บทที่ ๒ ประดิษฐ์ บุญญารัตน์

ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ข้าพเจ้าได้ชื่อว่าเป็นเด็กเกเร หัวไม้ ใจบึกบึน หัวเรือใหญ่ ชอบการออกกำลังกายและการเกะกะเกเรต่างๆ ทุกชะนิด ไม่ว่าโรงเรียนจะมีการแข่งขันชะนิดใด ข้าพเจ้าเป็นต้องมีส่วนอยู่ด้วยทุกครั้ง ที่หลังโรงเรียนหรือในบริเวณวัดเทพฯ ถ้าเกิดการต่อยตีกันระหว่างนักเรียนเมื่อใด น้อยเมื่อนักที่ข้าพเจ้าจะไม่เป็นผู้รู้เห็นหรือลงมือเสียเอง บางทีก็มีชัย บางทีก็เลือดตกกลับบ้าน ตามแต่โชคและกำลังจะอำนวย.

เวลานั้นข้าพเจ้ามีอายุได้ ๑๗ ปี มีร่างกายล่ำสันพอตัว และเมื่อมีนิสสัยชอบสนุกชอบเจ็บ ข้าพเจ้าจึงเป็นที่คุ้นเคยรู้จักของนักเรียนหมู่มาก ส่วนการเล่าเรียน ข้าพเจ้าเกลียดคร้านในระหว่างเรียนและขยันที่สุดในเวลาสองสามวันก่อนสอบไล่หรือสอบซ้อมใหญ่ ดังนั้นพอเสร็จการสอบ ข้าพเจ้าก็ได้หมายพอดีที่จะเลื่อนชั้นไปชั้นหนึ่ง ไม่ได้ดีเกินกว่านั้นไปเลย ในที่นี้เห็นจำเป็นต้องแถลงให้ท่านทราบว่าทำไมข้าพเจ้าจึงเป็นเด็กเกเรและขี้เกียจที่โรงเรียน ข้าพเจ้ามีเหตุผล

ได้กล่าวมาแล้วว่าข้าพเจ้าเป็นเด็กเจ้าคิด มีเรื่องอะไรเล็กน้อยก็เก็บเอามาเป็นอารมณ์ เอามาคิดฝันสร้างวิมานบนอากาศ ยิ่งเมื่อมามีเรื่องชอกช้ำระกำใจที่บ้านบ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้คิดใหญ่คิดโต คิด-คิด-คิดจนกลุ้ม ในที่สุดก็รู้สึกท้อ เห็นชีวิตเป็นของไม่มีค่า เมื่อรู้ตัวว่าตนเองไม่มีประโยชน์แล้ว จะมานั่งประคบประหงมตัวให้ดำรงชีพอยู่ในโลกอันไร้ความยุตติธรรมนี้ทำไมเล่า ข้าพเจ้ารู้สึกเบื่อในสิ่งต่างๆ ที่เห็นอยู่รอบข้าง รู้สึกเบื่อตัวเอง และเคยนึกบ่อยๆ ว่าเมื่อไรจะมีใครเกลียดชังข้าพเจ้าพอที่จะเอาปืนมาประหารข้าพเจ้าเสียปังหนึ่งให้ศูนย์สิ้นพ้นทุกข์พ้นร้อนไป เมื่อไรจะมีใครเอากำปั้นอันหนักและแน่นมาใส่เข้าตามย่านคางหรือที่ใดที่หนึ่งที่สำคัญอย่างเต็มรักหรือเต็มเกลียด ซึ่งจะทำให้ข้าพเจ้าหลับนิ่งไปได้ชั่วกาลปาวสาน นั่นแหละจะเป็นปลายทางแห่งความวิบากทั้งหลายแหล่ที่ข้าพเจ้าได้ดำเนิรมาแล้วและยังคงดำเนิรอยู่ในเวลานั้น โอท่านสหายที่รัก ถ้าท่านได้รู้จักข้าพเจ้าเวลานั้น ข้าพเจ้าไม่อาจพยากรณ์ได้เลยว่าท่านจะรู้สึกขยะแขยงในบุรุษผู้มีนามว่า วิสูตร์ ศุภลักษณ์ ณอยุธยา สักเพียงไหน !

ความอยุตติธรรมที่ตื้นแลเห็นได้ชัดๆ หรือความไม่เสมอหน้า มีผลร้ายเช่นเดียวกับหญิงแพศยาอันคอยแต่จะนำชายที่เคยมาเกี่ยวข้องกับหล่อนให้ตรงไปยังอบายมุขชั้นที่สุด ซึ่งจะมีอยู่กี่ชั้นก็ตาม สำหรับเมืองไทย ข้าพเจ้าเห็นและเชื่อมั่นว่าสตรีของเราโดยมากเป็นดาราคู่ชีพอันแท้จริงของชาย หล่อนมีความยำเกรงเชื่อมั่นในบุรุษผู้เป็นของหล่อน หล่อนรัก หล่อนซื่อสัตย์และอ่อนหวาน แม้เมื่อสามีของหล่อนไปทำหยำเปเลอะเทอะเข้าเมื่อใด หล่อนก็ได้แต่นั่งร้องไห้รอผลสุดท้ายอันจะเกิดขึ้นในที่สุด คงรักเขาอยู่เช่นเคยและเตรียมพร้อมที่จะให้อภัยแม้ว่าเขาจะเลวทรามสำหรับหล่อนสักเพียงใดก็ตาม หล่อนเกิดมาสำหรับเป็นฝ่ายทนทุกข์เสียเปรียบไปโดยไม่พยายามที่จะมีปากมีเสียง นี่คือสตรีไทยที่ข้าพเจ้าเคยเห็น เคยรู้จัก เคยรักมาตั้งแต่ยังเยาว์จนทุกวันนี้ แต่สำหรับสตรีชาวยุโรปหรืออเมริกันนั้นอีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เคยพบเห็นและสังเกตมามาก ซึ่งจะเล่าให้ท่านฟังในเมื่อถึงโอกาสอันควร

เมื่อข้าพเจ้าอยู่โรงเรียนไม่เคยนึกเอาเสียเลยว่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ดีหรือเลวเพียงไหน ไม่เคยนึกว่าข้าพเจ้ามีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ด้วยเพียงไร ข้าพเจ้าเป็นคนใจแคบ รักตัว มาเดี๋ยวนี้เมื่อความเป็นผู้ใหญ่ได้มาครอบงำอิริยาบถอยู่ จึงสามารถที่จะตกลงใจได้ว่าโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในประเทศสยาม เมื่อมาคำนึงนึกถึงโรงเรียนในสมัยนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจะอดชมเชยเสียไม่ได้เป็นอันขาด โรงเรียนได้พยายามจนสุดความสามารถที่จะให้วิชชาและความสุขแก่นักเรียนให้มากที่สุดตามที่จะเป็นไปได้ ความเห็นแต่ได้เป็นส่วนตัวระหว่างครูแม้จะมีอยู่บ้างก็คงจะมีน้อยเต็มที ฝึกสอนให้เด็กเป็นคนมีใจโอบอ้อมอารี รู้จักว่าจะกระทำตนอย่างไรในเมื่อตนแพ้หรือชะนะในการกีฬาแข่งขันกับโรงเรียนอื่น ทำให้นักเรียนเป็นลูกผู้ชาย สุภาพบุรุษสำหรับเมืองไทย นี่คือจรรยาอันสำคัญที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้กระทำจนเป็นผลสำเร็จมาแล้วเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะพูดกันตามจริง โรงเรียนต่างๆ ในโลกควรจะเป็นเช่นโรงเรียนเทพศิรินทร์ทั้งสิ้น แต่ตามที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ บางโรงเรียนยังหาได้เป็นไปตามกฎธรรมดาที่ได้กล่าวมาแล้วไม่ใช่หรือท่าน.

ประวัติการในโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นส่วนสำคัญตอนหนึ่งของเรื่องนี้ ท่านจะต้องอ่านให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตข้าพเจ้าโดยถ่องแท้ ทางเดิรแห่งชีวิตข้าพเจ้ามีแต่ความมืดมนท์อนธการร้อยแปด และโรงเรียนเทพศิรินทร์คือแสงสว่างน้อยๆ ดวงแรกที่ข้าพเจ้าเห็น ความเป็นอยู่ในโรงเรียนและพวกเพื่อนๆ ที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยชอบพอ เป็นยาย้อมนิสสัยอันสำคัญขนานหนึ่งซึ่งทำให้นิสสัยอันแข็งกระด้างและหัวใจของข้าพเจ้าอันเหี้ยมโหดต่อโลก อ่อนโยนลงได้บ้าง.

ประดิษฐ์ บุญญารัตน์ เป็นเด็กมีรูปโฉมสง่างาม แต่งตัวเรียบร้อยเสมอ แม้จะมีอายุเพียง ๑๗ ปีก็เป็นคนมีรูปร่างโต นิสสัยเป็นผู้ใหญ่ ชอบทำงาน เล่าเรียนเก่ง เงียบหงอยไม่ค่อยพูดค่อยจากับใคร เมื่อพูดก็พูดแต่สิ่งที่เป็นแก่นสารเกี่ยวแก่วิชชาความรู้โดยมาก ประดิษฐ์ไม่เคยเยี่ยมเข้าไปในห้องกายกรรม ไม่เคยชกต่อยกับใคร ไม่เคยไปดูหรือไปเล่นฟุตบอลล์ที่ไหน กิจประจำวันของเขาก็คือมาเรียนตอนเช้า พอโรงเรียนเลิกก็เดิรไปขึ้นรถรางกลับบ้าน ไม่ไถลไปที่อื่น.

สำหรับประดิษฐ์และข้าพเจ้าซึ่งพึ่งมาเป็นนักเรียนร่วมชั้นกันยังไม่ทันสองสัปดาห์ ท่านจะเห็นได้โดยง่ายว่าเราอยู่กันคนละมุมโลก คนหนึ่งเป็นผ้าพับไว้ เป็นเด็กที่ผู้ใหญ่นิยมกันว่าดีและสุภาพ อีกคนหนึ่งเป็นเด็กเกเร เล่นหวัวอะไรก็ที่ไม่ดีงามและมีนิสสัยบึกบึนพยาบาท สำหรับคนเช่นประดิษฐ์ ข้าพเจ้าไม่เคยสนใจเลยว่าความเป็นอยู่ของเขาเป็นอย่างใด แม้ว่าจะได้นั่งห่างจากโต๊ะข้าพเจ้าเพียงหลากว่าๆ เท่านั้นก็จริง ข้าพเจ้าเกือบจะไม่รู้สึกว่ามีคนเช่นประดิษฐ์อยู่ในโลก ส่วนประดิษฐ์ดูเป็นคนเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของข้าพเจ้ามากพอใช้ ความเกเรและความไม่เกรงขามในผู้ใดทั้งสิ้นเป็นสิ่งที่เขาสนใจพยายามที่จะค้นคว้าต้นเงื่อนของอุปนิสสัยข้าพเจ้าอันนี้ เขาชอบสังเกตถึงการกระทำของข้าพเจ้าเสมอในห้องเรียน ไม่ว่าข้าพเจ้าจะทำอะไรหรือพูดจากับใคร พอเหลียวไปทีไรก็เจอะตาประดิษฐ์แทบทุกครั้ง บางทีก็ทำเอาข้าพเจ้าออกรำคาญ ประดิษฐ์คอยจ้องดูข้าพเจ้าพร้อมด้วยดวงหน้าอันยิ้มน้อยๆ ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่าเขามีความรู้สึกอย่างไรในข้าพเจ้าเวลานั้น

“นี่! ประดิษฐ์” ข้าพเจ้าถามอย่างดูถูกเมื่อสบตากันวันหนึ่ง “กันเห็นแกชอบจ้องดูกันบ่อยๆ กันไม่รู้ว่าแกต้องการอะไร ถ้าแกจะไม่เคยเห็นคนกะมัง ?”

ประดิษฐ์ยิ้มน้อยๆ แล้วตอบว่า : “เปล่า คุณวิสูตร์ ผมชอบสังเกตคุณก็เพราะรู้สึกว่าคุณควรจะประพฤติตนให้ดีขึ้นสักหน่อย ให้สมกับเกียรติยศของชั้นและของโรงเรียน และควรจะมีใครสักคนหนึ่งสำหรับให้บทเรียนคุณ”

วาระนั้นเป็นเวลาสองสามนาฑีก่อนโรงเรียนเข้ากลางวัน ในห้อง นอกจากเราทั้งสอง ยังมีนักเรียนอื่นอยู่ด้วยหลายคน ข้าพเจ้าไม่เคยนึกเคยฝันเลยว่าคนเงียบๆ เช่นประดิษฐ์ จะมีโวหารอันแยบคายมากล่าวแก่ข้าพเจ้าต่อหน้าธารกำนันเช่นนั้น ข้าพเจ้าโกรธจนเลือดขึ้นหน้า และถามไปโดยแรงว่า

“ก็ตัวแกวิเศษยังไง แกเกิดมาเคยทำอะไรให้แก่โรงเรียนบ้าง ตั้งแต่แกเกิดมาเคยเห็นห้อง ‘ยิม’ หรือเห็นเขาเล่นฟุตบอลล์กันบ้างไหม?”

“เอ๊อ! ทำไมจะไม่เห็น” ประดิษฐ์ตอบอย่างปราศจากความหวาดหวั่น “เมื่อผมอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ผมเล่นบ่อยๆ เสียด้วยซ้ำ แต่ผมเล่นไม่ดีพอสำหรับชุด”

“นั่นซีเขาจึงไสหัวแกมาอยู่นี่” ข้าพเจ้าเยาะ.

“นี่! คุณวิสูตร์ คุณไม่มีสิทธิ์อะไรที่จะมาพูดจาดูถูกผมเช่นนั้น ผมไม่เห็นคุณวิเศษอะไรมา คุณอาจมีพวกพ้องมามากและดูจะเป็นหัวเรือใหญ่ เที่ยวชำระความไปเสียไม่ว่าอะไร แม้ผมจะเป็นนักเรียนใหม่ คุณก็อย่านึกว่าผมกลัวคนอย่างคุณ ผมเกิดมาเป็นลูกผู้ชายและไม่เคยกลัวสิ่งอะไรที่เป็นพาล เมื่อคุณมาลงความเห็นว่าเขาไสหัวผมมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และผมไม่ดีพอสำหรับโรงเรียนนี้แล้ว คุณก็เห็นจะพยายามชำระผมเสียบ้างกะมัง?”

“ได้ ถ้าแกต้องการ” ข้าพเจ้าตอบอย่างพาลเอาจริงๆ.

“คุณเห็นจะถูกเขาตามใจที่บ้านมากกะมัง จึงได้มีนิสสัยพาลเกเรเช่นนี้” ประดิษฐ์พูดอย่างปราศจากความหวาดหวั่น “ผมเห็นคุณต่อยกับเด็กที่หลังวัดสองสามครั้ง รู้สึกละอายแทนเหลือเกิน”

พอข้าพเจ้าจะตอบไปบ้างก็พอท่านอาจารย์เดิรเข้ามา พวกเราต้องเงียบกันหมด ข้าพเจ้าพยายามอดกลั้นโทษะหยิบเอาหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาดู.

“คุณเห็นจะถูกเขาตามใจที่บ้านมากกะมัง -” ยังคงแว่วอยู่ในโสตประสาทข้าพเจ้าตลอดเวลานั้น รู้สึกแค้นและไม่เชื่อแน่ว่าประดิษฐ์พูดผิดหรือถูก ไม่รู้แน่ว่าเขาหมายความอย่างไร สักครู่ข้าพเจ้าฉีกกระดาษเป็นชิ้นเล็กเข้าชิ้นหนึ่งแล้วเขียนว่า “นี่ คุณประดิษฐ ถ้าต้องการให้เรื่องทะเลาะของเราสงบ ผมเห็นมีอยู่ทางเดียวที่เราจะต้องไปที่วัดกันวันนี้เวลาเลิกเรียนแล้ว” เสร็จข้าพเจ้าก็ม้วนกระดาษนั้นเข้าแล้วขอให้นักเรียนนั่งข้างๆ ส่งต่อๆ ไปจนถึงประดิษฐ์.

ข้าพเจ้าสังเกตเห็นประดิษฐ์เอาเศษกระดาษนั้นขึ้นมาอ่าน จบแล้วก็หันมาทางข้าพเจ้า ยิ้มละไมและพะยักหน้าเป็นเชิงนิดๆ คล้ายจะให้เข้าใจว่าไม่หวั่น.

บ่ายวันนั้น พอท่านอาจารย์เดิรคล้อยหลังออกจากห้องไป ประดิษฐ์มือหนึ่งถือหนังสือมือหนึ่งถือหมวกเดิรมาหาข้าพเจ้า ยังคงยิ้มนิดๆ อยู่อย่างเคย

“เอาซีครับ คุณวิสูตร์ เราไปหลังวัดกัน” ประดิษฐ์พูดแล้วมายืนรออยู่ที่โต๊ะ ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกที่สุด เพราะประดิษฐ์ผู้ซึ่งเป็นคนเงียบหงอยตามที่พวกเรารู้จักกันกลับมาเป็นเด็กใจนักเลง นักเผชิญภัยที่เลือดเย็นที่สุด พอข้าพเจ้าลุกจากโต๊ะจะเดิรออกไปข้างนอก ประดิษฐ์ก็เดิรติดข้าพเจ้าไปข้างๆ เด็กทั้งห้องต่างพากันเดิรตามเราไปทั้งฝูง ข้าพเจ้ารู้สึกหวั่นว่าท่านอาจารย์ใหญ่หรือท่านอาจารย์ผู้ปกครองจะสงสัย แต่ก็มิรู้ว่าจะทำอย่างไร ประดิษฐ์ยังคงเดิรข้างข้าพเจ้าไปเรื่อยๆ เราลงจากตึก ‘เยาวมาลย์อุททิศ’ เดิรข้ามสนามไปที่หน้าตึก ‘แม้นนฤมิตร์’ แล้วเลี้ยวซ้ายเดิรเข้าประตูวัดไป พอเหลียวหลังมาครั้งใดก็พบพวกนักเรียนตั้ง ๒๐ คนเดิรตามเรามาเป็นฝูง

สมรภูมิของเราคือสนามหญ้าใต้ต้นโพธิหลังกุฏิร้างเล็กๆ หลังหนึ่ง เมื่อเรายืนเผชิญหน้ากันและมีเด็กอื่นยืนล้อมเราอยู่โดยรอบเป็นวงนั้น ข้าพเจ้าสังเกตเห็นความยิ้มละไมซึ่งเคยมีอยู่บนดวงหน้าของประดิษฐ์ค่อยๆ จางหายไป กลับมีแววอันเป็นสิ่งแสดงว่าเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสงครามด้วยความจริงจัง เราต่างถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออกทิ้งไว้บนสนามแล้วเดิรเข้าประสานหมัดกันอย่างทรหด.

ทีแรกประดิษฐ์ออกจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โดนข้าพเจ้ารุกเข้าไปชกจนติดตัวหลายครั้ง แต่ประดิษฐ์เป็นคนอดทน พยายามต่อสู้อย่างทรหด สักครู่ต่างก็ถูกกันคนละฉาดสองฉาด แลกเปลี่ยนกำปั้นกันคนละทีจนถึงล้มลุกคลุกคลาน สักสิบนาฑีต่อมาในระหว่างที่เรากอดกันกลมอยู่บนสนาม มีคนร้องมาว่า “เลิกกัน ! เลิกกันเดี๋ยวนี้!!” แล้วเรารู้สึกว่ามีคนกำลังพรากเราให้หลุดจากกัน ในที่สุดเราก็ผละออก พอดีเหลียวหน้าไปพบท่านอาจารย์ผู้ปกครองกำลังยืนตระหง่านอยู่.

“เธอสองคนที่ช่างเลวทรามจริง” ท่านกล่าวอย่างเกรี้ยวกราด “ถ้าเธอไม่เกรงใจฉันก็ควรจะนึกถึงเกียรติยศของโรงเรียนบ้างซี เราต้องการความสามัคคีระหว่างพวกเรา--Esprit de corp-!” ท่านย้ำเป็นภาษาฝรั่งเศส “เราต้องการให้คนเขาเห็นว่าโรงเรียนเราดีเหมือนหรือดีกว่าโรงเรียนอื่น นี่มัวแต่มาฮ้วนกันเสียเช่นนี้จะใช้ได้ที่ไหน”

ท่านอาจารย์ผู้ปกครองของเราเป็นคนอ้วนใหญ่ ศีรษะล้านเล็กน้อย มีอัธยาศัยอ่อนหวานเป็นที่นับถือยำเกรงของนักเรียนทุกคน แม้ว่าคำพูดนี้ท่านจะกล่าวอย่างโกรธ เราก็ยังรู้สึกว่าท่านกล่าวด้วยความหวังดีโดยแท้จริง.

“เอ้า ? หยิบเสื้อสวมเข้า” ท่านกล่าวพลางชี้ไปที่เสื้อทั้งสองตัวของเราซึ่งกองอยู่คนละข้างสนาม “แล้วรีบกลับโรงเรียนกับฉัน”

เมื่อเราปัดฝุ่นตามร่างกายเสร็จก็สวมเสื้อเดิรตามท่านมาข้างๆ ทั้งคู่ ส่วนเด็กที่ไปดูทั้งฝูงต่างแยกย้ายกันไป พอถึงหน้าประตูตึก ‘แม้นนฤมิตร’ เราก็เดิรเข้าประตูห้องโถงขึ้นบันไดไปยังห้องท่านอาจารย์ผู้ปกครอง.

ท่านให้เรายืนข้างโต๊ะทำงาน ส่วนท่านนั่งลงบนเก้าอี้แล้วหันหน้ามาจ้องดูเราอย่างพินิจพิเคราะห์.

ทันใดนั้นประดิษฐ์ได้เดิรเข้าไปยืนอยู่ตรงหน้าท่านอาจารย์ และยอมสารภาพรับผิดเสียแต่ผู้เดียวก่อนที่ข้าพเจ้าจะรู้เหนือรู้ใต้ประการใด

“ผมท้าคุณวิสูตร์ให้ไปที่ในวัดเมื่อกลางวันนี้” เขากล่าวอย่างฉาดฉาน “เนื่องจากการที่เราได้มีเรื่องระหองระแหงกันมาหลายวันแล้ว เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของผมที่จะสารภาพกับคุณครูเสียโดยดี ดีกว่าที่จะปล่อยให้วิสูตร์รับโทษด้วยโดยไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ”

ข้าพเจ้า - ข้าพเจ้าตกตะลึงจนไม่รู้ว่าจะพูดอะไรหรือทำอย่างไร ในชีวิตข้าพเจ้าไม่เคยพบคนอย่างประดิษฐ์ และไม่เคยนึกว่าในโลกจะมีคนเช่นนี้.

“ฉันขอชมเธอในฐานที่เธอเป็นลูกผู้ชายที่ดี - เยลเติลแมน” ท่านอาจารย์กล่าวตอบ “แต่ฉันอยากจะทราบว่าทำไมเราจะตกลงกันอย่างลูกผู้ดีไม่ได้หรือ ? ทำไมถึงต้องทะเลาะวิวาทกันด้วย ?”

“ผมพยายามเหมือนกันแหละครับ” ประดิษฐ์ตอบ “แต่ไม่เป็นผล แล้ววันนี้เกิดทะเลาะกันขึ้นในห้องเรียน ผมเลยบอกให้วิสูตร์ไปในวัดตอนเลิกเรียนแล้ว”

“ฉันแปลกใจที่คนสงบเสงี่ยมเช่นเธอจะกลับเป็นเด็กเกเรไปได้ ดูออกจะไม่น่าเชื่อสักหน่อย”

ท่านอาจารย์กล่าวแล้วหันมาถามข้าพเจ้า “จริงหรือ คุณวิสูตร์? นายประดิษฐ์ท้าคุณ และเป็นคนก่อเหตุ?”

ในที่นี้ข้าพเจ้าเกรงว่าความสามารถในเชิงเขียนของข้าพเจ้ายังไม่ดีพอที่จะทำให้เข้าใจถึงความรู้สึกอันแท้จริงของข้าพเจ้าเวลานั้นได้ ภายในท่ามกลางแห่งความรู้สึกของข้าพเจ้ากำลังมีศึกกันอยู่......ศึกระหว่างความรู้สึกอันดีเลิศซึ่งได้เพราะนิสสัยอันเลิศของประดิษฐ์ที่แสดงให้ข้าพเจ้าเห็นเป็นตัวเป็นตน กับความรู้สึกอันเหี้ยมโหดซึ่งมีอยู่ในนิสสัยของข้าพเจ้ามาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นเมื่ออาจารย์หันมาถามข้าพเจ้าในเวลาปัจจุบันทันด่วนเช่นนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกงงไม่รู้ว่าจะพูดอะไรได้.

“เปล่าครับ ผม- -ผม” ข้าพเจ้าพูดได้เท่านี้ก็หมดความสามารถที่จะพูดได้ต่อไป.

“ฉันได้ข่าวแว่วๆ ว่าเธอเป็นคนเกกมะเหรกอยู่เหมือนกัน” ท่านอาจารย์กล่าวแก่ข้าพเจ้า “แต่สำหรับคราวนี้ นายประดิษฐ์มารับผิดเสียแล้วและเธอก็ไม่มีเรื่องอะไรจะพูดกับฉันต่อไป เป็นอันว่าเธอไปได้ แต่ถ้าเธอไปเกิดวิวาทกับใครเข้าอีก ต้องเข้าใจว่าเธอจะถูกทำโทษอย่างหนัก”

ข้าพเจ้าจ้องดูท่านอาจารย์ด้วยความพิศวงงงงวยเป็นที่ยิ่ง ยืนอิดออดอยู่สักครู่จนท่านอาจารย์ถะมึงตามาเป็นเครื่องแสดงว่าท่านต้องการให้ข้าพเจ้าออกไปจากห้อง ข้าพเจ้าจึงเดิรช้าๆ ออกไปพลางคิด......คิด แต่ก็หามีผลอะไรไม่ ข้าพเจ้าเดิรลงบันไดมาถึงห้องล่าง ทีแรกตั้งใจว่าจะเดิรไปขึ้นรถกลับบ้าน แต่ก็มาเกิดลังเลใจขึ้นในบัดนั้น กลัวว่าประดิษฐ์จะต้องรับโทษเพราะความผิดของข้าพเจ้า สงครามความรู้สึกของข้าพเจ้าก็ยังคงต่อสู้กันอยู่ ในที่สุดความรู้สึกที่ดีเป็นฝ่ายมีชัย ข้าพเจ้าวิ่งจะขึ้นบันไดไปยังห้องท่านอาจารย์ผู้ปกครอง ไปเพื่อจะสารภาพความผิดให้ประดิษฐ์พ้นโทษ แต่-อนิจจา-พอข้าพเจ้าวิ่งไปได้ครึ่งทาง ก็ต้องหยุดชะงักอยู่กลางบันได เพราะข้าพเจ้าได้ยินเสียงประดิษฐ์ถูกตีอยู่ดังสนั่น ถูกตี...ตีหนึ่ง - สอง - สาม - สี่ - ห้า - หกครั้ง เพราะความผิดของข้าพเจ้า แล้วเสียงตีก็เงียบหายไป ทันใดนั้นข้าพเจ้าก็เดิรหวนลงบันไดกลับมายืนอยู่ที่ห้องกลางนั้นอีกแต่ผู้เดียว น้ำตาไหลลงอาบหน้า คิด...คิดถึงความชั่วร้ายต่างๆ ที่ข้าพเจ้าเคยกระทำมาแล้ว คิดเห็นตัวอยู่ในกระจกแห่งความลามกต่างๆ ทุกชะนิด

สักครู่ประดิษฐ์ก็เดิรลงมา ข้าพเจ้ารู้สึกอยากจะโจมเข้ากอดประดิษฐ์เสียให้สมรักเพราะความดีที่ได้กระทำจนข้าพเจ้าเห็นประจักษ์เข้าไปในดวงใจ แต่......ประดิษฐ์เดิรลงมาด้วยกิริยาอันเฉย ปราศจากความแยแสในข้าพเจ้า และเมื่อถึงข้าพเจ้าก็ผ่านไปโดยมิได้พูดจาอะไรแม้สักคำ ข้าพเจ้าหมดปัญญาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร วิ่งตามประดิษฐ์ไปคล้ายคนปราศจากสติ พลางร้องเรียก “ประดิษฐ์! ประดิษฐ์!! หยุดประเดี๋ยว”

ประดิษฐ์หยุดรออย่างไม่พอใจจนข้าพเจ้าไปถึง เวลานั้นเรายืนอยู่ที่หน้าประตูโรงเรียน

“ทำไม...ทำไมไปรับผิดเสียคนเดียว?” ข้าพเจ้าถามอย่างหายใจไม่ทัน.

“ถ้าผมไม่รับใครจะรับเล่า” ประดิษฐ์ย้อนตอบพลางก็ยิ้มน้อยๆ “ผมรู้สึกว่าเมื่อจะถูกเฆี่ยนคนเดียวได้แล้วก็เลยยอมเสีย ดีกว่าจะปล่อยให้โดนด้วยกันทั้งคู่”

พูดเท่านั้นประดิษฐ์ก็ออกจากประตู พอดีรถรางชะลอช้าๆ ผ่านมา ประดิษฐ์กะโดดขึ้น แล้วรถก็วิ่งลับตาไป คงปล่อยให้ข้าพเจ้ายืนตะลึงอยู่กลางถนนหน้าโรงเรียนแต่ผู้เดียว.

ในโลกนี้มีคนเช่นประดิษฐ์ ! ข้าพเจ้าคำนึงอยู่ตลอดทางที่นั่งมาในรถกลับบ้าน.

รุ่งขึ้นข้าพเจ้ารีบไปโรงเรียนแต่เช้า เพราะรู้สึกอยากจะพบพูดจากับประดิษฐ์เสียนี่กะไร ข้าพเจ้าเที่ยวตามหาเสียทุกแห่ง ตามห้องสมุด ตามโรงอาหารหลังตึกแม้นนฤมิตร์ และตามรอบสนามโรงเรียน แต่ก็หาพบตัวประดิษฐ์ไม่ พอเข้าห้องเรียนก็ทราบว่าประดิษฐ์ไม่ได้มาโรงเรียนวันนั้น.

ตลอดเวลาเช้าที่ข้าพเจ้านั่งเรียนอยู่ที่โต๊ะ ให้รู้สึกกะวนกะวายใจเป็นที่สุด หวั่นไปว่าประดิษฐ์จะเจ็บป่วยเพราะการถูกตีนั้น ยิ่งพอมาเมื่อตอนหยุดพักกลางวันมีเด็กมาถามถึงประดิษฐ์เข้าด้วย ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจใหญ่ หวนนึกถึงความเป็นไประหว่างเราทั้งสองที่ได้เกิดขึ้นนั้นแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกประหนึ่งว่าประดิษฐ์เป็นผู้ที่ข้าพเจ้าต้องการพบ รู้จัก รักเป็นเพื่อนร่วมชีพมาตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิด ถ้าข้าพเจ้ามีโอกาสรู้จักเขาเสียตั้งแต่เยาว์ ข้าพเจ้าคงจะไม่เป็นคนมีนิสสัยขมขื่นถึงเพียงนี้ คงสามารถรับทุกข์เนื่องจากความไม่เสมอหน้าด้วยหัวใจอันอ่อนโยน รู้จักผิดชอบ ตลอดวันนั้นข้าพเจ้าเฝ้าคำนึงเป็นห่วงเด็กคนนี้เสียนี่กะไร ภายในดวงใจของข้าพเจ้าไม่มีสิ่งอื่นสำหรับประดิษฐ์นอกจากความคิดถึง ความนับถือ และความนิยม.

พอโรงเรียนเลิก ข้าพเจ้าก็รีบไปหาท่านขุนวิสุทธิ์ฯ สมุห์บัญชี ถามที่อยู่ของประดิษฐ์ บุญญารัตน์ ทราบแล้ว ข้าพเจ้าก็ขึ้นรถรางตรงแน่วไปลงที่สะพานเทเวศม์ฯ บางขุนพรหม แล้วลงเรือจ้างแจวไปตามลำคลองออกแม่น้ำข้ามฟากไปยังปากคลองบางจากฝั่งธนบุรี ถัดจากปากคลองนั้นไปสองสามเส้น เรือก็จอดส่งข้าพเจ้าที่ท่าน้ำเล็กหลังหนึ่ง เมื่อได้ถามคนแจวเรือทราบแน่แล้วว่าเป็นบ้านเจ้าคุณบรรลือเดชอำนวย ข้าพเจ้าก็จ่ายสตางค์ให้ และขึ้นบันไดท่าน้ำ เดิรผ่านสนามหญ้าใหญ่ไปแล้วก็ถึงเรือนปั้นหยาใหญ่ทาสีนวลอ่อนๆ หลังหนึ่ง ข้าพเจ้ายืนคอยผู้ที่จะมาต้อนรับอยู่สักครู่หนึ่งก็ไม่เห็นมีใครออกมา ในบริเวณนั้นเงียบสงัด นอกจากเสียงลมพัดใบไม้ซึ่งมีอยู่โดยรอบบ้านแล้วก็ไม่มีวี่แววอะไรอีก ตัวบ้านก็ปราศจากสุ้มเสียง ดูประหนึ่งว่าจะไม่มีใครอาศัยอยู่ภายในฉะนั้น ในที่สุดก็มีเด็กหญิงน่าเอ็นดูเล็กๆ คนหนึ่งออกมา.

“คุณพี่ประดิษฐ์ไม่อยู่หรอกค่ะ” เด็กหญิงตอบเมื่อรู้ความประสงค์ของข้าพเจ้าแล้ว “คุณพ่อพาไปกรุงเก่าเสียด้วยตั้งแต่เช้า”

“แล้วจะกลับเมื่อไรจ๊ะ?” ข้าพเจ้าถาม.

“เห็นจะคืนนี้แหละค่ะ ดึกๆ”

“งั้นพรุ่งนี้เห็นจะไปโรงเรียนกะมัง?”

“แน่เทียวค่ะ”

ข้าพเจ้ากล่าวคำขอบคุณแล้วก็กลับหลังเดิรไปรอเรือจ้างที่ท่าน้ำ รู้สึกโล่งอกไปมากเพราะประดิษฐ์ไม่ได้เจ็บไข้เป็นอะไรเลย.

รุ่งขึ้นข้าพเจ้าพบประดิษฐ์ที่โรงเรียน พอเห็นข้าพเจ้า เขาก็ถามว่า:

“คุณวิสูตร์ คุณไปหาผมที่บ้านเมื่อวานนี้หรือ?”

ข้าพเจ้าพะยักหน้าตอบ เพราะไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร.

“เสียใจที่เราไปธุระกันเสียที่กรุงเก่า สนุกมาก น้องสาวผมตกได้ปลาเทโพตัวเบ้อเร่อทีเดียว”

ชั้นแรกข้าพเจ้ารู้สึกว่าพอพบประดิษฐ์ ข้าพเจ้าคงจะยังมีความกะดากอายเหลืออยู่มาก และจะเขินไม่น้อย แต่พอมาได้ยินเสียงอันปกติและกิริยาอันดีฐานเพื่อนเข้า ความรู้สึกอันนั้นก็ศูนย์หายไปทันที.

“กันไปหาเธอที่บ้านเมื่อวานนี้ เพราะมีเรื่องที่จะพูดด้วยหลายอย่าง” ข้าพเจ้ากล่าว “อีกประการหนึ่ง เมื่อไม่เห็นเธอมาโรงเรียน เลยกลัวไปว่าเธอจะเจ็บเพราะเรื่องนั้น”

“เรื่องอะไรครับที่คุณจะพูด” เขาถาม.

“กันรู้สึกเป็นสัตว์เกินไปที่ได้ปล่อยให้เธอรับสารภาพผิดและถูกตีคนเดียว ความจริงกันเป็นคนก่อเรื่องทั้งสิ้น” ข้าพเจ้าปรับทุกข์ “พอนึกถึงเรื่องเมื่อวานนี้กันนอนไม่หลับตลอดคืน กันจะขอไปหาท่านอาจารย์ผู้ปกครอง เล่าความจริงให้ท่านฟังว่ากันเป็นคนผิด คนขี้ขลาดเหลวใหลยอมให้ท่านตีเสียสักโหลที กันจึงจะรู้สึกสบายใจ”

“อะไรกัน” ประดิษฐ์กล่าวอย่างแปลกใจ “ก็เรื่องมันแล้วไปแล้วจะไปเก็บมาเป็นอารมณ์อีกทำไม อยู่ดีไม่ว่าดี จะมายอมถูกเฆี่ยนเล่นเฉยๆ”

“ไม่เป็นไรหรอก ประดิษฐ์ กันเคยถูกตีมามากแล้ว ถ้าจะถูกอีกสักสิบสองทีเพื่อความสบายใจของกันแล้วก็เห็นจะไม่ทำให้แปลกขึ้นเท่าไรนัก”

ในที่นี้ข้าพเจ้าแสร้งพูดปด บิดามารดาข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ไม่เฆี่ยนตีบุตรธิดาของท่าน เป็นแต่เพียงดุและทำโทษเท่านั้น และการที่ข้าพเจ้าไปเที่ยวชกต่อยกับเด็กในวัดเสมอๆ ก็ไม่เคยถูกท่านอาจารย์ผู้ปกครองจับได้เลย ครั้งประดิษฐ์นี้เป็นครั้งแรก เพราะเป็นการเอิกเกริกเกินไป.

“อย่าเป็นบ้าไปเลย คุณวิสูตร์” ประดิษฐ์กล่าวค้าน “เรื่องมันสงบแล้วก็ช่างมันเป็นไร”

“แต่มันเกี่ยวกับชื่อเสียงของเธอในโรงเรียน” ข้าพเจ้ากล่าว “ท่านอาจารย์ผู้ปกครองจะเห็นไปว่าเธอเป็นเด็กเหลวใหล ไม่ไหวละ กันต้องไปหาท่านเดี๋ยวนี้”

“อย่าเลย วิสูตร์” ประดิษฐ์พูดพลางดึงมือข้าพเจ้าไว้ “ท่านอาจารย์ผู้ปกครองไม่รู้สึกเช่นนั้นสำหรับผม ท่านรู้จักผมดีแล้ว นี่แน่ะ เย็นนี้ไปเที่ยวกับผมที่บ้านกันเถอะ ผมต้องการให้คุณดูอะไรอย่างหนึ่ง”

เสียงระฆังตีเข้าเรียน เราทั้งสองก็เดิรไปรวมแถวเข้าห้องเรียน.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ