๑๗๒ พระราชบัญญัติกฎหมายท้องน้ำ บุกรุก ห้ามยิงปืน แลการเที่ยวอาละวาดของพวกกลาสี

ณวันศุกร เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีวอก โทศก

ศุภมัสดุจุลศักราช ๑๒๑๙ สัปปสังวัจฉรมิคสิรมาส สุกปักษ์จตุตถีดิถีศุกรวารบริเฉทกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎสุทธสมมตเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกระษัตริย์วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ เสด็จออกณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มไหศวริยพิมาน โดยสถานอุตราภิมุข พร้อมทั้งราชวงศานุวงศ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าอยู่โดยลำดับ จึงเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดีว่าที่พระคลัง กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ทุกวันนี้เรือลูกค้าเมืองต่างประเทศเข้ามาค้าขายมาก เรือใหญ่ทอดก้าวก่ายกันไปไม่เปนอันดับกัน แลกัปตันนายเรือก็ลงเรือเล็กตีกันเชียงเที่ยวขึ้นล่องในลำแม่น้ำมิได้ขาด เกิดความขึ้นเพราะเรือโดนกัน แลความอื่นๆ เปนหลายอย่าง ขอพระราชทานพระราชบัญญัติไว้เปนกฎหมายสำหรับลำแม่น้ำฉบับหนึ่ง ถ้ามีความเกี่ยวข้องไปข้างหน้าจะได้ตัดสินตามพระราชบัญญัติซึ่งโปรดไว้ จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า แต่ก่อนมาเรือลูกค้าวานิช เข้ามาขายณกรุงเทพมหานครน้อย จึงไม่มีกฎหมายสำหรับเรือใหญ่ มีแต่ว่าด้วยเรือเล็ก ขึ้นล่องในแม่น้ำ ในกาลนี้ลูกค้าในกรุงเทพมหานคร ก็สร้างเรือใบใหญ่ๆ ขึ้นมาก เรือลูกค้าต่างประเทศก็เข้ามาค้าขายทวีมากขึ้นทุกที จนถึงในปีที่ ๗ ที่ ๘ แห่งรัชกาลปัจจุบันนี้ เรือลูกค้าต่างประเทศมาในปีหนึ่งก็นับด้วยร้อยลำขึ้นไปแล้ว ถ้อยความในท้องน้ำก็เกิดขึ้นหลายอย่างหลายประการ คนต่างประเทศก็เข้ามาอยู่มากขึ้น แลความในหนังสือสัญญาซึ่งเมืองใหญ่ต่างประเทศ ขอให้ราชทูตเข้ามาทำไว้กับกรุงเทพมหานคร ก็มีว่าบรรดาคนอยู่ในบังคับกงสุล ซึ่งเข้ามาอยู่ณกรุงเทพมหานคร ก็ต้องฟังบังคับบัญชาของกงสุลที่เข้ามาตั้งอยู่ณกรุงเทพมหานคร กงสุลจะได้ทำตามหนังสือสัญญาใหม่นี้ แลข้อหนังสือสัญญาเก่าที่มิได้ยกเสียจงทุกประการ แล้วจะได้บังคับบัญชาคนในบังคับของกงสุลให้ทำตามด้วย แลกงสุลจะรับรักษากฎหมายการค้าขายแลกฎหมายที่ห้ามปราม จะมิให้คนที่อยู่ในบังคับกงสุลทำผิดล่วงเกินกฎหมายสัญญาของอังกฤษ ของฝรั่งเศส ของอเมริกัน ของเดนมารกโปรตุคอล กับไทที่มีอยู่แล้วแลจะมีต่อไปในภายหน้า ถ้าคนอยู่ในบังคับกงสุลจะเกิดวิวาทกันขึ้นกับคนอยู่ในบังคับไท กงสุลแลเจ้าพนักงานฝ่ายไทจะปฤกษาตัดสิน ถ้าคนอยู่ในบังคับกงสุลทำผิดกงสุลจะทำโทษตามกฎหมายเมืองนั้นๆ คนอยู่ในบังคับไททำผิดไทจะทำโทษตามกฎหมายเมืองไท เพราะฉนั้นการก็ควรจะตั้งกฎหมายทางบกทางน้ำไว้สำหรับแผ่นดิน ให้ใช้ได้ด้วยกันทั้งฝ่ายไทแลคนต่างประเทศ ต่อไปข้างหน้ามีความเกี่ยวข้องจะได้ชำระว่ากล่าวง่าย จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยเรือใหญ่ ๑๐ มาตรา เรือเล็ก ๗ มาตรา แพแลโพงพางแลของลอยน้ำ ๓ มาตรา ทางบก ๔ มาตรา รวมเปน ๒๔ มาตราด้วยกัน

มาตรา ๑ เรือในกรุงเทพมหานครก็ดี เรือเมืองต่างประเทศก็ดี เรือใหญ่ก็ดี เรือลำเลียงก็ดี เข้ามาในลำแม่น้ำเจ้าพระยา แลแม่น้ำหัวเมืองใดๆ ในอาณาเขตรกรุงสยาม ถ้าเข้ามาในลำแม่น้ำเจ้าพระยาให้ทอดสมอที่ด่านเมืองสมุทปราการ ให้กัปตันนายเรือบอกชื่อกัปตันชื่อเรือว่ามาแต่เมืองนั้นๆ คนมาในเรือเท่านั้นมีสินค้าสิ่งนั้น ให้เจ้าพนักงานตรวจตราเสียก่อน ถ้ามีปืนกระสุนดินดำก็ให้กัปตันนายเรือเอาปืนกระสุนดินดำมอบให้ผู้สำเร็จราชการเมืองสมุทปราการเก็บรักษาไว้ ถ้าเรือจะล่องออกไป เรือลูกค้าเมืองต่างประเทศก็ดี เรือลูกค้าในกรุงเทพมหานครที่ใช้กัปตันต้นหนคนชาวยุโรปก็ดี ให้มาบอกกับหลวงวิสูตรสาครดิษฐหับประมาสะแตมเจ้าท่าให้รู้ก่อน แล้วให้ไปขอหนังสือเปิดล่องแต่เจ้าพนักงานที่โรงภาษี แต่เรือลูกค้าที่ใช้ธงจีนแขกตามประเทศของตัวนั้น ให้บอกเจ้าพนักงานกรมท่าซ้ายกรมท่าขวา ขอเปิดล่องไปตามธรรมเนียม เรือล่องไปถึงด่านให้แวะทอดสมอที่ด่านเอาหนังสือเปิดล่องไปส่งให้เจ้าพนักงานที่ด่าน เจ้าพนักงานตรวจตราดูแล้ว ไม่มีเหตุเกี่ยวข้องสิ่งใดจึงให้ล่องไป ถ้าเรือขึ้นเรือล่องไม่แวะด่านทำให้ผิดหนังสือสัญญา จะปรับไหมเปนเงิน ๘๐๐ บาท ตามในหนังสือสัญญาที่ว่าไว้ ถ้าเรือไปเข้าปากน้ำหัวเมืองใดๆ เรือเข้าเรือออกให้ทอดสมอที่ด่านไปแจ้งต่อผู้สำเร็จราชการเมืองๆ จะบังคับประการใดให้ลูกค้าทำตามบังคับกฎหมายแลข้อสัญญา

มาตรา ๒ เรือเข้ามาในลำแม่น้ำแล้ว เวลากลางคืนให้จุดไฟโคมแขวนไม้ที่เสากระโดง ตั้งแต่ดาดฟ้าขึ้นไปสูงสามวาเปนที่สังเกต ให้จุดไฟไว้ตั้งแต่เวลาพลบไปจนย่ำรุ่ง เรือเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ให้กัปตันนายเรือมาบอกเจ้าท่าให้รู้ก่อน เจ้าท่าให้ทอดสมอที่แห่งใดก็ต้องทำตามบังคับเจ้าท่า แล้วให้ทอดสมอสองสายทั้งน้ำขึ้นน้ำลง แล้วให้เลื่อนถอยเสาชี้เข้ามาเสีย เจ้าท่าจะบังคับการสิ่งไรให้กัปตันนายเรือฟังบังคับเจ้าท่า ถ้าเจ้าท่าไม่ได้ลงไปจะมีหนังสือใช้คนไปบอกก็ได้

มาตรา ๓ ให้เจ้าท่าบังคับให้ลูกค้าทอดสมอเรืออย่าให้ชิดฝั่งนัก เรือหันขึ้นล่องอย่าให้โดนแพเข้าได้ อย่าให้ทอดสมอเรียงลำติดๆ กันออกมาจนกีดทางเรือเดิน อย่าให้ทอดตรงปากคลองทุกแห่ง ให้ทอดเรียงลำต่อๆ เปนลำดับลงไป ห้ามอย่าให้กัปตันนายเรือผูกหางเชือกหางโซ่ล่ามขึ้นไปผูกไว้บนตลิ่ง ให้กีดทางเรือเดินไปมา

มาตรา ๔ ถ้าเรือโดนกันแตกหักผู้คนล้มตายเสียสิ่งของมากน้อยเท่าใด ให้มาบอกเจ้าท่าๆ จะได้ไปดูว่าผู้ใดจะทำผิดทำชอบ แล้วเจ้าท่าจะไปบอกแก่ผู้ที่ควรจะชำระความได้จะได้ชำระตัดสินให้ ถ้าเรือเข้ามาเปนเหตุขึ้นรั่วจมน้ำอยู่ตามทางเรือเดิน เจ้าท่าจะบังคับให้นายเรือคิดอ่านจ้างคนเอาเรือออกไปเสียให้พ้นทาง ถ้านายเรือไม่จ้างคนเอาเรือที่จมนั้นไป เจ้าท่าจะจ้างคนเอาเรือไปให้พ้นทางเรือเดิน ลงทุนมากน้อยเท่าใดจะคิดเอาแต่นายเรือ

มาตรา ๕ ถ้าลูกค้าทั้งปวงไม่ทำตามบังคับ ในมาตรา ๒ มาตรา ๓ นั้น ถ้าเรือใหญ่ล่องลงไปแลแล่นขึ้นมา โดนถูกเรือของตัวแตกหัก จะเอาใช้แต่ผู้โดนไม่ได้ ถ้าเรือเล็กไปโดนเรือใหญ่ที่ทอดผิดกฎหมาย เรือเล็กล่มจมไปเสียของมากน้อยเท่าใด จะบังคับให้ใช้ของที่เสียไปให้ครบแล้วต้องปรับไหมเงิน ๑๖๐ บาทแก่นายเรือ เพราะไม่ฟังบังคับในมาตรา ๒ มาตรา ๓ คดีเช่นนี้ทุกระวางซึ่งจะกล่าวต่อไปในเบื้องหน้าก็ดี แห่งนี้ก็ดี ถ้าผู้ต้องใช้สงสัยไม่เชื่อคำในการผู้เสียของ ก็ให้ผู้เสียของอ้างพยานที่เห็นเมื่อเอาของบรรทุกเรือ มาสาบาลให้ตามสาสนาคนนั้นนับถือ ถ้าพยานสาบาลได้จึงปรับไหมให้ ข้อให้มีเบี้ยปรับไหมเงินนั้นเปนของแผ่นดินไททุกข้อ

มาตรา ๖ ว่าถ้านายเรือถอยเรือเข้าจอดริมตลิ่งเพื่อจะรับสินค้าแลประโยชน์อื่น จะผูกเชือกแลสาวกะฉุดเรือเข้าไป ในเวลากลางวันก็ได้ไม่ห้าม แต่อย่าให้ผูกทิ้งไว้จนกลางคืน ถ้าถอยเรือเข้ารับสินค้าผูกติดกับตะพานแต่ลำหนึ่งสองลำไม่กีดทางเรือเดิน แลเข้าจอดทิ้งอับเฉาฤๅทำการสิ่งใดๆ เรือจอดแอบตลิ่งอยู่ไม่มีหนทางเดินข้างใน จะผูกเชือกขนขดโยงเรือไว้ก็ได้ แลเรือพระที่นั่งทอดสมออยู่ที่หน้าพระบรมมหาราชวังแลพระบวรราชวัง ถึงจะเอาเชือกเอาโซ่ผูกโยงไว้บนตลิ่งก็ได้ เพราะใกล้เปนหน้าพระที่นั่งที่ประทับริมน้ำ ไม่ควรที่คนทั้งหลายนอกจากข้าราชการจะพายเรือเข้าไปใกล้ในที่อันนั้น ถ้าผู้ใดพายเรือเข้าไปข้างในเรือพระที่นั่งหน้าพระที่นั่งที่ประทับริมน้ำโดนเชือกผูกเรือพระที่นั่งเรือเล็กล่มลง ก็เปนอันไม่ได้สินใช้ เพราะได้ห้ามไว้แล้วฉะเพาะสองแห่งเท่านั้น

อนึ่งเรือในคลองเจ้าของเรือบรรทุกของออกทอดขายอยู่ที่ท้องน้ำ จะทอดสมออยู่ใกล้ฝั่งก็ได้ แต่ให้มีหนทางในระหว่างแพแลเรือนั้น ให้เรือเล็กเดินไปมาได้ ตามที่ว่าไว้ในข้อ ๓ นั้น ถ้าเรือเล็กจะไปผ่านติดโซ่ที่ผูกโยงไว้ แลโดนเรือทอดอยู่ เรือของตัวล่มเสียของไปเท่าใด เรือที่ล่มจะเอาใช้แลปรับไหมแต่เรือใหญ่ไม่ได้

มาตรา ๗ ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทางชลมารค เรือทอดสมอกีดทางอยู่ เจ้าพนักงานแลเจ้าท่าไปบอกให้ถอยเรือไปเสียให้พ้นทางเสด็จ กัปตันนายเรือก็ต้องถอยเรือไปให้พ้นทางแต่ในสามชั่วโมง แต่บรรดาเรือลูกค้าที่ทอดอยู่ในลำแม่น้ำ ถ้าเรือพระที่นั่งมาถึงแล้ว ขอให้ชักธงรับตามธรรมเนียม คนซึ่งอยู่ในเรือนั้นจะหลบตัวเสียให้ลับก็ได้ ฤๅจะออกมาคำนับตามธรรมเนียมภาษาของตัวก็ได้ แต่ห้ามอย่าให้เดินไปเดินมาแลขึ้นนั่งห้อยเท้าบนปากเรือ ขึ้นทำงานบนเสากระโดงเปนการหมิ่นประมาท ถ้าทำการหมิ่นประมาทดังนี้ แลไม่ถอยเรือไปให้พ้นทางเสด็จ ถ้าเรือลูกค้ากรุงเทพมหานครจะให้เจ้าพนักงานทำโทษ ถ้าเรือลูกค้าต่างประเทศขึ้นแก่กงสุลเมืองไรจะฟ้องแก่กงสุลเมืองนั้น

มาตรา ๘ ว่าเรือใหญ่ซึ่งถอยขึ้นถอยล่องไปโดนเรือลูกค้าลำใดลำหนึ่งซึ่งจอดอยู่เปนปรกติตามบังคับแล้วนั้นก็ดี โดนเรือแพบ้านเรือนที่จอดแลตั้งอยู่เปนปรกตินั้นแตกหักพังไปก็ดี กัปตันนายเรือผู้ที่ถอยมาโดนนั้น ต้องคิดราคาใช้ให้ตามที่แตกหักเสียไปมากแลน้อย แต่เรือที่แล่นมาโดนเขาเข้านั้น ถึงจะแตกหักพังอย่างไร จะเอาสินใช้แต่เรือจอดแลแพบ้านเรือนนั้นมิได้ เพราะมาโดนเข้าเอง

อนึ่งเรือกลไฟจะมีไปข้างหน้าหลายลำ จะไปมาตามน้ำทวนน้ำก็ดี อย่าให้เดินริมฝั่ง ให้เดินกลางน้ำริมแนวเรือใหญ่ทอด ด้วยเรือกลไฟมีกำลังเร็วมาก เรืออื่นจะหลีกไม่ทัน

มาตรา ๙ ว่าแพที่คนอยู่ก็ดี แพไม้ซุงไม้ไผ่ก็ดี เจ้าของถอยขึ้นล่องแลขาดลอยตามสายน้ำไป ถ้าเรือลำใดทอดอยู่ผิดทางที่บังคับไว้ในมาตราที่ ๒ ที่ ๓ เมื่อแพมาโดนเข้าฟันแพให้แตกหักพังไม้ขาดหายไป ผู้ตัดฟันก็ต้องใช้ของแก่เจ้าของแพ ถ้าแพโดนเรือแตกหักไปอย่างไร เจ้าของเรือจะเอาสินใช้แต่เจ้าของแพก็ไม่ได้

อนึ่งผู้ใดจะล่องแพให้มีสายสมอกะโรยลงไป ให้เดินแต่ในระหว่างช่องเรือทอดแลแพที่จอด จะล่องไปข้างไหนก็ให้ไปข้างหนึ่ง ถ้าแลล่องไปโดยเรือที่จอดอยู่ ตามกฎหมายบังคับไว้ในมาตราที่ ๒ ที่ ๓ ก็ให้เจ้าของเรือตัดฟันแพที่มาโดนนั้นปล่อยไป แต่อย่าให้ทำอันตรายแก่ผู้คนแลเอาไม้ในแพนั้นไว้ เมื่อเปนแต่ตัดให้พ้นเรือไปเสีย ถึงไม้หายไปเจ้าของแพจะเอาใช้แต่เจ้าของเรือก็ไม่ได้ ถ้าเจ้าของเรือไม่ได้ตัดแพแพหลุดไปเอง แล้วเรือแตกหักเพราะแพโดน เจ้าของแพต้องใช้ให้ ห้ามอย่าให้เจ้าของแพเอาเชือกไปผูกกับสายสมอเรือที่ทอดอยู่ แลห้ามอย่าให้ล่องเรือใหญ่ล่องแพเวลากลางคืน อนึ่งถ้าผู้ใดจะล่องแพไปอย่าให้ชิดฝั่งนัก ถ้าชิดฝั่งไปโดนแพที่จอดเปนปรกติแตกหักไป ให้เจ้าของแพที่มาโดนนั้นใช้ของเจ้าของแพจอด ถ้าที่ใดในระหว่างกลางน้ำไม่มีเรือทอด จะล่องแพไปกลางน้ำก็ได้ ถ้าแพจะเอาเชือกผูกไว้กับตลิ่งให้ชิดฝั่งก็ได้ ถ้าเรือผู้ใดพานเชือกโดนแพเรือล่มเสียของไปจะเอาใช้แต่เจ้าของแพไม่ได้ เพราะแพไม่เหมือนเรือ เรือพายควรรู้แล้วต้องหลีกอย่าเดินข้างหลังแพที่จอดริมฝั่ง

มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้ทิ้งศิลาทรายดินอับเฉาลง ตั้งแต่ที่ใกล้สันดอนน้ำฦก ๗ วา เข้ามาในจนแม่น้ำเจ้าพระยา แลลำแม่น้ำอื่นๆ ด้วย ถ้าจะทิ้งศิลาทรายดินอับเฉาให้บอกเจ้าท่า ฤๅเจ้าพนักงานจะได้ชี้ที่ให้ทิ้ง เมื่อบังคับให้ทิ้งที่แห่งใดแล้วจึงทิ้งได้ ถ้ากัปตันนายเรือไม่ฟังกฎหมายนี้ ขืนทิ้งอับเฉาลงในที่ห้ามไว้นี้ จะปรับไหมเงิน ๒๐๐ บาท

อนึ่งผู้ใดจะไปรับจ้างนำร่องเรือเข้าเรือออก ก็ให้มาหาหลวงวิสูตรสาครดิษฐเจ้าท่าให้ไล่เลียงดูเสียก่อน เมื่อหลวงวิสูตรสาครดิษฐเห็นว่าเปนคนรู้แท้แล้ว จะให้หนังสือสำหรับตัวไป ห้ามมิให้ไปรับจ้างนำร่องเอาเอง ถ้าผู้ใดไม่มีหนังสือเจ้าท่าสำหรับตัวนำเรือเข้ามาติดผิดหนทาง จะปรับไหมเอาค่าป่วยการให้เจ้าของเรือ ถ้าผู้ที่ได้รับหนังสือเจ้าท่าแล้ว ไปนำร่องเรือผิดหนทางจะต้องชำระดูก่อน ถ้าควรจะปรับไหมจึงจะปรับไหมให้

ตั้งแต่นี้ไปเปนพระราชบัญญัติว่าด้วยเรือเล็กขึ้นล่องในลำแม่น้ำแลในคลอง

มาตรา ๑ เรือไปตามน้ำขึ้นก็ดี ไปตามน้ำลงก็ดี ให้ออกกลางน้ำ เรือทวนน้ำให้ไปริมฝั่ง ถ้าเรือตามน้ำมาเดินริมฝั่ง ถ้าเรือทวนน้ำไปเดินกลางน้ำ ให้ผิดทางที่บังคับไว้ จนเรือโดนกันล่มแตกหักเสียสิ่งของไป ให้เรือที่เดินผิดทางใช้ของเรือที่ล่ม ถ้าเรือเดินผิดทางล่ม จะเอาใช้แต่เจ้าของเรือที่เดินถูกทางนั้นไม่ได้ ถ้ามีการมีเหตุควรจะต้องไปริมฝั่ง ให้ระวังรักษาให้ดี อย่าให้โดนเรือทวนน้ำได้

มาตรา ๒ เรือขึ้นน้ำก็ดี เรือล่องน้ำก็ดี ที่ไปตามกัน เรือลำหลังเร็วไปกะทั่งเรือหน้าแตกหักล่มไปก็ดี ฤๅไปกะทั่งเรือที่จอดอยู่ ตามปรกติแตกล่มไปก็ดี ให้ใช้ของเรือที่ล่ม

มาตรา ๓ เรือลำหนึ่งจะออกจากท่าไป หรือออกจากปากคลองก็ดี เรือลำหนึ่งจะเข้าจอดก็ดี หรือพายสวนมาตามทางก็ดี หลบหลีกกันมิทันโดนกันเข้าล่มไปด้วยมิได้แกล้ง ให้เจ้าของเรือซึ่งมิได้ล่มนั้นอยู่ช่วยกู้เรือเก็บของ ถ้ามิได้อยู่ช่วยให้ใช้ของเรือที่ล่มเสียของไปนั้นกึ่งหนึ่ง เพราะหาความเมตตากรุณามิได้

มาตรา ๔ เรือเบาให้หลีกเรือหนัก ถ้าเรือเบาไปโดนเรือหนักล่ม ให้ใช้ของท่านจงเต็ม ถ้าคนตายให้ใช้ค่าคนท่านตามกฎหมายเดิม ถ้าเรือหนักโดนเรือเบาล่มไม่ต้องใช้ ถ้าเรือเบาต่อเรือเบาหลบหลีกกันมิทันโดนกันล่ม ให้เรือที่ไม่ล่มอยู่ช่วยกันกู้หรือเก็บของ ถ้าไม่อยู่ช่วยให้ใช้ของเรือที่ล่มเสียไปนั้นกึ่งหนึ่ง อนึ่งเรือข้างหนึ่งโตเห็นว่าเรือข้างหนึ่งเล็ก พอจะรั้งรอหลบหลีกได้ไม่รอรั้งหลบหลีก เรือใหญ่แกล้งเกยเรือเล็กล่มจมไป ให้ใช้ของเรือที่ล่มจงเต็ม ถ้าเรือหนักต่อเรือหนักโดนกัน ข้างหนึ่งได้ร้องบอกแต่ไกลพ้น ๑๐ วาให้รอไว้ ถ้ามิฟังขืนไปโดนเรือผู้ที่ร้องห้ามล่มไปเสียสิ่งของมากน้อยเท่าใด ให้ผู้โดนนั้นใช้สิ่งของเรือที่ล่มจงเต็ม ถ้ามิทันบอกกันแต่ไกล ๑๐ วาแลโดนกัน เรือนั้นล่มข้างหนึ่งควรว่าเปนบาปเคราะห์

มาตรา ๕ เรือหนักที่บรรทุกเพียบ แลเรือเบาจอดอยู่ชิดกัน เรือเบาจะถอยจะเลื่อนที่ไป ต้องบอกคนในเรือหนักให้ระวังด้วยกัน อย่าให้โดนให้เกยเรือเพียบ ถ้าไม่บอกก่อนถอยแลเลื่อนเรือเบาไปเกยเรือหนักล่ม เจ้าของเรือเบาต้องใช้ของเรือหนักซึ่งเสียแลหาย ถ้ามิได้ถอยแลเลื่อนเปนแต่เรือกะทบกะทั่งกันเข้า ด้วยลมพายุแลคลื่นละลอก เรือเบาโดนเรือหนักเรือหนักล่ม ให้เจ้าของเรือเบาใช้ของกึ่งหนึ่ง เพราะเรือใหญ่กว่ามาจอดใกล้นักจึงโดน ถ้าเรือหนักใหญ่เรือเบาเล็กกะทบกะทั่งกันเข้าล่มไปข้างหนึ่ง ด้วยพยุห์แลคลื่นละลอก จะว่าแก่กันมิได้ อนึ่งเรือลำหนึ่งข้ามฟากขวางกระแสน้ำไป เรือลำหนึ่งล่องน้ำมา ถ้าเรือข้ามฟากเล็ก เรือล่องน้ำใหญ่ ให้เรือข้ามฟากหลีกเรือล่องน้ำ ถ้าเรือล่องน้ำเล็กเรือข้ามฟากใหญ่ ให้เรือล่องน้ำหลีกเรือข้ามฟาก ถ้าเรือเล็กไม่หลีกเรือใหญ่ เรือเล็กแตกล่มจะเอาใช้แต่เรือใหญ่ไม่ได้ ถ้าเรือเล็กหนักเรือใหญ่เบา ให้เรือใหญ่หลีกเรือเล็ก ถ้าเรือใหญ่ไม่หลีกโดนเรือเล็กล่มให้ใช้ของเรือเล็ก ถ้าเรือใหญ่จอดอยู่แนบฝั่งพ้นทางเรือเดิน เรือเล็กหนักถอยเลื่อนไปโดนเรือใหญ่ เรือเล็กล่มไปเอง จะเอาใช้แต่เรือจอดมิได้

มาตรา ๖ เรือไปในลำคลองแคบที่จะไปตามบังคับในมาตรา ๑ ตามน้ำแลทวนน้ำนั้นมิได้ด้วยคลองนั้นคับแคบ ก็ให้เรือเล็กหลีกเรือใหญ่ เรือใหญ่เบาให้หลีกเรือหนัก ถ้าเรือลำใดเปนเรือเบาก็ดี บรรทุกของเพียบก็ดี ถ้าจะจอดให้จอดเรียงลำกัน แอบแนบอยู่ตามแนวคลอง อย่าให้จอดซ้อนลำกันออกมาจนกีดทางเรือเดินแลจอดขวางคลอง แลจอดปักหลักอยู่กลางคลองแลจอดซ้อนลำกัน ถ้าเรือขึ้นล่องมาโดนเรือของตัวแตกหักล่ม เสียของไปมากน้อยเท่าใด จะให้ผู้โดนใช้นั้นไม่ได้ ถ้าเปนเวลากลางคืน เรือที่มาโดนนั้นล่มเสียของไป จะให้เรือที่จอดผิดบังคับใช้ของจงเต็ม

อนึ่งคลองรอบกรุงเทพมหานครชั้นใน แลคลองผดุงกรุงเกษม แลคลองสมมตคลองบางกอกใหญ่บางกอกน้อย เปนทางเรือเดินไปมามากทั้งกลางวันกลางคืน ห้ามมิให้ผู้ใดเอาเรือมาปักหลักคัดช้อนอยู่กลางคลอง ให้กีดทางเรือเดิน ถ้าจะคัดช้อนหากิน ก็ให้ไปทำเสียที่คลองอื่นที่มีเรือเดินน้อยไม่ห้าม

มาตรา ๗ มีกฎหมายเดิมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ห้ามมิให้คนทั้งปวงพายเรือแจวเรือตีกันเชียงตัดหน้ากระบวร ตัดท้ายกระบวร แลพายเรือเคียงแข่งกระบวรไปแลเข้าปนไปในกระบวร แลเมื่อเสด็จลงลอยพระประทีปในเวลากลางคืนณที่ประทับริมน้ำ ตามพระราชพิธีทุกปีในเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนละสามวัน หรือมีการนักขัตฤกษบางครั้งเสด็จลงที่ประทับริมน้ำหน้าพระราชวังก็ดี ที่อื่นๆ ก็ดี ถ้ามีตั้งกองจุกช่องล้อมวง ห้ามคนแปลกๆ ไม่ให้ล่วงเข้ามาในที่ล้อมวง ถ้าผู้ใดขืนพายเรือล่วงเกินเข้าไปในที่ล้อมวงจุกช่องห้ามปราม เจ้าพนักงานจะจับตัวไปทำโทษ ถ้าเปนคนนอกประเทศซึ่งอยู่ในบังคับกงสุลต่างๆ ขอเสียเถิดอย่าให้ผิดกฎหมายนี้ ถ้าขืนทำให้ผิดกฎหมายเจ้าพนักงานจะจับตัวส่งต่อกงสุล ถ้าต่อสู้ไม่ยอมให้จับวิวาททุบตีกันขึ้น แตกหักล้มตายประการใด จะว่ากล่าวเอาผิดแต่เจ้าพนักงานผู้จับไม่ได้ เพราะได้ประกาศแล้ว ถ้าคนนอกประเทศทำเจ้าพนักงานล้มตายกงสุลจะปรับไหมทำโทษให้ตามกฎหมาย แลเมื่อมีเวลาที่จะเสด็จทางใดเมื่อใด ฤๅจะมีนักขัตฤกษ์เสด็จลงที่ประทับริมน้ำ ฤๅที่อื่นๆ เมื่อใดเจ้าพนักงานจะจดหมายไปบอกกงสุลให้ทราบไว้ก่อนวันหนึ่งฤๅสองวัน เว้นแต่วันลอยพระประทีปปีละ ๖ วันนั้นไม่ต้องบอก ให้กงสุลทราบเอาเอง อนึ่งถ้าเสด็จไปประทับตั้งล้อมวงที่วังสวนนันทอุทยานสวนสระประทุมวันก็ไม่ต้องบอก เพราะเปนที่หลวงใช่ทางเดิน

ตั้งแต่นี้ไปเปนพระราชกำหนด แก่ชาวแพแลโพงพาง

มาตรา ๑ ห้ามไม่ให้ชาวแพปักหลักแพจนกีดทางเรือเดิน ถ้าจะปักหลักพอกันหน้าแพของตัวนั้น ก็ให้ห่างไว้เพียงสามศอก ถ้าผู้ใดไม่ฟังขืนปักหลักแพให้เกินกำหนดออกมา เรือมาโดนถูกหลักแพ เรือล่มเสียของไปมากน้อยเท่าใด จะบังคับให้เจ้าของแพใช้ของเรือที่ล่มจงเต็ม

มาตรา ๒ เรือทอดสมอผูกติดๆ กัน ออกคัดช้อนอยู่กลางน้ำก็ดี โพงพางมีลูกบวบทอดเรียงกันออกมากลางน้ำก็ดี เวลากลางคืนให้มีไต้เพลิงแลเป่าของกระบือเปนที่สังเกต ถ้าเรือแพขึ้นล่องมาโดนถูกเรือแลโพงพางขาดลอดไปประการใดก็ดี เจ้าของเรือเจ้าของโพงพางจะให้ผู้มาโดนใช้ไม่ได้เพราะว่าเรือคัดช้อนผูกติดกัน แลลูกบวบโพงพางรุงรังมาก ไม่เหมือนเรือใหญ่ที่บังคับให้ทอดเรียงลำกันกลางน้ำ ฤๅแพที่จอดเรียงกันริมฝั่ง ดังบังคับไว้ในเบื้องต้นนั้น แลจะบังคับลูกบวบโพงพางแลเรือคัดช้อนให้ทอดอย่างอื่นไม่ได้ ด้วยเคยใช้การอย่างนั้นเปนการทำมาหากิน ถึงเมื่อเรือแพมาโดนถูกเรือถูกโพงพาง เรือล่มแพแตกเสียสิ่งของแลผู้คนล้มตาย ก็จะเอาใช้แต่เจ้าของเรือเจ้าของโพงพางไม่ได้เหมือนกัน ให้ผู้ล่องเรือแพรู้แห่งที่โพงพางแลเรือคัดช้อน แล้วระวังตัวแต่ไกลเถิด โพงพางแลคัดช้อนก็ย่อมอยู่เปนที่เปนตำบลไม่ได้ยักย้ายไปมาเนืองๆ เหมือนเรือใบเรือทเลดอก แต่ห้ามอย่าให้เจ้าของโพงพางเอาไม้ไผ่ผูกขวางช่องไว้ ขึงแต่เชือกรั้งลูกบวบให้หยุดยึดกันตามธรรมเนียมนั้นไม่ห้าม อนึ่งตั้งแต่ริมตลิ่งออกมาถึงลูกบวบเปนทางเรือเดินนั้น ห้ามมิให้เอาเชือกขึงแลไม้ขวางออกไปให้กีดทางเรือเดิน ถ้าเจ้าของโพงพางขึงเชือกทอดไม้ออกให้กีดทางเรือเดิน เรือขึ้นเรือล่องไปพานเชือกพานไม้เรือล่ม ถ้าเสียสิ่งของมากน้อยเท่าใดให้ผู้ขึงเชือกทอดไม้ไปแต่ตลิ่งใช้ของเรือที่ล่ม ถ้าคนตายให้ใช้ค่าคนท่านตามกฎหมายเดิม

มาตรา ๓ ว่าถึงกฎหมายเดิมก็ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บของตกแลของลอยน้ำ แต่ครั้นกาลนานมาคนไม่รู้กฎหมาย ก็สำคัญว่าไม่ห้ามเก็บเอาไว้ เจ้าของไปตามก็ทุ่งเถียงว่าตู่ทวงเกิดเทลาะวิวาทกันบ้าง เอาเก็บซ่อนเสียบ้าง เปนที่สงสัยว่าเปนผู้ร้ายลักฉกเอามา มีเหตุต่างๆ วิวาทกันเนืองๆ แลของหายในแม่น้ำก็ย่อมเปนไม้ขอนสักแลกระดาน ที่แพล่องมาแตกกระจัดกระจายไปตามสายน้ำ เจ้าของไปเที่ยวตามรวบรวมไม่ทัน แลเรือที่ใช้สอยขาดลอยไปนั้นโดยมาก เพราะฉนั้นบัดนี้ห้ามมิให้ผู้ใดทั้งคนในประเทศนอกประเทศเก็บเอาไม้ขอนสักแลกระดาน แลเรือเครื่องกำปั่นขาดตกจมน้ำอยู่ก็ดี ของสิ่งใดๆ ที่ลอยน้ำไปก็ดี เก็บเอาไว้ว่าเปนของตัวให้ขาดจากเจ้าของ ด้วยถือว่าเก็บตกได้ไม่มีเจ้าของแล้ว ของเปนของผู้เก็บได้ ตามลัทธิคนไม่รู้กฎหมายเลย ถ้าใครเห็นของลอยน้ำมาไม่มีเจ้าของก็ดี ฤๅไล่โจรผู้ร้ายได้ก็ดี ก็ให้เก็บเอาของนั้นไปมอบไว้ ฤๅบอกกล่าวแก่นายอำเภอฤๅกำนันพันนายบ้านแลผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ที่อยู่ใกล้ ถ้าเปนเครื่องเรือก็ให้ไปบอกหลวงวิสูตรสาครดิษฐเจ้าท่าให้รู้ภายใน ๑๒ ชั่วโมง ให้เจ้าท่าฤๅนายอำเภอกำนันพันนายบ้านแลผู้มีบรรดาศักดิ์จดหมายไว้ให้แน่นอนแล้วคอยฟังดูเถิด ฝ่ายเจ้าของจงรีบไปเที่ยวสืบตามหาของตัวซึ่งหายไป ไต่ถามทุกอำเภอในกำหนดเดือนหนึ่งอย่าให้ช้าไป แลให้ผู้เก็บได้ฤๅเจ้าท่ากำนันนายอำเภอ แลผู้มีบรรดาศักดิ์ ซึ่งได้รับของไว้ฤๅท่านบอกกล่าวนั้น บอกให้รู้แล้วแล้วสอบดูของให้แน่นอน ว่าจะถูกของรายนั้นฤๅจะผิดรายไป ให้ได้ความเปนแน่แล้วจึงจะคืนให้เจ้าของไปได้ ถ้ายังสงสัยว่าของไม่ต้องกัน ก็รอฟังรายอื่นอยู่ก่อน ถ้าผู้เก็บของลอยน้ำของจมน้ำแลของไล่โจรผู้ร้ายได้แล้วเอาไปซ่อนเสีย ไม่เอาไปมอบแก่เจ้าท่านายอำเภอฤๅกำนันพันนายบ้าน แลผู้มีบรรดาศักดิ์ในภายใน ๑๒ ชั่วโมง สืบจับได้จะเอาเปนผู้ร้าย ถ้าช่วยเก็บให้เจ้าของได้บอกแก่เจ้าท่าฤๅนายอำเภอกำนันพันนายบ้าน แลผู้มีบรรดาศักดิ์ไว้แล้ว เมื่อเจ้าของมาตามพบจะเอาของคืนไป ผู้เก็บได้จะขอเอาค่าถ่ายเปนรางวัลบ้าง ก็ตามแต่เจ้าของแลผู้เก็บได้กับเจ้าท่าแลนายอำเภอกำนันแลผู้มีบรรดาศักดิ์จะว่ากล่าวเปรียบเทียบให้ตกลงกัน

ตั้งแต่นี้พระราชบัญญัติว่าการทางบก

มาตรา ๑ มีพระราชบัญญัติว่าด้วยบุกรุกสำหรับแผ่นดินไว้แต่ก่อนมีเปนหลายมาตรา เอาแต่ใจความว่า ถ้าผู้ใดวิวาทด่าตีกันพาพวกเพื่อนถือไม้ก้อนอิฐก้อนดิน เครื่องศัตราวุธต่างๆ รุกไปตีด่าฟันแทงท่านถึงที่เขตรแดนบ้านเรือนโรงร้านเรือแพที่อาศรัยอยู่เปนปรกติ เจ้าของที่มีบาดเจ็บให้ปรับไหมผู้รุกทวีคูณ พวกไปด้วยมิได้ลงมือให้ไหมกึ่งต้นจงทุกคน ถ้าเจ้าของที่ตีฟันแทงผู้รุกนั้นบาดเจ็บแลถึงตาย จะเอาโทษเจ้าของที่ฟันแทงนั้นมิได้ ประการหนึ่งผู้ใดด่าตีฟันแทงกันที่กลางถนนหนทางสถานที่ใดๆ ผู้แพ้หนีเข้าไปในเขตรบ้านท่านผู้อื่น ผู้ตีรุกเข้าไปในเขตรบ้านท่านว่าไม่เปนรุก ถ้าผู้แพ้หนีขึ้นไปจนบนเรือนผู้มีชื่อแล้วยังตามขึ้นไปตีอีก ท่านว่าบังอาจเอาเปนบุกรุก ประการหนึ่ง ผู้ใดไปหาท่านด้วยธุระสิ่งใด ฤๅไปซื้อสิ่งของเข้าไปในบ้านโรงร้านเรือแพโดยสุภาพ เกิดวิวาทกันขึ้นจะเอาเปนบุกรุกมิได้ เพราะการวิวาทเกิดขึ้นในที่อันนั้น ประการหนึ่ง เจ้าหมู่มูลนายไปจับบ่าวไพร่แลทาสลูกหนี้ พบปะที่แห่งใดไล่ติดตามกันไป ผู้หนีๆ เข้าไปในบ้านท่านผู้อื่นก็ดี บ้านของตัวก็ดี เจ้าหมู่มูลนายตามเข้าไปจับตัว จะว่าเปนบุกรุกไม่ได้ ถ้าเปนวังเจ้าบ้านขุนนาง แลบ้านคนต่างประเทศ ให้ผู้จับบอกเจ้าของบ้านเสียก่อน เจ้าของบ้านจะได้ชำระเอาตัวส่งให้ ฯ บัดนี้ประกาศกฎหมายนี้มาเพื่อให้คนในประเทศคนนอกประเทศทราบทั่วกันว่า ถ้าผู้ใดบุกรุกเข้าไปวิวาทถึงที่บ้านโรงเรือนร้านเรือแพท่าน เจ้าของบ้านเรือนโรงร้านเรือแพทุบตีมีบาดเจ็บถึงสาหัสแลตายก็ดี จะไปฟ้องร้องว่ากล่าวขึ้น ตระลาการผู้พิจารณาสืบได้ความจริงว่าบุกรุกแล้ว จะไม่ตัดสินให้ตามบาดเจ็บ เพราะทำผิดกฎหมายบุกรุก เจ็บเปล่าจะเอาเบี้ยปรับไหมแลทำขวัญมิได้เลย

มาตรา ๒ ว่าด้วยการที่คนในประเทศนอกประเทศยิงปืนใหญ่ ด้วยธรรมเนียมในกรุงเทพมหานคร กฎหมายเก่าก็มีอยู่ ห้ามมิให้คนทั้งปวงยิงปืนใหญ่ที่จะมีเสียงดังถึง ๑๐๐ เส้นด้วยเหตุใดๆ คือเปนการมงคลแลอื่นๆ โดยตามใจตัว ไม่มีกำหนดเหตุที่ควรจะยิง แลเมื่อยิงในแขวงกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ได้บอกกล่าวให้เจ้าพนักงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทราบแลยอมให้ก่อน ฤๅถ้าแขวงหัวเมือง ไม่ได้บอกผู้รั้งกรมการให้ทราบแลยอมให้ก่อน ถ้าใครล่วงบังคับนี้ก็มีโทษ เพราะว่าเสียงปืนใหญ่เมื่อใครยิงขึ้นไม่มีเหตุรู้ทั่วก่อนแล้ว ก็ย่อมเปนที่ตกใจแก่คนเปนอันมากว่าเกิดเพลิง แลเหตุอื่นเปนที่เล่าฦๅกันต่างๆ ไป เพราะมีกำหนดอยู่ในกรุงเทพมหานครว่า เสียงปืนใหญ่เปนที่สำคัญสัญญาในพระบรมมหาราชวัง ยิงเมื่อเวลาก่อนสว่าง ๔๘ นาทีทุกวัน วันละ๔ นัด เพื่อจะให้คนที่ควรจะตื่นนอนเมื่อจวนรุ่ง ตื่นต้องเวลาแน่นอนทั่วกัน แลในพระบวรราชวัง ยิงเมื่อเวลานับเต็ม ๘ นาฬิกา แต่เพียงนัดหนึ่ง ยิงเมื่อก่อนรุ่ง ๔๘ นาทีอีกนัดหนึ่งเสมอทุกวัน ที่โรงทหารตามการเคยสังเกตตามธรรมเนียมทหารในพระบวรราชวัง ถ้าปืนใหญ่ยิงเมื่อพ้นกำหนดเวลานี้ ก็สำแดงว่ามีเหตุคือเกิดเพลิงไหม้บ้านเรือน ถ้าเพลิงเกิดไกลพระราชวังยิง ๔ นัด ถ้าใกล้พระราชวังยิง ๘ นัด เมื่อคนทั้งปวงได้ยินเสียงปืนแล้วรู้ว่าเพลิงไหม้ไกลแลใกล้ตามสังเกตนั้น จะได้มาช่วยดับเพลิงทั่วกัน แลเมื่อมีการจะยิงบูชาพระฤกษ์ ฤๅคำนับฤๅการพระราชพิธี แลจะลองจะซ้อมปืนใหญ่เปนการหลวงในบางครั้งบางคาบ ก็ย่อมเคยให้มีประกาศให้ราษฎรทราบทุกอำเภอก่อน จึงได้ยิงตามกำหนดเวลาแลวัน เพื่อจะมิให้ราษฎรตื่นตกใจ ครั้นเมื่อครั้งเรือรบพาเซอยอนโบวริงเข้ามาทำสัญญา เมื่อจะยิงปืนคำนับตามธรรมเนียมอังกฤษนั้น ก็ได้บอกกล่าวให้ทราบก่อนจึงยิงตามกำหนด ภายหลังมาคนนอกประเทศที่ไม่รู้สำคัญว่าการยิงปืนตามธรรมเนียมเรือรบไม่ห้ามแลยิงคำนับเจ้านายของตน ตามวันในกำหนดในประเทศของตัวไม่ห้าม ก็ยิงปืนใหญ่โดยมิได้บอกกล่าวให้ทราบก่อน ฤๅพวกหนึ่งได้บอกแล้วพวกอื่นได้ยินเสียงปืนขึ้นแล้วก็พลอยยิงบ้าง แลคนในกรุงก็มีความกำเริบใจสำคัญว่า บัดนี้คนต่างประเทศยิงปืนเล่นได้เนืองๆ เห็นจะไม่มีที่ห้ามแล้วก็ยิงบ้างโดยไม่มีกำหนด การที่ห้ามตามกำหนดเก่านั้นก็ลบเลือนโลเลไป เพราะฉนั้นจะขอบังคับซ้ำห้าม ว่าตั้งแต่ในด่านเมืองสมุทปราการเข้ามา ถ้าคนในประเทศนอกประเทศ มีเหตุควรจะยิงคือยิงในการฤกษ์โกนจุกลงท่า ฤๅจะยิงคำนับตามชาติตามภาษาที่เคยนับถือ จะยิงในการบุญอย่างฝรั่งที่วัดฝรั่ง ฤๅที่อื่นปีละครั้งละคราวก็ไม่ขัดขวางห้ามปราม แต่ให้เจ้าของวัดเจ้าของบ้านเจ้าของงานจดหมายบอกกล่าวต่อกรมมหาดไทย กรมพระกระลาโหม กรมท่า กรมเมืองเสียก่อนแต่วันจะยิงสามวัน เจ้าพนักงานกรมเมืองจะได้ป่าวร้องให้ราษฎรรู้ ว่าวันนั้นเวลานั้น คนนั้นจะยิงปืนใหญ่ด้วยธุระอย่างนั้นๆ ข้าราชการแลราษฎรจะได้ไม่มีความสงสัย อนึ่งถ้าจะยิงปืนคาบศิลาปืนนกหลอก ตามวังเจ้าต่างกรมแลเจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม แลบ้านข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยจะตั้งป้อมหัดบุตรหลานญาติพี่น้องบ่าวไพร่ให้ชำนิชำนาญในการยิงปืนเล็กก็ได้ แต่ให้จดหมายไปบอกต่อเจ้าพนักงานกรมมหาดไทย กรมพระกระลาโหม ให้รู้กำหนดเวลาทุกวัน ฤๅในวันมีกำหนด เจ้าพนักงานกรมมหาดไทยจะได้ให้กรมพระแสงไปตรวจตราดูป้อมที่จะหัดยิง ให้พ้นหนทางคนเดินไปมา เมื่อหัดยิงนั้นจะได้ไม่ถูกเปนอันตราย

อนึ่งถ้าจะยิงนกยิงสัตว์ก็ยิงได้แต่ที่ป่าที่ทุ่งนา ที่มิใช่ที่วัดที่บ้าน มิใช่หนทางคนที่เดินไปมา ถ้าจะยิงในที่วัดที่บ้านที่หนทางคนไปมา ผู้ที่จะยิงลางทีคนดีบ้างคนเมาสุราบ้าง ไม่ทันเห็นคนก็จะไปถูกคนป่วยเจ็บตาย ครั้นไปเอาตัวผู้ที่ยิงถูกคนตายนั้นมาจะปรับไหมทำโทษตามกฎหมายว่ายิงคนตาย ผู้ที่ยิงนั้นก็เถียงว่าหาได้แกล้งยิงคนไม่ ต้องถุ้งเถียงโอกเอกกันกว่าจะตัดสินตกลงก็ยาก ปืนนั้นก็เปนอาวุธทางไกล อาจที่จะทำลายชีวิตคนได้กว่าจักษุคนเห็น คือบังฝา บังต้นไม้ ไม่เห็นได้ด้วยจักษุ ปืนก็ตลอดไปถูกคนตายได้ เหตุฉนี้จึงได้ตั้งกฎหมายไว้ห้ามมิให้ยิงปืนเล็กในที่วัดที่บ้าน ถึงที่ป่าที่ทุ่งก็ดี ห้ามมิให้ยิง ช้างม้าแลโคกระบือแลสัตว ที่เจ้าของหวงห้ามเลี้ยงไว้ ถ้าผู้ใดมิฟังขืนยิงปืนให้ผิดแต่กฎหมายนี้ จะต้องปรับไหมเงินตั้งแต่ ๑๖๐ บาทขึ้นไป แล ๔๐๐ บาทลงมา ตามยิงมากแลน้อยตามกฎหมาย ถูกช้างม้าโคกระบือสุกรเป็ดไก่สัตวที่มีเจ้าของเลี้ยงอยู่ทำให้ตาย จะต้องคิดเงินให้ตามราคาของๆ เจ้าของตามของมากแลน้อยอิกส่วนหนึ่ง ถ้าคนฝ่ายไทยยิงถูกคนป่วยเจ็บตายจะปรับไหมทำโทษ ตามกฎหมายเดิมในประเทศสยาม ถ้าคนต่างประเทศยิงถูกคนป่วยเจ็บตาย กงสุลจะปรับไหมทำโทษตามกฎหมาย

มาตรา ๓ ให้กัปตันนายเรือ แลนายห้างที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยาม ห้ามอย่าให้กลาสีลูกเรือแลลูกจ้างไทยจีน แลคนขาวคนดำถืออาวุธต่างๆ คือปืนยาวปืนสั้นแลมีด ไปเที่ยวตามลำน้ำลำคลองแลบนบก ถ้าจะมีธุระเที่ยวไปซื้อของก็อย่าให้มีอาวุธสำหรับตัวไป ให้ไปแต่มือเปล่าแล้วให้สรั่งแลกำมโดของนายห้างกำกับไปด้วย ถ้ากัปตันแลนายห้างไม่ห้ามปรามกลาสีลูกเรือ แลลูกจ้างไทยจีนแลคนขาวคนดำ ปล่อยให้ถือเครื่องอาวุธต่างๆ คือปืนยาวปืนสั้นแลมีดไปเที่ยวตามลำน้ำลำคลองบนบกเวลากลางวันกลางคืนทำการวิวาท เจ้าพนักงานฤๅชาวบ้านจะช่วยกันจับตัวมาส่งต่อกงสุลให้ทำโทษ ถ้าไม่ยอมให้จับโดยดี ต่อสู้กันถึงแตกหักมีบาดเจ็บอย่างไร จะเอาโทษแต่ผู้จับไม่ได้ ถ้าทิ่มแทงทุบตีผู้จับเจ็บป่วยถึงตาย กงสุลจะปรับไหมทำโทษให้ตามกฎหมาย

อนึ่งลูกค้าถอยเรือขึ้นล่องมาในลำแม่น้ำ เรือค้างน้ำอยู่กลางทาง กลาสีขึ้นไปเก็บผลไม้ในสวนกิน เจ้าของสวนห้ามปรามไม่ฟัง จะเอามีดไล่ทิ่มแทงเจ้าของสวนความมีอยู่เนื่องๆ ครั้นจะให้เจ้าของสวนจับกุมเอาตัวมาฟ้องให้กงสุลทำโทษเล่า คนที่เฝ้าสวนนั้นน้อยมีอยู่แต่คนหนึ่งสองคนจะจับกุมก็ไม่ได้ ให้กัปตันนายเรือแลนายห้างห้ามเสียอย่าให้กลาสีแลลูกจ้างไปเก็บเอาผลไม้ของราษฎรชาวสวนเปนอันขาด ถ้ามิฟังไปขนเก็บผลไม้ในสวน เจ้าของสวนแลคนเฝ้าสวนเอากระสุนยิงถูกแตกหัก เจ็บป่วยประการใดจะเอาโทษแต่เจ้าของสวนไม่ได้ ถ้าทำเจ้าของสวนเจ็บป่วยล้มตาย กงสุลจะชำระโทษให้ตามกฎหมาย

มาตรา ๔ ห้ามมิให้คนเที่ยวไปในกำแพงวัง แลขึ้นลงที่ตำหนักน้ำในพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวัง แลวังสวนนันทอุทยานวังสวนสระประทุมวัน ซึ่งมีเจ้าพนักงานแลนายประตูรักษาอยู่เข้าไปไม่ได้ ต่อเจ้าพนักงานนำแลยอมแล้วจึงเข้าไปได้ ถ้าห้ามมิฟังขืนเข้าไปในที่ห้าม แลขึ้นลงในท่าพระตำหนักน้ำ แลเข้าไปในประตูพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวัง แลวังสวนนันทอุทยาน แลวังสวนสระประทุมวัน เจ้าพนักงานแลนายประตูจะจับตัวมาส่งต่อกงสุล ถ้าสู้รบกันล้มตายลงจะเอาผิดแต่เจ้าพนักงานแลนายประตูไม่ได้ ถ้าเจ้าพนักงานแลนายประตูตาย กงสุลจะปรับไหมทำโทษให้ตามกฎหมาย

พระราชบัญญัตินี้ได้ตีพิมพ์เปนอักษรไทยอักษรอังกฤษประกาศมาในครั้งหนึ่งก่อน เมื่อกาลต่อไปข้างหน้า มีความเกี่ยวข้องขึ้นอีกนอกจากพระราชบัญญัตินี้ ก็จะตั้งพระราชบัญญัตินั้นๆ เพิ่มเติมต่อไป ให้พระสงฆ์สามเณร แลข้าราชการฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือน แลผู้สำเร็จราชการเมืองเอกโทตรีจัตวาปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ แลราษฎรลูกค้าในประเทศนอกประเทศทุกภาษา ซึ่งเข้ามาค้าขายเรือใหญ่แลเรือเล็กไปมาในคลองแลลำแม่น้ำให้รู้จงทั่วกัน แล้วให้ประพฤติทำตามพระราชบัญญัตินี้จงทุกประการ

ประกาศมาณวันศุกร เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๒๒๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ