ต้องขโมยสามต่อ

โอรสพระเจ้าแผ่นดินกับบุตรชายของประธานมนตรีเป็นสหายรักใคร่กันมาก จะนั่งเดินนอนหรือไปไหนก็ต้องไปด้วยกัน จะคลาดกันสักครู่หนึ่งไม่ได้ แต่ทั้งสองเป็นคนมีนิสัยเกียจคร้าน งานการอะไรแม้แต่เล็กน้อยก็ไม่ปรารถนาทำ ซ้ำไม่ชอบอยู่บ้านด้วย เที่ยวเล่นเสียตั้งแต่เช้าจนค่ำทุกวัน และได้ไปรู้จักชอบพอกับบุตรชายนายทัณฑนายก และบุตรชายของพาณิชประมุขในประเทศนั้น ผูกสมัครรักใคร่กันเป็นสหาย รวมด้วยกันคราวนี้เป็นสี่สหาย จะเล่นหัวอะไรเป็นแผลงก่อความรำคาญเสมอ

พระราชาทรงสังเกตความประพฤติของโอรส ยิ่งวันยิ่งเหลวไหลไม่ได้เรื่อง จะมีแก่ใจศึกษาราชศาสตร์หรือเชื่อฟังราชโอวาทสักน้อยก็ไม่มี จนพระองค์หมดความเพียรจะทรงสั่งสอนได้ต่อไป ส่วนประธานมนตรีก็อีกจะแนะนำตักเตือนบุตรชายให้กลับประพฤติดีไม่สำเร็จ ข้างฝ่ายนายทัณฑนายกและนายพาณิชประมุข ก็หมดปัญญาด้วยเรื่องบุตรเหมือนกัน

วันหนึ่งทั้งสาม คือประธานมนตรี นายทัณฑนายก และนายพาณิชประมุขเข้าเฝ้า พระราชาตรัสขึ้น “ไอ้ลูกชนิดนี้ ถ้าเราล่วงลับไปแล้ว ราชสมบัติเห็นจะตกไปอยู่กับคนอื่น”

ประธานมนตรี- “ข้าพระเจ้าก็ฉันเดียวกัน บุตรข้าพระเจ้าคงนำความเสื่อมเสียมาสู่สกุลให้เหลวแหลกในไม่ช้า”

พาณิชประมุข- “ทรัพย์สมบัติข้าพระเจ้าที่ได้พยายามสะสมไว้ มาเกิดรูรั่วออกไปได้ เพราะบุตรข้าพระเจ้าคนนี้ บางทีข้าพระเจ้ายังไม่ทันตายเห็นทรัพย์จะหมดก่อน”

นายทัณฑนายก- “ส่วนลูกของข้าพระเจ้า ๆ หมดกำลังจะว่ากล่าว โทโสร้ายนัก ขืนทำชะล่าว่าหรือดุมันเข้า ก็จะถูกตีศีรษะ ต้องสะกดใจนิ่งอั้น”

พระราชาทรงทราบว่า ทั้งสามมีความเดือดร้อนด้วยเรื่องลูกเช่นเดียวกับพระองค์ก็ตรัส “เรื่องของเราคล้ายคลึงกัน มีทางบำราบมันอย่างเดียว กลับไปบ้าน จงสั่งให้ภรรยาคลุกข้าวกับขี้เถ้าให้มันกิน[๑] ส่วนฉันจักสั่งให้ทำเดียวกัน บางทีมันจะรู้สำนึกได้บ้างกระมัง?”

ทั้งสามเห็นชอบด้วย กลับไปสั่งภรรยา “หล่อน ถ้าไอ้ลูกริยำกลับมากินข้าวเมื่อไร จงเอาขี้เถ้าคลุกกับข้าวให้มันกิน”

ภรรยาไม่ทราบเรื่อง โกรธผัวถึงเอ็ดตะโร “นี่คิดอะไร! มีลูกกับเขาคนเดียว จะให้เอาขี้เถ้าคลุกข้าวให้มันกิน”

ฝ่ายสามีก็ไม่ยอมผ่อนตาม- “ก็ฉันต้องการให้หล่อนทำอย่างนั้น มีลูกคนเดียวก็ชั่งมัน มีโรงงัวเปล่าดีกว่ามีไอ้งัวเปลี่ยว[๒] เป็นหมันไม่มีลูกดีกว่ามีลูกชนิดนี้ ไอ้ลูกที่ทำไม่ให้พ่อแม่มีความสุขเป็นคุณประโยชน์ ทำแต่ความเดือดร้อนขายหน้าเป็นนิตย์ ดังนี้จะมีอะไรให้มันกินดีกว่าข้าวคลุกขี้เถ้าอีกหรือ?”

ภรรยาย้อนตอบ “อ้อ! เธอจะรู้จักรักลูกที่ไหน ถ้าเธอต้องอุ้มท้องเหมือนอย่างฉันตั้งแปดเก้าเดือน นั่นแหละ จึงรู้จักรักลูก เจ้าลูกชายก็ยังเด็ก จะให้มันเหมือนผู้ใหญ่อย่างไร ชอยที่จะค่อยสอนค่อยไป มันโตขึ้นก็รู้จักผิดถูกเอง ไม่ควรจะมาทำแก่ลูกเต้าอย่างนี้”

สามีโกรธ สั่งคำขาด “ที่ฉันสั่งให้หล่อนทำ ขอทราบว่าจะทำหรือไม่ ถ้าไม่ละก็ แต่ถ้ารักฉันอยากให้ฉันมีความสุขก็ต้องทำตามฉัน”

ภรรยาจะทำประการไร เมื่อถูกยื่นคำขาดดังนี้ ไม่มีทางอื่นนอกจากปฏิบัติตาม

ฝ่ายเจ้าชายเวลาเสด็จมาเสวยกระยาหารตามธรรมดา พระมารดาเคยประทับอยู่ด้วย แต่ครั้งนี้มิได้ประทับ ด้วยสงสารโอรส ชั้นแต่ข้าวเสวย พระนางยังไม่กล้าปนมูลเถ้า ใช้ถ่านไฟก้อนเล็กๆ ก้อนเดียวปนไว้ กระนั้นยังล้างถ่านเสียสะอาด เจ้าชายกำลังจะเสวยเห็นถ่าน ก็ร้องถาม “นี่อย่างไร มีถ่านเถ้ามาอยู่ในข้าว? แม่ทำอะไรอย่างนี้?”

ชั้นแรกพระราณีนิ่งไม่ตอบ ครั้นโอรสเร้าไม่หยุดจึงได้ตรัส “ตัวเจ้าทำแต่ความชั่วให้เดือดร้อน สิ่งไรควรเรียน เจ้าละเลยเสีย พระบิดาทรงตักเตือนอย่างไร เจ้าทำหูทวนลมดื้อด้านไม่เกรงกลัว เหตุนี้จึงมีรับสั่งให้เจ้ากินข้าวกับขี้เถ้า”

เจ้าชายทรงทราบเรื่อง นึกน้อยพระหฤทัยไม่เสวยข้าว เสด็จลุกขึ้นไปบ้านประธานมนตรี พบบุตรประธานมนตรีนั่งอยู่นอกบ้าน ได้ความว่าถูกกินข้าวกับมูลเถ้าเหมือนกัน จึงโกรธออกมานั่งเสียนอกบ้าน ทั้งสองทราบเรื่องของกันจึงชวนกันไปพบกับบุตรนายทัณฑนายก และบุตรนายพาณิชประมุข ต่างคนทราบเรื่องว่าต้องถูกกินข้าวปนมูลเถ้าทุกคน ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าไม่ควรจะอยู่ในบ้านต่อไป จึงกลับไปรวบรวมสิ่งของมีราคาพอจะเอาไปได้ ออกจากบ้านพากันไปในคืนนั้น

เดินทางผ่านประเทศและป่ามาหลายแห่ง รอนแรมหลายราตรี จนถึงทางสี่แพร่งก็หยุด เจ้าชายพูดขึ้น “ควรเราจะแยกไปคนละทางสักสิบสี่สิบห้าวันจึงกลับมาพบกัน ณ ที่นี้ใหม่ ใครพบปะอะไรแปลกประหลาดจะได้เล่าสู่กันฟัง” ทั้งหมดเห็นพ้องกัน จึงต่างคนแยกทางกันไป

เจ้าชายเมื่อแยกจากสหายแล้ว เสด็จเรื่อยมาตามทางหลายวัน ไม่พบปะสิ่งไรที่ควรทอดพระเนตร ภายหลังมาถึงเมืองใหญ่ เที่ยวประพาสไปทุกทางในเมืองนั้น ให้พิศวงด้วยเมืองนี้มีตลาดวัดวาอารามงดงามใหญ่โตมาก ทอดพระเนตรเพลิน กว่าจะรู้สึกพระองค์ก็เลยเวลาเย็นเสียแล้ว มีความอิดโรย ไปประทับพักเหนื่อยใต้ต้นไม้ใหญ่หน้าพระราชวัง เวลาเย็นล่วงเป็นค่ำคืน แสงสว่างค่อยหลัวเลือนขมุกขมัวมืดลงทุกที แต่ไม่มีใครตามโคมไฟ นึกประหลาดจึงเสด็จไปถามคนที่เดินไปมา แต่โดยมากดูไม่มีใครอย่ากจะบอกเรื่องราวที่ไม่จุดไฟ ทอดพระเนตรเห็นชายชราคนหนึ่ง เดินเงื่องๆ มา เสด็จเข้าไปถาม “ท่านที่นับถือ เมืองนี้งดงามใหญ่โต แต่ทำไมป่านนี้ยังไม่จุดไฟ?”

ชายแก่- “ท่านเอ๋ย เห็นจะเพิ่งเคยมาเมืองนี้กระมัง จึงได้ถามอย่างนี้”

เจ้าชาย- “ก็เช่นนั้น ฉันเพิ่งเคยมานี่แหละ”

ชายแก่- “ไม่ต้องสงสัย มิฉะนั้นคงไม่ถามเรื่องนี้ ที่ตรงนั้นเห็นไหมท่าน พระราชวังของพระเจ้าแผ่นดิน สูงตระหง่านแลดูงดงามเห็นอยู่นั่น พระองค์มีพระธิดาองค์หนึ่งสวยนัก อีกสักครู่ท่านจะแลเห็นเอง เพราะเสด็จออกมาที่ระเบียงปราสาทรัศมีของนางส่องแสงสว่างน่าพิศวง พอเสด็จออกในนครก็สว่างไสวคล้ายกลางวัน ผู้คนพลเมืองจะทำการงานอะไรได้สะดวก นางประทับอยู่ที่หน้าปราสาทจนถึงเที่ยงคืนจึงเสด็จเข้าข้างใน คอยดูอยู่ที่นี่สักครู่จะเห็นด้วยตาเอง” ชายแก่พูดไม่ทันขาดคำ พระธิดาทรงเครื่องแล้วล้วนไปด้วยอาภรณ์อันมีค่า สยายพระเกศายาวเป็นพวง เสด็จออกมีราชบริพารที่สนิทตามเสด็จออกมาสองสามคน ทั่วทั้งจังหวัดพระนครก็วาบสว่าง พลเมืองทำการงานกันได้เหมือนกลางวัน เจ้าชายตะลึงแลพลางรำพึง “แปลกประหลาดมาก งดงามน่าดูจริง เกิดมาพึ่งได้เห็น ในโลกนี้จะหาให้เหมือนได้น่าจะไม่มี จะต้องหาอุบายให้ได้พระธิดามาเป็นพระชายาจนได้” เจ้าชายทรงหลงไหลพิศวาสพระธิดา คืนนั้นทั้งคืนไม่ทรงนึกเรื่องอะไรนอกจากหาอุบาย

รุ่งขึ้นเจ้าชายเที่ยวสืบสาวราวเรื่อง โดยนึกหวังว่าจะมีโอกาสสามารถหาอุบายได้สมประสงค์ ครั้นสืบได้ความทำให้พระองค์ท้อด้วยมีสิ่งที่แสนยากยิ่งกว่าที่ทรงคาดหมายไว้ คือพระราชทรงป่าวร้องพะนันว่า ถ้าใครสามารถทำการขโมยให้ได้ครบสามราย รายหนึ่งให้ขโมยในเรือจ้าง รายสองในตลาด และรายสามในพระราชวัง สามรายนี้อย่าให้รู้และจับได้จะทรงทรงยกพระธิดาให้

ในเมืองมีบัณฑิตชื่อหเรกฤษฏ[๓] มีความรู้ทางโหรแม่นยำ ถ้าเกิดเหตุอะไรร้อนถึงการไต่สวน ตาหเรกฤษฏนั่งคำนวณเสียประเดี๋ยวเดียวก็รู้เรื่องหมดไม่คลาดไปสักที ใช่จะรู้แต่ปัจจุบันแม้การณ์ในอดีตและอนาคตก็ย่อมอยู่ในอำนาจแห่งความรู้แก แกเป็นคนโตรับราชการในพระราชวัง พระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือมาก โดยอำนาจแห่งความรู้ของแกยังไม่เคยปรากฎว่ามีใครทำการขโมยสำเร็จ โดยไม่ให้แกรู้ได้สักรายเดียว อาศัยเหตุนี้จึงยังไม่มีใครสามารถได้พระธิดา

เจ้าชายสืบได้ข้อความเหล่านี้โดยละเอียด มาคำนึง “ดูไม่ใช่ของง่าย แทบจะทำไม่ได้ทีเดียว ชะรอยกุศลของเราจะไม่ได้พระธิดามาเป็นคู่ครอง อย่างไรก็ดี จะต้องย้อนกลับไปที่สี่แพร่งคอยสหาย ลองปรึกษาหารือกันว่าเขาจะมีอุบายอะไรบ้าง ถ้าได้พระธิดาก็นับว่าเป็นวาสนาของเรา ถ้ามิสมหวังจะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป” จึงเสด็จไปยังที่นั้น รอได้สองสามเวลาพวกสหายก็กลับมาทีละคนจนครบสาม ต่างมีความยินดีเล่าเรื่องสู่กันฟัง ครั้นสหายทั้งสามเล่าเรื่องของตนจบลง เจ้าชายทรงเล่าเรื่องของพระองค์บ้าง จาระไนความงามของพระธิดาเสียยืดยาว และแสดงพระประสงค์ที่มุ่งหมายพระธิดาไว้ ลงสุดท้ายถอนพระหฤทัยยาวตรัส “แต่เราเห็นจะหมดหวังเสียคราวนี้ เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงกำหนดไว้ ยากยิ่งสุดที่ใครจะทำสำเร็จ”

บุตรประธานมนตรี- “ข้อกำหนดที่ตั้งไว้คืออย่างไรกัน? ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะยากอย่างไรคงไม่เกินความสามารถของมนุษย์เหมือนอย่างโก่งธนูพระศิวะจนคันหัก”[๔]

เจ้าชาย- “ข้อบังคับพิลึกพิลั่นละ เกิดมายังไม่เคยได้ยิน ใครก็ทำตามนั้นไม่ได้ พูดขึ้นก็ป่วยการ”

บุตรประธานมนตรี- “อะไร! สิ่งที่ว่าทำไม่ได้ก็ยังมีผู้สามารถทำได้แทบทุกวัน ไม่รู้ว่ากี่รายมาแล้ว เรื่องที่พระเจ้าแผ่นดินทรงกำหนดนี้ ถึงกับหมดความสามารถทีเดียวหรือ? ดูกระไรอยู่ ตรัสออกมาเถิด ข้าพระเจ้าสัญญาว่าจะพยายามช่วยจนเต็มสติปัญญา อย่างไรเสียก็จะทรงเห็นเอง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คงช่วยพระองค์ให้สำเร็จประโยชน์ได้”

เจ้าชายทรงสะท้อนพระหฤทัยหนักขึ้น- “สหาย นึกหวังในสิ่งที่มันไม่ได้จริงๆ จะไปนึกหวังทำไม แต่เอาเถอะจะบอกให้รู้ คอยฟัง คือพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งกฎไว้ว่า ถ้าใครสามารถทำการขโมยในเขตพระนครให้ได้ครบทั้งสามครั้งโดยไม่มีใครรู้ จะยกพระธิดาให้ แต่เรื่องขโมยต้องขโมยในที่จำกัด ครั้งที่หนึ่งให้ขโมยในเรือจ้าง ครั้งที่สองในตลาด และครั้งที่สามในพระราชวัง เรื่องขโมยนี้ถ้าจะไปทำในประเทศอื่นก็พอจะสำเร็จ แต่ที่เมืองนี้มีพราหมณ์บัณฑิตหลวงคนหนึ่งชื่อหเรกฤษฏ มีความรู้ทางโหรชำนาญ ไม่มีใครสู้ สิ่งไรให้ลึกลับลึกซึ้งเท่าไร จะรอดความรู้แกไปไม่มี เพราะฉะนั้น ฉันจึงว่าพยายามเสียเปล่าไม่สำเร็จดอก”

บุตรประธานมนตรี- “เท่านั้นหรือ ถ้าเท่านั้นขอทรงมอบธุระเถิด ว่าการเรื่องนี้อย่างไรเสียก็มีท่า สิ่งซึ่งเกินความมานะพยายามของมนุษย์ จะติดเหลืออยู่ในโลกนี้ไม่ได้ เชิญเสด็จไปในเมืองด้วยกันเดี๋ยวนี้ เริ่มลงมือทีเดียว”

เจ้าชายทรงฟังก็ชื่นพักตร์ เตรียมจะไปในเมืองทั้งสี่คน ก่อนจะไป บุตรประธานมนตรีแนะนำให้จัดซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวต่างๆ ไว้มากมาย เตรียมเสร็จออกเดินจวนจะถึงเมืองต้องข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง สี่สหายลงไปที่ท่าเรือจ้างเห็นเรือผูกอยู่ลำหนึ่งก็ลงไปนั่ง วันนั้นเจ้าของเรือไม่อยู่ให้ลูกชายเฝ้าไว้ เมื่อเห็นมีคนลงจะข้ามฝาก จึงบอกค่าส่งเป็นเงินคนละ ๑๖ ปัณ[๕] ทั้งสี่ยอมให้ราคาตามนั้น เด็กก็จัดการพาข้ามส่ง แต่รับเงินค่าจ้างครบตามราคาเพียงสามคน บุตรประธานมนตรีส่งเบี้ยเก๊ให้เพียง ๑๖ เบี้ย เด็กไม่ยอมรับ บุตรประธานมนตรีส่งเบี้ยเก๊ให้เพียง ๑๖ เบี้ย เด็กไม่ยอมรับ บุตรประธานมนตรีบอกว่ามีอยู่เท่านั้นจะทำอย่างไร พ่อของเด็กกำลังทำการอะไรอยู่ไม่สู้ไกลนัก เด็กจึงตะโกนถามพ่อ “พ่อ คนนี้ให้เบี้ยเก๊เสีย ๑๖ เบี้ย”

พ่อฟังไม่ชัด สำคัญว่าให้ค่าจ้าง ๑๖ ปัณ แต่เบี้ยก็เสีย ๑๖ เบี้ย จึงตะโกนตอบไป “รับไว้เถิด ข้าจะไปจัดการเองยังไม่ได้”

เด็กได้ยินพ่อบอกดังนั้นก็จนใจ รับเบี้ยมา ทั้งสี่ขึ้นบกไป ก่อจะเข้าเมืองได้สับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวกัน ไปเช่าบ้านหรูหราหลังหนึ่งพักอยู่ด้วยกัน.

กล่าวถึงคนเรือจ้างทำธุระเสร็จกลับบ้าน ถามลูกชายว่าได้ค่าจ้างเท่าไร ตรวจนับเงินพบเบี้ยเก๊ ๑๖ เบี้ย ถาม “เบี้ยอื่นที่ได้ไว้รายนี้หายไปไหน?”

ลูก- “มีเท่านี้เองก็ตะโกนบอกพ่อไปว่า มีคนให้เบี้ยเก๊ ๑๖ เบี้ย พ่อก็บอกว่าให้เอาเถิด ฉันจึงรับไว้”

พ่อ- “พ่อฟังไม่ถนัด เข้าใจว่าไอ้คนนั้นให้ค่าจ้าง ๑๖ ปัณ แต่เป็นเบี้ยเก๊เสีย ๑๖ เบี้ย”

ลูก- “ที่ไหนได้ มันให้หมดด้วยกัน ๑๖ เบี้ยเท่านั้น เบี้ยเก๊ทั้งหมด ไม่ใช่ให้ ๑๖ ปัณ”

พ่อ- “ตายจริง ไอ้คนนั้นโกงทีเดียว ไหมล่า เกิดมีขโมยขึ้นในเมืองแล้ว ต้องไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงทราบเสียจงได้” แต่งตัวออกจากบ้านไป.

สี่สหายพักอยู่ในบ้านเช่าได้สามสี่วัน แล้วย้ายออกจากบ้านนั้นไปเช่าบ้านแถบอื่นอยู่ พอได้สองสามวันก็ย้ายไปที่อื่นอีก ส่วนเครื่องแต่งตัวก็สับให้แปลกอยู่เสมอ จะซ้ำชุดเกินกว่าสองวันไม่ได้ ย้ายบ้านและเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวได้สักอาทิตย์หนึ่ง บุตรประธานมนตรีจึงพูด “บัดนี้เราทำการขโมยในเรือจ้างสำเร็จไปอย่างหนึ่งละ จะต้องจัดการที่ในตลาดต่อไป” ทั้งสี่จึงพากันไป เดินเข้าถนนนี้ออกถนนนั้น พบร้านขายเครื่องดื่มร้านหนึ่ง บุตรประธานมนตรีบอกเพื่อน “แวะกินอะไรแก้กระหายเสียก่อน” ทั้งสี่พากันเข้าไปในร้าน

เจ้าของเห็นคนแต่งตัวเป็นผู้ดีเข้ามาก็รับรองเอาอกเอาใจมาก สี่สหายนั่งพักดื่มน้ำเสร็จ บุตรประธานมนตรีจึงพูดกะสหาย “ล่วงหน้าไปก่อน จะเป็นคนใช้ค่ากินเอง แล้วจะตามไปไม่ช้า” ทั้งสามออกจากร้านไป อยู่ข้างนี้บุตรประธานมนตรีนั่งคุยประจบประแจง จนเจ้าของร้านพอใจมาก ถึงที่สุดบอกว่า “โอ! ฉันลืมติดเงินมาด้วย แต่ไม่เป็นไร ฉันอยู่ที่ข้ามแม่น้ำถัดโน่นไปไม่ไกล ถ้าท่านตามมาที่บ้าน ฉันจะใช้ให้”

เจ้าของร้าน- “มหาศัย ข้าพเจ้ากำลังมีธุระมาก ช่างเถอะ ไม่ต้องไปเองก็ได้ จะให้ลูกคนเล็กของข้าพเจ้าตามท่านไปรับเงิน”

บุตรประธานมนตรี- “ก็ได้ ไม่สู้ไกลนัก สักครู่เดียวคงกลับมา” แล้วลาเจ้าของร้านให้เด็กตามมาด้วย ออกเดินเลี้ยวเข้าถนนนี้ออกถนนนั้น ไม่ค่อยถึงบ้านได้เลย จนเด็กหอบ ถึงต้องถาม “นี่จะไปอีกกี่มากน้อย?”

บุตรประธานมนตรี- “อีกสักครู่หนึ่งก็ถึง ตรงนี้เอง” แล้วพาเด็กเจ้าตรอกออกถนนมาอีกหลายสาย เด็กเหนื่อยเต็มที ร้องทุกข์ “ฉันไปไม่ไหวแล้ว ขอให้ฉันรู้จักชื่อท่านเถิด”

บุตรประธานมนตรี- “ข้าชื่อ พ่อ”[๖] ตอบพลางเดินพลาง เด็กตะเกียกตะกายตามไป ปากก็ร้อง “พ่อ ขอเงินเถิด พ่อ ขอเงินเถิด”

บุตรประธานมนตรีทำหูทวนลม เดินเฉย ได้สักครู่ แวะเข้าไปที่หน้าร้านขายของแห่งหนึ่ง ร้องขอเจ้าของร้าน “มหาศัย อย่าว่ากระไรเลย ขอสูบมะระกู่สักอึกเถิด”

เจ้าของร้านส่งมะระกู่ให้.

ก่อนที่มาถึงร้านนี้ ในเมื่อเดินเข้าตรอกโน้นออกตรอกนี้ ถึงที่เปลี่ยวบุตรประธานมนตรีได้เปลื้องเสื้อผ้าที่ดีเสีย เหลือแต่ผ้านุ่งเก่าขาดที่นุ่งซ่อนมาข้างใน ถอดเสื้อกับรองเท้าเสีย เพราะฉะนั้นเมื่อมาขอสูบมะระกู่จึ่งมีลักษณะเป็นคนเข็ญใจน่าทุเรศมากกว่าอื่น ขณะที่นั่งสูบยา เด็กก็เข้ามาเร้าร้อง “พ่อ ขอเงินเถิด ขอเงินเถิด”

บุตรประธานมนตรีหันไปพูดกับเจ้าของร้าน “มหาศัย ดูเอาซิ ยากจนเพียงนี้ เพียงหาเลี้ยงใส่ท้องก็แสนยาก ยังมีภรรยาและบุตรอีกตั้งครึ่งโหล ทำงานให้มากอย่างไรหามาก็ไม่พอเลี้ยงกัน ดูซิท่าน ลูกชายของฉันคนนี้ตามมาตั้งแต่เช้าร้องว่า “พ่อ ขอเงินเถิด พ่อ ขอเงินเถิด ตั้งแต่เมื่อวานมาแล้ว มันยังไม่ได้กินข้าว เช้าวันนี้ก็ยัง เพราะฉันไม่มีสักเก๊เดียวจะซื้อข้าว ทั้งวันนี้ก็ยังหางานรับจ้างไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีใครอยากซื้อเด็กคนนี้ก็จะตัดใจขายให้ มันจะได้ไปกินอยู่บริบูรณ์ ขืนอยู่อย่างนี้จะอดตาย กับจะได้เงินไปเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านพอประทังชีวิตไปได้นาน ขายเสียคนหนึ่งยังดีกว่าให้อดตายทั้งครัว หมดหนทางเพียงเท่านี้ แม้มหาศัยรับซื้อไว้ ก็เท่ากับอนุเคราะห์คนเข็ญใจให้รอดตาย ตั้งแต่วานมาแล้วยังไม่ได้กินข้าว จะเที่ยวหางานทำก็ไม่มีแรง ทั้งไอ้ลูกก็ร้องขอเงินอยู่แหง่วๆ ไม่รู้จะไปหาที่ไหนให้มัน คิดๆ ก็ให้คลั่งแทบเป็นบ้า” กำลังพูด เด็กก็ร้องทวงเงินอยู่ไม่หยุดปาก “พ่อ ขอเงินเถิด พ่อ ขอเงินเถิด”

เจ้าของร้านฟังเรื่องนึกเวทนา- “ฮือ! ก็น่าลำบากไม่ใช่เล่น เอาเถอะจะช่วยเหลือ ขายเท่าไร?”

บุตรประธานมนตรี- “มหาศัยเป็นคนมั่งมี คงจะเคยซื้อเด็กมานับไม่ถ้วนแล้ว ส่วนฉันไม่รู้ว่าเขาซื้อขายกันเท่าไร ถ้าไม่เดือดร้อนจำเป็นจริงๆ ใครบ้างจะกล้าขายลูกในใส้ แต่นี่จำเป็น สุดแล้วแต่ท่านจะกรุณาเท่าไรก็ตามเถิด”

เจ้าของร้านยิ่งรู้สึกสงสาร- “ให้ห้าพันรูปี[๗] เห็นเป็นอย่างไร?”

บุตรประธานมนตรีทำเป็นดีใจมาก- “ขอท่านจงมีความเจริญเถิด ให้ได้เป็นขุนเป็นพระยา เงินห้าพันรูปีเกิดมายังไม่เคยเห็นเคยจับ เท่านี้พอเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้ตลอดอายุทีเดียว” พูดพลางยกมือขึ้นให้พรเจ้าของร้านยกบุญยอคุณเสียพร่ำปาก.

เจ้าของร้านนำเงินออกมานับให้ พอบุตรประธานมนตรีรับเงินเสร็จ รีบออกจากร้านไปทันที เด็กก็ตามไปร้องทวงเงินยิ่งดังขึ้น “พ่อ ขอเงินเถิด พ่อ ขอเงินเถิด”

เจ้าของร้านกรากออกไปจับเด็กไว้ ลากตัวกลับมาพลางดุ “จะไปไหน พ่อเจ้าเขาขายไว้ให้แก่ข้าแล้ว”

เด็กได้ฟังทราบความ ร้องไห้โฮ

เจ้าของร้านปลอบ “ร้องทำไม ไอ้หนู ที่บ้านเจ้าข้าวก็ไม่มีกิน ผ้าดีๆ ก็ไม่มีนุ่ง มาอยู่นี่ข้าวก็มีกิน นุ่งผ้างามๆ พ่อเจ้าเขาขายเจ้าไว้กับข้า จะกลับไปไม่ได้ อยู่ที่นี่สบายกว่า” ปลอบอย่างไรเด็กไม่นิ่ง กลับร้องไห้มากขึ้น.

ในขณะนี้ที่บ้านเด็กอลหม่านกันใหญ่ แม่ของเด็กร้องไห้รำพันต่างๆ นานา ส่วนพ่อก็อั้นอกพูดไม่ออก เป็นแต่นึก “นี่เจ้าลูกมันไปอย่างไรป่านนี้ยังไม่กลับ บาบูคนนั้นบอกว่าบ้านอยู่ข้างแม่น้ำใกล้ๆ ให้เจ้าหนูไปเอาเงินอึดใจเดียวก็ได้ นี่ไปหลายชั่วโมงยังไม่เห็นกลับ”

เพื่อนบ้านทราบเรื่อง ก็ช่วยออกตามหาไปทั่วทุกทิศ ส่วนตัวพ่อเองออกเที่ยวหาเสียแทบทุกแห่ง คลั่นเจียนเป็นบ้า เที่ยวหาไป มาถึงร้านที่เด็กถูกขาย พอเด็กเห็นพ่อมาก็โผออกไปเข้ากอดแน่น.

เจ้าของร้านที่ซื้อเด็กวิ่งออกไปฉุดเด็กให้กลับมา พ่อของเด็กไม่ยอมรั้งเอาไว้ ถาม “เรื่องราวอะไรจะมาฉุดลูกเต้าของเขาไป?”

เจ้าของร้าน- “นี่ธุระอะไรมาถาม? ก็เด็กคนนี้ฉันซื้อไว้จากพ่อมันให้เงินไปแล้ว แกมาจากไหนจะมาวุ่นวายกับเด็กของฉันทำไม ปล่อย เดี๋ยวเกิดเรื่อง”

พ่อเด็ก- “ใครที่ไหนมีอำนาจจะมาขายลูกเต้าของฉัน ขอทราบสักหน่อย ฉันใช้ให้มันตามบาบูคนหนึ่งไปเอาเงินค่าซื้อของที่บ้าน มันหายไปไม่กลับ เที่ยวตามหาเสียแทบแผ่นดินถล่ม พึ่งมาพบอยู่ในบ้านแก ชั่งไม่ขายหน้าบอกได้ว่าซื้อมาจากพ่อของมัน ไม่เมาก็คงเสียสติอะไรอย่างหนึ่ง”

เจ้าของร้านฉุน ย้อนตอบ “แกแหละเป็นคนพาลโกงซึ่งหน้า ก็ฉันซื้อนับเงินสดๆ ให้พ่อมันไปถึงห้าพันรูปี เจ้าเด็กร้องตามขอเงินพ่อมันอยู่ไม่หยุดปาก ไม่เชื่อก็ถามคนที่เขายืนฟังอยู่นี่ซิ”

คนที่ยืนดูรับรองเป็นเสียงเดียว “จริงของเขา ได้ซื้อเด็กคนนี้จากพ่อของเด็กจริง ฉันก็เห็น”

ขณะนั้น มีคนขายข้าวแกงเป็นคนอยู่ใกล้กับพ่อของเด็กมาด้วยกัน จึงช่วยค้าน “ที่ไหนได้ ก็นี่พ่อของเด็กแท้ๆ”

ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้กัน เกิดเสียงทะเลาะหนักขึ้นทุกที ถึงที่สุดต้องพากันไปเฝ้าพระราชา เพื่อขอพระวินิจฉัย.

พระราชาทรงฟังคำกราบทูลให้การทั้งสองฝ่าย และคำพยานหลายปาก ทรงทราบความจริงได้แจ่มแจ้ง ประทานพระวินิจฉัยให้เจ้าของร้านแพ้คดี บังคับให้คืนเด็กแก่พ่อของเด็กไป.

เจ้าของร้านแพ้ความ กราบทูล “แต่ข้าพเจ้าต้องเสียเงินไปห้าพันรูปี จะทรงพระกรุณาสถานไร?”

พระราชา- “ก็จะทำอย่างไร? เจ้าแพ้รู้ให้คนโกงไปได้ จะมาร้องเอาใคร?”

พ่อเด็กเมื่อได้ลูกกลับคืนไปก็ดีใจ แต่ฝ่านคนที่ซื้อเด็กไว้บ่นอู้อี้กลับไป ทำให้พระราชาอ้ำอึ้งเดือดร้อน ทรงเชื่อแน่ว่าเรื่องที่ฉ้อโกงกันในเรือจ้าง ซึ่งมีผู้มากราบทูลร้องทุกข์เมื่ออาทิตย์หรือสองอาทิตย์มานี้ น่าจะเกี่ยวกัน จึงตรัสกะประธานมนตรี “นี่แน่ะท่านมนตรี เกิดมีขโมยฉ้อโกงขึ้นที่ในเรือจ้างและที่ตลาดในระยะเวลาติดๆ กัน ยังไม่มีใครจับตัวขโมยได้ จะคิดอ่านประการใดดี?”

ประธานมนตรี- “ข้าพเจ้าเห็นควรมีรับสั่งให้หาท่านหเรกฤษฏเข้ามาเฝ้า”

พระราชารับสั่งให้ตามตัวบัณฑิตผู้เฒ่า

ตาหเรกฤษฏรีบแต่งตัวตะลีตะลาน เจิมจันทน์ผงที่หน้าผาก สรวมธุติและฉัทรแพรมีผ้ายันตร์พันกายจารึกนามของเทวดาที่แกนับถือ[๘] หยิบไม้เท้าคว้าตำราหนีบรักแร้ ย่างออกจากบ้านไปพระราชวัง ครั้นถึงพระราชาทรงต้อนรับให้เกียรติยศอย่างสูงแก่ตาพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่นับถือว่ามีความรู้ทางศาสตร์ไม่มีใครสู้ เสด็จลุกขึ้นจากราชอาสน์ออกไปรับ โปรดให้เฝ้าในตำแหน่งหัวหน้าข้าราชการ หเรกฤษฏถวายพระพรแล้วก็นั่งลง

พระราชตรัสขึ้นก่อน “มหาศัย บัดนี้ เกิดมีเรื่องอย่างอัศจรรย์ขึ้น มหาศัยทราบแล้วมิใช่หรือที่ฉันสัญญาไว้ว่า ถ้าใครสามารถทำการขโมยที่ในเรือจ้างครั้งหนึ่ง ในตลาดครั้งหนึ่ง ในพระราชวังอีกครั้งหนึ่ง ครบสามครั้งโดยไม่มีใครจับได้ ฉันจะยกบุตรสาวของฉันให้ ตั้งแต่ได้สัญญาไว้ ผู้ที่ขันอาสาทำการไม่สำเร็จสักครั้ง มาบัดนี้ จู่มาก็มีขโมยเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้ว่ามาจากไหน ทำการขโมยหรือฉ้อโกงอย่างอัศจรรย์ขึ้นในเรือจ้างและในตลาดถึงสองครั้ง ให้เงินค่าเรือจ้าง ๑๖ เบี้ย แทนเงินที่ต้องให้ ๑๖ ปัณ และเบี้ยที่ให้ก็เป็นเบี้ยเก๊ทั้ง ๑๖ เบี้ย แล้วไปกินอาหารไม่ให้เงิน ซ้ำกลับล่อลวงพาบุตรชายเจ้าของร้านไปขายเสียห้าพันรูปี ยังเหลือการที่จะต้องขโมยอีกครั้งหนึ่ง คือ ที่ในบ้านฉัน ถ้าทำสำเร็จฉันก็ต้องยกลูกสาวให้ผู้นั้น ดังนี้จะมิเป็นการเสื่อมเสียแก่ฉันหรือ?”

หเรกฤษฏทูล “เรื่องนี้ไม่ควรทรงวิตก ไว้ภาระในข้าพระเจ้าเถิด คนที่เป็นขโมยไม่ว่าจะซ่อนอยู่ที่ไหน บนดินหรือใต้ดิน จะรอดพ้นโดยข้าพระเจ้าไม่แจ้งไม่มีเลย ขอทุเลาคำนวณดูสักครู่เดียวก็จะกราบทูลได้ว่า ขโมยคนนั้นซ่อนอยู่ที่ไหน” พลางแก้ห่อคัมภีร์[๙] พลิกคำนวณดู

ในระหว่างนี้ บุตรประธานมนตรีกลับไปพบสหายทั้งสาม และรู้สึกอยู่ดีๆ ว่าในไม่ช้าเรื่องที่ตนทำไว้คงฉาวขึ้น บุตรประธานมนตรีมีความรู้ทางโหรอยู่บ้าง จึงคำนวณดู ได้ความว่า พระราชามีรับสั่งให้หเรกฤษฏคำนวณเลขเพื่อชี้ตำแหน่งที่ซ่อน และคงจะมาตามจับตัวในไม่ช้า ทราบความดั่งนี้ จึงบอกกับสหาย “เราต้องรีบหนีออกจากนี่ไปทันที ด้วยขณะนี้ ไอ้เฒ่าหมอดูกำลังจะกราบทูลพระราชาว่าเราอยู่ที่ไหน”

เหตุนี้ทั้งสี่จึงเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วรีบหนีไปอยู่ที่บ้านอีกแห่งหนึ่งซึ่งเช่าสำรองไว้ พอดีหเรกฤษฏคำนวณเลขเสร็จ กราบทูลพระราชาว่า ขโมยในบัดนี้นั่งอยู่ในบ้านนั้นๆ ที่ตำบลนั้นๆ จึงรับสั่งให้นายทหารรักษาพระองค์รีบไปจับตัวมา ครั้นไปถึงพบแต่บ้านเปล่าไม่มีใครอยู่ กลับมาทูลตามนั้น.

พระราชาหันพระพักตร์ไปทางบัณฑิต รับสั่ง “มหาศัย อย่างไรเล่าคราวนี้ ไหนท่านอวดอ้างว่ารู้?”

หเรกฤษฏตกตะลึงไม่เห็นว่าทำไมจึงพลาด รู้สึกขายหน้ามาก ลองคำนวณเลขอีกครั้งแล้วทูล “ข้าพระเจ้าขอรับพระอาชญาคราวนี้แน่นอนไม่ผิด ขโมยหนีไปซ่อนอยู่ ณ ที่นั้นๆ” ทูลชี้แจงลักษณะสัณฐานบ้านที่สี่สหายหนีไปซ่อนอยู่ในคราวหลัง.

พระราชาให้ทหารไปตามจับโดยเร็วอีก แต่บุตรประธานมนตรีจับยามรู้เรื่องเหมือนกัน จึงบอกเพื่อนให้รีบเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวหนีออกจากบ้านไป พวกทหารมาไม่พบอีก เห็นแต่บ้านเปล่าเคืองตาโหรมาก กลับไปทูลว่าที่บ้านนั้นไม่มีใครอยู่

พระราชาตรัสกะหเรกฤษฏ “มหาศัย เรื่องจับยามของท่านน่ากลัวจะเก๊เสียแล้ว”

พราหมณ์หเรกฤษฏ ประหลาดใจหมดปัญญา กระแอมกระไอกราบทูล “ข้าพเจ้าเกรงว่าเห็นจะไม่ใช่ขโมยธรรมดา”

พระราชา- “เรื่องเท่านี้ ไม่ต้องโหรอย่างเช่นท่านดูก็ได้”

พราหมณ์บัณฑิตหน้าเซา- “เรื่องขะโมยเช่นนี้ก็ทรงทราบอยู่ว่าแต่ก่อนร่อนไรมาไม่เคยปรากฏ ข้าพระเจ้าขอแก้ตัว กลับไปคิดดูที่บ้านให้ละเอียดอีกสักครั้ง แล้วจะกราบทูลให้ได้เรื่องทั้งหมดในเวลาพรุ่งนี้”

พระราชา- “ดีแล้ว แต่อย่าให้มันเหมือนกับวันนี้ก็แล้วกัน”

ตาพราหมณ์โหรกราบทูลลา เดินคอตกออกจากพระราชวัง ในใจรำพึง “เคราะห์เราชั่งกระไรหนอ จะมาสังหารความดีความชอบในเวลาที่แก่เฒ่า ตามที่คำนวณดูก็ไม่ผิด ไม่เคยพลาดสักครั้งตั้งแต่เคยมา นี่เพราะเคราะห์เราร้ายไม่ใช่อะไรอื่น นึกๆ ก็น่าเสียใจ ใครๆ เขานับถือทั้งบ้านทั้งเมือง จะมาเสียกันคราวนี้เอง เพราะไอ้ขโมยอัปรีย์คนเดียว” ทันใดนั้น มีใครเข้ามาบอก “ฐากูรมหาศัย มีใครเขาขอพบด้วยเรื่องธุระร้อนสำคัญอย่างหนึ่ง จะขอเสียค่าป่วยการให้พอใจ” ตาพราหมณ์เดินตามชายแปลกหน้าคนนั้นไป.

ชายแปลกหน้าคนนี้บุตรพาณิชประมุขนั่นเอง คือเมื่อครั้งสี่สหายย้ายมาอยู่บ้านที่สองแล้ว ได้หารือกันว่าจะต้องหนีไปบ้านโน้นบ้านนี้อีกช้านานกี่มากน้อย ตรึกตรองอยู่ด้วยกันสักครู่ บุตรประธานมนตรีเอ่ยขึ้นก่อน “ถ้าจะให้ดีต้องหาทางรับมืออีตาหเรกฤษฏให้รู้รสเสียก่อน ถ้าไม่เช่นนั้นเราจะต้องย้ายกันไม่รู้จักจบ ต้องคอยถือดินสอทั้งกลางวันกลางคืนคิดคำนวณ ถ้าวางดินสอเผลอไปครู่เดียว เพียงบ้ายปูนพลูเข้าปากเท่านั้นเราก็จบ” เหตุฉะนี้บุตรประธานมนตรีจึงคิดอุบาย ให้บุตรนายพาณิชประมุขเอาตัวตาโหรมา ส่วนเพื่อนทั้งสามนั่งคอยอยู่ที่บ้าน ครั้นคนพาตาโหรมา ไปทางหน้าต่างแล้วยืนหยุดนิ่ง

ตาโหรออกสงสัย นึกคร้าม ถาม “นี่บ้านอะไรกันที่พามานี้?”

บุตรนายพาณิชประมุขตอบรับรอง “ไม่เป็นอะไรดอกท่าน คอยสักครู่ ผู้ที่ต้องการอยากพบท่านจะออกมา” พูดขาดคำ สหายทั้งสามก็ออกมาที่หน้าต่าง บุตรนายพาณิชประมุขร้องบอก “นั่นแน่ออกมาแล้ว มีเพื่อนมาด้วยสองคน”

ตาพราหมณ์- “ถ้าอย่างนั้นเข้าไปข้างในเป็นอย่างไร? จะได้รู้ว่ามีธุระอะไร?”

บุตรประธานมนตรีอยู่ในห้อง ร้องขัด “ไม่ต้องเข้ามาให้ลำบากดอกท่าน มีธุระจะพูดกับท่านสองสามคำก็เสร็จ”

ตาพราหมณ์- “มีธุระอะไรก็พูดออกมาเถิดพ่อเอ๋ย”

บุตรประธานมนตรี- “ข้าพเจ้าทราบว่าท่านเป็นนักปราชญ์ มีความรู้ลึกซึ้ง จะดูอะไรแม่นยำไม่ผิด ถ้ามีขโมยกะโจรอยู่ที่ไหน ให้ซ่อนมิดเม้นอย่างไรท่านอาจรู้ดูและบอกให้เจ้าพนักงานมาจับตัวได้เดี๋ยวนี้ ความจริงพวกข้าพเจ้าเป็นพวกขโมย แต่ไม่ใช่ขโมยใหญ่ขโมยโตมีพิษสงอะไร เรื่องของมีราคาเป็นไม่กล้าเอื้อม ได้แต่ลักเล็กฉกน้อย เช่นส้มสุกลูกไม้ในสวนเป็นต้น นี่แน่ท่านพวกข้าพเจ้าเป็นคนจนไม่ต้องการจะทำใครให้ได้รับความเดือดร้อนมาก ที่เชิญท่านมานี่เพื่อขอความกรุณา นึกว่าเอาบุญด้วยเถิด ถ้าหากท่านคำนวณเลขจับขโมยเมื่อไร แม้โดนชื่อพวกข้าพเจ้าคนใดคนหนึ่ง ขออย่าได้บอกให้เขามาจับข้าพเจ้าเลย เพราะถึงท่านบอกก็ไม่ได้เกียรติยศอะไรนัก ไม่คู่ควรกับคนอย่างท่านที่จะช่วยเหลือจับขโมยสาระเลว คือพวกข้าพเจ้าซึ่งขโมยเฉพาะกล้วยอ้อย อีกประการหนึ่งจะทำให้ข้าพเจ้าต้องล่มจมด้วย กับท่านก็จะไม่ได้ความดีความชอบจากพระราชามีเกียรติยศมากนัก ถ้าท่านสัญญาว่าจะไม่ทำอันตรายพวกข้าพเจ้าแล้ว จะขอสมนาคุณท่านให้ถึงใจ”

ตาพราหมณ์เต็มใจ- “ได้ ตกลงตามนี้ก็ได้ ขโมยกล้วยอ้อยกี่มากน้อยก็เชิญให้พอเถิด ใครเขาคงไม่เดือดร้อน ส่วนเราก็จะไม่บอกให้ใครรู้ ถึงให้สินบนเราพอใจ ถึงจะเข้าไปขโมยในพระราชวังก็ได้ ไม่ต้องวิตกวิจารณ์ว่าเราจะบอก เพราะพระราชาจะต้องประสงค์ให้เราบอกเรื่องใด ก็พระราชทานสินจ้างให้เรา ถ้าเจ้าให้สินจ้างเราอย่างพอใจก็ใช้ได้เท่ากัน เสร็จธุระเท่านี้มิใช่หรือ? จะได้ลาไปที”

บุตรประธานมนตรี- “ไหนๆ ท่านจะลาไปไม่ควรให้เสียเวลาไปมือเปล่า ข้าพเจ้าหมายจะฉลองคุณท่านบ้างตามมีตามเกิดเท่าที่มีอยู่ เชิญท่านยื่นมือเข้ามาทางช่องหน้าต่างซิท่าน”

ตาพราหมณ์ดีใจหมายได้ลาภ ยื่นมือเข้าไปรับ ทันใดนั้นบุตรประธานมนตรีฉวยมือตาพราหมณ์ตัดนิ้วเอาไปเสียนิ้วหนึ่ง แล้วเปิดหนีไปทั้งสี่คน อยู่ทางนี้ตาพราหมณ์ร้องโอดเขว่า จำหน้าพวกนั้นก็ไม่ได้สักนิด และเวลามากจวนค่ำ เสียใจนิ้วขาดไปนิ้วหนึ่ง ลาภก็ไม่ได้ ต้องกุมมือครางอู้กลับมาบ้าน ปิดประตูลั่นดาลเงียบ ไม่เปิดประตูไปไหนหลายวัน ถึงใครจะมาเชิญแกก็ไม่ไป เพราะแกเข็ดและขายหน้าแก

ในระหว่างนี้ เรื่องจับขโมยเป็นอันหยุดชะงักไป สี่สหายโปร่งใจจะไปไหนได้สะดวกไมต้องกลัวใครจับตัว บุตรประธานมนตรีลงไปอาบน้ำแต่เช้าทุกวัน บรรจงเจิมจันทน์ผงที่หน้าผาก สรวมธุติและฉัทรทำด้วยไหม ทำทีดูเหมือนพราหมณ์บัณฑิตชั้นสูง เข้าเฝ้าพระราชาทุกวัน ส่วนเจ้าชายเอาแต่บ่น “นี่ยังจะเป็นยังงี้ช้านานกี่มากน้อย น่ารำคาญ”

บุตรประธานมนตรี- “สหาย ทำการอะไรรีบร้อนมักเสียการหมด ต้องค่อยทำค่อยไประมัดระวังให้มั่นคง ที่ทำการขโมยมาสองคราวง่ายเมื่อไร แต่ก็สำเร็จไปได้ ยังเหลือแต่จะขโมยในพระราชวังอีกครั้งเดียว ก็เป็นอันสมความปรารถนาเรา เวลานี้ข้าพระเจ้าไปในพระราชวังทุกวัน สืบดูลาดเลาให้รู้ทางเข้าออก เพราะเข้าไปขโมยในพระราชวังไม่ใช่การเล็กน้อย ถ้าเลินเล่อพลาดนิดเดียวก็เสียการหมด ขอให้ทนไปหน่อย ไม่ช้าคงสมประสงค์ที่ทรงมาดหมายไว้”

บุตรประธานมนตรีพูดรับรองเจ้าชาย แล้วเข้าไปในพระราชวังเสมอทุกวันมิได้ขาด จนสืบทางเข้าออกนอกในพระราชวังได้ละเอียดโดยไม่มีใครสงสัย พยายามจนมีโอกาสเข้าไปดูถึงในห้องบรรทมชั้นในได้ครั้งหนึ่ง แต่มาลำบากอยู่ด้วยทหารที่เฝ้าพระทวาร คอยระวังระไวทั้งกลางวันกลางคืนแข็งแรงมาก แม้แต่แมลงวันจะลอดเข้าไปก็ไม่พ้นตาทหาร บุตรประธานมนตรีสิ้นปัญญาไม่ทราบว่าทำอย่างไรจึงจะเข้าไปขโมยในนั้นได้ คิดอยู่หลายเวลาจึงตรองตก ไปหาซื้อเหล็กท่อนปลายแหลมใหญ่ๆ มาหลายอัน เวลาเดือนมืดคืนวันหนึ่งเตรียมตัว มือหนึ่งสวมเครื่องแต่งตัวผู้หญิง อีกข้างหนึ่งปล่อยให้ว่างเปล่า นำเหล็กท่อนค้อนกับนิ้วมือตาหเรกฤษฏด้วย ดอดย่องไปทางกำแพงหลังพระราชวัง ตรวจดูกำแพงพอจะตอกเหล็กปีนขึ้นไปได้ง่าย แต่มีปัญหาอยู่ว่าตอกอย่างไร จึงจะไม่ให้ใครในนั้นได้ยิน กำลังยืนตรองหาทาง พอดีได้ยินเสียงฆ้องย่ำยามหึ่งมาจากโรงทหาร เกิดความคิดว่าถ้าตอกที่ปีนในขณะนี้ เสียงฆ้องก็กลบเสียงตอกหมด จึงรีบลงมือตอกๆ ทยอยกันจนขึ้นไปถึงช่องพระบัญชรห้องบรรทม ค่อยแง้มบานออกย่องเข้าไปไม่ให้ดัง เห็นพระแท่นของพระราชาและของพระราณีตั้งเรียงกันอยู่กลางห้อง บุตรประธานมนตรีค่อยเลื่อนตัวขึ้นไปนอนอยู่ในระหว่างกลาง กำลังนั้นพระราชาและพระราณีบรรทมหลับสนิท บุตรประธานมนตรีค่อยๆ เอามือที่ไม่ได้สวมเครื่องแต่งตัว เอื้อมไปปลดเครื่องทรงของพระราณีได้สำเร็จ ก็หันเอามือที่สวมเครื่องประดับเอื้อมไปปลดธำมรงค์ที่พระราชา ๆ รู้สึกพระองค์แต่ยังทรงง่วงอยู่ เข้าพระหฤทัยว่าพระหัตถ์พระราณี เพราะมีเครื่องประดับเต็ม จึงเป็นแต่ทรงปัดไปแล้วหลับอีก บุตรประธานมนตรีลักพระธำมรงค์ได้แล้ว จึงเอานิ้วขาดของตาพราหมณ์เสียบเข้ากับปลายไม้ไผ่เล็กๆ เข้าทาบตามพระกายพระราชา มือตาพราหมณ์แข็งกระด้างและคาย พอต้องพระราชาก็ตื่นบรรทม ทรงเชื่อว่าเป็นผู้ร้ายเข้ามา ฉวยพระแสงดาบที่วางข้างพระที่ฟาดไปตรงที่นิ้ว ถูกหลุดกระเด็นออกจากปลายไม้พลัดตกลงบนพระกาย ทันใดนั้นบุตรประธานมนตรีก็กรากหนีออกจากพระห้องไปโดยเร็ว ฝ่ายพระราชาทรงคลำสิ่งที่ตกลงมาถูกพระองค์ว่าเป็นนิ้วแน่ เข้าพระหฤทัยว่านิ้วผู้ร้ายที่ทรงฟันขาด ตรัสพึม “ถึงจับตัวไอ้ขโมยไม่ได้ ได้นิ้วมันไว้ก็เท่ากับจับได้ตัวมันเหมือนกัน” ทรงจุดไฟแล้วปลุกพระราณี พระราณีตื่น ตกพระหฤทัยด้วยเห็นเครื่องอาภรณ์ใครลักไปหมด แต่พระราชาตรัสว่า “ชั่งมันไอ้ขโมยเข้ามาเมื่อกี้นี้ ฉันฟันด้วยดาบนิ้วขาดอยู่นี่แน่ ถึงมันจะหนีไปก็ไม่เป็นไร รอพอสว่างฉันจะให้เขาสืบหาตัว ถ้าใครนิ้วมือขาดให้จับตัวมันมา” ตรัสเสร็จทรงเหลือบดูนิ้วพระหัตถ์ ก็ตกตะลึงด้วยเห็นพระธำมรงค์หายไปเหมือนกัน

รุ่งเช้าพระราชาเสด็จออกท้องพระโรง รับสั่งให้เที่ยวตามหาคนนิ้วด้วน ถ้าพบให้จับตัวนำมา ทรงเล่าให้ข้าราชการฟังว่า เมื่อคืนนี้ผู้ร้ายเข้าไปถึงในห้อง ทรงฟันด้วยดาบถูกนิ้วขาด เพราะฉะนั้นถ้าใครนิ้วด้วนต่อกับนิ้วที่ขาดได้กัน ไอ้คนนั้นก็คือผู้ร้ายนั่นเอง

เจ้าพนักงานออกเที่ยวสืบหาตัวคนนิ้วขาดทั่วทั้งพระนคร ไม่พบใครนิ้วด้วน จึงจับเอาผู้ที่นิ้วสั้นนิ้วกุดนิ้วพิการมาตั้งร้อย แต่เข้ากับนิ้วที่ขาดไม่ได้ จึงทรงปล่อยคนเหล่านั้นไปหมด เป็นดังนี้มาตั้งอาทิตย์หาตัวผู้ร้ายไม่ได้ ในระหว่างเวลานี้บุตรประธานมนตรีเฝ้าอยู่ด้วยเสมอทุกเวลา ปลอมเป็นบัณฑิต และโดยที่มีโอกาสแสดงความสามารถในเรื่องต่างๆ คล่องแคล่ว จนพระราชาทรงนับถือโปรดปราณ เช้าวันหนึ่ง บุตรประธานมนตรีพูดกับเจ้าชาย “ถึงเวลาแล้วที่พระองค์ควรไปเฝ้าพระราชา แสดงพระองค์ว่าเป็นขโมย ในเรื่องนี้จะให้ข้าพระเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไม่เหมาะ นี่แน่ะเครื่องอาภรณ์ของพระราณีและพระธำมรงค์ของพระราชา สำหรับนำไปเป็นหลักฐานยืนยันข้อที่จะแสดง อีกประการหนึ่ง เวลาที่ข้าพระเจ้าไปในพระราชวังคืนนั้น ได้ซ่อนทองพระกรของพระองค์อันมีพระนามจารึกไว้ที่รูใต้พระแท่นของพระราชา เพราะฉะนั้น ถ้าหาหลักฐานว่าเป็นขโมยใช่หรือไม่ ก็ขอให้หาของที่ซ่อนไว้นำเอาออกมา เมื่อราชทรงเห็นพะยานหลักฐานอย่างนี้ ก็จะทรงเชื่อทีเดียว และทั้งจะทรงทราบด้วยว่าพระองค์มีสกุลสูงต่ำอย่างไร” ตามที่บุตรประธานมนตรีแนะนำ เจ้าชายทรงยินยอม จึงเข้าเฝ้าพระราชาพร้อมด้วยสหายสองคน ส่วนบุตรประธานมนตรีปลอมเป็นบัณฑิตไปต่างหาก พระราชาประทับเหนืออาสน์ พระพักตร์หมองด้วยไม่ได้ตัวขโมย

ขณะนั้นบัณฑิตปลอมกราบทูลขึ้น “บัดนี้ก็ได้ตรวจหาคนนิ้วขาดถ้วนทั่วทุกคน ไม่ว่าเด็กหญิงชายหนุ่มสาวแก่เฒ่าหมดแล้ว ยังเหลือแต่บัณฑิตหเรกฤษฏยังไม่ได้ตรวจ น่าสงสัยที่ทำไมจึงไม่มาเฝ้าเลย”

พระราชา- “จริงของท่าน ตั้งแต่มาคราวนั้นก็หายไปไม่มาอีก ไปตามตัวมาเดี๋ยวนี้” มีรับสั่งให้คนไปบ้านตาพราหมณ์ แกไม่เต็มใจมาเลย เพราะแผลที่นิ้วมือยังไม่หายสนิท แต่โดยราชโองการขัดไม่ได้ จำเป็นต้องมา

พอตาพราหมณ์มาถึง บุตรประธานมนตรีก็กราบทูล “ขอพระองค์ทอดพระเนตรดูท่านหเรกฤษฏ ด้วยนิ้วมือขาดไปนิ้วหนึ่ง”

พระราชาตื่นเต้นพระหฤทัย ทรงหยิบนิ้วขาดมาเทียบกับมือตาหราหมณ์เข้ากันได้สนิท รูปพรรณสัณฐานสีเนื้อและอะไรทุกอย่างเหมือนกันหมด(?) ทรงเชื่อแน่ในพระหฤทัยว่าตาพราหมณ์เป็นผู้ร้าย ทรงพิโรธมากถึงกับส่งพระสุรเสียง “เหม่! ไอ้อกตัญญู มึงกินข้าวของกูมาหลายปีแล้ว หมายว่าจะรู้คุณบ้าง กลับซ้ำร้ายเนรคุณกู อ้อ! อย่างนี้เองมันจึงคำนวณเลขผิดทุกที นี่ดีว่าเป็นพราหมณ์[๑๐] ถ้าไม่เช่นนั้นจะทำโทษให้เขาไปเสียบเสียเดี๋ยวนี้” หันพระพักตร์ไปตรัสกะทหาร “นำตัวมันไปโกนหัวแล้วเอานมข้นราด เสร็จแล้วให้เนรเทศออกไปเสียจากเมือง”

ตาพราหมณ์ตกใจ ไม่รู้เรื่องว่าเดิมเป็นมาอย่างไร ตะลึงจังงังไม่กระดุกกระดิกตัวปากอ้าไม่ขึ้น รู้สึกได้รับความอัปยศอย่างยิ่ง เสียใจน้ำตาไหลเยิ้ม กำลังทหารจะพาตัวตาพราหมณ์ไปทำโทษ บุตรประธานมนตรีทำสัญญาให้เจ้าชายเสด็จเข้าไปกราบทูล “ข้าแต่พระองค์ พราหมณ์ผู้นี้หาความผิดมิได้ ตัวข้าพระเจ้าเองที่เป็นขโมย”

พระราชาประหลาดพระหฤทัย- “นี่ใครที่ไหนมา?”

เจ้าชายทรงเล่าเรื่องขโมยสามราย ตั้งแต่ต้นจนเข้าไปในพระราชวังโดยละเอียด ทรงเล่าเป็นพระองค์เองที่เป็นตัวขโมย พอจบก็นำเครื่องประดับของพระราณี และพระธำมรงค์ออกมา และกราบทูลเพิ่มเติม “ถ้ามีพระประสงค์หลักฐานให้ยิ่งกว่านี้ เพื่อให้หนักแน่นในพระหฤทัย ว่าที่ได้กราบทูลเป็นความสัตย์จริงทุกประการหรือไม่ ก็ขอมีรับสั่งให้ใครค้นดูที่ใต้พระแท่น จะพบกำไลของข้าพระเจ้าทิ้งไว้ที่นั่น ในขณะที่ข้าพระเจ้าเข้าไปในคืนวันนั้น”

พระราชารับสั่งให้พนักงานไปค้นได้ทองพระกรมาสมจริง พอทรงอ่านอักษรที่จารึกในนั้น ก็ทราบว่าเจ้าชายเป็นใคร ทรงโสมนัสรีบเสด็จจากราชอาสน์ออกมาต้อนรับเจ้าชาย ทรงกอดรัดด้วยความปลื้มพระหฤทัย ตรัสขออภัยต่อพราหมณ์หเรกฤษฏ มีรับสั่งให้จัดการสมโภชอภิเษกเจ้าชายกับพระธิดา

เมื่อเจ้าชายได้อภิเษกกับเจ้าหญิงแล้ว ทรงพาพระชายาและสหายร่วมหฤทัยทั้งสามเสด็จกลับไปบ้านเมือง ถัดมาสามสี่ปี เมื่อพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นราชบิดาเสด็จล่วงลับไป เจ้าชายได้เถลิงราชสมบัติเป็นกษัตริย์ ทรงตั้งให้ราชสหายทั้งสามได้รับตำแหน่งของบิดาตนทุกๆ คน


[๑] ทำดังนี้ แปลว่าสบประมาทอย่างลึกซึ้ง

[๒] สุภาษิตเบงคลี

[๓] Hore Krishto

[๔] น้าวความไปถึงรามายณะ ตอนพระรามจันทร์ยกศรพระศิวะของท้าวชนกเพื่อได้นางสีดา พระรามใช่จะยกศรเท่านั้น ยังโก่งจนคันศรหัก : ศรนี้คือรัตนธนู มีความพิสดารในบ่อเกิดรามเกียรติ

[๕] Pon สํ = ปุณ = ๘๐ เบี้ย ๑๖ ปัณ ๑,๒๘๐ เบี้ย ราว ๑๐ สตางค์

[๖] (เบงคลี พพ (พ่อ..Baba)

[๗] ถ้า ๑ รูปี ราคาเท่ากับที่ใช้กันในปัจจุบัน ก็ออกจะมากเกินไป

[๘] Namavali = นามาวลี

[๙] ตำรา ถ้าจะเอาไปไหนด้วยต้องใช้ผ้าห่อ เรียกว่า ‘Daftar = ทาฟตาร’

[๑๐] ‘การฆ่าพราหมณ์ จะด้วยเหตุอะไรก็ตาม ถือเป็นบาปอุกฤษฎ์ ชำระโทษไม่ได้’ - Dubois หน้า ๑๘๐ ถ้าเทียบกับในพระพุทธศาสนา บาปชนิดนั้นคงมีน้ำหนักเท่าอรหันตฆาต.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ