โอรสพระราชากับบุตรทัณฑนายก

โอรสพระราชากับบุตรทัณฑนายก เป็นสหายสนิทสนมกันมาก วันหนึ่งบุตรทัณฑนายกพูดกับโอรสพระราชา

“สหาย ควรเราจะไปเยี่ยมพ่อตา เสียสักที”

เจ้าชาย- “ก็ดีเหมือนกัน”

บุตรทัณฑนายก- “ถ้าจะให้ดีควรต่างคนพาไปให้รู้จักพ่อตาของตน จะมิดีหรือ?”

เจ้าชาย- “ได้เหมือนกัน”

บุตรทัณฑนายก- “เช่นนั้นไปบ้านพ่อตาข้าพระเจ้าก่อน เป็นเหมาะ”

เจ้าชาย- “ตามใจ ได้เหมือนกัน” เพราะฉะนั้นทั้งสองขออนุญาตผู้ใหญ่ฝ่ายตนแล้วก็ไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ จึงไปแวะบ้านพ่อตาของบุตรทัณฑนายกก่อน ครั้นถึง บุตรทัณฑนายกตรงเข้าไปในบ้าน ให้เจ้าชายประทับคอยอยู่ข้างนอก พ่อตาเห็นลูกเขยคือบุตรทัณฑนายก ดีใจต้อนรับเต็มที่ บุตรทัณฑนายกพูดกะคนในบ้าน “ฉันพาบ่าวมาคนหนึ่ง คอยอยู่ข้างนอก ดูแลมันบ้างเล็กน้อยก็พอ”

เจ้าชายประทับอยู่ข้างนอกไม่สู้ไกลนัก พอได้ยินวาจาที่บุตรทัณฑนายกพูดได้สนัด ทรงนึกเสียพระหฤทัย “ไม่ควรมาเลยเรา แต่ขอรอดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรอีก”

ล่วงมาไม่ช้า หญ้าสำหรับเลี้ยงม้าของบุตรทัณฑนายกขาดลง มีคนเข้าไปบอก บุตรทัณฑนายกสั่ง “เอาเคียวส่งให้คนของฉันอยู่ที่นั่น ไปเกี่ยวหญ้ามาให้ม้ากิน” คนในบ้านนำเคียวไปให้เจ้าชายและสั่งตามที่บุตรทัณฑนายกบอก เจ้าชายทรงรับเคียวมาแล้วมิได้ตรัสประการไร เสด็จตรงไปเกี่ยวหญ้าทันที เกี่ยวไม่ได้นานเคียวบาดพระองคุลี โลหิตไหลเจ็บปวดสาหัส ขณะนั้นพระภควดี[๑] และพระศิวะเสด็จมาทางนั้น ได้สะดับเสียงร้องไห้ พระภควดีตรัสกะพระศิวะ “ฐากูร เราลงไปดูสักทีว่าใครร้องไห้”

พระมหาเทพ- “หล่อนละเป็นเช่นนี้เสมอ ไม่ว่าไปไหนเป็นต้องเร้าถาม ไม่ว่าเรื่องอะไรต่ออะไรไม่รู้จักจบ เดี๋ยวถาม ‘ใครร้องไห้?’ ‘ร้องไห้ทำไม?’ ใครจะมัวนั่งบอกให้ไม่หยุดหย่อนอย่างนี้ มาเถิด อย่าไปกังวลนักเลย”

พระภควดี- “ถ้าไม่บอก หม่อมฉันไม่ไปต่อไป”

พระมหาเทพเล่าเรื่องเจ้าชายให้ฟัง.

พระภควดี- “อย่างนั้นต้องลงไปดู”

พระมหาเทพต้องยอม เสด็จลงไปถึงเจ้าชาย พระภควดีมีรับสั่งถาม “นี่เจ้ามาจากไหน?”

เจ้าชายก็ทูลเรื่องให้ทรงทราบ.

พระภควดี- “ไม่ต้องวิตก เราจะให้มนตร์เวลาถูกอะไรบาด ให้เอาเมือทาบลงที่ตรงแผล แล้วเศกว่า

“โอมโองการศิวะ และทุรคาเทพี
ทั้งสองจงติด สิทธิทันที”

เจ้าชายทรงลองเศกตามมนตร์นั้น แผลที่พระองคุลีก็กลับติดหายสนิท ดีพระหฤทัยร้องสรรเสริญพระบารมีเทพาธิบดีทั้งสอง ครั้นแล้วพระมหาเทพและพระภควดีเสด็จไปแล้ว เจ้าชายทรงเกี่ยวหญ้าต่อไป พอกับที่ต้องการก็มัดเข้าเป็นฟ่อนใหญ่ทูลเศียรเสด็จกลับ.

ต่อมาหลายวัน เจ้าชายยังถูกบุตรทัณฑนายกใช้ให้ทำงานหนักยิ่งขึ้น ทรงอดกลั้นต่อไปไม่ได้ คำนึงในพระหฤทัย “จะต้องสั่งสอนไอ้พวกบ้านี้ให้รู้สึกเสียบ้าง” คืนนั้นเอง เมื่อบุตรทัณฑนายกเข้าห้องนอนด้วยภรรยา เจ้าชายทรงแอบอยู่ในที่ลับซึ่งพอจะทอดพระเนตรเห็นในห้องได้ บุตรทัณฑนายกเข้าไปในห้องหยิบมะระกู่สูบ ในขณะนั้นเจ้าชายร่ายมนตร์ขึ้น

“โอมโองการศิวะ และทุรคาเทพี
ทั้งสองจงติด สิทธิทันที”

ปากบุตรทัณฑนายกก็ติดกับมะระกู่แน่น ภรรยาตกใจเข้าไปดึงหมายจะให้ออก พอมือจับกระบอกมะระกู่ เจ้าชายก็ว่ามนตร์.

“โอมโองการศิวะ และทุรคาเทพี

ทั้งสองจงติด สิทธิทันที”

ทันทีกัน มือภรรยาของบุตรทัณฑนายกก็ติดกับกระบอกมะระกู่แน่น ตกใจเรียกให้คนช่วย พวกในบ้านพากันวิ่งเข้ามาในห้อง ต่างคนช่วยกันฉุดจะให้มะระกู่หลุด เจ้าชายก็ว่ามนตร์ขึ้นอีก เลยติดกันเป็นต่อๆ ปลดไม่ออก หมดปัญญา ตาเจ้าของบ้านร้องให้คนไปตามปุโรหิต[๒]สำหรับบ้านมา แต่จะหาใครไปไม่มีเพราะติดอยู่กับมะระกู่หมดเหลือแต่เจ้าชายองค์เดียว ซึ่งตาเจ้าของบ้านต้องใช้ให้ไปตาม

เจ้าชายเสด็จไปถึงบ้านปุโรหิตไม่ช้า บอกว่าเจ้าของบ้านขอเชิญไปโดยเร็วที่สุด ตาปุโรหิตรีบตะลีตะลานไป ฝ่ายเมียเห็นผัวไปก็จะไปด้วย ตาผัวไม่ยอมว่ากลางค่ำกลางคืนไปทำไม เมียขืนไปให้ได้เพราะเข้าใจว่าเขามีพิธีรื่นเริงสนุกสนาน รีบเดินมาด้วยกัน มาตามทางจะต้องข้ามลำธารเล็กๆ แห่งหนึ่ง ภรรยาตาปุโรหิตบอกว่ากลางคืนไม่กล้าลุยน้ำข้ามไป เจ้าชายทรงแนะนำตาปุโรหิต “แบกขึ้นบ่าข้ามไปเป็นอย่างไร น้ำตรงนี้ตื้นไม่ลึกนัก”

ภรรยาตาปุโรหิต- “ออกความคิดดีพอใช้” หันไปทางสามี- “เอาเถอะฉันจะขอขี่ไปพอข้ามไปฟากข้างโน้นจึงปล่อยลงก็ได้” ตาพราหมณ์ต้องยอมให้เมียขี่หลังลงน้ำลุยไป ลุยมายังไม่ทันจะถึงฟากข้างนี้ดี เจ้าชายก็อ่านมนตร์ขึ้น.

“โอมโองการศิวะ และทุรคาเทพี
ทั้งสองจงติด สิทธิทันที”

ตาพราหมณ์ข้ามมาถึงฝั่งข้างนี้ ร้องบอกให้เมียลง เมียลงไม่ได้ ติดอยู่บนหลังแน่น.

ตาพราหมณ์เตือน “บอกให้ลงก็ไม่ลงเล่นอีท่าไรนี่?”

เมีย- “ก็มันติด ลงไม่ได้ จะทำอย่างไร?”

ตาพราหมณ์ต้องแบกเมียมาถึงบ้านนาย คนที่บ้านเห็นตาพราหมณ์แบกเมียมาก็หัวเราะ ถาม “นั่นทำอะไรกัน ทำไมจึงต้องขี่หลังมาด้วย?”

ตาพราหมณ์โกรธเมียเต็มแก่- “ดูเอาเถอะ ท่านทั้งหลาย ผู้หญิงอะไรไม่รู้ ชั่งดื้อด้านแท้ๆ บอกให้ลงเท่าไรก็ไม่ลง”

เมีย- “ก็มันติดออกแน่น จะให้ลงอย่างไร?”

คนในบ้านได้ฟังก็คาดถูก พูด “เห็นจะอย่างเดียวกันอีก เชิญมาหมายจะให้แก้กลับมาโดนเข้าเอง กรรม กรรม จะทำอย่างไรเล่าตานี้ “นึกเฉลียวถามหาคนที่ไปตาม เจ้าของบ้านเรียกตัวเข้ามาถาม “เรื่องอุบาทว์ที่เกิดติดกันเป็นต่อๆ นี้ เจ้ารู้เรื่องอะไรบ้างไหม?”

เจ้าชาย- “ฉันเป็นแต่บ่าว จะไปรู้เรื่องของนายที่ไหน”

ตาเจ้าของบ้านไม่เชื่อ เข้าใจว่าคงรู้เรื่องดี วิงวอนถามขอความช่วยเหลือ เจ้าชายสงสารจึงตรัส “เรื่องนี้เกิดเหตุเพราะลูกเขยท่าน ที่ใช้เราไปตัดหญ้าให้ม้ากิน” ตรัสแล้วทรงร่ายมนตร์แก้[๓]

“โอมโองการศิวะ และทุรคาเทพี
ที่ติดจงหลุด หลุดออกทันที”

พอจบมนตร์ พวกเหล่านั้นก็หลุดออกไปจากกัน และในเวลานั้นเอง เจ้าของบ้านก็รู้ว่าเจ้าชายคือใคร ทูลขอโทษที่ไม่รู้มาแต่แรก แสดงความเคารพนบนอบเต็มที่ เจ้าชายก็เสด็จกลับวัง.


[๑] ในปัญจราตร เป็นนามของพระลักษมีมเหษีของพระวิษณุ, และในที่นั้นเองเป็นนามของพระทุรคาชายาพระศิวะ แต่ในที่นี้ คงเป็นนามของพระทุรคา

[๒] ‘ปุโรหิต’ คือพราหมณ์ผู้ที่กำหนดฤกษ์ยามในกิจพิธีแก้คาถาอาคม ปัดเป่าเสนียดจัญไร ล้างบาป อัญเชิญเทวดาอารักษ์ ฯลฯ มีความรู้มาก หมู่บ้านซึ่งมีพราหมณ์อยู่มักมีปุโรหิตอยู่ด้วย ได้รับประโยชน์พิเศษที่ได้ยกเว้นไม่ต้องเสียค่าเช่าอากร-Dubois หน้า ๑๓๖-๗

[๓] ตอนต้นไม่ได้กล่าวว่าได้รับมนตร์สำหรับแก้จากพระภควดี ทำนองจะลืม ถ้าจะมาผูกคาถาเอาเอง.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ