พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระนามเดิมว่า ด้วง หรือ ทองด้วง เสด็จพระราชสมภพที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๐๙๘ ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๒๗๙ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๐๑) ทรงเป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลัง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับ ท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระเชษฐภคินีสองพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระเทพสุดาวดี และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระขนิษฐาหนึ่งพระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี พระเชษฐาหนึ่งพระองค์ คือพระเจ้า รามณรงค์ พระราชอนุชาสองพระองค์ คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา

เมื่อทรงเจริญพระชันษา ทรงเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต เมื่อพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา ได้เสด็จออกทรงผนวช ณ วัดมหาทลาย เป็นเวลา ๑ พรรษา หลังจากทรงลาผนวชแล้วกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมายุ ได้ ๒๕ พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ (พ.ศ. ๒๓๐๑ - ๒๓๑๐) พระมหากษัตริย์ลำดับสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็น หลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี

ในพุทธศักราช ๒๓๑๑ ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปปราบเจ้าพิมายเป็นครั้งแรก โดยมีหน้าที่ตีด่านขุนทดและด่านกระโทก เมื่อเสร็จศึกสงครามครั้งนี้แล้ว ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ

ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่างๆ เช่นเขมรและลาวได้สำเร็จอีกหลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบำเหน็จความชอบให้สถาปนาบรรดาศักดิ์สูงขึ้นโดยลำดับ กล่าวคือพุทธศักราช ๒๓๑๓ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และพุทธศักราช ๒๓๑๙ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลกมหิมาทุกนัคราระอาเดช นเรศรราชสุริยวงศ์ องค์อัครบาทมุลกากร บวรรัตนปรินายก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม

ครั้นพุทธศักราช ๒๓๒๔ ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชอัธยาศัยผิดปกติไปจากเดิม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรและพระภิกษุทั้งหลาย พระยาสรรค์จึงก่อกบฏขึ้นแล้วควบคุมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปกักขังไว้ ได้เกิดการสู้รบกันระหว่างฝ่ายบ้านเมืองกับฝ่ายกบฏ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งยกทัพไปปราบจลาจลที่เมืองเขมรต้องยกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงถูกสำเร็จโทษแล้ว มุขอำมาตย์ราชมนตรีและราษฎรทั้งหลาย ก็พร้อมกันกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ให้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์สืบไป เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ ในขณะที่มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษาต่อมาได้ทรงประกอบการพระราชพิธีปราบดาภิเษก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ และทรงสถาปนาพระราชวงศ์จักรี ตามโบราณราชประเพณี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ย้ายพระนครมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเยื้องกับกรุงธนบุรีพระนครแห่งเดิม ด้วยมีพระราชดำริว่าฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะภูมิประเทศเป็นชัยภูมิดีกว่าฝั่งตะวันตก ทั้งการป้องกันข้าศึกและการขยายพระนครในอนาคตซึ่งจะสามารถทำได้โดยสะดวก ในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด บุณยรัตพันธุ์) กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปจัดกะที่สร้างพระนครใหม่ทางฝั่งตะวันออก ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๔๔ เวลา ๐๖.๕๔ นาฬิกา ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นในบริเวณที่ซึ่งพระยาราชาเศรษฐี และชาวจีนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่แต่ก่อนตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี โปรดให้พระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนเหล่านั้นย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง ในชั้นแรก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อสร้างพระราชนิเวศน์มนเทียรสถานล้อมด้วยปราการระเนียดไม้ไว้ก่อน พอแก่การตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป และเป็นที่ประทับชั่วคราว เมื่อทรงประกอบการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขปเสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวรสถานมงคลและพระนครต่อไป การก่อสร้างในครั้งนั้นได้มีการเกณฑ์ไพร่หลวงและไพร่เลกหัวเมืองให้ทำอิฐขึ้นใหม่บ้างและให้รื้อเอาอิฐกำแพงที่กรุงศรีอยุธยาลงมาบ้าง เพื่อสร้างกำแพงพระนครและพระบรมมหาราชวัง และเกณฑ์ไพร่เลขหัวเมืองเขมรกับเวียงจันทน์ และข้าราชการหัวเมืองเข้ามาช่วยกันขุดรากก่อกำแพงพระนคร สร้างป้อมต่างๆรอบพระนครพร้อมทั้งก่อกำแพง และสร้างป้อมประตูรอบพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างปราสาทราชมนเทียร และสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

การสร้างพระนครใหม่นี้ แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสมโภชเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร พร้อมกับการสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา ๓ วัน พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องด้วยนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรอันเป็นมงคลยิ่งต่อบ้านเมืองว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ เรียกโดยย่อว่า กรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการทะนุบำรุงและรักษาราชอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองและดำรงอยู่อย่างมั่นคง จะเห็นได้ว่าในด้านการสงคราม ต้องทรงทำศึกสงครามป้องกันราชอาณาจักรและขยายพระราชอาณาเขตหลายครั้ง ด้านกฎหมายทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้มีความรู้ในราชประเพณีและการบริหารราชการแผ่นดิน ร่วมกันชำระและปรับปรุงการรางระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการไว้เป็นหลักฐาน รวมทั้งการชำระพระราชกำหนดกฎหมายที่ยืดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณให้ถูกต้อง และรวมกฎหมายที่ทรงตราขึ้นใหม่เข้าไว้ด้วยกัน แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง หรือ ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ ด้านศาสนาทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ตรากฎหมายพระสงฆ์ จัดระเบียบพระสงฆ์ใหม่สร้างพระอารามขึ้นใหม่ และมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ ที่มีอยู่แต่เดิม ทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองเป็นจำนวนมาก ด้านวัฒนธรรมทรงฟื้นฟูศิลปกรรม และสถาปัตยกรรม ทรงฟื้นฟูขนบธรรมเนียมและราชประเพณีต่างๆ ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประเพณีการเล่นสักวา ประเพณีเทศน์มหาชาติ ประเพณีเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นักปราชญ์ราชกวีช่วยกันแปล ชำระ เรียบเรียง พระราชพงศาวดารและวรรณคดีต่างๆ ตลอดรัชกาล เช่น พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พงศาวดารเหนือ วรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ไซ่ฮั่น ราชาธิราช ไตรภูมิโลกวินิจฉัย รัตนพิมพวงศ์สังคีติยวงศ์ เป็นต้น อีกทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้หลายเรื่อง เช่น กลอนบทละครเรื่องรามเกียรติ์ กลอนบทละครเรื่องอิเหนา กลอนบทละครเรื่องอุณรุท กลอนเพลงยาวนิราศเรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง เป็นต้น

พระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงปฏิบัตินั้น กล่าวได้ว่า มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเป็นรากฐานและแบบอย่างของการพัฒนาความเป็นชาติไทยสืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ