- คำนำ
- คำนำพิเศษ
- คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๒)
- เรื่องพงศาวดารอันเป็นมูลเหตุ แห่งจดหมายหลวงอุดมสมบัติ
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๒
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๓
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๔
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๕
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๖
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๗
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๘
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๙
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๐
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๑
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๒
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๓
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๔
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๕
- ประชุมความท้ายเรื่อง
จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑
๏ ข้าพเจ้า หลวงอุดมสมบัติ ขอพระราชทานจดหมายกราบเรียนท้าวพระกรุณาเจ้า[๑] ให้ทราบ
ด้วย ณ วันเดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๒๐๐ พ.ศ. ๒๓๘๑) เพลาค่ำ ทรงตรัสถามคุณพิพัฒน์[๒] ว่า มีเรือราชการมาแต่ไหนบ้าง คุณพิพัฒน์กราบทูลว่า ไม่มีเรืออะไรเข้ามาหามิได้รับสั่งว่า อย่างไรหนอ เงียบหายไปเสียหมดทีเดียว คอยฟังเรือพวกสงขลา คอยข่าวเมืองตรังกานูก็ไม่ได้ความ ข่าวราชการเมืองไทรก็เงียบไป ไม่มีใครบอกกล่าวเข้ามาเลย คอยอกใจวับ ๆ หวิว ๆ อยู่ทีเดียว อย่างไรอยู่หนอมันจะคิดไปทำเอาเมืองถลางด้วยหรืออย่างไรก็ไม่รู้ แล้วตรัสถามว่าพวกชุมพรใครเข้ามาถึงบ้าง พระนรินทร์[๓] กราบทูลว่ายังไม่มีใครเขามาหามิได้ ทรงตรัสว่า พระยาเสนาภูเบศร์[๔] จัดแจงว่าจะเข้ามาจากชุมพร คอย ๆ ก็หายไป แล้วตรัสถามพระยาโชฎึก[๕] ว่าไล่เลียงอ้ายจีนผ่อง ซึ่งเข้ามาจากสงขลาด้วยราชการเมืองไทรนั้น ได้ความอย่างไรบ้าง พระยาโชฎึกกราบทูลว่า ไล่เลียงเข้าดูก็ไม่ได้ความต่อไปหามิได้ รับสั่งว่า ลูกเรือลูกแพมันก็มีอยู่หลายคน คิดอ่านคอยสืบสาวเอาตัวมันไล่เลียงเข้าก็คงจะได้ความบ้าง ถ้ามันไม่บอกความ พูดจาเป็นไม่รู้เสียสิ้นแล้ว ก็เอาโทษตีมันเสีย ๔ ที ๕ ทีบ้างเถิด แล้วทรงตรัสเล่าคำให้การเดิมจีนผ่อง ให้กรมหลวงรักษ์รณเรศ[๖]ฟังว่า อ้ายจีนผ่องมันว่า พวกอ้ายแขกไทรยกเข้ามา ๓๐๐๐ จะมาตีเมืองสงขลา พระยาไชยา[๗]คนเก่าจัดแจงคนได้ ๘๐๐ ยกออกไปรบสู้กับอ้ายแขกอยู่ ๓ วัน อ้ายแขกแตกถอยไปตั้งอยู่ที่สะเดานอก จากบ้านปริกทางวันหนึ่ง พระยาไชยาตั้งอยู่ที่บ้านปริก แล้วพระยาไชยาแบ่งคนใน ๘๐๐ แยกให้ไปตั้งรับที่พังลาในบ้านปริกเข้ามากองหนึ่ง ไปตั้งอยู่ที่นมควายกองหนึ่ง แล้วว่าผู้ช่วยสงขลาจัดคนได้ ๕๐๐ ให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ยกไปตั้งค่ายรับอยู่ที่หนองบัวกองหนึ่ง ฟังดูไม่น่าเชื่อเลย แม่ทัพตั้งอยู่บ้านปริกแล้วทำไมจะมาแบ่งคนเข้ามาตั้งรับอยู่ที่พังลาข้างหลังเล่า ชอบแต่จะตั้งรับข้างหน้าออกไปจึงจะชอบ พากันแยกย้ายตั้งเป็นกอง ๆ ห่างกันทางวันหนึ่งคืนหนึ่งไปเสียสิ้น อย่างนี้จะทันท่วงทีราชการที่ไหน ผู้คนน้อย ๆ อย่างนี้ กลับมาแยกย้ายให้ห่างกันไปอีกเล่า ชอบแต่จะมั่วสุมกันเข้าให้พรักพร้อม ตั้งเป็นชั้น ๆ กันไปจึงจะชอบ ถึงอ้ายแขกจะตั้งอยู่ พากันยกไปให้พร้อมตีอ้ายแขก ๆ ก็จะแตกหนีเข้าป่าไป จะทนอยู่ที่ไหนได้ ๚
๏ แล้วตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า ได้พูดจากับเจ้าพระยานครฯ[๘] ได้ความเป็นอย่างไรบ้าง ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ได้รับพระราชทานถามดูที่ข้าวจะให้นายทัพนายกองกิน ก็ว่าจะได้รับพระราชทานข้าวข้างนอก ได้แต่พอสี่เดือนเท่านั้น จะอาศัยข้าวใหม่ในปีนี้เล่าก็ไม่มีใครทำไร่นา คิดวิตกอยู่ด้วยข้าวจะขัดสน หาพอกองทัพรับพระราชทานไม่ จึงทรงตรัสว่า ฉันก็ว่าอยู่ก่อนแล้ว ข้าวปลาอาหารมันก็คงจะจุดเผาเสียบ้าง จะได้มากินสักกี่มากน้อย แล้วตรัสถามว่า ๆ ความอย่างไรต่อไปบ้างเล่า ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ถามดูที่การคิดจะทำเมืองไทรนั้น ก็ว่าการครั้งนี้ง่ายกว่าครั้งก่อน เมื่อครั้งตนกูเดน[๙]นั้นทำยาก ด้วยตนกูเดนเป็นคนแข็งแรง กล้าแข็งสู้รบมาก ครั้งนี้เป็นแต่ลูกเด็ก ๆ หาสู้แข็งแรงไม่ ทรงตรัสว่า ๆ อย่างนี้จะมิเป็นประมาทลูกผู้ชายไปหรือ แล้วตรัสถามว่า ครั้งนี้ว่าง่ายอย่างไร มันทำเมืองไทรได้แล้วมันทำเมืองตรังก็ได้เมืองตรัง ครั้งก่อนเมืองตรังมันได้ไปเมื่อไร ได้ไปก็แต่เมืองไทรเมืองเดียว ผู้คนเมืองตรังเมืองพัทลุงก็ดีอยู่หาเสียหายไม่ กะเกณฑ์เรียกเอาไปก็ได้ทุกบ้านทุกเมือง ครั้งนี้จะเอาแต่คนเมืองพัทลุงเมืองนครฯ ก็ไม่ใคร่ได้เสียอีก ว่ามันแตกพ่านเข้าป่าไป[๑๐] จะต้องเรียกหาคอยรวบรวมอยู่ก่อนยังไม่ใคร่ได้ทันราชการ อย่างนี้จะว่าง่ายกว่าครั้งก่อนอย่างไร ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ถามเจ้าพระยานครฯ ๆ ว่า การครั้งนี้ตัวเจ้าพระยานครฯ เข้ามาอยู่ ณ กรุงเทพฯ การเกิดขึ้นภายหลังเจ้าพระยานครฯ หาทราบความตลอดไม่ เมื่อครั้งตนกูเดนนั้น เจ้าพระยานครฯ อยู่ข้างนอกทราบความอยู่สิ้น รบสู้กับตนกูเดนที่เมืองไทรเล่า อังกฤษก็ให้เอากำปั่นรบขึ้นมาคอยปิดปากน้ำเมืองไทร ช่วยระวังอยู่ทั้ง ๒ ลำ[๑๑] พวกทัพนครฯ ก็ไปหาอังกฤษไม่ขาด อังกฤษก็ไม่คิดทำให้พวกทัพนครฯ ขัดใจ พวกทัพนครฯ ก็คอยพูดจาว่ากล่าวไม่ให้อังกฤษขัดใจ การครั้งนี้แลไม่เห็นตลอด คิดไปไม่ถูก หารู้ที่จะคิดอย่างไรได้ไม่ จึงทรงตรัสกับกรมหลวงรักษ์รณเรศว่า ฟังดูพูดจาหาคิดเห็นเป็นแน่นอนลงที่ไหนได้ไม่ ครั้งก่อนก็ว่าอังกฤษเอากำปั่นรบมาช่วยปิดปากน้ำระวังอยู่ถึง ๒ ลำ อย่างนี้จะว่าครั้งก่อนยากอย่างไร มีแต่คิดความผิดไปเสียสิ้น อย่างนี้จะมิเสียทีแก่การหรือ หรือจะเห็นว่าครั้งนี้ว่าง่ายง่าย ด้วยอ้ายแขกพวกขบถ (ในพื้นเมืองจำใจเข้าด้วยพวกหัวหน้าที่มาจากภายนอก) ถ้าอ้ายแขกพวกขบถพากันกลับใจคิดเข้าหาเราแล้ว การเมืองไทรก็เป็นสำเร็จได้ หรือจะคิดเห็นอย่างนี้จึงว่าง่าย ถ้าคิดเห็นอย่างนี้แล้วครอบครัวญาติอ้ายแขกพวกขบถ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามบ้านตามเมืองป่าดงก็คงจะมี มันจะพากันไปหมดทันที่ไหน มันก็คงเหลือพลัดพรายอยู่บ้างนั่นแหละ ถ้าคิดหาสืบสาวเชื้อสายมันไปเกลี้ยกล่อมคืนเข้ามาบ้านเมืองได้สิ้นแล้ว การเมืองไทรก็เป็นสำเร็จได้ง่ายจริง คิดอย่างนี้ได้ก็เห็นจะถูกต้องกับความที่ว่าครั้งนี้ทำง่ายกว่าครั้งก่อน แล้วทรงตรัสเล่าถึงการครั้งก่อนว่า เมื่อครั้งตนกูเดนคิดตั้งรบสู้ที่ค่ายต้นโพธิ์นั้น ทัพเจ้าพระยานครฯ ยกออกไป จัดทัพแยกย้ายตั้งค่ายก็หลายค่ายกองละค่ายสองค่ายรายห่างกันไปเสียสิ้น รบสู้กันอยู่ถึง ๒ วัน ๓ วัน อ้ายแขกจึงแตกหนีถอยไป จัดทัพจัดค่ายอย่างนี้ การร้อนจะช่วยกันทันท่วงทีที่ไหน ต่างคนต่างก็จะคิดรักษาค่ายของตัวอยู่นั่นเอง ฟังดูท่านแต่ก่อน ๆ ท่านจัดทัพจัดค่ายท่านไม่ประมาทจัดแจงให้ห่างเหินกันอย่างนี้ จะมีค่ายเป็นค่ายใหญ่แม่ทัพตั้งอยู่ที่นี่แล้ว ค่ายหน้าก็จะตั้งอยู่ราววัดสระเกศ อย่างนี้นี่ว่าห่างกันเป็นมากแล้ว ที่จะให้ห่างกันออกไปกว่านี้ไม่มี ถ้าการกวดขันแล้วท่านตั้งเป็นชั้น ๆ ติดกันไป เดินไปมาเอาข่าวราชการไม่ได้ขาด มีราชการมาก็พรักพร้อมช่วยกันทันท่วงทีราชการ แลการจัดทัพจัดค่ายนี้ก็เป็นนิสัยแม่ทัพไม่ประมาทอยู่แล้ว การก็พรักพร้อมอยู่เอง ถึงการครั้งนี้มันจะมาตั้งรับอยู่ที่ไหนมั่นคงก็เอาเถิด คิดเอาปืนจ่ารงค์ขึ้นไปราย ๆ ประเคนมันเข้า มันก็จะทนอยู่ที่ไหนได้ มันก็จะพากันวิ่งครืน ๆ เข้าป่าไปหมดสิ้น ๚
๏ ครั้น ณ วันพุธเดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำเวลาเช้า ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบน[๑๒] ว่าเป็นกระไร จัดแจงพูดจากับเจ้าพระยานครฯ ได้ความอย่างไรเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เจ้าพระยานครฯ ว่าจะขอรับพระราชทานทัพกรุงเทพฯ ๓๐๐๐ ยกออกไปขึ้นที่เมืองนครฯ แล้วจะคิดหาผู้คนที่ระบาดเก็บรวบรวมเข้าบรรจุทัพกรุงเทพฯ ยกออกไปทำการเมืองไทรฉลองพระเดชพระคุณ รับสั่งว่าฉันจัดแจงไว้ก็หลายอย่างแล้ว จะเอาอย่างไรก็ว่าเสียให้เป็นแน่ จะเอาทัพกรุงเทพฯ ไป ๓๐๐๐ อย่างนี้ก็เอาเถิด จะเอาไปขึ้นที่เมืองนครฯ ก็ตาม เจ้าพระยานครฯ ช่างคิดช่างว่าจะให้ไปขึ้นที่เมืองนครฯ นั้นก็เหตุเพราะจะได้คิดหาว่ากล่าวเก็บรวบรวมผู้คนได้ง่าย แล้วรับสั่งว่าคอยฟังข่าวราชการดูอีกสักคราวหนึ่งเถิด ค่ำวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็จะมีข่าวมาถึงในวันหนึ่งสองวัน จะยกทัพใหญ่ออกไปก็เป็นฤดู (ฝน) จะไปติดฝนติดน้ำอยู่ จะยกไปทำไม่ได้ ก็จะต้องรอทัพอยู่สงขลา ป่วยงานไพร่พลเสบียงอาหารเสียเปล่า ไหน ๆ ก็จะได้ทำต่อเดือนอ้ายเดือนยี่แล้ว จะยกทัพใหญ่ไปทำไม รอคอยฟังข่าวคราวสักสองสามวันก็คงจะได้ความ ถ้าได้ความว่าจะต้องยกทัพใหญ่แล้ว เดือนอ้ายเดือนยี่ก็ยกออกไปตีทำเอาให้ได้เมืองไทรทีเดียว เห็นจะไม่ป่วยงานไพร่พลเสบียงอาหาร ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำทรงตรัสถามราชการอื่นไป หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำเพลาเช้า ตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ได้ข่าวคราวมาถึงแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่ายังไม่มาถึงหามิได้ แต่ได้ความว่าพวกนครฯ ๗ คนมาเรือเล็ก ถือหนังสือบอกนครฯ เข้ามาแล้ว จะถึงในวันหนึ่งสองวัน จึงทรงตรัสว่าคอยฟังอยู่ไม่ใคร่จะมาถึงเลย แล้วตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า เจ้าพระยานครฯ จะล่องลงไปถึงวันนี้หรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าจะล่องลงไปเพลาบ่ายวันนี้ จึงมีรับสั่ง สั่งเจ้าพระยานครฯ ว่า ออกไปถึงเมืองนครฯ แล้ว อย่างไร ๆ รีบมีหนังสือบอกให้คนถือเข้ามาให้รู้หนักรู้เบาโดยเร็วก่อน การควรจะจัดแจงสถานใดจะได้จัดแจงไปตามควร ถ้าเห็นการว่าจะมากมายหนักแน่นแล้วจะได้ให้ทัพใหญ่ยกออกไปรีบทำเสียให้แล้วโดยเร็ว ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำหาได้ทรงตรัสถามราชการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันศุกร์เดือน ๑๐ แรม ๑๐ ค่ำเพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระวิชิตสรไกร[๑๓] ให้นายเรืองถือหนังสือบอกเข้ามาใจความว่า พวกอ้ายแขกไทรมาตั้งอยู่บ้านสะเดาประมาณ ๕๐๐ คน ตั้งอยู่ที่ยางงาม ๓๐๐ คน พระยาไชยานอกราชการตั้งรับอยู่ที่บ้านปริก รอทัพคอยท่วงทีกันอยู่ พระยาไทรได้จัดแจงรวบรวมคนเมืองไทร เมืองพัทลุง เมืองนครฯ ให้ปลัดเมืองไทรคุมกองทัพออกไป ๑๑๙๔ คน ให้เร่งยกล่วงลงไปให้พ้นกะบังปาสูเข้าไปแดนไทร ที่ตำบลใดมีเสบียงอาหารมากก็ให้คิดเร่งกระทำชิงเอาเสบียงอาหารไว้จ่ายกองทัพให้ได้ พระยาไทรยังจัดแจงหาคนรวบรวมต่อไปอยู่ ถ้ารวบรวมคนได้แล้ว พระยาไทรจะจัดให้ยกไปทางปลิศอีกทางหนึ่ง แล้วพระยาไทรจะยกหนุนกองทัพออกไปให้ทันราชการ พระยาไทรให้คนเข้ามาจัดซื้อข้าวที่สงขลาได้ ๒๐ เกวียน เอาไปจ่ายให้กองทัพ ๑๑๙๔ คนที่หาดใหญ่ ให้ยกไปแต่ ณ วันเดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำแล้ว แลทางเมืองตรัง[๑๔] นั้น อ้ายหวันมาลีคุมเรือใหญ่เรือน้อยเข้ามา ๙๕ ลำ ประมาณคน ๑๐๐๐ เศษ พระสงครามวิชิตเจ้าเมืองตรังได้รบสู้กับพวกอ้ายเจ๊ะหมัดอาลีที่เขาราชสีห์ พวกอ้ายแขกซึ่งอยู่บ้านหลังเขาพลอยสกัดกระหนาบรบเอาพระสงครามวิชิต ๆ แตกถอยมามีคนติดมา ๖ คน พระวิชิตสรไกรกับพระเสนาพิพิธคิดรวบรวมคนที่ท่าทองที่เมืองนครฯ ได้แล้ว พระวิชิตสรไกร พระเสนาพิพิธ จะยกลงไปกับพระสงครามวิชิต แล้วว่าแขกซึ่งอยู่ในแขวงจังหวัดเมืองไทรนั้น พากันหลบหนีเข้าป่าไปเร้นซ่อนอยู่ยังหาได้เข้าหาอ้ายแขกพวกขบถหมดไม่ พากันคอยฟังข่าวคราวกองทัพอยู่ จึงรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า จัดแจงให้เจ้าพระยานครฯ รีบออกไปเถิด เจ้าพระยานครฯ ออกไปถึงแล้วผู้คนแขกเหรื่อเหล่านั้น มันก็คงเข้าหาหมดนั่นแหละ แล้วตรัสถามว่าที่กะบังปาสูนั้นอยู่ที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าอยู่นอกต้นโพธิ์ออกไปทางวันหนึ่ง ในตะพานช้างเข้ามาก็วันหนึ่ง ทรงตรัสว่าคน ๑๑๙๔ คนที่ยกออกไปนั้นน้อยนักหนา ได้สัก ๓๐๐๐ แล้วดีทีเดียว แล้วตรัสถามว่าจะให้ยกไปทางปลิศทางหนึ่งนั้นเหตุอย่างไร จะไปเข้าที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าจะยกไปทางปลิศนั้น จะได้อาศัยหาเสบียงอาหารหาผู้คนเติมกองทัพยกออกไป ไปทางปลิศนั้นต้องไปทางบ้านปริกเข้าทางไปเมืองไทรทีเดียว ไม่ถูกบ้านสะเดาหามิได้ แต่ทัพปลัดเมืองไทรนั้นไปทางยางงาม ต้องตียางงามเสียก่อนจึงจะยกออกไป ทรงตรัสว่า ข่าวทัพสงขลาจะอย่างไรอยู่หนอ จะได้ตีอ้ายแขกซึ่งตั้งอยู่ที่สะเดาหรืออย่างไรก็ไม่รู้ เป็นไรจึงไม่ให้คนไปสืบข่าวบอกกล่าวเข้ามา แล้วตรัสถามว่าข้างเมืองถลาง[๑๕]นั้นเป็นกระไรเงียบดีอยู่ดอกหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าเงียบอยู่ ยังหาทราบความประการใดไม่ รับสั่งว่าดูขับต้อนเร่งพวกถลางพวกพังงาพวกตะกั่วทุ่งตะกั่วป่า ซึ่งเข้ามาตกค้างอยู่ให้รีบออกไป จะได้รักษาบ้านเมืองทันราชการ แล้วตรัสถามว่า พระยาไชยาจะออกไปเมื่อไร จะได้ช่วยกันจัดแจงรักษาเมืองถลาง ถ้าอ้ายแขกไม่มาทำเมืองถลางแล้ว คิดจัดแจงเอาคนถลางคนพังงาคนตะกั่วทุ่งคนตะกั่วป่า เป็นทัพเรือยกไปช่วยกันระดมทำเข้าก็จะได้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พวกถลางพวกพังงาพวกตะกั่วทุ่งตะกั่วป่านั้น ก็ล่วงออกไปหมดแล้วแต่พระยาไชยาจะกราบถวายบังคมลาไป ณ วันเดือน ๑๐ แรม ๑๑ ค่ำ ออกไปแล้วจะยกไปเมืองถลาง ถ้าอ้ายแขกไม่มาทำเมืองถลาง พระยาไชยาจะจัดแจงลงเรือคุมทัพเรือลงไปทำกับอ้ายแขกไทร เรือที่เมืองพังงาก็มีอยู่ ๔๐ ลำแล้ว จึงรับสั่งว่าให้เจ้าคุณหาบนพูดจาสั่งเจ้าพระยานครฯ ออกไปให้เข้าใจว่า พระยาไชยาหาสู้ชำนาญทางทัพเรือไม่ อ้ายหวันมาลีมันมีเรือเข้ามาถึง ๙๕ ลำ จะเอาแต่คนไม่ชำนาญลงไปก็เหมือนกับลงไปนั่งเปล่า ๆ อยู่ จะเสียทีแก่ราชการไป ให้เจ้าพระยานครฯ คิดเอาคนนครฯ กับพวกถลางพวกพังงาพวกตะกั่วทุ่งตะกั่วป่าใส่ลงเป็นทัพเรือ จะเอาพระวิชิตสรไกรหรือใครเป็นนายทัพคุมยกลงไป เห็นจะต้านทานมีชัยชำนะกับอ้ายแขกได้ พระยาไชยานั้นให้คุมทัพบกยกเลียบฝั่งทำลงไปตามอ่าวทุ่งทะเล คิดอย่างนี้ได้เห็นจะดีนักหนา แต่ให้พระยาไชยาคอยฟังบังคับบัญชาเจ้าพระยานครฯ อย่าให้เสียท่วงทีราชการได้ แล้วรับสั่งสั่งเจ้าพระยานครฯ ว่าออกไปแล้วเร่งมีหนังสือไปกำชับกำชาบรรดาหัวเมืองปากใต้เสีย อย่าให้มีความประมาท ถ้าราชการหนักเบาประการใดให้เร่งบอกเข้ามาโดยเร็ว การควรจะให้ทัพใหญ่ยกออกไป จะได้ยกออกไปทำเสียให้แล้ว
๏ ครั้นเพลาค่ำ ตรัสถามว่า เจ้าพระยานครฯ ล่องลงไปแล้วหรือยังได้พบกับพระยาไชยาหรือไม่ พระนรินทร์กราบทูลว่า เจ้าคุณหาบนพาพระยาไชยาไปพบเจ้าพระยานครฯ แล้ว แต่เรือเจ้าพระยานครฯ นั้น ล่องลงไปทอดอยู่ที่อู่พระที่นั่งอมรแมนสรรค์[๑๖] ตัวเจ้าพระยานครฯ จะกราบถวายบังคมลาไปเพลาพรุ่งนี้เช้ามืด รับสั่งว่าเออไปพบกันเสีย พวกไชยาไม่สู้ชำนาญทะเลข้างตะวันตก จะได้คิดผ่อนปรนให้ถูกแก่ราชการ แลการข้างเมืองถลางนั้น อ้ายหวันมาลีคนนี้มันอยู่ที่เกาะยาว[๑๗] มันรู้เบาะแสภูมิลำเนาเมืองถลางอยู่สิ้น เป็นกระไรหนอ มันจะคิดไปทำเมืองถลางหรืออย่างไร อกใจให้ร้อน ๆ หนาว ๆ อยู่ทีเดียว พวกนครฯ ซึ่งเข้ามา ก็มาแต่ ณ วันเดือน ๑๐ ขึ้น ๑๒ ค่ำ อ้ายหวันมาลีมันตีเมืองตรังแต่ ณ วันเดือน ๑๐ ขึ้น ๗ ค่ำ ถ้ามันจะคิดไปทำถลางก็ราวตกแรม ๔ ค่ำ ๕ ค่ำไป อ้ายพวกซึ่งเข้ามานี่ก็ยังไม่รู้ จะรู้ความก็ราวแรมสิ้นเดือน ๑๐ นั่นแหละ แล้วรับสั่งสั่งคุณพิพัฒน์ว่า ให้มีตราออกไปเมืองสมุทรปราการ เมืองสาครบุรีว่า ถ้าเรือพวกปากใต้ลำใด ๆ ออกไปแล้ว ก็ให้บอกเข้ามาให้รู้จงทุกลำ ๚
๏ ครั้น ณ วันเสาร์เดือน ๑๐ แรม ๑๑ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า พระยาไชยาพบเจ้าพระยานครฯ แล้วหรือ เจ้าพระยานครฯ ล่องลงไปแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าพาไปพบแล้ว เจ้าพระยานครฯ คิดกับพระยาไชยาว่า ออกไปแล้ว เจ้าพระยานครฯ จะให้พระยาไชยาเข้ามาพบที่เมืองพัทลุง จะได้คิดจัดแจงหาคนผ่อนผันลงเรือ ถ้าจัดแจงหาผู้คนได้พอที่จะให้พระยาไชยากลับเข้ามาอยู่รักษาบ้านเมือง ก็จะให้กลับเข้ามา แต่ตัวเจ้าพระยานครฯ นั้นกราบถวายบังคมลาล่องลงไปแต่เพลาเช้า แล้วทรงตรัสว่ารีบออกไปเถิด ไปถึงเมืองนครฯ ก็จะได้รู้หนักเบาดอก ผู้คนบ่าวไพร่เหล่านั้น มันรู้ว่าออกไปถึงแล้ว มันก็จะหายตื่นตกใจเข้าหาหมดนั่นแหละ ถ้าเห็นการว่าได้ผู้คนพอกับการแล้ว ก็ให้พระยาไชยาอยู่รักษาบ้านเมืองเถิด จะเอาไปก็จะป่วยงานไพร่พลเสบียงอาหารเปล่า ๆ ๚
๏ แลกระแสพระราชดำริซึ่งทรงตรัสราชการเมืองไทรนี้ ตั้งแต่เพลาค่ำ ณ วัน เดือน ๑๐ แรม ๑๑ ค่ำ ไปจน ณ วันเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำ ๑ สงบอยู่หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๑๑ ขึ้น ๒ ค่ำเพลาเช้า พระยาเทพ[๑๘] กราบทูลว่า พระสุนทรนุรักษ์[๑๙] ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ให้ขุนไชยาถือหนังสือบอกเข้ามา ใจความว่า ณ เดือนเก้าปีจอสัมฤทธิศก อ้ายปังลิมาโปป อ้ายปังลิมามระ มาตั้งอยู่ ณ บ้านสะเดา ประมาณคน ๑๐๐๐ เศษ อ้ายโต๊ะปดังตั้งอยู่ที่ยางงาม ๓๐๐ คน อ้ายโต๊ะนุเระตั้งอยู่ที่ตะพานสูง ๔๐๐ คน อ้ายปังลิมาตั้งอยู่ที่สบาเพน ๓๐๐ คน อ้ายเจ๊ะหมัดยิหวาตั้งอยู่ที่ทุ่งบ้านโพประมาณคน ๑๐๐๐ เศษ พระสุนทรนุรักษ์ ให้เจ๊ะหลงสัน เจ๊ะหลงยงลงไปสืบราชการ เจ๊ะหลงสัน เจ๊ะหลงยงลงไปถึงบ้านกะบังปาสูอยู่ ๒ คืน เจ๊ะหลงสัน เจ๊ะหลงยง กลับขึ้นมาถึงเมืองสงขลา ณ วันเดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ แจ้งความว่า อ้ายตนกูอัปดุลลาบุตรอ้ายพระยาไทร[๒๐] มาตั้งอยู่ที่ตะพานช้าง แต่หาทราบว่ามีคนมากน้อยเท่าใดไม่ ได้ความแต่ว่าอ้ายแขกซึ่งมาตั้งอยู่บ้านสะเดานั้น ให้กวาดผ่อนครอบครัวแขกบ้านสะเดาลงไปไว้ที่สบาเพน เอาคนที่สบาเพนขึ้นมาไว้รักษาค่ายบ้านสะเดา พระสุนทรนุรักษ์ได้จัดให้นายทัพนายกองยกออกไปตั้งค่ายรักษาด่านทางอยู่ทั้ง ๑๗ ตำบลเป็นคน ๑๐๘๑ คน ค่ายละ ๕๐๐ คน ๒๐๐ คน ๕๐ คน ๓๐ คนบ้าง แต่พระยาไทรบุรี[๒๑]นั้นอยู่ ณ เมืองพัทลุง มีหนังสือมาถอนแบ่งเอาคนซึ่งให้มาสมทบรักษาด่านทางรวม ๔๐๐ คนนั้นกลับไปเมืองพัทลุง ว่าอ้ายหวันมาลียกทัพเรือเข้ามาจะมาตีเมืองตรัง ยังสู้รบกัน อยู่ที่ปากน้ำพระม่วง แต่ ณ วันเดือน ๑๐ ขึ้น ๗ ค่ำ แต่พระยาไชยานอกราชการนั้น ป่วยเป็นวัณโรคที่ฝีเย็บ อยู่ที่เมืองสงขลา ทรงตรัสว่าเปล่า ๆ ทั้งนั้น คิดว่าจะได้สู้รบกับอ้ายแขกเล่า มิได้รู้พากันแยกย้ายตั้งราย ๆ กันไปเสียสิ้น คิดอ่านการงานอะไรอย่างนี้ไม่เป็นมนุษย์เลย อ้ายพวกเดียรฉานทีเดียว ทำไมมันจะเข้าใจว่าอ้ายแขกไม่เข้ามาตีสงขลาหรืออย่างไร มันจึงคิดแยกย้ายตั้งรั้งรอกันอยู่ ถ้าอ้ายแขกเข้ามาตีแล้วมันตั้งแยกย้ายกันอย่างนี้ มันจะช่วยกันทันท่วงทีที่ไหน คนยิ่งน้อยอยู่แล้วกลับมาแยกย้ายไปอีกเล่า จึงรับสั่งว่าพระยาสงขลา[๒๒]เขาออกไปถึงบ้านเมืองเข้าเมื่อไรแล้ว ก็คงจะได้จัดแจงการรักษาบ้านเมือง คิดรวบรวมคนช่วยกันตีอ้ายแขกเสียให้ยับเยินได้ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำเพลาค่ำ พระนรินทร์กราบทูลว่าเจ้าพระยานครฯ บอกให้ขุนจำนงถือเข้ามา ใจความว่า เจ้าพระยานครฯ จัดทัพให้พระยาไทรยกไปตีอ้ายแขกทางปลิศ พระยาไทรยกไปถึงด่านทางร่วมจัดแจงกองทัพจะยกไปตีอ้ายแขกซึ่งขึ้นมาตั้งค่ายอยู่ ณ ทางปลิศ พอพระยาสงขลาบอกหนังสือไปถึงเจ้าพระยานครฯ ว่า ณ วันเดือน ๑ แรม ๖ ค่ำ ปีจอ สัมฤทธิศก อ้ายแขก[๒๓]ยกกองทัพขึ้นมาตีเมืองจะนะ[๒๔] ๓๐๐ คน ปลัดเมืองจะนะได้สู้รบกับอ้ายแขกอยู่วันหนึ่ง ปลัดเมืองจะนะแตกถอยมา อ้ายแขกพากันจุดเผาบ้านเมืองเมืองจะนะเสียแล้ว อ้ายแขกยังตั้งอยู่ ณ บ้านนาแขวงเมืองจะนะ อ้ายแขกให้คนลงไปเกลี้ยกล่อมคนเมืองเทพา[๒๕]อยู่ พระยาสงขลาขอกองทัพเจ้าพระยานครฯ ให้ยกไปช่วยจงทุกทัพพระยาสงขลา เจ้าพระยานครได้ให้พระยาไทรยกไปช่วยกองทัพพระยาสงขลา แต่พระปลัดเมืองพัทลุงซึ่งอยู่รักษาค่ายสตูลทางซึ่งอ้ายหวันมาลียกมาแต่ก่อนนั้นบอกมาถึงเจ้าพระยานครฯ ว่า พวกอ้ายหวันมาลีเข้าตีชิงเอาเสบียงอาหารที่สตูลไปสิ้น หามีพอกองทัพรับพระราชทานไม่ จะขอรับพระราชทานข้าว ณ กรุงเทพฯ บรรทุกเรือออกไปให้กองทัพรับพระราชทาน แลกองทัพเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองประทิว ซึ่งโปรดให้ยกออกไปให้ทันพร้อมกันคิดราชการตามกระแสพระราชดำริแต่ก่อนนั้น คอยอยู่ประมาณเดือนเศษมาแล้ว ยังหายกออกไปถึงพร้อมกันไม่ เจ้าพระยานครฯ ไม่รอคอย คิดจะทำเสียสำเร็จในเร็ว ๆ นี้ ได้ให้นายทองเดชไปว่าซื้อเรือโบตที่เมืองใหม่[๒๖] จะยกลงไปทำอยู่แล้ว จะขอรับพระราชทานกระสุนดินดำสุพรรณถัน แลกองทัพกรุงฯ ยกออกไป ๓๐๐๐ แลให้มีตราเร่งกองทัพเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองประทิว ยกออกไปทางบก จะได้คิดราชการทำเสียให้สำเร็จทีเดียว จึงทรงตรัสถามว่า จำนวนคนกองทัพทีมีอยู่ข้างนอกนั้นบอกเขามาหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่ได้บอกเข้ามาหามิได้ ทรงตรัสว่าอ้ายแขกยกขึ้นมาตีเมืองจะนะ ๓๐๐ คน ฟังดูไม่น่าเชื่อเลย คน ๓๐๐ เท่านั้นมันจะมาทำไมได้นักหนา คนที่เมืองจะนะเมืองเทพาก็มีมาก จะรวบรวมช่วยกันรบสู้มันก็จะได้ ทางเมืองสงขลากับเมืองจะนะก็วันเดียวเท่านั้น โดยจะยกมาช่วยกันก็จะทันราชการ ทำไมพระยาสงขลาจะไม่รู้หรือว่า อ้ายแขกมาตั้งอยู่ที่นั้น ๆ ก็รู้อยู่ด้วยกันสิ้นแล้ว มานิ่งให้อ้ายแขก ๓๐๐ เข้าตีบ้านเผาเมืองเมืองจะนะได้ เหตุผลอย่างไรอยู่หนอ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า คนกองทัพเมืองนครฯ เมืองสงขลา ก็เดินไปมาถึงกันไม่ขาด ถามขุนจำนงได้ความว่า เห็นพระยาสงขลาจัดแจงกองทัพจะยกออกไปตีอ้ายแขกซึ่งตั้งอยู่บ้านนา จึงรับสั่งว่าคอยฟังบอกสงขลาเข้ามาเถิด เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลัง จงปรึกษาหารือกัน จัดกองทัพให้ยกออกไป[๒๗] ซึ่งจะขอทัพกรุงฯ ออกไปทางบก ๓๐๐๐ นั้น จะไปทำอะไรได้ ยกออกไปไพร่พลก็จะบอบช้ำงอมไปเสียหมด ออกไปถึงทำไม่ได้แล้วก็จะบอกขอเข้ามาอีกไม่รู้แล้ว เป็นแต่อย่างนี้ ไปก็จะป่วยงานไพร่พลเสบียงอาหารเสียเปล่า แล้วตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า เมื่อครั้งยกออกไปทำกับอ้ายตนกูเดนครั้งก่อนเอาคนไปเท่าใด[๒๘] เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า คิดทั้งทัพนครฯ ทัพพัทลุง ทัพสงขลา หมดด้วยกันเป็นคน ๙๐๐๐ รับสั่งว่าครั้งนั้นยังเป็นแรกรู้อยู่ ครั้งนี้ก็เป็นการเคยรู้ท่วงทีอยู่แล้ว แล้วเมื่อจะยกออกไปจากกรุงเทพฯ ก็ได้พูดจาว่ากล่าวจัดแจงกันแล้ว เจ้าพระยานครฯ เห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สำเร็จได้ ก็ให้เจ้าคุณหาบนมีหนังสือตอบออกไป ให้คิดแต่จัดแจงการรักษาเขตแดนบ้านเมืองให้มั่นคงไว้ให้ดีเถิด คอยฟังบอกพระยาสงขลาเข้ามา ถ้าทำไม่ได้จริงแล้วจะได้ปรึกษาหารือคิดเอากองทัพกรุงเทพฯ ควรจะเอาทัพใหญ่ยกออกไปก็จะได้ให้ยกออกไป รีบทำเสียให้สำเร็จโดยเร็ว ตีกวาดเอามาเสียให้สิ้น จะได้ให้เป็นบำเหน็จมือกองทัพกรุงเทพฯ ซึ่งยกออกไปทำจึงจะได้ แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า มีตราตอบความออกไปดังนี้ก่อนเถิด ที่เสบียงอาหารขัดสนก็บอกให้เจ้าพระยาพลเทพ[๒๙] จัดแจงส่งออกไป แล้วให้มีตราเร่งกองทัพเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองประทิวออกไปให้ทันเจ้าพระยานครฯ คิดราชการ แล้วตรัสถามเจ้าคุณผู้ใหญ่[๓๐]ว่า จะออกไปดูที่ขุดคลอง[๓๑]เมื่อไร เจ้าคุณผู้ใหญ่กราบทูลว่าจะกราบถวายบังคมลาไป ณ วันเดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ รับสั่งถึงท้าวพระกรุณาว่า ออกไปอยู่หลายวันป่านนี้จะมิคอยอยู่แล้วหรือ ออกไปเถิดจะได้รีบกลับเข้ามาปรึกษาราชการในกรุง ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เพลาค่ำ พระนรินทร์กราบทูลว่าพระยาสงขลาบอกเข้ามา ใจความว่า ณ วันเดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ พระยาสงขลากับนายทัพนายกองยกออกไปพร้อมกัน ณ ที่หาดใหญ่ ณ วันเดือน ๑๒ แรม ๗ ค่ำ พระยาสงขลาจัดให้พระยาสาย พระยายะหริ่งยกออกไปตีค่ายอ้ายแขกที่สะเดา อ้ายแขกแตกถอยไปตั้งอยู่ที่ทุ่งโพ พระยาสาย พระยายะหริ่ง ยกติดตามเข้าไปตีอ้ายแขกที่ทุ่งโพ ได้สู้รบกันกับอ้ายแขก ๆ แต่งกองออกวกหลังสกัดตีกองลำเลียงพระยาสาย พระยายะหริ่ง ๆ คิดจะสู้รบก็ขัดด้วยเสบียงอาหาร พระยาสาย พระยายะหริ่งพากันถอยมาตั้งอยู่ที่คลองหินเหล็กไฟ คลองพาลา อ้ายตนกูอาเกบยกติดตามเข้ามา พระยาสาย พระยายะหริ่ง ยังสู้รบกับอ้ายแขกอยู่ที่หินเหล็กไฟที่พาลา กับว่า ณ วันเดือน ๑ แรม ๖ ค่ำ อ้ายแขกยกเข้าเมืองจะนะเผาบ้านเมืองเสีย อ้ายแขกยังตั้งอยู่ที่บ้านนาให้ลงไปเกลี้ยกล่อมคนเมืองเทพา เมืองหนองจิก เมืองหนองจิกเข้าด้วยกับอ้ายแขก อ้ายแขกคิดจะยกไปตีเมืองตานีเมืองยะหริ่ง เมืองยะหริ่งบอกขอกองทัพเมืองสงขลาให้ยกไปช่วยพระยาสงขลาเห็นว่ากองทัพเมืองสงขลามีน้อย จะขอรับพระราชทานกองทัพกรุงเทพฯ กระสุนดินดำออกไป ณ เมืองสงขลา พระยาสงขลากลับเข้ามาคิดจัดแจงตั้งค่ายรับอยู่ ณ เมืองสงขลา จึงตรัสว่า เปล่า ๆ ทั้งนั้น พากันอ้อแอ้ไปเสียสิ้น ไม่เป็นแก้วเป็นการเอาเลย ดีแต่หลงเชื่ออ้ายแขกเปล่า ๆ ใช้แขกหลวมออกไปมันก็ไล่วิ่งเข้ามาเท่านั้นกันเอง มาคิดรับอะไรอยู่กับบ้านกับเมืองจะคิดรวบรวมกันเข้ายกเป็นกองๆ อุดหนุนเนื่องกันออกไปรับอยู่ให้มั่นคงตามเขตตามแดนก็จะได้ ผู้คนมันมีเข้ามากี่มากน้อยนักหนา มันจะมาทำสงขลาได้ที่ไหนกับคนเท่านั้น จึงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า โดยมันคิดมาทำสงขลามันมีคนอยู่ ๒๐๐๐ เศษ มันจะมาทำได้หรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถ้าจะทำล้อมเอาบ้านเอาเมืองแล้วคนราวสักหมื่นหนึ่งจึงจะได้ ทรงตรัสว่าคิดตกตื่นใจไปเปล่าๆ มานิ่งคิดรับอยู่กับบ้านกับเมืองอย่างนี้ไม่พอที่จะเสียเขตแดนให้กับมันเลย จึงรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า มีตราให้จมื่นราชาบาล[๓๒]ออกไปบอกเจ้าคุณผู้ใหญ่บอกท้าวพระกรุณาเข้ามากรุงเทพฯ เถิด จะได้ปรึกษาหารือคิดราชการ ถ้าจะควรเอาทัพใหญ่ยกไปแล้วจะได้จัดแจงให้ออกไปทำเสียให้แล้ว แต่คิดให้พระยาวิชิตณรงค์[๓๓] คุมคนออกไปสัก ๕๐๐ ในเร็ว ๆ ก่อนเถิด จะได้ช่วยกันรบสู้คิดราชการทันท่วงที ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๓ แรมค่ำ ๑ เพลาเช้า รับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า คิดหาเอาใครใส่เข้ากับพระยาวิชิตณรงค์ยกออกไปด้วยกันก็ดี จะได้เป็นเพื่อนคิดราชการกัน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ซึ่งจะคิดให้ยกออกไปครั้งนี้ คิดจะใคร่รับพระราชทานให้ยกไปสักพันหนึ่ง จึงรับสั่งสั่งว่าเอาพระราชรินทร์[๓๔]ออกไปด้วยอีกคนหนึ่งเถิด คิดเอาคนให้มัน ๕๐๐ เอาไพร่หลวงเกณฑ์บุญ[๓๕] ๓๐๐ เอากองอาทมาตซ้ายขวา ๒๐๐ หาให้พระยาวิชิตณรงค์ ๒๐๐ คน เป็น ๗๐๐ ด้วยกันให้รีบออกไปก่อนเถิด แล้วมีตราไปถึงพระยาเสนาภูเบศร์ เกณฑ์คนปากใต้เหล่านั้นอีก ๕๐๐ คน ให้พระยาเสนาภูเบศร์คุมยกออกไปช่วยด้วยทีเดียว แล้วรับสั่งสั่งพระราชรินทร์ว่า เองออกไปคิดอ่านช่วยกันตีอ้ายแขกเสียสักทีหนึ่งเถิด ถ้าใครมันอ้อแอ้โยเยแล้วก็ตัดหัวมันเสีย มันจะได้ไม่ดูเยี่ยงอย่างกัน ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ ตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ทัพสงขลาซึ่งสู้รบกับอ้ายแขกนั้น เอาปืนจ่ารงค์ออกไปยิงบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ได้เอาไปให้พระยายะหริ่ง ให้พระยาสายอยู่ที่หินเหล็กไฟบอกหนึ่ง พระยายะหริ่ง พระยาสาย ยิงไปถูกหอรบอ้ายแขกพังครั้งหนึ่ง ทรงตรัสว่า จะเอาปืนจ่ารงค์ไปให้มากไม่ไว้ใจ สู้มันไม่ได้กลัวมันจะไล่ตีชิงเอาปืนเสียหรืออย่างไรจึงเอาไปแต่น้อย จะคิดเอาไปให้มาก จัดคนคุมรักษาปืนเข้าให้มั่นคงก็จะได้ เอาไปยิงประเคนมันเข้า มันก็จะวิ่งพากันเลิกไปหมด มีแต่คิดอ้อแอ้ไปเสียหมดอย่างนี้ อ้ายย่าโม่อะไรที่ไหนมิรู้ น่าเกลียดน่าชังนักหนาทีเดียว แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า จัดแจงคิดจำนวนทัพใหญ่คอยไว้พลางเถิด ใครจะไปได้เล่า มีอยู่ก็สำรับที่เตรียมไว้แต่ก่อนนั้นแหละคิดหาผู้คนให้เจ้าพระยายมราช[๓๖]ไปพลาง เกณฑ์เอาเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองประทุม เมืองนนท์ เมืองพนัศนิคม คอยไว้ด้วยเถิด กลับเข้ามาถึงจะได้ปรึกษาหารือให้ยกออกไป ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ เพลาค่ำ พระนรินทร์กราบทูลว่า เจ้าพระยานครฯ บอกให้นายทองเดชถือเข้ามา ใจความว่า เจ้าพระยานครฯ ได้ให้นายทองเดชไปหามิศบอนำ[๓๗] เจ้าเมืองใหม่ว่า ขอซื้อเรือโบตแลให้มาช่วยปิดปากน้ำเมืองไทร มิศบอนำได้มีหนังสือมาถึงเจ้าคุณหาบนฉบับหนึ่ง เจ้าพระยานครฯ ฉบับหนึ่ง หันแตร[๓๘]ฉบับหนึ่ง ใจความต้องกันว่า ราชการเมืองไทรครั้งนี้มิศบอนำรู้อยู่แล้ว มิศบอนำได้ให้กำปั่นเข้ามาช่วยรักษาปากน้ำเมืองไทรอยู่ ๔ ลำ รักษามาได้เดือนหนึ่งแล้ว มิศบอนำรู้ว่าเจ้าพระยานครฯ ออกมาถึงเมืองนครฯ มีความยินดีนัก ให้เจ้าพระยานครฯ ยกกองทัพเร่งไปตีเสียให้แล้วในเร็ว ๆ นี้ ถ้าช้าไปการอังกฤษข้างทะเลมีขึ้น การจะผันแปรประการใดยังไม่รู้ มิศบอนำได้มีหมายประกาศบรรดาแขกซึ่งอยู่ในแว่นแคว้นอังกฤษ ถ้าผู้ใดไปตีเมืองไทรแล้วให้เลิกถอนกลับมาเสีย ถ้าไม่กลับมาจะเอาโทษเหมือนหนึ่งมาทำกับเมืองอังกฤษ ทรงตรัสว่า มันว่ากล่าวเข้ามาหวานนักหนา ราวกับน้ำตาลทรายทีเดียว ถ้ามันคิดจัดแจงเข้ามาช่วยจริงแล้ว กำปั่นก็ปิดปากน้ำอยู่ถึง ๔ ลำ อ้ายแขกจะมานิ่งหลงรบหลงตีอยู่ได้ที่ไหน เข้ามาปิดหลังไว้อย่างนี้แล้วใครบ้างก็เอาเถิดจะอยู่ไปได้หรือ ก็ต้องคิดระวังหน้าระวังหลังอยู่ด้วยกันสิ้น นี่อ้ายแขกไม่คิดระวังหลังเลย กลับตีรุกเหยียบแดนสงขลาเข้ามาเสียอีก อย่างนี้มันจะว่ามาช่วยอย่างไร มันมาช่วยกดทัพอ้ายแขกนั่นหรือ ถ้ามันมาช่วยกันจริงแล้ว อ้ายแขกจะสู้รบที่ไหนได้ มันก็คงเลิกทัพไปหมดนั่นแหละ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ หามีกระแสพระราชดำริการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๓ แรม ๕ ค่ำ เพลาค่ำ ท้าวพระกรุณากลับมาแต่ราชการขุดคลอง ทรงตรัสถามว่า เป็นกระไรออกไปดูที่ขุดคลองได้เห็นแล้วหรือ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ที่ข้างบางขนากนั้นได้เห็นแล้ว ทรงตรัสว่า ให้ไปดูแลจะให้จัดแจงทำก็จะไม่ได้อยู่ทำ คิดจะเล่นแร่ให้สนุกก็จะไม่ได้เล่น มีการจะต้องไปเสียแล้ว แล้วรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาด้วยราชการเมืองไทรว่าออกไปสักทีหนึ่งเถิด อ้ายแขกมันจองหองคุมเหงนักหนายกเข้ามาในเขตแดนเมืองสงขลา ทำเอาเมืองจะนะเมืองเทพาไปได้ พระยาสงขลาก็พากันอ้อแอ้เสียหมด นิ่งให้อ้ายแขกมันหลอกลวงทำเข้ามาได้จนในเขตแดน อ้ายแขกมันก็เป็นแต่ลูกเล็ก ๆ ยังให้มันทำได้ น่าเกลียดน่าชังนักหนาทีเดียว อ้ายย่าโม่อะไรมิรู้ ถ้าไม่เป็นคนชอบอัชฌาสัยอยู่แต่ก่อนแล้วจะสั่งท้าวพระกรุณาให้ออกไปตัดเอาหัวมันเสีย แล้วรับสั่งสั่งคุณหาบนว่า เอาหนังสือบอกราชการเมืองไทรซึ่งมีเข้ามาเก่ามาใหม่นั้น ให้ท้าวพระกรุณาดูเสียให้รู้ราชการจงทั่วทุกฉบับ จะได้เป็นที่ตริตรองคิดราชการ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ได้รับพระราชทานให้ดูแล้ว แต่ยังหาทั่วทุกฉบับไม่ ตรัสถามว่า ให้ดูที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ดูที่ศาลาลูกขุนพร้อมกับเจ้าคุณผู้ใหญ่ รับสั่งว่า ดูยังไม่หมดก็ค่อยดูไปวันละเล็กละน้อย แล้วรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาว่าออกไปเถิด ฤดูนี้ก็ยังเป็นฤดูลมสะดวกดอก[๓๙] คิดดูก็เป็นฤดูล่าไม่เหมือนทุกปี ปีนี้ข้างจีนเดือน ๘ สองหน ถ้าจะคิดตามเดือน ๘ สองหนแล้ว เดือนสี่ก็เป็นเดือนสามถูกกับฤดูลม เลือกเอานายทัพนายกองไปเถิด จะเอาไพร่น้ำไพร่หลวงกรมไรก็เอาไป ดูเอาที่คนแข็งแรงเคยไปเข้าใจในทางทะเลนั้นออกไปให้มาก ๆ เอาพวกตำรวจวังหน้าไปด้วย แลเมืองนนทบุรื เมืองพนัศนิคมเหล่านี้เขาก็เคยไป ดูเลือกเอาเถิด ออกไปถึงแล้วชักเอาพวกนครฯ พวกสงขลามาเข้าสมทบกันให้พรักพร้อม ควรที่จะแยกยกออกไป ก็คิดแยกย้ายสัญญากันให้พรักพร้อม พากันยกออกไปไล่จ้ำเอาให้ยับเยินเสียทีเดียว กวาดต้อนเอามาเป็นหญ้าช้างหญ้าม้าเสียให้สิ้น เอาให้จนใบไม้เส้นหญ้าก็อย่าให้หลงเหลือติดแผ่นดินอยู่ได้ ให้สมน้ำหน้าสาแก่ใจมันที่เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน แต่ก่อนคิดเวทนา ที่รออยู่ว่าจะให้กองทัพใหญ่ยกออกไป ก็กลัวครอบครัวจะได้ความลำบากพากันยับเยินเสียหมดจึงไม่ให้ยกออกไป เดี๋ยวนี้มันจองหองยกเข้ามาทำเอาจนในเขตในแดนสงขลาแล้ว ออกไปร่ำเอาให้ยับเยินเสียเถิด ถ้าเห็นการควรจะจัดแจงตั้งไว้คงบ้านเมืองแล้ว ก็จัดแจงเอาแต่พวกซึ่งมั่นคงเป็นที่ไว้ใจได้ตั้งขึ้นไว้ รีบกระทำเสียให้แล้วให้ได้กลับมาในเดือน ๙ เดือน ๑๐ ปีกุน เอกศก (จุลศักราช ๑๒๐๑ พ.ศ. ๒๓๘๒) นี้ คิดทำอย่าให้ผู้คนเสียหายป่วยงานไพร่พลเสบียงอาหาร ถ้าเห็นการควรจะผ่อนปรนให้กลับเข้ามาก็ให้ผ่อนปรนกลับเข้ามาเสียบ้าง แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณผู้ใหญ่ สั่งเจ้าคุณหาบนว่า ช่วยกันคิดจัดแจงหาเอาคนที่แข็งแรงเคยทางทะเลเกณฑ์ออกไปให้มาก คิดทำเสียให้แล้วทีเดียว จะได้รีบกลับเข้ามา จึงรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาว่า ออกไปถึงแล้วการก็จะเบามือลงหมด มันรู้ว่าทัพกรุงเทพฯ ออกไปแล้ว บรรดาที่มันเข้าเกลี้ยกล่อมอ้ายแขกมันก็คงจะกลับใจเข้าหา ถ้ามันกลับใจเข้าหาแล้ว ทำไมกับอ้ายแขกยกมาสองพันสามพันเท่านั้น มันจะมาอยู่สู้รบทำอะไรได้ มันก็คงจะพากันเลิกถอนไปสิ้น ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ เพลาค่ำ ตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า กองพระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ ซึ่งจะไปก่อนนั้นจัดแจงผู้คนแล้วหรือ มันจะไปเมื่อไร จะเอาเรือไปกี่ลำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า คิดจัดแจงเสร็จอยู่แล้ว เป็นจำนวนคนกองพระยาวิชิตณรงค์ ๒๘๒ คน กองพระราชรินทร์ ๕๐๙ คน กำหนดจะกราบถวายบังคมลาไป ณ วันเดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ จะเอาเรือไป ๔ ลำ เรือแกล้วกลางสมุทรลำ ๑ เรือปักหลั่นลำ ๑ เรือยืมลูกค้า ๒ ลำ แต่พระราชรินทร์ว่าจะลงไปลำเดียวกับพระยาวิชิตณรงค์ ทรงตรัสว่า ๆ กระไร จะลงไปลำเดียวกันอย่างไร ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า เดิมคิดจะลงไปลำเดียวกัน เห็นว่านายต่อนายไปลำเดียวกัน ไพร่ไปถึงก่อนก็จะต้องคอยนาย ๆ ไปถึงก่อนก็จะคอยไพร่ การหาพรักพร้อมกันไม่ เดี๋ยวนี้คิดจะลงไปคนละลำ ทรงตรัสว่ากระนั้นสิจะแยกย้ายทิ้งไพร่เสียลงไปลำเดียวกันอย่างไรได้ มันจะพรักพร้อมไปทันกันที่ไหน จึงรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบน สั่งท้าวพระกรุณาว่า ดูแลว่ากล่าวจัดแจงให้มันออกไปให้ดี มันจะได้ไปเป็นพาหนะใช้สอย พระยาวิชิตณรงค์เขาก็เป็นคนดีเป็นคนผู้ใหญ่อยู่แล้ว เห็นจะไม่ถือเปรียบแก่งแย่งกันกับพระราชรินทร์ดอก แต่พระราชรินทร์มันเป็นคนแง่งอนดื้อดันอยู่ ออกไปแล้วมันจะแผลงฤทธิ์ขึ้นข้างนอก ถือเปรืยบแก่งแย่งไม่เอาใจปรึกษาหารือกันสิเสียการเสียงานทีเดียว ว่ากล่าวบอกสั่งสอนมันเสีย เอาพระยาวิชิตณรงค์ให้เขาเป็นผู้ใหญ่ออกไปคิดปรึกษาหารือกันให้ดี อย่าให้ถือเปรียบแก่งแย่งกันไปได้ ๚
๏ ณ วันเดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๓ แรม ๙ ค่ำ เพลาเช้า คุณเทพกราบทูลลาให้กองทัพพระยาวิชิตณรงค์ กองทัพพระราชรินทร์ ว่ากำหนดจะได้กราบถวายบังคมลายกออกไป ณ เมืองสงขลา ณ วันเดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ เป็นจำนวนคน ๗๙๐ คน ปืนหน้าเรือท้ายเรือ ๘ ปืนรายแคม ๒๒ ปืนหลัก ๑๐ ปืนคาบศิลา ๓๑๐ บอก รับสั่งว่าเออพากันไปให้ดี ๆ ด้วยกันทั้งหมดเถิด ออกไปช่วยกันรํ่าเอาอ้ายแขกเสียให้ยับเยินทีเดียว คิดเอาคนที่สงขลาเข้าด้วยช่วยกันตี กันมันออกไปเสียให้พ้นเขตแดนสงขลา คิดรักษาเขตแดนไว้ให้มั่นคงก่อน คอยแต่พอให้ทัพใหญ่ไปถึงเถิด ข้างทัพเมืองนครฯ เขาก็คงจะยกมาช่วยทัพสงขลาดอก แล้วรับสั่งสั่งพระราชรินทร์ว่า ออกไปแล้วอย่าไปถือเปรียบแก่งแย่งกัน พระยาวิชิตณรงค์เขาเป็นผู้ใหญ่ คอยฟังปรึกษาหารือกันให้ดี อย่าให้เสียท่วงทีแก่การได้ แล้วรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาว่า ว่ากล่าวสั่งสอนมันเสีย ท้าวพระกรุณาเป็นแม่กองทัพใหญ่ พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์เป็นลูกกอง ดูจัดแจงเสียให้ดี ออกไปจะได้ใช้สอยการข้างหน้าทันท่วงทีราชการ แล้วตรัสถามว่า ปืนหน้าเรือปืนท้ายเรือเอาปืนอะไรไป พระนรินทร์กราบทูลว่าปืนทองยางไซ รับสั่งว่าคิดเอาปืนใหญ่จ่ารงค์รักษาพระศาสนา[๔๐]ออกไปดี การอย่างนี้ถึงจะมีรี้พลน้อย มีแต่ปืนมาก ๆ อยู่แล้ว มันจะเข้ามาทำไม่ได้ เอาราย ๆ กันเข้ายิงประเคนมันออกไปมันจะอยู่สู้ทนที่ไหน มันจะมีปืนใหญ่มากี่มากน้อยนักหนา มันมามันก็มาทางบกอย่างนี้โดยจะมีปืนใหญ่มาก็มีแต่กระสุน ๒ นิ้ว ๓ นิ้ว เท่านั้น มันจะสู้ปืนจ่ารงค์ได้ที่ไหน มันคงพากันเลิกไปสิ้น ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ พระยามหาอำมาตย์[๔๑]กราบทูลถวายบัญชีจำนวนกองทัพใหญ่ ซึ่งจะโปรดให้ท้าวพระกรุณายกออกไปเป็นจำนวนคนเข้ากันทั้งกองพระราชรินทร์หกพันเศษ จึงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า คนหกพันเศษเกณฑ์ออกไปคราวนี้ คิดดูหรูทั้งทัพเมืองนครฯ เมืองสงขลาเข้าด้วยเป็นกระไร จะพอทำหรือไม่พอ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า คิดทั้งคนข้างนอกด้วยเห็นจะพอ ทรงตรัสถามพระนรินทร์ว่า คนเมืองนครฯ เมืองสงขลาจำนวนเท่าไร พระนรินทร์กราบทูลว่า เมืองนครฯ สามพันเศษ เมืองสงขลาพันเศษ รับสั่งว่า ทั้งสองเมืองคิดเอาแต่ห้าพันเถิด ยังคนเพชรบุรี คนราชบุรี คนชุมพร ประทิว กุย ปราณ เหล่านี้เขาก็จะตามออกไป จึงตรัสถามพระนรินทร์ว่า มีตราเกณฑ์ออกไปเท่าไร พระนรินทร์กราบทูลว่า เกณฑ์เมืองเพชรบุรี ๙๐๐ เศษ เมืองราชบุรี ๘๐๐ เศษ เมืองชุมพร เมืองประทิว กุย ปราณ ๘๐๐ เศษ รับสั่งว่าคนก็ยังอีกถึงสามพันเศษ คิดทั้งคนไชยาเข้าด้วย เอาแต่ห้าพันก็ได้ เข้ากันทั้งคนซึ่งเกณฑ์ออกไปหกพันเศษนั้นก็ถึงหมื่นเศษมากอยู่ ถ้าเมืองสงขลาไม่เสียหายดีอยู่ คิดจำนวนคนซึ่งออกไปกับคนข้างนอกหมดด้วยกันเท่านั้น ก็พอทำอยู่แล้ว ถ้าแม้นว่าออกไปมิทัน เมืองสงขลาเสียหายกับอ้ายแขกเสียแล้ว จะคิดเติมผู้คนให้ออกไปอีกให้มาก รํ่าเอามันให้ยับเยินจงได้ จึงตรัสถามพระยามหาอำมาตย์ว่า เคยไปเมืองสงขลาอยู่บ้างหรือไม่ พระยามหาอำมาตย์กราบทูลว่าได้เคยไป รับสั่งว่าดีแล้ว คอยฟังเตรียมตัวไว้เถิด ถ้ามีการจะต้องเพิ่มต้องเติมให้ท้าวพระกรุณาไม่ทันแล้ว จะได้ให้ยกออกไปช่วยท้าวพระกรุณาคิดราชการทำกับอ้ายแขกเสียให้ยับเยิน แล้วตรัสถามพระยาเทพว่าเขมรใหม่กองพระยาภักดีณรงค์อย่างไรจึงเกณฑ์มันไปด้วยเล่า กองเขมรเก่าที่เคยไปก็มีอยู่ทำไมจึงไม่เอามันไป จะเอาเขมรใหม่ไป มันจะแข็งแรงในการงานหรือ มันเป็นคนยังไม่เคยไปเลย ออกไปมันจะไม่เป็นแก้วเป็นการดอกกระมัง เดิมคิดก็ให้เอาเขมรเก่าไปทำไมจึงไม่เอาไป พระยาเทพกราบทูลว่า เจ้าพระยาพระคลังเห็นว่าพวกเขมรเก่าได้เกณฑ์ให้ออกไปตัดเสาเสียแล้ว ยังอยู่แต่เขมรใหม่ จึงคิดเกณฑ์ให้กองทัพออกไป รับสั่งว่าได้จัดแจงเกณฑ์ให้มันเข้ากองทัพ แล้วจะเอามันไปด้วยก็ตามเถิด แต่ทว่าดูแลระวังใช้สอยมันให้ดี มันก็จะได้เคยเข้าด้วยกันสิ้น แล้วตรัสถามว่า ทำไมไพร่หลวงตำรวจวังหน้าจึงเอาไปน้อยนักหนา เป็นอย่างไร จำนวนคนมีเท่านั้นดอกหรือ เจ้าคุณผู้ใหญ่กราบทูลว่า ไพร่หลวง ตำรวจวังหน้านั้นหาสู้มีมากเหมือนกรมไพร่หลวงอื่น ๆ ไม่ มีอยู่ติดกรมอยู่ก็กรมละ ๔ คน ๕ คนเท่านั้น ทรงตรัสว่า ไพร่หลวงตำรวจวังหน้านี้น้อยดอกหรือ แล้วรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาว่า เอาจำนวนคนไปแต่เท่านั้นทีหนึ่งเถิด ถ้าเมืองสงขลาไม่เป็นอันตรายก็พอคิดทำอยู่แล้ว ถ้าเห็นการว่าจะต้องเพิ่มเติมก็จะเพิ่มเติมให้พอทำเอาจนได้ ถ้าออกไปถึงพรักพร้อมกับทัพเมืองนครฯ เมืองสงขลา เมืองไชยาแล้ว คิดจัดแจงแยกย้ายกันเป็นทัพบกทัพเรือยกลงไปได้เห็นจะดี กระหนาบตีรํ่าเอาทั้งบกทั้งเรือเสียให้ยับเยินจนได้ แลการทั้งนี้กว่าจะได้ยกออกไปก็คงจะได้รู้อีกสักคราวหนึ่ง คอยฟังอยู่เถิด ถ้าเห็นการว่าไม่พอที่จะออกไป ก็อย่าออกไปให้ป่วยงานรี้พลเสบียงอาหารเลย ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ ๑๑ ค่ำ ๑๒ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการ เมืองไทรไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ เพลาค่ำ ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรแต่ว่า ลมก็ดีนักหนา เป็นไรบอกเมืองนครฯ เมืองสงขลาไม่เข้ามาถึงบ้างเลย คอยฟังข่าวคราวอยู่ก็พากันเงียบไปเสียหมดทีเดียว
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๒ ค่ำ เพลาค่ำ พระยาเทพกราบทูลถวายร่างตราตอบเมืองสงขลาด้วยราชการเมืองไทร ซึ่งให้กองทัพพระยาวิชิตณรงค์ กองทัพพระราชรินทร์ ถือออกไป ครั้นอ่านถวายจบแล้ว ทรงตรัสว่า เออเอาส่งให้มันออกไปเถิด จะว่ากล่าวไปอย่างไร ๆ ให้มากก็จะเพ้อเสียเปล่า ป่วยงานเขียนเปลืองกระดาษเปลืองดินสอทั้งนั้น ไม่พอที่จะให้อ้ายแขกมันหลอกเล่นได้ การซึ่งบอกเข้ามาครั้งก่อนว่า อ้ายตนกูหมัดสอัดมีหนังสือเข้ามานั้น ก็ได้ว่ากล่าวชี้แจงสั่งสอนออกไปแล้วว่าจะเชื่อมันนั้นไม่ได้ ความก็รู้อยู่ด้วยกันแล้ว ยังให้มันหลอกลวงทำได้ กองทัพสงขลายกไปอยู่ที่หาดใหญ่ จะคิดจัดแจงเอาพวกสงขลาอุดหนุนติดตามกันออกไปก็ไม่มี ให้แต่แขกต่อแขกออกไป มันเห็นว่ากองทัพไทยจะอุดหนุนไม่มีแล้ว มันก็วกหลังไล่ตีเอาวิ่งเข้ามา ถ้าคิดจัดกองทัพอุดหนุนยกติดตามไปเป็นกระบวนทัพหน้าทัพหลัง ระวังมั่นคงอยู่แล้ว มันจะเข้ามาตีตัดหลังได้ที่ไหน แล้วทรงตรัสกับกรมหลวงรักษ์รณเรศว่า ฟังดูท่านแต่ก่อน ๆ ท่านจัดทัพจัดค่ายไม่ประมาทเหมือนอย่างนี้ ถ้าจะตั้งจะเดินจะรบทัพก็ดี ท่านก็จัดทัพเป็นกระบวนทัพหน้า ทัพหลวง ทัพหลัง ปีกซ้าย ปีกขวา ดูน่ากลัวมั่นคงพร้อมสรรพนักหนา ท่านไม่ประมาทเหมือนอย่างนี้ นี่มีแต่ความประมาทหลงเชื่อมันให้เสียทีเปล่า ๆ ทำนองจะเข้าใจเสียว่า มันจะไม่ทำเมืองสงขลาแล้วจึงคิดให้แต่แขกออกไป ปรารถนาจะได้ให้ไปพูดจากับมัน ความเห็นจะเป็นอย่างนี้ จึงให้แขกออกไป ย่าโม่อะไรมิรู้ อ้ายแขกมันจะทำเอาตัวไปได้ก็เอาไปเสียเถิด จะได้หาคนอื่นเขาเป็นต่อไป แล้วรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาว่า ออกไปหน่อยเถิด จะให้ใครไปก็ไม่ได้ จะให้แต่เจ้าพระยายมราชออกไปเล่า ก็จะว่ากล่าวการงานไปไม่ตลอด ผู้ที่ออกไปจัดแจงว่ากล่าวพระยานครฯ พระยาสงขลา คิดทำการงานได้ก็มีแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลัง ท้าวพระกรุณา พระยาราชสุภาวดี[๔๒] ๔ คนเท่านั้น นอกจากนั้นจะออกไปว่ากล่าวจัดแจงที่ไหนได้ ออกไปเถิด ทรงคิดอยู่ก็จะหาใครให้ออกไปไม่ ด้วยว่ารับรวมการรวมงานที่กรุงฯ เหน็ดเหนื่อยมาก เคยเล่นเคยทำบุญด้วยอยู่ มีการจะต้องไปก็ออกไปพอเป็นสวัสดีผู้มีบุญไปสักทีเถิด ถ้าใครอ้อแอ้ไม่คิดทำรักษาเขตแดนบ้านเมืองได้แล้วก็เอาออกเสีย หาคนอื่นเขาเป็นต่อไป คิดทำเอาให้จนได้ ถ้าออกไปถึงแล้ว การจะเป็นมากมายด้วยอ้ายแขกเหล่านั้นพากันกำเริบเข้ากับอ้ายแขกไทรไปสิ้น ทำเอาเมืองสงขลาได้แล้ว ก็จะเพิ่มเติมทุ่มเทกองทัพออกไปช่วยให้มากให้ทันการ ทำเอาบ้านเมืองเขตแดนคืนให้จงได้ แล้วตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ถ้าโดยมันจะทำเอาเมืองสงขลาได้ ก็เพราะอ้ายแขกของเรา[๔๓] มันกำเริบหมดเข้าด้วยกับมัน ๆ จึงจะทำได้ ถ้าอ้ายแขกเรามันไม่กำเริบดีอยู่แล้ว มันจะทำเอาเมืองสงขลาได้หรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถ้าแขกเหล่านั้นไม่กำเริบแล้ว จะมาทำเอาเมืองสงขลาไม่ได้ รับสั่งว่า ถ้าจะทำเอาสงขลาไปได้ ก็เพราะอ้ายแขกเรามันกำเริบเป็นเชื้อเข้าด้วยจึงจะทำได้ แล้วรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาว่าออกไปเถิด ไหน ๆ ก็ออกไปในวันเดือน ๔ แรม ๗ ค่ำนั้นแหละเป็นแน่แล้ว ๚
๏ ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่ามีอะไรบ้างหรือไม่ คุณพิพัฒน์กราบทูลว่า พระยาสมุทรปราการบอกเข้ามาว่า เรือกองทัพพระยาวิชิตณรงค์ได้ใช้ใบไปจากปากน้ำ ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ พระราชรินทร์ได้ใช้ใบไป ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ ทรงตรัสถามว่า ไปเรือกี่ลำ คนลงไปในลำเรือลำละเท่าไร พระนรินทร์กราบทูลว่า เรือ ๔ ลำ คนในลำเรือพระยาวิชิตณรงค์ ๑๐๐ เศษ เรือพระราชรินทร์ ๔๐๐ เศษ เรือนายฤทธินายเวร ๘๐ เศษ เรือจีนขุนพัฒน์สงขลาขี่มา ๘๐ เศษ แต่พวกเกณฑ์บุญซึ่งไปกับพระราชรินทร์ยังมาถึงไม่พร้อมกัน ค้างอยู่ ๓๐ เศษ ว่าจะตามออกไปทางบก รับสั่งว่ามันจะไปทางบก เมื่อไรจะไปถึงทันการทันงานที่ไหน ให้มันคอยออกไปกับกองทัพใหญ่ทีเดียวเถิด แล้วตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ท้าวพระกรุณาจะยกออกไป จะเอาช้างออกไปด้วยหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าไม่เอาออกไปหามิได้ รับสั่งว่าออกไปหาเอาข้างนอกเถิด จึงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ข้างที่นครฯ ที่สงขลามีอยู่สักเท่าไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ช้างที่เมืองนครฯ หาสู้มีมากไม่ มีใช้สอยอยู่ทั้งเมืองนครฯ เมืองพัทลุงราวสัก ๑๐ ช้าง ๒๐ ช้าง แต่เมืองไทรนั้นมีมาก ที่เมืองสงขลามีอยู่ ๕๐ ช้าง แต่หามากเหมือนช้างข้างเมืองแขกซึ่งขึ้นอยู่ ณ เมืองสงขลาไม่ จึงรับสั่งว่า ท้าวพระกรุณาออกไปแล้วคิดกะหาเอาช้างมาใช้สอยก็เห็นจะพอได้อยู่ แล้วตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า เมื่อครั้งเจ้าพระยาพระคลังออกไปครั้งก่อนนั้น เอาช้างออกไปแต่กรุงฯ กี่วันจึงจะออกไปถึง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ออกไป ๒ เดือนจึงถึง รับสั่งว่า ถ้าจะออกไปแต่กรุงฯ ก็จะต้องคอยช้างอยู่ จะไปถึงทันการงานที่ไหน ไปหาเอาข้างนอกเถิด ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างตราตอบเมืองนครฯ บอกกำหนดกองทัพใหญ่ ซึ่งโปรดให้ท้าวพระกรุณายกออกไป รับสั่งว่า เออ เอาให้มันออกไปเถิด ว่ากล่าวก็มากมายไปนักหนาแล้ว ถึงจะว่าไปให้มากมายอย่างไร ๆ ก็มากเสียเปล่า ๆ การก็ไม่แล้วลงที่ไหนได้ แต่ขอเติมความจดหมายลงอีก ๒ ตัว ๓ ตัวเถิด ว่าออกไปว่าการครั้งนี้มีความน้อยพระทัยเจ็บพระทัยนัก ด้วยพระยาสงขลาไม่คิดปรึกษาหารือให้พรักพร้อมกัน ทำจนให้อ้ายแขกมันกำเริบจะเข้ามาตีเอาเมืองสงขลาเสียอีก ซึ่งเจ้าพระยานครฯ ขอกองทัพกรุงฯ ออกไป ๓ ทัพ จะโปรดให้แต่เจ้าพระยายมราชคุมกองทัพออกมาช่วยก็ได้ แต่ทรงเห็นว่าคนสามพันนั้นน้อยนักหนาจะหาพอกับการทำให้แล้วได้ไม่ ด้วยการเมืองไทรนั้นเสียหายบ้านเมืองมาก็ ๒ ครั้งแล้ว จึงโปรดให้เจ้าพระยายมราช ท้าวพระกรุณา ยกทัพใหญ่ออกมาปราบปรามทำให้ถึงใจอ้ายแขกเหล่ากำเริบเสียให้ราบคาบแล้วทีเดียว แล้วทรงตรัสกับกรมหลวงรักษ์รณเรศว่า การครั้งนี้อ้ายแขกไทรมันมีคนมากี่มากน้อยนักหนา มันมีมาห้าพันหกพันเท่านั้น มันแยกย้ายกันก็กองละ ๒๐๐ กองละ ๑๐๐ กองละ ๕๐๐ กองละ ๓๐๐ คน ที่นครฯก็มีอยู่ห้าพันเศษ สงขลาก็ห้าพันเศษ คนถึงหมื่นเศษพอทำอยู่แล้วยังทำไม่ได้ ต้องร้อนถึงทัพกรุงฯ ออกไปจึงจะทำได้ มันจะเป็นการกระไรนักหนาทีเดียว คนเรามีพอทำแล้วปรึกษาหารือกันให้ดี ช่วยกันให้พรักพร้อม หัวใจมันอยู่ที่ไหนก็ทำเอาตรงเข้าที่หัวใจมันอยู่ที่นั้นแล้วจะไปไหน คงทำได้ นี่ต่างคนต่างถือไม่ปรึกษาหารือกันช่วยกันทำให้พรักพร้อม การจึงเป็นไปได้ ข้างสงขลาก็คิดทำเอาตามข้างสงขลา หลงเชื่ออ้ายแขกยกหลวมออกไปถึงทุ่งโพ จะมีกองอุดหนุนติดตามกันออกไปก็ไม่มี มันก็วกหลังไล่ตีเอาวิ่งเข้ามา ข้างเมืองจะนะ เมืองเทพาเล่าอ้ายแขกก็มา ๓๐๐ เท่านั้น ทำเอาเมืองจะนะเทพาได้ บอกขอกองทัพเจ้าพระยานครฯ มาช่วย เจ้าพระยานครฯ ให้พระยาไทรมาช่วย แล้วว่าพวกอ้ายหวันมาลียกกลับเข้ามาตีชิงเอาเสบียงอาหารที่บ้านสตูล ให้พระยาไทรแบ่งคนไปช่วยที่สตูล ฟังดูออกวุ่นไขว่ไปทีเดียว เล่นเอาอ้ายไพร่กองทัพเดินจนสะบ้าหัวเข่าจะหลุดเสียแล้ว ไม่เป็นแก้วเป็นการอะไรเลยเปล่า ๆ ทั้งนั้น กลับไปกลับมาอยู่เท่านั้นกันเอง ทำไม่เป็นอันสำเร็จได้สักอย่างหนึ่ง จะคิดบอกกล่าวเข้ามาแล้วก็มีแต่ปดแก้ความว่า อ้ายแขกมันกำเริบอย่างนั้นอย่างนี้ ตกตื่นใจไปทีเดียว ช่างกระไรไม่มีทิฐิมานะเลยน่าอายอดสูนักหนา จะมีใจทิฐิมานะเข้าบ้างว่าร้ายก็ทีหนึ่ง ดีก็ทีหนึ่งไม่มี พากันอ้อแอ้ไปเสียสิ้น จะว่ากล่าวพูดจาไปอย่างไรก็ว่าเสียเปล่า ๆ หมด ไหน ๆ ก็เป็นอันทำไม่ได้แล้ว ก็เอาทัพใหญ่ยกออกไปประโคมเอามันเถิด ทำอ้ายพวกกำเริบเสียให้ยับเยิน กวาดต้อนมาเสียให้สิ้น เอาให้แล้วจนได้ จึงรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาว่าฟังแล้วอุตส่าห์ตริตรองจำไว้ ออกไปอย่าไปทำเหมือนอย่างนี้ ถ้าทำเหมือนอย่างนี้แล้ว จะเอาคนให้ไปจนหมดคนกรุงศรีอยุธยาก็ไม่พอ แล้วรับสั่งว่า ต่อเมื่อจวนจะออกไปเถิดจึงจะทรงตรัสสั่งให้เข้าใจ ไหน ๆ ก็คงจะได้ฟังข่าวคราว ๆ อีกสักทีหนึ่งดอก ดูจัดแจงทำเรือไปพลางก่อนเถิด แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เจ้าพระยานครฯ บอกเข้ามาครั้งนี้ก็ขอกระสุนดินดำออกไปด้วย ว่าดินดำที่เมืองนครฯ เมืองพัทลุงนั้น เดิมมีอยู่ ๔๐ หาบเศษ ใช้สอยเสีย ยังอยู่สัก ๑๐ หาบ หาพอจะใช้สอยต่อไปไม่ แต่ดินขาวนั้นมีอยู่ จะขอรับพระราชทานกระสุนดินดำกับสุพรรณถันออกไป รับสั่งว่าช่างเถิด ไหน ๆ ก็เป็นอันทำไม่ได้แล้ว จะต้องยกทัพใหญ่ออกไปทำ ก็คอยเอาที่กองทัพใหญ่ทีเดียวเถิด จึ่งตรัสถามว่า กองพระราชรินทร์นั้นเอาดินไปเท่าไร พระนรินทร์กราบทูลว่า เอาไป ๓๗ หาบ รับสั่งว่าทรงทราบอยู่ เอาไปถึง ๔๐ หาบแล้ว แลเมื่อเสด็จขึ้นนั้น รับสั่งให้หาท้าวพระกรุณา เข้าไปเฝ้าริมลับแลกระจกเชิงอัฒจันทร์[๔๔] จะโปรดสั่งด้วยข้อราชการประการใด ข้าพเจ้าฟังหาชัดไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามพระยาเพชรบุรี[๔๕]ว่า เข้ามาถึงเมื่อไร พระยาเพชรบุรีกราบทูลว่า เข้ามาถึงเพลาเย็น ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ จึงรับสั่งว่า การข้างเมืองแขก พระยาเพชรบุรีก็เคยไปเข้าใจอยู่แล้ว ออกไปด้วยกับทัพใหญ่ ช่วยกันทำเสียให้แล้วเสียสักทีเถิด ไม่พอที่พอทางจะให้ป่วยงานรี้พลเสบียงอาหารเลย การข้างนอกก็มีผู้คนพอทำอยู่แล้วยังทำหาได้ไม่ ทำไม่ได้แล้วจะคิดแต่รักษาเขตแดนบ้านเมืองไว้ให้มั่นคงเท่านี้ก็ไม่ได้ ข้างหนึ่งฉลาด[๔๖]ก็ฉลาดเกินไป ข้างหนึ่งโง่ก็โง่ดื้อไป ทำจนให้มันไล่เข้ามาในเขตในแดน การไม่ควรจะเป็นได้ก็เป็นไป ทำให้อายอดสูเขาเล่นเปล่า ๆ ต่างคนก็ต่างทำไม่สามัคคีรสปรึกษาหารือกันเลย มีแต่คิดถือเปรียบแก่งแย่งกันไปเสียสิ้น แล้วตรัสถามพระยาเพชรบุรีว่า เขาเกณฑ์เอาคนไปเท่าไร พระยาเพชรบุรีกราบทูลว่า เกณฑ์ไป ๙๐๐ คน รับสั่งว่าไปหาให้พบท้าวพระกรุณา คิดไถ่ถามปรึกษาหารือกันเข้าเถิด จะจัดแจงไปอย่างไรก็จะได้จัดแจงออกไปให้พรักพร้อมกัน ช่วยกันร่ำเอาอ้ายแขกเสียให้ยับเยินจนได้ ๚
๏ ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ๑๐ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เพลาเช้า พระยาเทพกราบทูลลาให้ขุนจำนง ให้นายทองเดช กลับไปเมืองนครฯ รับสั่งว่าให้ออกไปเถิด ออกไปถึงแล้ว การงานมันเป็นอย่างไรก็ให้เจ้าพระยานครฯ รีบบอกกล่าวเข้ามาโดยเร็ว จะได้ทรงคิดจัดแจงการต่อไป ข้อความพระราชดำริประการใดก็แจ้งออกไปในท้องตราซึ่งขุนจำนง นายทองเดช ถือออกไปนั้นแล้ว แลซึ่งทัพใหญ่จะยกออกไปนั้น จะให้รอฟังดูการข้างสงขลาอีกสักคราวหนึ่งก่อน ถ้าได้ความว่าได้ยกเข้าติดตีสู้รบกับอ้ายแขกเห็นการกระทำอยู่แล้ว ก็จะหาให้ยกทัพใหญ่ออกไปไม่ จะให้พระยาเพชรบุรีถืออาญาสิทธิ์คุมออกไปสามพัน ยกไปช่วยก็จะได้ จะให้ทัพใหญ่ยกออกไปก็จะป่วยงานรี้พลเสบียงอาหาร ถ้าเห็นการว่าทำไปไม่ได้แล้วก็จะต้องให้ทัพใหญ่ยกออกไปทำเอาให้แล้วจนได้ ทัพพระยามหาอำมาตย์ก็ให้เตรียมไว้ช่วยอีกทัพหนึ่ง แล้วทรงตรัสกับพระยาเพชรบุรี คนที่เมืองนครฯ มีอยู่ถึงห้าพันคน ที่สงขลาก็ห้าพัน คนเป็นหมื่นหนึ่งแล้ว ยังสู้กับคนอ้ายแขกห้าพันหกพันไม่ได้ ราวกับอ้ายแขกมันมีมือมาคนละ ๙ มือ ๑๐ มือทีเดียว น่าแค้นนักหนา มีแต่อ้อแอ้กลัวมันไปเสียสิ้น ไม่ควรจะละเลย ทำเอาแต่ให้ได้ของอ้ายแขกมาฟัดหัวสักทีหนึ่งก็ไม่ได้ ไม่เป็นแก้วเป็นการทั้งนั้น ไม่พอที่จะให้ร้อนถึงทัพกรุงฯ เลย เป็นเจ้าบ้านภารเมืองกินและเจียดเงินพานทองเปล่า ๆ สุดแต่มีการขึ้นครั้งไร ก็ร้อนถึงทัพกรุงฯ ออกไปทุกครั้ง จะคิดทำรักษาบ้านรักษาเมืองไว้เกียรติยศรักหน้ารักชื่อ อย่าให้อายเขาก็ไม่ได้ คราวนี้ถ้ามีการต่อไปแล้ว ก็เอาทัพกรุงยกออกไปทีเดียวเถิด จะไว้ใจเชื่อทัพหัวเมืองเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้ว จึงตรัสถามพระยาเพชรบุรีว่า เป็นกระไรกองทัพกรุงฯ ออกไปหกพันเศษกับกองทัพข้างนอกจะพอทำหรือไม่ พระยาเพชรบุรีกราบทูลว่า พอทำ คนหนึ่งหมื่นเศษนี้ก็มากมายอยู่แล้ว จึงตรัสว่า แต่คนข้างนอกก็พอทำอยู่ ทำไปไม่ได้เอง ไม่พอที่จะให้ร้อนถึงทัพกรุงฯ เลย แล้วก็รับสั่งว่าการที่กรุงฯ ข้างทางเมืองกาญจนบุรี มิศริจซอน[๔๗] อังกฤษก็เข้ามา ทางเมืองชุมพรก็เข้ามา มิศบอนำ[๔๘]อังกฤษข้างนอกก็เร่งให้ยกกองทัพออกไปเร็ว ๆ ว่าเอากำปั่นมาช่วยปิดปากน้ำเมืองไทรจะช้าอยู่ไม่ได้ การก็วุ่นไขว่รอบข้างอยู่อย่างนี้ จะทำอย่างไรได้ เมื่อมันจะช่วยก็ช่วย ไม่ช่วยเราก็คงทำเอาจนได้ จะเอาจมูกเขามาหายใจนั้นไม่ชอบ มันว่ากล่าวหวานมาอย่างไร เราก็หวานไปอย่างนั้น ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำทรงตรัสถามคุณพิพัฒน์ว่า มีอะไรเข้ามาหรือคุณพิพัฒน์กราบทูลว่า ไม่มีเรืออะไรเข้ามาหามิได้ ทรงตรัสว่าลมก็ออกคู้ๆ ช่างกระไรเงียบไปเสียทีเดียว ทั้งนครฯ ทั้งสงขลาไม่บอกเข้ามาถึงบ้างเลย คอยฟังอยู่ก็พากันหายไปเสียหมดจะเป็นกระไรอยู่หนอ จะได้คิดทำสู้รบติดตีกับมันออกไปได้หรืออย่างไรก็ไม่รู้ หรือมันจะทำเอาสงขลาไปได้อย่างไร ความจริงเงียบไปเสียสิ้น น่าแค้นนักหนาทีเดียว ข้างเมืองปากใต้แล้วมีแต่อย่างนี้ไปเสียหมด ไม่ใคร่บอกกล่าวมาให้รู้โดยเร็วเลย จึงตรัสถามว่า ตั้งแต่วันขุนพัฒน์เข้ามาแต่สงขลาจนวันนี้กี่วันมาแล้ว พระนรินทร์กราบทูลว่า ได้ ๒๓ วันมาแล้ว ทรงตรัสว่าการก็พอจะมีบอกข่าวคราวเข้ามาถึงแล้ว ยังหามีเข้ามาถึงให้รู้ไม่ จึงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า ถ้ามันทำเอาสงขลาได้แล้วโดยจะวุ่นอยู่ ไม่บอกเข้ามาได้ ข่าวนอกจะไม่เลื่องลือเข้ามาบ้างเจียวหรือ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ถ้าเมืองสงขลาเสียแล้วป่านนี้ข่าวก็คงจะเลื่องลือทราบมาถึง รับสั่งว่ากระนั้นสิจะฟังหรือ คนกระจัดกระจายไปทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว มันก็คงจะเลื่องลือเข้ามาบ้าง นี่เห็นจะเป็นว่าด้วยบอกเข้ามาแต่ก่อนว่า อ้ายแขกกำเริบอย่างนั้นอย่างนี้เกินไปเสียแล้ว ภายหลังความจะหาเป็นอย่างบอกไม่ อ้ายแขกมันไม่กำเริบ ที่กำเริบมันก็กลับใจเข้าบ้าง ข้างเมืองนครฯ เล่า บอกเข้ามาก็ว่าจะไม่รอคอยกองทัพกรุงฯ แล้ว จะยกลงไปทำ การซึ่งจะยกลงไปทำ ไม่ได้ยกลงไปเหมือนว่า ครั้นจะบอกเข้ามาก็กลัวอยู่ ความเห็นจะเป็นอย่างนี้อยู่ด้วยกันเท่านั้นกันเอง จึงไม่บอกเข้ามา ไม่พอที่จะพากันตกตื่นใจเลย มันจะกำเริบไปหมดที่ไหนได้ ประเดี๋ยว ๆ ไปอย่างนี้ มันจะไม่เข็ดหลาบลงบ้างเจียวหรือ มันก็เข้ามา ได้จัดแจงว่ากล่าวพึ่งให้ออกไปเมื่อวานซืนนี้ใหม่ ๆ ทีเดียว เจ้าบ้านภารเมือง เมืองสาย เมืองยะหริ่ง เมืองตานี ก็ยังอยู่ที่สงขลานั่นเอง มันจะพากันกำเริบไปไหนหมดได้ โดยจะเป็นไปบ้างก็เป็นแต่คนเล็กน้อย ที่มันกวาดเอาครอบครัวไปได้มันจนใจอยู่ มันก็ต้องเข้าอยู่เอง ถ้ามันเห็นว่ากองทัพเราทำแข็งแรงอยู่แล้ว มันจะไปไหน มันก็คงกลัวกลับผินหน้าพากันเข้าหาสิ้น นี่มีแต่คิดหย่อนกลัวมันไปเสียหมด ราวกับอ้ายแขกมันมีมือ ๙ มือ ๑๐ หรืออย่างไร พากันวุ่นไขว่อยู่เปล่า ๆ ทั้งนั้น ไม่เป็นแก้วเป็นการอะไรได้ อ้ายแขกมันมาเท่าไรนักหนา ผู้คนก็มีพอทำอยู่แล้ว จะคิดช่วยกันทำให้พรักพร้อมกันเข้าก็จะได้ มีแต่คิดถือเปรียบกัน ยกกลับไปกลับมาอยู่นั่นเอง ถ้าคิดช่วยกันให้พรักพร้อมจริง ๆ ทัพเมืองนครฯ ยกปิดหลังเข้ามาที่หินเหล็กไฟ อ้ายแขกจะอยู่สู้รบที่ไหน ก็จะพากันเลิกไปหมดสิ้น อะไรก็ไม่ได้สักอย่างหนึ่ง ดูเลวเต็มที ทำกับมันไปไม่ได้แล้ว ก็บอกแก้ตัวเข้ามาเปล่า ๆ ว่าอ้ายแขกมันกำเริบ มีคนมาเท่านั้นเท่านี้ คราวจะคิดเกณฑ์เอาการงานแล้วก็ว่าแขกไทรมีน้อย คราวอย่างนี้แล้วก็ว่ามีมาก เข้ามาถึงสี่พันห้าพัน น่าเกลียดน่าชังนักหนา แล้วทรงตรัสกับท้าวพระกรุณาว่า จำนวนคนที่จะยกออกไปครั้งนี้หกพันเศษ กับคนนครฯ สงขลาด้วยกัน ถามพระยาเพชรบุรีเขาเมื่อเช้า เขาก็ว่า คนไปถึงหมื่นเศษพอทำอยู่แล้ว ว่ากระไรเล่า พระยามหาอำมาตย์ พระยาเทพ พระยาพิพัฒน์ ก็นั่งอยู่ด้วยกันได้ยินหรือไม่ พระยามหาอำมาตย์กราบทูลว่าทราบอยู่ พระยาเพชรบุรีว่า คนออกไปนั้นก็มากพอทำอยู่แล้ว จึงรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาว่า คิดไถ่ถามพระยาเพชรบุรีดูเถิด เขาเป็นคนเข้าใจเคยไปรบกับแขกอยู่ การงานอย่างไรเขาก็รู้อยู่สิ้น แล้วทรงตรัสกับกรมหลวงรักษ์รณเรศว่า ฟังดูการบ้านเมืองข้างปากใต้ทุกวันนี้ ดีแต่คิดหาเงินหาทอง จะเอาผลประโยชน์ใส่ตัวไว้ให้มั่งมีไปเสียหมดเท่านั้นกันเอง การที่จะคิดทำทัพศึกรักษาบ้านเมือง ไว้ชื่อไว้หน้านั้นไม่มีเลย ทำอย่างนี้นานไปการวิชาทัพศึกก็จะเสื่อมสูญไปเสียสิ้น จะหาคนรู้การทัพการศึกก็จะไม่มีจะหมดคนลงทุกชั้น ครั้นหมดคนรู้การทัพศึกลงแล้วคราวมีทัพศึกมาก็จะคว้าไขว่เปล่า ๆ ทั้งนั้น แต่จะหาคนยิงปืนเป็นสักคนหนึ่งก็จะไม่มี ลงจนชั้นนี้แล้วที่ไหนจะเป็นบ้านเป็นเมืองไปได้ มันก็รํ่าเอายับเยินไปเป็นบ่าวมันเสียสิ้น แล้วทรงตรัสเล่าเรื่องการซึ่งสิ้นคนทำทัพศึกในพงศาวดารลำดับกษัตริย์มาจนถึงกษัตริย์แผ่นดินกรุงฯ ซึ่งเสียกับพม่า เป็นใจความว่าครั้งพม่ายกเข้ามาทั้งค่ายอยู่วัดแม่นางปลื้มนั้น จะหาคนรู้วิชาปืนยิงปืนเป็นสู้รบกับพม่าก็ไม่มี สูญทแกล้วทหารเสียหมด รับสั่งสั่งให้เอาปืนปะขาวกวาดวัดขึ้นไปยิงสู้รบกันที่หัวรอ ต่างคนต่างก็ตกตื่นใจเอาสำลีจุกหู กลัวเสียงปืนจะดังเอาหูแตก ว่ากล่าวกันให้ใส่ดินแต่น้อย ครั้นใส่แต่น้อยกำหนดจะยิง ข้างน้ำข้างในก็พากันร้องวุ่นวายเอาสำลีจุกหูไว้ กลัวหูจะแตก รับสั่งก็สั่งให้ผ่อนดินลงเสียให้น้อยลง จะยิงแล้วไม่ยิงเล่า แต่เวียนผ่อนลง ๆ ดินก็น้อยลงไปทุกที ครั้นเห็นว่า น้อยลงพอยิงได้แล้วก็ล่ามชนวนออกไปให้ไกลทีเดียว แต่ไกลอย่างนั้นคนยิงยังต้องเอาสำลีจุกหูไว้กลัวหูจะแตก ครั้นยิงเข้าเสียงปืนก็ดังพรูดออกไป ลูกปืนก็ตกลงน้ำหาถึงค่ายพม่าไม่ จึงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า เป็นกระไรรู้หรือไม่ วัดแม่นางปลื้มกับหัวรอนั้นใกล้ไกลกันเท่าไรนักหนา ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ทราบอยู่แล้ว ค่ายที่วัดแม่นางปลื้มกับศีรษะรอก็ตรงกันข้าม รับสั่งว่าสิ้นคนรู้วิชาทัพวิชาศึกแล้วก็จะเป็นไปอย่างนี้นั่นเอง ๚
๏ ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑๒ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามคุณพิพัฒน์ว่ามีอะไรมาหรือไม่ คุณพิพัฒน์กราบทูลว่า ไม่มีเรือเข้ามาหามิได้ ทรงตรัสว่าประหลาดนักหนา ทำไมจึงเงียบไปเสียหมดทีเดียว คอยฟังข้างสงขลาอีกสักทีหนึ่งเท่านี้แหละไม่ได้ความเอาเลย จึงทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า เป็นกระไรคิดจัดแจงเรือแพแล้วหรือ จะเอาเรือไปเท่าไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าเรือรบนั้นคิดจะเอาไปหมด จัดแจงทำอยู่ยังหาแล้วไม่ ตรัสถามว่าก็เรือที่ยืมลูกค้านั้นได้มาเท่าไร พระยาโชฎึกกราบทูลว่า ได้มา ๒๐ ลำ ๒๑ ลำแล้ว ทรงตรัสว่าทั้งเรือรบเรือยืมเท่านั้นมันจะพอคนออกไปหรือ ยังจะได้เรืออยู่ที่ไหนบ้างเล่า พระยาโชฎึกกราบทูลว่า เรือที่จะยืมนั้นก็สิ้นอยู่แล้ว รับสั่งว่าได้เรือสำเภาเล็ก ๆ ที่ไหนสักลำหนึ่งสองลำแต่พอออกไปส่งกันให้หมดได้ก็จะดี เอาเรือง่วนเสงไปสักลำหนึ่งก็จะได้ รื้อแต่หลังคาเขาหลังคาเราไม่รื้อลงก่อนเล่า พระยาโชฎึกกราบทูลว่า เรือจะยังมีอยู่ก็มีแต่เรือไหหลำข้างนอกอยู่ ๖ ลำ ๗ ลำ รับสั่งว่าเรือเขาข้างนอกจะเอาของเขาอย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เรือรบที่เมืองสมุทรมีอยู่ ๒ ลำก็เอาขึ้นมาจัดแจงทำอยู่แล้ว คิดดูทั้งเรือรบนครฯ เรือกำปั่นแปลง เรือรบมีชื่อ ก็เห็นจะพอ แต่คนกองเพชรบุรีนั้นว่าคนเหลือเรืออยู่ ๔๐๐ จะเข้ามาลงเรือที่กรุงฯ จึงรับสั่งสั่งว่า ดูแลจัดแจงเข้าเถิด การก็จวนอยู่แล้ว พระยาเพชรบุรีเขาจะไปลงเรือข้างนอกก็ขับให้ออกไปเถิด เขาจะได้ไล่มันเข้ามาลงเรือที่กรุงฯ อย่าพากันนิ่งทำโยเยเสีย วันนี้ก็ ๑๓ ค่ำแล้ว ยังกี่วันมีเล่า ประเดี๋ยวก็จะ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ถึงแรม ๗ ค่ำโปกเข้า ถ้าไม่ได้ไปแรม ๗ ค่ำแล้วก็จะไปติดตรุษติดถือน้ำอยู่ จะไปได้ก็ราวเดือน ๕ ถ้าตกลงจนเดือน ๕ แล้วลมจะจัดกล้าขึ้น จะไปก็จะยากลำบากอยู่กลางทะเล จะหาทันทีทันการไม่ ดูจัดแจงเข้าเถิด โดยไปไม่ทันวันแรม ๗ ค่ำ แล้วก็คิดให้แต่ทัพพระยาเพชรบุรีเขาล่วงออกไปก่อนพลาง ให้ได้ไปในวันแรม ๗ ค่ำได้นั่นแหละดี ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า เป็นกระไรได้จัดแจงคิดผู้คนลงเรือบ้างแล้วหรือ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่าได้จัดแจงลงไว้บ้างแล้ว แต่ยังคอยคนอยู่ ยังหามาถึงพร้อมกันไม่ ถ้ามาถึงพร้อมกันแล้วจึงจะจัดแจงให้ลงเรือ รับสั่งว่าคอยมันว่ากระไร จัดแจงเรือกะไว้เสียให้พอว่าเป็นเรือของคนนั้นคนนี้เสียทีเดียว มันมาถึงแล้วก็ชี้ให้ ๆ ก็จะแล้ว จะให้มันมาถึงก่อนแล้วจึงจะหาเรือส่งให้มันจะหาทันกันที่ไหน จะไปก็จะไม่พรักพร้อมกัน แล้วตรัสถามว่า ยังขัดอะไรอยู่บ้าง ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า จะขัดอยู่ก็แต่ต้นหนไต้ก๋งหามีลงเรือนายทัพนายกองไม่ จึงรับสั่งว่า ทำไมนายท้ายนายใบที่ปากน้ำก็มีอยู่ ว่ากระไรเล่า ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า นายท้ายนายใบนั้นหาได้เกณฑ์ออกไปไม่ รับสั่งว่าอย่านิ่งเสีย ดูว่ากล่าวขอเอาออกไป เป็นผู้จะไปแล้วจะขัดสนสิ่งไรก็ต้องจัดแจงว่ากล่าวให้เขาส่งเสียออกไป จะให้ใครจัดแจงเล่า จะให้พระนรินทร์มันจัดแจงหรือ หรือจะให้พระยาเทพ หรือจะให้พระยาพิพัฒน์จัดแจง ก็มีมานั่งเห็นหน้าอยู่ด้วยกันเท่านี้แหละว่ากระไร จะให้ใครจัดแจงก็ว่าไป แล้วรับสั่งว่า ใครจะจัดแจงเล่า จัดแจงเอาเองเถิด จะเอาสิ่งไรก็เอาไป ใครจะมาขัดขวางเอาไว้ได้ แล้วตรัสถามว่า ที่ข้าวปลานั้นเป็นกระไรได้ บรรทุกเรือลงบ้างแล้วหรือ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ได้จัดให้เรือหลวงภิมุขมนตรีลำหนึ่ง เรือขุนสาลีพิทักษ์ลำหนึ่ง พระธัญญาบริบาลลำหนึ่ง หลวงกระยาบริบูรณ์ลำหนึ่ง ไปรับบรรทุกอยู่ ๔ ลำแล้ว ว่าข้าวที่กรุงเทพฯ มันมีอยู่น้อย ยังให้คนขึ้นไปเอาข้าวที่กรุงเก่าอยู่ จึงตรัสถามว่า คิดจะเอาข้าวไปคราวนี้เท่าไร ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า รับพระราชทาน ไป ๕๐๐ ทรงตรัสถามว่า ข้าวถึง ๕๐๐ จะบรรทุกเรือ ๔ ลำไปหมดหรือ เรือจุลำละเท่าไร จะบรรทุกไปอย่างไร ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า จะรับพระราชทานบรรทุกออกไปครั้งนี้ไม่ถึง ๕๐๐ หามิได้ จะบรรทุกไปตามกำลังเรือจุลำละ ๗๐ เกวียน ๘๐ เกวียน แต่พอไป ทรงตรัส เออ ว่าอย่างนั้นก็ว่า ฟังดูว่าจะเอาไป ๕๐๐ เกวียน เล่นเอาตกพระทัยทีเดียว ทำไมกับข้าว ๕๐๐ เกวียนเท่านั้นไม่ว่าดอก มิใช่จะหวงกันไม่ให้เอาไปเมื่อไรมี กลัวจะเอาไปไม่ได้เอง ถ้าผ่อนปรนเอาไปเป็นคราว ๆ อย่างว่าแล้วก็ไปได้ ออกไปถึงแล้วก็ให้มันกลับเข้ามาเอาออกไป แล้วตรัสถามว่า คิดเอาข้าวไป ๕๐๐ จะไปกินได้กี่เดือน ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า คิดให้รับพระราชทานไปจนเดือนสิบ ทรงตรัสถามว่า กินไปจนเดือนสิบ คิดแต่ข้าว ๕๐๐ หรือ ๆ คิดทั้งเสบียงกองทัพด้วย ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า คิดทั้งเสบียงกองทัพ ทรงตรัสถามว่าเสบียงบวกกันคนละเท่าไร มันจะไปกินได้กี่เดือนจึงจะหมดเสบียง ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า บวกเสบียงคนละ ๕ ถัง คิดวันละทะนาน รับพระราชทานได้ ๓ เดือนจึงหมดเสบียง แล้วทรงตรัสถามว่า จะบรรทุกไปลำละ ๗๐ เกวียน ๘๐ เกวียนนั้น ก็ยังเสบียงมันอีกมันจะใส่ลงไปได้หรือ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า คิดดูเสบียงที่คนไปก็ไม่มากนักหามิได้ จะใส่ลงก็ ๒ เกวียน ๓ เกวียนเท่านั้น จึงทรงตรัสว่า กรมนาก็ไม่มีใครมา จะถามด้วยข้าวว่าได้บรรทุกลงบ้างแล้วหรือยังก็ไม่รู้ ขึ้นไปเอาข้าวก็ขึ้นไปถึงกรุงเก่า เมื่อไรจะได้ข้าวมาบรรทุก วันนี้ก็ขึ้น ๑๓ ค่ำแล้ว ประเดี๋ยวก็จะ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ถึงแรม ๗ ค่ำเข้า แต่พากันโยเยอยู่อย่างนี้เมื่อไรจะออกไป จึงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า จะไปได้วันแรม ๗ ค่ำหรือจะเหลื่อมไป ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ไม่เหลื่อมหามิได้ รับสั่งว่า ไม่ว่าดอก จะเหลื่อมไปก็ตามสุดแต่ไปเมื่อไรก็ได้ทำมันเมื่อนั้น ไปเดือน ๕ ก็ได้ทำในเดือน ๕ ไปจนถึงเดือน ๖ เดือน ๗ ก็ได้ทำในเดือน ๖ เดือน ๗ นั่นแหละ แต่ว่าจะไปยากลำบากอยู่เอง ตกลงจนเดือน ๕ แล้วลมก็จะจัดกล้าขึ้นจะไปไม่สะดวก จึงตรัสถามว่า ที่ปืนที่ผานั้นจะเอาไปเท่าไร จะเอาปืนอะไรไป ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า จะรับพระราชทานปืนจ่ารงค์หลังช้างกับปืนรายแคมไปสัก ๓๐ บอก รับสั่งว่าจะเอาปืนจ่ารงค์หลังช้างไปทำไม จะเอาขึ้นหลังช้างยิงค่ายอ้ายแขกหรือ ปืนจ่ารงค์หลังช้างเป็นปืนสั้นไม่ดีดอกที่นี่ก็มีอยู่น้อย เอาไว้สำหรับทัพบกทัพฝั่งข้างนี้บ้าง ปืนข้างนอกอยู่ที่นครฯ ที่สงขลาที่พัทลุงก็มีพออยู่แล้ว จะเอาไปทำไมถึง ๓๐ ถึง ๔๐ จะเอาไปก็ดูเอาไปแต่พอใช้สอยเถิด ปืนจ่ารงค์ก็มีหลายชนิดเลือกดูให้ดี เอาไปยิงค่ายคูอย่างนี้ ก็รักข้างปืนยาวนั่นแหละมันส่งลูกไปไกลได้ จะเอาปืนหลังช้างไป ก็เอาไปแต่บอกหนึ่งสองบอกยิงสู้ปืนยาวหาได้ไม่ แต่ปืนรายแคมนั้น จะเอาปืนสำหรับเรือไปบ้าง ก็เอาไปแต่พอกันสลัดศัตรูกลางทางเถิด ไปอย่างนี้สลัดศัตรูมันก็ไม่อาจเข้ามาดอก จะเอาไปขึ้นบกใส่ช้างอย่างนี้ รักปืนยาวคาบศิลาอย่างที่ซื้อขึ้นใหม่นั่นแหละดี เอาใช้เป็นรายแคมไปก็ได้ ถึงแล้วก็เอาใส่หลังช้าง ไปบกเห็นจะดี แต่การจัดแจงปืนอย่างนี้ต้องเลือกดูลำกล้องกับกระสุนปืนให้ได้กันออกไปยิงจึงจะดี ปืนจ่ารงค์ก็มีหลายชนิด แต่หาเหมือนกันไม่ ดูเลือกเอาเถิด ถ้ากระสุนกับลำกล้องไม่ได้กันแล้วยิงก็ขัดเสียไป ลูกปืนก็หาออกไปไกลไม่ ดูจัดแจงให้ดี แลการซึ่งจะออกไปอย่างนี้ก็อาศัยแก่รี้พลเครื่องศัตราวุธเสบียงอาหารพรักพร้อมจึงจะทำได้ ๚
๏ ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ หาได้ทรงตรัสราชการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เพลาค่ำ พระยาสงขลาบอกว่า ให้ขุนจิตรใจรักษ์ ถือเข้ามาถึงกรุงฯ ทรงทราบแต่ฝ่ายข้างมหาดเล็กนั้นแล้วเสด็จขึ้นพระแท่น ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า บอกเข้ามาว่ากระไรบ้าง เจ้าคุณหาบนกราบทูลใจความว่า พระยาสงขลาได้จัดให้หลวงไชยสุรินทร์คุมคน ๕๐๐ ออกไปตีอ้ายแขกที่ป่าบอนแตก ตั้งประชิดรบกับอ้ายแขกอยู่ที่บ้านนา ณ วันเดือน ๓ แรม ๙ ค่ำ อ้ายแขกร้อยคนเข้าเผาบ้านขมิ้น วกหลังจะเข้าตีทัพหลวงไชยสุรินทร์ ๆ ถอยทัพมาถึงปลักแรด อ้ายเจ๊ะหมัดยิหวายกตามหนุนอ้ายแขก ๑๐๐ คนมาพันเศษ พระยาสงขลาได้จัดคนไทยคนจีนเติมออกไปช่วยหลวงไชยสุรินทร์ ๕๐๐ หลวงไชยสุรินทร์กับอ้ายแขกสู้รบกันอยู่ข้างทางหินเหล็กไฟทางพาลานั้น พระยาสงขลาเห็นว่าอ้ายแขกจะยกเข้ามาตีตัดหลังได้ จึงให้กองทัพพระยาสาย กองทัพพระยายะหริ่งถอยมา อ้ายตนกูอาเกบยกตามเข้าพันเศษ ทัพพระยาสายได้สู้รบกับอ้ายแขก ๆ ตาย ๓๐ คน จับได้มา ๒ คน พระยาสาย พระยายะหริ่ง ตั้งค่ายรับอ้ายแขกที่เขาเก้าเส้งแห่ง ๑ ที่เขาลูกช้างแห่ง ๑ ที่คลองสำโรงแห่ง ๑ กับว่าหลวงสวัสดิ์ภักดีผู้ช่วยเมืองยะหริ่งออกมาถึง พระยาสงขลาว่า อ้ายแขกไทร กับแขกเมืองหนองจิก เมืองตานี เมืองยะลา เมืองรามันห์ ประมาณคนพันเศษยกมาตีเมืองตานี เมืองยะหริ่ง พวกเมืองยะหริ่งกับพระยาระแงะกับพระพิทักษ์ธานีเมืองสาย คนสามพันเศษตีอ้ายแขกแตกถอยไปอยู่ประหวันแขวงตานี พระยาระแงะพระพิทักษ์ธานี กำหนดนัดทัพกันจะเข้าตีอ้ายแขก ณ วันเดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ ข้อความบอกเมืองสงขลา แจ้งอยู่ในหลวงทิพอักษรเสมียนตราคัดออกมาแล้ว ทรงตรัสว่าเปล่า ๆ ทั้งนั้น สู้มันไม่ได้ก็กลับมาเท่านั้นกันเอง จึงตรัสถามว่า ค่ายที่ตั้งรับมันอยู่นั้นกับเมืองสงขลาใกล้ไกลกันเท่าไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ห่างเมืองสงขลาอยู่สัก ๕๐ เส้น ทรงตรัสถามว่า เห็นเป็นกระไรจะเสียสงขลาหรือไม่เสีย เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถ้าไม่ทิ้งเมืองแล้วก็ไม่เสีย ทรงตรัสถามว่าเขาคิดรักษาบ้านเมืองทำค่ายคูไว้อย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ทำค่ายล้อมเมืองสงขลาไว้ชั้นหนึ่ง แล้วทำค่ายปีกกากันข้างหน้าเมืองไว้อีกชั้นหนึ่ง ยาวตั้งแต่เตาอิฐไปจนคลองสำโรง ๓๐ เส้นเศษ จึงตรัสถามว่าค่ายปีกกาทำนองชักปิดทางไว้หรืออย่างไร ก็หัวปีกกาข้างโน้นข้างนี้มันจะมีทางเข้ามาได้หรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า หัวปีกกาทั้ง ๒ ข้างไม่มีทางเข้ามาได้หามิได้ หัวปีกกาข้างหนึ่งตั้งแต่เตาอิฐริมทะเลสาบไปจดเอาริมคลองสำโรง ชักปิดทางเสียทีเดียว ทรงตรัสว่า ตั้งปีกกาอย่างนี้ทำนองจะแผ่รายกันรับสู้รบกับมัน ดูปัญญาคิดจัดแจงตั้งค่ายก็ตั้งเอาอย่างนั้น จะตั้งชักปีกกาวงล้อมบ้านล้อมเมืองเข้าเป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้นก็จะได้ แล้วตรัสถามว่า มีคนรักษาค่ายปีกกาอยู่เท่าไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่ามีอยู่สองพัน แยกกันตั้งรับอยู่ ๔ ค่าย ทางเขาเก้าเส้งค่าย ๑ ทางปลักแรดค่าย ๑ ทางเขาลูกช้างค่าย ๑ ทางคลองสำโรงค่าย ๑ ชักปีกกาถึงกัน ทรงตรัสถามว่า ค่าย ๔ ค่ายห่างกันเท่าไร มีการร้อนเร็วจะช่วยกันได้หรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ห่างกันอยู่ (๑๐) เส้นเศษ ท่าทางเดินตลอดถึงกันทั้ง ๔ ค่าย ถ้ามีการเข้ามาผ่อนปรนช่วยกันได้ทุกค่าย ทรงตรัสถามว่า ค่ายทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้อะไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ทำด้วยไม้จริง แต่ค่ายที่เมืองสงขลาเสาค่ายใหญ่กว่าค่ายปีกกา รับสั่งว่าไล่เลียงถามมันดูหรู เขาคิดจัดแจงรักษาจะสู้กับมันอย่างไร จะรักษาเอาเมืองไว้ได้หรือไม่ พระยาเทพกราบทูลว่า คิดจัดแจงเอาปืนขึ้นใส่ไว้บนหอรบ รับสั่งว่าอย่างไร เอาปืนอะไรขึ้นไปใส่บนหอรบ เอาปืนใหญ่ขึ้นไปใส่ได้หรือ ว่าอย่างนี้ก็ว่าเล่า พระยาพิพัฒน์ช่วยไถ่ถามเขาดูทีเถิด พระยาพิพัฒน์ถามแล้ว กราบทูลว่า พระยาสงขลาคิดจัดแจงจะสู้รบอยู่ ให้เอาปืนหลักขึ้นใส่ไว้บนหอรบ เอาปืนใหญ่ใส่ไว้ข้างล่าง จะรักษาเมืองไว้ให้ได้ รับสั่งว่าก็ใจของมันที่มันเข้ามามันเห็นว่ากระไร จะรักษาไว้ได้หรือไม่ได้ คุณพิพัฒน์ถามแล้วกราบทูลว่า ถ้าอ้ายแขกไม่ยกเพิ่มเติมมาอีกแล้วก็เห็นจะรักษาไว้ได้ ทรงตรัสกับท้าวพระกรุณาว่า มันมีแต่พากันตกตื่นใจไปเสียหมดอย่างนี้ ไม่คิดสู้รบเอาเลย ฟังดูพูดจายังตื่นอยู่ทีเดียว จึงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า อย่างไรเห็นจะรักษาเมืองไว้ได้หรือไม่ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า แต่ก่อนพากันตกตื่นใจอยู่ ครั้นมาตั้งรับเข้าเป็นที่มั่นได้ก็หายตกตื่นใจสงบลง เห็นจะคิดรักษาเมืองไว้ได้ แล้วตรัสถามว่า มันจะยกเพิ่มเติมมาอีก มันจะเข้ามาทางไหน จัดแจงตั้งค่ายปิดทางไว้อย่างนี้ทำรั้วขวากหรือไม่ มันจะแหกค่ายเข้ามาได้หรือ หรือจะมีทางเข้ามาทางไหนได้ ว่ากระไร จะรักษาเมืองไว้ได้หรือไม่ พระยาพิพัฒน์ถามแล้วกราบทูลว่า ที่หน้าค่ายก็ลงรั้วขวากไว้แล้ว แต่คิดระวังอยู่ทางหนึ่งกลัวอ้ายแขกจะข้ามฟากไปเผาบ้านคลองสำโรง ได้ตั้งค่ายล้อมบ้านไว้ มีคนรักษาอยู่ ๒๐๐ คน รับสั่งว่าอ้ายนี่มันพูดจาอย่างไรอยู่ น่าเฆี่ยนนักหนาทีเดียว ถามอย่างนี้มันว่าวุ่นไขว่ไปเสียสิ้น ดูไม่หายตกตื่นใจเลย แล้วตรัสถามว่า ที่ทางบ้านเมืองนั้นเป็นอย่างไรอยู่จึงตั้งค่ายแยกย้ายกันไป ฟังดูไม่เข้าใจเอาเลย ที่ค่ายเมืองมีคนรักษาอยู่สักเท่าไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า มีคนอยู่สองพัน ที่แผ่นดินเมืองสงขลานั้นเหมือนหนึ่งรูปลิ้น ข้างหนึ่งเป็นทะเลสาบ ข้างหนึ่งลงทะเล บ้านคลองสำโรงนั้นอยู่ฟากคลองเยื้องเมืองสงขลาข้ามเมืองสงขลานั้นอยู่เหมือนหนึ่งพระราชวัง บ้านคลองสำโรงอยู่อย่างคลองบางหลวง อ้ายแขกมันเข้ามาตั้งอยู่อย่างวัดเลียบ ทรงตรัสว่า มันเป็นแต่อย่างนี้ไป ทำไมจะกวาดข้ามมาไว้ในค่ายสงขลาเสียไม่ได้หรือ อย่างนี้แล้วก็กวาดมารวบรวมไว้ค่ายเดียวกันก็จะได้ ไม่พอที่จะตั้งค่ายแยกย้ายกันไปเปล่า ๆ ไปอยู่รักษาอะไรกับคน ๒๐๐ เท่านั้น แล้วตรัสถามว่า ได้เอาปืนใหญ่ออกไปยิงสู้รบมันที่ค่ายปีกกาบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ได้เอาไปยิงที่เขาลูกช้างบอกหนึ่ง ถูกอ้ายแขกตายหลายคน อ้ายเจ๊ะหมัดยิหวาผ่อนเร่ทัพมาช่วย อ้ายตนกูอาเกบตรวจคนอยู่ที่น้ำกระจาย รับสั่งว่าทำไมจะเอาไปยิงมันให้หลายบอกไม่ได้หรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ที่เขาลูกช้างเป็นเขาเล็กมีทางจำเพาะขึ้นไป เป็นที่ลาดกว้างอยู่ ๔ ศอก พอวางปืนยิงได้อยู่บอกเดียวเท่านั้น รับสั่งว่า สติปัญญาที่จะคิดตัดศิลาหรือทำร้าน จัดแจงเอาปืนขึ้นไปยิงให้หลายบอกเท่านี้ก็ไม่ได้ น่าแค้นพระทัยหนักหนา อ้ายแขกมันก็เป็นแต่ลูกเล็ก มันยังคิดการงานคนถูกผ่อนเร่มาช่วยกันทำพรักพร้อมได้ ถูกมันวกตัดหลังเข้าครั้งไรก็หนีมันมาทุกครั้ง การที่จะคิดรบสู้กับมันก็มีแต่กลัวมันตัดหลังไปเสียหมด จะคิดแต่งกองออกซุ่มคอยตีตัดหลังเหมือนมันเข้าบ้างสักครั้งหนึ่งก็ไม่มี ถอยทัพมาก็มาเอาอย่างนั้น ทำไม่มีชั้นเชิงทัพศึกเอาเลย โสโครกสมมมนักหนา พูดถึงคนหัวไม่มีแล้วให้เจ็บแค้นไปทีเดียว ข้างนครฯ เล่าเขาบอกขอทัพมาช่วยถึง ๒ ครั้ง ก็ว่าจะคอยพระเสนานุชิต พระวิชิตสรไกรก่อน ขัดด้วยเสบียงอาหารอยู่เป็นไปแต่อย่างนี้เสียสิ้น ไม่พอที่พอทางเลย ถ้าจะคิดช่วยกันยกมาพาดหลังอ้ายแขกเข้าสักทีหนึ่ง มันจะอยู่ได้ที่ไหน มันก็จะเลิกไปสิ้น เป็นแล้วกันเท่านั้น นี่ไม่คิดช่วยเหลือกันเข้าเลย มีแต่ถือเป็นหน้าที่กันเสีย จะคิดยกไปข้างไหนก็ไม่ยกไปเสียข้างหนึ่ง ก็วุ่นไขว่อยู่เปล่า ๆ ทั้งนั้น แล้วทรงตรัสว่า ฟังดูข้างเมืองสาย เมืองยะหริ่ง เมืองระแงะนั้น มูลนายเขาก็มั่นคงดีอยู่หมด ผู้คนเขาก็จัดแจงมาช่วยกันได้ถึงสองพันสามพัน รบสู้ตีอ้ายแขกแตกไปได้ ยังกำหนดนัดกันจะติดตามตีอ้ายแขกที่ประหวันอีก ฟังดูเขาดีกับพวกสงขลามาก สงขลาดีแต่จะไปเตือนให้คนอื่นเขารบ ถึงทีตัวแล้วก็ไม่ออกไปรบเหมือนเขาได้ ให้แต่แขกออกไปรบ จะจัดกรมการมีชื่อเสียงออกไปรบด้วยกับเขาก็ไม่มี เดี๋ยวนี้คิดรบสู้ประการใดก็ได้แต่แขกทั้งนั้น ถ้ามูลนายมันมั่นคงอยู่อย่างนี้แล้ว อ้ายแขกที่เป็นขบถไปบ้างเล็กน้อยนั้น มันเห็นนายยกมา มันจะเป็นไปที่ไหนได้ มันก็คงกลับเข้าหาสิ้น แล้วตรัสถามว่า อ้ายแขกมันยกเข้ามา มันเอาข้าวที่ไหนมากินพอกันมันตั้งยุ้งตั้งฉางรวบรวมส่งเสียกันมาหรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนให้ซักถามขุนจิตรใจรักษ์แล้วกราบทูลว่า ไม่มียุ้งไม่มีฉางหามิได้ มีอยู่แต่ข้าวที่บ้านซึ่งอ้ายแขกตีได้ ขนเอาไปแจกจ่ายกันกิน ทรงตรัสว่า ก็ว่ามันจุดเผาบ้านเรือนเสียหมดแล้ว มันเอาข้าวที่ไหนมาแจกจ่ายกันเล่า พระยาพิพัฒน์ถามมันดูหรู พระยาพิพัฒน์ถามแล้วกราบทูลว่า บ้านซึ่งอ้ายแขกตีได้นั้น อ้ายแขกให้ขนข้าวแจกจ่ายกันแล้วจึงจุดเผาเสีย ตรัสถามว่า ก็ข้าวที่ในนานั้นว่ากระไร มีอยู่หรือไม่ คุณพิพัฒน์กราบทูลว่า ช้าง โค กระบือ กองทัพยกมาก็เหยียบยับเยินรับพระราชทานเสียหมด ทรงตรัสว่า ก็ข้าวเท่านั้นพอกันกินหรือ คนมันตั้งกองทัพจะพอเลี้ยงกันกินได้ที่ไหน จับอ้ายแขกมาถามเล่า ก็ไม่ได้ถามถึงข้าวปลาเลย จะใคร่รู้ว่ามันตั้งยุ้งตั้งฉางส่งเสียกันมาหรืออย่างไรก็ไม่รู้ แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ข้าวที่สงขลาก็ขัดสน เข้ามาครั้งนี้ก็ให้มาขอรับพระราชทานบรรทุกออกไป ๒ ลำ ทรงตรัสว่า มาขอบรรทุกออกไปถึง ๒ ลำ จะเอาใส่เรือไปนอนกินอยู่ที่เกาะดอกกระมัง จึงตรัสถามเจ้าคุณหาบน ถามท้าวพระกรุณาว่า เป็นกระไร เห็นจะหนีหรือไม่หนี ถ้าหนีแล้วจะข้ามมาได้ที่ไหน เจ้าคุณหาบน ท้าวพระกรุณา กราบทูลว่า เห็นจะไม่หนี รับสั่งว่าถามมันดูหรูว่ากระไร จะหนีทิ้งเมืองเสียหรือไม่ทิ้ง คุณพิพัฒน์ถามแล้วกราบทูลว่า ไม่หนีหามิได้คิดจะรบสู้เอาเมืองเป็นโลง รับสั่งว่า เออ คิดอย่างนั้นบ้างแล้วก็ถูก มันจะเข้ามาทำถึงบ้านถึงเมืองที่ไหนได้ ปืนใหญ่ปืนโตก็มีอยู่มาก มันเข้ามาแล้วยิงโครมเดียวก็จะพากันวิ่งไปหมด คิดมั่นได้อย่างนี้แล้วสงขลาก็ไม่เสีย ๚[๔๙]
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ แรมค่ำ ๑ เพลาเช้า ทรงตรัสเล่าซึ่งความเมืองสงขลา บอกเข้ามาให้เจ้าคุณผู้ใหญ่ฟัง แล้วทรงตรัสว่าไม่พอที่พอทางเอาเลย ทัพนครฯ ก็พากันนิ่งเสียไม่คิดช่วย ถ้าคิดยกมาช่วยกันทุบหลังมันเข้าสักทีหนึ่งก็จะแล้วทีเดียว นี่เป็นอย่างนี้ไปเสียหมด ข้างสงขลาเล่าจะคิดรบสู้กับมัน ถูกมันตัดหลังเข้าครั้งไรก็วิ่งมาทุกครั้ง ที่จะคิดทำตัดหลังเหมือนมันเข้าสักทีหนึ่งก็ไม่มี อ้ายคนอะไรมิรู้ มีแต่วุ่นไขว่อยู่เปล่า ๆ ทั้งนั้น แล้วรับสั่งให้ออกมาดูท้าวพระกรุณาว่าเข้ามาหรือไม่ พระยาอภัยรณฤทธิ์ให้ออกมาดูแล้วกราบทูลว่า ยังไม่มาหามิได้ รับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า ท้าวพระกรุณาไม่มาแล้ว เจ้าพระยาพระคลังเป็นแทนไปทีเถิดว่ากระไร คนเอาออกไปแต่กรุงฯ หกพันเศษ คนที่นครฯ ที่สงขลาก็ว่ามีอยู่ห้าพัน ออกไปถึงจะเอาได้หรือไม่ได้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าเอาได้ เอาที่นครฯ สามพัน เอาที่สงขลาสองพันนั้นคงได้ จึงตรัสถามพระยาเพชรบุรีว่า ว่ากระไร เป็นผู้จะไปจะเอาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะว่ากระไร จะไปบอกกับนายคิดอย่างไร พระยาเพชรบุรีกราบทูลว่า ออกไปแล้วเห็นจะเอาได้ ถ้าไม่ได้แล้วก็เอาตัวกรมการมาเร่งเอา ทรงตรัสว่า เร่งเอาอะไรกับอ้ายกรมการ คิดอย่างนี้ไม่เป็นแก้วเป็นการได้แล้ว แล้วตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ออกไปเอาคนข้างนอกได้แล้ว กับคนที่ออกไปก็หมื่นเศษ เป็นกระไร จะพอทำหรือไม่พอ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าพอ ตรัสถามว่า ก็พอแล้วจะทำไปให้สำเร็จได้หรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ฟังดูอ้ายแขกที่เข้ามาก็มีคนอยู่สามพัน ว่าอ้ายตนกูอาเกบ อ้ายเจ๊ะหมัดยิหวา มา ๒ ทัพเท่านั้น ว่าข้างหลังหามีทัพอีกไม่แล้ว แต่อ้ายตนกูหมัดสอัด ตั้งมั่นอยู่ปากน้ำเมืองไทร ดูการก็เห็นพอจะทำแล้วได้ จึงตรัสถามพระยาเพชรบุรีว่า พระยาเพชรบุรีก็เป็นคนเคยได้ไปรบกับแขกรู้การอยู่แล้ว ว่ากระไรคนเราเท่านี้จะพอทำแล้วได้หรือไม่ พระยาเพชรบุรีกราบทูลว่า การข้างนอกจะเป็นอย่างไรอยู่ ยังหาทราบไม่ รับสั่งว่า ว่าอย่างนั้นมันก็ไม่รู้แล้วเข้าได้ ว่าตามความที่ได้ความเข้ามาอย่างนี้แหละ กับคนเท่านี้จะพอทำเอาแล้วได้หรือไม่ พระยาเพชรบุรีกราบทูลว่า การข้างแขก ๙ หัวเมือง[๕๐]จะเป็นอย่างไรอยู่ก็ไม่ทราบ ถ้าเข้าเกลี้ยกล่อมอ้ายแขกแล้วก็จะต้องคิดข้างทางนี้บ้าง ทรงตรัสว่า พระยาเพชรบุรีพูดจายังหารู้การอย่างไรไม่ เมื่อไม่เข้ามาฟังเอาเลย เมื่อคืนนี้เขาบอกเข้ามาว่า พวกเมืองสาย เมืองยะหริ่ง เมืองระแงะสามพัน ยกเข้าตีอ้ายแขกไทรแตกไปตั้งอยู่ประหวันแขวงตานี เขากำหนดนัดทัพกันจะเข้าตีอีก ฟังดูมูลนายเขาก็มั่นคงดีอยู่หมดทั้งนั้น ก็เมื่อไม่รู้ไม่ฟังอะไรเลย พูดกันมันจะถูกหรือ แล้วตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ว่าเอาเป็นทำแล้วไปได้เสียทีหนึ่งก่อนเถิดจะได้สั่งเสียการไปให้ตลอดทีเดียว ว่ากระไร ทำเมืองไทรได้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป จะทิ้งแผ่นดินไว้ว่างเปล่าอยู่อย่างนั้นหรือ หรือจะให้เขาเช่าไหน ๆ ก็คงจะมีคนไปอยู่ แต่ที่จะให้อยู่เหมือนอย่างเดิมอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าจะให้อยู่ก็ต้องเอาคนอื่นเข้าไปอยู่จึงจะได้ จะเอาใครไปอยู่รักษาได้ คิดไปเสียให้เสร็จทีเดียว อย่าให้ต้องทวนไปทวนมาถามเลย เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ที่เมืองไทรนั้นเป็นอู่น้ำอู่ข้าว คงจะมีคนมาอยู่ที่จะว่างเปล่านั้นไม่ว่างหามิได้ ถ้าจะคิดให้ออกไปอยู่รักษาแล้ว เห็นด้วยเกล้าฯ จะต้องเอาแขกไปอยู่รักษา รับสั่งว่าถูกแล้ว จะเอาแขกไปรักษา จะเอาแขกที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จะต้องรับพระราชทานดูไปก่อน ถ้าเห็นผู้ใดมีความชอบในราชการคราวนี้แล้ว ก็จะรับพระราชทานเอาผู้นั้น รับสั่งว่า ไม่ว่าจำเพาะแขกที่ไหนแล้วสุดแต่เป็นแขกจะเป็นแขกไทรแขกอะไรของใครได้ใช้สอยเห็นดีมั่นคงแล้ว ก็เอามาตั้งขึ้นให้มันไปอยู่รักษาไว้ ถ้าคิดหาคนที่พวกมากอยู่ข้างในไปได้แล้วเห็นจะดี แล้วทรงตรัสว่า คิดมาได้มากเกือบจะแล้วอยู่แล้ว ได้คนไปรักษาแล้วจะให้ขึ้นกับใคร ถ้าขึ้นกับใครแล้ว มีการมาจะไปช่วยกันได้หรือไม่ได้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จะให้ขึ้นกับเมืองนครฯ การก็เป็นถึง ๒ ครั้งมาแล้ว ครั้งนี้จะให้ไปขึ้นอีก การก็แตกร้าวกันอยู่ ใจแขกก็จะไม่ยอมไป จะให้ไปขึ้นเมืองสงขลา ก็จะคิดรักษาช่วยกันไม่ได้ ก็ให้มาขึ้นกรุงฯ เสียทีเดียว รับสั่งว่า ขึ้นนครฯ ขึ้นสงขลาไม่ได้แล้วให้มาขึ้นกรุงฯ ก็ถูก แล้วทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า ทรงคอยอยู่ก็ไม่เห็นเข้ามา จึงรับสั่งสั่งเจ้าคุณผู้ใหญ่ สั่งเจ้าคุณหาบนว่า ช่วยกันคิดปรึกษาหารือไถ่ถามเข้าเสียให้พร้อมกัน คนที่ยกออกไปกับคนข้างนอกจะพอทำหรือไม่พอ ถ้าเห็นว่าไม่พอแล้ว จะได้คิดเพิ่มเติมให้ออกไปให้พอ ทำเสียให้แล้วทีเดียว แล้วรับสั่งสั่งพระยาเพชรบุรีว่าอย่าเพ่อออกไป คอยฟังปรึกษาหารือเสียให้ตกลงกันก่อนจึงออกไป แล้วทรงตรัสถามว่า พระยาไชยาเก่านั้นไปอยู่ข้างไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไปอยู่รักษาค่ายปีกกา ตรัสถามว่า พระยาสงขลาออกไปอยู่ด้วยหรือไม่ คุณพิพัฒน์กราบทูลว่า ไม่ได้ออกไปอยู่หามิได้ เป็นแต่ไปดูแลแล้วกลับเข้ามาอยู่ที่ค่ายเมือง ทรงตรัสว่า ออกไปดูแลอะไร จะคิดเอาปืนใหญ่ออกไปยิงมันแต่สักทีหนึ่งก็ไม่ได้ คอยทัพใหญ่เขาเถิด ทัพใหญ่เขาออกไปถึงแล้วก็จะอ้อแอ้เข้ามาคิดแก้ตัวเท่านั้นเอง พระยาเพชรบุรีก็เป็นพรรคพวกชอบกันอยู่แล้ว พระยาสงขลาเป็นคนมีเงินมีทอง ก็จะมาสู่หาเอาเงินเอาทองเป็นกำนัล ยัดเยียดให้พระยาเพชรบุรีช่วยว่ากล่าว พระยาเพชรบุรีก็จะเอาความไปบอกกับนาย พาให้นายอ้อแอ้ตามกันอยู่แล้ว ก็เห็นจะเสียการเสียงานจริง ไม่เป็นแก้วเป็นการอะไรได้แล้ว ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ปรึกษาหารือไถ่ถามกันตกลงอย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ได้ปรึกษาเจ้าพระยาบดินทรเดชา[๕๑] ท้าวพระกรุณา พระยาเพชรบุรี พร้อมกันเห็นว่า ที่ข้อจะตั้งเมืองไทรนั้น จะรับพระราชทานฟังดูการทำเสียให้แล้วก่อน ถ้าเห็นว่าควรจะเอาผู้ใดได้จึงจะจัดเเจงตั้งขึ้น รับสั่งว่านิ่งอยู่ จะทรงตรัสกับกรมหลวงรักษ์รณเรศก่อน จึงทรงตรัสว่าไม่พอที่เอาเลย ถ้าทัพนครฯ ยกมาช่วยเหลือกันแล้ว การจะเป็นได้ที่ไหนถึงอย่างนี้ ดูแผนที่ ๆ เมืองสงขลาเล่าก็มั่นคงนักหนา อ้ายแขกจะเข้ามาทำได้ก็แต่ข้างหน้าเมืองทางเดียวเท่านั้น ถ้าคิดรับรบสู้อยู่แล้ว ถึงอ้ายแขกมันจะมาสักเท่าไรก็สู้ได้ กลัวแต่มันจะไม่คิดสู้นั่นแหละเป็นอันจนใจทีเดียว แล้วรับสั่งสั่งให้คุณพิพัฒน์เอาแผนที่เมืองสงขลาไปถวายกรมหลวงรักษ์รณเรศ ครั้นคุณพิพัฒน์เอาแผนที่มารับสั่งสั่งว่า ให้ท้าวพระกรุณา ให้เจ้าพระยายมราชดูเสียให้เข้าใจ ออกไปจะได้คิดรับรบสู้กับมัน จึงทรงตรัสว่า ดูแผนที่บ้านเมืองแล้วไม่น่ากลัวเอาเลย ถึงมันจะเข้ามาสักเท่าไร ก็ทำไม่ได้ แล้วทรงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า คิดดูให้ดี เป็นผู้จะออกไปทำกับมันแล้วเป็นกระไร คนข้างนอกมีอยู่ห้าพัน ออกไปถึงแล้วจะเอาได้หรือไม่ได้ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ถ้ามีแล้วก็เอาได้ รับสั่งว่า อย่าว่าอย่างนั้นว่าเอาเป็นมีนั่นแหละ ว่ากระไร เจ้าพระยาพระคลัง ทั้งนครฯ ทั้งสงขลาจะเอาคนห้าพันไม่ได้เจียวหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เอาที่นครฯ สามพัน ที่สงขลาสองพันนั้นคงได้ จึงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า ๆ กระไรจะไปเอาได้หรือไม่ได้ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่าเอาได้ ทรงตรัสถามว่า ถ้าไม่ได้จะว่ากระไร พูดกันเสียก่อนว่าแต่เอาได้ๆ ออกไปถึงแล้วจะไม่ได้เหมือนว่าจะทำอย่างไร จะบอกเข้ามาหรือ หรือจะว่ากระไร ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ถ้าเอาไม่ได้โดยดีก็รับพระราชทานเอาโดยร้าย ทรงตรัสว่า เออ ว่าอย่างนั้นแล้วก็คงได้ เอาได้แล้วเป็นกระไรกับคนข้างนอกจะพอทำหรือไม่พอ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า พอ ทรงตรัสถามว่าก็พอแล้วจะทำเอาเมืองไทรได้หรือไม่ได้ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า การข้างนอกยังหาเห็นว่าอย่างไรไม่ รับพระราชทานออกไปถึงเห็นการเข้าแล้วความจึงจะเป็นแน่ รับสั่งว่าอย่าว่าอย่างนั้นไม่เอา ถ้าว่าอย่างนั้นแล้วก็ออกไปเปล่า ๆ หาเป็นงานเป็นการอะไรไม่แล้ว ออกไปถึงก็จะต้องรอฟังการก่อน ถ้าได้ความแล้วจะบอกเข้ามา กว่าข้างนี้จะบอกออกไป ทางก็ไกลถึง ๑๔ วัน ๑๕ วัน เวียนกันอยู่แต่อย่างนี้แล้วก็เต็มที การไกลอย่างนี้ก็ต้องว่ากล่าวสั่งเสียไปเสียให้เสร็จทีเดียวจึงจะได้ ว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง ฉันเป็นเจ้าแผ่นดินต้องว่ากล่าวอยู่เอง แม่ทัพนายกองก็เป็นผู้รักษาแผ่นดินด้วยกัน ถ้าออกไปทำไม่ได้แล้วจะไปเอาแก่ใคร ฉันก็ต้องวิวาทโกรธขัดใจเอานั่นแหละ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ฟังดูคำให้การอ้ายแขกซึ่งจับได้ ถามเข้ามานั้นก็ว่าข้างหลังทัพ อ้ายแขกไม่มีกองทัพหามิได้ มีอยู่ที่ปากน้ำเมืองไทร อ้ายตนกูหมัดสอัดตั้งมั่นรักษาอยู่ ทรงตรัสว่า มันจะรักษาอยู่คนสักกี่มากน้อย จะมีอยู่ก็สักพันหนึ่งสองพันเท่านั้น ว่ากระไรพระยาเพชรบุรี เป็นคนเคยรู้การอยู่แล้ว เป็นกระไรคนถึงหมื่นเศษจะเอาเมืองไทรได้หรือไม่ได้ พระยาเพชรบุรีกราบทูลว่า การข้างนอกยังหาทราบความเป็นแน่ไม่ ทรงตรัสว่าแน่ไม่แน่ความก็บอกเข้ามาอย่างนี้แหละ คิดไปตามความว่า อ้ายแขกก็เท่านั้น เราก็เท่านี้ จะทำเอาได้หรือไม่ได้ พระยาเพชรบุรีนิ่งอยู่ จึงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า พูดกันนี้ยังหาได้ครึ่งไม่อีก เป็นกระไรจะทำเอาได้หรือไม่ได้ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ออกไปถึงแล้วไม่นิ่งรอคอยอยู่หามิได้ คิดจะทำลงไปให้ถึงเมืองไทรทีเดียว ทำไปพลางดูการไปพลาง ถ้าเห็นการว่าเป็นอย่างไรแล้วจึงจะบอกเข้ามา รับสั่งว่า เออ ถ้าคิดอยู่อย่างนั้นก็ถูกแล้ว ทำลงไปเห็นการว่าฝรั่งมังค่ามันเป็นอย่างไรอยู่แล้วก็บอกเข้ามาเถิด เอาทัพใหญ่พี่น้อง[๕๒]ยกออกไปช่วยกันทุ่มเททำเอาให้แล้วจนได้ แล้วตรัสถามว่า ถ้าทำลงไปไม่ได้จะว่ากระไร ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า จะรับพระราชทานยกเข้าประชิดคิดเคี่ยวทำกับมันไปให้สำเร็จจนได้ ทรงพระสรวลตรัสว่า สาธุ ๆ จำเริญไปเถิด คิดอย่างนี้ได้ดีแล้ว ค่อยสว่างพระทัยลงได้ แต่ทรงคิด ๆ ราชการอยู่จนประทมไม่หลับพระเนตรได้ จะเสวยก็ไม่ลงพระศอ ทรงขัดเคืองเจ็บพระทัยนัก ออกไปถึงใช้สอยไม่ได้การแล้ว หัวยักษ์หัวมารอยู่ที่ไหนก็ตัดหัวมันเสียเถิด คิดเคี่ยวทำกับมันไปจนได้ จะส่งเข้าเอง คิดทำได้ถึงอย่างนี้แล้วก็คงได้เมืองไทรคืน แล้วกันเท่านั้น จึงทรงตรัสถามว่า ก็ได้เมืองไทรแล้ว จะให้แผ่นดินว่างเปล่าอยู่หรือ หรือจะให้เขาเช่าไหน ๆ ก็คงจะมีคนไปอยู่ จะจัดแจงไปตั้งรักษาไว้หรือ หรือจะให้ใครไปอยู่รักษา จะให้กลับไปอยู่รักษาเหมือนอย่างเดิม[๕๓]นั้นไม่เอาแล้ว คิดเสียให้เสร็จทีเดียว อย่าให้ต้องทวนกลับไปมาเลย ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ที่เมืองไทรเป็นที่อู่น้ำอู่ข้าวจะต้องให้ไปอยู่รักษา แต่ผู้ซึ่งจะไปรักษานั้น ต้องรับพระราชทานเอาแขกจึงจะได้ แต่จะคิดทำเสียให้แล้วก่อน หาดูคนมีความชอบที่พรรคพวกมาก จึงจะจัดแจงให้ไปอยู่รักษา รับสั่งว่าถูกแล้ว ก็ทรงคิดเห็นอยู่ว่าอย่างนั้น จะเอาแขกไทรหรือแขกอะไรของใครที่ไหนก็เอามาเถิด สุดแต่เป็นแขกเห็นว่าควรจะตั้งให้อยู่รักษาได้แล้วก็ตั้งขึ้นไว้ ยังติดอยู่อีกนิดหนึ่งก็จะแล้วดอก แล้วตรัสถามว่าตั้งขึ้นไว้แล้วจะให้ไปขึ้นกับใคร ถ้าขึ้นกับใครแล้ว มีการงานจะมาช่วยกันได้หรือไม่ได้ ที่จะให้เข้ามาขึ้นกรุงฯ อย่าว่า ไม่มีตำรามาแต่ไหนแล้ว ว่ากระไรผู้ใหญ่ ๆ นั่งอยู่ด้วยกันหมด ท่านกรมหลวงรักษ์รณเรศว่าไปก่อน กรมหลวงรักษ์รณเรศกราบทูลว่า ให้ขึ้นกับเมืองนครฯ แขกก็แตกร้าวอยู่ จะให้ขึ้นกับเมืองสงขลาก็พอเย็น ๆ ไปได้ แต่ว่ามีการงานมาจะหาช่วยกันได้ไม่ ทรงตรัสว่า ขึ้นกับเมืองสงขลาเย็น ๆ อย่างไร มีการมามันจะช่วยใครได้ กับอ้ายคนย่าโม่ขี้ขลาดอย่างนี้ แล้วตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ว่ากระไร จะให้ไปขึ้นกับใคร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จะให้ไปขึ้นนครฯ การก็เป็นถึง ๒ ครั้ง แตกร้าวกันอยู่แล้ว จะให้ขึ้นกับสงขลา ๆ ก็จะหาช่วยกันรักษาได้ไม่ ตรัสถามว่า ก็ขึ้นนครฯ ขึ้นสงขลาไม่ได้แล้วจะให้ไปขึ้นที่ไหน มีอยู่ก็แต่เมืองถลาง หรือจะให้ไปขึ้นถลาง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เมืองถลางนั้นก็ไกล คราวมีการมีงานขึ้นเห็นจะมาช่วยกันหาทันไม่ แล้วตรัสถามท้าวพระกรุณาว่าว่าไปดูหรู จะให้ไปขึ้นกับใคร ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า จะให้ไปขึ้นนครฯ การก็เป็นมาแล้ว จะให้ไปขึ้นข้างสงขลาก็ไม่ได้ ทรงตรัสว่าขึ้นนครฯ ขึ้นสงขลาไม่ได้แล้ว จะให้ไปขึ้นกับใคร ว่ากระไรพระยาเพชรบุรี ใจของตัวจะให้ไปขึ้นก้บใคร พระยาเพชรบุรีกราบทูลว่า จะให้ขึ้นเมืองนครฯ ก็ได้ขึ้นมาแล้ว การก็เป็นมาทั้ง ๒ ครั้ง จะให้ขึ้นเมืองสงขลาก็ไม่ได้ ยังมีอยู่แต่เมืองถลาง เมืองไชยา เมืองชุมพร เท่านั้น ทรงตรัสว่า ว่าอะไรอย่างนั้น เมืองชุมพร เมืองไชยา ไกลอยู่ หาไหน ๆ มิรู้ มันจะช่วยกันได้หรือ ว่าอย่างนี้แล้วก็ให้ไปขึ้นเพชรบุรี บ้านเจ้าทีเดียวเป็นไร จะได้นอนกินเล่นอุตุไป แล้วทรงตรัสว่า จะให้ขึ้นได้ก็มีอยู่แต่นครฯ สงขลา ๒ เมืองเท่านั้นแหละ ว่ากระไร จะให้ไปขึ้นที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า การอย่างนี้ก็ต้องรับพระราชทานเอาตามใจสมัคร ทรงตรัสว่า ว่ากล่าวก็เพราะเจาะดีอยู่ แต่จะเอาตามใจสมัครนั้นไม่ได้เป็นการของเรา เราต้องบังคับอยู่เองจึงจะดี แล้วทรงตรัสถามว่าจนอยู่หมดแล้วหรือ จะให้ไปขึ้นกับใครได้ ขึ้นได้ก็ที่นครฯ นั่นแหละ ให้มันไปขึ้นกับนครฯ เถิด ว่าอย่างนี้เข้าใจหรือไม่ จะว่าให้ฟัง ทำไมกับเมืองไทรเป็นเมืองน้อยนิดหนึ่งเท่านั้น เมืองนครฯ เป็นเมืองใหญ่มากกว่าถึง ๒ เท่า ๓ เท่า โดยว่าจะเสียเมืองไทรไป เมืองนครฯ ดีอยู่แล้วจะคิดทำอะไรก็ได้หมด ถ้าจะให้ไปขึ้นอื่นเสียแล้ว เมืองนครฯ ก็จะเศร้าหมองแตกร้าวอิดโรยไป ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า แขกข้างเมืองกลันตันเกิดวิวาทรบพุ่งกัน แต่หาทราบว่าใครต่อใครรบกันไม่ ทรงตรัสถามว่า รบกันด้วยเหตุอะไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ด้วยเหตุชิงกันเป็นเจ้าเมือง ทรงตรัสว่า จะว่าอ้ายพระยาบาโงยคิดไปรบสู้กันอีกก็เห็นจะไม่เป็น จะเป็นก็แต่อ้ายหวันพ่อตานั่นเอง อ้ายหวันพ่อตามันมีพรรคพวกมากอยู่ ถ้ามันคิดจะรบสู้แล้วมันก็รบสู้กันได้ แล้วทรงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า เข้ามาทำไม ดูจัดแจงทำเรือเสียให้แล้วเถิดอย่าลนลานออกไป คอยกันให้พรักพร้อมเสียก่อนจึงค่อยไป ถ้าเห็นว่าจะไปวันเดือน ๔ แรม ๗ ค่ำยังไม่พรักพร้อมทันกันได้ ก็เหลื่อมไปอีกสัก ๒ วัน ๓ วัน จะเป็นไร สุดแต่ให้พรักพร้อมกันไปนั้นแหละดี ไปอย่างนี้ไม่เอารี้พลไปให้พรักพร้อมแล้ว จะไปแต่ตัวจะไปทำอะไรได้ จะทำได้ก็อาศัยเพราะรี้พลพรักพร้อมก่อนจึงจะทำได้ ถ้าออกไปเห็นว่าจะขึ้นที่สงขลาไม่ได้ ก็ไปขึ้นที่นครฯ ขึ้นนครฯ ไม่ได้ก็ไปขึ้นเอาไชยา สุดแต่คิดอย่าให้เสียท่วงทีกับอ้ายแขกได้ ถ้าออกไปถึงแล้วการจะเป็นอย่างไรก็ตริตรองไปตามการ อย่าไปเห็นแก่การอื่น พระยาสงขลาเป็นคนสิ้นคิด มีอยู่ก็แต่เงินแต่ทองอย่าเชื่อถือเอาโดยง่าย ถ้าจะคิดหาเอาอย่างนั้นแล้วมาเอาข้างแขกดีกว่า แล้วรับสั่งว่า ดูทำเรือเสียให้แล้วก่อนเถิด จึงจะทรงตรัสสั่งสอนออกไป แล้วพระยาเทพกราบทูลลาให้พระยาเพชรบุรีกลับไปเมืองเพชรบุรี รับสั่งว่า เออ ออกไปให้ไปดีมาดีเถิด ออกไปแล้วจะให้คนเข้ามาลงเรือ ณ กรุงฯ ๔๐๐ ก็ไล่ให้เข้ามา ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ๚
๏ ณ วันเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ เพลาเช้า ตรัสถามพระสิงหบุรี พระสรรคบุรี กราบทูลว่ายังไม่เคยไป จึงทรงตรัสกับเจ้าคุณหาบนว่า ไม่เคยไปอย่างนี้แล้วก็คงเมา (คลื่น) หาฟังไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถ้าลมจัด ๆ แล้ว ถึงเคยก็ไม่ฟังหามิได้ ทรงตรัสว่า จะพากันเมาคลื่นเมาลมไปกว่าจะถึงก็หลายวันอยู่ ไม่พอที่พอทางจะพากันลำบากในกลางทะเลเลย อ้ายแขกมันก็มาสองพันสามพันเท่านั้น จะคิดช่วยเหลือกันทำเสียก็จะแล้ว นี่ไม่ช่วยกันเอาเลย ปล่อยให้อ้ายแขกมันเข้ามาจนในเขตในแดน ต้องให้ร้อนถึงทัพใหญ่ยกออกไป พากันลำบากไปเสียหมด แล้วรับสั่งสั่งว่า ออกไปช่วยกันทำร่ำเอาอ้ายแขกเสียให้ยับเยินสักทีเถิด กลับเข้ามาก็หาผลประโยชน์เข้ามา กวาดโคกวาดกระบือเอาขี่มาเสียทางบกก็ได้[๕๔] แล้วรับสั่งสั่งเจ้าพระยายมราชว่า บอกท้าวพระกรุณาหาเรือให้ขี่ออกไป อย่าให้เบียดเสียดเยียดยัดกันนักดูแต่พอสมควร เขายังไม่เคยทางทะเล อุตส่าห์ถนอมกันไปให้ดี ให้มีจิตรักใคร่ไพร่พลเหมือนหนึ่งรักแก้ว ถ้าใช้สอยไม่ได้การแล้วก็ตัดหัวมันเสีย ดูคิดจัดแจงไปให้ดี รี้พลก็เป็นพาหนะแห่งแม่ทัพนายกอง ถ้าทำไม่ดีเบียดเสียดเยียดยัดกันไปแล้ว ออกไปถึงจะใช้สอยก็ไม่ได้ จะพากันจับไข้งัก ๆ บอกป่วยเสียหมดสิอยู่ทีเดียว เจ้าพระยายมราชก็เป็นผู้จะไปแล้ว คิดถนอมเอาใจไพร่พลให้พรักพร้อมไปให้ดีด้วยกันทั้งสิ้น ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ขุนไกรตรีเพชรซึ่งเจ้าพระยานครราชสีมา[๕๕] ให้เอาของไปจำหน่าย ณ เมืองถลาง มีหนังสือบอกเข้ามาว่า ขุนไกรตรีเพชรไปทวงเงินที่หลวงวังเมืองตะกั่วป่ายังหาได้ไม่ พระตะกั่วป่าว่าคอยพระยาไชยาออกมาถึงก่อนจะชำระให้ ขุนไกรตรีเพชรคอยพระยาไชยาอยู่จนเดือน ๓ ก็ยังหาเห็นพระยาไชยาออกไปไม่ เมื่อขุนไกรตรีเพชรมาเห็นเรืออ้ายแขกทอดอยู่ที่เกาะยาว ๓๐ ลำ ครั้นกลับมาขุนไกรตรีเพชรพบเรืออ้ายแขก ๓๐ ลำ ถามว่าจะไปไหน อ้ายแขกว่าจะไปเมืองถลาง แต่เห็นเรืออ้ายแขกไปข้างเกาะยาว ขุนไกรตรีเพชรได้ยินเสียงปืนอยู่ ๒ นัด ๓ นัด ไพร่บ้านพลเมืองตื่น นายทัพนายกอง ข้าหลวงกรมการลงไปคอยอ้ายแขกอยู่ที่ปากน้ำ กลับได้ความว่าพระยาไชยาออกไปถึงเมืองถลาง ณ วันเดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ทรงตรัสถามว่า ได้ยินเสียงปืน ๒ นัด ๓ นัด ไพร่บ้านพลเมืองตื่นนั้น จะเป็นไพร่บ้านพลเมืองที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ในหนังสือไม่ว่า ๆ ไพร่บ้านพลเมืองไหนหามิได้ ว่าอยู่แต่เท่านั้น ทรงตรัสว่า ทำหนังสืออะไรเช่นนี้ จะเอาความให้ชัดว่า ไพร่บ้านพลเมืองเมืองไหนก็ไม่ได้ จะเป็นอย่างไรอยู่หนอ มันจะเข้ามาทำเมืองไหนเข้าหรืออย่างไร ฟังดูมันว่าก็ว่านายทัพนายกองข้าหลวงกรมการลงไปอยู่ที่ปากน้ำ จะเป็นเมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองพังงา หรืออย่างไรก็ไม่รู้ พระยาไชยาเล่า เขาก็ออกไปนานแล้ว ที่จะไม่ถึงก็หาเป็นไม่ คงถึงเสียแล้ว มันก็ว่าอยู่ว่า นายทัพนายกองลงไปอยู่ที่ปากน้ำแล้ว เห็นจะเป็นนายทัพนายกองเราที่ออกไปนั่นเอง จึงตรัสถามพระยาไกร[๕๖] (โกษา) ว่า ปากน้ำเมืองถลาง เมืองพังงา เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เหล่านี้ จะมีเรือเข้ามาทำยิงเอาบ้านเอาเมืองถึงเจียวหรือ พระยาไกรกราบทูลว่า ยิงไม่ถึงหามิได้ บ้านเมืองห่างปากนี้ลึกไกลเข้าไปมาก แต่ปากน้ำจะเข้าไปในลำคลองน้ำก็ลึกเป็นห้วง ๆ ไป จึงตรัสถามว่า เรืออ้ายแขกที่อยู่เกาะยาวนั้นจะเป็นเรืออะไร พระยาไกรกราบทูลว่าเป็นเรือระยับ ทรงตรัสว่า เรือ ๓๐ ลำมันจะมาทำเอาบ้านเมืองได้ที่ไหน กองทัพเราก็จัดแจงไปไว้แล้วถึงพันเศษสองพัน อ้ายแขกจะมีคนมาได้สักเท่าไร กับเรือระยับ ๓๐ ลำเท่านั้น เมื่อคิดสู้รบกับมันไม่ได้ก็เป็นคราวเคราะห์กรรมของเรา เป็นอันว่าจนพระทัยอยู่แล้ว แล้วทรงตรัสว่า หรือกองทัพไชยาจะยกมาช่วยกันเสียข้างนี้ อ้ายแขกจะไปข้างโน้นจะแคล้วกันเสียหรืออย่างไร ว่ากระไรท่านกรมหลวงรักษ์รณเรศ กรมหลวงรักษ์รณเรศกราบทูลว่า ถึงยกไปก็เห็นจะไม่แคล้วกัน รับสั่งว่า ว่าแต่ที่จะแคล้วกันหรือไม่แคล้วนั้นเถิด ถ้าแคล้วก็เสียสิไม่เป็นการทีเดียว จึงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า เป็นกระไร จะแคล้วกันหรือไม่แคล้ว ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า กองทัพจะยกมา เรือก็จะมีมาหลายลำคงพบไม่แคล้วกันหามิได้ รับสั่งว่า ถ้ามาไม่แคล้วกันแล้วจะว่าอย่างไร การจะรบสู้กับมันก็คิดจัดแจงไว้พอทำอยู่แล้ว ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามขุนจิตรใจรักษ์ว่า เมื่อรบกับอ้ายแขกที่ปลักแรดนั้นมันยกเข้ามาทำอย่างไรก่อน ได้สู้รบกับมันอย่างไร ได้อะไรมาบ้างหรือไม่ พระยาเทพกราบทูลว่า อ้ายแขกยกแยกกันตรงเข้ามาเป็น ๓ สาย กองทัพหลวงไชยสุรินทร์ยกแผ่รายกันดาหน้าเข้าไปยิงเอาอ้ายแขก ๆ ก็ยิงสู้รบอยู่สักครู่หนึ่ง อ้ายแขกยกเข้าตี ได้สู้รบกันถึงอาวุธสั้น อ้ายแขกแตกถอยไปตั้งอยู่แหลมเกวียน ห่างกันประมาณเส้นเศษ[๕๗] กองทัพได้ปืนหลักอ้ายแขกมา ๒ บอก รับสั่งว่าเป็นไรจึงไม่ตามตี ให้มันตั้งค่ายลงได้ ว่ากระไร คุณเทพกราบทูลว่า ผู้คนมีน้อยตัวอยู่ จึงตั้งรับอยู่ที่ปลักแรด ตรัสถามว่า พระยาสงขลาเขาเกณฑ์เติมไปให้อีก ๕๐๐ นั้นว่ากระไรเล่า คุณเทพกราบทูลว่า ออกไปก็คิดตั้งมั่นรับอยู่ที่ปลักแรด ยังหาได้ยกไปตีต่อไปไม่ ทรงตรัสว่า มันไม่ได้ยินเขาพูดจาเล่าการทัพการศึกบ้างเลย เขาว่ารบกับแขกนั้นมีแต่ปืนเตรียมคอยยิงไว้สัก ๒ คราว ๓ คราวเท่านั้นก็จะได้ เขาเล่าว่าอ้ายแขกจะเข้ามารบแล้ว มันยกรออยู่ให้ยิงพอสิ้นทางปืนคาบศิลา ถ้ายิงมันออกไปคราวหนึ่งแล้ว มันก็ลงนอนหลบลูกปืนเสีย พอสิ้นคราวปืนคราวหนึ่งแล้ว ก็พากันวิ่งเข้ามาทีเดียว ถ้าไม่เตรียมคอยยิงมันอยู่อีกสัก ๒ คราว ๓ คราวแล้ว มันก็วิ่งเข้ามาถึงตัวเอาจนได้ ที่คนเขาเข้าใจรู้การแล้ว เขาจัดเอาปืนหลักไว้ข้างหน้ายิงเสียก่อน มันวิ่งเข้ามาใกล้แล้วก็เอาปืนคาบศิลาไล่มันเข้าถูกเข้าสัก ๒ คราว ๓ คราวเท่านั้นอ้ายแขกก็เข็ดลง หาอาจจะเข้ามาไม่ นี่มันทำเอาตามใจมัน มีแต่คิดหยอนกลัวมันไปเสียหมดทั้งนั้น ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า หาฤกษ์หาพาจะไปได้เมื่อไร ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า จะกราบถวายบังคมลา ณ วันเดือน ๔ แรม ๗ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๗ บาท ตรัสถามพระยาพิพัฒน์ พระยาโชฎึกว่า ๗ ค่ำน้ำกลางวันจะลงเมื่อไร พระยาพิพัฒน์ พระยาโชฎึกกราบทูลว่า น้ำจะลงก็ราวเพลาเช้า ๔ โมงเศษ รับสั่งว่าก็ราว ๕ โมงนั่นแหละ ให้ท้าวพระกรุณาลงนั่งคอยอยู่ในเรือก่อนเถิด ๕ โมงแล้วจึงจะเสด็จพระราชดำเนินลงไปส่ง แล้วทรงตรัสถามว่า จัดแจงเรือเอาไปได้กี่ลำ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า จำนวนเรือนั้นยังหาเป็นแน่ลงได้ไม่ เรือยืมก็ยังไม่พอ รับสั่งว่า ดูจัดแจงหาเสียให้พอ อย่าให้เบียดเสียดเยียดยัดกันไป ไพร่พลจะอิดโรยเสียหมด สั่งเจ้าพระยายมราชไปบอกแล้วหรือ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่าทราบแล้ว พวกหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้นจัดให้ลงเรือใหญ่ออกไปหมด ลงเรือกำปั่นแปลงเรืออย่างนครฯ บ้าง รับสั่งว่า เออดีแล้ว อุตส่าห์ถนอม ๆ ไป เขายังไม่เคยการทะเล แล้วตรัสถามว่า ผู้คนมาถึงพรักพร้อมกันหมดแล้วหรือ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ยังอยู่แต่พวกราชบุรียังหามาถึงไม่ ตรัสถามว่า พระยาภักดีณรงค์ เอามันไปด้วยหรือไม่ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ไม่ได้เอาไปหามิได้ เอาไปแต่นายกอง รับสั่งว่าเอามันไปจะได้เคย ๆ การเข้าบ้าง ดูจัดแจงหาเรือเสียให้พอเถิด มันเข้ามาจะได้ลงเรือไปให้พรักพร้อมกัน ถ้ายังไม่พรักพร้อมก็รออยู่ให้พรักพร้อมก่อนจึงค่อยไป ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลลา ให้ท้าวพระกรุณากับนายทัพนายกองกราบถวายบังคมลาออกไป ทรงตรัสว่า เออ ออกไปให้จำเริญ ๆ ไปหมดด้วยกันเถิด ให้มีชัยชำนะแก่ข้าศึกศัตรูโดยง่าย ออกไปแล้วอย่าให้มีความประมาทแก่การ คิดดูให้รอบคอบ จะบัญชาว่ากล่าวการสิ่งไรก็ให้เด็ดขาด คิดทำให้เหมือนอย่างเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้จึงจะดี แล้วรับสั่งสั่งกรมหลวงรักษ์รณเรศ ให้พระราชทานเครื่องยศสำหรับศึกกับท้าวพระกรุณาแลนายทัพนายกองทั้งปวง แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ยายหนูซึ่งโดยสารเรือขุนจิตรใจรักษ์เข้ามานั้นเล่าว่า เมื่อกองทัพสงขลาถอยเข้ามาอยู่ที่ค่ายปลักแรดรบสู้กับอ้ายแขกนั้น พวกไพร่บ้านพลเมืองเมืองสงขลาพากันตกตื่นใจมาก ยายหนูคนนี้เป็นลูกค้ากรุงฯ ออกไปค้างอยู่สงขลา จัดแจงเก็บของลงเรือจะเข้ามา พระยาสงขลาห้ามไว้หาให้มาไม่ ยายหนูจึงได้โดยสารขุนจิตรใจรักษ์เข้ามา ว่าที่บ้านพระยาสงขลาพากันร้องไห้แซ่ไป มอญ ๓ คน บ่าวพระยาราชสุภาวดีคน ๑ บ่าวพระยานครเขื่อนขันธ์ ๒ คน มาขออาสาออกไปตีอ้ายแขก พระยาสงขลาจัดคนให้ไป ๕๐ ออกไปได้สู้รบกับอ้ายแขก พวกสงขลาแตกหนีมา อ้ายแขกล้อมมอญ ๓ คนไว้ อ้ายมอญ ๓ คนแหกออกมาได้ ขอกองทัพพระยาสงขลา ๑๐๐๐ กับเงิน ๕๐ ชั่ง จะได้ไปซื้อเสบียงยกไปตีกับอ้ายแขกอีก พระยาสงขลาหาให้ไม่ แล้วว่าพระยาสงขลาสิ้นสติสมปฤดีไป หาเป็นอันที่จะคิดออกไปสู้รบกับอ้ายแขกไม่ รับสั่งว่าเชื่ออะไรกับยายแก่ยายเฒ่า เขาไม่ให้เรือเข้ามาก็โกรธเขา ว่าเขาโดยขัดใจนั่นเอง ถ้าจริงเหมือนว่าแล้ว สงขลาจะอยู่ได้ที่ไหนก็เสียมัน ปานนี้ข่าวก็เลื่องลือเข้ามาถึงเสียแล้ว ถ้าจะเป็นเหมือนว่าบ้าง ก็เป็นแต่พากันตกตื่นใจนั่นเห็นจะจริง ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำทรงตรัสว่า เรือพระยาวิชิตณรงค์[๕๘]ออกไปก็เป็นรูปเรือกำปั่นอยู่ ถ้าออกไปถึงก่อนได้แล้ว พวกสงขลาจะแลเห็นเข้าพากันตกตื่นใจไปว่า เป็นกำปั่นพวกคนขาวมาช่วยอ้ายแขกเสียดอกกระมัง ถ้าแม้นว่าเรือขุนพัฒน์ไปถึงก่อน ก็จะได้รู้ว่าเป็นกำปั่นกองทัพของเราออกไป ถ้ายังไม่มีใครไปถึงก่อนให้รู้แล้ว พากันตกตื่นใจไปเสียว่าเป็นกำปั่นอ้ายคนขาวเข้ามารบ คิดทิ้งบ้านเมืองไปเสียก็เป็นอันจนใจอยู่แล้ว ฟังดูมีแต่ตกตื่นใจกลัวมันไปเสียหมด ไม่คิดรบสู้กับมันให้มีชัยชำนะบ้างเลย ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ที่เมืองสงขลานั้นมีเรืออยู่เท่าไร คิดกักเรืออะไรไว้บ้าง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า คิดกักไว้เรือมาแต่เมืองใหม่ ๒ ลำ มาขายปืนกระสุนดินดำที่สงขลา พระยาสงขลาให้ซื้อขึ้นไป ยังหาให้เรือไปไม่ แต่เรือลูกค้านอกนั้นก็กักไว้หมด เรือรบที่สงขลาก็มีดีอยู่ ๒ ลำ นอกจากนั้นชำรุดใช้หาได้ไม่ เรือสำปั้นท้ายตัดต่อขึ้นบรรทุกศิลาครั้งนี้ก็มีอยู่อีก ๑๐ ลำ ทรงตรัสถามว่า ก็จัดแจงเรือไว้อย่างไรบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า แต่เรือสำปั้นท้ายตัดนั้นจัดแจงผูกปืนหน้าเรือไว้คิดคอยจะรบสู้กับอ้ายแขก กลัวจะข้ามมาเผาบ้านคลองสำโรง แต่เรือใหญ่สองลำนั้นก็จัดแจงเครื่องเรืออยู่ยังหาแล้วไม่ ทรงตรัสถามว่า จัดแจงผูกใบด้วยหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จัดแจงผูกใบไว้ด้วย ทรงตรัสถามว่า จัดแจงอย่างนั้น ก็จะคิดหนีทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปอยู่เกาะนั้นเอง ว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง เห็นจะหนีหรือไม่หนี เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เห็นจะไม่หนีรับพระราชทาน ไล่เลียงถามยายหนูดู ยายหนูว่าพระสงฆ์ที่สงขลาพร้อมกันมาหาพระยาสงขลาว่า จะสึกรับอาสาขอออกไปช่วยรบสู้กับอ้ายแขก พระยาสงขลาห้ามไว้ว่าอย่าเพิ่งสึก คอยรอฟังการดูก่อน กองทัพกรุงฯ ก็จะออกมาเร็วอยู่แล้ว ถ้าเห็นว่าการกวดขันมากมายแล้ว จึงจะบอกให้สึกออกมาช่วยกัน รับสั่งว่ากระนั้นสิ การมีเข้ามาจนถึงบ้านถึงเมืองแล้วจะไม่สึกออกมาช่วยกันอย่างไร ก็ต้องสึกออกมาช่วยกันรบสู้มันให้จงได้ แล้วตรัสถามว่า เรือซึ่งให้เข้ามาบรรทุกข้าวนั้น ได้ข้าวลงเรือบ้างแล้วหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ได้ซื้อบรรทุกเรือลงแล้ว รับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า ให้สั่งท้าวพระกรุณาออกไปว่า ซึ่งให้เรือเข้ามาขอบรรทุกข้าวออกไปนั้น จะโปรดพระราชทานให้ออกไปก็เป็นคราวกำลังวุ่นจัดแจงส่งกองทัพใหญ่อยู่ จัดแจงหาทันไม่ ต่อคราวหลังเรือข้าวออกไปเถิดจึงจะพระราชทานให้ออกไป แต่จัดหาปลาใบไม้พริกเกลือฝากท้าวพระกรุณาออกไปให้แจกจ่ายให้ทั่วกันกินไปพลาง พวกนายทัพนายกองข้างนอกก็ขัดสนอดหยากอยู่ จะได้มีใจเป็นกำลังสู้รบกับอ้ายแขกต่อไป ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำทรงตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า จัดแจงเรือจะเอาออกไปคิดหมดด้วยกันสักกี่ลำ ผู้คนมาถึงพร้อมกันหมดแล้วหรือ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ยังอยู่แต่คนเพชรบุรี ๕๐๐ คน ราชบุรี ๕๐๐ ยังหามาถึงไม่ เรือที่ได้ออกไปเป็นเรือยืม ๒๐ ลำ คิดทั้งเรือรบใหญ่เรือรบน้อย จะได้ออกไปหมดด้วยกันเป็นเรือ ๕๑ ลำ ทรงตรัสถามว่า คนก็ยังอยู่ถึง ๙๐๐ พันหนึ่งยังมากนักหนา คิดไว้ว่ากระไร จะให้ลงเรือที่ไหนจะให้ใครจัดแจงส่งเสียไป ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า คิดด้วยเกล้าฯ จะกราบถวายบังคมลาลงไปรออยู่ที่หน้าวัดสำเพ็งสัก ๒ วัน ๓ วัน ถ้าคนยังเข้ามาไม่ทันแล้ว เจ้าพระยาพระคลังจะจัดแจงส่งเสียออกไป รับสั่งสั่งว่า ว่ากล่าวดูจัดแจงกันเสียให้ดี จะส่ง ๆ กันไปแต่พอพ้นปากน้ำแล้วต่างคนต่างก็จะไปเที่ยวหาหอยหาปูกินเสียสิเสียการเสียงานทีเดียว การที่จะจัดแจงผู้คนไปอย่างนี้ รักให้คลุกปะปนกันเข้าเสียนั่นแหละดี เอาคนเราใส่ลงกับคนนอก เป็นนายบังคับกันไปได้จึงจะได้ ถ้าไม่คิดอย่างนี้แล้ว มันก็เที่ยวเชือนแชไปเที่ยวกินหอยกินปูอยู่ตามขอบฝั่งหมดนั่นเอง คิดดูจัดแจงกำชับสั่งเสียกันไว้ให้ดี แล้วรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาว่า จะเล่าความให้ฟัง เมื่อครั้งพม่ายกมาล้อมเมืองเชียงใหม่นั้น ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ[๕๙] ยกกองทัพหลวงขึ้นไปถึงก็ยั้งทัพรออยู่ ยังหาเข้าตีไม่ อ้ายพม่ารู้ข่าวว่ากองทัพหลวงยกขึ้นไปก็พากันตื่นแตกถอยออกจากที่ล้อมเมืองเชียงใหม่ ยังเหลือค่ายพม่าอยู่ลูกหนึ่ง จึงแต่งให้อุบากองเป็นนายทัพยกลงมา ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ ให้หม่อมลำดวน[๖๐] ให้กลาโหม (ราชเสนา) ทองอิน ยกขึ้นไปตีทัพอ้ายอุบากอง[๖๑] ทัพหลวงก็ยกหนุนขึ้นไป ทัพอ้ายอุบากองพากันแตกกระจัดกระจายจับนายทัพนายกองอ้ายพม่าได้หลายคน อ้ายพม่าจึงได้เลิกถอยแตกไปจากเชียงใหม่ ความเป็นอย่างนี้ ฟังแล้วจำไว้ เมื่อครั้งอ้ายพม่ายกมาตีเมืองถลางนั้นก็ครั้งหนึ่งว่าอ้ายพม่ายกมาล้อมเมืองถลางไว้ กองทัพกรุงฯ ยกไปถึงเมืองตะกั่วทุ่งก็พากันยั้งอยู่ พวกอ้ายพม่าได้ยินเสียงคลื่น คิดว่าเสียงปืนใหญ่ก็พากันแตกไปจากเมืองถลาง กองทัพเรือเมืองไทรยกมาทันก็ได้ช่วยกันกับกองทัพกรุงฯ ออกไล่จับนายทัพนายกองอ้ายพม่าได้ กองทัพกรุงฯ ยกไปตั้งอยู่เมืองถลาง เรือเสบียงอ้ายพม่า ๔ ลำ ตามมาส่งเสบียงกัน คิดว่าอ้ายพม่ายังอยู่เมืองถลางก็ตรงเข้ามาใกล้ กองทัพฝ่ายเราให้ล่ามพม่าเรียกเรือ ๔ ลำ พวกพม่าคิดว่ากองทัพพม่าด้วยกันเรียกก็ตรงเข้ามา กองทัพเราออกไล่จับได้สิ้นทั้ง ๔ ลำ ฟังแล้วอุตส่าห์จำเอาไว้ นี่ว่าด้วยความที่ข้อจะตกตื่นใจพากันหลงเข้าไปจะเสียที ประเพณีจะทำทัพทำศึกแล้วอย่าให้มีความประมาท อุตส่าห์ตริตรองการให้รอบคอบจงมาก แลเรือนายทัพนายกองซึ่งจะข้ามไปแต่ฝั่งตะวันออกนั้นก็ให้ระวังกำชับกันเสีย อย่าให้พลัดแพลงล่วงเกินหลงเปลี่ยวไปแต่ลำหนึ่งสองลำได้ คอยสืบสาวคิดดูลงไปให้พรักพร้อมกันให้ดี ถ้าแม้นว่ากองทัพราชรินทร์ไปถึงก่อนแล้ว พวกอ้ายแขกมันรู้เข้าว่ากองทัพกรุงฯ ออกมา มันก็จะพากันแตกหนีไปสิ้นมันจะอยู่สู้รบที่ไหน แขกเมืองจะนะ เมืองหนองจิก เมืองยะลา ซึ่งไปด้วยกันกับอ้ายแขกไทรนั้นก็จะพากันกลับใจมาเข้าหาสิ้น พวกแขก ๙ หัวเมืองก็จะมีใจช่วยรบสู้แข็งแรงเข้าหมดด้วยกัน ถ้าออกไปไม่ทันเมืองสงขลาเสียหายจะเอาผู้คนไม่ได้ การเป็นประการใดแล้วก็ดี เร่งบอกเข้ามาจะได้จัดคนเพิ่มเติมยกออกไปให้พอทำเอาให้แล้วจนได้ ถ้าออกไปถึงแล้ว ให้กำชับนายทัพนายกองเสียจงทั่ว อย่าให้มีความประมาททำหูไวใจเบาแก่การ หลงยกล่วงถลำเข้าไปให้เสียที เหมือนหนึ่งเอาพิมเสนไปแลกเกลือไม่ต้องการ ให้คิดตริตรองการให้รอบคอบหนักแน่นเสียก่อนจึงจะทำเอาชัยชำนะแก่มันได้ ถ้าจับมันได้จะซักถามข้อราชการกับมันแล้วอย่าเชื่อฟังคำมันเอาโดยง่าย เฆี่ยนซักถามมันไปกว่าจะได้ความ ถ้าได้ความแล้วอย่าเพิ่งเชื่อมันก่อน คิดประกอบความใคร่ครวญดูให้เห็นจริง ถ้ายังไม่เห็นจริงแล้วก็เฆี่ยนมันซักถามรํ่าไป เอาความจริงให้จงได้ แล้วทรงตรัสว่า ยังคราวนี้เป็นความสำคัญ จะว่าให้ฟัง การที่จะคิดสู้รบสู้ทำกับมันนั้นจะคิดตีไปพลางกวาดต้อนไปพลางอย่างนั้นหาได้ไม่ จะหนักแรงไพร่พลนักฉวยอ้ายแขกมันกำเริบลุกขึ้นแล้ว ที่พวกไม่สนิทจะพลอยพากันกำเริบสิการจะใหญ่โตเสียท่วงทีไปเปล่า ๆ คิดตีรบสู้ทำกับมันเสียให้แล้วเมืองไทรก่อน ควรจะจัดแจงใครตั้งขึ้นไว้รักษาเมืองไทรได้ก็ให้จัดแจงตั้งขึ้นไว้ แลการซึ่งจะคิดกวาดต้อนครอบครัวนั้นคิดทำเอาภายหลัง ลูบไล้ผ่อนปรนมาโดยเย็นก่อน ควรจะจัดแจงตั้งไว้คงบ้านคงเมืองแห่งใด ๆ ก็ตั้งขึ้นไว้ ถ้าเห็นว่าอ้ายแขกไม่สู้สนิทตั้งไว้ไม่ได้แล้ว ก็กวาดต้อนเอามาเสียให้สิ้น ทำเอาให้จนใบไม้เส้นหญ้าก็อย่าให้หลงเหลือติดแผ่นดินให้มันมาตั้งติดเป็นบ้านเป็นเมืองสืบต่อไป และการที่จะคิดตีรบสู้นั้น คิดทำข่าวให้ดังกะเกณฑ์ผู้คนเมืองแขกทั้งปวงลงไปให้ถึงกลันตันยกมาช่วยเข้ากองทัพกรุงฯ ไปทุ่มเททำเอาอ้ายแขกเมืองไทรเสียให้ยับเยินจงได้ ถึงโดยว่าจะได้ ๑๐๐ ก็ดี ๒๐๐ ก็ดี ก็คงเป็นเชื้อมีข่าว ชื่อว่าเกณฑ์กองทัพเมืองนั้นยกมาช่วยกันมาก คิดแต่รบสู้ไล่ตีเอามันให้มันแตกวิ่งหนีไปให้พ้นเท่านั้นเถิด จะไปคิดล้อมเมืองไทรเหมือนอย่างเจ้าพระยานครฯ ทำกับอ้ายตนกูเดนครั้งนั้นแล้ว ไพร่พลก็จะบอบชํ้าอิดโรยไปช้านาน เห็นจะหาสำเร็จการโดยเร็วไม่ คิดตีเปิดไล่ให้มันออกไปนั่นแหละดี มันจะหนีไปไหนก็ช่างมัน การก็เห็นจะแล้วลงโดยเร็วได้ แล้วทรงตรัสว่าเมืองสงขลาจะเป็นอย่างไรอยู่หนอ จะเสียหรือไม่เสียอย่างไรก็ไม่รู้ ข้างเมืองถลางอ้ายหวันมาลีจะคิดไปทำอย่างไรก็ไม่ได้ความเป็นแน่ คอยพวกนครฯ ก็หายไปเสียหมด เห็นอ้ายแขกที่สตูลจะเลิกถอนขึ้นมาช่วยปิดทางกันทัพนครฯ จะมาช่วยสงขลานั่นเอง ทัพนครฯ จะยกมาช่วยไม่ได้ การข้างสตูลมันก็เลิกไปแล้วไม่มีความอะไรบอกเข้ามาได้ ก็พากันนิ่งอยู่เท่านั้นเอง เห็นจะเป็นความอย่างนี้เสียแล้ว ๚
๏ แลกระแสพระราชดำริกับข้อความในบอก ซึ่งข้าพเจ้ารับพระราชทานจดหมายมานี้ ตามได้รับพระราชทานฟัง ข้อความจะขาดผิดเพี้ยน ควรมิควรประการใด รับพระราชทานพระเดชพระคุณสุดแล้วแต่จะโปรด จดหมายสิ้นข้อความ มาแต่ ณ วันเดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๒๐๐ พ.ศ. ๒๓๘๑) ๚
[๑] คำว่า ท้าวพระกรุณาเจ้า ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติทุกฉบับหมายความว่า พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) ซึ่งได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ในรัชกาลที่ ๔
[๒] พระยาพิพัฒนโกษาผู้นี้เดิมเป็นข้าเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ชื่อบุญศรี ภายหลังเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วมาเป็นข้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่ได้เสวยราชย์ ภายหลังเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นมหาดเล็กใช้ชิด ตั้งเครื่องพระกระยาหารที่ท้องพระโรงเวลามีราชการไม่ได้เสด็จขึ้น แลเข้ามาประจำเวลาทรงพระประชวรในที่พระบรรทมเวลาหมอเข้า จนตลอดเวลาเสด็จสวรรคต ตั้งที่เป็นปลัดทูลฉลองกรมท่าเช่นนั้น รัชกาลที่ ๔ เป็นพระยามหาอำมาตย์แล้วเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ รัชกาลประจุบันนี้เป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี
ข้อซึ่งพระยาพิพัฒน์เป็นเจ้าหน้าที่ราชการในหัวเมืองแขกด้วยนั้น อาศัยเหตุ ๒ อย่าง สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่เป็นสมุหพระกลาโหมด้วย เป็นเจ้าพระยาพระคลังด้วย ราชการใน ๒ กระทรวงนั้น รู้ถึงกันอย่างหนึ่ง การในท้องหน้าที่กรมท่าคือเมืองสมุทรปราการหรือสมุทรสาคร บอกเรือเข้าออกเป็นหน้าที่ของกรมท่าจะนำกราบทูล เพราะฉะนั้น ควรจะสังเกตได้ว่าพระยาพิพัฒน์กราบทูลมักเรื่องเรือเข้าออกตามเหตุผลที่ได้กล่าวในข้อหลัง แต่มักจะรับสั่งด้วยราชการอื่น ๆ ต่อไป ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาในข้อต้น
[๓] พระนรินทร์ผู้นี้ไม่รู้ว่าใคร รับสั่งถามถึงชุมพรนั้นเป็นตามหน้าที่
[๔] พระยาเสนาภูเบศร์ไม่รู้ว่าใคร ราชการที่ออกไปน่าจะเป็นสักเลข
[๕] พระยาโชฎึกผู้นี้ คือพระยาโชฎึก* (ทองจีน) ซึ่งเป็นปู่พระยาบุรุษ (นพ) เป็นผู้ซึ่งว่องไวในราชการอยู่ ได้เป็นผู้สร้างป้อมวิเชียรโชฎึก เมืองสมุทรสาคร ป้อมนี้ในตำนานวัตถุสถานสร้างในรัชกาลที่ ๓ กับพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ เรียก ป้อมวิเชียรโชฎก
* พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์)
[๖] หม่อมไกรสรเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นตัวเสนาบดีตำแหน่งใด แต่เป็นผู้ว่าการกระทรวงวัง ซึ่งเวลานั้นเป็นกระทรวงยุติธรรมส่วนสมใน เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องความแลการพิธีกับศาลมรดก กรมสังฆการี เป็นหน้าที่ยืน นอกนั้นมีการเกี่ยวข้องในมหาดไทยแลกรมอื่น ๆ ได้มาก เพราะเหตุที่เป็นผู้รับสั่งบ้าง แทนข้าราชการผู้ใหญ่ไม่อยู่ไม่มีตัวบ้าง เป็นนายด้านทำป้อมเมืองนครเขื่อนขันธ์ ต่อเมื่อกรมพระราชวังศักดิพลเสพล่วงแล้ว ไปดูทำการป้อมเมืองฉะเชิงเทรา เพราะฉะนั้นใน ๒ เมืองนั้น จึงเป็นเมืองอยู่ในบังคับหม่อมไกรสร มีอำนาจกว้างขวางขึ้นอีก
* พระองค์เจ้าชายไกรสร พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ โปรดให้เลื่อนเป็นกรมหลวงรักษ์รณเรศ
[๗] พระยาไชยานั้นเหลือที่จะสังเกตว่าคนใด ดูมักจะมี ๒ คนเสมอ ที่ถูกถอดเข้ามาเป็นไชยาคนเก่าแต่ยังคงรับราชการอยู่คนหนึ่ง ไชยาจริง ๆ คนหนึ่ง ตั้งแต่จำความได้มาก็เคยเห็นสองคน มาจนถึงแผ่นดินประจุบันนี้ แลยังซ้ำรู้ว่ารัชกาลที่ ๓ ก็เป็นเช่นนั้นมาแล้ว
[๘] เจ้าพระยานครผู้นี้ชื่อน้อย เป็นผู้มีอำนาจมากกว่าเจ้าพระยานครฯ ทั้งปวง ได้บังคับบัญชาตลอดขึ้นมาจนถึงเมืองไชยา ข้างฝั่งตะวันตกก็มีอำนาจแผ่เอื้อมไปจนถึงถลาง ทำทัพศึกที่เป็นสำคัญก็คือตีเมืองไทร มีอำนาจในเมืองแขกมาก นับถือเป็นพระเจ้าแผ่นดินรอง เป็นผู้ได้รับอำนาจทำหนังสือสัญญากับอังกฤษ เจ้าของพระขรรค์เนาวโลหะ พระแท่นถมพระราชยานถม พระแสงง้าว พระแสงทวนถมแลอื่น ๆ เป็นตาพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ในครั้งนั้น แลเป็นตากรมขุนศิริธัช กรมหมื่นมรุพงศ์
[๙] เรื่องตนกูเดนที่อ้างถึงนั้นเป็นเวลาที่ไทยรักษาเมือง พวกตระกูลเจ้าเมืองไทรไปอยู่เกาะหมาก ตนกูเดนนี้เป็นตระกูลเมืองไทรยกเข้ามาแย่งเมืองไทรแลตั้งมั่นอยู่ ทัพเมืองนครฯ ลงไปตีล้อมเมืองอยู่ช้านาน จนตนกูเดนฆ่าตัวตายในเมือง แล้วไทยก็รักษาเมืองต่อมา การที่แขกมาตีเมืองไทรอีกครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ตนกูเดนนี้เล่ากันว่ามีฝีมือเข้มแข็งมาก
[๑๐] คนเมืองนครฯ ที่ว่าเรียกไม่ได้แตกฉานเข้าป่าเพราะเรื่องที่เกณฑ์ไปรักษาเมืองไทรเป็นต้นเค้า ฝ่ายในเมืองก็ถูกเจ้าพระยานครฯ กะเกณฑ์ใช้มาก เมืองพัทลุงนั้นนายน้อยใหญ่บุตรเจ้าพระยานครฯ ก็ต้องทำตามเจ้าพระยานครฯ บังคับทุกอย่างชั้นหนึ่ง แล้วนายน้อยใหญ่เองก็เบียดเบียนอีกชั้นหนึ่ง พระยาพัทลุงน้อยใหญ่ผู้นี้คือเจ้าพระยามหาศิริธรรมผู้รักษากรุง บิดาพระยาบริรักษ์ แลพระยาศรีสรราช (หนู)
[๑๑] ที่อังกฤษเอากำปั่นรบมาปิดปากน้ำช่วยระวังนี้ ทำตามสัญญาเบอนี ซึ่งอังกฤษรับว่าจะคอยช่วยป้องกันไม่ให้พวกพระยาไทร (ปะแงรัน) มาทำร้ายในเมืองไทร
[๑๒] ที่เรียกเจ้าคุณหาบนในหนังสือนี้ แปลว่า เจ้าคุณบ้านบน คือเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เวลานั้นว่าทั้งกลาโหม กรมท่า ถึงรัชกาลที่ ๔ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์
คำที่เรียกว่าเจ้าคุณหาบนนั้นออกจากคำที่เรียกสามัญว่า บ้านบน บ้านล่าง คือ บ้านสมเด็จองค์ใหญ่เรียกว่าบ้านบน บ้านสมเด็จองค์น้อยเรียกว่าบ้านล่าง เช่นวังหน้าเรียกว่าวังบน คำที่เรียกว่าหาเปนอย่างเก่า ไม่ใช่คำเคารพแท้ ออกจะเป็นคำคุ้น ๆ เช่นกับเจ้านายลูกเธอในรัชกาลที่ ๔ เรียก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าว่า ทูลกระหม่อมหาบน หลวงอุดมสมบัติอยู่ในกรมท่าจึงเรียกดังนั้น กับสมเด็จองค์น้อยซึ่งเป็นพี่น้องกัน ไม่ใช่จะไปเรียกกับผู้อื่น ไม่ใช่ผู้อื่นเรียกเช่นนั้น
[๑๓] พระวิชิตสรไกรนี้ เป็นบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) ชื่อไรไม่ทราบ เข้าใจว่าได้รักษาราชการเมืองนครฯ คราว ๑ เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๔ แต่ไม่ได้เป็นตัวผู้ว่าราชการเมือง
* พระวิชิตสรไกร (หงษ์ ณ นคร)
[๑๔] เมืองตรังเวลานั้นขึ้นนครศรีธรรมราช เป็นที่เจ้าพระยานครไปตั้งต่อเรือรบ
[๑๕] เมืองถลางเวลานั้นเป็นเมืองใหญ่ ทุ่งคาคือภูเก็ตยังไม่เป็นเมือง เมืองถลางยกไปขึ้นภูเก็ตในปลายรัชกาลที่ ๔
[๑๖] เรือพระที่นั่งอมรแมนสรรค์เป็นเรือกำปั่นใบ เจ้าพระยานคร (น้อย) ทำสำหรับเป็นเรือพระที่นั่งเป็นเรือรบ ทำอย่างประณีต ขัดทั้งนอกทั้งในแต่ไม่ได้เสด็จแห่งใด จึงไม่ได้ใช้ สมเด็จองค์น้อยจะไปทัพครั้งนี้ จึงพระราชทานเรือพระที่นั่งอมรแมนสรรค์ให้เป็นเรือแม่ทัพ เป็นการปรากฏว่าทรงพระกรุณาอย่างยิ่ง
[๑๗] เกาะยาวเป็นแขวงเมืองถลาง อยู่ใกล้เมืองภูเก็ต
[๑๘] พระยาเทพอรชุนผู้นี้จะเป็นผู้ใดแน่เป็นที่สงสัย ไม่มีหลักสอบ แต่ที่พระยาเทพอรชุนคนหนึ่งเป็นปลัดกรมข้าหลวงเดิม ชั้นเดียวกับพระยาพิพัฒนโกษา น่าจะเป็นผู้นั้น แต่จำชื่อเดิมไม่ได้ เข้าใจว่าพระยาเทพอรชุน (บุญถึง) ที่เป็นปู่เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์*
* เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ (ชม) ต้นสกุล สุนทรารชุน
[๑๙] ชื่อสังข์ ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาสงขลา ในรัชกาลที่ ๔
[๒๐] พระยาไทรที่ว่าตรงนี้ คือเจ้าพระยาไทรแขก ชื่อปะแงรัน
[๒๑] พระยาไทรบุรีคนนี้เป็นบิดาพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) เป็นบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) ชื่อแสง แล้วเป็นพระยาบริรักษ์ภูธร ผู้ว่าราชการเมืองพังงา พระเสนานุชิตปลัด ชื่อนุช เป็นบุตรเจ้าพระยานครฯ เหมือนกัน ภายหลังเป็นพระยาเสนานุชิต ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า บิดาพระอิศราฤทธิไชย (กลิ่น) พระบริสุทธิโลหภูมินทราธิบดี (กล่อม) ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่ง
[๒๒] พระยาสงขลาคนนี้ชื่อเซ่ง
[๒๓] แขกพวกนี้เป็นชาวมณฑลปัตตานีโดยมาก
[๒๔] [๒๕] เมืองจะนะแลเมืองเทพาเวลานั้นยังไม่ได้รวมเข้าในสงขลา เพราะฉะนั้นเมื่ออ่านหนังสือนี้ไปข้างหน้าจะเห็นคำที่เรียกว่าแขก ๙ เมือง ไม่ใช่แขก ๗ เมืองอย่างที่เรียกในชั้นหลัง เขตสงขลาเวลานั้นเพียงตำบลจะแหน่
[๒๖] ที่เรียกว่าเมืองใหม่ คือเมืองสิงคโปร์นั้นเอง เกาะสิงคโปร์นี้พวกมลายูมาตั้งเป็นเมืองตั้งแต่ยังถือพระพุทธศาสนา เป็นเมืองขึ้นของเมืองยะโฮมาแต่โบราณ เมื่อปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๐ พ.ศ. ๒๓๖๑ อังกฤษคืนเกาะชวาให้แก่วิลันดาแล้ว อยากจะมีที่พักสำหรับค้าขายแข่งวิลันดา เซอร์ สแตมฟอด แรฟเฟลส์ เห็นว่าเกาะสิงคโปร์นี้ เป็นที่เหมาะแก่ความประสงค์ ในเวลานั้นเจ้าเมืองยะโฮวิวาทกับตนกูหุเซ็นน้องชาย ตนกูหุเซ็นมาตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ที่เกาะสิงคโปร์ เซอร์ สแตมฟอด แรฟเฟลส์ไปพูดจารับอุดหนุนตนกูหุเซ็น ๆ จึงยอมยกเกาะสิงคโปร์ให้แก่อังกฤษ แต่แรกอังกฤษยกย่องยศตนกูหุเซ็นขึ้นเป็นสุลต่าน อังกฤษผู้เป็นหัวหน้าในเกาะสิงคโปร์ คือ ครอเฟิด ที่เคยเป็นทูตเข้ามาเมืองไทยเป็นต้น มียศเป็นแต่เรสิเดนต์ ไทยเราจึงเรียกกันแต่ก่อนว่าการะฝัดรัสดิน เมื่อสุลต่านหุเซ็นสิ้นชีพไปแล้ว อังกฤษเอาเกาะสิงคโปร์เป็นของอังกฤษ ตั้งขึ้นเป็นเมืองในรัชกาลที่ ๓ ไทยเราจึงเรียกว่าเมืองใหม่
[๒๗] ข้อที่รับสั่งให้เจ้าพระยาบดินทร เจ้าพระยาพระคลังปรึกษากันเกณฑ์ทัพนั้น เพราะเหตุที่ต้องเข้าตารางเกณฑ์ทั้งฝ่ายทหารแลพลเรือน
[๒๘] เมื่อครั้งตนกูเดนมาตีเมืองไทร ทัพกรุงออกไป เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพ
[๒๙] เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม)
[๓๐] เจ้าคุณผู้ใหญ่ หมายความว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)
คำที่เรียกว่าเจ้าคุณผู้ใหญ่เป็นคำสำหรับเรียกอรรคมหาเสนา คือสมุหนายก แลสมุหพระกระลาโหม ได้ฟังอรรถาธิบายเดิมเรียกว่าเจ้าคุณหมู่ใหญ่ เพราะมหาดไทยแลกระลาโหมแบ่งเป็น ๓ หมู่ใหญ่ฝ่ายเหนือพลัมภัง เป็นสมุหมหาดไทย สมุหกระลาโหม เมื่อฝ่ายเหนือแลพลัมภังลดตํ่าไปกว่าหมู่ใหญ่มาก จึงเป็นเจ้าคุณผู้ใหญ่ ในกระทรวงนั้นใช้ทั้งสอง แต่ข้าราชการอื่น ๆ มักจะเรียกเจ้าคุณผู้ใหญ่แต่คนเดียว บางทีก็สมุหนายก บางทีก็สมุหพระกระลาโหม ที่เป็นผู้ใหญ่แลที่มีอำนาจมากกว่ากันข้างหนึ่ง เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นเจ้าคุณผู้ใหญ่ เจ้าพระยามหาเสนาไม่มี เจ้าพระยาพระคลังว่าที่ไม่ได้เรียกเจ้าคุณผู้ใหญ่ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ เจ้าพระยาภูธราภัย เป็นสมุหนายก ไม่ได้เรียกเจ้าคุณผู้ใหญ่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นสมุหพระกระลาโหม เรียกเจ้าคุณผู้ใหญ่ คำที่เรียกว่าเจ้าคุณผู้ใหญ่นี้กราบทูลในทางราชการได้
[๓๑] คลองที่รับสั่งถามเจ้าพระยาบดินทรเดชานี้ คือคลองบางขนาก คลองขุดนี้ ขุดแต่แสนแสบไปทะลุแม่น้ำบางประกง
[๓๒] จมื่นราชาบาล (ขุนทอง) เป็นพระยาเพ็ชรปาณีในรัชกาลที่ ๔
[๓๓][๓๔]พระยาวิชิตณรงค์* พระราชวรินทร ๒ คนนี้ยังไม่ได้ความ
* พระยาวิชิตณรงค์ (ฟัก) เป็นพระยาพิชัยสงครามในรัชกาลที่ ๔
[๓๕] ไพร่หลวงเกณฑ์บุญนั้นเป็นชาวนครฯ
[๓๖] เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เรียกกันภายหลังว่า เจ้าพระยายมราชตะเฆ่ทับ เพราะท่านถึงอกัญกรรมด้วยตะเฆ่ลากพระประธานวัดราชนัดดาทับ
[๓๗] มิสเตอร์ บอนฮัม ผู้ว่าราชการเมืองสิงคโปร์
[๓๘] หันแตรนี้ คือมิสเตอร์ ฮันเตอ พ่อค้าอังกฤษ ที่เข้ามาเช่าตึกหน้าบ้านเจ้าพระยาพระคลัง ตั้งห้างขายของในกรุงเทพฯ แต่ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีมะเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ พ.ศ. ๒๓๑๕ แล้วเลื่อนมาสร้างตึกตั้งห้างที่ริมกฎีจีน มิสเตอร์ ฮันเตอ นี้ได้ใช้ราชการอยู่
[๓๙] ซึ่งทรงทราบเรื่องลม เหตุด้วยเคยเป็นหน้าที่แต่งสำเภามาแต่ในรัชกาลที่ ๒
[๔๐] ปืนรักษาพระศาสนานี้ เป็นปืนใหญ่ชนิด ๑ ซึ่งถือว่าเป็นอย่างดี ในครั้งรัชกาลที่ ๓
[๔๑] พระยามหาอำมาตย์คนนี้ชื่อป้อม บิดาพระยาบำเรอภักดิ์
* พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม อมาตยกุล)
[๔๒] พระยาราชสุภาวดี (โต) ถึงรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทรฯ ที่สมุหนายก บิดาเจ้าพระยารัตนบดินทร ปู่พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์
[๔๓] อ้ายแขกของเรา ในที่นี้แปลว่า แขก ๙ เมือง
[๔๔] การที่ประทับลับแลเชิงอัฒจันทร์นี้เป็นการประหลาด นับว่าเป็นความลับ ไม่เคยได้ยินใครเล่าเลย
[๔๕] พระยาเพชรบุรีคนนี้ชื่อสุก ภายหลังเป็นเจ้าพระยายมราชในรัชกาลที่ ๔
[๔๖] ข้างฉลาดคือเจ้าพระยานครฯ ข้างเขลาคือพระยาสงขลา
[๔๗] มิศริจซอนนี้ คือมิสเตอร์ริเชอชสัน อังกฤษ เป็นทูตของผู้สำเร็จราชการอินเดีย อังกฤษแต่งให้ถืออักษรสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย แต่ให้เดินบกเข้ามาจากเมืองเมาะลำเลิง ที่จริงเชื่อได้ว่าเข้ามาตรวจทางพม่ากับไทยเคยเดินกองทัพ แต่อ้างเหตุว่าเพราะที่เมืองเมาะตะมะ เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี ซึ่งอังกฤษได้ไว้จากพม่า โคกระบือเป็นโรคระบาดล้มตายมากนัก ให้เข้ามาขอซื้อโคกระบือในพระราชอาณาจักร อนึ่ง มิสเตอร์ริเชอชสันเข้ามาคราวนั้น มีพม่ารามัญเป็นคนใช้แลหาบหามสิ่งของเข้ามาด้วยกว่า ๑๐๐ คน จึงเป็นเหตุให้เกิดสงสัย
[๔๘] มิสเบอนำเปนเรสิเดนต์เมืองสิงคโปร์ ที่ว่าช่วยนั้นช่วยจริง เพราะเหตุที่พวกแขกเมืองไทรเหล่านี้ประพฤติตัวเป็นสลัด คอยตีเรือลูกค้าซึ่งไปมาค้าขายในระหว่างเขตแดนเหล่านี้
[๔๙] ด้วยทรงพระราชดำริเช่นนี้จึงมีสนามให้ข้าราชการหัดยิงปืนในพระราชวังเสมอ เสด็จออกเนือง ๆ มียิงเป้าหน้าพระที่นั่ง
[๕๐] แขก ๙ หัวเมือง หมายความว่ามณฑลปัตตานี ๗ หัวเมือง กับเมืองกลันตัน เมือง ตรังกานู คือ หัวเมืองแขกบรรดาที่อยู่หน้าใน
[๕๑] เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ต้นสกุลสิงหเสนี
[๕๒] ที่ว่าทัพใหญ่พี่น้องตรงนี้ เข้าใจว่าทรงพระราชดำริว่า ถ้าพระยาศรีพิพัฒน์ไปติดขัด จะให้เจ้าพระยาพระคลังยกลงไปอีกทัพ ๑ ด้วยเจ้าพระยาพระคลังเคยเป็นแม่ทัพลงไปครั้งตนกูเดนตีเมืองไทร
ที่ว่าเอาทัพใหญ่พี่น้องแลดงให้เห็นว่าพระราชดำริได้เตรียมทัพสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ไว้อีกทัพหนึ่งเมื่อหนักแน่น เป็นธรรมเนียมเช่นนี้
[๕๓] อย่างเดิมตรงนี้ หมายความว่าบุตรเจ้าพระยานครเป็นผู้ครองเมืองไทร
[๕๔] เรื่องกวาดครัว จะอธิบายข้างท้ายหนังสือนี้
[๕๕] เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน*)
* เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)
[๕๖] พระยาไกรโกษา (เทศ ภูมิรัตน์)
[๕๗] ตรงนี้ตกตัวเลข ไม่ใช่เส้นเดียว
ที่ว่าห่างกันอยู่เส้นเศษนั้น กลัวจะไม่ได้ลงตัวเลขด้วยฟังไม่ถนัด ตั้งใจว่าจะสืบแล้วลืมเสียไม่ได้สืบ ผู้ที่คัดหนังสือไม่พิเคราะห์ว่าเขาเว้นช่องไว้ คัดติดกันเข้าไปจึงกลายเป็นเส้นเศษ
[๕๙] กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑
[๖๐] ลูกเธอกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
[๖๑] อุบากองคนนี้ กองทัพไทยจับตัวได้ในคราวนั้น