นิทานที่ ๒ เรื่องพระครูวัดฉลอง

เมืองภูเก็ต เดิมขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม จนเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว จึงได้โอนมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ฉันลงไปตรวจราชการหัวเมืองมณฑลภูเก็ตครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เวลาฉันพักอยู่ที่เมืองภูเก็ต พระครูวิสุทธิวงศาจารย์เป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อยู่ ณ วัดฉลองมาหา พอฉันแลเห็นก็เกิดพิศวง ด้วยที่หน้าแข้งของท่านมีรอยปิดทองคำเปลวแผ่นเล็กๆ ระกะไป ราวกับพระพุทธรูปหรือเทวรูปโบราณที่คนบนบาน เมื่อพูดจาปราศรัยดูก็เป็นผู้มีกิริยาอัชฌาสัยเรียบร้อยอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ เวลานั้นดูเหมือนจะมีอายุได้สัก ๖๐ ปี ฉันถามท่านว่าเหตุไฉนจึงปิดทองที่หน้าแข้ง ท่านตอบว่า “เมื่ออาตมภาพเข้ามาถึงในเมือง พวกชาวตลาดเขาขอปิด” ฉันได้ฟังอย่างนั้นก็เกิดอยากรู้ ว่าเหตุไฉนคนจึงปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง จึงสืบถามเรื่องประวัติของท่าน ได้ความตามที่ตัวท่านเองเล่าให้ฟังบ้าง ข้าราชการเมืองภูเก็ต ที่เขารู้เห็นเล่าให้ฟังบ้าง เป็นเรื่องประหลาดดังจะเล่าต่อไปนี้

ท่านพระครูองค์นี้ชื่อ แช่ม เป็นชาวบ้านฉลองอยู่ห่างเมืองภูเก็ตสักสามสี่ร้อยเส้น เดิมเป็นลูกศิษย์พระอยู่ในวัดฉลองมาตั้งแต่ยังเด็ก ครั้นเติบใหญ่บวชเป็นสามเณรเล่าเรียนอยู่ในวัดนั้น จนอายุครบอุปสมบทก็บวชเป็นพระภิกษุ เรียนวิปัสสนาธุระและคาถาอาคมต่างๆ ต่อมา จนมีพรรษาอายุมากได้เป็นสมภารวัดฉลอง เรื่องประวัติแต่ต้นจนตอนนี้ไม่แปลกอย่างไร มาเริ่มมีอภินิหารเป็นอัศจรรย์เมื่อเกิดเหตุด้วยพวกจีนกรรมกรทำเหมืองแร่ที่ เมืองภูเก็ตเป็นกบฏ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ (ดังจะมีเรื่องปรากฏในนิทานที่ ๑๕ ต่อไปข้างหน้า) เวลานั้นรัฐบาลไม่มีกำลังพอจะปราบปรามพวกจีนกบฏให้ราบคาบ ได้แต่รักษาตัวเมืองไว้ ตามบ้านนอกออกไป พวกจีนเที่ยวปล้นสะดมฆ่าฟันผู้คนได้ตามชอบใจ ไม่มีใครต่อสู้ จึงเป็นจลาจลทั่วไปทั้งเมืองภูเก็ต เรื่องที่เล่าต่อไปตอนนี้ เขียนตามคำท่านพระครูวัดฉลองเล่าให้ฟังเอง ว่าเมื่อได้ข่าวไปถึงบ้านฉลองว่ามีจีนจะออกไปปล้น พวกชาวบ้านกลัวพากันอพยพหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามบนภูเขาโดยมาก เวลานั้น มีชายชาวบ้านที่เคยเป็นลูกศิษย์ของท่านสักสองสามคน ไปชวนให้ท่านหนีไปด้วย แต่ท่านตอบว่า “ข้าอยู่ในวัดนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนอายุถึงปานนี้แล้ว ทั้งเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่ด้วย จะทิ้งวัดไปเสียอย่างไรได้ พวกสูจะหนีก็หนีเถิด แต่ข้าไม่ไปละ จะต้องตายก็จะตายอยู่ในวัด อย่าเป็นห่วงข้าเลย” พวกลูกศิษย์อ้อนวอนเท่าใด ท่านก็ยืนคำอยู่อย่างนั้น เมื่อคนเหล่านั้นเห็นว่าท่านไม่ยอมทิ้งวัดไป ก็พูดกันว่า “เมื่อขรัวพ่อไม่ยอมไป จะทิ้งให้ท่านตายเสียอย่างไร” จึงเข้าไปพูดแก่ท่านว่า “ถ้าขรัวพ่อไม่ไป พวกผมก็จะอยู่เป็นเพื่อน แต่ขออะไรพอคุ้มตัวสักอย่างหนึ่ง” ท่านจึงเอาผ้าขาวมาลงยันต์เป็นผ้าประเจียดแจกให้คนละผืน พวกนั้นไปเที่ยวเรียกหาเพื่อนได้คนเพิ่มเติมมารวมกันสัก ๑๐ คน เชิญตัวท่านให้ลงไปอยู่ที่ในโบสถ์ พวกเขาไปเที่ยวหาเครื่องศัสตราวุธสำหรับตัว แล้วพากันมาอยู่ที่ในวัดฉลอง พออีกสองวันจีนพวกหนึ่งก็ออกไปปล้น แต่พวกจีนรู้ว่าชาวบ้านหนีไปเสียโดยมาก แล้วเดินไปโดยประมาทไม่ระวังตัว พวกไทยแอบเอากำแพงแก้วรอบโบสถ์บังตัว พอพวกจีนไปถึงก็ยิงเอาแตกหนีไปได้โดยง่าย พอมีข่าวว่าพวกลูกศิษย์ท่านวัดฉลองรบชนะจีน ชาวบ้านฉลองที่หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ตามภูเขาก็พากันกลับมาบ้านเรือน ที่เป็นผู้ชายก็ไปหาท่านวัดฉลอง ขอรับอาสาว่าถ้าพวกจีนยกไปอีกจะช่วยรบ แต่ท่านตอบว่า “ข้าเป็นพระเป็นสงฆ์ จะรบฆ่าฟันใครไม่ได้ สูจะรบพุ่งอย่างไร ก็ไปคิดอ่านกันเองเถิด ข้าจะให้แต่เครื่องคุณพระสำหรับป้องกันตัว” คนเหล่านั้นไปเที่ยวชักชวนกันรวมคนได้กว่าร้อยคน ท่านวัดฉลองก็ลงผ้าประเจียดแจกให้ทุกคน พวกนั้นนัดกันเอาผ้าประเจียดโพกหัวเป็นเครื่องหมาย ทำนองอย่างเครื่องแบบทหาร พวกจีนเลยเรียกว่า “อ้ายพวกหัวขาว” จัดกันเป็นหมวดหมู่มีตัวนายควบคุม แล้วเลือกที่มั่นตั้งกองรายกัน เอาวัดฉลองเป็นที่บัญชาการคอยต่อสู้พวกจีน ในไม่ช้าพวกจีนก็ยกไปอีก คราวนี้ยกกันไปเป็นขบวนรบ มีทั้งธงนำและกลองสัญญาณ จำนวนคนที่ยกไปก็มากกว่าครั้งก่อน พวกจีนยกไปถึงบ้านฉลองในตอนเช้า พวกไทยเป็นแต่คอยต่อสู้อยู่ในที่มั่นเอาปืนยิงกราดไว้ พวกจีนเข้าไปในหมู่บ้านฉลองไม่ได้ ก็หยุดยั้งอยู่ภายนอก ต่างยิงโต้ตอบกันทั้งสองฝ่ายจนเวลาตะวันเที่ยง พวกจีนหยุดรบไปกินข้าวต้ม พวกไทยได้ทีก็เข้ารุกล้อมไล่ยิงพวกจีนในเวลากำลังสาละวนกินอาหาร ประเดี๋ยวเดียวพวกจีนก็ล้มตายแตกหนีกระจัดกระจายไปหมด ตามคำท่านพระครูว่า “จีนรบสู้ไทยไม่ได้ด้วยมันต้องกินข้าวต้ม พวกไทยไม่ต้องกินข้าวต้มจึงเอาชนะได้ง่ายๆ” แต่นั้นพวกจีนก็ไม่กล้าไปปล้นบ้านฉลองอีก เป็นแต่พวกหัวหน้าประกาศตีราคาศีรษะท่านวัดฉลอง ว่าถ้าใครตัดเอาไปให้ได้จะให้เงินสินบน ๑,๐๐๐ เหรียญ ชื่อท่านวัดฉลองก็ยิ่งโด่งดังหนักขึ้น เมื่อรัฐบาลปราบพวกจีนกบฏราบคาบแล้วยกความชอบของเจ้าอธิการแช่มวัดฉลอง ที่ได้เป็นหัวหน้าในการต่อสู้พวกจีนกบฏในครั้งนั้น ประจวบเวลาตำแหน่งพระครูสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตว่างอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตั้งให้เป็นที่พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตแต่นั้นมา แต่ทางฝ่ายชาวเมืองภูเก็ตเชื่อว่าที่ชาวบ้านฉลองรบชนะพวกจีน เพราะท่านพระครูวัดฉลองมีอิทธิฤทธิ์ในทางวิทยาคม ก็นับถือกันเป็นอย่างผู้วิเศษทั่วทั้งจังหวัด เรื่องที่เล่ามาเพียงนี้เป็นชั้นก่อนเกิดการปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง

มูลเหตุที่จะปิดทองนั้น เกิดขึ้นเมื่อคนนับถือท่านพระครูวัดฉลองว่าเป็นผู้วิเศษแล้ว ด้วยครั้งหนึ่งมีชาวเมืองภูเก็ตสักสี่ห้าคนลงเรือลำหนึ่งไปเที่ยวตกเบ็ดในทะเล เผอิญไปถูกพายุใหญ่จนจวนเรือจะอับปาง คนในเรือพากันกลัวตาย คนหนึ่งออกปากบนเทวดาอารักษ์ที่เคยนับถือขอให้ลมสงบ พายุก็กลับกล้าหนักขึ้น คนอื่นบนสิ่งอื่นที่เคยนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ลมก็ไม่ซาลง จนสิ้นคิดมิรู้ที่จะบนบานอะไรต่อไป มีคนหนึ่งในพวกนั้นออกปากบนว่าถ้ารอดชีวิตได้ จะปิดทองขรัวพ่อวัดฉลอง พอบนแล้วลมพายุก็ซาลงทันที พวกคนหาปลาเหล่านั้นรอดกลับมาได้ จึงพากันไปหาท่านพระครูขออนุญาตปิดทองแก้สินบน ท่านพระครูว่า “ข้าไม่ใช่พระพุทธรูป จะทำนอกรีตมาปิดทองคนเป็นๆ อย่างนี้ข้าไม่ยอม” แต่คนหาปลาโต้ว่า “ก็ผมบนไว้อย่างนั้น ถ้าขรัวพ่อไม่ยอมให้ผมปิดทองแก้สินบน ฉวยแรงสินบนทำให้ผมเจ็บล้มตาย ขรัวพ่อจะว่าอย่างไร” ท่านพระครูจนถ้อยคำสำนวนด้วยตัวท่านก็เชื่อเรื่องแรงสินบน เกรงว่าถ้าเกิดเหตุร้ายแก่ผู้บน บาปจะตกอยู่แก่ตัวท่านก็ต้องยอม จึงเอาน้ำมาลูบขาและยื่นออกไปให้ปิดทองคำเปลวที่หน้าแข้ง แต่ให้ปิดเพียงแผ่นเล็กๆ แผ่นหนึ่งพอเป็นกิริยาบุญ พอคนบนกลับไปแล้วก็ล้างเสีย แต่เมื่อกิตติศัพท์เล่าลือกันไปว่ามีชาวเรือรอดตายได้ด้วยปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง ก็มีผู้อื่นเอาอย่าง ในเวลาเจ็บไข้หรือเกิดเหตุการณ์ กลัวจะเป็นอันตรายก็บนปิดทองท่านพระครูวัดฉลองบ้าง ฝ่ายท่านพระครูมิรู้ที่จะขัดขืนอย่างไร ก็จำต้องยอมให้ปิด จึงเกิดประเพณีปิดทองท่านพระครูวัดฉลองขึ้นด้วยประการฉะนี้ ตัวท่านเคยบอกกับฉันว่าที่ถูกปิดทองนั้นอยู่ข้างรำคาญ ด้วยคันผิวหนังตรงที่ทองปิด จนล้างออกเสียแล้วจึงหาย แต่ก็ไม่กล้าขัดขวางคนขอปิดทอง เพราะฉะนั้นท่านพระครูเข้าไปในเมืองเมื่อใด พวกที่ได้บนบานไว้ใครรู้เข้าก็ไปคอยดักทางขอปิดทองแก้สินบนคล้ายกับคอยใส่บาตร ท่านพระครูเห็นคนคอยปิดทองร้องนิมนต์ ก็ต้องหยุดให้เขาปิดทองเป็นระยะไปตลอดทาง วันนั้นท่านกำลังจะมาหาฉันไม่มีเวลาล้าง ทองจึงติดหน้าแข้งมาให้ฉันเห็น ตั้งแต่รู้จักกันเมื่อวันนั้น ท่านพระครูวัดฉลองกับฉันก็เลยชอบกันมา ท่านเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อใดก็มาหาฉันไม่ขาด เคยทำผ้าประเจียดมาให้ฉัน ฝีมือเขียนงามดีมาก ฉันไปเมืองภูเก็ตเมื่อใดก็ไปเยี่ยมท่านถึงวัดฉลองทุกครั้ง

การที่คนปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง เป็นแรกที่จะเกิดประเพณีปิดทองคนเป็นๆ เหมือนเช่นพระพุทธรูปหรือเทวรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นธรรมดาที่กิตติศัพท์จะเลื่องลือระบือเกียรติคุณของท่านพระครูวัดฉลอง แพร่หลายจนนับถือกันทั่วไปทุกหัวเมืองทางทะเลตะวันตก ใช่แต่เท่านั้น แม้จนในเมืองปีนังอันเป็นอาณาเขตของอังกฤษ คนก็พากันนับถือท่านพระครูวัดฉลอง เพราะที่เมืองปีนัง พลเมืองมีไทยและจีนเชื้อสายไทย ผู้ชายเรียกกันว่า “บาบ๋า” ผู้หญิงเรียกกันว่า “ยอหยา” ล้วนถือพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอันมาก เขาช่วยกันสร้างวัดและนิมนต์พระสงฆ์ไทยไปอยู่ก็หลายวัด แต่ในเมืองปีนังไม่มีพระเถระ พวกชาวเมืองทั้งพระและคฤหัสถ์ จึงสมมตท่านพระครูวัดฉลองให้เป็นมหาเถระสำหรับเมืองปีนัง ถ้าสร้างโบสถ์ใหม่ก็นิมนต์ให้ไปผูกพัทธสีมา ถึงฤดูบวชนาคเมื่อก่อนเข้าพรรษา ก็นิมนต์ให้ไปนั่งเป็นอุปัชฌาย์บวชนาค และที่สุดแม้พระสงฆ์เกิดอธิกรณ์ ก็นิมนต์ไปให้ไต่สวนพิพากษา ท่านพระครูพิพากษาว่าอย่างไรก็เป็นสิทธิขาด จึงเป็นอย่างสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วยอีกเมืองหนึ่ง ผิดกับเมืองภูเก็ตเพียงเป็นด้วยส่วนตัวท่านเอง มิใช่ในทางราชการ ด้วยในสมัยนั้นยังไม่มีทางรถไฟ ชาวกรุงเทพฯ กับชาวเมืองปีนังยังห่างเหินกันมาก แต่มีเรือเมล์ไปมาในระหว่างเมืองปีนังกับเมืองภูเก็ตทุกสัปดาห์ ไปมาหากันได้ง่าย ท่านพระครูวัดฉลองอยู่มาจนแก่ชรา อายุเห็นจะกว่า ๘๐ ปีจึงถึงมรณภาพ

เมื่อฉันออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ไม่ได้ไปเมืองภูเก็ตช้านาน จนถึงรัชกาลที่ ๗ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปเมืองภูเก็ตอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ เวลานั้นท่านพระครูวัดฉลอง ถึงมรณภาพเสียนานแล้ว ฉันคิดถึงท่านพระครูจึงเลยไปที่วัดฉลองด้วย ในคราวนี้สะดวกด้วยเมืองภูเก็ตมีถนนรถยนต์ไปได้หลายทาง รถยนต์ไปครู่เดียวก็ถึงวัดฉลอง เห็นวัดครึกครื้นขึ้นกว่าเคยเห็นแต่ก่อนจนแปลกตา เป็นต้นว่ากุฎีเจ้าอาวาสที่ท่านพระครูเคยอยู่ก็กลายเป็นตึกสองชั้น กุฎีพระสงฆ์และศาลาที่ก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นก็มีอีกหลายหลัง เขาบอกว่ามีผู้สร้างถวายท่านพระครูเมื่อภายหลัง แต่เมื่อมีผู้ไปสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ท่านพระครูไม่ยอมให้แก้ไขในบริเวณโบสถ์ที่ท่านเคยลงไปอยู่เมื่อต่อสู้พวกจีน กำแพงแก้วที่พวกลูกศิษย์เคยอาศัยบังตัวรบจีนครั้งนั้นก็ไม่ให้รื้อแย่งแก้ไข ยังคงอยู่อย่างเดิม ที่ในกุฎีของท่านพระครูเขาตั้งโต๊ะที่บูชาไว้ มีรูปฉายของท่านพระครูขยายเป็นขนาดใหญ่ใส่กรอบอย่างลับแลตั้งไว้เป็นประธาน บนโต๊ะนั้น มีรอยคนปิดทองแก้สินบนที่กระจกเต็มไปหมดทั้งแผ่น เหลือเป็นช่องว่างอยู่แต่ที่ตรงหน้าท่านพระครู ดูประหลาดที่ยังชอบบนปิดทองท่านพระครูอยู่ จนเมื่อตัวท่านล่วงลับไปนานแล้ว ไม้เท้าของท่านพระครูที่ชอบถือติดมือ ก็เอาวางไว้ข้างหน้ารูปและมีรอยปิดทองด้วย ไม้เท้าอันนี้ก็มีเรื่องแปลกอยู่ พวกกรมการเมืองภูเก็ตเขาเคยเล่าให้ฉันฟังตั้งแต่ท่านพระครูยังอยู่ ว่ามีเด็กผู้หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งในเมืองภูเก็ตเป็นคนมีวิสัยชอบพูดอะไรเล่น โลนๆ ครั้งหนึ่งเด็กคนนั้นเจ็บ ออกปากบนตามประสาโลน ว่าถ้าหายเจ็บจะปิดทองตรงที่ลับของขรัวพ่อวัดฉลอง ครั้นหายเจ็บถือว่าพูดเล่นก็เพิกเฉยเสีย อยู่มาไม่ช้าเด็กคนนั้นกลับเจ็บไปอีก คราวนี้เจ็บมากหมอรักษาอาการก็ไม่คลายขึ้น พ่อแม่สงสัยว่าจะเป็นด้วยถูกผีหรือด้วยแรงสินบน ถามตัวเด็กว่ามันได้บนบานไว้บ้างหรือไม่ แต่แรกตัวเด็กละอายไม่รับว่าได้บนไว้เช่นนั้น จนทนอาการเจ็บไม่ไหว จึงบอกความตามจริงให้พ่อแม่รู้ ก็พากันไปเล่าให้ท่านพระครูฟัง แล้วปรึกษาว่าจะควรทำอย่างไรดี ท่านพระครูว่าบนอย่างลามกเช่นนั้นใครจะยอมให้ปิดทองได้ ข้างพ่อแม่เด็กก็เฝ้าอ้อนวอนด้วยกลัวลูกจะเป็นอันตราย ท่านพระครูมิรู้ที่จะทำประการใด จึงคิดอุบายเอาไม้เท้าอันนั้นสอดเข้าไปใต้ที่นั่ง แล้วให้เด็กปิดทองที่ปลายไม้เท้า ผู้เล่าว่าพอแก้สินบนแล้วก็หายเจ็บ ฉันได้ถามท่านพระครูว่าเคยให้เด็กหญิงปิดทองปลายไม้เท้าแก้สินบนจริงหรือ ท่านเป็นแต่ยิ้มอยู่ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ จึงนึกว่าเห็นจะเป็นเรื่องจริงดังเขาเล่า

เรื่องพระครูวัดฉลอง ยังได้เห็นอัศจรรย์ต่อมาอีก เมื่อฉันไปอยู่เมืองปีนังใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ไปที่วัดศรีสว่างอารมณ์ เห็นมีรูปฉายท่านพระครูวัดฉลองเข้ากรอบลับแลตั้งอยู่บนโต๊ะเครื่องบูชาข้าง พระประธานที่ในโบสถ์ และมีรอยปิดทองแก้สินบนเต็มไปทั้งแผ่นกระจก เช่นเดียวกับที่เมืองภูเก็ต เดี๋ยวนี้รูปนั้นก็ยังอยู่ที่วัดศรีสว่างอารมณ์ ดูน่าพิศวง พิเคราะห์ตามเรื่องประวัติเห็นว่าควรนับว่าพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ (แช่ม) วัดฉลอง เป็นอัจฉริยบุรุษได้คนหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ