นิทานที่ ๑๒ เรื่องตั้งโรงพยาบาล

มีเรื่องเกร็ดที่ฉันได้รู้เห็นในสมัยเมื่อมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และการป้องกันความไข้เจ็บมาแต่ก่อนหลายเรื่อง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในการที่ไม่ปรากฏจดหมายเหตุ ถ้าไม่มีใครเขียนลงไว้ เมื่อหมดตัวผู้รู้ก็จะเลยสูญเสีย จึงเอามาเขียนเล่าในนิทานนี้ แต่เป็นเรื่องยาวจึงแยกเป็นนิทาน ๒ เรื่อง เล่าเรื่องในสมัยเมื่อก่อนฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเรียกว่า “เรื่องตั้งโรงพยาบาล” เรื่องหนึ่ง แล้วเล่าเรื่องในสมัยจัดการป้องกันความไข้เจ็บ เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว เรียกว่า “เรื่องอนามัย” ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง

(๑)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้มีโรงพยาบาลขึ้นในบ้านเมือง สมกับเป็นประเทศที่รุ่งเรือง ทรงตั้งกรรมการคณะหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ให้เป็นพนักงานจัดการตั้งโรงพยาบาลตามพระราชประสงค์ ผู้ซึ่งเป็นกรรมการรวม ๙ คนด้วยกัน คือ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ เป็นนายก
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
(กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์)
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียร ต้นสกุล โชติกเสถียร)
เจ้าหมื่นสรรเพชญ์ภักดี (บุส เพ็ญกุล)
ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน แพทย์ประจำพระองค์

กรรมการประชุมปรึกษากัน เห็นว่าโรงพยาบาลเป็นของใหม่แรกจะมีขึ้น ควรตั้งแต่แห่งเดียวก่อน เมื่อจัดการรักษาพยาบาลให้คนทั้งหลายเห็นคุณของโรงพยาบาลประจักษ์ใจแล้ว จึงคิดขยายการตั้งโรงพยาบาลให้แพร่หลายออกไป ในชั้นต้น จึงกราบทูลขอแบ่งที่วังหลังข้างตอนใต้ อันเป็นที่หลวงร้างอยู่ทางฟากธนบุรี สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่นั้น และซื้อที่ริมน้ำข้างเหนือโรงเรียน (แหม่มโคล) ของมิชชันนารีอเมริกันทำท่าขึ้นไปยังโรงพยาบาล เดิมเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง” เป็นโรงพยาบาลหลวงแรกมีในเมืองไทย

(๒)

ในการตั้งโรงพยาบาลนั้น กรรมการสมมตให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ (จะเรียกต่อไปโดยสะดวกแต่ว่า พระองค์ศรี) กับตัวฉันให้เป็นผู้ทำงาน เช่นเป็นอนุกรรมการด้วยกัน ๒ คน แบ่งหน้าที่กัน ตัวฉันเป็นพนักงานก่อสร้าง พระองค์ศรีเป็นพนักงานจัดการภายในโรงพยาบาล ความประสงค์ของกรรมการในชั้นนี้ จะให้มีโรงพยาบาลพร้อมด้วยพนักงานรักษาพยาบาล และคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลบ้างแล้ว จึงจะเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทำพิธีเปิดโรงพยาบาล พระองค์ศรีกับฉันจึงต้องพบปะปรึกษาหารือ รู้เห็นการที่ทำนั้นด้วยกันเสมอ

การแผนกที่ฉันทำมีจำกัดอยู่ที่เงินทุนที่จะใช้มีน้อย การก่อสร้างจึงต้องทำแต่พอให้ตั้งเป็นโรงพยาบาลได้ ว่าโดยย่อคือรื้ออิฐปูนกำแพงวังหลังก่อกำแพงและปูถนนในบริเวณโรงพยาบาลอย่างหนึ่ง ซื้อที่ทำท่าโรงพยาบาลอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นก็ให้ไปรื้อเรือนไม้หลังใหญ่ของพระไชยบูรณ์ (อิ่ม) ซึ่งตกเป็นของหลวง พระราชทานให้เอามาปลูกเป็นที่ว่าการรวมกับที่ผสมยาหลังหนึ่ง และปลูกเรือนผู้ดูการโรงพยาบาล กับโรงครัวโรงแถวที่อยู่ของคนรับใช้ที่ริมน้ำหมู่หนึ่ง ปลูกโรงพยาบาลด้วยเครื่องไม้มุงจาก ๔ หลัง พอคนไข้อยู่ได้สัก ๕๐ คนอย่างหนึ่ง การก่อสร้างชั้นต้นว่าตามที่ยังจำได้ดูเหมือนจะเพียงเท่านั้น ไม่ยากลำบากอันใด แต่การในแผนกของพระองค์ศรีมีความลำบากมาแต่ต้นหลายอย่าง ดังจะพรรณนาต่อไป ซึ่งคิดดูในเวลานี้บางอย่างก็น่าจะเห็นขัน

(๓)

ความลำบากข้อแรก เริ่มแต่หาหมอประจำโรงพยาบาล ตามความคิดของกรรมการ หมายจะเลือกหมอที่ชำนาญการรักษาไข้เจ็บจนมีชื่อเสียงซึ่งมักจะเป็นหมอหลวงโดยมาก มาให้รับเงินเดือนเป็นตำแหน่งนายแพทย์และแพทย์รองประจำโรงพยาบาล แต่เมื่อพระองค์ศรีไปเที่ยวตรัสชวนหมอหลวง ปรากฏแก่เธอว่าหมอถือตัวกันเป็นต่างพวก ใช้วิธีรักษาและยาที่รักษาโรคร่วมกันแต่ในพวกของตน ซึ่งมักเป็นลูกตัวหรือลูกเขยหรือเป็นศิษย์ของหมอที่เป็นตัวครู ต่างพวกต่างรังเกียจกัน ตามคำที่พระองค์ศรีเธอตรัสว่า “ดูราวกับเห็นพวกอื่นว่าไม่เป็นหมอไปเสียทั้งนั้น”

ฉันเคยทูลถามว่า “ถ้าเช่นนั้น เอาตำราหมอของหลวงใช้เป็นหลักสำหรับโรงพยาบาลไม่ได้หรือ”

เธอตรัสว่า “ได้ลองถามดูแล้ว ต่างคนต่างก็บอกว่าตำราหลวงนั้นใช้เป็นหลักไม่ได้จริง อ้างเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นตำรายา ว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประชุมหมอหลวงแต่งตำรายาที่จารึก ณ วัดพระเชตุพนฯ หมอหลวงต่างคนก็ปิดพรางตำรายาดีของตนเสียไม่ได้ไปลงในตำราหลวง คงมีตำราที่แต่งไว้แต่ยาอย่างบรมโบราณอันใครๆ ก็รู้ด้วยกันหมด แต่วิธีรักษาและยาดีที่ใช้ในปัจจุบันหามีไม่”

เมื่อไม่สามารถจะให้หมอร่วมมือกันได้เช่นนั้น กรรมการก็ต้องให้พระองค์ศรีหาหมอที่มีชื่อเสียงแต่คนหนึ่งเป็นตำแหน่งนายแพทย์ ส่วนแพทย์รองนั้นให้นายแพทย์หามา จะเป็นลูกหลานหรือศิษย์ก็ตาม สุดแต่ให้โรงพยาบาลใช้วิธีรักษาไข้และใช้ยาอย่างเดียวกันเป็นสำคัญ พระองค์ศรีจึงเชิญพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง (หนู) เมื่อยังเป็นที่พระประสิทธิวิทยา เป็นหมอมีชื่อเสียงทรงคุ้นเคยยิ่งกว่าคนอื่น เป็นตำแหน่งแพทย์ใหญ่ประจำโรงพยาบาล ส่วนแพทย์รองนั้น พระยาประเสริฐฯ พาหมอหนุ่มๆ ซึ่งเคยเป็นศิษย์มาให้เป็นตำแหน่ง ๒ คน ชื่อว่าหมอคงคนหนึ่ง หมอนิ่มคนหนึ่ง หมอ ๒ คนนี้มาทำการประจำอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่ยังหนุ่ม ได้เห็นและรักษาโรคต่างๆ อยู่เนืองนิจ ผิดกับหมอเชลยศักดิ์ซึ่งได้เห็นไข้ต่อเมื่อเขาหาไปรักษา จึงได้ความชำนิชำนาญการรักษาไข้เชี่ยวชาญ นานมาหมอคงถึงได้เป็นพระยาพิษณุประสาทเวท และหมอนิ่มก็ได้เป็นพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง ขึ้นชื่อเสียงนับถือกันว่าเป็นหมอดีทั้ง ๒ คน

(๔)

นอกจากความลำบากเรื่องหาหมอ ยังมีความลำบากด้วยเรื่องหาคนไข้ต่อไป เมื่อมีโรงพยาบาลและมีพนักงานรักษาพยาบาลแล้ว กรรมการให้ประกาศว่าโรงพยาบาลหลวงจะรับรักษาไข้เจ็บให้เป็นทาน ทั้งจะให้คนไข้กินอยู่นุ่งห่มเวลาอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียเงินขวัญข้าวค่ายาอย่างหนึ่งอย่างใดด้วย แต่อย่างนั้นคนก็ยังไม่ไว้ใจ ไม่มีคนไข้ไปยังโรงพยาบาล คอยอยู่หลายวันเริ่มมีผู้ส่งคนไข้ไปให้รักษา แต่ก็ล้วนเป็นคนไข้อาการเพียบส่งไปเมื่อไม่มีใครรับรักษาแล้ว ไปถึงโรงพยาบาลไม่ช้าก็สิ้นใจ ไม่มีโอกาสจะรักษาให้หายได้ ทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นเรือนตายของคนไข้ กรรมการพากันวิตก เกรงจะเสียชื่อโรงพยาบาล จึงปรึกษากันให้เที่ยวหาคนไข้ที่พอจะรักษาหายมาเข้าโรงพยาบาล มีผู้แนะนำว่าพวกคนเป็นโรคมะเร็งตามหน้าแข้ง นั่งขอทานอยู่ที่สะพานหันและแห่งอื่นๆ ในถนนสำเพ็งมีมาก หมอเคาแวนว่าจะรักษาให้หายได้ไม่ยาก จึงให้ไปรับพวกเป็นมะเร็งเหล่านั้น แต่กลับมีผลผิดคาด ด้วยพวกคนที่เป็นมะเร็งล้วนเป็นเจ๊กขอทาน ไม่มีใครยอมไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล บอกสัญญาว่าจะรักษาให้หายก็กลับโกรธ เถียงว่าถ้าแผลหายเสียแล้วจะขอทานเขากินอย่างไรได้ ลงปลายกรรมการต้องขอแรงกันเอง ให้ช่วยชักชวนพวกพ้องบ่าวไพร่ของตน ที่ป่วยเจ็บแม้เพียงเล็กน้อย ไปขอยาหรือรักษาตัวที่โรงพยาบาล พอเป็นตัวอย่างแก่มหาชน โดยกระบวนนี้พอปรากฏว่ามีคนไปรักษาตัวหายเจ็บกลับไปจากโรงพยาบาล ก็มีผู้อื่นตามอย่าง ความเชื่อถือโรงพยาบาลจึงค่อยมียิ่งขึ้นโดยลำดับมา

(๕)

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ ในเวลากำลังสร้างโรงพยาบาลที่วังหลังนั้น ประจวบงานพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ที่ท้องสนามหลวง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ทรงพระราชดำริว่าในงานพระเมรุแต่ก่อนๆ ได้เคยทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เกื้อกูลแก่สาธารณประโยชน์อย่างอื่นมามากแล้ว ในงานพระเมรุครั้งนั้นจะทรงเกื้อกูลแก่โรงพยาบาลที่จัดขึ้นใหม่ และทรงแนะนำแก่ผู้ประสงค์จะช่วยงานพระเมรุ ให้ช่วยในการตั้งโรงพยาบาลด้วย การสร้างโรงพยาบาลก็สำเร็จด้วยได้รับความอุดหนุนในงานพระเมรุสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เพราะเหตุนั้น เมื่อสร้างสถานที่และวางระเบียบการสำเร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงทำพิธีเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑ จึงพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า “ศิริราชพยาบาล” คนทั้งหลายชอบเรียกกันตามสะดวกปากว่า “โรงพยาบาลศิริราช” แต่นั้นมา เมื่อเปิดโรงพยาบาลศิริราชแล้ว ก็โปรดให้รวมการพยาบาลตั้งขึ้นเป็นกรมหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๓๑ นั้น เรียกว่า “กรมพยาบาล” ทรงพระกรุณาโปรดให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ เป็นตำแหน่งอธิบดี ส่วนกรรมการเมื่อได้จัดการสำเร็จตามรับสั่งแล้ว ก็เลิกในคราวนั้นด้วย

(๖)

เมื่อวันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงทำพิธีเปิดโรงศิริราชพยาบาล กรรมการเชิญผู้คนไปมาก พอเห็นว่าตั้งโรงพยาบาลได้สำเร็จก็พากันเลื่อมใส เพราะการบรรเทาทุกข์เพื่อนมนุษย์ ย่อมถือว่าเป็นกุศลกรรมทุกศาสนา แต่นั้นมาคนทั้งหลายไม่เลือกว่าชาติใด หรือถือศาสนาใด ก็มีแก่ใจช่วยโรงพยาบาลด้วยประการต่างๆ ยกตัวอย่างดังเช่นเมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๗ (พ.ศ. ๒๔๓๐) มีการฉลองรัชกาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียครบ ๕๐ ปี พวกอังกฤษที่อยู่ในกรุงเทพๆ ประสงค์จะสร้างสิ่งอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ เขาปรึกษากันเห็นว่าควรจะช่วยสร้างโรงพยาบาลที่รัฐบาลตั้งขึ้นใหม่ จึงเรี่ยไรเข้าทุนกันส่งเงินมายังกรมพยาบาล ขอให้สร้างตึกรับคนไข้ขึ้นในโรงพยาบาลศิริราชหลังหนึ่ง จึงได้สร้างตึก “วิกตอเรีย” เป็นตึกหลังแรกมีขึ้นในโรงพยาบาลนั้น ต่อมาในปีนั้นเอง เจ้าภาพงานพระศพพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ทรงศรัทธาบริจาคทรัพย์ช่วยสร้างตึกรับคนไข้ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ขนานนามว่า “ตึกเสาวภาคนารีรัตน์” เรียกโดยย่อว่า “ตึกเสาวภาค” เริ่มมีตึกขึ้นเป็น ๒ หลัง และยังมีผู้บริจาคทรัพย์พอสร้างเรือนไม้สำหรับคนไข้ได้อีกหลายหลัง ผู้ที่เกื้อกูลในการอื่นก็ยังมีต่อมาเนืองนิจ เลยเกิดประเพณีถือกันว่าโรงพยาบาลเป็นที่ทำบุญแห่งหนึ่ง

เมื่อพระองค์ศรีฯ ทรงเห็นว่าโรงพยาบาลศิริราชจะเจริญต่อไปได้มั่นคงแล้ว ก็ทรงพระดำริขยายการกรมพยาบาลต่อออกไป การที่จัดต่างกันเป็น ๓ อย่าง คือ ปลูกฝีดาษให้เป็นทานแก่ประชาชนอย่างหนึ่ง ตั้งโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นที่อื่นอย่างหนึ่ง ตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์อย่างหนึ่ง ดังจะพรรณนาเป็นอย่างๆ ต่อไป

(๗)

การปลูกฝีดาษนั้น มีเรื่องตำนานปรากฏมาแต่ก่อนว่า ดอกเตอร์บรัดเล มิชชันนารีอเมริกัน เป็นผู้นำวิชาปลูกฝีเข้ามาสู่เมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๓ เดิมสั่งพันธุ์หนองฝีที่ทำสำหรับปลูกมาแต่ประเทศอเมริกา ก็ในสมัยนั้นการคมนาคมระหว่างประเทศยังใช้เรือใบไปมา กว่าจะถึงกันนานวันมาก เมื่อได้พันธุ์หนองมาไม่แน่ใจว่าจะยังใช้ได้หรือไม่ กล่าวกันว่าหมอบรัดเลลองปลูกฝีลูกของตนเองก่อน เมื่อฝีขึ้นได้ดังประสงค์จึงเอาหนองฝีจากแผลลูกปลูกที่คนอื่นต่อๆ กันไป แต่ปลูกเพียงในฤดูหนาวซึ่งอากาศเย็นเหมาะแก่การปลูกฝียิ่งกว่าฤดูอื่น แล้วต้องรอพันธุ์หนองฝีที่จะมาจากอเมริกาคราวหน้าต่อไป แต่การที่หมอบรัดเลปลูกฝีดาษมีคนเชื่อถือมาแต่แรก แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็ทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นประโยชน์ ถึงโปรดให้หมอหลวงไปหัดปลูกฝีต่อหมอบรัดเล แล้วพระราชทานบำเหน็จแก่หมอบรัดเลเป็นเงินตรา ๕ ชั่ง และโปรดให้พิมพ์หมายประกาศเป็นใบปลิว ๑๐,๐๐๐ ฉบับ แจกจ่ายชวนชาวพระนครให้ปลูกฝี หมอบรัดเลเขียนไว้ในจดหมายเหตุว่า รัฐบาลไทยใช้การพิมพ์หนังสือเป็นทีแรกในครั้งนั้น

กรมพยาบาล ปลูกฝีก็ยังต้องใช้วิธีเก่าเช่นพรรณนา คือสั่งพันธุ์หนองฝีสำหรับปลูกฝีมาแต่ยุโรป ส่งมาทางไปรษณีย์ถึงเมืองไทยได้ในราว ๒ เดือนเร็วกว่ามาจากอเมริกา ใช้โรงพยาบาลศิริราชเป็นสถานีรับปลูกฝี เมื่อปลูกฝีขึ้นแล้ว เลือกดูเด็กที่มีกำลังแข็งแรง จ้างแม่ให้เลี้ยงเด็กนั้นอยู่ที่โรงพยาบาลจนกว่าแผลจะแห้งคราวละสองสามคน เอาหนองฝีที่แผลเด็กเป็นพันธุ์ปลูกให้คนอื่นต่อไปจนสิ้นฤดูปลูกฝี แต่ผู้ใดจะให้หมอโรงพยาบาลไปปลูกฝีที่บ้านเรือนของตนเอง ด้วยพันธุ์หนองต่างประเทศก็รับปลูก แต่เรียกค่าปลูกเหมือนเช่นหมอเชลยศักดิ์อื่นๆ ตั้งแต่กรมพยาบาลรับปลูกฝีก็มีคนนิยมมากมาแต่แรก เพราะราษฎรอาจจะไปปลูกได้โดยง่าย ผู้มีทรัพย์ก็ชอบให้หมอโรงพยาบาลไปปลูกฝี เพราะเห็นเป็นผู้ชำนาญและเชื่อว่าได้พันธุ์หนองฝีที่ดีไว้ใจได้

(๘)

เรื่องตั้งโรงพยาบาลที่อื่นต่อออกไปนั้น ก็อยู่ในวงความคิดของกรรมการมาแต่เดิม แต่เมื่อตั้งกรมพยาบาลแล้วมีเหตุอย่างหนึ่ง เตือนให้รีบจัดด้วยมีผู้ขอส่งคนเสียจริตให้โรงพยาบาลรักษาเนืองๆ จะรับรักษาในโรงพยาบาลศิริราชก็ไม่ได้ จะบอกเปิดไม่รับรักษาคนเสียจริตก็เห็นขัดกับหน้าที่กรมพยาบาล จึงคิดจะตั้งโรงพยาบาลต่อออกไปที่อื่นพร้อมกับตั้งโรงพยาบาลรักษาคนเสียจริต การที่ตั้งโรงพยาบาลเพิ่มเติม ไม่ยากเหมือนเมื่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช เพราะได้ตั้งแบบแผนการในโรงพยาบาลแล้ว หมอและพนักงานก็มีอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชพอที่จะแบ่งไปประจำโรงพยาบาลอื่นได้ ความลำบากมีอยู่แต่เงินทุนไม่มีพอจะปลูกสร้างเป็นโรงพยาบาลขึ้นใหม่ จึงกราบทูลขอบ้านที่ตกเป็นของหลวง เช่นบ้านเจ้าภาษีนายอากรตีใช้หนี้หลวงเป็นต้น มาแก้ไขเป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลที่ตั้งเพิ่มครั้งนั้น ๕ แห่ง คือ

ได้ตึกบ้านพระยาภักดีภัทรากร (เจ้าสัวเกงซัว) ที่ปากคลองสาน ตั้งเป็นโรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งหนึ่ง

ได้ตึกบ้านอากรตา ที่ริมคลองคูพระนครตรงหน้าวังบูรพาภิรมย์ ตั้งเป็นโรงพยาบาลสามัญ เรียกว่า “โรงพยาบาลบูรพา” แห่งหนึ่ง

ได้บ้านหลวงที่ปากถนนสีลมต่อกับถนนเจริญกรุง ซึ่งหมอเฮส์ได้รับอนุญาตใช้เป็นที่รักษาพยาบาลฝรั่งอย่าง Nursing Home โอนมาเป็นของกรมพยาบาลแห่งหนึ่ง

สร้างโรงพยาบาลใหม่ที่ปากถนนหลวง ตรงกับวัดเทพศิรินทราวาส ด้วยใช้เรือนไม้สองชั้นของพระราชทานครั้งพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์เป็นที่ว่าการ และปลูกเรือนไม้รับคนไข้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลศิริราชแห่งหนึ่ง เรียกว่า “โรงพยาบาลเทพศิรินทร์” แห่งหนึ่ง

ถึงตอนนี้ คนทั้งหลายเห็นคุณของโรงพยาบาลแล้ว พอเปิดโรงพยาบาลที่ไหน ก็มีคนไข้ไปให้รักษา ไม่ต้องขวนขวายหาคนไข้เหมือนแต่แรก

(๙)

การตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์นั้น เดิมมีความประสงค์สองอย่าง คือจะหาหมอสำหรับประจำโรงพยาบาลต่อไป มิให้ต้องลำบากเหมือนเมื่อแรกตั้งโรงพยาบาล ดังพรรณนามาแล้วอย่างหนึ่ง ด้วยเห็นว่าหมอไทยแต่ก่อนมาเรียนรักษาโรคแต่ด้วยวิธีใช้ยา ไม่ได้เรียนวิธีรักษาด้วยตัดผ่า Surgery จะเพิ่มวิชานั้นแก่หมอไทย จึงให้สร้างตึกตั้งโรงเรียนขึ้นที่ริมแม่น้ำหน้าโรงพยาบาลศิริราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ รับนักเรียนที่สมัครจะเรียนวิชาแพทย์ ให้เรียนวิชารักษาไข้และใช้ยาไทยที่ในโรงพยาบาลศิริราช ให้ดอกเตอร์ ยอช แมกฟาแลนด์ หมออเมริกัน (ภายหลังได้เป็นที่พระอาจวิทยาคม) ซึ่งสามารถสอนด้วยภาษาไทยได้เป็นครูสอนวิธีตัดผ่าและยาฝรั่ง แต่โรงเรียนนั้นยังไม่เห็นผลในสมัยของพระองค์ศรีฯ และสมัยเมื่อฉันรับการต่อมา จน พ.ศ. ๒๔๓๖ในสมัยเมื่อกรมพยาบาลขึ้นอยู่ในเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ นักเรียนจึงมีความรู้จบหลักสูตร สอบวิชาได้ประกาศนียบัตร เรียกกันว่า “หมอประกาศนียบัตร” เป็นครั้งแรกมี ๙ คน บางคนกรมพยาบาลให้เป็นหมอประจำโรงพยาบาล นอกจากนั้นไปเที่ยวรับรักษาไข้เจ็บ เป็นหมอเชลยศักดิ์โดยลำพังตน

แต่ผลของโรงเรียนวิชาแพทย์ในชั้นแรก ไม่เป็นประโยชน์ได้ดังหวัง เพราะคนทั้งหลายยังเชื่อถือแต่หมอที่เป็นลูกศิษย์ของหมอมีชื่อเสียงอยู่อย่างเดิม หมอประกาศนียบัตรเที่ยวรักษาไข้เจ็บหาผลประโยชน์ไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องไปหาการอื่นทำช่วยเลี้ยงตัว บางคนถึงกับทิ้งวิชาแพทย์ ไปหาเลี้ยงชีพด้วยการอย่างอื่นก็มี เลยเป็นผลร้ายไปถึงโรงเรียน ด้วยมีคนสมัครเป็นนักเรียนแพทย์น้อยลงกว่าแต่ก่อน โรงเรียนแพทย์มาพ้นความลำบากได้ เมื่อกระทรวงมหาดไทยมีเหตุดังจะเล่าในนิทานเรื่องอนามัย เลือกเอาแต่หมอประกาศนียบัตรตั้งเป็นแพทย์ประจำหัวเมือง และต่อมาเมื่อกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงจัดการทหารบก ก็เลือกเอาแต่หมอประกาศนียบัตรตั้งเป็นแพทย์ทหาร เพราะรู้วิชาตัดผ่ารักษาแผลอาวุธ แต่นั้นคนก็สมัครเรียนวิชาแพทย์มากขึ้น โรงเรียนแพทย์จึงกลับรุ่งเรืองเป็นลำดับมา จนกลายเป็นราชแพทยาลัย

(๑๐)

ได้กล่าวมาข้างต้น ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกรรมการ ๙ คน ให้จัดการตั้งโรงพยาบาล และกรรมการได้สมมตให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์กับตัวฉัน เป็นผู้ทำการด้วยกัน ๒ คน ตัวฉันเป็นพนักงานก่อสร้าง อันเป็นงานชั่วคราวไม่ยากลำบากอันใด พอสร้างโรงพยาบาลสำเร็จก็เสร็จธุระของฉัน แต่พระองค์ศรีฯ เป็นพนักงานจัดการภายในโรงพยาบาล อันเป็นงานประจำ มีความลำบากมาแต่แรก ตั้งแต่หาหมอและหาคนไข้เป็นต้นดังพรรณนามาแล้ว เมื่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นแล้ว งานในหน้าที่ของพระองค์ศรีฯ ก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นลำดับมา พระองค์ศรีฯ ทรงสามารถจัดการภายในโรงพยาบาลให้เจริญมา จนตั้งโรงพยาบาลได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เธอเป็นอธิบดีกรมพยาบาลแต่แรกตั้งกรมนั้น

แต่พระองค์ศรีฯ มีหน้าที่ราชการอย่างอื่นอีก คือเป็นอธิบดีอำนวยการหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาอย่างหนึ่ง และเป็นตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง มาตั้งแต่เมื่อก่อนเป็นกรรมการตั้งโรงพยาบาล หน้าที่ราชเลขานุการในพระองค์ ต้องเข้าไปเขียนร่างพระราชหัตถเลขา และพระราชนิพนธ์ตามตรัสบอกเสมอทุกคืน ครั้นมาเป็นอธิบดีกรมพยาบาล เวลาเช้าเธอต้องเสด็จไปทำการที่โรงพยาบาล ถึงกลางวันต้องเสด็จไปยังสำนักงานหนังสือราชกิจจานุเบกษา เวลาค่ำยังต้องเข้าไปเขียนร่างรับสั่งทุกคืน ส่วนพระองค์ของพระองค์ศรีฯ นั้น แม้เวลาเป็นปรกติก็แบบบางอยู่แล้ว เมื่อมาต้องทำงานหนักขึ้น และเวลาที่จะผ่อนพักบำรุงพระองค์น้อยลงกว่าแต่ก่อน ในไม่ช้าเท่าใดพระอนามัยก็ทรุดโทรมลง พอฉันสังเกตเห็นก็ได้เคยทูลตักเตือนแต่แรก ว่าเธอทำราชการเกินพระกำลังนัก ควรจะคิดแบ่งเบาถวายเวนคืนหน้าที่เขียนพระราชนิพนธ์ซึ่งผู้อื่นทำแทนได้ไม่ยาก เอาพระกำลังและเวลาไปทำการกรมพยาบาลถวายแต่อย่างเดียว เจ้าพี่เจ้าน้องพระองค์อื่น ก็ทรงตักเตือนอย่างนั้น แต่เธอไม่ฟัง ตรัสว่าถ้าพระเจ้าอยู่หัวยังทรงใช้อยู่ตราบใด เธอจะไม่ทิ้งพระเจ้าอยู่หัวด้วยเห็นแก่พระองค์เองเป็นอันขาด เธอฝืนพระกำลังทำราชการมาจนประชวรลง หมอตรวจก็ปรากฏว่าพระปัปผาสะพิการเป็นวัณโรคภายใน (น่าสงสัยว่าจะเริ่มเป็นมานานแล้ว มากำเริบขึ้นเมื่อต้องทำงานหนัก) สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบก็ตกพระทัย ออกพระโอษฐ์ว่า “ไม่รู้เลยว่าใช้ศรีเกินกำลัง” แต่ส่วนพระองค์ศรีฯ เอง เวลานั้นตำหนักที่วังของเธอยังไม่ได้สร้าง เธอยังประทับอยู่แพจอดที่บางยี่ขัน พอรู้พระองค์ว่าประชวรเป็นวัณโรค ก็ย้ายไปประทับรักษาพระองค์อยู่ที่ตึกเสาวภาคในโรงพยาบาลศิริราช ใครชวนให้ไปรักษาพระองค์ที่อื่นก็ไม่ยอม เธอเคยตรัสแก่ฉันว่าถ้ารักษาไม่หาย ก็อยากจะตายในโรงพยาบาล คิดดูก็ชอบกล ถ้าเป็นผู้อื่นก็เห็นจะไม่อยากไปอยู่ในที่คนเจ็บคนตาย เช่นโรงพยาบาล คงเป็นเพราะพระหฤทัยเธอรักโรงพยาบาล เปรียบเหมือนเช่นรักลูกที่เธอได้ให้เกิดและเลี้ยงมาเอง จึงไม่รังเกียจ และถึงปลงพระหฤทัยอยากจะสิ้นพระชนม์ในโรงพยาบาลเช่นนั้น ก็ไม่มีใครขืนพระทัย แม้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล พระญาติและมิตรก็พากันไปช่วยรักษาพยาบาลไม่ขาด มาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระชนมายุเพียง ๒๗ ปี ได้เป็นอธิบดีกรมพยาบาลอยู่ไม่ถึง ๒ ปี

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสงสารจอมมารดาเหม ซึ่งมีพระเจ้าลูกเธอแต่พระองค์ศรีฯ พระองค์เดียว กับทั้งหม่อมเจ้าโอรสธิดาของพระองค์ศรีฯ ซึ่งเป็นกำพร้าแต่ยังเล็กอยู่ทั้ง ๒ องค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าจอมมารดาเหม ให้เป็นที่ท้าวสมศักดิ์ รับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นบำนาญ และโปรดให้รับหม่อมเจ้าหญิงสุรางค์ศรี ไปทรงชุบเลี้ยงที่ในพระบรมมหาราชวัง แต่หม่อมเจ้าชายปิยสรรพางค์นั้น กรมพระนราธิปประพันธพงศ์ ทรงรับไปเลี้ยงตามที่ได้สัญญาไว้กับพระองค์ศรีฯ จนเจริญพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดส่งให้ไปศึกษาในยุโรป เมื่อพระองค์ศรีฯ สิ้นพระชนม์ แม้คนทั้งหลายอื่นภายนอกตลอดจนคนไข้ที่เคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล บรรดาได้เคยรู้พระคุณวุฒิมาแต่ก่อนก็พากันเสียดายทั่วไปไม่เลือกหน้า

มีเรื่องเนื่องกับพระประวัติของพระองค์ศรีฯ อยู่เรื่องหนึ่ง ในเวลานี้ดูเหมือนจะรู้อยู่แต่ตัวฉันคนเดียว ด้วยเป็นเรื่องเนื่องในเรื่องประวัติของฉันด้วย จะเขียนลงไว้มิให้สูญไปเสีย ประเพณีแต่ก่อนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดให้เป็นกรม อาลักษณ์เป็นพนักงานคิดนามกรม เมื่อครั้งตัวฉันจะรับกรม พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เห็นว่าฉันรับราชการทหาร จึงคิดนามกรมว่า กรมหมื่นจตุรงครังสฤษฏ์ นามหนึ่ง ว่า กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ นามหนึ่ง ถวายทรงเลือก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดนามหลัง แต่ทรงปรารภถึงคำ “ภาพ” ที่ลงท้าย ว่าเมื่อถึงนามกรมของพระองค์ศรีฯ ซึ่งเป็นเจ้าน้องต่อตัวฉัน จะหาคำรับสัมผัสให้คล้องกันได้ยาก พระยาศรีสุนทรฯ กราบทูลรับประกันว่าจะหาให้ได้ จึงทรงรับฉันเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ พระยาศรีสุนทรฯ กราบทูลรับแล้วไม่นอนใจ คิดนามกรมสำหรับพระองค์ศรีฯ ขึ้นสำรองไว้ว่า “กรมหมื่นศุภกาพย์กวีการ” เพราะเธอทรงชำนิชำนาญการบทกลอนภาษาไทย แต่ลักษณะพิธีรับกรมในสมัยนั้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานพระสุพรรณบัฏที่วังเจ้านาย คือต้องสร้างวังก่อนแล้วจึงรับกรม พระองค์ศรีฯ ด่วนสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังไม่ได้สร้างวัง จึงมิได้เป็นกรม นามกรมที่พระยาศรีสุนทรโวหารคิดไว้ก็เลยสูญ เมื่อโปรดให้พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต เจ้าน้องถัดพระองค์ศรีฯ ไป รับกรม พระยาศรีสุนทรโวหารคิดพระนามใหม่ว่า “กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา” ก็สัมผัสคำ “ภาพ” ได้ไม่ขัดข้อง

(๑๑)

เมื่อพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์สิ้นพระชนม์ ประจวบกับเวลาตั้งกระทรวงธรรมการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้รวมกรมพยาบาล เข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระทรวงธรรมการ ซึ่งตัวฉันเป็นอธิบดี ฉันจึงได้ว่ากรมพยาบาลต่อพระองค์ศรีฯ มา แต่ผิดกันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ด้วยฉันต้องบังคับบัญชาการกรมต่างๆ ซึ่งรวมอยู่ในกระทรวงธรรมการ ไม่มีเวลาจะไปดูแลกรมพยาบาลได้มากเหมือนพระองค์ศรีฯ จึงต้องกราบทูลขอให้พระยาไกรโกษา (เทศ) เป็นอธิบดีผู้รักษาการกรมพยาบาล ตัวฉันเป็นแต่ผู้คิดการต่างๆ ที่จะให้จัด และไปตรวจการงานเองเป็นครั้งคราว เช่นไปตามโรงพยาบาลทุกแห่งสัปดาห์ละครั้งหนึ่งเป็นต้น การกรมพยาบาลที่จัดในสมัยเมื่อขึ้นอยู่กับฉัน ก็ล้วนแต่จัดการต่างๆ ที่พระองค์ศรีฯ ได้ทรงเริ่มจัดไว้ให้สำเร็จไปทุกอย่าง มีการจัดขึ้นใหม่ในสมัยของฉัน แต่เรื่องวิธีพยาบาลคนคลอดลูก ดังจะพรรณนาต่อไป

(๑๒)

เมื่อจะเล่าถึงเรื่องแก้วิธีพยาบาลคนคลอดลูก จะต้องกล่าวถึงวิธีพยาบาลอย่างเดิมเสียก่อน ธรรมดาการคลอดลูกย่อมเสี่ยงภัยแก่ชีวิตทั้งแม่และลูกที่คลอดใหม่ จึงต้องพยาบาลด้วยระมัดระวังมาก มนุษย์ต่างชาติต่างมีวิธีพยาบาลการคลอดลูก ที่เชื่อว่าจะปลอดภัยได้ดีกว่าอย่างอื่น และใช้วิธีที่ตนเชื่อถือสืบกันมา ไม่พอใจเปลี่ยนแปลงเพราะเกรงคนกลางจะเป็นอันตราย ก็วิธีพยาบาลคนคลอดลูกที่ไทยเราใช้กันมาแต่โบราณนั้น ให้หญิงที่คลอดลูกนุ่งผ้าขัดเตี่ยวนอนบนกระดานแผ่นหนึ่ง เรียกว่า “กระดานอยู่ไฟ” มีเตาสุมไฟไว้ข้างกระดานนั้น ให้ส่งความร้อนกว่าอากาศปรกติถึงผิวหนังคนคลอดลูกอยู่เสมอตลอดเวลาราว ๑๕ วัน และให้กินยาทายาไปด้วยกัน ต่อเมื่อสิ้นเขต “อยู่ไฟ” แล้วจึงลงจากกระดานไฟอยู่กับเรือนเหมือนแต่ก่อน ไทยเรา โดยเฉพาะพวกผู้หญิงแต่ก่อนมาเชื่อคุณของการอยู่ไฟมั่นคง ถึงชอบยกเป็นเหตุอ้างเมื่อเห็นผู้หญิงคนใด คลอดลูกแล้วร่างกายทรุดโทรมว่าเป็นเพราะ “อยู่ไฟไม่ได้” ถ้าอ้วนท้วนผิวพรรณผ่องใส ก็ชมว่า “เพราะอยู่ไฟได้” เลยเป็นปัจจัยให้ตัวผู้หญิงที่ยังไม่เคยคลอดลูก เชื่อว่าอยู่ไฟเป็นการป้องกันอันตราย และให้คุณแก่ตนเมื่อภายหลัง แม้ไม่สบายก็ไม่รังเกียจ แต่ที่จริงการอยู่ไฟ ถึงจะเป็นคุณหรือไม่ให้โทษ ก็แต่เฉพาะคนที่ไม่มีอาการจับไข้ ถ้ามีพิษไข้อยู่ในตัวไอไฟกลับให้โทษ ขืนอยู่ก็อาจจะเป็นอันตราย แต่วิธีพยาบาลอย่างเดิม ถ้าคนคลอดลูกเป็นไข้ก็เป็นแต่ลดไอไฟให้น้อยลงหากล้าเลิกอยู่ไฟไม่ จึงมีเหตุถึงตายด้วยอยู่ไฟบ่อยๆ

ทีนี้จะเล่าถึงมูลเหตุที่เปลี่ยนวิธีพยาบาลคนคลอดลูก กรมหมื่นปราบปรปักษ์ เคยตรัสเล่าให้ฉันฟัง ว่าเมื่อท่านยังเป็นหม่อมเจ้า มีบุตรคนแรก (คือเจ้าพระยาพระเสด็จ) หม่อมเปี่ยมมารดาเป็นไข้ทุรนทุรายทนความร้อนไม่ได้ แต่พวกผู้ใหญ่ที่พยาบาลบังคับ ขืนให้อยู่ไฟจนหม่อมเปี่ยมตาย ท่านก็ทรงปฏิญาณแต่นั้นมาว่าถ้ามีลูกอีก จะไม่ให้หม่อมอยู่ไฟเป็นอันขาด ต่อมาเมื่อท่านจะมีลูกอีก ประจวบเวลาหมอเคาแวนเข้ามารับราชการเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระเจ้าอยู่หัว จึงให้หมอเคาแวนเป็นผู้ผดุงครรภ์และพยาบาลตามแบบอย่างฝรั่ง ก็ปลอดภัยสบายดี แต่นั้นมาท่านจึงใช้แบบฝรั่งทั้งหม่อมและบุตรธิดาของท่าน ก็อยู่เย็นเป็นสุขไม่มีใครเป็นอันตราย ผู้อื่นนอกจากกรมหมื่นปราบฯ ที่เลื่อมใสวิธีพยาบาลคนคลอดลูกตามแบบฝรั่ง ก็น่าจะมี แต่คงเป็นเพราะพวกผู้หญิงในครัวเรือนไม่ยอมเลิกอยู่ไฟ และไม่มีเหตุบังคับเหมือนกรมหมื่นปราบฯ กรมหมื่นปราบฯ จึงเป็นผู้เลิกการอยู่ไฟ ใช้วิธีพยาบาลคนคลอดลูกตามแบบฝรั่งก่อนผู้อื่น กรมหมื่นปราบฯ เป็นผู้ภักดีอุปฐากสนองพระคุณสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีอยู่เสมอ ได้ยินว่าเมื่อครั้งประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ มีพระอาการเป็นไข้ กรมหมื่นปราบฯ กราบทูลชี้แจงแสดงคุณของวิธีพยาบาลอย่างฝรั่ง สมเด็จพระบรมราชินีทรงเลื่อมใส ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเลิกผทมเพลิง ให้หมอเคาแวนพยาบาลตามแบบฝรั่งก็ทรงสมบูรณ์พูนสุข ตระหนักพระราชหฤทัยว่าดีกว่าวิธีอยู่ไฟอย่างเดิม แต่นั้นก็เริ่มเลิกวิธีอยู่ไฟที่ในพระบรมมหาราชวัง และพวกผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ข้างนอกวังก็เอาอย่างตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชินี มีมากขึ้นเป็นลำดับมา ฉันจึงคิดจะใช้วิธีพยาบาลอย่างฝรั่งในโรงพยาบาล ขยายประโยชน์ต่อลงไปถึงราษฎร แต่ในเวลานั้นผู้หญิงไปคลอดลูกในโรงพยาบาลยังมีน้อย และร้องขอให้ใช้วิธีพยาบาลอย่างเดิม เช่นให้วงสายสิญจน์แขวนยันต์รอบห้องที่อยู่และให้อยู่ไฟเป็นต้น ชี้แจงชักชวนให้ใช้วิธีอย่างใหม่ก็ไม่มีใครยอม จึงเกิดขัดข้อง เพราะถ้าขืนใจก็คงไม่มีใครไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล เมื่อความขัดข้องนั้นทราบถึงสมเด็จพระบรมราชินี ทรงรับช่วยด้วยโปรดประทานอนุญาตให้กรมพยาบาลอ้างกระแสรับสั่งชี้แจงแก่คนที่จะคลอดลูกในโรงพยาบาล ว่าพระองค์เองได้เคยผทมเพลิงมาแต่ก่อน แล้วมาเปลี่ยนใช้วิธีพยาบาลอย่างใหม่ ทรงสบายกว่าอยู่ไฟอย่างแต่ก่อนมาก มีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรได้ความสุขด้วย จึงทรงแนะนำให้ทำตามอย่างพระองค์ อย่าให้กลัวเลยหามีอันตรายไม่ ถ้าใครทำตามที่ทรงชักชวนจะพระราชทานเงินทำขวัญลูกที่คลอดใหม่คนละ ๔ บาท พอมีกระแสรับสั่งของสมเด็จพระบรมราชินีอย่างนั้น ก็เริ่มมีคนสมัครให้พยาบาลคลอดลูกตามวิธีใหม่ ในชั้นแรกหมอเคาแวนไปดูแลคนไข้เอง แล้วฝึกหัดหมอกับคนพยาบาลมาจนชำนาญ แต่กระนั้นคนสมัครให้พยาบาลอย่างใหม่ก็ยังมีน้อย ในห้องเดียวกันมีทั้งคนคลอดลูกที่อยู่ไฟ และไม่อยู่ไฟปนกันมาอีกหลายเดือน ต่อเมื่อเห็นกันว่าคนที่ไม่อยู่ไฟไม่ล้มตายกลับสบายดีกว่าคนอยู่ไฟ ทั้งได้เงินทำขวัญลูกด้วย จำนวนคนที่ขออยู่ไฟก็น้อยลง จนเกือบไม่มี กรมพยาบาลจึงสามารถตั้งข้อบังคับรับให้คนคลอดลูกในโรงพยาบาลแต่คนที่สมัครไม่อยู่ไฟ เลิกประเพณีอยู่ไฟในโรงพยาบาลแต่นั้นมา

ฉันได้ว่าการกรมพยาบาลอยู่ ๒ ปี พอถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันย้ายจากกระทรวงธรรมการ ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็สิ้นเกี่ยวข้องกับกรมพยาบาลเพียงนั้น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ