พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๔

เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศทอดที่ปากน้ำเมืองหลังสวน

วันที่ ๑๐ สิงหาคม รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘

ถึงท่านกลาง แลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

ด้วยจดหมายมาแต่ก่อน แจ้งความมาจนถึงวันที่ ๕ เจือวันที่ ๖ เวลาเช้า ที่เรือเข้าไปทอดอยู่ในกระเส็ดน่าเมืองไชยาเตรียมจะขึ้นบก รอสายมากไปเพราะเขียนหนังสือเมล์ ซึ่งมาด้วยเรือมุรธาวสิตสวัสดี เวลาย่ำเที่ยงตรงจึงได้ลงเรือกระเชียง เรือจักรนารายน์ลาก เข้าไปในอ่าวเมืองไชยา ที่ปลายแหลมปากช่องขวามือ มีศาลามุงกระเบื้องเฉลียงรอบหลังหนึ่ง เขาทำปะรำแลตะพานฉนวนไว้แต่ไม่ได้ขึ้น ต่อขึ้นไปหน่อยหนึ่งถึงปากคลองพุมเรียง พบเรือศีร์ษะช้างพระยาสวัสดิวามดิฐออกมาทอดอยู่ในที่นั้น หยุดปล่อยเรือกลไฟตั้งแต่ที่เรือจอดเข้าถึงปลากคลองไป ๔๐ มินิต ตีกระเชียงเข้าไปอีก ๑๐ มินิตพอถึงตะพานน้ำ ตามสองข้างทางเปนป่าสแกไม่มีบ้านเรือน เวลาที่ขึ้นนั้นถูกคราวน้ำลงมีที่ตื้นสองแห่ง เขาจัดคนให้มาคอยอยู่ในน้ำประมาณแห่งละ $\left. \begin{array}{}\mbox{๖๐ } \\\mbox{๗๐ }\end{array} \right\}$ คน น้ำอยู่เพียงเข่าก็ตีกระเชียงเข้าไปได้ ไม่ต้องเข็น ลำคลองไชยาแคบเพราะเปนคลองด้วย ตะพานที่ขึ้นนั้นอยู่ตรงบ้านพระยาไชยา ริมคลองเปนที่ลุ่มน้ำทเลท่วม ถนนต้องถมสูงขึ้นประมาณสองศอกตีกระดานกันไว้ ฟากถนนข้างซ้ายมือเปนสวนมพร้าวของพระยาไชยาปลูก ดูยอดใบก็งามดี มีมพร้าวมากทำอย่างเกาะสมุย ที่ดอนริมตะพานมีบ้างก็ปลูกโรงเรือโรงงาร ขึ้นไปประมาณสักสองเส้นเศษฤๅสามเส้นถึงสนามหญ้าน่าบ้านพระยาไชยา ถมดินสูงพ้นน้ำทเลท่วม กว้างขวางปลูกต้นมลิฉัตรขนาดใหญ่ ต้นสายหยุด ต้นกระดังงารายรอบ มีดอกดกเต็มต้นทั้งสามอย่าง จนส่งกลิ่นหอมในที่บริเวณเหล่านั้นได้ ฟากสนามข้างริมคลองมีเรือนห้าห้อง เฉลียงรอบใหญ่หลังหนึ่ง เรือนสามห้องสกัดหัวท้ายข้างละหลัง ชานกว้างปูกระดานเปนที่ซึ่งพระยาไชยาเรียกเองว่าสเตชั่น สำหรับรับเจ้านายแลขุนนางผู้ใหญ่ไปมา ในเรือนหลังใหญ่มีห้องนอนสองห้อง ตั้งเตียงมีมุ้งม่านพร้อม ครั้งนี้จัดเปนที่รับเจ้านาย มีโต๊ะยาวตั้งเครื่องกับเข้าของฝรั่งอย่างเลี้ยงโต๊ะ เครื่องประดับห้องมีฟอรนิเชออย่างฝรั่ง คือเก้าอี้นั่งเก้าอี้นอนแลเครื่องประดับฝา ดูพรักพร้อมบริบูรณ์ตามสมควรแก่ตัวเรือนเปนที่พออยู่สบาย ได้ที่ตรงสเตชั่นข้ามเปนบ้านพระยาไชยา ตีรเนียดไม้กระดาน เรือนข้างในเปนเรือนฝากระดานอย่างฝรั่งบ้าง เรือนฝากระแชงอ่อนบ้าง ที่ปลายสนามอีกด้านหนึ่งปลูกพลับพลาสามห้องเฉลียงรอบ กั้นเปนข้างน่าข้างใน ข้างในมีเรือนย่อมๆ อีกหลังหนึ่ง ตกแต่งปูลาดดาดหุ้มด้วยผ้าแดงผ้าขาวผ้าลายหมดจดเรียบร้อย มีเครื่องประดับอย่างฝรั่งโต๊ะเก้าอี้เครื่องติดเสาพอสมควรแก่ที่ ดาดปะรำกระแชงกว้างตลอดด้านน่า กั้นรั้วทางมะพร้าว มีกล้วยไม้ต่างๆ ห้อยตามชายปะรำ ปูพื้นกระดานแลตั้งเก้าอี้ไม้ไม่มีที่พิงอย่างจีน เปนที่ข้าราชการเฝ้า เที่ยวดูในที่ต่างๆ เหล่านี้ แล้วพักอยู่ที่พลับพลาจนบ่าย ๒ โมง จึงได้ออกเดิรไปตามถนนน่าบ้านพระยาไชยาผ่านน่าศาลากลาง ไปเลี้ยวลงทางวัดสมุหนิมิตร แวะเข้าดูวัด พระสงฆ์ทั้งในวัดนั้นแลวัดอื่นมานั่งรับอยู่ในศาลาเต็ม ๆ ทุกศาลา ได้ถวายเงินองค์ละกึ่งตำลึงบ้าง องค์ละบาทบ้างทั่วกัน แล้วออกเดิรต่อไปตามถนนท้องตลาด ตลาดเมืองไชยาไม่เปนโรงแถวปลูกติดๆ กันเหมือนเช่นเมืองสงขลา ซึ่งมีจีนแห่งใดมักจะเปนโรงแถวติดๆ กันเช่นนั้น แต่ที่ตลาดเมืองไชยานี้เปนตลาดไทย ขายของน่าเรือนหรือริมประตูบ้านระยะห่างๆ กัน มีผ้าพื้นบ้าง ขาวม้าราชวัดบ้าง ยกไหมยกทองก็มี เปนของทอในเมืองไชยา แต่ผ้าพื้นไม่มีมากเหมือนอย่างเมืองสงขลา ขนมมีขายมาก ชื่อเสียงเรียกเพี้ยนๆ กันไปกับที่เมืองสงขลา บ้านเรือนก็ดูแน่นหนา มีเรือนฝากระดานบ้าง แต่ตีรั้วน่าบ้านโดยมาก ที่เกือบจะสุดปลายตลาดมีวัดโพธาราม เปนวัดโบราณซึ่งพระครูกาแก้วอยู่ พระอุโบสถหลังคาชำรุด ยังอยู่แต่ผนังมุงจากไว้ พระครูกาแก้วอายุ ๘๐ ปีตาไม่เห็น หูตึง แต่รูปร่างยังอ้วนพีเปล่งปลั่ง จำการเก่า ๆ ได้มาก ปากคำอยู่ข้างจะแขงแรงเรียบร้อย เปนคนช่างเก็บของเก่าแก่ อย่างเช่นผ้าไตรฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผ้ากราบปักเปนต้น ก็ยังรักษาไว้ได้ แลเล่าเรื่องราวในการงารที่มีที่กรุงเทพ ฯ ประกอบสิ่งของได้ด้วย เรียกชื่อคนทั้งชั้นเก่าชั้นใหม่เต็มชื่อเสียงแม่นยำ ได้สนทนากันก็ออกชอบใจ จึงได้รับจะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งพระครูได้ตระเตรียมไว้บ้างแล้วนั้นให้สำเร็จ ได้มอบการให้พระยาไชยาเปนผู้ทำ เพราะอิฐแลกระเบื้องเขามีอยู่แล้ว แลได้ถวายเงินพระครูชั่งห้าตำลึง พระสงฆ์อันดับองค์ละกึ่งตำลึง ข้างในเรี่ยรายกันเข้าในการปฏิสังขรณ์บ้าง เจ้าสายมาทำบุญวันเกิดที่วัดนี้ ได้เงินถวายในการปฏิสังขรณ์สองชั่ง รวมเงินประมาณสี่ชั่ง ออกจากวัดเดิรไปจนสุดตลาด ยังมีทางต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง จึงจะถึงทุ่งไชยา ทางตั้งแต่บ้านพระยาไชยาไปจนถึงทุ่งไชยาประมาณ ๓๐ เส้น กลับโดยทางเดิมมาพักที่พลับพลา พระยาสวัสดิวามดิศเปนผู้ช่วยพระยาไชยาจัดการเลี้ยงทั่วไป อยู่ข้างดีกว่าทุกแห่ง เวลา ๕ โมงครึ่งกลับมาเรือ

ที่เมืองไชยานี้ เขตติดต่อกันกับเมืองหลังสวนที่บางตำรุริมทเลตวันตกต่อเมืองคิรีรัฐนิคมที่คลองยัน ด้านใต้ต่อเมืองกาญจนดิฐที่ปากคลองพันธูหา ลำน้ำใหญ่ซึ่งเรียกคลองพุมเรียงเหมือนกัน ปลายคลองไปทลุออกทเลเปนคลองน้ำเค็ม คลองพุมเรียงเล็กซึ่งเข้าไปถึงเมืองนั้นก็เปนคลองด้วนดังกล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นการที่ใช้ค้าขายในลำคลองไม่มีอันใด น้ำก็กินไม่ได้ ต้องใช้น้ำบ่อทั้งสิ้น จำนวนคนที่ได้ทำสำมโนครัวแปดปีเก้าปีมาแล้วนั้น ประมาณสี่หมื่นเจ็ดพันเศษ เปนจีนอยู่สองร้อยแขกประมาณห้าร้อย แต่ในคนเหล่านี้ที่อยู่ในบังคับเมืองไชยาแท้เพียง $\left. \begin{array}{}\mbox{๗๐๐๐ } \\\mbox{๘๐๐๐ }\end{array} \right\}$ คน นอกนั้นเปนคนต่างเมืองมาอยู่ การทำมาหากินของราษฎรทำนาเปนพื้น เมื่อโคกระบือยังไม่ (เปนโรคระบาทว์) ล้มมีเข้าจำหน่ายออกจากเมืองบ้าง ตั้งแต่เกิดโคกระบือล้มมาแล้ว ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นเต็มที่ได้ ต้องซื้อเข้าต่างเมืองกิน ต้นตาลในเมืองไชยามีมาก แต่ราษฎรไม่ใคร่พอใจทำ พระยาไชยาแจ้งว่าเมื่อเข้าแพงได้คิดชักนำให้ทำตาล ก็ทำได้น้ำตาลดีกว่าน้ำตาลเมืองยิหริ่ง แต่สู้น้ำตาลเมืองเพ็ชร์บุรีไม่ได้ ครั้นพอมีเข้ากินแล้วก็พากันทิ้งการทำตาลเสียมาก ราษฎรอยู่ข้างจะสันโดษหากินแต่พอเลี้ยงชีวิตคล้ายเมืองพัทลุง สินค้าต่างๆ ที่ออกจากเมืองไชยานั้น อยู่ข้างจะไล่เลียงได้ความมากเพราะพระยาไชยาสันทัดในการค้าขาย มาดไม้เคี่ยมสำหรับทำเรือพลูที่เข้าไปกรุงเทพฯ ปีหนึ่งถึง $\left. \begin{array}{}\mbox{๓๐๐ } \\\mbox{๔๐๐ }\end{array} \right\}$ ลำ ดูก็ขันอยู่ คนช่างใช้เรือในกรุงเทพฯ มากเสียจริงๆ แต่เมืองไชยาเมืองเดียวยังเท่านี้ ปีหนึ่งจะเกิดเรือขึ้นใหม่สักกี่ร้อยลำ พระยาไชยาเองก็ตั้งโรงต่อเรือเอี้ยมจุ๊นขาย ฉันได้ดูที่โรงที่ทำงารนั้น ว่าลงทุนเบ็ดเสร็จอยู่ใน ๒๘๐ บาท ขายได้ลำหนึ่งสี่ร้อยแปดสิบบ้าง ห้าร้อยบ้าง กระดานไม้เคี่ยมเกิดขายกันขึ้นในหมู่เข้าแพง เพราะพระยาไชยาแนะนำ แต่ราษฎรยังชอบใจทำติดต่อมาเดี๋ยวนี้ได้ออกจากเมืองอยู่ในปีละ ๒๐๐๐ แผ่น สินค้าที่เปนพื้นอยู่อีกนอกนั้น คือหวายไต้กระแชงเปนอย่างมาก น้ำตาลมพร้าวสุกรเปนออกน้อย สินค้าทั้งปวงนั้นเข้าไปกรุงเทพฯ โดยมาก แต่น้ำตาลจำหน่ายอยู่ในแถบนี้ สุกรและเขาหนังเมื่อคราวมีออกไปจำหน่ายเมืองสิงคโปร์ และพระยาไชยาแจ้งว่าได้พบดีบุกในแขวงเมืองไชยาต่อแขวงเมืองหลังสวนแห่งหนึ่ง ได้มีใบบอกเข้าไปกรุงเทพ ฯ แล้ว เขาคิดจะทำในระดูแล้งนี้ อนึ่งในหมู่ของถวายทั้งปวงมีขอนดอกด้วย ถามก็ได้ความว่าราษฎรไปตัดป่าพบเข้า ในแขวงเมืองไชยานี้เอง ดูก็ไม่เคยมีมาแต่ก่อน ถ้าค้นจริงๆ ก็เห็นจะได้เหมือนข้างเหนือบ้าง ตัวพระยาไชยาเองเปนคนคล่องแคล่ว และมีความคิดอยากจะจัดการบ้านเมืองให้ดีอยู่ เห็นว่าคงจะจัดการผลประโยชน์ในบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้บ้าง

วันที่ ๗ เวลาย่ำรุ่งตรง ลงเรือกระเชียง เรือจักรนารายน์ลากไปเมืองกาญจนดิฐทางในกระเส็ด แต่เปนเวลาน้ำน้อยไปได้สัก ๔๐ มินิตเรือกลไฟติด ต้องรอเรียกเรือทอนิครอฟต์มาลากต่อไป เรือทอนิครอฟต์ไปได้สดวก จนถึงดอนน่าปากน้ำบ้านดอน ท้องครือต้องเอาคนลงช่วยพยุง ตอนนี้ช้ามาก ครั้นจะไม่พาเรือกลไฟเข้าไปให้ได้กลัวว่าเมื่อเวลาเข้าไปถึงในแม่น้ำ จะไปตีกระเชียงทวนน้ำเชี่ยวจะยิ่งช้าหนักไป ตั้งแต่มาจน ๕ โมงเช้าจึงได้เข้าถึงปากน้ำ เรือไฟเดิรได้สดวกแต่น้ำเชี่ยวจัด ไปอีกสองชั่วโมงครึ่งเศษ เปนเวลาบ่ายโมงครึ่งกว่า จึงได้ถึงพลับพลา พอถึงก็ฝนตก ลมพยุมีบ้างมืดมัวไป ไม่มีแสงแดดเลย การที่คิดกะระยะกันแต่เดิมว่าอยู่ใน ๔ ชั่วโมง มิใช่แต่คำพระยาไชยาว่า ท่านเล็กเปนผู้ได้เคยไปแต่ก่อน ก็กะว่าอยู่ในราวนั้น จึงได้คิดไม่ไปค้าง หมายจะไปอย่างเมืองยิหริ่ง แต่การที่กะผิดไป เพราะคิดเพิ่มกำลังเรือไฟให้เร็วกว่าเรือกระเชียง แต่ครั้นเมื่อไปจริงในท้องทเล เรือไฟกลับช้ากว่าเรือกระเชียง ด้วยน้ำตื้น ต้องเดิรอ้อมตามร่องที่ลึก วนเวียนมากไป ไม่ตัดทางใกล้ได้เหมือนเรือกระเชียง พลับพลาที่ปลูกไว้นั้นเปนที่ซึ่งเจ้าพระยานครทำพระราชยานถม แล้วทำทำเนียบรับสมเด็จเจ้าพระยาที่นั่น อยู่เหนือตลาดไปมาก เมื่อขึ้นไปตามลำน้ำ ได้แลเห็นแต่หลังเรือนที่หันน่าเข้าถนนข้างใน และในกระบวรลำน้ำ บ้านเรือนบนบกไม่ได้เห็นเลย ถ้าจะกลับต้องกลับในเวลาที่ไปถึงนั้นเอง จึงจะมาถึงเรือพอพลบค่ำ เปนอันไปเหนื่อยเปล่าไม่ได้เห็นอันใดทั่วถึง เรือที่ตีกระเชียงไปไม่ได้ลากเรือไฟ คนจะต้องตีกระเชียง ๑๒ ชั่วโมงเต็ม ฝนก็ตกในทเล คงจะมีพยุไม่มีท่าทางที่จะกลับมาได้ เปนตกลงต้องค้าง โดยว่าถ้าเขาทำพลับพลาไว้เปนที่ประทับร้อนเล็ก ๆ ก็คงจะต้องค้าง ดีกว่าที่จะให้คนมาทนลำบากเหลือเกิน ต้องตีกระเชียงวันยังค่ำ และไม่แน่ว่าจะต้องไปติดไปค้างอยู่แห่งใดจนรุ่งสว่างก็ได้ เพราะเปนเวลามืดค่ำลำบาก แต่นี่รอดตัวที่พลับพลาเขาทำไว้ใหญ่โต เปนที่ประทับแรมมีท้องพระโรงตรีมุข ดาดสีช่อฟ้าใบระกาหลังหนึ่ง เปนที่อยู่หลังหนึ่ง มีเรือนข้างในสองหลังชานแล่นกลาง หลังยาวขวางข้างหลังอีกหลังหนึ่งเปนที่เลี้ยงโต๊ะ ตกแต่งเรียบร้อย มีดาดเพดานไม่ได้หย่อนเลยสัดนิดหนึ่งเปนต้น ตามแบบชาวนอก มีเตียงศิลาจีนเปนที่นอน โต๊ะเก้าอี้มีจนผ้านุ่งอาบน้ำ ผ้าเช็ดหน้ารองพานทองก้าไหล่พรักพร้อม พอจะอยู่ได้สบาย แต่ความขัดข้องของผู้อื่นมีเรื่องผ้านุ่งห่มที่จะผลัด และที่นอนไม่มีมาด้วยกันทั้งสิ้น ต้องให้ไปจัดซื้อผ้าพื้นมาแจกกันนุ่ง แต่ผ้าพื้นเมืองนี้ก็หาซื้อยาก ได้สักห้าหกผืนเท่านั้น เพราะต่างคนต่างทอแต่เพียงพอนุ่งห่มเหมือนเมืองพัทลุง เมื่อเอะอะหาซื้อกันอยู่ช้านาน มารดาและภรรยาหลวงพิพิธสุวรรณภูมิทราบเข้า จึงได้ไปจัดผ้าพื้นซึ่งเขาซื้อมาแต่เมืองไชยา เตรียมทำของถวายเข้ามาให้ ได้แจกกันคนละผืนทั่วไปตลอดจนทหาร เพราะฝนตกไม่ได้ขาดเปียกอยู่ด้วยกันโดยมาก ผู้หญิงขัดผ้าห่ม จะหาซื้อผ้าขาวม้าตามตลาดก็ไม่มี ได้แต่ผ้าสีน้ำตาลสำหรับใช้หุ้มอะไรอะไร กับผ้าดอกมีแป้งมาฉีกแจกกันห่ม จะหาผ้าซับอาบแจกกันให้พอก็ไม่พอ ต้องซื้อผ้าขาวมาฉีกแจกสำหรับปูนอนคนละผืน ครัวของฉันก็ไม่มีมา ต้องหาเตาหม้อและของสดมาทำกินเอง อยู่ข้างกาหลขลุกขลักกันสนุกมาก บุหรี่ที่มีไปเปนทรัพย์ที่จะพึงสงวนอย่างวิเศษ การเลี้ยงดูเขาก็ตั้งเลี้ยงข้าราชการทั่วถึงกัน ตามความคาดคะเนของฉันแต่เดิม ไม่คิดเห็นเลยว่าหลวงพิพิธสุวรรณภูมิจะจัดการรับรองได้ถึงเพียงนี้ ดูจัดการได้เกินกำลังและวาสนา ความคิดอ่านที่วางการงารก็ดูพอใช้ ผิดกับกิริยาตัวที่เห็นอยู่ ได้พูดจาไต่ถามการงาร ก็เห็นว่าพอจะรับราชการแทนบิดาต่อไปได้ พระเสนานุวงศ์ภักดี ซึ่งให้ทำภาษีและกำกับดูแลการ ก็ไม่ได้มาที่เมืองกาญจนดิฐเลย เดี๋ยวนี้ทราบว่าเปนลมอำมพาตเห็นจะไม่หาย หลวงพิพิธสุวรรณภูมิเห็นจะพอรับราชการรักษาบ้านเมืองต่อไป จึงได้คิดจะให้สัญญาบัตรเปนพระกาญจนดิฐบดีไปก่อน

ลำน้ำเมืองกาญจนดิฐเปนแม่น้ำกว้างใหญ่ น้ำจืดสนิทเหมือนแม่น้ำกรุงเทพ ฯ ปลายน้ำขึ้นไปเปนสองแยก แยกข้างขวาเรียกคลองพุมดวง แล้วขึ้นไปแยกอีกสองแยก แยกล่างเปนคลองยัน แยกบนเปนคลองพะแสง ปลายคลองพุมดวง พ้นคลองพะแสงขึ้นไป เรียกคลองพนม น้ำตกมาแต่เขาในเมืองตะกั่วป่า น้ำบ้านดอนแยกฃ้างซ้าย เรียกแม่น้ำหลวง ขึ้นไปแยกเปนคลองลำพูนคลองหนึ่ง ปลายขึ้นไปถึงเขาในแขวงเมืองนครศรีธรรมราช สินค้าอันใดถ้าจะมีในสองแม่น้ำนี้จะต้องลงแม่น้ำบ้านดอนทั้งสิ้น แต่คนมีน้อยจึงยังไม่เปนเมืองเจริญได้สมกับภูมิที่ จำนวนคนที่ทำบาญชีสำมโนครัว พลเมืองไทย ๘๐๐๐ เศษ จีนเกือบ ๓๐๐ คน แขกมีเล็กน้อย คนมาหนาอยู่แต่ที่บ้านดอน เหนือขึ้นไปก็อยู่เรี่ยรายไป แต่เรือค้าขายมีมาก จีนพ่อค้าในเมืองที่มีทุนรอนหลายคน แต่งเรือไปค้าขายเปนเรือหัวเมืองกาญจนดิฐเองบ้าง เรือไหหลำเรือสิงคโปร์มาค้าบ้าง เมื่อเข้าไปแลเห็นเรือสำเภาและเรือเอี้ยมจุ๊นลำใหญ่ๆ จอดอยู่ถึง ๘ ลำ ท่วงทีจะเปนเมืองท่าค้าขายใหญ่โตได้ดีกว่าเมืองไชยามาก นาทุ่งมีน้อย ทำเข้าไร่มาก ริม ๆ แม่น้ำตัดต้นไม้ลงทำเข้าไร่ตลอด หนทางที่ขึ้นไปว่าทำได้ดีมาก เพราะเวลาน้ำทเลขึ้นหนุน น้ำในแม่น้ำสูงขึ้นไปท่วมถึงต้นเข้า เวลาน้ำในทเลลดน้ำในแม่น้ำก็ลดด้วย ขึ้น ๆ ลง ๆ เปนเวลา น้ำทเลไม่ได้ขึ้นถึงต้นเข้าเลย เมื่อยังไม่เกิดไข้โคกระบือ มีเข้าจำหน่ายออกจากเมืองมาก จนเดี๋ยวนี้ก็ฟื้นเร็วกว่าเมืองไชยา มีเข้าออกจากเมืองบ้างแล้ว เรือค้าขายในลำน้ำเดิรเสมอไม่ขาด บันทุกเข้ากล้วยสุกรเปนหวายไต้ ขาขึ้นบันทุกเกลือปูนเยื่อเคยด้ายผ้าขึ้นไปแลก มาดเรือเปนสินค้าใหญ่เหมือนเมืองไชยา มีกระดานไม้ตะเคียนไม้เคี่ยมบ้าง ออกจากเมืองมาก เรือที่มาค้าขายเมืองกาญจนดิฐนี้ มักจะแวะรับมพร้าวที่เกาะสมุยด้วย ปลาทเลที่ปากอ่าวเห็นมีโป๊ะหลายโป๊ะ ว่าพวกกองตระเวนเพ็ชรบุรีลงมาตั้งทำปลา ปลาน้ำจืดก็มีเปนฤดู ผลไม้มีมากลางสาดเปนอย่างดี แต่ในเวลาที่มานี้ ผะเอิญถูกคราวไม่มีผลไม้ เวลาค่ำเขาจัดหนังตะลุงและโนห์รามาเล่น แต่พื้นดินเปรอะเปื้อนนัก เวลาเย็นจะไปเที่ยวข้างไหนก็ไม่ได้ ฝนตกตั้งแต่กลางวันจนตลอดรุ่งไม่ขาดเม็ดเลย

อนึ่งหลวงพิพิธนำช้างพังสีประหลาดช้างหนึ่งมาให้ดู เห็นเปนช้างสีประหลาดตามธรรมเนียม รูปร่างสูง ๔ ศอกเศษ พอสู้พังพรรณพิเศษได้ อีกช้างหนึ่งเปนช้างใหญ่รูปงาม สูง ๕ ศอก งากางสมควรจะเปนช้างยืนโรงได้ ได้สั่งให้เขาเดิรเข้าไปกรุงเทพ ฯ

วันที่ ๘ เวลาเช้าทำกับเข้าแล้วเสร็จ และรับพวกจีนพ่อค้ามาหาแจกจ่ายเข้าของ และให้เงินหลวงพิพิธสุวรรณภูมิ์สำหรับแจกคนที่ใช้สิบชั่งแล้วเสร็จ เวลา ๒ โมงเช้าลงเรือล่องไปขึ้นที่ตะพานน่าทำเนียบข้าหลวงใต้พลับพลาลงไป ขึ้นเดิรตามถนนริมน้ำเปนถนนเก่า ถนนใหม่เขาตัดลึกเข้าไปข้างใน ด้วยถนนเก่านี้น้ำกัดตลิ่งพังใกล้เข้ามามาก เขาคิดจะย้ายไปใหม่ แต่ฝนตกเปนโคลนเปรอะเปื้อนอย่างยิ่ง ต้องเอากระดานทอดเดิรไปจนพ้นวัดสามม่าย จึงได้ถึงท้องตลาดถนนค่อนเปนดินแขง ราษฎรพากันเอาเสื่อมาปูให้เดิรเกือบตลอดทาง ตลาดเปนที่มีจีนมาก จึงได้ปลูกติดต่อกัน ที่ตลาดมีผ้าขายน้อย มีแต่ของซึ่งใช้สอยมาแต่กรุงเทพ ฯ บ้างมาจากสิงคโปร์บ้าง มาจากเมืองจีนบ้าง ซื้อของเมืองนี้ได้แต่ผ้าตาเจ็ดแปดผืน ตลาดก็เปนตลาดใหญ่ยืดยาว แต่ไม่สู้บริบูรณ์นัก ไปลงเรือที่ปลายตลาดริมวัดกลาง พระครูสุวรรณรังษีลงไปรับอยู่ที่ในเรือริมน้ำน่าวัดเมื่อขึ้นมา วันนี้มาคอยรับอยู่ที่ในวัด ได้ถวายเงินพระสงฆ์ทั้งวัดกลางวัดสามม่ายที่ผ่านมา ได้ออกเรือจากท่าเวลาเช้า ๓ โมงครึ่ง เรือทอนิครอฟต์ลาก พบจรเข้นอนอยู่บนหาดสองตัว ออกมาถึงที่ดอนเรือไฟติด ต้องตีกระเชียงออกไปถึงเกาะปราบ พ่วงเรือจักรนารายน์ลากมาทางนอก เพราะน้ำในกระเส็ดเปนเวลาแห้ง มาจนเวลาบ่าย ๒ โมง มีพยุฝนตกหนักมืดไปทุกทิศต้องขึ้นเรือไฟ เปียกฝนหมดทั้งตัว แต่เรือเจ้านายที่มาภายหลังถึงต้องทอดสมอ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทางใด บ่าย ๓ โมงสามเสี้ยวมาถึงเรืออุบลบุรทิศ เรือเหวมาถึงเกือบบ่าย ๕ โมง บ่าย ๕ โมงได้ออกเรือ เวลา ๒ ทุ่มถึงแหลมกันทุรี ทอดนอนอยู่ในที่นั้น เวลา ๑๐ ทุ่มออกเรือ

วันที่ ๙ เวลาเช้า ๒ โมง ทอดสมอที่น่าเมืองหลังสวน แลเห็นแหลมประจำเหียงข้างเหนือ แหลมบังมันเขาพะสงข้างใต้ เปนแหลมขอบเหมือนหนึ่งอ่าวกว้าง ๆ ที่ตรงกลางที่เปนเมืองหลังสวนมีเขาซับซ้อนกันมาก บางเขาล้มไม้ เหลืออยู่บ้างโปร่ง ๆ ทำไร่เข้า ดูเปนพื้นเขียวสดงาม น้ำแม่น้ำหลากแดงลงมาในทเลจนถึงที่เรือจอด พระยารัตนเศรษฐี พระจรูญราชโภคากร พระศรีโลหภูมิพิทักษ์ พระอัษฎงคตทิศรักษา ลงมาหาในเรือ ได้ลงมาคอยอยู่ที่ปากน้ำสี่คืนมาแล้ว เวลาเที่ยง ๒๕ มินิตขึ้นบก เรือทอนิครอฟต์ลากตามร่อง ขึ้นข้างเหนือสิบแปดมินิตถึงปากช่องลำน้ำ เขาปลูกพลับพลาไว้สองหลัง หลังนอกมีช่อฟ้าใบรกา แต่ไม่ได้แวะขึ้น เรือที่ลงมารับบันทุกเข้าของและนำร่อง มีเรือโขนอย่างบ้านนอกสองลำ โขนทาสีเขียนลายมีผ้าน่าและภู่ด้ายดิบ ผูกธงแดงเล็กๆ ตรงกับภู่ขึ้นมาข้างน่าท้ายข้างละสองคัน ลำหนึ่งอยู่ใน $\left. \begin{array}{}\mbox{๒๕ } \\\mbox{๒๖ }\end{array} \right\}$ พาย เห็นจะเปนเรือแข่ง ที่ปากน้ำมีบ้านเรือนคนหลายสิบหลัง ปลูกมะพร้าวในหมู่บ้านมาก ระยะทางตอนนี้มีที่ว่างเปนป่าโกงกางเข้าไป จนถึงเขาตกน้ำมีศาลเจ้า ต่อนั้นไปเมื่อถึงน่าเขาแห่งใด ก็มีบ้านเรือนเปนหย่อมๆ มีต้นมะพร้าวเปนระยะขึ้นไปไม่สู้ห่างกัน ประมาณสัก ๔๐ มินิต ตั้งแต่นั้นไปก็มีสวนทุเรียนลางสาดหมากมะพร้าวรายไปตลอดจนถึงพลับพลาไม่ใคร่จะเว้นว่าง ดูต้นผลไม้งามตลอดทาง บ้านเรือนก็ไม่ใคร่จะมีเว้นว่าง แน่นหนากว่าทุกเมือง เดิมคิดว่าจะขึ้นเดิรที่บางยี่โร แต่ครั้นเมื่อเข้าไปในลำน้ำได้หน่อยหนึ่งฝนก็ตกไม่หยุด รื้อแล้วรื้อเล่าจนถึงซ่าก็มี ไปสองชั่วโมงกับ ๒๕ มินิตถึงบางยี่โร มีบ้านเรือนปลูกติดต่อกัน ไปตามริมน้ำเปนตลาดยาว ต้องเลยไปทางเรือ มีวัดตามระยะทางขึ้นมาห้าวัด บ่าย ๓ โมง ๔๕ มินิตถึงพลับพลาบางขันเงิน อยู่ในสามชั่วโมงกับ ๒๐ มินิต ที่ซึ่งทำพลับพลานี้เปนที่สวนราษฎร พระหลังสวนซื้อตกแต่งขึ้นเปนที่ทำพลับพลา อยู่ใต้บ้านพระหลังสวนลงมาทางบกเดิรประมาณ ๒๐ เส้น พื้นที่ข้างด้านน่าเปนที่แจ้ง หญ้าขึ้นแน่นเหมือนสนามที่ช่วยปลูกกว้างใหญ่ ตัดทางเดิรตกแต่งเข้าเปนสนามหญ้า ปลูกเปนที่พักเจ้านายข้าราชการสี่หลัง โรงเลี้ยงสองหลัง ตะพานที่ฉนวนทำเปนสามทาง อย่างกระไดทองกระไดเงินกระไดนาก ตลิ่งสูงสักสิบศอก พลับพลาหลังน่าทำเปนจตุรมุขโถง ดาดสีมีช่อฟ้าใบรกา หลังในเปนจตุรมุขกั้นฝากระแชง มีมุขกระสันชักติดกับหลังนอก มีหลังเล็กๆ แซกตามรักแร้อีกสี่หลัง ตกแต่งหุ้มดาดลาดปูผ้าขาวผ้าแดงผ้าดอก มีเครื่องเฟอรนิเช่อต่างๆ คือเตียงนอนตู้โต๊ะเก้าอี้ตามสมควร ข้างหลังพลับพลาลงไปมีสวนทุเรียนและลางสาดเปนพื้น ต้นไม้อื่นมีบ้าง ตัดทางบันจบให้ลดเลี้ยวเปนชั้นเชิง ที่หญ้าหนาก็ไว้เปนที่หญ้า ตัดวงประจบเข้าเปนรูปกลมรูปรี เปนแฉกดาวตามที่สมควรจะเปนได้ ที่เปนโคกเนินสูง ก็แต่งให้เปนรูปกลมบ้างเปนลอนบ้าง ปูหญ้าเพิ่มเติมให้เขียวเต็มที่หว่างลายหญ้าปลูกต้นโกรตน ต้นหมากเล็กๆ ต้นกล้วยเปนหมู่ๆ มีเรือนข้างในหลังย่อมๆ อยู่ในสวนสี่หลัง มีเครื่องใช้สอยคือน้ำโคมกระโถนทุกหลัง แต่เรือนเหล่านี้ไม่มีคนจะอยู่ ที่กลางสวนทำเปนโรงแปดเหลี่ยม ปูหญ้าเปนขอบ กลางเปนพื้นดินทุบเรียบเหมือนพื้นเรือนแขกในเมืองยะวา ตั้งโต๊ะเก้าอี้เปนที่นั่งเล่น ตามโคนต้นไม้ใหญ่ก็ทำเก้าอี้ไม้ไผ่รอบ บางต้นก็ทำเปนกรงปล่อยนก มีนกยุง นกหว้า นกเงือก นกเปล้า ไก่ฟ้า ตามต้นไม้มีชนี ลิง กัง ผูกไว้ แขวนและติดกล้วยไม้ต่าง ๆ ทั่วไปทุกแห่ง รอบบริเวณพลับพลากั้นรั้วใบตาลยาวประมาณสักสามเส้น การที่ตกแต่งทั้งปวง เปนทำตามอย่างพลับพลาเมื่อครั้งไปไทรโยค ซึ่งพระอัษฎงค์ไปได้ฟังคำเล่ามา แต่ที่นี่ได้เปรียบที่เปนสวนเดิม มีต้นผลไม้กำลังเปนผล ทุเรียนเต็มทุกๆ ต้น ลางสาดก็มีแต่ยังอ่อน ดูเปนที่สนุกสนานเหมือนกับจะให้อยู่หลายๆวัน แต่ฝนตกพรำอยู่เสมอไม่ขาด พื้นแผ่นดินเปนโคลนเดิรได้แต่เฉพาะที่โรยทรายเปนทาง

เวลาเย็นออกจากพลับพลาไปตามทางถนน ซึ่งเขาตัดตั้งแต่บางยี่โรขึ้นมาจนถึงบ้าน ประมาณ ๖๕ เส้น ทางกว้าง ๘ วาโรงทรายเม็ดใหญ่ แต่ฝนตกมากนักไม่วายเปนโคลน ตามสองข้างทางมีเรือนโรงติดๆ กันประมาณ $\left. \begin{array}{}\mbox{๑๔ } \\\mbox{๑๕ }\end{array} \right\}$ หลัง แต่ดูโรเรไม่สู้เปนที่ค้าท่าขายอันใด เจ้าของว่าได้ล่อนักแล้วก็ไม่ติด เพราะราษฎรสันโดษเสียเหมือนอย่างเมืองพัทลุง ปลายถนนเปนบ้านพระหลังสวนภูมที่กว้างใหญ่มีกำแพงล้อมรอบมีตึกใหญ่ยาว ๘๐ ฟิตเปนสี่มุขหลังหนึ่ง ตึกสำหรับทำครัวข้างหลังยาวใหญ่อีกหลังหนึ่ง เนื่องเปนหมู่เดียวกัน ตึกกงสีสองชั้นอยู่ข้างซ้ายตึกใหญ่อีกหลังหนึ่ง ตึกแปดห้องเปนที่ว่าความและเล่นบิลเลียดสองชั้นอยู่ริมประตูบ้านหลังหนึ่ง หลังตึกมีกำแพงรอบเปนสวนไม้ดอกไม้ผล ดูเปนที่สบายดีทั้งบ้าน กลับมาพลับพลาเวลาพลบ เมืองหลังสวนนี้ ฉันไม่คิดคเนใจว่าจะมีผู้คนเรือกสวนแน่นหนามากถึงเพียงนี้เลย ดูแปลกกับเมืองอื่นๆ ถามดูจำนวนคนก็ว่ามีถึงหมื่นหกพันเศษ ที่ทำสำมโนครัว คนชุมพรที่แตกมาเกลี้ยกล่อมไว้ได้ถึงห้าสิบครัว แต่จีนมีสองร้อยเศษ ลำน้ำนี้ขึ้นไปสองวันถึงพะโต๊ะปากทรงซึ่งเปนที่ทำแร่ดีบุก เปนท่าขึ้นที่จะเดิรข้ามไปเมืองระนองทางคืนหนึ่งถึงปลายน้ำตกจากเขา ที่นาในพื้นเมืองได้เข้าไม่พอคนกิน ต้องซื้อเข้ากรุงเทพฯ ที่สวนเปนการทำง่ายอย่างยิ่ง ทุเรียนนั้นจะเรียกว่าสวนฤๅจะเรียกว่าป่าก็เกือบจะได้ เพราะเจ้าของไม่ต้องทำนุบำรุงอันใด ปลูกทิ้งไว้กับพื้นราบๆ ไม่ต้องยกร่อง เพราะน้ำไม่มีท่วม และขุดลงไปที่ไหนมีน้ำในแผ่นดินทั่วทุกแห่ง ว่าเมื่อปีกลายนี้เปนอย่างน้ำมาก ก็ท่วมเพียงแปดชั่วโมงเท่านั้น เจ้าของสวนต้องเปนธุระแต่เวลาที่ทุเรียนมีผลต้องไปเฝ้า เมื่อแก่เก็บขายได้แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรต่อไป เดิรไปข้างไหนคงจะเห็นต้นทุเรียนและได้กลิ่นทุเรียนอยู่เสมอๆ จำหน่ายออกจากเมืองขายไปจนถึงบ้านแหลมเมืองเพ็ชร์บุรี ทุเรียนที่เนื้อหนาว่ามีน้อย ที่เนื้อบางอย่างทุเรียนเมืองนครมีมาก ดูลูกย่อมๆ แต่นักเลงกินเขาชมกันว่ารสดีมันมาก หมากมะพร้าวเปนสินค้าไปจำหน่ายกรุงเทพฯ นอกนั้นก็มีไต้หวายกระแชงเหมือนเมืองอื่นๆ แต่มาดเรือและไม้กระดานไม่มี เพราะไม่ใคร่จะมีที่ป่า ลูกค้าที่หาบของไปขายทางเมืองระนอง มีทุเรียนกวนเปนต้น ขากลับรับด้ายผ้าของต่างประเทศเข้ามาจากเมืองระนองก็มีอยู่มาก

ฉันเห็นว่าที่จริงก็ดูเปนเมืองมั่งคั่งผู้คนมาก เจ้าเมืองสมควรจะเปนพระยาได้ จึงให้สัญญาบัตรเปนพระยาจรูญราชโภคากร และตั้งหลวงพิพิธสุวรรณภูมิ์เปนพระกาญจนดิฐบดีด้วย

วันที่ ๑๐ ก่อนกินเข้าไปที่สวนพระยาจรูญอยู่ใต้บ้านลงมาหน่อยหนึ่ง ปลูกมะพร้าว หมาก พลู กาแฟ มังคุด มะไฟ เงาะ และต้นผลไม้เมืองจีนต่างๆ ทั้งกานพลู จันทน์เทศ ทุเรียนลางสาดนั้นเปนพื้นสวน เวลาบ่ายลงเรือขึ้นไปตามลำน้ำ น้ำเชี่ยวหนักขึ้นไปทุกที จนพอที่จะเรียกว่าเรี่ยวว่าแก่งได้ แต่แปลกกันกับข้างไทรโยค แม่น้ำนั้นดูค่อยๆ สูงขึ้นไป มีที่น้ำเชี่ยวน้ำอับ แต่ในแม่น้ำนี้ไม่มีที่น้ำอับ มีแต่เชี่ยวมากเชี่ยวน้อย แลเห็นน้ำสูงได้ในระยะใกล้ๆ เรือไฟทอนิครอฟต์ลากขึ้นไปสองชั่วโมงกับ ๔๕ มินิตถึงน่าถ้ำเขาเอ็น เปนถ้ำเสมอพื้นตลิ่ง ที่ต้องขึ้นนั้นขึ้นตลิ่งมิใช่ขึ้นเขา แต่ศิลาน่าผาชันสูงใหญ่ดูงามดี มีสามถ้ำด้วยกัน ถ้ำกลางตรงน่าไม่สู้กว้างใหญ่ ปากถ้ำเปิดสว่าง มีพระพุทธรูปโตบ้างย่อมบ้างปิดทองใหม่ๆ หกองค์ พระศิลาพม่าของพระยาระนองและพระยาหลังสวนมาตั้งไว้ ๒ องค์ ได้จารึกอักษร๑๐ตามที่เคยจารึกไว้ที่ผนังถ้ำ และให้สร้างพระเจดีย์ซึ่งทำค้างอยู่ที่ชง่อนศิลาน่าถ้ำองค์หนึ่ง ถ้ำอีกสองถ้ำนั้นอยู่บนไหล่เขาสูงขึ้นไป ถ้ำหนึ่งฉันไม่ได้ไปดู เขาว่ากว้างเท่าๆ กันกับถ้ำล่าง เปนแต่ลึกเข้าไป อีกถ้ำหนึ่งต้องเดิรเลียบเขาห่างตลิ่งเข้าไปหน่อยหนึ่ง ปากถ้ำแคบในนั้นมืด ได้ไปมองดูที่ปากช่องจะไม่โตกว่าถ้ำกลางมากนัก แต่เปนคั้งค้าวจอกแจกไปทั้งถ้ำ เวลาเย็นเสียแล้วจึงได้รีบกลับมา ขาล่อง ๕๐ มินิตเท่านั้นถึงพลับพลา ขึ้นเดิรบกจากพลับพลามาตามถนน อยู่ข้างเปนหล่มเปนโคลนมาก ฟากถนนข้างริมน้ำเปนสวน มีเรือนเปนระยะห่างๆ ฟากข้างในเปนทุ่งนา ผ่านวัดด่านมาวัดหนึ่ง แล้วจึงถึงวัด(ตะ)โหนด ซึ่งพระครูธรรมวิจิตรอยู่ ได้แวะถวายเงินพระสงฆ์ประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วลงมาบาง(ยี่)โร มีซุ้มทำด้วยไม้หมากทั้งต้น ปลายเสายังมียอดอยู่ ไขว่ไม้เปนตาชะลอมประดับด้วยกล้วยไม้ พวกจีนที่ตลาดจุดประทัดตีม้าล่อรับ ตลาดเปนโรงสองแถวไปตามลำน้ำ ทางแคบยิ่งกว่าสำเพ็ง และเปนโคลนเลอะเทอะไม่ได้เข้าไปเห็น แต่เขาว่าเวลาเช้าตลาดออกเวลาเดียว มีคนขายของสดอยู่ในวันละ $\left. \begin{array}{}\mbox{๗๐ } \\\mbox{๘๐ }\end{array} \right\}$ คน พวกที่อยู่บางขันเงินก็ลงมาจ่ายตลาดบางยี่โร เดิรตั้งแต่พลับพลามาจนถึงตะพานน้ำครึ่งชั่วโมงตรง ๆ เปนอย่างเดิรช้าเพราะติดโคลน แต่กระนั้นยังต้องมารอเรืออยู่อีกเจ็ดมินิตจึงได้มาถึง ล่องลงมาชั่วโมงเศษเล็กน้อย เวลาทุ่ม ๒๕ มินิตถึงเรืออุบลบุรทิศ

กำหนดออกจากเมืองหลังสวนเวลาพรุ่งนี้ แวะเกาะพิทักษ์ แหลมกรวด สามร้อยยอด เพราะต้องพักผ่อนให้เรือเล็กได้รับฟืนที่เมืองชุมพร กำหนดจะถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม

ตัวฉันและบันดาคนที่มาเปนสุขสบาย แต่ตอนหลังนี้ถูกฝนชุกนักไม่มีวันเว้นเลย

อนึ่งหนังสือของเธอลงวันที่ ๘ สิงหาคม นั้นได้รับแล้ว

สยามินทร์

  1. ๑. พระยาสวัสดิวามดิฐ (ฟัก) ต่อมาได้เปนพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เวลานั้นเข้าหุ้นกับพระยาไชยา (ขำ ศรียาภัย) ทำอากรรังนก

  2. ๒. วัดสมุหนิมิตรนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เมื่อยังเปนเจ้าพระยาพระคลัง ฯ ที่สมุหพระกลาโหมสร้างเมื่อรัชกาลที่ ๓ เพราะได้เปนแม่กองลงไปตั้งสักเลขอยู่ในหัวเมืองเหล่านั้นคราวหนึ่งเมื่อตอนปลายรัชกาล

  3. ๓. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฎ

  4. ๔. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

  5. ๕. การที่ต้องทำเครื่องเองครั้งนี้ เปนต้นเค้าของการเสด็จประพาสต้น ซึ่งโปรดทำเครื่องเสวยเองในชั้นหลังต่อมา

  6. ๖. หลวงพิพิธสุวรรณภูมิ์ ยกรบัตร์ (เจริญ ณนคร) ภายหลังได้เปนพระกาญจนดิฐบดี เปนบุตรพระยากาญจนดิฐบดี (พุ่ม ณนคร) พระยากาญจนดิฐบดีเปนบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย)

  7. ๗. พระเสนานุวงศ์ภักดี (ขาว ณนคร) ผู้ว่าราชการเมืองคิรีรัฐนิคม ขึ้นเมืองตะกั่วป่า เขตแดนอยู่ต่อติดกับเมืองกาญจนดิฐทางตวันตกเฉียงเหนือ พระเสนานุวงศ์ภักดีเปนบุตรพระยาเสนานุชิต (นุช ณนคร) ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า ซึ่งเปนบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) อีกคน ๑

  8. ๘. ที่เรียกว่าเรือเหวนั้น พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) ต่อเปนเรือพระที่นั่งกระเชียงขนาดใหญ่ สำหรับพ่วงเรือไฟไปตามเสด็จ เมื่อยังว่าทหารมรินและเรือรบอยู่แพนกหนึ่งต่างหากจากทหารเรือเวสาตรี ซึ่งยกไปจากกรมแสง เวลาพ่วงตามเสด็จไปแห่งใด ใครชมเรือลำนั้นก็เปนที่ชอบใจของพระยาประภากรวงศ์ เจ้านายจึงทรงกระซิบเรียกกันว่า “เรือเหว” เลยเปนชื่อเรียกเรือลำนั้นตลอดมา

  9. ๙. พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณระนอง) ต่อมาได้เปนพระยาดำรงสุจริต มหิศรภักดี พระจรูญโภคากร (คอซิมเต๊ก ณระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน ต่อมาได้เปนพระยา ฯ พระศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมขิม ณระนอง) ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง ต่อมาได้เปนพระยาอัษฎงคตทิศรักษา พระอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมบี๊ ณระนอง) ต่อมาได้เปนพระยารัษฎานุประดิษฐ มหิศรภักดี เปนพี่น้องกันทั้งสี่คน

  10. ๑๐. คืออักษรพระนาม จ.ป.ร. ไขว้ กับศักราชปีที่เสด็จประพาส

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ