จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๗

๏ ข้าพเจ้าหลวงอุดมสมบัติ จดหมายมายังหลวงทิพอักษรเสมียนตรา ได้นำขึ้นกราบเรียนแต่ท้าวพระกรุณาเจ้าให้ทราบ ด้วยข้าพเจ้าได้จดหมายฝากออกมากับจมื่นอินทรเสนา ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ครั้ง ๑ รองศุภมาตราเพชรบุรี ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ ครั้ง ๑ ขุนฤทธิรณไกรญวน ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ครั้ง ๑ หมื่นจงสรสิทธิตำรวจ ขุนพิทักษ์สงครามสงขลา ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ครั้ง ๑ หมื่นนิกรญวนเมืองจันทบุรี ณ วันเดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ ครั้ง ๑ เข้ากัน ๕ ครั้ง แจ้งอยู่ในจดหมายแต่ก่อนนั้นแล้ว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ หาได้ทรงตรัสราชการเมืองไทร เมืองกลันตัน ไม่ ๚

๏ ณ วันเดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือจีนเผือกเข้าไปถึงลำ ๑ ท้าวพระกรุณาให้ถือหนังสือเข้าไปว่า ท้าวพระกรุณามาถึงเมืองสงขลา ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ครั้น ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เรือนายทัพนายกองมาถึงอีก เข้ากัน ๑๕ ลำ เป็นคน ๑,๕๕๗ คน ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ท้าวพระกรุณาให้จีนเผือกถือหนังสือไปจากเมืองสงขลา จีนเผือกไปพบเรือเจ้าพระยายมราชที่ปากน้ำเมืองชุมพร ณ วันเดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ เจ้าพระยายมราชฝากจดหมายเข้าไปถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับ ๑ จึงทรงตรัสว่าเออ ไปถึงสงขลาเสียได้แล้วค่อยสบายพระทัย สิ้นทรงพระวิตกลงทีเดียว เป็นกระไร พระยาศรีพิพัฒน์อยู่ดีอยู่ดอกหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าอยู่ดีอยู่ ทรงพระสรวลตรัสว่า เป็นกระไร ไปถึงสงขลาแล้วหายร้อนหายรนที่อบไอหายขึ้งโกรธสบายบ้างแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จีนเผือกว่าดูสบายดีอยู่ ทรงพระสรวลตรัสว่า มาถึงสงขลาสบายแล้วก็หายขึ้งโกรธลงนั่นสิ แล้วทรงตรัสถามว่า ๆ ความอะไรเข้าไปบ้างหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่มีความอะไรเข้าไปหามิได้ มีแต่ความบอกว่าเรือนายทัพนายกองออกมาถึงแล้ว ๑๕ ลำ ทรงตรัสถามว่า มันเข้าไปแต่วันไร เมื่อวันมันเข้าไปนั้น เรือกองทัพใครไปถึงอีกบ้างหรือไม่ พระนรินทร์ผินหน้าลงมาเรียกเอาหนังสือบอกขึ้นไปดู รับสั่งว่า พระนรินทร์จะรู้อะไร แต่จะจดลงไว้ว่า เข้าไปวันนั้น เรือคนนั้นมาถึงวันนั้น บ้างก็ไม่มี พระยาพิพัฒน์ช่วยไถ่ถามมันดูทีเถิด พระยาพิพัฒน์ถามจีนเผือกแล้วกราบทูลว่า จีนเผือกเข้าไปแต่เมืองสงขลา ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ว่าหาเห็นเรือกองทัพออกมาถึงอีกไม่ ทรงตรัสว่า ทำไมจึงเรี่ยราดอยู่ ไม่ใคร่จะมาถึงเข้าเลย อย่างนี้แล้วก็ชอบแต่จะถึงติด ๆ กันมาทุกวันจึงจะชอบ แล้วรับสั่งว่า เอาหนังสือมาอ่านไปเถิด ครั้นนายบริบาลอ่านหนังสือบอกถวายขึ้นว่า ข้าพระพุทธเจ้า พระยาพิพัฒน์รัตนโกษาบอกมา ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองฯ นั้น ทรงพระสรวลตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า บอกเข้ามาคราวนี้ให้กราบทูลทีเดียวหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า บอกเข้ามาให้กราบบังคมทูลพระกรุณาทีเดียว แล้วอ่านหนังสือต่อไปถึงที่ข้อว่าเรือพระยาเพชรบุรีออกมาถึงเมืองสงขลา ทรงตรัสถามว่า อย่างไรเรือพระยาเพชรบุรีออกมาก่อนแล้ว คิดว่าจะถึงสงขลาเสียก่อน มิรู้กลับมาถึงทีหลังเสียอีก เรือกองทัพที่จะล่วงมาข้างหน้าถึงก่อนนั้นมีบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่มีเรือใครล่วงมาถึงก่อนหามิได้ มาถึงก่อนก็มีเรืออมรแมนสรรค์ทีเดียว เรือนายทัพนายกองซึ่งล่วงมาก่อน ๒ วัน ๓ วันนั้น เรืออมรแมนสรรค์ตามทันเลยมาเสียหมด ทรงพระสรวลตรัสว่า เรือก็คล่องรวดเร็วนักหนา เป็นไรจึงไม่ชมเรือบ้างเลย กลับมาติเตียนว่าเรือใหญ่ผู้คนร้อนอบไอเสียอีก แล้วรับสั่งสั่งให้อ่านหนังสือถวายต่อไป ครั้นอ่านจบแล้ว ทรงตรัสที่ข้อว่า แล้วท้าวพระกรุณาจะยกลงไปจัดแจงการเมืองไทรนั้นรับสั่งว่า อย่าเพ่อไปก่อน จะไปข้างไหน ยังไม่ได้พบเจ้าพระยานครฯ ต้องพบพูดจากับเจ้าพระยานครฯ เสียก่อน หรือว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เมื่อจีนเผือกไปจากเมืองสงขลา ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำนั้น จีนเผือกไปพบเรือพวกรังนก ซึ่งไปส่งพระปราณกลับมาถึงที่ปากน้ำเมืองสงขลา บอกว่าพระปราณมาทางบกกับเจ้าพระยานครฯ จะมาเมืองสงขลา ว่าเจ้าพระยานครฯ กับพระปราณได้ยกออกจากเมืองนครฯ มาได้ ๔ วันแล้ว ทรงพระสรวลตรัสว่า เจ้าพระยานครฯ มาหาสิน่ะ เป็นไรจะไม่มาหา ถึงเจ็บไข้อยู่บ้างอย่างไรก็คงมาหาให้พบนั่นแหละ ถ้าให้มาหาพระยาสงขลาแล้วเห็นเจ้าพระยานครฯ จะไม่มาหาจริง แล้วอ่านจดหมายเจ้าพระยายมราชถวาย ในจดหมายนั้นว่า ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เจ้าพระยายมราชได้ใช้ใบจากปากน้ำเจ้าพระยาถึงเกาะสีชัง ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ครั้น ณ วัน เดือน ๕ แรม ค่ำ ๑ แรม ๒ ค่ำ ได้ใช้ใบไปจากเกาะสีชัง ลมเป็นลมสำเภาบ้างลมพัทยาบ้าง ก้าวลงไปเกาะครามหาได้ไม่ กลับมาทอดอยู่ที่เกาะสีชังอีก ณ วันเดือน ๕ แรม ๓ ค่ำฝนตกหนัก ครั้นเพลาบ่ายลมเป็นลมว่าว ใช้ใบออกจากเกาะสีชัง แล่นก้าวข้ามมา ๒ วัน ณ วันเดือน ๕ แรม ๕ ค่ำถึงเจ้าลาย แล้วใช้ใบมาถึงปราณแวะเรือเข้าตักน้ำที่ปราณครั้งหนึ่ง ที่แม่รำพึงครั้ง ๑ ณ วันเดือน ๖ แรมค่ำ ๑ มาถึงชุมพร ได้ใช้ใบออกจากชุมพรมาถึงเมืองสงขลา ณ วันเดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ ครั้นอ่านจดหมายถวายจบแล้ว ทรงตรัสว่า พึ่งมาถึงชุมพร ณ วันเดือน ๖ แรมค่ำ ๑ เมื่อไรจะมาถึงเมืองสงขลา เรือจีนซึ่งพวกสงขลาให้เข้าไปซื้อข้าวที่กรุงฯ ก็ว่าพบอยู่ที่พงัน พบไล่กันคนละวันกับเรืออมรแมนสรรค์ คิดว่าจะมาถึงติด ๆ ตามกันมาทันเล่า มิรู้ยังห่างไกลกันนักหนาทีเดียว แล้วทรงตรัสถามว่า มันเข้าไปพบเรือเจ้าพระยายมราชที่ชุมพรลำเดียวเท่านั้นดอกหรือ ต่อเข้าไปมันพบที่ไหนบ้างอีกหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า พบเรือเจ้าพระยายมราชที่ชุมพรนั้นลำเดียว เข้าไปพบเรืออย่างที่ปะทิวอีก ๒ ลำ แต่หาทราบว่าเรือใครไม่ ทรงตรัสว่า ยังพากันเรี่ยราดอยู่ทีเดียว หาใคร่จะมาถึงได้ไม่เลย สิ้นทรงพระวิตกไปแล้ว ยังจะมาทรงพระวิตกอยู่ด้วยเรือเจ้าพระยายมราชอีกเล่า แล้วทรงตรัสถามจีนเผือกว่า เป็นกระไร พระยาศรีพิพัฒน์อยู่สบายอยู่หรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า อยู่สบายอยู่ ทรงตรัสถามว่า ดูซูบผอมลงบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ไม่ซูบผอมหามิได้ คงอยู่อย่างเดิม ทรงตรัสถามว่า ผักปลามีกินอยู่หรือ ๆ อดอยากอะไรบ้าง พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ไม่สู้อดอยากหามิได้ ทรงตรัสถามว่า กินข้าวได้อยู่หรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่ารับพระราชทานได้อยู่ ทรงพระสรวลตรัสว่าไปชลํ่าชเลอย่างนี้ไม่เมามายแล้วกินข้าวได้นักหนา ถึงจะมีไม่มีอะไรก็กินเอร็ดอร่อยไปทีเดียว เมื่อครั้งก่อนนั้น ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินออกมาทะเล ทรงเสวยได้มากเอร็ดอร่อยมีรสนักหนา แล้วทรงตรัสถามว่า มาถึงสงขลาแล้ว ขึ้นมาตั้งอยู่ที่ไหน ทำเรือนทำระเนียดอยู่แล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ขึ้นมาตั้งอยู่ที่ริมทะเลข้างทางจะไปเขาเก้าเซ่ง ปลูกเรือนขึ้นอยู่ ๓ หลัง ได้ขึ้นอยู่เรือนแล้ว ทรงตรัสว่า ได้ขึ้นอยู่เหย้าอยู่เรือนก็เห็นจะค่อยสบายใจแล้ว ๆ ทรงตรัสถามว่า เรือนายทัพนายกองซึ่งมาถึงแล้วนั้น ดีอยู่ด้วยกันหมดดอกหรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า อยู่ดีอยู่ด้วยกันหมด ทรงตรัสว่า มาถึงเสียได้แล้วค่อยสบายพระทัยลงทีเดียว แล้วทรงตรัสถามว่า กำปั่นแกล้วกลางสมุทรนั้น เมื่อไรจะให้เข้าไป เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จัดแจงจะให้เข้าไปอยู่แล้ว ยังหาพระยาสงขลา พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ กลับมา จะไล่เลียงถามดูที่ครัวโทษซึ่งจะให้เข้าไปกับกำปั่นแกล้วกลางสมุทรอยู่ ทรงพระสรวลตรัสว่าเออ ควรอยู่แล้ว แล้วทรงตรัสถามจีนเผือกว่า เป็นกระไร เองมาถึงสงขลาแล้วได้เที่ยวมาตามบ้านตามเมืองรู้ราคาฝิ่นซื้อขายกันเท่าไรอย่างไร พระนรินทร์ถามแล้วกราบทูลว่า ราคาฝิ่นที่เมืองสงขลาซื้อขายกันนั้น ฝิ่นดิบชั่งละตำลึง ๑ บาท ฝิ่นสุกตำลึงละ ๓ สลึง ทรงตรัสกับเจ้าคุณหาบนว่า ถูกนักหนาทีเดียว เป็นกระไรพระยาพิพัฒน์ไล่เลียงถามมันดูหรู มันเอาเข้าไปบ้างหรือไม่ ให้มันว่าไปตามๆ จริงอย่าปด พระยาพิพัฒน์ซักถามแล้วกราบทูลว่า ไม่มีเข้าไปหามิได้ ทรงตรัสถามว่า ก็ลูกเรือลูกแพมันไม่มีเข้าไปบ้างหรือ มันก็คงมีเข้าไปสูบบ้างนั่นแหละ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า จีนลูกเรือมีเข้าไปสูบเป็นฝิ่นสุกหนักตำลึง ๑ ก็ว่าสูบเสียหมดสิ้นแล้ว จึงรับสั่งสั่งพระนรินทร์ว่า แล้วดูไล่เลียงถามมันต่อไปอีกสักหน่อย ว่ามันมีมาสูบแต่ตำลึงหนึ่งเท่านั้นหรือ ๆ มันมีมามากอย่างไร ถ้ามันมีมามากก็ให้จัดแจงเอามาส่งเสียให้สิ้น ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ หาได้ทรงตรัสราชการเมืองไทรเมืองกลันตันไม่ ทรงตรัสไปด้วยเรื่องชำระฝิ่น ว่าฝิ่นที่สงขลานั้นราคาถูก เห็นจะมีมากนักหนาแล้ว ที่กรุงฯ ก็พอจะชำระให้เด็ดขาดไปได้ แต่ที่สงขลานั้นยังไม่เด็ดขาด อย่างไร ๆ ก็คิดชำระเสียให้เด็ดขาดจงได้ ถึงจะกลับเข้าไป ณ กรุงฯ ได้อะไรเข้าไปก็ไม่เหมือนหนึ่งได้ฝิ่นเข้าไปหมดนั่นแหละ ถ้าได้ฝิ่นเอาใส่เรืออมรแมนสรรค์เข้าไปกบลำได้แล้ว ดีนักหนาทีเดียว ๚

๏ ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ แรม ๑๒ ค่ำ หาได้ทรงตรัสราชการเมืองไทรเมืองกลันตันไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๓ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า มีอะไรบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือขุนฤทธิรณไกรเข้าไปแต่เมืองสงขลาไปถึงลำ ๑ ขุนฤทธิรณไกรแจ้งว่าท้าวพระกรุณาให้ถือหนังสือบอกเข้าไป ทรงพระสรวลตรัสถามว่า ถือหนังสือบอกอะไรเข้าไปประเดี๋ยว ๆ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า บอกเข้าไปด้วยความเมืองกลันตัน ว่าพระยากลันตันมีหนังสือมาขอกองทัพให้ยกไปช่วย ว่าตนกูปสา พระยาบาโงย กับพรรคพวกคิดตั้งค่ายล้อมเมืองกลันตันไว้ ให้ยกไปช่วยแต่ในเดือน ๖ ปีให้ทัน ถ้าไม่ทันแล้ว เมืองกลันตันจะยับเยินเสีย ทรงตรัสถามว่า หนังสือพระยากลันตันให้มาขอกองทัพคราวนี้ กับให้มากับกำปั่นวิทยาคมนั้น ใครจะมาก่อนมาหลังแก่กัน เป็นกระไรพระนรินทร์จำได้หรือไม่ พระนรินทร์นิ่งอยู่ ทรงตรัสว่า ไม่จดหมายจำไว้บ้างเลย ลืมไปเสียหมดทีเดียว พระนรินทร์กราบทูลว่า หนังสือพระยากลันตันอยู่ข้างกรมท่า ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ ๆ กราบทูลว่าแคลงไป จำไม่ได้หามิได้ ทรงตรัสว่า มีแต่ลืมไปเสียหมด คำให้การนายกำปั่น ข้างกลาโหมก็มี จะจดหมายจำลงไว้บ้างก็ไม่จด พากันลืมไปเสียสิ้นทั้งนั้น แล้วทรงตรัสว่า หนังสือพระยากลันตันให้มากับกำปั่นนั้น ก็ราวเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๙ ค่ำ หรือกระไรนั่นแหละ กับให้มาขอกองทัพนั้น จะให้มาพร้อมกันหรือ ๆ จะมาก่อนมาหลังกันอย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า หนังสือพระยากลันตันให้มากับกำปั่นนั้นแคลงอยู่ ถ้าไม่เป็นให้มาวันเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ก็เห็นจะเป็นวันขึ้น ๙ ค่ำ แต่หนังสือซึ่งให้มาขอกองทัพนั้น ให้มา ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ แต่ได้มาจากกลันตันวัน ๙ ค่ำ ทรงตรัสว่า ให้มาก็ราวคราวให้มากับกำปั่น หรืออย่างไรนั่นแหละ จะก่อนจะหลังกันก็ราวสักวันหนึ่งสองวันเท่านั้น แต่ซึ่งให้มาขอกองทัพนั้น ฟังดูว่าเป็นร้อนกว่ากำปั่นนักหนาทีเดียว ไม่พอที่เอาเลย เป็นเหตุด้วยเจ้าพระยานครฯ ปล่อยอ้ายพระยาบาโงยไปทีเดียว การจึงเป็นขึ้นได้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระยากลันตันมีหนังสือมาคราวนี้ ก็มีไปถึงเจ้าพระยานครฯ ด้วยฉบับ ๑ ว่าแต่ก่อนก็ได้มีหนังสือไปถึงเจ้าพระยานครฯ ทราบอยู่แล้ว พระยากลันตันคอยฟังเจ้าพระยานครฯ อยู่ก็หายเงียบไป ท้าวพระกรุณาเห็นการเมืองกลันตันมากมายอยู่ จะไว้ใจมิได้ จึงจัดให้หลวงสรเสนีกับขุนวิจิตรวาทีล่าม คุมไพร่พล ๘๐ คนขี่กำปั่นแกล้วกลางสมุทรลงไปฟังราชการก่อน ครั้นจะให้กองทัพยกลงไป ก็ยังไม่ทราบกระแสพระราชดำริประการใด จึงบอกให้ขุนฤทธิรณไกรถือเข้าไปกับจดหมาย เข้าไปขอรับพระราชทานฟังกระแสพระราชดำริ ทรงตรัสว่า บอกไปปรึกษาหารืออะไรเมื่อจวนค่ำปานนี้ จะโปรดพระราชทานกระแสพระราชดำริออกมาจะทันหรือ ทางก็ไกล การอย่างนี้อย่างไร ๆ ก็สุดแต่ปัญญาแม่ทัพคิดจัดแจงไปให้ทันท่วงที อย่าให้เสียราชการได้จึงจะดี แล้วทรงตรัสถามว่า หลวงสรเสนีซึ่งให้ลงไปเมืองกลันตันนั้น ที่ว่าเป็นบุตรพระยาราชวังสรรค์ เป็นหลวงณรงค์อยู่วังหน้าก่อนนั้นหรือ เป็นกระไร มันลงไป พวกอ้ายตนกูปสาจะกล้าเข้าทำเอาไทยทีเดียวหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า แต่ตนกูปสานั้นไม่ทำหามิได้ ถ้าพบปะพระยาบาโงยเข้าเห็นจะไม่ฟัง หลวงสรเสนีคนนี้เป็นบุตรเลี้ยงพระยาราชวังสรรค์ที่เป็นหลวงณรงค์อยู่วังหน้าก่อน ลงไปแล้วกลัวจะไปหย่อนเสีย เห็นว่าน้อยตัวอยู่แล้วจะหาใคร่เข้าไปไม่ ทรงตรัสว่า จัดให้ลงไปนั้นน้อยนักหนา ถ้าได้ให้ลงไปเรือลัก ๓ ลำ คนสัก ๓๐๐ แล้วดีทีเดียว ซึ่งจัดให้หลวงสรเสนีลงไปก็ดี ถูกอยู่แล้ว หลวงสรเสนีก็เป็นลูกเลี้ยงพระยาราชวังสรรค์อยู่ แขกเหรื่อเหล่านั้นที่มันจะรู้จักนับถือบ้างก็จะมี ถ้าตนกูปสาไม่คิดทำหลวงสรเสนีแล้ว อ้ายพระยาบาโงยมันจะกล้าทำแต่มันคนเดียวได้ที่ไหน อ้ายตนกูปสาไม่ทำแล้ว อ้ายพระยาบาโงยก็ไม่ทำ ที่มันจะทำเอาจนพวกไทยทีเดียวนั้นก็เห็นจะไม่เป็น ถ้าจะเป็นขึ้นแล้ว กองทัพกรุงฯ ก็ยกออกมาอยู่กับนั่นมันจะไม่กลัวหรือ มันจะมารบกับทัพไทยอย่างไร เห็นจะหาอาจมาทำไม่ แล้วรับสั่งว่า อ่านหนังสือบอกไปเถิด ครั้นอ่านหนังสือบอกไปถึงที่ข้อว่า ท้าวพระกรุณาสั่งพระเสนหามนตรี[๑]ไปถึงเจ้าพระยานครนั้น ทรงตรัสว่า คิดว่าจะไถ่ถามไปด้วยการเมืองกลันตัน ที่ว่าพระยากลันตันมีหนังสือไปถึงเจ้าพระยานคร ๆ คิดอ่านว่ากระไรอย่างไรรู้หรือไม่ ก็ไม่ถามเล่า กลับสั่งไปว่าให้จดหมายให้พระพรหมธิบาลถือมาเสียอีก มีแต่เป็นอย่างนี้ไปเสีย การควรที่จะถามบอกเข้าไปให้ทรงทราบก็ไม่ถาม แล้วรับสั่งให้อ่านหนังสือบอกต่อไป ครั้นอ่านจบแล้ว ทรงตรัสว่า ไม่พอที่พอทางเอาเลย น้อยพระทัยด้วยเจ้าพระยานครฯ นักหนา ราวกับเป็นแม่ซื้อมารับเอาไปทีเดียว แต่แรกก็จะไม่โปรดให้เจ้าพระยานครฯ เอาตัวอ้ายพระยาบาโงยออกมาแล้ว เพราะเจ้าพระยานครฯ รับว่า ไม่เป็นไร ๆ จะขอรับออกมาช่วยรบกับอ้ายแขกเมืองไทร จึงโปรดให้ออกมา ครั้นให้ออกมาก็ปล่อยให้มันหนีไปรับเอาลูกเมียไป คิดการทำเมืองกลันตันขึ้นอีกได้ พระยากลันตันมีหนังสือไปถึงเจ้าพระยานครฯ จะว่ากล่าวจัดแจงระงับให้ไปช่วยเหลืออย่างไรก็ไม่มี กลับนิ่งหายไปเสียอีก เหตุผลอย่างไรอยู่หนอจึงเป็นอย่างนี้ไปได้ แล้วรับสั่งให้อ่านหนังสือพระยากลันตันถวาย ครั้นอ่านจบแล้วทรงตรัสว่า ๆ กล่าวดูร้อนรนนบนอบเข้ามานักหนา แลเมื่อพระยากลันตันให้หนังสือไปกับกำปั่นวิทยาคมนั้น ว่ากล่าวก็ยังเฉย ๆ อยู่ นี่เห็นจะเป็นเพราะมันตีเอาแตกล่าถอยเข้าไป ไม่ไว้ใจจึงให้มาขอกองทัพ แล้วอ่านต้นหนังสือซึ่งให้หลวงสรเสนีถือไปถึงพระยากลันตันถวาย ครั้นอ่านไปถึงที่ข้อว่า พระยาบาโงยไม่รับเป็นที่เมืองกลันตัน จะขอไปเมืองกบิลพัสดุ์ทำบุญให้ทานนั้น ทรงตรัสว่า ไปว่าเอาแต่ความปลายเสียหมดทั้งนั้น ความที่เกิดรบวิวาทกันครั้งก่อน ควรที่จะว่าปรำพระยาบาโงยให้เห็นผิดแลชอบนั้นก็ไม่ว่า แล้วรับสั่งว่าอ่านต่อไปเถิด ครั้นอ่านจบแล้วทรงตรัสว่า เปล่าทีเดียว ว่าไปเท่านั้นกันเอง แล้วอ่านจดหมายซึ่งให้ไปพูดว่ากล่าวการเมืองกลันตันถวาย ครั้นอ่านไปถึงที่ข้อว่า พระยาบาโงยจะขอไปแต่เมืองกบิลพัสดุ์ทำบุญให้ทานนั้น ทรงตรัสว่า มีแต่ว่าไปเมืองกบิลพัสดุ์ทำบุญให้ทาน กับออกชื่อบรหุ่มเท่านั้นเอง เป็นไรหลวงทิพอักษรเสมียนตราจึงนิ่งเสีย ไม่บอกความเมืองกลันตันให้รู้บ้างเลย ความต้นความปลายอย่างไร หลวงทิพอักษรเสมียนตราก็รู้อยู่แล้ว จะบอกกล่าวให้เข้าใจ เขียนใส่ลงว่าไปให้ดีบ้างก็ไม่มี ครั้นอ่านจดหมายถวายจบลงแล้ว ทรงตรัสว่า จะว่าออกชื่อถึงบรหุ่มเจ้าเมืองกลันตันคนเก่าไปทำไมนักหนา ถ้ามันนับถือคิดถึงบรหุ่มแล้ว มันจะเป็นอย่างนี้ได้หรือ นี่มันไม่นับถือคิดกันแล้ว การจึงเป็นไปได้ จะว่าเป็นทำนองขู่ไปบ้าง เป็นทางระงับถามไปบ้าง ว่าวิวาทกันพี่น้องด้วยเหตุอะไร ใครจะผิดจะชอบอย่างไร ก็ว่าไปให้เห็นผิดแลชอบ ว่าแต่ก่อนพระยาบาโงยก็คิดรบพุ่งกันครั้งหนึ่งแล้ว โปรดภาคทัณฑ์โทษไว้ให้ออกมาทำราชการก็กลับมาคิดเป็นขึ้นอย่างนี้อีก ระยาบาโงยจะหาพ้นความผิดไม่ จะวิวาทกันด้วยเหตุอย่างไร ก็ชอบแต่จะบอกกล่าวโทษกันเข้าไปให้ทรงทราบก่อน จะไปว่าอย่างนี้บ้างก็จะดีทีเดียว แล้วอ่านจำนวนแขก ๙ หัวเมือง ซึ่งไปเข้าด้วยกับพวกแขกขบถถวายจบลง ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ทำไมเมืองราห์มันนั้น จะเป็นไปเสียทั้งบ้านทั้งเมืองทีเดียวหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระยาสงขลาว่าเป็นไปทั้งเมือง ทรงตรัสว่า มันจะเป็นไปหมดที่ไหน มันจะเป็นก็แต่ไม่ได้ยกมาช่วยเมืองสงขลา พากันนิ่งอยู่กับบ้านกับเมืองนั่นเอง ก็เมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองหนองจิก เมืองตานีเหล่านั้น เป็นกระไร เรียบร้อยดีอยู่หมดแล้วหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เรียบร้อยดีอยู่ ครอบครัวก็มาอยู่ตามบ้านเมืองบ้างแล้ว แต่เมืองตานีนั้น พระยาสงขลาว่า กองอาทมาตจับเอาหญิงแขกมาบอกแขกแล้วเก็บริบเอาสิ่งของไว้ ครอบครัวพากันแตกตื่นหนีไปเสียบ้าง ทรงตรัสว่า มันจะเป็นก็เป็นแต่เหตุผลเล็กน้อย ตัวมันก็อยู่กับที่นั่นแล้ว มันผิดอย่างไรจะเฆี่ยนจะฆ่าเสียก็ได้ จะว่าหาเหตุหาผลไปทำไมกับเล็กน้อยอย่างนี้ แล้วทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ก็คิดจะให้ใครออกไปอยู่จัดแจงการข้าง ๙ หัวเมืองบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ท้าวพระกรุณาคิดจะให้พระยาเพชรบุรีออกไปอยู่ที่เมืองสาย คอยเกลี้ยกล่อมครอบครัวให้คืนเข้ามาบ้านเมือง แต่พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ พระยาไชยานั้น ให้กลับเข้ามา ว่าจะเอาลงไปเมืองไทรด้วย รับสั่งว่า ซึ่งคิดจัดให้พระยาเพชรบุรีออกไปอยู่ที่เมืองสายนั้นถูกดีอยู่แล้ว ข้างเมืองกลันตันจะได้ร้อน ๆ เข้าบ้าง แต่การซึ่งจะจัดแจงผ่อนปรนครอบครัวเมืองไทรแลข้าง ๙ หัวเมืองนั้น อย่าเพ่อทำให้วุ่นวายไปก่อน คิดการข้างเมืองกลันตันเสียให้เรียบร้อย แล้วจึงจัดแจงทำต่อภายหลัง ถ้าเมืองกลันตันยังไม่เรียบร้อย ไปจัดแจงครอบครัวเข้าการจะสะเทือนวุ่นเป็นมากไปสิเสียการทีเดียว แล้วทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า หนังสือซึ่งพระยากลันตันมีไปถึงเจ้าพระยานครฯ แต่ก่อนนั้น เจ้าพระยานครฯ จะจัดแจงว่าอย่างไรก็ไม่ว่า นิ่งอั้นไปเสียทีเดียวนั้น จะเป็นเหตุผลอย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เห็นจะเป็นด้วยคิดไว้แต่ก่อนผิดเสียแล้ว ครั้นจะคิดต่อไปยังไม่ได้ ก็จะนิ่งรอฟังไปก่อน ทรงตรัสว่า ทำนองได้ผิดไปเสียแล้ว จะคิดคอยเข้าความใหม่ ชนะไหนจะเล่นด้วยนั่นเอง เจ้าพระยาพระคลังคิดมีหนังสือว่าออกไป ให้จูงเอาเจ้าพระยานครฯ มาคิดราชการที่สงขลาด้วยให้ได้ เจ้าพระยานครฯ เป็นเจ้าของอยู่ จะมานิ่งเสียไม่มานั้นไม่ชอบ ข้อความจะคิดระงับจัดแจงเมืองกลันตันอย่างไร ก็แจ้งอยู่ในหนังสือซึ่งหมื่นนิกรญวนจันทบุรีถือออกมานั้นแล้ว ว่าลงอย่าให้เสียเค้าหนังสือเดิม กับเติมความลงอย่างไรอีกสักเล็กน้อย ส่งให้มันเร่งกลับออกไปโดยเร็วเถิด แล้วทรงตรัสถามขุนฤทธิรณไกรว่า เองออกมาครั้งก่อนกี่วันจึงถึงสงขลา ขุนฤทธิรณไกรกราบทูลว่า ออกมา ๒๔ วัน ทรงตรัสว่า ออกมาเร็วนักหนา เป็นกระไร กลับออกมาครั้งนี้จะมาให้เร็วกว่าครั้งก่อน กี่วันจะมาถึงสงขลา ลมเป็นลมอะไรอยู่ ขุนฤทธิรณไกรกราบทูลว่า เป็นลมตะวันตก จะออกมา ๑๗ วันให้ถึงเมืองสงขลา จึงรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า ทำหนังสือให้มันเร่งกลับออกมาโดยเร็วเถิด ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสกับเจ้าคุณหาบนว่า ทรงคิด ๆ ดู การที่จัดให้คนลงไปเมืองกลันตันนั้น เห็นจะยังหามีคนใช้ไม่ จึงให้แต่หลวงสรเสนีลงไป ความที่จะถามพระเสนหามนตรีด้วยหนังสือกลันตันครั้งก่อนนั้น ก็เห็นจะถาม แต่ถามไม่ได้ความแล้ว ก็ไม่บอกเข้ามานั่นเอง แล้วรับสั่งว่า เอาคำให้การมาอ่านต่อไปเถิด ครั้นอ่านคำให้การถวายแล้ว ทรงตรัสว่า เป็นเหตุเพราะเจ้าพระยานครฯ กับนายฤทธิ[๒]ทีเดียว ทรงคิด ๆ ว่าจะหาทรงตรัสกับนายฤทธิเสียไม่แล้ว แต่แรกก็ได้ทรงตรัสถามนายฤทธิ ๆ ก็รับว่าไม่เป็นไร ครั้นเป็นขึ้นแล้วก็มานิ่งเสีย เจ้าพระยานครฯ จะคิดไประงับว่ากล่าวอย่างไรก็ไม่มี จะนิ่งเสียไม่ลงมาช่วยกันคิดราชการอย่างนี้จะถูกอยู่หรือ ว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เจ้าพระยานครฯ ให้พระเสนหามนตรีลงมาแล้ว เห็นเจ้าพระยานครฯ จะหาลงมาไม่ จะบอกป่วยเสีย จะมีหนังสือออกไปให้มาช่วยคิดราชการก็คงจะมา แต่จะมาช้าวันไป ทรงตรัสว่า อย่างนั้นจะได้หรือ การเมืองกลันตันเป็นของเจ้าพระยานครฯ การจะเป็นอย่างไรเจ้าพระยานครฯ ก็รู้อยู่หมดสิ้น มีหนังสือไปว่า ถึงเจ็บไข้อย่างไรก็ให้มาช่วยกันคิดราชการให้จงได้ มานอนรักษาตัวอยู่ที่สงขลานั้นเถิด การควรจะคิดระงับว่ากล่าวได้หรือ ๆ จะคิดหันเหียนประจบทำไปตามการได้อย่างไร ก็สุดแต่คิดทำอย่าให้เมืองกลันตันหลุดลอยไปอื่น ทำเสียให้แล้วจงได้จึงจะชอบ แล้วทรงตรัสกับกรมหลวงรักษ์รณเรศว่า การทั้งนี้อยู่ในเจ้าพระยานครฯ ทั้งนั้น เจ้าพระยานครฯ จะไม่ลงมาช่วยกันคิดราชการนั้นชอบอยู่หรือ กรมหลวงรักษ์รณเรศกราบทูลว่า ที่จะไม่ลงมานั้นไม่ควรหามิได้ ทรงตรัสว่า ถ้าไม่ลงมาช่วยกันคิดราชการแล้ว เจ้าพระยานครฯ ผิดนักหนาทีเดียว แล้วอ่านจดหมายซึ่งมีไปถึงเจ้าคุณหาบนถวาย ทรงพระสรวลตรัสว่า เออ ก็รู้อยู่ที่กรุงฯ แต่แรกแล้ว เมื่อได้ความกลันตันเข้าไปก็ยังหาชัดความไม่ จะมาโทษเอาว่าไม่ได้ฟังกระแสพระราชดำริทรงสั่งเสียมาอย่างไรเล่า แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างหนังสือซึ่งจะตอบ ให้ขุนฤทธิรณไกรถือออกมา ครั้นอ่านถวายจบแล้วทรงตรัสว่า ๆ ความสั้นไปอยู่หน่อยหนึ่ง ว่าต่อเข้าอีกเสียสักนิดเถิด ว่าลงว่า ซึ่งจัดให้พระยาเพชรบุรีไปอยู่ที่เมืองสายนั้นก็ชอบด้วยราชการดีอยู่แล้ว พระยาเพชรบุรีจะได้จัดแจงระวังราชการข้าง ๙ หัวเมืองบอกกล่าวเข้ามาให้รู้เนือง ๆ แต่คิดทำให้เป็นกิตติศัพท์เลื่องลือไปว่า พระยาเพชรบุรียกออกไปอยู่ที่เมืองสายนั้น ยกไปอยู่ด้วยราชการเมืองกลันตัน ให้เมืองกลันตันรู้จะได้ร้อนตัวกลัวลงบ้าง ครั้นแก้หนังสืออ่านถวายจบแล้ว ทรงตรัสว่า เอาเถิดดีแล้ว แต่จดหมายลงเป็นจดหมายของเจ้าพระยาพระคลังออกมาด้วยอีกฉบับเถิด ว่าออกมาว่าการซึ่งจะจัดแจงครอบครัวนั้น อย่าเพ่อเห็นแก่ผลประโยชน์ซึ่งจะให้เป็นหลวงเป็นบำเหน็จกับทแกล้วทหารก่อน อย่าเพ่อทำเข้าเป็นอันขาดทีเดียว คิดการข้างเมืองกลันตันเสียให้แล้วก่อน จึงค่อยจัดแจงครอบครัวต่อภายหลัง ข้าง ๙ หัวเมืองนั้น ก็ดูคิดแต่เกลี้ยกล่อมให้ออกมาอยู่ตามบ้านเมืองให้สิ้นเถิด นิ้วไหนร้ายก็ตัดเอาแต่นิ้วร้าย อย่าทำมูมมามให้เกิดมุงมากการต่อไปได้ ถ้าจะทำก็ทำเอาที่เมืองไทรเสียให้สิ้นจึงจะชอบ แล้วทรงตรัสกับกรมหลวงรักษ์รณเรศว่า การเมืองกลันตันนั้นไม่พอที่จะเป็นเลย เพราะเจ้าพระยานครฯ ทีเดียว รับเอาตัวอ้ายพระยาบาโงยออกมา แล้วกลับปล่อยมันไปให้มันเป็นขึ้นได้ ครั้นเป็นขึ้นแล้วพระยากลันตันมีหนังสือให้ไปช่วยก็นิ่งเสีย จะว่ากระไรก็ไม่ว่า เป็นอย่างนี้ไปได้ ประหลาดพระทัยนักหนาทีเดียว ข้างกองทัพใหญ่มีหนังสือให้หลวงสรเสนีลงไป ก็ว่าแต่ความปลายไปทั้งนั้น จะว่าให้เป็นทำนองไถ่ถามขู่รู่ลงไปบ้างก็ไม่มี คิดการหมิ่นไปเสียทีเดียว กรมหลวงรักษ์รณเรศกราบทูลว่า การซึ่งคิดให้ลงไปเมืองกลันตันนั้น เห็นจะเป็นด้วยคิดการยังไม่ถนัดด้วยไม่ได้ทราบกระแสพระราชดำริ ทรงพระสรวลตรัสว่า จะมาโทษว่าไม่ได้ฟังกระแสพระราชดำริอย่างไร เมื่อยังอยู่ ณ กรุงฯ ก็ได้ความกลันตันมาแต่เท่านั้น หารู้ว่าใครต่อใครวิวาทรบกันไม่ เมื่อออกมาถึงสงขลาแล้วรู้การอย่างไร ก็สุดแต่คิดจัดแจงไปตามการให้ดีจึงจะชอบ แล้วทรงตรัสว่า ซึ่งให้หลวงสรเสนีลงไปนั้นก็ดีอยู่แล้ว ถ้าหลวงสรเสนีลงไปถึง การซึ่งรบวิวาทกันนั้นก็เห็นจะค่อยซาช้าวันลงได้บ้าง พอจะทันคิดจัดแจงให้ติดตามลงไปได้ การทั้งนี้ก็เป็นเหตุด้วยอ้ายพระยาบาโงยคนเดียว คิดจับเอาตัวอ้ายพระยาบาโงยเสียให้จงได้ การก็จะแล้วกันเท่านั้น แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า เร่งดูให้มันรีบกลับออกมาโดยเร็ว ขอเงินให้ไปซื้อเสบียงกินเอาข้างหน้าเถิด ผู้คนมันมาด้วยกันมากน้อยอย่างไร จะให้สักชั่ง ๑ สัก ๑๐ ตำลึงก็ให้เถิด มันจะได้กลับออกมาโดยเร็ว กระแสพระราชดำริกับข้อความจดหมายเจ้าคุณหาบนประการใด ก็แจ้งมาในหนังสือแลจดหมายนั้นแล้ว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ เพลาเช้า รับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า จดหมายซึ่งจะให้ขุนฤทธิรณไกรกลับออกมานั้น คิดเอาความเมืองตรังกานูใส่ลงสักหน่อย ดูกำชับออกไปให้ดี ว่าซึ่งจะคิดจัดแจงการเมืองกลันตันนั้น ให้คิดระวังการข้างเมืองตรังกานูกะมาหมันด้วย อย่าให้มีความประมาท อุตส่าห์ตริตรองการให้รอบคอบจงมาก แล้วรับสั่งว่า รีบจดหมายให้มันเร่งออกมาโดยเร็วเถิด ๚

๏ ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๕ ค่ำ หาได้ทรงพระราชดำริราชการเมืองไทรเมืองกลันตันไม่ ทรงตรัสไปด้วยเรื่องฝิ่นที่เรือหมื่นจงสรสิทธิ ขุนพิทักษ์สงคราม ซึ่งถือบอกเมืองสงขลาเข้าไปว่าจีนนายเรือเอามาลุแก่โทษแต่ ๔ ก้อน เอาไปเที่ยวซื้อขายมาก โปรดให้ถือหนังสือตอบออกมา ก็หาใคร่มาเร็วไม่ เที่ยวทวงเงินค่าฝิ่นช้าอยู่ รับสั่งให้มาตามเอาตัวที่ปากน้ำ จะให้ลงพระราชอาญาก็ไม่พบ ได้ความว่าใช้ใบมาแต่ ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๓ ค่ำ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๗ ขึ้นค่ำ ๑ เวลาเช้า รับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า เรือเข้าไปแต่เมืองสงขลาแล้วคงมีฝิ่นเข้าไปทุกลำ ให้คอยไล่เลียงจับเอาฝิ่นเสียให้หมดจงได้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถ้าท้าวพระกรุณายังไม่ทราบหนังสือแล้ว เรือเข้าไปจากสงขลาก็คงจะมีฝิ่นเข้าไปทุกลำ ถ้าทราบหนังสือแล้ว ยังมีเรือเอาฝิ่นเข้าไปจากสงขลาได้ก็ไม่พ้นผิดหามิได้ ทรงตรัสว่า ถ้าจะเอาผิดต่อรู้หนังสือแล้วจึงจะเอาผิดได้ ๚

๏ แต่รับสั่งกรมหลวงรักษ์รณเรศ สั่งให้ข้าพเจ้าจดหมายออกมาว่า ด้วยท้าวพระกรุณามีหนังสือเข้าไปกราบทูลนั้นทรงทราบแล้ว ราชการซึ่งจะคิดจัดแจงเมืองกลันตันประการใด ก็ได้โปรดให้มีหนังสือออกมาแจ้งอยู่แล้ว แลตุวันสนิคนนี้จะดีชั่วประการใดก็ไม่แจ้ง แต่ก่อนก็เห็นว่าเป็นคนดีมีพี่น้องนับถือมาก จึงโปรดให้เป็นพระยากลันตัน ถ้าพระยากลันตันเป็นคนดีจริงก็ต้องคิดรักษาช่วยข้างพระยากลันตัน ถ้าไม่เป็นคนดีแล้ว เห็นว่าใครเป็นคนดีมีพรรคพวกนับถือมาก ก็สุดแต่คิดหันเหียนไปตามควร จัดแจงให้ชอบด้วยราชการให้ดี ตริตรองเอาตามกระแสพระราชดำรินั้นเถิด ถ้าแลจะมีหนังสือเข้าไปกราบทูลอีกแล้ว สั่งให้พระรัตนโกษามีเข้าไปถึงเจ้ากรม อย่าให้ท้าวพระกรุณามีเข้าไปเลย เจ้ากรมจะได้ทำหนังสือบอกออกมาให้ทราบ แลขุนฤทธิรณไกรนั้นเอาฝิ่นเข้าไป ๗ ก้อน เจ้าคุณหาบนเอาตัวไว้ชำระไล่เลียงอยู่ ข้อความแจ้งอยู่ในหนังสือคุณพระนายซึ่งมีออกมานั้นแล้ว

๏ แลกระแสพระราชดำริซึ่งข้าพเจ้าจดหมายออกมาครั้งนี้เป็นการเร็ว เข้ากันเก่าใหม่ ได้จดหมายฝากมา ๖ ครั้ง ข้อความจะขาดผิดเพี้ยนประการใด รับพระราชทานพระเดชพระคุณควรมิควรแล้วแต่จะโปรด จดหมายมา ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีกุนเอกศก (จุลศักราช ๑๒๐๑ พ.ศ. ๒๓๘๒) ๚



[๑] ชื่อน้อยกลาง เป็นบุตรเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ได้เป็นพระยานครฯ ต่อมา ถึงรัชกาลที่ ๔ เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา

[๒] หลวงฤทธินายเวรมหาดเล็กคนนี้ เป็นบุตรเจ้าพระยานครฯ (น้อย) น้องเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) ภายหลังได้เป็นพระเสนหามนตรี แล้วได้เลื่อนเป็นพระยาเสนหามนตรี เห็นจะเมื่อในรัชกาลที่ ๔

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ