นิทานเวตาลเรื่องที่ ๒

๏ ฝ่ายพระวิกรมาทิตย์ครั้นเวตาลหลุดลอยไปแล้ว ก็ยืนตะลึงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง จึงหันพระพักตร์พาพระราชบุตรดำเนิรไปยังต้นอะโศก ครั้นถึงก็ปีนขึ้นไปปลดเวตาลลงมาบรรจุลงย่ามแบกดำเนิรกลับมา เวตาลก็เล่าเรื่องซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งดังนี้

ในเมืองโภควดี มีพระราชกุมารพระองค์หนึ่งซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวได้ว่าทรงเกียรติคุณ แลทรงศักดิ์ประดุจดังพระราชบุตรแห่งพระองค์ ซึ่งตามเสด็จอยู่ณบัดนี้

เวตาลทูลดังนั้นประสงค์จะยอพระราชาเป็นทางอ้อม แต่พระราชามิได้รับสั่งประการใด เพราะไม่โปรดการยอ แต่ถ้าจำเป็นใครจะต้องยอใครแล้ว พระวิกรมาทิตย์โปรดให้ยอพระองค์เอง ไม่ต้องให้ยอผ่านคนอื่น พระราชหฤทัยในข้อนี้เนาวรัตนกวีย่อมทราบ แลใช้เป็นหลักในการยอพระเกียรติ แลใช้การยอพระเกียรติเป็นหลักแห่งความมั่งคั่งของเจ้าบทเจ้ากลอนทั้งเก้านั้น

เวตาลเล่าต่อไปว่า พระราชกุมารองค์นั้นทรงนามพระรามเสน เป็นพระราชบุตรของพระราชาธิบดี ซึ่งข้าพเจ้าจำต้องกล่าวว่าผิดกับพระองค์มาก เพราะพระราชาองค์นั้นโปรดเข้าป่าล่าเนื้อ โปรดเล่นสกา โปรดผธมกลางวันเสวยน้ำจัณฑ์กลางคืน โปรดความสำราญซึ่งเป็นไปในทางกาม ประกอบด้วยคุณชั่วหลายอย่าง คุณดีหายาก แต่เป็นที่รักที่นับถือของพระราชบุตรและธิดา เพราะเธอทรงเอาใจใส่ที่จะให้เป็นเช่นนั้น เธอไม่วางลงเป็นบัญญัติมาแต่สวรรค์ว่าจะมีเหตุอันควรก็ดี มิมีก็ดี ลูกจำเป็นต้องรักพ่อให้เต็มความรักซึ่งมีในใจ มิฉะนั้นต้องตกนรก ไม่เหมือนพ่อแม่บางคนซึ่งถือตัวว่าทรงคุณธรรมอันดี แต่ใช้ลูกวิ่งตามหลังประหนึ่ง...

เวตาลพูดไม่ทันขาดคำ พระวิกรมาทิตย์ทรงพิโรธเป็นกำลัง ก็เอื้อมพระหัตถ์ไปข้างหลังจับแขนเวตาลเต็มกำกระชากด้วยกำลังแรง เวตาลร้องโอยๆเหมือนหนึ่งเจ็บปวดมาก แต่ถ้าจะสังเกตก็เหมือนแกล้งร้องเป็นเชิงเยาะเย้ย ไม่ใช่ร้องด้วยเจ็บ เพราะเมื่อพระราชาหยุดกระชาก เวตาลก็กล่าวต่อไปด้วยสำเนียงแจ่มใสว่า

พ่อทั้งหลายแบ่งเป็นสามประเภท และถ้าจะกล่าวการจำแนกประเภทแห่งแม่ก็ฉันเดียวกัน พ่อประเภทที่หนึ่งเป็นคนชะนิดที่กล่าวได้โดยอุปมาว่ามีอกกว้างสามศอก มีใจกว้างตามขนาดแห่งอก พ่อชะนิดนี้เป็นคนใจดีชอบสนุก เอาใจลูก มักจะจน แต่ลูกรักเหมือนเทวดา พ่อประเภทที่สองอกกว้างเพียงศอกคืบ มีใจแคบเข้ามาตามส่วนแห่งอก พ่อชนิดนี้ถ้าได้ยินข้าพเจ้าพูดดังที่พระองค์ได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้ ก็คงจะคิดในใจว่า อ้ายตัวนี่มันพูดถูก กูจะจำคำของมันเป็นคติ ลองดูว่าจะเป็นผลอย่างไรบ้าง คิดดังนั้นแล้วก็กลับไปบ้าน ปฏิบัติการเอาใจลูกเป็นขนานใหญ่ แต่ไม่ช้าก็กลับเป็นไปอย่างเก่า เพราะความเที่ยงในใจไม่มี พ่อประเภทที่สามเป็นคนอกกว้างศอกเดียวไม่มีเศษ สมมุติเป็นที่สุดแห่งความแคบ แลใจก็ได้ขนาดกันกับอก พระองค์ผู้เป็นพระราชาธิบดีอันสูงสุดเป็นตัวอย่างพ่ออกศอกเดียว คือประเภทที่สามนี้เมื่อยังทรงพระเยาว์พระองค์ทรงเรียนวิชาซึ่งมีผู้สั่งสอนถวาย เช่นความรู้ที่ว่าไม้เรียวเป็นต้นไม้ซึ่งคนอาจปีนขึ้นไปได้ถึงสวรรค์เป็นต้น ครั้นพระองค์ทรงชนมายุถึงมัชฌิมวัยก็ทรงใช้ความรู้ที่เรียนมาในเบื้องต้น ทรงปลูกไม้เรียวสำหรับให้พระราชบุตรปีนขึ้นไปสู่ทิพยโลก พระองค์จะสอนอะไรตนเองก็สอนไม่ได้ก่อนที่หนวดแห่งพระองค์งอกงามเป็นช่อ ครั้นเมื่องอกงามแล้วใครจะสอนอะไรพระองค์ก็ไม่ได้เหมือนกัน ถ้าใครเพียรจะทำให้พระองค์เปลี่ยนความเห็น พระองค์ก็กล่าวคำที่กวีโง่ๆ กล่าวไว้ว่า

อะไรใหม่มิใช่ความจริงแน่

ความจริงแท้เกิดใหม่เกิดได้หรือ

อะไรใหม่ไม่จริงทุกสิ่งคือ

อะไรจริงใช่ชื่อว่าใหม่เอย ฯ

แต่พระองค์ก็เป็นประโยชน์แก่โลกเหมือนสิ่งอื่นๆ ในแผ่นดิน เมื่อทรงชนมายุอยู่ก็เหมือนอูฐซึ่งรับใช้การ เมื่อสิ้นชนมายุแล้ว เถ้าและถ่านอัฏฐิแห่งพระองค์ก็ประสมธาตุอย่างเดียวกับเถ้าและถ่านอัฏฐิแห่งผู้มีปัญญา

พระราชาทรงจับย่ามกระชาก เวตาลร้องเหมือนเจ็บ ครั้นพระราชาทรงหยุดกระชากมันก็หัวเราะแล้วทูลต่อไปว่า ข้าพเจ้ากล่าวตรงไปตรงมามิได้อ้อมค้อม เพราะถ้าไม่พูดตรงๆจะต้องพูดยืดยาวจึงจะได้ความเท่าที่พูดนี้ บัดนี้จะทูลเล่าเรื่องต่อไปว่า ครั้นพระราชากรุงโภควดีเป็นอากาศปนกับอากาศไปแล้วพระรามเสนก็ได้รับราชสมบัติเป็นมฤดกสืบไป

พระรามเสนมีนกแก้วตัวหนึ่งซึ่งได้รับเป็นมฤดกจากพระราชบิดา นกแก้วตัวนี้เป็นมฤดกซึ่งมีค่ายิ่งทรัพย์สินเงินทองทั้งหลาย มีชื่อว่าจุรามันพูดสํสกฤตคล่องราวกับบัณฑิต รู้ศาสตร์ทั้งหลาย แลมีความคิดราวกับเทวดา เว้นแต่ถ้าเทวดาจะไม่มีความคิดแล้วก็จนใจอยู่ นกจุรามันนี้เป็นที่ปรึกษาของพระราชาองค์ใหม่ในกิจส่วนพระองค์แลราชการบ้านเมืองทั่วไป

วันหนึ่งพระราชาตรัสแก่นกจุรามันว่า “เจ้ามีความรู้ทุกอย่าง เจ้าจงบอกแก่ข้าว่าข้าจะหานางได้ที่ไหนที่เป็นคู่สมควรแก่ข้าทุกประการ คัมภีร์ศาสตร์กล่าวว่าชายจะมีเมียไม่ควรเลือกหญิงในสกูลซึ่งกล่าวต่อไปนี้ แม้สกูลจะมั่งคั่งด้วยโค ด้วยแพะ ด้วยแกะ ด้วยทอง แลด้วยธัญญาหารก็ต้องห้าม ถ้าเป็นสกูลซึ่งไม่กระทำการบูชาตามบัญญัติในคัมภีร์ศาสตร์ หรือเป็นสกูลซึ่งไม่มีลูกชาย หรือเป็นสกูลซึ่งไม่มีใครเคยเรียนพระเวท หรือเป็นสกูลซึ่งคนมีขนขึ้นมากตามกาย หรือเป็นสกูลซึ่งมีโรคติดต่อกันมาแต่ปู่แลบิดา ชายจะเลือกภริยาควรเลือกนางซึ่งมีกายไม่มีตำหนิ ซึ่งมีนามไพเราะ ซึ่งเดินงามเหมือนช้างอ่อนอายุ ซึ่งมีฟันแลผมพอดีทั้งขนาดแลปริมาณ ซึ่งมีกายอันอ่อนนุ่ม คัมภีร์ศาสตร์กล่าวเช่นนี้เจ้าจะเห็นนางที่ไหนสมควรแก่ข้าบ้าง”

นกจุรามันทูลตอบว่า “ข้าแต่พระราชาในเมืองมคธมีพระราชาทรงนามท้าวมคเธศวร มีพระราชธิดาทรงนามจันทราวดี นางนี้จะได้กับพระองค์เป็นแน่ นางประกอบด้วยความรู้แลงดงามนัก มีฉวีเหลือง แลนาสิกเหมือนดอกงา ชงฆ์เรียวเหมือนต้นกล้วย เนตรใหญ่เหมือนใบบัว คิ้วจดกรรณทั้งสองข้าง ริมพระโอษฐ์เหมือนใบมะม่วงอ่อน พักตร์เหมือนจันทร์เพ็ญ สำเนียงเหมือนนกกะเหว่า กร ยาวถึงเข่า ศอเหมือนคอนกเขา เอวเหมือนเอวสิงห์ เกศาห้อยยาวถึงเอว ทนต์เหมือนเมล็ดแห่งผลทับทิม ดำเนิรเหมือนช้างเมามัน”

พระรามเสนได้ทรงฟังนกจุรามันชมโฉมนางดังนั้นก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย เราท่านทั้งหลายจะต้องคิดว่าพระรามเสนเป็นแขก อาจเห็นงามในทางซึ่งเราท่านเห็นน่าเกลียดเป็นที่สุด อนึ่งนกจุรามันเป็นนกแขกแล้วมิหนำ ซ้ำพูดสํสกฤตคล่องด้วย เหตุดังนั้นความเปรียบของนกคงจะผิดกับความเปรียบของท่าน แลข้าพเจ้าซึ่งไม่ใช่นกแลพูดสํสกฤตไม่เป็น จะอย่างไรก็ตาม คำชมโฉมของนกนั้นกระทำให้พระรามเสนคิดใคร่จะได้นางเป็นชายา แต่ยังไม่แน่ในพระหฤทัยทีเดียว จึ่งตรัสเรียกพระราชครูไทวะจินตกะเข้าไปเฝ้าตรัสถามว่า “ข้าจะได้ใครเป็นเมีย”

พระราชครูตรวจตำราแม่นยำแล้วทูลว่า “นางที่จะเป็นพระราชชายาทรงนามนางจันทราวดี ไม่ช้าคงจะได้มีการวิวาหะพระองค์กับนางองค์นั้น”

พระราชาได้ทรงฟังก็ยินดี แม้ไม่เคยทรงเห็นนางก็ให้เกิดรักแลใคร่เป็นกำลัง จึ่งทรงจัดให้พราหมณ์คนหนึ่งเป็นทูตไปเฝ้าท้าวมคเธศวรขอพระราชธิดา ทรงสัญญาแก่พราหมณ์นั้นว่า ถ้าจัดการสำเร็จจะประทานรางวัลให้สมกับความชอบ คำที่ทรงสัญญานี้ เสมอกับทำให้ปีกงอกบนหลังพราหมณ์ มีคำกล่าวว่าไม่เคยมีใครเดินทางเร็วเท่าพราหมณ์คนนั้น

ฝ่ายพระราชธิดาท้าวมคเธศวรมีนกขุนทองตัวหนึ่งพูดสํสกฤตคล่องไม่หย่อนกว่านกแก้วของพระรามเสน นกขุนทองนั้นเป็นนางนกชื่อโสมิกา มีความรู้อยู่ในใจหลายร้อยเล่มสมุด จะหานกไหนทรงความรู้เช่นนั้นไม่มี ถ้าจะเว้นก็มีแต่นกแก้วของพระรามเสนกระมัง

พระองค์จงทรงทราบว่าในกาลโบราณ คนมีความรู้ทำสัตว์พูดได้แลเข้าใจภาษามนุษย์ แม้ภาษาสํสกฤตซึ่งใช้ไวยากรณ์ยากที่สุดนกก็พูดได้ไม่พลาดพลั้ง ดังนกชื่อจุรามัน แลนางนกชื่อโสมิกานี้เป็นตัวอย่าง การทำให้นกพูดได้นี้กล่าวกันว่าเป็นความคิดของนักปราชญ์คนหนึ่งซึ่งผ่าลิ้นนกออกให้เป็นสองภาค แล้วเปลี่ยนรูปสมองด้วยวิธีผูกรัดหัวกะโหลกเบื้องหลังจนหัวกะโหลกเบื้องหน้ายื่นออกมา ทำให้เกิดมันสมองจนถึงรู้คิดแลพูดได้เป็นภาษาคน การที่นักปราชญ์คิดทำให้นกรู้ประสาเช่นนี้ก็มีคุณดีบ้าง แต่มีคุณชั่วมากเหมือนความคิดนักปราชญ์ทั้งปวง คือเมื่อนกมีความคิดแลพูดได้แล้วก็คิดอย่างฉลาดแลพูดอย่างดี คำที่กล่าวล้วนเป็นคำสัตย์ ครั้นมนุษย์พูดเหลวไหลปราศจากสัตย์ นกก็พูดติเตียน จนมนุษย์เบื่อความสัตย์เข้าเต็มที ก็ทิ้งวิชาทำให้นกพูดได้นั้นเสีย ความรู้จึ่งเสื่อมด้วยประการเช่นนี้ ในปัตยุบันถ้านกแก้วแลนกขุนทองยังพูดได้ ก็พูดเหลวๆเพราะความจำอย่างเดียว ไม่ใช่พูดด้วยรู้คิดอย่างแต่ก่อน มนุษย์ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยความสัตย์แห่งนกอีกต่อไป

วันหนึ่งนางจันทราวดีพระราชกุมารีทรงนั่งตรัสกับนางนกในที่ระโหฐาน ข้อความที่ตรัสนั้นไม่เป็นข้อความแปลก เพราะหญิงสาวในยุคทั้งหลายเมื่อพูดกับผู้ที่ไว้ใจสนิท จะเป็นเรื่องให้ช่วยพยากรณ์การภายหน้าก็ตาม ให้ทำนายฝันก็ตาม จะหารือความในใจก็ตาม ใจความที่พูดนั้นอย่างเดียวกันหมด จะพูดเรื่องอื่นเป็นไม่มี เรื่องที่พูดนั้นพระองค์ควรทราบได้ด้วยไม่ต้องถามว่าอะไร

พระวิกรมาทิตย์ทรงนิ่งอยู่ เวตาลก็กล่าวต่อไปว่า นางจันทราวดีตรัสวนเวียนสักครู่หนึ่งก็ไปถึงปัญหาซึ่งได้ตรัสถามแล้วในเดือนนั้นมาประมาณร้อยครั้งว่า ชายที่สมควรเป็นสามีแห่งนางมีหรือไม่

นางนกทูลว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะทูลให้ทรงทราบได้ในวันนี้ อันที่จริงความมิดเมี้ยนในใจแห่งเราผู้เป็นหญิง...”

นกทูลยังไม่ทันขาดคำ นางจันทราวดีชิงตรัสว่า “เจ้าจงหยุดแสดงธรรมในทันที มิฉะนั้นเจ้าจะต้องกินข้าวกับเกลือแทนข้าวกับไข่”

เวตาลกล่าวต่อไปว่า พระองค์ย่อมทราบว่านกขุนทองชอบกินข้าวกับไข่ไม่ชอบข้าวกับเกลือ เมื่อนางจันทราวดีตรัสขู่ดังนั้นนกก็งดการสำแดงปัญญาซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ที่ได้สดับต่อๆ กันมา นกทูลว่า “ข้าพเจ้าเห็นการภายหน้าได้ถนัด พระรามเสนพระราชาธิบดีครองกรุงโภควดีจะเป็นพระราชสามีแห่งนาง นางจะเป็นความสุขแก่พระรามเสน ดังซึ่งพระรามเสนจะเป็นความสุขแก่นาง เธอเป็นชายหนุ่มงดงาม มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ มีหฤทัยเผื่อแผ่แก่คนอื่น สนุกง่าย ไม่ฉลาดเกินไป แลไม่มีโอกาสจะเป็นคนเจ็บได้เลย”

พระราชธิดาได้ฟังดังนั้น แม้ไม่เคยได้เห็นพระรามเสน ก็บังเกิดความรักใคร่ กล่าวสั้นๆ พระราชาหนุ่มแลพระนารีสาวต่างก็ปฏิพัทธ์กันอยู่ไกลๆ แต่เพราะเหตุที่พระแลนางอยู่ในตำแหน่งสูงสมควรกัน ความรักอยู่ห่างๆ จึ่งสำเร็จได้ดังประสงค์ เมื่อพราหมณ์ซึ่งพระรามเสนให้เป็นทูตไปกล่าวขอนางนั้นไปถึงกรุงมคธ ท้าวมคเธศวรก็ทรงรับรองเป็นอันดี แลตรัสอวยพรพระราชธิดาแก่พระรามเสน ทรงแต่งให้พราหมณ์ในเมืองมคธไปกรุงโภควดีเป็นทางจำเริญไมตรี แล้วตรัสให้เตรียมการมงคล

ฝ่ายพระรามเสนเมื่อทรงทราบข่าวดีก็แช่มชื่นในพระหฤทัย ประทานรางวัลแก่พราหมณ์เมืองมคธเป็นอันมาก ครั้นถึงวันฤกษ์ดีก็ออกจากกรุงโภควดีแวดล้อมด้วยพหลแสนยากร รอนแรมไปในป่าจนถึงกรุงมคธ ก็เข้าเฝ้าท้าวมคเธศวรกระทำการเคารพแลแสดงไมตรีอันดี

ครั้นถึงฤกษ์งามยามบุญท้าวมคเธศวร ก็จัดการวิวาหะพระราชธิดา มีการเลี้ยงดูอย่างใหญ่ มีการตกแต่งด้วยโคมไฟแลจุดดอกไม้เพลิง มีการสวดร้องตามซึ่งบัญญัติไว้ในพระเวท มีการแห่แลการดนตรี มีเสียงดังเอ็ดไปทั้งพระนคร ครั้นพิธีวิวาหะสำเร็จแล้ว นางจันทราวดีล้างขมิ้นจากพระหัตถ์ แทบจะยังไม่ทันหายเหลือง พระรามเสนก็ทูลลาท้าวมคเธศวรพานางกลับกรุงโภควดี นางจันทราวดีจะจากพระราชบิดาแลบ้านเมืองไปก็มีความส้อยเศร้า จึ่งต้องพาโสมิกาคือนางนกขุนทองไปด้วย ไปตามทางนางเล่าถึงนกแลความฉลาดของนกถวายพระสามีแลทั้งทูลว่านกเป็นผู้กล่าวพระนามพระราชาให้นางทราบก่อนที่ได้ยินทางอื่น ฝ่ายพระรามเสนได้ทรงฟังก็เล่าถึงจุรามันนกแก้วของพระองค์ ทรงชี้แจงความฉลาดแลความรู้ของนกนั้น รวมทั้งข้อที่พูดสํสกฤตคล่องนั้นด้วย

พระราชินีได้ฟังดังนั้นก็ทูลพระราชาว่า “เมื่อนกสองตัวของเราวิเศษถึงปานนี้ ก็ควรจะเลี้ยงในกรงเดียวกัน แลให้วิวาหะกันโดยคนธรรพ์ลักษณะ นกทั้งสองจะได้เป็นสุข” พระราชินีได้วิวาหะใหม่ๆ ก็ใคร่จะจัดการวิวาหะให้คู่อื่นบ้าง ตามซึ่งมักจะเป็นไปโดยมากในหมู่หญิงสาวซึ่งได้ผัวใหม่ๆ

พระราชาตรัสว่า นางตรัสถูกแล้ว ถ้านกทั้งสองไม่มีคู่จะมีสุขอย่างไรได้ การที่ตรัสอย่างนี้เพราะพระองค์กำลังเพลินในการมีคู่ ย่อมจะนึกตามอารมณ์ของผู้มีเมียใหม่ ว่านอกจากคนมีเมียแล้ว ไม่มีใครมีความสุขเป็นอันขาด ความทุกข์จะเกิดแก่ผู้มีเมียนั้นไม่อาจมีได้ในโลก

ครั้นสององค์เสด็จถึงกรุงโภควดีแล้ว ก็ตรัสให้เจ้าพนักงานยกกรงใหญ่มาตั้งจำเพาะพระพักตร์ ทรงจับนกปล่อยเข้าไปในกรงทั้งสองตัว ฝ่ายนกจุรามันเกาะอยู่บนคอนเอียงคอดูนกขุนทอง นางโสมิกานกขุนทองจับอยู่อีกคอนหนึ่งยกหน้าชูปากขึ้นไปบนฟ้าโดยกิริยาดูหมิ่น แล้วกระโดดไปเกาะคอนอื่นที่ห่างออกไป

นกแก้วนิ่งดูอยู่ครู่หนึ่งก็พูดภาษาสํสกฤตว่า “นางนกขุนทองเจ้าคงจะกล่าวดอกกระมัง ว่าเจ้าไม่อยากได้คู่”

นางนกขุนทองตอบในภาษาเดียวกันว่า “ท่านเดาเห็นจะไม่ผิด”

นกแก้ว “เพราะเหตุไรเจ้าจึ่งไม่อยากมีคู่”

นกขุนทอง “เพราะใจของข้าเป็นอย่างนั้น”

นกแก้ว “นี่พูดอย่างผู้หญิงทีเดียว ข้าจะขอยืมคำพระราชาของข้ามากล่าวว่า ที่อธิบายเช่นนี้เป็นปัญญาหญิง คือไม่ใช่ปัญญา แลไม่ใช่อธิบายเลย เจ้าจะพูดให้แจ่มแจ้งกว่านี้สักหน่อยจะได้หรือไม่ หรือรังเกียจที่จะพูดให้ผู้อื่นเข้าใจ”

นกขุนทองโกรธจนแทบจะลืมไวยากรณ์สํสกฤตตอบว่า “ข้าไม่รังเกียจเลย ข้าจะบอกให้แจ่มแจ้งที่สุด บางทีจะแจ่มแจ้งเกินความพอใจของเจ้า พวกเจ้าซึ่งเป็นเพศชาย ย่อมประกอบขึ้นด้วยความบาป ความโกง ความล่อหลอก ความเห็นแก่ตัว ความปราศจากธรรมในใจ คล่องในการทำลายพวกเราซึ่งมีเพศเป็นหญิงเพื่อความสำราญของพวกเจ้า”

พระราชาตรัสแก่พระราชินีว่า “นางนกตัวนี้กล้าหาญพูดจาไม่เกรงใจใครเลย”

นกแก้วทูลพระราชาว่า “พระองค์จงถือว่าคำที่นางนกกล่าวนั้นเหมือนหนึ่งลมซึ่งเข้ากรรณนี้ไปออกกรรณโน้นเถิด (แล้วเหลียวไปพูดกับนกขุนทองว่า) นางนกขุนทอง ก็พวกเจ้านั้นถ้าไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยความล่อหลอก แลความคดในใจแลความไม่รู้ก็ประกอบขึ้นด้วยอันใดเล่า พวกเจ้ามีปรารถนาอยู่อย่างเดียวแต่จะไม่ให้มีชีวิตเป็นเครื่องสำราญได้ในโลกนี้เป็นอันขาด”

พระราชินีทูลพระราชาว่า “นกของพระองค์ตัวนี้พูดจาก้าวร้าวไม่ยำเกรงใครเลย”

นกขุนทองทูลพระราชินีว่า “คำที่ข้าพเจ้ากล่าวนั้นอาจนำพะยานมาสำแดงได้”

นกแก้วทูลพระราชาว่า “ข้าพเจ้าอาจนำนิทานมาเล่าให้ผู้หญิงเห็นจริงได้”

พระราชาแลพระราชินีได้ทรงฟังดังนั้นก็ตกลงกันให้นกทั้งสองนำหลักถานมาสำแดงเป็นพะยานคำที่กล่าว พระราชินีขอให้นกขุนทองแสดงก่อน พระราชายอมตกลง นางนกขุนทองกล่าวดังนี้

นิทานของนกขุนทอง

เมื่อก่อนที่ข้าพเจ้ามาเป็นข้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้าเคยอยู่กับนางรัตนาวดีธิดาพ่อค้าผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ นางรัตนาวดีเป็นหญิงน่ารักน่าชมทุกประการ (นกขุนทองกล่าวเท่านั้นแล้วก็ร้องไห้ พระราชินีทรงสงสารก็รับสั่งปลอบโยนเป็นอันดี นกก็เล่าต่อไปว่า) ในเมืองอิลาบุรีมีพ่อค้ามั่งมีคนหนึ่งได้ความเดือดร้อนเพราะไม่มีบุตร พ่อค้าจึ่งทำโยคะ คืออดข้าวเป็นต้น แลทั้งเที่ยวไปในบุณยสถานต่างๆ เพื่อจะขอลูก เมื่ออยู่บ้านก็อ่านปุราณะแลให้ทานแก่พราหมณ์ด้วยประสงค์อันนั้น ต่อมาพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานให้มีบุตรชายมาเกิดคนหนึ่ง พ่อค้ายินดีก็มีงานสมโภชลูกชายใหญ่โต ให้ทานแก่พราหมณ์ผู้สวดกลอนยอแลพราหมณ์อื่นๆเป็นอันมาก ผู้ที่จนก็ได้รับแจกเงินแจกแลเสื้อผ้า ผู้ที่หิวก็ได้รับแจกอาหารแลของอื่นๆเป็นอันมาก พ่อค้าทำนุบำรุงเลี้ยงบุตรชายมาจนอายุได้ห้าขวบก็หาผู้มาสอนให้อ่านหนังสือ ครั้นโตขึ้นอีกก็ส่งให้ไปอยู่กับครูผู้มีชื่อว่ามีความรู้แลสั่งสอนดี บุตรชายโตขึ้นมีรูปสมบัติดูไม่ได้เค้าหน้าเหมือนลิง ขาเหมือนขานกกระเรียน หลังโกงเหมือนหลังอูฐ พระองค์คงจะทราบภาษิตโบราณว่า ถ้าพบคนขาเขยกให้เชื่อใจว่าได้พบความคด ๓๒ ข้อ ถ้าพบคนตาบอดข้างหนึ่งพบความคด ๘๐ ข้อ ถ้าพบคนหลังกุ้งให้สวดมนต์อ้อนวอนพระมเหศวรให้คุ้มครองตน

บุตรชายพ่อค้าคนนั้นเมื่อไปเรียนหนังสือกับครูก็มิได้ไปถึงครู ไปเที่ยวแวะเล่นเบี้ยกับเพื่อนที่เป็นพาลด้วยกัน ต่างคนมีใจชั่วแลประพฤติทุจจริตต่างๆ เมื่อพบผู้หญิงก็เข้าเกี้ยวชักชวนในเชิงกาม แลกระทำการลามก จนบิดาเสียใจเป็นโรคหนักอยู่หน่อยหนึ่งก็ถึงความตาย

ครั้นบิดาสิ้นชีวิตแล้วบุตรชายได้มฤดกก็จ่ายทรัพย์เปลืองไปในการพะนันแลบำรุงความชั่ว ไม่ช้าทรัพย์มฤดกซึ่งได้รับเป็นอันมากนั้น ก็สิ้นไปจนไม่มีอะไรเหลือ ครั้นทรัพย์ของตนหมดก็ทำลายทรัพย์เพื่อนบ้าน จนในที่สุดเขาจับได้ว่าเป็นขะโมย เผอินหลบหลีกได้ไม่ถูกประหารชีวิตตามอาญาเมือง จนในที่สุดกล่าวลบหลู่เทวดาว่าให้แต่โชคร้าย แล้วหนีออกจากเมืองไปเดินป่าอยู่พักหนึ่ง ถึงเมืองซึ่งเป็นที่อยู่แห่งเหมคุปต์ เศรษฐีผู้บิดานางรัตนาวดี ได้ยินชื่อเหมคุปต์ก็นึกขึ้นได้ว่าเมื่อบิดาของตนยังมีชีวิตอยู่นั้น ได้ทำการค้าขายติดต่อกับเหมคุปต์ จึงเข้าไปหาเหมคุปต์แจ้งความว่าตนเป็นบุตรแห่งพ่อค้าที่ได้เคยค้าขายติดต่อกัน บัดนี้บิดาสิ้นชีวิตเสียแล้ว พูดเท่านั้นก็ร้องไห้ร่ำไรไปเป็นอันมาก

ฝ่ายเหมคุปต์ครั้นได้ยินแลเห็นชายหนุ่มแต่งกายซุดโซมดังนั้น ก็ประหลาดใจแลคิดสงสาร จึ่งปลอบโยนซักถามว่าเหตุไฉนจึ่งเป็นเช่นนี้ ชายหนุ่มหลังโกงเหมือนอูฐตอบว่า ข้าพเจ้าจัดสินค้าบรรทุกเรือไปค้าขายในเมืองอื่น ครั้นขายของหมดแล้ว ข้าพเจ้าซื้อสินค้าเมืองนั้นบรรทุกเรือจะกลับไปขายในเมืองของข้าพเจ้า แล่นใบไปกลางทะเลถูกพะยุใหญ่เป็นอันตรายในทะเลทั้งเรือแลสินค้า ข้าพเจ้าเกาะกระดานลอยไปคนเดียว เผอินยังไม่ถึงเวลาสิ้นชีวิตจึ่งรอดขึ้นฝั่งได้แลเดินทางมาจนถึงเมืองนี้ ข้าพเจ้าไม่มีหน้าจะกลับไปเมืองของตนได้ เพราะสิ้นทรัพย์แล้วก็ไม่มีใครนับถือ ผู้ที่เป็นศัตรูก็มีแต่จะด่าว่าข่มขี่ต่างๆ บิดามารดาของข้าพเจ้าก็สิ้นชีวิตเสียนานแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร ทั้งนี้ก็เป็นผลแห่งกรรมซึ่งกระทำไว้แต่ปางก่อน พูดเท่านั้นแล้วก็ร้องไห้ร่ำไรไป

ฝ่ายเหมคุปต์เศรษฐีได้ยินชายหลังอูฐร้องไห้เล่าเรื่องให้ฟังดังนั้นก็เกิดสงสารเป็นกำลัง จึ่งต้องรับเลี้ยงดูให้ชายหลังอูฐอาศัยอยู่ในบ้านของตน ชายชั่วเห็นทางจะได้ดีด้วยทำดีก็ขืนใจปฏิบัติเป็นคนดี จนเหมคุปต์ไว้ใจให้มีส่วนในการค้าขาย ชายหนุ่มก็ยิ่งแสร้งทำดีจนเหมคุปต์ไว้ใจแลเอ็นดูยิ่งขึ้น วันหนึ่งเหมคุปต์ตรึกตรองในใจว่า เรานี้มีความร้อนใจมาหลายปีแล้วเพราะบกพร่องในครอบครัว เพื่อนบ้านของเราก็ซุบซิบนินทาเรามาช้านาน บ้างก็พูดอ้อมค้อม บ้างก็พูดตรงๆ ว่า ธรรมดาคนมีลูกสาว เมื่อลูกอายุถึง ๗ ขวบ ๘ ขวบพ่อแม่ก็ต้องจัดการให้มีผัวเพราะธรรมศาสตร์บัญญัติอย่างนั้น แต่บุตรสาวเหมคุปต์เศรษฐีนี้พ้นอายุที่ควรแต่งงานมาหลายปี จนบัดนี้อายุถึง ๑๓ หรือ ๑๔ ปี นางเป็นคนร่างใหญ่รูปอวบดูเหมือนหญิงอายุ ๓๐ ปีที่มีผัวแล้ว แต่บิดาก็ยังหาจัดการให้มีผัวไม่ บิดาจะกินแลนอนเป็นสุขอย่างไร การที่ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่ครหาเป็นโทษโดยคดีโลกแลคดีธรรม แม้ญาติวงศ์ที่สิ้นชีวิตไปแล้วก็ย่อมได้รับทุกข์ เพราะเหตุที่ญาติในมนุษยโลกปล่อยลูกสาวไว้มิให้มีผัวจนป่านนี้ ข้อติเตียนข้อนี้ก็ทำให้เราเดือดร้อนมาช้านานแล้ว แต่เรามิรู้จะแก้ไขอย่างไรได้ บัดนี้พระภัควานโปรดให้เราสิ้นทุกข์ จึ่งบันดาลให้ชายหนุ่มนี้มาถึงบ้านเรา เขาก็เป็นคนดีปฏิบัติอยู่ในคลองธรรมที่ชอบใจเรา จำเราจะยกลูกสาวให้แก่ชายหนุ่มนี้ตามโอกาสที่พระภัควานประทานแก่เรา เราจะชักช้าต่อไปไม่ควร เพราะสิ่งใดที่จะทำได้ในวันนี้ สิ่งนั้นเป็นดีที่สุด พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรเราทราบไม่ได้

เหมคุปต์ตรึกตรองตกลงใจดังนี้แล้วก็ไปพูดกับภริยาว่า ความเกิด ๑ การวิวาหะ ๑ ความตาย ๑ ทั้ง ๓ อย่างนี้ย่อมเป็นไปแล้วแต่เทวดาจะบัญญัติ เราต้องการให้ลูกหญิงของเราได้ผัวที่เกิดในสกูลดี เป็นผู้มั่งมี เป็นผู้มีรูปงาม เป็นคนฉลาด และเป็นผู้มีความสัตย์ แต่เราจะหาชายหนุ่มเช่นนั้นไม่ได้ เจ้าจะกล่าวว่า ถ้าเจ้าบ่าวขาดคุณดีเหล่านี้ การวิวาหะก็จะไม่เป็นผลดังประสงค์ แต่ถ้าจะไม่ให้ลูกมีผัวไซร้ เราจะเอาเชือกผูกคอลูกเราถ่วงลงในคูนี้ก็ไม่ได้ เหตุดังนั้นถ้าเจ้าเห็นว่า บุตรพ่อค้าซึ่งข้าได้รับเข้าไว้เป็นสหายในการค้าขายของข้านี้เป็นคนดีควรจะให้ลูกสาวเราได้ เราจะรีบจัดการวิวาหะโดยเร็ว

ภริยาเหมคุปต์ได้ยินสามีพูดดังนั้นก็ดีใจ เพราะชายหนุ่มหลังอูฐได้ล่อลวงให้ลุ่มหลงอยู่แล้ว นางจึงตอบสามีว่า เมื่อพระภัควานชี้ทางให้เห็นชัดอยู่เช่นนี้ ถ้าเราไม่ทำตามก็คือขืนคำพระผู้เป็นเจ้า เรามิได้ไปเที่ยวแสวงที่ไหนเจ้าบ่าวก็มีมาเอง เหตุดังนั้นเราไม่ควรจะชักช้าไปเลย ท่านจงรีบจัดการเถิด สามีภริยาปฤกษากันเช่นนี้แล้วก็เรียกบุตรสาวเข้าไปหา นางนั้นงามสมควรเป็นที่รักของคนธรรพ์ นางมีเกศายาว อันเป็นสีม่วงอ่อนเพราะแสงแห่งความเป็นสาว เป็นมันเหมือนปีกแมลงภู่ ขนงบริสุทธและใสเหมือนโมรา แก้วประพาลอันเกิดแต่ทะเลนั้น เมื่อเทียบกับริมฝีปากแห่งนาง แก้วประพาลก็มีสีเผือดไป ทนต์ของนางเสมอกับไข่มุก ภาคต่างๆ ในกายนางล้วนประกอบขึ้นสำหรับเป็นที่รักทั้งนั้น เมื่อใครได้เห็นเนตรแห่งนางก็ใคร่จะเห็นอีกแลเห็นอยู่เสมอไป ใครได้ยินเสียงนางก็ไคร่จะได้ยินดนตรีนั้นอยู่เสมอ ความดีของนางเสมอกับความงาม เป็นที่รักของบิดามารดาแลญาติพี่น้องทั่วไป เพื่อนทั้งหลายของนางจะหาที่ตินางก็มิได้ ถ้าข้าพเจ้าจะเล่าคุณดีของนางก็คงไม่มีเวลาสิ้นสุดได้ นกขุนทองเล่ามาเพียงนี้ก็ร้องไห้ร่ำไรอยู่ครู่หนึ่งจึงเล่าต่อไปว่า

เมื่อบิดามารดาเรียกนางรัตนาวดีมาบอกความประสงค์ให้ทราบ นางก็ตอบว่าแล้วแต่บิดามารดา เพราะนางไม่ใช่หญิงชะนิดที่เกลียดอะไรไม่เกลียดเท่าชายที่พ่อแม่บัญชาให้รัก อันที่จริงข้าพเจ้าทราบว่านางจะดูชายหนุ่มที่จะเป็นเจ้าบ่าวก็ดูไม่ได้เต็มตา เพราะความขี้ริ้วของชายนั้น แต่ไม่ช้าความช่างพูดของเจ้าบ่าวก็ทำให้นางเกิดความนิยมขึ้นทีละน้อย แลทั้งนางรู้สึกคุณชายหนุ่มที่อุส่าห์เอาใจใส่เอื้อเฟื้อต่อบิดามารดา นับถือความประพฤติของชายหนุ่มซึ่งแสร้งทำดี สงสารด้วยตกยาก จนในที่สุดก็ลืมความขี้ริ้วของชายนั้น

เมื่อก่อนการวิวาหะ นางได้สัญญาในใจไว้ว่า เมื่อแต่งงานแล้ว แม้หน้าที่แห่งภริยาจะไม่เป็นที่ชอบใจเพียงไร นางก็จะอุส่าห์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ ครั้นแต่งงานแล้วความไม่พอใจในหน้าที่นั้นหามีไม่ นางกลับรักสามีเสียอีก ส่วนความขี้ริ้วของสามีนั้นไม่เป็นเหตุให้นางเกลียดชัง อันที่จริงกลับจะรักยิ่งขึ้นเพราะความขี้ริ้วนั้น ความรักนี้เป็นของน่าพิศวงมาก เป็นแสงจากฟ้าฉายความสุขลงมายังแผ่นดินอันมืดและเต็มไปด้วยความซึมเซา เป็นมนต์ซึ่งทำให้เรารำลึกถึงความมีชาติที่สูงกว่านี้ เป็นความสุขในขณะนี้และเป็นทางพาให้คิดถึงสุขในเบื้องหน้า ทำให้ความขี้ริ้วกลับเป็นความงาม ทำให้ความโง่เป็นความฉลาด ทำให้ความแก่เป็นความหนุ่ม ทำให้บาปเป็นบุญ ทำให้ความซึมเซาเป็นความแช่มชื่น ทำให้ใจแคบเป็นใจกว้าง ความรักนี้เป็นโอสถอย่างเอก ชักให้ความตรงกันข้ามมาเดินลงรอยเดียวกัน นกขุนทองกล่าวดังนี้พลางแลดูนกแก้ว นกแก้วกล่าวว่า ถ้าเอาคำโบราณมาพูดน้อยกว่านี้จะเป็นการสำแดงความคิดตนเองมากขึ้น การที่จำเอาคำเก่าๆมากล่าวเช่นนี้ไม่เป็นไปตามทำนองผู้มีปัญญาเลย

นกขุนทองกล่าวต่อไปว่า คำโบราณกล่าวว่าเสือจะกลายเป็นลูกแกะนั้นยังไม่เคยมี เหตุดังนั้นชายหนุ่มหลังอูฐจะได้แสร้งประพฤติเป็นคนดีอยู่คราวหนึ่งก็หาดีได้จริงไม่ อยู่มาวันหนึ่งชายหนุ่มระลึกในใจว่า ผู้มีปัญญาย่อมเอาตัวออกหากจากความเหนี่ยวรั้งแห่งครอบครัว และปลดตัวจากความรักลูกรักเมียและรักบ้าน คิดดังนั้นชายหนุ่มจึงกล่าวแก่ภริยาว่า ข้าได้จากเมืองมาอยู่ในเมืองเจ้านี้ก็หลายปีแล้วไม่ได้ข่าวคราวญาติพี่น้องในเมืองข้าเลย ใจข้าจึงเศร้า เจ้าจงกล่าวแก่แม่ของเจ้าขออนุญาตให้ข้ากลับไปบ้านเมือง และถ้าเจ้าไคร่จะไปด้วยก็ได้

นางรัตนาวดีได้ยินสามีว่าดังนั้นก็รีบไปบอกมารดาตามคำซึ่งสามีกล่าว มารดาได้ทราบก็ไปแจ้งแก่เหมคุปต์ เหมคุปต์ตอบอนุญาตให้บุตรเขยกลับบ้านเมืองได้ตามใจ และถ้าบุตรีจะยอมไปกับสามีก็อนุญาต

ครั้นตกลงกันดังนี้แล้ว เหมคุปต์เศรษฐีก็ให้ทรัพย์สินแก่บุตรเขยเป็นอันมาก ทั้งให้แก่บุตรสาวอีกส่วนหนึ่ง และจัดทาสีให้ไปด้วยคนหนึ่ง บุตรเขยและบุตรสาวก็ลาออกเดินทางเข้าป่าไป

ฝ่ายชายหนุ่มหลังอูฐพาภริยาเดินทางไปหลายวัน นิ่งตรึกตรองไม่ไคร่จะตกลงในใจว่าจะทำวิธีใดจึงจะทิ้งภริยาเสียได้ การที่จะพาไปยังเมืองของตนนั้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเมื่อไปถึงเมืองเข้านางก็จะจับเท็จทั้งปวงได้ อนึ่งชายหลังอูฐอยากได้นางเป็นภริยาก็เพราะอยากได้ทรัพย์สมบัติ ไม่อยากได้ตัวนางเอง ครั้นเมื่อพ้นตาพ่อแม่มาเช่นนี้ ก็คิดหาทางจะทิ้งนางเสีย แต่ตรึกตรองอยู่หลายวันจนไปถึงป่าเปลี่ยวก็หยุดพักแล้วบอกแก่นางว่า ตำบลนั้นโจรผู้ร้ายชุกชุม นางจงปลดเครื่องประดับกายทั้งปวงซึ่งมีค่าเป็นอันมากออกให้สามีซ่อนไว้ในไถ้ ครั้นนางทำตามแล้วชายสามีก็ล่อทาสีไปห่างที่ซึ่งภริยานั่งคอยอยู่ แล้วเอามีดเชือดคอทาสีทิ้งศพไว้เป็นอาหารสัตว์ในป่า แล้วกลับไปหาภริยาล่อให้เดินไปใกล้เหวแล้วผลักตกลงไปในเหว เผอินก้นเหวนั้นมีกิ่งไม้และใบไม้รองอยู่มากนางจึงไม่สิ้นชีวิต ฝ่ายข้างชายหลังอูฐครั้นผลักภริยาลงเหวแล้ว ก็รวบรวมทรัพย์สมบัติทั้งปวงออกเดินทางไปสู่เมืองของตน

ไม่ช้ามีชายอีกคนหนึ่งเดินมาในป่าเปลี่ยว ได้ยินเสียงคนร้องไห้ก็หยุดยืนฟังและนึกในใจว่า ป่านี้เปลี่ยวนักหนาเหตุใดมีคนมาร้องไห้อยู่ในดงชัฏ ครั้นยืนฟังอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็เดินไปในทางซึ่งได้ยินเสียงร้องไห้ ครั้นไปถึงเหวก็หยุดชะโงกดู เห็นผู้หญิงร้องไห้อยู่ก้นเหว ชายนั้นก็ปลดผ้าโพกและสายรัดตัวออกต่อกันเป็นสายยาวหย่อนลงไปก้นเหว ร้องให้นางเอาปลายผ้าผูกตัวเข้าแล้วฉุดขึ้นมาได้และถามนางว่าเกิดเหตุอย่างไรจึงเป็นเช่นนี้

นางรัตนาวดีตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นบุตรีเหมคุปต์พ่อค้าเศรษฐีใหญ่ในกรุงจันทปุระ ข้าพเจ้าเดินทางมากับสามีพบโจรมีกำลังช่วยกันฆ่าทาสีของข้าพเจ้าเสียแล้วมัดสามีข้าพเจ้าพาตัวไป และได้ปลดเครื่องประดับกายของข้าพเจ้าออกหมดแล้วก็ผลักข้าพเจ้าตกอยู่ในเหวนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าสามีจะเป็นตายประการใด และสามีข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่าข้าพเจ้ายังอยู่หรือสิ้นชีวิตเสียแล้ว

ชายเดินป่าได้ฟังนางเล่าดังนั้นก็เชื่อ และพานางไปเมืองจันทปุระส่งยังบ้านบิดา เมื่อนางไปถึงบ้านบิดาก็เล่าเรื่องอย่างเดียวกับที่เล่าให้ชายเดินทางฟัง เหมคุปต์เศรษฐีได้ยินเรื่องก็สงสารบุตรี จึงกล่าวปลอบโยนว่า “ลูกเอย เจ้าอย่าร้อนใจไปเลย ผัวของเจ้ายังคงชีวิตอยู่เป็นแน่ ธรรมดาโจรย่อมจะแย่งชิงทรัพย์สมบัติของผู้อื่นไม่แย่งชิงชีวิตผู้ซึ่งไม่มีทรัพย์เหลือ เหตุดังนี้เมื่อไรพระภัควานโปรดผัวของเจ้าก็จะกลับมาเมื่อนั้น จงตั้งใจคอยไปเถิด” เหมคุปต์กล่าวปลอบบุตรีฉะนี้พลางจัดเครื่องประดับกายอันหาค่ามิได้ให้แก่บุตรีเป็นอันมาก ทั้งบอกกล่าวญาติพี่น้องและมิตรทั้งปวงให้มาเยี่ยมและปลอบโยนชี้แจงแก่นางรัตนาวดีโดยนัยเดียวกัน แต่นางก็มิวายเศร้า เพราะเรื่องในใจผิดกับเรื่องที่เล่าบอกแก่บิดาและญาติมิตรทั้งนั้น

จะกล่าวถึงชายหลังอูฐเมื่อผลักภริยาตกแหวแล้ว ก็รวบรวมของมีราคาทั้งหลายรีบไปยังเมืองของตน เพื่อนฝูงทั้งปวงก็ช่วยกันต้อนรับเป็นอันดี เพราะเหตุที่มีทรัพย์เป็นอันมาก เพื่อนนักเลงก็พากันมากลุ้มรุมชวนเล่นชวนกินอย่างแต่ก่อน การพะนันและการเสพย์เครื่องมึนเมาต่างๆก็กลับทำตามเดิมโทษทั้งหลายก็กลับเกิด ทรัพย์สินทั้งหลายก็เปลืองไป ๆ ในที่สุดก็หมดลงอีกครั้งหนึ่ง ชนทั้งหลายที่เป็นสหายในการทำชั่วและเป็นมิตรในการช่วยกันกินกันเล่น ต่างก็ชักห่างออกไป ในที่สุดเมื่อชายหลังอูฐสิ้นทรัพย์แน่แล้วก็ไม่มีใครคบค้าสมาคม เมื่อไปถึงบ้านผู้ที่เคยเป็นมิตรเขาก็ปิดประตูเสีย หรือมิฉะนั้นขับไล่ไม่ให้เข้าเรือน ชายหลังอูฐสิ้นปัญญาก็กระทำโจรกรรมจนเขาจับได้ก็ถูกเฆี่ยนตีลงโทษเป็นสาหัส ครั้นจะอยู่ในเมืองของตนต่อไปไม่ได้ ก็หนีออกจากเมืองอีกครั้งหนึ่ง เดินไปในป่าพลางคิดในใจว่าเราจะต้องกลับไปหาพ่อตาเล่านิทานให้ฟังว่า บัดนี้นางรัตนาวดีคลอดบุตรเป็นชายคนหนึ่งแล้ว เราจึงไปหาพ่อตาเพื่อจะบอกข่าวอันควรยินดีนี้ให้พ่อตาทราบ เราอาจจะได้ทรัพย์สมบัติอีกเพราะการไปบอกข่าวนี้

ชายหลังอูฐคิดดังนั้นแล้วก็ตั้งหน้าเดินไปเมืองจันทปุระตรงไปบ้านเหมคุปต์เศรษฐี ครั้นไปถึงประตูบ้านก็ตกใจเป็นกำลัง เพราะเห็นนางรัตนาวดีภริยาลงจากเรือนวิ่งออกมารับในชั้นต้นคิดว่าผีเพราะนึกว่านางคงจะตายอยู่ในเหวนั้นเอง เมื่อคิดดังนี้ก็กลัวจึงหันหลังจะวิ่งหนีต่อนางตะโกนเรียกจึงหยุดยืนลังเลด้วยเข้าใจว่านางคงจะกลับไปเล่าเรื่องให้บิดาฟังตลอด เมื่อเหมคุปต์มาพบเข้าก็จะคงจับตัวลงโทษเป็นแน่

ฝ่ายรัตนาวดีเห็นสามียืนลังเลมีสีหน้าอันซีดด้วยความกลัวเช่นนั้นก็กล่าวแก่สามีว่า “ท่านอย่าสดุ้งตกใจไปเลย ข้าพเจ้ามิได้เล่าความจริงแก่บิดาดอก ข้าพเจ้าได้เล่าว่าเราเดินทางไปกลางป่าพบโจรหมู่หนึ่งมีกำลังมาก โจรฆ่าทาสีของข้าพเจ้าเสีย แย่งเครื่องประดับจากกายข้าพเจ้าหมดแล้วผลักข้าพเจ้าตกลงในเหวและทั้งมัดท่านพาตัวไป เมื่อท่านพบกับบิดาข้าพเจ้าท่านจงเล่าเรื่องให้ตรงกัน เราทั้งสองก็จะกลับได้ความสุขตามเดิมท่านจงระงับความร้อนใจเสียเถิด ข้าพเจ้าดูอาการแห่งท่านเห็นว่าท่านคงจะได้รับทุกข์มานักหนาเสื้อผ้าและร่างกายจึงขมุกขมอมเหมือนเช่นที่เห็นอยู่นี้ ท่านจงตามข้าพเจ้าขึ้นมาบนเรือนและผลัดเสื้อผ้าโสมมนี้สวมเสื้อผ้าที่ดีและกินอาหารซึ่งประกอบด้วยรสทั้งหก ท่านจงถือว่าเย่าเรือนและสมบัติเหล่านี้เป็นท่าน และตัวข้าพเจ้าคือทาสีผู้ปฏิบัติท่านให้ได้ความสุขทุกประการ

ชายหลังอูฐได้ฟังภริยากล่าวดังนั้นแม้ตัวเป็นผู้มีใจบึกบึนก็บังเกิดใจอ่อนแทบจะร้องไห้ จึงตามภริยาขึ้นไปบนเรือน ครั้นถึงห้องนางก็ล้างเท้าให้ และจัดให้อาบน้ำชำระกาย แต่งเครื่องนุ่งห่มอย่างดีมีค่าแล้วนำเอาอาหารมาให้กิน ครั้นเหมคุปต์เศรษฐีและภริยากลับมาถึงบ้าน นางรัตนาวดีก็พาสามีไปหาและเล่านิทานให้ฟังว่า ฝูงโจรได้ปล่อยชายสามีกลับมาแล้ว เหมคุปต์และภริยาได้ฟังก็ดีใจ จัดการให้บุตรเขยอยู่กินมีตำแหน่งในครอบครัวอย่างแต่ก่อน

ชายหนุ่มหลังอูฐได้กินอยู่มีความสุขก็พักอยู่กับพ่อตา ๒-๓ เดือน ระหว่างนั้นประพฤติตัวเป็นคนดีมีใจโอบอ้อมอารีต่อภริยา ผู้ที่ไม่รู้เรื่องไม่มีใครสงสัยว่าจะเป็นคนชั่วร้าย แต่การกระทำดีนั้นเป็นการขืนนิสสัย จะทำได้อย่างมากก็พักหนึ่งเท่านั้น ไม่ช้าก็คบกับโจรในเมืองนั้น นัดหมายกันเข้าปล้นบ้านเหมคุปต์เศรษฐี ครั้นถึงวันนัดเวลาเที่ยงคืนนางรัตนาวดีกำลังหลับสนิทชายหลังอูฐก็เอามีดแทงนางตายแล้วเปิดประตูรับพวกโจรเข้าไปในเรือนช่วยกันฆ่าเหมคุปต์และภริยาตายแล้ว ช่วยกันขนทรัพย์สมบัติล้วนแต่ที่มีราคาออกจากเรือนไป

นางนกขุนทองเล่ามาเพียงนี้ก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ครู่หนึ่งจึงกล่าวต่อไปว่า เมื่อชายหลังอูฐเดินผ่านกรงข้าพเจ้าไปเวลาจะออกจากบ้านหนีไปนั้น มันแลดูข้าพเจ้าและหยุดยืนจับประตูกรงจะเปิดจับข้าพเจ้าออกมาหักคอ เผอิญหมาเห่าขึ้นมันตกใจก็รีบหนีไปข้าพเจ้าจึงรอดชีวิตอยู่ได้

นางนกขุนทองร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่อีกครู่หนึ่งจึ่งทูลพระมเหษีว่า เรื่องนี้ข้าพเจ้ายินด้วยหูรู้ด้วยตามาเอง และเป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ความทุกข์ในเวลายังอ่อนอายุ จึ่งเป็นเหตุให้ข้าพเจ้ารังเกียจชายทั้งหลายจะขออยู่ไม่มีคู่ไปจนสิ้นชีวิต พระองค์จงทรงดำริว่า นางรัตนาวดีไม่ได้ทำความผิดอะไรเลยยังเป็นได้ถึงเพียงนั้นเพราะผู้ชายย่อมมีน้ำใจเป็นโจรทั้งหมด แลผู้หญิงซึ่งยอมเป็นมิตรกับชายนั้น เสมอกับเอางูเห่ามาเลี้ยงไว้บนอก

นางนกขุนทองทูลพระมเหษีเช่นนี้แล้วก็หันไปพูดกับนกแก้วว่า นี่แนะเจ้านกแก้ว ข้าได้เล่าเรื่องเป็นพะยานคำของข้าแล้ว ข้าไม่มีอะไรจะพูดอีก นอกจากจะกล่าวว่าผู้ชายทั้งปวงเป็นจำพวกคดโกงล่อลวงผู้อื่น เห็นแก่ตัวเองและมีใจบาปหยาบร้ายหาที่สุดมิได้

นกแก้วทูลพระราชาว่า พระองค์จงฟังเถิด เมื่อหญิงกล่าวว่าไม่มีอะไรจะพูดอีกนอกจากที่จะแถมนิดหน่อยนั้น ใจความก็คือยังไม่ได้พูดอะไรที่เป็นข้อสำคัญเลย ข้อสำคัญจะอยู่ในคำแถมทั้งนั้น และคำแถมย่อมจะยาวกว่าคำที่พูดมาแล้วหลายสิบเท่า นางนกตัวนี้ก็ได้พูดมาจนน่าจะเบื่อเต็มทีอยู่แล้ว แต่อย่างนั้นยังนับว่าเพิ่งจะขึ้นต้นเท่านั้น

พระราชาตรัสว่า เจ้ามีเรื่องอะไรจะนำมากล่าวเป็นพะยานคำติเตียนหญิง เจ้าก็จงเล่าไปเถิด นกแก้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องซึ่งเกิดแต่เมื่อข้าพเจ้ายังอ่อนอายุ และทำให้ข้าพเจ้าทำสัญญาในใจว่าจะอยู่ไม่มีคู่ไปตราบจนวันตาย

นิทานของนกแก้ว

เมื่อข้าพเจ้าเป็นลูกนกยังไม่ทันได้ร่ำเรียนอันใดก็ติดกรงหับมีผู้จับได้นำไปขายแก่พ่อค้าเศรษฐีชื่อสาครทัต ซึ่งเป็นพ่อหม้ายมีลูกสาวคนหนึ่งชื่อนางชัยศิริ สาครทัตกระทำการค้าขายกว้างขวางมีธุระอยู่ที่ร้านตลอดวันและครึ่งคืน ใช้เวลาในการก้มมองดูตัวเลขในบัญชีและดุด่าเสมียนผู้รับใช้ไม่มีเวลาดูแลบุตรสาว นางชัยศิริประพฤติตนตามอำเภอใจ และอำเภอใจของนางนั้นไม่เป็นอำเภอที่ดีเลย

ชายทั้งปวงที่มีลูกสาวอาจกระทำผิดเป็นข้อใหญ่ได้สองทาง คือระมัดระวังน้อยไปทางหนึ่ง ระมัดระวังมากไปทางหนึ่ง พ่อแม่บางจำพวกคอยจ้องดูลูกสาวมิให้คลาดตาไปเลย คอยสงสัยว่าลูกสาวมีความคิดชั่วร้ายในใจอยู่เป็นนิตย์ พ่อแม่ชะนิดนี้มักจะเขลา และเพราะเขลาจึ่งแสดงความสงสัยให้ลูกเห็น เมื่อลูกเห็นว่าสงสัยว่าคิดชั่วก็เสมอกับยุ เพราะหญิงสาวย่อมมีมานะโดยความคิดตื้นๆ ว่า เราจะทำชั่วโดยเร็วให้สมกับโทษที่เราได้รับอยู่แล้ว ในเวลานี้เรายังไม่ได้ทำชั่วอะไรเลย แต่ก็ได้รับโทษเสมอกับว่าได้ทำชั่วมาช้านาน ความสำราญแห่งการทำชั่วนั้นเรายังไม่ได้รับ ได้รับแต่ทุกข์แห่งความทำชั่ว ไหนๆก็ได้ทุกข์แล้ว เราจะทิ้งความสำราญเสียทำไมเล่า เราต้องรีบทำชั่วทันที เพราะเราได้ทุกข์มานานแล้ว เมื่อคิดดังนี้แล้วก็ประพฤติการเป็นโทษต่างๆที่พ่อแม่ไม่อาจรู้เห็น เพราะพ่อแม่นั้นถึงจะระมัดระวังอย่างไรลูกสาวก็คงหลบหลีกได้เสมอ พ่อแม่จะนั่งจ้องอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งไม่ได้ ต้องมีเวลาหลับตาลงบ้าง

พ่อแม่อีกประเภทหนึ่งทำผิดในทางที่ระมัดระวังลูกสาวน้อยไป คือไม่ระมัดระวังเสียเลย ปล่อยให้ลูกนั่งเล่นอยู่เปล่าๆ ไม่มีอะไรทำ เสมอกับฝึกหัดให้ขี้เกียจและเพาะพืชความชั่ว ปล่อยให้คบกับคนซึ่งมีความคิดบาป คือให้โอกาสให้ปฏิบัติเป็นโทษ หญิงสาวซึ่งบิดามารดาปล่อยตามอำเภอใจเช่นนี้มักจะเดินเข้าสู่บ่วงซึ่งผู้มีเจตนาชั่ววางดักไว้ และประพฤติตัวเป็นโทษด้วยประการต่างๆ เพราะความไม่ระมัดระวังตัวและเพราะความล่อลวงของผู้มีเจตนาชั่ว อันเป็นชนจำพวกซึ่งมีความเพียรยิ่งกว่าผู้มีเจตนาดี

ก็บิดามารดาซึ่งมีปัญญานั้นควรทำอย่างไรเล่า จึ่งจะหลีกทางทั้งสองนี้ได้ ธรรมดาบิดามารดาผู้มีปัญญาย่อมเอาใจใส่สังเกตนิสสัยบุตรของตน และดำเนินการระมัดระวังตามนิสสัยซึ่งมีในตัวบุตร ถ้าลูกสาวมีนิสสัยดีอยู่ในตัว บิดามารดาที่ฉลาดก็คงจะวางใจปล่อยให้ดำเนิรความประพฤติตามใจในเขตต์อันควร ถ้าบุตรสาวมีนิสสัยกล้าแข็ง บิดามารดาก็คงจะแสดงกิริยาประหนึ่งว่าไว้วางใจในบุตร แต่คงจะลอบระมัดระวังอยู่เสมอ

นกแก้วแสดงวิธีเลี้ยงลูกสาวถวายพระราชารามเสนเช่นนี้ต่อไปอีกครู่หนึ่ง จึ่งเล่าถึงนางชัยศิริว่า นางนั้นเป็นคนสูง ค่อนข้างจะอ้วน รูปทรงดี ครอบงำน้ำใจตนเองไม่ใคร่ได้ นางมีเนตรใหญ่และหลังตากว้าง มือมีรูปอันดีแต่ไม่เล็ก ฝ่ามือมีไอร้อนและเป็นเหื่ออยู่เสมอๆ เสียงค่อนข้างแหลมและบางทีฟังเหมือนเสียงผู้ชาย ผมดำเป็นมันเหมือนขนนกกระเหว่า ผิวเหมือนดอกพุทชาติ ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะซึ่งคนโดยมากมักจะแลดู แต่นางจะเป็นคนงามก็ไม่เชิง ไม่งามก็ไม่เชิง กล่าวได้ว่าอยู่ในระหว่างคนสวยและคนขี้ริ้ว อันเป็นความดีแก่ตัวหญิง เพราะความอยู่กลางๆนี้สำคัญอยู่ หญิงที่งามนักอย่าว่าแต่ใคร แม้นางสีดายังถูกทศกัณฐ์ลักพาไป

นกแก้วกล่าวต่อไปว่า แต่ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็จำต้องกล่าวว่าหญิงงามมักจะมีธรรมในใจมากกว่าหญิงขี้ริ้ว หญิงงามได้รับชักชวนจูงใจไปในทางชั่ว แต่มีความหยิ่งเป็นเครื่องต่อสู้ป้องกันตัวได้ เพราะความหยิ่งนั้นทำให้หญิงงามสัญญาในใจตัวเองว่าจะได้รับชักโยงไปในทางเดียวกันบ่อยๆ เพราะฉะนั้นถึงจะไม่ยอมไปในคราวนี้ก็ไม่สิ้นโอกาสที่จะได้รับเชื้อเชิญต่อไป กล่าวอีกนัยหนึ่งหญิงงามไม่เดินทางชั่ว เพราะมีความหยิ่งในใจว่าจะเดินเมื่อไหร่ก็เดินได้ ส่วนหญิงขี้ริ้วนั้นจำเป็นต้องชักโยงคนอื่น ไม่ใช่มีคนอื่นมาชักโยง เมื่อตนโยงแล้วตนก็ต้องตาม และเมื่อความโยงสำเร็จด้วยความตามฉะนี้ ความหยิ่งและความมุ่งหมายของหญิงขี้ริ้วก็ย่อมสมหวังด้วยความตาม ไม่ใช่ด้วยต่อสู้ความชักโยง

เราท่านอ่านถ้อยคำของนกจุรามันมาเพียงนี้ก็ต้องพิศวงว่านกแก้วพูดดังนั้นหมายความอย่างไร ถ้าตรึกตรองดูสัก ๕ นาฑีก็คงจะเห็นพร้อมกันหมดว่า นกแก้วหมายความว่าอย่างไรเหลือที่จะรู้ได้ ที่เป็นดังนี้เห็นจะเป็นเพราะเวลาผิดกันประมาณ ๒๐๐ ปีอย่างหนึ่ง เพราะจุรามันเป็นนกท่านและข้าพเจ้าเป็นคนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะนกจุรามันเป็นนกพูดสํสกฤต จึงเหลือที่ท่านและข้าพเจ้าจะเข้าใจได้

นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า หญิงขี้ริ้วมักมีใจเหี้ยมกว่าหญิงงาม เหตุดังนั้นเมื่อหมายอย่างไรก็ย่อมจะสมหมายบ่อยกว่ากัน ผู้มีปัญญาในโลกธรรมกล่าวภาษิตที่เป็นความจริงไว้ว่า “ชายรักหญิงงาม บูชาหญิงขี้ริ้ว” และเมื่อมีคำถามว่าเหตุใดจึงบูชาหญิงขี้ริ้ว ก็มีคำตอบว่าเพราะหญิงขี้ริ้วไม่แสดงท่าทางว่าคิดถึงตัวเองยิ่งกว่าคิดถึงเรา

ส่วนนางชัยศิรินั้นก็ใช้ความงามซึ่งมีส่วนน้อยนั้นเป็นเครื่องล่อให้ชายตามตอมได้มาก แต่ใช้ความไม่สงบเสงี่ยมเป็นเครื่องล่อได้มากกว่า และใช้ความมีทรัพย์ของบิดาเป็นเครื่องล่อได้มากที่สุด นางชัยศิริไม่มีความเขินขวยเสียเลย ไม่ยอมให้มีชายตามน้อยกว่าคราวละครึ่งโหลเป็นอันขาด นางรื่นรมย์ในการรับแขกชายหนุ่มๆเหล่านั้นติดต่อกันไปตามเวลานัด บางคราวกำหนดเวลาให้สั้นสำหรับจะได้ไล่คนเก่าให้มีที่ว่างสำหรับคนใหม่ ถ้าชายคนไหนบังอาจแสดงกิริยาวาจาหวงหึงหรือติเตียนวิธีของนางก็ตาม ชายนั้นจะถูกเชิญให้ทราบประตูทางออกโดยเร็ว

ครั้นนางชัยศิริมีอายุ ๑๓ ปี มีชายหนุ่มคนหนึ่งกลับจากเมืองไกล ชายหนุ่มคนนี้เป็นลูกพ่อค้าซึ่งมีเคหะฐานอยู่ในที่ใกล้ และบิดาเป็นเพื่อนกับสาครทัตบิดานางชัยศิริ ชายหนุ่มนั้นชื่อศรีทัต ไปค้าขายเมืองไกลหลายปีและได้เคยรักนางชัยศิริมาแต่นางยังเป็นเด็ก ครั้นกลับมาถึงเมืองของตนก็เห็นสิ่งทั้งปวงเป็นที่แช่มชื่นไปหมด ตั้งแต่ลุงขี้เหนียวโทโสร้ายไปจนหมาแก่ที่เห่าอยู่ในลานบ้านก็เห็นน่ารัก คนที่จากบ้านเมืองไปช้านานเมื่อแรกกลับไปถึง ใจคอมักเป็นเช่นนี้ ส่วนนางชัยศิรินั้นศรีทัตแลไม่เห็นว่าได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก และมิได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเลย จมูกนางโตออกไปก็ไม่เห็น หลังตากว้างออกไปและหนาขึ้นก็ไม่เห็น กิริยากระด้างขึ้นก็ไม่เห็น เสียงแข็งขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ไม่ได้ยิน ไม่ได้สังเกตว่านางชำนาญการติและชมเครื่องแต่งตัวชาย ไม่สังเกตว่านางชอบคนชำนาญเพลงดาบ และชอบคนรบเก่งบนหลังม้าและหลังช้าง ข้อความเหล่านี้ศรีทัตไม่เห็นจึ่งไปกล่าวแก่บิดาของตนในเรื่องที่จะใคร่ได้นางชัยศิริเป็นภริยา ครั้นบิดาอนุญาตแล้วไม่ทันได้กล่าวแก่สาครทัตก็ตรงไปกล่าวแก่ตัวนางทีเดียว แต่นางชัยศิริเป็นหญิงชะนิดใหม่ที่ไม่ต้องการความเห็นบิดาในเรื่องที่จะเลือกผัว ครั้นศรีทัตไปกล่าวดังนั้น นางก็ทำทีเหมือนหนึ่งตกลง ทำให้ชายหนุ่มคนนั้นยินดีโลดโผนอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็บอกให้รู้ว่านางชอบใจศรีทัตในทางเป็นเพื่อน แต่ถ้าเป็นผัวจะเกลียดที่สุด นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า ความรู้สึกซึ่งหญิงมีต่อชายนั้นมีสามอย่าง อย่างที่ ๑ คือความรัก อย่างที่ ๒ คือความเกลียด อย่างที่ ๓ คือความเฉยๆ ไม่รักไม่เกลียด ความรู้สึกประเภทที่ ๑ คือ ความรักนั้นอ่อนที่สุดและเคลื่อนง่ายที่สุด หญิงอาจจะตกสู่ความรักง่ายเท่าตกจากความรัก อธิบายว่าประเดี๋ยวอย่างนั้นประเดี๋ยวอย่างนี้จะเอาแน่ไม่ได้ ส่วนความเกลียดนั้นเป็นของคู่กันกับความรัก ชายมีปัญญาอาจเปลี่ยนความเกลียดให้เป็นความรักได้เสมอ และความรักซึ่งเกิดแต่ความเกลียดนั้น มักจะอยู่ทนกว่าความรักล้วน ส่วนความอยู่เฉยๆ คือความไม่เกลียดไม่รักนั้น ชายผู้ชำนาญในลีลาศาสตร์ย่อมเปลี่ยนความเฉยๆให้เป็นความเกลียดได้เสมอ แลเมื่อเปลี่ยนเป็นความเกลียดแล้ว ก็อาจเปลี่ยนเป็นความรักได้อีกชั้นหนึ่ง ดังนี้ประเภทความรู้สึกทั้ง ๓ ก็ลงรอยเดียวกัน

เวตาลเล่ามาเพียงนี้ก็ทูลถามพระวิกรมาทิตย์ว่า ตามที่ข้าพเจ้าเล่าถึงนกขุนทองและนกแก้วมาเช่นนี้พระองค์ทรงเห็นว่านกตัวไหนกล่าวความจริงในสันดานมนุษย์ลึกซึ้งกว่ากัน

แต่อุบายของเวตาลที่จะทำให้พระราชาตรัสตอบปัญหานั้นไม่สำเร็จ พระวิกรมาทิตย์ทรงรู้ทีก็นิ่งรีบทรงดำเนิรไป เวตาลเห็นไม่สมประสงค์ก็เล่านิทานต่อไปว่า

ฝ่ายศรีทัตเมื่อได้ทราบว่านางชัยศิริไม่ยอมเป็นภริยา ก็เดือดร้อนในใจเป็นกำลัง กำหนดใจจะกระโดดน้ำตาย จะกระโดดจากยอดเขาและทำอะไรต่างๆที่แปลกและโง่ รวมทั้งการออกป่าเป็นโยคีด้วย ครั้นตรึกตรองอยู่ช้านานว่าจะทำอย่างไหนจะดีที่สุดก็เห็นว่าจะทำสิ่งโง่ๆเหล่านั้นก็ล้วนแต่ไม่ดีทั้งนั้น เพราะการกระโดดน้ำตายก็ดี การกระโดดจากยอดเขาก็ดี การออกป่าเป็นฤๅษีก็ดี ไม่เป็นวิถีที่จะได้นางชัยศิริมาเป็นภริยาทั้งนั้น ครั้นมีเวลาตรึกตรองมากๆเข้าก็ได้ความคิดซึ่งใครๆ เขารู้กันมาช้านานแล้วว่าขันตีเป็นธรรมประเสริฐ จึ่งบังคับตัวเองให้ตั้งอยู่ในขันตี ไม่ช้านานก็สำเร็จประสงค์ แต่ความสำเร็จประสงค์นั้นเป็นโทษแก่ศรีทัตเป็นอันมาก ดังจะเห็นได้ภายหลัง

ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อตกลงใจแน่นอนแล้ว ว่าจะไม่รับศรีทัตเป็นสามีก็ยั่งยืนในใจอยู่พักหนึ่ง ไม่สู้ช้าก็เปลี่ยนใจใหม่ตามเคย ศรีทัตได้ทราบว่านางยินยอมก็ดีใจโลดโผน เรียกตัวเองว่าบุรุษผู้มีความสุขที่สุดในโลก แลทั้งกระทำบูชาแก้สินบนถวายพระภัควานที่โปรดบันดาลให้นางเปลี่ยนใจมายอมเป็นภริยาตนแลทั้งทำอะไรที่แปลกอีกหลายอย่าง ซึ่งคนที่ไม่บ้าหรือไม่ดีใจเหลือเกินคงไม่ทำเป็นอันขาด ต่อมาไม่ช้าศรีทัตแลนางชัยศิริก็แต่งงานกันตามธรรมเนียม

ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อได้ทำงานมงคลกับศรีทัตแล้วไม่ช้าก็เบื่อจนเกลียดสามี เพราะเป็นนิสสัยของนางที่จะเป็นเช่นนั้น ครั้นเกลียดสามีเช่นนี้แล้วก็หันไปใคร่ครวญหาชายหนุ่มเสเพลคนหนึ่งซึ่งไม่เคยรักนางเลย ศรีทัตผู้สามียิ่งสำแดงเสนหาต่อนาง ๆ ก็ยิ่งสำแดงความขึ้งโกรธ เมื่อสามีหยอกเย้าก็ทำให้เกิดหมั่นไส้ เมื่อพูดล้อก็เห็นไม่ขัน ครั้นหญิงสหายช่วยกันว่ากล่าวทัดทานมิให้นางสำแดงกิริยาเป็นอริต่อสามี นางก็กลับแสดงกิริยาขุ่นเคือง เมื่อสามีนำเครื่องประดับกายมาให้เป็นของกำนัล นางก็ปัดเสีย หันหนีพลางกล่าวว่าบ้า นางออกจากเรือนไปเที่ยวอยู่ที่อื่นวันยังค่ำ แล้วพูดแก่เพื่อนหญิงซึ่งอายุรุ่นราวคราวกันว่า ความเป็นสาวของข้านี้ ผ่านพ้นไปทุกๆวัน ข้าไม่ได้รับความสำราญอันควรจะได้รับตามวัยของข้านี้เลย ความสนุกในโลกนี้มีอย่างไรข้าก็หารู้รสไม่ ครั้นกลับไปถึงบ้านนางก็ขึ้นแอบมองอยู่บนช่องหน้าต่าง เมื่อเห็นชายเสเพลซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันเดินมาตามถนน นางก็เรียกหญิงสหายให้ไปเชื้อเชิญหนุ่มนั้นขึ้นมาบนเรือน ครั้นหญิงสหายไม่ทำตามด้วยความกลัวภัยจากศรีทัตผู้สามี นางก็โกรธแลมีอาการกระสับกระส่ายบอกตัวเองว่าไม่รู้จะพูดว่ากระไรไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะไปไหนจึ่งจะถูกใจตัว จะกินก็ไม่ได้ จะนอนก็ไม่หลับ จะร้อนก็ไม่สบาย จะหนาวก็ไม่สบาย อะไรๆก็ไม่ถูกใจทั้งนั้น นางชัยศิริกระสับกระส่ายอยู่เช่นนี้หลายวันจึงตกลงในใจว่าถ้าขืนอยู่ห่างชายเสเพลซึ่งเป็นที่รักก็ไม่มีความสุขได้เป็นอันขาด คืนหนึ่งครั้นสามีหลับสนิทนางก็ลุกจากที่นอน ย่องออกจากเรือนเดินไปตามถนนมุ่งหน้าไปยังเรือนชายเสเพล ขณะนั้นมีโจรคนหนึ่งเดินมาตามทางเห็นนางชัยศิริเดินไปก็นึกในใจว่าหญิงคนนี้ประดับกายด้วยเครื่องทองคำ แลเพ็ชร์พลอยจะเดินไปไหนในเวลาเที่ยงคืน จำเราจะสกดรอยไป เมื่อได้ทีจะได้แย่งเอาของเหล่านั้น คิดดังนี้โจรก็เดินตามมิให้นางรู้ตัว

ฝ่ายนางชัยศิริครั้นไปถึงเรือนชายเสเพล ก็ขึ้นบันไดไปพบชายเจ้าของเรือนนอนอยู่หน้าประตู นางคิดว่าชายคนนั้นนอนหลับด้วยความเมา อันที่จริงชายนั้นสิ้นชีวิตเสียแล้ว เพราะได้ถูกขะโมยแทงก่อนที่นางจะถึงไม่สู้ช้านัก ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อเห็นชายหนุ่มนอนอยู่ดังนั้น นางก็นั่งลงข้างตัวจับสั่นจะให้ตื่นก็ไม่ตื่น นางเชื่อแน่ว่าเป็นโดยพิษความเมา นางก็เอามือช้อนศีร์ษะขึ้นกอดรัดสำแดงเสนหาต่างๆ

ขณะนั้นปิศาจตนหนึ่งนั่งอยู่บนต้นไม้หน้ากระไดเรือนชายหนุ่ม ครั้นเห็นนางไปนั่งกอดรัดสำแดงความเสนหาต่อศพดังนั้น ปิศาจก็เห็นสนุก จึ่งโดดลงจากต้นไม้ตรงเข้าสิงในศพชายหนุ่ม ศพนั้นก็ตื่นขึ้นจากความตายเหมือนคนตื่นจากความหลับ ศพก็กระหวัดรัดกายนางเหมือนหนึ่งเสนหา นางชัยศิริยินดีในความเล้าโลมของปิศาจก็ก้มหน้าเข้าไปหาหน้าศพ ปิศาจได้ทีก็กัดจมูกนางแหว่งไปทั้งชิ้น แล้วออกจากศพกลับขึ้นไปนั่งหัวเราะอยู่บนต้นไม้ตามเดิม

ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อจมูกแหว่งไปเช่นนั้นก็ตกใจเป็นกำลัง แต่ไม่สิ้นสติ นางจึ่งนั่งตรึกตรองอยู่กับที่ครู่หนึ่งแล้วรีบออกเดินกลับไปบ้าน ครั้นถึงบ้านก็ตรงเข้าไปในห้องซึ่งสามีนอนอยู่ ปิดประตูห้องแล้วก็เอามือกุมจมูกร้องครวญครางได้ยินไปตลอดจนถึงเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องแลเพื่อนบ้านได้ยินเสียงโวยวายคิดว่าเกิดเหตุใหญ่โตก็พากันมาช่วยเป็นอันมาก ครั้นไปถึงเรือนศรีทัตแลภริยาก็เข้าไปถึงประตูห้อง เสียงนางร้องอยู่ในห้อง แต่ประตูห้องนั้นปิดคนทั้งหลายก็พังประตูเข้าไป เห็นนางชัยศิริเอามือกุมจมูกเลือดไหล ศรีทัตทำกิริยางุ่มง่ามไม่ปรากฏว่าเพียรจะทำอะไรแน่

ครั้นญาติแลเพื่อนบ้านไปถึงพร้อมกันแลเห็นนางชัยศิริจมูกแหว่งดังนั้นก็กล่าวแก่ศรีทัตว่า เจ้านี้เป็นคนชั่วร้ายนักหนา ไม่มียางอาย ไม่มีกรุณาแลไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองเลย เจ้าตัดจมูกนางเสียเช่นนี้ด้วยเหตุไร

ฝ่ายศรีทัตเมื่อได้ยินดังนั้นก็รู้สึกว่าถูกกลภริยา จึ่งกล่าวแก่ตนเองว่า บุรุษไม่ควรวางความเชื่อในคนซึ่งเปลี่ยนใจหนึ่ง งูดำหนึ่ง ศัตรูซึ่งถืออาวุธหนึ่ง แลควรระวังภัยอันเกิดแต่ความประพฤติแห่งหญิง ในโลกนี้ไม่มีอะไรซึ่งกวีบริยายไม่ได้ ไม่มีอะไรซึ่งโยคีไม่รู้ ไม่มีคำพล่ามคำใดซึ่งคนเมาไม่พูด ไม่มีเขตตรงไหนซึ่งเป็นที่สุดแห่งมายาหญิง เทวดานั้นมีความรู้มากก็จริงอยู่ แต่ไม่รู้ลักษณะชั่วแห่งม้า ไม่รู้ลักษณะแห่งอัศนีในหมู่เมฆ ไม่รู้ความประพฤติแห่งหญิง ไม่รู้โชคของชายในภายหน้า ก็เมื่อเทวดายังไม่รู้เช่นนี้ เราผู้เป็นคนจะรู้ได้อย่างไรเล่า ศรีทัตกล่าวเช่นนี้แล้วก็ร้องไห้ แลสาบาลต่อหน้าต้นแมงลัก (ตุลสี) แลสิ่งซึ่งเป็นที่นับถือทั้งปวงว่ามิได้ทำผิดเช่นที่ถูกกล่าวหานั้นเลย ถ้าพูดไม่จริงขอให้เสียโค แลสาลี แลทองจนสิ้นไปเถิด คำที่ศรีทัตกล่าวเช่นนี้หามีใครเชื่อไม่

ฝ่ายพ่อค้าผู้เป็นบิดานางชัยศิริ ครั้นเห็นเหตุเกิดแก่ลูกสาวดังนั้นก็รีบไปฟ้องต่อผู้บังคับการตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจก็ใช้คนไปจับศรีทัตส่งไปให้ตุลาการชำระ ตุลาการก็ชำระไต่สวนเสร็จแล้วก็พาตัวโจทก์จำเลยไปยังที่เฝ้าพระราชา เผอิญเป็นเวลาซึ่งพระราชามีพระราชประสงค์จะลงโทษแก่ใครสักคนหนึ่ง ให้เป็นตัวอย่างแก่คนทำผิดซึ่งเผอินมีมากในเวลานั้น

พระราชาทรงทราบเรื่องจึ่งตรัสให้นางชัยศิริทูลให้การตามที่เกิดโดยสัตย์จริง นางก็ชี้ที่จมูกแหว่งแล้วทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา เรื่องสัตย์จริงปรากฏอยู่ในที่ซึ่งควรมีจมูกติดอยู่นี้ พระราชาได้ฟังคำให้การซึ่งทรงเห็นแจ่มแจ้งดังนั้น ก็ตรัสให้จำเลยให้การ จำเลยทูลว่า จมูกนางจะขาดไปด้วยเหตุอันใดข้าพเจ้าไม่ทราบเลย ข้าพเจ้านอนหลับอยู่ ตื่นขึ้นในเวลาเที่ยงคืนก็เห็นนางเป็นอยู่เช่นนี้ พระราชาได้ทรงฟังก็ตรัสว่า ถ้าจำเลยไม่รับเป็นสัตย์จะตัดแขนขวาเสีย ครั้นยังไม่รับก็ตรัสว่าจะตัดแขนซ้ายด้วย ครั้นศรีทัตไม่รับแลทั้งไม่ขอประทานโทษ ก็ทรงพระพิโรธเป็นกำลังตรัสถามศรีทัตว่า คนใจเหี้ยมโหดอย่างเจ้านี้จะทำอย่างไรจึ่งจะสมแก่โทษ

ศรีทัตทูลว่า พระองค์ทรงดำริอย่างไรก็โปรดอย่างนั้นเถิด

พระราชายิ่งทรงกริ้วก็ยิ่งตรัสให้พาศรีทัตไปเสียบไว้ทั้งเป็น ราชบุรุษได้ฟังก็เข้าจับตัวศรีทัตจะพาไปลงโทษตามรับสั่ง

ฝ่ายขะโมยซึ่งทราบเหตุแต่ต้นจนปลายนั้นตามเข้าไปฟังชำระอยู่ด้วย ครั้นได้ยินคำตัดสินลงโทษคนไม่มีความผิด ก็เกิดยุตติธรรมขึ้นในใจ จึ่งวิ่งแหวกคนเข้าไปร้องทูลพระราชาว่า พระมหากษัตริย์จงทรงฟังข้าพเจ้าก่อน พระองค์เป็นพระราชาธิบดี มีหน้าที่ยกย่องคนดีแลลงโทษคนชั่ว อย่าเพ่อประหารชีวิตชายคนนี้ก่อน

พระราชาได้ทรงฟังดังนั้นก็ตรัสให้ขะโมยเล่าเรื่องถวายแต่ตามสัตย์จริง ขะโมยทูลว่า ข้าพเจ้าเป็นขะโมย แลชายคนนี้ไม่มีความผิด พระองค์จะลงโทษคนผิดตัวอยู่แล้ว ขะโมยก็เล่าเรื่องถวายตั้งแต่ต้นจนปลาย เว้นแต่ข้อที่ตนไปแทงชายเสเพลตายนั้นหาได้ทูลไม่

พระราชาได้ทรงฟังตลอดก็ตรัสสั่งราชบุรุษว่า เจ้าจงไปตรวจศพชายซึ่งเป็นที่รักของหญิงนี้ ถ้าพบจมูกหญิงในปากคนตาย คำของขะโมยผู้มาเป็นพยานนี้ก็เป็นความจริง แลชายผู้ผัวนี้ก็เป็นคนไม่มีโทษ

ราชบุรุษได้ฟังรับสั่งดังนั้นก็ไปตรวจศพชายหนุ่มตามรับสั่ง ไม่ช้าได้จมูกนางกลับมาทูลว่า ได้ค้นจมูกพบในปากแห่งศพสมดังคำซึ่งขะโมยทูล พระราชาทรงทราบดังนั้นก็ตรัสให้ศรีทัตพ้นโทษ แลรับสั่งให้เอาดินหม้อประสมน้ำมันทาหน้านางชัยศิริ ทั้งโกนผมแลคิ้วจนเกลี้ยงแล้ว ให้เอาตัวขึ้นขี่ฬาหันหน้าไปข้างหาง ให้จูงฬาเที่ยวประจานรอบพระนครแล้วให้ขับนางไปสู่ป่า เมื่อทรงตัดสินลงโทษดังนี้แล้วก็ประทานหมากพลูแลสิ่งอื่นๆ แก่ศรีทัตแลขะโมย รวมทั้งพระราโชวาทยืดยาวซึ่งคนทั้งสองไม่ต้องการนั้นด้วย

นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า หญิงประกอบขึ้นด้วยคุณชะนิดที่ข้าพเจ้าเล่านิทานเป็นตัวอย่างมานี้ คำโบราณกล่าวว่า ผ้าเปียกย่อมจะดับไฟ อาหารชั่วย่อมจะทำลายกำลัง ลูกชายชั่วย่อมทำลายสกูล แลเพื่อนที่โกรธย่อมจะทำลายชีวิต แต่หญิงนั้นย่อมจะทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่นทั้งในคราวรักแลคราวเกลียด จะทำอะไรๆก็คงจะเป็นไปในทางที่ทำความเดือดร้อนให้แก่เราทั้งนั้น อนึ่งความงามของนกปรอดอยู่ในสำเนียง ความงามของชายขี้ริ้วอยู่ในวิชา ความงามของโยคีอยู่ในความไม่โกรธ ความงามของหญิงอยู่ในสัตย์ แต่หญิงมีความงามจะหาที่ไหนจึ่งจะพบได้เล่า อนึ่งพระนารทเป็นผู้ฉลาดโดยมายาในหมู่ฤษี หมาจิ้งจอกในหมู่สัตว์ กาในหมู่นก ช่างตัดผมในหมู่คน หญิงในโลก

นกแก้วกล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ข้าพเจ้าทูลมานี้เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้ายินด้วยหูรู้ด้วยตามาเอง ในเวลานั้นข้าพเจ้ายังเป็นนกอ่อน แม้กระนั้นยังทำให้ข้าพเจ้ากำหนดใจมาจนบัดนี้ว่า หญิงทั้งหลายเกิดมาสำหรับทำลายความสุขแห่งเราเท่านั้น

เวตาลเล่าต่อไปว่า เมื่อนกขุนทองแลนกแก้วเล่านิทานมาแล้วเช่นนี้ก็เกิดทุ่มเถียงกันเป็นขนานใหญ่ นกขุนทองก็กล่าวติเตียนชายแลยกยอหญิง นกแก้วก็กล่าวยกยอชายแลกล่าวติเตียนหญิงอย่างร้ายแรงจนนางจันทราวดี พระมเหษีทรงพิโรธนกแก้วตรัสว่า ผู้ที่ดูหมิ่นหญิงมีแต่พวกที่สมาคมกับพวกต่ำช้าหาความเที่ยงธรรมในใจมิได้ อนึ่งนกจุรามันควรลอายคำตนเองที่กล่าวติเตียนหญิง เพราะแม่ของนกจุรามันก็เป็นนกตัวเมียเหมือนกัน

ฝ่ายพระราชารามเสน เมื่อได้ยินนกขุนทองก็กริ้ว แลตรัสสำแดงพิโรธ จนนกขุนทองเกาะคอนร้องไห้ประกาศว่าชีวิตไม่พึงสงวนเสียแล้ว เวตาลกล่าวต่อไปว่า พูดสั้นๆเจ้าสององค์แลนกสองตัวก็ทุ่มเถียงคัดค้านขัดคอกัน หญิงจะชั่วกว่าชายหรือชายจะชั่วกว่าหญิงก็ไม่ตกลงกันได้ ถ้าหากพระองค์เสด็จอยู่ในที่นั้นด้วย ปัญหาก็คงจะได้รับคำตัดสินที่ถูกต้อง เพราะพระองค์ทรงปัญญารอบรู้อาจชี้แจงข้อความชะนิดนี้ให้แจ่มแจ้งได้ อันที่จริงตามเรื่องที่ข้าพเจ้าเล่าถวายเป็นปัญหาเช่นนี้ พระองค์คงจะได้ทรงดำริแน่นอนในพระหฤทัยแล้วว่า ใครจะชั่วกว่าใคร ข้าพเจ้าเองตรึกตรองในใจมาช้านานก็ยังไม่ทราบได้แน่นอนจนบัดนี้

พระวิกรมาทิตย์ตรัสตอบว่า หญิงย่อมจะชั่วกว่าชายอยู่เอง ชายนั้นถึงจะชั่วปานใด ก็ยังรู้ผิดรู้ถูกอยู่บ้าง หญิงนั้นไม่รู้เสียเลยทีเดียว

เวตาลหัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วตอบว่า “พระองค์ทรงเห็นเช่นนั้นเพราะเป็นชายดอกกระมัง ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้ฟังดำริแห่งพระองค์ เพราะพระดำรินั้นเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าจะได้กลับไปอยู่ต้นอโศกเดี๋ยวนี้” เวตาลพูดเท่านั้นแล้วก็ลอยออกจากย่ามหัวเราะก้องฟ้ากลับไปห้อยหัวอยู่ยังต้นอโศกตามเดิม

จบนิทานเวตาล เรื่องที่ ๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ