นิทานที่ ๘ เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส)

เมื่อสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศแต่ยังเป็นกรมหมื่น แรกได้มิสเตอร์เฮนรี อาลบาสเตอร์ ซึ่งเคยเป็นข้าราชการอังกฤษแล้วลาออกจากตำแหน่งมารับราชการอยู่กับไทย เป็นที่ปรึกษากฎหมายนานาประเทศมาหลายปี ครั้นมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ถึงแก่กรรม ทรงพระดำริว่าการที่มีฝรั่งผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศไว้เป็นที่ปรึกษาในกระทรวงการต่างประเทศเป็นประโยชน์มาก มีพระประสงค์จะหาตัวแทนมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ เมื่อหมอเคาแวนซึ่งเป็นราชแพทย์ประจำพระองค์ทูลลาไปยุโรปชั่วคราว สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ จึงตรัสสั่งหมอเคาแวนให้ไปสืบหาผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศถวาย หมอเคาแวนไปหาได้เนติบัณฑิตอังกฤษคนหนึ่งชื่อมิสเตอร์มิตเชล เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในกระทรวงการต่างประเทศ แต่มิสเตอร์มิตเชลเป็นผู้มีอัชฌาสัยก้าวร้าวมิใคร่มีใครชอบ แม้สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ก็ไม่โปรด เมื่อฉันออกไปยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๓๔ มิสเตอร์มิตเชลยังรับราชการอยู่ ฉันไปถึงกรุงลอนดอนพักอยู่ที่สถานทูตไทย ได้ข่าวว่ามิสเตอร์มิตเชลลาออกจากราชการ ก็ไม่ประหลาดใจอันใด แต่คิดถึงสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ว่าจะทรงลำบากด้วยต้องหาคนเป็นที่ปรึกษาใหม่ นึกขึ้นว่าเวลานั้นตัวฉันอยู่ในลอนดอน ได้เข้าสมาคมชั้นสูง มีโอกาสจะสืบหาที่ปรึกษาถวายได้ดีกว่าคนอื่น เช่นหมอเคาแวนเคยหาถวาย จึงปรารภกับมิสเตอร์เฟรเดอริควิลเลียมเวอนี ผู้เป็นที่ปรึกษาในสถานทูต มิสเตอร์เวอนีก็เห็นเช่นเดียวกัน บอกว่าเพื่อนของเขาคนหนึ่งมีศักดิ์เป็นลอร์ด ชื่อ เร เคยรับราชการในตำแหน่งสูงรู้จักผู้คนมาก จะคิดอ่านให้พบกับฉัน ถ้าฉันลองวานให้ลอร์ดเรช่วยสืบหา เห็นจะได้คนดีดังประสงค์ ต่อมามิสเตอร์เวอนีนัดเลี้ยงอาหารเย็นที่คลับ (สโมสร) แห่งหนึ่ง เชิญลอร์ดเรกับตัวฉันไปกินเลี้ยงด้วยกันที่นั่น เมื่อได้สนทนาปราศรัยมีไมตรีจิตต่อกันแล้ว ฉันเล่าถึงที่จะใคร่ได้ผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศมารับราชการเมืองไทยสักคนหนึ่ง ถามลอร์ดเรว่าจะช่วยสืบหาผู้ที่สมควรแก่ตำแหน่งให้ได้หรือไม่ ลอร์ดเรรับว่าจะช่วยหาดู ถ้าพบตัวคนเหมาะกับอย่างที่ฉันต้องการเมื่อใด จะบอกมาให้ทราบ ฉันได้พบลอร์ดเรเมื่อจวนจะออกจากประเทศอังกฤษอยู่แล้ว ยังไม่แน่ใจว่าลอร์ดเรจะหาคนให้ได้หรือไม่ จนฉันไปราชการตามประเทศต่างๆ ในยุโรปเสร็จแล้ว ขากลับแวะดูกิจการต่างๆ ที่ในประเทศอียิปต์ เมื่อพักอยู่ ณ เมืองไคโร ประจวบเวลาลอร์ดเรแปรสถานไปเที่ยวประเทศอียิปต์ และเผอิญไปพักอยู่ที่โฮเต็ลเดียวกัน พอลอร์ดเรรู้ว่าฉันไปถึงก็ตรงมาหา บอกว่าคนที่ฉันให้ช่วยหานั้น พบตัวแล้วเป็นชาวเบลเยียมชื่อ โรลังยัคมินส เป็นผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศจนขึ้นชื่อนับถือกันทั่วไปในยุโรป ถึงได้เคยไปรับเลือกเป็นนายกของสภากฎหมายนานาประเทศ และได้เคยเป็นเสนาบดีในประเทศเบลเยียมด้วย แต่เวลานั้นมองสิเออโรลังยัคมินสต้องตกยากโดยมิใช่ความผิดของตนเอง เพราะน้องชายคนหนึ่งทำการค้าขาย ขอให้มองสิเออโรลังยัคมินสค้ำประกันเงินที่กู้เขาไปทำการ เผอิญน้องชายคนนั้นล้มละลาย มองสิเออโรลังยัคมินสต้องเอาทรัพย์สมบัติของตนจำหน่ายใช้หนี้แทนน้องชายจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว จะอยู่ในประเทศเบลเยียมต่อไปไม่มีกำลังจะรักษาศักดิ์ได้ รู้ข่าวว่าลอร์ดโครเมอกำลังแสวงหาชาวยุโรปที่มีวิชาความรู้เข้าเป็นตำแหน่งในรัฐบาลอียิปต์ มองสิเออโรลังยัคมินสจึงออกมายังเมืองไคโร ลอร์ดโครเมอก็อยากได้ไว้ แต่ในเวลานั้น ตำแหน่งชั้นสูงอันสมกับศักดิ์และคุณวิเศษของมองสิเออโรลังยัคมินสยังไม่ว่าง ตัวมองสิเออโรลังยัคมินสยังอยู่ที่เมืองไคโร (ชะรอยลอร์ดเรจะได้ไปพูดทาบทามแล้ว) ถ้าฉันชวนไปรับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในประเทศไทย เห็นจะไป ฉันจึงขอให้ลอร์ดเรเชิญมองสิเออโรลังยัคมินสมากินอาหารเย็นด้วยกันกับฉันในค่ำวันนั้น สังเกตดูกิริยาเรียบร้อยอย่างเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ อายุเห็นจะเกือบ ๖๐ ปีแล้ว พอได้สนทนากัน ฉันก็ตระหนักใจว่าทรงคุณวิเศษชั้นสูงสมดังลอร์ดเรบอก ฉันจึงถามมองสิเออโรลังยัคมินส ว่าตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายนานาประเทศในประเทศไทยว่างอยู่ ถ้ารัฐบาลให้ท่านเป็นตำแหน่งนั้นจะรับหรือไม่ มองสิเออโรลังยัคมินสนิ่งอยู่สักประเดี๋ยวตอบว่า ถ้ารัฐบาลไทยปรารถนาก็จะยอมไป ฉันบอกว่าจะมีโทรเลขถามรัฐบาลไปในทันที แล้วจึงมีโทรเลขทูลสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ในค่ำวันนั้น ว่าฉันพบเนติบัณฑิตเบลเยียมอันมีชื่อเสียงในยุโรป และเคยเป็นเสนาบดีในประเทศของตนด้วยคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเอามารับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายได้ จะต้องพระประสงค์หรือไม่ ขอให้ทรงตอบโดยเร็ว พอรุ่งขึ้นก็ได้รับพระโทรเลขตอบว่าให้ฉันตกลงรับมองสิเออโรลังยัคมินสทีเดียว เมื่อตกลงกันแล้วมองสิเออโรลังยัคมินส ขอกลับไปจัดการบ้านเรือนและรับครอบครัวที่ประเทศเบลเยียมก่อน แล้วจะตามมาให้ถึงกรุงเทพฯ ภายใน ๓ เดือน ส่วนตัวฉันก็ออกจากเมืองไคโรมาในวันที่ตกลงกันนั้น เลยไปอินเดียและเมืองพม่า กลับมาถึงกรุงเทพฯ ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ก่อนมองสิเออโรลังยัคมินสมาถึง ทราบว่าพระเจ้าอับบัส ผู้เป็นเคดิฟครองประเทศอียิปต์ต่อพระเจ้าติวฟิก มีโทรเลขมาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่ารัฐบาลอียิปต์ใคร่จะตั้งมองสิเออโรลังยัคมินสเป็นตำแหน่งสำคัญในกระทรวงยุติธรรมของประเทศอียิปต์ แต่มองสิเออโรลังยัคมินสไม่ยอมรับ อ้างว่าได้สัญญาจะเข้ามารับราชการในประเทศไทยเสียแล้ว ถ้ารัฐบาลไทยไม่เพิกถอนสัญญา ก็จะรับตำแหน่งในอียิปต์ไม่ได้ เคดิฟจึงทูลขอให้โปรดทรงสงเคราะห์ด้วยเพิกถอนสัญญา ปล่อยให้มองสิเออโรลังยัคมินสรับราชการอยู่ในอียิปต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโทรเลขตอบไปว่า ประเทศอียิปต์อยู่ใกล้ยุโรป จะหาคนรับราชการได้ง่ายกว่าประเทศไทยซึ่งอยู่ห่างไกล ขอให้เคดิฟทรงเห็นแก่ประเทศไทยเถิด ทรงตอบเช่นนั้นแล้วก็สิ้นปัญหา เมื่อมองสิเออโรลังยัคมินสเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ พอสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ทรงรู้จัก ก็ตระหนักพระหฤทัยว่าได้คนทรงคุณวิเศษสูงกว่าชาวต่างประเทศที่เคยมารับราชการแต่ก่อน พาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนทนาด้วยก็ประจักษ์พระราชหฤทัย ว่ามองสิเออโรลังยัคมินสชำนาญทั้งกฎหมายและลักษณะการปกครองในยุโรป ด้วยเคยได้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในประเทศเบลเยียม อาจจะเป็นประโยชน์แก่เมืองไทยได้หลายอย่าง จึงทรงตั้งให้เป็นตำแหน่ง “ที่ปรึกษาราชการทั่วไป” มิใช่เป็นที่ปรึกษาราชการแต่ในกระทรวงการต่างประเทศกระทรวงเดียว ต่อมาทรงพระราชดำริว่ามองสิเออโรลังยัคมินสทำราชการเป็นประโยชน์มาก ด้วยมีความภักดีต่อประเทศไทย และมีอัชฌาสัยเข้ากับไทยได้ดีทุกกระทรวง ทั้งเป็นผู้ใหญ่สูงอายุและเคยมีบรรดาศักดิ์สูง ถึงเป็นเสนาบดีในบ้านเมืองของตนมาแต่ก่อน จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นที่เจ้าพระยาอภัยราชาฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รับราชการสำคัญต่างๆ จนถึงอยู่ในคณะที่ปรึกษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน นับเป็นฝรั่งคนที่ ๒ ซึ่งได้เป็น เจ้าพระยา ต่อจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส) รับราชการอยู่ได้สัก ๗ ปี เกิดป่วยเจ็บด้วยชราภาพ และจะทนอากาศร้อนอยู่ต่อไปไม่ไหว จึงจำใจต้องทูลลาออกจากราชการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเสียดาย แต่ก็ต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาต ด้วยทรงพระราชดำริว่ามีความจำเป็นเช่นนั้นจริง เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส) กลับออกไปอยู่บ้านเดิมได้สักสองสามปีก็ถึงอสัญกรรม คุณหญิงอภัยราชาก็ถึงอนิจกรรมในเวลาใกล้ๆ กัน แต่มีบุตรรับราชการของเมืองไทยต่อมา ๒ คน บุตรคนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคล้ายบิดา มีชื่อเสียงจนพระเจ้าแผ่นดินเบลเยียมทรงตั้งให้มียศเป็นบารอน คนนี้ได้เป็นผู้พิพากษาของเมืองไทยที่ในศาลต่างประเทศ ณ กรุงเฮก บุตรคนที่ ๒ ได้เป็นกงสุลเยเนอราลไทยอยู่ ณ กรุงบรัสเซลส์ ชาวเบลเยียมยังนับถือตระกูลโรลังยัคมินสอยู่จนบัดนี้

เมื่อเจ้าพระยาอภัยราชาถึงอสัญกรรมแล้วกว่า ๒๐ ปี ฉันไปยุโรปครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ไปถึงกรุงบรัสเซลส์ราชธานีของประเทศเบลเยียม พวกสมาชิกในสกุลโรลังยัคมินส บุตรเจ้าพระยาอภัยราชาทั้ง ๒ คนที่ได้กล่าวมาแล้ว และธิดาที่เคยเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ๒ คน กับที่เป็นชั้นหลานด้วยรวมกันกว่า ๑๐ คน พร้อมกันมาแสดงความขอบใจและขอเลี้ยงเวลาค่ำให้แก่ฉันด้วย เมื่อเลี้ยงแล้วเขาอยากจะรู้เรื่องเดิมที่ฉันพาเจ้าพระยาอภัยราชาเข้ามารับราชการเมืองไทย ขอให้ฉันเล่าในเวลาประชุมกันวันนั้น ฉันได้เล่าเรื่องที่เขายังไม่รู้ให้เขาฟังตามความประสงค์แต่ยังมิได้เขียนลงไว้ จึงมาเขียนในนิทานเรื่องนี้ ด้วยเห็นเป็นคติควรนับเข้าในนิทานโบราณคดีได้เรื่องหนึ่ง. 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ