พราหมณ์กับกายัสถ

ในพราหมณ์กับกายัสถสองคน พราหมณ์ใจบุญสุนทรเคร่งครัดในพระศาสนามาก จะพูดจะทำอะไรกอปรด้วยความสัตย์ซื่อยุติธรรม และทำบูชาตามที่ได้สอนไว้ในคัมภีรศาสตรเป็นนิตย์ทุกวัน ข้างฝ่ายกายัสถเป็นคนใจบาปหยาบช้า ประพฤติแต่ลามก หาทางเยาะเย้ยพราหมณ์เสมอ เช่น “เห็นแต่ท่านทำบุญทุกวัน แต่อดไม่มีอะไรกินทุกวัน ส่วนข้าเจ้า ดูซิ สิ่งไรที่เขาว่าชั่วว่าบาปทำมันไม่หยุด กินอยู่ฟุ่มเฟือย ไม่เห็นจะอดเหมือนกับท่าน เห็นอย่างไร? ท่านใจบุญ” พราหมณ์นิ่งไม่ตอบสักคำ ทนให้สบประมาท

วันหนึ่งพราหมณ์ไปอาบน้ำที่แม่คงคา กำลังอาบเท้าเหยียบถูกหลาวใครปักไว้เป็นแผลฉกรรจ์ โลหิตไหลจนลมจับ ชาวบ้านเห็นช่วยกันอุ้มขึ้นจากน้ำ พยุงกลับบ้าน เวลานั้นกายัสถเดินผ่านมาพบพราหมณ์ ทราบว่าต้องเหตุร้าย ก็เยาะ “ดูซิ ทำใจบุญไปเถิด วันนี้เกือบจะไม่มีชีวิต ส่วนข้าเจ้า นี่แน่ ได้เงินมาถุงถนัดใจ ทำบุญหรือทำบาปดี ขอถาม?”

กำลังพูดโต้เถียงกันอยู่ มีโหรมาทางนั้น พราหมณ์และกายัสถขอให้ช่วยดูชาตาของตนทั้งสองว่าทำไมจึงเป็นตรงกันข้ามดังนี้ โหรคำนวณดูแล้ว ตอบ “พราหมณ์ เมื่อชาติก่อนท่านทำบาปมาก มีความผิดเพราะฆ่าพราหมณ์ฆ่างัวและทำความชั่วอย่างอื่นๆ อย่างหนักอีกมาก[๑] ตามกรรมที่ได้ทำไว้ กำหนดจะต้องรับผลในวันนี้ คือโทษถึงถูกเสียบตาย แต่ในชาตินี้ท่านทำแต่การบุญจึงไม่ได้รับโทษเสียบ ลดเบาลงเพียงถูกหลาวตำเท้าแทน และส่วนการัสถชาติก่อนทำบุญไว้มาก กุศลที่ทำนั้นส่งผลให้เป็นถึงพระราชา แต่มาในชาตินี้ ท่านกลับประพฤติชั่วทำบาปนับไม่ถ้วน กุศลจึงไม่ส่งให้เป็นพระราชา ลดทองลงให้ได้พบเงินเพียงหนึ่งถุงในวันนี้” พราหมณ์และกายัสถได้ฟังโหรอธิบายแล้ว ต่างคนก็กลับบ้าน (?)



[๑] มหาปาตกานี หรือครุกาม ๕ ประเภท คือ ๑ พราหมหัตย = ฆ่าพราหมณ์, ๒. สุราปาน = เสพสุรา, ๓. เส๎ตย = ลักทองของพราหมณ์, ๔. คุรวังคนาคม = ล่วงภรรยาคุรุหรืออาจารย์, ๕ สมาคม = ร่วมผู้ประพฤติลามกใน ๔ ประเภทนั้น เหล่านี้ยังผู้ประพฤติให้ตกไหม้ในมหานรกตลอดกาลหลายกัล์ป แม้พ้นกรรมในนรกนั้นแล้ว เศษผลอำนวยแก่ผู้ทำต่างๆ : ผู้ฆ่าพราหมณ์ (พรหมะหา) เกิดในดิรัจฉานกำเนิดเป็น สุนัข สุกร ลา อูฐ งัว แพะ แกะ กวาง นก หรือเกิดในมนุษย์ ก็เป็นจัณฑาลถูกตัดจากสกุล [ตอนนี้ แม้ในพุทธศาสน์ก็รับรอง ตามที่กล่าวไว้ในหิโตปเทศตอนหนึ่ง]; ผู้เสพสุรา เกิดเป็นหนอนแมลงต่างๆ ; ผู้ลักทองของพราหมณ์ เกิดเป็นแมลงมุม งู อสุรกาย อีกตั้งพันอัตภาพ.

‘แต่การฆ่างัว (โคพัธ) เป็นบาปชั้นรอง (อุปปาตก) ไถ่โทษด้วยรับความลำบากอย่างสาหัส : เลี้ยงฝูงโค , คอยป้องกันโคให้พ้นอันตราย ติดตามไปทั้งกลางวันกลางคืนทุกฤดูอากาศจนครบ ๓ เดือน ต้องกินดินฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นมาด้วยขาโคก้าวเดิน’ – M William’s Indian Wisdom

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ