บทที่ ๘ เลดีมอยราดันน์และมาเรียเกรย์

“วิสูตร์” วันหนึ่ง ‘แด็ดดี’ พูดกับข้าพเจ้าในห้องนอน “ฉันรู้สึกว่าบางเวลาเธอหงอยมาก เพราะที่นี่เงียบไม่มีอะไรเสียเลย เธอเป็นสุขอยู่หรือ?”

“แด็ดดี” ข้าพเจ้าตอบด้วยความเบิกบาน “ฉันไม่เคยเป็นสุขยิ่งกว่านี้เลยในชีวิต ฉันอยากจะอยู่ที่นี่จนตาย ไม่อยากไปที่ไหนเลยเสียซ้ำ”

“เราได้จัดหาเพื่อนไว้ให้เธอสองคนแล้ว” แด็ดดีพูดและยิ้มน้อยๆ “เขาจะมาถึงวันพุธหน้าจากปารีส เธอยังหนุ่มน่าจะต้องการเด็กสาวๆ มาคุยด้วย, เต้นรำด้วย การที่มัวแต่หมกมุ่นกับคนแก่และเด็กไม่เดียงษาเช่นสเตเฟนี ถึงฉันเป็นเธอก็เบื่อตาย”

“แหม สเตเฟนีดีมากครับ แด็ดดี”

“ฉันรู้ แต่ว่าแกยังเป็นเด็กนัก”

“ใครจะมาวันพุธหน้า?” ข้าพเจ้าถาม.

“เลดีมอยราดันน์” แด็ดดีตอบ “แกเป็นผู้แทนคนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์ จะพาเพื่อนสาวของแกมาด้วยชื่อ มาเรียเกรย์ เป็นเลดีสืบข่าวของหนังสือพิมพ์นั้นเหมือนกัน”

“เลดีมอยราแก่หรือยังสาวครับ” ข้าพเจ้าถามอย่างสัพยอก.

“แกเป็นญาติสนิทคนหนึ่งของเรา อายุราว ๓๕” แด็ดดีตอบอย่างจริงจัง “แต่เพื่อนของแกสาว และแกสัญญาว่าจะทำให้เธอสนุกได้พักหนึ่งในระหว่างที่แกกับมาเรียมาพักอยู่ที่นี่”

“จะมาพักอยู่นานไหมครับ?”

“พวกหนังสือพิมพ์อย่างนี้เขาจะพักกับเรานานไม่ได้ดอก” แด็ดดีตอบพลางจุดบุหรี่ซีการ์ขึ้นสูบ” เขาต้องเที่ยวไป ทำงานมาก แต่จะมาอยู่กับเราอย่างน้อยอาทิตย์หนึ่ง เป็นการฮอลลิเดย์”

ทันใดนั้นมีเสียงคนเคาะประตู ข้าพเจ้าถามไปว่าใคร.

“แม่เองแหละ วิสูตร์” เสียงตอบ.

“เชิญซีครับ แม่” ข้าพเจ้ากล่าว.

มิสซิสแอนดรูจูงหนูสเตเฟนีเข้ามา.

“เบอร์ตี” หล่อนถามสามี “เธอถ้าจะบอกวิสูตร์หมดแล้วกะมังเรื่องมอยรา”

“จ้ะ เอลซี” สามีว่า “และวิสูตร์ดูเป็นสุขขึ้นมาก”

“เลดีมอยรา ขี่ม้าเก่ง เล่นกอลฟเก่ง และเขียนหนังสือเก่ง วิสูตร์” แม่พูดกับข้าพเจ้า “เธอคงชอบแกเป็นแน่ เพราะแกเป็นคนที่น่าสนใจ นอกจากนั้นแกยังมีเพื่อนสาวมาด้วยคนหนึ่ง แต่ระวังนะ ลูกรัก เธออย่าไปรักเพื่อนมอยราเข้า ประเดี๋ยวเธอจะลืมเราเสียหมด และตามเขาไป”

“เพื่อนเลดีมอยราสวยมากหรือครับ แม่?” ข้าพเจ้าถาม.

“เรายังไม่เคยเห็นเขาเลยในชีวิต” แม่ตอบ “แต่มอยราบอกว่าสวย กระบวนเลดีส่งข่าวของหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์กันแล้ว นับว่ามาเรียเป็นคนสวยที่สุดคนหนึ่ง”

“แต่เขาจะมาอยู่เพียงอาทิตย์เดียวเท่านั้น-” ข้าพเจ้าพูดเป็นเชิงเศร้า.

“เธออาจพบเขาได้ในลอนดอนเวลาเธอไปอยู่มหาวิทยาลัยหรือไปเรียนกฎหมาย” แม่ตอบ “เธอควรจะตีเกลอเป็นเพื่อนกับเขาไว้ แต่อย่าไปรักเขาเข้านะ แม่ขอเตือนไว้ก่อน”

ตั้งแต่เช้าวันนั้นมา ข้าพเจ้าเฝ้าแต่นึกไปว่าวันพุธหน้ามาเรียเกรย์ และ เลดีมอยราดันน์จะมาพัก ทำให้ข้าพเจ้าสนุกที่ ‘กะท่อมนางพญา’ หล่อนจะเป็นหญิงสาวสองคนแรกที่ข้าพเจ้าจะได้มีโอกาสรู้จักชอบพอ แต่รอไป --- รอไป วันพุธหน้าก็ช่างมาถึงช้าเสียเหลือเกิน.

เช้าวันพุธ ข้าพเจ้าถูกเรียกให้ไปช่วยจัดห้องให้สตรีทั้งสองคนที่จะมาเยี่ยมนั้นอยู่ ‘กะท่อมนางพญา’ เป็นบ้านเล็กมีห้องนอนแต่เพียงสองสามห้องเท่านั้น ห้องหนึ่งซึ่งใหญ่กว่าห้องอื่นเป็นของแม่และสเตเฟนี อีกห้องหนึ่งเป็นของแด็ดดี และห้องเล็กที่สุดเป็นของข้าพเจ้า เมื่อเลดีมอยราดันน์และมิสมาเรียเกรย์จะมาอยู่ด้วย แม่และสเตเฟนีจึงต้องไปอยู่กับแด็ดดีในห้องเดียวกัน เหลือห้องของแกไว้สำหรับแขกที่จะมา เราช่วยกันจัดเสียหรู เวลา ๑๑ นาฬิกาก็จะมาถึงกันแล้ว.

วันนั้นเป็นวันที่ใกล้ฤดูหนาวอยู่เต็มที ตามถนนมีหมอกตกอยู่ทั่ว เวลาเรานั่งรถเก๋งปิดไปรับที่สถานียังรู้สึกหนาว เรารออยู่ที่สถานีราว ๒๐ นาฑีรถก็มาถึง.

“น้า -- น้าจ๋า!” เป็นเสียงสตรีคนหนึ่งร้องมาจากหน้าต่างรถไฟ.

ทันใดนั้น มิสซิสแอนดรูก็ตอบไปว่า “มอยรา ยอดรัก” ครั้นแล้วก็วิ่งไปขึ้นรถไฟที่หลานสาวของหล่อนอยู่ ข้าพเจ้าเห็นสตรีทั้งสองจูบกันแล้วก็ลงจากรถ มีสตรีสาวอีกคนหนึ่งเดิรติดหลังมาด้วย.

“แฮลโหล นายร้อยเอกแอนดรูที่รัก สบายดีหรือจ้ะ?” เลดีมอยราพูดอย่างร่าเริง แล้วยื่นมือให้นายร้อยเอกแอนดรูจับ.

“มอยรา” ‘แด็ดดี’ พูดเป็นเชิงเตือน “อย่าลืมว่าเธอจะต้องเรียกฉันแต่เพียงเบอร์ตีเท่านั้น ฉันไม่ได้ชื่อนายร้อยเอกแอนดรูสำหรับเธอ”

“ได้ซี เบอร์ตี” เลดีมอยรากล่าวรับรอง.

“มอยรา” มิสซิสแอนดรูแนะนำข้าพเจ้า “นี่ลูกของเราที่เราเขียนเล่าไปให้เธอเสมอ”

เลดีมอยรากับข้าพเจ้าสัมผัสส์มือกันอย่างชื่นชม แม้ว่าจะเห็นหน้าหล่อนไม่ได้ถนัดเพราะมีหมวกรัดอยู่โดยรอบศีรษะ ปีกหมวกปกลงมาเกือบถึงตา ข้าพเจ้าก็อาจสามารถพยากรณ์ได้ถูกว่า เลดีมอยราเป็นคนสวย หล่อนมีดวงพักตร์อันขาวเป็นนวล เนตรดำคม.

“แหม มิสเตอร์วิสูตร์” หล่อนกล่าวด้วยกิริยาอันน่ารักในขณะที่เรายังจับมือกันอยู่ “น้าเอลซี เขียนจดหมายถึงฉัน เล่าถึงเรื่องเธอเสียมากมาย จนแม้ว่าจะไม่เคยเห็นเธอมาก่อนเลย ฉันก็อาจฝันได้ถูกว่าเธอมีหน้าตาและรูปร่างเป็นอย่างไร ฉันรู้จักเธอ วาดรูปเธอได้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน เชื่อไหมจ้ะ?”

ข้าพเจ้าจ้องดูเลดีมอยราดันน์ด้วยความปลื้มปิติ แต่มิได้ตอบหล่อนประการใด สักครู่หล่อนก็แนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักกับเพื่อนของหล่อน “นี่เธอจะต้องรู้จักเพื่อนของฉัน-และจะเป็นเพื่อนของเธอด้วย-มิสมาเรียเกรย์” หันไปทางสตรีที่กล่าวนาม “มาเรียที่รัก นี่มิสเตอร์วิสูตร์”

มาเรียเกรย์และข้าพเจ้าสัมผัสส์มือกันด้วยความยินดี หล่อนไม่ได้สวมหมวกชะนิดใดทั้งสิ้น เพราะหล่อนไว้ผมยาวเกล้ามวยไว้ เบื้องหลังแสกกลางหวีไว้เสียเรียบ แน่ทีเดียว แม้หล่อนออกจะท้วมไปสักหน่อย มาเรียก็ต้องจัดว่าเป็นคนสวย มีเสน่ห์ ตาของหล่อนดำโต มีแววงาม จมูกโด่งกว่าธรรมดาเล็กน้อย ผิวพรรณสดชื่น แต่งตัวเรียบร้อย ในระหว่างที่จับมือกัน มาเรียจ้องดูข้าพเจ้าพลางก็ยิ้มอยู่น้อยๆ แต่มิได้พูดประการใด หลังจากเลดีมอยราได้แนะนำเพื่อนหล่อนให้รู้จักพวกเราทั่วกันแล้วสักครู่ ก็พากันมาขึ้นรถอ๊อสตินเก๋งของเรา ขับมุ่งตรงไปยัง ‘กะท่อมนางพญา’

สำหรับเราทั้งหมดด้วยกัน รถเก๋งนั้นแคบ นายร้อยเอกแอนดรูและสเตเฟนีต้องไปนั่งข้างหน้ากับคนขับ มิสซิสแอนดรูกับเลดีมอยรานั่งทางพะนักข้างหลัง ข้าพเจ้ากับมาเรียเกรย์นั่งทางที่นั่งเล็กตรงข้าม.

ในระหว่างที่รถกำลังแล่นอยู่นั้น สังเกตเห็นเลดีมอยราลอบชำเลืองดูข้าพเจ้าบ่อยๆ ในที่สุดก็ถามว่า “เธอชอบอากาศหนาวเมืองเราไหมจ๊ะ มิสเตอร์วิสูตร์ เมืองเธอร้อน เธอถ้าจะไม่ค่อยชอบกะมัง”

“อากาศอย่างนี้ไม่สู้หนาว ฉันชอบ” ข้าพเจ้าตอบอย่างติดตะกุกตะกัก.

“ฉันไม่นึกว่าเธอจะชอบเมื่อถึงหน้าหนาวเข้าจริงๆ นี่ก็จวนเต็มทีแล้ว” เลดีมอยราพูดเรื่อยๆ “หน้าหนาวเมืองเราร้ายกาจเหลือเกิน มีแต่ฝน หมอก และหิมะ ไปไหนก็ลำบากและเป็นหวัดกันอย่างร้ายทีเดียว ที่ลอนดอนยิ่งร้ายใหญ่ แต่สำหรับเบ็กสฮิลล์ค่อยยังชั่ว”

“ฉันเตรียมตัวไว้พร้อมเหมือนกันสำหรับหน้าหนาว” ข้าพเจ้าพูด.

“เธอจะเรียนอะไร?” หล่อนถาม.

“ตั้งใจจะเรียนกฎหมายที่ลอนดอนปีหน้า” ข้าพเจ้าตอบ.

“กฎหมาย-“ หล่อนย้ำคำ “เธอชอบเป็นหมอความหรือ? หมอความต้องเป็นคนพูดเก่ง นี่เธอไม่เห็นพูดอะไรเลย หรืออาชีพกฎหมายในประเทศสยามหาเงินได้ง่าย ไม่มีการแข่งขันกันมากนักกะมัง?”

“เปล่า” ข้าพเจ้าตอบ “การอาชีพนี้ในเมืองไทยมีการแข่งขันกันมากเหมือนกัน เมืองไทยมีเนติบัณฑิตมาก และหากินลำบาก แต่การมาเรียนกฎหมายที่นี่ก็เพราะว่าใช้เวลาน้อยและเรียนได้เร็ว”

“ฉันไม่เห็นอาชีพกฎหมายดีตรงไหนเลย” เลดีมอยราพูดอย่างมั่นใจ “เราจะเป็นคนอย่างเซอร์เอ็ดเวิรดมาเชลฮอลล์ หรือเซอร์เอลิสฮูมส์วิลเลียมได้ยากที่สุด อีกประการหนึ่งฉันยังไม่เห็นกฎหมายมีความยุตติธรรมที่ตรงไหน คิดดูซี จะชะนะความทุกคดีได้ก็ต้อง เกียรติยศ เงิน และหมอความที่ดีเท่านั้น ใครมีเงินจ้างหมอความดีๆ ได้ ก็ชะนะความอย่างไม่มีปัญหา แม้ว่าผู้นั้นจะระยำเพียงไร ถ้าตนไปทำความผิดอะไรที่ร้ายแรงเสียเหลือเกินจนโลกย่อมรู้อยู่ซึ่งหน้า ถึงศาลจะเห็นว่าตนมีความผิดก็ได้รับโทษแต่เพียงเล็กน้อย ไม่สมกับความผิดที่ได้กระทำมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะหมอความที่ดี โอ ฉันอาจยกตัวอย่างให้เธอเห็นได้หลายเรื่อง”

ข้าพเจ้ามิได้ตอบประการใดจนรถผ่านภัตตาคารเซวิลล์ เลี้ยวถนนมิดเดิลเสกส์ถึง ‘กะท่อมนางพญา’

ขณะที่มิสซิสแอนดรูพาแขกทั้งสองไปห้องที่ได้จัดไว้ข้างบน ข้าพเจ้าอยู่กับนายร้อยเอกแอนดรู ในห้องนั่งเล่นข้างล่าง.

“ยังไร มาเรียเกรย์สวยไหม วิสูตร์?” แด็ดดีถาม.

“สวยมากทีเดียว แด็ดดี” ข้าพเจ้าตอบ “แต่หน้าตาแกดูไม่ใช่อังกฤษเลย”

“มาเรียเกรย์มีแม่เป็นอิตาเลียน และมอยราบอกว่าหน้าเขาเหมือนกับแม่เมื่อยังสาวไม่มีผิด ชอบเลดีมอยราไหมเล่า?”

“ชอบครับ แกเป็นคนช่างพูดดี”

เมื่อแม่พวกผู้หญิงแต่งตัวเสร็จแล้ว ต่างก็ลงมาคุยกับเรา.

เลดีมอยราเมื่อถอดหมวกออกแล้ว ดูไม่สู้จะสวยเหมือนอย่างเมื่อสวมหมวก ผมซึ่งตัดชิงเกิลไว้นั้นมีสีค่อนข้างซีดและดูไม่รับกับสีเนตรและผิวหน้าเท่าใดนัก ถ้าจะประมาณอย่างหยาบๆ คาดว่าเลดีมอยรามีอายุราวสามสิบปีเศษ สูง ค่อนข้างผอม มีกิริยาท่าทางเป็นสง่า เป็นผู้ที่เคยท่องเที่ยวมาแล้วตามประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก เป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์ และมีความรู้ในเชิงอักษรศาสตร์และการเมืองของโลกมาก.

ส่วนมาเรียเกรย์ หล่อนยังเป็นเด็กมีอายุเพียงยี่สิบหรือยี่สิบเอ็ดเท่านั้น เป็นคนในวงชีวิตใหม่ของพวกหนังสือพิมพ์ ในขณะที่เลดีมอยราพูดถึงอะไรต่างๆ ที่ได้ไปพบไปเห็นมา หล่อนฟังด้วยความสนใจที่สุด นานๆ เมื่อเกิดความสงสัยอะไรขึ้นก็ถามเสียที.

“ทำไมเธอไม่ลองเรียนวิชชาหนังสือพิมพ์ดูบ้าง มิสเตอร์วิสูตร์” เลดีมอยราถาม “สนุกดีนะ และเธออาจได้ไปเห็นสิ่งต่างๆ ที่คนธรรมดาไม่มีโอกาสได้เห็นเลย เธอก็พูดภาษาอังกฤษได้ดี เขียนหนังสือเก่งหรือเปล่า?”

“วิสูตร์ชอบเขียนอะไรสั้นๆ แต่งอะไรเล็กๆ น้อยๆ ได้ดีมาก” นายร้อยเอกแอนดรูตอบเป็นการให้เกียรติยศแก่ข้าพเจ้า.

“ยังงั้นเหมาะทีเดียว” เลดีมอยรากล่าวด้วยสำเนียงอันแน่นแฟ้น “เธอควรจะหาทางไปเข้าสมาคมหนังสือพิมพ์ที่กรุงลอนดอน เขาเรียกกันว่า สโมสรหนังสือพิมพ์ (Press Club) ที่เฮย์มาร์เก็ต เมื่อเข้าเป็นสมาชิกที่นั่นแล้ว ก็เลยสมัครเข้าเป็นผู้ส่งข่าวหนังสือพิมพ์อะไรดีๆ ฉะบับหนึ่ง หนังสือพิมพ์ที่เราทำอยู่ก็น่าจะได้ ฉันจะช่วย” เลดีมอยราหยุดสักครู่แล้วพูดต่อไปว่า “จริงนะ มิสเตอร์วิสูตร์ เธอจะรู้สึกสนุกมากทีเดียวในการที่จะต้องท่องเที่ยวไปทั่วทิศานุทิศ สืบเอาเรื่องราวมาให้หนังสือพิมพ์ เรามีโอกาสที่จะได้ไป อเมริกา ญี่ปุ่น จีนและที่ไหนทั่วโลก เมื่อเธอทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข่าวดี สามารถจนเป็นที่ไว้ใจแล้ว ก็จะได้เลื่อนเป็นผู้แทนคนหนึ่ง มีเงินเดือนกินทุกเดือน ไม่ต้องร้อนใจ”

“ทำไมจึงอยากให้ฉันเป็นพวกหนังสือพิมพ์นัก?” ข้าพเจ้าถาม.

“ที่เมืองไทยมีใครที่มีชื่อเสียงในเชิงหนังสือพิมพ์บ้างเล่า?” เลดีมอยราย้อนถาม.

“ไม่มี เพราะฐานะของหนังสือพิมพ์เมืองไทยต่ำมาก และเขาไม่ถือว่าหนังสือพิมพ์เป็นอาชีพอะไร พวกส่งข่าวหนังสือพิมพ์ที่นั่นมีเงินเดือนอย่างมากคนละ ๓ ปอนด์เท่านั้น”

“ที่ในประเทศเรา” เลดีมอยราอธิบาย “ในสมัยเมื่อสิบปีเศษมานี้ต่างก็พากันเห็นพวกหนังสือพิมพ์ไม่ใช่คนเหมือนกัน ลอร์ดนอร์ทคลีฟท์เป็นผู้มีคุณคนแรกที่ช่วยบำรุงฐานะพวกเราให้เป็นอยู่ดังเช่นทุกวันนี้ ฉันเคยนึกว่าสยามเป็นประเทศที่มีหนังสือพิมพ์ดีๆ เพื่อเป็นปากเสียงของประชาชนและของรัฐบาล เพราะสยามสามารถจะปกครองตนเองได้อย่างน่าชมเชย ผิดกับพะม่า อินเดีย หรือเขมร”

“การที่เราสามารถปกครองตัวได้เอง” ข้าพเจ้าชี้แจง “เกี่ยวกับความสามารถของเราทางอื่น ไม่ใช่ทางหนังสือพิมพ์”

“ที่เมืองเล็กๆ ทางสแกนดีเนเวีย มีพลเมืองกันประเทศละเพียงห้าหกล้านคนเท่านั้น ก็ยังสามารถบำรุงฐานะของหนังสือพิมพ์ได้ดี เมืองไทยมีพลเมืองเท่าไร?”

“มีเก้าล้านเศษ” ข้าพเจ้าตอบ “แต่จะเปรียบเมืองไทยกับประเทศสแกนดีเนเวียเห็นจะยาก เพราะเราพึ่งจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นหวังจะให้เป็นประเทศสมัยใหม่จริงๆ เมื่อครั้งพระรามาธิบดีที่ ๕ เท่านั้น แม้ว่าพระราชาที่รักของเราพระองค์นั้น จะได้ทรงจัดทำอะไรสำหรับประเทศมามาก เราก็ยังไม่มีเวลาและไม่มีเงินพอที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้เรียบร้อยได้ทัน เราจนมากนะครับ เลดีมอยรา ถ้าเรามัวแต่จะไปบำรุงการศึกษาและหนังสือพิมพ์อย่างเดียว สิ่งอื่นที่สำคัญเหมือนกันก็จะดำเนิรไปไม่ไหว”

ทันใดนั้น เราได้ยินเสียงระฆังตีบอกเวลารับประทานอาหารกลางวัน.

“ฉันไม่เคยไปเมืองไทย และไม่เคยสนใจถึงเรื่องเมืองไทยพอที่จะพูดกับเธอได้ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อหนังสือพิมพืที่ดียังไม่มีในประเทศสยาม ฉันยิ่งเห็นควรใหญ่ที่เธอจะต้องเรียนวิชชาหนังสือพิมพ์ เป็นลอร์ดนอร์ทคลีฟท์เมืองไทย” หล่อนชะม้อยตาน้อยๆ เป็นเชิงสัพยอก แล้วหันไปทางมิสซิสแอนดรูถามว่า “นั่นเสียงระฆังกินเข้าไม่ใช่หรือ น้าจ๋า? ฉันหิวจัง”

เราต่างเดิรเข้าไปในห้องรับประทานอาหาร.

“เลดีมอยรา” ข้าพเจ้าถามขณะที่นั่งรับประทานอาหารกันอยู่ “ผู้ส่งข่าวและผู้แทนหนังสือพิมพ์มีหน้าที่อะไรบ้าง? เขาจะต้องมีสุภาษิตสอนใจอะไรพิเศษสักบทหนึ่งหรือเปล่า?”

เลดีมอยราหยุดคิดอยู่สักครู่แล้วตอบว่า: “พลเมืองดีมีใจจงรักและมีความคิดที่ดีสำหรับประเทศเพียงไร พวกหนังสือพิมพ์ก็ต้องจงรักและมีความคิดที่ดีสำหรับหนังสือพิมพ์ของตนเพียงนั้น หนังสือพิมพ์และประเทศเป็นอันเดียวกัน ผู้ที่จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้ดีจนมีชื่อเสียงนั้นจะต้องเป็นคนไม่รักชาติก็เกลียดชาติอย่างแรง แต่-เธอต้องเข้าใจนะ-มิสเตอร์วิสูตร์-ว่าคนที่เราเรียกว่าคนเกลียดชาตินั้นอาจเป็นแต่เพียงความเห็นของเราหรือส่วนบุทคล เจ้าตัวเองอาจนึกว่าเขารักชาติ......รักอย่างที่เรียกกันว่าอัตตโนมัติ.

“ทุกอย่างที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์” หล่อนอธิบายต่อไป “เป็นความคิด ความเห็น ความรู้สึก ความรักหรือความเกลียดชาติของผู้เขียน นักหนังสือพิมพ์จะคิดอย่างหนึ่งแล้วเขียนอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ แม้จะทำได้ก็ไม่สมัคร ก่อนที่ใครจะไปสมัครเป็นนักหนังสือพิมพ์ จักต้องคิดเสียก่อนว่าตนมีความคิดอย่างไรสำหรับส่วนตัวบุทคล สำหรับประเทศและชาติ และสำหรับโลก ต้องรู้เสียก่อนจนมั่นใจว่าหนังสือพิมพ์ที่ตนเลือกไปเข้าพวกด้วยนั้นมี ‘เข็ม’ อย่างไร”

“แล้วสุภาษิตของพวกหนังสือพิมพ์เล่า--?” ข้าพเจ้าถาม.

“แม้ว่าจะต้องรักษาระเบียบอยู่เสมอ” เลดีมอยราตอบ “และจะต้องรู้สึกว่ามีสิ่งต่างๆ มาบังคับความคิดและความเป็นอยู่ของตนเสมอก็ดี ถึงกระนั้นพวกหนังสือพิมพ์ก็ยังรู้สึกอยู่ในใจว่าตนเป็นอิสสร เป็นสุข......เป็นอิสสรจริงๆ เพราะฉะนั้นสุภาษิตของพวกหนังสือพิมพ์จึงมีอยู่ว่า ความมีอิสสรเกิดเพราะการรักษาระเบียบอย่างเคร่งครัด --- ระเบียบของ ‘เข็ม’ แห่งหนังสือพิมพ์ที่ตนทำงานอยู่ด้วย และระเบียบความเป็นอยู่ของประเทศ”

“พวกหนังสือพิมพ์ได้เงินเพียงพอหรือ?”

“นั่นแล้วแต่ความสามารถเป็นส่วนบุทคล สำหรับคนหัวดี อาชีพทางหนังสือพิมพ์เป็นอาชีพที่ได้เงินมากที่สุดในโลกนี้ อาร์ติเกิลอันหนึ่งเธออาจได้ตั้ง ๕๐๐ ปอนด์ ยิ่งถ้าเธอเคยทำชื่อเสียงมาแล้ว เงินที่เธอจะได้ในเชิงเขียนนั้นไม่มีจำนวนสิ้นสุดได้ ยิ่งกว่านั้นนักหนังสือพิมพ์สามารถจะเขียนเรื่องอ่านเล่นได้แทบทุกคน เพราะได้เคยไปเที่ยวและได้เห็นสิ่งต่างๆ มาแล้วโดยกว้างขวาง ฉะนั้นนอกจากจะหากินทางขีดเขียนให้หนังสือพิมพ์แล้ว ถ้ามีเวลาว่างยังเขียนเรื่องอ่านเล่นขายได้ด้วย”

“เรียนวิชชาหนังสือพิมพ์ซี วิสูตร์” มิสซิสแอนดรูเสริม “สนุกกว่าเรียนกฎหมายมาก และเธออาจเป็นคนแรกที่จะตั้งหนังสือพิมพ์ถาวรขึ้นในประเทศสยาม”

“เรียนวิชชาหนังสือพิมพ์ซี มิสเตอร์วิสูตร์” มาเรียเกรย์ผู้ที่นั่งอยู่ข้างข้าพเจ้ากล่าวขึ้น “จะได้ไปอยู่กับพวกเราที่ฟลีตสตรีต”

“มีเหตุผลหลายประการที่ฉันจะเรียนวิชชาหนังสือพิมพ์ไม่ได้” ข้าพเจ้าตอบ “วิชชาหนังสือพิมพ์ไม่มีขีดขั้นว่าจะเรียนจบได้เมื่อไร ไม่มีดีกรีจะให้ สำหรับเมืองไทยผู้ที่ไปเมืองนอกมาแล้วและไม่มีดีกรีกลับมา น้อยหน้าผู้อื่นมากนัก เขาหาว่ามาเหลวไหลอยู่ที่นี่ กลับไปมือเปล่า ไม่ได้อะไรกลับไปด้วยเลย แม้จะหางานทำได้บ้าง เงินเดือนที่จะได้รับก็แร้นแค้นนัก เกือบไม่พอที่จะเลี้ยงชีวิตให้รอดไปได้วันหนึ่งๆ ใครเล่าเขาจะมาเชื่อความสามารถของเรา”

“งั้นเธอก็ไปอยู่มหาวิทยาลัยอ๊อกสฟอร์ดหรือเคมบริดชเสียก่อนเป็นไร เมื่อได้ดีกรีแล้วจึงค่อยมาเรียนวิชชาหนังสือพิมพ์” เลดีมอยราแย้ง “พอกลับไปบ้านเธอก็ควรจัดสร้างหนังสือพิมพ์ขึ้นฉะบับหนึ่งให้คนเห็นว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดีมีประโยชน์แก่ประเทศเพียงไร ฉันเชื่อแน่ว่าเธอเป็นคนมั่งมีพอที่จะทำเช่นนั้นได้ มิสเตอร์วิสูตร์”

“เราจะเคราะห์ดีไปด้วยกันทุกคนไม่ได้ เลดีมอยรา” ข้าพเจ้าตอบช้าๆ “ฉันไม่มีเงินพอที่จะไปอ๊อกฟอร์ดหรือเคมปบริดช ไม่มีเงินพอที่จะไปตั้งโรงพิมพ์ที่เมืองไทย ฉันไม่มีเงิน แต่ไม่รู้สึกเสียใจเลยแม้แต่น้อย ฉันมีอายุได้ ๒๓ ปีเข้าปีนี้ และฉันได้อยู่ในโลกนานพอที่จะไม่เสียใจในสิ่งที่ฉันไม่มีและไม่ได้รับ”

“เธอมีความรู้สึกดีเหลือเกิน” เลดีมอยราพูดอย่างหมดหวัง.

พอพูดจบข้าพเจ้าก็เหลียวไปดูมาเรียเกรย์ เห็นหล่อนกำลังจ้องดูข้าพเจ้าด้วยแววเนตรอันงาม เป็นเครื่องแสดงอยู่โดยชัดเจนแล้วว่าหล่อนพอใจในความไม่ปิดบังฐานะอันแท้จริงของข้าพเจ้า.

“ในระหว่างที่มิสเตอร์วิสูตร์กำลังพูดอยู่” หล่อนกล่าวกับมิสซิสแอนดรู “ดิฉันไม่นึกเลยว่าเธอเป็นคนไทย ดิฉันนึกว่าเธอเป็นชาวอังกฤษตลอดเวลา นอกจากรูปร่างและดวงหน้าแล้ว ดิฉันไม่เห็นมีอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนไทย มิสซิสแอนดรู ก็เมื่อมิสเตอร์วิสูตร์เป็น ‘ลูก’ เธอแล้ว ทำไมไม่หาชื่ออังกฤษอะไรให้เธอเสียชื่อหนึ่งเล่า จะได้เรียกกันได้ง่ายๆ”

“เออ เราจะเรียกวิสูตร์ว่าอย่างไรดี” มิสซิสแอนดรูกล่าวหารือ.

“ดิฉันมีพี่ชายอยู่คนหนึ่งที่ตายในสงคราม” มาเรียเกรย์แนะนำ “เขาเป็นคนที่ดีที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมาในโลก”

“เขาชื่ออะไร?” แม่ถาม.

“ชื่อ บอบบี้” มาเรียตอบ.

“งั้นเราจะเรียกวิสูตร์ว่า ‘บอบบี้’ ตกลงไหม?” แม่ถาม.

“เอาซีคะ ดีแล้ว” หล่อนตอบแล้วชำเลืองตามาทางข้าพเจ้า.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ