บทที่ ๒๑ ความพินาศแห่งชีวิต

ในขณะที่อยู่ในกรุงวอชิงตัน เรียนวิชชาต่างประเทศอยู่ในมหาวิทยาลัย แม้ว่าข้าพเจ้าจะต้องทำงานหนักทั้งกลางวันกลางคืนเพื่อจะให้ทันเพื่อนก็ยังรู้สึกว่าชีวิตของข้าพเจ้ามีความหวังอยู่อย่างมหิมา ความหวัง......ความฝันที่จะได้ดีต่อไปในทางราชการ ข้าพเจ้าเป็นสุข ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากที่ต้องตรากตรำทำงาน อีกประการหนึ่งถ้าเราตั้งหน้าทำงานอยู่เสมอเราอาจลืมสิ่งที่เราต้องการจะลืมได้ นี่คือทางดีที่สุด ข้าพเจ้าพยายามจะไม่นึกถึงมาเรียไม่นึกถึงจุไร และไม่นึกถึงชีวิตของข้าพเจ้าเอง.

การงานในโรงเรียนของข้าพเจ้าก็เรียบร้อยเจริญขึ้นเรื่อยๆ แต่ยิ่งทำไปก็ยิ่งรู้สึกเหมือนกลิ้งครกขึ้นภูเขา ชีวิตและความสุขของเราไม่ใช่มีแต่ความราบรื่นเท่านั้น ชีวิตย่อมมีอุปสรรค ความพินาศ และความแตกดับ ยิ่งอ่านตำราหนักเข้า นัยน์ตาทั้งสองของข้าพเจ้าก็เกิดมีอาการเจ็บเคือง และปวดมากขึ้นทุกวัน ในที่สุดก็ไม่สามารถจะอ่านตำราต่อไปได้ ข้าพเจ้าเล่าอาการให้เจ้าคุณทูตฟัง ท่านสั่งให้เลขานุการพาข้าพเจ้าไปหานายแพทย์ตรวจ นายแพทย์แนะนำให้ไปที่โรงพยาบาลรักษาตาเมืองบอสตัน แกเกรงว่าจะต้องมีการตัดผ่ากันขนานใหญ่.

“ผมเกรงว่าตาของคุณมีอาการค่อนข้างจะหนัก” นายแพทย์หนุ่มผมทองพูดกับข้าพเจ้า “ถ้าไม่รักษาดูแลให้ดีอาจทำให้บอดได้ ไปหาหมอเวตย์ ซึ่งเป็นหมอตาที่ดีที่สุดในประเทศนี้คนหนึ่ง ผมเชื่อว่าคุณจะต้องนอนหลับตาอยู่ราวสามอาทิตย์ไม่เห็นอะไรเลย ทั้งเมื่อผ่าเสร็จและรักษาจนหายแล้ว คุณจะต้องหยุดทำงานอีกสักหนึ่งหรือสองปี เพราะเธอจะเห็นอะไรเป็นคู่ไปหมด จะไม่แข็งแรงพอสำหรับเพ่งดูอะไรได้นานกว่ายี่สิบวินาฑี”

นี่คือความพินาศ ท่านเอ๋ย ความพินาศแห่งชีวิตของข้าพเจ้า จะต้องไปผ่าตา ไปปิดตาอยู่ถึงสามอาทิตย์ ดูหนังสือไม่ได้อย่างน้อยปีหนึ่งหรือสองปี ข้าพเจ้านึกถึงแต่การเรียนเท่านั้น สำหรับการลาหยุดหนึ่งปีหรือหยุดไม่มีกำหนด ในพงศาวดารของมหาวิทยาลัยยอร์ชเทาน ไม่เคยอนุญาตให้ใครเลย ถ้าจะต้องหยุดเรียนนานถึงเพียงนั้น โรงเรียนถือว่าเป็นผู้ไม่มีร่างกายบริบูรณ์พอที่จะเรียนให้เป็นผลสำเร็จได้ ก็เลยขอให้ลาออกเสียทีเดียว โอ! โชค--โชคของข้าพเจ้าจะเป็นไปสักเพียงไหนหนอ.........?

ข้าพเจ้าเขียนจดหมายเล่าความย่อๆ (เพราะไม่สามารถจะเขียนได้ยาว) ไปให้เซอร์เปอร์ซีเวิลฮัมเฟรย์ ภรรยาและธิดาของแกถึงเรื่องโชคร้ายของข้าพเจ้า แล้วก็ออกเดิรทางกับเลขานุการไปยังโรงพยาบาลรักษาตาที่เมืองบอสตัน ที่นั่น เขาจัดให้ข้าพเจ้าอยู่ในห้องพิเศษห้องหนึ่งบนชั้นที่สิบสี่ของตึก ท่านเลขานุการพักอยู่ที่ภัตตาคารสแตดเลอร์ มาอยู่ในโรงพยาบาลได้วันเดียวนายแพทย์เวตย์ก็ทำการตัดผ่าตาข้าพเจ้าทีเดียว นายแพทย์วางยาสลบข้าพเจ้าตั้งแต่แปดนาฬิกาเช้า ตั้งใจจะให้ฟื้นราวเที่ยงวัน แต่ข้าพเจ้าไม่รู้สึกตัวอยู่จนค่ำ พอตื่นขึ้นก็มีอาการปวดตาอย่างที่สุด ปวดจนถึงกับต้องร้องคราง ข้าพเจ้าถูกฉีดยาระงับความปวดทุกๆ สองชั่วโมง ถูกฉีดยาอยู่ราวสิบสองเข็มจึงทุเลา ข้าพเจ้านอนแซ่วอยู่บนเตียง ตาบอดอยู่สามอาทิตย์เต็มๆ ในระหว่างนั้นจุไรไปเยี่ยมข้าพเจ้าเสมอ นำเอาผลไม้ และช่อดอกไม้ที่หอมและงามซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถจะแลเห็นได้ไปให้ พวกเซอร์เปอร์ซีเวิลพอทราบเรื่องก็ไปที่เมืองบอสตันเยี่ยมเยียนข้าพเจ้าทุกวันเหมือนกัน.

ในระหว่างที่ปิดตาอยู่ในโรงพยาบาล ถ้าไม่มีจุไร และพวกเซอร์เปอร์ซีเวิล คือพอลลี เซอร์และเลดีเปอร์ซีเวิลไปเยี่ยมอยู่เสมอแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบแน่ว่าจะเป็นอย่างไร อาจกลุ้มใจจนเป็นบ้าไปแล้วก็ได้.

ในที่นี้ข้าพเจ้าไม่มีเวลาและหน้ากระดาษพอที่จะเล่าถึงความเป็นไปของข้าพเจ้าในระหว่างที่อยู่โรงพยาบาล จะขอพูดแต่เพียงว่าเวลานั้นคิดถึงคนๆ หนึ่งเหลือที่จะอดกลั้นความรู้สึกไว้ได้ มิตรจิตต์มิตรใจ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าหล่อนก็คงคิดถึงข้าพเจ้ามากเหมือนกัน มาเรีย มาเรียแม่ยอดรัก!

จุไรไปเยี่ยมข้าพเจ้าเสมอแทบทุกวัน ปัญหาที่ว่าทำไมข้าพเจ้าจึงไม่รักจุไร หรือทำไมจุไรจึงไม่รักข้าพเจ้านั้น เห็นจะเป็นด้วยชีวิตเราแตกต่างกันมาก หรือเห็นจะเป็นเพราะข้าพเจ้าคิดถึงมาเรียเกรย์ และจุไรคิดถึง……

มีผู้ที่รู้จักชอบพอบางคนที่ข้าพเจ้าอนุญาตให้อ่านเรื่อง ‘ละครแห่งชีวิต’ นี้ก่อนที่จัดส่งไปพิมพ์ เขาต่างพากันบ่นว่าชีวิตของข้าพเจ้าเป็นชีวิตที่เปลี่ยวและเศร้าชอบกล อธิบายไม่ถูก ความจริงชีวิตของข้าพเจ้าไม่ใช่เป็นชีวิตที่เปลี่ยวเลยแม้แต่น้อย อาจเศร้าเช่นเดียวกับชีวิตของเราโดยมากแต่ไม่เปลี่ยว ข้าพเจ้ามีเพื่อนมากนะท่าน เพื่อนที่ดี ที่รักและนิยมข้าพเจ้าอย่างสัตย์จริง ดังจะได้เห็นตามที่จะเล่าต่อไปนี้.

เมื่อหายออกจากโรงพยาบาลใหม่ๆ ข้าพเจ้ายังเห็นอะไรเป็นคู่อยู่เสมอ ข้าพเจ้าเห็นท่านยืนอยู่ตรงหน้าเป็นสองคน และไม่สามารถจะบอกได้ว่าคนไหนเป็นท่าน และคนไหนเป็นอากาศธาตุ คว้าผิดคว้าถูกทุกครั้งไป นายแพทย์ให้ข้าพเจ้าใช้แว่นพิเศษซึ่งมีกะจกดำใส่ไว้ข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งมัวจนเกือบไม่แลเห็น แม้ว่าข้าพเจ้าจะเห็นได้แต่เพียงตาเดียว ก็เห็นได้อย่างมืดมัวคล้ายคนตาบอดตาใส จะเดิรก็ต้องระวังทุกฝีก้าว เซอร์เปอร์ซีเวิลฮัมเฟรย์พร้อมทั้งภรรยาและพอลลีมารับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาล แล้วพาไปอยู่กับแกที่บ้านในกรุงนิวยอร์ค ข้าพเจ้าไปรักษาตัวอยู่ที่นั่นหกเดือนเศษ ได้รับความสุขสบายอย่างที่สุด นานๆ ก็มีนักเรียนไทยและพวกที่สถานทูตไปเยี่ยมครั้งหนึ่ง จุไรไปเยี่ยมข้าพเจ้าเดือนละครั้ง หล่อนต้องขึ้นรถไฟจากบอสตันมานิวยอร์ค ประพัทธ์มาเยี่ยมเสมอจากวอชิงตัน.

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าได้ทำความดีงามอะไรไว้จึงได้รับความเอื้อเฟื้อจากพวกเซอร์เปอร์ซีเวิลอย่างมากมาย ข้าพเจ้ามีห้องนอนอันหรูใหญ่ทางด้านหลังของตึกใหญ่ที่ถนน ๑๗๑ บี มีคนใช้พิเศษส่วนตัวคอยดูแลทุกข์สุข ถึงเวลาก็มีคนมาจูงไปเดิรเที่ยวในสวนดอกไม้หลังบ้าน และในสวนหลวง เย็นบางวันเรานั่งรถยนตร์เปิดประทุนขับไปเที่ยวกันตามบริเวณนอกนครนิวยอร์ค พักรับประทานแซนด์วิชและน้ำชากันตามร้านเล็กๆ ข้างทาง ชีวิตไม่ใช่เป็นของที่ขมขื่นจนเกินที่เราจะทนได้ จริงไหมท่าน ที่นิวยอร์คข้าพเจ้ามีพอลลี เซอร์และเลดีเปอร์ซีเวิล นี่คือความสุข.

ข้าพเจ้าไม่มีอะไรที่จะตอบแทนบุญคุณคนทั้งสามนี้ได้ ไม่มีเงินและไม่มีบ้านของตนเองที่จะต้อนรับเพื่อเป็นการตอบแทนในเมื่อเขาไปเมืองไทย ไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่เขาก็คงรัก พยาบาลและเลี้ยงดูข้าพเจ้าราวกับว่าเป็นคนหนึ่งในตระกูลนั้น เมื่อนึกถึงความข้อนี้แล้ว ข้าพเจ้ายังออกจะทะนงใจที่ว่าข้าพเจ้าคงจะมีอะไรดีบางอย่างในนิสสัยบ้างกะมังจึงเป็นที่รักใคร่ของคนทั้งสามนี้.

“บอบบี้” เซอร์เปอร์ซีเวิลพูดกับข้าพเจ้าวันหนึ่ง “อีกอย่างน้อยก็ราวปีกว่าๆ เธอจะหายเป็นปกติ โรงเรียนเขาก็คงจะไม่รับเธอเข้าเรียนต่อไป เธอจะทำอย่างไร?”

“ฉันเชื่อว่าฉันจะกลับบ้าน เปอร์ซี” ข้าพเจ้าตอบ “ฉันรู้สึกแก่จัง ไม่อยากจะเรียนอะไรต่อไปเสียแล้ว”

“กลับไปบ้านเธอจะไปทำอะไร……?”

นี่คือคำถามที่ทำให้ข้าพเจ้าสะดุ้งใจเป็นที่สุด คล้ายกับเข็มมาทิ่มแทงอยู่ตามทรวงอกฉะนั้น นิ่งคิดอยู่สักครู่ข้าพเจ้าตอบอย่างหมดหวังว่า “ไม่ทราบ เปอร์ซี เห็นจะไปตายกะมัง”

“นี่ บอบบี้” เซอร์เปอร์ซีเวิลพูด แล้วนอนเหยียดยาวลงบนเก้าอี้นวมใหญ่ “เธอน่ะ อะไรก็ดีหมดเสียอยู่อย่างเดียวที่เห็นชีวิตเป็นของรุนแรงเกินความเป็นจริง คนที่เคราะห์ร้ายยิ่งกว่าเธอก็มีอยู่มากนะ อย่าลืมความจริงข้อนี้เสีย เธอจะทำอะไรได้หลายสิบอย่าง และจะเป็นใหญ่เป็นโตถ้าเธอต้องการ เธอเป็นคนมีวิชชา เธอเป็นคนมีการศึกษาอย่างกว้างขวาง”

“เปอร์ซี” ข้าพเจ้าถามอย่างจริงจัง “เธอรู้ไหมว่าใครเป็นผู้ให้การศึกษาที่ดีที่สุดแก่ฉัน ให้ความรู้อันดีในการที่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลก ผู้นั้นคือ เธอ เธอได้สอนให้ฉันรักชีวิต รักผู้คนและรักโลกที่ฉันอยู่ รู้สึกว่าชีวิตและสิ่งต่างๆ หวานหอมขึ้นทุกวัน เพราะฉันได้พบเธอทั้งสาม ฉันรู้สึกว่าจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ทำตนให้เป็นสุข เป็นใหญ่เป็นโตต่อไปภายหน้า”

“คนที่สามารถจะพูดได้อย่างเธอ” แกกล่าว “ต้องเป็นคนที่ศิวิไลซ์ที่สุด”

“ฉันจะกลับบ้าน” ข้าพเจ้าพูดอย่างเศร้า “กลับไปทำงาน จะพยายามเป็นใหญ่เป็นโตถ้ามีโอกาส พอตาฉันหายดีฉันจะออกเดิรทาง”

“ยังงั้นก็ดีซี เราก็จะไปทางนั้นเหมือนกัน เราจะไปญี่ปุ่นและจีน ถ้าเธอจะไปจริงๆ เราจะจัดการให้เหมาะแล้วเดิรทางไปด้วยกัน เธอพักอยู่กับพวกเราที่ญี่ปุ่นสักเดือนสองเดือน แล้วไปเที่ยวเมืองจีนด้วยก็ได้”

ถ้าเป็นเมื่อก่อน การที่จะได้เที่ยวเมืองญี่ปุ่นเมืองจีนเช่นนี้ ข้าพเจ้าคงจะลุกขึ้นกะโดดโลดเต้นดีใจไม่น้อย แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ามีใจเหมือนท่อนหิน ไม่รู้สึกยินดียินร้ายในอะไรเสียเลย.

“ฉันจะกลับเมืองไทยแน่ เปอร์ซี” ข้าพเจ้าตอบ “ฉันจะเดิรทางไปกับเธอ ไปญี่ปุ่น ไปจีน หรือไปที่ไหนอีกก็ได้ ถ้าเราไปเที่ยวกันเสร็จแล้ว ฉันก็จะลาเธอกลับไปบ้าน”

“ตกลง บอบบี้ ฉันจะจัดโปรแกรม

เซอร์เปอร์ซีเวิลมีร้านจำหน่ายของโบราณอยู่หลายแห่งในประเทศอเมริกา และต้องพาครอบครัวไปดูกิจการต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายภาชนะเหล่านั้นทั่วทั้งประเทศ เวลานั้นอาการแห่งนัยน์ตาข้าพเจ้ายังคงดำรงอยู่เช่นเดิม ไม่สามารถจะกลับไปเรียนหนังสือได้อีก ที่กรุงวอชิงตันและสถานทูตก็ได้อนุญาตให้ข้าพเจ้าอยู่กับเซอร์เปอร์ซีเวิลเรื่อยไปจนกว่าจะหาย ดังนั้นท่านเซอร์และครอบครัวจึงได้พาข้าพเจ้าเที่ยวไปในที่ต่างๆ เช่นเมืองชิคาโก ซานฟรานซิสโก โลซังเจลีส และฮอลลีวูด บางทีเราก็กลับไปทางนิวยอร์ค ไปฟีลาเดลเฟีย บัลติมอร์ และวอชิงตัน ไปอยู่ตามห้างร้านต่างๆ ของเซอร์เปอร์ซีเวิล จนข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนมีประโยชน์อยู่ไม่น้อย เพราะข้าพเจ้าตั้งต้นจะเข้าใจกิจการของเซอร์เปอร์ซีเวิล และช่วยออกความคิดในเรื่องประกาศแจ้งความในหน้าหนังสือพิมพ์ และการทำป้ายปิดหน้าร้าน ข้าพเจ้ามีความคิดใหม่ๆ ในเรื่องประกาศแจ้งความนี้มาก ระหว่างหกเดือนที่เราท่องเที่ยวไป ข้าพเจ้าออกแบบแจ้งความให้เซอร์เปอร์ซีเวิลหลายสิบอย่าง

เราได้ออกไปเสียจากนครนิวยอร์คหลายเดือน พอกลับมาถึงบ้านที่ถนน ๑๗๑ บี ข้าพเจ้าก็ได้รับจดหมายฉะบับหนึ่งจ่าหน้าซองส่งต่อมาจากสถานทูตในวอชิงตัน จดหมายนั้นมาจากเมืองอังกฤษ และข้าพเจ้าจำได้ดีว่าเป็นจดหมายของมาเรียเกรย์ ข้างบนซองมีตราวันที่ของกรมไปรษณีย์ประทับไว้ว่าจดหมายได้มาถึงประเทศอเมริกาได้สองเดือนเศษแล้ว ข้าพเจ้าฉีกซองออกอ่านอย่างใจเต้นน้อยๆ อยากจะทราบล่วงหน้าว่ามาเรียจะเขียนอะไรมาบ้าง.

มาเรีย แม่ยอดรักของข้าพเจ้า จะมาถึงนิวยอร์คโดยเรือเปรสิเด็นวิลสัน วันที่ ๒๗ เดือนสิงหาคม นี่ก็วันที่ ๒๒ แล้ว ยังอยู่อีกเพียงห้าวันเท่านั้น ข้าพเจ้ารู้สึกปีติยินดีเป็นที่สุด นำข่าวนี้ไปเล่าให้เซอร์เปอร์ซีเวิลฟังทันที.

“เรารู้จักมาเรียเกรย์ดีทีเดียว บอบบี้” ท่านเซอร์พูดกับข้าพเจ้า “เราพบหล่อนที่สโมสรหนังสือพิมพ์ในลอนดอน พบที่อิตาลี เราคุ้นเคยกันมากเสียด้วยซี แต่ฉันได้ข่าวว่าหล่อนแต่งงานแล้วไม่ใช่หรือ?”

“ยัง เปอร์ซี หล่อนยังไม่ได้แต่งงาน” ข้าพเจ้าค้านขึ้นทันที.

ค่ำวันนั้นข้าพเจ้าก็เล่าความเป็นไประหว่างมาเรียและข้าพเจ้าให้ตระกูลฮัมเฟรย์ฟังโดยละเอียด…เล่าถึงเมื่อครั้งเราพบกันที่บ้านนายร้อยเอกแอนดรูเมืองเบ็กสฮิลล์……ที่สโมสรหนังสือพิมพ์ฯลฯ เลดีเปอร์ซีเวิลแลพอลลีรู้สึกเห็นอกเห็นใจข้าพเจ้ามาก พอลลีออกความเห็นว่าข้าพเจ้าควรจะแต่งงานกับมาเรีย แต่เซอร์เปอร์ซีเวิลเห็นว่าไม่ควร มาเรียเป็นชาวยุโรป ส่วนข้าพเจ้าเป็นแต่เพียงคนไทยธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ร่ำรวยและข้าพเจ้าควรจะต้องนึกถึงลูกและผู้ที่มาภายหลังให้มาก พวกครึ่งชาติที่เมืองสิงคโปร์และปีนัง……โอ……ฐานะช่างเศร้าเสียนี่กะไร ชาวฝรั่งแถบนั้นเป็นคนใจแคบ และเกลียดลูกครึ่ง ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ หรือมีเงินก็พอจะเสมอตัวไป แต่นี่ ข้าพเจ้าเป็นคนธรรมดา เป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเกินไปจึงจะควร เซอร์เปอร์ซีเวิลขอให้ข้าพเจ้านึกถึงความสุขของมาเรีย และถึงบุตรธิดาซึ่งจะมาในภายหลัง.

“แต่เราจะรับมาเรียมาอยู่ที่นี่” เซอร์เปอร์ซีเวิลกล่าวขึ้นในที่สุด “เรามีห้องนอนว่างอยู่อีกห้องหนึ่ง พอหล่อนมาถึงเราจะไปรับที่ท่าเรือแล้วพามานี่ทีเดียว ดีไหม บอบบี้ ฉันสนิทสนมกับมาเรียพอที่จะทำเช่นนั้นได้”

“ถ้าเธอไม่ต้องการให้บอบบี้และมาเรียแต่งงานกัน” สตรีผู้เป็นภรรยาท่านเซอร์กล่าวค้าน “ฉันไม่เห็นควรที่เธอจะเชิญมาเรียมาอยู่ที่นี่ จะทำให้บอบบี้ลำบากใจ”

“ไม่เป็นไร เลดีเปอร์ซีเวิล” ข้าพเจ้ากล่าวค้านแล้วหวัวเราะ “จะไม่ทำให้ผมลำบากใจเลย ผมได้คิดมามากแล้วนะครับ คิดถึงเรื่องมาเรียและชีวิตของเราทั้งสอง ผมมีความคิดเหมือนกับเปอร์ซี”

“งั้นก็ดีซี” เลดีเปอร์ซีเวิลพูด “เราจะได้มาเรียมาสนุกด้วยอีกคนหนึ่ง”

เรือเปรสิเด็นวิลสัน มาเทียบท่าเมืองนิวยอร์ค วันที่ ๒๗ สิงหาคม เวลา ๑๑ ก.ท. ตรงตามกำหนด พอลลีจูงข้าพเจ้าไปรออยู่ที่นั่นจนมาเรียเดิรลงมาหา หล่อนตกใจที่เห็นข้าพเจ้าใส่แว่นตาขาวข้างดำข้าง มือถือไม้เท้า หล่อนเกรงว่าข้าพเจ้าจะตาบอดหรืออะไรเช่นนั้น.

“บอบบี้ ตาเธอเป็นอะไรไป?” หล่อนถามด้วยน้ำเสียงอันก้องกังวาน พลางก็สวมมือทั้งสองกอดข้าพเจ้าไว้ “ตาเธอเป็นอะไร บอบบี้?”

“ไม่เป็นอะไรดอก มาเรีย” ข้าพเจ้าตอบรู้สึกตื้นตันอยู่ในคอ “ตาฉันเจ็บ ไปผ่ามาเท่านั้น อีกเดือนสองเดือนก็เป็นปกติ”

“ฉันได้หวังไว้ว่า” หล่อนพูดเป็นเชิงตัดพ้อ “ฉันจะมาพบเธอในอเมริกาเป็นคนแข็งแรง หน้าตาชื่นบาน และเป็นนักเรียนที่เก่งที่สุดในโลก”

“อีกสองสามเดือนตาของบอบบี้ก็จะหายนี่ มาเรีย” พอลลีพูดสอดขึ้น “เธอต้องไปอยู่กับเราที่บ้าน เราเตรียมห้องไว้เสร็จแล้ว บอบบี้ก็อยู่กับเราเดี๋ยวนี้ เรารักษาพยาบาลกันสนุกจัง ฉันมีหน้าที่ล้างตาให้เขาทุกเช้า”

เมื่อเซอร์และเลดีเปอร์ซีเวิลขอร้องเข้าอีกด้วย มาเรียก็ยินยอมไปพักอยู่ที่บ้านด้วยชั่วคราว ขณะที่เดิรออกจากชานชลาของท่าเรือ มาเรียได้มารับหน้าที่เป็นผู้จูงข้าพเจ้า ส่วนพอลลีนั้นเดิรตามไปอีกข้างหนึ่ง เรานั่งรถยนตร์ไปที่บ้าน ๑๗๑ บี เข้าไปในห้องรับแขก พวกเซอร์เปอร์ซีเวิลต่างก็กล่าวคำขอโทษปล่อยให้มาเรียและข้าพเจ้าอยู่ด้วยกันสองต่อสอง เวลานั้น ถ้านั่งหรือนอนนิ่งๆ อยู่ในบ้าน ข้าพเจ้าสามารถจะถอดแว่นตาออกได้ แม้ว่าจะยังคงเห็นอะไรเป็นคู่ก็ยังสามารถสำรวมใจ จ้องดูวัตถุคู่นั้นให้มารวมเป็นเงาอันเดียวกันได้ แต่มัว และกินเวลานานกว่าจะชัดพอควร.

สำหรับข้าพเจ้า มาเรียยังคงงามเลิศ เป็นพระนางเจ้า ‘มาดอนนา’ แห่งความงาม ความดีและความสุข ภายในดวงเนตรของหล่อนยังคงมีประกายแห่งความรัก ความบริสุทธิ์อยู่เช่นเดิม หล่อนยังคงรักข้าพเจ้า และจะไม่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ มาทำลายความรักนี้เสียได้ หล่อนเข้ามานั่งรวมอยู่กับข้าพเจ้าบนเก้าอี้ตัวเดียวกัน เบียดแทรกเข้ามาโดยความสนิทสนมของเราซึ่งได้ตรึงตรากันไว้แต่เดิม.

“ในระหว่างที่เธอมาอยู่เสียที่อเมริกา” หล่อนกล่าวช้าๆ “ฉันคิดถึงเธอมากเหลือเกิน คิดถึงทุกวัน เกรงไปว่าเธอจะไม่เข้าใจดีพอในสิ่งที่ฉันได้พูดกับเธอเมื่อก่อนเธอจะจากมา ฉันพูดไว้ว่าฉัน……ฉันรักเธอ……รักเธอคนเดียวในโลก เธอจะเป็นใครก็ตาม ความรักของเราไม่มีอุปสรรคใดๆ จะมาทำลายเสียได้”

แม้ว่าถ้อยคำเหล่านี้จะอ่อนหวานและไพเราะเพียงไร ก็ยังทำให้ข้าพเจ้าปั่นป่วนหัวใจเป็นที่สุด เลดีเปอร์ซีเวิลพูดถูก มาเรียจะมาทรมานใจบอบบี้ ไม่เคยมีอะไรที่ทำให้ข้าพเจ้าหยั่งถึงความพินาศแห่งชีวิตของตนเองยิ่งไปกว่าคำพูด และกิริยาอันฉอเลาะคลอเคลียของหญิงที่ข้าพเจ้ารัก ข้าพเจ้าเป็นคนตาพิการ อีกตั้งปีกว่าจะหายเป็นนักเรียนที่จน ไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์ที่หาเงินได้เอง เป็นนักเรียนที่เรียนไม่สำเร็จ กลับไปบ้านก็มือเปล่า กะเป๋าเปล่า ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิ์ที่จะรักหล่อนได้ และข้าพเจ้าเป็นคนไทย บ้านอยู่กรุงเทพฯ………

เราเคล้าเคลีย จุมพิตกันอยู่บนเก้าอี้นั้นครู่หนึ่ง ข้าพเจ้าจึงพูดกับหล่อนว่า “ฉันจะกลับไปเมืองไทย มาเรีย กลับไป…ตาย…ที่บ้าน” เสียงข้าพเจ้าสั่นอยู่ระรัว “ฉันจะออกเดิรทางเมื่อตาฉันดีพอที่จะเดิรทางได้”

“บอบบี้” หล่อนวิงวอน “เธอพาฉันไปเมืองไทย……ไปบ้านของเราด้วยนะจ๊ะ? เราจะไปตายด้วยกัน”

นัยน์ตาข้าพเจ้าจ้องอยู่ที่กำแพงอันว่างเปล่าตรงหน้า หยิบเอาผ้าเช็ดหน้าขึ้นเช็ดน้ำตาซึ่งไหลอยู่ไม่ขาดสาย.

“ไม่ได้หรอก มาเรีย แม่ยอดรัก” ข้าพเจ้าแข็งใจพูด “ฉันเป็นคนจน และมีทุกข์อยู่ราวกับภูเขา ชีวิตภายหน้าของฉันนั้นไม่มีแสงสว่างอะไรเลย ฉันจะให้เธอร่วมทุกข์ด้วยไม่ไหว เธอยังเป็นผู้ที่อาจหาความสุขได้ แต่ฉัน……หมดหวังเสียแล้ว ฉันพาเธอไปด้วยไม่ได้ มาเรีย ถ้าเธอรักฉันจริง เธอจงพยายามเข้าใจนะจ๊ะ และพยายามยกโทษให้ฉัน”

หล่อนลุกขึ้นจากเก้าอี้ เดิรไปยืนอยู่เสียที่หน้าต่าง หันหลังให้ข้าพเจ้า.

“อาร์โนลด์ได้มาขอให้ฉันแต่งงานกับเขาสามครั้งแล้ว แต่ฉันปฏิเสธทุกคราวไป” หล่อนพูดอย่างแค้น “เธอทราบดีแล้วไม่ใช่หรือว่าทำไมฉันจึงปฏิเสธ?”

ข้าพเจ้าเดิรไปหาหล่อน จับมือหล่อนขึ้นจูบแล้วบีบไว้แน่น.

“ฉันไม่สามารถจะพูดให้เธอเข้าใจเรื่องของฉันได้ มาเรีย………My darling little heart” ข้าพเจ้าพูดวิงวอน “เธอต้องไปถามเซอร์เปอร์ซีเวิล แกจะบอกได้ดี”

“ฉันเข้าใจ บอบบี้” หล่อนพูด.

ต่อมา มาเรียยังคงรับหน้าที่เป็นผู้จูงข้าพเจ้าเที่ยว แต่จะมีใครบ้างหนอในโลกที่สามารถจะทราบได้ว่าระหว่างที่เราเดิรอยู่เคียงกันไป หัวใจของเราทั้งสองมีโลหิตไหลหยดอยู่ไม่ขาดสาย อา ความพินาศแห่งชีวิต! ละครโรงใหญ่!

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ