นิทานเวตาลเรื่องที่ ๓

พระวิกรมาทิตย์ครั้นเวตาลหลุดลอยไปแล้ว ได้สติก็เสด็จหันกลับพาพระราชบุตรทรงดำเนิรกลับไปยังต้นอโศก ครั้นถึงก็เสด็จปีนขึ้นไปปลดเวตาลลงมาใส่ลงในย่ามอย่างเก่า เสด็จออกทรงดำเนินไปได้หน่อยหนึ่ง เวตาลก็เล่าเรื่องซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งดังนี้

ในกาลก่อนมีเมืองงามชื่อโศภาวดี พระราชาทรงนามรูปเสน มีข้าใช้ใกล้ชิดชื่อสุรเสน เป็นผู้มีกำลังและปัญญาว่องไวชำนาญในการรบยิ่งนัก สุรเสนคนนี้แต่เดิมก็เป็นทหารธรรมดา แต่ด้วยความกล้าและความฉลาดปฏิบัติการในหน้าที่หาผู้เสมอมิได้ จึ่งได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปโดยลำดับ ในที่สุดเป็นแม่ทัพในกรุงโศภาวดี บ้านใกล้เมืองเคียงพากันกล่าวเลื่องชื่อลือฤทธิ์ทั่วไป

ฝ่ายสุรเสนเมื่อได้รับตำแหน่งแม่ทัพแล้วก็มิได้เว้นว่างการงานในหน้าที่เหมือนอย่างข้าราชการบางจำพวก ซึ่งเมื่อพระราชาทรงแต่งตั้งให้เป็นใหญ่แล้ว ก็ละเว้นราชการ เพื่อจะได้มีเวลาทำพลีกรรมสนองคุณเทพดาที่บันดาลให้ตนได้เป็นใหญ่ สุรเสนเห็นว่าการบันดาลให้ตนเป็นใหญ่นั้น ถ้าจะจำแนกออกเป็นหุ้น พระราชาคงจะถือหุ้นมากกว่าผู้อื่น และการทำพลีกรรมถวายพระราชา ก็คือการปฏิบัติราชการที่ทรงมอบหมายให้เป็นไปดังพระราชประสงค์ ส่วนเทพดานั้นหากจะมีหุ้นอยู่บ้างก็เปรียบเหมือนหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่การบวงสรวงอาจมีได้บ้างในเวลาที่ว่างราชการ

กล่าวการปฏิบัติหน้าที่ สุรเสนเป็นผู้กล้าใช้ความเห็นของตน และแบบฉะบับการสงครามซึ่งบัณฑิตและพราหมณ์ผู้มิได้เป็นนักรบบังอาจแต่งขึ้นไว้เป็นตำราใช้สืบกันมาแต่โบราณนั้น สุรเสนแม่ทัพนำมาใช้เป็นหลักแต่ที่เห็นใช้ได้ และใช้ความคิดและความชำนาญของตนเป็นบรรทัดทางเดิน รู้จักเลือกที่รบ รู้จักใช้ทหาร รู้จักรักษาลำเลียงของตนในขณะที่ตัดลำเลียงข้าศึก เมื่อเห็นธนูที่ทหารใช้อยู่นั้นใช้ได้ไม่ว่องไว ก็คิดเปลี่ยนเสียใหม่ก่อนที่ต้องเปลี่ยนเพราะแพ้ เมื่อเห็นด้ามดาบจับไม่ถนัด แม้ด้ามจะได้เคยใช้กันมาแล้วตั้งพันปี และคนทั้งหลายคิดว่าเป็นด้ามดีที่สุดเพราะอายุ สุรเสนแม่ทัพก็กล้าเปลี่ยนเสียใหม่ ไม่เกรงพวกไม่ใช่นักรบคือบัณฑิตและพราหมณ์จะติเตียนว่าไม่ถูกต้องตามคัมภีร์ศาสตร์ อนึ่ง สุรเสนได้จัดทหารถือศรไฟขึ้นหมู่หนึ่ง ซึ่งเมื่อใช้ต่อสู้ทัพช้างของข้าศึกก็มีชัยรอบข้าง แม้พระอังคารก์ผู้เป็นเจ้าแห่งการรบก็ต้องชมว่าดี

วันหนึ่งสุรเสนแม่ทัพนั่งว่าราชการอยู่หน้าจวน มีทนายเข้าไปบอกว่ามีชายถืออาวุธคนหนึ่งจะมาขอเข้ารับราชการ แม่ทัพได้ทราบจึ่งให้พาตัวเข้าไปซักถามตามธรรมเนียม ชายผู้นั้นแสดงตัวว่าชื่อวีรพล เป็นคนชำนาญอาวุธมีชื่อเสียงว่ากล้าและซื่อสัตย์ปรากฏไปในภารตวรรษ (คืออินเดีย)

สุรเสนแม่ทัพเคยได้ยินคนชมตัวเองดังนี้นับครั้งไม่ถ้วน มิได้เชื่อคำที่กล่าว แต่อยากจะแสดงให้ชายถืออาวุธนั้นรู้ตัวละอายแก่ใจว่าตนไม่รู้จักใช้อาวุธเลย จึ่งบอกว่าให้ชักดาบออกสำแดงความสามารถให้ปรากฏเถิด

ฝ่ายวีรพลได้ยินดังนั้นก็นึกรู้ในใจแม่ทัพ แต่มิได้หวาดหวั่น เอามือขวาชักดาบออกแกว่งเหนือศีร์ษะ เหมือนจักรยนต์ซึ่งหมุน ๑,๒๐๐ รอบต่อนาฑี มือซ้ายยื่นเหยียดออกไป มือขวาหวดด้วยดาบเต็มกำลัง ตัดเล็บนิ้วก้อยแห่งมือซ้ายขาดตกอยู่กับพื้น การตัดเล็บให้ขาดไปด้วยดาบซึ่งฟาดเต็มแรงนั้น ถ้านิ้วพลอยติดไปด้วย ก็นับว่าง่าย และนับว่าตัดเล็บสำเร็จเหมือนกัน ถ้าตัดไปทั้งมือยิ่งง่ายหนักเข้า และการตัดเล็บก็เป็นอันได้ตัด แต่วีรพลตัดเล็บครั้งนั้น มิได้ถูกนิ้วและเนื้อเป็นเหตุให้เลือดตกแม้แต่หยดหนึ่งเลย

สุรเสนแม่ทัพเห็นดังนั้นก็ชอบใจ จึ่งสนทนากับวีรพลถึงวิธียุทธ วีรพลชี้แจงแสดงความเห็นมีหลักฐานมั่นคง ปรากฏว่ามิใช่แต่รอบรู้ตำราซึ่งบัณฑิตแลพราหมณ์ผู้ไม่เคยรบแต่งไว้เป็นแบบฉะบับการรบ ถึงแม้ข้อบกพร่องในตำราโบราณเหล่านั้นก็รู้ด้วย เมื่อเป็นดังนั้นสุรเสนแม่ทัพก็เห็นได้ว่า วีรพลมิใช่คนสามัญเลย จึ่งพาเข้าเฝ้าท้าวรูปเสนทูลให้ทราบทุกประการ

ท้าวรูปเสนเป็นพระราชาที่คิดมากตรัสน้อย ครั้นได้ยินแม่ทัพทูลตลอดแล้ว ก็ตรัสถามวีรพลว่า “ข้าควรให้เบี้ยเลี้ยงแก่เจ้าวันละเท่าไหร่”

วีรพลทูลว่า “ถ้าประทานเบี้ยเลี้ยงแก่ข้าพเจ้าเป็นทองคำวันละ ๑,๐๐๐ ทีนาระ จึ่งจะพอเป็นค่าใช้สอยของข้าพเจ้า”

ท้าวรูปเสนตรัสถามว่า “เจ้ามีทหารมาด้วยกี่กองทัพจึ่งต้องใช้ทองคำมากถึงวันละเท่านั้น”

วีรพลทูลว่า ข้าพเจ้าไม่มีกองทัพมาด้วย มีแต่ครอบครัวของข้าพเจ้า ซึ่งมีจำนวนคือ ที่หนึ่งตัวข้าพเจ้า ที่สองภริยาข้าพเจ้าคนหนึ่ง ที่สามบุตรชายคนหนึ่ง ที่สี่บุตรหญิงคนหนึ่ง ที่ห้าไม่มี”

คนทั้งหลายที่อยู่ในที่เฝ้าได้ยินดังนั้นต่างคนก็ยิ้มและหัวเราะ พระราชาทรงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตรัสให้วีรพลออกไปจากที่เฝ้า

เวตาลกล่าวแก่พระวิกรมาทิตย์ต่อไปว่า พระองค์คงได้ทรงสังเกตแล้วว่าในหมู่มนุษย์พวกพระองค์นั้น คนมากมักจะเชื่อราคาคนๆเดียวตามประมาณที่คนนั้นกำหนด ถ้าใครตั้งราคาตนเองสูง คนอื่นๆคงจะพูดกันว่า ‘คนนี้คงจะมีคุณวิเศษอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งยังไม่ปรากฏแก่เราเพราะเราเป็นผู้ไม่มีความรู้’ ดังนี้ถ้าพระองค์ทรงบอกแก่คนทั้งหลายว่าพระองค์มีความกล้า มีความฉลาด พระหฤทัยดี และแม้จะตรัสว่าพระองค์รูปงาม ไม่ช้าก็จะมีผู้เชื่อว่าจริง และเมื่อมีคนเชื่อเสียแล้ว พระองค์จะกลับทำอย่างไรให้ปวงชนทราบได้ว่า พระองค์ไม่กล้า ไม่ฉลาด ไม่มีพระหฤทัยดี และไม่ทรงรูปงามนั้น จะทรงทำได้ด้วยยากที่สุด อนึ่ง.........”

พระราชาเหลียวไปตรัสแก่พระราชบุตรว่า “อย่าฟังมัน อย่าฟังมัน (แล้วตรัสแก่เวตาล) นี่แน่ะ เจ้าตัวช่างพูด ถ้าคนพากันนับถือธรรมเลอะเทอะอย่างที่เจ้าว่านี้ไปด้วยกันหมด ความสงบเสงี่ยม ความปราศจากโอ่อวด ปราศจากความเห็นแก่ตัวถ่ายเดียว และคุณความดีอื่นๆ อีกมากมาย จะมิศูนย์สิ้นไปหรือ”

เวตาลตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบ และไม่ใส่ใจที่จะให้คุณเหล่านั้นคงมีไปในโลก แต่ข้าพเจ้าอาจกล่าวได้ว่า ข้าพเจ้าได้เคยสิงทรากศพมนุษย์มาช้านาน ได้เปลี่ยนจากศพนี้ไปอยู่ศพโน้นบ่อยๆจนได้ความรู้สำคัญข้อหนึ่ง คือผู้มีปัญญาย่อมจะรู้จักตนเองไม่ขุ่นข้องในใจเกินไปในเวลาที่ตกอับ หรือรื่นรมย์เกินไปในเวลาที่ชาตาขึ้น เพราะรู้ว่าตัวไม่ได้ประดิษฐ์ตัวขึ้นเองยิ่งกว่าได้ประดิษฐ์เสื้อผ้าที่ไปจ้างเขาทำมาให้ ส่วนคนโง่นั้น เมื่อเอาไปเทียบกับคนโง่กว่าก็ยินดีเบิกบานจนเกินเหตุ หรือเมื่อเทียบตัวเองกับคนที่โง่หย่อนกว่า ก็กระดากเดือดร้อนในใจ เพราะรู้ว่าเขาโง่น้อยกว่าตัว ความกระดากนี้เรียกว่าความปราศจากโอ่อวด ความสงบเสงี่ยม หรือจะเรียกว่าว่ากระไรอีกก็ยังจะได้ ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น เมื่อได้เข้าสิงทรากศพ ไม่ว่าจะเป็นศพชาย ศพหญิงหรือศพเด็ก ข้าพเจ้าคงจะรู้สึกว่าข้าพเจ้าควรถ่อมตัวเป็นอันยิ่ง เพราะรู้ว่าเหย้าที่อาศัยของข้าพเจ้านั้นเป็นที่สำนักของสัตวชาติที่จองหองที่สุด แลเจ้าของเดิมพึ่งทิ้งเหย้าไปยังไม่ทันช้าเลย อนึ่ง......”

พระราชาทรงพิโรธรับสั่งว่า “เองอยากจะให้ข้าเอาตัวเองฟาดลงกับพื้นดินหรือ” เวตาลบ่นอุบอิบ เป็นทำนองว่าการแสดงปัญญาให้คนโง่ฟังไม่มีประโยชน์ แล้วเล่านิทานต่อไปว่า

ท้าวรูปเสนได้ทรงฟังคำวีรพลทูลดังนั้น ก็ทรงนิ่งตรึกตรองตั้งปัญหาถามพระองค์เองว่า เหตุใดชายคนนี้จึ่งตีราคาความรับใช้ของตนแพงเช่นที่กล่าว แล้วทรงพระดำริว่าการที่ตีราคาสูงเช่นนี้ คงจะเป็นด้วยมีคุณความดีอย่างเอก ซึ่งอาจจะเห็นได้ภายหลัง เมื่อทรงนึกดังนั้นแล้วก็นึกต่อไปว่า ถ้าประทานค่าจ้างมากมายตามที่วีรพลทูลไซร้ ความมีใจใหญ่ของพระองค์คงจะให้ผลเป็นประโยชน์แก่พระองค์ในวันหน้า เมื่อทรงตรึกตรองเห็นเช่นนี้ จึ่งรับสั่งเรียกวีรพลเข้าไปหน้าที่นั่งแล้วรับสั่งเรียกชาวคลังมาสั่งว่า จงจ่ายทองคำให้แก่วีรพลวันละ ๑,๐๐๐ ทีนาระ แล้วตรัสให้วีรพลอยู่รับราชการต่อไป

ฝ่ายวีรพลนั้นมีคำเล่ากันว่า เมื่อได้รับพระราชทานสินจ้างมากถึงเพียงนั้น ก็ได้ใช้ทรัพย์ของตนในทางที่ดีที่สุด ในเวลาเช้าทุกวันได้เอาทรัพย์ที่ได้มาในวันก่อนมาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้แก่พราหมณ์และปโรหิต ส่วนที่เหลือนั้นแบ่งออกอีกเป็นสองภาค ภาคหนึ่งแจกแก่ไวราคี คือคนขอทานซึ่งประกาศตัวว่านับถือพระวิษณุเป็นเจ้า แลสันยาสี (ผู้นับถือพระศิวะเป็นเจ้า) ซึ่งเป็นผู้มีกายอันชะโลมด้วยเถ้าถ่าน และปกปิดกายด้วยท่อนผ้า ซึ่งจะมิดชิดก็ไม่มิดได้ และพากันยื่นศีร์ษะซึ่งมุ่นเหมือนเชือกแน่นกันเข้าไปรับแจกที่ประตู ส่วนทรัพย์ที่ยังเหลืออยู่จากที่แจกแล้วนั้น วีรพลให้มีผู้จัดประกอบอาหารอันมีรส แลเมื่อได้เลี้ยงคนขัดสนอาหารทั้งหลายจนอิ่มหนำสำราญทั่วกันแล้ว วีรพลและบุตรภริยาจึ่งกินแล้วแต่จะมีเหลือ การจำหน่ายทรัพย์ทุกๆ วันเช่นนี้มีคำกล่าวสืบกันมาว่าเป็นวิธีที่ดีนัก แต่พวกที่กล่าวว่าดีนั้น พราหมณ์และปโรหิตคงจะเป็นผู้กล่าวนำหน้า ไวราคีแลสันยาสีเป็นพวกที่รองลงมา แลพวกยาจกที่ได้รับเลี้ยงทุกๆวันก็คงจะกล่าวชมวิธีจำหน่ายทรัพย์ชะนิดนั้นด้วย ชนพวกอื่นๆ ที่พลอยชมว่าดีไปด้วยก็จะมีบ้างดอกกระมัง แต่ที่จะเป็นวิธีดีจริงหรือไม่นั้นเป็นข้อที่น่าพิศวง

ในเวลาค่ำคืนวีรพลถืออาวุธเข้าไปยืนเฝ้าอยู่ใกล้แท่นที่บรรทมทุกคืน เมื่อใดพระราชาตื่นบรรทมขึ้น ตรัสถามว่าใครอยู่ที่นั่น วีรพลก็ทูลตอบทันทีว่า “ข้าพเจ้าวีรพลอยู่นี่ ถ้ามีโองการตรัสสั่งประการใด ข้าพเจ้าพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติตามราชประสงค์”

ท้าวรูปเสนตื่นบรรทมขึ้นและตรัสถามครั้งใด ก็ทรงได้ยินวีรพลทูลตอบเช่นนั้นเสมอจนแทบจะเบื่อ บางคราวถึงทรงอยากให้มีเหตุอันใดที่จะได้ทรงใช้วีรพลให้เห็นความสามารถ บางคืนท้าวรูปเสนมีรับสั่งให้ทำอะไรที่แปลกที่สุดเพื่อทดลองใจ เพราะคำโบราณย่อมกล่าวว่า จะลองใจข้าให้ใช้ ทั้งในทางที่ควรแก่เวลาและไม่ควรแก่เวลา ถ้าทำตามโดยเต็มใจ จงทราบว่าเป็นข้าที่ดี ถ้าโต้ตอบ จงไล่เสียโดยเร็ว การทดลองใจข้าด้วยประการที่กล่าวนี้ คงจะได้รู้จริงเสมอกับการทดลองใจเมียด้วยความยากจนของผัว หรือทดลองญาติและเพื่อนด้วยขอให้ช่วยธุระ

โดยอาการที่กล่าวมานี้ วีรพลอยู่ยามรักษาพระราชาคืนยังรุ่งๆ และที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อสินจ้างที่ได้พระราชทาน แลนอกจากเวลาอยู่ยามนั้น จะดื่มและกินก็ดี นั่งนอนเดินยืนก็ดี จะได้ลืมหน้าที่เป็นผู้เฝ้ารักษาพระราชานั้นหามิได้ การที่ทำเช่นนั้นก็ชอบด้วยธรรมเนียม เพราะถ้าชายคนหนึ่งขายชายอีกคนหนึ่ง ชายคนที่สองเป็นผู้ถูกขาย แต่ถ้าข้าเข้ารับใช้นาย ก็คือข้าขายตัวเอง แลเมื่อชายใดเป็นข้าต้องอาศัยผู้อื่นแล้ว ความสุขจะมีกระไรได้ ธรรมดาคนจะมีปัญญาฉลาดเฉลียวแลมีความรู้ปานใดก็ตาม ถ้ามีนายและอยู่ต่อหน้านาย ก็ย่อมจะนิ่งเหมือนคนใบ้ และมีความสะทกสท้านอยู่เป็นปกติ ต่อเมื่ออยู่พ้นหน้านายไปจึ่งจะค่อยผ่อนกายได้บ้าง เหตุดังนั้นปราชญ์ผู้มีปัญญาย่อมกล่าวว่า การรับใช้ให้ถูกต้องทุกประการนั้นยากยิ่งกว่าฝึกฝนความรู้ในทางธรรม

คืนวันหนึ่งพระราชาตื่นบรรทมขึ้น ได้ยินเสียงหญิงโหยไห้คร่ำครวญอยู่ในป่าช้าที่ใกล้พระราชวัง พระราชาตรัสถามว่าใครอยู่ยาม วีรพลทูลตอบตามเคย จึงรับสั่งว่า “เจ้าจงไปดูว่ามีหญิงมาร้องไห้คร่ำครวญอยู่ทำไม เมื่อได้ความแล้วจงรีบกลับมาโดยเร็ว”

วีรพลได้ฟังรับสั่งดังนั้นก็รีบไปทำตาม ฝ่ายพระราชาครั้นวีรพลไปแล้ว ก็ทรงเครื่องดำคลุมพระองค์ลอบตามวีรพลไป เพื่อจะทอดพระเนตรความกล้าของชายผู้นั้น

อีกครู่หนึ่งวีรพลไปถึงป่าช้าได้เห็นหญิงงามผู้หนึ่งฉวีเหลืองอ่อน ประดับกายด้วยเพ็ชร์พลอยตั้งแต่ศีร์ษะถึงเท้า มือหนึ่งถือเขา มือหนึ่งถือสร้อยคอ ประเดี๋ยวก็ย่างเท้าเต้นไปมา ประเดี๋ยวก็โดด ประเดี๋ยวก็วิ่งไปรอบๆ ประเดี๋ยวก็ทอดตัวลงฟาดบนดิน เอามือตีศีร์ษะตนเองร้องไห้คร่ำครวญ แต่จะหาน้ำตามิได้ วีรพลเห็นดังนั้นไม่ทราบว่านางคือนางฟ้าผู้เกิดจากกเษียรสมุทร และเป็นที่รักของชาวฟ้าทั่วไป จึ่งถามว่า “นางคือใคร มาตีตัวร้องไห้คร่ำครวญเช่นนี้เพราะทุกข์อันใด”

นางตอบว่า “ข้าคือราชลักษมี”

วีรพลถามว่าเหตุใดนางจึ่งโศกฉะนี้เล่า นางจึ่งเล่าความชี้แจงให้วีรพลฟังว่า ในพระราชวังแห่งพระราชานั้น มีผู้กระทำการลามกอย่างซึ่งกระทำกันเป็นปกติในหมู่ชนซึ่งเป็นศูทร์มีวรรณะต่ำ เหตุฉะนั้นความเสื่อมจะมีมาสู่พระราชฐาน อันเป็นที่ซึ่งนางเคยอยู่มา แลจะต้องละทิ้งไปในบัดนี้ อีกประมาณเดือนหนึ่งพระราชาจะประชวรหนักถึงสิ้นพระชนม์ นางมีความเสียใจจึ่งร้องไห้ นางอยู่มาในพระราชสำนัก ได้นำความสุขมาให้มาก เหตุดังนั้นจึ่งเสียใจหนัก ที่ทราบว่าคำทำนายของนางจะไม่เป็นไปจริงมิได้เลย

วีรพลถามว่า “ภัยที่นางกล่าวนี้ จะหาทางป้องกันเพื่อรักษาชีวิตพระราชาไว้ให้ยั่งยืนร้อยปีไม่ได้หรือ”

นางตอบว่า “ทางป้องกันมีอยู่ที่อาจทำได้ คือทางตั้งแต่นี้ไปทางตะวันออกไกลประมาณ ๔ โกรศ มีศาลพระเทวีศาลหนึ่ง ถ้าท่านตัดศีร์ษะบุตรของท่านด้วยมือท่านเอง นำถวายเป็นเครื่องบูชาพระเทวี พระราชาจะทรงพระชนมายุยืนยาวไปชั่วกาลนาน จะมีภัยอันใดมาพ้องพานนั้นหาไม่” นางราชลักษมีกล่าวเช่นนั้นแล้วก็อันตรธานหายไป

ฝ่ายวีรพลเมื่อได้รับความรู้เช่นนี้แล้ว ก็มิได้กล่าวประการใด หันกลับรีบเดินไปสู่บ้านแห่งตน พระราชาก็ทรงพระดำเนินลอบตามไปมิให้วีรพลรู้ตัว ได้ทอดพระเนตรกิริยาและทรงฟังคำพูดทราบแจ้งในพระหฤทัยทุกประการ

ฝ่ายวีรพลเมื่อออกจากป่าช้าแล้ว ก็รีบเดินไปปลุกภริยาขึ้นเล่าความให้ฟังทุกประการ

กล่าวความประพฤติระหว่างสามีกับภริยา ปราชญ์ผู้เป็นกวีโบราณแสดงไว้ว่า

๏ นางใดฟังสามี เชื่อถือดีด้วยวาจา
อีกทั้งกิริยา โอนอ่อนรับเพราะนับถือ
๏ นางนั้นได้ชื่อว่า ภริยาที่ดีคือ
เกียรติเฟื่องเลื่องบรรลือ ได้ชื่อว่าชายาจริง ฯ

ดังนี้เมื่อนางได้ฟังถ้อยคำสามีแล้วก็รีบปลุกบุตรชายขึ้น ฝ่ายบุตรหญิงเมื่อได้ยินมารดาปลุกพี่ชายก็พลอยตื่นขึ้นด้วย วีรพลก็พาภริยาและบุตรเดินไปสู่ศาลพระเทวี เมื่อเดินไปตามทางวีรพลกล่าวแก่ภริยาว่า “ถ้าเจ้ายินยอมให้ลูกชายของเจ้าโดยเต็มใจ ข้าผู้เป็นสามีจะทำลายชีวิตเด็กนั้นถวายเป็นเครื่องบูชาพระเทวี เพื่อความยืนพระชนม์แห่งพระราชาผู้เป็นเจ้าของเรา”

นางตอบว่า “พ่อแลแม่ บุตรและธิดาพี่น้องและวงศ์ญาติทั้งปวง ในเวลานี้นับว่าข้าพเจ้าไม่มีเสียแล้ว ข้าพเจ้ามีท่านผู้เดียวเป็นผู้แทนพ่อแม่ลูกและพี่น้อง คัมภีร์ศาสตร์ย่อมกล่าวว่า ภริยานั้นจะบริสุทธิ์ด้วยทำทานแก่นักบวช หรือด้วยกระทำการบูชายัญก็หาไม่ นางใดปฏิบัติสามีด้วยดี นางนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ครองธรรม แม้สามีจะเป็นผู้ง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นผู้เสียมือหรือใบ้ หูหนวก ตาบอด ตาเดียว เป็นกุดถังหรือหลังค่อม ภริยาก็จำต้องปฏิบัติด้วยดีทั้งนั้น คำโบราณกล่าวความจริงไว้ว่า

๏ ใครมีบุตรว่าง่ายกายปราศจากไข้

มีหทัยเสาะหาวิชาขลัง

ทั้งมีเพื่อนฉลาดเฉลียวช่วยเหนี่ยวรั้ง

มีเมียฟังถ้อยคำประจำใจ

ผู้นั้นดีมีบุญอาจจุนค้ำ

โลกให้จำเริญสุขปลดทุกข์ได้

ชนทั้งหลายคลายร้อนหย่อนแยงภัย

เพราะเขาให้ความสุขปราศจากทุกข์เจียว ฯ

๏ อนึ่งบ่าวเกียจคร้านการรับใช้

พระราชาเป็นใหญ่ใจขี้เหนียว

อีกเพื่อนใจไม่จริงพิงข้างเดียว

เมียเด็ดเดี่ยวไม่ฟังคำบังคับ

ทั้งสี่นี้ปลดสุขพาทุกข์สู่

เหมือนศัตรูเข้ามาเวลาหลับ

จักป้องกันฉันใดไม่ระงับ

เหลือจักรับจักรบจักหลบลี้ ฯ

นางกล่าวแก่สามีดังนี้แล้วก็หันไปกล่าวแก่บุตรว่า “ลูกเอย ถ้าเรายอมสละหัวของเจ้าเป็นเครื่องบูชาพระเทวี ชีวิตแห่งพระราชาจะรอดได้ และบ้านเมืองจะดำรงสุขสืบไป”

ลูกชายได้ฟังแม่กล่าวดังนั้น แม้ยังอ่อนอายุยังกล่าวตอบดังซึ่งเราท่านไม่น่าจะเชื่อว่าเด็กพูดได้ แต่พึงรำลึกว่าในสมัยโน้น แม้แต่นกแก้วนกขุนทองยังพูดสํสกฤตได้คล่อง ดีกว่าท่านและข้าพเจ้าเหลือจะพรรณนา เด็กคนนั้นเป็นคนแล้วมิหนำ ซ้ำกล่าวกันว่าเป็นเด็กฉลาดนักด้วย เหตุดังนั้นการที่พูดเพียงเท่านี้ไม่ประหลาดอะไร ถ้าประหลาดก็ประหลาดด้วยพูดน้อยไปเสียอีก

บุตรชายกล่าวว่า “ข้าแต่นางผู้เป็นมารดา ข้าพเจ้าเห็นว่าเราจะรีบเร่งให้การอันนี้เป็นไปโดยเร็ว เพราะเหตุว่า ประการที่ ๑ ข้าพเจ้าผู้บุตรจำต้องเชื่อฟังคำสั่งของมารดา ประการที่ ๒ ข้าพเจ้าจำต้องยังความจำเริญให้มีแก่พระราชาผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ประการที่ ๓ ถ้าชีวิตและร่างกายของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์แก่พระเทวี ก็ไม่มีทางใดที่ข้าพเจ้าจะใช้ชีวิตและร่างกายของข้าพเจ้าให้ดียิ่งไปได้”

เวตาลเล่ามาเพียงนี้ จึ่งกล่าวแก่พระราชาวิกรมาทิตย์ว่า พระองค์จงประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าที่ได้นำเอาคำพูดของคนเหล่านั้นมากล่าวยืดยาว เด็กเล็กๆซึ่งกำลังจะถูกเชือดคอนั้น พูดจาราวกับอาจารย์ธรรมศาสตร์ ฟังอยู่ข้างจะแปลกสักหน่อย

เวตาลเล่าเรื่องต่อไปว่า เมื่อเด็กได้กล่าวแก่มารดาแล้วก็เหลียวไปกล่าวแก่บิดาว่า “ข้าแต่ท่านผู้บิดา ผู้ใดได้กระทำการเป็นคุณประโยชน์แก่นายของตน ชีวิตของผู้นั้นนับว่าไม่เปลืองไปเปล่า และเพราะเหตุที่ได้ใช้ชีวิตในทางที่เกิดประโยชน์ ผู้นั้นคงจะได้รับรางวัลในโลกหน้าๆต่อไป”

ฝ่ายบุตรหญิง เมื่อได้ยินบิดามารดาและพี่ชายพูดกันมาเพียงนี้ ก็กล่าวสอดขึ้นบ้างว่า “ ถ้ามารดาวางยาพิษให้ลูกหญิงกลืน ถ้าบิดาขายบุตรชายของตน ถ้าพระราชายึดถือเอาหลักทรัพย์สมบัติทั้งปวงของประชาราษฎร์ไปเป็นประโยชน์แก่พระองค์เอง ดังนี้ใครจะได้อะไรเป็นที่พึ่งพำนักเล่า” บุตรหญิงพูดดังนี้ไม่มีใครฟัง คนทั้งสี่ก็พากันเดินไปจนถึงศาลพระเทวี พระราชาก็เสด็จด้อมตามไปจนตลอดทาง

อีกครู่หนึ่งไปถึงศาลพระเทวี เป็นเรือนห้องเดียวมีชลารอบ ข้างหน้ามีเรือนหลังใหญ่ซึ่งคนอาจเข้าไปนั่งได้หลายร้อยคน หน้าเทวรูปนองไปด้วยเลือดอันไหลจากสัตว์มีชีวิต ซึ่งมีผู้ได้มาฆ่าเพื่อการบูชาในศาลนี้ เทวรูปนั้นดำใหญ่มีกร ๑๐ กร หัตถ์ขวาหัตถ์หนึ่งถือหอกแทงอสูรชื่อมหิษ หัตถ์ซ้ายหัตถ์หนึ่งถือหางงูและผมแห่งมหิษ และงูนั้นกัดหน้าอกอสูร กรอื่นๆ ถืออาวุธต่างๆ เงื้อง่าอยู่เหนือพระเศียร และที่ข้างบาทนั้นมีสิงห์ยืนพิงอยู่ตัวหนึ่ง

ฝ่ายวีรพลเมื่อไปถึงศาลก็พนมมือนมัสการและกล่าวคำวิงวอนพระเทวีว่า “ข้าแต่พระเทวีเป็นเจ้า ข้าพเจ้าจะประหารชีวิตบุตรชายถวายเป็นเครื่องบูชาพระองค์ ขอพระองค์จงอำนวยให้พระราชาทรงชนมายุยืนยาวไปจวบพันปีเถิด โอ้พระมารดา พระองค์จงทำลายศัตรูของพระราชาเสียเถิด จงทรงฆ่าและทำให้ศัตรูเหล่านั้นเป็นเถ้าถ่านไปให้สิ้น หรือไล่ไปเสียให้สิ้น พระองค์จงตัดมันทั้งหลายให้เป็นท่อนและเสวยเลือดมัน พระองค์จงล้างและทำลายมันเสียด้วยวัชร ด้วยโตมร ด้วยขรรค์ ด้วยจักร ด้วยบาศ อันเป็นอาวุธของพระองค์”

วีรพลกล่าวดังนั้นแล้วก็บอกให้บุตรชายคุกเข่าลงตรงหน้าเทวรูปแล้วฟันด้วยดาบถูกคอขาด หัวกระเด็นไปกลิ้งอยู่บนพื้นชลา แล้วโยนดาบขว้างไปไกลตัว ฝ่ายบุตรหญิงเมื่อเห็นพี่ชายคอขาดกระเด็นไปดังนั้น ก็วิ่งเข้าไปฉวยเอาดาบเชือดคอตนเองสิ้นชีวิตลงไปอีกคนหนึ่ง นางผู้เป็นมารดาเห็นบุตรชายและหญิงสิ้นชีวิตลงไปดังนั้น เหลือที่จะสกดใจได้ ก็วิ่งไปหยิบดาบฟันคอตนเองตายลงไปอีกเป็น ๓ ศพด้วยกัน ฝ่ายวีรพลเมื่อเห็นดังนั้นจึ่งกล่าวแก่ตนว่า “ลูกเราก็ตายหมดแล้ว กูจะอยู่รับใช้พระราชาไปทำไมเล่า เมื่อได้ทองคำเป็นรางวัลจากพระราชา กูก็ไม่มีลูกจะรับช่วงต่อไปอีกแล้ว” คิดดังนี้วีรพลก็เอาดาบฟันคอตนเองล้มลงขาดใจตาย

ฝ่ายท้าวรูปเสนพระราชาทรงแอบดู ทอดพระเนตรเห็นหัว ๔ หัวขาดจากตัว ๔ ตัว กลิ้งอยู่หน้าศาลดังนั้น ก็สลดพระหฤทัยทรงคำนึงว่า “พ่อแม่และลูกทั้ง ๔ นี้ได้สละชีวิตไปแล้วเพื่อประโยชน์แก่เรา โลกนี้กว้างใหญ่ก็จริง แต่จะหาคนที่ซื่อสัตย์กล้าหาญถึงเพียงนี้หาไม่ได้ ใครบ้างจะสละชีวิตถึงเช่นนี้เพื่อสนองคุณพระราชา แต่มิได้บอกกล่าวโอ้อวดให้ใครทราบเลย อำนาจและความเป็นพระราชาของเรานี้ ถ้าจะยั่งยืนอยู่ได้ด้วยต้องทำลายชีวิตคนถึงปานนี้ ก็สิ้นความสำราญและเป็นบาป มิได้ผิดอะไรกับถูกแช่ง เราจะคงครองราชัยไปก็หายุตติธรรมมิได้”

พระราชาทรงดำริเช่นนี้แล้ว ก็ทรงหยิบดาบขึ้นจะประหารชีวิตพระองค์เอง แต่เทวรูปพระเทวีทรงยึดพระหัตถ์ไว้ รับสั่งห้ามมิให้พระราชาประหารพระองค์เอง และให้ทรงขอพรแล้วแต่ประสงค์

ฝ่ายท้าวรูปเสนเมื่อพระเทวีตรัสให้ขอพรดังนั้น ก็ทูลขอให้ประทานคืนชีวิตวีรพลและบุตรภริยา ในพริบตาเดียวพระเทวีทรงได้น้ำอมฤตจากบาดาล ทรงพรมศพทั้งสี่ ศพนั้นหัวกับตัวก็กลับมาติดกันคืนชีวิตขึ้นมาทั้งสี่คน ท้าวรูปเสนก็ตรัสให้คนทั้งสี่เดินตามเสด็จกลับพระราชวัง อยู่มาไม่ช้าท้าวรูปเสนก็แบ่งราชสมบัติประทานให้วีรพลครอบครองตามสมควร

เวตาลเล่ามาเพียงนี้ก็หยุดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วทูลพระวิกรมาทิตย์ว่า

“ข้าซึ่งไม่เสียดายชีวิตตนเองในการรักษาชีวิตเจ้านั้น เป็นข้าที่มีความสุข และเจ้าซึ่งอาจตัดรกรากแห่งความใคร่เป็นใคร่อยู่และความจำเริญในราชสมบัติได้นั้น เป็นเจ้าซึ่งมีความสุข ๓ เท่า ดูกรพระราชา ข้าพเจ้าขอทูลถามพระองค์สักข้อหนึ่งว่า บรรดาคนทั้งห้านั้นคนไหนจะโง่ที่สุด”

พระวิกรมาทิตย์ได้ทรงฟัง ก็แสดงอาการพิโรธ เพราะความถูกพระหฤทัยในเรื่องความซื่อต่อหน้าที่ ในเรื่องความรักกันในเหล่าบุตรและสามีภริยา ในเรื่องผู้น้อยฟังคำผู้ใหญ่ ในเรื่องคนมีใจใหญ่และใจมั่นคง เหล่านั้นกลับกระจัดกระจายไปหมด เพราะเวตาลกลับกล่าวว่าเป็นความโง่เสียแล้ว และเพราะเหตุที่กริ้วดังนั้นจึ่งรับสั่งด้วยสำเนียงโกรธว่า “อ้ายผี ถ้าคำที่เองกล่าวว่า คนไหนโง่ที่สุดนั้น หมายความว่า คนไหนมีน้ำใจควรเป็นที่นับถือที่สุด กูจะตอบได้ทันทีว่าคือท้าวรูปเสนผู้เป็นพระราชา”

เวตาลถามว่า “เหตุไรจึ่งทรงเห็นอย่างนั้น”

พระวิกรมาทิตย์ตรัสว่า “เองเป็นผีที่ปัญญาตันไม่อาจเข้าใจได้ วีรพลนั้นมีหน้าที่จะสละชีวิตของตนให้แก่เจ้าซึ่งมีกรุณาให้ลาภถึงเพียงนั้น บุตรชายของวีรพลจะขืนคำบิดานั้นไม่ได้เป็นอันขาด และส่วนผู้หญิงเมื่อใครฆ่ากันที่ไหนให้เห็นเป็นตัวอย่าง ก็ต้องฆ่าตัวเองเป็นธรรมดาตามนิสสัยผู้หญิง แต่ท้าวรูปเสนนั้นทรงสละราชัยของพระองค์ เพื่อประโยชน์แก่วีรพลผู้เป็นข้า และไม่ตีราคาชีวิตของพระองค์ และราชสมบัติซึ่งเป็นของชวนให้อยากมีชีวิต ยิ่งกว่าราคาท่อนฟางท่อนหนึ่งเลย เหตุนั้นกูจึ่งเห็นว่าการที่พระราชาทรงกระทำนั้นเป็นบุญและควรสรรเสริญยิ่งกว่าผู้อื่น”

เวตาลหัวเราะตอบว่า “ดูกรพระราชา แม้พระองค์มีแขนและขาอย่างหนุมาน พระองค์ก็จะต้องเบื่อปีนต้นไม้สูงต้นโน้นบ้างดอกกระมัง”

พูดเท่านั้นแล้ว เวตาลก็ออกจากย่ามลอยหัวเราะก้องฟ้าคืนไปห้อยอยู่ยังต้นอโศกตามเดิม

พระวิกรมาทิตย์กับพระราชบุตรก็หันพระพักตร์ทรงดำเนิรกลับไปสู่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง

จบนิทานเวตาลเรื่องที่ ๓

  1. ๑. นิทานเวตาลฉะบับสํสกฤต กล่าวว่านางนี้คือ ปฤถิวี คือแม่พระธรณี แต่ฉะบับฮินดีว่า ราชลักษมี แปลเป็นอังกฤษว่า Royal Luck

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ