พราหมณ์กินพรหม

นิยายนี้ขึ้นต้นว่า พราหมณ์สองผัวเมียอัตคัดขัดสนมาก พราหมณ์ผัวเมียมีกรรมประจำตัวอย่างประหลาดเวลากินข้าว กินได้ครึ่งเดียวไม่ทันอิ่มเป็นมีเหตุซึ่งทำให้กินข้าวค้างเสมอ[๑] ต้องเลิก กินไม่ได้ต่อไป

วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มีการเลี้ยงพวกพราหมณ์ที่พระราชวัง พราหมณ์คนนี้ถูกอาราธนาด้วย ดีใจพูดกะเมีย “ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยกินข้าวอิ่มสักที วันนี้ถูกเชิญไปกินเลี้ยงที่พระราชวัง สิ้นเคราะห์หละ แต่จะไปอย่างไรกัน? เสื้อแสงสกปรกเปรอะเปื้อน ถ้าแต่งปอนไป ชะดีชะร้ายคนเฝ้าประตูวังจะไม่ให้เข้า”

เมีย- “อย่าวิตกเลย จะซักให้สะอาด” ยายพราหมณีเอาเสื้อผ้าพราหมณ์ผัวไปแช่ด่างทั้งขยี้ทั้งซักเสียหลายน้ำ ตากแห้งแล้วส่งให้ผัว.

ตาพราหมณ์รับไปสรวมเสร็จ เดินป๋อออกจากบ้านตรงไปพระราชวัง กว่าจะถึงก็เกือบมืด เพราะตาแกแก่จวนหมดกำลังอยู่แล้ว เดินให้ถึงเร็วกว่านั้นไม่ได้ การเลี้ยงพราหมณ์จึงเสร็จเสียก่อนแกถึง แต่พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ล้าหลังมาอีกคน รับสั่งให้เจ้าพนักงานจัดอาหารเอามาเลี้ยงอีก.

ตาพราหมณ์เลือกนั่งลงที่เหมาะ มองดูกับข้าวของเลี้ยงซึ่งยกมา แต่ละอย่างส่งกลิ่นชวนกิน นึกอิ่มเต็มที่- “วันนี้ อย่างไรต้องกินให้พูนกระเพาะ” พอเจ้าพนักงานยกมาพร้อม ตาพราหมณ์ไม่รอช้า ลงมือกิน บังเอิญที่ตรงนั้นเจ้ากรรม ใครเอาหม้อดินมาแขวนไว้ที่รอดเพดาน ตาพราหมณ์กินข้าวพอดีได้ครึ่งอิ่ม เจ้าหม้อดินปาฏิหาริย์ตกลงมากลางข้าวแตกกระจายเต็มวง เป็นสุดท้ายของการกินเพียงนั้น[๒] ดื่มน้ำล้างคอ[๓] ล้างมือบ้วนปากเสร็จ ออกมาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน.

พระราชเห็นพราหมณ์เข้ามา ย่อพระองค์โดยเคารพ รับสั่งถาม “ฐากูร[๔] อิ่มหนำสำราญแล้วหรือ?”

พราหมณ์- “มหาราช! ตามที่ทรงพระกรุณาบริบูรณ์ทุกอย่าง พระคุณเป็นล้นพ้น แต่รูปมีกรรมรับฉลองไม่เต็มศรัทธา ถึงที่บ้าน รับประทานไม่ได้อิ่มเหมือนกัน โทษใครไม่ได้.”

พระเจ้าแผ่นดินประหลาดพระหฤทัย “เอ๊ะ! ทำไมอย่างนั้นเล่า?”

พราหมณ์แก่ “มหาราช! ในที่ซึ่งรูปนั่งรับพระราชทานอาหาร มีหม้อดินใครแขวนไว้ เชือกที่ผูกขาดพลัดตกลงมาแตกเปื้อนข้าวหมด”

พระเจ้าแผ่นดินทรงพระพิโรธเจ้าพนักงานมาก รับสั่งกะพราหมณ์ “เชิญท่านพักเสียที่นี่คืนนี้ก่อน พรุ่งนี้ข้าพเจ้าจะจัดการเลี้ยงท่านเอง.”

พราหมณ์ดีใจ รับอาราธนานอนในพระราชวัง รุ่งเช้าพระเจ้าแผ่นดินทรงจัดอาหารอังคาสพราหมณ์ด้วยพระองค์เอง ในที่ซึ่งคราวนี้ไม่อาจจะมีอะไรมาทำลายพิธีได้ พอพราหมณ์กินได้ครึ่งท้อง ร้อนถึงพระพิธาตา[๕]ทรงเห็นว่าควรจะให้พราหมณ์กินเพียงเท่านี้ ตามพระลิขิต แต่ไม่มีทางจะขัดขวางอย่างอื่น พระพิธาตาหมดท่า ต้องพระองค์เองแปลงเป็นกบทอง[๖]เข้าไปเกาะอยู่ที่ใบตอง[๗]รองข้าวของพราหมณ์ แล้วกระโดดลงไปในกองข้าว

พราหมณ์กำลังสาละวนกินข้าว ไม่ทันพิจารณาเลยกินกบเข้าไปด้วย ครั้นอิ่มแล้วพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งถามว่า “อย่างไร ฐากูร วันนี้เห็นจะฉันอิ่มกระมัง?”

พราหมณ์ทูลตอบ “อิ่มเรียบร้อยดี มหาบพิตร ตั้งแต่เกิดมาเพิ่งได้รับประทานอิ่มวันนี้” แล้วทูลลา พระเจ้าแผ่นดินประทานเงินรูปี[๘]ตามสมควร

พราหมณ์ดีใจออกเดินทางกลับบ้าน มาเย็นเอากลางป่า พราหมณ์รู้สึกตัวดูเหมือนได้ยินใครร้องเสียงแว่วๆ ว่า “พราหมณ์เอ๋ย พราหมณ์เอาเราออกเถิด”

ตาพราหมณ์เหลียวซ้ายแลขวาไม่เห็นใคร ประเดี๋ยวก็ได้ยินเสียงร้องเรียกอย่างนั้นอีก พราหมณ์ไม่เห็นตัวจึงตะโกนถาม “ใคร? ใครหว่าที่พูด?”

เสียงตอบ “เราเอง พราหมณ์ เราคือพระพิธาตาบุรุษ”

พราหมณ์- “ก็นั่นเสด็จอยู่ที่ไหน? แลไม่เห็น”

พระพิธาตา- “แกกลืนเราเข้าไปในท้อง”

พราหมณ์- “ฮ้า! พูดเป็นเล่น มันจะเป็นได้อย่างไร? ไม่เชื่อ”

พระพิธาตา- “เราแปลงเป็นกบเข้าไปอยู่ในกองข้าวของแก แล้วแกกินเราเข้าไป”

พราหมณ์- “ดีนัก! รังแกกันมาตั้งแต่เกิดมาจนแก่ ไม่ให้กินข้าวอิ่มสักมื้อ อย่างนี้ใครจะยอมให้ออก จะหุบปากให้ขาดใจตายเสียไม่ว่า”

พระพิธาตาตกใจ “พราหมณ์เอ๋ย พราหมณ์ ให้เราออกไปเถิด หายใจไม่ออกแล้ว”

แต่พราหมณ์ไม่ฟังเสียง รีบสาวก้าวเดินกลับบ้าน พอถึงตะโกนเรียกเมียถี่ “ยาย ยาย เอาม้ามาให้นั่ง เร็ว แล้วไปเอามะระกู่มา หาพลองโตๆ ถือคอยระวังไว้”

พราหมณ์เมียไม่รู้เหนือรู้ใต้ รีบไปเอามาให้ครบทุกอย่าง.

พราหมณ์นั่งลงสูบมะระกู่ สูดควันเข้าท้องให้มากที่สุดที่ลมของแกจะแรงได้เท่าไร ดูดเข้าไป อัดเข้าไป ดูดเข้าไป อัดเข้าไป ตาคอยระวังไม่ให้พระพิธาตาหนีออกได้

พระพรหมทั้งอยู่ในท้องอับอากาศ หายใจออกครึ่งไม่ออกครึ่ง ทั้งถูกควันฉุนรมหนาทึบ ตั้งกองแต่สำลัก อ้อนวอนพราหมณ์เท่าไร แกทำเป็นหูทวนลมเสีย.

คราวนี้เกิดเหตุใหญ่ บนสวรรค์เอย บนแผ่นดินเอย ในนรกเอย ปั่นป่วนโกลาหลอลหม่าน บรรดาสัตว์ทำท่าจะตายกันวินาศด้วยไม่มีอะไรจะกิน ท้องฟ้าโยกเยกอ่อนยวบจะพังแหล่มิพังแหล่ ต้นหมากรากไม้ปราสาทวิมานไพชยนต์ พังโครมครามเสียงก้องไปทั้งสวรรค์ พวกเทวดาตกวิมานหกคะเมนลงไปดิ้นขวัญหนีดีฝ่อ ลุกขึ้นวิ่งมาปรับทุกข์กันว่าจะทำประการไร จึงให้พราหมณ์คายพระพิธาตาออกมาได้ ปรึกษาตกลงกันขอร้องให้พระลักษมีช่วย[๙]

พระลักษมีเสด็จมาถึงบ้านพราหมณ์ตะโกนเรียก.

พราหมณ์ทราบว่าพระลักษมีเสด็จมา เอาผ้าคล้องคอ[๑๐]แล้วออกมารับ เชิญให้ประทับปราศรัยถาม “มีธุระปะปังอะไร จึงเสด็จมาถึงบ้านช่องคนจน?”

พระลักษมีตอบ “ฐากูร ท่านขังพระพิธาตาไว้ในท้อง ปล่อยเสียเถิด เดี๋ยวโลกจะฉิบหายหมด”

หราหมณ์พื้นเสีย ตะโกนเรียกเมีย “ยายไปเอาพลองมาที ต้องลองดีพระลักษมีประจำลาภให้รู้รสสักหน่อย อะไรนี่ ตั้งแต่เกิดมาไม่ได้อะไรกับเขาสักที มีแต่เคราะห์ร้ายวายวอดเสมอ ขันไหมล่า วันนี้พระลักษมีตัวลาภเกิดมาหาได้”

พระลักษมีตกใจ หายวับไปทันที ขึ้นไปรายงานให้พวกเทวดาฟัง คราวนี้เทวดาต้องเรียกประชุมปรึกษากันใหม่ ตกลงเชิญให้พระสรัสวดี[๑๑]ไป.

พระสรัสวดีเสด็จถึงบ้านพราหมณ์ ตะโกนร้องเรียก “พราหมณ์ พราหมณ์อยู่หรือเปล่า?”

พราหมณ์ออกมาต้อนรับ ถาม “พระแม่เจ้าเสด็จมาทำไมกับบ้านคนยากคนจน?”

พระสรัสวดี- “ฐากูร ปล่อยให้พระพิธาตาออกมาเถิด โลกจวนจะทำลายอยู่แล้ว”

พราหมณ์พื้นเสียใหญ่ แผดตะโกนเรียกเมียอีก “หยิบไม้มา ยาย เร็วเข้า จะสอนพระแม่เจ้าประจำความรู้ให้รู้จักรสไม้บ้าง”

พระสรัสวดีไม่กล้ารอหน้าช้า รีบหนีพรวดพราดโดนอะไรต่ออะไรโป้งป้างกระหืดกระหอบกลับ.

ถึงที่สุด พระศิพ[๑๒]ต้องเสด็จเอง เผอิญตาพราหมณ์แกเป็นพวกไศพะ[๑๓] นับถือพระศิวะแก่กล้า จนถ้าแกยังไม่ได้บูชาพระศิวะก่อน ชั้นแต่น้ำก็ยังไม่ถูกต้อง พอพระศิวะเสด็จลงมาถึง ตาพราหมณ์พร้อมทั้งเมียก็เอาน้ำมาล้างพระบาท ถวายใบมะตูม[๑๔] หญ้าแพรก[๑๕] ดอกไม้ ข้าวตอก และไม้จันทน์[๑๖]

พระศิวะประทับลงแล้ว ตรัสกะพราหมณ์ “พราหมณ์จงปล่อยให้พระพิธาตาออกมาเถิด”

พราหมณ์- “เมื่อพระองค์เสด็จลงมาเองดังนี้ ข้าพเจ้าก็จำต้องปล่อยถวาย แต่ส่วนข้าพเจ้าจะทำประการไร? ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ได้รับแต่ความลำบากเดือดร้อน เพราะพระพิธาตารังแกขัดคอไม่หยุดหย่อน เจ็บใจไม่หาย”

พระมหาเทพ[๑๗]- “เอาเถอะพราหมณ์ เรื่องนั้นไม่ต้องวิตกอีกต่อไป เราจะให้เจ้าขึ้นสวรรค์ได้ทั้งร่างกาย”[๑๘] ตรัสรับรองดังนี้ พราหมณ์จึงยอมขยอกเอาพระพิธาตาออกจากปาก ครั้นแล้วพระมหาเทพจึงทรงพาพราหมณ์พร้อมทั้งยายเมียขึ้นสวรรค์



[๑] ทำให้กินข้าวค้าง เป็นคำพูดติดปากของชาวเบงคลี

[๒] กำลังกิน ถ้าเกิดเหตุอันทำให้หยุดชะงักกลางคัน ถือว่าอาหารนั้นเป็นเดนแล้ว ไม่สะอาดต้องเลิกกิน.

[๓] สํ - คัณฑูษ;= ‘น้ำซึ่งอมไว้เต็มปาก; น้ำหรือของเหลวอื่นๆ ซึ่งหล่อไว้ในอุ้งมือเพื่อใส่ปาก: น้ำซึ่งเทกรอก ฯลฯ’ ก่อนและหลังแห่งการกินอาหาร ต้องกินน้ำล้างคอ เป็นวัตรซึ่งละเว้นไม่ได้

[๔] เบงคลี - Thakur สํ. ฐักกุระ; เทวดา, รูปเคารพ มักใช้เรียกเทวรูปในเทวสถาน เหตุที่พราหมณ์เป็นเหมือนเทวดาในมนุษยโลก จึงมีผู้เรียกเช่นนั้นบ้าง M.W. - a deity, object of reverence,.man of rank, chief (the modern “Thakur, Tagore” added to names)

[๕] เบงคลี - Bidhata; กล่าวโดยบุคลาธิษฐาน: พิธาตาบุรุษ เป็นเทพประจำความดีความชั่ว คอยให้ผลแก่ผู้ทำ, กล่าวตามธรรมาธิษฐาน: พิธาตาคือ ‘กรรมผล (Karmaphala)’ เพราะเนื่องมาจากผู้นั้นทำไว้เองในก่อน ที่เข้าใจกันโดยมาก: เมื่อคนเกิดมาครบ ๖ วัน พระพิธาตาเปนผู้จารึกความเป็นไปภายหน้าของเด็กคนนั้นที่กบาล (เบงคลี Kopal) เพราะฉะนั้นจึงพูดกันติดปากว่า ‘ลิขิตไว้ที่กบาล’ หรือพูดสั้นๆ เพียงว่า ‘กบาล’ ซึ่งถ้าไทยเราจะย่อเข้าบ้าง ต้องเป็นตรงกับคำ ‘ลิขิต’

ตามหนังสือสังสกฤต พิธาตา (=วิธาตา, วิชาตฤ) แปลว่า ‘ผู้สร้าง ผู้สรร ผู้ทำ ฯลฯ’ นามของพรหม (โดยที่เป็นผู้สร้างโลกและกำหนดโชคกรรมแก่มนุษย์) เพราะเหตุนั้นเมื่อถึงคราวรับผลซึ่งมนุษย์ไม่ได้คาดหมายไว้ เช่น ถึงคราวตาย จึงเรียกว่า ‘ถึงพรหมลิขิต’ นามของวิษณุ, ของศิวะ, ของกามเทพ, ของวิศพกรรม, ของนารท

[๖] ทีจะเป็นปาด เพราะอ้างว่า หลังเหลือง

[๗] ชาวเบงคลีอยู่บ้านกินข้าวด้วย ถาล (Thala; สํ. ส๎ถาล = ‘จาน, ชาม, ถาด’) ทำด้วยโลหะ, ในเวลาเดินทาง หรือเลี้ยงดูกันหลายคน ใช้ใบตองแทนถาล ดูภาคผนวก.

[๘] บรรดาพราหมณ์ที่ถูกเผดียงไปรับเลี้ยง ได้เงินแจกด้วย เป็นการเรียกว่า ‘ทักษิณา’

[๙] เบงคลี - Lohi ชายาของพระนารายณ์ เทพกันยาประจำโชคลาภและความงาม เปนผู้อำนวยลาภผลแก่โลก

[๑๐] เครื่องนุ่งห่มของชาวเบงคลี คือ:-

dhuti = ธุติ ผ้าวขาวยาว ทำผ้านุ่ง

piryan = ปีร๎ยัน เสื้อขาว และ

chhador = ฉัทร ผ้าห่มผืนยาว, ถ้าแสดงความเคารพก็คล้องคอ ชาวบ้านนอกหัวครึๆ ไม่ใช้เสื้อ

[๑๑] เทพกันยาประจำวาจาและการศึกษา ไม่ถูกกับพระลักษมี บางคราวว่าเป็นธิดาหรือชายาของพรหม เบงคลี - (Shorosh’oti)

[๑๒] เบงคลี sib, สํ. - ศิว; ดูประวัติในวิษยานุกรมหิโตปเทศ ตอน ๑ มิตรลาภ

[๑๓] เบงคลี - Saibo; สํ. = ไศว.

ไศพ : สํ ไศว ‘เคารพหรือขึ้นต่อพระศิวะ’ เป็นนิกาย ๑ แห่งนิกายใหญ่ทั้ง ๓ ของศาสนาฮินดู (อีก ๒ คือไวษณพนิกายและศาก์ตนิกาย, ไศวนิกายนับถือพระศิวะมากกว่าพรหมและวิษณุ - ด้วยยกให้เป็นพระเจ้าสูงสุด เป็นมูลและหัวใจของโลกทั้งสิ้น ด้วยเป็นผู้ล้าง ผู้ทำลายโลก, เทวาลัยซึ่งสร้างอุทิศในความเป็นผู้สร้างและชลอเลี้ยงโลก [ตามที่มีศิวลึงคเป็นเครื่องหมาย] มีแพร่หลายทั่วไปในประเทศอินเดีย)-นัย M.W

‘พวกไศวมีเครื่องหมายเป็นที่สังเกต คือขีดเส้นแทงตรงที่หน้าผากเส้นเดียว ใช้เถ้ามูลโคทาหน้ามากและตามตัว, บางทีผูกรูปศิวลึงค์บรรจุหลอดเงินเล็กๆแขวนที่ผมหรือที่แขน โดยมากบรรจุกลักเงินแขวนคอห้อยลงมาถึงทรวงอก’- Hindu, Manners, Customs and Ceremonies…Dubois Chap IX ดูภาคผนวก

[๑๔] Vilva = วิลวะ, สํ - พิล๎ว; วิล๎ว; ม - พิลุวา พิล์ล, อภิธาน-ท. ๕๕๖ เรียกห้วนๆว่า Bel =เพ็ล วิลวะนี้ผลโอชารส เมื่อยังไม่สุก ใช้เป็นยา, ใบใช้ในการบูชาพระศิวะ เป็นใบไม้วิเศษที่มีรูปเป็น ๓ อภิธาน-ท. แปลว่า มะตูม

[๑๕] สํ - ทูร๎วา; ม-ทุพ๎พา; ‘หญ้าแพรก’ - อภิธาน-ท ๕๙๙ หญ้าแพรกเป็นของศักดิ์สิทธิ์ในพิธี เพราะถือว่าเป็นโลมชาติของพระวิษณุ: เมื่อคราวทวยเทพกวนน้ำอมฤต เอาเขามันทระเป็นไม้กวน, พระวิษณุอวตารเป็นเต่ารองเขา (ดูเรื่องวิษยานุกรม หิต ตอน ๑ มิตรลาภ); ภูเขาฝนปฤษฎางค์พระวิษณุ, โลมชาติหลุดขาดไปในสมุทร ลอยขึ้นมาค้างบนฝั่ง เลยงอกเป็นหญ้าแพรก บ้างประสมว่า ฝูงเทพแย่งกัน (?) เสวยน้ำอมฤต ๆ หกราดถูกหญ้าแพรก ๆ จึงศักดิ์สิทธิ์

[๑๖] ของเหล่านี้เนื่องเข้าในอันอรรฆยะ = ‘การรับรองอันเลิศค่า’ เป็นเครื่องต้อนรับผู้ใหญ่ซึ่งเป็นแขกมา

[๑๗] มหาเทพ=พระศิวะ

[๑๘] หมายความว่า หอบขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น,

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ