องกลัวเกณฑ์ทำทางโทรเลขอย่างหนึ่ง ด้วยเรื่องไม่มีเข้ากินอย่างหนึ่ง นาในเมืองชุมพรหมู่นี้อยู่ข้างจะเสียทุก ๆ ปี ถึงในปีนี้เข้าก็เสียมากกว่าได้ เพราะน้ำฝนน้ำท่าไม่ปรกติ แต่ข้างเมืองกระเขาบริบูรณ เข้าที่ใช้เลี้ยงคนทำทางแลไพร่พลที่ไปใช้เฃ้ากรุงเทพฯ ทั้งสิ้น ดูภูมฐานคล้ายกันกับเมืองพัทลุง แต่ที่เมืองพัทลุง ดูชุ่มชื่นมีอาการที่จะพึงเห็นบริบูรณกว่าที่นี้ ทางผ่านเขาเตี้ยๆ มาเขาหนึ่งเรียกว่าเขาปูน มีบ่อน้ำซับฤๅน้ำซึมคล้ายกับที่เมืองกาญจนบุรีอยู่ข้างทาง น้ำตกรินๆ อยู่เสมอไม่ขาด ว่าถึงคนแลสัตว์จะอาบกินเท่าไรก็ไม่รู้แห้ง ไปพักกินเฃ้าเช้าที่สวนอำแดงนุ้ย ปลูกแต่แคร่ใต้ต้นไม้ไม่ได้ทำพลับพลา ถ้ำสนุกซึ่งเรียกเปนชื่อตำบลนี้ อยู่ห่างสวนอำแดงนุ้ยไปประมาณ ๒๐ เส้นแต่ไม่ได้ไปเที่ยว เช้าเพียงห้าโมงออกเดิรจากบ้านถ้ำสนุก ไปประเดี๋ยวหนึ่งถึงหลัก ๓๐๐ เส้น เปนที่สุดที่คนเมืองชุมพรไปตั้งทำมาหากิน ต่อนั้นไปเปนดง ดงนั้นไม่เปนป่าใหญ่สูงอันใดเปนแต่ป่าดิบโปร่ง ๆ ดงพระฉายทึบกว่า มีต้นตะเคียนต้นยางใหญ่ห่าง ๆ ที่ทึบก็ทึบด้วยไม้เล็ก ๆ คือไผ่ผากและระกำเปนพื้น ทางระยะนี้ขึ้นสูงลงต่ำบ่อย ๆ ที่ต้องข้ามห้วยตลิ่งสูงสองแห่งคือห้วยฟรึงกับห้วยแพะ ทางตอนย่านสาวร้องไห้ซึ่งเปนย่านยาวแลเปนที่แจ้งอยู่ข้างจะร้อนจัด แผ่นดินที่สูงตอนนี้เพียง ๑๕๐ ฟิต ครั้นเมื่อถึงบกแพะซึ่งเปนที่ประทับร้อนต่ำลงไป ๕๐ ฟิต พลับพลาประทับร้อนนี้ทำอย่างน้อย ๆ ยังไม่แล้วเสร็จดี แต่พอพักกันได้ บ่าย ๓ โมงเดิรจากตำบลแพะ ตอนนี้ต้นไม้ทึบกว่าที่ล่วงมาแล้ว แต่ทึบด้วยไผ่ผากขึ้นชิดลำประกันครอบทาง มิใช่ร่มไม้ใหญ่ที่อยู่เปนระยะห่าง ๆ มีต้นยูงเปนต้น ทางเดิรขึ้น ๆ ลง ๆ หนักขึ้นกว่าแต่ก่อน เกือบจะว่าได้ว่าไม่มีที่ราบเกินสิบเส้น เพราะเปนอันเดิรขึ้นไปตามไหล่เขา แต่เขาเหล่านี้เปนดินแดง ๆ มากกว่าเปนศิลา พบศิลาก้อนตามทางบ้างก็เหมือนกับเปนศิลาลอย ทางที่เลียบไหล่เขาสูง ๆ จนแลลงไปข้างล่างลึกก็มีหลายแห่ง ต้องข้ามลำธารที่ลึกตลิ่งชันเนืองๆ ช้างต้องคุกเท้าหลังเวลาลง ม้าเวลาจะขึ้นต้องขับอย่างแรงบางทีก็ชงักบ้าง ต้องข้ามคลองชุมพรสองแห่ง คือท่าแซะแลหาดพม่าตาย พื้นคลองเปนกรวดน้ำไหลเชี่ยวอย่างลำธารกว้างประมาณ ๑๐ วา ๑๒ วา ต้องทำตะพานข้าม เดิรไปตามทางนั้นแลเห็นเขารอบทุกด้าน สลับสับเปลี่ยนกันมาไม่รู้ว่ากี่ยอด ไหล่เขาที่ข้ามไปวันนี้สูงอยู่ใน ๒๕๐ ฟิตไปหา ๓๐๐ ฟิต บ่าย ๔ โมงไปถึงท่าไม้สาย ซึ่งเปนที่ประทับแรม พระอัษฎงคตทิศรักษามาคอยรับที่จะนำทางต่อไปอยู่ที่นั้น ที่ซึ่งตั้งพลับพลาอยู่ในระหว่างซอกเขาทั้งสองข้างมีลำคลองชุมพรอยู่ใกล้เขาด้านหนึ่ง จึงทำพลับพลาที่ริมคลองเปนข้างใน อาศรัยเขาเปนรั้วค่ายด้านหนึ่ง มีพลับพลาท้องพระโรงหลังหนึ่งที่อยู่เจ็ดห้องหลังหนึ่งรั้วค่ายใช้ม่านฉนวน ที่อยู่นั้นตั้งอยู่ริมน้ำ แลมีชานกว้างปลูกลงไปในน้ำอยู่ในร่มอินทนิลสี่ต้น เปนที่นั่งเล่น น้ำในลำธารลึกคืบเศษจนศอกหนึ่ง ไหลเชี่ยวเปนที่อาบเล่นสบาย

วันที่ ๒๑ เวลาเช้าโมงเศษ ออกจากพลับพลาท่าไม้ลาย ทางเดิรยิ่งขึ้นสูงลงต่ำมากขึ้นกว่าตอนหลังเวลาวานนี้ ต้นไม้ก็ยิ่งทึบมากขึ้น ท่าซึ่งข้ามห้วยก็ยิ่งสูงยิ่งชันมากขึ้น ต้องข้ามลำคลองชุมพรสองแห่ง คือย่านเสือเต้นแลบกกลางมีตะพาน เมื่อออกจากท่าไม้ลายไปหน่อยหนึ่ง พบคนเมืองกระซึ่งมาทำไร่อยู่ในแขวงชุมพรสองเรือน ข้ามหาดประในลำน้ำชุมพรไปขึ้นท่าสารเปนพรมแดนเมืองกระกับเมืองชุมพรต่อกัน เปนที่ประทับเช้า มีบ้านเรืองคนที่มาทำไร่อยู่หลายเรือน ตามเขาที่ต่ำๆ ก็เปนที่ล้มไม้ทำไร่โดยมาก หม้อซึ่งบันทุกออกไปเมืองกระค้างอยู่ เพราะช้างต้องเกณฑ์รับเสด็จ ถามได้ความว่าซื้อมาจากกรมหมื่นศิริธัช ค่าจ้างคนหาบ หาบหนึ่งห้าสิบใบเปนเงินกึ่งตำลึง ถ้าบันทุกช้างได้ร้อยใบเปนค่าจ้างสี่บาท จำหน่ายที่เมืองกระร้อยละสิบสองเหรียญ ยังมีผู้รับไปขายปลีกเปนใบละสลึงอีกชั้นหนึ่ง อยู่ข้างได้ราคาดีมาก ที่พลับพลานี้แลตามทางได้ยินเสียงชะนีร้องโหยไห้ไปโดยรอบ แต่พวกนี้ไม่รู้จักจับชะนีเล่นเลย ร้องว่า “ยิกไม่ไหว” เวลาเช้า ๕ โมงออกจากท่าสารไปกระบวนช้าง เพราะจะต้องลงหินซองเดิรลุยลำธาร ใช้ช้างพระยานครศรีธรรมราช ชื่อพังเล็บดำ ฝีเท้าเร็วแลหลังดีผูกสับประคับเมาะอย่างแขกของพระยาระนองกว้างฃวางแลไม่ใคร่โคลง ดีกว่าสับประคับไทยมาก ทางตั้งแต่ท่าสารพรมแดนไปจนถึงเมืองกระ เขาล้มไม้ตัดทางกว้างขวางใหญ่โตตามแบบทางสายโทรเลข ได้ปักเสาไว้แล้วก็มาก ที่ยังไม่ได้ปักก็มีเสาทอดประจำที่อยู่แล้วบ้าง ตัดไว้แล้วยังไม่ได้มาทอดประจำที่บ้าง จะพาดเมื่อไรก็พาดได้ แต่ทางที่เดิรฉายปราบไม่ได้เช่นว่ามาแล้วต้องเดิรขึ้นสูงลงต่ำร่ำไป เดิรไปในช่องเขาที่แคบหน่อยหนึ่งออกที่กว้าง แลเห็นเขาเปนวงรอบสลับซับซ้อนกัน พื้นดินที่เดิรไปสูง ๆ ต่ำ ๆ แลเห็นซีนะรีงดงามไปรอบข้าง เมื่อช้างขึ้นที่สูงก็แลเห็นกระบวนหลังแลกระบวนน่าตลอด เมื่อลงที่ต่ำก็แลเห็นกระบวนที่ลงจากที่สูงข้างหลังแลขึ้นข้างน่างามนัก ในกลางที่กว้างนี้เปนวอเตอเชด ซึ่งเขาเรียกตร่อน้ำแบ่ง ลำธารข้างหนึ่งน้ำตกไปลงคลองชุมพร ลำธารข้างหนึ่งน้ำตกไปลงคลอดปากกะลี้ฤๅปากฉลีกเมืองกระ จะหาศิลาที่จารึกให้เปนน่าผาแห่งใดแห่งหนึ่งก็ไม่มี ด้วยใกล้ ๆ ทางเปนแต่เนินดินไปเสียทั้งนั้น มีแต่ศิลาลอยใหญ่จมดินอยู่ที่ข้างทางก้อนหนึ่ง จึ่งได้จารึกอักษร จ.ป.ร. อย่างเช่นในอัฐ (เพราะมิได้ลงช้างไปเขียนเอง) แลศักราช ๑๐๙ มอบเครื่องมือให้ผู้ช่วยเมืองไชยาอยู่เราะ แล้วเดิรต่อไปทางประมาณสักหกสิบเจ็ดสิบเส้นลงปากหินซอง คำซึ่งเรียกว่าหินซองนี้ คือเปนทางไปในระหว่างเขาติดต่อกัน เหมือนกำแพงกั้นทั้งสองข้างแต่มิใช่ว่าเขากั้นไปตามยาวเช่นเดิรไปในฉนวน เขานั้นกั้นขวาง ๆ รี ๆ เกือบจะว่าตั้งอยู่ทุกท่า คือตะแคงบ้างเสี้ยวบ้างตามยาวบ้าง ขวางตรงๆ บ้าง ถ้าเปนแต่เลี้ยวก็ต้องเลี้ยวน้อยหน่อยหนึ่ง ถ้าขวางตรงก็ต้องเลี้ยวอ้อมฤๅข้ามไหล่เขาไป แต่ซึ่งจะหาทางที่ไม่ตะแคงข้างหนึ่งนั้น นอกจากเดิรในลำธานสายน้ำแล้วเปนไม่มี จึ่งต้องเดิรในลำธาร แต่ในลำธารที่เดิรนั้นไม่เปนศิลาก้อนใหญ่ ถึงว่าสายน้ำไหลเชี่ยวก็ไม่มากพออาบ น่าลำธารไปกว้างสองศอกบ้างสองศอกเศษบ้าง มีต้นบอนขึ้นทั้งสองฟากสะพรั่งเขียวไปตลอด ลางตอนก็ตรงลิ่วแลสุดตา แต่เปนเช่นนี้ไปหลายสิบเส้น จึ่งไปมีที่คดเคี้ยวสายน้ำลึกมากขึ้นต้องขึ้นเดิรข้ามหัวเขาแลลงที่ชัน ๆ สูงตั้งแต่สามวาสี่วาจนถึงห้าวาหกวา ชันโกรกเปนขึ้นกระไดลงกระไดจนต้องสับคั่นก็มี ในกลางย่านหินซองนี้มีน้ำตกจากศิลาที่เขาสูงสักเจ็ดแปดศอกแห่งหนึ่ง คล้ายกับพุเล็กๆ ที่ไทรโยคเรียกว่าน้ำฉ่า ดูเปนที่ชื่นชมยินดีของคนที่เดิรทางอย่างยิ่ง น้ำสนิทเหมือนหนึ่งพุที่เขาในทเลทั้งปวง เปนไม่มีใครเว้นที่จะลงดื่มได้สักคนเดียว ตั้งแต่พ้นน้ำฉ่าไปหน่อยหนึ่ง ต้องขึ้นลงถี่อย่างยิ่งไปจนถึงห้วยกุย จึ่งได้พ้นหินซอง คือหมดเขาที่เปนกำแพงทั้งสองข้างพร้อมกัน ตกถึงที่กว้างแลเห็นเขาซึ่งข้ามมาแล้วเปนกำแพงดำเงื้อมอยู่ข้างหลัง ตามซ้ายขวาแลข้างหน้าก็มีเขาสกัดกั้นไปรอบ แต่ห่างออกไปไม่เหมือนที่หินซอง ไปหน่อยหนึ่งก็ถึงพลับพลาประทับร้อนบกอินทนิล ถึงว่าช้างที่ไปว่ามีฝีเท้าเร็วก็เดิรเร็วไปไม่ได้ ด้วยเรื่องขึ้นๆ ลงๆ นี้เดิรอยู่ในโมงละ ๑๕๐ เส้น พลับพลาที่บกอินทนิลนี้ตั้งอยู่ริมธารน้ำคลองกะลี้ฤๅฉลีก เขาทำที่อาบน้ำไว้ถมศิลากั้นขังน้ำได้สูงกว่าศอก มาถึงบ่ายโมงเศษ เดิรถึง ๒ ชั่วโมง บ่าย ๓ โมงเกือบครึ่งออกเดิรจากบกอินทนิลไปม้า ตอนแรกมีขึ้นสูงลงต่ำถี่ แต่ต่อไปตอนข้างหลัง ได้เดิรราบตอนยาวๆ เพราะเขาตัดทางผ่านไปตามหัวเนิน เหมือนอย่างขึ้นเขาสูงเมืองปินัง บางแห่งเหมือนทีเดียว ซีนะรียิ่งงามขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แลไปข้างหลังมีเขาสูงที่สุดจนเขียวเสมอเมฆ แล้วมีเขาต่ำๆ ซ้อนลงมาเปนชั้น ๆ ด้านข้างแลด้านน่าก็มียอดเขาเปนลูกคลื่นไปทั้งนั้น ต้นไม้หลังเนินที่ใกล้ๆ โปร่งแลเห็นได้โล่งตลอด ที่เปนพื้นราบคล้ายกับเมืองกาญจนบุรีเมื่อจะถึงปากแพรกก็มี ที่ราบนี้เดิรไปหาเขาแถวหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ข้างน่า แล้วเดิรเลียบเขานั้นไป ให้ข้างเขาที่ข้ามมาแลเห็นเขาซับซ้อนกันเช่นว่ามาแล้ว เหมือนเปนทเลใหญ่อยู่ในหว่างเขา ที่ริมทางที่ไปตีต้นไผ่ขึ้นเรียงเปนแถวเหมือนที่สวนสราญรมย์ เลี้ยวหัวเขานี้ถึงตำบลช้างกลิ้ง (ซึ่งมีนิทานเล่าคล้ายเรื่องตาม่องไล่) เปนทางแคบเลียบไปตามไหล่เขาที่ชัน พื้นลำธารข้างล่างลึก แต่ไม่น่ากลัวเหมือนอย่างชื่อที่เรียก ด้วยหนทางกว้าง ตั้งแต่ช้างกลิ้งไปแล้วก็ไม่ต้องข้ามน้ำข้ามธารอีกเปนแต่ขึ้นสูงลงต่ำบ้างไม่สูงนัก พื้นราบๆ เขาก็ส่วนเขา ดินก็ส่วนดินไม่ปนกันเหมือนอย่างแต่ก่อน ป่าก็เปนต้นไม้ราย ห่างๆ โปร่งๆ คล้ายพระแท่นดงรัง ทางโทรเลขกว้างใหญ่สบายจนถึงคลองกะลี้ฤๅฉลีก ซึ่งต้องข้ามด้วยตะพาน น้ำที่นี่ถ้าเวลาน้ำลงช้างเดิรข้ามได้ แต่ถ้าน้ำขึ้นแล้วช้างหยั่งไม่ถึง น้ำขึ้นเร็วลงเร็ว แลขึ้นมากลงมากด้วย ตรงที่ตะพานข้ามนี้เฃาตั้งโรงโปลิศมีซุ้มใบไม้ โปลิศยินรายรับสองข้าง เปนแขกครึ่งหนึ่งเปนไทยครึ่งหนึ่ง แขกแต่งเสื้อแดงโพกผ้า ไทยแต่งเสื้อน้ำเงินสวมหมวกกลมไม่มีกระบังถือปืนทั้งสอง พวกสักยี่สิบสามยี่สิบสี่คน นายทหารแขกบอกคำนับอย่างไทย ที่ริมฝั่งคลองนั้นมีเขาๆ หนึ่ง บนไหล่เฃามีวัด หลังโรงโปลิศมีโรงเรือนราษฎรหลายหลัง มีสวนแลไร่บ้างต่อเข้าไปเปนท้องทุ่งกว้าง แต่ดูก็ไม่มีคันนาเห็นจะเปนทุ่งเปล่า เตียนลงไปตลอดจนถึงลำคลองปากจั่นซึ่งอยู่ไม่ห่างกับถนนนัก ตามฝั่งข้างฝ่ายอังกฤษแลเห็นภูเขาสูงเปนเทือกยาวตลอดอยู่ใกล้ๆ ฝั่ง แต่ข้างฝ่ายเราเทือกเขาต่ำกว่าข้างอังกฤษแลห่างทางออกไปมาก เข้าในหมู่ต้นไม้หน่อยหนึ่งจึ่งถึงทุ่งนาที่กว้าง มีคันนาเต็มทั้งทุ่ง มีหนองอยู่กลางเปนที่ทำปลา บ้านเรือนราษฎรจับรายไปตามขอบทุ่งห่างๆ พอออกทุ่งก็แลเห็นเนินที่ทำพลับพลา ทางตรงไปจนถึงหลังเนินแล้วเลี้ยวไปในหว่างเขาอีกลูกหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับเนินพลับพลา ไปขึ้นเนินด้านตวันตกถึงพลับพลา ตั้งแต่เนินนี้ลงไปจนถึงท่าริมลำน้ำปากจั่นเปนท้องนาตลอดไป พระยารัตนเศรษฐีขึ้นมาคอยรับอยู่ที่พลับพลา ทางเดิรวันนี้อยู่ข้างจะช้ามาก กระบวนวอแลช้างกว่าจะมาถึงพร้อมกันเกือบค่ำ ระยะทางที่กำหนดแต่ก่อนนั้นเปนอันไม่ถูก เพราะกรมหมื่นดำรงเดิรตรวจแต่แรกยังไม่ได้ทำทาง เขาตัดแก่ไปบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็คงจะไม่เกินห้าร้อยเส้น แต่ดูเหน็จเหนื่อยมาก เพราะเรื่องขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้นั่งเผลออยู่ได้เกินสิบมินิตเลย เหมือนกับขึ้นไปตามลำธารน้ำพุมากกว่าเดิรทาง

เรื่องทางโทรเลขในเมืองชุมพร ได้ทราบจากคนที่เปนภรรยาหลวงคูหานายอำเภอบ้านถ้ำสนุก ซึ่งแต่ก่อนถูกพระรามบริรักษ์เอาตัวผัวมาขังตรางเร่งเงิน ได้ยกครอบครัวหนีไปคราวรู้ว่ามีข้าหลวงออกมาชำระพระรามบริรักษ์จึงได้กลับเข้ามานั้น ว่าคนที่หนีไปเที่ยวแอบแฝงอยู่ตามชายป่า มากกว่าที่เข้าไปตั้งอยู่ในเมืองตะนาวศรี การที่ว่าอังกฤษอุดหนุนอันใดนั้น ก็ไม่สู้จะมีนักอดอยากมาก รวนอยากจะกลับอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ที่กลับมาแล้วก็มี แต่เดี๋ยวนี้คอยฟังอยู่ว่าการทำสายโทรเลขนั้นแล้วเมื่อใดจะเข้ามา ด้วยเชื่อเปนแน่ว่า ถ้าหากว่าทำสายโทรเลขอีกคงได้ความเดือดร้อน เพราะข้าหลวงเหมือนพระรามบริรักษ์ออกกไปทำ ได้ทราบว่าในแขวงเมืองกระเมืองระนองเมืองตะกั่วป่าทางเขาทำแล้วเสร็จหมด ยังแต่ปักเสาไม่แล้ว ถ้าไม่คิดอ่านทำที่เมืองชุมพรให้สำเร็จ ทางข้างฝั่งทเลตวันตกก็จะต้องค้างไปหมด ในขณะนี้ที่เมืองชุมพรไม่ได้คิดอ่านการเรื่องนี้เลย เปนระงับเงียบทีเดียว เห็นว่าถ้าโดยจะจ้างทำเหมือนอย่างเมืองกระก็ดูจะไม่มากนัก ทางตั้งแต่ท่าสารมาถึงท่าตะเภาก็อยู่ในสัก ๙๐๐ เส้นเปนอย่างมากพอบรรจบกับสายในที่มีไปถึงเมืองชุมพรอยู่แล้ว

พิเคราะห์ดูภูมิประเทศที่เมืองกระนี้ เปนเขามากจริง แต่ใช่ว่าจะไม่มีที่ว่างพอทำนาไร่ ทางที่จะทำมาหากินก็มี ตามปรกติของคนในพื้นเมืองที่ทำอยู่ก็ทำเข้าไร่ทำนา เย็บจาก ตัดหวาย ทำไต้ ไม่เปนอันขัดสนนัก แต่คนน้อยไม่เต็มภาคภูม ใชว่าจะน้อยแต่ข้างฝ่ายเรา ข้างฝ่ายอังกฤษก็น้อยเหมือนกัน จำนวนคนที่ในเมืองกระ เขาได้ทำบาญชีสำมโนครัว เมื่อรัตนโกสินทร ศก๒๒ ๑๐๘ แบ่งเปน ๕ อำเภอ คืออำเภอปากจั่น อำเภอคลองวัน อำเภอน้ำจืด อำเภอลำเลียง รวมเปนครัว ๖๔๙ ครัว รายตัวคนเปน ๒๗๐๔ คน เปนชายฉกรรจ์ ๘๔๕ เด็ก ๕๘๓ รวมชาย ๑๔๒๘ หญิงฉกรรจ์ ๗๑๘ เด็ก ๕๕๘ รวมหญิง ๑๒๗๖ คน เลขเมืองชุมพร ครัว ๑๒๐ ครัว รายตัวคน ๒๘๐ ฉกรรจ์ ๖๐ เศษ คนในเมืองกระไม่มีเลขสักเก็บเงินเปนครัวๆ ละ ๓ รูเปีย คนจรเก็บ ๖๐ เซ็นต์ ทำตามแบบข้างฝ่ายอังกฤษ โปลิศที่ตั้งรักษาอยู่ที่หัวตะพานนั้น ไม่ได้รักษาข้างฝ่ายเขตแดนอังกฤษ รักษาที่ต่อเขตแดนเมืองชุมพร เดิรถึงที่น้ำจืดซึ่งเขาตั้งเปนเมืองใหม่ ที่นั่นก็มีโปลิศคือพวกนี้เอง แบ่งกันอยู่แห่งละครึ่ง ทางเดิรตระเวนทางบก ตั้งแต่ปากจั่นนี้ไปถึงน้ำจืด ๔ ชั่วโมง ต้องขึ้นเขา

พลับพลาที่ทำก็เปนแบบอย่างหลังสวนเปนแต่ย่อมลงกว่า ยกเปนที่นอนขึ้นไปสองห้อง มีพื้นสูงอีกขั้นหนึ่ง จัดการรับรองเลี้ยงดูอย่างเรียบร้อยเหมือนที่หลังสวน

วันที่ ๒๒ เวลา ๔ โมงเช้าน้ำขึ้น ลงเรือกระเชียงเรือไฟลากล่องมาตามลำน้ำปากจั่น น้ำขึ้นไหลเชี่ยวอย่างน้ำทเล ฝั่งสองข้างตอนบนเปนเลน ตามฝั่งข้างอังกฤษแลเห็นเทือกเขาสันแหลมมลายูตลอดไม่ขาดสาย แต่ข้างฝ่ายเราเปนเขาไม่สู้ใหญ่นัก ที่ริมฝั่งน่าเทือกเขานั้นเปนเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ ไป โดยมากที่หว่างเนินก็ตกเปนท้องทุ่งกว้างๆ มีหมู่บ้านเรือนคนแลเห็นต้นหมากต้นมะพร้าว ทั้งฝ่ายเราฝ่ายเขาก็อยู่ในข้างละห้าหกหมู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้เสียเปรียบอังกฤษที่ลงไปหน่อยหนึ่งถึงที่มีศาลชำระความมีเรือนโรงใหญ่ ๆ หลายหลัง ว่าเปนที่ตั้งเมืองแต่ก่อน แต่ศาลนั้นสี่เหลี่ยมหลังเล็ก ๆ ปลูกอยู่กลางแจ้งไม่อัศจรรย์อันใดเลย โรงโปลิศที่ตะพานเหล็กวัดสะเกศโตกว่า ลงมาประมาณชั่วโมงหนึ่งถึงโรงโปลิศ ตั้งอยู่บนหลังเนินต่ำ ๆ ริมปากแม่น้ำน้อย โรงโปลิศนี้ก็เล็กเท่า ๆ กันกับศาลนั้นเอง มีโปลิศถือปืนลงมายืนรับ ๑๑ คน เปนพม่านุ่งผ้าโพกผ้า ๖ คน เปนแขกซิกสวมกางเกงอย่างทหาร ๕ คน นายทหารพม่า แต่ไม่เห็นสาตราวุธ นุ่งผ้าและสวมเสื้อทหาร ตั้งแต่เหนือโรงโปลิศขึ้นมา ดูบ้านคนถี่กว่าคลองท่าโรงที่เกาะกงสักนิดหนึ่ง ต่อลงมาข้างล่างแล้วไม่มีผิดกับท่าโรงที่เกาะกงเลย พบวัดหนึ่งอยู่ที่ชายเขา เรียกว่าวัดขี้ไฟ โบสถ์หลังคาจาก แต่ไม่อยู่ในน้ำเหมือนเกาะกง

ลงมา ๓ ชั่วโมงถึงที่ตำบลน้ำจืด ซึ่งเปนเมืองพระอัษฎงค์ไปตั้งขึ้นใหม่ มีตะพานยาวขึ้นไปจดถนน เพราะที่นั้นเปนที่ลุ่ม เวลาน้ำขึ้นปรกติท่วมขึ้นไปมาก ๆ ตะพานแต่งใบไม้และธง มีซุ้มใบไม้ที่ต้นตะพาน มิสเตอร์เมริฟิลด์ แอสสิสตัน คอมมิสชันเนอที่มลิวัน ลงมาคอยรับอยู่ที่ตะพาน ทักทายปราไสแล้วขึ้นเสลี่ยงจะไป มิสเตอรเมริฟิลด์จะขอเฃ้าแห่เสด็จด้วยกับทหารและโปลิศ เพราะเวลานั้นแต่งตัวเปนทหาร ได้บอกให้เดิรตามไปภายหลังกับพระอัษฎงค์ ถนนที่ขึ้นไปกว้างประมาณสักแปดศอกหรือสิบศอก ยาวประมาณ ๑๐ เส้นเศษ ผ่านไปในที่ซึ่งตัดต้นไม้ลงไว้จะทำนา ขึ้นไปถึงที่สุดถนนนี้ มีถนนขวางอีกสายหนึ่ง มีประตูใบไม้และร้านพระสงฆ์สวดชยันโตอยู่ที่สามแยกนั้น เลี้ยวขึ้นไปที่บ้านพระอัษฎงค์ ซึ่งเปนเรือนขัดแตะถือปูนพื้นสองชั้นอย่างฝรั่ง ดูภายนอกเปนตึกพอใช้ได้ แลดูจากบนเรือนนั้นเห็นที่ซึ่งปลูกสร้างขึ้นไว้และบ้านเรือนไร่นาราษฎรตลอด ตามแนวถนนขวางมีโรงโปลิศเปนสามมุข ฝาขัดแตะถือปูนหลังหนึ่ง ห่างไปจากถนนใหญ่สัก ๒ เส้น มีศาลชำระความเปนศาลากลางสามมุข เปนตึกอยู่ริมถนนยังไม่แล้วเสร็จหลังหนึ่ง นอกนั้นก็เปนโรงเรือนราษฎรหลายหลัง ความคิดพระอัษฎงค์ซึ่งยกเมืองลงมาตั้งที่น้ำจืดนี้ เพื่อจะให้เรือใหญ่ขึ้นไปถึงได้การค้าขายจะได้ติด และระยะนี้คลองกว้าง ถ้าชักคนลงมาติดได้ที่นี่ การที่จะข้ามไปข้ามมากับฝั่งอังกฤษค่อยยากขึ้นหน่อยหนึ่ง หาไม่โจรผู้ร้ายหนีข้ามไปมาได้ง่ายนัก อีกประการหนึ่ง ที่แถบนี้มีทำเลที่ทำนากว้าง ถ้าตั้งติดเปนบ้านเมืองก็จะเปนที่ทำมาหากินได้มาก เดี๋ยวนี้ขัดอยู่อย่างเดียว แต่เรื่องคนไม่พอแก่ภูมิที่เท่านั้น ได้ถามมิสเตอรเมริฟิลด์ถึงการโจรผู้ร้าย ก็ว่าเดี๋ยวนี้สงบเรียบร้อย การที่โจรผู้ร้ายสงบไปได้นี้ ก็ด้วยอาศรัยกำลังมิสเตอรซิมบี๊ เปนธุระแขงแรงมาก และว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้ร้ายฆ่าคนตายในแดนอังกฤษ ได้ขอให้พระยาชุมพรช่วย พระยาชุมพรก็ได้ช่วยจนได้ตัวผู้ร้ายแล้ว แต่ผู้ซึ่งไปตามผู้ร้ายนั้นต้องเสือกัดตายคนหนึ่ง มิสเตอรเมริฟิลด์รับอาสาจะโดยเสด็จต่อไปอีก ได้บอกขอบใจแลห้ามเสีย พระสงฆ์ซึ่งมาคอยชยันโตอยู่นี้ มีเจ้าอธิการวัดนาตลิ่งชัน ซึ่งพระอัษฎงค์ว่าเปนหัวหน้ายี่หินศีร์ษะกระบือ ภายหลังมาสาบาลให้พระอัษฎงค์ ว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้นต่อไป อธิการวัดขี้ไฟอีกองค์หนึ่ง พระอัษฎงค์ว่าเปนคนดีรับว่าจะข้ามมาอยู่ที่น้ำจืด พระสงฆ์เมืองหลังสวนออกไปอยู่ ๔ องค์ นอกนั้นเปนพระมาแต่ฟากมลิวันอีก ๑๗ ได้ถวายเงินตามสมควรแล้วลงเรือล่องมา ประมาณสัก ๕๐ มินิตถึงปากคลองพระขยางข้างฝ่ายเรา ดูกว้างกว่าแม่น้ำน้อย ลงไปอีกไม่ช้าก็ถึงคลองลำเลียง ซึ่งเปนพรมแดนเมืองกระกับเมืองระนอง ดูปากช่องกว้างใหญ่ แต่เข้าไปข้างในเห็นท่าจะไม่โต แต่นี้ไปฝนตกมากบ้างน้อยบ้างตลอดทางไม่ใคร่จะได้ดูอันใดได้ สองฟากเปนภูเขาสลับซับซ้อนกันสูงใหญ่ เวลาฝนตกมืดคลุ้มไปเปนเมฆทับอยู่ครึ่งเขาค่อนเขา ลำน้ำกว้างออกกว้างออกทุกที แต่ไม่ใคร่เห็นมีบ้านผู้เรือนคน ลงมาจากน้ำจืด ๒ ชั่วโมงถ้วน ถึงเรืออุบลบุรทิศ ซึ่งขึ้นไปจอดคอยรับอยู่ที่ตรงปากคลองเขมาข้างฝั่งอังกฤษ ถึงเรือใหญ่แล้วฝนจึงได้หาย เดิมคิดว่าจะไปไล่กระจงที่เกาะขวาง แต่เวลามาถึงบ่าย ๕ โมงเสียแล้ว จึงได้ทอดนอนอยู่ที่ปากคลองเขมาคืนหนึ่ง

วันที่ ๒๓ ออกเรือเวลาโมงหนึ่งกับ ๒๐ มินิต เปนเวลาน้ำขึ้น ครู่หนึ่งถึงเกาะขวาง ที่เกาะขวางนี้พระยาระนองร้องอยู่ว่าแผนที่อังกฤษทำ คือแผนที่กับตันแบกเปนต้น หมายสีไม่ต้องกันกับหนังสือสัญญา ในหนังสือสัญญาว่าเกาะทั้งสองฝั่ง ใกล้ฝั่งข้างไทยเปนของไทย ใกล้ฝั่งอังกฤษเปนของอังกฤษ เว้นไว้แต่เกาะขวางเปนของไทย ส่วนเกาะที่ในแผนที่นั้น เกาะสมุดที่อยู่ใกล้ฝั่งข้างอังกฤษเปนเกาะย่อม จดชื่อว่าเกาะขวาง ทาสีเขียวให้เปนของไทย ส่วนเกาะขวางซึ่งเปนสามเกาะใหญ่ๆ อยู่ใกล้ฝั่งข้างไทยเกาะหนึ่งอยู่ใกล้เกือบจะสูญกลางค่อนข้างไทยสักหน่อยหนึ่ง สองเกาะทิชาวบ้านนี้ตลอดจนถึงนายโปลิศฝ่ายอังกฤษ ก็ยอมรับว่าเปนเกาะขวางนั้นหมายแดงเปนของอังกฤษ ได้มีใบบอกเข้าไปก็ตัดสินรวม ๆ ออกมาว่าที่หมายแดงเปนของอังกฤษที่หมายเขียวเปนของไทย แต่ลักษณเกาะที่เปนอยู่นั้นขัดอยู่กับหนังสือสัญญาเช่นนี้ ขอให้ฉันดู ได้ตรวจดูก็เห็นเปนน่าสงสัยจริงอย่างเช่นเขาว่า จะเปนด้วยแกล้งฤๅด้วยแผนที่ผิดก็ได้ เรื่องนี้จะได้ชี้แจงด้วยแผนที่ในที่ประชุมต่อไป ได้ถามถึงการที่ได้ประโยชน์เสียประโยชน์ในที่เกาะไขว้กันเช่นนี้อย่างไรบ้าง ก็ว่าเกาะเหล่านี้ไม่มีคนตั้งบ้านเรือนอยู่ประจำ แต่เปนที่ชันมากทุกๆ เกาะ ถ้าเปนเกาะข้างฝ่ายอังกฤษ คนเราจะไปทำไม่ขอหนังสือต่อเขาก่อนเขาไม่ให้ไปทำ เปนความลำบากแก่คนของเราที่จะไปทำมาหากินในที่นั้น ตั้งแต่เกาะขวางนี้ลงไปฝ่ายข้างเราเขาสูงมากเปนเทือกใหญ่ ดูเหมือนอย่างเกาะช้าง เรียกว่าท่าครอบ ข้างฝ่ายอังกฤษดูแนวเขาใหญ่ปัดห่างออกไปเปนแต่เขาย่อม ๆ มีคนตั้งอยู่ริมน้ำ เที่ยวทำชันบ้างเปนแห่ง ๆ ต่อท่าครอบลงไปมีลำคลองเรียกว่าละอุ่น ขึ้นระนอง ในระยะนี้มีที่ตื้นอยู่สองตำบล นอกนั้นก็ลึกตลอดจนถึงปากอ่าวระนอง ฝั่งทั้งสองข้างนั้นไม่ได้มีที่ราบเลยจนสักแห่งหนึ่ง เปนแต่เขาใหญ่เขาเล็กตลอดไปจนกระทั่งถึงปลายแหลม เวลาเช้า ๔ โมงทอดสมอที่เกาะฝี ปากอ่าวเมืองระนอง ที่นี่พระอัษฎงค์ทำเรือนตะเกียงเช่นที่บางปอินตั้งไว้เสาหนึ่ง มีเรือสำเภาบันทุกเข้ามาจากเมืองพม่าจอดอยู่ลำหนึ่ง เรือมุรธาวสิตยิงปืนสลุด รอผ่อนของขึ้นบกอยู่จนเที่ยงจึงได้ลงเรือกระเชียงเรือไฟลากข้ามไปดูแหลมเกาะสอง ซึ่งอังกฤษเรียกว่าวิกตอเรียปอยนต์ อ้อมปลายแหลมออกไปดูข้างน่านอกแล้วเลียบเข้าจนถึงคอแหลมน่าใน ที่แหลมนี้เปนเนินสูงดินแดง ๆ ไม่ใคร่มีต้นไม้ คอแหลมทั้งน่านอกน่าในมีบ้านเรือนคนอยู่ น่านอกไม่ได้เข้าไปใกล้ แต่น่าในเห็นมีเรือนปั้นหยาฝาจากพื้นสองชั้นสามหลัง มีโรงใหญ่เล็กประมาณ ๒๐ หลัง มีต้นหมากมพร้าว แต่ที่แผ่นดินที่หมู่บ้านตั้งนั้นเปนที่ต่ำแอบคอแหลมอยู่หน่อยเดียว ที่บนหลังเนินปลายแหลมมีศาลชำระความแบบเดียวกับที่นาตลิ่งชัน ตั้งอยู่กลางแจ้งแดดร้อนเปรี้ยง มีเรือนปั้นหยาฝาจากอยู่หลังหนึ่งซุดโทรมยับเยินทั้งสองหลัง คล้ายกันกับที่นาตลิ่งชัน การที่อังกฤษจัดรักษาในที่แถบนี้ไม่กวดขันแขงแรงอันใด อยู่ข้างโกโรโกเตกว่าเราเสียอีก คนที่อยู่บนบกแลเห็นเปนแขก เขาว่าเปนมะลายูบ้างจีนบ้างประมาณสักสามสิบครัวทั้งน่านอกหน้าใน หากินด้วยทำปลา เรืออ้อมมาหว่างเกาะเล็กของอังกฤษที่แอบฝั่งอยู่สองเกาะ เข้าปากอ่าวเมืองระนอง ที่ฝั่งขวามีโรงจีนตัดฟืนสำหรับส่งเรือเมล์ประมาณสักสามสิบหลัง ฝั่งซ้ายเปนที่ตลิ่งชายเนินสูง ตั้งโรงโปลิศอยู่ในที่นั้น เวลาน้ำขึ้นเรือขนาดองครักษ์ขึ้นไปได้ถึงท่า ตั้งแต่ทเลเข้าไปสองไมล์เท่านั้น ตะพานที่ขึ้นยาวประมาณสักสองเส้นเศษ มีแพลอยแลศาลาปลายตะพาน ผูกใบไม้ปักธงตลอด เมื่อถึงต้นตพานมีซุ้มใบไม้ซุ้มหนึ่ง พระยาระนองแลกรมการไทยจีนรับอยู่สัก $\left. \begin{array}{}\mbox{๕๐ } \\\mbox{๖๐ }\end{array} \right\}$ คน ขึ้นรถที่เขาจัดลงมารับ มีรถเจ้านายแลข้าราชการหลายรถ ขึ้นไปตามหนทางซึ่งเปนถนนถมศิลาแขงเรียบดีอย่างยิ่ง แต่ถนนนี้แคบกว่าถนนข้างใน ๆ กว้างประมาณสักสามวา สองข้างทางข้างตอนต้นเปนป่าโกงกางขึ้น ขึ้นไปหน่อยหนึ่งก็ถึงเรือกสวนรายขึ้นไปทั้งสองข้าง ข้ามตะพานสามตะพาน เปนตะพานเสาไม้ปูกระดานมีพนักทาสีขาว เข้าไปข้างในมีทุ่งนาแปลงหนึ่ง แลดูที่นี่แลเห็นเขาซึ่งเปนที่พลับพลา แล้วก็เข้าในหมู่สวนหมู่ไร่ต่อไปอีกจนถึงต้นตลาดเก่า แลเลี้ยวแยกไปตามถนนทำใหม่ เปนถนนกว้างสักแปดวา ไปจนถึงถนนขึ้นเขา มีโรงเรือนสองข้างทางแน่นหนาแต่ไม่มีตึกเลย ผู้คนครึกครื้น ตามระยะทางที่มามีซุ้มแปลกกันถึง ๖ ซุ้ม ซุ้มที่จะเข้าถนนตลาดเปนอย่างจีนเก๋งซ้อน ๆ กันมีเสามังกรพัน เปนงามกว่าทุกซุ้ม ทางที่ขึ้นเขาตัดอ้อมวงไป ท่าทางก็เหมือนกันกับที่คอนเวอนเมนต์เฮาส์สิงคโปร์ ฤๅที่บ้านใคร ๆ ต่าง ๆ ที่เขานี้เขาว่าสูงร้อยสิบฟิต แต่เปนเนินลาดๆ มีที่กว้างใหญ่โตกว่าเขาสัตนาถมาก พลับพลาที่ทำนั้นก็ทำเสาไม้จริงเครื่องไม้จริง กรอบฝาแลบานประตูใช้ไม้จริง แต่กรุใช้ไม้ระกำทั้งลำเข้าเปนลายต่างๆ หลังคานั้นมุงไม้เกล็ดแล้วสองหลัง นอกนั้นมุงจากดาดสี ใช้สีน้ำเงินจะให้เหมือนกันกับหลังคาไม้ซึ่งทาสีไว้ มีท้องพระโรงหลังหนึ่ง ที่อยู่ฃ้างในใหญ่หลังหนึ่ง ยกเปนห้องนอนสูงขึ้นไปหลังหนึ่ง มีคอนเซอเวเตอรียาวไปจนหลังแปดเหลี่ยมอีกหลังหนึ่ง ที่หลังเล็กซึ่งเปนที่นอนแลที่หลังแปดเหลี่ยม แลดูเห็นเมืองระนองทั่วทั้งเมือง น่าต่างทุก ๆ ช่องเมื่อยืนดูตรงนั้นก็เหมือนหนึ่งดูปิกเชอแผ่นหนึ่งแผ่นหนึ่ง ด้วยแลเห็นทุ่งนาออกไปจนกระทั่งถึงภูเขาซึ่งอยู่ใกล้ชิด ได้ยินเสียงชนีร้องเนือง ๆ สลับซับซ้อนกันไป ด้านหนึ่งก็เปนได้อย่างหนึ่ง ด้านหนึ่งก็เปนอย่างหนึ่ง ไม่เคยอยู่ที่ใดซึ่งตั้งอยู่ในที่แลเห็นเขาทุ่งป่าแลบ้านเรือนคนงานเหมือนอย่างที่นี้เลย การตบแต่งประดับประดาแลเครื่องที่จะใช้สอย พรักพร้อมบริบูรณ์อย่างปินัง ตามข้างทางแลชายเนิน ก็มีเรือนเจ้านายแลข้าราชการหลังโตๆ มีโรงบิลเลียดโรงทหารพรักพร้อม จะอยู่สักเท่าใดก็ได้ วางแผนที่ทางขึ้นทางลงข้างน่าข้างใน ดีกว่าเขาสัตนาถมาก เสียแต่ต้นไม้บนเนินนั้นไม่มีต้นไม้ใหญ่ ที่เหลือไว้ก็เปนต้นไม่สู้โต ต้นเล็กๆ ที่ตัดก็ยังเปนตอสพรั่งอยู่โดยรอบ แต่ในบริเวณพลับพลาปลูกหญ้าขึ้นเขียวสดบริบูรณ์ดีทั่วทุกแห่ง พระยายุทธการโกศลมาคอยรับอยู่ที่เมืองระนองนี้ห้าวันมาแล้ว เดิมคิดว่าต้องมานอนที่เกาะเขมาเกินโปรแกรมวันหนึ่ง จะย่นวันเมืองระนองเข้าอยู่แต่สองคืน แต่ครั้นเมื่อไปเห็นที่เขาทำไว้ให้อยู่ลงทุนรอนมาก แลการต้อนรับนั้นโดยความเต็มใจแขงแรงจริง ๆ จึ่งได้ผ่อนวันออกไปอีกวันหนึ่ง เวลาเย็นได้ลงดูตามเนินนั้นโดยรอบ แล้วขึ้นเขาเล็กอีกเขาหนึ่งซึ่งอยู่น่าท้องพระโรง คล้ายเขาหอพระปริตที่เพ็ชร์บุรี ปลูกศาลาไว้ในหมู่ร่มไม้เปนที่เงียบสงัด เวลากลางวันนี้ไม่ร้อนด้วยครึ้มฝน เวลากลางคืนหนาวปรอทถึง ๗๕

วันที่ ๒๔ เวลาเช้าไปดูที่ตลาดเก่ามีโรงปลูกชิดๆ กันทั้งสองฟากเกือบร้อยหลัง แลเห็นเปนจีนไปทั้งถนน ที่สุดถนนนี้ถึงบ้านเก่าของพระยารัตนเศรษฐี ซึ่งตั้งอยู่ที่หาดใกล้ฝั่งคลอง ต้นคลองนั้นเปนที่ทำเหมืองแร่ดีบุก น้ำล้างดินทรายซึ่งติดแร่ลงมาถมจนคลองนั้นตัน ดินกลับสูงขึ้นกว่าพื้นบ้าน สายน้ำก็ซึมเข้าไปในบ้านชื้นไปหมด ผนังใช้ก่อด้วยดินปนปูน ตึกรามพังทลายไปบ้างก็มี ที่ยังอยู่ผนังชื้นทำให้เกิดป่วยไข้ จึงได้ย้ายไปตั้งบ้านใหม่ ที่ย้ายไปตั้งบ้านใหม่เสียนั้นเปนดีมาก ทำให้เมืองกว้างออกไปอีกสามสี่เท่า ด้วยถนนตลาดเก่านี้ไปชนคลอง จะขยายต่อออกไปอีกก็ไม่ได้อยู่แล้ว เวลาบ่ายไปดูบ่อน้ำร้อน ระยะทางเจ็ดสิบเส้น มีถนนดีเรียบร้อย ได้เห็นทางซึ่งเขาทำชักสายน้ำมาทำเหมืองดีบุก แย่งเอาน้ำในลำธารโต ๆ เสียทั้งสิ้น จนลำธารนั้นแห้งไม่มีน้ำเลย ที่บ่อน้ำร้อนนี้ ดูเปนที่ซึ่งสำหรับจะร้อนนั้นออกมาจากเขา น้ำตกริน ๆ ออกมาจากศิลาขวางกับลำธารน้ำเย็น ทำนบซึ่งกั้นเปิดน้ำเย็นให้ไปตามรางสายน้ำทำเหมืองข้ามมาบนที่ซึ่งเปนน้ำร้อน น้ำฟากข้างนี้ก็ร้อนฟากข้างโน้นก็ร้อนน้ำเย็นไปกลาง น้ำร้อนที่นี่ไม่มีกลิ่นกำมถันฤๅกลิ่นหินปูนเลย แต่ร้อนไม่เสมอกัน บ่อหนึ่งปรอท ๑๔๔ บ่อหนึ่งปรอท ๑๕๔ ถ้าไปอึกกระทึกใกล้เคียง เดือดและควันขึ้นแรงได้จริง

วันที่ ๒๕ เวลาเช้าไปที่บ้านใหม่พระยาระนองผ่านน่า “โรงราง” คือตราง ทำเปนตึกหลังคาสังกระสีแบบคุกที่ปินัง ดูเรียบร้อยใหญ่โตดีมากแต่ยังไม่แล้วเสร็จ บ้านพระยาระนองเองก่อกำแพงรอบสูงสักสิบศอก กว้างใหญ่เห็นจะสักสามเส้นเศษสี่เส้น แต่ไม่หันน่าออกถนนด้วยซินแสว่าหันน่าเข้าข้างเขาจึงจะดี ที่บนหลังประตูทำเปนเรือนหลังโตๆ ขึ้นไปอยู่เปนหอรบ กำแพงก็เว้นช่องปืนกรุแต่อิฐบางๆ ไว้ ด้วยกลัวเจ๊กที่เคยลุกลามขึ้นครั้งก่อน เมื่อมีเหตุการก็จะได้กระทุ้งออกเปนช่องปืน ที่กลางบ้านทำตึกหลังหนึ่งใหญ่โตมาก แต่ตัวไม่ได้ขึ้นอยู่ เปนแต่ที่รับแขกและคนไปมาให้อาศรัย ตัวเองอยู่เรือนจากเตี้ยๆ เบียดชิดกันแน่นไปทั้งครัวญาติพี่น้องรวมอยู่แห่งเดียวกันทั้งสิ้น มีโรงไว้สินค้าปลูกริมกำแพงยืดยาว ในบ้านนั้นก็ทำไร่ปลูกมัน ปีหนึ่งได้ถึงพันเหรียญ เปนอย่างคนหากินแท้ ออกจากบ้านพระยาระนองไปสวน ซึ่งเปนที่หากินด้วยทดลองพืชพรรณไม้ต่างๆ ด้วย ที่กว้างใหญ่ปลูกต้นจันทน์เทศและกาแฟ ส้มโอปัตเตเวียมะพร้าวดุกูและพริกไทย ๆ นั้นได้ออกจำหน่ายปีหนึ่งถึงสามสิบหาบแล้ว เวลาบ่ายวันนี้ไม่ได้ไปแห่งใด ด้วยเปนเวลาครึ้มฝนหน่อยหนึ่งฝนก็ตก

พระยาระนองขอให้ตั้งชื่อพลับพลานี้เปนพระที่นั่ง ด้วยเขาจะรักษาไว้เปนที่ถือน้ำพระพิพัฒสัจจา และขอให้ตั้งชื่อถนนด้วย จึงได้ให้ชื่อพระที่นั่งว่า “รัตนรังสรรค์” เพื่อจะให้แปลกล้ำๆ พอมีชื่อผู้ทำเปนที่ยินดี เขาที่เปนที่ทำวังนี้ ให้ชื่อว่า “นิเวศนคีรี” ถนนตั้งแต่ท่าขึ้นมาจนสุดตลาดเก่าแปดสิบเส้นเศษ ให้ชื่อว่า “ถนนท่าเมือง” ถนนทำใหม่ตั้งแต่สามแยกตลาดเก่าไปตามน่าบ้านใหม่พระยาระนองถึงตะพานยูง เปนถนนใหญ่เกือบเท่าถนนสนามไชย ให้ชื่อว่า “ถนนเรืองราษฎร์” ถนนตั้งแต่ตพานยูงออกไปจนถึงที่หองซุ้ยพระยาดำรงสุจริต สัก ๗๐ เส้นเศษย่อมหน่อยหนึ่ง ให้ชื่อ “ถนนชาติเฉลิม” ถนนตั้งแต่ถนนบ่อน้ำร้อน ถึงเหมืองในเมืองให้ชื่อ “ถนนเพิ่มผล” ถนนทางไปบ่อน้ำร้อน ๗๐ เส้นเศษ ให้ชื่อ “ถนนชลระอุ” ถนนน่าวังซึ่งเปนถนนใหญ่ ให้ชื่อ “ถนนลุวัง” ถนนออบรอบตลาดนัดต่อกับถนนลุวังกับถนนเรืองราษฎร์ เปนถนนใหญ่ แต่ระยะทางสั้นให้ชื่อ “ถนนกำลังทรัพย์” ถนนตั้งแต่ถนนเรืองราษฎร์มาถึงถนนชลระอุผ่านน่าศาลชำระความซึ่งทำเปนตึกสี่มุขขึ้นใหม่ยังไม่แล้ว ให้ชื่อ “ถนนดับคดี” ถนนแยกจากถนนเรืองราษฎร์ลงไปทางริมคลองให้ชื่อ “ถนนทวีสินค้า” กับอีกถนนหนึ่งซึ่งพระยาระนองคิดจะทำออกไปถึงตำบลหินดาด ซึ่งเปนทางโทรเลข ขอชื่อไว้ก่อนจึงได้ให้ชื่อว่า “ถนนผาดาด” ถนนซึ่งเขาทำและได้ให้ชื่อทั้งปวงนี้ เปนถนนที่น่าจะได้ชื่อจริง ๆ ใช้ถมด้วยศิลากรวดแร่แขงกร่าง และวิธีทำท่อน้ำของเขาเรียบร้อยทุกหนทุกแห่ง ฝนตกทันใดนั้น จะไปแห่งใดก็ไปไม่ได้

วันที่ ๒๖ เวลาเช้าไปดูที่ฝังศพพระยาดำรงสุจริต ตามทางที่ไปเปนนาเปนสวนตลอด เมื่อจวนจะถึงที่ฝังศพเปนสวนพระยาระนองทั้งสองฟาก ปลูกหมากมะพร้าวมะม่วงเปนระยะท่องแถวงามนัก มะพร้าวปลูกขึ้นไปจนถึงไหล่เขา ที่น่าที่ฝังศพปลูกต้นไม้ดอกต่างๆ เมื่อเวลาอยู่เมืองระนองเวลาค่ำๆ มีบุหงาส่ง ที่ฝังศพนั้นมีป้ายศิลาสูงสักสี่ศอกเศษ จารึกเรื่องชาติประวัติของพระยาดำรงสุจริตทั้งภาษาไทยภาษาจีน เปนคำสรรเสริญตลอดจนบุตรหลาน ถัดเข้าไปมีเสาธงศิลาคู่หนึ่ง แพะคู่หนึ่ง เสือคู่หนึ่ง ม้าคู่หนึ่ง ขุนนางฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊คู่หนึ่ง แล้วก่อเขื่อนศิลาปูศิลาเปนชั้น ๆ ขึ้นไปสามชั้น จึงถึงลานที่ฝังศพ มีพนักศิลาสลักเปนรูปสัตว์และต้นไม้เด่นๆ ที่กุฏินั้นก็ล้วนแล้วด้วยศิลาตลอดจนถึงที่ทำเปนหลังเต่า ต่อขึ้นไปเปนเนินพูนดินเปนลอนๆ ขึ้นไป ๓ ลอนตามแบบที่ฝังศพจีน แต่แบบต้องอยู่ที่กลางแจ้ง ไม่มีร่มไม้เลย ลงทุนทำถึง ๖๐๐ ชั่งเศษ ที่ฝังศพมารดาและญาติพี่น้องอยู่ใกล้ๆ กัน แต่ต้องไว้ระยะห่าง ดูน่าจะเปลืองที่เต็มที

กลับจากที่ฝังศพไปดูทำเหมือง พึ่งจะเข้าใจชัดเจนในครั้งนี้ จะพรรณาว่าทำอย่างไรให้เลอียดก็จะยืดยาวนัก ไม่มีเวลาเขียน เช้า ๕ โมงเศษกลับมาลงเรือ ออกจากอ่าวระนองไปทอดที่เกาะพลูจืดซึ่งเปนด่านต่อเขตแดน มีโรงโปลิศของเมืองระนองตั้งรักษาอยู่ในที่นั้น แต่ที่แท้เกาะพลูจืดนี้ไม่เปนปลายเขตแดนทีเดียว เกาะคันเกาะหาดทรายยาวเปนที่ต่อ แต่สองเกาะนั้นไม่มีน้ำกินจึงไปตั้งไม่ได้ เวลาที่ไปนี้เลียบไปใกล้เกาะวิกตอเรีย เกาะนี้มีที่ราบมาก มีลำคลอง คนออกไปตั้งทำปลาอยู่ที่นั้นก็มี เวลาบ่ายลงเรือไปรอบเกาะพลูจืด ให้คนขึ้นไล่เนื้อ เพราะที่เกาะนี้เขาเคยได้เนื้อเสมอ และคนที่ด่านก็เข้ามาแจ้งความว่ามีแน่ เพราะเข้ามากินกล้วยชาวด่านปลูก แต่จะเปนด้วยคนมากหรือเกินไปอย่างไร เลยตกลงเปน “โห่เปล่า”

เมื่ออยู่ที่เมืองระนอง พวกจีนในท้องตลาดมาหาเกือบจะหมดเมือง มีส้มหน่วยกล้วยใบตามแต่จะหาได้ จีนผู้หนึ่งเปนมิวนิสิเปอลกอมมิสชันเนอในเมืองมริด ทำภาษีรังนกแลภาษีฝิ่นในเมืองตนาวศรี แลบิดาจีนอองหลายซึ่งเปนล่ามเมืองกระ แลเปนน้องเขยพระยาระนอง ลงมาแต่เมืองมริดมาหาด้วย การรับรองเลี้ยงดูของพระยาระนองแขงแรงอย่างยิ่ง พี่น้องลูกหลานกลมเกลียวกัน คิดอ่านจัดการแต่จะให้เปนที่สบายทุกอย่างที่จะทำได้ การทำนุบำรุงรักษาบ้านเมือง เขาบำรุงจริงๆ รักษาจริงๆ โดยความฉลาดแลความตั้งใจ ยากที่จะหาผู้รักษาเมืองผู้ใดให้เสมอเหมือนได้

คนไทยในเมืองระนองนี้ ผิดกันกับเมืองกระ คือไม่ได้เก็บเงินค่าราชการ ฤๅจะเรียกว่าค่าหลังคาเรือนอย่างเช่นเมืองกระ เลขสักข้อมือสมกรมการก็ไม่เหมือนเมืองหลังสวน ที่เมืองหลังสวนเก็บเงินข้าราชการแต่ตัวเลขที่สักข้อมือ คนขึ้นใหม่ไม่ได้เก็บ ที่เมืองกระไม่มีสมกรมการ แต่เก็บเงินทั่วหน้า เมืองระนองนี้ไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าแต่ก่อนมีก็คืนเสียแล้วไม่ได้เก็บเงินอันใด ชั่วแต่เกณฑ์มารักษาเมือง (ฤๅบ้านเจ้าเมือง) ในเวลาตรุษจีน คือตั้งแต่เดือน $\left. \begin{array}{}\mbox{๓ } \\\mbox{๔ } \\\mbox{๕ }\end{array} \right\}$ ๓ เดือน ผลัดละสิบห้าวัน แต่ก็ยังไม่พอ ต้องไปเอาคนหลังสวนมาอีกห้าสิบคน๑๐ เวลาคนมาอยู่ประจำการกินอาหารกงสี กับการจร เช่นทางโทรเลขใช้เกณฑ์ ไม่ได้จ้างเหมือนเมืองกระ เขายื่นยอดสำมโนครัวกรมการเมืองระนอง ๒๔ ครัว อำเภอ ๘๖ ครัวไพร่ชายฉกรรจ์ ๑๕๓๐ คน เด็ก ๗๔๙ คน รวมชาย ๒๒๗๙ คน หญิงฉกรรจ์ ๑๑๐๙ คน เด็ก ๖๑๖ คน รวมหญิง ๑๗๒๕ คน รวม ๔๐๐๔ คน รวมทั้งครัวกรมการอำเภอ ๑๑๒๒ ครัว แขกเดิมหลวงขุนหมื่น ๘ ครัว ไพร่ชายฉกรรจ์ ๔๒ เด็ก ๖๕ คน รวม ๑๐๗ คน หญิงฉกรรจ์ ๓๗, เด็ก ๒๑ รวม ๕๘ คน รวมชายหญิง ๑๖๕ คน เปนครัว ๓๕ ครัว จีนมีบุตรภรรยา ๓๐๐ จีนจร ๒๘๐๐ (เห็นจะเปนเอสติเมต) รวม ๓๑๐๐ รวมคนเดิมชาย ๕๖๐๔ หญิง ๑๗๘๓ คน รวม ๗๓๘๕ คน คนใหม่มาแต่เมืองอื่นๆ คือไชยา ๒๙ ครัว หลังสวน ๙๐ ครัว ชุมพร ๑๐ ครัว นคร ๒ ครัว กระ ๒ ครัว ฝ่ายอังกฤษ ๒ ครัว รวม ๑๓๕ ครัว ชายฉกรรจ์ ๑๘๕ คน เด็ก ๑๒๖ คน รวม ๔๑๑ คน หญิงฉกรรจ์ ๑๗๕ คน เด็ก ๙๑ คน รวม ๒๖๖ คน รวมไทยมาใหม่ ๕๗๗ คน แขกมาแต่เมืองถลาง ๑๔ ครัว เมืองตะกั่วทุ่ง ๑๗ ครัว รวม ๓๑ ครัว เปนชายฉกรรจ์ ๔๓ เด็ก ๓๐ คน รวม ๗๓ คน หญิงฉกรรจ์ ๓๕ เด็ก ๓๗ รวม ๗๒ รวมชายหญิง ๑๔๕ คน รวมเก่าใหม่ชาย ๕๙๘๘ คน หญิง ๒๑๒๑ คน รวมทั้งสิ้น ๘๑๐๙ คน

การทำนามีแต่ชั่วคนไทย ทำเข้าไร่ทั้งนั้น นาพื้นราบทำน้อย ที่เห็นอยู่เพียงสามแปลงก็เปนนาเจ้าเมืองเสียแปลงหนึ่ง แต่ยังมีเข้าพอคนไทยกินได้มาก ไม่สู้จะต้องซื้อพม่านัก ส่วนจีนนั้นไม่ได้กินเข้าในเมืองเลย กินเข้าในเมืองพม่าทั้งสิ้น เพราะฉนั้นเข้าเมืองพม่าจึ่งเปนสินค้าสำคัญในแถบนี้ เรือเมล์ชำรุดหยุดเดิรก็เกือบจะอดเข้า เรือเมล์ที่เดิรอยู่ทุกวันนี้สองลำ คือเรือเซหัวของพระยาระนองลำหนึ่ง เรือเมอควีของอังกฤษลำหนึ่ง แต่เรือเซหัวอยู่ข้างจะคล่องแคล่วกว่าเรือเมอควี เจ้าพนักงารอังกฤษกล่าวโทษเรือเมอควีอยู่ว่าเสียเปรียบเซหัว การในเมืองระนองยังมีอยู่อีกซึ่งจะต้องแจ้งความต่อภายหลัง

วันที่ ๒๗ เวลา ๑๑ ทุ่ม ออกเรือเดิรทางช่องระหว่างเกาะเสียงไหกับเกาะช้าง ที่ในแผนที่เขียนว่าแสดดัลไอล์แลนด์มาไม่มีคลื่นลมอันใดเปนปรกติ เวลาเช้า ๔ โมง ๔๕ นาทีถึงปากอ่าวที่เขาเรียกปากกุรา มีผู้หนึ่งซึ่งพระยาตะกั่วป่า๑๑ให้ลงมานำร่องชื่อ “หลีอ๋ง” ขอให้ลองเดาดูว่าจะเปนคนชาติไรแน่๑๒ นำเรือเข้าข้างใน หลังเกาะกุราเปนที่กว้างใหญ่ แต่มีศิลาในน้ำมาก ที่ปากอ่าวตะกั่วป่านี้เปนเกาะใหญ่ๆ ตั้งเรียงๆ กัน มีช่องออกสามช่องในหว่างเกาะ กับฝั่งมีเกาะเล็กๆ น้อยๆ คือเกาะหนู เกาะแมว เกาะนกเปนต้น แลดูเปนเขาสูงใหญ่ซับซ้อนกันไปทั้งสองฟาก พบเรือเวสาตรีซึ่งพึ่งมาถึงในเวลาเช้าวันนี้ เข้าทางปากปันส่วน ทอดอยู่ในระหว่างเกาะหนูกับเกาะแมว เรือผ่านไปยิงสลุต เรืออุบลไปทอดที่เกาะเสม็ดน้อยเหนือเกาะหนูขึ้นไป ที่เกาะนี้เปนที่คนตัดฟืนมาตั้งตัดฟืนขายเรือเมล์ ด้วยเรือเมล์มาทอดที่น่าเกาะนี้ เขาทำพลับพลาไว้รับหลังหนึ่ง ทางตั้งแต่ปากกุราเข้ามาถึงเกาะเสม็ดน้อยยี่สิบไมล์ ทอดสมอเวลาบ่ายโมงครึ่ง เวลาเย็นขึ้นดูที่พลับพลาแล้วกลับลงมานอนอยู่ในที่เรือ ระยะทางที่จะขึ้นไปเมืองก็พอจะไปทัน อยากขึ้นเสียวันนี้จะได้ย่อนเวลาเข้าอีก แต่เรืออื่นยังมาถึงไม่ทันจึ่งขึ้นไปไม่ได้

วันที่ ๒๘ เวลาเช้าโมงครึ่งลงเรือกระเชียงเรือองครักษ์ ลากขึ้นไปได้ ๒ ชั่วโมงครึ่งติด ๔ ครั้ง เพราะกรุยที่ปักร่องและคนที่นำ (มิใช่หลีอ๋ง) ก็เอาแน่ไม่สู้ได้นัก เจ้าเมืองก็ไม่รู้เบาะแสเลย จึงต้องให้ปลดจากเรือไฟตีกระเชียงขึ้นไป ตามริมสองฟากข้างต้นก็เปนป่าสะแก ต่อเข้าไปข้างในมีต้นไม้ต่ำๆ เพราะฉนั้นจึงไม่ใคร่มีตอในลำคลองมากนัก มีที่ทุ่งว่างๆ มาก เขาใหญ่ๆ ไม่ติดเนื่องกันเหมือนอย่างข้างนอก ขาดเปนสาย ๆ และตั้งอยู่ห่างฝั่ง มีที่ชิดฝั่งน้ำอยู่สองเทือก เทือกหนึ่งถึงมีลูกเนินมาตกน้ำมีวัดอยู่ที่นั้น ลำน้ำก็กว้างใหญ่ไม่สู้ตื้นนัก แต่น้ำนั้นขุ่นฃ้น ด้วยทำเหมืองอยู่ฃ้างเหนือน้ำเหมือนเมืองภูเก็จ ราษฎรไม่ได้ใช้อาบกินได้ บ้านเรือนซึ่งตั้งอยู่ใกล้ฝั่งน้ำก็มีห่างๆ มีที่เปนหมู่ใหญ่อยู่แต่บ้านจีนทำปาณาติบาต แลเห็นแต่ยอดหมากมะพร้าวอยู่ลึกๆ เข้าไปมาก จนถึงเมืองจึงได้มีบ้านหมู่ใหญ่ตั้งสองฟากน้ำ คิดดูเวลาที่ขึ้นมาทั้งติดทั้งหยุด ๔ ชั่วโมงครึ่งจึงถึงตะพานพลับพลา มียิงสลุตเปนแบบมาแต่เมืองระนอง ใช้ปืนบาเหรี่ยมสำหรับเมือง แต่ยืมทหารในเรือขึ้นไปยิง พลับพลาตั้งอยู่ฝั่งตวันตกกลางทุ่ง ภูมที่คล้ายที่ตั้งพลับพลาเมืองพัทลุง ห่างลำน้ำขึ้นไปสักเส้นเศษ มีท้องพระโรงหลังหนึ่ง ที่อยู่หลังหนึ่ง เรือนข้างในห้าหลังเหลืออยู่ การตกแต่งนั้นทำนองเมืองกาญจนดิฐ เปนแต่ไขสเกลให้ใหญ่ขึ้นและมากขึ้น เมืองนี้ที่อาบน้ำเปนสิ่งสำคัญ มีทุกห้องทุกแห่ง ทั้งข้างน่าข้างในจัดด้วยความเอาใจใส่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ชอบใจที่ใช้น้ำมันมะพร้าว สว่างดีเหมือนเมืองกาญจนดิฐ น้ำมันปิโตรเลียมใช้ได้แต่แขวนปรำนอกพลับพลาอย่างเดียว พอเวลาเที่ยงคลุ้มฝนมืดจนถึงทอดธุระว่าจะไปเที่ยวแห่งใดไม่ได้ เขาจัดกระบือชนมาไว้ให้ดู ออกไปดูที่เกยริมรั้วค่าย จนชนกระบือสิ้นแล้วเวลาบ่าย ๔ โมงฝนก็ยังไม่ตก จึงได้ขึ้นรถที่จัดมารับออกจากพลับพลาไปหน่อยหนึ่งก็ถึงทาง ซึ่งพระยาเสนานุชิตคนเก่าได้ตัดทำขึ้น เมื่อเตรียมจะรับเสด็จครั้งไปเมืองกัลกัตตา ๑๙ มาแล้วนั้น เสาโทรเลขปักไปตามทางนี้ว่าตรงไปเมืองพังงา สองข้างทางข้างหนึ่งเปนที่ลุ่ม ข้างหนึ่งเปนชายเขา ซึ่งผู้หนึ่งบอกว่าเขาหมังม้า ผู้หนึ่งบอกว่า เขาโคต ตั้งอยู่ใกล้ๆ พลับพลา ฟากถนนข้างเขานี้เปนบ้านน้องพระยาเสนานุชิต ตัดกันเปนบ้านๆ ตลอดไปทั้งฟากถนน ที่เปนเรือนฝาขาวๆ มีอยู่สองบ้าน นอกนั้นก็เปนเรือนฝาจากฝากระแชง ค่อนจะอยู่ข้างฝรั่งอยู่หน่อยๆ น่าบ้านเปนรั้วโปร่งต่ำๆ และปลูกต้นประดู่ริมถนนตลอดทั้งแถบ ฟากข้างลุ่มนั้นก็เปนหลังบ้านอีกแถวหนึ่งอยู่ห่างถนนเปนบ้านพวกนี้เหมือนกัน ทั้งบ้านพระยาเสนานุชิตที่ตายด้วย ในที่สุดถนนสายนี้ มีวัดเปนของพระยาเสนานุชิตที่ตายสร้างยังไม่แล้ววัดหนึ่ง ต่อนั้นเลี้ยวลงตลาดเปนที่ลุ่มต่ำลงไป ที่ปากทางมีเรือนเสาสูงอยู่ริมหนองฤๅบึงย่อม ๆ เขาชี้ให้ดูว่าเพราะที่นี้เปนที่น้ำท่วมจึงต้องปลูกเรือนสูงเช่นนั้น ต่อเข้าไปเปนตึกสองชั้นแบบถนนใหม่ เปนแต่ตกแต่งเครื่องจีนเสียหน่อยหนึ่ง แต่พื้นนั้นยกสูงกว่าถนนขึ้นไปสัก ๒ ศอกเศษหนีน้ำ ถนนนั้นดูสูงขึ้นไปทีละน้อยละน้อยจนถึงสามแยก เลี้ยวไปข้างขวาทางไปเมืองพังงา มีตึกสูงสองชั้นทั้งสองฟาก เปนตึกอย่างจีนใหญ่โตตลอดไปจนถึงตะพานออกทางโทรเลข กลับมาทางเดิมแล้วไปทางแยกซ้าย ก็มีตึกเช่นถนนใหม่ต่อไปอีก จนถึงน่าบ้านพระยาเสนานุชิต ถ้าจะเทียบกับเมืองสงขลา ตึกที่นี่ใหญ่โตกว่าที่สงขลาและเปนสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องหมดตลอด มีโรงจากแซกแซมอยู่น้อยหลัง ถนนก็กว้างราวๆ กัน ระยะยาวของตลาดจะสั้นกว่าสงขลาก็ไม่มากนัก เห็นได้ว่าเปนเมืองที่ใหญ่โตบริบูรณ์ด้วยสมบัติ แต่กระไรเลยจะหาที่สีขาวฤๅที่ดีบริบูรณ์ไม่ชำรุดสักแห่งหนึ่งไม่มี โซมตลอดหัวถนนท้ายถนน ที่หักพังลงมาก็มี ไม่มีรอยที่ได้ซ่อมแซมอะไรเลยสักอย่างเดียว ของที่ขายในตลาดก็มีร้านผ้าผ่อนอยู่สองร้านหรือสามร้าน นอกนั้นก็ขายแต่ของกินเล็กน้อยไม่สมกันกับตึกรามเลย ดูโรเรร่วงโรยไปทุกแห่ง ถนนก็เปนรอยแต่งใหม่ๆ ได้ถามเหตุซึ่งเปนเช่นนี้ ก็ได้เหตุหลายอย่าง คืออย่างหนึ่งนั้นเปนตึกของพระยาเสนานุชิตเก่า๑๓ทำแจกบุตรเหมือนอย่างตึกถนนใหม่ ไม่มีทุนซ่อมแซมฤๅไม่พร้อมใจกันซ่อมแซมอย่างเดียวกันกับถนนใหม่นั้นอย่างหนึ่ง ที่เปนตึกของราษฎรอยู่อีกสักสามส่วน พลอยโทรมด้วยนั้นว่าเพราะเหมืองที่ดีไม่ใคร่มี พวกจีนจนไปอย่างหนึ่ง เพราะพวกจีนเกิดวิวาทกันเนืองๆ จนไม่เปนปรกติได้นั้นอย่างหนึ่ง คนที่มีเงินมีทองก็พากันออกไปอยู่ปินังเสียมาก เปนคำแก้อยู่เช่นนี้ เมื่อได้พูดจาไต่ถามพระยาเสนานุชิตและพวกจีนรวบรวมการทั้งปวงเข้าหมด ก็เห็นว่าเปนเพราะพระยาเสนานุชิตคนนี้ “ลักข์อย่างยิ่ง”๑๔ จะพรรณาไปไม่สิ้นสุด การอันใดเปนไม่มีที่ได้ทำ หยุดนิ่งแท้ทีเดียว เมื่อพูดถึงเรื่องจีนวิวาทกันสั่งให้จัดโปลิศ ก็ว่ามีคนรักษาถนนอยู่แล้ว ๖ คน ให้เงินเดือนคนละสามเหรียญบ้างสี่เหรียญบ้าง จึดขึ้นอีกเปลืองพระรราชทรัพย์เปล่า ๆ จีนซึ่งไปค้นพบดีบุกหวงที่ไว้มาก ๆ จะทำสองชั่วสามชั่วคนก็ไม่หยุด ก็เปนอันสิ้นความคิดมิรู้ที่จะแก้ประการใด ทางที่จะเดิรช้างเดิรล้อขึ้นไปถึงเหมืองดีบุกก็ร้องว่าน้ำท่วมทำไม่ได้ และไกลเหลือเกินนัก ถามว่าทางไกลเท่าใด ก็ว่าครึ่งวันค่อนวัน เหมืองนั้นก็อยู่บนเขา น้ำก็ยังท่วมไปถึงได้ เฃาว่าถนนในเมืองไม่ใช่เวลาเสด็จ ต้องเดิรในเฉลียงตึก ดูเหมือนไม่ได้เคยออกจากบ้านไปแห่งใด ที่สุดจนบ้านน้องของตัวที่เรียงอยู่ริมถนนหกเจ็ดบ้านก็ไม่ใคร่ทราบว่าบ้านของใคร ขอพรรณาแต่เท่านี้พอให้เห็นเหตุว่าบ้านเมืองซุดโซมนักเพราะเหตุใด ตามเสียงพวกจีนนั้นว่าไม่มีทุนนั่นแหละเปนข้อสำคัญ พระยาเสนานุชิตเองก็ว่าออกทุนไปแล้วมักไม่ได้คืน จึงไม่เจือจาน การขัดข้องต่างๆ มีทางแก้ทุกอย่าง เว้นไว้แต่เรื่องลักข์ของพระยาเสนานุชิต ถ้าไม่แก้เสียก่อนแล้วอื่น ๆ ไม่สำเร็จหมด

ไปจากตลาดดูบ้านพระยาเสนานุชิต เปนเรือนฝากระแชงอ่อนอย่างกรอบแกรบเต็มที แล้วไปดูโรงคลวงที่ถลุงแร่ เพราะที่ระนองขาดอยู่ไม่ใช่เวลาที่เขาถลุง ดูเพื่อจะให้ได้เห็นการตลอดในกระบวรที่ทำแร่ แล้วกลับมาทางเดิม ค้างอยู่ที่พลับพลาคืนหนึ่ง

วันที่ ๒๙ เวลาดึกคืนนี้ฝนตก เดิมคิดว่าจะไปเที่ยวตามบ้านชายเขา เพื่อจะให้ได้เห็นการอยู่ปรกติของราษฎรไม่ใช่แต่งรับเสด็จ แต่เมื่อฝนตกเสียแล้วก็เปนอันไม่ได้ไป เพราะนอกจากถนนที่กล่าวมาแล้วต้องไต่ตามคันนาทั้งสิ้น เมื่อรับแขกทั้งปวงแล้ว จึงได้กลับลงมาเรืออุบล ได้สั่งให้พระสุนทรวรนาถไปรักษาการที่เมืองคิรีรัฐนิคม เพราะได้ถามพระยาเสนานุชิตถึงเรื่องพระเสนานุวงศ์ตาย ผู้ใดรัรกษาการและดูแลภาษีอากร เสียงก็หลวมโพรกเต็มที และได้ตั้งให้นายจันน้องพระเรืองฤทธิรักษาราษฎร์ เปนพระเรืองฤทธิรักษาราษฎร์อีกนายหนึ่ง ดูก็ควรจะสังเวช พวกพี่น้องเหล่านี้ยืนอยู่เปนกองโต แต่ไม่เห็นใครช่วยใครฤๅไม่ใช้ใคร เจ้าเมืองวิ่งปั่นไปทุกอย่าง ดูแววไม่ใคร่จะมีตามกัน ตึงตึงอยู่ทั้งนั้น๑๕ ทอดนอนอยู่ที่น่าเกาะเสม็ดน้อยอีกคืนหนึ่ง

วันที่ ๓๐ ออกเรือคืนนี้ ๑๑ ทุ่ม เดิรทางช่องเรียกว่าปากปันส่วนซึ่เงปนช่องล่างที่เรือเวสาตรีมา เมื่อตัดออกมาเกาะภูเก็จ มีลมรวยๆ เรือโคลงบ้างเล็กน้อย ที่แยแยก็เมากันบ้าง เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่ง ถึงเมืองภูเก็จทอดในอ่าว เวลาพรุ่งนี้จะได้ขึ้นบก รีบทำหนังสือนี้ บอกข่าวมาให้ทราบเพียงระยะนี้ก่อน ซึ่งมิได้บอกข่าวในที่ควรจะบอกได้ คือที่กระส่งทางชุมพรแห่งหนึ่ง ที่ระนองส่งทางเมล์แห่งหนึ่งนั้น เพราะเหน็ดเหนื่อยมาก และไม่ใคร่มีเวลาว่าง เจ้านายและข้าราชการทั้งข้างน่าข้างในที่มา เจ็บป่วยตัวร้อนด้วยถูกแดดถูกฝนบ้าง ลงท้องเพราะผิดน้ำบ้าง แต่ไม่มีผู้ใดอาการมากมายอันใด วันหนึ่งสองวันก็หาย แต่ตัวฉันมีความสบายมาก

สยามินทร์

  1. ๑. คือหม้อเข้าบางตนาวศรี กล่าวกันว่าที่อื่นๆ ดินสู้ไม่ได้ ทำไม่ได้บางดีเหมือนหม้อบางตนาวศรี มีผู้เอาไปจำหนายถึงเมืองมริดแลเมืองตนาวศรี

  2. ๒. พระอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมบี้ ณระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี ต่อมาได้เปนพระยารัษฎานุประดิษฐ มหิศรภักดี ผู้ว่าราชการเมืองตรัง แล้วเลื่อนเปนข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ

  3. ๓. พระยานครศรีธรรมราช (หนูพร้อม ณนคร) ต่อมาได้เปนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี

  4. ๔. เรื่องทำโทรเลข อันจะเปนประโยชน์สำคัญของราชการแผ่นดิน กลับกลายไปเปนความเดือดร้อนอย่างยิ่งของราษฎร ที่เสด็จไปทรงทราบเองในคราวนี้ เปนเหตุอันหนึ่งซึ่งให้ทรงพระราชดำริห์จัดการแก้ไขวิธีปกครองหัวเมือง คือที่จัดมณฑลเทศาภิบาลเปนต้น

  5. ๕. คืออั้งยี่ทางหัวเมืองเหล่านั้น ในสมัยนั้นมีเปน ๒ พวก เรียกว่าพวกยี่หินศีร์ษะกระบือพวก ๑ พวกปุนเถ้าโก๋งพวก ๑

  6. ๖. เสด็จประพาสเที่ยวนี้ โปรด ฯ ให้เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศล่วงน่าไปคอยรรับอยู่ที่เมืองระนอง เสด็จไปจากกรุงเทพ ฯ ด้วยเรือสุริยมณฑล ลำที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อ

  7. ๗. เรื่องเกาะขวางนี้ เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระนคร ได้โปรดฯ ให้ว่ากล่าวกับรัฐบาลอังกฤษ ตกลงให้คืนมาเปนของไทย ตามหนังสือสัญญา

  8. ๘. พระยายุทธการโกศล (ตนกูไออุดิน) เปนพระยาไทรบุรี

  9. ๙. พระยาดำรงสุจริต (คอซูเจียง) ได้เปนผู้ว่าราชการเมืองระนองแต่ยังเปนเมืองขึ้นเมืองชุมพรในรัชกาลที่ ๓ เปนผู้จัดการทำเหมืองแร่ที่เมืองระนอง บ้านเมืองเจริญ ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งเปนพระยารัตนเศรษฐี ว่าราชการเมืองระนอง ขึ้นกรุงเทพฯ แต่นั้นมา ถึงรัชกาลที่ ๕ แก่ชรากราบถวายบังคมลาออกจากราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ตั้งเปนพระยาดำรงสุจริต มหิศรภักดี จางวางเมืองระนอง แล้วโปรดฯ ให้บุตรชายเปนผู้ว่าราชการเมืองระนองต่อมา

  10. ๑๐. ที่ต้องรักษาเวลาตรุษจีนเพราะเคยมีเหตุ พวกกุลีทำเหมืองกำเริบขึ้นคราวหนึ่ง เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ ทั้งที่เมืองระนองแลเมืองภูเก็จ จึ่งต้องระวังกันแต่นั้นมา

  11. ๑๑. พระยาเสนานุชิต (เอี่ยม ณนคร) เปนบุตรพระยาเสนานุชิต (นุช) ซึ่งเปนบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย)

  12. ๑๒. เปนเชื้อสายฮอลันดา ชื่อ เดอซอง

  13. ๑๓. คือพระยาเสนานุชิต (นุช ณนคร)

  14. ๑๔. ลักข์เปนคำแผลงมาจากศัพท์มิลักขู หมายความว่าโง่เขลา

  15. ๑๕. ในพี่น้องเหล่านี้ต่อมาได้รับราชการ แต่พระยาคงคาธราธิบดี (พลอย ณนคร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลสุราษฎร์ในเวลานี้ เมื่อเสด็จประพาสยังเด็กอยู่

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ