- คำนำ
- รูปฉายเมื่ออายุ ๘๐ ปี
- คำนำนิทานโบราณคดี
- นิทานที่ ๑ เรื่องพระพุทธรูปประหลาด
- นิทานที่ ๒ เรื่องพระครูวัดฉลอง
- นิทานที่ ๓ เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร
- นิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ
- นิทานที่ ๕ เรื่องของแปลกที่เมืองชัยปุระในอินเดีย
- นิทานที่ ๖ เรื่องของแปลกที่เมืองพาราณสี
- นิทานที่ ๗ เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย
- นิทานที่ ๘ เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส)
- นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง
- นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์
- นิทานที่ ๑๑ เรื่องโจรแปลกประหลาด
- นิทานที่ ๑๒ เรื่องตั้งโรงพยาบาล
- นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย
- นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
- นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่
- นิทานที่ ๑๖ เรื่องลานช้าง
- นิทานที่ ๑๗ เรื่องแม่น้ำโขง
- นิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ
- นิทานที่ ๑๙ เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์
- นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคต้น)
- นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย)
นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง
(๑)
หอหลวง เป็นที่เก็บรักษาหนังสือซึ่งเป็นแบบฉบับ ตำรับตำราและจดหมายเหตุราชการบ้านเมือง (ที่เรียกว่า “หอหลวง” เห็นจะเป็นคำย่อมาแต่ “หอหนังสือหลวง”) มีในพระราชวังมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็มีหอหลวงอยู่ที่ในพระราชวังเช่นเดียวกัน ฉันเคยเห็นเป็นตึกชั้นเดียวหลังหนึ่ง อยู่ริมถนนตรงหน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ยังมีรูปภาพตึกนั้นเขียนไว้ในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐฯ (ห้องที่เขียนการพิธีทำขนมเบื้องเลี้ยงพระ) อาลักษณ์เป็นพนักงานรักษาหนังสือหอหลวง จึงทำการของกรมอาลักษณ์ที่ตึกนั้นด้วย เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเรียกตึกนั้นว่า “ห้องอาลักษณ์” ด้วยอีกอย่างหนึ่ง
ในรัชกาลที่ ๕ (ดูเหมือนในปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙) เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โปรดให้รื้อตึกหอหลวงกับตึกสำหรับราชการกรมอื่นๆ ที่รายเรียงอยู่แถวเดียวกันลง เพื่อจะสร้างใหม่ให้งามสมกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก็ในเวลารื้อตึกสร้างใหม่นั้น จำต้องย้ายของต่างๆ อันเคยอยู่ในตึกแถวนั้นไปไว้ที่อื่น สมัยนั้นกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นอักษรสารโสภณ ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์ หาที่อื่นเก็บหนังสือหอหลวงไม่ได้ จึงให้ขนเอาไปรักษาไว้ที่วังของท่านอันอยู่ต่อเขตวัดพระเชตุพนฯ ไปข้างใต้ หนังสือหอหลวงก็ไปอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ แต่นั้นมาหลายปี
(๒)
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ มีงานฉลองอายุพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในงานนั้นมีการแสดงพิพิธภัณฑ์ เรียกกันในสมัยนั้นตามภาษาอังกฤษว่า “เอ๊กซหิบิเชน” สร้างโรงชั่วคราวเป็นบริเวณใหญ่ในท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ตลอดจนคฤหบดีที่มีใจจะช่วย ให้จัดของต่างๆ อันควรอวดความรู้และความคิด กับทั้งฝีมือช่างของไทยมาตั้งให้คนดู จัดที่แสดงเป็นห้องๆ ต่อกันไปตามประเภทสิ่งของ ครั้งนั้นกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงรับแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาสมุดในหอหลวงที่มีมาแต่โบราณมาตั้งอวดห้องหนึ่ง นาย ก.ส.ร. กุหลาบรับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่ง อยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทร์ฯ ด้วยเป็นของประเภทเดียวกัน ฉันเคยไปดูทั้ง ๒ ห้อง และเริ่มรู้จักตัวนายกุหลาบเมื่อครั้งนั้น เรื่องประวัติของนายกุหลาบคนนี้กล่าวกันว่า เดิมรับจ้างเป็นเสมียนอยู่ในโรงสีไฟของห้างมากวลด์ จึงเรียกกันว่า “เสมียนกุหลาบ” ทำงานมีผลจนตั้งตัวได้ ก็สร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำข้างใต้วัดราชาธิวาสฯ นายกุหลาบเป็นผู้มีอุปนิสัยรักรู้โบราณคดี ได้พยายามหาหนังสือฉบับแรกพิมพ์ เช่นหมายประกาศที่พิมพ์เป็นใบปลิว และหนังสือเรื่องต่างๆ ที่พิมพ์เป็นเล่มสมุดแต่ในรัชกาลที่ ๔ รวบรวมไว้ได้มากกว่าผู้อื่น จึงกล้ามารับแสดงหนังสือฉบับพิมพ์ในงานครั้งนั้น ก็การแสดงพิพิธภัณฑ์เปิดให้คนดูอยู่นาน นายกุหลาบมีโอกาสเข้าไปดูหนังสือหอหลวงได้ทุกวัน เพราะห้องอยู่ติดต่อกัน เมื่อได้เห็นหนังสือหอหลวงมีเรื่องโบราณคดีต่างๆ ที่ตัวไม่เคยรู้อยู่เป็นอันมากก็ติดใจ อยากได้สำเนาไปไว้เป็นตำราเรียน จึงตั้งหน้าประจบประแจงกรมหลวงบดินทร์ฯ ตั้งแต่ที่ท้องสนามหลวง จนเลิกงานแล้วก็ยังตามไปเฝ้าแหนที่วังต่อมา จนกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงพระเมตตา นายกุหลาบทูลขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงบางเรื่อง แต่กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ประทานอนุญาต ตรัสว่าหนังสือหอหลวงเป็นของต้องห้าม มิให้ใครคัดลอก นายกุหลาบจนใจ จึงคิดทำกลอุบายทูลขออนุญาตเพียงยืมไปอ่านแต่ครั้งละเล่มสมุดไทย และสัญญาว่าพออ่านแล้วจะรีบส่งคืนในวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ทรงระแวง ก็ประทานอนุญาต นายกุหลาบจึงไปว่าจ้างพวกทหารมหาดเล็กที่รู้หนังสือ เตรียมไว้สองสามคน สมัยนั้นฉันเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รู้จักตัวผู้ที่ไปรับจ้างนายกุหลาบคนหนึ่งชื่อนายเมธ
นายเมธนั้นมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “เมธะ” และมีสร้อยชื่อต่อไปยาว เป็นบุตรของจ่าอัศวราช จ่าอัศวราชตั้งชื่อลูกเป็นบทกลอนอย่างแปลกประหลาด ฉันยังจำได้ จึงจดฝากไว้ให้ผู้อื่นรู้ด้วยในที่นี้
๑. อาทิก่อน แม่ “กลีบ” เรนู
๒. เมธะ แปลว่ารู้ นาย “เมธ” ปะสิมา
๓. “กวี” ปรีชา ปิยบุตรที่สาม
๔. “ฉวี” ผิวงาม บุตรแม่พริ้มแรกเกิด
๕. “วรา” ประเสริฐ ที่สองงามสม
๖. “กำดัด” ทรามชม กัลยาลำยอง
๗. “สาโรช” บัวทอง พิศพักตร์ประไพ
๘. “สุมน” สุมาลัย เยาวลักษณ์นารี
๙. “บรม” แปลว่ามี ปรมังลาภา
๑๐. “ลิขิต” เลขา บุตร บุตรพัลลภ
๑๑. “สุพรรณ” วรนพ พคุณสริรา
ที่เรียกกันแต่ตามคำที่หมาย “… ……” ไว้ ลูกผู้ชายรู้หนังสือไทยดีทุกคน
พอนายกุหลาบได้หนังสือจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียน ข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่ในพระระเบียง แล้วเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้คนคัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกสมุดเอาหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม แต่พวกทหารมหาดเล็กที่ไปรับจ้างคัด ก็ไม่รู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือมาจากไหนและจะคัดเอาไปทำไม เห็นแปลกแต่ที่รีบคัดให้หมดเล่มในวันเดียว ได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกัน ตัวฉันได้ยินเล่าก็ไม่เอาใจใส่ในสมัยนั้น นายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่างๆ ไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องเนื่องด้วยโบราณคดี แม้จนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้ แต่เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้วเกิดหวาดหวั่น ด้วยรู้ตัวว่าลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลกจากต้นฉบับเดิม เพื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิใช่ฉบับหลวง เพราะฉะนั้น หนังสือเรื่องต่างๆ ที่นายกุหลาบคัดไปจากหอหลวง เอาไปทำเป็นฉบับขึ้นใหม่ จึงมีความที่แทรกเข้าใหม่ระคนปนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง
(๓)
ถึง พ.ศ. ๒๔๒๖ นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งลักคัดจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเสร็จแล้วเรื่องหนึ่ง ส่งไปให้หมอสมิทที่บางคอแหลมพิมพ์ นายกุหลาบตั้งชื่อหนังสือเรื่องนั้นว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” คือคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทย ที่พม่ากวาดเอาไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ไปเล่าเรื่องพงศาวดารและขนบธรรมเนียมไทยแก่พม่า พอหนังสือเรื่องนั้นพิมพ์ออกจำหน่าย ใครอ่านก็พากันพิศวง ด้วยฉบับเดิมเป็นหนังสือซ่อนอยู่ในหอหลวง ลับลี้ไม่มีใครเคยเห็น และไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้มาจากไหน นายกุหลาบก็เริ่มมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้รู้โบราณคดี และมีตำรับตำรามาก แต่หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่นายกุหลาบให้พิมพ์นั้น มีผู้ชำนาญวรรณคดีสังเกตเห็นว่ามีสำนวนแทรกใหม่ปนอยู่ในนั้น แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสังเกตเห็นเช่นนั้น จึงทรงปรารภในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ตอนพิธีถือน้ำ ว่า “แต่ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัด(ฉบับพิมพ์) นั้น ก็ยกความเรื่องถือน้ำไปว่านอกพระราชพิธี มีเค้ารูปความคล้ายคลึงกับที่ได้ยินเล่ากันมาบ้าง แต่พิสดารฟั่นเฝือเหลือเกิน จนจับได้ชัดเสียแล้วว่ามีผู้แทรกแซมความแต่งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนหาได้เสด็จพระราชดำเนินออก ให้ข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาถึงวัดไม่ พึ่งจะมาเกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็เหตุใดในคำให้การขุนหลวงหาวัด จึงได้เล่าเหมือนในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ จนแต่งตัวแต่งตนและมีเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราวุ่นวายมากไป ซึ่งไม่ได้เคยมีมาแต่ก่อนเลยดังนี้ ก็เห็นว่าเป็นอันเชื่อไม่ได้ในตอนนั้น พึ่งมีปรากฏในฉบับที่ตีพิมพ์นี้ฉบับเดียว สำนวนที่เรียงก็ผิดกับอายุขุนหลวงหาวัด ถ้าของเดิมขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ถึงเรื่องนี้จริง เมื่อเราได้อ่านทราบความก็จะเป็นที่พึงใจ เหมือนหนึ่งทองคำเนื้อบริสุทธิ์ซึ่งเกิดจากตำบลบางตะพาน เพราะท่านเป็นเจ้าแผ่นดินเอง ท่านกล่าวเอง ก็ย่อมจะไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่นี่เมื่อมีผู้ส่งทองให้ดูบอกว่าทองบางตะพาน แต่มีธาตุอื่นๆ เจือปนมากจนเป็นทองเนื้อต่ำ ถึงว่าจะมีทองบางตะพานเจืออยู่บ้างจริงๆ จะรับได้หรือว่าทองทั้งก้อนนั้นเป็นทองบางตะพาน ผู้ซึ่งทำลายของแท้ให้ปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนี้ ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวงซึ่งควรจะได้รับ แล้วเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้รักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้ หนังสือนี้จะเคลื่อนคลาดมาจากแห่งใดก็หาทราบไม่ แต่คงเป็นของซึ่งไม่บริสุทธิ์ซึ่งเห็นได้ถนัด” ดังนี้ แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบเป็นผู้ดัดแปลงสำนวน เพราะไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือเรื่องนั้นไปจากที่ไหน และต้นฉบับเดิมถ้อยคำสำนวนเป็นอย่างไร จนมาถึงรัชกาลที่ ๖ ในเวลาฉันเป็นนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นสมุดไทยมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ อีกฉบับหนึ่ง เดิมเป็นของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เรียกชื่อหนังสือนั้นว่า “พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ” และมีบานแพนกอยู่ข้างต้นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงจัดการแปลหนังสือนั้นเป็นภาษาไทย ก็เป็นอันได้หลักฐานว่านายกุหลาบเอาไปเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” เอาหนังสือ ๒ ฉบับสอบทานกันก็เห็นได้ว่าแก้ความเดิมเสียมาก สมดังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภ เมื่อนายกุหลาบมีชื่อเสียงขึ้นด้วยพิมพ์หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ประจวบกับเวลาตั้งกรมโปลิสท้องน้ำ ซึ่งโปรดให้เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต) เป็นผู้บัญชาการ เจ้าพระยานรรัตนฯ เห็นว่านายกุหลาบเป็นคนกว้างขวางทางท้องน้ำและมีความรู้ ผู้คนนับหน้าถือตา จึงเอามาตั้งเป็น “แอดชุแตนต์” (ยศเสมอนายร้อยเอก) ในกรมโปลิสท้องน้ำ นายกุหลาบจึงได้เข้าเป็นข้าราชการแต่นั้นมา
(๔)
สมัยนั้นหอพระสมุดวชิรญาณเพิ่งแรกตั้ง (ชั้นเมื่อยังเป็นหอพระสมุดของพระโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมกันเป็นเจ้าของ) นายกุหลาบขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก เจ้านายที่เป็นกรรมการทราบกันแต่ว่านายกุหลาบเป็นผู้รักหนังสือ ก็รับเข้าเป็นสมาชิกหอพระสมุดฯ ตามประสงค์ ตั้งแต่นายกุหลาบได้เป็นสมาชิกหอพระสมุดฯ ก็มีแก่ใจให้หนังสือฉบับเขียนเรื่องต่างๆ ที่ได้ลักคัดสำเนาจากหอหลวงเอาไปแปลงเป็นฉบับใหม่ เป็นของกำนัลแก่หอพระสมุดฯ หลายเรื่อง กรมพระสมมตอมรพันธ์กับตัวฉันเป็นกรรมการหอพระสมุดฯ ก็ไม่เคยเห็นหนังสือในหอหลวงมาแต่ก่อน และไม่รู้ว่าย้ายหนังสือไปเก็บไว้ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ เป็นแต่พิจารณาดูหนังสือที่นายกุหลาบให้หอพระสมุดฯ เห็นแปลกที่เป็นสำนวนเก่าแกมใหม่ระคนปนกันหมดทุกเรื่อง ถามนายกุหลาบว่าได้ต้นฉบับมาจากไหน นายกุหลาบก็อ้างแต่ผู้ตาย เช่น พระยาศรีสุนทรฯ (ฟัก) และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นต้น อันจะสืบสวนไม่ได้ จึงเกิดสงสัยว่าที่เป็นสำนวนใหม่นั้นน่าจะเป็นของนายกุหลาบแทรกลงเอง จึงมีความเท็จอยู่มาก แต่ตอนที่เป็นสำนวนเดิม นายกุหลาบจะได้ต้นฉบับมาจากไหนก็ยังคิดไม่เห็น กรมพระสมมตฯ จึงตรัสเรียกหนังสือพวกนั้นว่า “หนังสือกุ” เพราะจะว่าแท้จริงหรือว่าเท็จไม่ได้ทั้งสองสถาน กรมพระสมมตฯ ใคร่จะทอดพระเนตรหนังสือพวกนั้นให้หมด จึงทรงผูกพันทางไมตรีกับนายกุหลาบเหมือนอย่างไม่รู้เท่า นายกุหลาบเข้าใจว่ากรมพระสมมตอมรพันธ์ทรงนับถือ ก็เอาหนังสือฉบับที่ทำขึ้นมาถวายทอดพระเนตร จนถึงพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ (ตอนรัชกาลที่ ๓) ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง ก็หนังสือเรื่องนั้นเป็นหนังสือแต่งใหม่ในรัชกาลที่ ๕ สำเนาฉบับเดิมมีอยู่ในหอพระสมุดฯ เมื่อได้ฉบับของนายกุหลาบมา เอาสอบกับฉบับเดิม ก็จับได้ว่านายกุหลาบแทรกลงตรงไหนๆ บ้าง กรมพระสมมตฯ กราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงให้ทรงทราบ ดำรัสเรียกเอาไปทอดพระเนตร ทรงจับได้ต่อไปว่าความที่แทรกนั้นนายกุหลาบคัดเอามาจากหนังสือเรื่องไหนๆ ก็เป็นอันรู้ได้แน่ชัด ว่าที่หนังสือฉบับนายกุหลาบผิดกับฉบับเดิม เป็นเพราะนายกุหลาบแก้ไขแทรกลงทั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรง “มันไส้” ถึงเขียนลายพระราชหัตถเลขาลงในต้นฉบับของนายกุหลาบ ทรงชี้ให้เห็นตรงที่แทรกบ้าง บางแห่งก็ทรงเขียนเป็นคำล้อเลียน หรือคำบริภาษแทรกลงบ้าง แล้วพระราชทานคืนออกมายังกรมพระสมมตฯ กรมพระสมมตฯ ต้องให้อาลักษณ์เขียนตามฉบับของนายกุหลาบขึ้นใหม่ส่งคืนไปให้เจ้าของ เอาหนังสือของนายกุหลาบที่มีลายพระราชหัตถเลขารักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณจนบัดนี้.
(๕)
ต่อมานายกุหลาบต้องออกจากตำแหน่ง (แอดชุแตนต์) โปลิสท้องน้ำ ก็เลยออกจากสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณไปด้วย นายกุหลาบจึงไปคิดออกหนังสือพิมพ์วารสาร เรียกชื่อว่า “สยามประเภท” เหมือนอย่างหอพระสมุดฯ ออกหนังสือ “วชิรญาณ” ทำเป็นเล่มสมุดออกขายเป็นรายเดือน เอาเรื่องต่างๆ ที่คัดไปจากหอหลวงและไปดัดแปลงดังว่านั้น พิมพ์ในหนังสือสยามประเภท และเขียนคำอธิบายปดว่าได้ฉบับมาจากไหนๆ ไปต่างๆ เว้นแต่ที่กรมหลวงบดินทร์ฯ นั้น มิได้ออกพระนามให้แพร่งพรายเลย คนทั้งหลายพากันหลงเชื่อก็นับถือนายกุหลาบ ถึงเรียกกันว่า “อาจารย์กุหลาบ” ก็มี ครั้นจำเนียรกาลนานมาเมื่อนายกุหลาบหมดเรื่องที่ได้ไปจากหอหลวง ก็ต้องแต่งเรื่องต่างๆ แต่โดยเดาขึ้นในหนังสือสยามประเภท แต่อ้างว่าเป็นเรื่องพงศาวดารแท้จริง แต่ก็ยังไม่มีใครทักท้วงประการใดๆ จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัย ตอนเมื่อจะเสียแก่กรุงศรีอยุธยาพิมพ์ในหนังสือสยามประเภท ว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า “พระปิ่นเกส” สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า “พระจุลปิ่นเกส” เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้น ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นความจริง ก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้า ไปแปลงเป็นพระปิ่นเกสและพระจุลปิ่นเกส เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิในการแต่งหนังสือ จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภ สุทัศน์) เมื่อยังเป็นที่พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าจะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติ โปรดให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงเลี้ยงบ้าสัก ๗ วัน แล้วก็ปล่อยไป นายกุหลาบเข็ดไปหน่อย ถึง ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) เมื่องานพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ก็แต่งอธิบายแบบแผนงานพระบรมศพครั้งกรุงศรีอยุธยาในหนังสือสยามประเภท เป็นที่ว่างานพระเมรุที่ทำครั้งนั้นยังไม่ถูกต้องตามแบบแผน และอ้างว่าตัวมีตำราเดิมอยู่ พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ข้าหลวงเรียกนายกุหลาบมาถาม ก็รับสารภาพว่าเป็นแต่คิดแต่งขึ้นอวดผู้อื่น หามีตำรับตำราอย่างอ้างไม่ ครั้งนี้เป็นแต่โปรดให้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคมปีนั้น หาได้ลงโทษนายกุหลาบอย่างใดไม่ นายกุหลาบก็ไม่เข็ด พอถึงงานพระเมรุสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิษฐ ร.ศ. ๑๑๙ นั่นเอง นายกุหลาบแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชพิมพ์อีกเรื่องหนึ่ง อ้างว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับแจก คราวนี้อวดหลักฐานเรื่องต่างๆ ที่ตนกล่าวอ้าง ว่าล้วนได้มาจากนักปราชญ์ซึ่งทรงเกียรติคุณ คือกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ โดยเฉพาะ เพราะตนได้เคยเป็นสัทธิงวิหาริก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระดำริว่าถ้าเฉยอยู่ นายกุหลาบจะพาให้คนหลงเชื่อเรื่องพงศาวดารเท็จที่นายกุหลาบแต่งมากไป จึงโปรดให้มีกรรมการ ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น) เป็นประธานสอบสวน ก็ได้ความตามคำสารภาพของนายกุหลาบเอง กับทั้งคำพยาน ว่าหนังสือพงศาวดารที่นายกุหลาบแต่ง และคำอ้างอวดของนายกุหลาบ ที่ว่าเคยเป็นศิษย์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ก็เป็นความเท็จ ครั้งนี้ก็เป็นแต่โปรดให้ประกาศรายงานกรรมการ มิให้ลงโทษนายกุหลาบอย่างใด สำนวนการไต่สวนครั้งนั้น หอพระสมุดฯ พิมพ์เป็นเล่มสมุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ยังปรากฏอยู่
ต่อมาเมื่อนายกุหลาบหมดทุนที่จะออกหนังสือสยามประเภทต่อไปแล้ว ไปเช่าตึกแถวอยู่ที่ถนนเฟื่องนครตรงวัดราชบพิธฯ เป็นแต่ยังรับเป็นที่ปรึกษาของคนหาความรู้ เช่นผู้ที่อยากรู้ว่าสกุลของตนจะสืบชั้นบรรพบุรุษถอยหลังขึ้นไปถึงไหน ไปไถ่ถาม นายกุหลาบก็รับค้นคิดสมมตขึ้นไปให้เกี่ยวดองกับผู้มีศักดิ์เป็นบรรพบุรุษสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ยังมีคนนับหน้าถือตา ว่ามีความรู้มากอยู่ไม่ขาด ถึงปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) นายกุหลาบยัง “พ่นพิษ” อีกครั้งหนึ่ง ในสมัยเมื่อมีหอพระสมุดสำหรับพระนครแล้ว จะเอามาเล่าเสียด้วยให้เสร็จไปในตอนนี้ เพราะเกี่ยวกับประวัติหนังสือหอหลวงด้วย วันหนึ่งฉันไปหอพระสมุดฯ เห็นใบปลิวซึ่งนายกุหลาบพิมพ์โฆษณาส่งมาให้หอพระสมุดฯ ฉบับหนึ่ง อวดว่าได้ต้นหนังสือกฎหมายฉบับหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยามาเล่มหนึ่ง และหนังสือนั้นเขียนเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๖๖ ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ มีตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และตราบัวแก้ว ประทับเป็นสำคัญ ถ้าใครไม่เชื่อจะไปพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตาตนเองก็ได้
ความประสงค์ของนายกุหลาบที่โฆษณา ดูเหมือนจะใคร่ขายหนังสือนั้น แต่ตามคำโฆษณามีพิรุธเป็นข้อสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยตามปฏิทินจุลศักราช ๑๐๖๖ เป็นปีวอก มิใช่ปีชวดดังนายกุหลาบอ้าง เวลานั้นฉันเป็นสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร คิดสงสัย จึงกระซิบสั่งพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ให้ไปขอดูเหมือนอย่างตัวอยากรู้เห็นเอง พระยาปริยัติฯ กลับมาบอกว่าหนังสือกฎหมายที่นายกุหลาบได้ไว้นั้นเป็นสมุดไทยกระดาษขาวเขียนเส้นหมึก ดูเป็นของเก่ามีตราประทับ ๓ ดวง และมีกาลกำหนดว่าปีชวดจุลศักราช ๑๐๖๖ ตรงตามนายกุหลาบอ้าง แต่พระยาปริยัติฯ สังเกตดูตัวเลขที่เขียนศักราช ตรงตัว ๐ ดูเหมือนมีรอยขูดแก้ ฉันได้ฟังก็แน่ใจว่านายกุหลาบได้สมุดกฎหมายฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ ไปจากที่ไหนแห่งหนึ่ง ซึ่งในบานแผนกมีกาลกำหนดว่า “ปีชวด ศักราช ๑๑๖๖” นายกุหลาบขูดแก้เลข ๑ ที่เรือนร้อยเขียนแปลงเป็น ๐ ปลอมศักราชถอยหลังขึ้นไป ๑๐๐ ปี ด้วยไม่รู้ว่าจุลศักราช ๑๐๖๖ นั้นเป็นปีวอก มิใช่ปีชวด ปล่อยคำ “ปีชวด” ไว้ให้เห็นชัดว่า ไม่ใช่ต้นฉบับกฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังอ้างในคำโฆษณา ฉันกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงตรัสสั่งเจ้าพระยาอภัยราชา ซึ่งเคยเป็นหมอความนายกุหลาบมาแต่ก่อน ให้ไปเรียกสมุดกฎหมายเล่มนั้นถวายทอดพระเนตร เจ้าพระยาอภัยราชาได้ไปถวายในวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเปิดออกทอดพระเนตรตรัสว่า “ไหนว่าศักราช ๑๐๖๖ อย่างไรจึงเป็น ๑๑๖๖” เจ้าพระยาอภัยราชาก็ตกใจ กราบทูลเล่าถวายว่าเมื่อตอนเช้าวันนั้นจะไปศาลากระทรวงนครบาล เมื่อผ่านหน้าห้องแถวที่นายกุหลาบอยู่ ได้แวะเข้าไปเรียกสมุดกฎหมายนั้นออกมาเปิดดู สังเกตเห็นในบานแผนกลงปีชวด จุลศักราช ๑๐๖๖ ตรงดังนายกุหลาบอ้าง เจ้าพระยาอภัยราชาบอกนายกุหลาบว่า “พระเจ้าอยู่หัวจะทอดพระเนตร” นายกุหลาบก็แสดงความยินดี เลยว่าถ้าต้องพระราชประสงค์ก็จะทูลเกล้าฯ ถวาย เจ้าพระยาอภัยราชาจะไปทำงานที่กระทรวงเสียก่อน จึงบอกนายกุหลาบว่าเวลาบ่ายวันนั้นเมื่อจะไปเฝ้าที่สวนดุสิตจะไปรับหนังสือ เวลาไปรับ นายกุหลาบก็เอาหนังสือมามอบให้โดยเรียบร้อย เจ้าพระยาอภัยราชากราบทูลสารภาพรับผิด ที่ประมาทมิได้เอาสมุดมาเสียด้วยตั้งแต่แรก นายกุหลาบจึงมีโอกาสขูดแก้ศักราชในเวลาเมื่อคอยส่งหนังสือให้เจ้าพระยาอภัยราชานั่นเอง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงฟัง ก็ทรงพระสรวล ดำรัสว่า “พระยารองเมือง ไปเสียรู้นายกุหลาบเสียแล้ว” แล้วพระราชทานสมุดกฎหมายเล่มนั้นมาไว้ให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร รอยที่นายกุหลาบขูดแก้ยังปรากฏอยู่
(๖)
ประวัติหนังสือหอหลวงมีเรื่องหลายตอน ที่เล่ามาแล้วเป็นตอนที่คนทั้งหลายจะรู้เรื่องต่างๆ อันลี้ลับอยู่ในหอหลวง เพราะเหตุที่นายกุหลาบลักคัดเอาสำเนาไปแก้ไขออกโฆษณา จึงต้องเล่าเรื่องประวัติของนายกุหลาบด้วยยืดยาว ยังมีเรื่องประวัติหนังสือหอหลวงเมื่ออยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ต่อไปอีก ด้วยการที่จะสร้างหอหลวงใหม่เริดร้างอยู่ช้านาน จนถึงสมัยเมื่อจัดกระทรวงต่างๆ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ โปรดให้รวมกรมอาลักษณ์เข้าในกระทรวงมุรธาธร กรมพระสมมตอมรพันธ์เมื่อยังเป็นกรมหมื่น ได้ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์ จึงให้ไปรับหนังสือหอหลวงจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ เพื่อจะเอากลับเข้าไปรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวังอย่างเดิม เวลาเมื่อจะส่งหนังสือหอหลวงคืนมานั้น มีคนในสำนักกรมหลวงบดินทร์ฯ จะเป็นผู้ใดไม่ปรากฏชื่อ แต่ต้องเป็นมูลนายมีพรรคพวก ลอบแบ่งเอาหนังสือหอหลวงยักยอกไว้ไม่ส่งคืนมาทั้งหมด มาปรากฏเมื่อภายหลังว่ายักยอกเอาหนังสือซึ่งเขียนฝีมือดี และเป็นเรื่องสำคัญๆ ไว้มาก เพราะในเวลานั้นไม่มีบัญชีหนังสือหอหลวงอยู่ที่อื่น นอกจากที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ อันผู้ยักยอกอาจเก็บซ่อน หรือทำลายเสียได้โดยง่าย แต่การที่ยักยอกหนังสือหลวงนั้น กรมหลวงบดินทร์ฯ คงไม่ทรงทราบ พวกอาลักษณ์ที่ไปรับหนังสือก็คงไม่รู้ ได้หนังสือเท่าใดก็ขนมาแต่เท่านั้น หนังสือหอหลวงจึงแตกเป็น ๒ ภาค กลับคืนเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังภาคหนึ่ง พวกที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกเอาไปซ่อนไว้ที่อื่นภาคหนึ่ง ต่อมาเมื่อกรมหลวงบดินทร์ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ชะรอยคนที่ได้หนังสือหอหลวงไว้จะยากจนลง จึงเริ่มเอาหนังสือที่มีรูปภาพและฝีมือเขียนงามๆ ออกขาย โดยอุบายแต่งให้คนชั้นบ่าวไพร่ไปเที่ยวบอกขายทีละเล่มสองเล่ม มีฝรั่งซื้อส่งเข้าหอสมุดในยุโรปบ้าง ไทยที่ชอบสะสมของเก่ารับซื้อไว้บ้าง ฉันเริ่มทราบว่าหนังสือฉบับหอหลวงแตกกระจายไป เมื่อไปเห็นที่ตำหนักหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ เธอมีอยู่ในตู้หลายเล่ม ถามเธอว่าอย่างไรจึงได้หนังสือฉบับหลวงเหล่านั้นไว้ เธอบอกว่ามีผู้เอาไปขาย เธอเห็นเป็นหนังสือของเก่าก็ซื้อไว้ ด้วยเกรงฝรั่งจะซื้อเอาไปเสียจากเมืองไทย แต่ใครเอาไปขายให้เธอ หรือหนังสือเหล่านั้นไปจากที่ไหน เธอหาบอกไม่ บางทีเธอจะไม่รู้เองก็เป็นได้ เกิดลือกันขึ้นครั้งหนึ่งว่ามีผู้เอาหนังสือไตรภูมิฉบับหลวง เขียนประสานสีเมื่อครั้งกรุงธนบุรีไปขายให้เยอรมันคนหนึ่งซื้อส่งไปยังหอสมุดหลวงที่กรุงเบอร์ลินเป็นราคาถึง ๑,๐๐๐ บาทแล้วก็เงียบไป กรณีจึงรู้กันเพียงว่ามีผู้เอาหนังสือฉบับหลวงออกขาย เพราะหนังสือฉบับหลวงย่อมมีชื่ออาลักษณ์ผู้เขียนและผู้ทานอยู่แต่ข้างต้นและมีคำว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” นำหน้าชื่อทุกเล่ม ใครซื้อไว้ก็มักปกปิดด้วยกลัวถูกจับ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าหนังสือฉบับหลวงเหล่านั้น แตกไปจากที่ไหนอยู่ช้านาน
(๗)
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างอนุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจำนวนปีแต่พระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปีเป็นอภิลักขิตกาล จึงโปรดให้รวมหนังสือในหอมนเทียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอพุทธศาสนสังคหะ เข้าด้วยกัน ตั้งเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร ขนานนามตามพระสมณามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” และให้มีกรรมการจัดหอพระสมุดฯ นั้น คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นสภานายก กรมพระสมมตอมรพันธ์และตัวฉัน กับทั้งพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) และพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เป็นกรรมสัมปาทิก รวมกัน ๕ คนเป็นคณะพนักงานจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครมาแรกตั้ง เมื่อรวมหนังสือทั้ง ๓ แห่งเข้าเป็นหอสมุดอันเดียวกันแล้ว ถึงชั้นที่จะหาหนังสือจากที่อื่นมาเพิ่มเติม กรรมการปรึกษากันเห็นว่าควรจะหาหนังสือภาษาฝรั่งต่างชาติ แต่เฉพาะซึ่งแต่งว่าด้วยเมืองไทยตั้งแต่โบราณมารวบรวมก่อน หนังสือพวกนี้จะสั่งไปให้หาซื้อในยุโรปและอเมริกา ส่วนหนังสือภาษาไทย จะรวบรวมหนังสือซึ่งยังเป็นฉบับเขียน อันมีกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง เอามารวบรวมไว้ในหอสมุดก่อนหนังสือพวกอื่น เพราะหนังสือไทยที่เป็นจดหมายเหตุและตำรับตำราวิชาการกับทั้งวรรณคดี ยังมีแต่เป็นฉบับเขียนอยู่โดยมาก ถ้าทิ้งไว้ไม่รีบรวบรวมเอามารักษาในหอพระสมุดฯ วิชาความรู้อันเป็นสมบัติของชาติก็จะเสื่อมสูญไปเสีย วิธีที่จะหาหนังสือฉบับเขียนในเมืองไทยนั้น ตกลงกันให้กรมพระสมมตฯ ทรงตรวจดูหนังสือในหอหลวง ซึ่งมิได้โปรดให้โอนเอามารวมในหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่กรมพระสมมตฯ ทรงรักษาอยู่เอง ถ้าเรื่องใดควรจะมีในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ก็ให้ทรงคัดสำเนาส่งมา กรมพระสมมตฯ ทรงหาได้หนังสือดีๆ และเรียบเรียงประทานให้หอพระสมุดฯ พิมพ์ปรากฏอยู่เป็นหลายเรื่อง ส่วนหนังสือฉบับเขียนซึ่งมีอยู่ที่อื่นนอกจากหอหลวงนั้น ให้ตัวฉันเป็นผู้หา ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่เกิดวิธีฉันหาหนังสือด้วยประการต่างๆ จึงรู้เรื่องประวัติหนังสือหอหลวงสิ้นกระแสความ ดังจะเห็นต่อไปข้างหน้า
หนังสือไทยฉบับเขียนของเก่านั้น ลักษณะต่างกันเป็น ๓ ประเภท ถ้าเป็นหนังสือสำหรับอ่านกันเป็นสามัญ เขียนในสมุดไทยสีขาวด้วยเส้นหมึกบ้าง เขียนในสมุดไทยสีดำด้วยเส้นดินสอขาวบ้าง หรือเส้นฝุ่นและเส้นหรดาล หรือวิเศษถึงเขียนด้วยเส้นทองก็มี เขียนตัวอักษรบรรจงทั้งนั้น ต่อเป็นร่างหรือสำเนาจึงเขียนอักษรหวัดด้วยเส้นดินสอแต่ว่าล้วนเขียนในสมุดไทยประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นหนังสือตำรับตำรา เช่นตำราเลขยันต์หรือคาถาอาคมเป็นต้น อันเจ้าของประสงค์จะซ่อนเร้นไว้แก่ตัว มักจารลงในใบลานขนาดสั้นสักครึ่งคัมภีร์พระธรรมร้อยเชือกเก็บไว้ แต่ล้วนเป็นหนังสือคัมภีร์ใบลานประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นจดหมายมีไปมาถึงกัน แม้ท้องตราและใบบอกในราชการ ก็เขียนลงกระดาษข่อยด้วยเส้นดินสอดำม้วนใส่กระบอกไม้ไผ่ส่งไป เมื่อเสร็จกิจแล้วก็เอาเชือกผูกเก็บไว้เป็นมัดๆ มักมีแต่ตามสำนักราชการประเภทหนึ่ง หนังสือฉบับเขียนทั้ง ๓ ประเภทที่ว่ามา ประเภทที่เขียนในสมุดไทยมีมากกว่าอย่างอื่น แต่ที่นับว่าเป็นฉบับดีๆ เพราะตัวอักษรเขียนงามและสอบทานถูกต้องประกอบกัน นอกจากหนังสือหอหลวง มักเป็นหนังสือซึ่งเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลก่อนๆ สร้างไว้ แล้วแบ่งกันเป็นมรดกตกอยู่ในเชื้อวงศ์เป็นแห่งๆ ก็มี ที่ผู้รับมรดกรักษาไว้ไม่ได้ แตกกระจัดกระจายไปตกอยู่ที่อื่นแห่งละเล็กละน้อยก็มี หนังสือพวกที่จารในใบลานมีน้อย ถ้าอยู่กับผู้รู้วิชานั้นมักหวงแหน แต่ก็ได้มาบ้าง มักเป็นเรื่องแปลกๆ เช่นลายแทงคิดปริศนาและตำราพิธีอันมิใคร่มีใครรู้ แต่มักไม่น่าเชื่อคุณวิเศษที่อวดอ้างในหนังสือนั้น แต่หนังสือซึ่งเขียนกระดาษเพลา มักมีแต่ของหลวงอยู่ตามสำนักราชการ ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอยู่ด้วย ให้ส่งหนังสือพวกนี้ที่มีอยู่ในกระทรวงและที่ได้พบตามหัวเมือง ไปยังหอพระสมุดฯ ทั้งหมด แต่ในสมัยเมื่อฉันหาหนังสือฉบับเขียนสำหรับหอพระสมุดฯ นั้น พวกฝรั่งและพวกเล่นสะสมของเก่า เช่นหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถเป็นต้น ก็กำลังหาซื้อหนังสือไทยฉบับเขียนแข่งอยู่อีกทางหนึ่ง ผิดกันแต่พวกนั้นต้องหาโดยปกปิด ฉันหาได้อย่างเปิดเผย และเลือกโดยความประสงค์ผิดกัน พวกนั้นหาหนังสือ “งาม” คือที่มีรูปภาพหรือที่มีฝีมือเขียนอักษรงาม แต่จะเป็นหนังสือเรื่องอย่างไรไม่ถือเป็นสำคัญ ฝ่ายข้างตัวฉันหาหนังสือ “ดี” คือถือเอาเรื่องหนังสือเป็นสำคัญ ถ้าเป็นหนังสือเรื่องที่มีดื่น ถึงฉบับจะเขียนงามก็ไม่ถือว่าดี ถ้าเป็นเรื่องแปลกหรือเป็นฉบับเขียนถูกต้องดี ถึงจะเขียนไม่งามหรือที่สุดเป็นแต่หนังสือเขียนตัวหวัดก็ซื้อ และให้ราคาแพงกว่าหนังสือซึ่งมีดื่น
วิธีที่ฉันหาหนังสือนั้น เมื่อรู้ว่าแหล่งหนังสือมีอยู่ที่ไหน ฉันก็ไปเองหรือให้ผู้อื่นไปบอกเจ้าของหนังสือให้ทราบพระราชประสงค์ ซึ่งทรงตั้งหอสมุดสำหรับพระนคร และขอดูหนังสือที่เขามีอยู่ ถ้าพบหนังสือเรื่องใดซึ่งยังไม่มีในหอพระสมุดฯ ก็ขอหนังสือนั้น เจ้าของจะถวายก็ได้ จะขายก็ได้ หรือเพียงอนุญาตให้คัดสำเนาหนังสือเรื่องนั้นมาก็ได้ตามใจ เจ้าของหนังสือไม่มีใครขัดขวาง อย่างหวงแหนก็เพียงขอต้นฉบับไว้ยอมให้คัดสำเนามา แต่ที่เต็มใจถวายต้นฉบับทีเดียวมีมากกว่าอย่างอื่น บางแห่งก็ถึง “ยกรัง” หนังสือซึ่งได้เก็บรักษาไว้ถวายเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนครทั้งหมด เพราะมีการซึ่งหอพระสมุดฯ ทำอีกอย่างหนึ่ง เป็นปัจจัยให้คนนิยม คือแต่เดิมมาในงานศพเจ้าภาพมักพิมพ์เทศนาหรือคำแปลภาษาบาลี เป็นสมุดเล่มเล็กๆ แจกผู้ไปช่วยงาน ครั้งงานพระศพกรมขุนสุพรรณภาควดีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริ ว่าหนังสือแจกซึ่งเป็นธรรมปริยายลึกซึ้งคนมิใคร่ชอบอ่าน จึงโปรดให้แปลนิทานนิบาตชาดกตอนต้น พิมพ์พระราชทานเป็นของแจก และทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องประวัติของคัมภีร์ชาดก กับทั้งทรงแนะนำไว้ในคำนำข้างต้น ว่าหนังสือแจกควรจะพิมพ์เรื่องต่างๆ ให้คนชอบอ่าน แต่นั้นเจ้าภาพงานศพก็มักมาขอเรื่องหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกต่อกรรมการหอพระสมุดฯ กรรมการคิดเห็นว่าถ้าช่วยอุดหนุนการพิมพ์หนังสือแจก จะเกิดประโยชน์หลายอย่าง เป็นต้นแต่สามารถจะรักษาเรื่องหนังสือเก่าไว้มิให้สูญ และให้มหาชนเจริญความรู้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงรับธุระหาเรื่องหนังสือให้เจ้าภาพพิมพ์แจกทุกรายที่มาขอ และเลือกหนังสือซึ่งเป็นเรื่องน่าอ่าน เอามาชำระสอบทานให้ถูกต้อง ทั้งแต่งอธิบายว่าด้วยหนังสือเรื่องนั้นไว้ในคำนำข้างต้น แล้วจึงให้ไปพิมพ์แจก จึงเกิด “หนังสือฉบับหอพระสมุด” ขึ้น ใครได้รับไปก็ชอบอ่าน เพราะได้ความรู้ดีกว่าฉบับอื่น เจ้าของหนังสือฉบับเขียนเห็นว่าหอพระสมุดฯ ได้หนังสือไปทำให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นกว่าอยู่กับตน ก็เต็มใจถวายหนังสือดังกล่าวมา การหาเรื่องหนังสือให้ผู้อื่นพิมพ์แจก จึงเลยเป็นธุระส่วนใหญ่อันหนึ่งของหอพระสมุดฯ สำหรับพระนครสืบมา และเป็นเหตุให้มีหนังสือไทยเรื่องต่างๆ พิมพ์ขึ้นปีละมากๆ จนบัดนี้
การหาหนังสือฉบับเขียนซึ่งมีอยู่เป็นแหล่ง ไม่ยากเหมือนหาหนังสือซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง เพราะรู้ไม่ได้ว่าหนังสือจะมีอยู่ที่ไหนบ้าง พบเข้าก็มีแต่แห่งละเล็กละน้อย ทั้งเจ้าของก็มักเป็นชั้นที่ไม่รู้จักคุณค่าของหนังสือ ฉันจึงคิดวิธีอย่างหนึ่ง ด้วยขอแรงพวกพนักงานในหอพระสมุดฯ ให้ช่วยกันเที่ยวหาในเวลาว่างราชการ ไปพบหนังสือเรื่องดีมีที่ไหนก็ให้ขอซื้อเอามา หรือถ้าไม่แน่ใจก็ชวนให้เจ้าของเอามาให้ฉันดูก่อน บอกแต่ว่าถ้าเป็นหนังสือดีฉันจะซื้อด้วยราคาตามสมควร หาโดยกระบวนนี้บางทีได้หนังสือดีอย่างแปลกประหลาด จะเล่าเป็นตัวอย่าง ดังครั้งหนึ่งพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ไปเห็นยายแก่กำลังเอาสมุดดำรวมใส่กระชุที่บ้านแห่งหนึ่ง ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดูก่อน แกก็ส่งมาให้ทั้งกระชุ พบหนังสือพงศาวดารเมืองไทย แต่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ เล่มหนึ่ง อยู่ในพวกสมุดที่จะเผานั้น ออกปากว่าอยากได้ ยายแก่ก็ให้ไม่หวงแหน พระยาปริยัติธรรมธาดาเอาสมุดเล่มนั้นมาให้ฉัน เมื่อพิจารณาดูเห็นเป็นหนังสือพงศาวดารความเก่าแต่งก่อนเพื่อน เรื่องและศักราชก็แม่นยำ ผิดกับฉบับอื่นทั้งหมด ฉันจึงให้เรียกว่า “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” ให้เป็นเกียรติยศแก่พระยาปริยัติฯ และได้ใช้เป็นฉบับสำหรับสอบสืบมาจนบัดนี้ แต่เจ้าของบางคนก็เห็นค่าหนังสือของตนอย่างวิปริต ดังแห่งหนึ่งอวดว่ามีหนังสือเขียนตัวทองอยู่เรื่องหนึ่ง ตั้งราคาขายแพงมาก ผู้ไปพบจะขออ่านก็ไม่ให้ดู ฉันให้กลับไปถามเพียงชื่อเรื่องหนังสือนั้น บอกว่า “เรื่องพระลอ” ซึ่งมีฉบับเขียนอยู่ในหอพระสมุดฯ แล้วหลายฉบับ ทั้งเป็นเรื่องที่พิมพ์แล้วด้วย ก็เป็นเลิกกันเพียงนั้น แต่เมื่อคนรู้กันแพร่หลายว่าหอพระสมุดฯ หาซื้อหนังสือฉบับเขียน ก็เริ่มมีคนเอาหนังสือมาขายที่หอพระสมุดฯ ชั้นแรกดูเหมือนจะเป็นแต่พวกราษฎร ต่อมาเจ้าของที่เป็นผู้ดีแต่งให้คนมาขายก็มี ที่สุดถึงมีพวก “นายหน้า” เที่ยวหาหนังสือมาขายหอพระสมุดฯ เนืองนิจ จนจำหน้าได้ พวกนายหน้านี้เป็นคนจำพวกเดียวกับที่เที่ยวหาหนังสือฉบับหลวง และของประหลาดขายฝรั่ง เขาว่าของที่ขายมักได้มาโดยทุจริต แต่จะไถ่ถามถึงกรรมสิทธิ์ของผู้ที่มาขายหนังสือเสียก่อน ก็คงเกิดหวาดหวั่น ไม่มีใครกล้าเอาหนังสือมาขายหอพระสมุดฯ ฉันนึกขึ้นว่าหนังสือผิดกับทรัพย์สินอย่างอื่น ด้วยอาจจะคัดสำเนาเอาเรื่องไว้ได้ โดยจะเป็นของโจรลักเอามา เมื่อเจ้าของมาพบ คืนต้นฉบับให้เขา ขอคัดแต่สำเนาไว้ก็เป็นประโยชน์สมประสงค์ ไม่เสียเงินเปล่า ฉันจึงสั่งพนักงานรับหนังสือว่าถ้าใครเอาหนังสือมาขาย อย่าให้ไถ่ถามอย่างไร นอกจากราคาที่จะขาย แล้วเขียนราคาลงในเศษกระดาษ เหน็บกับหนังสือส่งมาให้ฉันดูทีเดียว ฉันเลือกซื้อด้วยเอาเรื่องหนังสือเป็นใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว บางทีเป็นหนังสือเขียนงามแต่ฉันไม่ซื้อ หรือไม่ยอมให้ราคาเท่าที่จะขาย เพราะเป็นเรื่องดื่นก็มี บางทีเป็นแต่สมุดเก่าๆ เขียนด้วยเส้นดินสอ ผู้ขายตีราคาเพียงเล่มละบาทหนึ่งสองบาท แต่เป็นเรื่องที่ไม่เคยพบหรือหายาก ยังไม่มีในหอพระสมุดฯ ฉันเห็นว่าเจ้าของตีราคาต่ำ เพราะไม่รู้คุณค่าของหนังสือ จะซื้อตามราคาที่บอกขาย ดูเป็นเอาเปรียบคนรู้น้อย หาควรไม่ ฉันจึงเพิ่มราคาให้เป็นเล่มละ ๔ บาทหรือ ๕ บาทบ้าง ให้บอกเจ้าของว่าราคาที่ตั้งมายังไม่ถึงค่าของหนังสือ พวกคนขายหนังสือได้เงินเพิ่มเนืองๆ ก็เชื่อถือความยุติธรรมของหอพระสมุดฯ จนไม่มีใครตั้งราคาขาย บอกแต่ว่า “แล้วแต่จะประทาน” การซื้อหนังสือในพื้นเมืองก็สะดวก จึงซื้อมาด้วยอย่างนั้นเป็นนิจ
(๘)
แต่ความที่กล่าวไว้ข้างต้นนิทานนี้ ที่ว่านายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ดี ที่ว่าคนในวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกหนังสือหอหลวงไว้ และต่อมาเอาออกขายแก่ฝรั่งและผู้เล่นสะสมของเก่าก็ดี ไม่มีใครรู้มากว่า ๒๐ ปี เค้าเงื่อนเพิ่งมาปรากฏขึ้นเมื่อฉันซื้อหนังสือเข้าหอพระสมุดฯ ดังพรรณนามา ด้วยวันหนึ่งมีคนเอาหนังสือพระราชพงศาวดาร เป็นฉบับเขียนเส้นดินสอมาขาย ๒ เล่มสมุดไทย ฉันเห็นมีลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเส้นดินสอเหลือง ทรงเขียนแก้ไขเพิ่มเติมเป็นแห่งๆ ไปตลอดทั้งเล่ม ฉันตีราคาให้เล่มละ ๑๐ บาท แต่ไม่บอกว่าเพราะมีพระราชหัตถเลขาอยู่ในนั้น ผู้ขายก็พิศวง บอกพนักงานรับหนังสือว่าหนังสือเรื่องนั้นยังมีจะเอามาขายอีก แล้วเอามาขายทีละ ๓ เล่ม ๔ เล่ม ฉันก็ให้ราคาเล่มละ ๑๐ บาทเสมอทุกครั้ง ได้หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาถึง ๒๒ เล่ม จนผู้ขายบอกว่าหมดฉบับที่มีเพียงเท่านั้น
ฝ่ายตัวฉัน ตั้งแต่ได้หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามา ๒ เล่มก็เกิดพิศวง ด้วยเห็นชัดว่าหนังสือฉบับนั้นเป็นของหลวงอันอาลักษณ์รักษาไว้ในหอหลวง เหตุไฉนจึงตกมาเป็นของคนชั้นราษฎร เอาออกเที่ยวขายได้ตามชอบใจ ฉันจึงเรียกหัวหน้าพนักงานรับหนังสือมากระซิบสั่งให้สืบดู ว่าผู้ที่เอามาขายเป็นคนทำการงานอย่างไร และมีสำนักหลักแหล่งอยู่ที่ไหน เขาสืบได้ความจากผู้รู้จัก ว่าคน ๒ คนที่เอาหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาขายนั้น เดิมเป็นมหาดเล็กอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ แต่เมื่อกรมหลวงบดินทร์ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว เห็นเที่ยวร่อนเร่อยู่ จะสำนักอยู่ที่ไหนหาทราบไม่ พอฉันได้ยินว่าคนที่เอาหนังสือมาขาย เคยเป็นมหาดเล็กอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็รู้สึกเหมือนอย่างว่าใครเปิดแสงไฟฟ้าให้แลเห็นเรื่องประวัติหนังสือหอหลวงในทันที ยิ่งคิดไปถึงกรณีต่างๆ ที่เคยรู้เห็นมาแต่ก่อนก็ยิ่งเห็นตระหนักแน่ชัด ด้วยเป็นเรื่องติดต่อสอดคล้องกันมาตั้งแต่กรมหลวงบดินทร์ฯ เอาหนังสือหอหลวงไปรักษาไว้ที่วัง แล้วเอาออกอวดให้คนดูเมื่องาน ๑๐๐ ปี นายกุหลาบได้เห็นจึงพยายามขอยืมจากกรมหลวงบดินทร์ฯ ไปลอบจ้างทหารมหาดเล็กให้คัดสำเนา เอาไปดัดแปลงสำนวนออกพิมพ์ ครั้นถึงเวลาเมื่อขนหนังสือหอหลวงกลับคืนเข้าไปไว้ในวังตามเดิม มีคนที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกหนังสือหอหลวงไว้ แล้วผ่อนขายไปแก่พวกฝรั่งและผู้สะสมของเก่า จึงปรากฏว่ามีหนังสือฉบับหลวงออกเที่ยวขาย จนที่สุดถึงเอามาขายแก่ตัวฉันเอง จึงรู้ว่าล้วนแต่ออกมาจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ทั้งนั้น แต่ผู้ขายหนังสือไม่รู้ว่าฉันให้สืบ เมื่อขายหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้หมดแล้ว ยังเอาหนังสือกฎหมายฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งประทับตรา ๓ ดวงมาขายที่หอพระสมุดฯ อีก ๒ เล่ม ฉันตีราคาให้เล่มละ ๒๐ บาท เลยได้ความรู้อยู่ข้างจะขบขัน ด้วยผู้ขายดีใจจนออกปากแก่พนักงานรับหนังสือ ว่าเสียดายไม่รู้ว่าหอพระสมุดฯ จะให้ราคาถึงเท่านั้น เคยเอาไปบอกขายนายกุหลาบเล่มหนึ่ง นายกุหลาบว่าจะให้ ๒๐ บาท ครั้นเอาหนังสือไปให้ได้เงินแต่ ๒ บาท นอกจากนั้นทวงเท่าใดก็ไม่ได้ ที่ว่านี้คือกฎหมายเล่มที่นายกุหลาบเอาไปแก้ศักราชนั่นเอง ก็ได้ไปจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ เหมือนกัน เมื่อขายกฎหมายแล้วผู้ขายบอกว่าหนังสือซึ่งมีขาย หมดเพียงเท่านั้น ก็เห็นจะเป็นความจริง เพราะคนขายได้เงินมาก และหอพระสมุดฯ ก็มิได้ทำให้หวาดหวั่นอย่างใด ถ้ายังมีหนังสือคงเอามาขายอีก จึงเห็นพอจะอ้างได้ว่าเก็บหนังสือหอหลวงซึ่งยังตกค้างอยู่ในแหล่งกรมหลวงบดินทร์ฯ กลับมาได้สิ้นเชิง เมื่อฉันซื้อหนังสือเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่ตัวฉันยังมีกิจเกี่ยวข้องกับหนังสือหลวง ซึ่งพลัดพรายไปอยู่ที่อื่นต่อมาอีกด้วยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ฉันไปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงกรุงลอนดอน ฉันนึกขึ้นว่าเป็นโอกาสที่จะตรวจดูให้รู้ว่าอังกฤษได้หนังสือฉบับเขียนไปจากเมืองไทยสักเท่าใด ฉันจึงให้ไปบอกที่หอสมุดของรัฐบาล (British Museum Library) ว่าฉันอยากจะเห็นหนังสือไทยฉบับเขียนที่มีอยู่ในหอสมุดนั้น ถ้าหากเขายังไม่ได้ทำบัญชี จะให้ฉันช่วยบอกเรื่องให้ลงบัญชีด้วยก็ได้ ฉันหมายว่าถ้าพบเรื่องที่ไม่มีฉบับอยู่ในเมืองไทย ก็จะขอคัดสำเนาด้วยรูปฉายเอากลับมา ฝ่ายอังกฤษเขาเคยได้ยินชื่อว่าฉันเป็นนายกหอพระสมุดฯ ก็ยินดีที่ฉันจะบอกให้อย่างนั้น ครั้นถึงวันนัด เขาขนสมุดหนังสือไทยบรรดามีมารวมไว้ในห้องหนึ่ง และให้พนักงานทำบัญชีมาคอยรับ ฉันไปนั่งตรวจ และบอกเรื่องแปลเป็นภาษาอังกฤษให้เขาลงบัญชีทุกเล่ม ต้องไปนั่งอยู่ ๒ วันจึงตรวจหมด ด้วยในหอสมุดนั้นมีหนังสือไทยมากกว่าที่อื่น แต่เห็นล้วนเป็นเรื่องที่มีในหอพระสมุดฯ ทั้งนั้น ก็ไม่ต้องขอคัดสำเนามา เมื่อฉันไปถึงกรุงเบอร์ลิน ให้ไปบอกอย่างเช่นที่กรุงลอนดอน รัฐบาลเยอรมันก็ให้ฉันตรวจหนังสือไทยด้วยความยินดีอย่างเดียวกัน หนังสือไทยที่ในหอสมุดกรุงเบอร์ลินมีน้อยกว่าในหอสมุดกรุงลอนดอน แต่เป็นหนังสือฉบับหลวงซึ่งได้ไปจากหอหลวงในกรุงเทพฯ โดยมาก เขาเชิดชูหนังสือไตรภูมิฉบับหลวงครั้งกรุงธนบุรี ซึ่งซื้อราคาถึง ๑,๐๐๐ บาทนั้นเหมือนอย่างว่าเป็นนายโรง แต่ประหลาดอยู่ที่หนังสือไตรภูมินั้นมี ๒ ฉบับ สร้างก็ครั้งกรุงธนบุรีด้วยกัน และเหมือนกันทั้งตัวอักษรและรูปภาพ ขนาดสมุดก็เท่ากัน ฉบับหนึ่งคุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด รัชกาลที่ ๔) ได้มาจากไหนไม่ปรากฏ แต่ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อตั้งหอพุทธศาสนสังคหะ แล้วโอนมาเป็นของหอพระสมุดสำหรับพระนคร จึงใส่ตู้กระจกไว้ให้คนชมอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ เพราะฉะนั้นถึงเยอรมันเอาไปเสียฉบับหนึ่ง ก็หาสูญสิ้นจากเมืองไทยไม่ แม้เรื่องอื่นๆ ที่เยอรมันได้ไป เรื่องก็ยังมีอยู่ในเมืองไทยทั้งนั้น จึงไม่ต้องขอคัดสำเนามา นึกเสียดายที่ไม่ได้ตรวจในหอสมุดของฝรั่งเศสในครั้งนั้นด้วย เพราะเมื่อไปถึงกรุงปารีส ฉันยังไม่ได้คิดขึ้นถึงเรื่องตรวจหนังสือไทย จึงผ่านไปเสียแต่แรก แล้วก็ไม่มีโอกาสอีก
(๙)
เมื่อฉันออกจากตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา พ้นจากราชการทั้งปวงแล้ว ออกไปสำราญอิริยาบถตามประสาคนแก่ชราอยู่ที่เมืองปีนัง ทราบว่าทางกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงระเบียบการราชบัณฑิตยสภาหลายอย่าง เป็นต้นว่าตั้ง “ราชบัณฑิตยสถาน” เป็นคณะผู้รู้ แยกออกจากกรมการต่างๆ ซึ่งเคยอยู่ในราชบัณฑิตยสภามาแต่ก่อน ส่วนกรมการต่างๆ นั้น แผนกหอพระสมุดสำหรับพระนครคงเป็นแผนกอยู่อย่างเดิม เรียกว่า “หอสมุดแห่งชาติ” แผนกพิพิธภัณฑสถานก็คงอยู่อย่างเดิม เรียกว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” แผนกศิลปากรก็คงอยู่อย่างเดิม เอากรมมหรสพเพิ่มเข้าอีกแผนกหนึ่ง เรียกทั้ง ๔ แผนกรวมกันว่า “กรมศิลปากร” มีอธิบดีเป็นผู้บังคับการทั่วไป จะว่าแต่เฉพาะที่เนื่องด้วยหนังสือหอหลวง ทราบว่าหอสมุดแห่งชาติซื้อมรดกหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ ได้หนังสือหอหลวงซึ่งไปตกอยู่ที่หม่อมเจ้าปิยภักดีนาถมาเข้าหอสมุดแห่งชาติหมด และต่อมารัฐบาลให้โอนหนังสือหอหลวงบรรดาที่อยู่ในกรมราชเลขาธิการ (คือที่กรมอาลักษณ์รักษาแต่เดิม) ส่งไปไว้ในหอสมุดแห่งชาติทั้งหมด เป็นสมุดฉบับเขียนหลายพันเล่ม เดี๋ยวนี้อาจจะอ้างได้ว่าหนังสือหอหลวงซึ่งกระจัดพลัดพรายแยกย้ายกันอยู่ตามที่ต่างๆ มากว่า ๕๐ ปี กลับคืนมาอยู่ในที่อันเดียวกันแล้ว ถึงต้นฉบับจะสูญไปเสียบ้าง เช่นถูกฝรั่งซื้อเอาไปไว้เสียต่างประเทศ ฉันได้ไปตรวจก็ปรากฏว่าเรื่องของหนังสืออันเป็นตัววิทยสมบัติของบ้านเมืองมิได้สูญไปด้วย ที่จะหายสูญทั้งต้นฉบับและตัวเรื่องเห็นจะน้อย เพราะฉะนั้น ถึงตัวฉันพ้นกิจธุระมาอยู่ภายนอกแล้ว ก็มีความยินดีด้วยเป็นอันมาก.