มีความรู้หรือมีเชาว์ดี?

มีสองสหายคือ โอรสพระเจ้าแผ่นดินและบุตรของมนตรี[๑] ตั้งแต่เด็กมาเคยเที่ยวกินนอนด้วยกัน ไม่คลาดแม้แต่เวลาเดียว วันหนึ่งทั้งสองสนทนากัน เจ้าชายตรัสถามปัญหาขึ้น “สหาย ความรู้และเชาวน์ สองอย่างนี้ไหนจะดีกว่ากัน?”

บุตรมนตรีตอบทันที “ก็เชาวน์นั่นแหละดีกว่าความรู้”

เจ้าชายท้วง “ฉันยังไม่เห็นด้วย เชื่อว่าความรู้แหละเป็นดีกว่า”

ทั้งสองเถียงไม่ตกลงกัน ภายหลังเจ้าชายเป็นผู้ได้รับความศึกษามากกว่าบุตรมนตรีจึงท้าขึ้น “จะเถียงกันให้เสียเวลาทำไม ทดลองดูให้รู้แน่ว่าของใครถูกจะมิดีกว่าหรือ?”

บุตรมนตรีเห็นด้วย ทั้งสองจึงนัดกันว่าถึงกำหนดวันนั้นๆ จะได้ออกจากเมืองไปคนละทาง เวลากลับมาพบกันตอนหลัง ต้องเล่าเรื่องที่ไปพบปะและนำการอะไรมาบอกให้ฟังโดยสัตย์จริง ล่วงมาไม่ช้า ทั้งสองล่ำลากันแล้ว ขึ้นม้าปักษิราช[๒] ต่างไปคนละทิศ.

เจ้าชายเสด็จขึ้นม้าเดินทางมาได้ไกล เข้าในเขตป่าใหญ่ เป็นดงทึบต้นไม้ขึ้นงอกงามแซกแซมกันแน่น เกือบจะมองดูหนทางข้างหน้าไม่ได้มาก แต่มานะแหวกทางเสด็จเรื่อยไป จนมาถึงอาศรมน้อยแห่งหนึ่ง เสด็จลงมาจากหลังม้า เข้าไปที่ประตูกุฎี เห็นมุนีนั่งเข้าฌานหลับตา เจ้าชายทรงคอยอยู่หลายวันจนมุนีลืมตา ก็เข้าปฏิบัติเป็นธุระต่างๆ ตามที่มุนีประสงค์ มุนีพอใจในเจ้าชายมาก จึงพูดว่า “เจ้าชาย อาตมภาพมีความพอใจในความประพฤติของพระองค์เป็นที่สุด จะขอให้แหวนวงนี้ตอบแทนความดีความชอบที่มีแก่อาตมภาพ จะต้องประสงค์อะไรให้นึกขอต่อแหวนวงนี้ จะสมปรารถนาทุกอย่าง”

เจ้าชายขอบคุณมุนี ทรงรับธำมรงค์มา กระทำเคารพแล้ว ลามุนีขึ้นม้าเดินทางจากป่า.

เสด็จโดยทุเรศแสนกันดารมาได้หลายเวลา ลุถึงประเทศหนึ่ง ซึ่งไม่ทรงรู้จัก พระเจ้าแผ่นดินประเทศนั้นมีพระธิดาองค์หนึ่ง ทรงศิริรูปโสภาคยิ่งกว่านางในพื้นพิภพ นางกระทำปฏิญาณว่าจะทรงยอมวิวาห์กับผู้ใด ผู้นั้นต้องสามารถนำสิ่งที่ต้องประสงค์ให้ได้ทุกวันจนครบหนึ่งเดือน ถ้าใครปฏิบัติไม่ได้ตลอด ต้องตกเป็นชะเลยหรือเป็นทาสของนางสำหรับตักน้ำสรง.

เจ้าชายทราบเรื่องนี้จากพลเมือง ก็มารำพึง “เรามีธำมรงค์วิเศษสารพัตรนึก อันท่านมุนีให้ไว้ ถ้าเราจะเข้าไปขันอาสาก็คงสมหวัง”

แท้จริง ได้มีโอรสกระษัตริย์ประเทศต่างๆ เข้ามาอาสาหลายรายมากต่อมาก แต่ต้องแพ้ตกเป็นทาสของนาง.

ส่วนเจ้าชายทรงมั่นในคุณวิเศษของธำมรงค์ เพราะฉะนั้นจึงไปอาศัยอยู่กับหญิงร้อยพวงมาลัย ซึ่งเคยนำดอกไม้ไปส่งในพระราชวังเสมอ เจ้าชายร้องขอให้หญิงผู้นี้ นำความขึ้นกราบทูลพระธิดา ว่าทรงยินดีจะเข้าอาสาตามที่เจ้าหญิงประกาศ.

หญิงร้อยมาลัยนำความขึ้นทูล พระธิดาทรงตกลงตามนั้น รับสั่งให้เริ่มแต่ในวันรุ่งขึ้นเป็นต้นไป และมีประสงค์สิ่งไรจะแจ้งมาให้ทราบ.

รุ่งเช้า ขณะที่เจ้าชายประทับอยู่ ณ ระเบียงหน้าบ้านหญิงร้อยมาลัย มีนางข้าหลวงของพระธิดาเข้ามาหาสองคน ทำเคารพตามธรรมเนียมแล้วพูด “บัดนี้พระธิดามีพระประสงค์ให้ท่านหาเครื่องประดับทำด้วยทองสองสำรับมาถวาย”

เจ้าชายรับสั่งให้หญิงทั้งสองรอสักครู่ เสด็จเข้าไปในห้อง เปิดหีบหยิบพระธำมรงค์ออกมาสั่ง “เจ้าแหวน เจ้าจงหาเครื่องประดับทำด้วยทองมาให้เราสองสำรับ” ทันใดของนั้นก็มีปรากฏขึ้นเอง เจ้าชายทรงหยิบเครื่องประดับเสด็จออกมาส่งให้หญิงข้าหลวง.

หญิงทั้งสองแลเห็นให้อัศจรรย์ใจ ด้วยเครื่องประดับงดงามมากหาเปรียบไม่ได้ รับมาจากเจ้าชาย ทำเคารพแล้วทูลลาพาของเข้าไปถวายพระธิดา.

พระธิดาเมื่อได้ทอดพระเนตรเครื่องประดับก็ทรงประหลาดเหมือนกัน ไม่ทราบว่าเจ้าชายไปได้มาจากไหน.

รุ่งขึ้นนางใช้ให้ข้าหลวงสี่คนไปหาเจ้าชาย ว่าต้องประสงค์เครื่องประดับเหมือนอย่างเมื่อวานนี้อีกสี่สำรับ กับทับทิมขนาดใหญ่สี่เม็ด ของเหล่านี้เจ้าชายหาได้สมดังเจตนา เจ้าหญิงแม้จะปลื้มพระหฤทัยที่ได้ของ ยังไม่เท่ากับที่จะทราบว่าเจ้าชายได้สามารถจัดหามาได้อย่างไร รุ่งขึ้นนางส่งข้าหลวงไปสิบหกคน ขอให้เจ้าชายจัดหาทับทิมสิบหกถาด ช้างสิบหกเชือก ม้าสิบหกตัว เจ้าชายก็รับสั่งกะธำมรงค์จัดหามาได้ทุกอย่าง พวกข้าหลวงนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาถวายพระธิดา คราวนี้นางถึงกับตะลึง ทรงนึก “เกิดมายังไม่เคยพบคนเช่นนี้ ของที่ส่งมาเพียงแต่ละอย่าง มีค่าควรสมบัติเจ็ดกษัตริย์ ด้วยอะไรหนอ เจ้าชายจึงหามาให้ได้ง่ายดายและไม่น้อยด้วย”

การเป็นไปดังนี้ทุกๆ วัน มาตรว่าพระธิดาจะปรารถนาของมีราคาหายากอย่างไร เจ้าชายเป็นหาให้ได้สะดวกทุกครั้งไป ยิ่งล่วงจวนจะครบหนึ่งเดือนตามสัญญา พระธิดาให้เร่าร้อนพระหฤทัยทรงวิตก “ถ้าเป็นไปดังนี้เห็นจะไม่เป็นการ จะขอให้หาของอะไรให้มากขึ้นไป อย่างไรเสียเจ้าชายคงหาได้ทั้งสิ้น จำจะต้องคิดหาอุบายอย่างอื่น” มีรับสั่งให้หาตัวหญิงร้อยมาลัยเข้ามาเฝ้า รับสั่งถาม “ของที่เจ้าชายให้ฉ้นมาทุกๆ วัน รู้ไหมว่าได้มาอย่างไร?”

หญิงร้อยมาลัย- “หม่อมฉันไม่ทราบเรื่อง แต่สันนิษฐานตามที่เจ้าชายอาศัยอยู่ในบ้านหม่อมฉัน ก็ไม่เห็นว่ามีสมบัติอะไร”

เจ้าหญิง- “เช่นนั้นแกต้องสืบความลับของเจ้าชายให้ได้ ถ้าสืบได้ให้รีบมาบอกเรา จะได้รางวัลเป็นความชอบ สุดแล้วแต่จะขอ”

หญิงร้อยมาลัยสัญญาว่าจะตั้งใจสืบให้รู้จงได้ทูลลากลับมาบ้าน พอได้โอกาสก็ทำเป็นสนทนากับเจ้าชายด้วยเรื่องต่างๆ สักครู่หวนถาม “อ้อ! หม่อมฉันอยากจะทูลถามอะไรสักหน่อย ตั้งแต่ได้เห็นพระองค์มาอยู่ที่บ้าน ไม่เห็นมีของใช้ไม้สรอยอะไร ใครๆ ก็คงนึกว่าพระองค์มิเป็นโอรสของกษัตริย์ที่เล็กน้อยกระมัง ครั้นได้เห็นพระองค์สามารถหาสิ่งที่มีราคาประทานแก่พระธิดา ไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไรได้ทุกคราว หม่อมฉันทั้งสงสัยและอัศจรรย์ใจว่าพระองค์ทำประการใดจึงสามารถหามาให้ได้”

เจ้าชาย- “ยายเอ๋ย! ทำไมฉันจะหาให้ไม่ได้ แต่เป็นความลับไม่ควรยายจะคิด ป่วยการเปล่า”

หญิงร้อยมาลัย- “ทราบแล้ว แต่หม่อมฉันอยากรู้ใจจะขาด ทำไมจะต้องกลัว หม่อมฉันสัญญาว่า ถ้ารู้แล้วจะไม่ให้รั่วไปถึงหูใครอีก”

เจ้าชาย- “รู้แล้ว จะมีประโยชน์อะไรแก่ยายนัก?”

หญิงร้อยมาลัย- “แหม เท่านี้พระองค์ยังไม่ไว้ใจหม่อมฉัน ตั้งแต่มาประทับที่นี่ หม่อมฉันหรือก็รักใคร่พระองค์เท่ากับบุตร การเท่านี้ไว้พระหฤทัยยังไม่ได้ทีเดียวหรือ?”

เจ้าชายถูกหญิงร้อยมาลัยเซ้าซี้ร่ำไรไม่หยุด เขลาปัญญาเปิดความลับเรื่องพระธำมรงค์ให้รู้ พอหญิงร้อยมาลัยทราบเรื่องก็รีบไปทูลพระธิดาตามที่ตนรู้มา พระธิดาปลื้มพระหฤทัยเหลือล้น ประทานรางวัลให้แก่นางใจคดสมขนาด รุ่งขึ้นเป็นวันก่อนจะครบกำหนดสัญญาเพียงวันเดียว พระธิดาให้ข้าหลวงแต่คนเดียวไปหาเจ้าชาย ว่ามีพระประสงค์พระธำมรงค์วงนั้น.

เจ้าชายทราบความตามที่พระธิดาต้องพระประสงค์ก็วาบพระหฤทัยพระเนตรค้างจังงัง แทบไม่ทรงเชื่อว่าการจะเป็นไปถึงเพียงนี้ แค้นพระหฤทัยที่ไว้ใจทางวางใจคนเช่นหญิงร้อยมาลัยนี้ แต่จะทรงทำประการไรได้ หมดหนทางจะหลีกเลี่ยง ต้องประทานพระธำมรงค์ไป.

รุ่งเช้าวันสุดท้าย พระธิดาให้ข้าหลวงคนหนึ่งไปขอเงินร้อยรูปีจากเจ้าชาย ก็เสียพระธำมรงค์ไปแล้ว แม้แต่เงินเล็กน้อยเท่านี้ เจ้าชายก็จะสามารถหาที่ไหนให้ได้ เป็นอันแพ้พนันพระธิดา ตกเป็นทาสสำหรับตักน้ำสรง

ย้อนกล่าวถึงบุตรมนตรีตั้งแต่แยกทางกับเจ้าชายแล้ว ก็ขี่ม้าแรมทางมาได้หลายวัน ถึงนครหนึ่งเป็นเวลาเย็นเข้าไปขออาศัยบ้านพราหมณ์แห่งหนึ่ง ครอบครัวของพราหมณ์ บ้านนี้มีไม่กี่คน คือ ตาพราหมณ์กับภรรยาและบุตรชายกับบุตรสะใภ้พึ่งได้แต่งกันใหม่ๆ ทั้งสี่รับรองบุตรมนตรีเป็นอันดี แต่บุตรมนตรีได้เข้าไปพักไม่ช้า สังเกตเห็นว่าครอบครัวนี้คงมีความทุกข์อะไรอย่างใหญ่ ด้วยได้ยินเสียงพูดโอดครวญกันที่ในห้องถัดไป แล้วได้ยินเสียงร้องไห้สะอึกสะอื้น เสียงบุตรชายพูด “ให้ฉันไปเอง จะปล่อยให้พ่อให้แม่แกไป เท่ากับเป็นลูกอกตัญญูไม่รู้คุณ”

เสียงสะใภ้- “พ่อไม่ต้องไป ฉันจะไปแทนเอง ถึงฉันไป อยู่ข้างนี้ พ่อก็พอจะหาภรรยาใหม่ให้ลูกชายของพ่อได้”

ส่วนตาพราหมณ์พ่อ และยายพราหมณ์แม่ไม่ได้ยินเสียงพูด เป็นแต่ได้ยินเสียงร้องไห้ไม่หยุด บุตรมนตรีเงี่ยหูฟังให้ประหลาดใจยิ่งขึ้น อยากจะรู้ว่าเป็นเรื่องอะไร จึงเชิญตัวเจ้าของบ้านออกมาแล้วถาม “มหาศัย เป็นอะไรไปหรือท่าน?”

ตาพราหมณ์ทีแรกนิ่ง แล้วก็หวนถาม “ท่านจะทราบไปทำไม?”

บุตรมนตรี- “บอกให้ทราบเถิดท่าน บางทีพอจะช่วยได้บ้าง”

ตาพราหมณ์- “เรื่องที่อยากทราบ คือดังนี้ มหาศัย ไม่สู้ช้านักพระราชาของข้าพเจ้า ได้ทรงรับสัญญาไว้กับรากษสี[๓]ตนหนึ่ง ที่ต้องส่งชาวเมืองไปให้มันกินวันละคน มิฉะนั้นมันจะทำลายล้างนคร กินคนเสียหมดเมือง มาวันนี้ถึงเวรบ้านข้าพเจ้า จะต้องส่งคนในครอบครัวคนหนึ่งไปให้มันกิน เพราะฉะนั้น จึงได้ร้องไห้ ด้วยจำเป็นต้องจากกันไปเสียคนหนึ่ง” พูดแล้วก็สะอึกสะอื้น.

บุตรมนตรีปลอบ “มหาศัย อย่าร้องไห้เป็นทุกข์เลย ฉันจะไปแทนเอง”

ตาพราหมณ์ตกใจ- “อะไรมหาศัย! ทำเช่นนี้ไม่ได้ ผิดธรรมเนียม จะให้ผู้ที่เป็นแขกมารับเคราะห์ส่งไปเข้าปากนางรากษสี เพื่อเอาตัวรอด เคยมีตัวอย่างที่ไหน ไม่ได้ ข้าพเจ้าจะต้องมีโทษผิดถึงแก่ล่มจมทีเดียว”[๔]

บุตรมนตรี- “ข้อนี้อย่าวิตกเลย ถ้าทำตามข้าพเจ้าสั่งแล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ขอแต่ว่าก่อนข้าพเจ้าไป จัดหาสิ่งของบางอย่างให้ข้าพเจ้าได้เป็นแล้วกัน”

บุตรมนตรีชี้แจงแสดงเหตุผลอยู่นาน ตาพราหมณ์จึงยอม แต่กระนั้นยังไม่สู้เต็มใจ ได้ถาม “ท่านจะต้องการอะไรบ้าง?”

บุตรมนตรี- “ต้องการเชือกอย่างเส้นใหญ่ๆ หนึ่งเส้น ปูนเปียกหนึ่งถัง พลั่วสักสองสามอัน กะทะมีไฟหนึ่งกะทะ กับเหล็กแหลมสองอันเท่านี้เป็นพอ”

ตาพราหมณ์ไปจัดหาให้แต่ในใจนึกสงสัยเอาไปทำไมกัน

บุตรมนตรีได้ของเหล่านี้ ลาตาพราหมณ์ตรงไปยังที่อยู่ของนางรากษสี ถึงที่นั่นเอาเหล็กแหลมเข้าเผาไฟให้แดง แล้วนั่งลงถืออาวุธที่ว่านี้เตรียมไว้เมื่อเวลาเข้าไปในนั้น ปิดประตูบ้านของนางรากษสีเสียด้วย สักครู่นางรากษสีมาเห็นประตูบ้านปิด ประหลาดใจ ร้องถาม “ใครอยู่ในนั้น?”

บุตรมนตรีทำเสียงห้าวย้อนถาม “ใครหา! ที่มาเรียก กูคือรากษส-ยม ชื่อ กะษส”[๕]

เสียงห้าวอย่างนี้นางรากษสีไม่เคยได้ยิน ชื่อกะษสตั้งแต่เกิดมาพึ่งได้ยินคราวนี้ นึกขยาด ถอยหลังห่างออกมาร้องถาม “นี่ท่านมาที่นี่ทำไม?”

เสียงย้อนถามจากข้างใน “ก็มึงมาทำไมที่นี่?”

รากษสีตกใจ- “ท่านกะษส ตั้งแต่เกิดมาฉันยังไม่เคยเห็นหน้าตาท่านว่าเป็นอย่างไร อยากจะเห็นจริงๆ ขอดูผมท่านสักที”

เสียงตอบ- “ต้องเอาผมให้กูดูเสียก่อน”

นางรากษสีถอนผมสอดเข้าไปให้ทางช่องหน้าต่าง บุตรมนตรีจึงส่งเชือกเส้นใหญ่รอดออกไปทางรูนั้นให้ดูบ้าง

นางรากษสีเห็นเชือก นึก “นี่ผมอะไรใหญ่โตเช่นนี้ ไม่เคยเห็นเลย” แล้วร้องขอไปอีก “ท่านกะษส ขอให้ฉันดูเล็บท่านทีว่าเป็นอย่างไร”

เสียงตอบมาอย่างเดิมอีก “เอาเล็บเองให้กูดูก่อน”

นางรากษสีถอดเล็บส่งไปให้ทางช่อง บุตรมนตรีก็ส่งพลั่วออกมาให้ นางรากษสีเห็นตกใจตัวสั่น “คุณพระพรหม! กะษสนี้น่ากลัวจะเป็นตัวท่านรากษสยมแน่แล้ว” แข็งอกแข็งใจถามไปอีก “ท่านกะษส ขอให้ฉันดูน้ำลายท่านสักหน่อยเถิด”

เสียงย้อนถามกลับมาอีก “ให้กูดูของมึงก่อน”

นางรากษสีก็บ้วนน้ำลายลงในจานส่งรอดเข้าไปให้ บุตรมนตรีก็ส่งถังปูนออกมา นางรากษสีเห็นยิ่งตกใจตัวสั่น กลัวแสนกลัว แต่ยังแข็งใจร้อง “ท่านกะษส ฉันกลัวท่านแล้ว จะขอไปจากที่นี่ไม่กลับมาอีกเป็นอันขาด ไหนๆ จะไปขอให้ฉันเห็นรูปร่างท่านสักหน่อยเถิด”

เสียงตอบ “ได้ เข้ามาให้ใกล้หน้าต่างซิ จะให้เห็นตัว” พูดแล้วบุตรมนตรีลุกขึ้นหยิบเหล็กแหลมกำลังร้อนแทงตรงไปที่หน้าต่าง พอนางรากษสีก้มลงมองที่ช่อง บุตรมนตรรีก็เอาเหล็กแหลมเสือกออกไปทางที่มองเต็มแรงถูกตานางรากษสี เสียงร้องกรี๊ดน่าขนลุก อึดใจเดียวก็ล้มตึงขาดใจตาย บุตรมนตรีเปิดประตูออกมา ตัดลิ้นนางรากษสีเก็บไว้ กลับเข้าไปนอนในบ้านอย่างเก่า.

รุ่งเช้าชาวเมืองที่ผ่านมาทางนั้น เห็นนางรากษสีนอนตาย ก็ดีใจจนไม่รู้จะเอาอะไรมาเปรียบ ตรงนี้ขอย้อนกล่าวว่า พระราชาทรงป่าวร้องให้สัญญา ถ้าใครกำจัดนางรากษสีได้ จะยกพระธิดาและนครให้ครอบครองกึ่งหนึ่ง พวกที่มาพบรากษสีนอนตาย หวังได้ลาภที่กล่าวนี้ ต่างคนตัดแขนขานางรากษสีไปคนละชิ้น รีบเข้าไปถวายพระราชาเพื่อเป็นหลักฐานว่าตนได้เป็นผู้ฆ่านางรากษสีเอง ดังนี้ เมื่อพระราชาเสด็จออกท้องพระโรง มีผู้ที่อ้างว่าได้ฆ่ารากษสีมากมายก่ายกอง พระองค์รับสั่งถามประธานมนตรีว่า จะวินิจฉัยลงไปอย่างไรว่าใครเป็นผู้ฆ่านางรากษสีจริง เพราะต่างนำหลักฐานมาแสดงด้วยกันทั้งนั้น.

ประธานมนตรีกราบทูล “เรื่องนี้ ข้าพระเจ้าเห็นควรมีรับสั่งให้หาเจ้าของบ้านที่ถูกเวรให้ส่งครอบครัวของตนคนหนึ่งไปให้นางรากษสีกินเมื่อคืนนี้ เข้ามาไต่สวน ก็จะได้ความโดยละเอียด ตามเรื่องที่เป็นจริงประการไร” จึงรับสั่งให้ตาพราหมณ์เข้ามาเฝ้าตรัสถาม “พราหมณ์ เมื่อคืนนี้ท่านส่งใครไปให้นางรากษสีกิน?”

ตาพราหมณ์รู้สึกไม่สบายใจ ด้วยตนยอมให้แขกที่มาอาศัยในบ้านไปแทนตัว กราบทูลกระอ้อมกระแอ้ม “ขอเดชะ ถ้าข้าพระเจ้าจะกราบทูลตามความจริงโดยละเอียด จะต้องมีโทษผิดหรือไม่? ข้าพระเจ้ายังวิตกอยู่”

พระราชา- “บอกตามจริงมาให้หมดเถิด ไม่ต้องกลัวอะไร”

ตาพราหมณ์โล่งใจ- “ขอเดชะ ความจริงคือเมื่อวานนี้ ย่อมจะทรงทราบ เป็นเวรขอข้าพระเจ้าจะต้องส่งครอบครัวในบ้านคนหนึ่งไปให้นางรากษสีกิน กำลังข้าพระเจ้าและครอบครัวเป็นทุกข์นั่งร้องไห้หน้าตาเศร้า ว่าจะส่งใครไปดี ได้มีชายแปลกหน้าเข้ามาขออาศัยนอน เห็นพวกข้าพระเจ้าร้องไห้น้ำตาเปียก จึงถามว่ามีเรื่องเดือดร้อนอะไร ข้าพระเจ้าไม่เต็มใจจะบอกให้ทราบ แต่เร้าข้าพระเจ้าไม่หยุดหย่อน จนข้าพระเจ้าเกรงใจไม่กล้าขัดจึงเล่าเรื่องให้ฟัง ชายคนนั้นบอกข้าพระเจ้าว่า ไม่ต้องวิตก จะไปแทนเอง ข้าพระเจ้าคัดค้านแข็งแรงไม่ยอมให้ไปท่าเดียว เพราะผิดธรรมเนียมไม่บังควรที่สุด แต่เขาก็ยังดื้อจะไปให้ได้ ขอให้ข้าพระเจ้าหาเชือกเส้นใหญ่ๆ เส้นหนึ่ง กับของอื่นอีกหลายอย่าง ข้าพระเจ้าก็หาให้ เห็นออกจากบ้านแบกเอาของเหล่านั้นไปด้วย ข้าพระเจ้าทราบเรื่องที่เป็นจริงเพียงเท่านี้ เช้าวันนี้เขาโจษกันว่านางรากษสีนั้นตายเสียแล้ว จะจริงเท็จประการไรข้าพระเจ้าหาทราบไม่”

พระราชารับสั่ง “ถ้าอย่างนั้นไม่มีอะไรอีก ต้องไปตรวจดูที่บ้านนางรากษสีด้วยตนเอง” จึงเสด็จดำเนินพร้อมด้วยประธานมนตรีและราชบริพาร ไปบ้านนางรากษสี เสด็จถึงที่นั่นทอดพระเนตรเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งนอนหลับอยู่ ทรงปลุกให้ตื่น รับสั่งถาม “นี่เจ้าเป็นใคร? มาจากไหน เป็นผู้ที่ฆ่านางรากษสีใช่หรือไม่?”

บุตรมนตรีกราบทูลว่าใช่ และนำลิ้นนางรากษสีมาให้ทอดพระเนตร แล้วกราบทูลว่า ตนเป็นใครและได้กำจัดนางรากษสีด้วยประการไร พระราชาทรงทราบความก็โสมนัสอย่างยิ่ง เข้ากอดบุตรมนตรีรับสั่ง “ตัวเจ้าได้ทำคุณไว้แก่เรานักหนา อีรากษสีตนนั้นทำความเดือดร้อนต่อนครเราถึงจะต้องล่มจม ได้สัญญาไว้ไม่ว่าใคร ถ้าสังหารอีรากษสีตายเราจะอภิเษกกับธิดาเรากับยกเมืองให้ครอบครองกึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงขอให้รางวัลเจ้าตามความชอบที่ได้ทำไว้”

บุตรมนตรีมีความยินดี กราบทูลขอบพระเดชพระคุณ แล้วตามเสด็จเข้าไปในพระราชวัง ต่อมาไม่ช้าก็มีการอภิเษกบุตรมนตรีกับพระธิดาเป็นพิธีเอิกเกริกใหญ่โต พระราชาไม่มีโอรสสำหรับจะรับราชสมบัติต่อ จึงทรงรักใคร่บุตรมนตรีเสมอเหมือนโอรสของพระองค์เอง ทั้งดีพระหฤทัยที่ราชบุตรเขยมีความรู้จัดการแผ่นดินได้เรียบร้อย เบาราชภาระทั้งสิ้น ด้วยเวลานั้นพระองค์มีชนมายุมากแล้ว.

บุตรมนตรีครอบครองเมืองเป็นสุขสบายมาได้หลายเดือน คอยฟังข่าวเจ้าชายซึ่งเป็นสหายที่รัก ล่วงเวลามานานก็ไม่ได้วี่แวว เร่าร้อนใจมีความวิตก วันหนึ่งพระธิดาซึ่งเป็นชายา เสด็จเข้ามาเห็นพระสามีนั่งนิ่งหน้าเป็นทุกข์ จึงถามว่าเป็นอะไรไป บุตรมนตรีพยายามทำหน้าให้ชื่น ตอบ “เปล่า! ไม่เป็นอะไร”

พระธิดา- “ฉันไม่เชื่อ ดูหน้าเศร้าหมองเป็นทุกข์ ยังจะบอกว่าไม่เป็นอะไรอีก ฉันก็เป็นภรรยาเธอ ได้ทุกข์สุขอย่างไรควรจะบอกให้ทราบบ้าง ไม่ควรปิดบัง”

บุตรมนตรี- “ขอบใจนางที่มีกังวลด้วยตัวพี่ แท้จริงตั้งแต่มาอยู่นี่ มีแต่ความสุขสบาย ความเดือดร้อนสักนิดก็ไม่มี ที่พี่นั่งนิ่งอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นเพราะจากบ้านมานานแล้ว ป่านนี้บิดามารดาจะอยู่เย็นเป็นสุข หรือได้ทุกข์ประการไรบ้างไม่ทราบ ท่านทั้งสองก็มีอายุมากด้วย อีกประการหนึ่ง เป็นทุกข์ถึงเจ้าชายซึ่งเป็นสหายร่วมชีวิตของพี่ ออกจากเมืองมาด้วยกัน ต่างคนพเนจรเสาะแสวงหาลาภไปคนละทาง ล่วงมาจนป่านนี้ก็ไม่ได้ข่าวคราวว่าไปไหน เหตุดังนี้เองที่มีความวิตก”

พระธิดา- “เรื่องเท่านี้ ไม่ควรเป็นทุกข์ พรุ่งนี้ฉันจะขึ้นเฝ้าพระบิดา กราบทูลให้ทรงทราบ ท่านก็จักรับสั่งให้คนไปสืบ ไม่ช้าเราคงรู้เรื่อง”

บุตรมนตรี- “ทำอย่างนั้นไม่ได้ พี่จะต้องไปเอง”

พระธิดา- “ถ้าเธอตั้งใจจะไปเอง ฉันจะตามเป็นเพื่อนด้วย”

บุตรมนตรี- “พระธิดายอดรัก ที่นางจะตามไปด้วยนั้นไม่ควร จะต้องบุกป่าฝ่าไพรกันดารลำบากไม่น้อย คอยอยู่ที่นี่เถิด ฉันจะไปสืบเจ้าชายแต่คนเดียว พบเมื่อไรจะรีบกลับมารับ”

พระธิดาตกพระหฤทัยหวิวผวา- “อะไรคะเธอ น้ำใจจะทิ้งฉันให้อยู่คนเดียว ส่วนเธอจะต้องตากแดดเร่ร่อนไปแต่ลำพัง ลำบากยากเย็นช้านานเท่าไรก็ไม่ทราบ ไม่ได้ ฉันต้องตามไปด้วย”

บุตรมนตรี- “ฉันไปไม่นานนัก เชื่อฉันเถิด อย่าไปด้วยเลย เดินทางกลางป่าแสนลำบาก อุตส่าห์คอยอยู่ที่นี่ พี่คงกลับมาเร็ววัน ไม่ช้าดอก”

พระธิดาไม่พอพระทัยจะให้ไป ครั้นจะขัดขืนก็เกรงจะเคืองใจ จำต้องผ่อนตาม “ถ้าเธอจะไปคนเดียวจริงๆ ฉันก็ต้องยอม ขอแต่ไปแล้วอย่าให้ช้า ได้ความแล้วจงรีบกลับ”

บุตรมนตรีรับรอง แล้วลานางขึ้นเฝ้าพระราชา กราบทูลเรื่องจะขอลาไป อย่างที่ได้พูดไว้กะพระธิดา.

พระราชาไม่สบายพระหฤทัยมาก ถึงกับกรรแสงเข้า ทรงกอดราชบุตรเขย ตรัส “ลูกเอ๋ย! เชื่อพ่อเถิด อย่าไปเลย ถ้าไปก็เท่ากับเด็ดดวงใจพ่อให้ตายเร็วเข้า เจ้าก็รู้แล้วว่าพ่อมีแต่เจ้าคนเดียวที่เป็นหัวแรงดูแลการงานแทนในเวลาแก่เฒ่า ทุกวันนี้ได้ความสุขสบายก็เพราะเจ้า ถ้าไปแล้วพ่อจะอยู่กับใคร มิต้องเป็นทุกข์ถึงแก่ความตายหรือ คิดดูให้ดี อย่าไปเลย”

บุตรมนตรีไม่ยอมจะขอไปถ่ายเดียว ในที่สุด พระราชาก็จำผ่อนตาม แต่ทรงขอให้รออยู่อีกสองสามเวลา พอเตรียมการให้พระธิดาไปด้วย แต่บุตรมนตรีกราบทูล ขอฝากพระธิดาไว้ก่อน เพราะจะให้ไปก็เป็นเครื่องกีดขวางต่อการที่จะไป และอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตราย ทั้งตนและพระธิดาด้วย พระราชาก็ยอมตาม เป็นแต่ทรงนึกหวังอยู่ว่า ไม่ช้าคงจะกลับมา ดังนี้ จึงค่อยบรรเทาความร้อนพระหฤทัยลงได้บ้าง.

บุตรมนตรีขึ้นม้าออกจากเมือง เดินทางข้ามป่าข้ามเมืองหลายแห่ง ตกกลางคืนหยุดพักนอน รุ่งเช้าออกเดินต่อไป เป็นดังนี้จนบ่ายวันหนึ่งถึงดงทึบ หมดหวังที่จะฝ่าพ้นดงออกได้ก่อนเวลามืด ครั้นจะหยุดพักนอนในดงก็น่ากลัว เพราะดูเหมือนจะมีสัตว์ร้ายเที่ยวพลุกพล่านอยู่ทุกหนทุกแห่ง เพียงกลางวันยังได้ยินเสียงเสือสีห์หมีป่า ร้องคำรามอยู่กาหล อย่างไรก็ดี เมื่อหมดสามารถที่จะไปให้พ้นดงในวันนั้นได้ ก็ต้องลงจากม้า ผู้กไว้กับโคนต้นไม้ใหญ่ แล้วปีนขึ้นไปนอนบนค่าคบไม้อีกต้นหนึ่งที่มีใบปกคลุมหนา ใกล้เวลาจะเที่ยงคืนตกใจสะดุ้งตื่นขึ้น ด้วยได้ยินเสียงพายุพัดอู้มาทางทิศใต้ ไม้ไล่หักดังสนั่น ไม้ต้นไหนที่ใหญ่ๆ ก็โอนเอนยวบโยกแทบจะถอนราก บุตรมนตรีไม่ทราบว่าเป็นเพราะพายุอะไร และก็ไม่นานแลเห็นรากษสตนหนึ่ง ภายใหญ่มหึมาหน้าตาน่ากลัว บุตรมนตรีแม้จะเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญใจเด็ด แต่เมื่อได้เห็นรากษสตนนี้เข้าก็ตกใจกลัวขนลุก เบียดตัวเข้าไปซุกงออยู่ในซอกกิ่งไม้ที่มีใบปกคลุมมิดชิด.

รากษสมาถึงต้นไม้ที่บุตรมนตรีซ่อนอยู่ นั่งพักสักครู่แล้วเอาเท้ากระทืบพื้นดินโคนต้นไม้นั้นสองครั้ง ทันใดหินก้อนใหญ่ที่อยู่โคนต้นไม้เลื่อนออกเองจากที่นั้น แลเห็นเป็นช่องลงไปใต้ดิน รากษสลงไปในนั้น สักครู่กลับขึ้นมาพาลิงมาด้วยตัวหนึ่ง เก็บใบไม้ต้นที่บุตรมนตรีซ่อนอยู่นั้นสองสามใบ ไปตักน้ำที่บ่อใกล้มา ทิ้งใบไม้ลงไปในน้ำที่ตัก แล้วเทลงบนตัวลิง ไม่ช้าลิงก็กลายร่างเป็นนางงาม รากษสพานางลงไปในอุมงค์ ต่อจวนรุ่งจึงพานางกลับขึ้นมา คราวนี้รากษสเก็บใบไม้มาจากต้นไม้มาอีกต้นหนึ่ง ทิ้งลงไปในน้ำที่ตักมาจากบ่ออีกแห่งหนึ่ง นำมารดนาง ร่างนางกลับเป็นลิงอย่างก่อน แล้วรากษสพาลงไปในอุมงค์ สักครู่มันกลับขึ้นมาตนเดียว เอาหินปิดปากช่องอย่างเดิมแล้วก็ไป.

บุตรมนตรีอยู่บนต้นไม้สังเกตสิ่งที่รากษสทำโดยถี่ถ้วน พอสว่างลงจากต้นไม้ ตรงไปเก็บใบหม้จากต้นไม้ทั้งสองต้นมา แล้วเอาเท้ากระทืบที่ตรงโคนต้นไม้สองครั้งเหมือนอย่างที่รากษสทำ ในทันใดหินก็เลื่อนออกเอง บุตรมนตรีมองดูตรงนั้น เห็นปากช่องมีเป็นบันไดทำแข็งแรงลงไปใต้ดิน แข็งใจลงไป สักครู่พบปราสาทงดงามอยู่ในนั้น เข้าไปเที่ยวตรวจดูทุกห้องแห่งที่มิได้พบใคร เห็นแต่ลิงตัวที่รากษสพาขึ้นมาเมื่อคืนนี้แต่ตัวเดียว มีโซ่ล่ามไว้ในห้องแห่งหนึ่ง บุตรมนตรีรีบกลับขึ้นมา ตักน้ำที่บ่อแรก เอาใบไม้ต้นแรกทิ้งลงไป นำไปรดที่ลิง ขณะนั้นลิงกลายรูปเป็นนางงามเหมือนคราวก่อน นางแลเห็นคนเข้ามาก็ตกใจและตัวสั่น ร้องถาม “ท่านนี้เป็นใครจึงเข้ามาในนี้ได้?”

บุตรมนตรี- “ขอให้เล่าเรื่องของนางว่าเหตุไรจึงเข้ามาอยู่ในนี้ให้ฉันทราบก่อน แล้วฉันจึงจะเล่าเรื่องของฉันให้ฟัง”

นาง- “เรื่องของฉัน คือฉันเป็นธิดาของราชาผู้ครองประเทศนี้ ซึ่งบัดนี้บ้านเมืองกลายเป็นป่าดังที่ท่านเห็นอยู่ข้างบน เดิมมีรากษสตนหนึ่งเข้ามากินพลเมืองทั้งบิดาญาติพี่น้องของฉันจนหมดสิ้น แต่ไว้ชีวิตฉัน ทำให้เปลี่ยนรูปเป็นลิงนำมาไว้ในนี้ ซึ่งเป็นปราสาทใต้ดินของบิดาฉัน ไอ้รากษสมานี่ทุกคืน และเปลี่ยนรูปฉันให้กลับคงเดิม ก่อนมันจะกลับไป เปลี่ยนรูปฉันให้เป็นลิง ทำดังนี้เป็นนิตย์ ถ้ามันเห็นท่านมา คงจับท่านกินเสีย โอย! น่ากลัวมาก ไม่ควรจะเข้ามาหาที่ตาย”

บุตรมนตรี- “ไม่ต้องวิตก ขอแต่ทราบว่าเหตุไรไอ้รากษสจึงไว้ชีวิตมิได้ทำอันตราย”

นาง- “มันจะบังคับให้ฉันแต่งงานกับมัน เมื่อมันเห็นฉันดื้อดึงไม่ยอม ก็โกรธถึงกับจะทำลายฉันเสีย แต่ฉันเห็นจวนตัวจึงต้องหลอกมันว่า ฉันมีความรักใคร่มันเหมือนกันทำไมจะไม่รัก ก็เห็นอยู่แต่มันเท่านั้น ที่ขัดขืนไม่ยอมเพราะยังไม่รู้ว่าใจมันเป็นอย่างไร ถ้ารู้แล้วก็ไม่อย่างนี้”

มันดีใจยิ้ม แล้วตอบ ‘เท่านั้นดอกหรือที่ไม่ยอม เข้าใจผิดถนัด ถ้ารักจริงจงยอมเสียดีๆ เดี๋ยวนี้’

“ฉันผลัดล่อลวงมัน ‘ขอให้รอไปสักปีก่อน เพราะเวลานี้กำลังถือศีลยังไม่ครบกำหนด ถ้าครบเมื่อไรก็สุดแต่ท่าน ถึงจะคอยสักหน่อยก็จะไปไหนเสีย’ ฉันหลอกมันอยู่เป็นนานมันจึงได้ยอม ตั้งแต่นั้นต้องทำเป็นรักใคร่มันเพื่อเอาใจไม่ให้มันโกรธ จนล่วงมาเกือบปีจะครบกำหนดที่ผลัดมันไว้ไม่กี่วัน” เล่าถึงเพียงนี้ก็กรรแสง

บุตรมนตรีนิ่งอั้นไปสักครู่ แล้วจึงพูด “ดูก่อนพระธิดาผู้ทรงโฉมอันงาม ขออย่าต้องวิตกในข้อนั้น ข้าพระเจ้าจะประหารรากษสเสียเอง”

ทั้งสองเสพอาหารสำราญใจแล้ว ก็แสดงความพอใจทำวิวาห์กันเอง[๖] ล่วงเวลาเย็น พระธิดาตรัสกับบุตรมนตรี “อยู่ในที่นี้ต่อไปจะไม่พ้นอันตราย เพราะมันจวนมาแล้ว ขอให้ไปซ่อนเสียที่ในกองดอกไม้ทางหลังปราสาทเถิด”

บุตรมนตรียอมตามนั้น แต่ถาม “มันนอนหลับเวลาไร?”

พระธิดา- “มันมาถึงนั่งพูดอยู่กับฉันสักครู่ แล้วก็นอน”

บุตรมนตรีทราบ จึงจัดการทำรูปพระธิดาเป็นลิงอย่างรากษสเคยทำแล้ว เข้าไปซ่อนอยู่ในกองดอกไม้

ล่วงเข้าเวลากลางคืน รากษสมาตามเคย เปลี่ยนลิงให้กลับเป็นนาง เย้าหยอกอยู่สักครู่ก็นอนหลับ นางรอพอแน่ใจว่าหลับสนิท ก็ให้สัญญาแก่บุตรมนตรีตามที่นัดกันไว้ บุตรมนตรีค่อยแหวกกองดอกไม้คลานออกมา หยิบใบไม้กับน้ำที่รากษสเคยใช้รดนางให้กลับเป็นลิง ตรงเข้าราดรากษสทั้งหลับ บัดเดี๋ยวรากษสก็กลายร่างเป็นลิงทโมน บุตรมนตรีเอาโซ่ที่มีอยู่ในปราสาททั้งสิ้นล่ามลิงแล้วนำเข้าขังกรงที่เตรียมคอยท่าไว้ เสร็จธุระแล้วบุตรมนตรีพานางขึ้นมาข้างบน ขึ้นม้าขี่ออกจากดง ผ่านประเทศมาหลายประเทศ ถึงเมืองหนึ่ง ทั้งสองหยุดพักอาศัยบ้านหลังหนึ่งที่หาเช่าได้ ให้พระธิดาอยู่ที่บ้าน ส่วนตนเที่ยวสืบหาเจ้าชายตามในเมืองจนอ่อนใจก็ไม่พบ ภายหลังเวลาวันหนึ่งได้ออกเที่ยวสืบหาตามเคย พบชายหนุ่มคนหนึ่งรูปร่างเป็นคนเข็ญใจ กำลังหาบน้ำเดินมา บุตรมนตรีคลับคล้ายคลับคลาดูเหมือนจะรู้จัก จึงเข้าไปดูให้ใกล้ พอเห็นถนัดก็จำได้ว่าเจ้าชายสหายรัก แต่ผิดรูปไปมากแทบจำไม่ได้ พระฉวีเศร้าดำซูบซีด บุตรมนตรีตรงเข้าไปทัก “พระองค์จำข้าพระเจ้าได้ไหม? ทำไมจึงมาเป็นดังนี้?”

เจ้าชายทอดพระเนตรเห็นสหายที่ได้จากไปนานก็จำได้ ดีพระหฤทัยจนตรัสตอบไม่ออก ใหอ้ำอึ้งแล้วก็ทรงกรรแสง พอคลายโศกก็เล่าเรื่องที่เป็นมาให้บุตรมนตรีฟังตลอด ถึงที่ต้องมาได้ทุกข์อยู่นี้ บุตรมนตรีนิ่งฟังพลาง มีความสงสารจนกลั้นน้ำตาไม่ได้ ครั้นทั้งสองเล่าทุกข์สุขกันเสร็จ บุตรมนตรีจึงพูดขึ้น “เท่านี้อย่าเพิกเสียพระหฤทัย ข้าพระเจ้าเชื่อว่าคงจัดการแก้ไขได้ และอยากถามให้แน่ว่าน้ำที่ตักไปนี้สำหรับสรงพระธิดาแน่หรือ?”

เจ้าชาย- “แน่ ตกไปให้พระธิดาสรงจริง”

บุตรมนตรี- “เช่นนั้นเวลาเสด็จมาตักน้ำพรุ่งนี้ ขอให้มาพบข้าพระเจ้าที่ตรงนี้ ข้าพระเจ้าจะคอย แล้วจึงจะทูลเรื่องที่ควรจะทำอย่างไรต่อไป”

เจ้าชายค่อยรู้สึกปรีดามาก แสดงความขอบพระหฤทัยที่ทำคุณอย่างใหญ่ ซึ่งพระองค์มิสามารถจะสนองได้ และตรัสเพิ่มเติม “ถ้าต้องเป็นอยู่อย่างนี้อีกสัก ๑๔-๑๕ วัน ฉันเห็นจะตาย”

บุตรมนตรีทูลไม่ให้ท้อหฤทัยว่า ไม่ช้าก็จะพ้นความทุกข์อันนี้ แล้วลาเจ้าชายขึ้นม้าตรงไปในป่าที่มีต้นยา เก็บใบมาทั้งสองต้นและตักน้ำมาจากบ่อทั้งสอง นำกลับมาโดยเร็ว

รุ่งเช้าเจ้าชายเสด็จมาตักน้ำให้พระธิดาสรง ได้พบกับบุตรมนตรี บุตรมนตรีส่งใบไม้และน้ำวิเศษชนิดแรกให้เจ้าชาย และแนะนำ “วันนี้เวลาพระธิดาลงสรง ต้องพยายามเอาใบไม้และน้ำนี้รดพระธิดาให้จงได้ ต่อรดแล้วเสด็จมาบอกให้ข้าพระเจ้าทราบว่าอย่างไร”

เจ้าชายทรงรับใบไม้และน้ำวิเศษไป ครั้นถึงเวลาพระธิดาลงสรง เจ้าชายพยายามนำใบไม้แลน้ำเข้าไปรดพระธิดาได้ ทันใดนางก็กลับกลายเป็นวานร กระโดดโลดเต้นไปทั่วปราสาท.

เมื่อพระราชาทรงทราบว่าพระธิดากลายเป็นลิงไป ก็เสียพระหฤทัยถึงมืดพระพักตร ด้วยพระองค์มีพระธิดาองค์เดียว ประกาศหาหมอมารักษาทั่วพระนคร และที่ลือชื่อว่าวิเศษในประเทศใกล้เคียงก็ทรงรับมา แต่ไม่มีหมอไหนสามารถจะรักษาให้พระธิดาคืนร่างได้ ในที่สุดพระราชาหมดพระปัญญา ก็รับสั่งให้ตีกลองร้องป่าว ว่าใครแก้ไขให้พระธิดากลับรูปจากลิงได้ จะยกพระธิดาและประเทศให้ครอบครองกึ่งหนึ่ง.

ในระหว่างนี้ เจ้าเสด็จไปหาบุตรมนตรีตรัสเล่าเรื่องที่เป็นมา และเมือ่พระราชรับสั่งให้ป่าวร้องทุกหนทุกแห่งหาคนรักษาพระธิดา บุตรมนตรีจึงทูลเจ้าชาย “เชิญเสด็จเข้าไปเฝ้าพระราชา ทูลอาสาว่าพระองค์จะขอรับรักษาให้นางกลับคืนร่างตามเดิม”

เจ้าชาย- “อาสาแล้ว ทำอย่างไรจึงจะรักษาหาย?”

บุตรมนตรี- “เอาเถอะข้อนั้น เป็นหน้าที่ข้าพระเจ้าเอง ขอแต่เสด็จเข้าไปทูลอาสา ตรัสประการไรให้มาบอกข้าพระเจ้าเป็นแล้วกัน การต่อไปตกแก่ข้าพระเจ้า”

เจ้าชายเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูล “ข้าแต่มหาราชข้าพระเจ้าขอรับอาสารักษาพระธิดาให้หาย”

พระราชาดีพระหฤทัย รับสั่งถาม “ท่านเป็นใครมาจากไหน?”

เจ้าชาย- “ข้าพระเจ้าเป็นผู้ที่แพ้พนันพระธิดาคนหนึ่งต้องตกเป็นทาสของพระธิดา”

พระราชา- “เออ! ถ้าอาสาครั้งนี้สำเร็จดังที่พูด เราจะยกพระธิดาพร้อมทั้งเมืองให้ครอบครองด้วยกึ่งหนึ่ง”

เจ้าชายทูลลากลับ นำความแจ้งแก่บุตรมนตรี บุตรมนตรีก็ถวายใบไม้และน้ำวิเศษชนิดที่สองแก่เจ้าชาย และสั่งให้เอาของสองสิ่งนี้รดพระธิดารูปจะกลับคืนมาตามเดิม เจ้าชายทรงรับของสองสิ่งเสด็จกลับไปในพระราชวัง กราบทูลขอพระราชาให้ใครนำลิงมาให้ พระราชาก็มีรับสั่งตามนั้น ราชบริพารนำลิงออกมา เจ้าชายร้องขอให้นำเข้าไปในห้องพิเศษแห่งหนึ่งแล้วให้ใครๆ ออกมาให้หมด พอเหลือแต่พระองค์กับลิงเท่านั้น เจ้าชายก็ทรงนำน้ำและใบไม้วิเศษรดนางลิง ทันใดนางลิงก็กลับเป็นพระธิดาตามเดิม เจ้าชายร้องเรียกให้ราชบริพารคนหนึ่งเข้ามา สั่งให้ไปกราบทูลว่าพระธิดากลับคืนรูปเดิมแล้ว บริพารคนนั้นไปกราบทูล พระราชาดีพระหฤทัยถึงกับเสด็จวิ่งมาทอดพระเนตรเห็นพระธิดาหายร่างจากลิง ความโสมนัสยินดีของพระองค์ตอนนี้เหลือที่จะกล่าวให้สม เป็นแต่ขอกล่าวว่าข่าวของพระธิดานี้ในไม่ช้าก็รู้แพร่ไปทั้งนคร ล้วนมีความยินดีเอิกเกริกกันเซ็งแซ่ ครั้นถึงวันฤกษ์งามยามดี พระราชาก็อภิเษกเจ้าชายกับพระธิดาเป็นงานใหญ่โต รื่นเริงสนุกสนานกันทั้งเมือง เจ้าชายประทับอยู่ ณ ประเทศนี้พอควรแก่กาล ก็ใคร่จะเสด็จกลับเมืองของพระองค์ จึงเข้าไปกราบทูลพระราชาตามที่ประสงค์ ทีแรกพระราชาไม่เต็มพระหฤทัยจะให้ไป แต่ภายหลังประทานอนุญาต รับสั่งให้เจ้าพนักงานเตรียมการไปส่ง ให้สมเกียรติยศ

ฝ่ายบุตรมนตรีดีใจที่ช่วยสหายหรือเจ้านายตนหลุดพ้นจากทุกข์ ทูลลาเจ้าชายกลับไปรับพระธิดาซึ่งเป็นชายาตนพามาพบกับเจ้าชายพร้อมหน้ากันแล้ว ก็พากันกลับคืนบ้านเกิดเรือนนอน ไปถึงเมือง พระราชาซึ่งเป็นพระบิดาเจ้าชายก็มีการสมโภชทำขวัญพระโอรสที่ได้เสด็จกลับ.

ตั้งแต่นั้นมาเจ้าชายและบุตรมนตรีก็ยังคงรักใคร่สนิทสนมกันเหมือนแต่ก่อนหามีวันเสื่อมคลายจากกันไม่ มาวันหนึ่งเมื่อทั้งสองนั่งคุยกันอยู่ บุตรมนตรีทำยิ้มๆ เอ่ยขึ้นว่า “อย่างไร สหาย เดี๋ยวนี้ทรงเห็นอย่างไร? มีความรู้หรือมีเชาวน์ดี?”

เจ้าชายพระพักตร์ออกจะเจิ่นๆ มิได้ตรัสตอบ.


[๑] ตามนิยายเบงคลี ราชบุตรและมนตรีบุตรเป็นเกลอกัน โดยมากมนตรีบุตรค่อนข้างฉลาดกว่า ในประเทศอินเดียสมัยโบราณผู้เป็นมนตรีมักอยู่ในสกุลพราหมณ์ จึงไม่ต้องมีปัญหาว่า ทำไมมนตรีบุตรจึงฉลาดเสมอ ตามนิยายไทย บุตรมนตรีเป็นพระพี่เลี้ยง : ดูก็ลงกันได้ ผู้ฉลาดกว่าเมื่อหวังดีในเพื่อนแล้ว ก็เป็นพี่เลี้ยงอยู่ในตัว.

[๒] แปลตามศัพท์ว่า “พญาของสัตว์มีปีก,” หมายความว่า บรรดาสัตว์มีปีกทั้งสิ้น จะเป็นยุงเป็นลิ้นไม่ว่า สัตว์นี้เป็นใหญ่กว่าหมด เพราะฉะนั้น (ปักษิราช) จึงเป็นชื่อของครุฑ แต่ในนิยายใช้เรียกม้า บางทีเป็นม้าสามัญ บางทีเป็นม้าวิเศษ, (เห็นจะไม่ถึงกับม้าปีก) ดูเชิงอรรถ หน้า ๘๖ และภาคผนวก.

[๓] เบงคลี = Raquoshi คือรากษสีผู้หญิง “อยู่ตามป่าช้ารังควาญการพิธีบูชา และรบกวนผู้ที่บำเพ็ญกุศล มักเข้าสิงอยู่ในซากสัตว์ และทำความเดือดร้อนอันตรายแก่มนุษย์ตั้งร้อยพันอย่าง” รูปตามธรรมดา “มีผมตั้งชันสีเหลืองเหมือนเปลวเพลิง ที่พ่นออกจากปากของมันอันมีเขี้ยวน่ากลัว ตัวใหญ่กำยำสีดำปานควันไฟ นมยาน พุงโร” – กถาสริตสาครเล่ม ๒ แต่มันอาจบิดเบือนตัวเป็นอะไรก็ได้.

[๔] บางทีจะเข้าใจว่าบุตรมนตรีเป็นพราหมณ์ เพราะยอมให้ไปจะเท่ากับฆ่าพราหมณ์กระมัง?

[๕] Kaqhosh : พระยมนั่นเอง

[๖] แต่งงานอย่างที่เรียกว่า “คนธรรพวิวาห” คือได้ด้วยความพอใจกันเอง เช่นท้าวทุษยันต์ได้นางศกุนตลาเป็นต้น (ในพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง ศกุนตลา)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ