บทที่ ๑๒ ละครโรงใหญ่

ในเวลาว่าง ข้าพเจ้าชอบเขียนเรื่องอ่านเล่นหรือ ‘อาร์ติเกิล’สั้นๆ ส่งไปให้ ‘แด็ดดี’ ตรวจ แล้วขอให้แกส่งไปตามหนังสือพิมพ์รายเดือนและหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์ เป็นการแปลกมากที่ความคิดของข้าพเจ้าซึ่งได้เขียนลงเป็นตัวอักษรรวมเข้ากับความช่วยเหลือของ ‘แด็ดดี’ นั้นเป็นสิ่งที่หนังสือพิมพ์ทุกชะนิดต้องการ ส่วน ‘แด็ดดี’ เมื่อได้รับเช๊กจากโรงพิมพ์คราวใดก็ส่งมาให้ข้าพเจ้าทุกครั้งพร้อมด้วยคำตักเตือนว่าจงใช้เงินอย่างระมัดระวัง ในวันดีคืนดีข้าพเจ้าก็มีโอกาสได้เห็นเรื่องของตนเองลอยเด่นอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ลงนามผู้เขียนว่า ‘บอบบี้’

การที่สามารถทำได้เช่นนั้น-เขียนไปคราวใดก็ได้เงินเป็นสินน้ำใจทุกครั้ง เรื่องราวปรากฏอยู่ในหน้ากระดาษหนังสือรายเดือนรายวันที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ-เป็นสิ่งที่ชักชวนใจไม่น้อย เป็นอันว่าข้าพเจ้าสามารถหากินได้ตามสมควรในระหว่างเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้ามีรายได้พิเศษซึ่งช่วยสนับสนุนให้ดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นสุข ไม่ต้องจนเหมือนนักเรียนโดยมาก.

ในระหว่างนั้นข้าพเจ้าครุ่นคิดอยู่ทุกวันจะต้องสนองคุณ ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’ ให้สมใจรักสักวันหนึ่ง ข้าพเจ้าพยายามเก็บเงินที่ได้จากการเขียนหนังสือสะสมไว้เพื่อซื้ออะไรบางอย่างที่เป็นแก่นสาร แต่ก็ไม่เคยตัดใจเด็ดเดี่ยวลงไปว่าจะซื้ออะไรแน่ วันหนึ่งข้าพเจ้าลงไปที่เบ็กสฮิลล์ พบรถอ๊อสตินเก๋งของ ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’ พังอยู่ข้างสถานีรถไฟเนื่องจากชนกับรถกุดัง ทันใดนั้นก็คิดขึ้นมาได้ว่า ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’ จะต้องการอะไรซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น แทนที่จะเดิรทางต่อไปจนถึง ‘กะท่อมนางพญา’ ข้าพเจ้านั่งรถกลับบ้านโดยมิได้บอกกล่าวให้ ‘บิดามารดา’ ทราบเลยว่าได้ไปที่เบ็กสฮิลล์แล้ว พอถึงลอนดอน ข้าพเจ้าก็ไปที่เอเย่นต์ขายรถเบ็นตเลย์ ซื้อรถเบ็นตเลย์เก๋งใหญ่หรูคันหนึ่ง สั่งให้บริษัทจัดส่งไป ‘กะท่อมนางพญา’ ณ เบ็กสฮิลล์พร้อมด้วยนามบัตรใบหนึ่งเขียนว่า “โดยความรักและเคารพอย่างสูงสุด จากลูกชายที่รักคนเดียวของ ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’

รุ่งขึ้นถัดจากวันที่รถไปถึง เวลาราว ๑๒ น. ทั้ง ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’ นั่งรถเบ็นตเลย์ไปหาข้าพเจ้าที่อยู่ในลอนดอน พอเห็นข้าพเจ้า ‘แม่’ ก็โผเข้ากอดจูบข้าพเจ้าเสียหลายครั้ง พลางก็พูดเป็นเชิงล้อด้วยความปีติยินดีว่า “ดูซิ บอบบี้ ลูกรักของแม่ เธอควรจะเก็บเงินไว้ นี่เอามาใช้ซื้อรถซื้อราเสียหมด สุรุ่ยสุร่ายใหญ่แล้วเห็นจะต้องถูกเฆี่ยนถูกตี”

“อะไรได้ ‘แม่’ ข้าพเจ้าตอบ ฉันซื้อรถให้ ‘แม่’ คันหนึ่งนั้นไกลกับความสุขที่ ‘แม่’ ให้ฉันหลายหมื่นหลายพันเท่านัก มันไม่คู่ควรกันเลย”

“เงินใช้หมดแล้วซี?” ‘แม่’ ถาม.

“หมดพอดี” ข้าพเจ้าตอบพาซื่อ “แต่ไม่เป็นไร ฉันเขียน ‘อาร์ติเกิล’ ดีๆ ไว้สองเรื่องแล้ว อีกหน่อยก็หาเงินได้อีก แล้วเวลานี้ก็ไม่มีอะไรจะต้องใช้เป็นพิเศษ”

‘แม่’ หยิบกระเป๋าถือมาถือไว้ในมือแล้วควักธนบัตรใบละร้อยปอนด์ออกมายื่นให้แก่ข้าพเจ้า “นี่” แกกล่าว “เอาไว้ใช้จนกว่าจะหาเงินได้อีก”

ข้าพเจ้ากล่าวคำขอบคุณแล้วก็รับเอาธนบัตรมาใส่กระเป๋า คืนนั้น ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’ พาข้าพเจ้าไปพักอยู่ที่โฮเต็ลเค็นซิงตันกับแก พาข้าพเจ้าไปดินเนอร์ที่ภัตตาคารซาวอย ออกจากซาวอยไปดูละครกันที่ปิกกาดิลีเทียเตอร์ ออกจากดูละครไปสับเป้อร์และดูคาบาเรต์ที่นิวพรินเซส จากคาบาเรต์เรายังมาคุยกันที่โฮเต็ลอีกจนเกือบไม่ได้นอนทั้งคืน ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’ พักอยู่กับข้าพเจ้าในลอนดอนสองคืนแล้วจึงกลับไปเบ็กสฮิลล์.

สำหรับเรื่องเที่ยวผู้หญิงที่เขาเรียกกันว่า ‘ไปเฟะ’ กันในลอนดอนนั้น ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนไทยที่มีชื่อเสียงดีที่สุดคนหนึ่ง การที่ไม่คิดใฝ่ฝันจะไปเที่ยวกับแม่งามเมืองทั้งหลายซึ่งมีอยู่หนาแน่นในลอนดอน ก็เพราะข้าพเจ้ามี ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’ จะต้องคิดถึง ฉวยเกิดเป็นโรคขึ้น คนที่รักทั้งสองนี้จะต้องเสียใจ ทั้งให้คิดสงสารภรรยาและบุตรธิดาที่จะมาติด……รับโทษไปในภายหน้า ข้าพเจ้าได้เคยอ่านและเคยได้รับคำบอกเล่ามามากว่าโรคที่เกิดจาก ‘ไปเฟะ’ นั้นเป็นของร้ายแรงเพียงไร ไม่มียาอะไรที่จะบำบัดให้หายขาดได้.

ในระหว่างที่เรียนกฎหมาย ข้าพเจ้ายังคงเขียนอาร์ติเกิลและเรื่องอ่านเล่นสั้นๆ ส่งไปตามโรงพิมพ์ในกรุงลอนดอนอยู่เรื่อยๆ และเคยคำนึงอยู่บ่อยๆ ว่า พวกที่อยู่ในโรงพิมพ์และสำนักงานหนังสือพิมพ์จะรู้บ้างหรือไม่หนอว่า ‘บอบบี้’ คือใคร จะมีเพื่อนที่เขียนเรื่องทั้งหลายพะวงใจใคร่จะพบหรือรู้จัก ‘บอบบี้’ บ้างหรือไม่หนอ แม้ว่าข้าพเจ้าจะได้เขียนเรื่องส่งไปแล้วมากครั้ง ก็ยังไม่เคยเกี่ยวข้องกับพวกหนังสือพิมพ์เลยแม้แต่น้อย นอกจากจะได้รับเช๊กจากโรงพิมพ์แล้วก็ไม่มีอะไรอื่น ถึงพวกบรรณาธิการหลายคนที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเนืองๆ ข้าพเจ้าก็ไม่มีโอกาสได้รู้จัก.

เดือนหนึ่ง-สองเดือน-สามเดือน ก็คงผ่านพ้นไปตามกฎธรรมดา ชีวิตและความเป็นอยู่ของข้าพเจ้ายังคงเป็นอยู่เช่นเดิม ไม่มีอะไรผิดแปลก มาเรียเกรย์ก็เงียบหายไปเสียเฉยๆ ไม่มีข่าวคราวอะไรเสียเลย ข้าพเจ้ารู้สึกอยู่ในเวลานั้นว่าหล่อน-มาเรียยอดที่รักของข้าพเจ้า-ก็คงเหมือนลำจวน ผู้หญิงคงเหมือนกันทุกคน ใจง่าย ได้เพื่อนใหม่ลืมเพื่อนเก่า แต่ตามที่เราได้ตกลงกันไว้ เราทั้งสอง-มาเรียและข้าพเจ้า-เป็นคนฟรี......ฟรีที่จะพบและรักใครอื่นได้ตามใจปรารถนา ป่านนี้หล่อนคงได้ไปพบและรักใครเข้าคนหนึ่งแล้วกะมังจึงได้ลืมข้าพเจ้าเสียสนิท.

บ่ายวันหนึ่ง คนใช้ที่บ้านนำเอานามบัตรฉะบับหนึ่งมาให้ข้าพเจ้า ในนามบัตรนั้นมีว่าดังนี้:

มิสเตอร์อาร์โนลด์ แบริงตัน

ผู้แทนหนังสือพิมพ์

ลอนดอนไทมส์

ไม่ทราบว่าเพราะอะไร พอได้เห็นนามบัตรนี้ ข้าพเจ้าก็รู้สึกดีใจขึ้นเป็นที่สุด ดูเหมือนว่าวันที่ได้รอเพื่อจะได้รับนามบัตรนี้ตั้งแต่วันแรกที่ถึงลอนดอนได้หมุนเวียนมาถึงสมประสงค์แล้ว ข้าพเจ้ารีบลงไปหามิสเตอร์อาร์โนลด์แบริงตันในห้องรับแขกข้างล่าง.

ผู้แทนหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์คนนี้เป็นชายหนุ่มรูปร่างเล็ก ผมดำหยิกเป็นลอนงามตามธรรมชาติ พอเห็นข้าพเจ้าเขาก็ลุกจากเก้าอี้เดิรเข้ามาจับมือด้วย.

“เธอคือ ‘บอบบี้’ ของเรา ไม่ใช่หรือ?” เป็นคำถามพร้อมด้วยกิริยาอันคล้ายกับว่าเราได้เคยเป็นเพื่อนสนิทกันมาแต่ก่อน.

“ใช่” ข้าพเจ้ายิ้มตอบ.

“ท่านผู้ช่วยบรรณาธิการของเรา-มิสเตอร์เอ็ดเวอร์ดเบล เบ็นสัน ให้ผมมาเชิญเธอไปในการเลี้ยงฉลองวันเกิดที่สโมสรหนังสือพิมพ์ ณ เฮย์มาร์เก็ตพรุ่งนี้เวลายี่สิบนาฬิกา เธอต้องไปให้ได้นะ ผมจะมารับ”

“เอ๊ะ ทำไมมิสเตอร์เบ็นสันจึงรู้จักผม?” ข้าพเจ้าถาม.

“เอ๊อ! ใครๆ ที่โรงพิมพ์ก็รู้จัก ‘บอบบี้’ ทั้งนั้น” แบริงตันหวัวเราะตอบ “แต่การที่เราไม่เคยได้มาเกี่ยวข้องกับเธอเลยจนบัดนี้นั้น ก็เพราะเรารอ ต้องการให้เธอไปเข้าพวกเราโดยไม่ต้องมาเชื้อเชิญ”

“แล้วพวกเธอนึกอย่างไรบ้างที่ผมไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย?”

“ไม่ทราบ ทำไม” เขาถามอย่างสนใจ.

“ผมเป็นคนไทย มิสเตอร์แบริงตัน” ข้าพเจ้าตอบ.

“นี่ผมจะเรียกเธอว่าบอบบี้อย่างที่เลดีมอยราและมาเรียเกรย์เรียกเธอ” เขาพูดแล้วยิ้มน้อยๆ ในระหว่างที่ออกนามสตรีทั้งสอง “เธอเรียกผมว่า อาร์โนลด์เถอะ จะเหมาะกว่า”

“ตกลง อาร์โนลด์” ข้าพเจ้ายิ้มตอบ.

“เรามีผู้ส่งข่าวและผู้แทนเป็นชาวต่างประเทศอยู่หลายคน” เขาบอก “และเราได้ส่งไปสืบข่าวตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผมไม่เห็นเลยว่าทำไมเธอจึงจะเป็นพวกเราไม่ได้”

“ผมยังไม่เคยไปที่สำนักงานหรือสโมสรหนังสือพิมพ์ที่ไหนเลย”

“นั่นเป็นข้อจำเป็นที่เธอจะต้องไปเข้าพวกเรามากที่สุด”

“นี่ อาร์โนลด์ ลองพยายามอธิบายให้ผมเข้าใจทีหรือว่า หนังสือพิมพ์คืออะไรแน่ ผมจะต้องแน่ใจเสียก่อนว่าผมจะทำอะไร”

เวลานั้น เรานั่งคุยกันอยู่ที่โต๊ะกลางห้อง อาร์โนลด์หยิบบุหรี่ขึ้นจุดสูบ แล้วก็เริ่มอธิบาย: “หนังสือพิมพ์คือละครโรงใหญ่ อะไรที่เกี่ยวกับชีวิตไม่ว่าสูงว่าต่ำมีอยู่ในหนังสือพิมพ์ทั้งสิ้น เธอจำได้ไหมว่าโอมาไคยามเคยพูดไว้ว่า:

“ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว
ยิ้มเยาะเล่นหัว เต้นยั้วเหมือนฝัน”

“ผมถือสุภาษิตนี้จึงได้เข้ามาเป็นพวกหนังสือพิมพ์ เพราะผมย้อนดูตัวเองไม่ได้เลยนอกจากจะหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นอ่าน ละครโรงใหญ่ บอบบี้! สนุกเสมอ มีทั้งรักทั้งโศก”

“แล้วทำไมผมจึงจะต้องเข้าพวกหนังสือพิมพ์ด้วยเล่า?” ข้าพเจ้าถาม.

“เธอเป็นนักเขียนที่พอใช้ได้คนหนึ่ง” อาร์โนลด์ตอบ “เธอมีความคิดที่ดี เธอเป็นคนชอบรู้เรื่องต่างๆ แห่งชีวิต ก็เมื่อมีเรื่องของชีวิตอยู่เป็นละครโรงใหญ่เช่นนี้ ทำไมเธอจึงไม่มาเป็นพวกหนังสือพิมพ์เล่า?”

“มีเหตุผลอื่นอีกบ้างไหม?”

 “มี ประการที่หนึ่ง เธอเป็นคนจน เมื่อเข้าเป็นพวกเราเธออาจหาเงินได้พอที่จะอยู่อย่างสบาย ประการที่สอง เธออาจเป็นคนมีชื่อเสียงในภายหน้า ประการที่สาม-และสำคัญที่สุด-เธอจะได้พบเลดีมอยราดันน์และมาเรียเกรย์”

“เธอรู้จักมาเรียเกรย์ดีหรือ?” ข้าพเจ้าถาม.

“เราเคยไปอยู่คอนติเนนต์ด้วยกันสองอาทิตย์หาเรื่องให้หนังสือพิมพ์ ฉันเชื่อมั่นว่าเธอกับมาเรียเกรย์เป็นคู่รักกัน จริงไหม?”

“เปล่า” ข้าพเจ้าตอบแล้วยิ้ม “เราเป็นแต่เพียงเพื่อนกันเท่านั้น”

“ก็เธอนึกว่าเธอเป็นแต่เพียงเพื่อนนะซี มาเรียจึงได้รักเธอมากและพูดถึงเธอเสมอ”

“เวลานี้มาเรียอยู่ที่ไหน?”

“อยู่ปารีส แต่จะมาถึงลอนดอนในงานนี้พรุ่งนี้เวลา ๑๙ นาฬิกา พอรถถึงสถานีก็จะเลยไปสโมสรทีเดียว” เขากล่าว แล้วยืนขึ้นหยิบเสื้อหมวกทำท่าจะไป “นี่ผมจะต้องกลับเสียที ลาก่อนนะ ผมขอให้เธอเป็นคนเคราะห์ดีที่สุดในการที่จะไปเข้าเป็นพวกเราในภายหน้า ละครโรงใหญ่ บอบบี้! อย่าลืม! กู๊ดบาย บอบบี้”

“กู๊ดบาย อาร์โนลด์”

ข้าพเจ้าตามไปส่งถึงหน้าประตูบ้าน และมองดูสหายใหม่ผู้นั้นเดิรจนลับตาไป.

รุ่งขึ้นเมื่อได้เวลาที่นัดกันไว้ อาร์โนลด์เบริงตันแต่งตัวเครื่องแบบราตรีสโมสรมารับข้าพเจ้า เราพูดกันถึงเรื่องหนังสือพิมพ์ตลอดทางที่นั่งไปในรถ ‘แท๊กซี่’ ผ่านโรงละครเฮย์มาร์เกตแล้วจึงมีถนนเล็กเลี้ยวไปทางขวาถึงตึกสองชั้นใหญ่หลังหนึ่ง มีป้ายเขียนไว้เป็นตัวทองว่า ‘สโมสรหนังสือพิมพ์’ เมื่อเราไปถึงมีคนล้วนแต่งตัวเครื่องราตรียืนกันอยู่แน่น และมีเสียงดนตรีบรรเลงอยู่ภายในตึก.

“เฮลโหล อาร์โนลด์!” เป็นเสียงทักขึ้น อาร์โนลด์เหลียวไปปราศรัยด้วยสองสามคำแล้วก็พาข้าพเจ้าเข้าประตูสโมสร.

ในขณะที่ยืนอยู่ในห้องกลางใหญ่และมีคนใช้กำลังมารับเสื้อหมวกของเราไปเก็บนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกตะลึงในความงามต่างๆ ของสถานที่ซึ่งจัดไว้สำหรับงานวันเกิดของมิสเตอร์ เอ็ดเวอร์ดเบล เบ็นสันโดยฉะเพาะ มีโคมและสร้อยระย้าสีต่างๆ แขวนอยู่เต็ม ประทีปโคมไฟก็จุดไว้สว่างไสว ตามกำแพงห้องมีรูปภาพงามๆ ของนานาชาติแขวนอยู่ โต๊ะรับประทานอาหารซึ่งตั้งไว้หนาแน่นก็จัดไว้อย่างงดงาม มีดอกไม้ ชักเปี๊ยะ และอื่นๆ ยืนชมห้องนี้อยู่สักครู่อาร์โนลด์ก็พาข้าพเจ้าขึ้นไปข้างบน.

สหายพาข้าพเจ้าเข้าไปในห้องเล็กห้องหนึ่ง บอกให้รออยู่สักครู่แล้วก็เดิรหายไปทางเฉลียง สักครู่จึงพาบุรุษรูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะล้าน ตากลมโต ปากค่อนข้างหนา เข้ามา.

“นี่คือ ‘บอบบี้’” อาร์โนลด์แนะนำ “นี่มิสเตอร์เอ็ดเวอร์ดเบล เบ็นสัน เราเรียกกันว่า ‘เอ็ดดี้’”

ข้าพเจ้าจับมือกับท่านผู้ช่วยบรรณาธิการแล้วเราก็คุยกันอยู่สักครู่ มิสเตอร์เบ็นสันหันไปทางอาร์โนลด์ พูดว่า “อาร์โนลด์ ไปบอกให้เขาเตรียม ‘ป้าย’ ไว้ซี พ่อลูกชาย”

ชายหนุ่มผู้นั้นรับคำสั่งแล้วก็รีบเดิรออกไปจัดการ.

“เธอจะต้องไปยืนอยู่บนเวที” มิสเตอร์เบ็นสันบอกข้าพเจ้า “พอม่านเปิดจะมีคนตบมือให้เธอทั้งสโมสร เธอคอยคำนับให้สวยๆ นะอย่าลืม”

“มิสเตอร์เบ็นสันครับ” ข้าพเจ้าพูดอย่างตกตะลึง “ผมไปทำอะไรมาจึงจะสมควรได้เกียรติยศถึงเพียงนี้?”

“เพราะเธอเป็น ‘บอบบี้’ ในหนังสือพิมพ์ไทมส์” แกตอบ “และในการที่เธอได้เข้ามาร่วมเป็นพวกของเราแล้ว”

“มิสเตอร์เบ็นสัน ผม----“

“แน่นอน เธอไม่ต้องปฏิเสธ” แกพูดตัดบท “เธอเป็นพวกของเราแล้ว ใครที่เข้ามาในสโมสรนี้จะต้องเป็นสมาชิกทั้งสิ้น ยังไม่เคยมีใครรอดออกไปสักคน”

ทันใดนั้น เราได้ยินเสียงระฆังตีอยู่สนั่น.

“นั่นเป็นอาณัติสัญญาให้เข้ารับประทานอาหารในห้องกลาง” เบ็นสันอธิบาย “เธอลงมากับฉัน ตามฉันมา”

เบ็นสันพาข้าพเจ้าลงบันไดไปที่ห้องเล็กห้องหนึ่ง มีฉากแดงบังอยู่ ด้านข้างเปิดออกไปสู่ห้องกลางใหญ่ซึ่งมีเสียงคนพูดและหวัวเราะกันเอ็ดอึง.

“เอา ‘ป้าย’ เข้ามา!” เบ็นสันร้องสั่ง.

ทันใดนั้น เด็กคนใช้แต่งตัวอย่าง ‘เบ็ลล์บอย’ ก็เดิรถือป้ายขาวอันหนึ่งเข้ามา ป้ายนั้นเขียนไว้เป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ว่า ‘Introducing Bobbie!’ หรือ ‘แนะนำบอบบี้!’ พอจัดป้ายให้อยู่ตามที่เรียบร้อยแล้ว เบ็นสันก็วิ่งผลุนผลันออกไป.

“พร้อมแล้วหรือครับ?” เด็ก ‘เบ็ลล์บอย’ ถาม.

“พร้อม” ข้าพเจ้าตอบ.

ทันใดนั้นไฟซึ่งจุดอยู่สว่างจ้าในห้องกลางก็หรี่ลงจนเกือบมืด ม่านแดงซึ่งปิดอยู่ตรงหน้าข้าพเจ้าค่อยๆ เผยออก มีเสียงโห่อวยพร และเสียงตบมือเป็นเกียรติยศแก่ข้าพเจ้าดังสนั่นทั่วไปหมด.

“Introducing Bobbie!” “Introducing Bobbie!” เสียงเขาอ่านป้ายซึ่งตั้งอยู่ข้างตัวข้าพเจ้าไม่หยุดหย่อน ข้าพเจ้าโค้งตัวคำนับเสียรอบข้าง สักครู่จึงได้มีชายชราผู้หนึ่งเดิรถือสมุดใหญ่มาให้ข้าพเจ้าเซ็นนามเข้าเป็นสมาชิกของสโมสร.

“ฉันคือ โรนาลด์ริตสตัน นายกของสโมสร” ชายชราผู้นั้นกล่าว

ข้าพเจ้าก้มศีรษะทำการเคารพ ยื่นมือไปจับมือท่านนายก แล้วรับปากกาจากเด็ก ‘เบ็ลล์บอย’ มาเซ็นนามตามคำขอร้องของมิสเตอร์ริตสตัน มีเสียงโห่และตบมือดังขึ้นกราวใหญ่ แล้วม่านก็รูดปิดเข้าหากัน.

เดิรออกมาจากห้อง ข้าพเจ้าพบอาร์โนลด์ยืนรออยู่.

“นี่ บอบบี้” เขาถาม “เธอไม่อยากไปนั่งโต๊ะกินเข้ากับคนแก่คนเฒ่าไม่ใช่หรือ? มานั่งกับพวกเราดีกว่า บางทีเราอาจลากเอามาเรียมานั่งร่วมโต๊ะด้วยก็ได้”

“เอามาเรียมานั่งด้วยได้ จริงหรือ?” ข้าพเจ้าถาม.

“เห็นจะลำบาก” อาร์โนลด์พูดอย่างท้อ “มาเรียเป็นคน ‘ปอปูล่า’ มาก มีคนรู้จักมากมายเหลือเกิน ป่านนี้อาจไปนั่งอยู่กับใครเสียแล้วก็ได้ แต่ไม่เป็นไร ผมจะพยายาม”

ขณะที่เราเดิรอยู่ที่ในห้องกลาง ใครที่นั่งอยู่ที่โต๊ะอันยังมีคนไม่ครบก็ร้องเรียกให้เราไปนั่งด้วย “อาร์โนลด์” เสียงร้อง “เอาบอบบี้มานั่งที่นี่ซี เธอก็มานั่งเสียด้วยซี มีที่ถมไป”

“เฮ้ย ฟิลิป” อาร์โนลด์ตอบ “เรามีที่ของเราแล้ว ขอบใจ”

เราเดิรมาถึงโต๊ะที่ว่างโต๊ะหนึ่ง อาร์โนลด์ชี้ให้ข้าพเจ้านั่งรออยู่ ส่วนตนเองจะไปตามมาเรียและเลดีมอยรามาให้ สหายข้าพเจ้าหายไปสักครู่ก็กลับมา พูดอย่างหมดหวังว่า “เอ็ดดี้เอามาเรียและมอยราไปนั่งเสียด้วยที่โต๊ะแล้ว คนแก่บางคนช่างโง่เสียจริงๆ แต่เธอต้องไปหามาเรีย ผมบอกเขาไว้แล้ว ประเดี๋ยวค่อยกลับมาที่นี่ใหม่”

ข้าพเจ้าเดิรตามอาร์โนลด์ไปจนสุดมุมห้องอีกด้านหนึ่งซึ่งมีโต๊ะมิสเตอร์เบ็นสันอยู่ที่นั่น คนที่นั่งร่วมวงอยู่ด้วยล้วนเป็นคนใหญ่โตทั้งสิ้น มีลอร์ดบีเวอร์บรูก และลอร์ดดรอทเทอร์เมียร์ ผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่มั่งคั่งที่สุดในประเทศอังกฤษ และมิสเตอร์ดักกลาส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘เดลีเอกสเปรส’ กับคนอื่นๆ รวมทั้งเลดีมอยราและมาเรียด้วย พอเห็นข้าพเจ้า มาเรียก็ลุกขึ้นยืนต้อนรับ เราจับมือกันสั่นด้วยความปีติยินดี หล่อนยังคงสวย นัยน์ตายังคงโตดำชะม้อยงามเช่นเดียวกับนัยน์ตาที่ข้าพเจ้าเคยเห็น เคยรัก หล่อนสวมเสื้อราตรีกำมะหยี่ดำ สวมสร้อยคอไข่มุกต์ยาวเป็นระย้า ดูหล่อนปราดเดียวข้าพเจ้าก็ทราบได้ทันทีว่ามาเรียยังคงรักข้าพเจ้าอยู่ มาเรียไม่เหมือนลำจวน ในระหว่างที่หล่อนจากข้าพเจ้าไปอยู่ปารีส ไม่เคยมีอะไรในโลกที่ทำให้หล่อนแหนงใจข้าพเจ้าได้.

“บอบบี้” มาเรียพูดเป็นเชิงกะซิบ “คืนนี้ฉันต้องการจะเต้นรำกับเธอเป็นคนแรก”

“ได้ซี มาเรีย” ข้าพเจ้าตอบ.

ครั้นแล้ว อาร์โนลด์กับข้าพเจ้าก็เดิรกลับมาที่โต๊ะของเรา.

การเลี้ยงได้ดำเนิรไปอย่างการเลี้ยงใหญ่ทั้งหลาย มีเสียงซ่อมช้อนเสียงคุยกันถึงเรื่องต่างๆ ลอร์ดรอทเทอร์ดื่มเพื่อความสุขในวันเกิดของมิสเตอร์เบ็นสัน พวกเราดื่มตาม เราดื่มอีกเป็นคำรบสอง แต่คราวนี้ให้แก่หนังสือพิมพ์หรือละครโรงใหญ่ มีการกล่าวชมเชยท่านผู้เป็นเจ้าของวันเกิด และผู้ที่มีชื่อแต่ละคนซึ่งลุกขึ้นมาพูดล้วนเป็นคนพูดจาตลกคะนอง และพูดอย่างมีเรื่องสนใจอยู่ด้วยเสมอ มิสเตอร์เบ็นสันกล่าวสุนทรพจน์ตอบขอบใจผู้ที่มาอวยชัยให้พรในงานนี้ ก่อนจบได้พูดถึงหนังสือพิมพ์ บรรยายประวัติของหนังสือพิมพ์ไทมส์โดยสังเขป แล้วจบลงด้วยถ้อยความว่า “ละครโรงใหญ่นี้ทำให้ข้าพเจ้าภาคภูมิใจยิ่งนัก และทำให้ข้าพเจ้าเป็นสุขตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ท่านสหายที่รักทั้งหลาย ถ้าท่านต้องการจะอวยพรให้ข้าพเจ้าเป็นสุขอย่างจริงๆ แล้ว ขอให้ดื่มเพื่อละครโรงใหญ่ของเรา!”

“ชโย! ชโย! ชโย! ละครโรงใหญ่!” เป็นเสียงร้องขึ้นพร้อมกัน

“มิสเตอร์เบ็นสันครับ” เสียงร้องถามขึ้นมาอีกเสียงหนึ่ง “ทำไมท่านจึงไม่เคยแต่งงานเลยในชีวิต?”

ในทันใดนั้น ผู้ช่วยบรรณาธิการยืนขึ้นตอบ “ในการวิวาหมงคลเราต้องการอย่างน้อยสองคน ข้าพเจ้าคนเดียว หาคนอื่นมาผะสมให้ครบสองไม่ได้ แต่ท่านที่รัก ข้าพเจ้าแต่งงานแล้วนี่ท่าน...”

“แต่งงาน?” เป็นเสียงถามอย่างฉงน “แต่งกับใคร?”

“แต่งงานกับละครโรงใหญ่!” มิสเตอร์เบ็นสันตอบ.

“ชโย!” เป็นเสียงร้องขึ้นพร้อมกัน “ละครโรงใหญ่!”

เราต่างก็เดิรขึ้นบันไดไปที่ห้องเต้นรำข้างบนซึ่งจัดไว้หรูเป็นพิเศษ พอไปถึงดนตรีก็ตั้งต้นบรรเลงเพลงฟอกสะตร็อตบทหนึ่ง ข้าพเจ้าเที่ยวเดิรตามหามาเรียอยู่เป็นนานในหมู่คนที่ยืนอยู่ล้นหลามก็หาหล่อนไม่เห็น ในที่สุดมีเสียงเรียกว่า “บอบบี้ มาซีจ๊ะ!” ข้าพเจ้าเหลียวไปดู พบแม่ยอดรักคู่ชีวิตกำลังยืนรออยู่ด้วยท่าอันงาม โอ! ท่านสหายที่รัก มาเรียยังคงสวยในระหว่างที่เราจากกันไปไม่มีอะไรที่จะมาทำให้ความงามของหล่อนลดน้อยลง มีแต่จะทำให้หล่อนงามขึ้น ผิวพรรณผุดผ่องเข้ากับแสงไฟซึ่งตามไว้เป็นสีต่างๆ รอบห้อง เสื้อราตรีกำมะหยี่ดำและสร้อยคอไข่มุกด์กับต่างหูระย้าทำให้หล่อนเพราพริ้งจนเหลือที่จะพรรณนาได้ถูก หมวกรอบินฮูดซึ่งได้จากชักเปี๊ยะในห้องข้างล่างอันหล่อนสวมเป๋ๆ อยู่บนศีรษะทำให้ดวงพักตร์ของหล่อนเป็นเด็กไปมาก.

“มาเรีย” มีเสียงเรียกขณะที่มาเรียกับข้าพเจ้ากำลังยืนอยู่ชิดกัน “ขอให้ฉันได้รับเกียรติยศเต้นรำกับเธอเป็นคนที่สอง”

“แหม ฉันเสียใจเหลือเกิน อาร์โนลด์” มาเรียตอบ “ฉันสัญญาว่าจะให้มิสเตอร์เบ็นสันเสียแล้ว เธอรอ ‘อัน’ ที่สามซี”

“ได้ มาเรีย” พูดแล้วอาร์โนลด์คำนับเดิรหายไป.

“บอบบี้” หล่อนถามในขณะที่เรากำลังเต้นรำกันอยู่ “ยังไง เธอเป็นสุขดีหรือในระหว่างที่เราไม่ได้พบกัน?”

“ก็สบายดี มาเรีย” ข้าพเจ้าตอบ “การที่ฉันเป็นสุขก็เพราะสามารถจะเขียนอะไรบางอย่างให้หนังสือพิมพ์ต้องการได้”

“เธอนึกว่าฉันเป็นอะไรไป?”

“ฉันนึกว่าเธอคงเหมือนผู้หญิงอื่นที่ฉันพบมาแล้ว” ข้าพเจ้าตอบอย่างจริงจัง “ใจง่าย ลืมง่าย ได้เพื่อนใหม่ก็ลืมเพื่อนเก่า.........”

มาเรียหวัวเราะ.

“ฉันรู้ดีว่าเธอจะต้องมาเข้าเป็นพวกเราวันหนึ่ง เมื่อหนังสือพิมพ์ต้องการใครไม่เคยมีใครหนีรอดไปได้” หล่อนพูด “การที่ฉันไม่ค่อยได้ติดต่อกับเธอมากนักก็เพราะก่อนที่เธอจะเข้าในสำนักหนังสือพิมพ์ ฉันต้องการให้เธอรู้สึกอยู่ว่าเธอเป็นคนฟรี เพราะเมื่อเธอมาทำงานในหน้าที่ผู้ส่งข่าวหรือผู้แทนเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เธอจะต้องการความอิสสรมากที่สุด เธอจะพบผู้หญิงอื่นซึ่งเป็นชนแปลกชาติมีความยั่วยวนผิดกว่าผู้หญิงที่เธอเคยรู้จักมาแล้ว ถ้ามัวแต่จะทำให้เธอรู้สึกว่าเธอไม่ฟรี เธอจะต้องมัดตัวเป็นสัตย์อยู่กับฉันเสมอ ฉันก็จะเป็นคนอยุกติธรรมเกินไป ผู้ส่งข่าวหรือผู้แทนมีโอกาสที่จะได้พบผู้หญิงดีๆ เสมอ และยังมีหญิงบางพวกที่ผู้ชายรู้สึกว่าถ้าใครไม่ได้รักร่วมสมาคมด้วยแล้วก็เสียชาติเกิด”

“และสำหรับเธอก็คงเหมือนกัน” ข้าพเจ้าถามท้วงขึ้น “เธอต้องการจะพบชายอื่นที่แปลกชาติ.........?”

“ผู้หญิงผิดกับผู้ชาย บอบบี้” หล่อนตอบ “เราต้องดำเนิรตามกฎแห่งมรรยาทของเรา อย่างเคร่งครัด ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ต้องมีลูก พ่อเพื่อนรัก”

“และเธอไม่มีใจที่จะรักใครได้จริงจัง เธอชอบเปลี่ยน”

“บอบบี้ ฉันเป็นของหนังสือพิมพ์ เป็นของละครโรงใหญ่”

ดนตรีจบลง พวกเต้นรำก็กระจัดกระจายกันไป มาเรียพลัดไปเดิรคุยกับคนอื่น ข้าพเจ้าเดิรมาพบอาร์โนลด์เลยชวนกันไปดื่ม.

คืนนั้นข้าพเจ้าได้มีโอกาสเต้นรำกับมาเรียเพียงครั้งเดียวเพราะมีคนอื่นอยู่มาก ตอนก่อนกลับบ้าน อาร์โนลด์จะขอมาส่งข้าพเจ้าจนถึงที่ ข้าพเจ้าไม่ยอมเพราะรู้สึกว่าดึก อ้างว่าข้าพเจ้าก็สามารถกลับได้เอง อาร์โนลด์ตกลง ก่อนรถ ‘แท๊กซี่’ ของข้าพเจ้าจะออก เขาพูดว่า “ละครโรงใหญ่นะ บอบบี้ อย่าลืม!”

“ละครโรงใหญ่ อาร์โนลด์” ข้าพเจ้าตอบ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ