บทนำ

ช้างเป็นสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษโดดเด่นกว่าบรรดาสัตว์อื่นๆ ด้วยรูปร่างที่ใหญ่โตและท่าทางอันสง่างาม แม้ว่าช้างจะเป็นสัตว์ป่า แต่ก็มีประวัติความสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์มาเนิ่นนาน เพราะนอกจากจะมีพละกำลังที่มหาศาลแล้ว ช้างยังมีความเฉลียวฉลาดและฝึกหัดง่าย ผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ที่มีช้างถือกำเนิดและอาศัยอยู่ ได้นำช้างมาฝึกหัดไว้ใช้งาน เซ่น ใช้แรงงานชักลากสิ่งของหนักๆ บรรทุกสิ่งของ หรือสินค้า และเป็นพาหนะในการเดินทาง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการนำช้างไปใช้ในราชการสงครามตามยุทธวิธีการศึกสมัยโบราณ เป็นราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ในการรบ และใช้เป็นกำลังสำคัญในการบุกทำลายค่ายที่ตั้งของข้าศึกศัตรู เป็นต้น

ชนชาติในดินแดนเอเชียอาคเนย์ ต่างมีคตินิยม เชื่อถือกันว่า ช้างเป็นสัตว์สำคัญ ไม่เพียงแต่จะมีคุณลักษณะของช้างธรรมดาทั่วไปที่สามารถช่วยกิจการอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้เท่านั้น หากกล่าวถึงช้างเผือก คือ ช้างที่มีลักษณะพิเศษ หรือเป็นมงคล ถือว่าเป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามโบราณประเพณีของไทย พระมหากษัตริย์พระองค์ใดได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีจำนวนมาก ประชาชนทั้งหลายก็นับถือเลื่องลือกันว่า ทรงเป็น “สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า” กอปรด้วยพระบุญญาธิการสูง พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล นำสิริมงคลอันอุดมให้แก่บ้านเมือง อาณาประชาราษฎร์จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ...รวมความว่าเมื่อมีช้างเผือกมาสู่พระบารมี ก็ถือว่ามีคุณแก่ทั้งบ้านเมือง ทวยราษฎร์ และราชบัลลังก์ร่วมกัน

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ความรู้เกี่ยวกับช้าง จึงเป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่ง ในบรรดาสรรพวิทยาการทั้งหลายของคนไทยมาแต่โบราณ โดยรับความรู้และความเชื่อ เรื่องตำราช้างของพวกพราหมณ์ จากประเทศอินเดียที่นำเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเผยแพร่ไปในกลุ่มชนชาติติพม่า มอญ ลาว เขมร รวมทั้งชนชาติไทยด้วย วิชาความรู้ที่เกี่ยวกับช้างนี้ เรียกว่า คชศาสตร์ เป็นวิชาหนึ่งในวิชาไตรเพทของศาสนาพราหมณ์ หรือ ฮินดู ถือกันว่าผู้ใดจบไตรเพทผู้นั้นเป็นผู้วิเศษ เป็นที่สรรเสริญของโลก ตำราคชศาสตร์แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ

. ตำราคชลักษณ์ กล่าวถึงประวัติการกำเนิด และรูปพรรณสัณฐานของช้างประเภทต่างๆ ทั้งที่มีลักษณะดี เรียกว่าศุภลักษณ์ และลักษณ์ชั่ว เรียกว่า ทรลักษณ์ ทุรลักษณ์ หรืออัปลักษณ์ ถ้าได้ไว้จะให้คุณ และโทษตามลักษณะของช้างนั้น

. ตำราคชกรรม กล่าวถึงวิธีการจับช้าง ฝึกหัดและสอนช้างให้เรียนรู้ เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งคติความเชื่อในเรื่องช้าง การทำพิธีกรรม กิจกรรม และบทมนต์ที่ใช้เกี่ยวกับช้าง

ตำราคชศาสตร์ หรือ ตำราช้างของไทย น่าจะมีการบันทึกเป็นความรู้ไว้นานมาแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นเมื่อใด อาจสันนิษฐานได้ว่า ก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีก็น่าจะมีการบันทึกความรู้เรื่องช้างมาแล้ว เพราะมีข้อความที่กล่าวถึงการใช้ช้างมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงว่า มีการศึกษาเล่าเรียนกันจนเกิดความชำนาญในการใช้ช้างเพื่อการศึกสงคราม และใช้งานอย่างอื่นด้วย ดังปรากฏข้อความอยู่ในศิลาจารึกหลายหลัก เช่น

...กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมือง แพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี...

(จารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๗-๙)

...เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า...

(จารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๙-๒๑)

..ครั้นวันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยาง เทียรย่อมทองงา (ซ้าย) ขวา ชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหงขึ้นขี่ไปนบพระ (เถิง) อรัญญิกแล้วเข้ามา...

(จารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๙-๒๒)

...เจ้าศรีศรัทธาราชจุฬามุนี.. ..คุณมักเรียนคุณอันพิเศษ อันหนึ่งรู้คุณช้าง อันหนึ่งรู้คุณม้า...

(จารึกวัดศรีชุม ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๗๙-๘๐)

...มาที่นี้ให้ผชุมพล ๐ พ่อขุนบางกลางหาวแลพ่อขุนผาเมืองขี่ช้างสราย...พระยาผสบกันแลกัน คืนให้ขี่ด้วยกันเหนือหัวช้าง ๐...

(จารึกวัดศรีชุม ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๖-๒๗)๑๐

...อันใดก็รู้สิ้น อันรู้ศาสตร์ อ..................อยูกตสกาจตุรงค์ กระทำยนตร์ขี่ช้าง............คล้องช้างเป็นพฤฒิบาศศาสตร์...

(จารึกนครชุม ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑-๓)๑๑

แม้ว่าจะพบข้อความในจารึกที่กล่าวถึงการใช้ช้างอยู่หลายแห่งซึ่งเป็นหลักฐานให้เชื่อได้ว่า มีการบันทึกตำราความรู้เกี่ยวกับช้างไว้แล้ว แต่เราก็ไม่พบต้นฉบับหนังสือ “ตำราช้าง” สมัยสุโขทัย หรือเก่ากว่านั้นหลงเหลือมาถึงปัจจุบันเลย ในบรรดาเอกสารโบราณซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ มีต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เรื่องตำราช้าง หรือตำราคชศาสตร์ ประมาณ ๑๐๐ กว่าเล่ม ในจำนวนตำราดังกล่าวนั้น พบว่ามี ต้นฉบับ “ตำราช้าง” บางเล่ม บันทึกด้วยรูปอักษรและอักขรวิธีเก่าถึงสมัยอยุธยาเท่านั้น

คติความเชื่อเกี่ยวกับช้าง และการบันทึกความรู้วิชาคชศาสตร์ ยังสืบทอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังได้พบต้นฉบับตำราช้าง ทั้งที่เป็นตำราคชลักษณ์ และตำราคชกรรมตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ และมีการคัดลอกตำราถ่ายทอดความรู้ต่อมา ซึ่งยังคงเหลือให้คนไทยในปัจจุบันได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าเป็นจำนวนมาก

ในวโรกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรมศิลปากรได้คัดเลือกต้นฉบับ ตำราช้าง ฉบับรัชกาลที่ ๑๑๒ มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๑ ทั้งสองรัชกาลนี้ ต่างก็มีช้างเผือก เข้ามาสู่พระบารมี จำนวนมากเช่นเดียวกัน๑๓

ต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ตำราช้าง ฉบับรัชกาลที่ ๑ เล่มนี้ ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน จึงนำภาพต้นฉบับมาลงพิมพ์ตลอดทั้งเล่ม ให้เห็นรูปอักษรและอักขรวิธีของต้นฉบับหนังสือสมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถใช้เป็นเอกสารชั้นต้นในการศึกษาค้นคว้าอ้างอิงได้พร้อมทั้งจัดทำคำอ่านตามอักขรวิธีปัจจุบัน กับได้จัดทำคำอธิบายศัพท์ และดรรชนีค้นคำไว้ท้ายเล่มด้วย

นอกจากนี้ในภาคผนวก ก. ได้นำหนังสือเรื่อง “ตำราช้างภาคที่๑”๑๔ ซึ่งเคยพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ มาจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ประกอบด้วยเนื้อหา ๓ เรื่อง คือ

(๑) ตำราลักษณะช้างคำโคลง ฉบับรัชกาลที่ ๑๑๕

(๒) พระตำรับนุ่งผ้าขี่ช้าง๑๖

(๓) ตำรานารายณ์ประทมสินธุ์ ว่าด้วยลักษณะช้าง๑๗

การนำมาพิมพ์ในครั้งนี้ ได้ตรวจสอบชำระใหม่กับต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ของหอสมุดแห่งชาติทั้งสามเรื่อง พร้อมทั้งนำภาพต้นฉบับมาจัดพิมพ์ต่อท้ายแต่ละเรื่องไว้ด้วย

ส่วนภาคผนวก ข. นำประวัติความเป็นมาของช้างสำคัญประจำรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๙ จากจารึกที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำพระองค์ ซึ่งประดิษฐ์อยู่บนฐานไพทีระหว่างปราสาทพระเทพบิดรและพระมณฑป ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มารวมไว้เป็นหลักฐาน เรื่องช้างสำคัญทั้งสองรัชกาล

  1. ๑. นางสาวจตุพร ศิริสัมพันธ์ นักภาษาโบราณ ๗ เรียบเรียง

  2. ๒. หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์, “บทนำ,” ชุมนุมคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างสำคัญในรัชกาลปัจจุบัน, สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติจัดพิมพ์เผยแพร่, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, ๒๕๓๑, หน้า ๓.

  3. ๓. สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์, ช้างไทย, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๗, หน้า ๑๔๒.

  4. ๔. ร้อยเอกหญิงประนอม ปัญญางาม, การศึกษาคชลักษณ์จากตำราช้างฉบับหลวง, เอกสารเผยแพร่กองหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๓๓, หน้า ๑

  5. ๕. เรื่องเดิม, หน้า ๒.

  6. ๖. กรมศิลปากร, จารึกสมัยสุโขทัย, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปี ลายสือไทย พุทธศักราช ๒๕๒๖, กรุงเทพฯ : ม.ป.ท., ๒๕๒๗ หน้า ๘.

  7. ๗. เรื่องเดิม, หน้า ๙.

  8. ๘. เรื่องเดิม, หน้า ๑๓.

  9. ๙. เรื่องเดิม, หน้า ๖๘.

  10. ๑๐. เรื่องเดิม, หน้า ๖๓.

  11. ๑๑. เรื่องเดิม, หน้า ๓๖.

  12. ๑๒. “ตำราช้างว่าด้วยกำเนิดและลักษณะช้างต่างๆ.” หอสมุดแห่งชาติ, หนังสือสมุดไทยดำ, อักษรไทย, ภาษาไทย-บาลี-สันสกฤต, เส้นรงค์ (ดินสอ,หรดาล), จ.ศ. ๑๑๔๔ (พ.ศ. ๒๓๒๕) ๑๑๑ หน้า, เลขที่ ๑๔, หมวดสัตวศาสตร์.

  13. ๑๓. ช้างเผือก หรือ ช้างสำคัญ ในรัชกาลที่ ๑ มี ๑๐ ช้าง และในรัชกาลที่ ๙ มี ๑๒ ช้าง

  14. ๑๔. “ตำราช้างภาคที่ ๑,” พระยาสัจจาภิรมย์ (สรวง ศรีเพ็ญ) พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงชำนาญธนสาธน์ (กรี คชนันท์) ที่เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม. ๒๔๘๑

  15. ๑๕. “ตำราลักษณะช้างคำโคลง ว่าด้วยช้างศุภลักษณะ บาปลักษณะ,” หอสมุดแห่งชาติ, หนังสือสมุดไทยดำ, อักษรไทย., ภาษาไทย, เส้นรงค์ (ทอง,หรดาล), จ.ศ. ๑๑๔๔ (พ.ศ. ๒๓๒๕), เลขที่ ๒๑, ๖๕ หน้า หมวดสัตวศาสตร์.

  16. ๑๖. “ตำรานุ่งผ้าขี่ช้าง.” หอสมุดแห่งชาติ, หนังสือสมุดไทยดำ, อักษรไทย, ภาษาไทย, เส้นหรดาล, ม.ป.ป., เลขที่ ๗๒, ๓๒ หน้า, หมวดสัตวศาสตร์.

  17. ๑๗. “ตำรานารายณ์ประทมสิทธุ์” หอสมุดแห่งขาติ, หนังสือสมุดไทยดำ, อักษรขอม-ไทย, ภาษาบาลี-ไทย, เส้นรงค์ (ดินสอ, หรดาล), ม.ป.ป., เลขที่ ๖๐, ๑๐๓ หน้า, หมวดสัตวศาสตร์.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ