นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มทรงเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองบ้านเมือง โปรดให้ตั้งกระทรวงเสนาบดี ซึ่งแต่ก่อนมีเพียง ๗ กระทรวง เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ กระทรวง และเปลี่ยนตัวเสนาบดีบางกระทรวง ตัวฉันก็โปรดให้ย้ายจากตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการ ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในคราวนั้น เสนาบดีต่างกระทรวงต่างจัดการในกระทรวงของตนให้เจริญทันสมัย การงานในกระทรวงต่างๆ มีมากขึ้น และทำละเอียดกว่าแต่ก่อน ทั้งมีการคิดจัดใหม่เพิ่มขึ้นเนืองๆ ต้องการคนรับราชการในกระทรวงต่างๆ มากขึ้น เสมียนตามกระทรวงซึ่งมีอยู่แต่ก่อนหย่อนความรู้ ไม่สามารถจะทำการงานตามระเบียบใหม่ได้ทันกับการที่เปลี่ยนแปลง เสนาบดีเจ้ากระทรวงจึงต้องแสวงหาคนที่ได้เล่าเรียนมีความรู้ เช่นนักเรียนที่ได้รับประกาศนียบัตรจากโรงเรียนต่างๆ มาเป็นเสมียน ต่อมาเมื่อเสมียนเหล่านั้นทำการงานดีมีความสามารถ เจ้ากระทรวงก็กราบบังคมทูลขอให้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นขุนนางมีตำแหน่งในกระทรวงตามคุณวุฒิ เป็นเช่นนั้นมาราวสัก ๕ ปี ดูเหมือนจะเป็นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวตรัสปรารภแก่ฉัน ว่าขุนนางที่เป็นขึ้นใหม่ๆ ในชั้นนี้ไม่ใคร่ทรงรู้จัก แต่ก่อนมาลูกผู้ดีที่จะทำราชการย่อมถวายตัวเป็นมหาดเล็กตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ในเวลาเป็นมหาดเล็ก ได้เข้าเฝ้าแหนรับราชการอยู่ในราชสำนัก ทรงรู้จักแทบทุกคน บางคนก็ได้เป็นนายรองและหุ้มแพรรับราชการในกรมมหาดเล็กก่อน แล้วจึงไปเป็นขุนนางต่างกระทรวง ขุนนางที่ไม่ได้เคยเป็นมหาดเล็ก เช่นพวกที่ขึ้นจากเป็นเสมียนตามกระทรวงมีน้อย แต่เดี๋ยวนี้ขุนนางขึ้นจากเป็นเสมียนตามกระทรวงเป็นพื้น ไม่เคยเป็นมหาดเล็กจึงไม่ทรงรู้จัก (บางทีกระทรวงมหาดไทยของฉันเอง จะเป็นเหตุให้ทรงพระราชปรารภ ด้วยกำลังจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองสมุหเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ ขอคนมีความรู้ออกไปรับราชการตามหัวเมือง ฉันต้องหาคนจำพวกนักเรียนส่งไปปีละมากๆ เมื่อคนเหล่านั้นคนไหนไปทำการงานดีมีความสามารถถึงขนาด ฉันก็กราบบังคมทูลขอให้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางตามธรรมเนียม จำนวนคนรับสัญญาบัตรขึ้นใหม่สังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทยมากกว่ากระทรวงอื่นๆ แต่ข้อนี้ฉันยังไม่ได้คิดเห็นในเวลานั้น) เมื่อได้ฟังพระราชปรารภแล้ว ฉันจึงมาคิดใคร่ครวญดู เห็นว่าประเพณีโบราณซึ่งให้ผู้ที่จะเป็นขุนนางถวายตัวเป็นมหาดเล็กเสียก่อนนั้น เป็นการดีมีคุณมาก เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงรู้จัก ย่อมเป็นปัจจัยให้ทรงพระเมตตากรุณาและไว้วางพระราชหฤทัย ส่วนตัวผู้เป็นข้าราชการ เมื่อได้รู้จักและทราบพระราชอัธยาศัยพระเจ้าแผ่นดิน ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดความจงรักภักดี และยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก เพราะมหาดเล็กได้เข้าสมาคมชั้นสูง มีโอกาสไปศึกษาขนบธรรมเนียมและฝึกหัดกิริยามารยาทกับทั้งได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ตลอดจนได้คุ้นเคยกับเพื่อนมหาดเล็กซึ่งจะไปรับราชการด้วยกัน มีโอกาสที่จะผูกไมตรีจิตต่อกันไว้สำหรับวันหน้า ว่าโดยย่อเห็นว่าประเพณีที่เป็นประโยชน์อันน่าจะรักษาไว้ หาควรปล่อยให้สูญเสียไม่ เมื่อคิดต่อไปว่าจะคิดแก้ไขด้วยประการใดดี เห็นว่าจะกลับใช้ประเพณีเหมือนอย่างเดิมไม่เหมาะกับราชการในสมัยนั้น ซึ่งต้องการคนที่ได้เล่าเรียนมีความรู้การงานในกระทรวงเป็นสำคัญ เป็นแต่เพียงมหาดเล็ก จะรับสัญญาบัตรเป็นขุนนางตามกระทรวง ก็ไม่สามารถจะทำการงานได้ ทางที่จะแก้ไขควรจะให้มีโรงเรียนขึ้นในกรมมหาดเล็ก ให้นักเรียนถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีโอกาสให้เข้าเฝ้าแหนให้ทรงรู้จัก ทั้งให้ศึกษาขนบธรรมเนียมในราชสำนักไปด้วยกันกับความรู้เบื้องต้นสำหรับข้าราชการพลเรือนในกระทรวงต่างๆ แล้วให้ไปสำรองราชการอยู่ตามกระทรวงเสียชั้นหนึ่งก่อน จนทำการงานได้ดีถึงขนาด จึงให้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนนาง ต่อชั้นนั้นก็จะเป็นประโยชน์ทั้งสองอย่างประกอบกัน ฉันกราบบังคมทูลความคิดเห็นเช่นว่ามา พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย เดิมมีพระราชประสงค์จะให้ฉันจัดโรงเรียนนั้นเหมือนอย่างเคยจัด “โรงเรียนสวนกุหลาบ” มาในกระทรวงธรรมการ แต่ฉันกราบบังคมทูลขอตัว ด้วยเห็นว่าโรงเรียนมหาดเล็กจะฝึกหัดข้าราชการพลเรือนทุกกระทรวง อธิบดีโรงเรียนอิสระต่างหากจากกระทรวงต่างๆ จะดีกว่า แต่จะต้องเป็นผู้ทรงเกียรติคุณในทางวิชาความรู้ถึงผู้คนนับถือ จึงจะจัดการได้สะดวก เดิมพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) ซึ่งเพิ่งเสด็จกลับมาจากประเทศอังกฤษ โดยทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาในมหาวิทยาลัยออกสฟอร์ดแล้ว เป็นอธิบดีจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่พระองค์เจ้าระพีฯ กราบบังคมทูลว่าได้ทรงศึกษาวิชานิติศาสตร์เป็นสำคัญ สมัครรับราชการทางฝ่ายตุลาการก็พอเหมาะอีกทางหนึ่ง ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้จัดการแก้ไขระเบียบศาลยุติธรรมอยู่ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เวลานั้นกระทรวงยุติธรรมยังบัญชาการแต่ศาลในกรุงเทพฯ เพราะไม่สามารถจะรับจัดการศาลยุติธรรมได้ทั่วพระราชอาณาเขต ศาลยุติธรรมตามหัวเมืองยังขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยตามประเพณีเดิม ทรงพระราชดำริว่าจะรอการจัดศาลยุติธรรมตามหัวเมือง ไว้จนกระทรวงยุติธรรมสามารถรับจัดศาลหัวเมืองได้ก็จะช้านัก จึงดำรัสสั่งให้ลงมือจัดการศาลยุติธรรมตามหัวเมืองด้วยอีกอย่างหนึ่งในกระทรวงมหาดไทย ฉันกราบทูลขอให้ตั้งต้นจัดแต่ในมณฑลอยุธยาดูก่อน จึงทรงตั้งข้าหลวงพิเศษสังกัดขึ้นในกระทรวงมหาดไทยคณะหนึ่ง ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ เป็นนายก พระยาไกรศรี (เปล่ง) เนติบัณฑิตอังกฤษ กับมิสเตอร์ เกิก แปตริก เนติบัณฑิตเบลเยี่ยม (ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพระยาอภัยราชา โรลังยัคมินส) ทั้ง ๓ คนนี้ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ มีข้าหลวงพิเศษในท้องที่อีก ๒ คน คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) สมุหเทศาภิบาลมณฑล กับพระยาชัยวิชิต (นาค ณ ป้อมเพชร) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา รวมทั้งคณะ ๕ คน เริ่มจัดการศาลหัวเมืองในครั้งนั้น การที่ทรงตั้งข้าหลวงพิเศษจัดศาลยุติธรรมตามหัวเมืองครั้งนั้น เป็นมูลของระเบียบการศาลยุติธรรม ซึ่งใช้ต่อไปถึงที่อื่นๆ ในภายหลังตลอดมา

แต่การที่จะตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต้องรอหาตัวผู้ที่จะเป็นอธิบดีอยู่ปีหนึ่ง จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๒ เจ้าพระยาพระเสด็จ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) เวลานั้นยังเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ในกรมทหารเล็กกลับจากยุโรป พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าเหมาะแก่ตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็ก ด้วยเป็นผู้มีชื่อเสียงในการเรียนวิชาความรู้มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน และได้ไปเป็นพระครูของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช อยู่ในประเทศอังกฤษหลายปี ในระหว่างนั้นตัวเองก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย นอกจากนั้นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ได้เคยรับราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย เข้าใจระเบียบราชการพลเรือนอยู่แล้ว และมีตำแหน่งในกรมมหาดเล็กด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็ก แต่โปรดให้ฉันเป็นที่ปรึกษา ตรัสว่าพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ก็เคยเป็นเลขานุการของฉันมาแต่ก่อน คงจะทำการด้วยกันได้ พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์กับฉันปรึกษากันกะโครงการที่จะจัดโรงเรียนมหาดเล็ก ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นระเบียบการดังนี้ คือ

๑. จะรับนักเรียนอายุระหว่าง ๑๕ จนถึง ๒๐ ปี และเป็นผู้ดีโดยสกุลหรือโดยฐานะอันสมควรจะถวายตัวเป็นมหาดเล็กได้ ทั้งต้องให้มีความรู้เรียนมาแต่ที่อื่น ถึงชั้นมัธยมในสมัยนั้น

๒. จะมีนักเรียนจำกัดจำนวนเพียงเท่าที่กระทรวงต่างๆ ปรารถนาหาผู้มีความรู้เข้ารับราชการ ไม่รับนักเรียนมากเกินไปจนหางานทำไม่ได้ แต่จะกวดขันในการฝึกสอนให้มีความรู้ดีกว่านักเรียนที่กระทรวงต่างๆ จะหาได้ที่อื่นในสมัยนั้น

๓. หลักสูตรของโรงเรียนจะจัดเป็น ๓ ภาค กะเวลาเรียนราวภาคละปี ภาคที่หนึ่ง เมื่อก่อนนักเรียนจะถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ให้เรียนวิชาเสมียน อันเป็นความรู้เบื้องต้นของข้าราชการเหมือนกันทุกกระทรวง เมื่อเรียนภาคที่หนึ่งสำเร็จแล้ว ถึงภาคที่สองจึงให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ฝึกสอนขนบธรรมเนียมในราชสำนักด้วยกันกับความรู้พิเศษซึ่งต่างกระทรวงต้องการต่างกัน เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ถึงภาคที่สามให้ไปศึกษาราชการในกระทรวงซึ่งจะไปอยู่ แต่ยังคงเป็นมหาดเล็ก ไปจนมีความสามารถถึงขนาดที่กำหนดไว้ในกระทรวง ได้เป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นสัญญาบัตรในกระทรวงนั้นแล้ว จึงปลดขาดจากโรงเรียน นำโครงการนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วก็เปิดโรงเรียนมหาดเล็กที่ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรีทางฝ่ายตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๔๒ นั้น

เมื่อแรกตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก กำหนดจะรับนักเรียนเพียง ๕๐ คน พอเปิดโรงเรียนแล้วไม่ช้าก็มีคนสมัครเป็นนักเรียนพอต้องการ ส่วนการฝึกสอนในปีแรกสอนแต่ภาคที่หนึ่งคือวิชาเสมียน ให้ครูหัดเสมียนในกระทรวงมหาดไทยมาเป็นผู้สอน ขึ้นปีที่สองมีนักเรียนสอบความรู้สำเร็จ ๗ คน พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงเป็นครั้งแรก คือ:-

๑. นายขวัญ ณ ป้อมเพชร

ภายหลังได้เป็น พระยาจงรักษ์นรสีห์

๒. นายเลื่อน ณ ป้อมเพชร

ภายหลังได้เป็น พระยาชวกิจบรรหาร

๓. นายสวัสดิ์ มหากายี

ภายหลังได้เป็น พระยานครพระราม

๔. นายทอง จันทรางสุ

ภายหลังได้เป็น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์

๕. นายสว่าง จุลวิธูร

ภายหลังได้เป็น พระยาอรรถศาสตรโสภณ

๖. นายสงวน สตรัต

ภายหลังได้เป็น พระยาอรรถกวีสุนทร

๗. นายเป้า จารุเสถียร

ภายหลังได้เป็น พระยาพายัพพิริยกิจ

นักเรียนที่ถวายตัวแล้วแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก และเวลามีการงานในราชสำนักเข้าเฝ้าแหนกับมหาดเล็กเสมอ ส่วนการฝึกสอนความรู้สำหรับราชสำนักอันเป็นภาคสองนั้น ได้พระยาชัยนันท์นิพัฒน์พงศ์ (เชย ชัยนันท์) เมื่อยังเป็นจ่ารงมหาดเล็ก เป็นครูเริ่มสอนในปีที่สอง แต่การสอนความรู้พิเศษซึ่งต้องการต่างกันเฉพาะกระทรวง มีความขัดข้องด้วยยังไม่รู้ว่ากระทรวงต่างๆ จะอยากได้นักเรียนมหาดเล็กมีความรู้อย่างใดบ้าง พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ วิตกว่าถ้าต่างกระทรวงกะความรู้พิเศษต่างๆ มาให้สอนพร้อมกันหมดทุกกระทรวง โรงเรียนก็จะไม่สามารถสอนให้ได้ ในปีที่สองของโรงเรียนนั้น อยากจะลองสอนความรู้พิเศษแต่สำหรับกระทรวงเดียวดูก่อน ฉันยอมให้ตั้งต้นด้วยกระทรวงมหาดไทย ให้ครูพร้อม วาจรัต ซึ่งภายหลังได้เป็นที่พระภิรมย์ราชา เวลานั้นสอนนักเรียนอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นครูการปกครองในโรงเรียนมหาดเล็ก และคิดให้ว่าถ้านักเรียนภาคที่สอง คนไหนจะสมัครรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ให้เรียนแบบแผนการปกครองที่ในโรงเรียนเป็นภาคต้น แล้วฉันจะส่งออกไปอยู่กับสมุหเทศาภิบาลมณฑลใดมณฑลหนึ่ง เหมือนอย่างเป็นลูกศิษย์สำหรับใช้สอยในกิจการต่างๆ เพื่อให้รู้เห็นการปกครองในหัวเมืองว่าเป็นอย่างไร มีกำหนดให้ไปศึกษาอยู่ราว ๖ เดือน แล้วจึงให้เรียกกลับเข้ามาสอบความรู้ภาคที่สองในคราวเดียวด้วยกันทั้งความรู้สำหรับราชสำนักและความรู้พิเศษสำหรับกระทรวงมหาดไทย นักเรียนคนไหนสอบได้สำเร็จ การเรียนต่อไปในภาคที่สามซึ่งเรียนแต่เฉพาะราชการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยจะให้เป็นตำแหน่งผู้ตรวจการ ออกไปฝึกหัดทำการปกครองอยู่ในหัวเมืองมณฑลละ ๒ คน จนได้รับตำแหน่งประจำราชการ กราบบังคมทูลก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้แก้ไขดังว่ามา

พอสิ้นปีที่สอง ได้นักเรียนออกไปเป็นผู้ตรวจการครั้งแรกดูเหมือน ๕ คน นักเรียนมหาดเล็กซึ่งออกไปเป็นผู้ตรวจการนั้นฉันให้เรียกตามแบบโบราณว่า “มหาดเล็กรายงาน” ยังสังกัดอยู่ในกรมมหาดเล็ก และแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก เป็นแต่ออกไปรับราชการอยู่หัวเมือง ไปอยู่มณฑลไหน เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังมณฑลนั้น ต้องเข้าไปสมทบกับมหาดเล็กที่ตามเสด็จรับราชการในพระองค์ เช่นเชิญเครื่องราชูปโภค ตั้งเครื่องเสวย และถวายอยู่งานพัดเป็นต้น สังเกตดูพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็กรายงานที่ไหน ก็ทรงแสดงพระเมตตาปรานี มักทรงทักทายและตรัสเรียกใช้สอย ทรงไถ่ถามถึงการงานที่ไปทำเพื่อจะให้มีแก่ใจ เห็นได้ว่าพอพระราชหฤทัยที่ทรงเห็นผลของโรงเรียนมหาดเล็ก ว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองได้ดังพระราชประสงค์ ส่วนการฝึกหัดมหาดเล็กรายงานนั้น ฉันสั่งให้สมุหเทศาภิบาลใช้ไปเที่ยวตรวจการงานต่างๆ ตามหัวเมืองในมณฑล เพื่อให้รู้จักภูมิลำเนาและผู้คนพลเมืองอย่างหนึ่ง ให้ไปทำการในหน้าที่ปลัดอำเภอ ให้รู้วิธีปกครองติดต่อกับตัวราษฎรอย่างหนึ่ง มหาดเล็กรายงานได้เล่าเรียนและรับอบรมจากโรงเรียนมหาดเล็กมากแล้ว ไปเป็นตำแหน่งมหาดเล็กรายงานอยู่ไม่ช้ากว่าปี ก็ชำนาญกิจการถึงขนาดที่จะเป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นรับสัญญาบัตร เช่นเป็นนายอำเภอเป็นต้นแทบทุกคน แต่เมื่อแรกเป็นตำแหน่งชั้นสัญญาบัตร เป็นแต่ปลดจากโรงเรียนมหาดเล็กไปเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางอยู่สักปีหนึ่งหรือสองปี จนปรากฏว่าทำการงานได้ดีมีความสามารถสมกับตำแหน่ง จึงได้รับสัญญาบัตรเป็นชั้น “ขุน” เป็นต้นไป

เล่าถึงเรื่องตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก มีความข้อหนึ่งซึ่งฉันควรจะกล่าวไว้ให้เป็นธรรม ตัวฉันเองเป็นแต่ต้นคิดกับเป็นที่ปรึกษาช่วยแนะนำบ้าง แต่ส่วนที่จัดโรงเรียนได้ดังพระราชประสงค์ ควรนับเป็นความชอบของพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ซึ่งพยายามจัดการมาแต่ต้นจนสำเร็จ น่าเสียดายแต่ที่พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็กอยู่เพียง ๓ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ เมื่อทรงตั้งเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) เวลานั้นยังเป็นพระยาวุฒิการบดี เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ท่านชำนาญแต่การฝ่ายคณะสงฆ์ กราบบังคมทูลขอให้ผู้ชำนาญการศึกษาเป็นผู้ช่วย พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็ตั้งสำเร็จแล้ว พอจะหาผู้ทำการแทนพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ต่อไปได้ แต่ทางกระทรวงธรรมการไม่ทรงเห็นตัวผู้อื่น จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ย้ายไปเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ และทรงตั้งพระยาศรีวรวงศ์ (ม.ร.ว. จิตร สุทัศน์) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก อันเคยมีชื่อเสียงแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนและได้เคยไปศึกษาในยุโรป เป็นผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กแทนพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ การโรงเรียนมหาดเล็กก็เจริญมาโดยลำดับ มีจำนวนนักเรียนสำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการเพิ่มขึ้นทุกปี แต่มีผลไม่ตรงกับที่คาดไว้เดิมอย่างหนึ่ง ด้วยนักเรียนที่เรียนสำเร็จทุกภาคมักสมัครไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งนั้น ที่สมัครไปอยู่กระทรวงอื่นมีน้อย เป็นเช่นนั้นเพราะกระทรวงมหาดไทยมีตำแหน่ง “ผู้ตรวจการ” สำรองไว้ให้นักเรียนมหาดเล็กมณฑลละ ๒ คน รวมทุกมณฑลเป็น ๓๒ คน นักเรียนที่สมัครรับราชการกระทรวงมหาดไทย พอสำเร็จการเรียนก็ได้รับเงินเดือนเป็นตำแหน่งผู้ตรวจการทันที ไม่ต้องขวนขวายหาตำแหน่งแห่งที่ทำราชการ ยังมีเหตุอื่นอีกอย่างหนึ่งด้วยในสมัยนั้นกระทรวงมหาดไทยกำลังจัดการปกครองในหัวเมืองต่างๆ ต้องการคนมีความรู้ไปเป็นตำแหน่งกรมการตามหัวเมืองมาก นักเรียนมหาดเล็กที่ออกไปเป็นผู้ตรวจการ ได้ร่ำเรียนรับความอบรมดีกว่าบุคคลภายนอก ไปอยู่ไม่ช้าก็ได้เป็นกรมการชั้นสัญญาบัตร ตำแหน่งผู้ตรวจการว่างบ่อยๆ แม้นักเรียนมหาดเล็กที่เรียนสำเร็จมีมากขึ้น ก็ยังไม่พอกับที่กระทรวงมหาดไทยต้องการ แต่กระทรวงอื่นยังไม่ใคร่มาหาคนที่โรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนมหาดเล็กก็เหมือนฝึกหัดข้าราชการให้แต่กระทรวงมหาดไทย หรือว่าอีกอย่างหนึ่งโรงเรียนมหาดเล็กทำให้เกิดประโยชน์แต่ในการปกครองหัวเมือง เป็นเช่นนั้นมาสัก ๖ ปี ก็พอสิ้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อฉันเขียนนิทานนี้ลองสืบถามถึงนักเรียนมหาดเล็กครั้งรัชกาลที่ ๕ ที่ออกไปรับราชการ ได้รายชื่อผู้ที่ได้ดีถึงเป็นพระยาในรัชกาลภายหลังถึง ๓๐ คน

ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภถึงเงินที่ชาวเมืองไทย ได้เรี่ยไรกันสร้างพระบรมรูปทรงม้าถวายสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช เมื่องานรัชมงคล มีจำนวนเงินเหลือจากที่สร้างพระบรมรูปอยู่กว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ใคร่จะทรงสร้างส่ิงอนุสรณ์ซึ่งเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองตอบแทนชาวเมืองไทยด้วยเงินรายนั้น ทรงพระราชดำริว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงตั้งไว้ เป็นประโยชน์แก่การปกครองให้ชาวเมืองไทยอยู่เย็นเป็นสุข แต่ว่าประโยชน์ยังได้เพียงในการปกครองหัวเมือง ควรจะขยายประโยชน์ของโรงเรียนนั้นให้แพร่หลายไปถึงการอื่นๆ ในฝ่ายพลเรือนให้ทั่วกัน จึงโปรดให้ขยายการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน พระราชทานเงินเหลือสร้างพระบรมรูปทรงม้าให้ใช้เป็นทุน และพระราชทานที่ดินผืนใหญ่ของพระคลังข้างที่ที่ตำบลปทุมวัน รวมทั้งตึกที่สร้างไว้เป็นวังซึ่งเรียกกันว่า “วังกลางทุ่ง” สำหรับใช้เป็นโรงเรียนด้วย พนักงานจัดโรงเรียนข้าราชการพลเรือนนั้น โปรดให้มีกรรมการคณะหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดให้ตัวฉันเป็นนายก และสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เจ้าพระยาพระเสด็จฯ เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภ สุทัศน์) พระยาศรีวรวงศ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน) พระยาเทพวิทุรฯ (บุญช่วย วณิกกุล) รวม ๖ คนด้วยกันอำนวยการ ให้พระยาศรีวรวงศ์คงเป็นอธิบดีอยู่เหมือนอย่างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้ย้ายโรงเรียนจากพระบรมมหาราชวัง ไปอยู่ที่ “วังกลางทุ่ง” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นต้นมา ต่อมาตัวฉันเกิดอาการป่วยเจ็บทุพพลภาพ ต้องกราบบังคมทูลขอเวนคืนตำแหน่งนายกกรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ก็ป่วยถึงอสัญกรรมในหมู่นั้น เมื่อฉันออกจากตำแหน่งนายกกรรมการแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ขยายการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นมหาวิทยาลัย มีนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยต่อมา เรื่องประวัติโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมีดังเล่ามานี้

เรื่องนี้ ฉันเขียนแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้พิมพ์ฝากไว้ในเรื่องประวัติพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) เห็นเป็นอย่างเดียวกับนิทานโบราณคดี จึงคัดเอามาพิมพ์ไว้ด้วยกัน 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ