คำนำ
รองเสวกเอก หลวงสาราบรรจง (สมบุญ อมัติรัตน์) มาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ว่าจะทำการปลงศพสนองคุณ อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ (ฉอุ่ม อมัติรัตน์) ผู้บิดา มีศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระสมุด ฯ เปนของถวายแลจ่ายแจกเนื่องในการกุศลทักษิณานุปทาน เวลาพระราชทานเพลิงศพสักเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ แลแสดงความประสงค์จะใคร่ได้หนังสือพวกปกรณัมต่าง ๆ อย่างที่หอพระสมุด ฯ เคยอนุญาตให้พิมพ์ไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงเลือกเรื่องเวตาลปกรณัมคำกลอน ให้หลวงสาราบรรจงพิมพ์ตามประสงค์
หนังสือเรื่องเวตาล มูลเดิมเปนภาษาสันสกฤตเรียกว่าเวตาลปัญจวึศติ มีฉบับอยู่ในหอพระสมุด ฯ ฉบับภาษาไทยยังหาไม่พบ มาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงแปลนิทานเวตาลจากฉบับภาษาอังกฤษของนายร้อยเอก เซอร์ อาร์. เอฟ. เบอร์ตัน พิมพ์แจกในงารศพหม่อมของพระองค์ท่าน ผู้ที่ได้รับไปอ่านพากันชอบมาก ภายหลังเกิดปัญหาขึ้นในนักวรรณคดี ว่านิทานเวตาลนี้เห็นจะได้เข้าสู่ประเทศสยามแต่โบราณแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้มีพระราชกระแสไว้ในคำนำบทละคอนดึกดำบรรพ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงพระนิพนธ์ว่า “นิทานเวตาลได้เคยเข้ามาถึงกรุงสยามแล้วตั้งแต่ก่อนกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ได้จัดการแปลขึ้นแลพิมพ์แจก ที่ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้เพราะในข้อความบั้นต้นแห่งเรื่อง “ลิลิตเพ็ชรมงกุฎ” ซึ่งเปนหนังสือแต่งในสมัยกรุงเก่า มีข้อความว่า “ค่อยจะนิพนธ์ลิลิต โดยดำนานนิตย์บุรำในปกรณัมเวตาล” ดังนี้ จึงเปนการแน่ใจว่าเรื่องเวตาลได้เคยเข้ามาสู่สยามประเทศแต่โบราณแล้ว ครั้นให้ค้นดูในหอพระสมุด ฯ ก็ได้เล่าเรื่องเวตาลปกรณัมนี้สมตามพระราชกระแส เปนที่น่ายินดียิ่งนัก แต่รูปเรื่องในเวตาลปกรณัมนี้ตอนต้นดูแผกเพี้ยนจากภาษาสันสกฤตมาก ตกตอนปลายจึงเข้ากันได้สนิท แต่ท้องนิทานเห็นจะได้แต่งเติมและตัดออกมาก ที่เปนเช่นนี้เห็นจะเปนด้วยเมื่อแรกเข้ามาสู่ประเทศนี้เปนแต่เล่าจำกันต่อ ๆ มา จะพึ่งได้รวบรวมเปนเรื่องราวขึ้นในราว ๆ กัน กับพวกปกรณัมอื่น ๆ เช่น ปักษีปกรณัมเปนต้นนั้นเอง ถึงดังนั้นก็ยังเปนประโยชน์แก่ผู้สอบสวนทางวรรณคดีเปนอันมาก มีบกพร่องอยู่บ้างในทางสำนวนโวหาร กับการที่คัดเขียนกันต่อๆ มา ที่พิมพ์ครั้งนี้มีแก้ไขแต่อักขรวิธีอย่างเดียว นอกนั้นคงพิมพ์ไว้ตามต้นฉบับทุกประการ เสียดายอยู่หน่อยแต่ฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ ขาดตอนกลางอยู่หน่อยหนึ่ง หาฉบับบริบูรณ์ไม่ได้ แต่ถ้าผู้ใดได้อ่านหนังสือนิทานเวตาลของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ก็พอจะทราบเค้าเรื่องตอนที่ขาดนั้นได้ หรือแม้แต่ในเวตาลปกรณัมนี้เอง ความข้างต้นก็บ่งชี้ให้พอเดาเรื่องที่ขาดได้เหมือนกัน ถ้าผู้ใดมีฉบับบริบูรณ์ หรือฉะเพาะแต่ตอนที่ขาดส่งไปให หอพระสมุด ฯ จะขอบใจมากทีเดียว
อนึ่งในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ เจ้าภาพได้ส่งประวัติของผู้มรภาพไป ขอให้เรียงลงไว้เปนที่ระลึกด้วย ข้าพเจ้าจึงเรียงลงไว้ต่อไปนี้
อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๖๗
ประวัติพระยาวิเศษไชยชาญ
พระยาวิเศษไชยชาญ ต ม. จ ช. ร จ พ. นามเดิมฉอุ่ม นามสกุลอมัติรัตน์ เกิดเมื่อวันอังคารเดือนยี่แรม ๕ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๖ มกราคม ปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เปนบุตรพระพิมูลภักดี อ่ำ มารดาชื่อเอี่ยม บ้านเดิมอยู่เมืองพิไชยเก่า เรียนอักขรสมัยในสำนักบิดา แลพระครูวิเชียรปัญญามหามุนี วัดมหาธาตุเมืองพิไชยเก่า แรกเข้ารับราชการอยู่กับเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร์) เมื่อยังเปนพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ได้เปนเสมียนไปรับราชการณเมืองหลวงพระบาง เมื่อครั้งเจ้าพระยาสุรสีห์เปนข้าหลวงใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ครั้นเมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ได้เปนข้าหลวงเทศาภิบาลแรกจัดการมณฑลพิษณุโลก ได้มารับราชการเปนเสมียนอยู่ในข้าหลวงเทศาภิบาลด้วย ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยลำดับ จนได้เปนผู้ช่วยข้าหลวงมหาดไทยมณฑลพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้พระราชทานสัญญาบัตรเปนหลวงสำเริงนฤปการ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๒ ย้ายไปเปนนายอำเภอเมืองพิจิตร์อยู่ ๑ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ จึงกลับมาเปนข้าหลวงมหาดไทยมณฑลพิษณุโลก ประจวบสมัยที่กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งให้มีนักเรียนปกครองขึ้นตามมณฑล หลวงสำเริงนฤปการได้รับเลือกให้เปนผู้สอนนักเรียนปกครองด้วย ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้พระราชทานสัญญาบัตร์เลื่อนขึ้นเปนพระสำเริงนฤปการ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เลื่อนตำแหน่งเปนปลัดมณฑลพิษณุโลก ในปีนี้เกิดผู้ร้ายเงี้ยวขึ้นที่เมืองแพร่ กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้ไปกำกับราชการเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลกและจัดพาหนะกระสุนดินดำส่งลำเลียงกองทัพที่ขึ้นไปปราบปรามเงี้ยวณเมืองแพร่จนสงบ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ เปนบำเหน็จความชอบ
พระสำเริงนฤปการเปนผู้ชำนาญในการปกครองถึงได้เปนอาจารย์สอนนักเรียนดังกล่าวมา ทางราชการจึงเลือกส่งไปประจำราชการในมณฑลและจังหวัดต่าง ๆ หลายแห่งจนตลอดเวลารับราชการ คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ไปเปนผู้ว่าราชการเมืองอุไทยธานี พ.ศ. ๒๔๕๐ เปนปลัดมณฑลชุมพร พ.ศ. ๒๔๕๒ เปนผู้ว่าราชการเมืองชุมพร ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้พระราชทานยศเปนอำมาตย์เอก พ.ศ. ๒๔๕๖ กลับมาเปนผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานสัญญษบัตร์เลื่อนขึ้นเปนพระยาวิเศษไชยชาญ พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ ย้ายไปเปนผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามเลื่อนขึ้นเปนชั้นที่ ๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ มาเปนผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ ป่วยเปนไข้มาลาเรีย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ นี้ คำนวณอายุได้ ๕๑ ปี.
พระยาวิเศษไชยชาญรับราชการอยู่เปนเวลา ๓๑ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนตั้งแต่ ๑๓ บาท ถึง ๖๐๐ บาทเปนที่สุด นอกจากนี้ยังได้พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา แลเหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธีต่าง ๆ ตามบันดาศักดิ์อิกปลายประการ สิ้นประวัติพระยาวิเศษไชยชาญเพียงนี้.
กรรมการหอพระสมุด ฯ ขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทานซึ่งเจ้าภาพงารศพ อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ ได้บำเพ็ญเปนการสนองคุณด้วยความกตัญญูกตเวที และที่ได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลาย
สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๒๕ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๗