๑๖๘ ประกาศมหาสงกรานต์ปีวอกโทศก

ณวันพุธ เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ ปีมะแม ๑ เอกศก

[๑] มีพระบรมราชโองการให้ประกาศ แก่คนทั้งปวงบรรดาที่นับถือพระพุทธสาสนาแลธรรม ปีเดือนวันคืนอย่างเช่นใช้ในเมืองไทยให้รู้ทั่วกัน ในปีวอก๑๐ทศกนี้ วันพุธเดือนห้าแรมหกค่ำเปนวันเนา วันศุกรเดือนห้าแรมแปดค่ำเปนวันเถลิงศก ขึ้นศักราชใหม่เปน ๑๒๒๒ ในปีนี้การทำบุญแลเล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์เปน ๓ วัน ตามเคยอย่างทุกปี ตั้งแต่วันพฤหัสบดีเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่งไปจนวันพฤหัสบดีแรมเจ็ดค่ำ จดหมายลงชื่อปีในที่ทั้งปวงให้ว่าปีวอกยังเปนเอกศก ถ้าจดจุลศักราชให้คงเปน ๑๒๒๑ อยู่ ตั้งแต่วันศุกรเดือนห้าแรมแปดค่ำไปจนสิ้นปี คือจนถึงวันจันทร์เดือนสี่แรมสิบห้าค่ำ ซึ่งเปนวันตรุษสุดปีนั้น ให้ใช้ว่าปีวอกโทศก ลงเลขจุลศักราชว่า ๑๒๒๒ แต่เลขตามปีแผ่นดินซึ่งเขียนไว้บนศกนั้นเมื่อเปลี่ยนโทศกแล้ว ให้เขียนเปนเลข ๑๐ไปกว่าจะเปลี่ยนใหม่เถิด ในปีวอกโทศกนี้มีอธิกวาร คือเดือน ๗ เปนเดือนถ้วนนับ ๓๐ วัน คือมีเดือน ๗ แรม ๑๕ ค่ำด้วย คนฟั่นๆ เฟือนๆ เลื่อนๆ ใหลๆ จำการหลังไม่ได้ อย่าตื่นถามว่าทำไมเดือน ๗ เปนเดือนขี้จึงเปนเดือนถ้วนได้ ไม่เคยพบเคยเห็น ที่จริงนั้นเดือนเจ็ดเปนเดือนถ้วนอย่างนี้ ได้เคยมีเมื่อปีระกาเอกศก ศักราช ๑๒๑๑ ครั้งหนึ่ง มีเมื่อปีขาลฉศก ศักราช ๑๒๑๖ ครั้งหนึ่ง ในระยะ ๕ ปีบ้าง ๖ ปีบ้าง เคยมีมาแต่ก่อนอย่าให้สงสัยสนเท่ห์เลย ในปีวอกโทศกนี้ วันเสาร์เดือนห้าขึ้นสามค่ำวันหนึ่ง วันพฤหัสบดีเดือนสิบแรมสิบสามค่ำวันหนึ่ง เปนวันประชุมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา วันจันทรเดือนหกขึ้นสิบค่ำเปนวันจะทำพระราชพิธีจรดพระนังคัล ให้ราษฎรลงมือภายหลังวันนั้น คือตั้งแต่วันอังคารเดือนหกขึ้นห้าค่ำไป แลห้ามมิให้ลงมือทำนาก่อนฤๅในวันนั้น ตลอดพระราชอาณาเขตร ถ้าถึงวันเพ็ญเดือนหกเปนวันวิสาขนักษัตรบูชา ให้เอาวันเสาร์เดือนหกแรมค่ำหนึ่งเปนวันเพ็ญ จึงจะต้องด้วยนักษัตรฤกษ์ที่เห็นตรง วันพุธเดือนแปดแรมค่ำหนึ่งเปนวันเข้าปุริมพรรษา วันเสาร์เดือนเก้าแรมค่ำหนึ่งเปนวันเข้าปัจฉิมพรรษา วันอาทิตย์เดือนสิบเอ็จขึ้นสิบห้าค่ำสมมติเปนวันมหาปวารณา อาราธนาพระสงฆ์ในพระราชอาณาจักรตรวจดูนักษัตรฤกษ์ในอากาศเปนพยานแล้ว ประพฤติการวินัยกรรมให้ชอบเทอญ แลซึ่งว่าวันอาทิตย์เดือนสิบเอ็จขึ้นสิบห้าค่ำเปนวันมหาปวารณานั้น ว่าตามลัทธิที่พระสงฆ์เปนอันมากทุกบ้านทุกเรือนในพระราชอาณาจักรนี้ นับถือกันว่าเปนอันถูกต้อง แต่ถ้าจะคิดให้เลอียดแล้ว เพราะปีนี้มีอธิกวาร วันในภายในพรรษามีแต่ ๘๘ วัน ในข้างขึ้นเดือนสิบเอ็จนั้นพระจันทร์จะเต็มเสียแต่ในวันเสาร์เดือนสิบเอ็จขึ้นสิบสี่ค่ำ ครั้นวันอาทิตย์เดือนสิบเอ็จขึ้นสิบห้าค่ำ พระจันทร์ตกแรมไปแล้ว ถ้าพระสงฆ์จะถือเลอียดตามพระวินัย ว่าปวารณาทำข้างแรมไม่ได้ ก็จงทำปวารณาเสียแต่ในวันเสาร์เดือนสิบเอ็จขึ้นสิบสี่ค่ำ ก็เปนดีแท้จริงไม่ผิดเลยแต่วันเข้าปุริมพรรษานั้นถูกแน่แล้ว ต้องเอาวันพุธเดือนแปดแรมค่ำหนึ่งเปนแน่ แต่วันเข้าปัจฉิมพรรษนั้นถ้าจะคิดโดยเลอียดดังวันปวารณา จะต้องอธิษฐานปัจฉิมพรรษาในวันพฤหัสบดีเดือนเก้าขึ้นสิบสี่ค่ำ ซึ่งจะมีจันทรอุปราคานั้นชื่อว่าเดือนหนึ่ง แต่หน้าอาษาฒบุรณมีเปนเต็มบริบูรณ์แล้ว ให้ผู้รู้แลผู้จะถือวินัยให้ถูกต้องจงพิจารณาเลือกปฏิบัติเถิดตามชอบใจ จะถือตามนักษัตรฤกษ์อันเลอียด ฤๅจะถือตามลัทธิที่เคยก็ตาม ถ้าไม่ถืออะไรก็แล้วไปเถิด ไม่บังคับบัญชาอะไรมาดอกเปนแต่บอกให้ทราบ เชื่อก็ตามไม่เชื่อก็แล้วไปอย่าว่าอะไรเลย ปีนี้สงกรานต์ทรงพาหนอะไรภักษาหารอะไรถืออะไรจะว่ามาก็ไม่ต้องการ

วันพุธเดือนเก้าขึ้นสิบสี่ค่ำปีวอก๑๐ทศก จะมีจันทรอุปราคา จะจับทิศอาคเณ กินเปนอัฑฒคราธกึ่งดวงหย่อนอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วเลียบมาข้างทิศทักษิณ แล้วจะคลายออกจนหลุดทิศทักษิณค่อนข้างหรดีหน่อยหนึ่ง ที่กรุงเทพมหานครกรุงเก่าแลลพบุรีขึ้นไปข้างเหนือ ปักษ์ใต้จนเมืองสงขลาเมืองตานีเปนบรรทัดกลาง เวลาแรกจับ ๔ ทุ่มกับ ๔๔ นาที คือ ๗ บาทนาฬิกา แต่ว่าจะเหนพระจันทร์หมองมัวข้างทิศอาคเณก่อนขาดขอบ ๓ บาทนาฬิกา เวลากลางคราธคือจับเกือบถึงกึ่งดวงเปนมากที่สุด เปนเวลา ๒ ยามถ้วนเที่ยงคืนทีเดียว เวลาหลุดขอบพระจันทรเห็นเต็มเมื่อ ๗ ทุ่มกับ ๑๖ นาทีคือ ๓ นาฬิกา แต่พระจันทรยังจะหมองอยู่ข้างทิศหรดีไปอีก ๓ บาทนาฬิกา กำหนดทั้งสามสถานนี้ ถ้าจะทายในเมืองฝั่งทเลตวันออกตั้งแต่เมืองตราดเมืองจันทบุรีขึ้นมาจนเมืองชลบุรีเมืองพนัสนิคม เมืองฉะเชิงเทรา เมืองปราจิณบุรี ในแนวตวันออกกรุงเทพ ต้องทายให้แก่กว่าที่กรุงเทพดังว่าแล้วนั้น ๒ นาฬิกาบ้าง ๓ นาฬิกาบ้าง ตามเมืองที่ห่างไปตวันออก คือให้เพิ่มส่วนที่ ๓ ฤๅกึ่งแห่งบาทเข้าทายเถิด จึงถูกกับเวลานาฬิกาตั้งในเมืองเหล่านั้น แต่ฝ่ายเมืองฝั่งทเลตะวันตกตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาจนเมืองเพ็ชร์บุรี เมืองกาญจนบุรี ถ้าจะทายก็ให้ลดลงกว่ากำหนดที่ว่าแล้วนั้น ๒ นาทีบ้าง ๓ นาทีบ้าง คือลดเสียเท่าส่วนที่ ๓ แห่งบาทฤๅกึ่งบาท ตามเมืองที่ไกลแลใกล้กรุงเทพไปข้างตวันตก เพราะเวลาเที่ยงคืนเที่ยงวัน ในฝั่งตวันตก เปนหลังเที่ยงคืนเที่ยงวันในฝั่งทเลตวันออก ๔ นาทีบ้าง ๕ นาทีบ้าง ๖ นาทีบ้าง พยากรณ์จันทรอุปราคานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำณวน มิใช่โหรทำถวาย

ประกาศมาณวันพุธเดือนสี่แรมแปดค่ำปีมะแมเอกศก พระยาประสิทธิ์ศุภการ แลพระศรีสุนทรโวหาร เปนผู้รับสั่ง



[๑] ประกาศฉบับนี้ออกในปีมะแม แต่เปนประกาศสงกรานต์ปีวอกจึงยกมาไว้ต้นของปีวอก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ