- บทที่ ๑ ปฐมวัย
- บทที่ ๒ ประดิษฐ์ บุญญารัตน์
- บทที่ ๓ ลำจวน
- บทที่ ๔ ไปเมืองนอก
- บทที่ ๕ โลกใหม่-เมืองสวรรค์
- บทที่ ๖ ลอนดอนและประดิษฐ์
- บทที่ ๗ ชีวิตใหม่
- บทที่ ๘ เลดีมอยราดันน์และมาเรียเกรย์
- บทที่ ๙ เจ็ดวันในสวรรค์ชั้นที่เจ็ด
- บทที่ ๑๐ ความวิโยค
- บทที่ ๑๑ ชีวิตในลอนดอน
- บทที่ ๑๒ ละครโรงใหญ่
- บทที่ ๑๓ เรื่องละคร
- บทที่ ๑๔ คำตักเตือนของเพื่อนเก่า
- บทที่ ๑๕ ‘กร็องต์ปารีส์’
- บทที่ ๑๖ ไปมอนตีคาร์โล
- บทที่ ๑๗ ชีวิตที่ท่องเที่ยวไป
- บทที่ ๑๘ ไปอเมริกา
- บทที่ ๑๙ นครแห่งความฝัน
- บทที่ ๒๐ จุไรและประพัทธ์
- บทที่ ๒๑ ความพินาศแห่งชีวิต
- บทที่ ๒๒ ลาจากอเมริกา
- บทที่ ๒๓ ลาก่อนแม่ยอดรัก
- บทที่ ๒๔ ละครปิดม่าน
บทที่ ๑๑ ชีวิตในลอนดอน
๑
สองวันก่อนออกเดิรทางจากเบ็กสฮิลล์ ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายบอกมาเรียและประดิษฐ์ บุญญารัตน ไปว่าข้าพเจ้าจะมาถึงลอนดอน และขอให้ไปรับที่สถานีเพราะข้าพเจ้าไม่รู้จักลอนดอนและไม่ได้มาตั้งปีเศษแล้ว ในระยะสองวันนั้นข้าพเจ้าไม่มีเวลาได้รับตอบจากคนทั้งสอง ดังนั้นจึงเป็นอันเพียงแต่หวังว่าถ้าเคราะห์ดีคงจะมีคนใดคนหนึ่งมาคอยรับ รถไฟถึงสถานีวิกตอเรียในลอนดอนเวลา ๑๗ น. ก่อนลงจากรถข้าพเจ้าพยายามเหลียวดูในหมู่คนที่มายืนรอเพื่อนฝูงวงศ์ญาติที่ชานสถานีว่าจะมีประดิษฐ์หรือมาเรียอยู่ด้วย ยิ่งรอก็ยิ่งเปล่า ไม่มีวี่แววเสียเลย เป็นอันว่าข้าพเจ้าจะต้องช่วยตนเองให้เต็มที่ ข้าพเจ้าเรียกกุลีมาช่วยขนหีบใหญ่น้อยไปใส่รถ ‘แทกซี่’ แล้วบอกโชเฟ่อร์ให้ขับไปยังบ้านมิสซิสฟรินดริช นัมเบอร์ ๙๕ รอสลินฮิลล์ แฮมสเตด.
แฮมสเตด ตอนเหนือของลอนดอนแถบนั้นเป็นที่ลุ่มดอนอยู่มาก รอสลินฮิลล์เป็นเขาชัน รถยนตร์ต้องวิ่งเกียร์สอง รถวิ่งอยู่ได้ประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงบ้านที่ต้องการ คือบ้านเก่าๆ หลังหนึ่งมีรูปร่างคล้ายบ้านผี น่ากลัว ยิ่งเมื่อเข้าไปยืนอยู่ที่ห้องภายในด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าหวาดเกือบจะสะดุ้ง ความมืดคลุ้ม ความหนาวเย็น ความสกปรกของบ้านตลอดจนหน้าตาของบุทคลสองสามคนที่เดิรออกมารับทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกกลัวและขยะแขยง มิสซิสฟรินดริช รูปร่างคล้ายเปรต หน้าตาเหี้ยมคล้ายอยากจะกินเลือดเนื้อ แม้แกจะพยายามพูดดีด้วยประการทั้งปวง ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึกว่าจะต้องเริ่มต้นเผชิญภัยในลอนดอนเสียแล้ว เป็นอันเห็นได้ชัดแล้วว่ามิสซิสพรินดริชเป็นคนทุจจริต แกตอบแจ้งความของเราไปให้มิสซิสแอนดรูที่เบ็กสฮิลล์ว่าบ้านแกเป็นบ้านสมัยใหม่ สะอาดอบอุ่นสบายในฤดูหนาว มีคนผู้ดีชาวอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่มาก ซึ่งเป็นการโกหกอย่างเห็นได้ชัดในชั่วนาฑีเดียว แกเรียกให้คนใช้คนหนึ่งไปช่วยโชเฟอร์ขนหีบของข้าพเจ้าไปไว้ในห้องข้างบน แล้วแกก็พาข้าพเจ้าไปที่ห้องนั้น รู้สึกสบายใจนิดหน่อยที่ห้องนอนซึ่งจัดไว้ให้ข้าพเจ้านั้นไม่สู้จะสกปรกและน่ากลัวเหมือนห้องอื่น เพราะกว้างพอที่จะหายใจได้สะดวก.
ประดิษฐ์บุญญารัตน์ บอกข้าพเจ้าโดยทางจดหมายว่าได้ย้ายจากบ้านที่แลงแฮมการเด็นไปอยู่ที่ถนนเกรแฮมมาร์ช ที่พัตนีย์ ข้าพเจ้าถามมิสซิสฟรินดริชว่าจะไปหาเพื่อนของข้าพเจ้าได้อย่างไร แกบอกว่าพัตนีย์ไกลจากแฮมสเตดมากเหลือเกิน ถ้าจะไปรถใต้ดินก็ต้องใช้เวลาตั้งชั่วโมงเศษ ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าจำเป็นต้องไป แกจึงบอกทางจนรู้เรื่องแล้ว ข้าพเจ้าก็ออกเดิรทาง นั่งอยู่ในรถใต้ดินเกือบชั่วโมงครึ่งจึงถึงสถานีพัตนีย์ ลงจากรถเดิรไปอีกราว ๑๐ นาฑีก็ถึงบ้านที่กล่าวแล้ว ข้าพเจ้ากดกะดิ่งที่ประตูหน้าบ้าน สักครู่มีสาวใช้มาเปิดประตูรับ ข้าพเจ้าถามว่าประดิษฐ์อยู่หรือเปล่า.
“อยู่ เชิญเข้ามาซิคะ” หล่อนตอบแล้วหลีกทางให้ข้าพเจ้าเข้าไปในห้องรับแขก “รอประเดี๋ยวนะคะ ดิฉันจะไปบอกประดิษฐ์”
สักครู่ประดิษฐ์ก็วิ่งเข้ามาในห้อง เราไม่ได้พบหน้ากันเลยตั้งปีเศษ ประดิษฐ์ไม่เคยลงไปหาข้าพเจ้าที่เบ็กสฮิลล์ ข้าพเจ้าไม่เคยขึ้นมาหาเขาที่ลอนดอน.
“กันเสียใจเหลือเกินไปรับลื้อที่สถานีไม่ทัน” ประดิษฐ์พูด “กันต้องอยู่เสียที่โรงเรียนจนเย็น พอไปถึงเขาก็บอกว่ารถมาถึงเสียนานแล้ว”
“ประดิษฐ์ กันมีเรื่องมาปรึกษา” ข้าพเจ้าพูด “บ้านที่กันไปอยู่น่ากลัวจัง เหมือนบ้านผี”
“มันเป็นยังไง?”
ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังโดยละเอียดถึงสิ่งที่ได้พบมาแล้ว และเล่าถึงความโกหกของมิสซิสฟรินดริชและความหวาดกลัวของข้าพเจ้าเอง.
“เธออาจคิดมากไปเองก็ได้” ประดิษฐ์ตอบด้วยเสียงอันกะด้าง “ลองอยู่ไปก่อนซี บางทีจะไม่เป็นอย่างที่เธอนึกก็ได้” หยุดอยู่สักครู่ แล้วพูดต่อไป “กันเสียใจที่ลื้อจะมาอยู่กับกันที่นี่ไม่ได้ เพราะบ้านนี้ไม่รับคนอื่น”
ข้าพเจ้าสะดุ้งทั้งตัว เพราะไม่เคยนึกฝันว่าคนเช่นประดิษฐ์จะพูดกับข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำอันเป็นเชิงเกียดกันถึงเพียงนั้น.
“กันไม่เจตนาจะมาอยู่กับเธอเลยประดิษฐ์” ข้าพเจ้าพูดเป็นเชิงไกล่เกลี่ย “การที่เล่าให้เธอฟังถึงเรื่องบ้านนั้นก็เพราะอยากจะปรับทุกข์ กันไม่เห็นคนอื่นนอกจากเธอ”
ประดิษฐ์มิได้ตอบประการใด ส่วนข้าพเจ้าก็พยายามตีปัญหาให้แตกว่าทำไมประดิษฐ์ผู้เป็นเพื่อนรักจึงได้พูดจาเกียดกันเป็นเชิงรังเกียจต่อข้าพเจ้าถึงเพียงนี้ ทันใดนั้นความจริงก็ปรากฏขึ้น มีผู้มาเคาะที่ประตู แล้วมีเสียงเด็กหญิงร้องถามเข้ามาว่า “ประดิษฐ์จ๋า ฉันเข้ามาได้ไหม?”
เมื่อได้รับอนุญาต สตรีผู้นั้นก็เดิรเข้ามา หล่อนเป็นหญิงสาวมีอายุไม่เกินสิบเจ็ดสิบแปด สวย ผมทอง ตาน้ำเงินคล้ายตุ๊กตาแม่เฒ่า เป็นลูกสาวเจ้าของบ้านที่ประดิษฐ์อยู่ด้วย หล่อนดูสนิทสนมกับประดิษฐ์ดี ข้าพเจ้าถูกแนะนำให้รู้จัก หล่อนชื่อ คาสลินไมลส์.
“ประดิษฐ์” หล่อนพูดด้วยเสียงอันไพเราะ “ไปกินเข้าหรือยัง?” หันมาทางข้าพเจ้า “เธอรับประทานกับเราด้วยไหมเล่าคะ?”
“ขอบใจมากจ้ะ มิสไมลส์” ข้าพเจ้าตอบอย่างสุภาพ “เสียใจที่ฉันมีธุระจำเป็นจะต้องไปเดี๋ยวนี้”
ทันใดนั้น มิสซิสไมลส์ผู้เป็นเจ้าของบ้านและเป็นมารดาของคาสลินไมลส์ก็เดิรเข้ามา ข้าพเจ้าถูกแนะนำให้รู้จัก มิสซิสไมลส์เป็นคนมีอัธยาศัยดี.
“นี่เธอพักอยู่ที่ไหน มิสเตอร์วิสูตร์” หล่อนถาม “ทำไมไม่มาอยู่เสียกับประดิษฐ์ที่นี่เล่า? ฉันมีห้องนอนเหลืออีกห้องหนึ่ง”
“ขอบพระคุณมาก มิสซิสไมลส์” ข้าพเจ้าตอบ “เสียใจมาก ฉันมีที่อยู่เสียแล้ว”
“ที่นั่นสบายหรือจ๊ะ?” หล่อนถาม.
“สบาย” ข้าพเจ้าตอบ.
เมื่อลาออกจากบ้านไปแล้ว ข้าพเจ้าตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ขอไปหาประดิษฐ์ที่บ้านมิสซิสไมลส์อีกเป็นคำรพสอง ข้าพเจ้าเคยชอบพอประดิษฐ์มามาก ไม่ต้องการจะทำลายความสุขของเขาเป็นอันขาดถ้าเขากลัวเช่นนั้น ข้าพเจ้าเคยสละเคยลืมลำจวนได้ ทำไมจะสละประดิษฐ์เสียอีกคนหนึ่งไม่ได้เล่า!
๒
คืนนั้น ข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารน้อยๆ ที่โซโห แล้วเลยดูภาพยนตร์ที่ในบริเวณนั้น พยายามที่จะลืมเรื่องต่างๆ ที่ได้เป็นมาแล้ว ...... เรื่องที่บ้านมิสซิสฟรินดริช ...... ลอนดอนต้อนรับข้าพเจ้า ลอนดอน-นครหลวงแห่งประเทศอังกฤษ!
พอภาพยนตร์เลิกก็ออกเดิรทางไปบ้านที่รอสลินฮิลล์ หลงทางอยู่นาน กว่าจะถึงก็เที่ยงคืนเศษในบ้านมืด ไม่มีแสงสว่างอะไรเลย เคราะห์ดีที่ข้าพเจ้ามีไม้ขีดไฟอยู่ในกะเป๋า จึงได้หาทางไปห้องนอนได้ถูก ในห้องหนาวจนตัวชา และรู้สึกชื้นไปทุกหนทุกแห่ง ข้าพเจ้ารีบเปลื้องเครื่องแต่งตัว สีฟันล้างหน้าแล้วเข้านอน พยายามหลับเพื่อให้คืนอันร้ายกาจนี้ผ่านพ้นไปเสียเร็วๆ นอนพลิกตัวไปมาอยู่สักชั่วโมงหนึ่งก็หาเป็นผลไม่ เฝ้าคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่จะมาในภายหน้าถ้าขืนอยู่ในบ้านนี้ต่อไป ในที่สุดเหนื่อยเข้าก็หลับไปด้วยความคิดนี้.
รุ่งขึ้นข้าพเจ้าตื่นแต่เช้าตรู่ เพราะจะหลับต่อไปอีกไม่ไหว วันนั้นเป็นวันในฤดูหนาวจัด แฮมสเตดเป็นภาคเหนือของลอนดอน อยู่บนยอดเขาสูง อากาศย่อมหนาวกว่าที่อื่นเป็นธรรมดา มองไปทางหน้าต่างก็เห็นแต่หิมะที่ตกอยู่ขาวไปทั่ว ลมหนาวพัดเข้ามาจนข้าพเจ้าทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นไปปิด เมื่อไม่เห็นมีไฟที่ไหนที่จะทำให้อบอุ่นในบ้าน ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องอยู่ในเตียงไม่กล้าจะลุกขึ้นทำอะไรทั้งสิ้น พอสายก็มีคนเอาน้ำร้อนมาให้ล้างหน้าแล้วบอกว่า ข้าพเจ้าควรจะลงไปห้องรับประทานอาหาร ที่นั่นมีไฟผิง.
แต่งตัวเสร็จข้าพเจ้าก็ลงไปข้างล่าง พอโผล่เข้าไปในห้องรับประทานอาหารก็รู้สึกสะดุ้งสะท้านไปทั้งตัว อะไรเล่าที่ข้าพเจ้าแลเห็นอยู่ตรงหน้า? ในห้องมีควันอบคลุ้งไปหมดอันเกิดจากเตาไฟผิงซึ่งทำขึ้นไม่ได้ลักขณะสุขาภิบาล และมีพวกแขกฮินดูตั้งเจ็ดแปดคนยืนผิงกันอยู่เป็นหมู่ เสียงพูดกันสนั่นหวั่นไหว บ้านมิสซิสฟรินดริชก็แคบนิดเดียว ข้าพเจ้าไม่สามารถจะบอกได้ถูกว่าพวกเหล่านี้เอาห้องที่ไหนหลับนอนกัน พอเห็นข้าพเจ้าพวกแขกเหล่านั้นต่างก็เดิรเข้ามาแนะนำตนเองอยู่อลหม่าน พูดภาษาอังกฤษเร็วอย่างรถไฟ ฟังไม่รู้เรื่อง ครั้นแล้วยายมหามารเจ้าของบ้านก็เข้ามาจัดที่ให้ข้าพเจ้านั่งโต๊ะกับพวกแขกเหล่านั้น แม้แกจะพยายามทำดีต่อข้าพเจ้า ทำอะไรให้เป็นพิเศษผิดกว่าคนอื่น ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึกขยะแขยง เพราะแขกฮินดูพวกนี้เป็นคนชั้นเลว ปราศจากกิริยามารยาทอันเป็นสิ่งที่ควรสำหรับนักเรียนที่ดี มีพูดภาษาของตนเองสนั่นไปหมดโดยไม่แคร์ว่าข้าพเจ้าผู้เป็นคนต่างชาติต่างภาษาอยู่ที่นั่นด้วยอีกคนหนึ่ง ส่วนผู้ที่พูดกับข้าพเจ้านั้นเล่าก็ล้วนเป็นคนทะลึ่งมีกิริยาก้าวร้าว ถามถึงฐานะของข้าพเจ้า ถามถึงบิดามารดา รวยหรือจน ล้วนเป็นปัญหาที่แสลงหูที่สุด ข้าพเจ้าตอบปัดๆ ไปเสียทุกครั้ง รู้สึกรำคาญจนแทบเป็นบ้า แข็งใจกลืนขนมปังทาเนยเข้าไปหนึ่งชิ้น น้ำชาฝรั่งถ้วยหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ขอโทษ ลุกขึ้นจากโต๊ะอ้างว่าจะต้องไปธุระด่วนในเมือง.
สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าหวลนึกไปถึงพวกแขกที่พบในเมืองโคลัมโบ ด๎ยีบูตี้ และปอร์ตเสด นายร้อยเอกแอนดรู บิดาเลี้ยงที่รักยิ่งของข้าพเจ้าเคยบอกไว้ครั้งหนึ่งว่าถ้าเราจะพบพวกฮินดูหรือชาวอินเดียนอื่นๆ ที่ดี เราต้องไปที่เดลฮีย์ (ออกเสียงว่า เดลลี) กลักกะตา หรือมาดราส ที่เมืองอังกฤษมีแต่พวกฮินดูที่จะมาเป็นพวกบอลเชวิค พวกทำลายชาติทั้งสิ้น เป็นพวกที่ตระหนี่งกเงินเพราะเป็นคนไพร่และจน เห็นแก่ตัวโกงเอาเปรียบซึ่งกันและกัน และเอาเปรียบชาวต่างประเทศ ขอให้ข้าพเจ้าระวังตัวให้จงหนัก แม้ว่าข้าพเจ้าจะได้พบพวกฮินดูเหล่านี้แต่เพียงสิบห้านาฑี ก็เห็นอย่างจังหน้า และเชื่อมั่นว่าสิ่งไรที่ ‘แด็ดดี’ บอกล้วนเป็นความจริงอย่างไม่มีข้อสงสัย.
ออกจากบ้านเดิรไปตามถนน หนาวจัด หิมะตกอยู่ไม่ขาดสาย หมอกก็มีขาวอยู่ทั่ว ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะไปหาใครที่ไหนดี ในที่สุดตกลงใจว่าจะไปที่สถานทูต ไปถึงที่นั่นก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไม่รู้จักใครดีพอที่จะไปอยู่สนทนากับเขาได้นาน อีกประการหนึ่งเขาก็กำลังทำงานกันอยู่ ข้าพเจ้าออกจากสถานทูต ไปนั่งผ่อนอารมณ์ที่ร้านน้ำชาไลออนส์ พยายามคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป.
ในที่สุดก็คิดขึ้นมาได้ว่า ยังมีเพื่อนร่วมชีวิตอีกคนหนึ่งที่จะต้องไปหา เพื่อน--คู่รักที่สัญญาว่าจะรักข้าพเจ้าไปจนวันตาย มาเรียเกรย์! หล่อนคงจะเป็นสหายอันดีเลิศ สามารถที่จะทำให้ข้าพเจ้าเป็นสุขได้แท้ ข้าพเจ้านั่งรถไปที่ปิกกาดิลลี เดิรหาบ้านอยู่ครู่ใหญ่ ข้าพเจ้าเดิรขึ้นบันไดไปกดกะดิ่งที่ประตูใหญ่หน้าห้องของเลดีมอยราและมาเรียเกรย์ สักครู่มีเด็กคนใช้มาเปิดแล้วถามข้าพเจ้าว่าจะประสงค์อะไร.
“เลดีมอยราและมิสเกรย์ได้ไปจากที่นี่เสียนานแล้ว” เด็กหญิงตอบ “เวลานี้ดูเหมือนจะอยู่ที่ปารีส”
“เมื่อไรเขาจะกลับ ทราบไหม?” ข้าพเจ้าถาม.
“ไม่ทราบ” เด็กหญิงตอบ “เขาไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว เวลานี้เรากำลังทำความสะอาดสำหรับให้คนอื่นมาเช่าต่อไป”
“ฉันเขียนจดหมายมาให้มิสเกรย์เมื่อสองสามวันนี้ คงยังอยู่ที่นี่กะมัง?”
“โอ แน่เทียวจ้ะ ฉันจะไปเอามาให้”
สักครู่เด็กหญิงกลับมา พร้อมด้วยจดหมายของข้าพเจ้าฉะบับนั้น มาเรียได้ไปเสียแล้ว แม่ยอดรักคู่ชีวิตของข้าพเจ้า หล่อนจะทราบได้อย่างไรบ้างไหมหนอว่าเวลานี้ ‘บอบบี้ของหล่อน’ มาอยู่ที่ลอนดอน รอพบหล่อนอยู่ทุกวินาฑี อนิจจาพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์! ข้าพเจ้าจะหันหน้าไปขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้างไหมหนอ!
ตกลงเป็นอันว่าหมดหวัง ข้าพเจ้ากลับไปบ้านนรกที่รอสลินฮิลล์นั้นอีก ไม่ทักทายปราศรัยกับใคร รีบเดิรตรงขึ้นไปบนห้องนอนทีเดียว ชั้นแรกตั้งใจจะเขียนเล่าเรื่องไปให้ ‘แด็ดดี’ ทราบความจริงแต่มารู้สึกว่ายังไม่มีเหตุผลพอ ควรจะทนอยู่ไปก่อนสักสองสามวัน อีกประการหนึ่งข้าพเจ้าก็ไม่อยากจะรบกวนแกให้เกินไปนัก เพราะแกได้เคยให้ความสุขแก่ข้าพเจ้ามาแล้วมากมาย.
แด็ดดี! แม่! สเตเฟนี! กะท่อมนางพญา! กะท่อมแห่งความบรมสุข!
๓
ตั้งแต่เด็ก ข้าพเจ้าเป็นคนมีนิสสัยชอบการเผชิญภัยอยู่บ้าง ถ้าการเผชิญภัยนั้นมีทางที่ข้าพเจ้าจะถอนตัวออกได้ในที่สุด อยู่ในบ้านมิสซิสฟรินดริชมีการเผชิญภัยอยู่มากเหมือนกัน แต่ไม่ใช่การเผชิญภัยที่สนุก เป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักนิสสัยของคนบางพวกที่เลวทราม กิเลสหยาบ เราจะอยู่ร่วมสมาคมกับมันได้ก็ต่อเมื่อเราต้องการจะเรียนรู้นิสสัยของมันเท่านั้น ข้าพเจ้าทนอยู่ได้หนึ่งสัปดาห์เต็มๆ พยายามสะกดใจสู้กับความอุบาทว์ต่างๆ ที่ต้องเห็นและอยู่ร่วม ทนหนาวทนรับประทานอาหารซึ่งควรจะเป็นยาพิษมากกว่าอื่น ทนความปดโป้ของมิสซิสฟรินดริชไม่เว้นแต่ละวัน ทนการเผชิญหน้าสนทนากับแขกฮินดูบอลเชวิคที่ถือวิสสาสะเข้ามาคุยกับข้าพเจ้าในห้องนอนโดยไม่ได้รับอนุญาต.
ความคิดความอ่านของมันไม่มีอื่นนอกจากเตรียมพร้อมที่จะกลับไปอินเดีย ไปทำลายบ้านเกิดเมืองมารดรให้พินาศศูนย์สิ้นไปเท่านั้น มิหนำซ้ำยังมาแนะนำให้ข้าพเจ้ากลับบ้านไปทำลายประเทศสยามและเจ้านายอันเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้าให้พินาศไปเช่นเดียวกับที่มันจะทำกับเมืองอินเดีย พูดไปได้สักครู่ เห็นว่าข้าพเจ้าไม่เล่นด้วยจริงๆ แล้ว ก็ออกจะฮึดฮัด รู้สึกรังเกียจที่จะมาเห็นข้าพเจ้าอยู่ในบ้านมิสซิสฟรินดริชกับพวกมัน แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ย่อท้อ ทนดู......ดูความเป็นไปแห่งชีวิตอันประหลาดนี้ด้วยความสนใจ.
จริงนะท่าน ถ้าเราตั้งใจจะเรียนสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จ เราจำเป็นจะต้องทนทุกข์อันเกิดจากดิถีแห่งการเรียนวิชชานั้น มิฉะนั้นเราจะเรียนอะไรไม่สำเร็จเป็นแท้ ข้าพเจ้าต้องทนทุกข์ เพื่อจะเรียนนิสสัยของมิสซิสฟรินดริชและพวกฮินดูกิเลสหยาบเหล่านี้ นอกจากประดิษฐ์ ข้าพเจ้าไม่มีเพื่อนอื่นในลอนดอนที่ชอบกันพอถึงกับจะเดิรไปเที่ยวกันได้ ต้องอยู่คนเดียวในหมู่มหามารที่ข้าพเจ้าต้องพบไม่ว่าจะเข้ามาในบ้านที่รอสลินฮิลล์เวลาใด เมื่อสองสามวันแรกออกรู้สึกไม่สบาย กลัว เป็นทุกข์ จนแทบจะกลั้นความบ้าไว้ไม่อยู่ แต่เมื่ออยู่ไป คิดไป ก็ทนได้ เพราะข้าพเจ้าต้องการจะเรียน.
เมื่อสัปดาหะหนึ่งผ่านพ้นไป และรู้สึกว่าได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ในบ้านมิสซิสฟรินดริชจนไม่มีอะไรที่จะเรียนได้อีก เช้าวันหนึ่งข้าพเจ้าก็ขึ้นรถไฟเดิรทางไปหานายร้อยเอกและมิสซิสแอนดรูที่เบ็กสฮิลล์ คนทั้งสองต้อนรับข้าพเจ้าเป็นอันดี ข้าพเจ้าเล่าให้ ‘บิดามารดา’ ที่รักฟังถึงเรื่องต่างๆ ที่ได้เป็นมาแล้วในลอนดอนโดยละเอียด.
“แล้วกัน บอบบี้” ‘แด็ดดี’ กล่าวด้วยเสียงอันระคนไปด้วยความโกรธ “ทำไมเธอจึงไม่มาบอกเราเสียเมื่อวันแรกที่ไปถึงเล่า? นี่ปล่อยไว้ตั้งอาทิตย์ ยายฟรินดริชแกเขียนจดหมายมาโกหกเราเสียอย่างอุบาทว์ทีเดียว ฉันจะไปกับเธอพรุ่งนี้ ต้องไปเอาเธอออกจากขุมนรกให้ได้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้ และจะต้องไปทะเลาะกับยายฟรินดริชเสียด้วย”
“เบอร์ตี เธออย่าทำหุนหันเช่นนั้นซี” ‘แม่’ พูดเตือนสามีของแกพลางกอดข้าพเจ้าไว้ในวงแขน “เราจะไปทะเลาะกับอ้ายคนพวกนั้นไม่มีประโยชน์อะไรดอก อีกประการหนึ่งบอบบี้ก็โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว การที่ได้เคยไปตกอยู่กับพวกนรกเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ถึงตาย แต่ก็เป็นบทเรียนเรื่องชีวิตอันดีบทหนึ่งของบอบบี้ไม่ใช่หรือ? เธอควรจะไปพูดกับยายฟรินดริชดีๆ อย่าไปเอ่ยถึงเรื่องระยำโกหกโกไหว้ของแก แล้วขอเอาบอบบี้ไปอยู่ที่อื่นจะไม่ดีกว่าหรือ?”
“จริง เอลซี ฉันเห็นด้วย” ‘แด็ดดี’ ตอบ.
“บอบบี้” แม่พูด “เธอนอนอยู่กับเราคืนนี้ พรุ่งนี้ ‘แด็ดดี’ จะพาเธอไปส่งที่ลอนดอน หาที่อยู่ให้ใหม่”
ข้าพเจ้าจุมพิตแก้มทั้งสองของ ‘แม่’ ด้วยความรักและนับถืออันสูงสุด แล้วเราก็พูดกันถึงเรื่องอื่นต่อไป.
รุ่งขึ้น พอรับประทานอาหารแล้วสักครู่ ‘แด็ดดี’ ก็พาข้าพเจ้าไปลอนดอน เราพบยายฟรินดริชและพวกแขกฮินดูกำลังยืนดูภาพประหลาดอะไรรูปหนึ่งในห้อง ‘แด็ดดี’ ถามข้าพเจ้าว่านั่นคือยายฟรินดริชใช่หรือไม่ ข้าพเจ้าตอบว่าใช่.
“กู๊ดมอร์นิง มิสซิสฟรินดริช” ‘แด็ดดี’ พูดเพื่อจะให้แกเหลียวมา.
ยายฟรินดริชเหลียวมาก็พบเราทั้งสองยืนประเชิญหน้าแกอยู่.
“ฉันคือนายร้อยเอกแอนดรู ผู้ปกครองมิสเตอร์วิสูตร์”
ครั้นแล้วยายฟรินดริชก็พา ‘แด็ดดี’ ไปพูดกันสองต่อสองในห้องข้างบน ข้าพเจ้าเชื่อว่าแด็ดดีคงไปพูดจากับยายเฒ่าผู้นี้เสียดี เพราะพอแกลงมาพบข้าพเจ้าที่ห้องข้างล่าง แกก็ยังคงยิ้มแย้มและสุภาพ ยิ่งกว่านั้นยังขอให้ข้าพเจ้าขึ้นไปช่วยจัดของกับ ‘แด็ดดี’ ข้างบน ส่วนแกนั้นจะโทรศัพท์เรียกรถเช่าให้มารับ ตอนที่เราจะออกจากบ้านมีพวกฮินดูมายืนดูเราเป็นแถว บ้างก็ตรงเข้ามาถามว่า จะไปอยู่ที่ไหน จะไปทำไม ที่นี่ไม่ดีพอสำหรับข้าพเจ้าหรือ? ยังมิทันที่ข้าพเจ้าจะได้ตอบประการใด ‘แด็ดดี’ ก็บอกพวกแขกเหล่านั้นว่า “ไม่ใช่กงการอะไรของแก”
๔
วันนั้น ‘แด็ดดี’ พาข้าพเจ้าไปพักอยู่ที่ภัตตาคารเล็กๆ แห่งหนึ่งทางเซาต์เคนซิงตัน ส่วนแกเองก็ตั้งต้นไปเที่ยวหาบ้านให้ข้าพเจ้าอยู่ กลางคืนแกกลับมาที่โฮเต็ลเวลา ๑๙ น. เศษ พาข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารบาร์กเค๎ล แล้วดูละครที่ลอนดอนฮิปโปโดรม แกพักอยู่กับข้าพเจ้าสามคืนที่โฮเตลเซาธ์เคนซิงตัน พอวันที่สี่ ‘แด็ดดี’ ก็พาข้าพเจ้าไปอยู่กับมิสซิสแฮรีสที่ฟูลแฮม บ้านนั้นสะอาด อยู่บนเนินสูง เงียบ เป็นบ้านรับคนที่เลือกสรรว่าดีมาอยู่ด้วยโดยคิดราคาพอสมควร เมื่อเชื่อมั่นแล้วว่าข้าพเจ้าจะเป็นสุขกับมิสซิสแฮรีส ‘แด็ดดี’ ก็กลับไปเบ็กสฮิลล์ จะมีใครอีกไหมในโลกนี้ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่จะมีใจรักและเมตตาข้าพเจ้าเช่นเดียวกับตระกูลแอนดรูทั้งสอง?
บ้านมิสซิสแฮรีสเป็นที่อยู่ของพวกทำงานเช้าไปเย็นกลับ เวลากลางวันตลอดวัน นอกจากวันอาทิตย์เงียบสงัด ถ้าข้าพเจ้าไม่ไปไหนก็ต้องอยู่กับมิสซิสแฮรีสสองคนเท่านั้น พอกลางคืนพวกทำงาน-ล้วนเป็นสุภาพบุรุษชาวฝรั่งทั้งสิ้นกลับมา มีอะไรเฮฮากันบ้างที่โต๊ะอาหารหรือมิฉะนั้น เราก็เล่นไพ่บริชกัน.
ข้าพเจ้ารู้สึกชอบบ้านนี้มาก เพราะเงียบเหมาะสำหรับที่จะทำงาน เขียนอะไรไปตามเรื่อง มิสซิสแฮรีสไม่ใช่เป็นคนงกเงิน แกมีอัธยาศัยดีสุภาพ มีอาหารที่สะอาดและอร่อยให้กิน.
พอได้โอกาสข้าพเจ้าก็เขียนจดหมายไปเรียนเจ้าคุณทูตว่า ข้าพเจ้าพร้อมแล้วที่จะสอบเข้าโรงเรียนกฎหมาย การสอบไล่ข้าพเจ้าทำได้ดี และเขารับให้พิกัดเป็นนักเรียนอยู่ในมิดเดิลเท็มเปิล จนทุกวันนี้ข้าพเจ้ายังคงจำได้ดีว่า สำนักกฎหมายของประเทศอังกฤษเป็นอย่างไร ถนนแคบเล็กๆ น้อยๆ ในบริเวณ ประตูใหญ่อันใกล้จะถึงเวลาที่จะซ่อมแซมเสียใหม่ ตัวโรงเรียนซึ่งปลูกไว้ยัดเยียดเรียงเป็นแถวสองฟากถนนก็โบราณใกล้จะถึงซึ่งความล้มลุกอยู่แล้ว ภายในของตึกทุกตึกซึ่งมีห้องอยู่มากมาย มีป้ายบอกว่าเป็นห้องของนักกฎหมายผู้มีชื่อ ที่ประตูทุกห้องก็ชำรุด ดูมืด พื้นกะดานก็ทรุดรอวันที่จะพินาศทะลายลง นอกจากตัวบทกฎหมายจริงๆ แล้วก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะชวนให้เรียนแม้แต่น้อย.
‘มิดเดิลเท็มเปิล’ เป็นโรงเรียนที่รับชาวต่างประเทศซึ่งมาจากบูรพทิศมากมาย โดยมากเป็นพวกฮินดู มีพวกจีน ญี่ปุ่น ฯลฯ ปะปนอยู่ด้วยพอควร ที่นี่ข้าพเจ้าเคยรู้จักชาวฮินดูที่ดีบ้างสองสามคน แม้จะมีกิริยาและวาจาสุภาพ แต่ก็ตระหนี่มากจนเหลือวิสัยที่ใครจะคบด้วยได้ เพราะคอยแต่จะเอาเปรียบเพื่อนเสมอไป พวกญี่ปุ่นเป็นเพื่อนดีต่อเมื่อไม่มีพวกญี่ปุ่นของเขาอยู่ด้วย พวกจีนมักเป็นคนใจกว้างขวาง พูดตรงไปตรงมา เรียนเก่ง ฉลาด เมื่อ ‘มิดเดิลเท็มเปิล’ มีนักเรียนไทยอยู่ด้วยหลายคน ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสรู้จักใครต่อใครขึ้นบ้าง.
ส่วนการเล็กเชอร์พิเศษหรือที่เรียกว่า ‘โค้ชชิงค์’ สำหรับนักเรียนไทยเรียนกฎหมาย มีนายพันตรีนอกราชการคนหนึ่งรับหน้าที่เป็นครูอยู่นานปีมาแล้ว นายพันตรีผู้นี้แม้จะได้เป็นหมอความในประเทศอังกฤษมาช้านานก็หาได้มีชื่อเสียงอะไรไม่ เพียงแต่เป็นคนแก้ความเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตามศาลโปริสภาเท่านั้น ตั้งแต่ท่านนายพันตรีรับหน้าที่เป็นครู ท่านได้ให้ประโยชน์แก่นักเรียนไทยและเมืองไทยมาแล้วเพียงไร อย่างน้อยก็ได้รู้จักคนไทยดีพอที่จะพูดจาดูถูกเราได้อย่างร้ายกาจ ดูท่านรู้อะไรไปเสียหมดที่ไม่ควรรู้และที่ไม่ใช่หน้าที่ สอนก็พอให้เวลาหมดไป ส่วนเราจะเข้าใจหรือไม่นั้นไม่เป็นของแปลก สำหรับนักเรียนที่จน-และท่านนายพันตรีผู้นั้นทราบเสมอว่า คนไหนจนคนไหนรวย-ท่านก็สอนให้อย่างเสียไม่ได้ แม้ว่านักเรียนจะจนหรือรวยก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ท่านเท่ากันทั้งสิ้น ท่านไม่มีผ่อนผันให้ใคร
“แกมีเงินเท่านั้น แกจะต้องการอะไรอีกเล่า?” ท่านถามข้าพเจ้าวันหนึ่ง เมื่อยกปัญหาขึ้นถาม เพราะข้าพเจ้าไม่เข้าใจคำอธิบายของท่านบางอย่าง.
ข้าพเจ้ามิได้ตอบประการใด เป็นแต่รู้สึกเสียดายว่าคนเช่นนายพันตรีนอกราชการผู้นี้ แม้จะได้เรียนกฎหมายมาตั้งแต่เล็กจนโต โตจนแก่ ก็หามีใจสะอาดพอที่จะให้ประโยชน์แก่โลกตามสมควรไม่.
สำหรับคนไทยหรือชาวต่างประเทศอื่นๆ ชีวิตในลอนดอนไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปลอดภัยนัก เช่นเดียวกับนครหลวงที่เจริญทั้งหลายในโลก ลอนดอนก็มีอุปสรรคร้อยแปดที่จะทำให้ความเจริญเสื่อมถอยลง การหลอกลวงผู้ที่ไม่รู้ ลักเล็กขะโมยน้อย ก็คงมีอยู่ ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าแห่งประเทศไม่ใช่เป็นเครื่องมือสำหรับทำลายความทุจจริตของอ้ายพวกเหล่าร้ายไปได้เลย.
เมื่ออยู่ลอนดอนนานเข้า ข้าพเจ้าก็รู้จักเพื่อนฝูงมากเข้าเป็นธรรมดา ความจริงก็ดูครึกครื้นดี โรงภาพยนตร์ โรงละครที่งามเลิศก็มีอยู่มากหลาย จะไปไหนก็สะดวก กะนั้นข้าพเจ้าก็ยังรู้สึกหงอย และบางทีก็ถึงกับเบื่อ รู้สึกว่าลอนดอนควรจะดียิ่งกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ควรจะมีอะไรบางอย่างที่จะให้ความสุข ให้ความมิตรภาพแก่ผู้ที่แปลกบ้านเมืองไป.