สังฆโสภณกถา

ในการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช

ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

วันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ เวลา ๑๗.๐๐ น.

พระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท)

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

รับพระราชทานถวาย

นโม ตสุส ภควโต อรหโต สมุมาสมพุทุธสุส

โย โหติ พุยตุโต จ วิสารโท

พหุสสุโต ธมุมธโร จ โหติ

ธมุมสุส โหติ อนุธมุมจารี

ส ตาทิโส วุจจติ สงฆโสภโณติ.

บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนา ในสังฆโสภณกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เพื่อทรงอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชพระองค์นั้น โดยทรงอนุสรณ์ถึงพระราชคุณูปการอย่างใหญ่หลวงที่ทรงมีแก่แผ่นดินและพสกนิกรชาวไทย ตลอดทั้งพระราชวงศ์เป็นล้นพ้นสุดที่จะพรรณนาได้ ด้วยพระราชหฤทัยอันงาม ที่ทรงตั้งมั่นอยู่ในพระกตัญญูกตเวทิตาธรรมและคารวะ อปจายนธรรม ซึ่งเป็นคติวิสัยของบัณฑิตชน ทังยังเป็นสรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลสูงสุด ดังพุทธวจนะในมงคลสูตรว่า กตฺุตา เอตมฺมงคลมุตฺตมํ ความเป็นผู้กตัญญูกตเวทีเป็นอุดมมงคล ดังนี้

สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ตั้งแต่วันพระราชสมภพ จนถึงวันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ คือวันนี้ นับพระชนมวารได้ ๒๖,๔๖๙ วัน เท่ากับพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๒๗๙ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒

ก็แล ในพระบรมราชวงศ์จักรีนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระชนมายุยืนยาวกว่าพระองค์อื่นที่ทรงครองราชสมบัติสนององค์สืบต่อกันมา จนถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘

อนึ่ง พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นี้ เป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีทรงปฏิบัติสืบต่อกันมาในรัชกาลปัจจุบัน มิใช่จะมีพระราชพิธีนี้เป็นครั้งแรก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วสามวาระคือ การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๘ และการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๔

สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ นับแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ คือวันนี้ไปแล้ว จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมีพระชนมายุและทรงครองราชย์ยืนยาวนานที่สุด ในบรรดาพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทยนับแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ในอภิลักขิตสมัยสมมงคลนี้ ประชาชนชาวไทยต่างมีความชื่นชมโสมนัสยินดีปรีดากันทั่วถ้วนในพระบุญญาธิการ รัฐบาล ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขึ้นจัดงานสมโภชเป็นพิเศษ เพื่อถวายความจงรักภักดี ส่วนกลางจัดที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๒๑ ถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม มีพิธีสืบพระชะตา แบบล้านนา เชิญไม้ค้ำโพธิ์ไปค้ำต้นโพธิ์ ณ วัดพระเชตุพนฯ ส่วนภูมิภาค จังหวัดทุกจังหวัดจัดงานอย่างประหยัดสนองพระราชประสงค์ มุ่งหนักไปในการบำเพ็ญทางศาสนกิจ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และความสามัคคี โดยความปรารถนาอย่างยิ่ง เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ขอให้ทรงสถิตสถาพรใน สิริราชสมบัติยิ่งยาวนาน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ยิ่งใหญ่ ในการสถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงสร้างความมั่นคงแก่แผ่นดิน ทรงพิทักษ์รักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศชาติ ต้องเสด็จเป็นจอมทัพไปในงานสงครามเกือบตลอดพระชนม์ชีพ ครั้งสุดท้ายที่นับว่าสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ คือได้เสด็จออกไปในสงครามเก้าทัพ ที่ตำบลลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรี จนข้าศึกมิอาจรุกรานต่อไปและในแผ่นดินของพระองค์ พระราชอาณาเขตได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ที่สุดด้วยพระบุญญาภินิหาร พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาญาณพิจารณาถึงความสถิตสถาพรของประเทศชาติ จำต้องพึ่งหลักสำคัญคือพระพุทธศาสนา จึงทรงโปรดอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะพร้อมด้วยราชบัณฑิตให้จัดการสังคายนาพระธรรมวินัยพระไตรปิฎก ปรากฏชื่อว่า พระไตรปิฎกฉบับลานทอง แล้วทรงโปรดให้จัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง ชำระสะสางปรับปรุงพระราชกำหนดกฎหมายเรียกว่ากฎหมายตราสามดวง ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีและศิลปวัฒนธรรมประเพณี เพื่อความสามัคคีเป็นปึกแผ่นแก่ประชุมชนเป็นต้น สมดังพระราชปณิธานใน กลอนเพลงยาวนิราศเรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง ว่า

ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี

ตลอดเวลา ๒๖,๔๖๙ วัน (๗๒ ปี ๕ เดือน ๑๙ วัน) สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าก็ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างไพศาล ยังความร่มเย็นชุ่มชื่นให้แก่พสกนิกรประเทศชาติดุจต้นโพธิ์ใหญ่ใบหนาแน่น แม้พระองค์ทรงเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ มิต้องทรงบัญชาการรบโดยตรง แต่เมื่อยามที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง ก็ทรงขจัดปัดเป่ามิให้ลุกลามจนพ้นจากภัยพิบัติ สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชเจ้าพระองค์นั้น ทรงเผชิญกับการสงครามภายนอกที่ก่อความไม่สงบรุกรานพระราชอาณาจักร ซึ่งเกิดแต่ประเทศใกล้เคียง ส่วนสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงต่อสู้กับสงครามภายใน คือสงครามเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดแต่ประเทศทั่วโลกที่กว้างใหญ่กว่าสมัยก่อน ทรงเป็นมิ่งขวัญกำลังใจให้พสกนิกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี ได้ทรงมีพระราชดำริพระราชทานโครงการต่างๆ นับประมาณ ๒,๕๐๐ โครงการ ล้วนแต่เป็นส่วนยังประเทศชาติให้เจริญมั่นคง ประชาชนอยู่ดีมีสุข เช่น ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจวิกฤตก็พระราชทานโครงการเศรษฐกิจพอเพียง โดยรัฐบาลได้น้อมรับพระราชทานโครงการนั้นๆ ไปสนองพระราชดำริ และมิเพียงแต่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าเท่านั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดา ตลอดทั้งสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนีเมื่อยังพระชนม์อยู่ก็ทรงร่วมเป็นขบวนการในสงครามนั้นๆ ด้วย ในส่วนพระบวรพุทธศาสนา สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงเป็นมหาอุบาสก ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยพระราชศรัทธาอย่างยิ่งในพระรัตนตรัย ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนานาประการ ทรงเจริญจิตภาวนาอยู่เนืองนิตย์

สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า และสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช ทั้งสองพระองค์ แม้จะทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญต่างกาล ต่างสมัย แต่ทรงมีพระราชปณิธานเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน กล่าวคือสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ก็ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมฯ

พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้านั้น ยังความสง่างามให้ปรากฏในหมู่พสกนิกรและประเทศชาติ แม้นานาประเทศต่างซาบซึ้งสรรเสริญพระเกียรติคุณอันไพศาล ทั้งนี้ ก็ด้วยทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และทรงเจริญในสังฆโสภณธรรม ๕ ประการดังที่ได้รับพระราชทานไว้ ณ เบื้องต้นว่า โย โหติ พฺยตฺโต จ วิสารโท เป็นอาทิ ความว่า ผู้ใดเป็นคนฉลาด ๑ กล้าหาญ ๑ ได้สดับฟังมาก ๑ เป็นผู้ทรงธรรม ๑ และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามคลองธรรม ๑ ผู้เช่นนั้น เรากล่าวว่า ผู้ยังหมู่คณะให้สง่างามดังนี้

โดยนัยพระพุทธภาษิตนี้ ทรงแสดงถึงคุณธรรมที่ยังหมู่คณะให้สง่างาม ๕ ประการ มีอรรถาธิบายโดยสังเขปดังนี้

. ความฉลาด เป็นชื่อของปัญญาคือความรอบรู้ในเหตุผล มี ๒ ประการ คือ เป็นโกศลอย่าง ๑ ปฏิภาณอย่าง ๑ โกศลนั้นได้แก่ความฉลาดรอบรู้เหตุแห่งความเจริญ เรียกว่าอายโกศล ๑ ความรอบรู้เหตุแห่งความเสื่อม เรียกว่า อปายโกศล ๑ ความฉลาดรอบรู้ในการหลีกเหตุแห่งความเสื่อมประกอบเหตุแห่งความเจริญ เรียก อปายโกศล ๑ ปฏิภาณนั้นได้แก่ความเฉลียวหรือไหวพริบรู้เท่าทัน สามารถโต้ตอบได้ฉะบพลัน ไม่เสียเปรียบในเชิงเจรจา และมีไหวพริบรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แล้วสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ปิดทางเสื่อมมิให้เกิดขึ้น แม้มีภัยที่น่าหวาดหวั่นตั้งอยู่รอบด้าน ย่อมอาจดำริการผ่อนปรนช่วยตนและผู้อื่นให้รอดพ้นภอันตรายโดยสวัสดี

. ความกล้าหาญ ย่อมเกิดขึ้นด้วยความมีปัญญา ความกล้าหาญนั้น ได้แก่ความเป็นผู้มีน้ำใจอดทนบากบั่นไม่ยอมท้อถอยต่ออุปสรรค เฉกเช่นพระมหาชนก บรมโพธิสัตว์ ที่ทรงกล้าหาญใช้วิริยะความเพียรจนลุถึงประโยชน์ความปรารถนา อนึ่ง ความกล้าหาญนั้นต้องมีความระมัดระวังรอบคอบ ใช้ความกล้าหาญในทางที่ชอบ ในการประกอบกิจกรรมที่เป็นสุจริต เป็นสัมมาอาชีวะ มิใช่ความกล้าหาญในทางผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม เป็นมิจอาอาชีวะ

. ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ได้แก่ผู้เป็นพหูสูตร เป็นผู้รักษาการศึกษาและแสวงหาวิชาความรู้เพื่อเพิ่มพูนให้มีปัญญาความฉลาด ทันกับเหตุการณ์ โลกสมัยปัจจุบันวิทยาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีสื่อติดต่อกันได้ทั่วทุกมุมโลก นอกจากศึกษาจากตำรับตำราแล้ว ยังจะต้องศึกษาจากสื่อ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ แล้ววิเคราะห์วิจัยค้นคว้าพิจารณาด้วยเหตุผล ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทอดทิ้งหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นปัจจัย สำคัญในการหล่อหลอมจิตใจให้ตั้งอยูในทางประพฤติดีปฏิบัติชอบ

. ผู้ทรงธรรม ได้แก่ผู้ที่ได้สดับฟังหรือศึกษาค้นคว้าไว้แล้ว ต้องจดจำหัวข้อเป็นหลักไว้ได้ในทางโลก ผู้ศึกษาจะต้องทรงจำหลักวิชาการนั้นให้ถูกต้อง มิฉะนั้น ก็ไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ในทางธรรมก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่ปฏิบัติตามธรรม หรือจะแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติดี ถูกต้องตามธรรมนั้นๆ ต้องจดจำข้อธรรมนั้นและมีความเข้าใจเนื้อความแห่งข้อธรรมนั้นๆ ด้วย ซึ่งเป็นหลักของนักปราชญ์ประการหนึ่ง

. ผู้ปฏิบัติชอบตามคลองธรรม โดยเหมาะสมแก่ฐานะของตน เช่น เป็นผู้ใหญ่จะต้องมีเมตตากรุณาต่อผู้น้อย ผู้น้อยก็ต้องมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ผู้นำหมู่คณะต้องมีพรหมวิหารธรรมระมัดระวัง มิให้อคติธรรมเข้าครอบงำในการปฏิบัติหน้าที่

สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเจริญในสังฆโสภณธรรมทั้ง ๕ ประการ จึงยังความสง่างามให้เกิดขึ้น ในหมู่พสกนิกรและประเทศชาติ มีพระบรมเกียรติยศเกียรติศักดิ์ขจรขจายไปทั่วโลก ปานดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญที่ลอยเด่นท่ามกลางหมู่ดวงดาวในพื้นนภากาศ ปราศจากเมฆหมอกเป็นราคี ดังนี้

ขออำนาจพระราชกุศลทักษิณานุประทานที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญให้ตั้งอยู่ด้วยดีแล้วในพระสงฆ์ ทรงพระราชอุทิศถวายส่วนพระราชกุศลทั้งปวงนี้ แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชจงเป็นผลสัมฤทธิ์สมดังพระราชเจตนาอุทิศทุกประการ ขอสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า เทพยดาอารักษ์ทั้งปวงและเทพยดาซึ่งสถิตในพระราชนิเวศน์ทุกองค์ จงอนุโมทนาโดยทั่วกัน

รตฺนตฺยานุภาเวน กตปุฺสฺส เตชสา

ด้วยอานุภาพแห่งพระคุณพระรัตนตรัย พระเดชานุภาพแห่งพระราชกุศลบุญบารมีที่ทรงบำเพ็ญแล้ว ขอจงอภิบาลคุ้มครองสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และพระราชโอรส พระราชธิดา จงถึงพร้อมด้วยพระสรรพพรชัยมงคลมีพระชนมายุยืนยาวนาน เสด็จสถิตสถาพรในพระราชสิริสมบัติ ทรงเป็นธงชัยของประเทศชาติทรงประสาธน์ให้สำเร็จหิตสุขประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ

รับพระราชทานถวายวิสัชนา พระธรรมเทศนายุติลง เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

ขอถวายพระพร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ