นิทานที่ ๑๑ เรื่องโจรแปลกประหลาด

จะเล่าถึงเรื่องโจรแปลกประหลาดที่ฉันได้เคยรู้จัก ๒ คน ชื่อว่าโจรทิม ชาวเมืองอินทบุรีคนหนึ่ง โจรจันทร์ ชาวเมืองปทุมธานีคนหนึ่ง จะเล่าเรื่องของโจรทิมก่อน

เรื่องโจรทิม

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ฉันยังเป็นตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งกำหนดว่าจะยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันนั่งในที่ประชุมเสนาบดีแต่ในเวลานั้น ค่ำวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงประทับที่ประชุมเสนาบดี ณ มุขกะสันพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามเคย แต่คืนวันนั้นมีราชการน้อย พอปรึกษาสิ้นระเบียบวาระแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่าได้ทรงรับฎีกานักโทษในคุกทูลเกล้าฯ ถวายทางไปรษณีย์ฉบับหนึ่ง อยู่ข้างแปลกประหลาด โปรดให้อ่านให้เสนาบดีฟัง เป็นฎีกาของอ้ายทิมนักโทษชาวเมืองอินทบุรี ต้องจำคุกด้วยเป็นโจรปล้นทรัพย์ ความที่กราบบังคมทูลในฎีกา ว่าตั้งแต่อ้ายทิมต้องจำคุก พัศดีจ่ายให้ไปทำการในกองจักสาน ได้ฝึกหัดจักสานมาจนชำนาญ จึงคิดว่าจะพยายามในกระบวนจักสานไม่ให้ฝีมือใครสู้ได้หมดทั้งคุก แล้วจะทำของสิ่งใดสิ่งหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเห็นฝีมือ ถ้าและโปรดของสิ่งนั้น จะขอพระราชทานโทษให้พ้นเวรจำออกบวชเป็นพระภิกษุจำศีลภาวนาต่อไป ไม่ประพฤติชั่วร้ายเหมือนหนหลังจนตลอดชีวิต บัดนี้อ้ายทิมต้องจำคุกมา ๑๐ ปี ได้พยายามทำสิ่งของนั้นสำเร็จดังตั้งใจแล้ว ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าโปรดฝีมือที่ทำนั้น อ้ายทิมขอพระราชทานโทษสักครั้งหนึ่ง ในท้ายฎีกาอ้างว่าถ้าความที่กราบทูลเป็นความเท็จแต่ข้อใดข้อหนึ่ง ขอรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต

ตรงนี้ จะต้องแทรกอธิบายสักหน่อย ด้วยในสมัยนั้นยังไม่ได้ตั้งประมวลกฎหมาย ยังใช้ประเพณีเดิมซึ่งจำคุกโจรผู้ร้ายไม่มีกำหนดเวลาว่าจะต้องจำอยู่นานเท่าใด จะพ้นจากเวรจำได้แต่ด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทาน นักโทษในคุกจึงต้องถวายฎีกาขอพระราชโทษ ชั้นเดิมมักให้ญาติพี่น้องถวายฎีกาแทนตัว ครั้นมีการไปรษณีย์เกิดขึ้น ก็ถวายฎีกาทางไปรษณีย์ จำนวนฎีกาคนคุกขอพระราชทานโทษจึงมีมาก แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกำหนดเวลาไว้ตามพระราชนิยม ว่าคนโทษอย่างใดต้องติดเวรจำมาได้นานเท่าใดแล้ว หรือว่าได้ทำความชอบพิเศษอย่างใด จึงทรงพิจารณา ถ้าถวายฎีกาไม่เข้าในเกณฑ์ก็ยกฎีกาเสีย ฎีกาของอ้ายทิมเข้าในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชวินิจฉัย เพราะต้องจำคุกมาถึง ๑๐ ปีแล้ว

เมื่ออ่านฎีกาอ้ายทิมในที่ประชุมแล้ว ดำรัสสั่งกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นและเป็นผู้บัญชาการกระทรวงนครบาลอยู่ในเวลานั้น ให้ไปสอบสวนดูว่าคำที่อ้ายทิมนักโทษอ้างในฎีกามีจริงเพียงไร ถึงคราวประชุมหน้า กรมพระนเรศฯ นำกาถังน้ำร้อนที่อ้ายทิมได้สานไว้ใบหนึ่งเข้าไปถวาย และกราบทูลว่าคำที่อ้ายทิมอ้างนั้นสอบสวนได้ความจริงทุกข้อ พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรกาถัง เห็นเป็นฝีมืออย่างประณีตดีจริง มีพระราชดำรัสว่า “มันพูดจริง ฉันก็จะให้มันเห็นผลความจริง” จึงทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทานอ้ายทิม แล้วดำรัสสั่งกรมพระนเรศฯ ให้ส่งตัวไปให้ฉันผู้เป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ จัดการบวชอ้ายทิมเป็นนาคของหลวงบวชพระราชทาน

สมัยนั้น นักโทษยังต้องจองจำอยู่ในคุกเดิมที่หน้าวัดพระเชตุพนฯ เมื่อกรมนครบาลคุมตัวโจรทิมไปส่ง ฉันแลเห็นดูผิดมนุษย์จนน่าสังเวช ด้วยผมยาวรุงรังไปทั้งหัว เนื้อตัวก็ขะมุกขะมอมอย่างว่า “ขี้ไคลท่วมหัว” มีแต่ผ้าขาดนุ่งติดตัวไป แต่สังเกตดูกิริยาอัชฌาสัยเรียบร้อย รุ่นราวเป็นกลางคนอายุสัก ๔๐ ปีเศษ ฉันรับตัวไว้แล้วต้องเริ่มด้วยให้อาบน้ำถูขี้ไคลตัดผม แล้วให้เครื่องนุ่งห่มใหม่ และจัดที่ให้อยู่ในบ้านฉันจนกว่าจะไปบวช แต่แรกคนในบ้านออกจะพากันกลัวด้วยได้ยินว่าเป็นโจร ต่อเมื่อรู้เรื่องที่โจรทิมทูลขอโทษ จึงพากันสงสารสิ้นรังเกียจ ช่วยอุปการะเลี้ยงดูด้วยเมตตาจิตทั่วทั้งบ้าน ส่วนการที่จะบวชนั้นฉันปรึกษากับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) เวลานั้นยังเป็นที่พระยาวุฒิการบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ เห็นว่าควรให้บวชอยู่วัดพระเชตุพนฯ ให้ไปบอกพระราชาคณะเจ้าอาวาส ก็ยินดีจะรับพระทิมไว้ในวัดนั้น ฉันให้ไปเบิกผ้าไตรกับเครื่องบริขารของหลวงมาแล้ว ถึงวันกำหนดจึงให้นายทิมแต่งตัวนุ่งผ้ายกสวมเสื้อครุยตามแบบนาคหลวง แล้วพาตัวขึ้นรถไปยังวัดพระเชตุพนฯ ด้วยกันกับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์ฯ มีพวกข้าราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงนครบาล กับทั้งพวกที่บ้านของฉันพากันไปช่วย ข้างฝ่ายพระสงฆ์ พระราชาคณะกับพระฐานานุกรมคณะปรก ก็พร้อมเพรียงกันทำพิธีอุปสมบทที่ในพระอุโบสถ ดูครึกครื้นสมกับที่เป็นนาคหลวง

เมื่อบวชแล้วพระทิมอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ ๒ พรรษา ในระหว่างนั้น ตัวฉันย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ในปีนั้นเอง วันหนึ่งพระทิมมาหา บอกว่าเมื่อจำพรรษาที่ ๒ อยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ เกิดอาพาธเป็นโรคเหน็บชา Beri-beri รักษาตัวมาพอค่อยคลายขึ้นบ้างแต่ยังอ่อนเพลีย เธออยากจะขึ้นไปอยู่วัดที่เมืองอินทบุรี ด้วยมีญาติโยมอยู่ในเมืองนั้น เจ็บไข้พอจะได้อาศัยความอุปการะของเขา ถามว่าฉันจะรังเกียจหรือไม่ ฉันตอบว่าตัวเธอนั้น พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโทษโปรดบวชให้เป็นโสดแก่ตัวแล้ว จะไปไหนหรืออยู่ที่ไหนก็ได้ตามชอบใจ แต่ที่เธอมาปรึกษาฉันก่อนนั้นก็ดีอยู่ ฉันจะมีท้องตราไปฝากให้เจ้าเมืองกรมการเขาช่วยอุปการะด้วย แต่เมื่อขึ้นไปอยู่เมืองอินท์ ถ้าเธอจะย้ายไปอยู่ที่ไหนต่อไปให้บอกเจ้าเมืองกรมการให้เขารู้เสียก่อนจึงจะดี เธอรับคำ ฉันก็ให้ทำท้องตราให้เธอถือขึ้นไปยังเมืองอินท์ แต่นั้นพระทิมก็เงียบหายไปกว่าปี

ครั้นถึง ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ในเวลากำลังไทยวิวาทกันกับฝรั่งเศส วันหนึ่งฉันลงมาจากบนเรือน เห็นพระทิมมานั่งคอยอยู่ที่ท้องพระโรง ฉันถามเธอว่ามีกิจธุระอะไรหรือ พระทิมตอบว่า “อาตมภาพอยู่ที่เมืองอินท์ ได้ยินว่ามีศึกฝรั่งเศสมาติดเมือง อาตมภาพคิดถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาแก่อาตมภาพมาแต่ก่อน เมื่ออาตมภาพยังเป็นหนุ่ม ได้เคยเรียนคาถาอาคมสำหรับต่อสู้ศัตรูรู้อยู่บ้าง จึงลงมาเฝ้าหมายจะถวายพระพรลาสึก ไปอาสารบฝรั่งเศสสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสร็จการรบพุ่งแล้ว ถ้ารอดชีวิตอยู่ ก็จะกลับบวชอีกอย่างเดิม” ฉันได้ฟังนึกรักใจพระทิม จึงตอบว่า ฉันจะต้องไปกราบทูลก่อน เพราะเมื่อเธอบวชเป็นนาคหลวงของพระเจ้าอยู่หัว ให้เธอพักรอฟังอยู่ที่บ้าน ฉันไปกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ชอบพระราชหฤทัย ออกพระโอษฐ์ว่า “มนุษย์เรานี้ถึงตกต่ำจนเป็นโจรผู้ร้ายแล้ว ถ้ากลับใจได้จริงๆ ก็ยังเป็นคนดีได้” โปรดให้ฉันเชิญกระแสรับสั่งไปบอกพระทิม ว่าซึ่งมีความกตัญญูคิดจะสนองพระเดชพระคุณนั้นทรงขอบใจนัก แต่การรบพุ่งใช้แต่คนฉกรรจ์ที่ยังมีกำลังมาก พระทิมอายุมากเกินขนาดเสียแล้ว ให้บวชเอาบุญต่อไปเถิด เธอได้ฟังกระแสรับสั่งอย่างนั้นก็ลากลับไป แต่นั้นมาฉันจะได้พบกับพระทิมอีกบ้างหรืออย่างไรจำไม่ได้ แต่ไม่มีกิจเกี่ยวข้องต้องคิดถึงพระทิมมาหลายปี

จนถึงครั้งหนึ่ง จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ ฉันได้รับใบบอกมาจากเมืองอินทบุรีว่าพระทิมอาพาธถึงมรณภาพ เขาเห็นว่าเธอเป็นพระที่พระเจ้าอยู่หัวโปรดบวชพระราชทาน และฉันได้สั่งให้อุปการะ จึงปรึกษากับพวกญาติให้รอการปลงศพพระทิมไว้ บอกมาให้ฉันทราบก่อน ฉันเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงพระกรุณาแก่พระทิมมาแต่ก่อน จึงนำความขึ้นกราบทูลว่าพระทิมถึงมรณภาพเสียแล้ว มีพระราชดำรัสว่าพระทิมเป็นคนซื่อสัตย์ ถึงไม่ทรงรู้จักตัวก็ได้ทรงอุปการะมาแต่ก่อน โปรดให้ฉันเบิกศิลาหน้าเพลิงกับผ้าสำหรับชักบังสุกุลเป็นของหลวงส่งไปพระราชทานเพลิงศพพระทิม เพราะฉะนั้น งานศพพระทิมก็กลายเป็นอย่างศพกรมการที่ได้พระราชทานสัญญาบัตร ด้วยมีข้าหลวงพระราชทานเพลิงและมีกรมการไปช่วยงานเป็นเกียรติยศ สิ้นเรื่องประวัติพระโจรทิมเพียงเท่านี้ พิเคราะห์ดูสมกับคำสุภาษิตโบราณซึ่งว่า “ไม้ต้นคดปลายตรงยังดัดเอาดีได้ ถ้าปลายคดถึงต้นจะตรงก็ใช้ไม่ได้” จึงเขียนเรื่องรักษาไว้มิให้สูญเสีย

เรื่องโจรจันทร์

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ มีโจรพวกหนึ่งสมคบกันเที่ยวปล้นในแขวงจังหวัดปทุมธานี จังหวัดอยุธยาและจังหวัดสุพรรณบุรีเนืองๆ ถึงเดือนกรกฎาคม โจรพวกนั้นปล้นไล่ฝูงกระบือในแขวงจังหวัดปทุมธานี แล้วไปปล้นที่บ้านชีปะขาว ในแขวงจังหวัดสุพรรณบุรีอีกแห่งหนึ่งติดๆ กัน เวลานั้นเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ (ชม สุนทราชุน) ยังเป็นพระยาสุนทรบุรีฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี เป็นผู้เข้มแข็งขึ้นชื่อในการปราบโจรผู้ร้าย สามารถจับโจรพวกนั้นที่เป็นชาวเมืองสุพรรณได้หลายคน ให้การรับเป็นสัจซัดพวกเพื่อน จึงให้จับโจรที่เป็นชาวเมืองอื่นเอาไปรวมกันไปชำระที่เมืองนครปฐม

ในเวลากำลังชำระโจรพวกนั้น วันหนึ่งฉันออกไปเมืองนครปฐมเพื่อจะผ่อนพักในเวลาราชการเบาบางตามเคย เห็นตำรวจภูธรคุมนักโทษคนหนึ่ง ขึ้นรถไฟที่สถานีบางกอกน้อยไปพร้อมกับฉัน แล้วไปลงที่สถานีพระปฐมเจดีย์ ฉันถามได้ความว่าเป็นพวกโจรรายที่กำลังชำระคนหนึ่ง ซึ่งจับตัวไปจากเมืองปทุมธานี ค่ำวันนั้นเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ มากินอาหารด้วยกันกับฉันตามเคย แต่พอกินแล้วท่านขอลาว่าจะต้องไปชำระผู้ร้าย ฉันถามว่าเหตุไฉนจึงต้องไปชำระเอง ท่านบอกว่าโจรคนที่ได้ตัวมาใหม่ในวันนั้นเป็นตัวสำคัญนัก ที่เมืองปทุมธานีเรียกกันว่า “จันทร์เจ้า” เป็นหัวหน้าของผู้ร้ายพวกนั้นทั้งหมด ถ้าให้คนอื่นชำระเกรงจะไม่ได้ความจริง ถึงคืนต่อมาเมื่อกินอาหารด้วยกัน ฉันถามว่าชำระผู้ร้ายได้ความอย่างไร ท่านตอบแต่ว่า “ยังถวายรายงานไม่ได้” จนถึงคืนที่ ๔ เวลาเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ มากินอาหาร ดูยิ้มแย้มแจ่มใส ฉันถามถึงการชำระผู้ร้าย ท่านบอกว่าโจรจันทร์เจ้ารับเป็นสัจแล้ว

แต่ก่อนมาฉันยังไม่เคยรู้จักตัวหัวหน้านายโจร หรือที่เรียกตามคำโบราณว่า “มหาโจร” นึกอยากรู้จักโจรจันทร์เจ้า จึงบอกเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ว่า เมื่อท่านชำระสะสางโจรจันทร์เจ้าเสร็จสิ้นสำนวนแล้ว ขอให้คุมตัวมาให้พบกับฉันสักหน่อย ท่านให้คุมมาในวันรุ่งขึ้น พอฉันแลเห็นก็นึกประหลาดใจ ด้วยดูเป็นคนสุภาพ รูปพรรณสัณฐานไม่มีลักษณะอย่างใดที่จะส่อว่าใจคอเหี้ยมโหด ถึงเป็นตัวหัวหน้านายโจร เมื่อพูดด้วย ถ้อยคำที่ตอบก็เรียบร้อยเหมือนอย่างเคยเพ็ดทูลเจ้านายมาแต่ก่อน ฉันออกพิศวง จึงถามว่าได้เคยเฝ้าแหนเจ้านายมาแต่ก่อนบ้างหรือ โจรจันทร์ตอบว่าได้เคยเฝ้าหลายพระองค์ ที่เคยทรงใช้สอยก็มี ฉันยิ่งสงสัย ถามว่า “ก็แกเป็นโจร เจ้านายท่านไม่ทรงรังเกียจหรือ” โจรจันทร์ตอบว่า “เจ้านายท่านไม่ทรงทราบว่าเป็นโจร อย่าว่าแต่เจ้านายเลย ถึงคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโจร รู้แต่ในพวกโจรด้วยกันเท่านั้น” เพราะพวกโจรต้องระวังตัวกลัวถูกจับอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เรียกกันว่า “นักเลง” คนอื่นก็เลยเรียกว่านักเลง หมายความแต่ว่าเป็นคนกว้างขวาง นักเลงคนไหนมีพวกมากก็เรียกกันว่า “นักเลงโต” นักเลงที่ไม่เป็นโจรก็มี แต่นักเลงเป็นคนกว้างรับใช้สอยได้คล่องแคล่ว ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงชอบใช้ ก็ได้คุ้นเคยกับผู้มีบรรดาศักดิ์ด้วยเหตุนั้น ฉันไถ่ถามความข้ออื่นต่อไป โจรจันทร์ก็เล่าให้ฟังโดยซื่อแม้จนลักษณะที่ทำโจรกรรม คงเป็นเพราะเห็นว่าได้รับสารภาพความผิดต่อเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ หมดแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องปกปิดต่อไป แต่การที่ถามโจรจันทร์ ความประสงค์ของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ กับความประสงค์ของตัวฉันผิดกัน เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ประสงค์จะรู้เรื่องปล้นเมื่อเดือนกรกฎาคมเป็นสำคัญ แต่ตัวฉันอยากรู้วิธีของโจรผู้ร้ายทั่วไป ไม่เฉพาะแต่เรื่องที่โจรจันทร์ถูกจับ ฟังคำอธิบายของโจรจันทร์จึงเลยออกสนุก ยิ่งฟังไปก็ยังตระหนักใจว่าโจรจันทร์ชำนิชำนาญการโจรกรรม สมกับที่เป็นนายโจร ฉันถามถึงกระบวนโจรกรรมอย่างใดๆ โจรจันทร์พรรณนาได้ทั้งหมดว่าทำอย่างนั้นๆ ดังจะเขียนให้เห็นพอเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

ถามว่า การที่โจรปล้นเรือนนั้นเขาว่ามักมีคนที่อยู่ใกล้กับเจ้าทรัพย์เป็นสายจริงหรือ

ตอบว่า การที่ปล้นนั้นจำต้องมีสาย ถ้าไม่มีสายก็ปล้นไม่ได้

ถามว่า เพราะเหตุใดไม่มีสายจึงปล้นไม่ได้

ตอบว่า พวกโจรต้องอาศัยผู้เป็นสายหลายอย่าง เป็นต้นแต่ผู้เป็นสายไปบอก พวกโจรจึงรู้ว่าบ้านไหนมีทรัพย์ถึงสมควรจะปล้น และการที่จะปล้นนั้น พวกโจรต้องเอาชีวิตเสี่ยงภัย พวกโจรก็รักชีวิตเหมือนกัน ต้องสืบสวนและไล่เลียงผู้เป็นสายให้รู้แน่นอนก่อน ว่าเจ้าทรัพย์มีกำลังจะต่อสู้สักเพียงไร เพื่อนบ้านเรือนเคียงอาจจะช่วยเจ้าทรัพย์เป็นอย่างไร และต้องสืบหาโอกาสเวลาเจ้าทรัพย์เผลอหรือเวลาไม่อยู่เป็นต้น จนแน่ใจว่ามีกำลังกว่าเจ้าทรัพย์ตั้งเท่าหนึ่ง พวกโจรจึงจะปล้น การที่ปล้นนั้น ผู้เป็นสายมักเป็นต้นคิดไปชักชวนพวกโจรมาปล้น พวกโจรหาต้องหาคนเป็นสายไม่

ถามว่า คนชนิดใดที่เป็นสายให้โจรปล้นบ้าน

ตอบว่า มักอยู่ในคน ๓ ชนิด คือ คนรับใช้อยู่ในบ้านเจ้าทรัพย์ที่อยากได้เงินชนิดหนึ่ง เพื่อนบ้านที่เป็นอริคิดล้างผลาญเจ้าทรัพย์ชนิดหนึ่ง ญาติที่โกรธเจ้าทรัพย์เพราะขอเงินไม่ให้ชนิดหนึ่ง

ถามว่า โจรที่ขึ้นปล้นเรือนนั้น ไฉนจึงรู้ว่าเขาเก็บเงินทองไว้ที่ไหน

ตอบว่า ประเพณีของโจรปล้น เมื่อขึ้นเรือนได้แล้วหมายจับตัวเจ้าทรัพย์หรือคนในเรือนเป็นสำคัญ เพราะพวกโจรไม่รู้ว่าเงินทองเก็บไว้ที่ไหน ต้องขู่หรือทำทรกรรมบังคับให้คนในเรือนนำชี้ จึงได้ทรัพย์มาก ถ้าจับตัวคนในเรือนไม่ได้ พวกโจรต้องค้นหาเอง มักได้ทรัพย์น้อย เพราะการปล้นต้องรีบให้แล้วโดยเร็ว มิให้ทันพวกชาวบ้านมาช่วย

ถามว่า การที่จับตัวเจ้าทรัพย์บังคับถามนั้น ไม่กลัวเขาจำหน้าได้หรือ

ตอบว่า แต่ก่อนมา โจรที่ขึ้นเรือนใช้มอมหน้ามิให้เจ้าทรัพย์รู้จัก แต่เมื่อการปกครองมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน เวลาเกิดปล้น ผู้ใหญ่บ้านมักเรียกลูกบ้านตรวจ จะล้างหน้าไปรับตรวจไม่ทัน พวกโจรจึงคิดวิธีใหม่ ให้โจรที่อยู่ถิ่นฐานห่างไกลเจ้าทรัพย์ไม่รู้จัก เป็นพนักงานขึ้นเรือน ไม่ต้องมอมหน้าเหมือนแต่ก่อน ให้โจรที่อยู่ใกล้เปลี่ยนไปเป็นพนักงานซุ่มระวังทางอยู่ในที่มืด

ถามว่า โจรชนิดไหนที่เรียกกันว่า “อ้ายเสือ”

ตอบว่า คำว่า “อ้ายเสือ” นั้น มิใช่ชื่อสำหรับเรียกตัวโจร เป็นแต่คำสัญญาณที่หัวหน้าสั่งการในเวลาปล้น เป็นต้น แต่เมื่อลอบเข้าไปรายล้อมบ้านแล้ว พอจะให้ลงมือปล้นอย่างเปิดเผย หัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือเอาวา” พวกโจรก็ยิงปืนและเข้าพังประตูบ้าน เมื่อเข้าบ้านได้แล้ว หัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือขึ้น” พวกที่เป็นพนักงานขึ้นเรือนต่างก็ขึ้นทุกทางที่จะขึ้นเรือนได้ เมื่อปล้นแล้วหัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือถอย” ต่างก็ลงจากเรือนพากันกลับไป แต่ถ้าไปเสียทีเห็นจะปล้นไม่สำเร็จ หัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือล่า” ต่างคนต่างก็หนีเอาตัวรอด เป็นคำสัญญากันอย่างนี้

พึงเห็นได้ตามคำอธิบายที่เขียนเป็นตัวอย่างไว้ว่า โจรจันทร์ชำนิชำนาญการโจรกรรมมาก ถ้าหากโจรกรรมเป็นศาสตร์อันหนึ่ง ความรู้ของโจรจันทร์ก็ถึงภูมิศาสตราจารย์ เพราะฉะนั้น พอพูดกันได้วันหนึ่ง ฉันก็ติดใจ นึกอยากจะรู้กระบวนของโจรต่อไปให้สิ้นเชิง แต่นั้นถึงเวลาเย็นฉันลงไปนั่งเล่นที่สนามหญ้า ก็ให้เบิกตัวโจรจันทร์มาถามต่อมาอีกหลายวันจึงคุ้นกัน ฉันเลยถามต่อไปว่า เพราะเหตุใดแกจึงรับเป็นสัจ โจรจันทร์ตอบว่าเดิมก็ตั้งใจจะไม่รับ ถ้าชำระที่เมืองปทุมธานีก็เห็นจะไม่ได้ความจากตัวแก แต่ใจมาอ่อนเสียที่ถูกเอามาชำระต่างเมือง ตั้งแต่ลงจากรถไฟแลหาพวกพ้อง แม้แต่ใครที่เคยรู้จักหน้าสักคนหนึ่งก็ไม่มี เหลือแต่ตัวคนเดียวก็เปลี่ยวใจ เมื่ออยู่ในเรือนจำพบปะนักโทษถามถึงพรรคพวกที่ถูกจับมา เขาบอกว่ารับเป็นสัจหมดแล้ว ก็ยิ่งครั่นคร้าม แต่อย่างอื่นไม่ทำให้ท้อใจเหมือนวิธีชำระของเจ้าคุณเทศา ถามว่าท่านชำระอย่างไร โจรจันทร์เล่าว่า เวลาราวยามหนึ่งท่านเอาตัวไปที่ศาลอำเภอ ตัวท่านนั่งเก้าอี้อยู่ที่โต๊ะกับข้าราชการอีกสักสองสามคน ท่านเรียกตัวเข้าไปนั่งที่ข้างเก้าอี้ของท่าน แล้วถามถึงเรื่องที่ไปปล้น แกปฏิเสธว่าไม่ได้รู้เห็นด้วย ท่านก็หัวเราะแล้วว่า “คิดดูเสียให้ดีเถิด พวกพ้องเขาก็รับหมดแล้ว” ท่านว่าแต่เท่านั้น แล้วก็หันไปพูดกับพวกข้าราชการถึงการงานอย่างอื่นๆ และสูบบุหรี่กินน้ำร้อนไปพลาง ให้แกนั่งคอยอยู่นานจึงหันกลับไปถามอีกว่า “จะว่าอย่างไร” แกปฏิเสธ ท่านก็หัวเราะว่า “คิดดูเสียให้ดี” แล้วหันไปพูดกับข้าราชการ ให้แกนั่งคอยอยู่อีก นานๆ หันมาถามอย่างนั้นอีก แกปฏิเสธ ท่านก็หัวเราะ แล้วบอกให้คิดให้ดีอีก เวียนถามอยู่แต่อย่างนั้นหลายพัก จนเวลาสัก ๕ ทุ่มจึงเลิกชำระ ถึงวันที่ ๒ พอยามหนึ่งท่านก็เอาตัวไปชำระอีก พอได้ยินท่านถามเหมือนอย่างวันก่อนก็รำคาญใจ ยิ่งถูกถามซ้ำซากก็ยิ่งรำคาญหนักขึ้น แต่ยังแข็งใจปฏิเสธอยู่ได้อีกคืนหนึ่ง พอถึงคืนที่ ๓ ระอาใจเสียแต่เมื่อเขาไปเอาตัวมาจากเรือนจำ พอเจ้าคุณเทศาตั้งคำถามอย่างเก่าอีกก็เกิดเบื่อเหลือทน เห็นว่าถ้าปฏิเสธ ท่านก็คงถามเช่นนั้นไปไม่มีที่สุด นึกว่าไหนๆ ก็คงไม่พ้นโทษ เพราะพวกเพื่อนรับเป็นสัจหมดแล้ว รับเสียให้รู้แล้วไปดีกว่า จะได้หลับนอนสิ้นรำคาญ แกจึงรับเป็นสัจในคืนที่ ๓ เพราะ “สู้ปัญญาเจ้าคุณเทศาท่านไม่ได้”

ในการชำระโจรผู้ร้าย เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ มีวิธีผิดกับคนอื่นหลายอย่าง ท่านเคยบอกฉันอย่างหนึ่งว่าถ้าชำระในถิ่นที่ตัวผู้ร้ายอยู่ ไม่ใคร่รับเป็นสัจ ด้วยมันอายพวกพ้องของมัน ถ้าเอาไปชำระให้ห่างถิ่นฐาน ได้ความสัจง่ายขึ้น พระยามหินทรเดชานุวัติ (ใหญ่ สยามานนท์) ซึ่งต่อมาได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี เวลานั้นยังเป็นที่พระยาศรีวิเศษ ยกกระบัตรมณฑลหัวหน้าพนักงานอัยการ เป็นมือขวาของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ในการชำระโจรผู้ร้าย เคยเล่าให้ฉันฟังว่าเมื่อพวกโจรจันทร์ปล้นบ้านชีปะขาวครั้งนั้น พอรู้ข่าวถึงนครปฐม เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ก็ให้พระยามหินทรฯ รีบลงเรือไฟขึ้นไปเมืองสุพรรณ สั่งว่าให้ไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอน ที่ตำบลบางซอมาซักถามเถิดคงจะได้ความ พระยามหินทรฯ ตรงไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอนมาซักไซ้ ก็ให้การรับเป็นสัจว่าอยู่ในพวกโจรที่ปล้นนั้น ให้การบอกชื่อพวกโจร จึงจับตัวได้โดยมาก พระยามหินทรฯ ไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ จึงสามารถชี้เจาะตัวได้ ว่าให้ไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอนมาชำระ มีผู้อื่นว่าวิธีของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ นั้น เวลาท่านไปเที่ยวที่ไหนๆ ท่านสืบถามชื่อนักเลงในถิ่นนั้น จดไว้ในสมุดพกเสมอ ถ้าสามารถจะพบได้ก็คิดอ่านรู้จักตัวด้วย แล้วสืบถามเรื่องประวัติของพวกนักเลงจากคนร่วมถิ่นที่เป็นนักโทษติดอยู่ในเรือนจำ จึงรู้แหล่งของพวกโจรในตำบลต่างๆ ท่านยังมีผู้ช่วยอย่างเป็นมือซ้ายของท่านอีกคนหนึ่ง คือพระพุทธเกษตรานุรักษ์ (โพธิ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงชัยอาญา พะทำมะรงเรือนจำเมืองนครปฐม เป็นผู้มีคุณวุฒิอย่างแปลกประหลาดในกระบวนบังคับบัญชา ไม่ดุร้าย แต่สามารถให้นักโทษรักด้วยกลัวด้วย เรียกหลวงชัยอาญาว่า “คุณพ่อ” ทั้งเรือนจำ จนคนภายนอกพิศวงถึงกล่าวกันว่าหลวงชัยอาญาอาจจะจ่ายนักโทษไปทำงานได้ด้วยไม่ต้องมีผู้คุม เพราะแกรู้จักผูกใจนักโทษมิให้หนี ฉันเคยถามตัวแกเองว่าทำอย่างไร นักโทษที่แกจ่ายจึงไม่หนี แกบอกว่านักโทษมี ๒ ชนิด ชนิดที่จะหนีถ้ามีโอกาสเมื่อใดมันคงหนี ชนิดนั้นจ่ายออกนอกตะรางไม่ได้ แต่นักโทษอีกชนิดหนึ่งใจยังรักดี คือพวกที่จะต้องติดไม่นานนัก หรือพวกที่ใกล้จะถึงเวลาพ้นโทษ ชนิดนี้สั่งสอนได้ ถึงในพวกนี้แกก็เลือกจ่ายไปโดยลำพังแต่คนที่เชื่อใจได้ว่าจะไม่หนี แกไม่มีวิชาอย่างไรที่จะเปลี่ยนอุปนิสัยของมันได้ ฉันได้ฟังอธิบายของแกก็เข้าใจว่าความสามารถของแกอยู่ที่รู้จักคาดใจนักโทษเป็นสำคัญ ที่แกเป็นกำลังของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ นั้น อยู่ในการสืบเรื่องโจรผู้ร้ายจากความรู้ของพวกนักโทษอย่างหนึ่ง กับปลอบผู้ร้ายให้รับเป็นสัจอย่างหนึ่ง ดูเหมือนแกจะมีนักโทษที่ฝึกหัดไว้สำหรับให้อยู่ปะปนกับโจรผู้ร้ายที่แรกจับได้ ค่อยพูดจาเกลี้ยกล่อมให้รับเป็นสัจ ดังเห็นได้ในคำที่โจรจันทร์เล่า หลวงชัยอาญา (โพธิ์) เป็นทั้งพะทำมะรงเป็นครูของพะทำมะรงในเรือนจำอื่น ซึ่งฉันสั่งให้ส่งไปศึกษาจากมณฑลต่างๆ อยู่ในตำแหน่งจนแก่ชราขอลาออก จึงได้เลื่อนเป็นที่พระพุทธเกษตรานุรักษ์ ตำแหน่งเจ้ากรมรักษาพระปฐมเจดีย์มาจนถึงแก่กรรม

ฉันได้ฟังอธิบายของโจรจันทร์ ถึงกระบวนโจรกรรมต่างๆ คิดเห็นว่าโจรกรรมเป็นของมีจริงคล้ายกับเป็นวิชาอย่างหนึ่ง มิใช่เป็นแต่คำสำหรับเรียกกันโดยโวหาร หากเป็นวิชาสำหรับทำความชั่ว สาธุชนไม่เอาใจใส่ที่จะรู้ จึงรู้กันแต่ในพวกโจรผู้ร้าย ว่าที่จริง ถ้าสาธุชนรู้ไว้บ้างก็จะเป็นประโยชน์ เช่น พนักงานปราบปรามโจรผู้ร้าย ก็จะได้รู้เท่าทันโจร หรือเป็นคฤหบดี ก็จะได้รู้จักป้องกันทรัพย์สมบัติของตน ตัวฉันมีโอกาสที่ได้พบปะกับศาสตราจารย์โจรกรรม น่าจะลองเขียนให้ความรู้เรื่องโจรกรรม เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ปราบโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองตลอดจนพวกเจ้าทรัพย์ คิดเห็นเช่นนั้นจึงเรียกโจรจันทร์มาถามอีกครั้งหนึ่ง ถามครั้งนี้ฉันเอากระดาษดินสอจดคำอธิบาย และบอกโจรจันทร์ให้รู้ว่าฉันจะแต่งหนังสือเรื่องโจรกรรม ถ้าบอกให้ถ้วนถี่ดีจริง ฉันจะกราบบังคมทูลขอให้พ้นโทษเป็นบำเหน็จ โจรจันทร์ก็ยินดีรับชี้แจงให้ตามประสงค์ และให้สัญญาว่า ถ้าพ้นโทษ จะทิ้งความชั่ว ไม่เป็นโจรผู้ร้ายต่อไปจนตลอดชีวิต ฉันจึงเขียนเรื่องโจรกรรมอย่างพิสดารจนสำเร็จแล้วให้พิมพ์เป็นเล่มสมุดเรียกชื่อเรื่องว่า “สนทนากับผู้ร้ายปล้น” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ นั้น แต่พอหนังสือนั้นปรากฏ คนก็ชอบอ่านกันแพร่หลาย ถึงต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เพราะยังไม่มีใครเคยรู้เรื่องโจรกรรมชัดเจน เหมือนอย่างพรรณนาในหนังสือเรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้นมาแต่ก่อน

ส่วนตัวโจรจันทร์นั้น ฉันก็กราบบังคมทูลขอพระราชทานโทษด้วยยกความชอบที่ได้ชี้แจงกระบวนโจรกรรม ให้เป็นประโยชน์แก่การปราบปรามโจรผู้ร้าย เมื่อได้รับพระราชทานโทษแล้ว โจรจันทร์ไม่ประสงค์จะกลับไปอยู่เมืองปทุมธานี ขออยู่รับใช้สอยที่เมืองนครปฐมต่อไป เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ว่าพวกโจรปล้นเช่นนายจันทร์ยังถือสัจ ถ้ารับกลับใจแล้วพอไว้ใจได้ ไม่เหมือนพวกขโมยที่ล้วงลักตัดช่องย่องเบา ท่านเห็นฉันคุ้นเคยจนชอบนายจันทร์ จะให้เป็นพนักงานเฝ้าเรือน “บังกะโล” ที่ฉันพัก ฉันก็ไม่รังเกียจ นายจันทร์ได้ตำแหน่งทำงาน ก็ให้ครอบครัวตามไปอยู่เมืองนครปฐม เมียไปตั้งร้านขายของ มีลูกชายคนหนึ่งเพิ่งรุ่นหนุ่ม เอาไปให้เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ฝึกหัดใช้ราชการ แต่นั้นก็อยู่เย็นเป็นสุขสืบมาทั้งครัวเรือน

ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โปรดเสด็จประพาสเมืองนครปฐมเนืองๆ เมื่อยังไม่ได้สร้างวังใหม่ เสด็จไปประทับที่เรือนบังกะโลของฉันเป็นนิจ ทรงทราบว่านายจันทร์คนรักษาเรือนเคยเป็นนายโจร ตรัสเรียกไปทรงไถ่ถาม ให้เล่าเรื่องโจรกรรมถวายจนทรงคุ้นเคย ถึงสมัยเมื่อทรงเสวยราชย์แล้ว เวลาเสด็จออกไปเมืองนครปฐม พบนายจันทร์ก็ตรัสทักด้วยทรงพระกรุณา แม้พวกข้าราชการในราชสำนัก หรือที่ไปรับราชการ ณ เมืองนครปฐม ก็รู้จักนายจันทร์ทุกคนไม่มีใครเกลียดชัง ถ้าจะว่าก็เพราะเหตุที่เคยเป็นนายโจรแล้วกลับใจได้ แม้เป็นพลเมืองสามัญไปรับจ้างเฝ้าเรือนบังกะโล ก็เห็นจะไม่มีใครนำพานัก นายจันทร์เป็นผู้เฝ้าเรือนบังกะโลมากว่า ๒๐ ปี จนแก่ชราทำงานไม่ไหวจึงออกจากหน้าที่ เมื่อฉันเขียนนิทานนี้ได้ยินว่า “โจรจันทร์” ยังอยู่ที่เมืองนครปฐม อายุกว่า ๘๐ ปีแล้ว.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ