นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่

(๑)

เมื่อฉันเป็นนายพล ผู้ช่วยบัญชาการทหารบกอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๐ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้เคยมีหน้าที่ทำการปราบพวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงสมัยเมื่อฉันเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕ จน พ.ศ. ๒๔๕๘ มีหน้าที่ต้องคอยระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองอยู่เสมอ บางทีก็ต้องปราบปรามบ้าง แต่ไม่มีเหตุใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งฉันอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ถึงกระนั้นก็ได้ความรู้ในเรื่องอั้งยี่มากขึ้น ครั้นเมื่อฉันออกจากกระทรวงมหาดไทยมาจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีกิจตรวจค้นโบราณคดี พบเรื่องอั้งยี่ที่มีมาในเมืองไทยแต่ก่อนๆ ในหนังสือพงศาวดารและจดหมายเหตุเก่าหลายแห่ง เลยอยากรู้เรื่องตำนานของพวกอั้งยี่ จึงได้ไถ่ถามผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าอั้งยี่ที่คุ้นเคยกัน คือพระอนุวัติราชนิยม ซึ่งมักเรียกกันว่า “ยี่กอฮง” นั้นเป็นต้น เขาเล่าให้ฟังได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก จึงได้ลองเขียนบันทึกเรื่องอั้งยี่ไว้บ้างหลายปีมาแล้ว ครั้นออกมาอยู่เมืองปีนัง ฉันมาได้เห็นตำนานต้นเรื่องอั้งยี่ที่แรกเกิดขึ้นในเมืองจีน มิสเตอร์ ปิคเกอริง Mr. W.A. Pickering แปลจากภาษาจีนในตำราของพวกอั้งยี่ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไว้ในหนังสือวารสารของสมาคมรอแยลเอเชียติค Journal of the Royal Asiatic Society เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๘ (พ.ศ. ๒๔๒๑) เขาเล่าถึงเรื่องที่พวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษในแหลมมลายูด้วย เป็นอันได้เรื่องเบื้องต้นต่อกับเรื่องอั้งยี่ที่ฉันเคยรู้มาแต่ก่อนอีกตอนหนึ่ง จึงลองรวมเนื้อความเรื่องอั้งยี่เขียนนิทานเรื่องนี้

(๒)

เหตุที่เกิดพวกอั้งยี่ในเมืองจีน

เมื่อพวกเม่งจูได้เมืองจีนไว้ในอำนาจ ตั้งราชวงศ์ไต้เชงครองเมืองจีนแล้ว ถึง พ.ศ. ๒๒๐๗ พระเจ้าคังฮีได้เสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลนั้นมีพวกฮวนเฮงโน้วอยู่ทางทิศตะวันตกยกกองทัพมาตีเมืองจีน เจ้าเมืองกรมการที่รักษาหัวเมืองชายแดนจีนต่อสู้ข้าศึกไม่ไหว พระเจ้ากรุงจีนคังฮีจะแต่งกองทัพออกไปจากกรุงปักกิ่ง หาตัวแม่ทัพไม่ได้ จึงให้ออกประกาศว่าถ้าใครอาสาปราบปรามพวกฮวนได้จะประทานทองเป็นบำเหน็จ ๑๐,๐๐๐ ตำลึง และจะให้ปกครองผู้คน ๑๐,๐๐๐ ครัวเป็นบริวาร ครั้งนั้นที่วัดแห่งหนึ่งอยู่บนภูเขากุ้ยเล้ง แขวงเมืองเกี้ยนเล้งในแดนจีนฮกเกี้ยน มีหลวงจีนอยู่ด้วยกัน ๑๒๘ องค์ ได้ร่ำเรียนรู้วิชาอาคมมาก พากันเข้าอาสารบพวกฮวน พระเจ้ากรุงจีนทรงยินดี แต่วิตกว่าหลวงจีนมีแต่ ๑๒๘ องค์ด้วยกัน พวกข้าศึกมีมากนัก จึงตรัสสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อเต็งกุนตัดคุมกองทัพไปด้วยกันกับพวกหลวงจีน ไปรบข้าศึกที่ด่านท่งก๊วน พวกหลวงจีนกับพวกกองทัพกรุงปักกิ่งมีชัยชนะฆ่าฟันพวกฮวนล้มตายแตกหนีไปหมด พระเจ้ากรุงจีนจะประทานบำเหน็จรางวัลตามประกาศ พวกหลวงจีนไม่รับยศศักดิ์และบริวาร ขอกลับไปจำศีลภาวนาอยู่อย่างเดิม รับแต่ทอง ๑๐,๐๐๐ ตำลึงไปบำรุงวัด พระเจ้ากรุงจีนก็ต้องตามใจ แต่ส่วนเต็งกุนตัดขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปช่วยพวกหลวงจีนรบนั้น ได้รับบำเหน็จเป็นตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ณ เมืองโอ๊วก๊วง

เต็งกุนตัดกับหลวงจีน ๑๒๘ องค์ เคยชอบพอกันสนิทสนมมาตั้งแต่ไปรบพวกฮวน เมื่อจะออกจากเมืองปักกิ่งแยกกันไป เต็งกุนตัดจึงเชิญหลวงจีนทั้งหมดไปกินเลี้ยงด้วยกันวันหนึ่ง แล้วเลยกระทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกันต่อไปในวันหน้า ก็ในเวลานั้นมีขุนนางกังฉิน ๒ คน เคยเป็นอริกับเต็งกุนตัดมาแต่ก่อน ทูลพระเจ้ากรุงจีนว่าเมื่อเต็งกุนตัดจะออกไปจากกรุงปักกิ่ง ได้ลอบกระทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกับพวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ ดูผิดสังเกต สงสัยว่าเต็งกุนตัดจะคิดมักใหญ่ใฝ่สูง จึงได้สาบานเป็นพี่น้องไว้กับพวกหลวงจีนที่มีฤทธิ์เดช โดยหมายจะเอาไว้เป็นกำลัง เวลาเต็งกุนตัดออกไปเป็นแม่ทัพบังคับบัญชารี้พลมาก ถ้าได้ช่องก็จะสมคบกับพวกหลวงจีนพากันยกกองทัพเข้ามาชิงราชสมบัติ น่ากลัวคนในเมืองหลวงจะไม่กล้าต่อสู้ เพราะกลัวฤทธิ์เดชของพวกหลวงจีน พวกขุนนางกังฉินคอยหาเหตุทูลยุยงมาอย่างนั้น จนพระเจ้ากรุงจีนคังฮีเห็นจริงด้วย จึงปรึกษากันคิดกลอุบายตั้งขุนนางกังฉิน ๒ คนนั้นเป็นข้าหลวง คนหนึ่งให้ไปยังเมืองโอ๊วก๊วง ทำเป็นทีว่าคุมของบำเหน็จไปพระราชทานเต็งกุนตัด อีกคนหนึ่งให้ไปยังวัดบนภูเขากุ้ยเล้ง ทำเป็นทีว่าคุมเครื่องราชพลี มีสุราบานและเสบียงอาหารเป็นต้นไปพระราชทานแก่พวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ เมื่อข้าหลวงไปถึงเมืองโอ๊วก๊วง เต็งกุนตัดออกไปรับข้าหลวงถึงนอกเมืองหลวงตามประเพณี ข้าหลวงก็อ่านท้องตราว่าเต็งกุนตัดคิดกบฏต้องโทษถึงประหารชีวิต แล้วจับตัวเต็งกุนตัดฆ่าเสีย ฝ่ายข้าหลวงที่ไปยังภูเขากุ้ยเล้ง พวกหลวงจีนก็ต้อนรับโดยดีมีการเลี้ยงรับที่วัด ข้าหลวงเอายาพิษเจือสุราของประทานไปตั้งเลี้ยง แต่หลวงจีนเจ้าวัดได้กลิ่นผิดสุราสามัญ เอากระบี่กายสิทธิ์สำหรับวัดมาจุ้มลงชันสูตร เกิดเปลวไฟพลุ่งขึ้นรู้ว่าเป็นสุราเจือยาพิษ ก็เอากระบี่ฟันข้าหลวงตาย แต่ขณะนั้นพวกของข้าหลวงที่ล้อมอยู่ข้างนอกพากันจุดไฟเผาวัดจนไหม้โทรมหมด พวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ตายไปในไฟบ้าง ถูกพวกข้าหลวงฆ่าตายบ้าง หนีรอดไปได้แต่ ๕ องค์ ชื่อฉอองค์หนึ่ง บุงองค์หนึ่ง มะองค์หนึ่ง โอองค์หนึ่ง ลิองค์หนึ่ง พากันไปซ่อนตัวอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในแขวงเมืองโอ๊วก๊วงที่เต็งกุนตัดเคยเป็นแม่ทัพอยู่แต่ก่อน

อยู่มาวันหนึ่งหลวงจีน ๕ องค์นั้นลงไปที่ริมลำธาร แลเห็นกระถางธูปรูปสามขามีหูสองข้างใบหนึ่ง ลอยมาในน้ำกำลังมีควันธูปขึ้นไปในอากาศ นึกหลากใจจึงลงไปยกขึ้นมาบนบก พิจารณาดู เห็นมีตัวอักษรอยู่ที่ก้นกระถางธูปนั้น ๔ ตัวว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่ากำจัดเชงเสียกลับยกเหม็งขึ้น นึกสงสัยว่าเทวดาฟ้าและดินจะสั่งให้ทำอย่างนั้นหรืออย่างไร ลองเสี่ยงทายดูหลายครั้งก็ปรากฏว่าให้ทำเช่นนั้นทุกครั้ง หลวงจีนทั้ง ๕ ประจักษ์แจ้งแก่ใจดังนั้น จึงเอาหญ้าปักต่างธูปที่ในกระถางจุดบูชา แล้วกระทำสัตย์กันตามแบบที่เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สัญญากันแต่ก่อน ว่าจะช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดิน และจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชง เอาบ้านเมืองคืนให้แก่ราชวงศ์ไต้เหม็งตามเดิม เมื่อปฏิญาณกันแล้ว เห็นสมุดตำราพยากรณ์มีอยู่ในก้นกระถางธูปด้วยก็พากันยินดียิ่งนัก แต่ในขณะนั้นเอง พวกข้าหลวงที่เที่ยวติดตามก็ไปถึง จะเข้าล้อมจับพวกหลวงจีนจึงอุ้มกระถางธูปวิ่งหนีไป เผอิญในวันนั้นนางกู้ส่วยเอง เมียเต็งกุดตัดที่ถูกฆ่าตายพาลูกและญาติพี่น้องออกไปเซ่น ณ ที่ฝังศพเต็งกุนตัด ในเวลากำลังเซ่นอยู่ได้ยินเหมือนเสียงคน แลไปดูเห็นกระบี่เล่มหนึ่งโผล่ขึ้นมาจากแผ่นดิน เอามาพิจารณาดูเห็นมีตัวอักษรจารึกที่กั่นกระบี่ว่า น่อ เล้ง โต๊ว แปลว่ามังกรสองตัวชิงดวงมุกดากัน และที่ตัวกระบี่ก็มีอักษรจารึกว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่าให้กำจัดราชวงศ์ไต้เชง คืนแผ่นดินให้ราชวงศ์ไต้เหม็ง ในเวลาที่กำลังพิจารณาตัวอักษรอยู่นั้น ได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วย นางกู้ส่วยเองก็ถือกระบี่ที่ได้ใหม่พาพวกพ้องออกไปดู เห็นพวกข้าหลวงกำลังไล่หลวงจีนทั้ง ๕ องค์มา พวกนางกู้ส่วยเองเข้าป้องกันหลวงจีน เอากระบี่ฟันถูกข้าหลวงตาย พรรคพวกก็หนีไปหมด นางกู้ส่วยเองกับหลวงจีนต่างไถ่ถามและเล่าเรื่องฝ่ายของตนให้กันฟัง ก็รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันมาแต่เดิมและได้ถูกเนรคุณอย่างเดียวกัน นางจึงให้พวกหลวงจีนอาศัยอยู่ที่บ้าน จนเห็นการสืบจับสงบเงียบแล้วจึงให้หลวงจีนทั้ง ๕ กลับไปอยู่วัดตามเดิม หลวงจีนทั้ง ๕ นี้ได้นามว่า โหงว โจ๊ว แปลว่าบุรุษทั้ง ๕ ของอั้งยี่ต่อมา

ถึงตอนนี้หลวงจีนทั้ง ๕ แน่ใจว่าเทวดาฟ้าดิน ให้คิดอ่านกู้บ้านเมืองด้วยกำจัดราชวงศ์ไต้เชง ก็ตั้งหน้าเกลี้ยกล่อมผู้คนให้ร่วมคิด ได้พรรคพวกมากขึ้น แต่กิตติศัพท์รู้ไปถึงเจ้าเมืองกรมการก็ให้ออกไปจับ หลวงจีนทั้ง ๕ จึงต้องหนีจากเมืองโอ๊วก๊วงต่อไป ไปพบนายโจรพวกทหารเสือ ๕ คน เมื่อพูดจาสนทนากัน พวกนายโจรเลื่อมใส รับจะพาโจรบริวารของตนมาเข้าพวกด้วย แล้วพาหลวงจีนไปสำนักอยู่ที่ภูเขาเหล็งโฮ้ว แปลว่ามังกรเสือ ในเวลานั้นมีหลวงจีนอีกองค์หนึ่งชื่อตั้งกิ๋มน้ำ เคยเรียนรู้หนังสือมากจนได้เป็นขุนนางทำราชการอยู่ในกรุงปักกิ่ง อยู่มาสังเกตว่าราชวงศ์ไต้เชงปกครองบ้านเมืองไม่เป็นยุติธรรม เกิดท้อใจจึงลาออกจากราชการไปบวชเป็นหลวงจีน จำศีลศึกษาวิชาอาคมของลัทธิศาสนาเต๋า อยู่ ณ ถ้ำแป๊ะเฮาะตั่ง แปลว่านกกระสาเผือก จนมีผู้คนนับถือมาก วันหนึ่งลูกศิษย์ ๔ คนไปบอกข่าวว่าหลวงจีน ๕ องค์ได้ของวิเศษ คิดอ่านจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชงกู้บ้านเมือง หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำก็ยินดีพาศิษย์ ๔ คนตามไปยังที่สำนักของหลวงจีน ๕ องค์ ณ ภูเขามังกรเสือ ขอสมัครเข้าเป็นพวกร่วมคิดช่วยกู้บ้านเมืองด้วย ในพวกที่ไปสมัครนั้นยังมีคนสำคัญอีก ๒ คน คนหนึ่งเป็นชายหนุ่มชื่อจูฮุ่งชัก เป็นราชนัดดาของพระเจ้าเซ่งจงในราชวงศ์ไต้เหม็ง อีกคนหนึ่งเป็นหลวงจีนชื่อ บั้งลุ้ง รูปร่างสูงใหญ่มีกำลังวังชากล้าหาญมาก เมื่อรวบรวมพรรคพวกได้มากแล้ว พวกคิดการกำจัดราชวงศ์ไต้เชงจึงประชุมกันทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกันทั้งหมด แล้วยกเจ้าจูฮุ่งชักขึ้นเป็นรัชทายาทราชวงศ์ไต้เหม็ง ตั้งหลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำซึ่งเป็นผู้มีความรู้มากเป็นอาจารย์ (จีนแส) และตั้งหลวงจีนบั้งลุ้งเป็น “ตั้วเฮีย” แปลว่า “พี่ชายใหญ่” และเป็นตำแหน่งจอมพล ตัวนายนอกจากนั้นก็ให้มีตำแหน่งและคุมหมวดกองต่างๆ แล้วพากันยกรี้พลไปตั้งอยู่ที่ภูเขาฮ่งฮวง แปลว่าภูเขาหงส์ (จะเป็นแขวงเมืองไหนไม่ปรากฏ) หวังจะตีเอาบ้านเมืองคืน ได้รบกับกองทหารที่ประจำเมืองนั้น รบกันครั้งแรกพวกกบฏมีชัยชนะตีกองทหารหลวงแตกหนีเข้าเมือง แต่รบครั้งหลังเกิดเหตุอัปมงคลขึ้นอย่างแปลกประหลาด ด้วยในเวลาหลวงจีนบั้งลุ้งตั้วเฮีย ขี่ม้าขับพลเข้ารบ ม้าล้มลงตัวจอมพลตกม้าตาย พวกกบฏก็แตกพ่ายพากันหนีกลับไปยังเขามังกรเสือ หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำผู้เป็นอาจารย์ เห็นว่าเกิดเหตุอันมิบังควรผิดสังเกต ตรวจตำราดูก็รู้ว่าเป็นเพราะชะตาราชวงศ์ไต้เชงยังรุ่งเรือง ในตำราว่าศัตรูไม่สามารถจะทำร้ายได้ จึงชี้แจงแก่พวกกบฏว่า ถ้าจะรบพุ่งต่อไปในเวลานั้นก็ไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ ต้องเปลี่ยนอุบายเป็นอย่างอื่น และให้พวกที่ทำสัตย์สาบานกันแล้วแยกย้ายกระจายกันไปอยู่โดยลำพังตัวตามหัวเมืองต่างๆ และทุกๆ คนไปคิดตั้งสมาคมลับขึ้นในตำบลที่ตนไปอยู่ หาพวกพี่น้องน้ำสบถร่วมความคิดกันให้มีมากแพร่หลาย พอถึงเวลาชะตาราชวงศ์ไต้เชงตก ให้พร้อมมือกันเข้าตีบ้านเมือง จึงจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชงได้ พวกกบฏเห็นชอบด้วย จึงตั้งสมาคมลับให้เรียกชื่อว่า “เทียน ตี้ หวย” แปลว่า “ฟ้า ดิน มนุษย์” หรือเรียกโดยย่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ซาฮะ” แปลว่า “องค์สาม” คือฟ้าดินมนุษย์ และตั้งแบบแผนสมาคมทั้งวิธีสบถสาบานรับสมาชิกและข้อบังคับสำหรับสมาชิก กับทั้งกิริยาอาการที่จะแสดงความลับกันในระหว่างสมาชิก ให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน จึงเกิดสมาคมลับที่ไทยเราเรียกว่า “อั้งยี่” ขึ้นในเมืองจีนด้วยประการฉะนี้ รัฐบาลจีนรู้ว่าใครเป็นพวกอั้งยี่ก็จับฆ่าเสีย ถึงอย่างนั้นพวกสมาคม “เทียน ตี้ หวย” หรือ “ซาฮะ” ก็ยังมีอยู่ในเมืองจีนสืบมา รัฐบาลทำลายล้างไม่หมดได้

(๓)

อั้งยี่ในแหลมมลายู

ในหนังสือฝรั่งแต่ง เขาว่าพวกจีนที่ทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวทำมาหากินตามต่างประเทศ ล้วนแต่เป็นชาวเมืองชายทะเลภาคใต้ และอยู่ในพวกที่เป็นคนขัดสนทั้งนั้น จีนชาวเมืองดอนหรือที่มีทรัพย์สินสมบูรณ์ หามีใครทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวหากินตามต่างประเทศไม่ และว่าพวกจีนที่ไปหากินตามต่างประเทศนั้น จีนต่างภาษามักชอบไปประเทศต่างกัน พวกจีนแต้จิ๋วมักชอบไปเมืองไทย พวกจีนฮกเกี้ยนมักชอบไปเมืองชวามลายู พวกจีนกวางตุ้งมักชอบไปอเมริกา เมื่ออังกฤษตั้งเมืองสิงคโปร์ (ตรงกับตอนปลายรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์) มีพวกจีนอยู่ในแหลมมลายูเป็นอันมากมาแต่ก่อนแล้ว ที่มาได้ผลประโยชน์จนมีกำลังเลยตั้งตัวอยู่เป็นหลักแหล่งก็มี ในสมัยนั้นจีนที่มาเที่ยวหากินทางเมืองไทย และเมืองชวามลายู มาแต่ผู้ชาย จีนที่มาตั้งตัวอยู่เป็นหลักแหล่งมาได้หญิงชาวเมืองเป็นเมีย มีลูกเกิดด้วยสมพงศ์เช่นนั้น มลายูเรียกผู้ชายว่า “บาบ๋า” เรียกผู้หญิงว่า “ยอหยา” ทางเมืองชวามลายู จีนผู้เป็นพ่อไม่พอใจจะให้ลูกถือศาสนาอิสลามตามแม่ จึงฝึกหัดอบรมให้ลูกทั้งชายหญิงเป็นจีนสืบตระกูลต่อมาทุกชั่ว เพราะฉะนั้นจีนในเมืองชวามลายู จึงต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ “จีนนอก” ที่มาจากเมืองจีนอย่างหนึ่ง “จีนบาบ๋า” ที่เกิดขึ้นในท้องที่อย่างหนึ่ง มีอยู่เสมอ ผิดกันกับเมืองไทยเพราะเหตุที่ไทยถือพระพุทธศาสนาร่วมกับจีน ลูกจีนที่เกิดในเมืองไทย ถ้าเป็นผู้ชาย คงเป็นจีนตามอย่างพ่ออยู่เพียงชั่วหนึ่งหรือสองชั่วก็กลายเป็นไทย แต่ลูกผู้หญิงเป็นไทยไปตามแม่ตั้งแต่ชั่วแรก ในเมืองไทยจึงมีแต่จีนนอกกับไทยที่เป็นเชื้อจีน หามีจีนบาบ๋าเป็นจีนประจำอยู่พวกหนึ่งต่างหากไม่

ในสมัยเมื่ออังกฤษแรกตั้งสิงคโปร์นั้น พวกจีนก็เริ่มตั้งอั้งยี่คือสมาคมลับที่เรียกว่า “เทียน ตี้ หวย” หรือ “ซาฮะ” ขึ้นในเมืองมลายูบ้างแล้ว อังกฤษรู้อยู่ว่าวัตถุที่ประสงค์ของพวกอั้งยี่จะกำจัดราชวงศ์ไต้เชง อันเป็นการในเมืองจีน ไม่เห็นว่ามีมูลอันใดจะมาตั้งอั้งยี่ในเมืองต่างประเทศ สืบถามได้ความว่าพวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในเมืองมลายูไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกำจัดราชวงศ์ไต้เชง เป็นแต่เอาแบบแผนกระบวนสมาคม “เทียน ตี้ หวย” ในเมืองจีนมาตั้งขึ้น เพื่อจะสงเคราะห์พวกจีนที่มาทำมาหากินทางเมืองมลายู มิให้ต้องตกยากหรือได้ความเดือดร้อนเพราะถูกพวกมลายูกดขี่ข่มเหงเท่านั้น อีกประการหนึ่งปรากฏว่าพวกอั้งยี่มีแต่ในพวกจีนนอก แต่พวกจีนที่มาตั้งตัวเป็นหลักแหล่งและพวกจีนบาบ๋าที่เกิดในแหลมมลายูหาเกี่ยวข้องกับพวกอั้งยี่ไม่ อังกฤษเห็นว่าเป็นแต่สมาคมสงเคราะห์กันและกัน ก็ปล่อยให้มีอั้งยี่อยู่ไม่ห้ามปราม ครั้นจำเนียรกาลนานมา (ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์) เมื่อเศรษฐกิจในแหลมมลายูเจริญขึ้น พวกพ่อค้าที่ขุดแร่ดีบุกและที่ทำเรือกสวน ต้องการแรงงานมากขึ้น ต่างก็เรียกหาว่าจ้างจีนในเมืองจีน มาเป็นกรรมกรมากขึ้นโดยลำดับ จำนวนจีนที่เป็นอั้งยี่ก็มีมากขึ้น และจัดแยกกันเป็นหลายเหล่า จนเหลือกำลังผู้ที่เป็น “ตั้วเฮีย” หัวหน้าจะว่ากล่าวปกครองได้ ไม่มีใครสมัครเป็นตั้วเฮีย พวกอั้งยี่ก็แยกกันเป็นหลายกงสีเรียกชื่อต่างกัน ต่างมีแต่ “ยี่เฮีย” (แปลว่าพี่ที่สอง) เป็นหัวหน้าเป็นอิสระแก่กัน และอั้งยี่ต่างกงสีมักเกิดวิวาทตีรันฟันแทงกันจนรัฐบาลรำคาญ แต่จะบังคับให้เลิกอั้งยี่ก็เกรงจะเกิดลำบาก ด้วยอาจจะเป็นเหตุให้พวกจีนในเมืองจีนหวาดหวั่น ไม่มารับจ้างเป็นกรรมกรพอต้องการเหมือนแต่ก่อนอย่างหนึ่ง และพวกจีนกรรมกรมีมากกว่าแต่ก่อนมาก ถ้าพวกอั้งยี่ขัดขืนก็ต้องใช้กำลังปราบปราม กลายเป็นการใหญ่โตเกินกว่าเหตุ อีกประการหนึ่งเห็นว่าพวกอั้งยี่เป็นแต่มักวิวาทกันเอง หาได้ทำร้ายต่อรัฐบาลอย่างไรไม่ อังกฤษจึงตั้งข้อบังคับควบคุมพวกอั้งยี่เป็นสายกลาง คือถ้าจีนตั้งสมาคมอั้งยี่หรือสาขาของสมาคมที่ไหนต้องมาขออนุญาตต่อรัฐบาล บอกชื่อผู้เป็นหัวหน้าและพนักงานของสมาคมก่อน ต่อได้รับอนุญาตจึงตั้งได้ ถ้ารัฐบาลมีกิจเกี่ยวข้องแก่พวกอั้งยี่สมาคมไหน ก็จะว่ากล่าวเอาความรับผิดชอบแก่หัวหน้าและพนักงานสมาคมนั้น แต่นั้นมาพวกอั้งยี่สมาคมต่างๆ ก็ตั้งกงสีของสมาคม ณ ที่ต่างๆ แพร่หลาย โดยวิธี “รัฐบาลเลี้ยงอั้งยี่” เป็นประเพณีสืบมา

ที่เอาเรื่องอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษมาเล่า เพราะมามีเรื่องเกี่ยวข้องกับเมืองไทยเมื่อภายหลัง ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า

(๔)

อั้งยี่แรกมีในเมืองไทย

ในหนังสือจดหมายเหตุของไทย ใช้คำเรียกอั้งยี่ต่างกันตามสมัย แต่ความไม่ตรงกับที่จริงทั้งนั้น จึงจะแทรกคำอธิบายเรียกต่างๆ ลงตรงนี้ก่อน ชื่อของสมาคมที่ตั้งในเมืองจีนแต่เดิมเรียกว่า “เทียน ตี้ หวย” แปลว่า “ฟ้า ดิน มนุษย์” หรือเรียกโดยย่ออีกอย่างหนึ่งตามภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า “ซาฮะ” ตามภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า “องค์สาม” เป็นนามของอั้งยี่ทุกพวก ครั้นอั้งยี่แยกกันเป็นหลายกงสีจึงมีชื่อกงสีเรียกต่างกัน เช่นว่า “งี่หิน ปูนเถ้าก๋ง งี่เหง งี่ฮก ตั้วกงสี ซิวลิกือ” เป็นต้น คำว่า “อั้งยี่” แปลว่า “หนังสือแดง” ก็เป็นแต่ชื่อกงสีอันหนึ่งเท่านั้น ยังมีชื่อสำหรับเรียกตัวนายอีกส่วนหนึ่ง ผู้ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ในถิ่นอันหนึ่งรวมกันทุกกงสี เรียกตามภาษาฮกเกี้ยนว่า “ตั้วกอ” ตามภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “ตั้วเฮีย” แปลว่า “พี่ใหญ่” ผู้ที่เป็นหัวหน้ากงสีเรียกว่า “ยี่กอ” หรือ “ยี่เฮีย” แปลว่า “พี่ที่สอง” ตัวนายรองลงมาเรียกว่า “สามกอ” หรือ “ซาเฮีย” แปลว่า “พี่ที่สาม” ในจดหมายเหตุของไทยเดิมเรียกพวกเข้าสมาคมเทียนตี้หวยทั้งหมดว่า “ตั้วเฮีย” มาจนรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนคำ “ตั้วเฮีย” เรียก “อั้งยี่” ในนิทานนี้ฉันเรียกว่า อั้งยี่ มาแต่ต้นเพื่อให้สะดวกแก่ผู้อ่าน

อั้งยี่แรกมีขึ้นในเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๓ มูลเหตุที่จะเกิดอั้งยี่นั้น เนื่องมาแต่อังกฤษเอาฝิ่นอินเดียเข้าไปขายในเมืองจีนมากขึ้น พวกจีนตามเมืองชายทะเลพากันสูบฝิ่นติดแพร่หลาย จีนเข้ามาหากินในเมืองไทย ที่เป็นคนสูบฝิ่นก็เอาฝิ่นเข้ามาสูบกันแพร่หลายกว่าแต่ก่อน เลยเป็นปัจจัยให้มีไทยสูบฝิ่นมากขึ้น แม้จนถึงชั้นผู้ดีที่เป็นเจ้าและขุนนางพากันสูบฝิ่นติดก็มี ก็ในเมืองไทยมีกฎหมายห้ามมาแต่ก่อนแล้วมิให้ใครสูบฝิ่น หรือซื้อฝิ่นขายฝิ่น เมื่อปรากฏว่ามีคนสูบฝิ่นขึ้นแพร่หลายเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับฝิ่นตามกฎหมายอย่างกวดขัน แต่พวกจีนและไทยที่สูบฝิ่นติดมีมากก็จำต้องลอบหาซื้อฝิ่นสูบ เป็นเหตุให้คนลอบขายฝิ่น ขึ้นราคาขายได้กำไรงาม จึงมีพวกจีนคิดค้าฝิ่นด้วยตั้ง อั้งยี่ วางสมัครพรรคพวกไว้ตามหัวเมืองชายทะเลที่ไม่มีการตรวจตรา คอยรับฝิ่นจากเรือสำเภาที่มาจากเมืองจีน แล้วเอาปลอมปนกับสินค้าอื่นส่งเข้ามายังกงสีใหญ่ ซึ่งตั้งขึ้นตามที่ลี้ลับในหัวเมืองใกล้ๆ กรุงเทพฯ ลอบขายฝิ่นเป็นรายย่อยเข้ามายังพระนคร ข้าหลวงสืบรู้ออกไปจับ ถ้าซ่องไหนมีพรรคพวกมากก็ต่อสู้จนถึงเกิดเหตุรบพุ่งกันหลายครั้ง มีปรากฏในหนังสือพงศาวดาร ว่า

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เกิดอั้งยี่ที่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี และจังหวัดสมุทรสาคร แต่ปราบได้โดยไม่ต้องรบพุ่งครั้งหนึ่ง

ต่อนั้นมา ๒ ปีถึง พ.ศ. ๒๓๘๗ พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นที่ในป่าแสมริมชายทะเล ณ ตำบลแสมดำ ในระหว่างปากน้ำบางปะกงกับแขวงจังหวัดสมุทรปราการ ต่อสู้เจ้าพนักงานจับฝิ่น ต้องให้กรมทหารปากน้ำไปปราบ ยิงพวกอั้งยี่ตายหลายคน และจับตัวหัวหน้าได้ อั้งยี่จึงสงบอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาอีก ๓ ปีถึง พ.ศ. ๒๓๙๐ พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นอีกที่ตำบลลัดกรุด แขวงเมืองสมุทรสาคร ครั้งนี้พวกอั้งยี่มีพรรคพวกมากกว่าแต่ก่อน พระยามหาเทพ (ปาน) ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานจับฝิ่นออกไปจับเอง ถูกพวกอั้งยี่ยิงตาย จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังคุมกำลังไปปราบ ฆ่าพวกอั้งยี่ตายประมาณ ๔๐๐ คน และจับตัวหัวหน้าได้ จึงสงบ

ปราบพวกอั้งยี่ที่ลัดกรุดได้ไม่ถึงเดือน พอเดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๙๑ พวกอั้งยี่ก็กำเริบขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทรา คราวนี้ถึงเป็นกบฏ ฆ่าพระยาวิเศษลือชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาย แล้วพวกอั้งยี่เข้ายึดเอาป้อมเมืองฉะเชิงเทราไว้เป็นที่มั่น โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ยกพลจากเมืองสมุทรสาครไปปราบ พวกอั้งยี่ที่เมืองฉะเชิงเทราต่อสู้พ่ายแพ้ พวกจีนถูกฆ่าตายกว่า ๓,๐๐๐ คน อั้งยี่เมืองฉะเชิงเทราจึงสงบ ต่อมาอีก ๒ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๓

(๕)

อั้งยี่ในเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๔

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสปรึกษาเสนาบดี เห็นพร้อมกันว่า การจับฝิ่นเมื่อรัชกาลที่ ๓ แม้จับกุมอย่างกวดขันมาหลายปี ฝิ่นก็ยังเข้ามาได้เสมอ คนสูบฝิ่นก็ยังมีมากไม่หมดไป ซ้ำเป็นเหตุให้เกิดอั้งยี่ถึงต้องรบพุ่งฆ่าฟันกันหลายครั้ง จะใช้วิธีจับฝิ่นอย่างนั้นต่อไปเห็นจะไม่เป็นประโยชน์อันใด จึงเปลี่ยนนโยบายเป็นตั้งภาษีฝิ่นผูกขาด ถือเฉพาะแต่รัฐบาลซื้อฝิ่นเข้ามาต้มขายเอากำไร ให้จีนซื้อฝิ่นสูบได้ตามชอบใจ คงห้ามแต่ไทยมิให้สูบฝิ่น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริอีกอย่างหนึ่ง ว่าที่อั้งยี่หาพรรคพวกได้มาก เป็นเพราะพวกจีนที่ไปทำเรือกสวนหรือค้าขายอยู่ตามหัวเมือง มักถูกพวกจีนเจ้าภาษีเบียดเบียนในการเก็บอากร และถูกคนในพื้นเมืองรังแกได้ความเดือดร้อนไม่มีใครจะเกื้อหนุน จึงมักไปพึ่งอั้งยี่ ทรงแก้ไขข้อนี้ด้วยให้เลือกหาจีนที่ตั้งตัวได้เป็นหลักแหล่งแล้ว และเป็นคนซื่อตรง มีคนนับถือมาก ตั้งเป็นเป็นตำแหน่งปลัดจีนขึ้นในกรมการตามหัวเมืองที่มีจีนมาก สำหรับช่วยอุปการะและรับทุกข์ร้อนของพวกจีนขึ้นเสนอต่อรัฐบาล เมื่อทรงแก้ไขด้วยอุบาย ๒ อย่างนั้น เหตุการณ์เรื่องอั้งยี่ก็สงบเงียบมาได้หลายปี

แต่ถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๔ มีอั้งยี่เกิดขึ้นอีกด้วยเหตุอย่างอื่น เหตุที่เกิดอั้งยี่ตอนนี้เนื่องมาจากประเพณีจีนเข้าเมือง ด้วยจีนที่ทิ้งถิ่นไปทำมาหากินตามต่างประเทศล้วนเป็นคนยากจนมักไปแต่ตัว แม้เงินค่าโดยสารเรือก็ไม่มีจะเสีย เมื่อเรือไปถึงเมืองไหน เช่นเมืองสิงคโปร์ก็ดี หรือมาถึงกรุงเทพฯ ก็ดี มีจีนในเมืองนั้นที่เป็นญาติหรือเป็นเถ้าเก๋หาลูกจ้าง ไปรับเสียเงินค่าโดยสาร และรองเงินล่วงหน้าให้จีนที่เข้ามาใหม่ ไทยเรียกว่า “จีนใหม่” ทางเมืองสิงคโปร์เรียกว่า “Sing Keh” แล้วทำสัญญากันว่าเถ้าเก๋จะรับเลี้ยงให้กินอยู่ ข้างฝ่ายจีนใหม่จะทำงานให้เปล่าไม่เอาค่าจ้างปีหนึ่ง งานที่ทำนั้นเถ้าเก๋จะใช้เองหรือจะให้ไปทำงานให้คนอื่น เถ้าเก๋เป็นผู้ได้ค่าจ้าง หรือแม้เถ้าเก๋จะโอนสิทธิในสัญญาให้ผู้อื่นก็ได้ เมื่อครบปีหนึ่งแล้วสิ้นเขตที่เป็นจีนใหม่พ้นหนี้สิน จะรับจ้างเถ้าเก๋ทำงานต่อไป หรือไปทำมาหากินที่อื่นโดยลำพังตนก็ได้ มีประเพณีอย่างนี้มาแต่เดิม ถึงรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ไทยทำหนังสือสัญญาค้าขายกับฝรั่งต่างชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ การค้าขายในเมืองไทยเจริญขึ้นรวดเร็ว มีโรงจักรสีข้าวเลื่อยไม้ และมีการขนลำเลียงสินค้าอันต้องการแรงงานมากขึ้น ทั้งเวลานั้นการคมนาคมกับเมืองจีนสะดวกขึ้น ด้วยมีเรือกำปั่นไปมาบ่อยๆ พวกจีนใหม่ที่เข้ามาหากินก็มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีจีนในกรุงเทพฯ คิดหาผลประโยชน์ด้วยการเป็นเถ้าเก๋รับจีนใหม่เข้าเมือง โดยวิธีดังกล่าวมาแล้วมากขึ้นและการนั้นได้กำไรงาม ก็เกิดแข่งกันเกลี้ยกล่อมจีนใหม่ พวกเถ้าเก๋จึงเลยอาศัยจีนใหม่ของตนให้ช่วยกันเกลี้ยกล่อมจีนเข้ามาใหม่ ตลอดจนไปชิงกันหางานให้พวกจีนใหม่ของตนทำ ก็เลยตั้งพวกเป็นอั้งยี่ด้วยประการฉะนี้ แต่ผิดกับอั้งยี่รัชกาลที่ ๓ ด้วยไม่คิดร้ายต่อรัฐบาลและมีแต่พวกละน้อยๆ หลายพวกด้วยกัน

แต่เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ ๔ มีพวกอั้งยี่กำเริบขึ้นที่เมืองภูเก็ต แต่มิได้เกี่ยวข้องกับจีนในกรุงเทพฯ ด้วยพวกอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ตขยายมาจากเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลใช้นโยบายอย่าง “เลี้ยงอั้งยี่” ดังกล่าวมาแล้ว พวกจีนในแดนอังกฤษไปมาค้าขายกับหัวเมืองไทยทางตะวันตกอยู่เป็นนิจ พวกอั้งยี่ในแดนอังกฤษจึงมาเกลี้ยกล่อมจีนที่เมืองภูเก็ต ให้ตั้งอั้งยี่เพื่อสงเคราะห์กันและกัน เป็นสาขาของกงสี “งี่หิน” พวกหนึ่งมีประมาณ ๓,๕๐๐ คน ของกงสี “ปูนเถ้าก๋ง” พวกหนึ่งมีประมาณ ๔,๐๐๐ คน อยู่มานายอั้งยี่ทั้งสองพวกนั้นวิวาทกัน ด้วยชิงสายน้ำที่ทำเหมืองล้างแร่ดีบุก ต่างเรียกพวกอั้งยี่ของตนมารบกันที่กลางเมือง ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตห้ามก็ไม่ฟัง จะปราบปรามก็ไม่มีกำลังพอการ จึงโปรดให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เมื่อยังเป็นที่พระยาเทพประชุน ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นข้าหลวงออกไปยังเมืองภูเก็ต ให้ไปพิจารณาว่ากล่าวเรื่องอั้งยี่วิวาทกัน ถ้าพวกอั้งยี่ไม่ฟังคำบังคับบัญชา ก็ให้เรียกระดมพลตามหัวเมืองปราบปรามด้วยกำลัง แต่เมื่อเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ออกไปถึง หัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองพวกอ่อนน้อมโดยดี เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ว่ากล่าวระงับเหตุวิวาทเรียบร้อยแล้ว พาตัวพวกหัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองกงสีรวม ๙ คน เข้ามาสารภาพรับผิดในกรุงเทพฯ จึงโปรดให้ถือน้ำกระทำสัตย์สาบานว่าจะไม่คิดร้ายต่อแผ่นดิน แล้วปล่อยตัวกลับไปทำมาหากินอย่างเดิม

การระงับอั้งยี่วิวาทกันที่เมืองภูเก็ตครั้งนั้น เป็นเหตุที่ไทยจะเอาวิธี “เลี้ยงอั้งยี่” อย่างที่อังกฤษจัดตามเมืองในแหลมมลายูมาใช้ที่เมืองภูเก็ตก่อน แล้วเลยเอาเข้ามาใช้ในกรุงเทพฯ เมื่อภายหลัง แต่อนุโลมให้เข้ากับประเพณีไทย มิให้ขัดกัน เป็นต้นว่าที่เมืองภูเก็ตนั้นเลือกจีนที่มีพรรคพวกนับถือมากตั้งเป็น “หัวหน้าต้นแซ่” สำหรับนำกิจทุกข์สุขของพวกของตนเสนอต่อรัฐบาล และควบคุมว่ากล่าวพวกของตนตามประสงค์ของรัฐบาล คล้ายๆ กับกรรมการจีน ที่เป็นคนมีหลักฐานมั่นคงถึงให้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเป็นหลวงก็มี แต่พวกหัวหน้าต้นแซ่นั้นก็เป็นอั้งยี่พวกงี่เฮงหรือปูนเถ้าก๋งทุกคน การที่จัดขึ้นเป็นแต่อย่างควบคุมอั้งยี่ และให้มีพวกหัวหน้าต้นแซ่สำหรับรัฐบาลใช้ไปว่ากล่าวพวกอั้งยี่ และคอยห้ามปรามมิให้อั้งยี่ต่างพวกวิวาทกัน แต่ยังยอมให้พวกจีนตั้งอั้งยี่ได้ตามใจไม่ห้ามปราม

(๖)

อั้งยี่ในเมืองไทยเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์เมื่อเดือนตุลาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลานั้นยังทรงพระเยาว์วัย พระชันษาเพียง ๑๖ ปี จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม ได้เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ ๕ ปี

เวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาลครั้งนั้น มีเหตุต่างๆ ที่ทำให้รัฐบาลลำบากหลายเรื่อง เรื่องอื่นยกไว้จะเล่าแต่เรื่องเนื่องกับพวกอั้งยี่ เมื่อกำลังจะเปลี่ยนรัชกาล มีอั้งยี่พวกหนึ่งในกรุงเทพฯ ต่อสู้เจ้าภาษีฝิ่นในโรงกงก๊วนที่ริมฝั่งสัมพันธวงศ์ ถึงสู้รบกันขึ้นที่ในสำเพ็ง พอเปลี่ยนรัชกาล อั้งยี่พวกหนึ่งก็คุมกันเที่ยวปล้นราษฎรที่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี และทำท่าทางจะกำเริบขึ้นที่อื่นอีกทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง สมเด็จเจ้าพระยาฯ ระงับด้วยใช้อุบายหลายอย่าง พิเคราะห์ดูน่าพิศวง

อย่างที่หนึ่งใช้ปราบด้วยอาญา ดังเช่นปราบอั้งยี่ที่กำเริบขึ้นในแขวงจังหวัดนครชัยศรี เมื่อจับได้ให้ส่งเข้ามากรุงเทพฯ เอาตัวหัวหน้าประหารชีวิต และเอาสมัครพรรคพวกทั้งหมดจำคุก ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย

อีกอย่างหนึ่งใช้อุบายขู่ให้พวกอั้งยี่กลัว ด้วยจัดการซ้อมรบที่สนามชัย ถวายพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรบนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ทุกสัปดาห์ ฉันยังเป็นเด็กไว้ผมจุก เคยตามเสด็จไปดูหลายครั้ง การซ้อมรบนั้น บางวันก็ให้ทหารปืนใหญ่ปืนเล็ก ยิงปืนติดดินดำ เสียงดังสนั่นครั่นครื้น บางวันก็ให้ทำเป็นโครงค่ายมีหุ่นรูปคนอยู่ประจำ เอาช้างรบออกซ้อมแทงหุ่นทำลายค่าย เวลานั้นมีช้างรบอยู่ในกรุงเทพฯ สักสามสี่เชือก ตัวหนึ่งชื่อ พลายแก้ว เจ้าพระยายมราช (แก้ว) หัดที่เมืองนครราชสีมา กล้าหาญนัก พอเห็นยิงปืนออกมาจากค่ายก็สวนควันเข้าไปรื้อค่าย แทงรูปหุ่นที่รักษาทำลายลง พวกชาวพระนครไม่เคยเห็นการซ้อมรบอย่างนั้น พากันมาดูมากกว่ามาก เกิดกิตติศัพท์ระบือไปถึงพวกอั้งยี่ก็กลัว ไม่ก่อเหตุอันใดได้จริง

อุบายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีกอย่างหนึ่งนั้น ขยายการบำรุงจีนอนุโลมตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงตั้งปลัดจีนตามหัวเมืองดังกล่าวมาแล้ว และเวลานั้นมีความลำบากเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย เพราะเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ มีพวกชาวจีนชาวเมืองขึ้นของอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา และโปรตุเกสเข้ามาหากินในกรุงเทพฯ มากขึ้น ก็ตามหนังสือสัญญายอมให้จีนเหล่านั้นอยู่ในความป้องกันของกงสุลชาตินั้นๆ จึงเรียกกันว่า “พวกร่มธง” หมายความว่า “อยู่ในร่มธงของต่างประเทศ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สับเย็ก” subject หมายความว่า “เป็นคนในของชาตินั้นๆ” ไม่ต้องอยู่ในอำนาจโรงศาล หรือในบังคับรัฐบาลของบ้านเมือง แม้กงสุลต่างประเทศช่วยห้ามมิให้จีนในร่มธงเป็นอั้งยี่ก็ดี สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ยังวิตก เกรงว่าพวกจีนชั้นพลเมืองจะพากันอยากเข้าร่มธงฝรั่ง เพราะฉะนั้นพอเปลี่ยนรัชกาลได้ ๓ สัปดาห์ ก็ประกาศตั้งศาลคดีจีนขึ้นในกรมท่าซ้าย ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง แล้วเปลี่ยนเป็นพระยาโชฎึกฯ พุก) คนหนึ่ง หลวงพิพิธภัณฑวิจารณ์ (ฟัก ภายหลังได้เป็นพระยาโชฎึกฯ) คนหนึ่ง กับหลวงพิชัยวารี (มลิ) คนหนึ่ง (เป็นชั้นลูกจีนทั้ง ๓ คน) เป็นผู้พิพากษา สำหรับชำระตัดสินคดีที่คู่ความเป็นจีนทั้งสองฝ่าย ด้วยใช้ภาษาจีนและประเพณีจีนในการพิจารณา แต่ห้ามมิให้รับคดีที่คู่ความเป็นจีนแต่ฝ่ายเดียว หรือคดีที่เป็นความอาญาว่ากล่าวในศาลนั้น นอกจากตั้งศาลให้แบ่งเขตท้องที่อันมีจีนอยู่มาก เช่นในสำเพ็งเป็นหลายอำเภอ ตั้งนายอำเภอจีนประจำสำหรับอุปการะจีนในถิ่นนั้นทุกอำเภอ ตามหัวเมืองก็ให้ปลัดจีนมีอำนาจว่ากล่าวคดีจีน อำเภอที่มีจีนอยู่มากก็ตั้งหัวหน้าให้เป็นตำแหน่ง “กงสุลจีนในบังคับสยาม” สำหรับเป็นผู้อุปการะจีนอยู่ในอำเภอนั้นๆ

ส่วนการควบคุมพวกอั้งยี่นั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็อนุโลมเอาแบบอย่างอังกฤษ “เลี้ยงอั้งยี่” ที่ในแหลมมลายูมาใช้ ปรากฏว่าให้สืบเอาตัวจีนเถ้าเก๋ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ได้ ๑๔ คน แล้วตั้งข้าหลวง ๓ คน คือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ เมื่อยังเป็นพระยาเทพประชุน (ซึ่งเคยไปปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต) คนหนึ่ง พระยาโชฎึกราชเศรษฐีคนหนึ่ง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองตระเวน (โปลิส) ในกรุงเทพฯ คนหนึ่ง พร้อมด้วยขุนนางจีนเจ้าภาษีอีกบางคน พาพวกหัวหน้าอั้งยี่ ๑๔ คนนั้นไปทำพิธีถือน้ำกระทำสัตย์ในวิหารพระโต ณ วัดกัลยาณมิตรซึ่งจีนนับถือมาก รับสัญญาว่าจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยระวังพวกอั้งยี่ของตนมิให้คิดร้ายด้วย แล้วปล่อยตัวไปทั้ง ๑๔ คน แต่นั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาพวกหัวหน้าอั้งยี่เหล่านั้นมาเป็นคนรับใช้สอยของท่าน ให้ตรวจตราว่ากล่าวมิให้พวกอั้งยี่กำเริบ ก็สำเร็จประโยชน์ได้ดังประสงค์ พวกอั้งยี่ก็เรียบร้อย เพราะใช้วิธี “เลี้ยงอั้งยี่” มาตลอดเวลาสมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอำนาจในราชการแผ่นดิน

อั้งยี่กำเริบที่เมืองระนองและภูเก็ต

ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลที่ ๕ เกิดลำบากด้วยพวกจีนอั้งยี่ที่เป็นกรรมกรทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองระนอง และเมืองภูเก็ตกำเริบ คล้ายกับเป็นกบฏต้องปราบปรามเป็นการใหญ่โต แต่ว่าพวกอั้งยี่ทางหัวเมืองในแหลมมลายู เป็นสาขาของพวกอั้งยี่กงสี “งี่หิน” และ “กงสีปูนเถ้าก๋ง” ในแดนอังกฤษมาตั้งขึ้นในเมืองไทย ไม่ติดต่อกับพวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ดังกล่าวมาในเรื่องปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้นแล้ว แต่ครั้งนั้นมาการทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองระนองกับเมืองภูเก็ตเจริญขึ้น มีพวกจีนกรรมกรเข้ามารับจ้างขุดขนดีบุกมากขึ้นเป็นลำดับมา จนที่เมืองระนองมีจำนวนจีนกรรมกรกว่า ๓,๐๐๐ คน และที่เมืองภูเก็ตก็มีจำนวนจีนกรรมกรหลายหมื่น มากกว่าจำนวนราษฎรไทยที่อยู่ในตัวเมืองทั้งสองแห่ง ตามบ้านนอกพวกจีนกรรมกรไปรวมกันรับจ้างขุดแร่อยู่ที่ไหน ทั้งพวกงี่หินและพวกปูนเถ้าก๋งต่างก็ไปตั้งกงสีอั้งยี่พวกของตนขึ้นที่นั่น มีนายรองปกครองขึ้นต่อผู้ที่รัฐบาลตั้งเป็นหัวหน้าต้นแซ่ ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นฐานอยู่ในเมือง จึงมีกงสีอั้งยี่อยู่ตามเหมืองแร่แทบทุกแห่ง พวกหัวหน้าต้นแซ่ก็ช่วยรัฐบาลรักษาความสงบเรียบร้อยได้ตลอดมา แต่เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ นั้นเผอิญดีบุกตกราคา พวกนายเหมืองขายดีบุกได้เงินไม่พอให้ค่าจ้างกรรมกร จึงเกิดเหตุขึ้นที่เมืองระนองก่อน

ปรากฏว่าเมื่อเดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำถึงตรุษจีน พวกกรรมกรที่เป็นอั้งยี่ปูนเถ้าก๋งพวกหนึ่ง ไปทวงเงินต่อนายเหมือง ขอให้ชำระหนี้สินให้สิ้นเชิงตามประเพณีจีน นายเหมืองไม่มีเงินพอจะให้ขอผ่อนผัด พวกกรรมกรจะเอาเงินให้จงได้ก็เกิดทุ่มเถียง จนเลยวิวาทกันขึ้น พวกกรรมกรฆ่าพวกนายเหมืองตาย ชะรอยผู้ตายจะเป็นตัวนายคนหนึ่ง พวกกรรมกรจึงตกใจ เกรงว่าจะถูกจับเอาไปลงโทษ ก็พากันถือเครื่องศัตราอาวุธหนีออกจากเมืองระนอง หมายว่าจะเดินบกข้ามภูเขาบรรทัด ไปหาที่ซ่อนตัวอยู่ที่เหมืองแร่ในแขวงเมืองหลังสวน เมื่อไปถึงด่าน พวกชาวด่านเห็นกิริยาอาการผิดปรกติ สงสัยว่าจะเป็นโจรผู้ร้าย จะเอาตัวเข้ามาให้ไต่สวนที่เมือง ก็เกิดวิวาทกันขึ้น คราวนี้ถึงยิงกันตายทั้งสองข้าง พวกชาวด่านจับจีนได้ ๘ คน คุมตัวเข้ามายังเมืองระนอง ถึงกลางทาง พวกจีนกรรมกรเป็นอันมาก พากันมากลุ้มรุมแทงฟันพวกชาวด่าน ชิงเอาพวกจีนที่ถูกจับไปได้หมด แล้วพวกจีนกรรมกรก็เลยเป็นกบฏ รวบรวมกันประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ คน ออกจากเหมืองแร่เข้ามาเที่ยวไล่ฆ่าคนและเผาบ้านเรือนในเมืองระนอง พระยาระนองไม่มีกำลังพอจะปราบปราม ก็ได้แต่รักษาบริเวณศาลากลางอันเป็นสำนักรัฐบาลไว้ พวกจีนกบฏจะตีเอาเงินที่ในคลังไม่ได้ ก็พากันเที่ยวเก็บเรือทะเลบรรดามีที่เมืองระนอง และไปปล้นฉางเอาข้าวบรรทุกลงในเรือ แล้วก็พากันลงเรือแล่นหนีไปทางทะเลประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน ที่ไปทางเรือไม่ได้ ก็พากันไปทางบก หนีไปยังที่เหมืองแร่ในแขวงเมืองหลังสวนประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน พอประจวบกับเวลาเรือรบไปถึงเมืองระนอง เหตุที่อั้งยี่เมืองระนองเป็นกบฏก็สงบลง ไม่ต้องรบพุ่งปราบปราม เพราะเป็นกบฏแต่พวกปูนเถ้าก๋งหนีไปหมดแล้ว พวกงี่หินที่ยังอยู่ก็หาได้เป็นกบฏไม่

แต่ที่เมืองภูเก็ตมีจีนกรรมกรหลายหมื่น จำนวนมากกว่าเมืองระนองหลายเท่า และพวกจีนก็มีเหตุเดือดร้อนด้วยดีบุกตกราคา เช่นเดียวกันกับเมืองระนอง ทั้งยังมีเหตุอื่นนอกจากนั้น ด้วยพวกอั้งยี่ปูนเถ้าก๋งสงสัยว่าเจ้าเมืองลำเอียง เข้ากับพวกงี่หิน มีความแค้นเคืองอยู่บ้างแล้ว พอพวกอั้งยี่ที่หนีมาทางเรือจากเมืองระนอง มาถึงเมืองภูเก็ต แยกย้ายกันไปเที่ยวอาศัยอยู่ตามโรงกงสีอั้งยี่พวกของตน ตามตำบลต่างๆ ไปเล่าว่าเกือบจะตีเมืองระนองได้ หากเครื่องยุทธภัณฑ์ไม่มีพอมือจึงต้องหนีมา ก็มีพวกหัวโจกตามกงสีต่างๆ ชักชวนพวกอั้งยี่ในกงสีของตนให้รวมกันตีเมืองภูเก็ตบ้าง แต่ปกปิดมิให้หัวหน้าต้นแซ่รู้ ก็รวมได้ แต่บางกงสีไม่พรักพร้อมกัน เวลานั้นพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นข้าหลวงประจำหัวเมืองฝ่ายตะวันตกทั้งปวงอยู่ ณ เมืองภูเก็ต มีเรือรบ ๒ ลำกับโปลิสสำหรับรักษาสำนักรัฐบาลประมาณ ๑๐๐ คนเป็นกำลัง ส่วนการปกครองเมืองภูเก็ตนั้น พระยาวิชิตสงคราม (ทัด) ซึ่งเป็นพระยาภูเก็ตอยู่จนแก่ชราจึงเลื่อนขึ้นเป็นจางวาง แต่ก็ยังว่าราชการและผูกภาษีผลประโยชน์เมืองภูเก็ตอยู่อย่างแต่ก่อน เป็นผู้ที่พวกจีนกรรมกรเกลียดชังว่าเก็บภาษีให้เดือดร้อน แต่หามีใครคาดว่าพวกจีนกรรมกรจะกำเริบไม่

แต่แรกเกิดเหตุเมื่อเดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เวลาบ่ายวันนั้นกะลาสีเรือรบพวกหนึ่งขึ้นไปบนบก ไปเมาสุรา เกิดทะเลาะกับพวกจีนที่ในตลาดเมืองภูเก็ต แต่ไม่ทันถึงทุบตีกัน มูลนายเรียกกะลาสีพวกนั้นกลับลงไปเรือเสียก่อน ครั้นเวลาค่ำมีกะลาสีพวกอื่น ๒ คนขึ้นไปบนบก พอพวกจีนเห็นก็กลุ้มรุมทุบตีแทบปางตาย โปลิสไประงับวิวาท จับได้จีนที่ตีกะลาสี ๒ คนเอาตัวเข้าไปส่งข้าหลวง ในไม่ช้าก็มีจีนพวกใหญ่ประมาณ ๓๐๐ คน ซึ่งรวบรวมกันอยู่ในตลาด ถือเครื่องศัสตราอาวุธพากันไปรื้อโรงโปลิส แล้วเที่ยวปล้นบ้านเผาวัดและเรือนไทยที่ในเมือง พบไทยที่ไหนก็ไล่ฆ่าฟัน พวกไทยอยู่ในเมืองมีน้อยกว่าจีนก็ได้แต่พากันหนีเอาตัวรอด ฝ่ายพวกจีนได้ที ก็เรียกกันเพิ่มเติมเข้ามาจนจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ คน แล้วยังตามกันยกเข้ามาหมายจะปล้นสำนักงานรัฐบาล และบ้านพระยาวิชิตสงคราม เป็นการกบฏออกหน้า พระยาวิชิตสงครามอพยพครอบครัวหนีเอาตัวรอดไปได้ แต่พระยามนตรีฯ ไม่หนี ตั้งต่อสู้อยู่ในบริเวณสำนักรัฐบาล และรักษาบ้านพระยาวิชิตสงคราม ซึ่งอยู่ติดต่อกันไว้ด้วย ให้เรียกไทยบรรดามีในบริเวณศาลารัฐบาล และถอดคนโทษที่ในเรือนจำออกมาสมทบกับโปลิสซึ่งมีอยู่ ๑๐๐ คน แล้วได้ทหารเรือในเรือรบขึ้นมาช่วยอีก ๑๐๐ คน รายกันรักษาทางที่พวกจีนจะเข้าได้และเอาปืนใหญ่ตั้งจุกช่องไว้ทุกทาง แล้วให้ไปเรียกจีนพวกหัวหน้าต้นแซ่ซึ่งอยู่ในเมือง เข้ามาประชุมกันที่ศาลารัฐบาลในค่ำวันนั้น และรีบเขียนจดหมายถึงหัวเมืองอื่นๆ ที่ใกล้เคียงให้ส่งกำลังมาช่วย และมีหนังสือส่งไปตีโทรเลขที่เมืองปีนังบอกข่าวเข้ามายังกรุงเทพฯ และมีจดหมายบอกอังกฤษเจ้าเมืองปีนังให้กักเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ อย่าให้พวกจีนส่งมายังเมืองภูเก็ต ให้คนถือหนังสือลงเรือเมล์และเรือใบไปยังเมืองปีนัง และที่อื่นๆ ตามสามารถจะไปได้ ในค่ำวันนั้นจีนพวกหัวหน้าต้นแซ่ พากันเข้าไปยังศาลารัฐบาลตามคำสั่งโดยมาก และรับจะช่วยรัฐบาลตามแต่พระยามนตรีฯ จะสั่งให้ทำประการใด พระยามนตรีฯ จึงสั่งให้พวกหัวหน้าเขียน “ตั๋ว” ออกไปถึงพวกแซ่ของตนที่มากับพวกผู้ร้าย สั่งให้กลับไปที่อยู่ของตนเสียตามเดิม มีทุกข์ร้อนอย่างไรพวกหัวหน้าต้นแซ่จะช่วยแก้ไขให้โดยดี ก็มีพวกกรรมกรเชื่อฟัง พากันกลับไปเสียมาก พวกที่ยังเป็นกบฏอยู่น้อยตัวลง ก็ไม่กล้าเข้าตีศาลารัฐบาล พระยามนตรีฯ จึงจัดให้จีนหัวหน้าต้นแซ่คุมจีนพวกของตัว ตั้งเป็นกองตระเวนคอยห้ามปรามอยู่เป็นแห่งๆ ที่ในเมืองก็สงบไป แต่พวกจีนกบฏที่มีหัวหน้าโจกชักนำ ไม่เชื่อฟังหัวหน้าต้นแซ่ เมื่อเห็นว่าจะตีศาลารัฐบาลไม่ได้ ก็คุมกันเป็นพวกๆ แยกกันไปเที่ยวปล้นทรัพย์เผาเรือนพวกชาวเมือง ต่อออกไปถึงตามบ้านนอก ราษฎรน้อยกว่าก็ได้แต่หนีเอาตัวรอด ก็เกิดเป็นจลาจลทั่วไปทั้งเมืองภูเก็ต มีแต่ที่บ้านฉลองแห่งเดียว ชาวบ้านได้สมภารวัดฉลองเป็นหัวหน้า อาจต่อสู้ชนะพวกจีน (ดังได้เล่ามาในนิทานที่ ๒ เรื่องพระครูวัดฉลอง) แม้พระยามนตรีฯ ก็มีกำลังเพียงจะรักษาศาลารัฐบาล ยังไม่สามารถจะไปปราบพวกจีนกบฏตามบ้านนอกได้

เมื่อรัฐบาลในกรุงเทพฯ ได้รับโทรเลขว่าได้เกิดกบฏที่เมืองภูเก็ต จึงโปรดให้พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นข้าหลวงใหญ่มีอำนาจบังคับบัญชาการปราบอั้งยี่ได้สิทธิขาด (เพราะพระยามนตรีฯ เป็นลูกเขยพระยาวิชิตสงคราม เกรงจะบังคับการไม่ได้เด็ดขาด ต่อภายหลังจึงทราบว่า เพราะพระยามนตรีฯ ต่อสู้ จึงไม่เสียเมืองภูเก็ต) คุมเรือรบกับทหารและเครื่องศัสตราอาวุธยุทธภัณฑ์เพิ่มเติมออกไป พระยาประภาฯ ไปถึงเมืองภูเก็ต ก็ไปร่วมมือกับพระยามนตรีฯ ช่วยกันรวบรวมรี้พลทั้งไทยและมลายูที่ไปจากหัวเมืองปักษ์ใต้เข้าเป็นกองทัพ และเรียกพวกเจ้าเมืองที่ใกล้เคียงไปประชุมปรึกษากัน ให้ประกาศว่าจะเอาโทษแต่พวกที่ฆ่าคนและปล้นสะดม พวกกรรมกรที่มิได้ประพฤติร้ายเช่นนั้น ถ้าลุแก่โทษต่อหัวหน้าต้นแซ่และกลับไปทำการเสียโดยดี จะไม่เอาโทษ พวกจีนที่เป็นแต่ชั้นสมพลก็พากันเข้าลุแก่โทษโดยมาก จับได้ตัวหัวโจกและที่ได้ประพฤติร้ายบ้าง แต่โดยมากพากันหลบหนีจากเมืองภูเก็ตไปตามเมืองในแดนอังกฤษ การจลาจลที่เมืองภูเก็ตก็สงบ

ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ชาย บุนนาค) เลื่อนขึ้นเป็นพระยาประภากรวงศ์ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) เลื่อนขึ้นเป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานพานทองเสมอกันทั้ง ๒ คน พวกกรมการที่ได้ช่วยรักษาเมืองภูเก็ตนั้น ก็พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์บ้าง เลื่อนบรรดาศักดิ์บ้าง ตามควรแก่ความชอบ ที่เป็นแต่หัวหน้าต้นแซ่ซึ่งได้ช่วยราชการครั้งนั้น โปรดให้สร้างเหรียญติดอกเป็นเครื่องหมายความชอบ (ซึ่งมาเปลี่ยนเป็นเหรียญดุษฎีมาลาเมื่อภายหลัง) พระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบทุกคน แต่นั้นพวกอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ตก็ราบคาบ

เรื่องอั้งยี่งี่หินหัวควาย

เมื่อระงับอั้งยี่ที่เมืองระนองกับเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นกบฏขึ้นเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เรียบร้อยแล้ว ต่อมาอีก ๙ ปีถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ เกิดอั้งยี่กำเริบขึ้นตามหัวเมืองในแหลมมลายูอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นอย่างแปลกประหลาดผิดกับที่เคยมีมาแต่ก่อน ด้วยพวกอั้งยี่ล้วนเป็นไทยเอาไปอย่างจีนมาตั้งอั้งยี่ขึ้น เรียกพวกตัวเองว่า “งี่หินหัวควาย” แต่ในทางราชการใช้ราชาศัพท์เรียกว่า “งี่หินศีรษะกระบือ” หัวหน้ามักเป็นพระภิกษุซึ่งเป็นสมภารอยู่ตามวัด เอาวัดเป็นกงสีที่ประชุม จะมีขึ้นที่เมืองไหนก่อนไม่ทราบแน่ แล้วผู้ต้นคิดแต่งพรรคพวกไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คน คือสมภารตามวัดโดยเฉพาะให้ตั้งอั้งยี่งี่หินหัวควายขึ้นตามเมืองต่างๆ ทางเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองปทิว เมืองชุมพร เมืองหลังสวน เมืองไชยา ลงไปจนถึงเมืองกาญจนดิษฐ์ ทางเมืองฝ่ายตะวันตกก็เกิดขึ้นที่เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองคิรีรัตนนิคม และเมืองถลาง ก็แต่ธรรมดาของการตั้งอั้งยี่ เหมาะแต่เฉพาะกับจีน เพราะเป็นชาวต่างประเทศมาหากินอยู่ต่างด้าว จึงรวมเป็นพวกเพื่อป้องกันตัวมิให้พวกชาวเมืองข่มเหงอย่างหนึ่ง เพราะพวกจีนมาหากินด้วยเป็นกรรมกร อาศัยเลี้ยงชีพแต่ด้วยค่าจ้างที่ได้จากค่าแรงงาน จึงรวมกันเป็นพวกเพื่อจะมิให้แย่งงานกันทำ และมิให้ผู้จ้างเอาเปรียบลดค่าจ้างโดยอุบายต่างๆ ตลอดจนสงเคราะห์กันในเวลาต้องตกยาก พวกจีนชั้นเลวจึงเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ตนที่จะเข้าเป็นอั้งยี่ แต่ไทยเป็นชาวเมืองนั้นเอง ต่างมีถิ่นฐานทำการงานเลี้ยงชีพได้โดยอิสระลำพังตน ไม่มีกรณีที่ต้องเกรงภัยเหมือนอย่างพวกจีนกรรมกร การที่ตั้งอั้งยี่เป็นแต่พวกคนพาล ที่เป็นหัวหน้าประสงค์ลวงเอาเงินค่าธรรมเนียม โดยอ้างว่าถ้าเข้าเป็นอั้งยี่ จะเป็นประโยชน์แก่ตนอย่างนั้นๆ ครั้นรวมกันตั้งเป็นอั้งยี่ ไม่มีกรณีอันเป็นกิจการของสมาคมอย่างพวกจีน พวกหัวโจกก็ชักชวนให้พวกอั้งยี่แสวงหาผลประโยชน์ ด้วยทำเงินแดงบ้าง ด้วยคุมกันเที่ยวปล้นสะดมชาวบ้านเอาทรัพย์สินบ้าง พวกงี่หินหัวควายมีขึ้นที่ไหนพวกชาวเมืองก็ได้ความเดือดร้อนเช่นเดียวกับเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม แต่การปราบปรามก็ไม่ยาก เพราะมีแต่แห่งละเล็กละน้อย ชาวเมืองก็พากันเกลียดชังพวกงี่หินหัวควาย คอยช่วยรัฐบาลอยู่ทุกเมือง ครั้งนั้นโปรดให้พระยาสุริยภักดี (ตัวชื่ออะไร และภายหลังจะได้มียศศักดิ์เป็นอย่างไร สืบยังไม่ได้ความ) เป็นข้าหลวงลงไปชำระทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ให้ข้าหลวงประจำภูเก็ต ชำระทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ให้จับแต่ตัวหัวหน้านายโจกและที่ได้กระทำโจรกรรม ส่งเข้ามาลงพระราชอาญาในกรุงเทพฯ พวกที่เป็นแต่เข้าเป็นอั้งยี่ ให้เรียกประกันทานบนแล้วปล่อยไป ในไม่ช้าก็สงบเงียบเรียบร้อย ถ้าไม่เขียนเล่าไว้ในที่นี้ก็เห็นจะไม่มีใครรู้ว่าเคยมีอั้งยี่ “งี่หินหัวควาย”

อั้งยี่ในกรุงเทพฯ เปลี่ยนขบวน

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ท่านยังดูแลควบคุมพวกอั้งยี่ต่อมาจนตลอดอายุของท่าน ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงพิราลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ การควบคุมพวกอั้งยี่ตกมาเป็นหน้าที่ของกระทรวงนครบาล ตั้งแต่กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์เป็นเสนาบดีสืบมา จนถึงกรมพระนเรศรวรฤทธิ์เป็นนายกกรรมการบัญชาการกระทรวงนครบาล ก็ยังคงใช้วิธีเลี้ยงอั้งยี่อยู่อย่างเดิม แต่ผิดกันกับแต่ก่อนเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ด้วยสมเด็จเจ้าพระยาฯ คนยำเกรงทั่วไปทั้งแผ่นดิน แต่เสนาบดีกระทรวงนครบาลมีอำนาจเพียงในกรุงเทพฯ บางทีจะเป็นเพราะเหตุนั้น เมื่อสิ้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้ว พวกอั้งยี่จึงคิดวิธีหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งทั้งที่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมือง คือนายอั้งยี่บางคนเข้ารับประมูลเก็บภาษีอากร ถ้าประมูลสู้คนอื่นไม่ได้ ก็ให้พวกอั้งยี่ของตนที่มีอยู่ในแขวงที่ประมูลนั้นคอยรังแกพวกเจ้าภาษี มิให้เก็บอากรได้สะดวกจนต้องขาดทุน เมื่อถึงคราวประมูลหน้าจะได้ไม่กล้าแย่งประมูลแข่งตัวนายอั้งยี่ เมื่อเกิดอุบายขึ้นอย่างนั้นคนอื่นก็เอาอย่าง มักเป็นเหตุให้เกิดอั้งยี่ต่างพวกก่อการวิวาทขึ้นตามหัวเมือง หรือใช้กำลังขัดขวางเจ้าภาษี บางทีถึงรัฐบาลต้องปราบปราม ยกตัวอย่างดังเช่นพวกอั้งยี่ตั้งซ่องต้มเหล้าเถื่อนที่ตำบลดอนกระเบื้อง ไม่ห่างกับสถานีรถไฟสายใต้ที่บางตาลนัก แต่สมัยนั้นยังเป็นป่าเปลี่ยว ชายแดนจังหวัดราชบุรีต่อกับจังหวัดนครปฐม ขุดคูทำเชิงเทินเหมือนอย่างตั้งค่าย พวกเจ้าภาษีไปจับ ถูกพวกอั้งยี่ยิงต่อสู้จนต้องหนีกลับมา แต่เมื่อรัฐบาลให้ทหารเอาปืนใหญ่ออกไป พวกอั้งยี่ก็หนีหมดไม่ต่อสู้ แต่พวกจีนเจ้าภาษี เขาคิดอุบายแก้ไขโดยใช้วิธีอย่างจีน บางคนจะผูกภาษีที่ไหนที่มีอั้งยี่มาก เขาชวนหัวหน้าให้เข้าหุ้นโดยมิต้องลงทุน บางแห่งก็ให้สินบนแก่หัวหน้าอั้งยี่ในท้องถิ่น รักษาความสงบมาได้

(๗)

ปราบอั้งยี่เมื่อรัชกาลที่ ๕

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ พวกอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ก่อเหตุใหญ่อย่างไม่เคยมีเหมือนมาแต่ก่อน ด้วยถึงสมัยนั้นมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ๆ ตั้งขึ้นหลายโรง เรือกำปั่นไฟก็มีมารับสินค้ามากขึ้น เป็นเหตุให้มีจีนใหม่เข้ามามากกว่าแต่ก่อน พวกจีนใหม่ที่เข้ามาหากินในเมืองไทยสมัยนี้ มีทั้งจีนแต้จิ๋วมาจากเมืองซัวเถา และจีนฮกเกี้ยนมาจากเมืองเอ้หมึง จีนสองพวกนี้พูดภาษาต่างกัน และถือว่าชาติภูมิต่างกัน แม้มีพวกเถ้าเก๋รับจีนใหม่อยู่อย่างแต่ก่อน พวกจีนใหม่ต่างถือกันว่าเป็นพวกเขาพวกเรา พวกแต้จิ๋วทำงานอยู่ที่ไหนมาก ก็คอยเกียดกันรังแกพวกฮกเกี้ยนมิให้เข้าไปแทรกแซงแย่งงาน พวกฮกเกี้ยนก็ทำเช่นนั้นบ้าง จึงเกิดเกลียดชังกัน ไปประชันหน้ากันที่ไหนก็มักเกิดชกตีวิวาทในระหว่างกรรมกรจีนแต้จิ๋วกับฮกเกี้ยนเนืองๆ เลยเป็นปัจจัยให้อั้งยี่รวมกันเป็นพวกใหญ่แต่ ๒ พวก เรียกว่า “ตั้วกงสี” ของจีนแต้จิ๋วพวกหนึ่ง เรียกว่า “ซิวลี่กือ” ของจีนฮกเกี้ยนพวกหนึ่ง ต่างประสงค์จะแย่งงานกันและกัน กระทรวงนครบาลยังใช้วิธี “เลี้ยงอั้งยี่” อยู่อย่างแต่ก่อน ถ้าเกิดเหตุอั้งยี่ตีกันก็สั่งให้นายอั้งยี่ไปว่ากล่าว แต่แรกก็สงบไปเป็นพักๆ แต่เกิดมีตัวหัวโจกขึ้นในอั้งยี่ทั้งสองพวก เป็นผู้หญิงก็มี หาค่าจ้างในการช่วยอั้งยี่แย่งงาน และช่วยหากำลังให้ในเวลาเมื่อเกิดวิวาทกัน พวกอั้งยี่ก็ไม่เชื่อฟังนายเหมือนแต่ก่อน แม้พวกนายอั้งยี่ก็ไม่ยำเกรงกระทรวงนครบาลเหมือนเคยกลัวสมเด็จเจ้าพระยาฯ พวกอั้งยี่จึงตีรันฟันแทงกันบ่อยขึ้น จนถึงรบกันในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๒

ในสมัยนั้น (ค.ศ. ๑๘๘๙) มีหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ Bangkok Times ออกเสมอทุกวันแล้ว เมื่อเขียนนิทานนี้ ฉันตรวจเรื่องปราบอั้งยี่ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ประกอบกับความทรงจำของฉัน ได้ความว่าเมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๒ พวกอั้งยี่รวมผู้คนเตรียมการที่จะตีกันเป็นขนานใหญ่ กระทรวงนครบาลเรียกพวกตัวนายหัวหน้าอั้งยี่ไปสั่งให้ห้ามปราม แต่อั้งยี่มีหัวโจกหนุนหลังอยู่ก็ไม่ฟังพวกนายห้าม พอถึงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พวกอั้งยี่ก็ลงมือเที่ยวรื้อสังกะสีมุงหลังคา และเก็บขนโต๊ะตู้หีบปัดตามโรงร้านบ้านเรือนของราษฎรที่ริมถนนเจริญกรุง ตอนใต้วัดยานนาวา เอาไปทำค่ายบังตัวขวางถนนเจริญกรุงทั้ง ๒ ข้าง เอาท้องถนนตรงหลังโรงสีของห้างวินเซอร์ ซึ่งเรียกกันว่าโรงสีปล่องเหลี่ยมเป็นสนามรบ พวกเจ้าของโรงสีทั้งที่เป็นฝรั่งและจีน ห้ามพวกอั้งยี่ที่เป็นกรรมกรของตนก็ไม่ฟัง พลตระเวนห้ามก็ไม่หยุด กองตระเวนเห็นจีนมากเหลือกำลังที่จะจับกุม ก็ต้องถอยออกไปรักษาอยู่เพียงภายนอกแนวที่วิวาท ท้องที่ถนนเจริญกรุงตั้งแต่ตลาดบางรักลงไป ก็ตกอยู่แก่อั้งยี่ทั้ง ๒ พวก เริ่มขว้างปาตีรันกันแต่เวลาบ่าย พอค่ำลงก็เอาปืนออกยิงกันตลอดคืน ถึงวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน โรงสีและตลาดยี่สานการค้าขายแต่บางรักลงไปต้องหยุดหมด และมีกิตติศัพท์ว่าพวกอั้งยี่จะเผาโรงสีที่พวกศัตรูอาศัย เจ้าของโรงสีก็พากันตกใจ ที่เป็นโรงสีของฝรั่งไล่จีนออกหมดแล้วปิดประตูบริเวณ ชวนพวกฝรั่งถืออาวุธไปช่วยกันล้อมวงรักษาโรงสี แต่โรงสีที่เจ้าของเป็นจีนไม่กล้าไล่พวกกุลี เป็นแต่ให้ปิดโรงสีไว้ พวกอั้งยี่ยังรบกันต่อมาในวันที่ ๒๐ ถึงตอนบ่ายวันนั้นกระทรวงนครบาลให้ข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวง คุมพลตระเวนลงไปกองหนึ่ง เพื่อจะห้ามวิวาท แต่พวกอั้งยี่มากกว่า ๑,๐๐๐ กำลังเลือดร้อนรบพุ่งกันไม่อ่อนน้อม ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ หนังสือพิมพ์ว่าพวกอั้งยี่รบกัน ๒ วัน ยิงกันตายสัก ๒๐ คน ถูกบาดเจ็บกว่า ๑๐๐ เอาคนเจ็บไปฝากตามบ้านฝรั่งที่อยู่ในแถวนั้น ถึงวันศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ทหารก็ลงไปปราบ

เพราะเหตุใด ทหารจึงลงไปปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น ควรจะเล่าถึงประวัติทางฝ่ายทหารที่ปราบอั้งยี่เป็นครั้งแรกไว้ด้วย แต่เดิมทหารบกแยกการบังคับบัญชาเป็นกรมๆ ต่างขึ้นตรงต่อพระองค์พระเจ้าอยู่หัวเหมือนกันทั้งนั้น ทหารเรือก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ โปรดให้ตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น และรวมการบังคับบัญชาทหารบกทุกกรมกับทั้งทหารเรือ ให้ขึ้นอยู่ในกรมยุทธนาธิการ เมื่อได้ข่าวว่าพวกอั้งยี่จะตีกันเป็นขนานใหญ่ในกรุงเทพฯ พระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อยังเป็นกรมพระ (จะเรียกต่อไปตามสะดวกอย่างเรียกในรัชกาลที่ ๗ ว่า สมเด็จพระราชปิตุลา) ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ว่าถ้ากระทรวงนครบาลไม่สามารถจะระงับได้ จะต้องให้ทหารปราบ กรมยุทธนาธิการมีเวลาเตรียมตัว ๒ วัน คณะบัญชาการมีสมเด็จพระราชปิตุลาเป็นนายพลเอกผู้บัญชาการพระองค์หนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อยังเป็นกรมขุน เป็นนายพลตรีจเรกรมยุทธนาธิการพระองค์หนึ่ง ตัวฉันเมื่อยังเป็นกรมหมื่น เป็นนายพลตรีผู้ช่วยบัญชาการทหารบกคนหนึ่ง นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธิน รักษาการแทนนายพลเรือตรี พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ผู้ช่วยบัญชาการทหารเรือซึ่งเสด็จไปยุโรปคนหนึ่ง ประชุมปรึกษาการที่จะปราบอั้งยี่ เห็นพร้อมกันว่าจะปราบได้ไม่ยากนัก เพราะพวกอั้งยี่ถึงมีมาก ก็ไม่มีศัสตราวุธซึ่งสามารถจะสู้ทหาร อีกประการหนึ่ง อั้งยี่ตั้งรบอยู่ในถนนเจริญกรุงเป็นที่แคบ ข้างตะวันตกติดแม่น้ำ ข้างตะวันออกก็เป็นท้องนา ถ้าให้ทหารยกลงไปทางบกตามถนนเจริญกรุงกองหนึ่ง ให้ลงเรือไปขึ้นบนข้างใต้ที่รบยกขึ้นมาถนนเจริญกรุงอีกกองหนึ่ง จู่เข้าข้างหลังที่รบพร้อมกันทั้งข้างเหนือและข้างใต้ ก็คงล้อมพวกอั้งยี่ได้โดยง่าย แต่การที่จะจับพวกอั้งยี่นั้นมีข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ด้วยจะให้ทหารทำการเข้าขบวนรบ ถ้าไปทำแรงเกินไปหรืออ่อนเกินไป ก็จะเสียชื่อทหารทั้งสองสถาน จะต้องระวังในข้อนี้ มีคำสั่งให้ทหารเข้าใจทุกคนว่าต้องจับแต่โดยละม่อม ต่ออั้งยี่คนใดสู้หรือไม่ยอมให้จับ จึงให้ใช้อาวุธ อีกประการหนึ่งจะต้องเลือกตัวหัวหน้าที่จะคุมทหาร ให้วางใจว่าจะทำการสำเร็จได้ แล้วปรึกษาเลือกกรมทหารที่จะให้ลงไปปราบอั้งยี่ด้วย ในเวลานั้นทหารมหาดเล็กกับทหารเรือถือปืนอย่างดีกว่ากรมอื่น จึงกะให้ทหารมหาดเล็กเป็นกองหน้าสำหรับจับอั้งยี่ ให้ทหารรักษาพระองค์เป็นกองหนุน รวมกัน ๔ กองร้อย ให้เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร) เมื่อยังเป็นนายพันตรี จมื่นวิชิตชัยศักดาวุธ รองผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก เป็นผู้บังคับการ ให้นายร้อยเอกหลวงศัลวิธานนิเทศ (เชา ซึ่งต่อมาภายหลังเป็นพระยาวาสุเทพ อธิบดีกรมตำรวจภูธร) ครูฝึกหัดทหารมหาดเล็ก เป็นผู้ช่วย สำหรับยกลงไปทางข้างเหนือ ส่วนกองที่จะขึ้นมาทางใต้นั้น ให้ทหารเรือจัดพลจำนวนเท่ากันกับทหารบก และพระยาชลยุทธฯ รับไปบังคับการเอง เมื่อคณะบัญชาการกะโครงการแล้ว เรียกผู้บังคับการกรมทหารต่างๆ ไปประชุมที่ศาลายุทธนาธิการ สั่งให้เตรียมตัวทุกกรม นอกจากทหารมหาดเล็กกับทหารรักษาพระองค์และทหารเรือ ซึ่งมีหน้าที่ไปปราบอั้งยี่นั้น ให้ทหารกรมอื่นๆ จัดกองพลรบพร้อมสรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธเตรียมไว้ที่โรงทหาร เรียกเมื่อใดให้ได้ทันทุกกรม เตรียมทหารพร้อมเสร็จในวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน รอฟังกระแสรับสั่งว่าจะให้ยกไปเมื่อใดก็ไปได้

ในกลางคืนวันที่ ๒๐ นั้น เวลา ๒ นาฬิกา ฉันกำลังนอนหลับอยู่ที่บ้านเก่าที่สะพานดำรงสถิต สมเด็จพระราชปิตุลากับสมเด็จกรมพระนริศฯ เสด็จไปปลุก เรียกขึ้นรถมายังศาลายุทธนาธิการ พระยาชลยุทธฯ ก็ถูกตามไปอยู่พร้อมกัน สมเด็จพระราชปิตุลาตรัสบอกว่าเมื่อประชุมเสนาบดีในค่ำวันนั้น ท่านได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าเตรียมทหารพร้อมแล้ว จะโปรดให้ไปปราบอั้งยี่เมื่อใด ก็จะรับสนองพระเดชพระคุณ พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามกระทรวงนครบาล กระทรวงนครบาลกราบทูลว่ายังหวังใจว่าจะห้ามให้เลิกกันได้ ไม่ถึงต้องใช้ทหาร พระเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย ตรัสว่ากระทรวงนครบาลได้รับมาหลายครั้งแล้วก็ไม่เห็นห้ามให้หยุดได้ ดำรัสสั่งเป็นเด็ดขาดว่า กระทรวงนครบาลไม่ระงับอั้งยี่ได้ในวันที่ ๒๐ นั้น ถึงวันศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ก็ให้ทหารลงไปปราบทีเดียว ไม่ต้องรั้งรอต่อไปอีก เมื่อเลิกประชุมเสนาบดีแล้ว สมเด็จพระราชปิตุลาทรงนัดพบกับกรมพระนเรศฯ ผู้บัญชาการกระทรวงนครบาล ให้ไปพร้อมกันที่ศาลายุทธนาธิการแต่เวลาก่อนสว่าง ถ้าเวลานั้นอั้งยี่สงบแล้วทหารจะได้งดอยู่ ถ้ายังไม่สงบพอรุ่งสว่างจะให้ทหารยกลงไปทีเดียว คณะบัญชาการจึงเรียกผู้บังคับการทหารกรมต่างๆ กับทั้งทหารมหาดเล็กและทหารรักษาพระองค์ที่จะให้ไปปราบอั้งยี่ มายังศาลายุทธนาธิการในตอนดึกค่ำวันนั้น พระยาชลยุทธฯ ก็กลับไปจัดเรือบรรทุกทหารเรือเตรียมไว้ พอเวลาใกล้รุ่งกรมพระนเรศฯ เสด็จไปถึง ทูลสมเด็จพระราชปิตุลาว่าให้คนลงไปสืบอยู่แล้ว บัดเดี๋ยวหนึ่งนายอำเภอนครบาลมาถึง ทูลว่าพวกอั้งยี่กำลังเอาปืนใหญ่ขึ้นจากเรือทะเลมา จะตั้งยิงกัน กรมพระนเรศฯ ก็ตรัสว่าเหลือกำลังนครบาลแล้ว ให้ทหารปราบเถิด การที่ทหารปราบอั้งยี่ก็ลงมือแต่เวลานั้นไป

ก็ในสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ พอเวลาย่ำรุ่งต้องให้ทหารรักษาพระองค์ซึ่งเป็นกองหนุนเดินลงไปก่อน สั่งให้ไปพักอยู่ที่วัดยานนาวา และให้พนักงานไปตั้งสถานีโทรศัพท์สำหรับบอกรายงานถึงศาลายุทธนาธิการ ณ ที่นั้นด้วย แต่ทหารมหาดเล็กนั้นให้รออยู่ พอรถรางไฟฟ้าขึ้นมาถึงปลายทางที่หลักเมือง ก็สั่งให้ยึดไว้หมดทุกหลัง แล้วให้ทหารมหาดเล็กขึ้นรถรางขับตามกันลงไป พวกรถรางรู้ว่าทหารจะไปปราบอั้งยี่ก็ออกสนุก เต็มใจช่วยทหารเพราะถูกอั้งยี่รังแกเบื่อเหลือทนอยู่แล้ว ส่วนทหารเรือก็ออกจากท่า กะเวลาแล่นลงไปให้ถึงพร้อมๆ กับทหารบก ถึงเวลา ๘ นาฬิกาก็สามารถเข้าล้อมพวกอั้งยี่ พร้อมกันทั้งทางข้างเหนือและข้างใต้ดังหมายไว้แต่แรก พวกอั้งยี่ไม่ได้นึกว่าทหารจะลงไปปราบ รู้เมื่อทหารถึงตัวแล้วก็ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร มีตัวหัวโจกต่อสู้ถูกทหารยิงตายสักสองสามคน พวกอั้งยี่ก็สิ้นคิด ที่อยู่ห่างทหารก็พากันหลบหนี ที่อยู่ใกล้กลัวทหารยิงก็ยอมให้ทหารจับโดยดี ในสมัยนั้นจีนยังไว้ผมเปีย ทหารจับได้ก็ให้เอาผมเปียผูกกันไว้เป็นพวงๆ ที่ทหารเรือจับได้ก็เอาลงเรือส่งขึ้นมา ที่ทหารบกจับได้ เจ้าพระยาราชศุภมิตรก็ให้ทหารรักษาพระองค์คุมเดินขึ้นมาทางถนนเจริญกรุงเป็นคราวๆ ราวหมู่ละ ๑๐๐ คน พวกชาวเมืองไม่เคยเห็น ตื่นกันมาดูแน่นทั้งสองฟากถนนตลอดทาง ทหารจับพวกอั้งยี่ที่ในสนามรบเสร็จแต่เวลาก่อนเที่ยง พวกหญิงชายชาวบ้านร้านตลาดพากันยินดี หาอาหารมาเลี้ยงกลางวัน พอกินแล้วก็เที่ยวค้นจับพวกอั้งยี่หลบหนีไปเที่ยวซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ ต่อไป ตอนนี้มีพวกนายโรงสีและชาวบ้านพากันนำทหารไปเที่ยวค้นจับได้พวกอั้งยี่อีกมาก ตัวหัวโจกซึ่งรีบหลบหนีไปเสียก่อนก็จับได้ในตอนบ่ายนี้แทบทั้งนั้น รวมจำนวนอั้งยี่ที่ถูกทหารยิงตายไม่ถึง ๑๐ คน ถูกบาดเจ็บสัก ๒๐ คน จับได้โดยละม่อมราว ๘๐๐ คน ได้ตัวหัวโจก ๘ คน เมื่อเสร็จการจับแล้วถึงตอนเย็น กรมยุทธนาธิการให้ทหารหน้าลงไปอยู่ประจำรักษาความสงบในท้องที่ เรียกทหารมหาดเล็กกับทหารเรือกลับมา บริษัทรถรางขอจัดรถรับส่งทหารทั้งขาขึ้นและขาลง แล้วแต่ทหารจะต้องการ ก็ไปมาได้โดยสะดวก เมื่อขบวนรถรางรับทหารมหาดเล็กกลับขึ้นมาในวันจับอั้งยี่นั้น พวกชาวเมืองทางข้างใต้ทั้งไทยจีนแขกฝรั่ง พากันมายืนอวยชัยให้พรแสดงความขอบใจทหารมหาดเล็ก เจ้าพระยาราชศุภมิตรเล่าว่ายืนมาหน้ารถ ต้องจับกะบังหมวกรับคำนับมาแทบไม่มีเวลาว่างจนตลอดแขวงบางรัก ในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์เขียนตามเสียงฝรั่งในสมัยนั้น ก็สรรเสริญมาก ทั้งที่รัฐบาลให้ทหารไปปราบอั้งยี่ได้โดยเด็ดขาดรวดเร็ว และชมทหารไทยว่ากล้าหาญว่องไว ชมต่อไปถึงที่ทหารจับอั้งยี่โดยไม่ดุร้ายเกินกว่าเหตุ เมื่อจับอั้งยี่แล้ว กรมยุทธนาธิการให้ทหารหน้ารักษาท้องที่วิวาทอยู่ ๓ วัน เห็นสงบเรียบร้อยดีแล้วก็ให้ถอนทหาร มอบท้องที่ให้กรมตระเวนกลับรักษาอย่างเดิม ส่วนพวกอั้งยี่ที่จับตัวได้ครั้งนั้น พระเจ้าอยู่โปรดให้ตั้งศาลพิเศษชำระ พิพากษาให้จำคุกหัวหน้าตัวการหมดทุกคน แต่พวกสมพลดูเหมือนให้โบยคนละเล็กละน้อยให้เข็ดหลาบแล้วปล่อยตัวไป แต่นั้นพวกอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ก็ราบคาบ ไม่กล้าทะนงศักดิ์ในสมัยต่อมา

(๘)

เปลี่ยนวิธีควบคุมอั้งยี่

เมื่อปราบอั้งยี่ครั้งนั้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งพระราชบัญญัติห้ามมิให้มีสมาคมอั้งยี่ในพระราชอาณาเขตอีกต่อไป รัฐบาลอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์รู้ว่าไทยสามารถปราบอั้งยี่ได้ ก็ประกาศสั่งให้เลิกสมาคมอั้งยี่ในเมืองขึ้นของอังกฤษตามอย่างเมืองไทย วิธีเลี้ยงอั้งยี่ก็เลิกหมดแต่นั้นมา

เมื่อปราบอั้งยี่เสร็จแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ นั้นเอง พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นอธิบดีกระทรวงโยธาธิการ และให้ตัวฉันเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ มีศักดิ์เสมอเสนาบดี ก็ต้องออกจากตำแหน่งในกรมยุทธนาธิการด้วย แต่ยังคงมียศเป็นนายพลและเป็นราชองครักษ์อยู่อย่างเดิม เวลาตัวฉันเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการอยู่ ๒ ปี ไม่มีกิจเกี่ยวข้องกับอั้งยี่ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงกลับมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอั้งยี่อีก ด้วยต้องระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองอยู่เสมอ ถึงสมัยนี้ไม่มีพวกอั้งยี่พวกใหญ่เหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ยังมีพวกจีนลักลอบตั้งอั้งยี่ตามหัวเมืองใกล้ๆ กรุงเทพฯ อยู่เนืองๆ มีขึ้นที่ไหนก็ปราบได้ไม่ยาก บางเรื่องก็ออกจะขบขัน ดังจะเล่าเป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เมื่อแรกตั้งมณฑลราชบุรี เวลานั้นเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เมื่อยังเป็นพระยาสุรินทรฤๅชัย เป็นสมุหเทศาภิบาล มีพวกอั้งยี่ตั้งซ่องต้มเหล้าเถื่อนที่ตำบลดอนกระเบื้อง ทำสนามเพลาะสำหรับต่อสู้ขึ้นอีกเหมือนอย่างครั้งก่อนที่ได้เล่ามาแล้ว เวลานั้นยังไม่มีตำรวจภูธร ฉันถามเจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ ว่าจะต้องการทหารปืนใหญ่เหมือนอย่างปราบครั้งก่อนหรืออย่างไร เจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ ตอบว่าจะปราบด้วยกำลังในพื้นเมืองดูก่อน ต่อมาสักหน่อยได้ข่าวว่าพวกอั้งยี่ทิ้งค่ายที่ดอนกระเบื้องหนีไปหมดแล้ว ฉันพบเจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ ถามว่าท่านปราบอย่างไร ท่านบอกว่าใช้วิธีของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งท่านเคยรู้มาแต่ก่อน ได้บอกหมายสั่งเกณฑ์กำลังและเครื่องอาวุธให้ปรากฏว่าจะไปปราบซ่องจีนที่ดอนกระเบื้อง แล้วให้เอาปืนใหญ่ทองเหลืองที่มีทิ้งอยู่ใต้ถุนเรือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ๒ กระบอก ออกมาขัดสีที่สนามในบริเวณจวนของท่าน ว่าจะเอาไปยิงค่ายจีนที่ดอนกระเบื้อง พอข่าวระบือไปพวกอั้งยี่ก็หนีหมดเพราะพวกเจ๊กกลัวปืนใหญ่ แต่เมื่อตั้งตำรวจภูธรแล้วก็ไม่ต้องใช้อุบายอย่างนั้นอีก แต่อั้งยี่ที่มีขึ้นตามหัวเมืองในชั้นฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยปราบปรามไม่ยากอันใด ถึงกระนั้นเมื่อคิดดูก็น่าพิศวง ว่าเพราะเหตุใดพวกจีนจึงยังตั้งอั้งยี่ พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ที่เคยเกิดอั้งยี่มาแต่ก่อน เป็นต้นว่าการห้ามสูบฝิ่นอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ ก็ไม่มีแล้ว เหตุที่แย่งกันรับจีนใหม่ก็ไม่มีตามหัวเมือง เหตุที่แย่งกันผูกภาษีอากรก็ดี ที่ถูกเจ้าภาษีนายอากรเบียดเบียนก็ดี ก็ไม่มีแล้ว เพราะรัฐบาลเก็บภาษีอากรเอง การปกครองท้องที่ก็เรียบร้อย ไม่ต้องมีปลัดจีนหรือกงสุลจีนในบังคับสยามเหมือนอย่างแต่ก่อนแล้ว ไฉนจึงยังมีอั้งยี่ตามหัวเมือง สังเกตดูนักโทษที่ต้องจับเพราะเป็นอั้งยี่ ดูก็มักจะเป็นชั้นคนทำมาหากินไม่น่าจะเป็นอั้งยี่ นึกสงสัยว่าชะรอยจะมีเหตุอะไรที่ยังไม่รู้ ซึ่งเป็นมูลให้มีอั้งยี่ตามหัวเมือง ฉันจึงปรารภกับพระยาอรรถการยบดี (ชุ่ม อรรถจินดา) ซึ่งภายหลังได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี เวลานั้นยังเป็นพระยาราชเสนา หัวหน้าพนักงานอัยการในกระทรวงมหาดไทยให้ลองสืบสวนราษฎรในท้องถิ่น โดยเฉพาะพวกนักโทษที่เคยเข้าอั้งยี่ ว่าเหตุใดจึงยังมีคนสมัครเป็นอั้งยี่ สืบอยู่ไม่ช้าก็ได้เค้าว่ามีจีนพวกหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ (จะเรียกต่อไปว่าพวกต้นคิด) หากินด้วยการตั้งอั้งยี่ตามหัวเมือง วิธีของจีนพวกต้นคิดนั้น ถ้าเห็นว่าอาจจะตั้งอั้งยี่ได้ในถิ่นใดอันเป็นที่มีจีนตั้งทำมาหากินอยู่มาก และมีการแข่งขันการค้าขาย ก็แต่งพรรคพวกให้ออกไปอยู่ที่ถิ่นนั้น อย่างว่าไปทำมาหากิน แต่แยกกันไปอยู่เป็น ๒ พวก เหมือนกับไม่รู้จักมักคุ้นกัน แล้วเสาะหาจีนที่เป็นคนเกกมะเหรกในที่นั้นคบหา ยุยงให้วิวาทกับคนอื่น บางทีก็หาพวกจีนที่เป็นหัวไม้ออกไปจากกรุงเทพฯ ให้ไปก่อวิวาทเกิดตีรันกันขึ้นเนืองๆ จนคนในถิ่นนั้นเกิดหวาดหวั่น เกรงพวกคนพาลจะทำร้ายก็เกลี้ยกล่อมชักชวนให้เข้าพวกช่วยกันป้องกันภัย ในไม่ช้าพวกจีนในถิ่นนั้นก็แตกกันเป็นพวกเขาพวกเรา แล้วเลยตั้งอั้งยี่เป็น ๒ พวก แต่นั้นพวกลูกสมุนก็วิวาทกันเองเนืองๆ ถ้ารัฐบาลจับกุมเมื่อใดก็กลับเป็นคุณแก่พวกต้นคิด ซึ่งหลบหนีเอาตัวรอดเสียก่อน แล้วกลับไปหาผลประโยชน์ด้วยเรี่ยไร “เต๊ย” เอาเงินจากอั้งยี่พวกของตน โดยอ้างว่าจะเอาไปช่วยพรรคพวกที่ถูกจับ เอากำไรในการนั้น ถึงโดยว่าไม่มีการจับกุม เมื่อถึงเทศกาลก็เต๊ยเงินทำงานปีไหว้เจ้าเอากำไรได้อีกเสมอทุกปี สืบได้ความดังว่ามานี้ ฉันจึงคิดอุบายแก้ไขได้ลองใช้อุบายนั้นครั้งแรกเมื่อพวกอั้งยี่ตีกันที่บางนกแขวก แขวงจังหวัดราชบุรี จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ ฉันให้พระยาอรรถการยบดีออกไประงับ สั่งไปให้พยายามสืบจับเอาตัวพวกต้นคิดด้วยเกลี้ยกล่อมพวกคนในท้องถิ่นที่เข้าอั้งยี่ ถ้าคนไหนให้การรับสารภาพบอกความตามจริง ให้เรียกทานบนปล่อยตัวไป อย่าให้จับเอาตัวมาฟ้องศาลเหมือนอย่างแต่ก่อน หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ให้เอาตัวต้นคิดเป็นจำเลย เอาพรรคพวกเป็นพยาน พระยาอรรถการยฯ ออกไปทำตามอุบายนั้นได้ผลสำเร็จบริบูรณ์ พอสืบจับได้ตัวจีนต้นคิดที่ออกไปจากกรุงเทพฯ ๕ คนเท่านั้น อั้งยี่ที่บางนกแขวกก็สงบเงียบทันที การระงับอั้งยี่ตามหัวเมืองจึงใช้วิธีอย่างนั้นสืบมา สังเกตดูอั้งยี่ที่เกิดขึ้นในชั้นภายหลังทหารปราบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ดูเป็นแต่การหากินของจีนเสเพล ค้าความกลัวของผู้อื่น เอากำไรเลี้ยงตัวเท่านั้น.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ