- คำนำ
- รูปฉายเมื่ออายุ ๘๐ ปี
- คำนำนิทานโบราณคดี
- นิทานที่ ๑ เรื่องพระพุทธรูปประหลาด
- นิทานที่ ๒ เรื่องพระครูวัดฉลอง
- นิทานที่ ๓ เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร
- นิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ
- นิทานที่ ๕ เรื่องของแปลกที่เมืองชัยปุระในอินเดีย
- นิทานที่ ๖ เรื่องของแปลกที่เมืองพาราณสี
- นิทานที่ ๗ เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย
- นิทานที่ ๘ เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส)
- นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง
- นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์
- นิทานที่ ๑๑ เรื่องโจรแปลกประหลาด
- นิทานที่ ๑๒ เรื่องตั้งโรงพยาบาล
- นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย
- นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
- นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่
- นิทานที่ ๑๖ เรื่องลานช้าง
- นิทานที่ ๑๗ เรื่องแม่น้ำโขง
- นิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ
- นิทานที่ ๑๙ เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์
- นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคต้น)
- นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย)
คำนำ
พณท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ปรารภงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งกำหนดในวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. นี้ว่า สมควรจะจัดหนังสือตีพิมพ์ขึ้น เพื่อแจกชำร่วยเป็นที่ระลึกอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย และเป็นที่ปรึกษาราชการของกรมศิลปากร จึงสั่งให้กรมศิลปากรจัดหาเรื่องหนังสือที่กล่าวนี้ กรมศิลปากรเห็นว่าหนังสือสำหรับแจก ควรจะเป็นเรื่องที่ทรงนิพนธ์ และเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยตีพิมพ์แพร่หลาย ก็จะเหมาะด้วยประการทั้งปวง มาระลึกขึ้นได้ว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงหนังสือขึ้นใหม่ไว้เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “นิทานโบราณคดี” และเพิ่งจะทรงพระนิพนธ์เสร็จเมื่อก่อนหน้าสิ้นพระชนม์ไม่กี่วันถ้ามีโอกาสจัดพิมพ์ขึ้นให้แพร่หลาย ก็จะได้ประโยชน์เกี่ยวกับความรู้เรื่องเก่าไม่น้อย กรมศิลปากรจึงจัดการติดต่อขอต้นฉบับจากทายาท ก็มีแก่ใจมอบให้ตามประสงค์ กรมศิลปากรนำเสนอเรื่อง แด่พณท่านนายกรัฐมนตรี พณท่านนายกรัฐมนตรีมีความยินดีอนุโมทนา เป็นอันว่าได้มีโอกาสจัดตีพิมพ์หนังสือเรื่องนิทานโบราณคดีเป็นสาธารณกุศลขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุดั่งกล่าวมานี้
หนังสือนิทานโบราณคดี กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้ในทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ตามความทรงจำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แบ่งออกเป็นตอน ๆ ตามลักษณะเรื่อง เป็นต้นนิทานเรื่อง “ค้นเรื่องโบราณ” ทรงเล่าเรื่องการค้นหาพระเจดีย์ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในคราวชนช้างกับศัตรู และทรงได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดงดงาม เป็นสงครามกู้ชาติ ให้ชาติไทยคงความเป็นไทยมาได้จนทุกวันนี้ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำยุทธหัตถีหรือชนช้างกับราชศัตรูที่ตำบลหนองสาหร่าย แต่ไม่กล่าวว่าตำบลนี้อยู่ที่ไหน จึงเป็นเหตุให้มีการสำรวจตรวจค้นกัน จนพบพระเจดีย์อันเป็นอนุสาวรีย์เทิดเกียรติไทย ซึ่งปรักหักพังซ่อนอยู่ในป่ารก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าเรื่องตอนนี้ กล่าวถึงต้นเหตุที่ไปตรวจค้น และทรงวินิจฉัยเรื่องตามที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารด้วยหลักโบราณคดี กะทำให้ผู้ที่อ่านแล้วได้รับความรู้และความภาคภูมิใจในชาติของตน อีกเรื่องหนึ่ง ทรงเล่าถึงเรื่องจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อครั้งเสด็จไปราชการยังจังหวัดนั้น ทรงเล่าถึงภูมิประเทศ ระยะทางและประวัติของจังหวัดเพชรบูรณ์ไว้ละเอียดลออ เป็นความรู้ของผู้ที่ใฝ่ใจในเรื่องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศบ้านเกิดเมืองนอนที่รักของตน ใช่แต่เท่านั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังประทานบันทึกเรื่องจังหวัดเพชรบูรณ์ในลางประการ มาให้กรมศิลปากรเป็นแนวสำหรับสำรวจตรวจค้นต่อไป และกรมศิลปากรก็ได้ส่งบันทึกนั้นไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสำรวจตรวจค้นต่อไปในเวลาอันควร แต่งานสำรวจตรวจค้นเรื่องโบราณคดี ย่อมกินเวลานาน ทั้งผู้สำรวจตรวจค้นต้องเป็นคนมีความอดทน เพียร รักและสนใจด้วย จึงจะทำงานชนิดนี้ลุล่วงไปได้ รวมความหนังสือนิทานโบราณคดี มีเรื่องที่ให้ความเป็นต่าง ๆ กัน เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาผู้ใคร่ในความรู้เกี่ยวกับเรื่องของชาติอย่างเกินคุณค่า
กรมศิลปากรขออนุโมทนาในกุศลสาธารณประโยชน์ ซึ่งพณท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี โปรดให้ตีพิมพ์หนังสือนี้เป็นของชำร่วยอนุสรณ์แด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หากพระองค์ท่านทรงทราบด้วยญาณวิถีใดๆ คงจะทรงอนุโมทนาด้วยพระหฤทัยอันประกอบด้วยปิติโสมนัสหาที่สุดมิได้ และหวังว่าผู้ได้รับแจกไปคงชอบใจอ่านและยินดีอนุโมทนาโดยทั่วกัน.
กรมศิลปากร
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗