จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๖

๏ ข้าพเจ้าหลวงอุดมสมบัติ จดหมายมายังหลวงทิพอักษรเสมียนตรา ได้นำขึ้นกราบเรียนแต่ท้าวพระกรุณาเจ้าให้ทราบ ด้วย ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ข้าพเจ้าได้จดหมายออกมากับหมื่นจงสรสิทธิ ตำรวจนอกขวา กับขุนพิทักษ์สงคราม กรมการสงขลา ฉบับ ๑ เข้ากันเก่าใหม่ ทั้งฝากจมื่นอินทรเสนา ฝากรองศุภมาตราเพชรบุรี ฝากขุนฤทธิรณไกรญวนออกมาเป็น ๔ ฉบับ[๑] แจ้งอยู่แต่ก่อนนั้นแล้ว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ หาได้ทรงตรัสราชการเมืองไทรไม่ ทรงตรัสไปด้วยเรื่องชำระฝิ่น โปรดให้เจ้าคุณหาบนเป็นแม่กองชำระอยู่ที่ทิมสงฆ์ ได้ตัวฝิ่นรายหลวงบำรุงซึ่งซื้อมาจากกำปั่น ๓๕ ปักนั้นมาส่งได้ ๗ ปัก หลวงบำรุงให้จีนเหลียนเที่ยวขายอยู่ตามท้องทะเล ๒๒ ปัก โปรดให้ขุนญาณติดตามอยู่ ยังค้างขุนบำรุงเร่งอยู่ ๖ ปัก กับเจ้าภาษีทั้งปวงได้เอาฝิ่นมาลุแก่โทษเสมออยู่ทุกวัน แต่ที่เมืองฉะเชิงเทรา เมืองนครนายก เมืองปจิม เมืองชลบุรี เมืองละมุง เมืองระยองนั้น โปรดให้พระยามหาอำมาตย์ พระยาวิสูตร[๒]ออกไปชำระที่เมืองสาครบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองนครไชยศรีนั้น เจ้าพระยาพลเทพ พระมหาเทพ ออกไปชำระ ที่เมืองชุมพรนั้น จมื่นราชามาตย์[๓] หลวงเทพเสนี ออกมาชำระ แต่ที่เมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองพังงานั้น มีหนังสือออกมาให้พระยาไชยาชำระ แต่ได้ตัวฝิ่นส่งแล้วทั้งในกรุงฯ ทั้งหัวเมือง เข้ากันเก่าใหม่ เป็นฝิ่น ๗๒ ปักเศษ โปรดให้ตั้งเตาเก็บเอาฝิ่นออกเผาเสียที่ทุ่งพระเมรุ ณ วันเดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง ทิ้งเป็นฉลากชื่อจีนเจ๊สัวซึ่งขายฝิ่นบ้างซึ่งซื้อฝิ่นบ้าง เป็นเงินปลีก ๑๐ ตำลึงบ้าง พระราชทานให้ตามฉลากชื่อจีนเจ๊สัว หลวงบำรุงตำลีง ๑ ขุนญาณ ๒ บาท จางวางหลง ๒ บาท แล้วโปรดให้เจ้าพนักงานกรมท่าคอยค้นฝิ่นดูเรือใหญ่เรือน้อยของเจ้าภาษีทั้งปวงซึ่งเข้าไป ณ กรุงฯ แต่กำปั่นฝรั่งกำปั่นแขกนั้นโปรดให้ยกไว้ ครั้นจะโปรดให้ค้นถ้าได้ฝิ่นก็จะดี ถ้าไม่ได้ฝิ่นจะเสียท่วงทีอายแก่แขกแก่ฝรั่งด้วยเป็นเรือมาแต่นานาประเทศ ให้คอยจับเอาเมื่อซื้อขาย ถ้าจับได้เมื่อซื้อขายแล้วให้เอาฝิ่นเผาเสียตามหนังสือสัญญา แล้วให้ชำระเอาตัวเจ้าภาษีทั้งปวงมาสาบานเสีย อย่าให้คิดซื้อฝิ่นขายฝิ่นต่อไป แลรู้ว่าผู้ใดซื้อผู้ใดขาย ก็ให้มาบอกกับกองชำระโดยสัตย์โดยจริง มิให้ปิดบังไว้ แล้วให้คิดจัดเจ้าภาษีทั้งปวงคอยช่วยระวังดูแลไว้ให้เป็นหน้าที่กัน ผู้ใดจะรับข้างเมืองฉะเชิงเทรา ข้างปากน้ำเจ้าพระยา ข้างเมืองสมุทรสงคราม ก็ให้จัดขึ้นเป็นหมู่เป็นพวกเป็นหน้าที่ไว้ ถ้ามีเหตุการณ์ขึ้นหน้าที่ผู้ใดจะได้ชำระเอาตัวคนซื้อฝิ่นขายฝิ่นโดยง่าย แลการโปรดให้ชำระฝิ่นครั้งนี้ชำระกวดขันอยู่ ทรงตรัสไล่เลียงไถ่ถามอยู่เสมอทุกวัน ว่าข้างเมืองสงขลานั้นก็โปรดให้มีหนังสือออกมาชำระแล้ว แต่เมืองนครฯ นั้นเห็นจะหามีใครซื้อฝิ่นขายฝิ่นเหมือนเมืองสงขลาไม่ อย่างไรๆ ก็คิดชำระเก็บเอาฝิ่นส่งเข้าไปเสียให้หมด อย่าให้มีขึ้นต่อไปได้นั่นแหละดี ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ท้าวพระกรุณามีหนังสือบอกให้หมื่นนิกรญวนเมืองจันทบุรีถือเข้ามาถึงฉบับ ๑ ใจความว่า เมื่อท้าวพระกรุณายกออกมาถึงทอดเรืออยู่ที่เกาะนางประสงค์[๔]นั้น ให้ขึ้นไปหาตัวปลัดเมืองไชยาลงมา ให้จัดเอาเรือนำออกมาส่งด้วย ปลัดเมืองไชยาก็หาลงมาไม่ ทอดเรือคอยช้าอยู่ถึง ๓ วัน ๔ วัน ปลัดเมืองไชยาก็ไม่ลงมา ต้องให้หลวงทิพอักษรเสมียนตรา ขึ้นไปหาตัวปลัดเมืองไชยาจึงลงมา ได้เรือน้ำออกมาส่ง ที่เมืองท่าทองนั้นให้พระปราณขึ้นไปหาตัวหลวงไชยปัญญาลงมา ให้จัดเอาเรือน้ำมาส่ง หลวงไชยปัญญาก็หาลงมาไม่ เรือน้ำก็ไม่จัดส่งออกมา แต่ทอดเรือคอยช้าอยู่ถึง ๔ วัน ๕ วัน น้ำก็น้อยลงทุกที ต้องรับพระราชทานเอาน้ำออกเฉลี่ยให้แจกจ่ายกันกิน ผู้คนในลำเรือได้ความลำบากป่วยเจ็บลงก็ ๒ คน ๓ คน กับส่งต้นหนังสือซึ่งมีไปถึงเจ้าพระยานครฯ ฉบับ ๑ มีไปถึงพระยาไชยาฉบับ ๑ เข้ามาด้วย ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ทำไมอ้ายเหล่านี้มันจึงโหยกเหยกไปเสียอย่างนี้ มันจะไม่เอาแก้วเอาการแล้วหรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เมื่อครั้งเจ้าคุณหาบนออกมา[๕]ก็เป็นเหมือนกันอย่างเช่นนี้ จะเรียกหาตัวเรียกเอาอะไรก็ไม่ใคร่ได้ ไม่ใคร่มาหามิได้ ทรงตรัสว่า ทำไมกระนั้น ทำนองมันจะกลัวหลบหลีกไปรีรอเสียหรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ทำนองจะกลัวหลบหลีกไปเสีย ไม่ใคร่มาหามิได้ รับสั่งว่า อ้ายบ่าวไพร่เจ้าพระยานครฯ แล้วมันสุดใจนักหนาทีเดียว มันฟังก็แต่คำนายมันเท่านั้น ถ้านายไม่บอกไม่สั่งไว้แล้วมันไม่ทำไม่พูดเอาเลย มันกลัวอยู่ก็แต่นายของมันคนเดียว แล้วทรงตรัสถามว่า พระยาศรีพิพัฒน์อยู่เย็นเป็นสุขดีอยู่ดอกหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าอยู่ดีอยู่ รับสั่งว่า ปานนี้ก็จะขึ้นบกขึ้นฝั่งไปนอนอยู่ที่สงขลาสบายเสียแล้ว ๆ รับสั่งว่า เอาหนังสือมาอ่านไปเถิด แลเมื่อหมื่นนราอ่านหนังสือบอกถวายนั้น ทรงนิ่งฟังไปจนจบ หาได้ทรงตรัสประการใดไม่ ครั้นอ่านหนังสือบอกจบแล้ว ทรงตรัสว่าได้ตัวปลัดเมืองไชยาลงมาถึงเรือแล้ว ทำไมไม่เฆี่ยนมันเสียสัก ๑๐ ที ๒๐ ทีเล่า มันลงมาถึงเรือแล้วก็หายโกรธเสียเท่านั้นกันเอง แล้วอ่านต้นหนังสือซึ่งท้าวพระกรุณามีไปถึงพระไชยานั้น ถวายจบลง ทรงตรัสว่า ปานนี้อ้ายแขกมันก็พากันไปเสียหมด กองทัพพระยาไทรเขาก็เข้าไปอยู่ในเมืองไทรได้เสียแล้ว จะได้ไปรบไปรื้อที่ไหน แต่ซึ่งมีหนังสือว่ากล่าวไปดังนี้ดีแล้ว เป็นการไม่ประมาท ถ้ามีการมาจะได้ให้ยกลงไปช่วยกันทันท่วงที คิดให้หนังสือไปกำชับกำชาตระเตรียมไว้นั้น ก็ถูกต้องชอบด้วยราชการอยู่แล้ว แล้วอ่านหนังสือซึ่งมีไปถึงเจ้าพระยานครฯ นั้นถวายจบลง ทรงพระสรวลตรัสว่า คิดว่าจะว่าอย่างไรไป มิรู้เปล่าทีเดียว ขึ้งโกรธอยู่แล้วจะว่ากล่าว บอกกล่าวโทษหลวงไชยปัญญาไปตามโกรธบ้างอย่างไรก็ไม่ว่าเล่า กลับว่ากล่าวเป็นดีไปเสียอีก ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ก็ให้ใครถือหนังสือไปถึงเจ้าพระยานครฯ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ให้พระปราณที่เป็นหลวงชาญชลมารคอยู่ก่อนนั้นถือไป ทรงตรัสว่าเออ คิดว่าจะว่าโกรธไปอย่างไรบ้างหรือ มิรู้กลับว่าไปเสียอย่างนี้อีก ทำนองโกรธปลัดเมืองไชยาแล้ว ได้โกรธก็โกรธเลยไปกระนั้นเอง หรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ว่ากล่าวบอกเข้ามานั้นทำนองโกรธเจ้าพระยานครฯ ว่าการข้างเมืองไทร เจ้าพระยานครฯ ให้ลงไปทำก็ได้เมืองไทรแล้ว ท้าวพระกรุณาออกมาจนถึงเมืองชุมพรถึงท่าทอง เจ้าพระยานครฯ จะบอกกล่าวให้รู้การบ้างก็ไม่มี การข้างเมืองสงขลาก็ยังไม่ทราบ จึงรีบเลยไม่แวะเข้าเมืองนครฯ ไปเมืองสงขลาทีเดียว ทรงพระสรวลตรัสว่าเออ จะว่าไปตามโกรธอย่างไรบ้างให้รู้ว่าโกรธสิไม่ว่าเล่า กลับให้พระปราณถือหนังสือไปเยียมเยือนเป็นดีไปได้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระปราณไปกับเรือท้าวพระกรุณา ๆ โกรธขึ้งอย่างไร พระปราณได้ยินทราบอยู่หมด พระปราณไปถึง เจ้าพระยานครฯ ก็คงจะทราบความโกรธสิ้น ทรงตรัสว่า การข้างเมืองนครฯ แล้วหาใคร่จะบอกจะเล่าอะไรให้รู้ไม่เลย จนชั้นบ่าวไพร่ก็เป็นไปด้วยกันเสียหมด ถ้านายไม่สั่งให้บอกแล้ว ให้ถามเอาเถิด ไม่พูดไม่บอกเอาเลยทีเดียว มันกลัวนายนี้สุดใจนักหนาแล้ว ๆ ทรงพระสรวลตรัสว่าเออ โกรธเขาแล้วจะว่ากระไรก็ไม่ว่า กลับไปบอกกล่าวโทษเอาว่า ให้ขี่เรือใหญ่ออกมาจะแวะขึ้นบกขึ้นฝั่งก็ไม่ได้ ผู้คนอบไอกันอยู่จนป่วยไข้ลง กลับเป็นอย่างนี้ไปเสียอีกเล่า แล้วทรงพระสรวล ทรงตรัสกับเจ้าคุณหาบนว่า ว่าไม่ได้แล้ว นานไปก็จะกล่าวโทษเจ้าพระยาพระคลังเข้าบ้าง คิดระวังตัวไว้ให้ดีเถิด แล้วทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า หายขึ้งหายโกรธเสียบ้างเถิด ออกไปถึงก็จะเป็นแต่การจะจัดแจงตั้งบ้านตั้งเมืองแลผ่อนปรนครอบครัวเท่านั้น ไปวิวาทเอาเมื่อจัดแจงการบ้านเมืองผ่อนครอบครัวนั้นเถิด การจะจัดแจงตั้งบ้านเมืองอย่างไรก็ได้สั่งเสียออกมาแล้ว สุดแต่ใจจัดแจงเอาตามสั่งออกมาแต่ก่อนให้ดี แล้วทรงตรัสว่า ขึ้นบกขึ้นฝั่งได้แล้ว ปานนี้ก็เห็นจะหายโกรธขึ้งเสียแล้ว ๆ รับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า คิดมีหนังสือว่ากล่าวออกไปเสียอีกสักทีหนึ่งเถิด ให้มากับเรือหมื่นนิกรซึ่งเข้าไปออกมาทีเดียว พวกเรือสงขลาซึ่งให้เข้าไปนั้น อย่ายึดมันไว้เลย ให้มันรีบออกมาเถิด หนังสือมีมาถึงเจ้าพระยานครฯ พระยาสงขลาอย่างไรจะได้รู้ความ คิดราชการไปพลางก่อน ครั้นจะไม่มีหนังสือให้ออกมาอีกก็จะว่าเอา หน่อยก็จะกล่าวโทษเอาเจ้าพระยาพระคลังเข้าว่าไม่จัดแจงมีหนังสือว่ากล่าวออกมา คิดจัดเอาร่างหนังสือซึ่งตอบนครฯ ครั้งก่อนใส่ลงบ้าง ว่าเติมลงใหม่บ้าง ส่งให้หมื่นนิกรมันออกมาทีเดียวเถิด ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระยากลันตัน ตนกูปสามีหนังสือบอก ฝากนายกำปั่นวิทยาคมเข้ามาถึงคนละฉบับ ใจความในหนังสือพระยากลันตันว่า ตนกูปสาบุตรพระยาบ้านทะเลให้คนมาบอกกับพระยากลันตันว่า คนขาวให้แขกไทรมาตีเอาเมืองไทรได้แล้ว พวกอ้ายแขกไทรยกมาล้อมเมืองสงขลาไว้ ข้างเมืองนครฯ พวกอ้ายแขกไทรก็ยกเข้าล้อมไว้แล้ว ว่าคนขาวเข้าไป ณ กรุงฯ วุ่นวายอยู่ กองทัพกรุงฯ ยกออกมาช่วยเมืองนครฯ เมืองสงขลาไม่ได้ ตนกูปสาจะขอทำรั้วบ้านกับคนร้ายทิ้งไฟ แล้วตนกูปสาตั้งทำค่ายขึ้นในเพลากลางคืน พระยาบาโงยกับหวันหลงมหมัด ตั้งค่ายอยู่ที่ปลายน้ำกอง ๑ บุตรตนกูสีปัตหรามหารายาตั้งค่ายอยู่ที่มุเก็ตกอง ๑ เป็น ๓ กองด้วยกัน พระยากลันตันให้ไปตั้งค่ายรับ ได้ยกเข้าตีรบสู้กัน แลหนังสือตนกูปสานั้นว่า หวันกากับไปเก็บเอาแผ่นดินที่ไรนาของตนกูปสาไป ตนกูปสาให้คนมาร้องต่อพระยากลันตัน ๆ ว่าจะชำระให้ก็หาชำระให้ไม่ แล้วว่าเมื่อเดือนยี่ อ้ายแขกพวกไทรมีหนังสือมาชักชวนพระยากลันตันให้ไปเข้าด้วย พระยากลันตันก็รับว่าจะเข้าด้วย พระยากลันตันมีหนังสือไปถึงตนกูโอ๊ะให้ไปช่วยพูดจากับคนขาว ว่าพระยากลันตันจะขอเอาคนขาวเป็นนาย ข้อความหนังสือทั้ง ๒ ฉบับแจ้งอยู่ในสำเนาซึ่งคัดส่งออกมาด้วยกับหนังสือซึ่งโปรดให้มีออกมานั้นแล้ว ครั้นกราบทูลแล้วทรงตรัสว่า เป็นเหตุด้วยเจ้าพระยานครฯ ปล่อยอ้ายพระยาบาโงยไปทีเดียว การจึงเป็นขึ้นได้ มันออกไปถึงกันเข้าแล้ว มันก็คิดชักชวนกันเป็นไปอีกนั่นเอง แล้วทรงตรัสถามว่า ลูกอ้ายตนกูสีปัตหรามหารายา ซึ่งตั้งอยู่ที่มุเก็ตนั้นพ่อมันเป็นคนอยู่ที่ไหนก่อน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เป็นบุตรพระยาสายคนเก่าบ้านอยู่ที่มุเก็ต ทรงตรัสว่า มันชักชวนกันเป็นขึ้นทั้ง ๓ กอง ๔ กองทีเดียว มันตั้งค่ายก็ตั้งขึ้นที่บ้านของมันนั่นเอง มันคิดการดูเห็นจะมากมายอยู่ ไม่พอทีเอาเลย เพราะเชื้อเจ้าพระยานครฯ ทีเดียว แต่แรกก็ไม่ไว้พระทัยอยู่แล้ว ทรงคิดจะหาให้อ้ายพระยาบาโงยออกมาไม่ คิดยึดผูกพันเอาตัวมันไว้ที่กรุงฯ เสียแล้ว การจะเป็นไปได้ที่ไหนถึงอย่างนี้ แต่ก่อนก็ได้ทรงตรัสถามเจ้าพระยานครฯ ๆ ก็รับว่าไม่เป็นไร ๆ จึงได้ให้ออกมา ครั้นให้ออกมาแล้วกลับปล่อยไป ให้มันเป็นขึ้นได้อย่างนี้ เสียทีนักหนาทีเดียว ครั้นอ่านหนังสือพระยากลันตันถวายจบแล้ว ทรงตรัสถามว่า อย่างไรมหารายาสิว่าลูกมันตั้งอยู่ที่มุเก็ตแล้ว ทำไมพระยากลันตันจึงมาปรึกษาหารือกันอยู่เป็นพวกข้างกลันตันเล่า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า มหารายาคนที่พระยากลันตันปรึกษาหารือนั้น มิใช่ตนกูสีปัตหรามหารายาที่บุตรมาตั้งค่ายอยู่ที่มุเก็ตหามิได้ มหารายาคนนี้ พระยากลันตันขอตั้งเป็นที่ตนกูวินปัตหรามหารายา ให้เป็นที่จางวางขึ้นในเมืองกลันตันครั้งนี้ ทรงตรัสว่า ทรงคิดว่าจะเป็นมหารายาที่ลูกมันตั้งค่ายอยู่ที่มุเก็ตเล่า แล้วอ่านหนังสือตนกูปสาถวายจบลง ทรงตรัสว่า มันว่ากล่าวของมันก็พิสดารอยู่ แต่หนังสือพระยากลันตันนั้น ว่ากล่าวสั้นนักหนาทีเดียว จะว่าสั่งเสียเข้ามาให้ช่วยเหลือบ้างอย่างไรก็ไม่ว่าเอาเลย เป็นกระไร ได้ไล่เลียงถามนายกำปั่นล้าต้าดูบ้างหรือไม่ ได้พูดจากับพระยากลันตัน ๆ สั่งเสียมาว่าอย่างไรบ้างหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า รับพระราชทานถามดูแล้ว ว่าพระยากลันตันหาได้สั่งเสียเข้ามาว่าอย่างไรไม่ แต่ตนกูปสามีหนังสือฝากแหวน ๒ วงเข้ามาให้ถึงหลวงโกชาอิศหาก ว่าให้หลวงโกชาอิศหากช่วยทำนุบำรุงเอาหนังสือขึ้นว่ากล่าวต่อท่านเสนาบดี ให้ได้ที่แผ่นดินไร่นาคืนมาแล้ว จะขอบบุญขอบคุณนักหนาทีเดียว ทรงตรัสว่า บ้านเมืองกลันตันวุ่นวายจนถึงอย่างนี้ จะสั่งเสียเข้ามาว่ากระไรก็ไม่ว่า นายเรือล้าต้าก็ไปพูดจากันอยู่ มันได้ยินเขาคิดรบสู้พูดจากันอย่างไรบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ยังไม่ได้ถามหามิได้ รับสั่งว่าเอาตัวมันมาไล่เลียงไถ่ถามเข้าดู มันจะรู้ความอย่างไรไปบ้าง ความในหนังสือซึ่งว่ากล่าวเขามาทั้ง ๒ ฉบับนั้น จะฟังเอาเป็นจริงแน่นอนข้างใครก็ยังหาได้ไม่ เป็นต่างคนต่างกล่าวโทษกันอยู่ จะทรงตัดสินว่ากล่าวออกมาอย่างไร ความก็ยังไม่แน่นอน หารู้ที่จะทรงตัดสินไปอย่างไรได้ไม่ จะทรงฟังให้แน่นอนเล่าทางก็ไกล จึงรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า มีหนังสือออกมาถึงพระยาศรีพิพัฒน์เถิด ให้คิดจัดแจงระงับว่ากล่าวเสียให้เรียบร้อยด้วย ออกมาอยู่ที่สงขลาก็ใกล้กันกับเมืองกลันตันอยู่แล้ว ดูไถ่ถามปรึกษาหารือกับเจ้าพระยานครฯ ช่วยกันคิดจับเอาตัวอ้ายพระยาบาโงยเสียให้จงได้ ถ้าไม่ได้ตัวมันแล้ว มันก็คงจะออกไปเมืองใหม่หาอังกฤษคิดเข้ามาทำเอาเมืองกลันตันเหมือนอย่างเมืองไทร รีบคิดตัดรอนระงับเสี้ยนหนามเสีย อย่าให้เมืองกลันตันยับเยินไปได้ แลการซึ่งวิวาทกันนั้น ก็ได้รบสู้กันจนถึงฆ่าฟันกันแล้ว อย่างธรรมเนียมข้างแขกจะคิดว่ากล่าวระงับให้คืนดีอยู่ไปด้วยกันได้อย่างไรก็ไม่ทรงทราบ ถ้าเป็นอย่างธรรมเนียมไทยทำจนถึงอย่างนี้แล้วซึ่งจะระงับให้อยู่ไปด้วยกันอีกนั้นหาได้ไม่ ถ้าอยู่ได้แล้ว การเจ้าลำดวน, เจ้าอินทปัต[๖]ครั้งนั้น จะมิโปรดชุบเลี้ยงให้อยู่หรือ ต้องทำเอาเสียให้ยับเยินเด็ดขาดไปข้างหนึ่งนั่นแหละจึงจะอยู่ไปได้ แลอ้ายตนกูปสาคนนี้ก็เป็นญาติเชื้อสายเกี่ยวพันกันกับพระยากลันตันอยู่ อย่างธรรมเนียมแขกจะระงับว่ากล่าวให้คืนดีอยู่ไปด้วยกันฉันญาติได้อย่างไร ก็สุดแต่คิดจัดแจงระงับทำเสียให้เรียบร้อยให้ดี อย่าให้มีเสี้ยนหนามให้เมืองกลันตันยับเยินต่อไปได้ แต่อ้ายพระยาบาโงยนั้นจะจัดแจงว่ากล่าวให้ปรกติอยู่ไปด้วยกันต่อไปหาได้ไม่ ให้คิดจับเอาตัวมันเสียให้จงได้ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ เพลาเช้า รับสั่งสั่งพระยาพิพัฒน์ว่า ให้บอกกับเจ้าพระยาพระคลัง ให้เอาตัวนายเรือล้าต้ากำปั่นวิทยาคมส่งให้พระยาไกรไล่เลียงไถ่ถามเอาความที่เมืองกลันตันต่อไปอีกสักหน่อยเถิด พระยากลันตันมีหนังสือเข้ามาความก็สั้นนักหนา การจะคิดมากมายรบสู้กันอย่างไร ทรงฟังก็ยังได้หาได้จริงข้างใครเป็นแน่นอนไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ แรม ๔ ค่ำ เพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างหนังสือ ซึ่งโปรดให้มีออกมาถึงท้าวพระกรุณาด้วยการเมืองกลันตันนั้น ข้อความแลกระแลพระราชดำริแจ้งอยู่ในหนังสือซึ่งโปรดให้ออกมาทุกประการแล้ว ครั้นอ่านถวายจบแล้ว รับสั่งว่าความที่ข้อว่าให้คิดจัดแจงทำอย่าให้เมืองกลันตันยับเยินต่อไปได้นั้น ขอเติมความลงอีกสักนิดหนึ่งเถิด ที่ความอื่นก็ดีอยู่หมดสิ้นแล้ว ว่าลงว่าคิดทำอย่าให้เมืองกลันตันแหลกเหลวหลุดถอนไปเป็นของผู้อื่นเสียได้ เจ้าคุณหาบนสั่งให้แก้หนังสือแล้วอ่านถวายจบลง ทรงพระสรวลตรัสว่าเออ ดีแล้ว เอาเถิด เอาส่งให้กับมันรีบออกมาโดยเร็ว จะได้รู้คิดราชการตัดรอนจับเอาตัวอ้ายพระยาบาโงยเสีย จัดแจงระงับว่ากล่าวให้แล้วทันท่วงที แล้วพระยาไกรโกษากราบทูลถวายคำให้การหลวงสุนทรวารี นายแก้วมหาดเล็ก นายเรือล้าต้ากำปั่นวิทยาคม ตามข้อความซึ่งคัดคำให้การส่งออกมาด้วย กับต้นหนังสือพระยากลันตัน หนังสือตนกูปสา แจ้งอยู่ในคำให้การนั้นแล้ว ครั้นอ่านถวายจบแล้วทรงตรัสว่า ทรงฟังดูคำให้การเห็นจะจริงของพระยากลันตันมาก พูดจากันกับนายเรือล้าต้าก็เป็นข้อเป็นงอได้เรื่องราวอยู่ แต่ข้างตนกูปสานั้น ว่ากล่าวไม่เป็นข้อเป็นงออะไรเลย เลื่อนลอยไปเสียหมด เห็นจะเปล่า ๆ ทั้งนั้น ไม่จริงเสียแล้ว คิดโกงว่ากล่าวเอากระนั้นเอง แล้วทรงตรัสถามว่า เป็นกระไร ดูทำนองพระยากลันตันกับตนกูปสาพูดจากับนายเรือล้าต้านั้น ท่วงทีใครจะนับถือต้อนรับมากกว่ากัน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า นายเรือล้าต้าไปหาพระยากลันตัน ๆ เรียกให้ขึ้นนั่งเสมอกันกับพระยากลันตัน แล้วให้เลี้ยงดูนายเรือล้าต้า พูดจาต้อนรับดูนับถือมากกว่าตนกูปสา แต่ข้างตนกูปสานั้น นายเรือล้าต้าไปหาหาได้เรียกขึ้นไปนั่งเสมอกันไม่ นายเรือล้าต้านั่งอยู่ชั้นกลาง ตนกูปสานั่งอยู่ชั้นบน แล้วไม่ได้เลี้ยงดูเหมือนพระยากลันตัน แลเมื่อนายเรือล้าต้าพูดจาอยู่กับตนกูปสานั้น ตนกูปสาถือพร้ายาวพาดตักอยู่เล่ม ๑ พูดไปพลางเอาพร้าขึ้นแกว่งดูไปพลางแล้วพาดตักไว้ แต่เมื่อนายเรือล้าต้ากลับมานั้น ตนกูปสาได้ให้ของกินมาครั้ง ๑ ทรงตรัสว่า อ้ายนี่ดูทำนองก็หาสู้นับถือไม่ ท่วงทีเห็นจะคิดโกงเสียแล้ว พูดจากับนายเรือล้าต้าเล่า ก็เอาพร้ามาถือพาดตักไว้ได้ พวกกรุงฯ ไปมาหาอย่างนี้ จะเอาพร้ามาถือพาดตักพูดจาอยู่ด้วยนั้นถูกอยู่หรือ ดูกิริยาก็พลุ่มพล่าม แล้วจะเป็นบ้าไปเสียหรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ฟังดูนายเรือล้าต้าว่า ทำนองจะเป็นคนเสียจริตพลุ่มพล่ามอยู่ หาใคร่จะปรกติไม่ จึงรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนถึงท้าวพระกรุณาว่า ให้หมื่นนิกรมันถือหนังสือรีบออกมาเถิด จะได้รู้ราชการคิดจับเอาตัวอ้ายพระยาบาโงยเสียให้ใด้ จัดแจงระงับว่ากล่าวเสียให้เรียบร้อยให้แล้วทันท่วงที ๚

๏ ณ วันเดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ แรม ๖ ค่ำ แรม ๗ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรเมืองกลันตันไม่ ทรงตรัสไปด้วยเรื่องฝิ่น พระมหาเทพบอกเข้ามาว่า มีผู้จับฝิ่นได้ที่เรือจีนเหมาที่ป่าฟืนปากน้ำสาครบุรี ซึ่งหลวงจำเริญซื้อจากเรือพาย ให้จีนเหมาคุมเข้าไป ณ กรุงฯ ๑๓ ปัก รับสั่งให้ไล่เลียงชำระถามหาเอาตัวฝิ่นต่อไปอีกอยู่ ๚

๏ แลกระแสรับสั่งซึ่งทรงตรัส ตั้งแต่ท้าวพระกรุณายกกองทัพใหญ่ออกมาจากกรุงฯ แล้วนั้น โปรดสั่งราชการมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ข้าพเจ้ารับพระราชทานฟังดู ถ้าเป็นราชการข้างแผ่นดินเมืองปากใต้มีประการใดแล้ว ก็โปรดสั่งตั้งพระทัยทรงคอยฟังอยู่ในนี้ทั้งสิ้น ข้าพเจ้าได้จดหมายฝากออกมากับหมื่นนิกรญวนเมืองจันทบุรีครั้งนี้อีกฉบับ ๑ เข้ากันฝากออกมาแต่ก่อนเป็น ๕ ฉบับ ๚

๏ กระแสพระราชดำริกับข้อความในบอกจะขาดผิดเพี้ยนประการใด ขอพระราชทานพระเดชพระคุณ ควรมิควรสุดแล้วแต่จะโปรด ๚

จดหมายมา ณ วัน ๑ เดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ ปีกุนเอกศก (จุลศักราช ๑๒๐๑ พ.ศ. ๒๓๘๒) ๚



[๑] ที่จริง ๕ ฉบับ แต่จดให้แต่ก่อนออกไปฉบับ ๑ นับแต่ที่ฝากใคร ๆ ไปจึงเปน ๔ ฉบับ

[๒] พระยาวิสูตรโกษา (อ้น ศิริวัฒนกุล)

[๓] จมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) ภายหลังเป็นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

[๔] ที่เรียกเกาะนางประสงค์ตรงนี้ สืบได้ความว่ามีแต่เขาประสงค์อยู่ตรงข้างเหนือเมืองไชยา

[๕] ออกไปเมื่อคราวตนกูเดนตีเมืองไทร

[๖] ลูกเธอกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๑

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ