๒๒
ดูก่อนกุมารทั้งหลาย เจ้าทั้งหลายพึงสำเหนียกเรียกอย่างนี้ว่า–คนเหล่าใดเป็นอันโตชน (คนภายใน) ของสามี เช่นบ่าว คนงาน ฯลฯ เราจักรู้งานที่คนเหล่านั้นทำแล้วและยังไม่ทำอย่างไร รู้จักอาการหนักเบาแห่งคนเหล่านั้น ที่เจ็บไข้ และจักแจกจ่ายอาหารให้ตามส่วนที่เขาควรได้
“เรือเอ๋ย เรือมนุษย์ ใหญ่ยาวสุด เพียงแค่วา ตัณหาพาเจ้ามา รู้หรือเจ้าจะไปไหน
เห็นฝั่ง อยู่กับตา พายเข้าหา ฝั่งหนีไกล ตัณหาพาเจ้าไป เรือก็ล่ม จมคงคา เห่ เห่ เห่—”
เสียงนั้นเล็ก เสียงนั้นอ่อน เสียงนั้นใส เป็นเสียงทารกไร้เดียงสา ช่างตรงกันข้ามกับบทความที่เสียงนั้นขับร้องจนน่าขัน
และสิ่งที่เป็นเครื่องเล่นของเจ้าของเสียง สิ่งที่เจ้าของเสียงพยายามจะวางไว้บนตัก และบังคับให้นิ่งอยู่กับที่ ก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตอันอ่อนขนาดทารก เช่นเดียวกับตัวผู้เป็นเจ้าของเสียงเหมือนกัน ตัวของมันยังเล็กมากขนาดพอดีกับมืออันเล็ก และขนาดความมั่นคงในการจับถือของผู้ที่กำลังเล่นมันอยู่ เมื่อตัวของมันถูกกดให้นอนลงบนตัก มันก็นอนนิ่งชั่วขณะที่ถูกกด ครั้นมือนั้นยกไปจับเชือกแขวนชิงช้า มันก็ลุกขึ้นหมุนไปหมุนมาอยู่บนตักขนาดเล็กที่รองตัวมัน แล้วก็หล่นตุ้บลงบนพื้นดิน เป็นเหตุให้ผู้ที่ต้องการจะเล่นมันด้วยความรัก ประสาทารกต้องลงจากชิงช้า วิ่งไล่ไปจับมันอีก
ชิงช้าไม้ขนาดเล็กและเบา สูงจากพื้นดินไม่เกิน ๑ ศอกนี้ แขวนอยู่กับกิ่งยางใหญ่อันมีลำต้นขนาดเท่าอ้อมแขน ต้นไม้นี้มีคู่ซึ่งขึ้นอยู่ห่างจากกันราว ๆ ๓ เมตร เมื่อเทียบโดยสายตาจะเห็นว่าขนาดเท่ากันพอดี พิเคราะห์ความมหึมาแห่งต้นไม้ทั้งสอง แล้วมองกลับมาดูมนุษย์ทารกที่ปลุกปล้ำลูกแมวอยู่ข้าง ๆ นั้น ก็เห็นสิ่งที่ผิดกันอย่างตรงกันข้ามน่าพิศวงอีกคู่หนึ่ง
ตะวันกำลังยอแสง แสงสว่างที่สองจับใบไม้และพื้นแผ่นดิน เป็นสีเหลืองหม่น ๆ แต่ก็ยังดูงาม พืชพันธุ์อันเขียวสดซึ่งมองเห็นเป็นพืดไปจนสุดสายตา ทั้งที่เป็นพันธุ์ไม้ในไร่ ทั้งที่เป็นพันธุ์ไม้ในป่า ทั้งที่มีขนาดต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทั้งที่มีขนาดสูงเยี่ยมเทียมฟ้า อยู่ในลักษณะเงียบสงบปาน ๆ กันนาน ๆ ครั้งหนึ่งมีเสียงกระดึงวัวถูกลมพามาแต่ไกล และมีเสียงตะโกนโหวกเหวกดังแว่ว ๆ เป็นเครื่องเตือนว่า มีมือมนุษย์มายุ่งเกี่ยวกับธรรมชาติ ลมเย็นสม่ำเสมอพัดมาจากทุกทิศทุกทาง ความบริสุทธิ์แห่งอากาศอันเกิดแต่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ เป็นคุณวิเศษแห่งภูมิประเทศแถบนี้ เป็นเครื่องฟอกมลทินแห่งใจของผู้ที่รู้จักความแตกต่างระหว่างความบริสุทธิ์ และความแปดเปื้อนเป็นอย่างดี
ลูกแมวหล่นตุ้บลงมาจากชิงช้าเป็นครั้งที่ ๔ แล้วก็วิ่งหยอยๆ ไปที่บันได ที่นั่นนางแม่นอนให้ลูกอีก ๒ ตัวกินนมอยู่อย่างใจเย็น ดูเหมือนจะไม่ได้นึกถึงลูกตัวที่ ๓ เสียเลย แต่ครั้นลูกตัวนี้วิ่งมาถึงก็ทักด้วยเสียงแหงวเบา ๆ และเมื่อลูกเบียดเสียดพี่น้องจะยื่นปากเข้าไปให้ถึงเต้านม นางแม่ก็ผงกหัวขึ้นเลียหัวลูกอย่างเป็นงานเป็นการ
ลูกมนุษย์โดดลงจากชิงช้า ทำท่าจะวิ่งตามลูกแมว แต่ครั้นแล้วก็นึกเบื่อ ก็ตั้งท่าจะยกก้นวางบนกระดานชิงช้าอีก แต่กระดานนั้นกำลังแกว่งด้วยเหตุที่ผู้นั่งอีกคนหนึ่งโยกตัวโดยแรง กิติเอาก้นผู้ที่จะขึ้นนั่งจนตัวถลำไปข้างหน้า เท้า ๒ เท้าเตะกันเองทำให้ตัวเฉ หากแต่ว่าถลาไปปะทะกับขาของผู้ที่นั่งอ่านหนังสืออยู่ตรงนั้น เจ้าหล่อนยกแขนออกรับไว้พอดี ร่างที่เซมาจึงไม่ล้ม
ความไม่สงบกำลังจะเกิด เจ้าหล่อนรีบตัดต้นไฟ
“คุณป่องคนเก่ง คุณป่องไม่เจ็บ ไม่ร้องไห้ ไม่โกรธ คุณป่องสัญญากับอาภรแล้ว คุณป่องจะไม่โยเย ตลอดเวลาที่คุณพ่อไม่อยู่ ไป ไปนั่งชิงช้าใหม่ ร้องเพลงให้อาภรฟัง เอ้า คุณก้องหยุดเดี๋ยวซีจ๊ะ หยุดให้นิ่งเสียก่อน คุณก้องสัญญาแล้ว สุภาพบุรุษเขาต้องช่วยเหลือสุภาพสตรี ไป ไป๊” หล่อนผลักตัวเด็กหญิงเบา ๆ “ไปนั่งชิงช้า แล้วร้องเพลงใหม่ อาภรชอบฟัง”
นานอยู่หน่อยกว่าเด็กชายจะทำให้ชิงช้าหยุดสนิท กว่าเด็กหญิงจะค่อย ๆ เดินไปยังชิงช้าอย่างไม่เต็มใจ กว่าเด็กชายจะเลิกทำคิ้วขมวดมองดูน้อง กว่าเด็กหญิงจะเลิกค้อนควักจนตาคว่ำ กว่าชิงช้าจะเริ่มไกวไปมาค่อย ๆ แล้วทวีความแรงขึ้นเป็นลำดับ แต่ความชักช้าเช่นนี้ ก็ทำความพอใจให้แก่หญิงสาวอยู่ไม่น้อยแล้ว เพราะเป็นเครื่องแสดงถึงความที่เด็ก เริ่มรู้จักอดกลั้นความฉุนเฉียว ที่มีประจำสันดาน ที่จริงการอยู่ใกล้คอยควบคุมกิริยาวาจาของเด็กทั้งสอง ได้ทำความชื่นใจให้เกิดขึ้นแก่ภรณี มากกว่าทำความรำคาญ ทั้งที่การเล่นหวัว การทะเลาะวิวาทระหว่างพี่น้อง การข่มเหงเด็กที่มีรูปร่างผิวพรรณเลวกว่าตัว การละโมบอาหารในบางเวลา การแสดงอำนาจถึงกับเข้า ทุบตีผู้ใหญ่ในเวลาที่เขาไม่ทำตามใจตัว เหล่านี้ล้วนแต่ชวนให้เห็นว่าเด็กทั้งสอง มีนิสัยโหยกเหยกเกเร ภรณีย่อมรู้ว่าเป็นนิสัยอันเกิดแต่ความเคยชิน หาใช่นิสัยอันเกิดแต่สันดาน ดังนั้นก็เป็นนิสัยที่จะแก้ให้หายได้โดยไม่ยาก และวิธีแก้นั้นเล่า ภรณีได้ค้นพบในเวลาอันสั้นนิดเดียว อาศัยกฎธรรมชาติทั้งหลายที่แสดงว่า ทุก ๆ สิ่งที่เป็นสภาพความมีความเป็น ย่อมวิวัฒน์เข้าหาความเจริญขึ้น เด็กทั้งสองมีความรู้สึกต่อคำว่า ‘ดี’ เป็นพื้นอยู่ในสันดาน คราวใดที่มีผู้บอกว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จึงจะนับว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนสวย เป็นผู้ดี เป็นคนดี อาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่แสดงว่าเด็กอยากทำตามที่ได้ฟังบอก จะปรากกฏโดยทันที
“เรือเอ๋ย เรือมนุษย์ ใหญ่ยาวสุด เพียงแค่วา ตัณหาพาเจ้ามา รู้หรือเจ้า จะไปไหน เห่ เห่ เห่—–”
มองดูเด็ก เห็นตั้งหน้าตั้งตาโยกชิงช้าไปด้วยร้องเห่ไปด้วย ผมเส้นละเอียดและอ่อนปลิวไสวอยู่บนศีรษะ ภรณีนึกขันและนึกเอ็นดูในใจ เด็กเอ๋ย เพลงที่เจ้าร้องนั้นเจ้าไม่ได้รู้เลยว่ามีความหมายอย่างใด อย่าว่าแต่เด็กอายุ ๖ ขวบ แม้แต่ภรณีผู้ซึ่งได้สอนเพลงนั้นแก่เด็ก เพราะเป็นเพลงหนึ่งในจำนวนเพลงเห่กล่อม ๒–๓ เพลงที่เหลืออยู่ในความทรงจำ ก็รู้ตัวว่า ตัวมิได้เข้าใจความหมายแห่งบทเพลงถึงครึ่งของความกว้างขวางลึกซึ้งแห่งความหมายอันแท้จริง เรื่องของชีวิตเป็นเรื่องที่จะเห็นปรากฏก็โดยทางจักษุแห่งดวงจิต ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องลี้ลับนักหนา สำหรับผู้ที่อ่อนในการศึกษาจิตของตน เมื่อภรณีกำลังย่างเข้าสู่วัยสาว หล่อนเข้าใจความหมายของบทนี้ในลักษณะ เป็นเรื่องนิยายอิงความจริงที่จบลงอย่างน่าสลดใจ ธรรมชาติแห่งจิตหลอน ซึ่งยังจะก้าวหน้าไปสู่ความงอกเงยยิ่งขึ้นอีก ได้ผลักไสความจริงที่แฝงอยู่ในบท ถึงกับไม่ยอมให้ตัวบทเข้ามาสู่สมอง เมื่อภรณีมีอายุมากขึ้น ได้ผจญกับความเศร้าโศก ความเดือดร้อน ความไม่สมปรารถนา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวความทุกข์ ประกอบกับความได้ยินได้ฟังได้เห็นได้อ่าน ได้ใคร่ครวญจนถึงกับจวน ๆ จะเข้าใจคำว่า ‘ตัณหา’ หล่อนเริ่มรับรู้ว่า บทเพลงนั้นบรรยายถึงความจริงแห่งชีวิตอันเป็นความจริงที่น่ากลัว แต่ดังได้กล่าวแล้ว วัยหนุ่มวัยสาวเป็นวัยทรหด มีความหวังเป็นเครื่องผลักดันให้ยืนหยัดไม่ถอยหลัง เพื่อรอโอกาสที่จะก้าวไปข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่มีลักษณะน่ากลัว ก็หลับตาเบือนหน้าหนีด้วยความเกลียดชัง
แต่อาศัยกฎธรรมดาอีกอันหนึ่ง คือ กิริยาทำให้เกิดปฏิกิริยา แม้ดวงจิตเป็นแต่เพียงนามธรรมอันหนึ่ง ก็มิได้พ้นจากความบังคับแห่งกฏนี้ เมื่อจิตของภรณีได้รับรู้ความจริงแห่งบทเพลงแล้ว ปฏิกิริยาคือความจริงก็เกิดขึ้นด้วย ภรณีรู้ว่าตัณหาคือความอยากต่าง ๆ คือ อยากมี อยากเป็น อยากได้ หรืออยากไม่มี อยากไม่เป็น อยากไม่รับ ได้ล่มมนุษย์เสียนักต่อนัก ผลแห่งความรู้นี้ทำให้หล่อนกลัวว่าตัวเองจะถูกล่ม ก็พยายามรักษาความอยากให้เป็นไปแต่ในทางที่ดี ที่พ้นอันตรายแห่งความเสียหายตามสายตาของสามัญชน การฝักใฝ่ระวังความอยากดังกล่าวนี้ รวมเข้ากับความเคยชินต่อการได้รับคำสั่งสอนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า มนุษย์ทั้งหลายมีหน้าที่สร้างสรรค์ความดีเพื่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อตัว ทั้งในโอวาทที่ครูให้แก่ศิษย์ ทั้งในหนังสือเรียนเกี่ยวกับวิชาทุกแผนก ตลอดจนกระทั่งบทประพันธ์สั้น ๆ ซึ่งครูใช้บอกคำบอกให้นักเรียนเขียนตาม หรือหนังสืออ่านเล่นที่ครูหยิบยื่นให้อ่านเพื่อความเพลิดเพลินแท้ ๆ ก็มีเนื้อความกล่าวถึงความดีที่มนุษย์กระทำมาแล้วและจะกระทำอีก หรือควรกระทำให้ยิ่งขึ้น เพื่อความสุขแห่งเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเพื่อความสุขแห่งตน เจืออยู่ทุกบททุกเรื่อง ภรณีจึงเป็นผู้มีอุดมคติสูงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวประจำใจ และเป็นผู้ที่มีความใฝ่ฝันถึงความดี ความงามที่ปรากฏอยู่ในโลกเป็นเชื้อสำคัญอยู่ในดวงความคิด
ระหว่าง ๒๐–๓๐ วันที่แล้วมา ดวงความคิดของภรณีดูเหมือนจะถูกโรคร้ายอันใดอันหนึ่งเบียดเบียน กระแสความคิดของภรณีจึงไขว้เขวสับสนยิ่งนัก ดวงจิตของภรณีมีอาการเหมือนบุคคลอยู่ในที่มืด มึนงง เคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าตัวอยู่ที่ไหน และไม่รู้ว่าจะบ่ายหน้าไปสู่ทิศใด อุดมคติซึ่งเคยเป็นประดุจดวงประทีปส่องทางให้ภรณีเดินตามอยู่เป็นนิจ ก็มีอาการดังดวงไฟที่ใกล้จะสิ้นเชื้อ หรี่ลง ๆ เหมือนจะดับในขณะใดขณะหนึ่ง แม้ภรณีพยายามเพ่งจะให้เห็นแสงรุ่งเรืองเหมือนแต่ก่อน ดวงประทีปก็ไม่สุกใสขึ้นกว่าเดิม หลายสิบหนความเคลือบแคลงได้เกิดขึ้นในสมองของภรณี สิ่งที่มนุษย์เรียกว่าอุดมคตินั้น เป็นสิ่งที่มีสาระประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์จริงหรือ ? บางที คำว่าอุดมคตินี้จะไม่มีความหมายอันใดเลย นอกจากเป็นศัพท์ที่มนุษย์ได้เรียกขึ้น เขียนขึ้น เพื่อประดับภาษาพูด ภาษาเขียนให้งดงาม แล้วก็ยกให้เป็นสมบัติแก่จิตใจของมนุษย์ ที่ต้องใช้ความฝันและมโนคติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้คงชีวิตอยู่ในโลก โดยประการฉะนี้ผู้ที่ถืออุดมคติก็คือมนุษย์คลั่งเพ้อ โง่เขลา ที่ต้องอาศัยสิ่งสมมติอันหาแก่นสารมิได้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงน้ำใจ เพราะเหตุพวกเขาไม่มีความเข้มแข็ง พอที่จะผจญกับความจริงอันร้ายกาจในโลกที่เขาเกิดมาแล้ว ?
หากแต่ว่าความเคยเป็นอำนาจอันหนึ่งที่มนุษย์จะสลัดเสียโดยยาก !—ถึงแม้ใจของภรณีจะมืดมัวด้วยความเคลือบแคลงสงสัย สงสัยในผลของการทำดี !—สิ่งที่หล่อนทำ เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนเช้า จนเข้านอนอีกในตอนกลางคืน ทุก ๆ รอบ ๒๔ ชั่วโมง ก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของความเจตนาที่จะทำดีนั่นเอง ว่าด้วยวัตถุ สิ่งที่ภรณีทำ เป็นสิ่งที่สำเร็จไปด้วยดี และแสดงผลดีเห็นประจักษ์แก่ตา เรือนที่ภรณีอยู่แต่ก่อนเป็นเรือนใหม่เพราะเพิ่งสำเร็จจากการปลูกสร้าง แต่ความรกรุงรังแฝงอยู่ทุกซอกทุกมุม บัดนี้ได้เป็นเรือนที่ใหม่ด้วยสะอาดด้วย และเรียบร้อยด้วย เพราะระเบียบที่ภรณีได้สร้างขึ้น เรือนครัวเคยเป็นเรือนที่สกปรกจนน่ารังเกียจ บัดนี้มีสภาพอย่างที่ชวนให้ผู้เห็น นึกอยากจะนอนเล่นในครัว ของใช้ทุกชนิดและทุกชิ้น ตั้งแต่ภาชนะต่างๆ จนกระทั่งถึงเถ้าถ่านมีที่ตั้ง ที่ว่าง ที่ใส่ประจำโดยเรียบร้อย เพราะภรณีคอยควบคุมให้แม่ครัวล้าง เช็ด และจัดเข้าที่ทุก ๆ เวลาที่ประกอบอาหารเสร็จไปมื้อหนึ่ง ๆ พื้นที่ๆ เป็นบริเวณบ้าน คือที่ ๆ ไม่อยู่ในเขตไร่ หรือไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเป็นไร่ในภายหลัง ภรณีก็ดูแลให้มีผู้ถาง ผู้กวาด ผู้ตบแต่งให้เป็นที่เตียน เตรียมจะให้เป็นสวนไม้ดอกในภายหน้า ความละเอียดของภรณีในการรักษาความสะอาดโดยทั่วถึงเช่นนี้ เป็นที่ระอาแก่คนงานที่เคยทำงานอย่างสักแต่ว่าทำยิ่งนัก ภรณีได้เห็นความไม่พอใจของเขาเหล่านั้นชัดเจนแก่ตาหล่อนบ่อย ๆ และมนุษย์นั้นมีอำนาจอันหนึ่งเป็นที่กลัวเกรงแก่มนุษย์ด้วยกัน ผู้ใดมีความต้านทานมากจึงทำให้ผู้มีความต้านทานน้อยอ่อนอำนาจลงได้ ภรณีมีฐานะเป็นนายอยู่ในบ้าน ฐานะของหล่อนเป็นเครื่องต้านทานอันดี ถึงแม้ภรณีจะเกรงใจคนงานไม่อยากให้เขาโกรธ ไม่อยากให้เขาเกลียด หล่อนก็ฝืนใจบังคับเขาเหล่านั้นให้อยู่ในคำสั่งของหล่อน อนึ่งเหล่าคนงานนั้น มิใช่เป็นผู้มีนิสัยชั่วหรือเลวโดยสันดาน ความเสียที่มีอยู่ในตัวเกิดจากความโง่เขลามากกว่าอย่างอื่น เมื่อเขาทำงานเขาไม่รู้ว่างานที่เรียกว่าทำแล้วดีมีลักษณะเช่นไร ดังนั้นเขาก็ทำสักแต่ว่าให้แล้วตามความคิดของเขา ความสะอาดเป็นอย่างไรเขาไม่เคยรู้จัก เขาก็สำคัญว่าความสกปรกเป็นสภาพธรรมดาที่ไม่น่ารังเกียจอย่างใดเลย ภรณีเป็นผู้เคยอยู่ในชนบท เคยรู้นิสัยใจคอของบุคคลจำพวกนี้ดี น้ำใจของเขาบริสุทธิ์ แต่สมองของเขาไม่ต่างจากสมองของเด็กเท่าไรนัก เมื่อรู้เสียได้เช่นนี้แล้ว ภรณีทำใจให้มีเมตตาต่อเขา แล้วใช้อุบายยอบ้าง ขู่บ้าง ปลอบบ้าง คล้าย ๆ กับที่ผู้ใหญ่ทำแก่เด็ก ไม่ช้านักหล่อนก็ควบคุมเขาได้เต็มมือ
นอกจากงานรักษาความสะอาดแห่งสถานที่ ยังมีงานซักรีด งานรักษาของใช้ทุกชนิดให้สึกหรอหมดเปลืองแต่เท่าที่จำเป็น กับงานประกอบอาหารให้ถูกตามหลักอนามัย และให้มีรสชวนบริโภค ทั้งสามอย่างนี้ออกจะเป็นงานที่เหนือความสามารถของลูกจ้างชาวพื้นเมืองทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงเป็นงานที่ภรณีคอยควบคุมอย่างใกล้ชิดที่สุดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกอบอาหาร ภรณีมักจะลงมือทำเสียเองบ่อยที่สุดถึงระยะเกือบทุกมื้อและทุก ๆ วัน
แต่ว่าถ้าด้วยทางจิตใจ ดูเหมือนภรณีจะไม่ได้รับผลรางวัลแม้แต่น้อย ไม่มีใครในโลกอันไพศาลนี้ แสดงด้วยวาจาหรือด้วยกิริยา หรือแม้แต่ด้วยสีหน้า ให้ภรณีเห็นว่าเขารู้ถึงความดีขึ้นแห่งงานในบ้าน และความสามารถของหล่อนในการสร้างความดีขึ้น ! นี่เองคือตัวเหตุสำคัญที่ทำให้ดวงความคิดของภรณีมีอาการดังหนึ่งว่าป่วยไข้ไปเสียแล้ว
ความจริงโลกของภรณีในปัจจุบันมีขนาดจำกัดเพียงเท่าส่วนยาวคูณด้วยส่วนกว้างแห่งร่างกายของชายหนุ่ม ผู้มีรูปร่างสันทัดขนาดสูงคนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าขนาดของโลกจะเล็กเพียงเท่านี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่เกี่ยวข้องอยู่กับโลก เป็นสิ่งที่มีกำลังงานสูงมาก ทั้งในทางดึงดูดกระแสความคิดของภรณีทั้งในทางจุดความรู้สึกของภรณีให้ลูกราวกับไฟ ก็เมื่อโลกทั้งโลกไม่มีอาการแสดงว่ารู้ถึงการกระทำดีของภรณี อุดมคติของภรณีที่มีหลักสำคัญว่าพึงทำดีเพื่อโลก และเพื่อตน ก็เป็นคติที่ใช้ไม่ได้ ซึ่งถ้าภรณีจะยึดถือและปฏิบัติตามต่อไปอีก ก็จะเหนื่อยเปล่าโดยไม่มีประโยชน์อันใด !
แต่ถ้าหากอุดมคติอันนี้ เป็นแต่เพียงคำสมมติ อันหาแก่นสารมิได้ ก็หมายความว่ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวภรณีเอง เกิดมาสำหรับให้ความร้อน คือทุกข์ เผาผลาญตั้งแต่ขณะจิตแรกที่รู้ความ จนถึงขณะที่หมดลมหายใจ ? ไม่มีวิธีใด การกระทำใดเป็นอาวุธต่อสู้ความร้อน ? ถ้าเช่นนั้นไม่มีประโยชน์อะไรที่จะครองชีวิตอยู่ ยานอนหลับสัก ๓–๔ เม็ด กับน้ำสักครึ่งถ้วยแก้ว กินง่าย กลืนง่ายไม่ขมไม่ขื่น จะดับความร้อนได้สิ้นเชิงในเวลา ๒–๓ นาที เมื่อความคิดของภรณีแล่นมาถึงเพียงนี้ หล่อนรู้สึกเหมือนใจจะขาด และต้องการจะร้องไห้เป็นกำลัง แต่ธรรมชาติมิได้สร้างน้ำตาให้มาเป็นเพื่อนภรณี เหมือนดังที่ได้ให้แก่หญิงส่วนมาก เมื่อแรกรุ่นสาวภรณีเคยร้องไห้เพราะแค้นมารดาเลี้ยง ๒–๓ ครั้ง ภายหลังหล่อนมีความคิดว่า การร้องไห้เป็นอาการสำแดงความพ่ายแพ้หมดทางสู้ แม่เลี้ยงกับตัวหล่อนยังต้องขับเคี่ยวกันไปอีกนาน หล่อนไม่ควรจะยอมแพ้ง่าย ๆ แต่นั้นมาภรณีก็ไม่ร้องไห้เพราะความทุกข์ ที่มารดาเลี้ยงของหล่อนเป็นต้นเหตุอีกต่อไป ในปัจจุบันนี้เมื่อภรณีนึกอยากจะร้องไห้แล้ว รู้เท่าความจริงว่าเหตุแห่งความขมขื่นมาแต่บุคคลใด ความมานะก็เกิดทำลายความอ่อนแอสิ้นไปทันที
ภรณีอาจจะปล่อยตัวให้ร้องไห้สักครั้งใหญ่ ถ้าหากว่าหล่อนมีตาทิพย์ อ่านใจบุคคลผู้ทำความขมขื่นให้แก่หล่อนได้ ในเวลาเดียวกับที่ภรณีวางหนังสือไว้บนตัก มองดูลูกของเขาพลางนึกถึงตัวเขานั้น ฝ่ายเขาก็กำลังนึกถึงหล่อน เขาเห็นภาพหล่อนเมื่อนั่งมาในรถคันเดียวกับเขา เห็นหล่อนในวันรุ่งขึ้น จากวันนั้นและต่อ ๆ มา ทุก ๆ วัน เขาจำท่าของหล่อนได้ทุก ๆ ท่า โดยไม่ตั้งใจจำและท่าสุดท้ายที่ติดตาอยู่ ราวกับเขาเห็นตัวหล่อนอยู่ตรงหน้า คือท่าที่เขาเห็นเมื่อรถยนต์กำลังพาตัวเขาพ้นไปจากหล่อน
ตามธรรมดาเมื่อบันลือจะเข้ากรุงเทพฯ เขาต้องออกเดินทางตั้งแต่ก่อนย่ำรุ่ง เขามักจะออกจากบ้านโดยไม่แตะต้องกับอาหารอย่างหนึ่งอย่างใด บันลือเป็นชายที่เกลียดการกังวลในเรื่องการรับประทาน เห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและตัดทอนความคล่องแคล่วรวดเร็วของมนุษย์ เขายอมให้ว่าอาหารอันประณีตมีรสเหมาะแก่ความต้องการของบุคคลเป็นส่วนหนึ่ง แห่งเครื่องบำรุงความสุข และยอมให้ด้วยว่า มนุษย์ในชาติที่เจริญมาก ย่อมมีฝีมือในเรื่องการทำอาหาร และมีความรู้สึกในรสอาหารสูงกว่ามนุษย์ในชาติอื่น แต่เขายังมนุษย์ที่ห่วงการกินหรือสนใจในการกินจนออกนอกหน้า สำหรับตัวเขาเอง เมื่ออยู่ในยามปกติไม่เร่งรีบ เขาพอใจในอาหารที่มีกลิ่นมีรสชวนบริโภค แต่เมื่อถึงคราวที่อาหารดีอาจกลายเป็นภาระ อาหารเลวอย่างไรก็ใช้ได้สำหรับบรรเทาความหิวชั่วมื้อ หรือบางทีเขาก็ทำเป็นผู้ไม่รู้จักความหิว อยู่โดยไม่บริโภคสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเวลาหลายชั่วโมง
เมื่อเขาจะเข้ากรุงเทพฯ คราวนี้ ในเวลาแต่งตัวเสร็จออกมายืนคอยรถอยู่ที่หน้าเรือน เขาสังเกตเห็นว่ามีแสงไฟสว่างอยู่ในห้องครัว ครั้นแล้วในชั่วครู่ที่เขาก้มหน้าใส่นาฬิกาข้อมือ ภรณีได้มายืนอยู่ข้างตัวเขา ถือจานรองถ้วยกาแฟอันมีกลิ่นหอมฉุยคอยส่งให้เขาอยู่
เขากล่าวคำขอบใจ และยั้งคำพูดแสดงความรู้สึกถึงข้อที่หล่อนตื่นขึ้นแต่เช้าเพราะกาแฟถ้วยเดียวของเขานี้ไว้เพียงแค่ริมฝีปาก เมื่อเขาจิบกาแฟได้สองครั้ง เขารู้สึกว่ามีรสเหมือนกับที่เขาเคยปรุงให้ตัวเอง และดูเหมือนจะถูกกับความต้องการของเขาดีกว่าที่เขาเคยทำได้เสียด้วยซ้ำ เมื่อเขาส่งถ้วยคืนให้หล่อน พร้อมกับกล่าวคำขอบใจอีกครั้งหนึ่งแล้ว ภรณีพูดว่า
“กลับจากกรุงเทพฯ ซื้อยามาด้วย”
เขารีบถามด้วยความสนใจอันแท้จริง “ยาอะไร ? ใครเจ็บเป็นอะไร”
“ไม่มีใครเจ็บ แต่อยู่ในที่อย่างนี้ควรจะมียาประจำบ้านหลาย ๆ อย่าง”
เขารับคำโดยดุษณีภาพ เขาอยากจะพูดกับหล่อนด้วยเรื่องอื่น ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้ว่าเรื่องอะไรแต่ไม่ได้พูด รถยนต์มาหยุดคอยเขาอยู่แล้ว เขาเปิดหมวกให้หล่อนแล้วก็เดินห่างไป เมื่อเขามองมาดูหล่อนอีก เขาเห็นยืนอยู่ข้างต้นยางใหญ่ หันหน้ามาตามทางที่รถกำลังเคลื่อนที่แต่มิได้มองดูรถ มือซ้ายของหล่อนแตะอยู่กับต้นยาง มือขวาห้อยอยู่ข้างตัว ศีรษะเอนไปทางเบื้องซ้าย ตาดูเหมือนจะมองต่ำเพียงแค่ยอดหญ้า เป็นท่าที่เขาเคยเห็นประจำอยู่กับหล่อนเป็นนิจในเมื่อหล่อนเผลอตัว ถึงกระนั้นเมื่อเห็นใหม่อีกในคราวใดเขาก็ต้องดูใหม่อีกด้วยความทึ่งในคราวนั้น ทางเบื้องหลังหล่อน ดวงอาทิตย์กำลังจะพ้นขอบฟ้า แสงนวลเป็นสีทองห้อมล้อมหล่อนอยู่โดยรอบ บันลือนึกถึงเซอร์โยชัว เรเนิลด์ส๑ ถ้ายอดศิลปินผู้นั้นได้มาเห็นหล่อนในขณะนี้ ท่านจะวาดภาพของหล่อนให้ผู้ที่จะได้ดูในภายหลัง อ่านความหมายแห่งภาพไปในแง่ใด—
บัดนี้รถไฟนี้กำลังย่นระยะทางระหว่างตัวเขากับตัวหล่อนให้กลับสั้นเข้าทุกที และคราวนี้เป็นคราวแรกที่เขามีความรู้สึกเป็นผู้เดินทางไกลที่กำลังจะกลับคืนสู่บ้านที่เคยให้ความสบายแก่เขา เขารู้ว่าบ้านเป็นแต่เพียงไม้กับเหล็กประกอบกันเข้าตั้งอยู่บนแผ่นดิน โดยตัวของมันเองแท้ ๆ มันจะให้ความสบายแก่ใครหาได้ไม่ แต่ก็ช่างเถอะเขาถือว่าบ้านของเขา ให้ความสบายแก่เขาได้ก็แล้วกัน เขานึกถึงคำของจิตราที่เปรียบตัวเขาด้วยซ้อนตักข้าว ไม่รู้รสแกง นึกแล้วอยากหัวเราะ จิตราเป็นหญิงที่ทำความร่าเริงให้แก่ผู้ที่เข้าใกล้หล่อนเสมอ เป็นคนสวย คุยสนุก มีปัญญามีความรู้รอบตัวกว้างขวาง ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพสูงมาก สำหรับการแสดงออกของสัญชาตญาณความอยากอวดตัว ซึ่งเป็นพื้นสันดานของสัตว์โลกมาแต่ดั้งเดิม และซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่นำการคิดการพูดการทำของจิตราอยู่ทุกชั่วขณะจิต
นึกถึงหญิงที่จิตราเลือกมาให้เป็นภรรยาของเขาเล่าก็เช่นเดียวกับจิตราเอง มีสัญชาตญาณความอยากอวดตัวนั่นแหละ เป็นเครื่องนำการกระทำทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว และหล่อนก็มีความสามารถดีเท่า ๆ กับจิตราในการเลือกวิธีอวดตัวโดยถูกทาง กล่าวคืออวดด้วยสมรรถภาพทางการงาน อวดด้วยความเรียบร้อยสงบเสงี่ยมแห่งท่วงทีกิริยา อันเป็นการอวดที่ไม่เป็นเครื่องรำคาญแก่ใคร ผิดกับการอวดด้วยจริตหวีดหวาดด้วยเครื่องแต่งกายที่ปลุกความสอดรู้สอดเห็น ซึ่งเป็นการอวดที่ก่อกวนความสงบแห่งบุคคล ถ้าเปรียบสัตว์โลกเท่ากับดินเหนียว เปรียบมนุษย์ซึ่งสูงกว่าเดรัจฉานขึ้นมาชั้นหนึ่งเท่ากับหม้อ จิตรากับภรณีก็เปรียบเหมือนหม้อขัด ที่ช่างหม้อได้ขัดแล้วด้วยฝีมืออันดี
แล้วเขานึกถึงเรื่องที่เจริญจะมาพักอยู่กับเขาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์หรือสิบวัน โดยความคะยั้นคะยอของจิตรา นึกสงสัยว่าจิตราทำเช่นนี้เพราะนึกถึงสุขภาพของสามีโดยแท้จริง หรือว่านึกถึงความอยากรู้ที่กรุ่นอยู่ในใจหล่อนด้วย เฉพาะเจริญนั้น ถ้าด้วยมีเจตนาของผู้สังเกตการณ์แฝงอยู่ ก็คงจะเป็นผู้สังเกตการณ์ฝ่ายธุรการ คืออยากเห็นการงานของบันลือ มากกว่าที่จะอยากรู้อยากเห็นในเรื่องความผัวความเมีย
-
๑. Sir Joshua Reynolds ↩