สองเจ้าสาว

พราหมณ์เศรษฐีคนหนึ่งมีที่ทางมาก ชาวบ้านรักใคร่นับถือจริงๆ มีเมียสองคน คนแรกไม่มีบุตรจึงต้องมีเมียน้อยอีกคนหนึ่ง[๑] เมียน้อยเป็นหญิงมีกิริยามารยาทเรียบร้อยน่ารัก ปฏิบัติผัวไม่ให้ขุ่นข้องหมองใจ แต่เมียหลวงตรงกันข้าม ปากร้ายสามานพร่ำทำรำคาญเสมอ เกลียดผัวจัด ข้างฝ่ายผัวเป็นธรรมดาอยู่เอง ต้องรักเมียน้อยเกลียดเมียหลวง เว้นแต่ไม่แสดงออกมา ขี้เกียจจะรับความอื้อฉาวบ้านช่องเปิง เป็นแต่คอยชะลอน้ำใจผ่อนผันไม่ให้ทั้งสองเกิดทะเลาะกัน เท่านี้เป็นดีที่สุด.

วันหนึ่งมีนักบวชเข้ามาภิกษาจาร เมียน้อยใจบุญน้ำเข้าของต่างๆ ไปถวาย นักบวชก่อนจะรับ ถาม “ท่านมีบุตรแล้วหรือยัง?”

เมียน้อยพราหมณ์- “โอย! ฐากูร ฉันชั่งอาภัพ พระภคพันท่านไม่โปรดให้ได้ลูกสักคนเดียว”

นักบวช- “เช่นนั้นรูปรับทานไม่ได้ เพราะมือของผู้ยังไม่มีบุตร เป็นมือที่เปรอะเปรื้อนบาป ถ้ารูปรับทาน การกุศลที่ได้บำเพ็ญไว้เป็นเสื่อมหมด ประการหนึ่งผู้หญิงที่ไม่มีบุตรจะขึ้นสวรรค์ไม่ได้ด้วย”

เมียสาวได้ฟังเป็นทุกข์ ร้องไห้กลับเข้าไปหาสามี พูดสำออย “ฉันเห็นจะทนมีชีวิตอยู่อย่างนี้ไม่ได้เสียแล้ว”

พราหมณ์สามีตกใจ ถาม “เป็นอะไรไปหรือ? แม่ยอดรัก หรือใครดูหมิ่นกล่าวว่าเจ้าให้เจ็บช้ำน้ำใจ? บอกฉันเถิด จะทำโทษมัน”

เมีย- “เปล่า ไม่มีใครเขาทำอะไรฉันดอก เป็นแต่มีนักบวชรูปหนึ่งเข้ามารับทาน ฉันเอาของหมายจะไปถวาย ท่านนักบวชไม่รับจากมือฉัน บอกเหตุว่าเป็นคนยังไม่มีบุตร ถ้ารับจะเสื่อมความรู้หมด และว่าผู้หญิงที่ไม่มีบุตรขึ้นสวรรค์ไม่ได้ เป็นเช่นนี้ฉันจะครองชีวิตอยู่ต่อไปทำไม?”

พราหมณ์ผัวได้ฟังไม่สบายใจ แต่ฝืนปลอบ “การพรรณนี้ไม่ควรจะร้องไห้ร้องห่ม เพราะจะมีบุตรหรือไม่มีบุตรแล้วแต่พระเป็นเจ้าจะโปรด ใช่มนุษย์จะมีอำนาจนึกเอาเองได้ที่ไหน เอาเถอะฉันจะพยายามทำบูชาทุกอย่าง บางทีพระเป็นเจ้าจะกรุณาโปรดบ้างกระมัง”

ล่วงต่อมาวันหนึ่ง เมียพราหมณ์เชมินทร[๒] คือพราหมณ์เศรษฐีนี้ กำลังนั่งอยู่ที่ระเบียงหน้าบ้าน นักบวชรูปนั้นเข้ามาบ้านอีก พราหมณ์เชมินทรลุกขึ้นออกไปรับด้วยกิริยานับถืออย่างดี.

นักบวชอวยพร นั่งลงแล้วพูด “มหาศัย ได้ข่าวท่านไม่มีบุตร จึงนำยาวิเศษมาสำหรับให้ภรรยาของท่านทั้งสองกิน ไม่ช้าก็จะมีบุตรสมความปรารถนา”

เชมินทรดีใจรับยาจากนักบวช ขอบคุณเสียเต็มที่ ฝ่ายนักบวชก็อวยพรให้สมนึก แล้วลุกขึ้นลาไป.

เมียหลวงอยู่ในห้องใกล้ๆ ได้ยินเรื่องที่ผัวและนักบวชพูดกัน รอจนนักบวชไปแล้วก็ออกมาหาผัว ร้องขอ “เอายามานี่ให้หมด ฉันจะกิน”

สามี- “ไม่ใช่สำหรับเจ้าคนเดียว ต้องแบ่งกันกินทั้งสอง”

เมียหลวง- “ก็กินสองคนน่าซิ” รับยาจากสามี เอาไปบดแล้วก็กินเสียหมดคนเดียว.

เมียน้อยทราบเรื่องมาขอยากินบ้าง ถามว่ายาส่วนของตัวอยู่ที่ไหน.

เมียหลวงตอบ “เผลอไป ฉันกินเสียหมดแล้ว”

เมียน้อย- “อะไร! ท่านนักบวชสั่งให้แบ่งกัน ทำไมจึงกินเสียคนเดียวเล่า?”

เมียหลวง- “ก็บอกว่าเผลอไป กินเสียหมด จะไปเอาที่ไหนมาให้อีก?”

เมียน้อยเสียใจร้องไห้โฮ หมดหนทางก็เอาน้ำล้างหินบดรินน้ำนั้นมากิน.

อยู่มาไม่ช้า นางทั้งสองมีครรภ์ เชมินทรมีความยินดีทำบุญทำทานยกใหญ่ ครบกำหนดเมียทั้งสองคลอดลูกเป็นหญิงด้วยกันทั้งคู่ ลูกของเมียน้อยมีหน้าตางดงามน่ารัก แต่ของเมียหลวงขี้เหร่น่าเกลียดจนใครๆ ไม่อยากแล.

พราหมณ์พ่อ ภายนอกก็ทำเป็นรักใคร่ทั้งสอง แต่ในใจต้องรักลูกเมียน้อยมากกว่า.

เด็กทั้งสองเติบโตขึ้น คนพี่สาว (บุตรเมียหลวง) มีความเกลียดชังน้องสาวมาก ทั้งกลางวันกลางคืนไม่คิดอะไรอื่น นอกจากจะหาทางทำลายล้างเสีย ครั้นรุ่นสาว รูปร่างทั้งสองก็คงตรงกันข้ามอยู่นั่นเอง ฝ่ายพี่หน้าตาน่าเกลียดน่าคลื่นไส้ น่วนน้องสาวหน้าตาสะสวยใครได้เห็นก็ชื่นใจ มีใครต่อใครทั้งใกล้และไกลพากันมาขอคนน้องสาวชื่อติลภุษกี[๓] แต่จะหาชายไหนควรคู่ให้สมกันไม่ได้ แต่ข้างนางจัลภุษกี[๔]พี่สาว อย่าว่าแต่จะมีคนมาขอเลย เพียงแต่เอ่ยชื่อ ใครเขาก็ไม่อยาก เขาเกลียดกิริยามารยาทที่หยาบคาย ซ้ำหน้าร้ายใจโหดด้วย จะไปหาใคร เขาไม่อยากให้เข้าใกล้ ถูกไล่ด้วยไม้เสมอ แต่ติลภุษกีไปไหนมีคนยินดี อยากให้มาบ่อยๆ.

วันหนึ่งโอรสพระราชาประเทศนั้น เสด็จล่าเนื้อในป่าใกล้เขตที่เชมินทรอยู่ ทรงขับม้าไล่ตามสัตว์ป่าไปโดยเร็ว พลัดกับบริวารหมด จะล่วงเวลาเย็นก็ไม่พบปะกัน เวลาก็มืดลงทุกทีจะเสด็จกลับไปไม่ได้ ทั้งหิวโหยอ่อนกำลังมาก ด้วยไม่ได้เสวยอะไรมาแต่เช้าด้วย จะหาหนทางไปก็ไม่ทรงทราบว่าไปทางไหน เพราะไม่ได้สังเกตมาแต่กลางวัน จำเป็นต้องเสี่ยงเคราะห์เสด็๗ไปทางหนึ่ง หวังว่าไม่ช้าคงพบหมู่บ้าน เพราะฉะนั้น จึงทรงขับม้าดำเนินมา ไม่ช้าก็ทรงสมดังที่ทรงหวังไว้ เจอหมู่บ้านแห่งหนึ่ง อันเป็นหมู่ที่พราหมณ์เชมินทรเป็นพ่อบ้าน เจ้าชายหยุดม้าเข้าไปที่บ้านเชมินทร พราหมณ์เชมินทรออกมา เห็นเจ้าชายก็รู้จัก รับรองเต็มที่เชิญเสด็จเข้าไปในบ้าน หาอาหารอย่างดีถวาย จัดห้องที่งามสำหรับบรรทม

รุ่งเช้าเจ้าชายทรงตื่นบรรทม เสด็จออกจากห้องทอดพระเนตรเห็นนางติลภุษกีมีรูปร่างงดงาม พอพระหฤทัยมาก ทั้งพระองค์เองก็มีพระรูปสวยอยู่แล้ว พอทัดเทียมกับนาง จึงเสด็จเข้าไปหาเจ้าของบ้าน รับสั่งถาม “มหาศัย นั่นบุตรสาวใคร?”

เชมินทร- “ของข้าพระเจ้าเอง”

เจ้าชาย- “มีเรือนแล้วหรือยัง?”

เชมินทร- “ยังไม่มีมิได้”

เจ้าชาย- “อย่างนั้น ถ้าไม่ขัดข้อง ฉันจะขอรับไว้เป็นภรรยาฉันเถิด”

เชมินทรดีใจ- “เมื่อทรงพระกรุณาปานนี้ พระคุณไม่มีที่สุด นับว่าเป็นบุญอย่างประเสริฐของข้าพระเจ้า เพราะพระองค์ก็เป็นถึงราชกุมาร และจักได้เป็นพระราชในข้างหน้าวันหนึ่ง ส่วนข้าพระเจ้าเป็นเชมินทรเล็กน้อย เมื่อประทานเกียรติยศให้สูงสุดดังนี้ ก็ย่อมเป็นที่ยินดีล้นพ้นของข้าพระเจ้า”

ในไม่ช้าก็มีการวิวาห์ในระหว่างเจ้าชายกับนางติลภุษกี หนุ่มสาวทั้งสองมีความพอใจด้วยกันทั้งคู่ เจ้าชายประทับอยู่ ณ ที่นั้นสามสี่เวลา แล้วลาพราหมณ์พาชายาเสด็จกลับพระนคร

คราวนี้เมียหลวงของพราหมณ์เชมินทรมีความอิจฉาเกลียดชังเมียน้อยเต็มที แทบว่าความอิจฉาเกลียดชังนี้ จะสันโดดกลุ้มแต่ในอกไม่ไหวถึงต้องระเบิดออกมา แค้นใจจนจะอยู่ดูหน้านางเมียน้อยต่อไปไม่ได้ เข้าไปพูดกับผัว “ฉันทนอยู่บ้านแกไม่ไหวแล้วอย่างนี้ ต้องไปอยู่ที่อื่น”

พราหมณ์สามีคลื่นไส้ไม่อยากให้อยู่ทุกวันทุกพรุ่ง เมื่อบอกว่าจะไปเสียก็ยิ่งยินดีปล่อยใหไปตามใจ เมียหลวงพาบุตรสาวไปปลูกกระท่อมเล็กๆ อยู่ข้างถนน ห่างจากหมู่บ้านไปไม่ไกลนัก.

ล่วงมาไม่สู้ช้า นางติลภุษกีคิดถึงบิดามารดาก็มาเยี่ยม อยู่ที่บ้านได้สองสามวัน ก็ลากลับพระราชวัง ขากลับนางขึ้นนั่งวอผ่านมาทางหน้าบ้านเมียหลวง หญิงใจร้ายเห็นวิ่งออกมาเรียก “แวะก่อน ลูก จะได้ขอชมเครื่องแต่งตัวที่ได้ประทานบ้าง”

นางติลภุษกีสั่งให้คนหามหยุด ลงจากวอตามแม่เลี้ยงเข้าไปในกระท่อม.

นางเฒ่าเจ้าความคิดทำเป็นอยากดูเครื่องประดับ ปลดเอาออกมาทีละอันจนหมดตัว พอนางติลภุษกีเผลอ ก็เอารากไม้กายสิทธิ์ชนิดหนึ่งลอบไปผูกไว้ที่มวยผมนาง พิษยาก็ซ่านเข้าตัว นางติลภุษกีก็กลายร่างเป็นนกบินออกจากกระท่อมไป นางแม่เลี้ยงทุจริตเอาเครื่องแต่งตัวของนางติลภุษกีให้ลูกของตนแต่ง พาออกไปส่งขึ้นวอ คนหามไม่ได้สังเกตก็ยกวอหามไป ถึงพระราชวังเป็นเวลาขมุกขมัวจวนจะค่ำ นางจัลภุษกีลงจากวอตรงเข้าไปในห้อง เจ้าชายปลื้อมพระหฤทัยสำคัญว่าชายากลับก็ทรงกอดรัดเคล้าเคลียด้วยสิเนหา.

ขณะนั้นนางติลภุษกีเป็นนกเกาะอยู่บนกิ่งไม้ที่ยื่นเข้ามาใกล้บัญชร มองเห็นเจ้าชายทรงคลอเคลียอยู่กับนางจัลภุษกี ก็ร้องเป็นเพลงขึ้นว่า.

“ติลภุษกีโฉมตรู เจ้าขึ้นอยู่บนกิ่งไม้
จัลภุษกีพี่เมีย เจ้าชายชั่งเคลียอยู่ได้
โอ้พระองค์ชั่งหลงกระไร ไม่เฉลียวหฤทัยเลยเอย”

เจ้าชายสะดับเสียงแหงนพระพักตร์เห็นนกร้อง รู้สึกพระองค์อย่างแปลกประหลาด มิสามารถจะอธิบายได้ว่าเป็นเพราะเหตุไร ให้เฉลียวหฤทัยว่านางที่ทรงเล้าโลมอยู่นี้ บางทีจะไม่ใช้นางติลภุษกีซึ่งเป็นชายที่รัก ตั้งแต่แรกมาพระองค์ยังมิได้พิจารณาดูหน้าชายาของพระองค์ถนัด[๕] เป็นแต่ทรงทราบว่ามีเค้าสวยมาก ต่อได้สะดับเสียงนกพรอดเป็นนัยได้สติก็พิจารณาดูหน้านางที่นั่งอยู่ แม้เวลานั้นจะมืดขมุกขมัว แต่ยังทอดพระเนตรเห็นเค้าหน้ารางๆ ว่าน่าเกลียด ทรงผลักนางให้ออกจากพระชงฆ์ รีบเสด็จไปที่บัญชรหมายจะจับนก ครั้นเข้าใกล้นกก็ถอยห่างกระโดดไปกิ่งโน้นมากิ่งนี้ ปากก็พรอดเป็นเพลง

“ติลภุษกีโฉมตรู เจ้าขึ้นอยู่บนกิ่งไม้
จัลภุษกีพี่เมีย เจ้าชายชั่งเคลียอยู่ได้
โอ้พระองค์ชั่งหลงกระไร ไม่เฉลียวหฤทัยเลยเอย”

แล้วบินหายไป.

เจ้าชายเสียพระหฤทัยจนไม่มีสติ เสด็จป่ายปีนไปตามกิ่งไม้ พระโอษฐ์ก็พลอยพร่ำ

“ติลภุษกีโฉมตรู เจ้าขึ้นอยู่บนกิ่งไม้
จัลภุษกีพี่เมีย เจ้าชายชั่งเคลียอยู่ได้
โอ้พระองค์ชั่งหลงกระไร ไม่เฉลียวหฤทัยเลยเอย”

ความทราบถึงพระราชาว่าโอรสทรงทำกิริยาผิดสังเกต ตกพระหฤทัย ด้วยมีโอรสองค์เดียว รีบเสด็จมาทรงพยายามสืบสวนรับสั่งถามเจ้าชายว่าเหตุผลต้นปลายเป็นอย่างไร จึงได้ทำกิริยาเป็นดังนี้.

เจ้าชายกลับทรงร้องเพลง

“ติลภุษกีโฉมตรู เจ้าขึ้นอยู่บนกิ่งไม้
จัลภุษกีพี่เมีย เจ้าชายชั่งเคลียอยู่ได้
โอ้พระองค์ชั่งหลงกระไร ไม่เฉลียวหฤทัยเลยเอย”

พระเจ้าแผ่นดินทรงวิตกมาก จูงโอรสเข้ามาข้างในปราสาทแล้ว รับสั่งให้หาแพทย์ที่ลือชื่อจบทั้งพระนครเข้ามารักษาเจ้าชาย แต่ไม่มีแพทย์ที่สามารถจะรักษาให้หายได้ รับสั่งให้หาแพทย์จากประเทศอื่นมารักษา พระอาการเจ้าชายก็ไม่ทุเลา มีแต่ทรงกับทรุด เป็นที่วิตกของพระราชาอย่างยิ่ง

วันหนึ่งพรานนกนำนกตัวหนึ่งมาขาย เป็นนกปลาดพูดภาษามนุษย์ได้ พระราชารับสั่งถามว่าจะขายเท่าไร พรานนกกราบทูลขอพระราชทานราคาร้อยเหรียญทองโมหุร[๖] พระราชก็ทรงซื้อไว้และประทานแก่โอรส ด้วยทรงเห็นว่าบางทีจะทำให้โอรสหายพะวงเรื่องที่คลั่งเพ้อได้บ้าง แต่การกลับซ้ำร้าย เจ้าชายทอดพระเนตรเห็นนกก็ทรงกรรแสง เพ่งดูนกนิ่งไปเป็นวัน

ภายหลังมานกพยายามดึงโซ่ที่ผูกไว้กับคอนหลุดออกมาได้ โผบินเข้ามาเกาะที่พระชงฆ์ เจ้าชายค่อยบรรจงลูบนก ลูบไปลูบมารู้สึกว่ามีอะไรแข็งๆ ต้องฝ่าพระหัตถ์ ก็ทรงปลดออกมาโดยไม่ทราบว่าเป็นอะไร แท้จริงก็คือรากไม้ที่แม่เลี้ยงของติลภุษกีลอบผูกไว้ที่มวยผมนั่นเอง พอรากไม้หลุด นางติลภุษกีก็กลับคืนรูปเดิม.

เมื่อเจ้าชายได้ชายากลับคืนมา ความคลั่งเพ้อก็หายดังปลิดทิ้ง ได้พระสติอย่างเดิม นางติลภุษกีทูลเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้พระภัสดาฟัง ถึงที่สุดเมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องก็กริ้วมาก รับสั่งให้เอาตัวนางจัลภุษกีไปประหารตัดเป็นท่อนๆ ส่งไปให้กำนัลพราหมณ์เชมินทรผู้บิดา กับทรงแสดงเรื่องที่เป็นจริงโดยละเอียด ด้วยความโกรธของพราหมณ์เชมินทรเมื่อได้ทราบเรื่องตลอดก็ไม่น้อยไปกว่า ใช้ให้คนไปตามเมียหลวงมาทันที เอาศพบุตรสาวที่ถูกตัดเป็นชิ้นให้ดูและพูด “นี่เห็นผลของความชั่วที่อีใจร้ายทำไหม?” แล้วสั่งให้เอาเมียหลวงไปฆ่า ตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหมือนกับบุตรสาว.

ฝ่ายพระราชาทรงเจริญพระชนมายุชรามาก ในไม่ช้าก็เวนราชสมบัติแก่พระโอรส ๆ ขึ้นครอบครองพร้อมด้วยราณีติลภุษกีผู้ปิยชายามีลักษณะอันงามเป็นสุขถาวรด้วยกันมาตลอดกาลนาน


[๑] เพื่อต้องการบุตรสำหรับจะได้ทำศารทธ์ให้เมื่อเวลาตนตายไปแล้ว ดังจะกล่าวในภาคผนวก การมีภรรยาอีกมักจะแก้ว่า เพราะเมียหลวงไม่มีบุตร จึงจำต้องมีอีกคนหนึ่ง.

[๒] เจ้าของที่ดิน คือมีที่ทางมาก

[๓] Tilbhushki

[๔] Chalbhushki

[๕] ‘การที่แต่งงานกันแล้ว ยังไม่ได้เห็นหน้าภรรยา แสดงให้เห็นว่า เรื่องนิยายนี้ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยที่ใช้ประเพณีโบราณดึกดำบรรพ์ ซึ่งดูเหมือนไม่ใช่ประเพณีของชาวฮินดูแท้ อันมีกฎธรรมเนียมเมื่อแต่งงานแล้ว สามียังดูหน้าภรรยาไม่ได้ จนกว่าจะพ้นกำหนดหลายวัน หรือบางทีกำหนดถึงตั้งครรภ์ จึงจะดูหน้าภรรยาให้เต็ม’ – คำอธิบายในต้นฉบับเรื่องนี้.

(ห้ามมิให้ดู : ภรรยามิต้องคลุมหน้าเสมอหรือ? มิฉะนั้นต้องเห็นหน้ากันแน่)

[๖] Mohur = เงินตราอย่างเก่าเท่ากับ ๑๖ รูปี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ