- คำนำ
- คำนำพิเศษ
- คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๒)
- เรื่องพงศาวดารอันเป็นมูลเหตุ แห่งจดหมายหลวงอุดมสมบัติ
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๒
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๓
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๔
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๕
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๖
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๗
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๘
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๙
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๐
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๑
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๒
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๓
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๔
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๕
- ประชุมความท้ายเรื่อง
คำนำ
ในมหามงคลสมัยวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครบ ๒๐๐ ปี วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ รัฐบาลและประชาชนชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่ชาติบ้านเมืองได้รับความร่มเย็นผาสุกสืบมาจากพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานาล้วนสร้างสรรค์ทำนุบำรุงแผ่นดินให้เจริญพัฒนา อาทิ เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การพระศาสนา การศึกษา ตลอดทั้งทรงสร้างถาวรวัตถุประดุจอาภรณ์ประดับความสง่างามเป็นเกียรติเป็นศรีและเชิดชูศิลปวัฒนธรรมของชาติให้แผ่ไพศาล ในการนี้รัฐบาลได้เชิญชวนหน่วยงานทั่วไป จัดกิจกรรมทั้งทางวิชาการและบำเพ็ญพระราชกุศลน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นราชสักการะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ปรากฏ
กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า หนังสือเรื่อง “จดหมายหลวงอุดมสมบัติ” เป็นเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องหนึ่ง ที่ให้ความรู้ทั้งงานราชการบ้านเมือง และสะท้อนให้เห็นพระราชอิริยาบถและพระราชอัชฌาสัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยบ้านเมืองอย่างชัดเจน จึงได้จัดพิมพ์เผยแพร่ในมหามงคลอันสำคัญนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อธิบายประวัติของหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติไว้อย่างละเอียด ตลอดทั้งได้เพิ่มเติมส่วนสาระสำคัญในเอกสารเป็นเชิงอรรถประกอบเพื่อให้เข้าใจเหตุการณ์สมบูรณ์ขึ้น โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราชธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในรัชสมัยไว้อีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งการจัดพิมพ์ได้แสดงไว้เป็นเชิงอรรถ ดังนั้นเชิงอรรถที่ปรากฏในลักษณะต่าง ๆ ที่พิมพ์ด้วยอักษรตัวธรรมดาเป็นพระอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เป็นตัวเอนเป็นพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่พิมพ์ด้วยตัวเล็ก (จิ๋ว) เป็นเชิงอรรถที่เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรช่วยสอบค้นเพิ่มเติม ขออาราธนาอัญเชิญพระบารมีแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย เป็นพลวปัจจัยอันสูงสุด ดลบันดาลให้ดวงพระวิญญาณแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์อีกพระองค์หนึ่ง ได้เสด็จสถิตเสวยทิพยสมบัติ ตราบถ้วนจิรฐิติกาล เทอญ.
อธิบดีกรมศิลปากร
กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์
กรมศิลปากร
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐