พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นวันสำคัญพิเศษสุดที่เนื่องในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกวาระหนึ่ง โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีเป็นการส่วนพระองค์และขานชื่อพระราชพิธีว่า พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระราชพิธีเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๓ พรรษา (๗๒ ปี ๕ เดือน ๑๙ วัน) นับพระชนมวารได้ ๒๖,๔๖๙ วันเสมอพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดังนั้นวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓ นี้ ถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ ด้วยจะถือได้ว่าหลังจากวันนี้ล่วงไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระชนมพรรษายืนยาวที่สุดในบรรดาพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์

สาระสำคัญของพระราชพิธี คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำรงรัฐสีมาอาณาจักรเพื่อทรงทำนุบำรุงความสุขให้แก่ประเทศและประชาชนชาวไทยสืบไป โดยกำหนดพระสงฆ์เข้ามาประกอบพิธีจำนวน ๒๘ รูป เท่าจำนวนปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงครองราชย์ คือ ๒๘ ปี ตั้งพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๑ พระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ ๑ และพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๙ และพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ ๙ เป็นประธาน

การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระราชบุรพการีที่ดำรงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ล่วงไปแล้ว เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาแต่ช้านาน พระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาลจะทรงอนุสรณ์คำนึงถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระราชบุรพการีในวาระต่างๆ เช่น ในวันที่ตรงกับการครองราชย์ มีทั้งโอกาสที่เวียนมาเป็นครั้งแรกมักเรียกว่า สมมงคล หมายถึง เสมอกัน หรือ สมภาคา บ้าง ถ้าเวียนมาเป็นครั้งที่สองก็เรียกว่า ทวิภาคา บ้าง หรือ ทวีธาภิเษก บ้างซึ่งจะปรากฏแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชพิธีนี้ในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ บ่อยครั้ง งานพระราชกุศลนี้ คือ การทักษิณานุประทาน หมายถึง การทำบุญอุทิศส่วนกุศลถวายแด่สมเด็จพระราชบุรพการีที่ล่วงไปแล้ว หากแต่ความหมายทั้งปวง คือ มุ่งเป็นการสมโภชสิริราชสมบัติเพื่อความสวัสดิมงคลในพระราชอาณาจักรที่มีผลต่อชาติและประชาชนเป็นสำคัญ เพราะทรงตั้งสัตยาธิฐานขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำรงรัฐสีมาอาณาจักร เพื่อบำรุงความสุขให้แก่ประเทศและประชาชนสืบต่อไปเบื้องหน้า

พระราชกุศลที่บำเพ็ญถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบุรพการีของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์นี้ นอกจากโอกาสวันดำรงสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกับวันสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีราชประเพณีที่ทรงถือปฏิบัติในอีกหลายวาระและวาระหนึ่งที่สำคัญ คือ วันที่พระชนมพรรษาเวียนไปเสมอเท่ากัน และวันที่พระชนมพรรษามากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ล่วงไปแล้วด้วย เป็นภาพลักษณ์ที่แสดงวัฒนธรรมที่ดีงามของพระมหากษัตริย์ของชาติไทยในการที่ทรงสร้างแบบอย่างความกตัญญูกตเวทิตา แสดงความเคารพรำลึกถึงบรรพชนปู่ย่าตายายที่ประกอบคุณความดีไว้แก่บ้านเมืองให้ราษฎรยึดถือเป็นแบบแผน ดังเช่นในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนานาประการสม่ำเสมอเป็นการส่วนพระองค์ตลอดมาตัวอย่างเช่น

- พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดา เมื่อพระชนมพรรษา ๓๘ พรรษา วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเสมอสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมพรรษา ๕๗ ปี ๓๓ วัน เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘

- พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุ ๖๔ พรรษา เสมอสมเด็จพระบรมปิตามหัยกาธิราชพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสมอพระชนมวาร ๒๓,๒๖๐ วัน เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้น

ฉะนั้น วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษาเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และจะทรงมีพระชนมพรรษายาวนานที่สุดในบรรดาพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้น รัฐบาลได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงได้แต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการจัดงานหรือกิจกรรมเนื่องในวโรกาสสำคัญในพุทธศักราช ๒๕ เพื่อดำเนินงานกิจกรรมในการ พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการจัดกิจกรรมสมโภชของฝ่ายรัฐบาลและเอกชน ณ บริเวณท้องสนามหลวงในวันที่ ๒๓ พฤษภาคมพ.ศ. ๒๕๔๓ และสร้างสิ่งอนุสรณ์โดยการบูรณปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงที่พระปฐมบรมมหาชนกต้นพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงสร้างไว้ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ให้สง่างามเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลนี้ นอกจากนั้น จะได้สร้างหนังสือที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลทั้งสองขึ้นเผยแพร่ต่อไป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ พระนามเดิมว่า ด้วง พระราชสมภพในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำปีมะโรง ตรงกับกันที่ ๒๐ มีนาคม พ:ศ. ๒๒๗๙ เมื่อพระชันษา ๔๖ พรรษา ทรงรับอัญเชิญจากบรรดาขุนนางข้าราชการ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันเศาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เสด็จผ่านพิภพปราบดาภิเษก เมื่อวันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อครองราชย์แล้วโปรดให้ย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามาสร้างใหม่ยังฝั่งตรงข้าม ในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ด้วยเป็นชัยภูมิทางยุทธศาสตร์ที่มั่นคงและสามารถขยายเมืองออกไปได้กว้างขวาง วันที่ ๒๑ เมษายนพ.ศ. ๒๓๒๕ ประกอบพระราชพิธียกเสาหลักเมือง สร้างพระราชธานีใหม่และพระบรมมหาราชวังเสร็จในปลายปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระราชทานนามเมืองหลวงใหม่ว่า กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ (คำว่า บวร เปลี่ยนเป็นอมร ในรัชกาลที่ ๔) ดำรงสิริราชสมบัติ ๒๘ พรรษา สวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก จ.ศ. ๑๑๗๑ ตรงกับวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ พระชนมพรรษา ๗๓ พรรษา นับพระชนมวาร ๒๖,๔๖๙ วัน

พระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระมหาราชเจ้าทั้งสองพระองค์ทรงบำเพ็ญมีความคล้ายคลึงกันคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชปณิธานจะทำนุบำรุงบ้านเมืองเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์กล่าวไว้ในหนังสือ กลอนเพลงยาวนิราศเรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง ว่า

ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี

กล่าวโดยสรุปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจหลายประการ เพื่อวางรากฐานบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นทั้งด้านอาณาจักรและพุทธจักร ทรงทำศึกสงครามเพื่อป้องกันรักษาประเทศให้พ้นจากการคุกคามของอริราชศัตรู เพื่อรักษาอาณาเขตให้มั่นคงและปลอดภัย ติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศใกล้เคียง ทำนุบำรุงเศรษฐกิจส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎรด้านกสิกรรม จัดระเบียบสังคมชำระรวบรวมกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายตราสามดวง ทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา สั่งสอนข้าราชการและราษฎรให้มั่นคงอยู่ในศีล ๕ และศีล ๑๐ ประการ ที่สำคัญ คือ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติให้รุ่งเรืองดั่งเช่นสมัยกรุงศรีอยุธยา

ส่วนพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงบำเพ็ญนั้นคล้ายคลึงกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ ทรงสร้างเอกภาพของชาติ ทรงรักษาเอกราชของประเทศ และทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด ประชาชนต่างจงรักภักดีอย่างแนบสนิทใจ พระปฐมบรมราชโองการที่ทรงเปล่งในวาระการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ในต้นรัชกาลตราบถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า ๕๐ ปีแล้ว พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเพื่อประชาชนยังคงมั่นคงมิคลอนแคลน

  1. ๑. นางสายไหม จบกลศึก ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง เรียบเรียง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ