นิทานเวตาลเรื่องที่ ๔
พระวิกรมาทิตย์เสด็จไปถึงต้นอโศก ทรงปีนขึ้นไปปลดเวตาลลงมาบรรจุย่าม แล้วทรงดำเนินพาพระราชบุตรไปได้หน่อยหนึ่ง เวตาลก็เล่านิทานซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่ ๔ ดังนี้
มีพ่อค้าไม่สำคัญคนหนึ่งชื่อ หิรัณยทัตต์ มีบุตรีงามชื่อนางมัทนเสนา มีหน้าเหมือนพระจันทร์เพ็ญ ผมเหมือนเมฆ ตาเหมือนตาชะมด คิ้วเหมือนธนูที่ขึ้นสายแล้ว จมูกเหมือนปากนกแก้ว คอเหมือนคอนกเขา ฟันเหมือนเมล็ดแห่งผลทับทิม ริมฝีปากสีแดงเหมือนผลน้ำเต้าเอวอ่อนเหมือนเอวเสือ มือและเท้าเหมือนดอกไม้อ่อน ผิวเหมือนมลิ มีลักษณะเป็นนางงามตามเคยมิให้ขาดได้โดยประเพณี ใช่แต่เพียงนั้น ยังงามขึ้นทุกวันๆจนพระจันทร์และเมฆ แลตาชะมด และธนูที่ขึ้นสายแล้ว ฯลฯ จะแพ้หมด ครั้นนางมีอายุสมควรจะมีเรือน บิดาและมารดาก็หารือกันและตรึกตรองถึงการวิวาหะบุตรี และชนทั้งหลายในแว่นแคว้นแห่งพระราชาทรงนามวีรวร กษัตริย์ครองกรุงมัทนบุรี ต่างก็เลื่องลือกันไปว่า หิรัณยทัตต์มีลูกสาวงามจับใจ เทวดา บุรุษ และมุนีทั้งปวง ชายทั้งหลายที่ใคร่ได้ภริยางาม ต่างก็ไปหาช่างเขียนมาวาดรูปตน แล้วส่งรูปนั้นไปยังบ้านหิรัณยทัตต์ ๆ ก็ส่งรูปทั้งหมดให้บุตรีตรวจดูว่าจะชอบเจ้าของรูปคนไหน แต่นางมัทนเสนาเป็นคนเลือกโน่นเลือกนี่และเปลี่ยนใจง่ายๆ เหมือนกับนางงามอื่นๆ มากด้วยกัน ครั้นบิดาบอกให้เลือกสามีในหมู่คนที่ส่งรูปมานั้น นางก็ตอบว่าไม่ชอบใจใครเลย และขอให้บิดาเลือกหาคนอื่นที่มีรูปดี มีคุณดี แล้วมิหนำ ซ้ำให้มีความคิดดีด้วย
เวตาลกล่าวว่า พระองค์ทรงพระปัญญาสามารถย่อมจะทรงทราบว่า ชายรูปงามนั้นก็หายากอยู่ แต่ก็พอหาได้ ชายทรงคุณดีก็หาไม่ง่าย แต่ก็คงจะพอหาได้ ส่วนชายรูปงามที่ทรงคุณดีนั้น ถ้าจะมีในโลกก็คงจะนับให้ถ้วนได้ด้วยนิ้วมือสิบนิ้ว แต่ที่จะเอาความคิดดีเข้ามาประสมอีกอย่างหนึ่งนั้น จะหาเข็มในมหาสมุทรก็เห็นจะยากง่ายปานกัน
วันหนึ่งเมื่อเวลาล่วงไปแล้วช้านาน มีชายสี่คนมาจากสี่เมืองไปที่เรือนหิรัณยทัตต์ เพื่อจะขอบุตรีเป็นภริยา หิรัณยทัตต์กล่าวว่า ถ้าคนทั้งสี่มีคุณดีอย่างไรก็จงแสดงให้ปรากฏเถิด ในส่วนรูปนั้นก็เห็นได้อยู่แล้วว่าไม่เลวทราม แต่จะต้องการรู้ว่ามีวิชาอะไรบ้าง
ชายคนที่ ๑ ตอบว่า “ข้าพเจ้ามีความรู้ในพระศาสตร์หาผู้เสมอมิได้ ส่วนรูปกายของข้าพเจ้านั้น ท่านเห็นอยู่แล้วว่าย่อมเป็นที่พึงใจสตรีเพียงไร”
ชายคนที่ ๒ กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความรู้ในการยิงธนูไม่มีที่เปรียบ ข้าพเจ้าอาจแผลงศรไปฆ่าสัตว์ที่ข้าพเจ้าไม่เห็น และหมายยิงได้ด้วยเสียงที่ได้ยินเท่านั้น ความมีรูปงามของข้าพเจ้าท่านเห็นอยู่แล้ว”
ชายคนที่ ๓ กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้ภาษาสัตว์น้ำและสัตว์บก ภาษานกและภาษามฤค จะหาคนมีกำลังเสมอข้าพเจ้าหามิได้ ความงามของข้าพเจ้าย่อมประจักษ์แก่ตาท่านอยู่แล้ว”
ชายคนที่ ๔ กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีวิชาทอผ้าชะนิดหนึ่ง ซึ่งจะแลกทับทิมได้ ๕ เมล็ด และเมื่อได้ขายผ้าผืนหนึ่งได้ทับทิมมาแล้ว ข้าพเจ้าแบ่งทับทิมเมล็ดหนึ่งให้แก่พราหมณ์เป็นทาน เมล็ดที่ ๒ ถวายเป็นเครื่องบูชาเทวดา เมล็ดที่ ๓ ข้าพเจ้าเก็บไว้ประดับตัวเอง เมล็ดที่ ๔ ให้ภริยาประดับกาย เมล็ดที่ ๕ ข้าพเจ้าขายได้เงินตรามาแล้ว จำหน่ายในการเลี้ยงแขก ความรู้ข้าพเจ้ามีเช่นกล่าวนี้ และไม่มีผู้อื่นมีวิชาเช่นข้าพเจ้านี้เลย ความมีรูปงามของข้าพเจ้าย่อมแจ้งแก่ตาท่านอยู่แล้ว”
ฝ่ายหิรัณยทัตต์ เมื่อได้ฟังคำชายทั้งสี่คนดังนี้ก็นิ่งตรึกตรองว่า “ปราชญ์ย่อมกล่าวว่า สิ่งใดๆ ก็ดี ถ้ามีมากเกินไปก็ไม่ดีเลย นางสีดามีความงามมากจนราวณลักพาหนี ท้าวมหาพลิให้ทานมากเกินไปจนกลับเป็นท้าวแทตย์ที่จน ปราศจากความมั่งคั่ง ลูกสาวของเรางามเกินไป จะปล่อยให้ไม่มีสามีอยู่นั้นไม่ได้ คนสี่คนนี้จะยกนางให้แก่คนไหนดี”
หิรัณยทัตต์คิดยังไม่ตกลงในใจ จึ่งไปหาลูกสาวเล่าความให้ฟังแล้วถามว่า นางจะเห็นควรให้บิดายกนางให้แก่ชายคนไหน นางมิรู้ว่าจะกล่าวประการใด ก็ก้มหน้านิ่งอยู่ หิรัณยทัตต์จึ่งตรึกตรองต่อไปว่า “ชายที่รู้ศาสตร์นั้นเป็นพราหมณ์ ชายที่แผลงศรไปถูกสัตว์ที่ได้ยินแต่เสียงนั้นเป็นกษัตริย์ แลชายที่รู้วิชาทอผ้านั้นเป็นศูทร์ แต่ชายที่เข้าใจภาษาสัตว์นั้นเป็นคนวรรณะเดียวกับเรา ผู้นั้นเราจะยกลูกสาวให้” หิรัณยทัตต์ตริตรองตกลงในใจดังนี้แล้ว ก็จัดการเตรียมวิวาหะบุตรี
ระหว่างนั้นเป็นฤดูวสันต์ นางมัทนเสนาออกไปเดินชมดอกไม้อยู่ในสวน เผอิญเมื่อนางออกไปนั้นมีชายคนหนึ่งชื่อโสมทัตต์ เป็นบุตรพ่อค้า ชื่อธรรมทัตต์ ไปเที่ยวเดินเล่นในป่าจะกลับบ้าน ก็ผ่านสวนที่นางมัทนเสนาลงไปเดินเที่ยวอยู่ โสมทัตต์เห็นนางก็งวยงงหลงใหลในรูปนาง จึ่งกล่าวแก่เพื่อนว่า “เพื่อนเอย ถ้าข้าได้นางคนนี้ ข้าจะมีความจำเริญในชีวิตนี้ ถ้าไม่ได้ ความเกิดมาและอยู่ไปในโลกจะเปลืองเวลาเปล่า” เมื่อพูดดังนี้แล้ว โสมทัตต์เกรงนางจะพ้นไปเสีย จึ่งเดินเข้าไปใกล้นางโดยมิได้ตั้งใจจะละลาบละล้วง แต่เมื่อเข้าไปใกล้ตัวนางแล้วไซร้ โสมทัตต์กุมสติไว้ไม่มั่น เหลือที่จะอดกลั้นได้ ก็ตรงเข้าไปจับมือนางแล้วกล่าวว่า
“ข้ามีความรักนางเหลือที่จะทรงสติไว้ได้ ถ้านางไม่รักข้า ข้าจะต้องทอดทิ้งชีวิตเสียในบัดนี้”
นางมัทนเสนาตอบว่า “ขอท่านอย่าสละชีวิตเสียเลย เพราะการฆ่าตัวตายเป็นอกุศล และข้าพเจ้าจะพลอยได้บาปถูกลงโทษเพราะช่วยทำให้เลือดตก เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจะได้ความเดือดร้อนทั้งโลกนี้และโลกหน้า”
โสมทัตต์ตอบว่า “คำกล่าวอ่อนหวานของนางแทงหัวใจข้าทะลุเสียแล้ว และความรู้สึกว่าจะต้องพ้นไปจากนางเผากายข้าให้ไหม้เป็นจุณไป ความทรงจำและปัญญาเครื่องรู้ก็สลายไปด้วยทุกข์อันนี้ และความรักเกินประมาณทำให้ข้าไม่รู้สึกผิดและชอบ แต่ถ้านางจะให้สัญญาแก่ข้าสักข้อหนึ่ง ข้าจะคงมีชีวิตต่อไปได้”
นางตอบว่า “กลียุคมาถึงเป็นแน่เสียแล้ว และตั้งแต่ขึ้นต้นกลียุคมา ความเท็จเกิดในโลกมากขึ้น และความจริงลดน้อยลงไป คนใช้ลิ้นกล่าววาจาที่เกลี้ยงเกลา แต่ใช้ใจเป็นที่เลี้ยงมายา ศาสนาสลายไป ความชั่วช้าทารุณเกิดมากขึ้น และแผ่นดินก็ให้พืชผลน้อย พระราชาทรงเรียกค่าปรับจากราษฎร พราหมณ์ประพฤติไปในทางละโมภ บุตรไม่ฟังคำสั่งแห่งบิดา พี่น้องไม่ไว้ใจกันเอง ไมตรีสิ้นไปในหมู่มิตต์ ความจริงไม่มีในใจผู้เป็นนาย บ่าวเลิกการรับใช้ ชายทิ้งเสียซึ่งคุณแห่งชาย และหญิงก็สิ้นความอาย อีก ๕ วันตั้งแต่นี้ไปจะถึงวันวิวาหะของข้าพเจ้า ถ้าท่านไม่ฆ่าตัวตาย ข้าพเจ้าสัญญาว่า ในวันนั้นข้าพเจ้าจะไปหาท่านก่อน แล้วจึงจะกลับไปอยู่กับสามี”
เราท่านในสมัยนี้ เมื่อได้ยินคำนางมัทนเสนากล่าวยืดยาวถึงเหตุการที่เป็นไปในกลียุค ก็น่าจะพิศวงว่าเหตุใดจึ่งต้องจารไนมากมายถึงเพียงนั้น อันที่จริงนางต้องการจะกล่าวนิดเดียวว่า นางต้องสละความอายด้วยกลัวจะพลอยได้บาป เพราะเป็นเหตุให้โสมทัตต์ฆ่าตัวตาย
ส่วนนางมัทนเสนา เมื่อได้กล่าวคำมั่นดังนั้น แลได้สบถเชิญพระคงคาเป็นพะยานแล้วก็กลับบ้าน โสมทัตต์ก็แยกทางไป
ครั้นถึงกำหนดการวิวาหะ หิรัณยทัตต์พ่อค้าก็จ่ายเงินตราเป็นอันมากในการเลี้ยงและหาของให้เจ้าบ่าว หนุ่มสาวทั้งคู่ถูกทาขมิ้นทั่วตัว และในคืนก่อนวิวาหะนั้นถูกฟังดนตรีที่ใช้เสียงมาก ทั้งถูกชะโลมด้วยน้ำมันทั้งตัว ยังเจ้าบ่าวจะถูกโกนผมอีกเล่า แห่ซึ่งพาเจ้าบ่าวไปส่งบ้านเจ้าสาวนั้นครึกครื้นมากมาย ถนนสว่างไปด้วยคบเพลิงซึ่งคนถือชูไป และดอกไม้เพลิงก็จุดตลอดทาง ช้างอูฐและม้าซึ่งแต่งเครื่องอย่างงามก็เดินไปตามระยะ และกว่าจะแห่ไปถึงบ้านเจ้าสาว ก็มีเด็กที่ซนและชายหนุ่มชั่วตายเพราะถูกดอกไม้เพลิงหรือถูกช้างเหยียบ หรือเพราะเหตุอื่นๆ ตั้ง ๕ คน ๖ คน เพราะการแห่กลางคืนเช่นนั้นย่อมจะมีเหตุเสมอ
ครั้นเจ้าบ่าวไปถึงบ้าน ก็กระทำการวิวาหตามที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์ แล้วก็มีการเลี้ยงอย่างฟุ่มเฟือย จนแขกที่นั่งลงกินเลี้ยงนั้น ไม่มีใครบ่นว่ากระไรสักคนเดียว
ครั้นเสร็จพีธีวิวาหแล้ว สามีก็พานางมัทนเสนาผู้ภริยาไปสู่เรือนแห่งตน เมื่อวันล่วงไปหลายวันแล้วภริยาแห่งน้องสุดท้อง และภริยาแห่งพี่หัวปีของเจ้าบ่าว ก็ช่วยกันฉุดคร่าพาเจ้าสาวไปส่งตัว และให้นั่งอยู่บนที่นอนของเจ้าบ่าวซึ่งแต่งด้วยดอกไม้สด
ครั้นผู้ส่งตัวออกจากห้องไปแล้ว สามีก็เข้าเล้าโลมภริยา นางใช้มือทั้งสองผลักตัวสามีไว้ให้ห่าง แล้วเล่าเรื่องที่ได้สัญญาแก่โสมทัตต์ไว้ตามจริงทุกประการ
เจ้าบ่าวได้ฟังดังนั้นก็ตอบว่า “สิ่งทั้งหลายคนอาจรู้ได้ด้วยคำพูด คำพูดนั้นเป็นฐานที่ตั้งแห่งสิ่งทั้งหลาย และสิ่งทั้งหลายย่อมออกจากคำพูด เหตุดังนั้นผู้ทำคำพูดให้เป็นเท็จ ก็ทำสิ่งทั้งหลายให้เป็นเท็จหมด ถ้าเจ้าอยากจะไปหาเขาก่อน ก็จงไปเถิด”
เราท่านอ่านคำพูดของเจ้าบ่าวนี้ ก็น่าจะเห็นแปลก แต่ไม่จำเป็นจะต้องเพียรเข้าใจคำของเขาเลย
ฝ่ายนางมัทนเสนา เมื่อได้รับอนุญาตจากสามีแล้วก็ลุกขึ้นรีบเดินไปสู่เรือนโสมทัตต์ทั้งที่ยังแต่งกายเต็มยศอยู่ ครั้นเดินไปตามถนนกลางทางพบโจรคนหนึ่ง โจรเห็นนางแต่งกายด้วยเครื่องประดับที่มีค่าเดินมาคนเดียวดังนั้นก็ยินดี จึงตรงเข้าไปถามว่า “นางเดินถนนมืดเช่นนี้ในเวลาเที่ยงคืน และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่งดงามและเครื่องเพ็ชร์พลอยมีค่าเช่นนี้เพื่อจะไปไหน”
นางตอบว่า “ข้าจะไปเรือนแห่งชายที่รัก”
โจรถามว่า “ตามทางที่เดินมานี้ใครเป็นผู้คุ้มครองรักษานาง”
นางตอบว่า “ผู้ปกครองของข้า คือกามเทพ คือเด็กหนุ่มงามซึ่งแผลงศรเพลิงทำให้เกิดแผลคือความรักขึ้นในใจแห่งชนทั้งหลายในสามโลก คือรติบดี ผู้มีนกกาเหว่าและแมลงภู่และลมโชยไปเป็นเพื่อน”
นางกล่าวเช่นนั้นแล้วก็เล่าเรื่องตามจริงตลอด แล้วกล่าวสัญญาแก่โจรว่า “ท่านอย่าทำลายเพ็ชร์พลอยเครื่องประดับของข้า ข้าให้สัญญาแก่ท่านว่า เมื่อข้ากลับมาข้าจะให้สิ่งของเหล่านี้แก่ท่านหมด”
โจรได้ฟังก็นึกในใจว่า การที่จะทำลายเครื่องประดับของนางเสียในทันทีนั้นหาประโยชน์มิได้ เพราะนางได้สัญญาแล้วว่าจะให้ด้วยความเต็มใจ เหตุดังนั้นโจรจึ่งยอมให้นางไปตามอัชฌาสัย แล้วนั่งลงคอยและคำนึงในใจตามความคิดซึ่งดูราวกับฉลาด แต่เข้าใจยากว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอย่างไร แต่คนผู้นั้นเป็นโจร เราท่านที่เป็นสาธุชนจะเห็นแนวความคิดของเขาได้อย่างไร
โจรนั่งคำนึงว่า “กูเห็นประหลาดนักที่ท่านผู้เลี้ยงกูมาแต่เมื่อกูยังอยู่ในครรภ์มารดานั้น เมื่อกูมีกำเนิดแล้วแลได้รับความสำราญ เพราะของดีทั้งปวงอันมีอยู่ในโลกในบัดนี้ ท่านผู้นั้นก็หาตามมาดูแลรักษากูไม่ กูไม่รู้ว่าผู้นั้นจะยังหลับอยู่หรือตายเสียแล้ว แลกูจะยอมกลืนยาพิษยิ่งกว่าที่จะยอมขอเงินหรือความกรุณาอย่างอื่นจากชายผู้ใด เพราะของหกอย่างนี้เป็นเครื่องชักจูงให้ชายเป็นคนต่ำช้า คือ ไมตรีกับคนไม่มีสัตย์ ๑ หัวเราะไม่มีเหตุ ๑ ทเลาะกับหญิง ๑ รับใช้นายที่ไม่มีคุณดีพอควรเป็นนาย ๑ ขี่ลา ๑ พูดภาษาซึ่งไม่ใช่สํสกฤต ๑ อนึ่งสิ่งทั้ง ๕ นี้เทวดาจารึกลงไว้ในโฉลกของเราในเวลาที่เราเกิด คือ อายุ ๑ กรรม ๑ ทรัพย์ ๑ วิชาศาสตร์ ๑ เกียรติ์ ๑ กูในเวลานี้ก็ได้ประกอบการดีแล้ว แลธรรมดาคนตราบใดมีธรรมอันดีอยู่เบื้องบน ตราบนั้นคนทั้งหลายยอมเป็นข้าปฏิบัติตามใจทุกประการ ต่อเมื่อความประพฤติธรรมหย่อนลงไป ชนทั้งปวงแม้แต่มิตรก็ย่อมจะคิดประทุษร้าย”
ในขณะที่โจรนั่งตรึกตรองเช่นนี้อยู่ริมทางเดิน นางมัทนเสนารีบไปถึงเรือนโสมทัตต์พ่อค้าหนุ่ม โสมทัตต์หลับอยู่ นางก็ปลุกให้ตื่นขึ้น โสมทัตต์รู้สึกตัวเห็นนางก็ตกใจโจนจากที่นอนมีอาการสั่นกลัว แลถามว่า “นางเป็นเทพธิดา เป็นนางสิทธา หรือเป็นนางนาค ขอนางจงแจ้งแก่ข้าโดยตรงว่านางเป็นอะไร แลมาโดยประสงค์อันใด ข้าจะปฏิบัติตามใจนางทุกประการ”
นางมัทนเสนาตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ ชื่อมัทนเสนาธิดาหิรัณยทัตต์ผู้เป็นพ่อค้า ท่านจำไม่ได้หรือว่าเมื่อวานซืนเมื่อพบกันในสวน ท่านได้ถือมือข้าพเจ้าไว้ แล้วกล่าวว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ให้คำมั่นแก่ท่านว่าจะมาหาท่านก่อนจึ่งกลับไปอยู่กับสามีชองข้าพเจ้า ท่านก็จะต้องทำตัวท่านเองให้ตายไป”
โสมทัตต์ถามว่า “นางได้บอกให้สามีทราบเรื่องนี้หรือเปล่า”
นางตอบว่า “ข้าพเจ้าได้เล่าให้ฟังจนตลอด สามีของข้าพเจ้ารอบรู้เหตุการณ์เป็นอันดียอมให้ข้าพเจ้ามา”
โสมทัตต์ได้ยินดังนั้นก็กล่าวด้วยเสียงซึ่งส่อน้ำใจอันเหี่ยวแห้งว่า “การเรื่องนี้จะเปรียบก็เหมือนมุกดาซึ่งไม่มีเรือนอันงามเหมือนอาหารขาดฆี๑ เหมือนขับกลอนไม่มีเพลง ล้วนแต่แปลกธรรมดาทั้งนั้น อนึ่งเสื้อผ้าที่ไม่สอาดย่อมทำให้ความงามของผู้แต่งเสื่อมไป อาหารชั่วทำให้หย่อนกำลัง เมียทุศีลเป็นเครื่องกวนผัวให้ตายจาก ลูกชายที่มีนิสสัยต่ำช้าเป็นเครื่องทำความฉิบหายให้เกิดแก่สกูล อสูรที่โกรธย่อมจะฆ่าชีวิตผู้อื่น แลหญิงไม่ว่าเพราะรักหรือเพราะเกลียด ย่อมจะเป็นเหตุแห่งความทุกข์เสมอ เพราะหญิงไม่พาความคิดที่อยู่ในใจมาสู่ลิ้น แม้สิ่งที่อยู่ที่ลิ้นแล้วก็ไม่พูดออกมา แลเมื่อจะทำอะไรคงจะไม่บอกใครเป็นอันขาด พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างหญิงมาเป็นสัตว์ประหลาดในโลก”
โสมทัตต์กล่าวดังนั้นแล้ว ก็กล่าวแก่นางต่อไปว่า “นางจงกลับไปบ้านเสียเถิด นางเป็นภริยาชายอื่น ข้าไม่มีจิตต์ผูกพันกับนาง”
ฝ่ายนางมัทนเสนาเมื่อโสมทัตต์กล่าวดังนั้น ก็รีบออกจากเรือนโสมทัตต์เดินทางคืนไปสู่เรือนสามี เมื่อพบโจรตามทางนางก็เล่าเรื่องให้ฟัง แลยอมจะให้เครื่องแต่งกายแก่โจรตามสัญญาแต่โจรไม่รับกลับชมใหญ่ แล้วเชิญให้นางกลับบ้าน
ครั้นไปถึงบ้านนางก็เล่าให้สามีฟังทุกประการ แต่เขาสิ้นรักนางเสียแล้ว แลกล่าวว่า “ พระราชาก็ดี ผู้เป็นนายก็ดี ผู้เป็นภริยาก็ดี ผมของคนก็ดี เล็บก็ดี เมื่ออยู่ผิดที่ไปแล้วก็ไม่น่าดูเลย อนึ่งนกกาเหว่างามเพราะเสียง คนขี้ริ้วงามเพราะความรู้ โยคีงามเพราะไม่ถือโทษผู้อื่น แลหญิงงามเพราะความบริสุทธิ์”
เวตาลเล่ามาเพียงนี้ ก็เปลี่ยนเสียงกลับทูลถามพระราชาในขณะที่ทรงฟังเพลินอยู่ว่า “แลชายทั้ง ๓ คนนั้น คนไหนมีธรรมดีกว่าคนอื่น”
พระราชาไม่ทันยั้งพระโอษฐ์ ตรัสตอบว่า “โจรดีกว่าคนอื่น”
เวตาลถามว่า “เพราะเหตุไรจึ่งทรงเห็นอย่างนั้น”
พระราชาตรัสว่า “เพราะเหตุว่า ชายผู้เป็นผัวนั้น เมื่อเห็นเมียรักคนอื่นเสียแล้ว ถึงแม้ความรักนั้นไม่เป็นเหตุให้เสียความบริสุทธิ์ ก็ย่อมจะสิ้นเสนหาอยู่เอง โสมทัตต์นั้นไม่กล้าทำร้ายนาง เพราะกลัวพระราชาจะลงโทษภายหลัง หาใช่เป็นด้วยเหตุอื่นไม่ ส่วนโจรนั้นโจรกรรมเป็นเครื่องหากิน เป็นผู้ไม่กลัวกฎหมายอยู่แล้ว การที่โจรยอมให้นางไปโดยดีนั้นหาใช่เป็นด้วยกลัวภัยอันใดไม่ เหตุดังนั้นโจรจึ่งดีกว่าคน”
เวตาลหัวเราะแล้วกล่าวว่า “นิทานจบเพียงนี้” แล้วก็ออกจากย่ามลอยหัวเราะไปในฟ้ามืด พระราชาแลพระราชบุตรก็ยืนตะลึงจ้องพระเนตรกันอยู่
พระราชาตรัสแก่พระราชบุตรว่า “คราวหน้าถ้าอ้ายตัวนั่นมันมาตั้งปัญหาถามข้า ข้าอนุญาตให้เจ้าทำละลาบละล้วงต่อข้า คือให้จับแขนขาบีบให้รู้ตัวก่อนที่ข้ามีเวลาตอบมันได้ ถ้าไม่เช่นนั้นเราทั้ง ๒ จะไม่มีเวลากระทำกิจอันนี้ให้สำเร็จได้”
พระราชบุตรรับคำพระราชบิดา แต่ไม่นึกว่าวิธีป้องกันอย่างใหม่นั้นจะได้ผลดังหวัง ครั้นสององค์ทรงดำเนินกลับไปถึงต้นอโศก ได้ยินเสียงเวตาลหัวเราะก้องอยู่บนต้นไม้ พระราชบิดาก็ทรงปีนขึ้นไปปลดมันลงมาตามเคย แลมันก็เล่านิทานอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงตามเคยเหมือนกัน
จบนิทานเวตาล เรื่องที่ ๔
-
๑. ฆตํ, ฆฤต, เปรียง คือเนยที่ได้ตั้งไฟละลายแล้ว ↩