- คำนำ
- คำนำพิเศษ
- คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๒)
- เรื่องพงศาวดารอันเป็นมูลเหตุ แห่งจดหมายหลวงอุดมสมบัติ
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๒
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๓
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๔
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๕
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๖
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๗
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๘
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๙
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๐
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๑
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๒
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๓
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๔
- จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๕
- ประชุมความท้ายเรื่อง
จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๑๔
๏ ข้าพเจ้าหลวงอุดมสมบัติ จดหมายมายังหลวงทิพอักษรเสมียนตรา ได้นำขึ้นกราบเรียนแต่ท้าวพระกรุณาเจ้าให้ทราบ ด้วยแต่ก่อนข้าพเจ้าได้จดหมายออกมาเข้ากันเก่าใหม่ทั้งฝากขุนฤทธิชลธารออกมาเป็น ๑๓ ครั้ง แจ้งอยู่แต่ก่อนนั้นแล้ว ๚
๏ ณ วันเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ หาได้ทรงพระราชดำริราชการเมืองไทร เมืองกลันตันไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ แรม ๑๒ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือศีรษะญวนเข้าไปถึงลำ ๑ จีนเต็กนายเรือแจ้งว่าเป็นลูกค้ากรุงฯ ไปค้าเมืองนครฯ กลับเข้าไปแต่ ณ วันเดือน ๘ แรม ๕ ค่ำไป ๗ วันถึงปากน้ำเจ้าพระยา ทรงตรัสถามว่า มันรู้ราชการอะไรเข้าไปบ้าง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถามได้ความที่เมืองนครฯ ว่า พระเสนหามนตรีกลับไปอยู่เมืองนครฯ ว่าท้าวพระกรุณาก็จะตามไปเมืองนครฯ ด้วย ทรงตรัสถามว่า จะไปเมืองนครฯ ทำไม จะเชื้อเชิญกันไปปลงศพเผาผีหรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถามดูก็ว่าหาทราบไม่ ถ้าจะไปเมืองนครฯ แล้วเห็นจะไปด้วยจัดแจงการศพเจ้าพระยานครฯ ทรงตรัสว่าจะไปจัดแจงปลงศพเผาผีอะไรเมื่อปานนี้ จะไปก็ไปเอาเมื่อจะกลับเข้าไป ณ กรุงฯ เลยไปจัดแจงด้วยทีเดียว จะกลับไปกลับมาอย่างไรได้ ถ้าจะได้ไปเมืองนครฯ จัดแจงปลงศพเผาผีก็ราวเดือน ๑๐ เมื่อจะกลับเข้าไป ณ กรุงฯ จึงจะไปได้ เป็นกระไร ราชการข้างเมืองไทรเมืองกลันตันมันรู้บ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ทีเมืองไทรทราบอยู่แต่ว่า ครอบครัวก็เข้ามาอยู่ตามบ้านเมืองหมดแล้ว แต่ที่เมืองกลันตันนั้น ได้ยินลูกค้าพูดกันที่เมืองนครฯ ว่า ตนกูปสา พระยาบาโงย พากันหนีไปเสียแล้ว พระยากลันตันขึ้นมาหาท้าวพระกรุณาที่เมืองสงขลา ทรงตรัสว่าเป็นแต่ความพูดต่อ ๆ มา จะเชื่อเอาเป็นจริงนั้นยังไม่ได้ แต่พระเสนหามนตรีนั้น เห็นจะให้กลับไปเมืองนครฯ จริง เห็นหมื่นพิมลจะมาถึง รู้หนังสือที่ว่าให้ทะนุบำรุงพระเสนหามนตรีเข้า ก็จะให้กลับไปอยู่จัดแจงการบ้านเมืองหรืออย่างไรนั่นเอง ที่ว่าจะไปเมืองนครฯ แลว่าตนกูปสา พระยาบาโงย หนีไปนั้นเห็นจะไม่จริง คอยฟังหนังสือบอกเข้าไปอีกสักคราวหนึ่ง ก็คงจะรู้ความแน่นอน แล้วนายฤทธินายเวรมหาดเล็กกราบทูลลาข้างมหาดเล็กจะออกมาเมืองนครฯ รับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า ดูทำหนังสือส่งเสียให้ออกมาหน่อยเถิด มีหนังสือว่าออกมาเยี่ยมเยียนพี่อิน[๑]มารดาพระเสนหามนตรีด้วย ว่าเจ้าพระยานครฯ ถึงแก่อสัญกรรมนั้น เสียพระทัยทรงพระอาลัยมากอยู่ จะชุบเลี้ยงบุตรเจ้าพระยานครฯ ให้สืบสกุลวงศ์ต่อไป ให้ดูว่ากล่าวลูกเต้าทั้งปวงเป็นสามัคคีรสกันให้ดี อย่าให้มีความวิวาทบาดทะเลาะกันได้ ดูว่ากล่าวโอดครวญออกมาหน่อยเถิด ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ แรม ๑๓ ค่ำ เพลาค่ำ หลวงราชเศรษฐีเอาคำให้การนายรักนายเรือ คำให้การเจ๊ะปเกลูกหนี้ ซึ่งเข้าไปแต่เมืองกลันตันขึ้นกราบทูลถวาย ใจความแจ้งอยู่ในคำให้การซึ่งส่งให้กับนายฤทธิถือออกมานั้นแล้ว ครั้นอ่านจบแล้ว ทรงตรัสว่า ฟังมันว่ากล่าวความเรียบร้อยสมต้นสมปลายเห็นจริงอยู่ เหตุผลวิวาทกันทั้งนี้ก็เพราะอ้ายตนกูปสามันโกรธว่าไม่ตั้งแต่งมันออกไปนั่นเอง กองทัพลงไปว่ากล่าวเกลี้ยกล่อมเอาตัวมันเข้าไปเสียได้แล้วดีทีเดียว อย่างไร ๆ ก็คอยฟังหนังสือออกอีกสักคราวหนึ่งเถิด จึงจะเอาความเป็นแน่นอนได้ แล้วรับสั่งสั่งพระยาพิพัฒน์ว่า ให้เอาตัวอ้ายเจ๊ะปเกกับบุตรหลานแขก ๓ คนส่งให้กับนายฤทธิออกมา ให้จัดแจงส่งคืนไปเมืองกลันตันเสียด้วย มันจะได้ไปอยู่ตามภูมิลำเนาบ้านเรือนของมัน ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ แรม ๑๔ ค่ำ เพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างหนังสือซึ่งให้นายฤทธิถือออกมา ๒ ฉบับ ฉบับ ๑ ตอบพระยาพัทลุง ใจความว่า ด้วยพระยาพัทลุงบอกเข้าไปว่าเจ้าพระยานครฯ ถึงแก่อสัญกรรม ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ พระยาพัทลุงได้จัดแจงเอาศพเจ้าพระยานครฯ ไว้ให้อยู่รักษา แล้วพระยาพัทลุงจะลงไปรับราชการ ณ เมืองสงขลานั้น ทรงพระกรุณาตรัสว่าจะลงไปรับราชการก็ชอบอยู่แล้ว แลซึ่งเจ้าพระยานครฯ ถึงแก่อสัญกรรมเสียนั้น ทรงพระอาลัยนัก โปรดให้นายฤทธินายเวรมหาดเล็กคุมเอาโกศลายจำหลักปิดทอง กับฉัตรเบญจา ๑๒ คันเครื่องประดับศพ แลจ่าปี่ กลองชนะ ๕ คู่ ออกมาให้จัดแจงใส่ศพเจ้าพระยานครฯ ฉบับ ๑ ถึงท่านมารดาพระเสนหามนตรี ใจความว่า ซึ่งเจ้าพระยานครฯ ถึงแก่อสัญกรรมนั้น ทรงพระกรุณาตรัสว่า แม่ทัพใหญ่มีหนังสือบอกเข้าไปแต่เมื่อเจ้าพระยานครฯ ป่วยอยู่นั้น ก็ทรงพระราชวิตกเอาพระทัยช่วยเจ้าพระยานครฯ ให้หาย คอยทรงฟังอาการอยู่ ครั้นบอกเข้าไปว่าเจ้าพระยา นครฯ ถึงแก่อสัญกรรมเสียแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยนัก ด้วยทรงพระอาลัยในเจ้าพระยานครฯ อยู่มาก จะโปรดชุบเลี้ยงบุตรเจ้าพระยานครฯ ให้สืบเชื้อสายสกูลวงศ์ต่อไป ให้ดูว่ากล่าวบุตรทั้งปวงให้เป็นสามัคคีรสกันให้ดี อย่าให้มีความรังเกียจแก่งแย่งวิวาทกันไปได้ ครั้นอ่านหนังสือถวายจบแล้ว รับสั่งว่าดีแล้ว เอาส่งให้ออกมาเถิด แล้วทรงตรัสว่า ความที่ว่าให้พระเสนหามนตรีกลับไปอยู่เมืองนครฯ นั้น เหตุผลอย่างไรอยู่หนอ ทำนองจะรักเอาพระเสนหามนตรีเป็นที่นครฯ เห็นความเหมือนว่าออกมาหรืออย่างไร จึงให้กลับไปเมืองนคร หรือจะรักเอาข้างพระยาพัทลุงเป็นที่นครฯ จึงเอาพระยาพัทลุงไว้อยู่ที่สงขลาด้วย หรือจะเห็นว่าพระยาพัทลุงกับพระเสนหามนตรีอยู่ด้วยกันไม่ได้ รักข้างพระเสนหามนตรีอยู่ จึงให้กลับไปบ้านเมือง ว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง ฟังข่าวคราวดูเห็นจะรักข้างใคร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ฟังดูที่ท้าวพระกรุณานั้นเงียบอยู่ แต่คนข้างนอกพูดกันว่าพระยาพัทลุงจะเป็นที่นครฯ พระยาพัทลุงจัดแจงรวบรวมผู้คนไว้ให้คอยกำกับดูแลอยู่ที่เมืองนครฯ สิ่งของเจ้าพระยานครฯ ที่อยู่ในเรือนพระยาพัทลุงก็เรียกเอามาเก็บไว้สิ้น[๒] เมื่อจะลงมาเมืองสงขลานั้นว่าเก็บเอาพวกช่างทองลงมาด้วย ทรงตรัสว่าท่วงทีพระยาพัทลุงเป็นคนฉลาดช่างพูดอยู่ จะเป็นกระไรอยู่หนอ จะรักข้างพระยาพัทลุงหรือจะรักข้างพระเสนหามนตรีอย่างไรก็ยังไม่ทรงทราบเลย แล้วทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า แต่ก่อนเคยใช้สอยรักใคร่นับถือพระยาพัทลุงมากหรือ ๆ พระเสนหามนตรีมาก เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า การข้างบุตรเจ้าพระยานครฯ นั้นเป็นประมาณ หาสู้ได้รักใคร่ใช้สอยเป็นกระไรไม่ รับสั่งว่าพระยาพัทลุงเป็นคนสูบฝิ่นง่อยเพลียอย่างนี้ จะตั้งแต่งเป็นเจ้าบ้านภารเมืองอย่างไรได้ จะได้ก็พระเสนหามนตรีนั่นแหละ คอยให้หมื่นพิมลออกมาถึงเข้าก็คงจะรู้ความในหนังสือซึ่งมีออกมาทุกประการ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ แรม ๑๕ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือศีรษะญวนเข้ามาถึงลำ ๑ จีนปุตนายเรือแจ้งว่าไปค้าเมืองกลันตัน กลับเข้าไปแต่ ณ วันเดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ มา ๑๖ วันถึงปากน้ำเจ้าพระยา ทรงตรัสถามว่า มันได้ความอย่างไรเข้าไปบ้าง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไล่เลียงถามดูก็ว่าข้าหลวง ๓ นายลงไปห้ามปรามก็หยุดรอกันลงแล้ว แต่ยังหารื้อค่ายไม่ ความที่จะรื้อค่ายนั้นว่ายังเกี่ยงกันอยู่ เหมือนหนึ่งคำนายรักลูกค้าซึ่งเข้าไปแต่เมืองกลันตันครั้งก่อน แต่เมื่อข้าหลวงยังไม่ลงไปยังรบกันอยู่นั้น รบกันมากก็คราวเดียวเมื่อพวกตนกูปสาข้ามฟากไป นอกจากนั้นนัดรบกันเป็นคราว ๆ ลูกค้าก็ซื้อขายกันได้เป็นปรกติดีอยู่ รับสั่งว่า อย่างไร ๆ ข้างนอกก็คงจะรู้ความแน่นอนเสียมากกว่านี้อีก คอยฟังเอาหนังสือบอกแม่ทัพใหญ่เข้าไปเถิด ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้นค่ำ ๑ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือศีรษะญวนเข้ามาถึงลำ ๑ ขุนสมบัติภักดีแจ้งว่าท้าวพระกรุณาให้คุมครัวเข้าไป ๑๒๑ คน ไปแต่เมืองสงขลา ณ วันเดือน ๘ แรม ๗ ค่ำ มา ๙ วันถึงปากน้ำเจ้าพระยา ทรงตรัสถามว่า ได้ราชการอะไรเข้าไปบ้าง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ตัวขุนสมบัติภักดียังป่วยอยู่ที่เรือ ยังหาขึ้นไปถึงไม่ พระยาสมุทรส่งแต่ตัวนายดีบ่าวท้าวพระกรุณาขึ้นไป ถามได้ความว่า นายดีเป็นคนเฝ้าเรืออยู่ ได้ยินพูดกันว่าพระยาเพชรบุรียกลงไปถึงเมืองกลันตันแล้ว มีหนังสือขึ้นมาที่เมืองสงขลาว่า ลงไปห้ามปรามตนกูปสาพระยากลันตันก็หยุดรบสู้กันรื้อค่ายลงเสียแล้ว แต่ข้างเมืองไทรนั้น ให้พระยาวิชิตณรงค์ลงไปชำระครอบครัว ความนอกจากนี้ว่าหาทราบไม่ ทรงตรัสว่า มันจะรู้อะไรที่ไหนกับคนเฝ้าเรือ ที่ว่าพระยาเพชรบุรียกลงไปถึงกลันตันนั้นผิดไป จะลงไปถึงที่ไหน จะไปถึงอยู่ที่เมืองสายนั่นเอง แล้วทรงตรัสถามว่า อ้ายนี่มันเป็นบ่าว ขุนหมื่นหรือเป็นไพร่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เป็นบ่าวไพร่ให้เข้าไป ๑๐ คนด้วยกันกับขุนสมบัติภักดีขุนหมื่นคลังสินค้า ทรงตรัสว่า ทำไมกระนั้น เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เป็นคนเฝ้าเรืออยู่ หาสู้ได้ราชการไม่ จึงให้กลับเข้าไป รับสั่งว่า มันเป็นบ่าวเป็นไพร่ในตัวอย่างนี้ชอบแต่จะเอามันไว้ จะไปข้างไหนอย่างไร ไปจนถึงลังกงลังกาก็เอามันไปด้วยจนสุดหล้าฟ้าเขียวด้วยกันจึงจะดี เป็นกระไร เรือที่ให้ถือหนังสือมา มันรู้ว่าใครออกมาถึงบ้าง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ทราบอยู่ว่าเรือขุนฤทธิรณไกรออกมาถึงเมื่อ ณ วันเดือน ๘ แรม ๘ ค่ำลำ ๑ นอกจากนั้นว่ายังไม่มาถึงหามิได้ ทรงตรัสว่า อย่างไรที่ไหนจึงออกมาช้าหนักหนา ไม่ใคร่จะมาถึงหมดได้เลย ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า ตัวขุนสมบัติภักดีซึ่งให้คุมครัวเข้าไปนั้น เข้าไปถึงแล้วหรือยัง พระนรินทร์กราบทูลว่ายังไม่ขึ้นไปถึงหามิได้ เจ้าพระยาพระคลังให้ขุนหมื่นลงไปเอาตัวได้แต่หางว่าวรายครัวขึ้นไป ขุนสมบัติภักดีว่าให้คุมครัวเข้าไปแต่สงขลาด้วยกัน ๓ ลำ เรือ ๒ ลำนั้นเข้าไปแต่ ณ วันเดือน ๘ แรม ๖ ค่ำ ว่ามีหนังสือบอกไปกับเรือตำรวจที่เข้าไปก่อน ทรงตรัสถามว่า เรือตำรวจที่คุมครัวเข้าไปก่อน ๒ ลำนั้น มีครัวเข้าไปลำละเท่าไร เป็นชายฉกรรจ์มากอยู่หรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือที่บรรทุกครัวเข้าไปก่อน ๒ ลำนั้น ว่าเป็นครัวคู่ผัวตัวเมีย ลำละ ๘๐ เศษ มีชายฉกรรจ์อยู่มาก แต่ลำขุนสมบัติภักดีที่เข้าไปถึงก่อน ๑๒๑ คนนั้นเป็นครัวหญิงหม้าย มีชายฉกรรจ์อยู่ ๒ คน ๓ คน ทรงตรัสว่า เข้าไปก่อนขุนสมบัติภักดีก็ถึง ๒ วันแล้ว ทำไมจึงไปไม่ถึง มันจะพาวันประมาทเกิดเหตุผลขึ้นหรืออย่างไร ครัวที่เข้ามาถึงแล้วว่าเป็นครัวหม้าย จะเป็นครัวหลวงหรือจะเป็นครัวนายทัพนายกองจัดแจงเข้าไปอย่างไรก็ยังไม่ทรงทราบ มันเข้าไปถึงแล้วก็ส่งมอบพระยาราชวังสรรค่ไว้ให้หมดก่อนเถิด คอยเมื่อเลิกทัพกลับเข้าไปจะจัดแจงอย่างไร จึงค่อยจัดแจงต่อไป ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ขึ้น ๒ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ตัวขุนสมบัติภักดีที่ให้คุมครัวเข้าไปขึ้นไปถึงแล้ว ทรงตรัสถามว่า มันได้ราชการเข้าไปอย่างไรบ้าง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ความที่เมืองกลันตันนั้น ว่าพระยาเพชรบุรียกลงไปถึงเมืองสาย มีหนังสือขึ้นมาที่เมืองสงขลาว่า ให้ลงไปห้ามปรามตนกูปสาพระยากลันตันก็หยุดรบสู้กัน รื้อค่ายลงเสียแล้ว ตนกูปสาให้คนขึ้นมาหาพระยาเพชรบุรีห้ามกองทัพไว้ไม่ให้ยกลงไปเมืองกลันตัน ว่าถ้าจะเมตตาชุบเลี้ยงตนกูปสาแล้ว อย่ายกกองทัพลงไปเมืองกลันตันเลย เดี๋ยวนี้ไพร่บ้านพลเมืองรู้เข้าว่าจะยกกองทัพลงไปก็กลัว พากันยกครอบครัวหนีไปเสียบ้าง ประมาณ ๑๐๐ เศษแล้ว ท้าวพระกรุณาเห็นว่าตนกูปสามาห้ามกองทัพไม่ให้ยกลงไปนั้น จะคิดผ่อนครอบครัวหนีไป จึงให้พระยาไชยาคุมเรือ ๔ ลำ คน ๓๐๐ คน ยกลงไปปิดปากน้ำเมืองกลันตันไว้ รับสั่งว่าคิดจัดแจงให้พระยาไชยาลงไปปิดปากน้ำไว้ ก็ถูกต้องกับกระแสพระราชดำริซึ่งมีหนังสือออกมา ดูเหมือนจะรู้หนังสือแล้วจึงคิดจัดแจงถูกไปได้ แล้วทรงตรัสถามว่า การข้างเมืองไทรนั้นได้ความอย่างไรบ้าง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า การข้างเมืองไทรนั้น ให้พระยาเสนาภูเบศร์ พระยาวิชิตณรงค์ ยกลงไปชำระครอบครัว พระยาเสนาภูเบศร์บอกขึ้นมาว่าพระยาไทรยักครัวไว้ในป่า ประมาณ ๔๐๐ คน ๕๐๐ คน ว่ายักส่งมาไว้ข้างเมืองพัทลุงก็ ๑๐๐ เศษ พระยาไทรขึ้นมาหาท้าวพระกรุณาที่เมืองสงขลา ว่าจะขอรับอยู่รักษาเมืองไทรต่อไป แต่ครอบครัวที่เข้าด้วยพวกขบถนั้น พระยาไทรรวบรวมไว้ได้ ๑,๐๐๐ เศษแล้ว ท้าวพระกรุณาว่า ที่เมืองไทรจะต้องผ่อนครอบครัวเข้ามาเสียให้มาก จะไว้ให้อยู่รักษาแต่น้อย จะเอาครัวกับพระยาไทรสักพันหนึ่งสองพัน แต่ที่เมืองพัทลุงนั้นได้ยินว่า จะให้พระยาพัทลุงขึ้นมาเสีย จะเอาพวกพระยาพัทลุงคนเก่าให้อยู่รักษาเมืองพัทลุง ทรงตรัสว่า คิดจัดแจงอะไรก็ยังไม่ถูกกับความที่มีหนังสือออกมาเลย จะเอาพวกพระยาพัทลุงคนเก่านั้นมีใครที่ไหน จะให้พระยาไทรอยู่รักษาเมืองไทรเหมือนอย่างเดิมเล่าก็จะอยู่ที่ไหนได้ หน่อยก็จะวิ่งเข้ามาอีกนั่นเอง แต่เจ้าพระยานครฯ ยังอยู่แล้วยังอยู่ไมได้ สิ้นเจ้าพระยานครฯ ลงแล้ว จะไปอยู่อย่างไรได้ การที่จะจัดแจงบ้านเมืองก็ยังไม่จัดแจงเข้าได้เลย มัวแต่จัดแจงครอบครัวไปเสียทีเดียว คิดการจัดแจงตั้งบ้านเมืองเสียก่อน จึงค่อยจัดแจงครอบครัวต่อภายหลังจึงจะดี เป็นกระไรหนอ เรือที่ให้ถือหนังสือออกมาว่าด้วยเจ้าพระยานครฯ ถึงแก่อสัญกรรมนั้นจึงมาช้านักหนา ไม่ใคร่จะมาถึงได้เลย มันจะไปเที่ยวเชือนแชเสียที่ไหนดอกกระมัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่เชือนแชหามิได้ รับสั่งว่า คอยแต่พอให้เรือหมื่นพิมลมาถึงเข้า การที่จะจัดแจงตั้งบ้านเมืองก็คงจะรู้จะแจ้งหมดสิ้น ถ้อยความสิ่งไรก็เสร็จมาในหนังสือหมื่นพิมลทุกประการแล้ว แล้วทรงตรัสถามว่า เป็นกระไร คิดกันจะกลับเข้าไป ณ กรุงฯ เมื่อไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จะเร่งจัดแจงการเสียให้แล้ว จะกลับเข้าไปให้ทันมรสุมในเดือน ๙ เดือน ๑๐ นี้ ทรงตรัสว่า แล้วจะกลับเข้าไปพบหนังสือเอาที่กลางทางเสียดอกกระมัง ข้างนี้ก็จะกลับเข้าไป ข้างโน้นก็จะออกมา ไม่ทันจะพบกันเข้าที่กลางทางสิจะมิเล่นเอาการงานค้างเกินเสียหรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เรือที่ให้ถือหนังสือออกมาก็คงจะมาถึงในเดือน ๘ ทุติยาสาฒสิ้น รับสั่งว่า ถ้าออกมาถึงแล้วจะจัดแจงการบ้านเมืองเสร็จก็ราวเดือน ๑๐ จึงจะได้กลับเข้าไป แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระยาไชยาบอกส่งแขกกรหมาดซึ่งพระยาถลางส่งมา ให้หลวงสุภาแพ่งคุมเข้าไปถึง ๘ คน ข้อความในบอกซึ่งมีเข้าไปนั้นเหมือนกับพระยาถลางบอกเข้าไปครั้งก่อน ทรงตรัสถามว่า แขกที่ว่าขี่เรือศีรษะเขียวเข้ามาที่เมืองถลางนั่นหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า มิใช่แขกขี่เรือเขียวหามิได้ แขกรายนี้ที่ว่าอ้ายตนกูหมัดสอัดให้ถือหนังสือมาถึงพระยาถลาง รับสั่งว่า เอาตัวมันส่งให้พระมหามนตรีไว้ แล้วให้พระยาไกรดูไล่เลียงซักถามเอาความมันให้มาก ๆ สักหน่อย มันก็คงจะรู้ความมากอยู่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ขึ้น ๓ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ท้าวพระกรุณาเขียนอย่างตาช้างส่งให้ขุนสมบัติภักดีเข้าไป ว่าตาเดินเป็นเวลา ๆ สีตานั้นเหลือง ขนหูขาว ขนตามราวท้องต้นขนแดงปลายเหลือง แต่ขนหางนั้นต้นขนดำปลายเหลือง ได้ให้พระสรรค์ พระไชยนาท ดูเทียบให้ช่างเขียนเขียนอย่างตาช้างส่งเข้าไป ทรงพระสรวลตรัสถามว่า ช้างที่ไหน เป็นช้างพังหรือพลาย เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ช้างพัง เป็นช้างที่พัทลุง ทรงตรัสว่า ช้างข้างปากใต้แล้วหายากนักหนา ว่ามาหลายหนแล้วก็ไม่ใคร่ได้ กลัวจะเป็นเหมือนช้างปะทิวกลับดำเป็นช้างบ่อแร่ไปเสีย ข้างปากใต้แล้วเป็นกระไรมิรู้เลย จะหาช้างสำคัญสักช้างหนึ่งก็ไม่ใคร่จะได้เอาเลย จะได้ก็เป็นแต่สีประหลาดบ้างเล็กน้อย ข่าวว่ามาแต่ก่อนก็หนักหนาแล้ว ไม่ใคร่จะได้เอาเลย ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือศีรษะญวนเข้าไปแต่เมืองสงขลาถึงลำ ๑ หมื่นไกรตำรวจแจ้งว่าท้าวพระกรุณาให้ถือหนังสือบอกคุมครัวเข้าไป ชายหญิงใหญ่น้อย ๘๒ คน ไปแต่เมืองสงขลา ณ วันเดือน ๘ ปฐมาสาฒแรม ๖ ค่ำ มา ๑๒ วันถึงปากน้ำเจ้าพระยา ทรงตรัสถามว่า บอกเข้าไปได้ความกลันตันอย่างไรบ้าง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า บอกเข้าไปว่าพระยาเพชรบุรียกลงไปถึงเมืองสาย มีหนังสือขึ้นมาว่า ได้ให้ขุนอินทร์ลงไปว่ากล่าวห้ามปรามก็หยุดรบสู้กันลงแล้ว แต่ค่ายนั้นเกี่ยงกันอยู่ยังหารื้อไม่ ชักแต่ปืนออกจากค่ายเสีย ตนกูปสามีหนังสือขึ้นมาถึงพระยาเพชรบุรีว่า ตนกูปสาจะยอมรื้อค่าย ไม่สู้รบกันแล้ว ข้างพระยากลันตันหารื้อค่ายไม่ ขอให้พระยาเพชรบุรีช่วยธุระตนกูปสาด้วย ยั้งทัพอยู่ที่เมืองสายก่อนเถิด ตนกูปสาจะขอทำราชการตามพวกพี่ ๆ น้อง ๆ ตนกูปสาไม่ขอทำเข้ากับพวกพระยากลันตันแล้ว ทรงพระสรวลตรัสว่า บ้านเดียวเมืองเดียวกันจะแบ่งแยกย้ายไปอย่างไรได้ ทรงฟังดูมันว่ากล่าวก็เห็นจะกลัวกองทัพยกลงไปนั่นเอง จึงหยุดรั้งรอกันลงได้ อย่างนี้แล้วถ้ามีใครลงไปถึงทันเข้าอีก เห็นการจะหยุดเลิกแล้วกันไปได้ทีเดียว ดูการก็เห็นพอจะว่ากล่าวไม่เป็นไรแล้ว แล้วทรงตรัสถามว่า เป็นกระไร อยู่ดีอยู่หมดด้วยกันดอกหรือ หมื่นไกรตำรวจกราบทูลว่า อยู่ดีอยู่หมด รับสั่งว่า เอาหนังสือบอกมาว่าไปเถิด ครั้นนายบริบาลอ่านหนังสือบอกถวายไปถึงที่ข้อว่า ตนกูปสามีหนังสือมาถึงพระยาเพชรบุรี พระยาเพชรบุรีมีหนังสือตอบลงไปนั้น ทรงพระสรวลตรัสว่า หนังสือตนกูปสาว่ากล่าวขึ้นมา ดูเห็นจะกลัวกองทัพเต็มที พระยาเพชรบุรีตอบโต้ลงไปก็ไม่มีอะไรเอาเลย เปล่าไปเสียหมดทั้งนั้น จะว่ากล่าวขู่เข็ญมันลงไปอีกบ้าง ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ให้มันกลัวก็ไม่มี ว่าอ้อแอ้ตามใจมันไปเสีย เห็นจะรับสินบนมันเข้าแล้วก็ว่าตอบลงไปจะเป็นธุระจัดแจงให้นั่นเอง เจ้าคุณหาบนจึงกราบทูลว่า ในหนังสือพระยาเพชรบุรีว่าลงไปทำนองเป็นเกลี้ยกล่อม ว่าแผ่นดินข้างเมืองแขกก็ใหญ่กว้างว่างเปล่ามีอยู่มาก ไม่ว่าจำเพาะแต่แผ่นดินเมืองกลันตันหามิได้ ว่าทั่วไปด้วยกันหมด รับสั่งว่า ถ้าว่าอย่างนั้นก็ถูกกับความดีอยู่แล้ว จะจัดแจงแบ่งแผ่นดินเมืองเดียวเป็น ๒ แผ่นดิน ๓ แผ่นดินไปอย่างไรได้ ครั้นอ่านหนังสือบอกจบแล้ว ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ถ้ามันจะคิดพาครอบครัวหนีไปแล้ว มันจะไปทางบกหรือทางเรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เห็นคงจะไปทางเรือ รับสั่งว่า ถ้ามันจะพากันหนีไป มันจะไปได้กี่มากน้อยนักหนา ถ้าพระยาไชยายกลงไปถึงทันเข้า การก็เห็นจะไม่เป็นไรนัก พอจะว่ากล่าวเอาแล้วเลิกหยุดกันไปได้ คิดว่ากล่าวเอาตัวมันขึ้นมาได้หมดพาเข้าไป ณ กรุงฯ ความก็จะแล้วกันเท่านั้น ครั้นอ่านบอกฉบับเมืองไทรถวายจบแล้ว รับสั่งว่า การที่จะจัดแจงตั้งบ้านเมืองยังไม่ใคร่จะจัดแจงเข้าได้เลย มัวแต่วุ่นไขว่อยู่ด้วยครอบครัวไปเสียทั้งนั้น เป็นกระไร ครัวที่ส่งเข้าไปเป็นครัวอะไร อยู่ที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เป็นครัวเมืองไทรบ้าง เมืองจะนะบ้าง เมืองเทพาบ้าง เมืองราห์มันบ้าง เมืองสตูลบ้าง ว่าเป็นพวกเข้าด้วยขบถ ครัวหม้ายที่ส่งเข้าไปนั้นพวกขบถฆ่าผัวเสียบ้าง ผัวไปกับพวกขบถบ้าง รับสั่งว่า ครอบครัวมันก็คงจะเข้าหาหมด มันจะไปไหน ได้จัดแจงตั้งเมืองไทรเสร็จแล้วจึงค่อยจัดแจงครอบครัวต่อภายหลัง เห็นจะไม่สะดุ้งสะเทือน จะให้พระยาไทรไปอยู่เหมือนอย่างเดิมนั้นจะไปอยู่อย่างไรได้ จะเห็นแขกผู้ใดพอจะตั้งแต่งไปรักษาอยู่ได้ก็จัดแจงตั้งให้ไปอยู่เสีย จะได้คิดชักชวนครอบครัวซึ่งหลบหนีเก่าใหม่เข้ามาใส่บ้านเมือง ทรงคอยฟังว่าจะจัดแจงเอาแขกผู้ใด ๆ ใส่เมืองไทร ก็ยังไม่ทรงทราบว่าจัดแจงได้ผู้ใดเลย ครั้นอ่านต้นหนังสือพระยาเพชรบุรีถวายทั้ง ๒ ฉบับ ไปถึงที่ข้อว่าตนกูปสาได้จัดเอาทองคำผุยมาให้พระยาเพชรบุรี กับหลวงสรเสนีมีหนังสือขึ้นมาว่า ขุนโยธาสมุทร หมื่นเทพ นายน้อย ขุนอินทร์ ขุนรายา ขึ้นไปห้ามพระยากลันตัน ตนกูปสาสัญญากันให้รื้อค่าย แล้วไปเข้าเสียด้วยพวกพระยากลันตัน ทำผิดสัญญาไปนั้น รับสั่งว่า มันเป็นอย่างนี้ไปเสียได้ ไม่สามัคคีรสกันเอาเลย เป็นข้าหลวงลงไปว่ากล่าวแล้วยังไปเข้ากับคนอื่นให้มีความวิวาทกันขึ้นเองได้ ให้อายเขาเปล่า ๆ หลวงสรเสนีก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว มันโหยกเหยกอย่างนี้เป็นไรจึงไม่เอาโทษตีมันเสีย สุดแต่ว่ามันได้อะไรข้างใครบ้างเล็กน้อย มันก็เข้าไปด้วยข้างนั้นนั่นเอง ข้างพระยาเพชรบุรีเล่าถูกทองมันเข้าคราวละตำลึงสองตำลึงแล้วก็ว่าตามใจมันไปเสียหมด ไม่เอาอะไรว่ากล่าวลงไปบ้างเลย เปล่า ๆ ไปเสียหมดทั้งนั้น ครั้นอ่านต้นหนังสือพระยาเพชรบุรีถวายจบแล้ว อ่านคำให้การขุนอินทร์ไปถึงที่ข้อว่า ตนกูปสาให้ชักปืนออกจากค่ายเสียให้สิ้น เอามาไว้ที่บ้านตนกูปสา หวันหลงมหมัด กับว่าขุนโยธาสมุทร หมื่นเทพ นายน้อย ข้าหลวงซึ่งไปห้ามอยู่ข้างพระยากลันตัน ว่าชักแต่ปืนออกเสียจากค่ายแล้วไม่รื้อค่ายก็ได้นั้น รับสั่งว่า เป็นเหตุผลเพราะอ้ายนี่ทีเดียว จึงเกิดเกี่ยงแก่งแย่งกันไม่รื้อค่าย ไม่พอที่เอาเลย มันเป็นอย่างนี้ไปได้ แลความที่ตนกูปสาชักปืนออกจากค่ายมาไว้เสียนั้น ก็กลัวกองทัพจะยกลงไป จึงไม่คิดสู้รบกันหยุดลงได้ ดูทำนองต่างคนต่างก็ไม่ไว้ใจกันได้ทีเดียว ด้วยข้าหลวงลงไปห้ามปรามนั้นน้อยอยู่ ถ้าลงไปถึงมากเข้าด้วยกันก็เห็นจะรื้อค่ายลงหมดได้ มันจะไม่กลัวกองทัพจะไปไหน ซึ่งให้พระยาไชยายกลงไปนั้นก็ถูกดีอยู่แล้ว ครั้นอ่านจบแล้วทรงตรัสว่า ที่ว่าหลวงสรเสนีไปขอยืมช้างพระยากลันตันจะขี่ลงไปดูว่ากล่าวห้ามปรามเองนั้น ดูเป็นคนใจกล้าแข็งดีอยู่ หาคิดกลัวเกรงอะไรไม่ เห็นจะเป็นคนใช้ราชการทัพศึกได้อยู่คนหนึ่งแล้ว ครั้นอ่านบอกตอบด้วยรายข้าวแลขอเกลือ กับขอเรือออกมารับบรรทุกครอบครัวถวายจบแล้ว รับสั่งว่า มัววุ่นอยู่ด้วยจัดแจงครอบครัวไปเสียทีเดียว การที่จะจัดแจงตั้งบ้านเมืองนั้น ยังไม่ทรงทราบว่ากระไรเลย ครั้นอ่านบอกส่งครัวถวายจบแล้ว ทรงพระสรวลตรัสถามพระยาราชวังสรรค์ว่า ครัวหม้ายนั้น รับเอาไปไว้ที่นอกแล้วหรือยัง พระยาราชวังสรรค์กราบทูลว่า รับเอาไปไว้ที่นอกแล้ว จึงรับสั่งสั่งพระยาราชสุภาวดี พระยาราชวังสรรค์ว่า ดูจัดแจงเอาส่งให้รับรองมาไว้ข้างโรงไหมเถิด อย่าให้มันพลัดพรายกันได้ จัดแจงให้คงตามบาญชีจำนวนซึ่งส่งเข้าไปไว้ให้ดี ครั้นอ่านหางว่าวส่งครัวจำนวนรายลำหมื่นไกรถวายจบแล้ว ทรงตรัสถามว่า ครัวเข้ามาตามทางดีอยู่ด้วยกันหมดดอกหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ดีอยู่ด้วยกันสิ้น รับสั่งว่า เอาส่งมอบให้พระยาราชวังสรรค์รับรองไว้ อย่าให้มันอดอยากได้นั้นเลย ดูแลพิทักษ์รักษาไว้ให้ดี คอยเมื่อเลิกทัพกลับเข้าไปถึง ณ กรุงฯ แล้วจะจัดแจงไว้ที่ไหนอย่างไร จึงค่อยจัดแจงต่อไป แล้วทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า จัดแจงเอาข้าวบรรทุกเรือมัจฉาณุเสร็จแล้วหรือยัง ดูขอเกลือบรรทุกส่งออกมาให้ด้วย เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เรือมัจฉาณุบรรทุกข้าวเต็มลำแล้ว ผ่อนข้าวขึ้นเสียบ้าง เอาเกลือบรรทุกใส่ลงส่งออกมาให้ก็เห็นจะได้ รับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบน พระยาโชฎึกว่า บรรทุกข้าวลงเต็มลำแล้วก็แล้วไปเถิด อย่าผ่อนขึ้นเสียเลย ดูหาเอาเรืออื่น บอกหลวงสวัสดิวารี[๓]ให้ช่วยจัดแจงบรรทุกเกลือส่งออกมาในเร็ว ๆ ก่อนก็จะได้ เรือที่จะให้ออกมาบรรทุกครอบครัว ก็ดูหาจัดแจงเอาตามเจ้าภาษีทั้งปวงนั้นเถิด แต่จดหมายช้างสีประหลาดนั้นหาได้ถวายไม่ ด้วยกราบทูลเสียแต่ก่อนแล้ว ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสถามพระยาไกรว่า ถามอ้ายแขกกรหมาดได้ความเสร็จแล้วหรือยัง พระยาไกรกราบทูลว่า ถามอยู่ยังไม่แล้วหามิได้ ทรงตรัสถามพระนรินทร์ว่า เมื่อเพลาเช้าบอกเข้าไปถึง ว่าอ้ายตนกูหมัดสอัด อ้ายหวันมาลี หนีไปอยู่ที่ไหน พระนรินทร์กราบทูลว่า หนีไปอยู่ที่เมืองปตูบาหรา ทรงตรัสถามว่า ได้ยินว่าหนีไปอยู่ที่อาแจที่เกาะหมากนั้นใครเล่าว่ามันเอาครอบครัวไปไว้ที่ไหน พระนรินทร์นิ่งอยู่ ทรงตรัสว่าไม่คัดเอาหนังสือบอกออกจดหมายไว้บ้างเลย จะทรงถามอะไรก็ไม่ได้ความเสียหมดทั้งนั้น แล้วรับสั่งสั่งพระยาไกรว่าดูซักถามอ้ายแขกกรหมาดเอาความก้าวไปไว้ข้างหน้าสักหน่อยเถิด แขกลูกหลานพระยาไทรก็หลายคนอยู่ มันหนีไปอยู่อย่างนี้ มันจะไปคิดเข้ากับฝรั่งมังค่ามาทำเอาเมืองไทรอีกหรืออย่างไร เอาความตรงนี้ให้ได้สักหน่อยเถิด สำคัญอยู่ก็ความเท่านั้น อ้ายนี่มันเป็นคนใช้สอยถือหนังสือไปมาอย่างนี้ มันก็คงจะรู้แยบคายการบ้านเมืองมากอยู่ มันจึงใช้ให้ถือหนังสือมาพูดจา ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้น ๕ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามว่า หมื่นไกรตำรวจซึ่งเข้าไป มาหรือไม่ ยังไม่ได้ทรงไถ่ถามอะไรเลย พระนรินทร์กราบทูลว่าเข้ามา ทรงตรัสถามว่า เป็นกระไร พระยาศรีพิพัฒน์เล่นอะไรอยู่บ้าง พระนรินทร์กราบทูลว่า เห็นให้ทำกากะเยีย ทำหินลับมีดโกนถวายพระอยู่ รับสั่งว่า เอากากะเยีย หินลับมีดโกนอะไรเข้ามาว่า ว่าที่จัดแจงทำการบ้านเมืองสงขลานั่นสิไม่ว่าเล่า การทำไว้แต่ก่อนยังค้างอยู่ เดี๋ยวนี้ได้ทำอะไรเข้าบ้าง พระนรินทร์กราบทูลว่า ท้าวพระกรุณาได้ให้พวกสงขลาทำข้างด้านเหนืออยู่ ว่าได้จับก่อขึ้นไปบ้างแล้ว ทรงตรัสถามว่า ก็ด้านข้างอื่นทำแล้วหมดแล้วหรือยัง พระนรินทร์กราบทูลว่า ด้านข้างใต้พวกสงขลาทำแล้วเสียแต่ก่อนนั้นแล้ว ยังค้างอยู่อีก ๒ ด้าน ทรงตรัสถามว่า ยังค้างอยู่อีก ๒ ด้านนั้น ได้จับทำแล้วหรือยัง พระนรินทร์กราบทูลว่า ถามดูว่าเห็นยังทำด้านข้างเหนืออยู่ ทรงตรัสถามว่า เอาคนที่ไหนทำ พระนรินทร์กราบทูลว่า เอาคนที่สงขลากับคนกองทัพช่วยกันทำ รับสั่งว่า จะต้องเอาคนกองทัพช่วยเหลือกันทำเข้า ก็ดูจัดแจงเอามาช่วยกันทำเข้าเสียให้แล้ว จะให้ค้างไปถึงไหนอย่างไรอีกเล่า ไหน ๆ ก็ได้มีหนังสือออกมาแล้ว ผู้คนจะไม่พอทำอย่างไร จะต้องเอาคนกองทัพมาช่วยเหลือด้วย ก็ดูจัดแจงเอามาช่วยเหลือกันเข้า ทำเสียให้แล้วจึงจะได้ ถ้าทำไม่แล้วกลับเข้าไปเสีย การค้างต่อไปอีกแล้ว ใครจะทำแล้วที่ไหน ก็คงจะค้างอยู่อย่างนั้นนั่นเอง ถ้าค้างอยู่อย่างนั้นได้แล้ว ทำให้ข้าศึกศัตรูมันประมาทหมิ่นเล่นเปล่า ๆ ทีเดียว ๚
๏ ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้น ๖ ค่ำ หาได้ทรงพระราชดำริราชการเมืองไทรเมืองกลันตันไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้น ๗ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือศีรษะญวนเข้าไปถึง ๒ ลำ ลำ ๑ หมื่นศรีโภไคยแจ้งว่า ท้าวพระกรุณาให้ถือหนังสือบอกคุมครัวเข้าไป ๑๒๖ คน ไปแต่เมืองสงขลา ณ วันเดือน ๘ แรม ๑๒ ค่ำ มา ๑๐ วัน ถึงปากน้ำเจ้าพระยาลำ ๑ ขุนสารวัดแจ้งว่า พระยาจันทบุรีบอกเข้าไปว่า เรือหมื่นอาวุธภูธรตำรวจซึ่งให้คุมครัวเข้าไปแต่เมืองสงขลา ๘๓ คน เรือซัดไปถึงเมืองจันทบุรี ณ วันเดือน ๘ ปฐมาสาฒ แรม ๑๑ ค่ำ ว่าจัดแจงจะตามขุนสารวัดเข้าไปครั้งหลัง ทรงพระสรวลตรัสว่า ทรงฟังดูหมื่นศรีโภไคยซึ่งว่าเข้าไปแต่เมืองสงขลา ณ วันเดือน ๘ แรม ๑๒ ค่ำนั้น เล่นเอาพระทัยหายวาบไปทีเดียว ทรงคิดว่าจะไม่ได้ข่าวเรือหมื่นอาวุธภูธรตำรวจเสียแล้ว มิรู้ลมมันพาไปอยู่ที่จันทบุรีนั่นดอกหรือ แล้วทรงตรัสถามว่า เป็นกระไร ข่าวที่กลันตันนั้นใครขึ้นมาถึงได้ความเข้าไปอีกอย่างไรบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จดหมายเข้าไปว่าเรือเมืองตรังกานูขึ้นมาถึงลำ ๑ ว่าหยุดรบสู้กันมาแต่ ณ วันเดือน ๘ ปฐมาสาฒขึ้น ๓ ค่ำนั้นแล้ว เรือที่ให้ลงไปห้ามปรามครั้งหลังนั้น ยังหากลับขึ้นมาไม่ แต่เรือซึ่งให้ถือหนังสือออกมาด้วยความกลันตันนั้นก็ถึงหมดแล้ว ยังอยู่แต่ลำหมื่นพิมลกำจรลำเดียว ทรงตรัสว่าอย่างนั้นก็เห็นจะไม่เป็นไรแล้ว คงจะรู้การงานคิดทำไปได้ อีกฉบับเดียวก็ยังแต่จะคิดจัดแจงการเมืองนครฯ เท่านั้นนั่นเอง แล้วทรงตรัสถามว่า เป็นกระไร อยู่ดีอยู่หมดด้วยกันดอกหรือ มีใครเจ็บไข้ล้มตายบ้างหรือไม่ หมื่นศรีโภไคยกราบทูลว่า ไม่มีใครล้มตายเจ็บไข้มิได้ อยู่ดีด้วยกันหมด แล้วหลวงสุรินทามาตย์อ่านบอกส่งครัวไปถึงที่ข้อว่า คุณตานี[๔]จดหมายออกมาขอครัวสำหรับทำสังฆทาน ได้ให้เข้าไปเป็นคนเมืองระแงะ ๑๙ คนนั้น ทรงพระสรวลตรัสว่า ให้แขกมาเป็นสังฆทานมันจะกินหมูได้หรือ ครั้นอ่านถวายจบแล้ว ทรงพระสรวลรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบน พระยาราชสุภาวดีว่า ดูจัดแจงส่งให้ตามหนังสือซึ่งมีเข้าไปนั้นเถิด ที่ครัวโรงไหมก็ให้จมื่นศรีสรรักษ์มารับเอาไป ครัวที่ให้เป็นสังฆทานก็เอาส่งไปให้ตามสังฆทาน เอาให้กินหมูได้สัก ๓ วันก็ดีแล้วเอาเถิด ครั้นอ่านจดหมายถวายจบแล้ว ทรงตรัสว่า เรือที่ออกมานั้นช้านักหนาทีเดียว มาจนถึง ๓๐ วัน ๔๐ วันอย่างนี้ มันเชือนแชเสียดอกกระมัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่เชือนแชหามิได้ ช้าโดยขัดลม รับสั่งสั่งหลวงสุรินทามาตย์ว่า บอกพระนรินทร์ดูช่วยกันคัดจดหมายกำหนดเรือไว้ ตามจดหมายรายลำซึ่งว่าเข้าไปไว้ให้ดี แล้วทรงตรัสถามหมื่นศรีโภไคยว่า เป็นกระไร อดอยากอะไรอยู่บ้าง หมื่นศรีโภไคยกราบทูลว่า ผักปลาอาหารไม่ใคร่จะมี ที่พวกไพร่อดหมดอยู่ด้วยกัน ทรงพระสรวลตรัสถามว่า ว่ามาให้เป็นสิ่ง จะอดอะไร อดข้าวหรืออดปลา หรือพริกเกลืออย่างไรก็ว่าเข้ามา หมื่นศรีโภไคยกราบทูลว่า อดอยู่สารพัด ผักปลา พริกกะปิอดมาก ทรงพระสรวลตรัสว่า ผักหญ้านั้นอย่าว่าเลย ยกเสียเถิด จะให้ส่งผักออกมาด้วยมิเน่าเสียหมดหรือ เป็นกระไร อดหอมกระเทียมด้วยหรือไม่ กะปินั้นก็อดด้วยหรือ หมื่นศรีโภไคยกราบทูลว่า หอม กระเทียม กะปิก็อดอยู่ด้วย ทรงพระสรวลรับสั่งว่า อดอยากอยู่อย่างนั้น ก็เร่งรีบจัดแจงการเสียให้แล้ว กลับเข้าไปเสียเร็วๆ จะได้ไม่อดอยาก แล้วรับสั่งสั่งพระยาโชฎึกว่า ดูบอกพระยาราชมนตรีให้จัดหา ขอส่งออกมาให้ครบสิ่งตามว่าหน่อยเถิด แล้วทรงตรัสถามว่า การเมืองกลันตันนั้น ได้ยินคิดอ่านอย่างไรบ้าง ให้หลวงโกชาอิศหากลงไปหรือไม่ หมื่นศรีโภไคยกราบทูลว่า เมื่อเข้าไปยังเห็นหลวงโกชาอิศหากอยู่ที่สงขลา แต่การข้างกลันตันนั้น ได้ยินว่าคิดให้ลงไปเกลี้ยกล่อม ทรงตรัสว่า เกลี้ยกล่อมขึ้นมาจะตั้งแต่งมันแล้ว ก็ต้องให้มันเข้าหาพระยากลันตันดีกันก่อน จึงจะตั้งแต่งอยู่ด้วยกันได้ แล้วทรงพระสรวลตรัสถามว่า เป็นกระไร ช้างที่ว่าสีประหลาดนั้นสีอย่างไร พระยาศรีพิพัฒน์รักใคร่เอาใจใส่ดูแลมากอยู่หรือ หมื่นศรีโภไคยกราบทูลว่า รักใคร่เอาใจใส่ดูแลอยู่มาก มาอยู่ที่โรงช้างดูให้ขัดสีเสมออยู่ทุกวัน แต่ช้างนั้นสีตาเหลือง ขนก็เหลือง สีตัวเป็นสีลูกหว้าอ่อน ทรงพระสรวลรับสั่งว่า เป็นสีลูกหว้าอ่อนนั้นมากหนักไปแล้ว ก็ข้างนอกเขาเรียกว่าช้างเผือกบ้างแล้วหรือยัง หมื่นศรีโภไคยกราบทูลว่า ยังไม่ได้ยินใครเรียกมิได้ ว่าแต่เป็นช้างสีประหลาด ทรงพระสรวลรับสั่งว่า ทรงคิดว่าเขาเรียกว่าเป็นช้างเผือกบ้างแล้วเล่า ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้น ๘ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า มันเข้าไปได้ถามถึงชำระฝิ่นบ้างหรือไม่ ชำระได้ไว้เท่าไรแล้ว ได้ให้สาบานหมดแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าถามดูแล้ว การชำระฝิ่นนั้นมอบให้เจ้าพระยายมราชชำระ ได้ไว้ ๘ ก้อน ๙ ก้อนแล้ว ว่าพวกที่ซื้อฝิ่นขายฝิ่นรู้เข้าพาเอาฝิ่นหนีเข้าป่าไปเสียบ้าง เอาลงไปข้างเมืองตรังกานูบ้าง ได้ให้พระยาสงขลากับพวกที่ซื้อฝิ่นขายฝิ่นสาบานแล้ว รับสั่งว่า ชำระได้น้อยนักหนา หาได้มากไม่เลย มันพาหนีไปเสียหมดได้ ให้มันหนีไปพลางก่อนเถิด ว่างการว่างงานแล้ว จะให้ออกมาเล่นมันสักทีหนึ่ง เอาให้หมดจงได้ ได้ให้สาบานแล้วอย่าให้มันซื้อกันขายกันต่อไปอีกได้ก็เอาเป็นดีก่อนเถิด ๚
๏ ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒ ขึ้น ๙ ค่ำ หาได้ทรงพระราชดำริราชการเมืองไทรเมืองกลันตันไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้น ๑๐ ค่ำ เพลาค่ำ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ท้าวพระกรุณาบอกให้ขุนโจรใจกลับ หมื่นลบธรณีคุมครัวเข้าไปถึงลำหนึ่ง ๑๑๑ คน พันราชฤทธินายหมวดอาทมาตลำหนึ่ง ๕๔ คน เข้ากัน ๒ ลำ ทรงตรัสถามว่ามันเข้าไปเมื่อไร มีบอกความกลันตันเข้าไปด้วยหรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า มีแต่บอกส่งครัวว่าเข้าไปแต่สงขลา ณ วันเดือน ๘ ปฐมาสาฒแรม ๑๕ ค่ำ ทรงตรัสว่า มันก็ไปติดๆ กันไปนั่นเอง จะรู้อะไร ครั้นนายบริบาลอ่านหนังสือบอกถวายจบแล้ว รับสั่งว่า ครอบครัวก็เอามอบให้พระยาราชวังสรรค์รับไว้เถิด แล้วทรงตรัสถามขุนโจรใจกลับว่า ชำระฝิ่นไว้ได้เท่าไร หมดซื้อหมดขายสงบกันลงหมดแล้วหรือยัง เอ็งเป็นคนสูบฝิ่นอยู่คงรู้อยู่หมด ว่าไปตามจริง ๆ เป็นกระไร พระยาสงขลามีฝิ่นซื้อขายบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์ถามแล้วกราบทูลว่า ที่ซื้อขายนั้นหาทราบไม่ แต่มีฝิ่นอยู่ ได้ให้ฝิ่นสุกกับขุนโจรใจกลับสูบอยู่แต่ก่อนบ้าง ครั้นทราบท้องตราโปรดออกมาให้ชำระก็สงบซื้อขายกันลง ผู้ซื้อฝิ่นขายฝิ่นพาเอาฝิ่นหนีเข้าป่าไปบ้างลงเรือไปบ้าง ทรงตรัสถามว่า ก็คิดให้ออกคอยติดตามจับกุมบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ให้ออกคอยติดตามสกัดอยู่ ทรงตรัสว่า สกัดจับอะไรกับชำระหง่อย ๆ อยู่อย่างนี้จะใคร่ได้ฝิ่นที่ไหน พระยาสงขลาก็ไม่เต็มใจช่วยชำระ คิดแต่จะปิดบังยักเสือกไสเอาไว้ให้มันหนีไปเสียนั่นเอง ถ้าเมืองสงขลายังมีคนสูบฝิ่นอยู่แล้ว อย่าว่าจะสู้รบกับแขกเลย จะสู้แต่อะไรก็ไม่ได้ จึงรับสั่งสั่งพระนรินทร์ว่า บอกเจ้าพระยาพระคลังให้มีหนังสือออกมาว่า ถ้าจะเลิกทัพกลับเข้าไป ณ กรุงฯ แล้ว ถึงจะเอาครัวเข้าไปถวายสักพันหนึ่ง ก็ไม่ทรงยินดีพระทัยเหมือนหนึ่งเอาฝิ่นเข้าไปได้มากหมดนั่นแหละ ถ้าพระยาสงขลาไม่เต็มใจช่วยชำระฝิ่นให้หมดได้แล้ว ก็ให้บอกกับพระยาสงขลาว่า อย่าให้เข้าไปเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯ ต่อไปอีกเลย ๚
๏ ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้น ๑๑ ค่ำ ขึ้น ๑๒ ค่ำ หาได้ทรงพระราชดำริราชการเมืองไทรเมืองกลันตันไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ท้าวพระกรุณาให้ขุนฤทธิรณไกรถือหนังสือบอกไปแต่เมืองสงขลา ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้น ๔ ค่ำ ไป ๙ วันถึงปากน้ำเจ้าพระยา ทรงตรัสถามว่า เรือพิมลกำจรออกมาถึงแล้วหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ออกมาถึงแล้ว บอกเข้าไปคราวนี้บอกด้วยความตอบรายพิมลกำจร ทรงตรัสถามว่า ก็เป็นอย่างไรได้จัดแจงตั้งบ้านเมืองแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า บอกเข้าไปว่าจะจัดหาเอาคนเมืองไทรตั้งเป็นที่เมืองไทรนั้นไม่มีตัวหามิได้ เห็นมีอยู่ก็แต่ตนกูอสันที่อยู่เกาะหมาก เมื่อตนกูเดนมาตีเมืองไทรได้ เจ้าพระยานครฯ ยกไปรบสู้ตนกูเดนนั้น ตนกูอสันมาอยู่ที่เมืองไทรด้วย ก็หาได้ช่วยตนกูเดนสู้รบไม่ ครั้นเจ้าพระยานครฯ ได้เมืองไทรแล้ว ตนกูอสันหนีไปอยู่ที่เกาะหมาก เจ้าพระยานครฯ ให้ไปเกลี้ยกล่อมให้เข้ามาอยู่เมืองไทรก็ยังกระดากกลัวอยู่ แลเมื่ออ้ายตนกูหมัดสอัดมาตีเมืองไทรครั้งนี้ก็หาได้มาช่วยตีไม่ เจ้าพระยานครฯ ใช้คนไปมาที่เกาะหมากซื้อหาของสิ่งไร ตนกูอสันก็ช่วยจัดแจงหาให้ ได้อาศัยใช้สอยสนิทมากันเจ้าพระยานครฯ แต่ก่อน ถ้าจะเอามาอยู่เมืองไทรก็ได้ คงจะมา แต่จะไว้ใจหาได้ไม่ เห็นว่าถ้าได้มาอยู่เป็นที่สิทธิขาดในเมืองไทรแล้ว ก็คงจะรับฝรั่งมาตั้งห้างตั้งร้านซื้อขายอยู่ที่เมืองไทร จะคิดทำประการใดก็จะได้ นานไปเมืองไทรจะหลุดลอยไปเสีย คิดด้วยเกล้าฯ จะให้พระยาไทรมาอยู่ที่พัทลุง ที่เมืองไทรนั้นจะตั้งแต่เป็นนายมุเกม ๆ ไว้ตามมุเกม จะให้พระเสนหามนตรี พระยาไทร ผลัดเปลี่ยนกันไปคอยระวังตรวจตราดูไม่ให้ขาด ทรงตรัสถามว่า แล้วอย่างไรต่อไปอีกเล่า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า กับว่าที่เมืองพัทลุงผู้คนหลบหนีร่วงโรยไปเสียมาก ยังอยู่น้อย หาเหมือนแต่ก่อนไม่ ท้าวพระกรุณาให้ไปทำบาญชีจำนวนคนอยู่ให้แน่นอน กับให้พระยาอภัยพิพิธไปคอยรับแขกฉกรรจ์เมืองไทร ซึ่งพระยาไทรจะผ่อนให้ขึ้นมาก่อน แล้วจึงจะกวาดครอบครัว แต่พระวิชิตสรไกรนั้น จะให้เข้าไปตั้งอยู่ที่กรูด ด้วยที่กรูดเป็นที่ท่าสลัดศัตรูไปมาอาศัยมาก จะได้คอยรักษาลาดตระเวนระวังราชการต่อไปข้างหน้า ว่าคนเมืองพัทลุงหลบหนีมาอาศัยอยู่ตามบ้านเมืองชั้นในมาก จะให้เจ้าไปคิดหารวบรวมเอาคนเหล่านี้ตั้งขึ้นไว้ รับสั่งว่า คิดจัดแจงอะไรก็ถูกต้องดีอยู่หมดแล้ว แต่จะตั้งแยกให้เป็นนายมุเกมๆ อยู่ที่เมืองไทรตามมุเกมนั้นจะได้อยู่หรือ มีแต่ผู้น้อยอยู่เป็นก๊ก ๆ ไปเสียด้วยกันหมดอย่างนี้ ถ้ามันวิวาทกันขึ้นจะทำอย่างไร ผู้ใหญ่ก็ไม่มีอยู่สำหรับจะตัดสิน จะให้มาตัดสินถึงพัทลุงทางก็ไกลนัก จะตัดสินทันการได้ที่ไหน โดยว่าตัดสินทัน ก็จะชอบใจมันไปหมดทั้ง ๒ ข้างหรือ มันก็คงไม่ชอบใจข้างหนึ่ง มันจะหนีไปหาบอกกับฝรั่งเข้า ฝรั่งเห็นว่าไม่ตั้งเป็นบ้านเมืองแล้ว มันจะให้มาว่ากล่าวขอตั้งเมืองไทรขึ้นจะมิเสียทีไปหรือ จะว่ากระไรเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลัง เห็นอย่างไรคิดตั้งไว้อย่างนี้ จะมิหมิ่นเบาไปหรือ หรือจะดี หรือจะตั้งเป็นเจ้าเมืองไว้ดี ดูปรึกษาหารือกันเข้า เห็นดีอย่างไรก็ว่าเข้ามา เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า คิดตั้งเป็นมุเกมขึ้นไว้จะคิดแยกให้เป็นหลายบ้านหลายเมือง ทำให้เหมือนอย่างเมืองตานี เมืองตานีนั้นแต่ก่อนเป็นเมืองเดียว ครั้นตั้งเป็นมุเกมไว้นานไปก็เป็นหลายบ้านหลายเมืองขึ้น จึงได้ขึ้นกับเมืองตานีมาจนทุกวันนี้ ทรงตรัสว่า แยกกันให้เป็นมุเกมคอยให้เป็นบ้านเป็นเมืองนั้นการมิใช่เร็ว เป็นการนานมากอยู่ กว่าจะได้เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้น กลัวจะตายไปก่อนเสียอีก ว่ากระไร เจ้าพระยาบดินทรเดขา จะตั้งเป็นมุเกมไว้อย่างนี้ดีหรืออย่างไร เจ้าคุณผู้ใหญ่กราบทูลว่า คิดตั้งเป็นมุเกมไว้ก็มีนายมุเกมอยู่แล้ว แต่การที่จะตัดสินนั้นทางก็ไกลกันอยู่ กลัวจะไม่ทันกับการ ทรงตรัสว่า จะทันที่ไหน ทรงคิดว่าตั้งให้เป็นเมืองไว้ที่เมืองไทรนั่นแหละดี จะได้ว่ากล่าวตัดสินการงานทันท่วงทีได้ แลเมื่อหลวงสุรินทามาตย์อ่านหนังสือบอกฉบับที่จัดแจงตั้งบ้านตั้งเมืองถวายนั้น หาได้ทรงตรัสแต่ประการใดไม่ ทรงนิ่งฟังไปจนจบ ครั้นอ่านจบแล้ว จึงทรงตรัสว่า คิดอ่านจัดแจงอะไรก็ถูกต้องดีอยู่หมด ซึ่งจะถอนเอาพระยาไทรมาไว้ที่พัทลุง แลจะให้พระวิชิตสรไกรเข้าไปตั้งอยู่ที่กรูดนั้น จัดแจงได้อย่างว่าแล้วก็เอาเป็นเอกเถิด แต่จะตั้งเป็นนายมุเกมไว้ที่เมืองไทรนั้น ยังหมิ่นอยู่นักหนาทีเดียว ถ้าฝรั่งมันรู้เข้าว่าไม่มีเจ้าบ้านเจ้าเมือง มีแต่นายมุเกมอยู่อย่างนี้ มันจะว่าเอาเป็นทิ้งแผ่นดินเมืองไทรเสีย จะให้เข้ามาว่ากล่าวขอตั้งถวายดอกไม้ทองเงินอย่างนี้ จะว่าอย่างไรออกไปกับมัน ว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ท้าวพระกรุณาเห็นว่า ที่จะให้ไปอยู่เมืองไทรนั้น นอกจากแขก ๙ หัวเมืองแขกเมืองไทรแล้ว อยู่ไม่ได้หามิได้ จะหาแขกเมืองไทรที่เป็นคนมั่งคั่งก็ไม่มี มีแต่คนกำลังน้อยพอจัดแจงเอาเป็นนายมุเกม จึงคิดตั้งให้เป็นมุเกมไว้ด้วยอยู่น้อย ผ่อนครอบครัวเข้ามาเสียมาก ถ้าจัดแจงหาตั้งเป็นเจ้าเมืองขึ้นได้สักคนหนึ่งแล้วเห็นจะดีเหมือนอย่างโปรดเกล้าฯ ทรงตรัสว่า เป็นกระไรเจ้าพระยาบดินทรเดชา พระยาราชสุภาวดี คิดตั้งให้เป็นเจ้าเมืองขึ้นได้นั้นเห็นจะดีหรือไม่ดี เจ้าคุณผู้ใหญ่ พระยาราชสุภาวดี กราบทูลว่า จัดแจงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองขึ้นได้นั้นดี รับสั่งว่า ทรงคิดก็เห็นความอย่างนั้น ถ้าตั้งเป็นเมืองขึ้นไว้แล้ว ฝรั่งจะมาว่ากล่าวสวมทำเอาอย่างไรก็ยังไม่ได้ ด้วยเรายังไม่ทิ้งแผ่นดินเมืองไทร ไม่มีที่จะว่า ถ้าไม่ตั้งเป็นเมือง จะตั้งให้เป็นนายมุเกมนั้นเป็นที่มันว่ากล่าวได้ ซึ่งคิดตั้งให้เป็นนายมุเกมไว้ จะทำให้เหมือนอย่างเมืองตานีนั้น ความมันไม่เหมือนกัน ข้างเมืองตานีผู้คนอยู่เสร็จสิ้นไม่ค้างเกินอยู่เหมือนอย่างนี้ ข้างเมืองไทรผู้คนเราตกค้างไปอยู่ข้างฝรั่งมากสัก ๓ ส่วน เราได้ไว้สักส่วน ๑ เท่านี้ ได้ผ่อนเอาเข้ามาเสียก็มาก มีอยู่น้อย จะตั้งแยกเป็นนายมุเกมไว้อย่างไรได้ ถ้ามันคิดพากันกลับเข้ามาทำเอาอีกจะว่ากระไร จะช่วยเหลือกันทันที่ไหน ต้องคิดหาคนตั้งเอาให้เป็นเมืองขึ้นให้จงได้นั่นแหละดี ถึงมันจะรับพากันเข้ามาอยู่บ้านอยู่เมือง ถ้ายอมถวายดอกไม้ทองเงิน ก็จะดูประสมเอาเป็นเกียรติยศไปดีกว่าที่ตั้งเป็นนายมุเกมทิ้งแผ่นดินเมืองไทรไว้ ความข้อนี้ก็ได้มีหนังสือว่าออกมาให้จัดแจงตั้งเมืองไทรแจ้งอยู่แต่ก่อนแล้ว ที่ว่าออกมาด้วยให้ผ่อนปรนครอบครัวนั้น ก็ว่าเปิ๋ง ๆ ไปแต่พอให้รู้กันกระนั้นนั่นเอง จะถอนพระยาไทรเข้ามาเสียแล้ว ผู้คนเครื่องศัสตราวุธก็ต้องผ่อนเข้ามาตามควรบ้าง จะเอามาเสียให้หมดนั้นจะได้หรือ แล้วทรงตรัสถามว่า ยังมีหนังสืออะไรอยู่อีกบ้าง หลวงสุรินทามาตย์กราบทูลว่า หนังสือบอกจดหมายเข้าไปด้วยเรือถือหนังสือออกมาถึง รับสั่งว่า เอาไว้ว่าต่อค่ำเถิด แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า อย่างไร ๆ ก็มีหนังสือว่าออกมาให้คิดหาตั้งเป็นเจ้าเมืองขึ้นให้จงได้ จะหาคนมั่งคั่งไม่ได้ จะได้แต่คนอะไร ๆ พอจะตั้งขึ้นได้ก็ตั้งขึ้นเสีย จึงจะเป็นที่ไว้วางใจได้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถามนายฤทธิดูก็ว่าตนกูอนุมก็ดีอยู่พอจะเป็นได้ รับสั่งว่า ใคร ๆ ก็เอาเถิด สุดแต่คิดตั้งขึ้นให้จงได้นั่นแหละดี ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ รับสั่งว่า ไหนหนังสือที่เหลืออยู่เมื่อเพลาเช้าเอามาว่าต่อไปเสียให้หมด หลวงสุรินทามาตย์อ่านถวายไปถึงที่ข้อว่า ขุนสารวัดกำหนดไว้ว่าจะมาให้ถึงตามกำหนดแล้วมาไม่ถึงนั้น ทรงพระสรวลตรัสว่า เออ เมื่อออกมาไม่ถึงตามกำหนดจะให้ทำอย่างไรเล่า ครั้นอ่านจบแล้ว รับสั่งว่า ดูจดหมายเอากำหนดวันคืนไว้ตามหนังสือ ว่าคนนั้นมาเท่านั้นเท่านี้จึงถึงเก็บไว้ให้ดี จะไปมาราชการไปข้างหน้าจะได้เอาเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป แล้วพระยาเทพกราบทูลถวายร่างหนังสือตอบครัว แลว่าด้วยชำระฝิ่นซึ่งโปรดให้มีออกมา ครั้นอ่านถวายไปถึงความปลายที่ว่า ถ้าพระยาสงขลาไม่ชำระฝิ่นเสียให้เสร็จสิ้น ยังมีคนสูบฝิ่นอยู่แล้ว อย่าว่าจะสู้รบกับแขกเลย จะสู้แต่อะไรก็ไม่ได้ ให้เจ้าพระยายมราช ท้าวพระกรุณา บอกพระยาสงขลาเสียว่าถ้าไม่ชำระฝิ่นเสียให้เสร็จสิ้นแล้ว ก็อย่าให้กลับเข้าไปเฝ้าทูลละอองฯ ต่อไปเลย จบลงนั้น รับสั่งว่า ว่าอะไรสั้นไปเสียอย่างนั้น แล้วทรงพระสรวลตรัสว่า เห็นเจ้าพระยาพระคลังจะแกล้งว่ากระทบออกมา รับสั่งว่า ดูว่าเติมลงเสียให้ดี ว่าพระยาสงขลาหาเอาใจใส่ช่วยชำระฝิ่นไม่ นิ่งเสียให้มันพากันหนีไปเสียได้ ถ้าพระยาสงขลาไม่ชำระฝิ่นให้เสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้บอกพระยาสงขลาว่า อย่าไปเฝ้าทูลละอองฯ ต่อไปอีกเลย ครั้นพระยาไกรแก้หนังสืออ่านถวายจบลง รับสั่งว่า ดีแล้ว เอาส่งให้ออกมาเถิด ๚
๏ ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้น ๑๔ ค่ำ หาได้ทรงพระราชดำริราชการเมืองไทรเมืองกลันตันไม่ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒขึ้น ๑๕ ค่ำ เพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างหนังสือซึ่งจะตอบ ให้ขุนฤทธิรณไกรถือออกมา ครั้นอ่านถวายไปถึงที่ข้อดำเนินรับสั่งว่า เจ้าพระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์ จะเร่งคิดจัดแจงให้เรียบร้อยแล้วจะกลับเข้าไป ณ กรุงฯ ให้ทันในฤดูลมนั้น ถ้าการยังหาสู้เรียบร้อยดีไม่ ควรจะจัดให้ผู้ใดอยู่จัดแจงได้ ก็ให้อยู่จัดแจงต่อไป จบลงนั้นรับสั่งว่า ความยังสั้นอยู่ หาสู้ละเอียดดีไม่ บอกเข้าไปว่ากล่าวละเอียดลออเป็นนักเป็นหนา ดูว่าที่ตรงความจะคิดตั้งเมืองไทรลงอีกให้หลายอย่างให้มากจึงจะได้ ด้วยการสำคัญอยู่ ทรงคิดแล้วกลัวไปทีเดียว ดูคิดว่าหนังสือออกมาให้ดีว่า ต้องคิดจัดแจงตั้งเมืองไทรเสียให้เป็นที่ไว้วางใจได้ก่อน จะตั้งเป็นแต่นายมุเกมไว้อย่างนั้น ผิดด้วยตำราสุภาษิต หามีอย่างมาแต่ก่อนไม่ จะตั้งบ้านตั้งเมืองไม่มีใครเป็นเจ้าเมืองผู้ใหญ่บ้านแล้ว จะเป็นบ้านเป็นเมืองไปอย่างไรได้ ซึ่งจะคอยให้นายมุเกมทุกมุเกมหาคนที่อยู่ในแดนอังกฤษกลับมาใส่มุเกม ให้ใด้มุเกมละสี่พันห้าพันนั้น กว่าจะได้มาก็พออายุล่วงไปก่อนกาลเสียอีก แลแขกที่หลบหนีไปนั้นก็อยู่ตามแปไหรใกล้จ่อร่อคันอยู่เท่านั้น คิดผ่อนผู้คนเข้ามาให้อยู่มากน้อยประการใด มันก็คงรู้อยู่หมด มันจะเชื่อถือนายมุเกมเข้ามาหา มันก็คงกลัวว่าจะตั้งคอยกวาดต้อนเอามัน มันจะมาหาที่ไหน ด้วยไม่มีผู้ใหญ่เป็นภาคภูมิเหมือนแต่ก่อน แลพระยาไทรบุตรหลานทั้งปวงนั้นก็อยู่ในแดนอังกฤษสิ้น มันรู้ว่าไม่มีผู้ใหญ่ตั้งเป็นเจ้าบ้านเจ้าเมือง มีแต่นายมุเกม ๆ อยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นทีโอกาสกับมัน มันจะให้อังกฤษเข้ามาว่ากล่าวขอตั้งอยู่เป็นบ้านเป็นเมือง ยอมถวายดอกไม้ทองเงินเข้าอย่างนี้ จะว่ากระไร จะมิเสียทีเป็นโอกาสให้มันสวมเอาแผ่นดินเมืองไทรไปเปล่า ๆ หรือ ถ้ามันคิดได้เมืองไทรแล้ว หัวเมืองข้างแถบปากใต้ก็จะสะเทือนไหวไปสิ้น จะพากันเป็นสุขที่ไหน มันก็คงจะคิดตีเอาบ้านเอาเมืองไปหมดทุกบ้านทุกเมืองนั่นเอง ด้วยพระยาไทรบุตรหลานทั้งปวงมันยังอยู่ ถ้าคิดทำให้เป็นอย่างนี้ไปได้ เหมือนกับหักไฟหัวลมทีเดียว การอย่างนี้ก็เป็นของแม่ทัพนายกองทั้งสิ้น ถ้าจัดแจงดีก็เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศ ถ้าการเป็นไปได้แล้ว ก็อายเขาเล่นเปล่า ๆ เจ้าพระยาพระคลังว่าขู่ออกมาสักหน่อยเถิด ว่าจัดแจงอย่างนี้เหตุการณ์เกิดไปข้างหน้าแล้ว กองทัพใหญ่สำรับนี้ก็ต้องโปรดให้ออกมาแก้ไข จะให้ใครออกมาแก้ไขได้ ถ้านายทัพนายกองทั้งปวงต้องกลับออกมาอีกแล้ว กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้นั่นเอง ว่ากระไรพระยาราชสุภาวดี พระยาราชสุภาวดีกราบทูลว่า ควรด้วยเกล้าฯ อยู่แล้ว แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า การก็เป็นหน้าที่กลาโหมอยู่ ดูจัดแจงว่ากล่าวออกมาให้ดี ให้พิสดารไปให้มาก ให้เห็นดีด้วยกัน ถ้าไม่เห็นด้วย ถือเสียว่าหนังสือออกมาอย่างไรก็จะทำอย่างนั้น ลงอย่างนี้แล้วสิเสียการเสียงานทีเดียว ถ้าเกิดเหตุการณ์ไปข้างหน้าแล้วจะพ้นเจ้าพระยาพระคลังที่ไหน ก็คงจะต้องออกมาจัดแจงปราบปรามต่อไป เป็นกระไรอยู่หนอ จะไม่เห็นการเหมือนอย่างนี้บ้างเลยหรือ ทรงฟังหนังสือบอกดูเป็นเชื่อถือพระยาสงขลา พระยาไทรไปเสีย ทำนองจะกวาดต้อนคนเมืองไทรทิ้งแผ่นดินมาเสียทีเดียว ว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง เป็นอย่างนี้หรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ทำนองจะกวาดมาเสียให้สิ้น ด้วยเดิมเมื่อแรกจะออกมาก็คิดอยู่แล้วว่าจะกวาดต้อนเข้ามา เห็นจะคิดกวาดเข้ามาเสียหมด ทรงตรัสว่า ทำไมอย่างนั้น หนังสือก็มีว่าออกมาแล้วว่าจะตั้งเมืองไทร จะมาเห็นแก่ทำให้เป็นผลประโยชน์ในหลวง แลเป็นบำเหน็จมือทแกล้วทหารนั้น ก็เห็นจะเชื่อคำพระยาสงขลา, พระยาไทรว่า ที่เมืองไทรไม่เป็นผลประโยชน์อะไรแล้ว กองทัพยกออกมาก็เสียข้าวของหลวงมาก จะกวาดต้อนเข้ามาให้คุ้มค่าของหลวง แลบำเหน็จมือทแกล้วทหารนั่นเอง ที่เมืองไทรนั้นจะมีผลประโยชน์หรือไม่มีประการใดก็รู้อยู่ด้วยกันแต่ก่อนแล้ว ครั้งเจ้าพระยานครฯ ยกไปตีเมืองไทรแต่ก่อนนั้น ก็เพราะจะเอาประโยชน์ให้มาก บ้านเมืองข้างปากใต้จึงยับเยินต่อมาจนทุกวันนี้ ทำอย่างไรหนอ จะหาใครที่รู้พูดการงานให้ถือหนังสือออกมาสักคน ๑ ก็ไม่ใคร่จะมีใครเอาเลย ว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง ได้ให้ออกมาสักคน ๑ เห็นจะดี เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ต้องรับพระราชทานให้ผู้ใหญ่ออกมาด้วยสักคน ๑ รับสั่งว่า เอาพระนรินทร์หรือใครให้ออกมาเถิด จะออกมาทันหรือไม่ทันอย่างไร หน่อยจะกลับเข้าไปออกมาไม่ทันดอกกระมัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ที่จะออกมาไม่ทันจะกลับเข้าไปนั้น ยังไม่กลับเข้าไปหามิได้ จะคอยฟังเรือขุนฤทธิรณไกรกลับออกมาก่อน ได้สั่งขุนฤทธิรณไกรเข้าไปว่า ให้กลับออกมาถึงในเดือนนี้ รับสั่งว่า อย่างนั้นก็ดูเร่งทำหนังสือว่าอย่างไรๆ ลงอีกให้มากให้ออกมาเถิด สุดแต่คิดว่าออกมาให้ตั้งเมืองไทรลงได้นั่นแหละ ๚
๏ ครั้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒแรมค่ำ ๑ เพลาเช้า รับสั่งสั่งพระยาเทพว่า ทรงคิดดูก็หลายอย่างนักหนาแล้ว จะให้ใครออกมาก็จะเป็น ๒ สาย ๓ สายไป บอกเจ้าพระยาพระคลังให้เลิกเสียเถิด อย่าจัดหาให้ใครออกมาเลย ใหคิดทำแต่หนังสือว่าออกมาให้ดีเถิด ว่าซึ่งคิดจะตั้งเป็นนายมุเกมไว้ที่เมืองไทรทุกมุเกม จะทำให้เหมือนอย่างเมืองตานีนั้นความไม่เหมือนกัน ด้วยเมืองไทรเป็นเมืองใกล้กับเมืองเกาะหมาก เป็นเมืองล่อแหลมอยู่ บุตรหลานพระยาไทรก็อยู่ในเขตแดนอังกฤษ มันก็คิดอยากจะมาอยู่ทุกวัน ถ้าทำให้เสียทีมีโอกาสกับมันแล้ว มันก็จะคิดกับอังกฤษ ให้อังกฤษเป็นนายหน้าเข้ามาว่ากล่าวสวมเอาเมืองไทรหลุดลอยไปเสีย สุดแต่คิดจัดแจงว่าออกมาให้ตั้งเมืองไทรจงได้นั้นเถิด ๚
๏ ครั้นเพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างหนังสือซึ่งตอบให้ขุนฤทธิรณไกรถือออกมา ครั้นหมื่นนราอ่านถวายไปถึงที่ข้อว่า พระวิชิตสรไกรสูบฝิ่นมานาน จะทรมานให้หายโดยเร็วไม่ได้ เห็นจะนานหายนั้น รับสั่งว่า เติมว่าลงอีกสักหน่อยเถิด ว่ากระทบไปถึงพระยาพัทลุง พระยาสงขลาไปให้หมดนั่นแหละ ว่าลงว่าขึ้นชื่อว่าเป็นคนสูบฝิ่นแล้ว จะโปรดชุบเลี้ยงเป็นเจ้าบ้านภารเมืองไม่ได้ อย่าว่าแต่เป็นถึงเจ้าบ้านภารเมืองเลย จะเป็นแต่ขุนนางก็ไม่ได้ ครั้นแก้หนังสืออ่านถวายแล้ว อ่านต่อไปถึงที่ข้อว่าไม่คิดตั้งเป็นเมือง จะตั้งแต่เป็นมุเกมไว้ ให้เป็นโอกาสอังกฤษ จะคิดเป็นนายหน้าเข้ามาว่าขอตั้งบ้านตั้งเมืองจะว่ากระไรนั้น รับสั่งว่า ความข้อนี้สั้นนัก ว่าลงว่า อังกฤษจะคิดเป็นนายหน้าให้เข้ามาว่ากล่าว จะว่ากระไรไปกับเขา จะให้เขาหรือ แผ่นดินเมืองไทรจะมิเป็นของเขาไปเสียหรือ จะไม่ให้เขาหรือ ถ้าไม่ให้เขา ๆ ก็จะเอากระนั้นนั่นแหละ จะไปตีสู้รบเขาหรือ ถ้าไม่ตีสู้รบกับเขา มันก็จะกำเริบใจคิดตีเอาเมืองถลาง เมืองพังงา เมืองตะกั่วทุ่งต่อไป ผู้คนจะมิพากันแตกตื่นนับถือมันไปเสียหมดทุกบ้านทุกเมืองหรือ ว่ากระไรพระยาราชสุภาวดี ว่าอย่างนี้ผิดไปหรือ พระยาราชสุภาวดีกราบทูลว่า กระแสพระราชดำริเป็นปรึกษาไว้ออกมาทั้งนั้น ควรด้วยเกล้าฯ อยู่ รับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า ว่าใส่ลงหารือออกมาให้เป็น ๒ หรือ ๓ อย่างนั้นนั่นแหละ ครั้นแก้หนังสืออ่านถวายแล้ว อ่านไปถึงที่ข้อว่า ถ้าตั้งเมืองไทรขึ้นไว้แล้ว แขกอังกฤษจะคิดกันให้เป็นนายหน้าเข้ามาว่ากล่าวก็หามีโอกาสจะว่าได้ไม่ ด้วยเราจัดแจงตั้งแต่งเป็นบ้านเมืองไว้แล้วนั้น รับสั่งว่าให้พิสดารไปอีกหน่อย ว่าลงว่า เราตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองของเรามีเจ้าของไว้แล้ว อังกฤษจะเป็นนายหน้าเข้ามาว่ากล่าวเอาของเขาอย่างนี้จะว่าอย่างไรได้เต็มปาก มันจะไม่ละอายแก่ผีสางเทวดาเขาบ้างหรือ เราบ้างเขาบ้างก็เอาเถิด ของเขามีเจ้าของจะมาว่ากล่าวชิงเอาไปอย่างนั้นว่าได้อยู่หรือ ถ้าว่าอย่างนั้นเหมือนอย่างเมืองเชียงใหม่กระนี้ผู้คนก็มีมาก เป็นเมืองจันตประเทศ[๕]ขึ้นอยู่อย่างนั้น ไปมาแต่จะคุ้มค่าของๆ เราก็ไม่ได้ ถ้าเราไม่คิดละอายแก่ผีสางเทวดาอยู่แล้ว ชวนกันขึ้นไปทุบกวาดต้อนเอาประเดี๋ยวหนึ่งก็จะได้ นี่เราตั้งของเราไว้อย่างนี้ไม่เป็นที่มีโอกาสแล้ว จะหาอาจกล้าคิดเข้ามาว่ากล่าวสวมเอาไม่ ว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง พระยาราชสุภาวดี พระยามหาอำมาตย์ ๆ กราบทูลว่า คิดตั้งเป็นเมืองขึ้นไว้แล้วที่จะกล้าเข้ามาว่าขอตั้งนั้นไม่เป็นหามิได้ ควรด้วยเกล้าฯ อยู่แล้ว รับสั่งว่า มันจะเข้ามาว่าอย่างไร มันก็คงละอายอยู่บ้างนั่นแหละ ดูว่าลงให้ความแจ่มไปอีกหน่อยเถิด ครั้นแก้หนังสืออ่านถวายแล้วอ่านไปถึงที่ข้อว่า คิดจัดแจงตั้งเมืองไทรจะเอาตนกูอนุมเป็นได้หรือ หรือจะจัดหาเอาใครก็ให้จัดแจงตั้งขึ้นเสียให้จงได้นั้น รับสั่งว่า เติมความกันคนยุลงเสียสักหน่อยเถิด ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อถือพระยาสงขลา พระยาไทรนั่นเอง ว่าลงว่า ขอเสียเถิด การซึ่งจะคิดว่าที่เมืองไทรนั้น ถึงจะตั้งขึ้น แขกอังกฤษก็คงจะคิดสวมเอาบ้านเมืองไปวันหนึ่งนั้นอย่าว่าเลย ตั้งไม่ตั้งมันก็คงจะคิดสวมเอาวันหนึ่งนั่นแหละ ว่ากันตัดความใส่ลงออกมาอีกอย่างนี้สักหน่อยเถิด ครั้นแก้หนังสืออ่านถวายแล้ว อ่านไปถึงที่ข้อว่า จะให้พระวิชิตสรไกรเข้าไปหาคนรวบรวมตั้งอยู่ที่กรูดนั้น เห็นเป็นคนไม่ได้ราชการโหยกเหยกอยู่แล้ว ก็ให้เข้ามาอยู่เสียข้างในนั่นเอง มันจะมาหาผู้คนอะไรที่ไหนได้กับคนสูบฝิ่นอย่างนี้ ว่าเติมความลงอีกว่า คนสูบฝิ่นแล้วหาพอพระทัยจะทรงฟังชื่อเสียงให้เข้าพระกรรณเลย ครั้นแก้หนังสืออ่านถวายจบลงแล้ว รับสั่งว่า อ่านกลับขึ้นมาอีกสักทีหนึ่ง ครั้นอ่านถวายขึ้นแล้ว รับสั่งให้แทรกเติมอักษรลงอีกเล็กน้อย แห่งละตัวสองตัว หาได้ทรงเติมความอีกประการใดไม่ ครั้นจบลงแล้ว ทรงตรัสว่า ดีแล้ว เป็นกระไรเจ้าพระยาพระคลัง พระยาราชสุภาวดี ฟังดูค่อยละเอียดแจ่มความชัดออกมาอีกหรือไม่ เจ้าคุณหาบน พระยาราชสุภาวดี กราบทูลว่าแจ่มความออกมาก ทรงพระสรวลตรัสว่า ว่าเถียงออกมาให้แจ่มอย่างนี้จะได้คิดการเห็นความต้องกัน แล้วทรงตรัสว่า ตนกูอสันนั้นจะคิดเกลี้ยกล่อมเอามันมาไว้ด้วยก็เป็นไร เกลี้ยกล่อมมันมาไว้ใส่บ้านใส่เมืองได้เห็นจะดี มันมาแล้วมันจะมาแต่คนเดียวที่ไหน มันก็คงตามกันมาหลายคน แต่อย่าคิดว่าเอาที่เจ้าเมืองไปเกลี้ยกล่อม ว่าเกลี้ยกล่อมตามความไปกระนั้นนั่นแหละ ทำไมกับจะเปลืองกระดาษดินสอเท่านั้น เขียนลองไปให้มันดูเห็นจะดี ถ้ามันเข้ามาอยู่เมืองไทรได้แล้ว นานไปจน ๙ เดือน ๑๐ เดือนปีหนึ่ง โดยว่าเจ้าเมืองไทรของเราซึ่งตั้งไว้จะไม่ดีประการใด จะคิดเอาตนกูอสันขึ้นตั้งแทนก็จะได้ ว่ากระไรพระยาราชสุภาวดี ดีกว่าที่ไม่เกลี้ยกล่อมหรือไม่ พระยาราชสุภาวดี กราบทูลว่า ดีกว่าไม่เกลี้ยกล่อม ถ้าตนกูอสันเข้ามาแล้วก็คงจะได้คนมาใส่บ้านใส่เมืองมาก แล้วทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า เป็นกระไร จะคิดเกลี้ยกล่อมมันจะมาหรือไม่มา เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถ้าเอาที่เจ้าเมืองไปว่าเกลี้ยกล่อมแล้วเห็นคงจะมา รับสั่งว่า อย่าเอาที่เจ้าเมืองไปว่าเลย ว่าเกลี้ยกล่อมมันไปกระนั้นนั่นแหละ แต่ก่อนก็รังเกียจเจ้าพระยานครฯ อยู่จึงไม่มา เดี๋ยวนี้เจ้าพระยานครฯ ก็หาบุญไม่แล้ว เห็นจะสิ้นรังเกียจลงเข้ามาดอกกระมัง แก้ความว่าออกมาอย่างนี้เถิด ครั้นแก้หนังสืออ่านถวายจบลงแล้ว รับสั่งว่า อ่านทวนมาแต่ต้นอีกทีเถิด ว่ากล่าวออกมาก็ชัดความแจ่มอยู่นักหนาแล้ว เจ้าพระยาพระคลังจะจดหมายว่ากระไรกันออกมาบ้างก็จดหมายออกมาเถิด อย่าจดหมายมากมายไปเลย จดหมายออกมาสัก ๒ ตัว ๓ ตัวว่าให้หาแขกตั้งเมืองไทรขึ้นเสียให้จงได้ๆ เท่านั้นก็แล้วเถิด ครั้นอ่านร่างหนังสือจบลงแล้ว ทรงพระสรวลตรัสว่า ทรงฟังอร่อยดีแล้ว เอาเถิด ส่งให้มันถือเร่งออกมาเร็ว ๆ จะจดหมายออกมาอย่างไรก็จดหมายส่งให้มันออกมาเถิด เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จะว่าความอะไรอีกก็ไม่มีความหามิได้แล้ว ในหนังสือก็ว่ามากหมดความอยู่สิ้น ทรงพระสรวลตรัสถามว่า เรือมัจฉาณุล่องไปแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ล่องลงไปแต่เพลากลางวันวานนี้แล้ว รับสั่งว่า เห็นจะยังไม่ใช้ใบออกมาดอก พระยาโชฎึกก็ลงไปจัดแจงส่งอยู่ที่ปากน้ำ ให้เขียนหนังสือฝากเรือมัจฉาณุออกมาด้วย กับเรือขุนฤทธิรณไกรถือออกมาให้เป็นสองฉบับเถิด ลำไรออกมาถึงก่อนจะได้รู้การโดยเร็ว ดูให้ใครลงไปห้ามไว้ ให้คอยรับเอาหนังสือก่อนจึงออกมา ซึ่งคิดจะให้ใครถือหนังสือออกมาพูดชี้แจงด้วยนั้นก็เลิกเสียเถิด อย่าให้ออกมาเลย มีแต่หนังสือให้ออกมาเถิด ๚
๏ แลทรงแก้หนังสือทรงตรัสในเพลาค่ำวันนั้นอยู่จนเพลา ๘ ทุ่มเศษจึงเสด็จขึ้น แลเรือครัวซึ่งส่งเข้าไปนั้น เข้าไปถึงแล้วเก่าใหม่ ๗ ลำ เป็นคนตายเสียกลางทาง ๔๕ คน คงรับไว้ อยู่อาสาจาม ๔๐๒ คน อยู่โรงไหม ๒๑๔ คน อยู่สังฆทาน ๑๗ คน เข้ากันคงรับไว้ ๖๓๓ คน เข้ากันทั้งตายกลางทางเป็นครัวถึงแล้ว ๗ ลำ คน ๖๗๘ คน แลกระแสพระราชดำริซึ่งโปรดให้มีหนังสือออกมานั้น ข้อความประการใดก็แจ้งมาในหนังสือซึ่งขุนศรีสาคเรศ ขุนฤทธิรณไกรถือออกมาทั้งสองฉบับนั้นแล้ว ๚
๏ กระแสพระราชดำริกับข้อความซึ่งข้าพเจ้ารับพระราชทานจดหมายออกมานี้เป็นการเร็ว ด้วยรีบจะให้ทราบการตามได้รับพระราชทานฟัง เข้ากันแต่ได้จดหมายฝากออกมาแล้วเก่าใหม่ทั้งครั้งนี้เป็น ๑๔ ครั้ง ข้อความจะขาดผิดเพี้ยนควรมิควรประการใด รับพระราชทานพระเดชพระคุณสุดแล้วแต่จะโปรด จดหมายมา ณ วัน ๑ เดือน ๘ ทุติยาสาฒ แรม ๒ ค่ำ ปีกุนเอกศก (จุลศักราช ๑๒๐๑ พ.ศ. ๒๓๘๒) ๚
[๑] คือท่านผู้หญิงอิน ภรรยาเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เป็นผู้ซึ่งทรงยกย่องมากคน ๑
[๒] เก็บไปจนตราตำแหน่ง รูปหนุมานถือธง เมื่อทรงตั้งพระเสนหามนตรีเป็นพระยานครฯ พระยาพัทลุงไม่คืนตราให้ ต้องจำลองใหม่ ได้กลับคืนไปต่อเมื่อถึงอสัญกรรมแล้ว เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เคยให้ข้าพเจ้าดูทั้ง ๒ ดวง
[๓] หลวงสวัสดิวารี (เจ๊สัวฉิม) ภายหลังเป็นพระยาในนามเดิม
[๔] เจ้าจอมมารดากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เป็นพี่ต่างมารดากับเจ้าพระยาพระคลัง
[๕] เมืองปัจจันตประเทศ = เมืองปลายแดน