- คำนำ
- รูปฉายเมื่ออายุ ๘๐ ปี
- คำนำนิทานโบราณคดี
- นิทานที่ ๑ เรื่องพระพุทธรูปประหลาด
- นิทานที่ ๒ เรื่องพระครูวัดฉลอง
- นิทานที่ ๓ เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร
- นิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ
- นิทานที่ ๕ เรื่องของแปลกที่เมืองชัยปุระในอินเดีย
- นิทานที่ ๖ เรื่องของแปลกที่เมืองพาราณสี
- นิทานที่ ๗ เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย
- นิทานที่ ๘ เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส)
- นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง
- นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์
- นิทานที่ ๑๑ เรื่องโจรแปลกประหลาด
- นิทานที่ ๑๒ เรื่องตั้งโรงพยาบาล
- นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย
- นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
- นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่
- นิทานที่ ๑๖ เรื่องลานช้าง
- นิทานที่ ๑๗ เรื่องแม่น้ำโขง
- นิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ
- นิทานที่ ๑๙ เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์
- นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคต้น)
- นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย)
คำนำนิทานโบราณคดี
เรื่องต่างๆ ที่จะเล่าต่อไปนี้ ล้วนเป็นเรื่องจริงซึ่งตัวฉันได้รู้เห็นเอง มิใช่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แต่เป็นเรื่องเกร็ดนอกพงศาวดาร จึงเรียกว่า “นิทานโบราณคดี” เหตุที่จะเขียนนิทานเหล่านี้ เกิดแต่ลูกที่อยู่ด้วยอยากรู้เรื่องเก่าแก่ก่อนเธอเกิด ถึงเวลานั่งกินอาหารพร้อมกันมักชวนให้เล่าให้ฟังเนืองๆ ส่วนตัวฉันเองเมื่อตกมาถึงเวลาแก่ชราดูก็ชอบเล่าอะไรๆ ให้เด็กฟังเหมือนอย่างคนแก่ที่เคยเห็นมาแต่ก่อน แม้ตัวฉันเองเมื่อยังเป็นหนุ่มก็เคยชอบไต่ถามท่านผู้ใหญ่อย่างเดียวกัน ยังจำได้ถึงสมัยเมื่อฉันเป็นนายทหารมหาดเล็กประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เวลาค่ำมักชอบไปเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ที่วังตรงหน้าประตูวิเศษชัยศรี ทูลถามถึงเรื่องโบราณต่าง ๆ ท่านก็โปรดตรัสเล่าให้ฟังโดยไม่ทรงรังเกียจ ดูเหมือนจะพอพระหฤทัยให้ทูลถามด้วยเสียอีก การที่คนแก่ชอบเล่าอะไรให้เด็กฟัง น่าจะเป็นธรรมดามนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่โดยมากเล่าแล้วก็แล้วไป ต่อบางทีจึงมีคนเขียนเรื่องที่เล่าลงไว้เป็นลายลักษน์อักษร ตัวฉันเองเดิมก็ไม่ได้คิดว่าจะเขียน แต่ลูกหญิงพูนพิสมัย เธอว่า เรื่องต่างๆที่ฉันเล่าให้ฟัง ล้วนมีแก่นสารเป็นคติน่ารู้ ถ้าปล่อยให้สูญเสียน่าเสียดาย เธออ้อนวอนขอให้ฉันเขียนรักษาไว้ให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหลานและผู้อื่นต่อไป ฉันจึงได้เริ่มเขียนนิทานโบราณคดีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะเขียนเรื่องชนิดใด สุดแต่นึกเรื่องอะไรขึ้นได้เห็นว่าน่าจะเขียน ก็เขียนลงเป็นนิทาน นึกเรื่องใดได้ก่อนก็เขียนก่อน เรื่องใดนึกขึ้นได้ภายหลังก็เขียนทีหลัง นิทานที่เขียนจึงเป็นเรื่องหลายอย่างต่างชนิดระคนปนกัน แต่หวังใจว่าผู้อ่านจะไม่เสียเวลาเปล่าด้วยอ่านนิทานเหล่านี้.
ปีนัง วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๕