นิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ

ฉันเคยค้นพบเมืองโบราณ โดยต้องพยายามอย่างแปลกประหลาด ๒ เมือง คือเมืองเชลียง ซึ่งเป็นเมืองมีเรื่องในพงศาวดาร แต่ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหนเมืองหนึ่ง กับเมืองโบราณซึ่งตัวเมืองยังมีอยู่แต่ไม่มีใครรู้จักชื่อ เผอิญฉันนึกแปลศัพท์ออก จึงรู้ว่าชื่อเมืองอู่ทอง เมืองหนึ่ง จะเล่าเรื่องค้นเมืองทั้งสองนั้นในนิทานเรื่องนี้ แล้วจะเลยเล่าแถมถึงเรื่องพบพระเจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชาหงสาวดีด้วย เพราะลูกหญิงพูนพิศมัยกับลูกหญิงพัฒนายุ (เหลือ) เธออยากฟัง ด้วยเธอเคยทนลำบากขี่ม้าแรมทางตามฉันไปจนถึงทั้ง ๓ แห่ง

เรื่องเมืองเชลียง

มูลเหตุที่ฉันค้นหาเมืองเชลียง เกิดแต่ฉันสอบเรื่องพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่องตอนหนึ่งว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) โปรดให้พระราเมศวรราชโอรส ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาหัวเมืองเหนือทั้งปวง ครั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชสวรรคต พระราเมศวรราชโอรสได้รับรัชทายาท ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จลงมาครองกรุงศรีอยุธยา ให้เจ้าเมืองเหนือต่างครองเมืองเป็นอิสระแก่กัน เจ้าเมืองเชลียง (ในหนังสือลิลิตยวนพ่ายว่าชื่อพระยายุทธิษฐิระ แต่พงศาวดารเชียงใหม่เรียกเพี้ยนไปเป็น ยุทธิษเจียง) เป็นกบฏ โจทเจ้า เอาบ้านเมืองไปยอมขึ้นต่อพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ แล้วนำกองทัพเมืองเชียงใหม่มาตีเมืองเหนือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จขึ้นไปประทับอยู่เมืองพิษณุโลก รบพุ่งกับพระเจ้าติโลกราชหลายปี จึงได้เมืองเหนือกลับคืนมาหมด ฉันอยากรู้ว่า “เมืองเชลียง” ที่เจ้าเมืองเป็นกบฏนั้นอยู่ที่ไหน พิจารณาในแผนที่เห็นว่าสมจะเป็นเมืองสวรรคโลก เพราะอยู่ต่อแดนอาณาเขตพระเจ้าเชียงใหม่ และในเรื่องพงศาวดารว่าพระยาเชลียงพากองทัพเมืองเชียงใหม่ลงมาตีได้เมืองสุโขทัย แล้วเลยไปตีเมืองกำแพงเพชรและเมืองพิษณุโลก แต่ไม่กล่าวว่าตีเมืองสวรรคโลกด้วย คงเป็นเพราะเป็นเมืองต้นเหตุ แต่เหตุไฉนในหนังสือพระราชพงศาวดารจึงเรียกว่าเมืองเชลียง ไม่เรียกว่าเมืองสวรรคโลกหรือเมืองศรีสัชนาลัย ตามชื่อซึ่งเรียกเมื่อสมัยกรุงสุโขทัย ข้อนี้ทำให้ฉันสงสัยอยู่ ดูในทำเนียบหัวเมืองครั้งกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่มีชื่อเมืองเชลียง ถามผู้อื่นก็ไม่มีใครรู้ว่าเมืองเชลียงอยู่ที่ไหน ฉันจึงไปค้นหาดูในหนังสือเก่าเรื่องอื่น พบในหนังสือพงศาวดารโยนกมีกล่าวถึงเมืองเชลียง ๒ แห่ง แห่งหนึ่งว่าเมื่อ พ.ศ. ๙๑๙ ไทยในแดนลานนาแข็งเมืองต่อขอม พวกขอมยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม แต่พระเจ้าพรหมหัวหน้าพวกไทยตีกองทัพขอมแตกพ่าย แล้วไล่พวกขอมลงมาจนถึง “แดนเมืองเชลียง” แต่พระอินทร์นฤมิตกำแพงกั้นไว้ พระเจ้าพรหมจึงหยุดอยู่เพียงนั้น อีกแห่งหนึ่งว่าเมื่อพระเจ้าพรหมสิ้นพระชนม์แล้ว ราชบุตรทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยสิริ ได้รับรัชทายาทครองเมืองชัยปราการมาจน พ.ศ. ๙๔๖ พระยามอญเมืองสเทิมยกกองทัพเข้ามาตีเมืองชัยปราการ พระเจ้าชัยสิริเห็นข้าศึกมีกำลังมากนัก เหลือที่จะต่อสู้ กลัวชาวเมืองชัยปราการจะต้องเป็นเชลย จึงให้รื้อทำลายเมืองชัยปราการเสีย แล้วอพยพผู้คนพลเมืองหนีลงมาข้างใต้ มาถึงในแดน “เมืองเชลียง” ซึ่งพระเจ้าพรหมเคยไล่พวกขอมลงมาถึงแต่ก่อนนั้น เห็นเมืองแปบร้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางฟากตะวันตก ข้างใต้เมืองกำแพงเพชร จึงตั้งอยู่ที่นั่น แล้วสร้างเมืองให้กลับคืนดีดังเก่า ขนานนามว่า “เมืองไตรตรึงส์” ตรงกับนิทานเรื่องนายแสนปม ข้างต้นหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม พงศาวดารโยนกชวนให้ฉันคิดว่าเมืองเชลียง เห็นจะเป็นเมืองเดิมที่มีมาแต่ก่อนราชวงศ์พระร่วงตั้งกรุงสุโขทัย แต่ก็คงอยู่ที่ตรงเมืองสวรรคโลกนั่นเอง เห็นจะเป็นด้วยพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์พระร่วงองค์ใดองค์หนึ่ง บูรณะเมืองเชลียงแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองศรีสัชนาลัย ฉันจึงไปตรวจดูในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัย เห็นหลักอื่นออกชื่อแต่เมืองศรีสัชนาลัยทั้งนั้น ไม่มีชื่อเมืองเชลียงเลย มีแต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักเดียว ที่ออกชื่อทั้งเมืองเชลียงและเมืองศรีสัชนาลัย ดูประหลาดอยู่ ฉันจึงพิจารณาดูความที่กล่าวถึง ๒ เมืองนั้น เห็นชอบใช้ชื่อเมืองศรีสัชนาลัย เป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศของพระเจ้ารามคำแหง เช่นบางแห่งออกพระนามว่า “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย” บางแห่งว่า “พ่อขุนรามคำแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย” ดังนี้ แต่ชื่อเมืองเชลียงนั้นมีแห่งเดียวในตอนว่าด้วยศิลาจารึก ว่า “เอามาศิลาจารึกอันหนึ่งมีในเมืองเชลียง สถาปกไว้ด้วยพระศรีรัตนธาตุ” ดังนี้ ฉันตีความว่าพระเจ้ารามคำแหง เอาศิลาจารึกของเก่าอันมีอยู่ ณ เมืองเชลียง มาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีรัตนธาตุที่เมืองศรีสัชนาลัย (คือพระปรางค์ใหญ่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า) ในคำจารึกแสดงว่าเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัย เป็นต่างเมืองกันและอยู่ต่างแห่งกัน มิใช่แปลงเมืองเชลียงเป็นเมืองศรีสัชนาลัยอย่างฉันเข้าใจมาแต่ก่อน ก็กลับไม่รู้ว่าเมืองเชลียงอยู่ที่ไหนอีก

อยู่มาวันหนึ่ง ฉันค้นหนังสือกฎหมายเก่า เห็นในบานแผนกกฎหมายลักษณะลักพาบทหนึ่ง ซึ่งพระเจ้าอู่ทองตั้งในปีมะแม พ.ศ. ๑๘๙๙ เมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยาได้ ๕ ปี มีชื่อเมืองเหนืออยู่ในนั้น ๘ เมือง เรียกเป็นคู่ๆ กัน ดังนี้

เมืองเชลียง - สุโขทัย
เมืองทุ่งยั้ง - บางยม
เมืองสองแคว - สระหลวง
เมืองชากังราว - กำแพงเพชร

เมืองทั้ง ๘ นั้นฉันรู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว ๖ เมือง คือ เมืองสุโขทัย เมืองทุ่งยั้ง เมืองกำแพงเพชร ๓ เมืองนี้ยังเรียกชื่ออยู่อย่างเดิม เมืองสองแคว เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก เมืองสระหลวง เปลี่ยนชื่อเมืองพิจิตร ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเมืองชากังราวนั้นอยู่ที่ปากคลองสวนหมาก ตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเคยเปลี่ยนชื่อว่า “เมืองนครชุม” แต่ภายหลังมารวมเป็นเมืองเดียวกับเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองชากังราวก็สูญไป ฉันยังไม่รู้แห่งแต่เมืองเชลียงกับเมืองบางยม ๒ เมืองเท่านั้น แต่สังเกตชื่อเมืองทั้ง ๘ ที่มีในบานแผนก ฉันประหลาดใจที่ขาดชื่อเมืองศรีสัชนาลัย และที่เอาชื่อเมืองเชลียงเข้าคู่กับเมืองสุโขทัย กลับหวนคิดว่าหรือเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัยจะเป็นเมืองเดียวกัน แต่มีข้อขัดข้องด้วยพระเจ้ารามคำแหงได้ตรัสไว้ในศิลาจารึก ว่าเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัยเป็น ๒ เมืองต่างกัน จะลบล้างพระราชดำรัสเสียอย่างไรได้ แต่ถึงสมัยนี้ฉันออกจะเกิดมานะ ว่าจะค้นเมืองเชลียงให้พบให้จงได้ จึงถามพวกชาวเมืองสวรรคโลกว่านอกจากเมืองศรีสัชนาลัย ยังมีเมืองโบราณอยู่ที่ไหนในเขตเมืองสวรรคโลกอีกบ้างหรือไม่ เขาบอกว่ายังมีอีกเมืองหนึ่ง อยู่ในป่าริมแม่น้ำยมเก่า ฉันขึ้นไปเมืองสวรรคโลกอีกครั้งหนึ่ง จึงให้เขาพาเดินบกไปทางนั้น ต้องค้างทางคืนหนึ่ง ก็พบเมืองโบราณอยู่ที่ริมลำน้ำยมเก่าดังเขาว่า มีเจดียวิหารวัดร้างอยู่ในเมืองนั้นหลายแห่ง แต่สังเกตดูเป็นเมืองขนาดย่อม ไม่สมกับเรื่องของเมืองเชลียง แต่ก็นึกขึ้นได้ในขณะนั้นว่าคือเมืองบางยม ที่ยังไม่รู้แห่งอยู่อีกเมืองหนึ่งนั้นนั่นเอง เพราะอยู่ในระหว่างเมืองทุ่งยั้งกับเมืองศรีสัชนาลัย และตัวเมืองก็ตั้งอยู่ริมลำน้ำยม เป็นอันรู้แห่งเมืองทั้ง ๘ เพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ยังขาดแต่เมืองเชลียงเมืองเดียว แต่ก็หมดสิ้นที่จะค้นหาต่อไป ต้องจำนนอีกครั้งหนึ่ง

ต่อนั้นมาไม่ช้านัก ฉันขึ้นไปเที่ยวมณฑลพายัพ เมื่อพักอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ บ่ายวันหนึ่งฉันไปเดินเที่ยวเล่น เมื่อผ่านคุ้มหลวงที่เจ้าเชียงใหม่แก้วนวรัฐอยู่ เห็นผู้หญิงยืนอยู่ที่ประตูคุ้มคนหนึ่ง มันเห็นฉันก็นั่งลงด้วยความเคารพ ฉันจึงทักถามว่า “เจ้าหลวงอยู่ไหม” มันประนมมือไหว้ตอบว่า “มี, เจ้า.” ฉันก็นึกขึ้นในขณะนั้นว่าได้ความรู้อย่างหนึ่ง ว่าภาษาไทยเหนือเขาใช้คำ “มี” หมายความเหมือนอย่างไทยใต้ว่า “อยู่” ครั้นกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ วันหนึ่งฉันรื้อคิดขึ้นถึงเรื่องค้นหาเมืองเชลียง นึกว่าในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงว่า “ศิลาจารึกอันหนึ่ง มี ในเมืองเชลียง” คำ “มี” จะใช้หมายความอย่างไทยเหนือดอกกระมัง จึงเอาสำเนาจารึกมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แต่ก่อนฉันเคยตรวจแต่ตรงว่าด้วยศิลาจารึกหลักที่เมืองเชลียง ครั้งนี้ตรวจต่อนั้นไปอีก เห็นกล่าวถึงศิลาจารึกอีก ๒ หลักแล้วจึงหมดวรรคว่าด้วยศิลาจารึก รวมสำเนาทั้งวรรคเป็นดังนี้ “และเอามาจารึกอันหนึ่งมีในเมืองเชลียง สถาปกไว้ด้วยพระศรีรัตนธาตุ จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำพระรามอยู่ฝั่งน้ำสำพาย จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำรัตนธาร” ดังนี้ เผอิญศิลาจารึกในถ้ำพระรามนั้น พระยารามราชภักดี (ใหญ่) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ไปพบแล้วยังอยู่ในถ้ำพระรามนั้นเอง ไม่ได้ย้ายเอาไปไว้ที่อื่น ในคำจารึกที่ว่า “มีในถ้ำพระราม” และ “มีในถ้ำรัตนธาร” ก็ว่าอย่างเดียวกันกับ “มีในเมืองเชลียง” ฉันนึกว่าถ้าคำ “มี” ทั้ง ๓ แห่งนั้นใช้หมายความว่า “อยู่” ความก็กลายไปว่าหลักศิลาจารึก “อยู่ ณ เมืองเชลียง” และ “อยู่ ณ ถ้ำพระราม” กับ “อยู่ ณ ถ้ำรัตนธาร” เหมือนกันทั้ง ๓ หลัก ที่ออกนามพระศรีรัตนธาตุเป็นแต่บอกว่า “อยู่ตรงไหน” ในเมืองเชลียง เพราะเมืองเป็นที่กว้างใหญ่ แต่อีก ๒ หลักเป็นแต่ปักไว้ในถ้ำ ใครไปถึงถ้ำก็แลเห็น ไม่ต้องบอกว่าเอาไว้ที่ตรงไหน ได้หลักฐานดังนี้ ฉันจึงตีความใหม่ว่าพระเจ้ารามคำแหงได้เอาศิลาจารึกประดิษฐานไว้ ๓ แห่ง อยู่ที่เมืองเชลียง ณ วัดพระศรีรัตนธาตุแห่งหนึ่ง อยู่ในถ้ำพระรามแห่งหนึ่ง และอยู่ในถ้ำรัตนธารแห่งหนึ่ง ตีความเป็นอย่างนี้ คิดต่อไปก็แลเห็นหลักฐานเรื่องเมืองเชลียงแจ่มแจ้งเข้ากันได้หมด คือ

เมืองเชลียง เป็นเมืองเก่ามีมาก่อนตั้งกรุงสุโขทัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า ตรงที่พระปรางค์ใหญ่ปรากฏอยู่จนบัดนี้ คำที่พระเจ้ารามคำแหงเรียกพระปรางค์องค์นั้นว่า “พระศรีรัตนธาตุ” ความก็หมายว่าเป็น “พระมหาธาตุ” ที่เป็นหลักเมือง แสดงว่าที่ตรงนั้นต้องเป็นเมือง จึงมีพระศรีรัตนธาตุ ใช่แต่เท่านั้น ที่วัดเจ้าจันท์ไม่ห่างกับวัดพระศรีรัตนธาตุนัก ยังมีเทวสถานศิลาที่พวกขอมสร้างไว้ปรากฏอยู่แห่งหนึ่ง ก็แสดงว่าตรงนั้นต้องเป็นเมืองอยู่ก่อน เรื่องประวัติของเมืองเชลียงต่อมาก็พอคิดเห็นได้ คือเมื่อถึงสมัยกรุงสุโขทัย พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง จะเป็นพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นต้นราชวงศ์ หรือพระเจ้าบาลเมืองราชโอรส ซึ่งรับรัชทายาท หรือแม้พระเจ้ารามคำแหงก็เป็นได้ ให้สร้างเมืองใหม่มีป้อมปราการก่อด้วยศิลาแลงอย่างมั่นคง สำหรับเป็นราชธานีสำรองขึ้นข้างเหนือเมืองเชลียง ห่างกันราวสัก ๒๐ เส้น (ขนาดพระราชวังดุสิตห่างกับพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ) ขนานนามเมืองใหม่นั้นว่า “เมืองศรีสัชนาลัย” บางทีจะได้รื้อศิลาปราการเมืองเชลียงไปใช้สร้างเมืองใหม่ แต่เจดียสถานของเดิมที่ในเมืองเชลียง เช่นปรางค์ศรีรัตนธาตุเป็นต้น เห็นเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีมาแต่ดั้งเดิม จึงให้คงรักษาไว้อย่างเดิมไม่รื้อแย่งทิ้งซากเมืองเชลียงให้คงอยู่ แต่เมื่อสร้างเมืองใหม่แล้ว พนักงานบังคับบัญชาราชการบ้านเมือง ย้ายจากเมืองเชลียงขึ้นไปตั้งอยู่ ณ เมืองศรีสัชนาลัย ข้อนี้เป็นเหตุให้ชื่อเมืองศรีสัชนาลัยแทนเมืองเชลียงในทางราชการ ศิลาจารึกของเมืองสุโขทัยจึงมีแต่ชื่อเมืองศรีสัชนาลัย ไม่มีชื่อเมืองเชลียง แต่ในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงต้องออกชื่อเมืองเชลียง เพราะพระเจ้ารามคำแหงเอาศิลาจารึกไปประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีรัตนธาตุที่เมืองเชลียง มิได้เอาไปไว้ ณ เมืองศรีสัชนาลัย จึงต้องเรียกชื่อเมืองเชลียง

ในเรื่องเมืองเชลียง มีประหลาดอีกอย่างหนึ่ง เมื่อฉันค้นศิลาจารึกและหนังสือเก่า สังเกตเห็นเรียกชื่อเมืองศรีสัชนาลัย แต่ในหนังสือหรือจารึกซึ่งแต่งในกรุงสุโขทัย ถ้าเป็นหนังสือแต่งในประเทศอื่น เช่นกรุงศรีอยุธยาก็ดี หรือเมืองเชียงใหม่ก็ดี ที่จะเรียกชื่อเมืองศรีสัชนาลัยหามีไม่ เรียกว่าเมืองเชลียงทั้งนั้น จนอาจจะอ้างได้ว่าหนังสือเรื่องใดมีชื่อเมืองเชลียง เป็นไม่มีชื่อเมืองศรีสัชนาลัย ถ้ามีชื่อเมืองศรีสัชนาลัยเป็นไม่มีชื่อเมืองเชลียง เว้นแต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวมาแล้วแห่งเดียวเท่านั้น จะเป็นเพราะเหตุใด จะว่าเพราะต่างประเทศไม่รู้ว่าสร้างเมืองศรีสัชนาลัยก็ใช่เหตุ คิดดูเห็นว่าต่างประเทศคงเห็นว่าเมืองใหม่ อยู่ใกล้ๆ กันกับเมืองเดิม สร้างขึ้นแต่สำหรับเฉลิมพระเกียรติคล้ายกับพระราชวัง จึงคงเรียกว่าเมืองเชลียงตามเคย เรียกมาจนชินแล้ว ไม่เปลี่ยนไปเรียกชื่อใหม่อย่างชาวสุโขทัย เห็นจะเป็นเช่นนั้นมาจนตั้งชื่อใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ให้เรียกชื่อรวมกันทั้งเมืองเชลียงและเมืองศรีสัชนาลัยว่า “เมืองสวรรคโลก” แต่ตัวเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัย ก็ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ทั้งสองเมือง

เรื่องเมืองอู่ทอง

ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับแรกพิมพ์เมื่อรัชกาลที่ ๔ มีนิทานเล่าถึงเรื่องต้นวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองอยู่ข้างต้น ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งครองเมืองเชียงรายอยู่ในแดนลานนา อยู่มาพวกมอญเมืองสเทิมยกกองทัพมาตีเมืองเชียงราย พระเจ้าเชียงรายเห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากมายใหญ่หลวงนัก จะสู้ไม่ไหว ก็ทิ้งเมืองเชียงราย พาไพร่บ้านพลเมืองอพยพหนีข้าศึกมาทางแม่น้ำปิง มาเห็นเมืองแปบร้างอยู่ทางฝั่งตะวันตก ข้างใต้เมืองกำแพงเพชร จึงตั้งอยู่ ณ ที่นั้น และสร้างเมืองขึ้นเป็นราชธานี ให้ชื่อว่า “เมืองไตรตรึงส์” (อยู่ที่ตำบลวังพระธาตุ) แล้วเสวยราชย์สืบวงศ์มา ๓ ชั่ว ถึงรัชกาลพระเจ้าไตรตรึงส์องค์ที่ ๓ มีชายทุคตะเข็ญใจคนหนึ่งรูปร่างวิกล เป็นปมเปาไปทั่วทั้งตัวจนเรียกกันว่า “แสนปม” ตั้งทำไร่เลี้ยงชีพอยู่ที่เกาะอันหนึ่ง ข้างใต้เมืองไตรตรึงส์ ก็นายแสนปมนั้นมักไปถ่ายปัสสาวะที่โคนต้นมะเขือในไร่ของตนเนืองๆ ครั้นมะเขือออกลูก เผอิญมีผู้ได้ไปส่งทำเครื่องเสวยที่ในวัง ราชธิดาองค์หนึ่งเสวยมะเขือนั้นทรงครรภ์ขึ้นมาโดยมิได้มีวี่แววว่าเคยคบชู้สู่ชาย แล้วคลอดบุตรเป็นชาย พระเจ้าไตรตรึงส์ใคร่จะรู้ว่าใครเป็นบิดาของบุตรนั้น พอกุมารเจริญถึงขนาดรู้ความ ก็ประกาศสั่งให้บรรดาชายชาวเมืองไตรตรึงส์ หาของมาถวายกุมารราชนัดดา และทรงอธิษฐานว่า ถ้ากุมารเป็นบุตรของผู้ใดขอให้ชอบของผู้นั้น นายแสนปมถูกเรียกเข้าไปด้วย ไม่มีอะไรจะถวายได้แต่ข้าวสุกก้อนหนึ่งถือไป แต่กุมารเฉพาะชอบข้าวสุกของนายแสนปม เห็นประจักษ์แก่ตาคนทั้งหลาย พระเจ้าไตรตรึงส์ได้ความอัปยศอดสู ก็ให้เอากุมารหลานชายกับนางราชธิดาที่เป็นมารดา ลงแพปล่อยลอยน้ำไปเสียด้วยกันกับนายแสนปม แต่เมื่อแพลอยลงไปถึงไร่ของนายแสนปม พระอินทร์จำแลงเป็นลิงเอากลองสารพัดนึกลงมาให้นายแสนปมใบหนึ่ง บอกว่าจะปรารถนาสิ่งใดก็ให้ตีกลองนั้น จะสำเร็จได้ดังปรารถนา ๓ ครั้ง นายแสนปมตีกลองครั้งแรก ปรารถนาจะให้ปมเปาที่ตัวหายไป ก็หายหมดกลับมีรูปโฉมเป็นสง่างาม ตีครั้งที่ ๒ ปรารถนาจะมีบ้านเมืองสำหรับครอบครอง ก็เกิดเมืองขึ้นที่ใกล้บ้านโคนข้างใต้เมืองไตรตรึงส์ทางฝั่งตะวันออก ตีครั้งที่ ๓ ปรารถนาเปลทองคำสำหรับให้กุมารนอน ก็เกิดเปลทองคำขึ้นดังปรารถนา เพราะกุมารมีบุญได้นอนเปลทองคำของนฤมิต ผิดกับคนอื่น จึงได้นามว่า “เจ้าอู่ทอง” ส่วนนายแสนปมก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ทรงนามว่า “พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน” ครองเมืองที่นฤมิตนั้นขนานนามว่า “เมืองเทพนคร” เมื่อพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนสิ้นชีพ เจ้าอู่ทองได้รับรัชทายาทครองเมืองเทพนครมาได้ ๖ ปี พระเจ้าอู่ทองปรารภหาที่สร้างราชธานีใหม่ให้บริบูรณ์พูนสุขกว่าเมืองเทพนคร ให้ข้าหลวงเที่ยวตรวจตราหาที่ เห็นว่าที่ตำบลหนองโสนเหมาะดี พระเจ้าอู่ทองจึงย้ายจากเมืองเทพนคร ลงมาสร้างพระนครศรีอยุธยา ราชาภิเษกทรงพระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” เรื่องพระราชพงศาวดารตั้งต้นต่อนิทานนี้ เริ่มความแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ. ๑๘๙๓

นิทานเรื่องนายแสนปมนี้ ที่เป็นมูลเหตุให้คนทั้งหลายเข้าใจกันว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามเดิมว่า “อู่ทอง” เพราะมีบุญญาภินิหาร ได้บรรทมเปลทองของนฤมิตเมื่อยังทรงพระเยาว์ คำที่เรียกกันในหนังสือต่างๆ ว่า “พระเจ้าอู่ทอง” จึงถือกันว่าเป็นพระนามส่วนพระองค์ ทำนองเดียวกับ “พระสังข์” ในนิทานที่ชอบเล่นละครกัน

แต่เรื่องพระเจ้าอู่ทองยังมีในหนังสืออื่นอีก ในหนังสือพงศาวดารเหนือ อธิบายความไปอีกอย่างหนึ่ง ว่าเมื่อพระยาแกรกผู้มีบุญสิ้นพระชนม์แล้ว ราชวงศ์ได้ครองเมือง (ชื่อไรไม่กล่าว) สืบมา ๓ ชั่ว ถึงชั่วที่ ๓ มีแต่ราชธิดา ไม่มีราชวงศ์ที่เป็นชายจะครองเมือง โชดกเศรษฐีกับกาลเศรษฐี (ทำนองจะเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่) จึงปรึกษากันให้ลูกชายของโชดกเศรษฐีชื่อว่า “อู่ทอง” อภิเษกกับราชธิดา แล้วครองเมืองนั้น อยู่มาได้ ๖ ปีเกิดห่า (โรคระบาด) ลงกินเมือง ผู้คนล้มตายมากนัก พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนพลเมืองหนีห่า มาสร้างกรุงศรีอยุธยา แม้ในเรื่องนี้คำ “อู่ทอง” ก็ว่าเป็น “ชื่อคน”

ยังมีพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งทรงแต่งพระราชทานดอกเตอร์ดีน มิชชันนารีอเมริกัน ส่งไปลงพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ไชนีสริปอสิตอรี” ในเมืองจีน เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ แต่พระบรมราชาธิบายมีเพียงว่า พระเจ้าอู่ทองซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหสีครองเมือง (ชื่อไรมิได้มีในพระราชนิพนธ์) อยู่ได้ ๖ ปีเกิดห่าลงกินเมือง จึงย้ายมาตั้งกรุงศรีอยุธยา เรื่องพระเจ้าอู่ทองที่พบในหนังสือเก่า มิได้กล่าวว่าคำ “อู่ทอง” เป็นชื่อเมืองแต่สักเรื่องหนึ่ง แม้ตัวฉันก็ไม่เคยคิดว่ามีเมืองชื่อว่า “อู่ทอง” มูลเหตุที่จะพบ “เมืองอู่ทอง” นั้น เกิดแต่เมื่อปีแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี เป็นครั้งแรกที่เจ้านายเสด็จไปเมืองนั้นดังเล่าในนิทานเรื่องอื่นแล้ว ฉันถามชาวเมืองสุพรรณถึงของโบราณต่างๆ ที่มีในเขตเมืองนั้น เขาบอกว่ามีเมืองโบราณร้างอยู่ในป่าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองสุพรรณบุรีแห่งหนึ่ง เรียกกันว่า “เมืองท้าวอู่ทอง” ผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า พระเจ้าอู่ทองเสวยราชย์อยู่ที่เมืองนั้นก่อน อยู่มาห่าลงกินเมือง พระเจ้าอู่ทองจึงพาผู้คนหนีห่า ย้ายไปสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเล่าต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองหนีห่าครั้งนั้น พาผู้คนไปข้ามแม่น้ำสุพรรณตรงที่แห่งหนึ่ง ยังเรียกกันว่า “ท่าท้าวอู่ทอง” อยู่จนทุกวันนี้ ฉันได้ฟังก็เกิดอยากไปดูเมืองท้าวอู่ทอง แต่เขาว่าอยู่ไกลนัก ถ้าจะเดินบกไปจากเมืองสุพรรณฯ จะต้องแรมทางสัก ๒ คืนจึงจะถึง ทางที่จะไปได้สะดวกนั้นต้องไปเรือ เข้าคลองสองพี่น้องที่ใกล้กับแดนเมืองนครชัยศรี ไปทางคลองจนถึงบ้านสองพี่น้องที่อยู่ชายป่าแล้ว ขึ้นเดินบกต่อไปวันเดียวก็ถึง ฉันจึงไม่สามารถจะไปดูเมืองท้าวอู่ทองได้ในคราวนั้น แต่ผูกใจไว้ว่าจะไปดูให้ได้สักครั้งหนึ่ง

ต่อมาอีกสักสองสามปี จะเป็นปีใดฉันจำไม่ได้ ฉันจะไปตรวจเมืองสุพรรณบุรีอีก ครั้งนี้จะไปดูอำเภอสองพี่น้อง อันเป็นอำเภอใหญ่อยู่ข้างใต้เมืองสุพรรณบุรี ฉันนึกขึ้นถึงเมืองท้าวอู่ทอง จึงสั่งให้เขาเตรียมพาหนะสำหรับเดินทางบก กับหาที่พักแรมไว้ที่เมืองท้าวอู่ทองด้วย เมื่อตรวจราชการที่อำเภอสองพี่น้องแล้ว ฉันก็ขี่ม้าเดินบกไป ทางที่ไปเป็นป่าเปลี่ยว แต่มีไม้แก่นชนิดต่างๆ มาก ถึงมีหมู่บ้านตั้งอยู่ในป่านั้น ชาวบ้านหากินแต่ด้วยทำเกวียนส่งไปขายยังที่อื่นๆ เพราะหาไม้ต่างๆ สำหรับทำเกวียนได้ง่าย ฉันพักร้อนกินกลางวันที่บ้านนั้นแล้วเดินทางต่อไป พอตกเย็นก็ถึงบ้านจระเข้สามพัน อันเป็นที่พักแรม อยู่ที่ริมลำน้ำชื่อเดียวกัน ใต้เมืองท้าวอู่ทองลงมาไม่ห่างนัก รวมระยะทางที่เดินบกไปจากบ้านสองพี่น้องเห็นจะราวสัก ๗๐๐ เส้น

วันรุ่งขึ้น ฉันเข้าไปดูเมืองท้าวอู่ทอง เมืองตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกลำน้ำจระเข้สามพัน ดูเป็นเมืองเก่าแก่ใหญ่โต เคยมีป้อมปราการก่อด้วยศิลา แต่หักพังไปเสียเกือบหมดแล้ว ยังเหลือคงรูปแต่ประตูเมืองแห่งหนึ่งกับป้อมปราการ ต่อจากประตูนั้นข้างละเล็กน้อย แนวปราการด้านหน้าตั้งบนที่ดอน ดูเป็นตระพักสูงราว ๖ ศอก แล้วเป็นแผ่นดินต่ำต่อไปสัก ๕ เส้นถึงริมน้ำจระเข้สามพัน มีรอยถนนจากประตูเมืองตรงลงไปถึงท่า เรียกว่า “ท่าพระยาจักร” พิเคราะห์ดูลำน้ำจระเข้สามพัน เดิมเห็นจะเป็นแม่น้ำใหญ่ ที่สูงซึ่งสร้างปราการจะเป็นตลิ่ง ครั้นนานมาเกิดมีช่องทางพาสายน้ำไหลไปเสียทางอื่น แม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินแคบเข้าโดยลำดับ จนเกิดแผ่นดินที่ราบมีขึ้นริมตลิ่ง ก็ต้องทำถนนต่อออกไปจากเมืองจนถึงท่าเรือ ความที่ว่านี้เห็นได้ด้วยมีสระขุดขนาดใหญ่ สัญฐานเป็นสี่เหลี่ยมรีอยู่ทั้งสองข้างถนน คงขุดสำหรับขังน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง น่าจะเป็นเพราะเมืองกันดารน้ำหนักขึ้นนั่นเอง เป็นเหตุให้เกิดห่า (เช่นอหิวาตกโรคเป็นต้น) ลงกินเมืองเนืองๆ มิใช่เพียงแต่ครั้งเดียว พระเจ้าอู่ทองจึงต้องทิ้งเมืองย้ายมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ข้างในเมืองท้าวอู่ทองเมื่อฉันไปดู เป็นแต่ที่อาศัยของสัตว์ป่า ได้เห็นอีเก้งวิ่งผ่านหน้าม้าไปใกล้ๆ แต่สังเกตดูพื้นที่เป็นโคกน้อยใหญ่ต่อๆ กันไปทุกทาง และตามโคกมีก้อนหินและอิฐหักปนอยู่กับดินแทบทั้งนั้น เพราะเคยเป็นที่ปูชนียสถาน เช่นพระเจดียวิหาร เมื่อบ้านเมืองยังดีเห็นจะมีมาก ฉันดูเมืองแล้วให้คนแยกย้ายกันไปเที่ยวค้นหาของโบราณ ที่ยังมีทิ้งอยู่ในเมืองท้าวอู่ทอง พบของหลายอย่าง เช่นพระเศียรพระพุทธรูปเป็นต้น แบบเดียวกันกับพบที่พระปฐมเจดีย์ แม้เงินเหรียญตราสังข์ของโบราณซึ่งเคยพบแต่ที่พระปฐมเจดีย์ ชาวบ้านก็เคยขุดได้ที่เมืองท้าวอู่ทอง ดูประหลาดนักหนา ใช่แต่เท่านั้น แม้เทวรูปโบราณที่นับถือกันในสมัยภายหลังมา ก็มีรูปพระวิษณุแบบเก่าที่ทำใส่หมวกแทนมงกุฎ อยู่ที่ท่าพระยาจักรองค์หนึ่ง ซึ่งคนถือว่าศักดิสิทธิ์ไม่กล้าย้ายเอาไปที่อื่น ซากของชั้นหลัง เช่นพระเจดีย์แบบสมัยกรุงสุโขทัยก็มี เมื่อฉันได้เห็นเมืองท้าวอู่ทองเป็นดังว่ามา คิดว่าน่าจะเป็นเมืองตั้งมาแต่ในสมัยเมื่อเมืองที่พระปฐมเจดีย์ เป็นราชธานีของประเทศ (ที่นักปราชญ์เขาค้นได้ในจดหมายเหตุจีนว่าชื่อ “ทวาราวดี”) จึงใช้สิ่งของแบบเดียวกันมาก ใจฉันก็เริ่มผูกพันกับเมืองท้าวอู่ทองมาตั้งแต่ไปเห็นเมื่อครั้งแรก

ครั้นถึงสมัยเมื่อสร้างเมืองนครปฐมขึ้นที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ ฉันออกไปตรวจการบ่อยๆ สังเกตเห็นที่พระปฐมเจดีย์มีรอยลำน้ำเก่า ๒ สาย สายหนึ่งวกวนขึ้นไปทางทิศเหนือ อีกสายหนึ่งวกวนไปทางทิศตะวันตก ฉันอยากรู้ว่าลำน้ำสายไปข้างเหนือนั้น จะขึ้นไปถึงเมืองท้าวอู่ทองหรือไม่ จึงวานพระยานครพระราม (ม.ร.ว. เจ๊ก) เมื่อยังเป็นนายอำเภอพระปฐมเจดีย์ ให้ตรวจแนวลำน้ำนั้นว่าจะขึ้นไปถึงไหน ด้วยแกเคยอยู่ในกรมแผนที่ทำแผนที่เป็น พระยานครพระรามตรวจได้ความว่าแนวลำน้ำนั้น ขึ้นไปผ่านหน้าเมืองกำแพงแสน ซึ่งเป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง แล้วมีร่องรอยต่อขึ้นไปข้างเหนือ จนไปต่อกับลำน้ำจระเข้สามพันที่ตั้งเมืองท้าวอู่ทอง ใช่แต่เท่านั้น สืบถามที่เมืองสุพรรณบุรียังได้ความต่อไป ว่าลำน้ำจระเข้สามพันนั้นยืดยาว ต่อขึ้นไปทางเหนืออีกไกลมาก และมีของโบราณ เช่นสระน้ำ ๔ สระสำหรับราชาภิเษกเป็นต้น อยู่ริมลำน้ำนั้นหลายแห่ง แต่ลำน้ำเดิมตื้นเขินยังมีน้ำแต่เป็นตอนๆ คนจึงเอาชื่อตำบลที่ยังมีน้ำเรียกเป็นชื่อ ลำน้ำนั้นกลายเป็นหลายชื่อ

ส่วนลำน้ำที่พระปฐมเจดีย์อีกสายหนึ่ง ซึ่งไปทางตะวันตกนั้น ตรวจเมื่อภายหลังก็ได้ความรู้อย่างแปลกประหลาด ว่าไปต่อกับแม่น้ำราชบุรีที่ตำบลท่าผา และมีวัดพุทธาวาส พวกชาวอินเดียที่มาตั้งเมือง ณ พระปฐมเจดีย์ ก่อสร้างด้วยศิลา ปรากฏอยู่ที่พงตึกทางฟากตะวันตกเหนือปากน้ำนั้น เป็นอันพบหลักฐานแน่นอนว่า เมืองโบราณที่พระปฐมเจดีย์นั้น ตั้งอยู่ที่แม่น้ำสองสายประสบกัน และอยู่ใกล้ปากน้ำที่ออกทะเลด้วย เพราะเคยขุดพบสายโซ่และสมอเรือทะเลที่ตำบลธรรมศาลา อยู่ห่างพระปฐมเจดีย์มาทางทิศตะวันออกไม่ไกลนัก เพราะเป็นเมืองมีทางคมนาคมค้าขาย ทั้งทางบกทางทะเลและทางแม่น้ำบริบูรณ์ เมืองเดิมที่พระปฐมเจดีย์จึงได้เป็นราชธานีของประเทศทวาราวดี

ฉันคิดวินิจฉัยเรื่องเมืองท้าวอู่ทอง เห็นว่าเมื่อแรกตั้งคงเป็นเมืองในอาณาเขตของประเทศทวาราวดี มีมาก่อนสมัยพระเจ้าอู่ทองหลายร้อยปี และคงมีชื่อเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉันอยากรู้ชื่อเดิมของเมืองท้าวอู่ทอง คิดหาที่ค้นนึกขึ้นได้ว่าในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงตอนข้างท้ายมีชื่อเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัย ในสมัยพระเจ้ารามคำแหงบอกไว้ทุกทิศ จึงไปตรวจดูชื่อเมืองขึ้นทางทิศใต้ในศิลาจารึกนั้น มีว่า “เบื้องหัวนอนรอด (ทิศใต้ถึงเมือง) โคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว” ดังนี้ ก็เมืองเหล่านั้นฉันเคยไปแล้วทั้ง ๗ เมือง รู้ได้ว่าในจารึกเรียบเรียงเป็นลำดับกันลงมาตั้งแต่ต่อเมืองกำแพงเพชร คือเมืองโคนที อยู่ที่ใกล้บ้านโคน ทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง ยังเป็นเมืองร้างมีวัดวาของโบราณปรากฏอยู่ตรงที่อ้างในนิทานเรื่องนายแสนปมว่าเป็น “เมืองเทพนคร” ที่พระบิดาของพระเจ้าอู่ทองนฤมิต ก็แต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง มีมาก่อนนิทานเรื่องนายแสนปมตั้ง ๑๐๐ ปี ก็เป็นอันลบล้างข้อที่อ้างว่าเป็นเมืองเทพนคร และลบล้างต่อไปจนความข้อที่อ้างว่าพระเจ้าอู่ทองครองเมืองเทพนครนั้นอยู่ก่อนลงมาสร้างกรุงศรีอยุธยา ต่อเมืองโคนทีลงมาออกชื่อ “เมืองพระบาง” เมืองนั้นก็ยังเป็นเมืองร้างปรากฏอยู่ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำปิง ข้างหลังตลาดปากน้ำโพบัดนี้ แม้ในหนังสือพระราชพงศาวดารตอนรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราช ก็มีว่าเมื่อเมืองเหนือเป็นจลาจล สมเด็จพระอินทราชาธิราชเสด็จยกกองทัพขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองพระบาง ต่อเมืองพระบางลงมาถึง “เมืองแพรก” คือเมืองสรรค์ก็ยังมีเมืองโบราณอยู่จนบัดนี้ ในกฎหมายและพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยาก็เรียกว่า “เมืองแพรก” เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ซึ่งแยกจากแม่น้ำปิงไปทางทิศตะวันตก เห็นจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองสรรค์” เมื่อภายหลัง ต่อเมืองแพรกลงมาถึง “เมืองสุพรรณภูมิ” พิเคราะห์ตามแผนที่ตรงกับ “เมืองท้าวอู่ทอง” มิใช่ “เมืองสุพรรณบุรี” ซึ่งสร้างเมื่อภายหลัง ต่อเมืองสุพรรณภูมิไปในจารึกก็ออกชื่อเมืองราชบุรี ข้ามเมืองโบราณที่พระปฐมเสีย หากล่าวถึงไม่ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าจารึกแต่ชื่อเมืองอันเป็นที่ประชุมชน เมืองร้างหากล่าวถึงไม่

ฉันนึกว่าเหตุไฉนในจารึกของพ่อขุนรามคำแหง จึงเรียกชื่อ “เมืองท้าวอู่ทอง” ว่า “เมืองสุพรรณภูมิ” ก็ศัพท์ ๒ ศัพท์นั้นเป็นภาษามคธ คำ “สุพรรณ” แปลว่า “ทองคำ” และคำ “ภูมิ” แปลว่า “แผ่นดิน” รวมกันหมายความว่า “แผ่นดินอันมีทองคำมาก” ถ้าใช้เป็น“ชื่อเมือง”ก็ตรงกับว่าเป็น “เมืองอันมีทองคำมาก” พอนึกขึ้นเท่านั้นก็คิดเห็นทันทีว่าชื่อ “สุพรรณภูมิ” นั้นตรงกับชื่อ “อู่ทอง” ในภาษาไทยนั่นเอง เพราะคำว่า “อู่” หมายความว่า “ที่เกิด” หรือ “ที่มี” ก็ได้ เช่นพูดกันว่า “อู่ข้าวอู่น้ำ” มิได้หมายแต่ว่า “เปล” สำหรับเด็กนอนอย่างเดียว และคำที่เรียกกันว่าท้าวอู่ทองก็ดี พระเจ้าอู่ทองก็ดี น่าจะหมายความว่า “เจ้าเมืองอู่ทอง” ใครได้เป็นเจ้าเมือง พวกเมืองอื่นก็เรียกว่าท้าวอู่ทองหรือพระเจ้าอู่ทอง เช่นเรียกว่า ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา หรือพระเจ้าเชียงใหม่ และพระเจ้าน่าน มิใช่ชื่อตัวบุคคล คิดต่อไปว่าเหตุไฉนจึงเปลี่ยนชื่อเมืองสุพรรณภูมิ เป็น เมืองอู่ทอง เห็นว่าเมืองนั้นเดิมพวกพราหมณ์คงตั้งชื่อว่า “สุพรรณภูมิ” ในสมัยเดียวกันกับตั้งชื่อ “เมืองราชบุรี และ เมืองเพชรบุรี” ต่อมาน่าจะร้างเสียสักคราวหนึ่ง เนื่องจากเหตุที่พระเจ้าราชาธิราชเมืองพุกามมาตีเมืองราชธานีที่พระปฐมเจดีย์ ในระหว่าง พ.ศ. ๑๖๐๐ ต่อมาพวกไทยลงมาจากข้างเหนือ อาจเป็นพวกพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนก็ได้ มาตั้งเมืองสุพรรณภูมิขึ้นอีกเรียกชื่อกันเป็นภาษาไทย จึงได้นามว่า “เมืองอู่ทอง” แต่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงใช้ชื่อตามธรรมเนียมเดิม จึงเรียกว่า “เมืองสุพรรณภูมิ”

พอฉันโฆษณาความที่คิดเห็นเรื่องเมืองอู่ทองให้ปรากฏ พวกนักเรียนโบราณคดีก็เห็นชอบด้วยหมด เมืองนั้นจึงได้ชื่อเรียกกันว่า “เมืองอู่ทอง” แต่นั้นมา ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อค้นพบพระเจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างไว้ตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ณ ตำบลหนองสาหร่าย ในแขวงเมืองสุพรรณฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะเสด็จเดินป่าจากพระปฐมเจดีย์ ไปนมัสการพระเจดีย์นั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้เสด็จแวะทอดพระเนตรเมืองอู่ทองในระหว่างทาง ประทับแรมอยู่ที่ในเมืองคืนหนึ่ง ทรงพระราชดำริเห็นว่าวินิจฉัยเรื่องเมืองอู่ทอง มีหลักฐานมั่นคง ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม จึงพระราชทานพระนามกรมว่าเจ้าฟ้า “กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี” ชื่อเมืองอู่ทองก็เพิ่มขึ้นในทำเนียบหัวเมืองอีกเมืองหนึ่งด้วยประการฉะนี้

เรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถี

การที่ค้นพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีเกี่ยวข้องกับตัวฉันอยู่บ้าง และเหตุที่ค้นพบก็อยู่ข้างแปลกประหลาด จึงจะเล่าไว้ในนิทานเรื่องนี้ด้วย

เรื่องสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำยุทธหัตถี คือขี่ช้างชนกันตัวต่อตัวกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้าง มีชัยชนะอย่างมหัศจรรย์ และได้ทรงสร้างพระเจดีย์ไว้ตรงที่ทรงชนช้างองค์หนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่เลื่องลือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรฯ สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ หาปรากฏว่ามีใครได้เคยเห็นหรือรู้ว่าพระเจดีย์องค์นั้นอยู่ที่ตรงไหนไม่ มีแต่ชื่อเรียกกันว่า “พระเจดีย์ยุทธหัตถี” หนังสือเก่าที่กล่าวถึงพระเจดีย์ยุทธหัตถีก็มีแต่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงชนะยุทธหัตถีแล้ว “ตรัสให้ก่อพระเจดียสถานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ ตำบลตระพังกรุ” เพียงเท่านี้

ตัวฉันรักรู้โบราณคดี ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ก่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย นึกอยากเห็นพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมานานแล้ว แต่ไม่สามารถจะไปค้นหาได้ เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงให้สืบถามหาตำบลตระพังกรุว่าอยู่ที่ไหน ได้ความว่าเดิมอยู่ในเขตเมืองสุพรรณบุรี แต่เมื่อย้ายเมืองกาญจนบุรีจากเขาชนไก่มาตั้งที่ปากแพรกในรัชกาลที่ ๓ โอนตำบลตระพังกรุไปอยู่ในเขตเมืองกาญจนบุรี แต่ในเวลานั้นเมืองกาญจนบุรีก็ยังขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม ไม่กล้าไปค้นต้องรอมาอีก ๓ ปี จนโปรดให้รวมหัวเมืองซึ่งเคยขึ้นกระทรวงกลาโหมและกรมท่า มาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว มีโอกาสที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถี ฉันจึงสั่งพระยากาญจนบุรี (นุช) ซึ่งเคยรับราชการอยู่ใกล้ชิดกับฉัน เมื่อยังเป็นที่หลวงจินดารักษ์ ให้หาเวลาว่างราชการออกไปยังบ้านตระพังกรุเอง สืบถามว่าพระเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้างมีอยู่ในตำบลนั้นหรือไม่ ถ้าพวกชาวบ้านไม่รู้ ก็ให้พระยากาญจนบุรีฯ เที่ยวตรวจดูเอง ว่ามีพระเจดีย์โบราณที่ขนาดหรือรูปทรงสัณฐานสมกับเป็นของพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงสร้าง มีอยู่ในตำบลตระพังกรุบ้างหรือไม่ พระยากาญจนบุรีไปตรวจอยู่นาน แล้วบอกรายงานมาว่า บ้านตระพังกรุนั้นมีมาแต่โบราณ เป็นที่ดอนต้องอาศัยใช้น้ำบ่อ มีบ่อน้ำกรุอิฐข้างในซึ่งคำโบราณเรียกว่า “ตระพังกรุ” อยู่หลายบ่อ แต่ถามชาวบ้านถึงพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้าง แม้คนแก่คนเฒ่าก็ว่าไม่เห็นมีในตำบลนั้น พระยากาญจนบุรีไปเที่ยวตรวจดูเอง ก็เห็นมีแต่พระเจดีย์องค์เล็กๆ อย่างที่ชาวบ้านชอบสร้างกันตามวัด ดูเป็นของสร้างใหม่ทั้งนั้น ไม่เห็นมีพระเจดีย์แปลกตาซึ่งสมควรจะเห็นว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ฉันได้เห็นรายงานอย่างนั้นก็จนใจ มิรู้ที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถีต่อไปอย่างไรจนตลอดรัชกาลที่ ๕

แต่ฉันรู้มาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ ว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ มิได้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้นสวมศพพระมหาอุปราชา อย่างว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร เพราะในหนังสือพงศาวดารพม่า ซึ่งพระไพรสณฑ์สารารักษ์ (อองเทียน) กรมป่าไม้แปลจากภาษาพม่าให้ฉันอ่าน ว่าครั้งนั้นพวกพม่าเชิญศพพระมหาอุปราชา กลับไปเมืองหงสาวดี ฉันพิจารณาดูรายการที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ก็เห็นสมอย่างพม่าว่า เพราะรบกันวันชนช้างนั้น เดิมสมเด็จพระนเรศวรฯ ตั้งขบวนทัพหมายจะตีปะทะหน้าข้าศึก ครั้นทรงทราบว่ากองทัพหน้าของข้าศึก ไล่กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ซึ่งไปตั้งขัดตาทัพมาไม่เป็นขบวน ทรงพระราชดำริเห็นได้ที ก็ตรัสสั่งให้แปรขบวนทัพเข้าตีโอบด้านข้างข้าศึกในทันที แล้วทรงช้างชนนำพลออกไล่ข้าศึกด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถ มีแต่กองทัพที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ตามเสด็จไปด้วย แต่กองทัพที่ตั้งอยู่ห่างได้รู้กระแสรับสั่งช้าไปบ้าง หรือบางทีที่ยังไม่เข้าใจพระราชประสงค์ก็จะมีบ้าง ยกไปช้าไม่ทันเวลาดังพระราชประสงค์หลายกอง ซ้ำในเวลาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ไล่กองทัพหน้าข้าศึกที่แตกพ่ายไปนั้น เผอิญเกิดลมพัดฝุ่นฟุ้งมืดมนไปทั่วทั้งสนามรบ จนคนเห็นตัวกันมิใคร่ถนัด ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรฯ กับช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นช้างชนกำลังบ่มมัน ต่างแล่นไล่ข้าศึกไปโดยเร็ว จนกองทัพพลเดินเท้าที่ตามเสด็จล้าหลัง มีแต่พวกองครักษ์ตามติดช้างพระที่นั่งไปไม่กี่คนนัก พอฝุ่นจางลง สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงทรงทราบว่าช้างพระที่นั่งพาทะลวงเข้าไปจนถึงในกองทัพหลวงของข้าศึก ด้วยทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชากับพวกเสนา ขี่ช้างยืนพักอยู่ด้วยกันในร่มไม้ ณ ที่นั้น ความมหัศจรรย์ในพระอภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรฯ เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่ทรงพระสติปัญญาว่องไวทันเหตุการณ์ คิดเห็นในทันทีว่าทางที่จะสู้ข้าศึกได้ เหลืออยู่อย่างเดียวแต่เปลี่ยนวิธีรบให้เป็นทำยุทธหัตถี จอมพลชนช้างกันตัวต่อตัว อันนับถือกันว่าเป็นวิธีรบของกษัตริย์ซึ่งแกล้วกล้า ก็ขับช้างพระที่นั่งเข้าไปชวนพระมหาอุปราชาให้ทำยุทธหัตถี ฝ่ายพระมหาอุปราชาก็เป็นกษัตริย์มีขัตติยมานะ จะไม่รับก็ละอาย จึงได้ชนช้างกัน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้างนั้น ทั้งพระองค์เองกับสมเด็จพระเอกาทศรถอยู่ในที่ล้อม พระองค์สมเด็จพระนเรศวรฯ ก็ถูกปืนบาดเจ็บที่พระหัตถ์ นายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่งก็ถูกปืนตาย หมื่นภักดีศวรกลางช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ถูกปืนตายในเวลาทรงชนช้างชนะมังจาชะโร ต้องทรงเสี่ยงภัยอยู่ในที่ล้อมทั้ง ๒ พระองค์ แต่ไม่ช้านักกองทัพพวกที่ตามเสด็จก็ไปถึง แก้เอาออกจากที่ล้อมกลับมาค่ายหลวงได้ ส่วนกองทัพหงสาวดีกำลังตกใจกันอลหม่าน ด้วยพระมหาอุปราชาผู้เป็นจอมพลสิ้นชีพ ก็รีบรวบรวมกันเลิกทัพ เชิญศพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงสาวดีในวันนั้น ฝ่ายทางข้างไทยต่อมาอีก ๒ วัน กองทัพที่สมเด็จพระนเรศวร ฯให้ไปตามตีข้าศึกจึงได้ยกไป ไปทันตีแตกพ่ายแต่ทัพหลังของพวกหงสาวดี ได้ช้างม้าศัสตราวุธมาดังว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร ส่วนกองทัพหลวงของข้าศึกนั้นรอดไปได้ เรื่องที่จริงเห็นจะเป็นอย่างนี้ สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงทรงพระพิโรธพวกแม่ทัพนายกอง มีเจ้าพระยาจักรีฯ เป็นต้น ที่ไม่ยกไปทันตามรับสั่ง ถึงวางบทให้ประหารชีวิตตามกฎอัยการศึก เพราะพวกนั้นเป็นเหตุให้ข้าศึกไม่แตกพ่ายไปหมดทุกทัพ

แม้จะมีคำถามว่า ถ้าพระเจดีย์ยุทธหัตถี มิได้สร้างสวมศพพระมหาอุปราชาหงสาวดี ดังว่าไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้นขึ้นทำไม ข้อนี้ก็มีหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดาร พอจะคิดเห็นเหตุได้ ด้วยเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จกลับมาถึงพระนคร สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นตำแหน่งพระสังฆราชฝ่ายขวา พาพระสงฆ์ราชาคณะ ๒๕ รูป เข้าไปเฝ้าเยี่ยมถามข่าวตามประเพณี เห็นข้าราชการที่ถูกตัดสินประหารชีวิต ต้องจำอยู่ที่ในวัง สมเด็จพระพนรัตน์ทูลถามสมเด็จพระนเรศวรฯ ว่าเสด็จไปทำสงครามก็มีชัยชนะข้าศึก เหตุไฉนพวกแม่ทัพนายกองจึงต้องราชทัณฑ์เล่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเล่าเรื่องที่รบกัน ให้สมเด็จพระพนรัตน์ฟัง แล้วตรัสว่า ข้าราชการเหล่านั้น “มันกลัวข้าศึกมากกว่าโยม ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางข้าศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา มีชัยชนะแล้วจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากบารมีของโยม หาไม่แผ่นดินก็จะเป็นของหงสาวดีเสียแล้ว”

สมเด็จพระพนรัตน์ถวายพระพรว่า ซึ่งข้าราชการเหล่านั้น จะกลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระองค์เห็นจะไม่เป็นได้ ที่เกิดเหตุบันดาลให้เสด็จเข้าไปมีชัยชนะโดยลำพังพระองค์ในท่ามกลางข้าศึกนั้น น่าจะเป็นเพราะพระบารมีบันดาลจะให้พระเกียรติปรากฏไปทั่วโลก เปรียบเหมือนเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ ในวันที่จะตรัสรู้พระโพธิญาณนั้น เทวดาก็มาเฝ้าอยู่เป็นอันมาก เมื่อพระยามารยกพลมาผจญ ถ้าหากเทวดาช่วยรบพุ่งพระยามารให้พ่ายแพ้ไป ก็จะไม่สู้อัศจรรย์นัก เผอิญเทวดาพากันหนีไปหมด ยังเหลือแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ทรงสามารถปราบพระยามารกับทั้งรี้พลให้พ่ายแพ้ได้ จึงได้พระนามว่า “สมเด็จพระพิชิตมารโมลี ศรีสรรเพชญ์ดาญาณ” เป็นมหัศจรรย์ไปทั่วอนันตจักรวาล ที่พระองค์ทรงชนะสงครามครั้งนี้ก็คล้ายกัน ถ้าหากมีชัยชนะด้วยกำลังรี้พล พระเกียรติยศก็จะไม่เป็นมหัศจรรย์เหมือนที่มีชัยด้วยทรงทำยุทธหัตถีโดยลำพังพระองค์กับสมเด็จพระอนุชาธิราช จึงเห็นว่าหากพระบารมีบันดาลเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ ไม่ควรทรงโทมนัสน้อยพระราชหฤทัย สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตน์ถวายวิสัชนา ก็ทรงพระปีติโสมนัสสิ้นพระพิโรธ สมเด็จพระพนรัตน์จึงทูลขอชีวิตข้าราชการไว้ทั้งหมด แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารขาดความอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุและหลักฐานปรากฏอยู่ ว่าสมเด็จพระพนรัตน์ได้ทูลแนะนำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ เฉลิมพระเกียรติที่มีชัยชนะครั้งนั้น ด้วยบำเพ็ญพระราชกุศลตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าทุฏฐคามณี ที่ชาวลังกานับถือว่าเป็นวีรมหาราช อันมีเรื่องอยู่ในคัมภีร์มหาวงศ์คล้ายกันมาก ในเรื่องนั้นว่าเมื่อ พ.ศ. ๓๓๘ พระยาเอฬารทมิฬมิจฉาทิฐิ ยกกองทัพจากอินเดียมาตีได้เมืองลังกาแล้วครอบครองอยู่ถึง ๔๐ ปี ในเวลาที่เมืองลังกาตกอยู่ในอำนาจมิจฉาทิฐินั้น มีเชื้อวงศ์ของพระเจ้าเทวานัมปิยดิศองค์หนึ่ง ทรงนามว่าพระยากากะวรรณดิศ ได้ครองเมืองอันหนึ่งอยู่ในโรหณะประเทศตอนกลางเกาะลังกา พระยากากะวรรณดิศมีโอรส ๒ องค์ องค์ใหญ่ทรงนามว่า ทุฏฐคามณี องค์น้อยทรงนามว่า ดิศกุมาร ช่วยกันซ่องสุมรี้พลหมายจะตีเอาเมืองลังกาคืน แต่พระยากากะวรรณดิศถึงแก่พิราลัยไปเสียก่อน ทุฏฐคามณีกุมารได้เป็นพระยาแทนพระบิดา พยายามรวบรวมกำลังได้จนพอการ แล้วยกกองทัพไปตีเมืองอนุราธบุรีราชธานี ได้รบกันพระยาเอฬารทมิฬถึงชนช้างกันตัวต่อตัว ทุฏฐคามณีกุมารฟันพระยาเอฬารทมิฬสิ้นชีพบนคอช้าง ก็ได้เมืองลังกาคืนเป็นของราชวงศ์ที่ถือพระพุทธศาสนา ในการฉลองชัยมงคลครั้งนั้น พระเจ้าทุฏฐคามณีให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้นตรงที่ชนช้างชนะ แล้วสร้างพระมหาสถูปอีกองค์หนึ่งเรียกว่า มริจิวัตรเจดีย์ ขึ้นที่ในเมืองอนุราธบุรี เป็นที่คนทั้งหลายสักการบูชา เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าทุฏฐคามณีสืบมา สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถี ขึ้นตรงที่ทรงชนช้างองค์หนึ่ง แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์หนึ่ง ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” ขึ้นที่ “วัดเจ้าพระยาไทย” อันเป็นที่สถิตของพระสังฆราชาฝ่ายขวา จึงมักเรียกกันว่า “วัดป่าแก้ว” ตามนามเดิมของพระสงฆ์คณะนั้น พระเจดีย์ชัยมงคลก็ยังปรากฏอยู่ทางข้างตะวันออกของทางรถไฟเห็นได้แต่ไกลจนบัดนี้ เหตุที่สร้างพระเจดีย์รู้มาแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๕ ว่าเป็นดังเล่ามา เป็นแต่ยังไม่รู้ว่าพระเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหนเท่านั้น

เหตุที่จะพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีนั้นก็อยู่ข้างแปลกประหลาด ดูเหมือนจะเป็นในปีแรกรัชกาลที่ ๖ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ช่วยเที่ยวหาหนังสือไทยฉบับเขียนของเก่า อันกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง ให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร วันหนึ่งไปเห็นยายแก่ที่บ้านแห่งหนึ่ง กำลังรวบรวมเอาสมุดไทยลงใส่กระชุ ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดูหนังสือในสมุดเหล่านั้น เห็นเป็นหนังสือเรื่องพงศาวดารอยู่เล่มหนึ่ง จึงขอยายแก่เอามาส่งให้ฉันที่หอพระสมุดฯ ฉันเห็นเป็นสมุดของเก่าเขียนตัวบรรจงด้วยเส้นรง (มิใช่หรดาลที่ชอบใช้กันในชั้นหลัง) พอเปิดออกอ่านก็ประหลาดใจ ด้วยขึ้นต้นมีบานแผนกว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรัสสั่งให้รวบรวมจดหมายเหตุต่างๆ แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนั้น เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๐๔๒ (พ.ศ. ๒๒๒๓) แปลกกับหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ที่มีในหอพระสมุดฯ ฉันจึงให้เรียกว่า “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ได้มา

ต่อมาฉันอ่านหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เทียบกับฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม สังเกตได้ว่าฉบับหลวงประเสริฐแต่งก่อน ผู้แต่งฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม คัดเอาความไปลงตรงๆ คำก็มี เอาความไปแต่งเพิ่มเติมให้พิสดารขึ้นก็มี แก้ศักราชเคลื่อนคลาดไปก็มี แต่งแทรกลงใหม่ก็มี บางแห่งเรื่องที่กล่าวในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ แตกต่างกันกับที่กล่าวในฉบับพิมพ์ ๒ เล่มก็มี เมื่อฉันอ่านไปถึงตอนสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้าง เห็นในฉบับหลวงประเสริฐว่า พระมหาอุปราชามาตั้งประชุมทัพอยู่ตำบลตระพังกรุ แล้วมาชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ตำบลหนองสาหร่าย เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ (พ.ศ. ๒๑๓๕) พอเห็นอย่างนั้นฉันก็นึกขึ้นว่าได้เค้าจะค้นพระเจดีย์ยุทธหัตถีอีกแล้ว รอพอพระยาสุพรรณฯ (อี้ กรรณสูตร ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาสุนทรบุรีฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี) เข้ามากรุงเทพฯ ฉันเล่าเรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถีให้ฟัง แล้วสั่งให้ไปสืบดูว่าตำบลชื่อหนองสาหร่ายในแขวงเมืองสุพรรณฯ ยังมีหรือไม่ ถ้ามีให้พระยาสุพรรณฯ ออกไปเองถึงตำบลนั้น สืบถามดูว่ามีพระเจดีย์โบราณอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใดบ้าง พระยาสุพรรณฯ ออกไปสืบอยู่ไม่ถึงเดือนก็มีรายงานบอกมา ว่าตำบลหนองสาหร่ายนั้นยังมีอยู่ใกล้กับลำน้ำท่าคอย ทางทิศตะวันตกเมืองสุพรรณฯ (คือลำน้ำเดียวกันกับลำน้ำจระเข้สามพันที่ตั้งเมืองอู่ทองนั่นเอง แต่อยู่เหนือขึ้นไปไกล) พระยาสุพรรณฯ ได้ออกไปที่ตำบลนั้น สืบถามถึงพระเจดีย์โบราณ พวกชาวบ้านบอกว่ามีอยู่ในป่าตรงที่เรียกกันว่า “ดอนพระเจดีย์” องค์หนึ่ง พระยาสุพรรณฯ ถามต่อไปว่าเป็นพระเจดีย์ของใครสร้างไว้ รู้หรือไม่ พวกชาวบ้านตอบว่าไม่รู้ว่าใครสร้าง เป็นแต่ผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าสืบมาว่า “พระนเรศวรกับพระนารายณ์ ชนช้างกันที่ตรงนั้น” ก็เป็นอันได้เรื่องที่สั่งให้ไปสืบ พระยาสุพรรณฯ จึงให้พวกชาวบ้านพาไปยังดอนพระเจดีย์ เมื่อแรกไปถึงไม่เห็นมีพระเจดีย์อยู่ที่ไหน เพราะต้นไม้ขึ้นปกคลุมพระเจดีย์มิดหมดทั้งองค์ จนผู้นำทางเข้าไปถางเป็นช่องให้มองดูจึงแลเห็นอิฐที่ก่อฐาน รู้ว่าพระเจดีย์อยู่ตรงนั้น ถ้าไม่รู้จากชาวบ้านไปก่อน ถึงใครจะเดินผ่านไปใกล้ๆ ก็เห็นจะไม่รู้ว่ามีพระเจดีย์อยู่ตรงนั้น ฉันนึกว่าคงเป็นเพราะเหตุนั้นเอง จึงไม่รู้กันว่ามีพระเจดีย์ยุทธหัตถียังมีอยู่ เลยหายไปกว่า ๑๐๐ ปี พระยาสุพรรณฯ ระดมคนให้ช่วยกันตัดต้นไม้ที่ปกคลุมพระเจดีย์ออกหมดแล้ว ให้ช่างฉายรูปพระเจดีย์ส่งมาให้ฉันด้วยกันกับรายงาน สังเกตดูเป็นพระเจดีย์มีฐานทักษิณเป็น ๔ เหลี่ยม ๓ ชั้น ขนาดฐานทักษิณชั้นล่างกว้างยาวราว ๘ วา แต่องค์พระเจดีย์เหนือฐานทักษิณชั้นที่ ๓ ขึ้นไปหักพังเสียหมดแล้ว รูปสัณฐานจะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ ประมาณขนาดสูงของพระเจดีย์เมื่อยังบริบูรณ์ เห็นจะราวเท่าๆ กับพระปรางค์ที่วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ พอฉันเห็นรายงานกับรูปฉายที่พระยาสุพรรณฯ ส่งมา ก็สิ้นสงสัย รู้ว่าพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นแน่แล้ว มีความยินดีแทบเนื้อเต้น รีบนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระปีติโสมนัสตรัสว่า พระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมเกียรติของเมืองไทยสำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่ง ถึงอยู่ไกลไปลำบากก็จะเสด็จไปสักการบูชา จึงทรงพระอุตสาหะเสด็จไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ด้วยประการฉะนี้ 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ