เทพธิดาอิตุ

[๑]นมนานมาแล้ว พราหมณ์ผู้หนึ่งมีลูกสาวสองคน คนพี่ชื่ออุมร[๒] คนน้องชื่อสุมร[๓] วันหนึ่งพราหมณ์อยากกินขนม บอกเมีย­ “พราหมณี วันนี้อยากกินขนมจริงๆ”

พราหมณี- “อยากกินก็จะไปเอาอะไรมาทำเล่า ไปหาอะไรมาซิ ได้มาจะทำให้”

พราหมณ์ออกไปขอเอาตามชาวบ้าน[๔] ได้ข้าวสารนมและน้ำตาลโตนดบ้าง มาให้เมียทำขนม

พราหมณ์ผู้นี้เป็นคนตะกละกินจุมาก[๕] เพราะฉะนั้นจึงได้ตั้งใจจะคอยนับขนมที่เมียทำว่าจะเป็นกี่แผ่น ไปนั่งคอยระวังอยู่หลังครัว เวลาเมียทอดขนมอันหนึ่งเสียงน้ำมันดังฉี่ทีหนึ่ง แกก็นับไว้ว่าเป็นขนมหนึ่งอัน นับตามเสียงนี้เรื่องไปได้ร้อยฉี่ จึงรู้ว่าทำขนมได้ร้อยอัน แต่เรื่องนี้ยายพราหมณีไม่รู้ ครั้นทอดเสร็จตาพราหมณ์ก็เลี่ยงออกไปนั่งที่ระเบียงหน้าบ้าน ตั้งใจจะกินเสียให้สมอยาก แต่กำลังที่ยายพรามหณีทอดขนม ลูกสาวทั้งสองอยู่ในครัวแลเห็นด้วย ขึ้นชื่อว่าเด็กจะไม่อยากกินขนมเป็นไม่มีละ เพราะฉะนั้นจึงร้องขอ ยายพราหมณีไม่กล้าให้ แต่หนักเข้าเห็นลูกร้องเง้าๆ งอดๆ ไม่หยุด อดรนทนไม่ได้จึงหยิบให้คนละแผ่น แล้วยกขนมทั้งหมดขาดสองชิ้นเอาออกไปให้ตาพราหมณ์ ตาพราหมณ์กินพลางนับพลาง ถึงที่สุดรู้สึกว่าขาดไปสองชิ้น พื้นไม่สู้ดี ร้องเรียกเมียทันที.

พราหมณ์- “ขนมนี่ทำไมขาดไป?”

เมีย- “ขาดที่ไหน ทำได้เท่าไรก็ยกเอามาให้หมด ไม่ได้ขยักไว้สักชิ้นเดียว”

พราหมณ์- “ที่ไหน เมื่อกำลังทอดข้าอยู่หลังครัวคอยนับอยู่ นับได้ร้อยชิ้น นี่เอามาให้เพียงเก้าสิบแปดชิ้น หายไปไหนสองชิ้น? อย่าตอแหล”

ยายพราหมณีหมดทางจะแก้ตัว เลยรับตรงๆ “ลูกมันเอาไปกินคนละชิ้น”

พราหมณ์ไม่พูดอะไร กินเสร็จออกไปข้างนอก ในใจนึกแค้นลูกสาวจัด.

ต่อมาไม่นาน พราหมณ์บอกกับเมียว่าจะพาลูกสาวทั้งสองไปหาลุง พาลูกสาวไปแล้ว เดินตามทางจนไกลถึงดงทึบแห่งหนึ่ง ลูกสาวยังเป็นเด็กเล็ก เดินต่อไปไม่ไหว พูดกะพ่อ “พ่อขา เดินไม่ไหวแล้ว หยุดพักที่นี่สักครู่เถิด”

พราหมณ์ก็หยุดพักให้ลูกทั้งสองนอน สักครู่ใหญ่เห็นลูกทั้งสองหลับสนิทราวกะท่อนไม้ ไม่กระดุกกระดิก ตนก็ค่อยเลื่อนตัวลุกขึ้นพูดด่า “อีลูกริยำ มึงอยู่นี่เถิด กูจะปล่อยไว้ในป่าให้เสือสางมันกินเสีย เพราะมึงกล้ากินขนมกูไปสองชิ้น” ออกได้ทิ้งลูกรีบหนีไป กลับมาถึงบ้านบอกกะเมียว่าเสือกินลูกเสียแล้ว เมียเสียใจร้องไห้โฮ รู้เท่าว่าผัวโกรธลูกเรื่องกินขนมจึงเอาลูกไปทิ้ง ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ตีอกชกตัวคร่ำครวญไปคนเดียว.

พอจวนเย็นเด็กทั้งสองตื่นขึ้นไม่เห็นพ่อ ทีแรกเข้าใจว่าจะไปธุระอะไรตามแถวนี้ จึงรอคอย ไม่เห็นกลับมาเข้าใจว่าเสือกินพ่อเสียแล้ว เที่ยวมองหารอยเลือดก็ไม่มี ขณะนั้นคนน้องสาวเอ่ยขึ้น “เห็นจะไม่โง่อย่างนั้นดอกพี่ คงจะไม่ใช่เสือกิน ดีร้ายจะโกรธเราที่เอาขนมไปกินเสียคนละชิ้น ทำโทษเราพามาปล่อยไว้ที่นี่ จะทำประการใดดี? เวลาเย็นเข้าทุกทีเสือสีห์หมีป่าจะทำร้าย ขืนอยู่ก็มีแต่จะตาย อนิจจา! ไม่พอที่ไปกินขนมเข้าเลยจึงต้องได้รับทุกข์ดังนี้ ไปเถอะพี่ เผื่อจะหาที่พอให้พ้นอันตรายได้บ้าง”

ทั้งสองออกเดินมาถึงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เข้าไปใกล้ต้นเอาผ้าเข้าคล้องคอ แสดงความนับถือกล่าวอ้อนวอน “โอ้ต้นไม้ ถ้าฉันทั้งสองเป็นลูกที่ดีเกิดมาจากแม่ที่ดี ขอท่านกรุณาบันดาลให้ลำต้นแยกออก ให้ฉันเข้าไปซ่อนอยู่ด้วยเถิด” พูดขาดคำ ต้นไม้แยกเป็นช่อง เด็กทั้งสองพากันเข้าไป พูดอีก “โอ้ต้นไม้ ถ้าฉันทั้งสองเป็นลูกที่ดี เกิดมาจากมารดาที่ดี ขอให้ท่านปิดช่องที่แยกออกเสีย” ทันใดต้นไม้ก็รวมกันเข้าสนิทอย่างเดิม เด็กทั้งสองได้อาศัยพักนอนในต้นไม้นั้น พ้นจากภัยในป่า

รุ่งเช้าเด็กทั้งสองออกมาจากในต้นไม้ โดยกล่าวสัตยาธิษฐานขอเหมือนก่อน กราบไหว้ต้นไม้แล้วเดินต่อไป สักครู่ได้ยินเสียงคนเป่าสังข์และเสียงผู้หญิงร้อง “อุลุ อุลุ”[๖] เด็กทั้งสองรีบเดินตามเสียงไป ไม่ช้าถึงที่นั้น มีหมู่หญิงสาวแก่และเด็กออกันอยู่แน่น ทั้งสองตรงเข้าไปถามพวกเหล่านั้นว่า “นี่ทำอะไรกัน?”

หญิงเหล่านั้นเห็นเด็กแปลกหน้าเข้ามาก็สงสัย ต่างถามกันเอง “นี่ลูกใคร? มาแต่ไหนหนอ?”

ขณะนั้น หญิงแก่คนหนึ่งซึ่งอยู่ในหมู่หญิง ตรงมาถามเด็กทั้งสองว่า เป็นลูกเต้าเหล่าใคร มาแต่ไหน?

เด็ก- “ฉันเป็นลูกพราหมณ์” แล้วถามหญิงแก่ “นี่ทำอะไรกัน?”

หญิงแก่ยิ้ม- “นี่หนู ไม่รู้จักดอกหรือ อนิจจา อนิจจา นี่เขาเรียกว่าการบูชาพระอิตุ”

เด็ก- “ทำ ทำไม?”

หญิงแก่ “ทำ ทำไม! เขาก็บูชาให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้มั่งมี ให้ได้เป็นสะใภ้ท้าวพญา ให้หม้อปูนแตกแต่หม้อเนย[๗]ใสเต็มเปี่ยม ให้พวกศัตรูตาย ให้พวกเพื่อนมีมาก ลูกเอ๋ย! เจ้าไม่บูชากับเขาบ้างหรือ?”

เด็กตอบว่าจะทำ

หญิงแก่- “อย่างนั้นไปอาบน้ำล้างตัวเสียที่บ่อใกล้ๆ นั้น เสร็จแล้วกลับมา”

เด็กพากันไป ถึงบ่อเห็นน้ำแห้ง กลับมาบอกกะหญิงแก่ “แม่ บ่อเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ น้ำไม่มี”

หญิงแก่ประหลาดใจตามเด็กไปดู เห็นบ่อแห้งจริง แกหันมาพูดกับเด็ก “หนูเอ๋ย! ชะรอยพ่อแม่ของเจ้าคงจะไม่ได้ทำบุญอะไรเสียเลยเป็นแน่”[๘] หญิงแก่ยอบตัวลงภาวนาขอความอนุเคราะห์ของเทวดา สักครู่หนึ่งในบ่อมีน้ำขึ้นมาเต็ม

เด็กทั้งสองไปอาบน้ำล้างเนื้อตัวเสร็จ กลับไปหาหญิงแก่ ณ ที่ซึ่งเขาชุมนุมกันทำบูชา พวกผู้หญิงเห็นเด็กทั้งสองจะทำการบูชาด้วย คนหนึ่งให้หม้อดิน บ้างให้ดอกไม้หญ้าแพรก ข้าวตาก และอะไรต่ออะไร.

เด็กทั้งสองทำบูชาพระอิตุ ตามวิธีที่หญิงแก่สอน เสร็จแล้วตามไปอยู่บ้านหญิงแก่ และทำบูชาพระอิตุเป็นนิจศีลเรื่อยมาได้หลายปี.

วันหนึ่งหญิงทั้งสอง (คือเด็กนั่นเอง) ไปอาบน้ำยังท่า[๙]ที่สระหนึ่ง หญิงผู้พี่หย่อนเท้าลงไปในน้ำ ชักผลุบผลับขึ้น บอกน้องสาว “ไปถูกอะไรไม่รู้ที่ในน้ำ”

น้องสาว- “ตรวจดูซิว่าเป็นอะไร?”

พี่สาว- “ไม่ได้ พี่กลัว”

น้องสาว- “ฉันจะดูเอง” เอามือคลำคว้าของนั้นขึ้นมา ของนั้นเป็นทองคำก้อนใหญ่ ทั้งสองดีใจรีบกลับบ้าน เอาทองคำที่ได้มาทำเป็นหม้อสำหรับบูชาพระอิตุ ในไม่ช้าชาวบ้านใกล้เรือนเคียงก็แลเห็น บ้านของหญิงทั้งสองเจริญยิ่งกว่าใครในหมู่นั้น

ขอย้อนเล่าถึงพ่อแม่ของสองหญิง คืนวันหนึ่ง พราหมณ์พ่อนอนหลับฝันว่า พระอิตุเสด็จมาและตรัสว่า ถ้าไม่ไปรับบุตรีทั้งสองกลับมาโดยเร็ว จะทำโทษให้ลากเลือดตาย และบอกตำแหน่งแห่งที่อยู่ให้ พราหมณ์ตกใจตื่น พอสว่างก็ลุกขึ้นแก้ฝันให้เมียฟัง.

พราหมณีดีใจ ร้องว่า “ถ้าอย่างนั้นลูกเราก็ยังอยู่ ไม่ตายน่าซิ ไปรับมาเดี๋ยวนี้เถิดแกอย่าช้า”

พราหมณ์ผัวต้องการจะไปอยู่แล้ว ซ้ำเมียงสั่งซ้อนขึ้นมาก็ไม่รอช้า รีบออกจากบ้าน ดุ่มๆ ไปถึงหมู่บ้านข้างป่าที่ได้ทิ้งลูกไว้ พอลูกสาวทั้งสองเห็นพราหมณ์พ่อมาก็จำได้ ตรงเข้าโผกอดคอพราหมณ์ ร้องไห้ถาม “พ่อ ทำไมทิ้งฉันไว้ในป่าได้?”

พราหมณ์- “ก็พ่อมานี่จะรับเจ้ากลับไปอย่างไรเล่า?”

ลูกสาวทั้งสองดีใจ ล่ำลาชาวบ้านที่กรุณารับเลี้ยงตน กลับไปบ้านพราหมณ์พ่อ และนำหม้อทองคำของพระอิตุมาด้วย ถึงบ้านยายพราหมณีเห็นลูกสาวกลับมาดีใจจนล้นเหลือ ร้องทักลูกสาวซ้ำอยู่หลายครั้ง “กลับมาแล้วหรือ ลูกรักของแม่” ตรงเข้ากอดจูบ ร้องไห้พลางไต่ถามถึงที่ตกระกำลำบาก.

ลูกทั้งสองเล่าความให้ฟัง และพูดต่อไป “นี่เพราะพระอิตุทรงกรุณาลูกจึงได้กลับมาพบแม่อีก” แม่ลูกพูดจากันตามประสาที่จากพรากกันไป.

จับเดิมแต่ลูกสาวกลับคืนมา พราหมณ์ผัวเมียก็เกิดหนุนพูนสุข จะทำการอะไรสบเหมาะคล่องเจริญไปทุกอย่าง.

ล่วงมาวันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินในประเทศนั้นเสด็จมาประพาสล่าเนื้อในป่า ใกล้หมู่บ้านที่พราหมณ์อยู่ ต้องแสงแดดแผดร้อนจัด ทรงกระหายเป็นกำลัง รับสั่งมนตรีมุขที่ตามเสด็จ “ถ้าไม่ได้น้ำกิน เราเห็นจะตาย”

มนตรีมุขกราบทูลว่า ในป่าแถบนี้มีหมู่บ้านอยู่แห่งหนึ่งไม่สู้ไกลนัก แล้วขี่ม้านำเสด็จพระเจ้าแผ่นดินไปในป่า สักครู่หนึ่งถึงบ้านพราหมณ์ ตาพราหมณ์รู้จักพระเจ้าแผ่นดินก็เอาผ้าเข้าคล้องคอกระทำความเคารพ อัญเชิญเสด็จเข้าในบ้าน.

พระเจ้าแผ่นดินเปรมพระหฤทัย ที่ทรงเห็นพราหมณ์รับรองพระองค์เป็นอันดี รับสั่งขอน้ำเสวย พราหมณ์เข้าไปตักน้ำมาสองถ้วย และเอาผมของลูกสาวทั้งสองผูกไว้ที่ถ้วย นำเอามาถวายพระเจ้าแผ่นดินถ้วยหนึ่ง อีกถ้วยหนึ่งส่งให้มนตรีมุข.

พระเจ้าแผ่นดินและมนตรีมุข สังเกตเห็นเส้นผมติดอยู่ที่ถ้วย จึงถามว่าเป็นผมใคร พราหมณ์สนองว่าเป็นผมของลูกสาวตน.

ราชา- “พราหมณ์ เราจะขอรับหญิงที่เป็นเจ้าของผมนี้ไปเป็นชายาจะเห็นอย่างไร?” ส่วนมนตรีมุขก็พูดขอแต่งงานกับเจ้าของผมที่ผูกถ้วยน้ำของตนด้วยอีกคนหนึ่ง

พราหมณ์มีความยินดีตกลง กราบทูลขอบพระเดชพระคุณ แล้วเข้าไปในห้องนำลูกสาวออกมา คนพี่ถวายแด่พระราชา คนน้องยกให้มนตรีมุข พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้มหาดเล็กและทหารที่ตามเสด็จ นำยานมารับหญิงทั้งสองแล้ว ทรงลาพราหมณ์เสด็จกลับคืนพระราชวัง”

ลูกสาวพราหมณ์คนที่มีบุญได้เป็นราณี มีความอิ่มเอิบกำเริบใจ ลืมหม้อทองคำสำหรับทำบูชาพระอิตุเสีย มิได้เอามาด้วย แต่น้องสาวเป็นคนดี คิดถึงคุณหม้อบูชาเสมอ มาตามทางบังเกิดทุนิมิต ปรากฏแก่พระเจ้าแผ่นดินและราณี ฝนไฟตกลงมา สุนัขจิ้งจอกเห่าหอนน่าเสียวแสยง บนอากาศแซ่ไปด้วยเสียงนกเหยี่ยวแร้งร้องขรม ส่วนมนตรีมุขกับภรรยามาตามทางอีกข้างหนึ่ง พบแต่ศุภนิมิต ฝนตกเป็นดอกไม้ เสียงนกร้องพลอดกู่เพราะวังเวง เสียงคนโห่รื่นเริงในคราวมงคล พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรเห็นลางดังนี้ก็อัศจรรย์พระหฤทัย พลางรับสั่ง “จะมีเหตุเภทภัยประการไรหนอ? ฟากถนนที่เรามามีแต่อัปมงคล แต่ข้างฝ่ายทางที่มนตรีมุขเดิน ได้บังเกิดแต่สุมงคลนิมิต” พระองค์ทรงนึกสนเท่ห์ในพระหฤทัยจนมาถึงพระราชวัง มนตรีมุขทูลลาพาภรรยาแยกทางไปที่อยู่ของตน.

ส่วนพระราชาพาราณีเสด็จมาถึงพระทวาร เกิดเหตุอาเพศพระทวารพังลง ตกพระหฤทัย นับแต่นั้นมาความอวมงคลก็มาสู่พระองค์เรื่อยเป็นลำดับ แต่ฝ่ายมนตรีมุขกลับเกิดหนุนพูนเจริญขึ้นทุกวัน ต่อมาไม่ช้ามีการกาลีขึ้นในเมือง ผู้คนพลเมืองต่างพากันไปอยู่เมืองอื่น พระราชทรงสุบินว่า ราณีเป็นรากษสี[๑๐] ควรจะขับไล่เสียจากเมือง ครั้นรุ่งเช้ารับสั่งให้หามนตรีมุขเข้ามา ตรัส “ราณีของเราคนนี้ ชะรอยจะเป็นหญิงอัปลักษณ์[๑๑] เป็นเหตุให้เราได้รับความชั่วร้ายต่างๆ ท่านต้องพาตัวไปปล่อยเสียในป่าจึงจะได้”

มนตรีมุขพาราณีไปปล่อยในป่า กลับมาบ้านเล่าความให้ภรรยาซึ่งเป็นน้องสาวราณีฟัง

ภรรยา- “เรื่องนี้ท่านต้องช่วยพี่สาวฉันให้กลับมาจนได้ ช่วยทีเถิดท่าน”

มนตรีมุข- “ไม่ได้ดอกหล่อน เจ้าไม่รู้อะไร ขืนไปพากลับมาน่าจะร้ายถึงตัว หากพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบเข้า ฉันต้องถูกประหารชีวิตทันที”

ภรรยา- “ท่านไม่ต้องวิตก ขอให้ไปพากลับมาเถิด ฉันจะปิดความให้มิดเม้น ไม่ให้ทราบถึงพระเจ้าแผ่นดินได้”

สามีขัดภรรยาไม่ได้ รุ่งเช้าจึงเข้าไปในป่า พระราณีนั่งร้องไห้ตาบวมอยู่ตรงที่ๆ ตนได้นำมาปล่อยไว้เมื่อวานนี้ จึงรับเอามาบ้าน ภรรยามุขมนตรีออกไปต้อนรับพี่สาวพาเข้ามาในห้องแล้วพูด “ดูซิพี่ ที่ต้องได้รับความทุกข์ลำบากครั้งนี้ เป็นความผิดของพี่เอง จะโทษใครไม่ได้ พี่ต้องเริ่มทำบูชาพระอิตุเสียเถิด”

พี่สาวยอมรับว่าเป็นผู้ผิด และสัญญาว่าจะทำบูชา แต่นิสัยสันดานของนางกลายเป็นกระด้างกระเดื่องไปเสียแล้ว ทั้งรูปร่างหน้าตาก็สิ้นสวยไม่มีราศี ใครๆ ได้แลเห็นเป็นต้องบอกว่าพระลักษมี (ความงาม) มิได้สิงสถิตอยู่เลย ที่นางรับคำว่าจะทำบูชาก็แต่ปาก แท้จริงในใจไม่อยากทำ

ครั้งถึงเดือนอัครมหายณ น้องสาวเตือนอีก “คราวนี้ถึงกำหนดแล้ว ควรพี่จะต้องทำบูชา”

พี่สาวตอบเหมือนเคย “เอาเถอะ พี่จะทำ” ตกเวลากลางคืนทั้งสองกำลังนอนหลับ พี่สาวร้องโวยวายตื่นขึ้น ปากสั่งบอกกะน้อง “พี่ฝันร้ายพิลึก ฝันว่ามีใครมาฟันคอขาดและเอาศีร์ษะไปถูกับกองขี้เถ้า”

พอน้องสาวได้ฟังเท่านี้ก็พูดขึ้น “เข้าใจตลอดแล้ว พี่กินอะไรก่อนทำบูชาไว้บ้างหรือเปล่า?”[๑๒]

พี่สาวรับสารภาพว่ากินขนม.

น้องสาวโกรธและติเตียน- “พี่ละอย่างนี้ ฉันเตือนแล้วไม่ใช่หรือ?”

พี่สาว- “พี่ก็ไม่ตั้งใจจะกินดอก เจ้าลูกชายของเจ้ามาหาพี่บอกว่า “กินซิ ป้า กินซิ” แล้วยัดขนมเข้าในปากพี่ไม่ทันรู้ตัว”

น้องสาว- “อ้อ! ฉันเข้าใจละ รอให้ถึงวันอาทิตย์หน้าเถิด ฉันจะคอยระวังพี่เอง”

ตั้งแต่นั้นมาน้องสาวก็ไม่ได้พูดอะไรอีกจนถึงวันอาทิตย์ พอรุ่งเช้านางน้องก็เอาชายผ้าห่มของตนผูกกับชายผ้าห่มของพี่สาวไว้ ถ้าพี่สาวจะไปไหนน้องสาวต้องไปด้วย จะออกห่างจากกันไปไม่ได้ พี่สาวจึงหมดหนทางที่จะกินอะไรได้ในวันนั้น ทั้งสองร่วมกันทำบูชาพระอิตุด้วยหม้องทองและอ้อนวอนขอให้พระอิตุโปรดช่วยเหลือ.

ตั้งแต่นั้นมานิสัยพี่สาวซึ่งเดิมเคยกระด้างกระเดื่องก็คอยลดน้องลงไป และเอาใจใส่ทำบูชาเป็นนิตย์เนื่องด้วยเหตุนี้พระเจ้าแผ่นดินกลับทรงมีความเจริญขึ้นอีก บ้านเมืองรุ่งเรืองผู้คนหนาแน่นสนุกสนานเหมือนแต่ก่อน วันหนึ่งทรงระลึกถึงราณี มีรับสั่งกะมนตรีมุข “ท่านช่วยจัดการไปรับเมียเรามาเถิด”

มนตรีมุขทำตกใจ กราบทูล- “ก็พระองค์มีรับสั่งให้ขับไล่ไปเสียในป่า ข้าพระเจ้าไปตามที่ไหนจะพบ”

พระเจ้าแผ่นดิน- “เรื่องนั้นชั่ง ท่านต้องไปพาตัวมาให้ได้”

มนตรีมุขเห็นว่าจะไม่มีอันตรายแน่ จึงทูลสารภาพโทษ ว่าราณีได้อยู่กับน้องสาวที่บ้านตน พระเจ้าแผ่นดินทรงโสมนัสดำรัสสั่งให้มีการรับราณี.

ครั้นถึงวันกำหนดที่จะรับราณีคืนกลับพระราชวัง ในเมืองจัดการรับกันครึกครื้น ถนนตั้งแต่บ้านมนตรีมุขถึงพระราชวังทำปรำคร่อมตลอดเป็นพืดเดียวกันสำหรับให้ราณีเสด็จ ขณะนางเสด็จมาตามถนนที่ทำปรำ บาทของนางไปกระทบอะไรซึ่งใครทิ้งไว้ที่ถนนฟกช้ำมา พระราชทรงพิโรธเป็นอันยิ่ง ส่งพระสุรเสียงถามว่า ใครเป็นผู้กวาดถนน พอตรัสหลุดพระโอษฐ์เจ้าหน้าที่ก็จับตัวคนกวาดถนนมาทันที พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงไต่ถามอะไรอีก ให้คุมตัวไปฟันคอเสียทีเดียว

ที่ในพระราชวัง วันนั้นมีการรื่นเริงเลี้ยงดูกัน พระราณีเพลินจนลืมการบูชา ต่อเสวยอาหารแล้วจึงนึกได้ ตกพระหฤทัยมีรับสั่งให้ข้าหลวงไปเที่ยวสืบหาใครที่ยังไม่ได้กินข้าววันนี้บ้าง พวกข้าหลวงเที่ยวค้นหาจนจบมิได้พบใครคนไหนที่ยังไม่ได้กินข้าว พระราณียิ่งตกพระหฤทัยเป็นอันมาก

นางข้าหลวงคนหนึ่งนึกขึ้นได้ทูล “มารดาของคนกวาดถนน มีความเสียใจที่ลูกตาย หาได้รับประทานอาหารอะไรไม่ในวันนี้”

พระราณีดีพระหฤทัย รับสั่งให้ไปตามตัวแม่คนกวาดถนนมา ข้าหลวงไปตาม แต่แกไม่ยอมมา พูดด้วยความแค้น “ได้ทุกข์ลูกตายคราวนี้ก็เพราะพระราณี”

ข้าหลวงกลับมาทูลพระราณีตามนั้น พระราณีมีรับสั่งให้พวกข้าหลวงกลับไปบอกอีกว่าให้มาหาเถิด ไม่ต้องกลัวอะไร ซ้ำจะได้ลาภด้วย คราวนี้แม่คนกวาดถนนยอมมา พระราณีทรงรับรองเป็นอันดี รับสั่ง “ที่เชิญแม่มานี่ จะขอวานให้ทำบูชาพระอิตุแทนฉันสักหน่อย” และทรงอ้อนวอนต่อไปอีกเป็นนาน หญิงนั้นจึงยอมทำอิตุบูชาแทนพระราณี

ครั้นแล้วราณีทรงบูชาพระองค์ถวายแก่พระอิตุ[๑๓] สำหรับชายกวาดถนนผู้นั้น ในขณะที่นางเอนกายบำเพ็ญบูชาอยู่ข้างรูปหม้อพระอิตุ รู้สึกดังพระอิตุลงมาบอกว่า “ให้เอาน้ำในหม้อของเราพรมที่คอและหัวของชายกวาดถนน ก็จะกลับติดมีชีวิตอย่างเดิม”

พระราณีดีพระหฤทัย ฉวยหม้อน้ำพระอิตุรีบเสด็จไปยังบ้านของชายกวาดถนน ไปถึงรับสั่งแก่หญิงแม่ “ลูกชายแม่อยู่ไหนเล่า?”

หญิงแม่ร้องไห้- “ลูกชายดิฉันก็อยู่ในเมืองพระยม[๑๔] พระราณี”

พระราณี- “ไม่ใช่ ฉันหมายความว่าศพนั้นเอาไว้ที่ไหน?”

หญิงแม่- “ศพทิ้งอยู่กลางทุ่ง”

พระราณีมีรับสั่งให้ไปนำศพมา ทรงหยิบศีร์ษะต่อกับคอแล้วเอาน้ำพรม ทันใดชายกวาดถนนกลับมีชีวิตขึ้นมาอย่างเดิม หญิงแม่เห็นลูกชายกลับฟื้นขึ้นมาได้อย่างเก่า มีความดีใจเป็นอย่างยิ่ง ตรงเข้ากอดบาทขอบคุณพระราณี.

พระราณีทรงแนะนำให้ทั้งสองรู้จักทำบูชาพระอิตุแล้วเสด็จกลับ ตั้งแต่นั้นต่างมีความสุขสำราญตลอดมาทุกคน.



[๑] Goddess Itu นิยายเรื่องนี้เนื่องด้วยพิธีศาสนาอย่าง ๑ เรียกว่า พิธีบูชาเทพธิดาอิตุ เขาทำในวันอาทิตย์ ทั้งสี่อาทิตย์ในปลายเดือนการติก (Karatik) และต้นเดือนอัครหายณ (Agrahayon) ต่อกัน รูปพระอิตุ เขาใช้ไหดินเล็ก ๕ หรือ ๖ ใบ บรรจุน้ำ มีหย้าแพรก (Durva ดูเชิงอรรถ ๑๕) และข้าวเปลือก, พิธีนี้ผู้หญิงทำ ผู้ชายไม่เกี่ยวข้อง ถือว่ามีกุศลแรง นึกอะไรได้สมปรารถนา [การติก = เดือนซึ่งอยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม คือ เดือน ๑๒ เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์กรรติกานักษัตร (ดาวลูกไก่ = Plei ades) อัครหายณ ต้นแห่งปี, ชื่อเดือนฮินดู (มารคศีรษะ, ตั้งต้นราววันที่ ๑๒ ธันวาคม) M.W.]

[๒] Umaro ในหนังสือ Sacred Tales of India by Dwijendra Nath Neogi มีนิยายเรื่องนี้ เนื้อเรื่องตรงกันแต่พิสดารแปลกออกไปกว่า ชื่อลูกสาวพราหมณ์เป็น ‘รมา’

[๓] Jumro

[๔] การเที่ยวภิกษาจารเป็นปกติของพราหมณ์ ไม่เป็นการน่าอัปยศอะไร จนมีชื่อเรียกพราหมณ์ว่า ภิกษุ แปลว่า ผู้ขอ แต่แม้คำ ภิกษุ แปลว่า ผู้ขอ ก็จริง คงใช้เรียกจำกัดชั้นของบุคคล จักไม่เรียกผู้ขอทั้งหมดว่า ภิกษุ เพราะฉะนั้นในพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระสาวกว่า ภิกษุ ไม่ตรัสเรียกพราหมณ์ดังนั้น พราหมณ์คนหนึ่งทูลว่า ตนก็ประพฤติการภิกษาจารเป็นพรตเหมือนพระสฆ์ในพุทธศาสน์ ทำไมไม่ตรัสเรียกตนอย่างพระสงฆ์นั้นบ้าง พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงว่า น เตน โล ภิกฺขุ โหติ ยาวตา ภิกฺขเต ปเร, วิสฺสํ ธมฺมํ สมาทาย ภิกฺขุ โหติ น ตาวตา...เพียงขอข้าวเขากิน ยังไม่ถึงเป็นภิกษุ ประพฤติหน้าที่ไม่สม (แก่ตน) เพราะข้อนั้นเองเป็นภิกษุไม่ได้...นัยในพระธรรมบทแปล เล่ม ๖

[๕] ‘ต้องให้เต็มกระเพาะ’ เป็นสำนวนซึ่งชาวฮินดูชอบพูด และจะได้ยินบ่อย ถ้ามีการเลี้ยง เจ้าของบ้านมักถามแขกว่า “เต็มกระเพาะหรือยัง”

“เวลากินข้าว มักโคลงหัว ลูบหลังลูบตัว เพื่อให้อาหารลงไปในท้องสะดวก ถ้าไม่อิ่มแน่นจนแถมไม่เข้าก็ไม่ลุกจากอาสนะ แล้วต้องกินมหาหิงคุ์ทับอีกชั้น กันไม่ให้ท้องขึ้น”-Hindu Manners etc.-Dubois

[๖] คำอุทานที่ผู้หญิงร้องในเวลามีงานพิธี แต่ในอถรรพเวทมีว่า ‘อุลุลิ’ เป็นคำเปล่งมุ่งขอความสวัสดี.

[๗] เบงคลี-Ghee; สํ-ฆฤต

[๘] บุญหรือบาปเป็นเชื้อโรคติดกันได้ คล้ายกับศาสนาคริสเตียนโรมันคาทอลิกนิกาย (บาทหลวง) ที่สันตปาปาแบ่งบุญซึ่งมีจนเหลือล้นขายแก่ผู้ที่ทำบาป ผู้ซื้อปลดเปลื้องตัวจากบาปได้-เรื่องพวกศิษย์พระเยซูเจ้า (พวกหมออเมริกันพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้ว)

[๙] เบงคลี ghata : สํ. ฆฤต (แต่ดูเหมือนจะไม่ตรงกัน)

[๑๐] เบงคลี baghoshi

[๑๑] อัปลักษณ์ = ปราศจากสิ่งมงคล, หมดราศีบุญ, ถ่อย

[๑๒] การบูชา ผู้ทำต้องถือศีลอดอาหาร มิฉะนั้นไม่ได้ผลสำเร็จซ้ำให้ร้ายด้วย

[๑๓] คือทำหัตยาเทวา เป็นพิธีขอพรเทวดา ผู้ทำนั่งหรือนอนข้างเทวรูปที่ตนจะขอพร (เช่นเทวรูปหม้ออิตุ) และอธิษฐานใจว่า ถ้าไม่สมปรารถนาเพียงไร จะไม่เลิกพิธี ยอมอดตายอยู่ที่นั่น

[๑๔] เบงคลี-Yom; ยม; จีนเรียกว่า ‘เง่นม่อล่อ’ หรือ เห๎ยม่อลู่เกี๊ย หรือ ‘เง่น’ หรือ ‘ตั๊ง’ หรือ ‘ม่อ’ หรือ ‘เง่นล่อ’ เขาแปลว่า ‘สื่อฝัน’ = ปันเวลา (=พระกาล) หรือว่า ‘ซวงอ๎ว่าง’= ผู้ปกครองทั้งคู่ (=พระยมและพระยมี) หรือผู้ปกครองสองหน้าที่ (คือเป็นผู้พิพากษาเอง และเป็นผู้รับโทษด้วย), หรือว่า ‘เจ๋จี๊’=เหนี่ยวคร่า (ซึ่งผู้ประพฤติทุจริต) [แต่ตามอักษร เจ๋จี๊ แปลความว่า ฉุดผู้ถึงเขตอาย] ๑. ผู้เป็นเจ้าแห่งกลางวันของชาติอารยัน. มีน้องสาวฝาแฝดชื่อ ‘ยมี’ (ราชินีแห่งกลางคืน) เป็นผู้เปิดประตูให้มนุษย์ไปทางตะวันตก (นรก?) ๒. ในคัมภีร์แสดงประวัติศาสตร์เทวดาสวรรค์ของพราหมณ์ตอนหลังว่า บรรดาโลกบาลทั้ง ๘ พระยมผู้หนึ่งมีหน้าที่บริรักษ์ภาคใต้และปกครองยมโลก กับเป็นตุลาการของเปตชนด้วย ๓. ในคัมภีร์เช่นนั้นของพวกถือพุทธว่า พระยมเป็นผู้ปกครองครอบทุกนรก, ทักษิณทิศแห่งชมพูทวีป (ยมสถาน) นอกขอบจักรวาลเป็นที่สถิตของพระยม [ดู ‘มฤตยู’ ในวิษยานุกรม หิโตปเทศ ตอน ๑] วิมานแล้วด้วยทองแดงและเหล็ก แต่เดิมพระยมเป็นกษัตริย์ครองไวศาลี ในขณะที่ทำศึกอย่างอุกฉกกรจ์ พลางอธิษฐานขอให้เป็นเจ้านรก, จึงได้ไปเกิดในนรกตามที่ตั้งอธิษฐาน, แม่ทัพ ๑๘ คนกับทหาร ๘๐,๐๐๐ คน ของพระองค์ในเวลานั้นก็ไปเกิดในนรกด้วย เป็นตุลาการผู้ช่วยบ้าง ผู้คุมบ้าง เพชฌฆาตบ้าง กนิษฐภคินี (ยมี) เป็นผู้ควบคุมนักโทษฝ่ายหญิง แต่พญายมกับบริวารต้องรับโทษบาปที่ทำไว้แต่ก่อน โดยมีปีศาจตนหนึ่งกรอกน้ำทองแดงลงไปในปาก ๓ ครั้ง (=ยม) เสมอไปทุก ๒๔ ชั่วโมงจนกว่าจะสิ้นกรรม แล้วจึงจะไปเกิดเป็นท้าวสมันตราช”-Handbook of Chinese Buddhism

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ