คำอธิบายศัพท์

กงธนู ไม้รูปโค้งที่ใช้เป็นคันธนู หรือ คันศร
กระ จุดเล็กๆ มีสีต่างๆ
กระกูล ตระกูล สกุล วงศ์ เชื้อสาย เผ่าพันธุ์
กระชั้นควาญ ตะโพกช้าง ตำแหน่งที่ควาญนั่ง หรือท้ายช้าง
กระหมวด โขมดกลางกระหม่อมช้าง จอมประสาทศีรษะช้าง
กาหล แตรงอน
โกญจนาทเนศวร พระโกญจนาเนศวร ตามตำราสร้างโลกกล่าวถึงตำนานการกำเนิดช้างเผือกว่า พระโกญจนาเนศวรศิวบุตรเกิดจากเปลวเพลิงที่พุ่งจากพระกรรณเบื้องซ้ายของพระอัคนี

ขมวด กระหมวด โขมดกลางกระหม่อมช้าง จอมปราสาทศีรษะช้าง
เขาไกรลาศ เขาไกลาส ชื่อภูเขาเป็นที่อยู่ของพระอิศวร
โขลง ฝูงช้าง

คชศาสตร์ วิชาว่าด้วยเรื่องช้าง
คัชเชิง น่าจะเป็นคัดเชิง หมายถึง การกำกับท่าที การสยบท่าที
คัดบาศ การขดเชือกให้เป็นบ่วง หรือบาศ
คำครึม น่าจะเป็นคำครึ้ม หมายถึง เสียงก้องและเสนาะ
คุรุบาทิยาย ครูบาทิยาย ในที่นี้หมายถึง ผู้มีความรู้เรื่องช้างอย่างเชี่ยวชาญ ชำนาญสูงยิ่งกว่าหมอเฒ่า

ฆเสรียบสูง น่าจะหมายถึง ก็เสียบสูง ก็สูงตรงขึ้นไป

จตุรัมภา กล้วย ๔ ต้น ในที่นี้หมายถึง ขาช้างกลมดุจต้นกล้วย (รัมภา แปลว่า กล้วย)
จรดดล ยาวถึงกัน
จังไร จัญไร ชั่วช้า เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล

ฉวีมางษสัพศิริโส ฉวีมางสะสรรพสิริโส ผิวเนื้องามทั้งตัว
ฉันทันต์สระ สระฉัททันต์เป็นสระในป่าหิมพานต์ เป็นที่อยู่ของช้างฉัททันต์และบริวารทั้งหมด

ช้างแขนกลม ในที่นี้หมายถึง ช้างขากลม
ช้างโคบุตร ช้างลักษณะดีอยู่ในหมู่ช้างตระกูลวิษณุพงศ์
ช้างเนียม ช้างสำคัญ มีลักษณะเฉพาะคือ งาหรือขนายคุดสั้นโดยธรรมชาติ ปลายงามนลักษณะคล้ายดอกบัวตูมโผล่พ้นสนับงา ช้างเนียมมี ๓ ระดับ คือ ช้างเนียมเอกมีงาหรือขนายรูปเหมือนจาวมะพร้าว ช้างเนียมโทงายาวมากกว่า ๒ นิ้ว แต่สั้นกว่า ๕ นิ้ว ช้างเนียมตรีงายาวมากกว่า ๕ นิ้ว แต่ไม่เกิน ๖ นิ้ว ถ้างายาวเกินหน้างวงออกไปไม่จัดเป็นช้างเนียม
ช้างบาปลักขณะ ช้างบาปลักษณะ ช้างลักษณะไม่ดี ไม่เป็นมงคล
ช้างเผือก ช้างลักษณะดี ส่วนใหญ่อยู่ในตระกูลอัคนิพงศ์ เรียกตามศัพท์ว่า สารเศวต มี ๓ ระดับ คือ ช้างเผือกเอก สีตัวขาวนวลดุจสีหอยสังข์ จัดเป็นช้างมงคลคู่บ้านคู่เมือง ช้างเผือกโท สีตัวเหมือนสีดอกบัวหลวงที่โรยแล้ว จัดเป็นช้างที่เหมาะสำหรับใช้เป็นช้างศึก ช้างเผือกตรี สีตัวเหมือนใบตองอ่อนตากแห้ง จัดเป็นช้างที่งามบริสุทธิ์
ช้างศุภลักษณ์มงคล ช้างในตระกูลอัคนิพงศ์ เป็นช้างลักษณะดี เป็นมงคล
ช้างอัฏฐคช ช้าง ๘ หมู่
ข้างอัฏฐคชาธาร ช้างในตระกูลอิศวรพงศ์ ๘ ช้าง
ช้างอัฏฐิมงคล ช้างอัฏฐมงคล ช้างในตระกูลพรหมพงศ์ ๘ ช้าง กำเนิดเป็นคชชาติประจำทิศทั้ง ๘ ได้นามว่าช้างอัฏฐทิศ
ช้างอำนวย ช้างอำนวยพงศ์ ช้างที่กำเนิดจากการประสมระหว่างช้างอัฏฐทิศทั้ง ๘ ตระกูล กำหนดเป็นช้างอำนวยพงศ์ ๑๔ ตระกูล
ชานัน ฉะนั้น ฉันนั้น เช่นนั้น
ชายเหลือง ในที่นี้หมายถึง สีออกขาวอมเหลือง
ชำนั้น ฉะนั้น อันนั้น เช่นนั้น
ชำระ ทำให้หมดไป ทำให้สะอาด
เชือกเขาหัตถีลัดดา เถาวัลย์ ชื่อ หัตถีลัดดา

ซื่อ ตรง
ซื่อสะดวก ตรงยิ่ง ตรงมาก

ดุจฝนครำยวรเมฆ เหมือนฝนย้อยลงมาจากเมฆ (ครำยวร น่าจะหมายถึง รำยวร แปลว่า ห้อย ย้อย)
ดุจสีโค ในที่นี้หมายถึง เหมือนสีตัวของวัวเผือก
เดชมหิมมา เดชมหึมา อำนาจมาก
เดโชชัย ชนะด้วยอำนาจ

ตกอำนวย ตกลูก ให้ลูก ออกลูก
ตม โคลน เลน
ต่อถ้วนถึง ในที่นี้หมายถึง เพิ่มขึ้นถึง
ต่อถึง ในที่นี้หมายถึง เพิ่มขึ้นถึง
ไตรจักร ภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ หรือ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ โลกบาดาล
ไตรยตรึงษดีราช น่าจะเป็น ไตรตรึงษธิราช หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือพระอินทร์

ทรง ดำรง รักษา สืบทอด ศึกษา
ทรงคชศาสตร์ ในที่นี้หมายถึง ศึกษาวิชาว่าด้วยเรื่องช้าง
ทรหิม ในที่นี้น่าจะหมายถึง เสียงกระหึ่ม เปล่งเสียง คำรามเสียง
ท่านพรัต ในที่นี้น่าจะหมายถึง ทันตีปรัศว์ คือ สีข้างช้าง (ทันตี แปลว่า ช้าง ปรัศว์ แปลว่าสีข้าง)
ทิศทักษิณ ทิศใต้
ทิศบูรพา ทิศตะวันออก
ทิศปัจจิม ทิศตะวันตก
ทิศพายัพ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ทิศหรดี ทิศตะวันตกเฉียงใต้
ทิศอาคเนย์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้
ทิศอีสาน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ทิศอุดร ทิศเหนือ
เท้าและงวงงาหางลึงค์ทั้งเก้า ในที่นี้หมายถึงเท้า ๔ งวง ๑ งา ๒ หาง ๑ ลึงค์ ๑ รวม ๙

ธุรพาศ ในที่นี้น่าจะหมายถึง ทุวพาห คือบ่าทั้งสองข้าง

นขา นข แปลว่า เล็บ
นพภากาศ นภากาศ ท้องฟ้า อากาศ
นาคบาศ นาคที่ขดวนเป็นบาศ
นิมนต์ อัญเชิญ

บาศพันธ์ เชือกบาศ เชือกที่ทำเป็นวงรูดได้

ปรบ ในที่นี้หมายถึง อาการตบใบหูของช้าง
ประการ อย่าง ชนิด
ประชันขวาน ในที่นี้น่าจะหมายถึง กระชั้นครวญ คือ ตะโพกช้าง
ประเทือง ในที่นี้หมายถึง ตั้งท้อง หรือตั้งครรภ์
ประสม รวมเข้า
ประสิทธิ์ ความสำเร็จ ทำให้สำเร็จ
ปัทมราช พลอยสีแดง ทับทิม
ป่าพระหิมพานต์ ชื่อป่าหนาวแถบเหนือของอินเดีย หรือชมพูทวีป
เปือก ฟองหรือสิ่งที่เกิดเป็นฝ้าขึ้นจากโคลนตม

ผนดท้อง ขนดท้อง รอยขวางที่ท้องช้าง
แผ้ว ทำให้เตียน

ฝักบัว เป็นคำเรียกเท้าช้างที่มีลักษณะเหมือนฝักบัว

พญาเทพกรรม เทพเจ้าผู้มีสิทธิอำนาจในเรื่องช้าง บางตำราเรียกว่า เทพกรรม หรือพระกรรมบดีก็มี จัดเป็นเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากพระพิฆเนศวรและพระโกญจนาเนศวร ทำเป็นรูปประติมากรรมอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นประธานในพิธีคชกรรม โดยตั้งเครื่องบูชาต่างๆ แตกต่างกันไปตามกิจกรรมที่ประกอบพิธีขึ้น ในตำราคชลักษณ์พญาเทพกรรม มีรูปเป็นเทวดาอยู่ในท่านั่งสมาธิราบบนอาสนะมี ๖ กร แต่ละกรอยู่ในตำแหน่งต่างๆ กัน กรขวาบนถือศีรษะนาค กรล่างถือหางนาคซึ่งขดเป็นวงเหมือนบาศ กรตรงกลางยกขึ้นเสมอพระอุระ กรด้านซ้ายบนถือศีรษะนาค กรล่างถือหางนาคซึ่งขดเป็นวงเหมือนบาศกรที่เหลืออยู่บนพระเพลา พญาเทพกรรม มีฤษีเป็นบริวาร ๒ ตน คือ ฤาษีทรภาศเทพกรรม หรือธรรมเทพ และฤษีสิทธิพระกรรม
พรรณ ชนิด สี ผิว ขนาด
พรหมพงศ์ ชื่อตระกูลช้างที่กำเนิดจากเทวฤทธิ์ของพระพรหม ลักษณะเป็นช้างวรรณะพราหมณ์
พระดำเริย ช้าง (มาจากรูปศัพท์ ดำรี ภาษาเขมรออกเสียงว่า ดำเริย)
พระบดิวบุตร น่าจะหมายถึง พระศิวบุตร
พระผู้เป็นเจ้า ในที่นี้น่าจะหมายถึงพระศิวะ
พระพิฆเนศวรมหาวินาย นามหนึ่งของพระพิฆเณศวร
พระมณเฑียร เรือนหลวง ที่อยู่ของพระเจ้าแผ่นดิน
พระฤาษีทูลพาศ พระฤาษีทรภาศเทพกรรม เป็นบริการเบื้องขวาของพญาเทพกรรม
พระศิพบุตรพิฆเนศวร พระศิวบุตรพิฆเนศวร คือพระพิฆเนศวร ตามตำราสร้างโลก กล่าวถึงตำนานการกำเนิดช้างเผือกว่า พระพิฆเนศวรเกิดจากเปลวเพลิงที่พุ่งจากพระกรรณเบื้องขวาของพระอัคนี
พระศิวกรรม ๑.พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ๒.สิ่งที่พระศิวะทรงกระทำ
พระหัสบดี น่าจะหมายถึง พระหัตถบดี คือ พระศิวะ
พราย พร้อย ประไปทั่ว
พฤตฒิบาศ หัวหน้าพราหมณ์ทำพิธีเกี่ยวกับการจับช้างและปัดเสนียดจัญไร รองลงมาเรียกว่า หมอเฒ่า และหมอช้างตามลำดับ
พิฆ พิฆเนศวร ในที่นี้หมายถึง พระโกญจนาเนศวรศิวบุตร
พิไล วิไล งาม
พิษณุพงศ์ วิษณุพงศ์ ชื่อตระกูลช้างที่กำเนิดจากเทวฤทธิ์ของพระวิษณุ ลักษณะเป็นช้างวรรณะแพศย์
เพลาสมา เท่าจำนวนขา ในที่นี้หมายถึง สี่ขา
ไพรปาก ขอบปาก

โภไคย ทรัพย์สมบัติ

มนตร์ คำศักดิ์สิทธิ์ คำสำหรับสวด คำสำหรับเสกเป่า
มูตร ปัสสาวะ
มูล อุจจาระ

ยถาสุข ตามความสุข

รังสี สว่าง
รัถยา ทางเดิน
รับพระราชทาน ในที่นี้หมายถึง กิน
รู้ปากฤติ น่าจะเป็น คำ รูปกฤติ แปลว่า รูปร่าง รูปทรง
โรมจาม ในที่นี้น่าจะหมายถึงขนละเอียดดั่งขนจามรี (โรม แปลว่า ขน จามรี คือ สัตว์ ๔ เท้า ชนิดหนึ่งอยู่ในพวกโค มีขนละเอียด หางยาวเป็นพู่)

ฤษีทรภาศเทพกรรม บริวารเบื้องขวาของพญาเทพกรรม
ฤษีเทพกรรม บริการเบื้องขวาของพระโกญจนาเนศวรศิวบุตร
ฤษีเทพบุตร บริวารเบื้องซ้ายของพระโกญจนาเนศวรศิวบุตร
ฤษีสิทธิพระกรรม บริวารเบื้องซ้ายของพญาเทพกรรม

ลุ้ย ในที่นี้หมายถึง สะดวก คล่องแคล่ว

วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๒๕ เลขบอกปักษ์ข้างแรมในที่นี้ น่าจะคลาดเคลื่อน เพราะตามปฏิทินเทียบปีสุริยคติของกรมวิชชาการ กระทรวงธรรมการ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นแรม ๑๒ ค่ำ

ศุภลักษณ์ฉวีวรรณนพคุณ ลักษณะดีเป็นมงคลมีผิวงามดั่งทองเนื้อเก้า

สงสถาน สัณฐาน ลักษณะ ทรวดทรง (ภาษาสันสกฤตใช้ สํสถาน)
สรรพสิทธิ์ สำเร็จทั้งปวง
สรวม เข้าแทนที่ ในที่นี้หมายถึง เทวดาที่ประจำอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายช้าง
สหัส หนึ่งพัน
สำไล่ น่าจะเป็นซ้ำไล้ หมายถึง ทาทับ (ซ้ำ แปลว่า ซ้อน, ทับ ไล้ แปลว่า ฉาบ ทา)
สิทธิ ความสำเร็จ
สิริผสม รวม
สิลาบาทที่นั่ง พระที่นั่งศิลาบาท ศิลาบาท หมายถึง แท่นหินมีเชิง
สีเงินยวง สีเงินขณะหลอมละลาย
สีจักษุวิฬาร์ สีเพชรตาแมว สีเหลืองนวล
สีตัวดั่งเขาไกรลาส สีตัวขาวเหมือนสีเขาไกรลาส
สีตัวดั่งนิลาอังชัน สีตัวม่วงแก่ ครามแก่เหมือนสีดอกนิลอัญชัน
สีตัวดั่งไม้กฤษณา สีตัวดำเหมือนสีไม้กฤษณา
สีตัวดั่งสีปีกกา สีตัวดำเหมือนสีปีกกา
สีตัวดั่งสีอุทกวารี สีตัวเหมือนสีน้ำในแม่น้ำลำคลอง
สีตัวอังชัน สีตัวม่วงเหมือนสีดอกอัญชัน
สีเถ้าไม้หลัว สีขี้เถ้าของฟืนไม้ไผ่ (ไม้หลัว หมายถึง ไม้ไผ่)
สีสุวรรณมาศ สีทอง
สีหงสบาท สีแดงปนเหลือง หรือ สีแสด
สีหญ้าแพรก สีเขียวอ่อน
เสียงเวสันปัด เสียงเป่าเขาสัตว์ เวสัน ในที่นี้น่าจะหมายถึงวิษาณ แปลว่า เขาสัตว์ ปัด แปลว่า ปัดเป่า เป่า พัดไป

หน ทาง ทิศ
หัตถาจารย์ หัศดาจารย์ อัศฎาจารย์ อัตถาจารย์ พราหมณ์ผู้ทำหน้าที่ฝึกหัดช้างและพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับช้าง รองลงมาเรียกว่า ครูหัดช้าง และครูช้างตามลำดับ
หางบังคลอง หางบังทวาร (บัง แปลว่า ปิด คลอง แปลว่า ทาง ในที่นี้หมายถึง ปากทวาร)
หิมภา หิมพานต์
เหง้าบัว ส่วนของโคนไหลบัวที่อยู่ในดิน
ใหญ่ดุจเมฆสนิท ใหญ่เหมือนจะเท่าเทียมเมฆ

อัคนิพงศ์ ช้างที่พระอัคนีหรือพระเพลิงทรงสร้างด้วยเทวฤทธิ์ ลักษณะเป็นช้างวรรณะศูทร ประกอบด้วยช้างศุภลักษณ์ (ลักษณะดี) และช้างทุรลักษณ์ (ลักษณะร้าย)
อัณฑโกส อวัยวะเพศผู้ของช้าง
อาทิสรรค์ เนรมิตรขึ้นครั้งแรก แรกสร้าง (อาทิ แปลว่า ต้น แรก สรรค์ แปลว่า สร้าง เนรมิตร)
อิศวรพงศ์ ชื่อตระกูลช้างที่กำเนิดจากเทวฤทธิ์ของพระอิศวร ลักษณะเป็นช้างวรรณะกษัตริย์
ไอศุริย ไอศุรย์ ไอศวรรย์ ความเป็นเจ้า เป็นใหญ่ อำนาจ ความเป็นเจ้าแผ่นดิน
  1. ๑. นางสาวเอมอร เชาวน์สวน นักภาษาโบราณ ๕ ค้นคว้าและเรียบเรียง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ