นิทานที่ ๓ เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ (ร.ศ. ๑๐๙) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเลียบหัวเมืองแหลมมลายูทั้งปักษ์ใต้และฝ่ายตะวันตก กำหนดระยะทางจะเสด็จไปเรือจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองชุมพร แต่เมืองชุมพรเสด็จโดยทางบกข้ามแหลมมลายูตรงกิ่วกระ ไปลงเรือที่เมืองกระบุรีล่องลำน้ำปากจั่นลงไปยังเมืองระนอง ต่อนั้นเสด็จไปเรือทางทะเล แวะตามหัวเมืองฝ่ายตะวันตกจนตลอดพระราชอาณาเขต แล้วเลยไปอ้อมแหลมมลายูที่เมืองสิงคโปร์ เลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ขึ้นมา เมื่อขากลับกรุงเทพฯ โปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาสครั้งนั้น

เพราะเหตุใดจึงโปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาสเป็นเรื่องอันหนึ่งในประวัติ ของตัวฉันเอง จะเล่าฝากไว้ด้วยตรงนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ (ร.ศ. ๑๐๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ โปรดให้ฉันไปตามเสด็จเป็นมัคคุเทศก์ เพราะฉันได้เคยไปเที่ยวหัวเมืองทางนั้น รู้เบาะแสมาแต่ปีก่อน ก็การที่เป็นมัคคุเทศก์นั้นมีหน้าที่เป็นต้นรับสั่งกะการประพาสที่ต่างๆ ตลอดทางที่เสด็จไป ฉันสนองพระเดชพระคุณชอบพระราชหฤทัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่นั้นมาจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาส แต่ชอบเรียกกันเป็นคำแผลงภาษาอังกฤษว่า Lord Program Maker ตามเสด็จประพาสต่อมาเป็นนิจจนตลอดรัชกาลที่ ๕ และคงอยู่ในตำแหน่งนั้นสืบมาในรัชกาลที่ ๖ อีก ๓ ปี รวมเวลาที่ได้เป็นผู้จัดการเสด็จประพาสอยู่ ๒๖ ปี จึงพ้นจากหน้าที่นั้นพร้อมกับถวายเวนคืนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลับเข้าไปจัดการเสด็จประพาสถวายอีก เมื่อเสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลพายัพครั้งหนึ่ง และเสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง จึงอ้างได้ว่าได้รับราชการเป็นผู้จัดการเสด็จประพาสสนองพระเดชพระคุณมา ๓ รัชกาล แต่เมื่อไปตามเสด็จครั้งหลัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับต้องทรงระวังมิให้ฉันเหนื่อยเกินไป เพราะตัวฉันแก่ชราอายุเกือบ ๗๐ ปีแล้ว ก็เป็นครั้งที่สุดซึ่งฉันได้จัดการเสด็จประพาสเพียงนั้น

เมื่อจัดการเสด็จประพาสครั้ง ร.ศ. ๑๐๙ ฉันต้องล่วงหน้าลงไปจัดพาหนะสำหรับเดินทางบก และตรวจพลับพลาที่ประทับ กับทั้งการทำทางที่จะเสด็จไปแต่เมืองชุมพรจนถึงเมืองระนอง แล้วจึงกลับมาเข้าขบวนตามเสด็จที่เมืองชุมพร ฉันไปถึงเมืองชุมพรได้ฟังเขาเล่าเรื่องเสือใหญ่ ซึ่งกำลังดุร้ายกินผู้คนอยู่ในแขวงเมืองชุมพรในเวลานั้น และไปมีเหตุขึ้นเนื่องด้วยเรื่องเสือตัวนั้น เห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาด จึงเขียนเล่าไปยังหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งฉันเป็นกรรมการอยู่ด้วยคนหนึ่ง สำหรับให้ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ดูเรื่องเข้ากับนิทานโบราณคดีที่เขียนบัดนี้เหมาะดี จึงคัดสำเนาจากหนังสือวชิรญาณวิเศษมาแก้ไขถ้อยคำบ้างเล็กน้อย และเขียนเล่าเรื่องเสือตัวนั้นอันมีต่อมาเมื่อภายหลัง ยังไม่ปรากฏในหนังสือซึ่งฉันเขียนไว้แต่ก่อน เพิ่มเติมให้สิ้นกระแสความ เรื่องที่เขียนไว้แต่เดิมดังต่อไปนี้

เรื่องเสือใหญ่ที่เมืองชุมพร

เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ กล่าวตามที่ฉันได้ยินด้วยหูและได้เห็นด้วยตาของตัวเอง เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านอย่าได้สงสัยว่าเป็นความเท็จซึ่งแต่งแต่โดยเดาเลย เป็นความจริงแท้ทีเดียว

เมื่อวันที่ ๖ เมษายน (ร.ศ. ๑๐๙) นี้ ฉันไปถึงปากน้ำเมืองชุมพรลงเรือโบตขึ้นไปที่บ้านด่าน หาเรือซึ่งจะรับขึ้นไปถึงเมืองชุมพร ด้วยเรือไฟที่มาส่งฉันเขาจะต้องรีบใช้จักรไปราชการที่อื่นอีก ขณะเมื่อฉันนั่งพักคอยเรืออยู่ที่บ้านด่านนั้น ได้สนทนากับขุนด่านและกรมการราษฎรชาวปากน้ำชุมพรหลายคน ซึ่งฉันได้รู้จักมาแต่ก่อนบ้าง ที่ยังไม่รู้จักบ้าง พูดจาไถ่ถามถึงทุกข์สุขต่างๆ ตลอดไปจนเรื่องการทำมาหากินของราษฎร และเรื่องสัตว์สิงห์ต่างๆ คือเสือเป็นต้น เขาจึงเล่าให้ฟังเป็นปากเดียวกันดังนี้ ว่าในเวลานั้นมีเสือดุที่แขวงเมืองชุมพรตัวหนึ่ง เสือนั้นตัวใหญ่ยาวสัก ๙ ศอก เท้าเป๋ข้างหนึ่ง จึงเรียกกัน “อ้ายเป๋” เที่ยวกัดกินคนตามแขวงบ้านใหม่ บ้านละมุ เสียหลายคน ประมาณกันแต่หกเจ็ดคนขึ้นไปถึงสิบคนยี่สิบคน และว่าเสือตัวนี้กล้าหาญผิดกับเสือซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน ถึงเข้ากัดคนกลางวันแสกๆ บางทีคนนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนเรือน ก็เข้ามาฉวยเอาไป บางคนไปขึ้นพะองทำตาลก็มาคาบเท้าลากไป จนชาวบ้านชาวเมืองพากันครั่นคร้าม ไม่อาจจะไปป่าหากินแต่คนเดียวสองคนได้ บางคนก็ว่าเป็นเสือสมิงศักดิ์สิทธิ์ไม่มีผู้ใดอาจจะไปดักหรือไปยิงจนทุกวันนี้ เขาเล่าให้ฟังอย่างนี้ ได้สืบถามตามชาวเมืองจนกระทั่งกรมการทั้งเมืองชุมพรและเมืองกระบุรี ก็รู้เรื่องเสือดุตัวนี้แทบทุกคน ฉันจึงให้ทำบัญชีรายชื่อคนถูกเสือกัด ซึ่งตามภาษาชาวชุมพรเขาเรียกว่า “เสือขบ” ไว้สำหรับกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ได้รายชื่อเขาจดมาให้ดังนี้

อำเภอท่าแซะแขวงเมืองชุมพร จำนวนคนที่เสือขบ นายช่วยผัวอำแดงจันทร์ ตำบลบางรึกคนหนึ่ง อำแดงเกต บ้านหาดพังไกรคนหนึ่ง นายน้อย บ้านท่าแซะคนหนึ่ง นายเบี้ยว บ้านท่าแซะคนหนึ่ง อำแดงเช้าภรรยานายลอม บ้านคูริงคนหนึ่ง หลานนายยอด บ้านหาดพังไกรคนหนึ่ง นายนองผัวอำแดงสายทอง บ้านรับร่อคนหนึ่ง นายน้อย บุตรขุนตะเวนบ้านล่อคนหนึ่ง นายเชต บ้านหาดหงคนหนึ่ง รวมที่ได้รายชื่อ ๙ คน บัญชีได้เพิ่มเติมมาจากเมืองกระบุรีมีรายการพิสดารออกไป

๑) นายอ่อน หมายเลขกองกลาง อยู่บ้านรับร่อ ไปตัดจากมุงเรือนที่ปลายคลองรับร่อ เมื่อเดือนพฤศจิกายน เวลาบ่าย ๕ โมง เสือกัดตายตามผีไม่ได้

๒) นายนอง ว่าที่หมื่นจบ คุมเลขกองด่าน อยู่บ้านหาดพังไกร ไปขึ้นทำน้ำตาลที่กลางนาหาดพังไกร เมื่อเดือนตุลาคมข้างขึ้น เวลากลางวัน ตะวันเที่ยง พอกลับลงจากปลายตาลเสือกัดตาย ตามผีมาได้ครึ่งหนึ่ง

๓) อำแดงแป้น ลูกขุนชนะ คุมเลขกองกลาง อยู่บ้านท่าญวน ไปหาผักริมนาท่าญวน เมื่อเดือนตุลาคม ข้างแรม กลางวันบ่าย ๓ โมง เสือกัดตาย ตามผีได้

๔) นายแบน เป็นเลขกองกลาง อยู่บ้านท่าญวณ ไปหาตัวเลขจะพามาทำทางรับเสด็จที่เมืองกระ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เวลาพลบค่ำ เสือกัดตายที่นาป่าตอ อำเภอท่าญวน

๕) อำแดงเลี้ยน ภรรยานายพลอย เลขกองกลาง อยู่บ้านเขาปูน นั่งสานสาดอยู่ที่ใต้ถุนร้านไล่นกที่ในไร่ เวลาตะวันเที่ยง เสือกัดตาย ตามผีได้

ตามคำที่เล่าและ สืบได้ชื่อกับจำนวนคนที่เสือกัด พอฟังเป็นยุติได้ ว่าที่เมืองชุมพรเดี๋ยวนี้มีเสือตัวใหญ่ ดุร้ายกัดคนตายเสียหลายคน ชาวบ้านชาวเมืองพากันครั่นคร้ามเสือตัวนั้นอยู่แทบทั่วกันทั้งเมือง นี่ว่าตามที่ได้ยินด้วยหู ทีนี้จะเล่าถึงที่ได้เห็นด้วยตาตัวเองต่อไป

เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองชุมพร แต่แรกเจ้าเมืองกรมการเขาจะให้พักที่ทำเนียบริมจวนเจ้าเมือง แต่ฉันเห็นว่าห่างไกลจากธุระของฉัน จึงขอไปพักอยู่ที่ทำเนียบชายทุ่งริมที่ทำพลับพลารับเสด็จ ในค่ำวันนั้นกรมการเขาจัดคนมากองไฟรอบที่พักฉัน (ซึ่งยังไม่ได้ทำรั้วล้อม) มีผู้คนนั่งอยู่ด้วยกันหลายสิบคน ทั้งคนที่ไปด้วยและชาวหัวเมืองพวกคนทำพลับพลาก็อีกหลายร้อยคน อยู่ในชายทุ่งนั้นด้วยกัน ในคืนแรกไปอยู่ฉันนอนหลับตลอดรุ่ง ต่อเช้าขึ้นจึงได้ทราบว่าเมื่อเที่ยงคืนพวกกองไฟร้องโวยวายกันขึ้น พวกที่ไปกับฉันให้ไปสืบถาม ได้ความว่าได้ยินเสียงเสือเข้ามาร้องอยู่ที่ริมบึงต่อชายทุ่งนั้น เสียงที่ร้องนี้พวกที่ไปกับฉันได้ยินก็มี แต่คนพวกนั้นไม่เคยได้ยินเสียงเสือ ไล่เลียงเข้าก็เป็นแต่ว่าได้ยินเสียง แต่จะเป็นเสียงอะไรไม่รู้ ฉันถามกรมการว่าในที่เหล่านั้นเสือเคยเข้ามาหรือไม่ เขาบอกว่าเคยเข้ามาอยู่บ้าง ก็เป็นสงบกันไป จนค่ำวันที่สอง ฉันนอนกำลังหลับสนิท สะดุ้งตกใจได้ยินเสียงโวยวายโกลาหลกันใหญ่ ลุกทะลึ่งออกมาดูเห็นบรรดาพวกที่ไปกับฉันซึ่งนอนอยู่ในเรือนหลังเดียวกัน บางคนปีนขึ้นไปอยู่บนขื่อก็มี ที่เข้าห้องปิดประตูก็มี นอกจากนั้นก็ลุกขึ้นยืนอยู่บนที่นอนของตน ล้วนแต่โบกมือเฮ้อวๆ ๆ ๆ อยู่ด้วยกันเต็มเสียง ฉันกำลังมัวนอนไม่รู้ว่าเรื่องราวอันใด ก็พลอย เฮ้อว ไปด้วยกับเขาสักสองสามที จึงได้สติถามว่า “อะไรกัน” เขาบอกว่าเสือเข้ามา ฉันร้องห้ามให้สงบโวยวายกันลง ในขณะนั้นเดือนหงายสว่าง มองไปดูเห็นพวกที่ไปด้วยกันที่อยู่เรือนอีกหลังหนึ่งตรงกันข้าม ก็กำลังลุกขึ้นโบกมือร้อง เฮ้อวๆ เหมือนเช่นพวกข้างนี้ ส่วนพวกหัวเมืองทั้งที่มาทำพลับพลาและมากองไฟล้อมทำเนียบ เบ็ดเสร็จเห็นจะกว่า ๓๐๐ คน ดูรวมกันเป็นจุกๆ อยู่ที่นั่นหมู่หนึ่ง อยู่ที่นี่หมู่หนึ่ง เป็นกลุ่มๆ กันไป ต่างร้องโวยวายกันทั่วทุกคน เสียงโวยวายในเวลานั้น ถ้าจะประมาณแต่ในวังก็เห็นจะได้ยินถึงเสาชิงช้า ค่อยสงบลงๆ จนเงียบกันเกือบเป็นปรกติ ฉันจึงให้คนไปสืบถามให้ได้ความว่า เสือมันเข้ามาทางไหน และได้ทำใครเป็นอันตรายบ้างหรืออย่างไร สืบถามซักไซ้ก็ได้ความว่า ต้นเหตุเกิดที่โรงไว้ของข้างหลังเรือนฉันพัก โรงนั้นเป็นโรงใหญ่ไม่มีฝาอยู่สองด้าน มีคนนอนอยู่หลายคน คนหัวเมืองคนหนึ่งละเมอเสียงโวยวายขึ้น คนหัวเมืองอีกคนหนึ่งนอนอยู่เคียงกัน ได้ยินเสียงเพื่อนกันโวยวายก็ตกใจลุกทะลึ่งขึ้นร้องว่า “เสือ” แล้วก็วิ่งหนีด้วยเข้าใจว่าเสือมากัดอ้ายคนละเมอ ส่วนอ้ายคนละเมอเห็นเขาวิ่งร้อง “เสือ เสือ” ก็สำคัญว่าเสือเข้ามา พลอยลุกขึ้นวิ่งร้องว่า “เสือ” ตามเขาไป อ้ายสองคนนี้ เข้าที่ไหนคนก็ลุกขึ้นร้องโวยวายต่อๆ ไปด้วย ครั้นได้ความชัดอย่างนี้ก็ได้แต่หัวเราะกันไป อีกกว่าชั่วโมงจึงสงบเงียบหลับกันไปอีก นี่แลที่ฉันได้เห็นในเรื่องเสือตัวใหญ่นั้นด้วยตาของฉันเอง แต่มิใช่ได้เห็นตัวเสือใหญ่นั้นดอกนะ (เรื่องที่ลงหนังสือวชิรญาณวิเศษ หมดเพียงเท่านี้)

หนทางบกที่เดินข้ามกิ่วกระ แต่เมืองชุมพรไปจนลำน้ำปากจั่น ณ เมืองกระบุรี ระยะทางเพียง ๑,๐๘๓ เส้น พวกชาวเมืองที่ไปมาค้าขาย เขาเดินวันเดียวตลอด แต่ขบวนเสด็จผู้คนมากต้องกะให้เดินเป็น ๒ วัน เพราะต้องข้ามเขาบรรทัดเป็นทางกันดาร ได้ลองนับที่ต้องขึ้นเขาและลงข้ามไหล่เขามีถึง ๓๑ แห่ง ข้ามลำธาร ๕๓ แห่ง ลุยไปตามลำธาร ๒๑ แห่ง พาหนะก็ใช้ได้แต่ช้างม้ากับคนเดินหาบหาม ขบวนคนมากต้องเดินช้าอยู่เอง เมื่อฉันล่วงหน้าไปตรวจทางครั้งนั้น ได้พบเห็นของประหลาดที่ไม่เคยรู้เห็นมาแต่ก่อนบางอย่าง จะเล่าไว้ด้วย อย่างหนึ่งคือต้นไม้ใบมีพิษเรียกว่า “ตะลังตังช้าง” เป็นต้นไม้ขนาดย่อม สูงราวห้าหกศอกขึ้นแซกแซมต้นไม้อื่นอยู่ในป่า ไม้อย่างนี้ที่ครีบใบมีขนเป็นหนามเล็กๆ อยู่รอบใบ ถ้าถูกขนนั้นเข้าก็เกิดพิษให้ปวดเจ็บ เขาว่าพิษร้ายแรงถึงช้างกลัว เห็นต้นก็ไม่เข้าใกล้ เพียงเอาใบตะลังตังช้างจี้ให้ถูกตัวช้างก็วิ่งร้องไป จึงเรียกว่า ตะลังตังช้าง ชาวเมืองชุมพรเล่าต่อไปว่า หาดริมลำธารแห่งหนึ่งในทางที่ฉันไปนั้น เรียกกันว่า “หาดพม่าตาย” เพราะเมื่อพม่ามาตีเมืองไทยในรัชกาลที่ ๒ พักนอนค้างที่หาดนั้น พวกหนึ่งไม่รู้ว่าใบตะลังตังช้างมีพิษเอามาปูนอน รุ่งขึ้นก็ตายหมดทั้งพวก คนไปเห็นพม่านอนตายอยู่ที่หาดจึงเรียกกันว่า หาดพม่าตาย แต่นั้นมา แต่ฉันฟังเล่าออกจะสงสัยว่าที่จริงเห็นจะเป็นเมื่อพม่าหนีไทยกลับไป มีพวกที่ถูกบาดเจ็บถึงสาหัสไปตายลงที่หาดนั้น จึงเรียกว่าหาดพม่าตายมาแต่เดิม เผอิญคนไปเห็นที่แถวนั้นมีต้นตะลังตังช้างชุม ผู้ที่ไม่รู้เหตุเดิมจึงสมมตว่าตายเพราะถูกพิษใบตะลังตังช้าง ถ้าเอาใบตะลังตังช้างมาปูนอนดังว่า คงรู้สึกพิษสงของใบไม้ตั้งแต่แรกพอหนีเอาตัวรอดได้ ไหนจะนอนทนพิษอยู่จนขาดใจตาย ยังมีบางคนกล่าวต่อไปอีกอย่างหนึ่งว่าใบตะลังตังช้างนั้น ถ้าตัดเอาครีบตรงที่มีขนออกเสียให้หมดแล้ว ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใส่แกงกินอร่อยดี ดูก็แปลก แต่ฉันไม่ได้ทดลองให้ใครกินใบตะลังตังช้างหรือเอาจี้ช้างให้ฉันดู เป็นแต่ให้เอามาพิจารณาดู รูปร่างอยู่ในประเภทใบไม้เหลี่ยม เช่นใบมะเขือ ขนาดเขื่องกว่าใบพลูสักหน่อยหนึ่ง แต่ที่ครีบมีขนเหมือนขลิบรอบทั้งใบ ใบไม้มีพิษพวกนั้นยังมีอีก ๒ อย่าง เรียกว่า “ตะลังตังกวาง” อย่างหนึ่ง “สามแก้ว” อย่างหนึ่ง แต่รูปใบรีปลายมน เป็นไม้ต่างพรรณกับตะลังตังช้าง เป็นแต่ที่ครีบมีขนเช่นเดียวกัน และว่าพิษสงอ่อนไม่ร้างแรงถึงตะลังตังช้าง ได้ยินเขาว่าทางข้างเหนือที่เมืองลำพูน ต้นตะลังตังกวางก็มี แต่ฉันไม่ได้เห็นแก่ตาเหมือนที่แหลมมลายู

เมื่อไปถึงตำบล “บกอินทนิล” ในแดนเมืองกระบุรี ซึ่งจัดเป็นที่ประทับร้อน ในวันที่ ๒ ก็เห็นของประหลาดอีก ฉันได้ยินเสียงสัตว์ร้องอยู่ในป่าที่ต้นเลียบใหญ่ใกล้ๆ กับที่ประทับ ฟังเหมือนเสียงตุ๊กแก ไปดูก็เห็นตุ๊กแกมีอยู่ในโพลงต้นเลียบนั้นหลายตัว ออกประหลาดใจเพราะเคยสำคัญมาแต่ก่อนว่าตุ๊กแกมีแต่ตามบ้านผู้เรือนคน เพิ่งไปรู้เมื่อครั้งนั้นว่าตุ๊กแกป่าก็มี ต่อนั้นมาอีกหลายปี ฉันตามเสด็จไปเมืองชวาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ตอนเสด็จไปทอดพระเนตรภูเขาไฟโบรโม ประทับแรมอยู่ที่บนเขาโตสารี ห้องที่ฉันอยู่ในโฮเต็ลใกล้กับห้องของนักปราชญ์ฝรั่งผู้เชี่ยวชาญวิชาสัตวศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งออกมาเที่ยวหาสัตว์แปลกๆ ทางตะวันออกนี้ จะเป็นเยอรมันหรือฮอลันดาหาทราบไม่ แต่ดูเป็นคนแก่แล้วพูดกันได้ในภาษาอังกฤษ จึงชอบพูดจาสนทนากัน แกบอกว่าที่ในป่าเมืองชวามีสัตว์ประหลาดอย่างหนึ่ง เวลาคนเดินทางนอนค้างอยู่ในป่า มันมักลอบมาอมหัวแม่ตีนดูดเลือดไปกิน คนนอนไม่รู้สึกตัวเป็นแต่อ่อนเพลียไปจนถึงตายก็มี ฉันว่าสัตว์อย่างนั้นในเมืองไทยก็มี เรียกว่า “โป่งค่าง” ฉันเคยได้ยินเขาเล่าว่ามันลอบดูดเลือดคนกินเช่นนั้น แต่ฉันไม่เคยเห็นรูปร่างของมันว่าเป็นอย่างไร แกบอกว่าแกหาตัวสัตว์อย่างนั้นได้ที่ในเมืองชวาหลายตัว ฉันอยากเห็น แกจึงพาเข้าไปดูในห้องสำนักงานของแก เห็นเอาใส่ขวดแช่เหล้าไว้ เข้าไปพิจารณาดูก็ตุ๊กแกเรานี่เอง จึงหวนรำลึกขึ้นทันทีถึงตุ๊กแกในโพรงต้นเลียบที่บกอินทนิล คงเป็นตุ๊กแกป่านั่นเองที่เราเรียกกันว่า ตัวโป่งค่าง

เมื่อฉันไปพักอยู่ที่เมืองระนอง ก็มีเรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง สมัยนั้นยังไม่มีตำรวจภูธร กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ทรงจัดให้ทหารเรือหมวดหนึ่ง มีนายทหารเรือคุมไปสำหรับรักษาที่พักของฉัน ทหารเรือพวกนั้นจึงไปด้วยกันกับฉันจนถึงเมืองระนอง วันหนึ่งฉันกำลังนั่งอยู่กับพระยาระนอง (คอซิมก้อง ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาดำรงสุจริตฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร) และพระกระบุรี (คอซิมบี้ ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต) ข้าราชการที่ไปกับฉันก็นั่งอยู่ด้วยหลายคน ขณะนั้นนายทหารเรือเข้าไปบอกว่าทหารเรือป่วยไปคนหนึ่ง อาการเป็นไข้ตัวร้อนและมีเม็ดผุดขึ้นตามผิวหนัง ดูเหมือนจะออกฝีดาษ พอพระยาระนองกับพระกระบุรีได้ยินก็ตกใจ ออกปากว่าน่าจะเกิดลำบากเสียแล้ว เพราะราษฎรแถวนั้นยังกลัวฝีดาษยิ่งนัก ผิดกับชาวหัวเมืองชั้นใน ถ้ารู้ว่ามีคนออกฝีดาษอยู่ที่นั่นเห็นจะพากันหลบหนี ไม่มีใครทำการรับเสด็จ ฉันก็ตกใจ ถามว่าจะทำอย่างไรดี เจ้าเมืองทั้งสองคนบอกว่า ตามประเพณีของราษฎรทางนั้น ถ้ามีคนออกฝีดาษที่บ้านไหน พวกชาวบ้านช่วยกันปลูกทับกระท่อมให้คนเจ็บไปอยู่ต่างหาก หายาและข้าวปลาอาหารไปวางไว้ให้ที่กระท่อม แล้วพวกชาวบ้านพากันทิ้งบ้านเรือนไปอยู่เสียให้ห่างไกล จนคนไข้หายสนิทจึงกลับมา ถ้าคนไข้ตายก็เผาเสียให้สูญไปด้วยกันกับกระท่อม เขาอยากให้ฉันส่งทหารเรือคนที่เจ็บไปไว้ที่เกาะว่างผู้คน กลางลำน้ำปากจั่น เขาจะให้ไปปลูกทับกระท่อมที่อาศัย และจะลองหาคนที่ออกฝีดาษแล้วไปช่วยอยู่รักษาพยาบาล มิฉะนั้น ถ้าฉันพาคนไข้กลับไปด้วย ไปถึงไหนราษฎรที่มาทำงานอยู่ที่นั่นก็คงพากันหลบหนีไปหมด ฉันสงสารทหารเรือคนไข้ ยังมิรู้ที่จะว่าประการใด พระทิพจักษ์ฯ หมอที่ไปประจำตัวฉันพูดขึ้นว่า จะไปตรวจดูเสียให้แน่ก่อน แกไปสักครู่หนึ่งเดินยิ้มกลับมา บอกว่าไม่ต้องทรงพระวิตกแล้ว คนเจ็บเป็นแต่ออกอีสุกอีใสมิใช่ฝีดาษ เพราะเม็ดที่ขึ้นห่างๆ กันไม่เป็นพืดเหมือนเม็ดฝีดาษ พิษไข้ก็ไม่ร้ายแรงเหมือนอย่างออกฝีดาษ รักษาไม่กี่วันก็หาย ได้ฟังดังนั้นก็โล่งใจไปด้วยกันหมด ขากลับจากเมืองระนอง พระทิพจักษ์ฯ แกรับคนไข้มาในเรือลำเดียวกับแก เมื่อขึ้นเดินบก ฉันก็ให้จัดช้างตัวหนึ่งให้คนไข้นอนมาในสัปคับ นำหน้าช้างตัวที่ฉันขี่มาจนถึงเมืองชุมพร รักษาต่อมาไม่กี่วันก็หายเป็นปรกติ ต่อเมื่อคนไข้หายสนิทแล้ว พระทิพจักษ์ฯ จึงกระซิบบอกฉันว่า ที่จริงทหารเรือคนนั้นออกฝีดาษนั่นเอง แต่ออกอย่างบางพิษสงไม่ร้ายแรง แกเห็นพอจะพามาได้จึงคิดเอากลับมา ฉันก็มิรู้ที่จะว่าประการใด นอกจากขอบใจ เพราะรอดลำบากมาได้ด้วยมายาของแก

เมื่อเสด็จเลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกเมื่อ ร.ศ. ๑๐๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้โดยพิสดาร พิมพ์อยู่ในหนังสือ “เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายู” แล้ว ฉันจะเล่าแต่เรื่องเสือใหญ่ต่อไป เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ต่อมาไม่ช้าใน พ.ศ. ๒๔๓๓ นั่นเอง ได้ข่าวว่าเสือใหญ่ที่เมืองชุมพรถูกยิงตายแล้ว ฉันอยากรู้เรื่องที่ยิงเสือตัวนั้น ให้สืบถาม ได้ความว่าชาวเมืองชุมพรคนหนึ่ง มีกิจธุระจะต้องเดินทางไปในป่า เอาปืนติดมือไปด้วย แต่มิได้ตั้งใจจะไปยิงเสือ เดินไปในเวลากลางวัน พอเลี้ยวต้นไม้ที่บังอยู่ริมทางแห่งหนึ่งก็เจอะ อ้ายเป๋ เสือใหญ่ประชันหน้ากันใกล้ๆ ชายคนนั้นมีสติเพียงลดปืนลงจากบ่า ขึ้นนกหลับตายิงไปตรงหน้าแล้วก็ทิ้งปืน วิ่งหนีเอาตัวรอด แต่เป็นเพราะพบเสือใกล้ๆ ข้างฝ่ายเสือก็เห็นจะไม่ได้คาดว่าจะพบคน คงยืนชะงักอยู่ ลูกปืนจึงถูกที่หัวเสือตายอยู่กับที่ สิ้นชีวิตเสือใหญ่เพียงนั้น แต่ยังไม่หมดเรื่อง ฉันนึกถึงความหลังเกิดอยากได้หนังหรือหัวกะโหลกเสือตัวนั้น ให้ไปถามหา ได้ความว่า เมื่ออ้ายเป๋ถูกยิงตายแล้ว กำนันนายตำบลเอาซากไปส่งต่อพระยาชุมพร (ยัง) พระยาชุมพรออกเงินให้เป็นบำเหน็จแก่คนยิง แล้วได้ซากเสือไว้มิรู้ที่จะทำอย่างไร มีเจ๊กไปขอซื้อว่าจะเอาไปทำยา พระยาชุมพรก็เลยขายซากให้เจ๊กไป ฉันให้ลงไปถามหาช้าไปจึงไม่ได้หนังหรือหัวกะโหลกอ้ายเป๋ดังประสงค์ เป็นสิ้นเรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพรเพียงเท่านี้. 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ