บทที่ ๑๘ ไปอเมริกา

เรากลับลอนดอนทางคาเลส์-โดเวอร์ ถึงที่นั่น ๗ ล.ท. ตรง พอรถหยุดที่สถานีข้าพเจ้าก็เห็นมาเรียเกรย์และอาร์โนลด์แบริงตันยืนอยู่ชานชลารอคอยเรา ข้าพเจ้าโดดลงจากรถวิ่งเข้าไปกอดมาเรียไว้สักครู่ด้วยความปลาบปลื้ม เราไม่ได้พบกันมาตั้งสิบแปดเดือนเศษแล้ว หล่อนได้เปลี่ยนไปเล็กน้อย โตขึ้น อ้วนขึ้น แต่มาเรียยังคงสวย ดวงพักตร์ยังมีรัศมีแห่งความสดชื่นลอยเด่นอยู่ทั่ว แก้มของหล่อนเป็นสีเม็ดมะปราง ดวงเนตรยังคมและมีแววแห่งความบริสุทธิ์ ความเชื่อมั่นในระหว่างที่พูดอยู่กับหล่อนข้าพเจ้ามั่นใจอยู่เสมอว่า หล่อนยังเป็นคนบริสุทธิ์ ยังคงเป็นเทพธิดาแห่งชีวิตของข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว.

“มาเรีย” ข้าพเจ้าพูดขึ้น “เธอใส่น้ำหอม ‘ม็องบูดัวย์’? ฉันชอบ ‘ม็องบูดัวย์’ มากกว่าน้ำหอมอื่น กลิ่นดีเหลือเกิน”

“ปารีสได้ให้ความรู้เธอมากนะ บอบบี้” หล่อนพูดด้วยวงพักตร์อันยิ้มละไม “ปารีสได้สอนเธอให้รู้จักความแตกต่างระหว่าง ‘ม็องบูดัวย์’ และ ‘เฟลอย์เดอลาวิฟร์’”

ถ้อยคำของมาเรียนี้สะกิดหัวใจข้าพเจ้า เพราะทำให้หวนนึกไปถึงน้ำอบ ‘เฟลอย์เดอลาวิฟร์’ ที่โอเด็ตต์และอีว็อนเคยใส่ ทำให้รู้สึกไปว่าข้าพเจ้าไม่ใช่เป็นคนดีพอสำหรับหล่อน ข้าพเจ้าจ้องดูหล่อนแล้วยิ้ม แต่มิได้ตอบประการใด ข้าพเจ้าหันไปหาอาร์โนลด์ซึ่งกำลังคอยจะต้อนรับอยู่ เราสั่นมือกันอย่างแรง ความมิตรภาพระหว่างเราทั้งสองยังคงเป็นเช่นเดิม มิสเตอร์เบ็นสันปล่อยให้ข้าพเจ้าไปกับอาร์โนลด์และมาเรียโดยลำพัง ส่วนแกเองไปกับพวกหนังสือพิมพ์ที่มายืนออกันอยู่เป็นหมู่.

“เราไม่มีที่อยู่กันหรอกเวลานี้ บอบบี้” อาร์โนลด์พูด “เพราะเราต้องออกจากลอนดอนบ่อยเหลือเกิน”

“แล้วนี่เธอจะพากันไปไว้ที่ไหน?” ข้าพเจ้าถาม.

“ไปสโมสร ไปอยู่ที่นั่นอาทิตย์สองอาทิตย์ก่อนซี เธออาจชอบ”

ลอนดอนยังคงเป็นเช่นเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อากาศก็คงเฉอะแฉะ หนาว ชื้นไปทั่วทุกแห่ง ระหว่างที่นั่งมาในรถ ‘แท๊กซี่’ ข้าพเจ้าสังเกตเห็นมาเรียและอาร์โนลด์สนิทสนมกันมากผิดกว่าที่เคย ดูประหนึ่งว่าอาร์โนลด์ได้มาแย่งที่ข้าพเจ้าซึ่งมีอยู่ภายในความรู้สึกของหล่อนเสียแล้ว…ที่ซึ่งแต่ก่อนข้าพเจ้าเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ยิ่งอยู่ที่ในลอนดอนนานวันเข้า ความรู้สึกของข้าพเจ้าอันนี้ดูเหมือนจะเป็นความจริงเอาเสียทีเดียว มาเรียและอาร์โนลด์อาจรักกันได้ไหมหนอ? ฉวยว่าวันหนึ่งคนที่รักทั้งสองนี้จะแต่งงานร่วมหอกันเข้า ข้าพเจ้าจะรู้สึกประการใด? จะพูดกันจริงๆ แล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เที่ยวมามาก รู้จักชีวิตและเคยขีดเขียนความจริงของเรื่องละครโรงใหญ่ลงในหน้ากระดาษมาก็มาก ควรจะสามารถหยั่งถึงได้ว่าความรักคือความสละ ข้าพเจ้าก็เป็นนักเผชิญภัย ซุกซนเช่นเดียวกับผู้ส่งข่าวหรือผู้แทนทั้งหลาย……อาร์โนลด์ก็เช่นเดียวกับพวกเรา แต่อาร์โนลด์ผิดกว่าข้าพเจ้า เป็นคนเงียบสุขุม ถ้ามาเรียเลือกเขา ก็จะแปลกอะไรนักเล่า ข้าพเจ้าเป็นคนไทย จะได้เป็นนักหนังสือพิมพ์ร่วมกับหล่อนไปนานสักเพียงไหนก็ไม่แน่ ส่วนอาร์โนลด์เป็นชาวอังกฤษ แข็งแรง สามารถจะต้านทานต่อสู้กับชีวิตอันหมุนเวียนเปลี่ยนกลับไม่หยุดหย่อนได้โดยปราศจากความเหน็ดเหนื่อย ถ้าหล่อนจะแต่งงานกับอาร์โนลด์จริง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าหล่อนจะเป็นสุข เล็งเห็นความจริงเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็สามารถจะระงับใจได้ พยายามกระทำตนให้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งสำหรับเขาทั้งสอง ข้าพเจ้ายังคงรักมาเรียมากอยู่นะท่าน-

เวลานั้นในลอนดอนเป็นฤดูที่นักดนตรีมีชื่อเสียงไปแสดงที่ ‘รอยาลแอลเบอร์ตฮอลล์’ แทบทุกวัน ข้าพเจ้าเลยถือโอกาสนี้เชิญอาร์โนลด์และมาเรียไปฟังไครสเลอร์ เพดเดอรูสกี้ คิวเบอลิค และไฮเฟ็ต เสมอ บรรดาเครื่องดนตรีทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่เคยเชื่อว่ามีอะไรดีไปกว่าไวโอลิน ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีชะนิดเดียวที่สามารถจะทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกคิดถึงความหวานหอมหรือความขมขื่นแห่งชีวิตได้ ข้าพเจ้าบูชาคิวเบอลิค ไครสเลอร์ และไฮเฟ็ต ว่าเป็นผู้ที่ทำให้ข้าพเจ้าเป็นสุข ระงับใจได้เมื่อมาเห็นอาร์โนลด์และมาเรีย…ใกล้…ใกล้จะรักกันอยู่แล้ว.

ส่วนกิจการที่ข้าพเจ้าต้องทำเวลานั้นก็คือ เป็นพวก ‘เฟอสต์ไนเตอร์’ ไปดูละครเรื่องต่างๆ ที่เปิดแสดงใหม่เป็นคืนแรกในลอนดอน แล้วนำข้อความมาเขียนติชมในหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องไปประชุมเขียนข่าวงานเต้นรำแฟนซีช่วยกองการกุศลของพวกสมาคมชั้นสูงในประเทศอังกฤษเกือบทุกสัปดาห์ ชีวิตเช่นนี้สนุกดีไม่น้อย.

การไปประเทศอเมริกาของข้าพเจ้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่เคยนึกว่าจะเป็นไปได้.

อยู่ในลอนดอนได้สามเดือนเศษ ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปประชุมในการเลี้ยงฉลองตำแหน่งใหม่ซึ่งเลดีมอยราดันน์ได้รับ คือตำแหน่ง ‘ลีดเดอร์ไรตเตอร์’ ตำแหน่งนี้เลื่อนสูงจากผู้แทนหนังสือพิมพ์ไปอีกขั้นหนึ่ง เรามีการรื่นเริงกันในสโมสรที่เฮย์มาร์เก็ต กินเลี้ยง เต้นรำ คุยกันเฮฮาเช่นเคย เวลาเช้า ๓ น. อาร์โนลด์และข้าพเจ้าถูกเกณฑ์ให้พาเพื่อนสตรีสองคนของเลดีมอยราไปส่งที่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลแฮมสเตด ที่สโมสรพวกเราได้ซื้อรถมอร์ริสอ๊อกสฟอร์ดเก่าสองตอนไว้คันหนึ่งสำหรับลากถู ชั้นแรกเราตั้งใจจะพาสตรีทั้งสองไปโดยรถยนตร์เช่า แต่เมื่อนึกว่าไหนๆ ก็เป็นวันสนุกสนานรื่นเริงแล้ว ลองขับรถมอร์รีสคันนี้ไปเองสักทีเป็นไร อาร์โนลด์เกณฑ์ให้ข้าพเจ้าขับ บ้านของสตรีทั้งสองซุกซ่อนอยู่ในที่ๆ ขับรถไปถึงได้ยาก อยู่บนเขาระหว่างแฮมสเตดและไฮเกต ข้าพเจ้าขับไปตามถนน สแปนเนียร์ด’สวอล์ค ขึ้นเขาลงเขาไปสักครู่ก็ถึงบ้าน.

ตอนกลับข้าพเจ้ามาสองคนกับอาร์โนลด์ นิสสัยหนุ่มคะนองของเราและเหล้ายาต่างๆ อันได้รับประทานที่สโมสรทำให้เรารู้สึกสนุกและกล้า ข้าพเจ้าปล่อยรถตั้งสี่สิบไมล์ อาร์โนลด์ชอบ เวลานั้นดึกมาก ไม่มีรถสวนทางมาเลย แต่เดือนมืด แสงดาวก็ไม่สว่าง ไม่มีไฟตามทาง ฝนตกเรื่อยไม่ขาดสาย ทางก็ไม่ราบรื่น ขึ้นเขาลงเขาอยู่เรื่อย เราทั้งสองไม่กลัวอันตราย ยังคงขับเต็มที่...ขับไป...ขับไปจนถึงทางเลี้ยวโค้งแห่งหนึ่ง เราขับขึ้นเขามาโดยแรง ทางลื่น ทันใดนั้น ใกล้จะถึงหัวโค้งมีรถกุดังบรรทุกน้ำมันคันหนึ่งลงเขามา ข้าพเจ้าพยายามหลีก ห้ามล้อเต็มที่ แต่ถนนแคบ รถกุดังใหญ่ พอใกล้เข้าจริง ข้าพเจ้าตกใจ ปล่อยพวงมาลัย รถโดนกันปังใหญ่ รถเราล้มตกกลิ้งลงไปตามที่ราบสูงจนถึงพื้นดินเบื้องล่าง ข้าพเจ้าสิ้นสติสลบอยู่ในรถนั้น.

ห้าชั่วโมงต่อมาข้าพเจ้าลืมตาตื่นขึ้น รู้สึกตนว่ามานอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทีแรกอะไรที่แวดล้อมอยู่รอบดูพร่าไปหมด มีหมอสวมเสื้อคลุมขาว นางพยาบาลตั้งหลายสิบหลายร้อยคนยืนออกันอยู่เต็มห้อง แต่สักครู่ก็หายงง เห็นหมอยืนอยู่คนหนึ่ง และนางพยาบาลสองคน นอกนั้นยังมีอาร์โนลด์ เลดีมอยรา มาเรีย และมิสเตอร์เบ็นสันนั่งอยู่ด้วย อาร์โนลด์ไม่ได้ถูกบาดเจ็บอะไรเนื่องจากเหตุแอกสิเด็นในรถยนตร์ ส่วนข้าพเจ้านั้นศีรษะแตกแขนทั้งสองข้างเคล็ดและมีบาดแผลหลายสิบแห่ง ต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาลเดือนเศษจึงหาย.

แต่ อนิจจา ท่านเอ๋ย ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ในโรงพยาบาลมาเรียและอาร์โนลด์ไปเยี่ยมเกือบทุกวัน ผลัดกันไป มาเรียไปก็พูดจากับข้าพเจ้าถึงอาร์โนลด์ อาร์โนลด์ไปก็พูดถึงมาเรียตลอดเวลา แม้ข้าพเจ้าจะรักคนทั้งสองนี้เพียงไร ก็ยังรู้สึกเบื่อ และรำคาญ บางทีก็เบื่อจนถึงกับบ่นในใจว่า เมื่อไรหนอเรื่องนี้จะลงเอยกันเสียได้ ข้าพเจ้าจะได้ตัดใจได้ขาด.

ตั้งแต่หายจากการป่วยหนักคราวนั้นมาแล้ว ข้าพเจ้าก็เลยเป็นคนอ่อนแอ ตกใจง่าย เจ็บบ่อยๆ และในที่สุดก็เลยเป็นโรคหัวใจอ่อน กำลังไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับชีวิตหนังสือพิมพ์ได้เสียแล้ว ระหว่างที่นอนเจ็บอยู่ในห้องนอนของตนเองในสโมสร ข้าพเจ้าช่างรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตเสียนี่กะไร เบื่อเมืองอังกฤษ เบื่อลอนดอน เบื่อเพื่อนฝูง เบื่อผู้ที่มาเยี่ยมเยียนทุกคน อยากจะไปเสียให้พ้น ไปเสียจากเมืองอังกฤษ ไปเสียจากมาเรียและอาร์โนลด์ ไปเสียให้พ้น แต่จะไปที่ไหนเล่า---ไปไหน ไปอเมริกาเห็นจะดีกะมัง อเมริกา! ข้าพเจ้าคิดครุ่นคำนึงอยู่

เช้าวันหนึ่งซึ่งเป็นวันที่ข้าพเจ้าหายจากไข้หวัดใหญ่ใหม่ๆ ข้าพเจ้าไปหามิสเตอร์เอ็ดเวอร์ดเบลล์เบ็นสัน แจ้งความประสงค์ให้แกทราบ ว่าอยากไปอเมริกาเพื่อฮอลลีเดย์สักหกเดือนหรือแปดเดือน แล้วก็จะกลับมาประจำการเช่นเดิม.

“ถ้าเธอไม่หายเล่า บอบบี้?” แกถาม.

“ถ้าผมไม่หาย ท่านก็จะไม่เห็นหน้าผมอีกเท่านั้น” ข้าพเจ้าตอบ.

“เธอมีเงินพอแล้วหรือ?”

“ผมมีพอสำหรับปีหนึ่ง รวมทั้งค่าเรือ”

“เราจะออกค่าเรือและค่าพาหนะให้”

“ไม่เป็นไรหรอกครับ ผมไม่ต้องการ” ข้าพเจ้าพูด “ผมอาจไม่หายก็ได้”

“ตกลง” แกพูดอย่างห้วน “เธอจะไปด้วยเงินของเธอเอง ตกลงเช่นนั้นนะ แต่เธอต้องกลับมา พ่อลูกชาย”

ลาบุรุษผู้เป็นนายแล้ว ข้าพเจ้าพบมาเรียเกรย์ที่หน้าห้องมิสเตอร์เบ็นสัน.

“เธอจะไปฮอลลีเดย์ถึงอเมริกาเทียวหรือ บอบบี้?” หล่อนถามแล้วพูดต่อไป “เคราะห์ดีจัง ฉันขอให้เธอหายเจ็บกลับมานะจ๊ะ”

แม้ว่าความรักของข้าพเจ้าซึ่งมีต่อหล่อนจะมีเหลืออยู่น้อยแล้วก็จริง คำพูดอันฉอเลาะน่ารักของมาเรียยังเป็นที่ชื่นใจอยู่เสมอ “ฉันขอให้เธอหายเจ็บกลับมานะจ๊ะ” ---ฟังดูซีท่าน!

กลับไปที่สโมสรเย็นวันนั้น เด็กคนใช้นำเอานามบัตรของข้าราชการสถานทูตไทยฉะบับหนึ่งมายื่นให้ แล้วกล่าวว่าผู้ที่มาได้กลับไปเสียนานแล้ว ในนามบัตรนั้นไม่มีอะไรนอกจากชื่อและมีตัวดินสอเขียนไว้ว่า “ท่านราชทูตต้องพระประสงค์จะพบคุณในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะเร็วได้ ถ้าไปได้พรุ่งนี้เช้ายิ่งดี ส.ต.”

ข้าพเจ้ารู้สึกพิศวงเป็นที่สุด ท่านราชทูตต้องพระประสงค์จะพบข้าพเจ้า ชะรอยจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้างกะมัง?

สถานทูตไทยที่แอชเบอร์นเพลส เซาธ์เคนซิงตัน ยังคงดำรงรูปอยู่เช่นเดียวกับเมื่อสมัยเจ้าคุณประภากรวงษ์ คงแลดูทึบ มืด เช่นเดียวกับบ้านโดยมากในลอนดอนซึ่งมีอากาศชื้นแฉะอยู่เสมอ เมื่อแจ้งความประสงค์ให้ท่านเลขานุการทราบแล้วสักครู่ ก็มีคนมาพาขึ้นไปในห้องชั้นบน ไปเฝ้าท่านราชทูต ท่านราชทูต-หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร-เป็นผู้ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ล่ำ แต่มีสง่า ผิวขาว พระพักตร์สดชื่น ดูปราดเดียวก็ทราบได้ว่าเป็นคนคงแก่เรียน และเป็นผู้ที่สามารถโดยแท้.

“เชิญนั่งซี นายวิสูตร์” ท่านรับสั่งพลางชี้ไปที่เก้าอี้ตรงพระพักตร์ “ฉันมีเรื่องสำคัญที่จะต้องแจ้งให้เธอทราบ”

“เธอก็คงทราบดีอยู่แล้ว” ท่านรับสั่งต่อไป “ว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ใฝ่พระทัยในเรื่องบ้านเมืองเพียงใด มีพระราชประสงค์ที่จะทรงชุบเลี้ยงคนที่ขยัน มีวิชชาความรู้จริงๆ ไม่ใช่-เรดเทป (Red tape) ตามอนุมัติแห่งกระแสพระรับสั่งเธอก็ทราบดีอยู่แล้วว่าฉันได้ส่งนักเรียนที่เหลวใหลกลับไปเมืองไทยเสียหลายคน และฉันคอยเสาะแสวงหาเด็กนักเรียนที่ดี มีหวังอยู่บ้างเพื่อทรงชุบเลี้ยงให้ได้ดีต่อไปในภายหน้า สำหรับพวกที่ไม่ได้เป็นนักเรียนส่วนพระองค์-คือพวกที่มาโดยเงินทุนส่วนตัว-ถ้าเรียนดีก็ได้ทรงรับเข้าเป็นนักเรียนของพระองค์เสียหลายคนแล้ว”

ข้าพเจ้ายังคงนิ่งฟังอยู่ด้วยความตั้งใจ.

“ฉันรู้เรื่องเธอดีแล้ว” ท่านราชทูตรับสั่งต่อไป “ฉันรู้ว่าเธอได้ทำอะไรมาบ้างตั้งแต่มาอยู่ยุโรป กิจการที่เธอทำออกจะแปลกและมีประโยชน์อยู่บ้าง ฉันได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานเรื่องเธอให้ทรงพระวินิจฉัยแล้ว และได้รับพระกระแสพระราชดำรัสว่า จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเธอเข้าเป็นนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อีกผู้หนึ่ง ถ้าเธอไม่ขัดข้องและมีความประสงค์จะเรียนต่อไป ฉันตั้งใจจะขอพระบรมราชานุญาตส่งเธอไปเรียนวิชชาต่างประเทศ (Foreign Service) ที่มหาวิทยาลัยยอรช์เตาน์ในอเมริกา ฉันเชื่อว่าวิชชานี้จะเหมาะสำหรับเธอมาก”

ออกจากสถานทูตข้าพเจ้ารู้สึกคล้ายเดิรอยู่ในความฝัน ข้าพเจ้าจะได้เป็นนักเรียนส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว - คนเช่นข้าพเจ้า! แม้ว่าจะเป็นบุตรคนหนึ่งของพระยาวิเศษศุภลักษณ์ และได้เคยอ่านถึงความดีงามต่างๆ ซึ่งพระบรมราชวงศ์จักรีได้ทรงกระทำต่อประเทศสยามดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารของเรา ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยรู้จักเจ้านายพระองค์หนึ่งพระองค์ใดเลย เป็นคนป่า... แต่เป็นคนป่าที่มีการศึกษาอยู่บ้างจึงสามารถจะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระราชวงศ์ซึ่งมีต่อชาติไทยได้เป็นอย่างดี สยามยังคงดำรงตนเป็นอิสสระ เป็นสุขตราบเท่าทุกวันนี้ และจะยังเป็นสุขอยู่เสมอชั่วกัลปาวสานก็เพราะพระราชวงศ์จักรี.

เนื่องจากที่ข้าพเจ้าได้รับความลำบากมาตั้งแต่เด็กๆ และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็มาอยู่เสียที่เมืองนอกกับพวกฝรั่งเกือบตลอดเวลา ความเป็นไปต่างๆ ในเมืองไทยจึงได้เลือนๆ หายจากความสนใจของข้าพเจ้าไปมาก ไม่มีใครเขียนข่าวเล่าไปให้ทราบ และไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเสียเลย ข้าพเจ้าทราบแต่ว่ารัชชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคต ทูลกระหม่อมประชาธิปกฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงใฝ่พระทัยในความทุกข์สุขของประเทศสยามเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสละรายได้เป็นจำนวนหลายล้านอันเป็นส่วนที่พระองค์ควรจะทรงได้รับเพื่อคนไทย และชาติไทย ทรงตั้งสภาอภิรัฐมนตรี ทรงชุบเลี้ยงผู้มีความรู้จริงๆ พวก ‘แอบกิน’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำจัดเสียจนสิ้น ข้าพเจ้าไม่เคยมีโอกาสได้รู้จักพระราชาพระองค์นี้เลย นอกจากจะรู้ได้จากพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งข้าพเจ้ามีไว้ ในห้องที่สโมสรรูปหนึ่งเท่านั้น.

ในเมืองไทยข้าพเจ้าเป็นแต่เพียงตัวตุ่นอะไรตัวหนึ่ง มาอยู่เมืองนอก เมืองไทยเขาก็ลืม ไม่มีใครเคยเชื่อว่าตัวตุ่นเช่นข้าพเจ้าจะทำอะไรได้ แต่มาบัดนี้-พระราชาของชาติไทย-พระราชาของข้าพเจ้า-ทรงเชื่อว่าข้าพเจ้าจะเป็นผู้มีความสามารถจะทรงรับข้าพเจ้าเข้าเป็นนักเรียนส่วนพระองค์ด้วยอีกคนหนึ่ง สำหรับพระราชาที่ดีแล้วใครเลยจะไม่สมัครเป็นข้าเล่า-

ข้าพเจ้าเขียนจดหมายทูลหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรไปว่าในการที่จะเป็นนักเรียนส่วนพระองค์ไปเรียนวิชชาต่างประเทศที่เมืองอเมริกานั้น ข้าพเจ้าไม่มีความขัดข้องเลย และรู้สึกเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุด ดังนั้นเดือนหนึ่งต่อมาข้าพเจ้าก็เริ่มเตรียมตัวจะออกเดิรทาง.

ข้าพเจ้าไปหามิสเตอร์เอ็ดเวอร์ดเบลล์เบ็นสัน ขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อจะไปเป็นนักเรียนหลวงในอเมริกา แกแสดงความเสียใจที่ข้าพเจ้าไม่เป็นคนแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับชีวิตหนังสือพิมพ์ได้ อนุญาตให้ข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งโดยดี แล้วพูดต่อไปว่าระหว่างที่อยู่ในอเมริกาหรือที่ไหน ถ้าข้าพเจ้าต้องการจะส่งอาร์ติเกิลมาลงในหนังสือพิมพ์แล้ว แกจะยินดีลงให้เสมอถ้าอาร์ติเกิลนั้นต้องกับข้อกติกาของหนังสือพิมพ์ที่ได้กำหนดไว้.

สองสามวันก่อนออกเดิรทาง มาเรียเกรย์ไปหาข้าพเจ้าที่โฮเต็ลเบลีส ถนนกล๊อสเตอร์โรด เวลานั้นดึกราว ๑๑ น. แขกอื่นๆ เข้านอนหมดแล้ว เหลือแต่เราสองคนในห้องโถงใหญ่สำหรับนั่งเล่น.

“บอบบี้” หล่อนถามเป็นเชิงตัดพ้อ “ทำไมเธอจึงได้ลาออกเสียจาก ‘ละครโรงใหญ่’ เล่า? เธอจะไปอเมริกา ไม่คิดกลับมาหาพวกเราอีก เธอเป็นบ้าหรือเป็นอะไรไป?”

“เปล่า มาเรียที่รัก” ข้าพเจ้ากำมือหล่อนไว้ “ฉันไปเป็นนักเรียน - ไปอยู่อเมริกาก็เพราะต้องการจะได้เห็นของใหม่ ต้องการ…ต้องการชีวิตใหม่……ต้องการจะลืมของเก่า ฉันได้เป็นนักหนังสือพิมพ์มากว่าสามปีแล้วและฉันรู้สึกเบื่อ”

“งั้นเธอก็เบื่อพวกเรา เบื่อฉันด้วยนะซี?” หล่อนตัดพ้อ “ไม่จริง บอบบี้ เป็นไปไม่ได้ เธอจะเบื่อเราไม่ได้เป็นอันขาด เธอรักเราไม่ใช่หรือ?”

“ฉันรักเธอ มาเรีย” ข้าพเจ้าตอบ “นั่นซี ฉันจึงต้องไปเสียให้พ้น ฉันต้องการให้เธอเป็นสุข…เป็นสุขกับผู้ที่เธอรัก ฉันต้องการจะลืมเธอ แต่…การที่จะลืมผู้ที่เธอต้องการจะจำนั้นเป็นสิ่งที่ยากที่สุด”

“เธอหมายความว่าอะไร บอบบี้?” หล่อนถาม จ้องดูข้าพเจ้าด้วยแววเนตรอันระคนไปด้วยความโกรธ.

“เธอรักอาร์โนลด์ไม่ใช่หรือ มาเรีย?” ข้าพเจ้าถามด้วยเสียงอันแผ่วเบา พยายามหลบตาหล่อน “อาร์โนลด์เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดซึ่งฉันได้รู้จักมา ฉันรักเธอทั้งสองมาก ต้องการให้เธอเป็นสุขและไม่ให้คิดถึงฉัน การที่เธอจะลืมฉันได้นั้นไม่ใช่ของยากสำหรับเธอเลย คิดเสียว่าฉันไม่เคยเป็นคนดี ฉันก็เหมือนกับนักหนังสือพิมพ์อื่นๆ ไปที่ไหนก็ซุกซนที่นั่น ไม่มีความซื่อสัตย์สำหรับเธอเลย”

ทันใดนั้น หล่อนก็โผเข้าซบศีรษะอยู่บนทรวงอกข้าพเจ้า ร้องไห้รำพันอยู่ว่า “บอบบี้ เธอจะคิดอย่างไรสำหรับฉันก็ตาม ฉันต้องการให้เธอเข้าใจไว้เสมอว่าตั้งแต่รู้จักเธอ ฉันไม่เคยรักใครในชีวิต ไม่เคยรักอาร์โนลด์ ฉันรักเธอคนเดียวเท่านั้น และจะขอรักเธอคนเดียวเสมอไปจนโลกถึงที่สุด การที่ฉันพูดถึงเรื่องอาร์โนลด์ให้เธอฟังเสมอก็เพราะต้องการจะหาเรื่องพูดอะไรให้เธอสนุกเท่านั้น เธอเจ็บอยู่ตลอดเวลานี้ บอบบี้ เธอชอบอาร์โนลด์ อาร์โนลด์เป็นเพื่อนที่รักที่สุดของเธอไม่ใช่หรือ?”

แต่_ ถึงวันกำหนด ข้าพเจ้าก็ต้องออกจากลอนดอนโดยสารรถไฟไปลงเรือที่เมืองลิเวอร์พูล มาเรียและอาร์โนลด์ไปส่งข้าพเจ้าถึงเรือ ระหว่างที่อยู่กลางทะเลลึก...มหาสมุทรแอตแลนติค หวนนึกถึงมาเรียขึ้นมาครั้งไร ข้าพเจ้าอดน้ำตาไหลไม่ได้ ข้าพเจ้าจำได้ทุกคำพูดของหล่อนที่ได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าในโฮเตลเบลีส หล่อนไม่เคยรักใครอื่นเลย...ไม่เคยรักอาร์โนลด์ หล่อนรักแต่ข้าพเจ้าคนเดียว แต่ข้าพเจ้าสงสัยหล่อน... โอ-โลก... โลก! โลก!!

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ