บทที่ ๑๙ นครแห่งความฝัน

วันแรกที่อยู่ในเรือ ‘อาเดรียติค’ ข้าพเจ้ารู้สึกหงอย แม้เรือนี้จะใหญ่มีผู้คนโดยสารหนาแน่นครึกครื้น ก็ยังรู้สึกเศร้าคล้ายอยู่คนเดียวในหมู่ชนซึ่งข้าพเจ้าไม่มีส่วนอยู่ด้วยเลย ไม่มีหวังและไม่มีใจที่จะรู้จักใครทั้งสิ้น เช้า-บ่าย-เย็นและค่ำ เรือแล่นอยู่เรื่อยๆ พาข้าพเจ้าไกล…ไกลจากมาเรีย……ไกลจนไม่มีหวังที่จะพบกันได้อีก ทะเลกำลังเงียบ ได้ยินแต่เสียงคลื่นซัดมาถูกข้างเรือเบาๆ ข้าพเจ้ายืนอยู่บนดาดฟ้าชั้นบน จ้องชมกระแสน้ำซึ่งโดนกับข้างเรือ มีฟอสฟอรัสฉายเป็นประกายอยู่พราวในท่ามกลางความมืด.

“นี่ เธอคือบอบบี้ของหนังสือพิมพ์ไทมส์ใช่ไหม?” เป็นเสียงถามมาข้างหลัง.

ข้าพเจ้าเหลียวมาดู แม้ว่าดาดฟ้าจะมืดแต่ก็ยังมีแสงไฟซึ่งออกมาทางหน้าต่างห้องนั่งเล่นช่วยให้ข้าพเจ้าเห็นผู้ที่ทักได้ถนัด เขาเป็นชายรูปร่างไม่ใหญ่โต อายุราวห้าสิบเศษ ศีรษะล้านเบื้องหลัง ผมหงอกประปราย กิริยาท่าทางดูเป็นผู้ดีชาวอังกฤษ.

“ครับถูกแล้ว” ข้าพเจ้าตอบ “ทำไมคุณจึงทราบ?”

“อะไร คุณจำผมไม่ได้ดอกหรือ?” เป็นถ้อยคำที่ย้อนถาม “เราพบกันที่สโมสรหนังสือพิมพ์ที่เขาแนะนำเธอ เราพบกันที่ปารีส มอนตีคาร์โล แลเมืองมาดริด เธอจำไม่ได้เทียวหรือ?”

“เราไม่เคยพูดจากันเลยไม่ใช่หรือครับ?”

“เปล่า ไม่มีโอกาส”

ข้าพเจ้านิ่งคิดอยู่สักครู่ นึกถึงสโมสรที่เฮย์มาร์เก็ต นึกถึงปารีส มอนตีคาร์โล และมาดริด ในที่สุดก็ระลึกขึ้นได้.

“อ้อ คุณเห็นจะเป็น เซอร์เปอร์ซีเวิล ฮัมเฟรย์?” ข้าพเจ้าถาม “ผมจำได้แล้ว”

“ถูกเผงทีเดียว เธอนี่เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เก่งพอใช้”

“ผมเสียใจมากที่จำคุณไม่ได้แต่แรกซึ่งควรจะเป็นหน้าที่ของผมทีเดียว” ข้าพเจ้าพูด “ผมชื่อวิสูตร์ ศุภลักษณ์”

“แหม ชื่อเรียกยากเหลือเกิน” ท่านเซอร์กล่าว “เราจะเรียกเธอว่า บอบบี้ ได้ไหม?”

“แน่นอนเทียวครับ จะสะดวกดีมาก”

“นี่เธอมายืนฝันอยู่ที่นี่คนเดียวทำไม?” ท่านถาม “เข้าไปในห้องกิน ‘แชมเปน’ กันเถิด ฉันเป็นนักดื่ม ‘แชมเปน’ ดื่มอย่างน้อยวันละสามขวดเสมอ ไปเถิด ไปด้วยกัน”

ข้าพเจ้ากับเซอร์เปอร์ซีเวิลเดิรเข้าไปในห้องนั่งเล่นทางหัวเรือ เวลานั้นมีคนโดยสารนั่งเล่นต่อแต้ม และไพ่บริดชกันอยู่เต็มโต๊ะ ท่านเซอร์พาข้าพเจ้าไปที่โต๊ะทางมุมห้องด้านหนึ่ง ซึ่งมีสตรีอายุกลางคนและสตรีสาวผมสีทองหน้าตาสวยนั่งอยู่.

“นี่คือบอบบี้ของหนังสือพิมพ์ไทมส์” ท่านเซอร์แนะนำข้าพเจ้าต่อสตรีทั้งสอง แล้วหันมาพูดกับข้าพเจ้า “นี่ภรรยาของฉัน และนั่นพอลลีเดอร์เวอร์ดลูกสาวของเรา”

ข้าพเจ้าคำนับสตรีทั้งสอง เราสั่นมือกัน แล้วท่านเซอร์ก็เชิญให้นั่งตรงข้ามกับภรรยา ในระหว่างที่กำลังรินเหล้าแชมเปนส่งให้นั้น ท่านเซอร์พูดกับข้าพเจ้าอย่างตลกว่า “พอลลีของเราแต่งงานเมื่อสี่ปีมานี้ เดี๋ยวนี้หย่าแล้ว แต่งงานแล้วหย่าแล้วครบบริบูรณ์ เก่งไหม?”

“ชื่อพอลลีหรือครับ?” ข้าพเจ้าถามแล้วยิ้ม.

“พอลลี นกแก้วของคิงยอร์ชอย่างไรเล่า เธอจำไม่ได้หรือ?”

ข้าพเจ้าหวัวเราะก๊ากใหญ่ เพราะคำพูดอันนี้ของเซอร์เปอร์ซีเวิลทำให้หวนนึกไปถึงนกแก้วตัวหนึ่งที่เราเลี้ยงไว้หน้าสโมสร พอเห็นใครเข้านกนั้นเป็นต้องพูดว่า “ฉันคือพอลลี นกแก้วของคิงยอร์ช”

ข้าพเจ้าหันไปดูพอลลีแล้วยิ้ม หล่อนยิ้มตอบ.

“เซอร์เปอร์ซีเวิล” ข้าพเจ้าพูด “ผมมั่นใจว่าพอลลีเป็นชื่อที่ดีที่สุดในโลก เพราะเป็นชื่อนกแก้วของคิงยอร์ช นกแก้วของเรา ของละครโรงใหญ่”

“ละครโรงใหญ่” เลดีเปอร์ซีเวิลเสริมขึ้น “เราเข้าใจศัพท์นั้นเหมือนกัน”

“นี่บอบบี้” ท่านเซอร์กล่าวท้วง “ฉันไม่อยากให้เธอเรียกฉันว่าเซอร์เปอร์ซีเวิลเลย ดูเคอะจัง เราจะเริ่มสนิทสนมกันเสียตั้งแต่คืนนี้ไม่ได้หรือ? เราจะเรียกเธอว่า บอบบี้ เธอเรียกฉันว่า เปอร์ซี เรียกภรรยาฉันว่า เลดีเปอร์ซีเวิล เรียกลูกสาวฉันว่า พอลลี อย่าไปเรียกเขาว่า มิสซิสเดอร์เวอร์ดนะ พอลลีจะตีเอาเธอตาย”

“ตกลงครับ” ข้าพเจ้าพูดอย่างโล่งใจที่สุด “ผมจากอังกฤษมารู้สึกหงอย ต้องการเพื่อนเหลือเกิน ผมรู้สึกเคราะห์ดีอย่างยิ่งที่ได้มาพบพวกคุณทั้งหมด”

“นี่โรงพิมพ์ส่งเธอไปอเมริกาหรือ?” พอลลีถาม หล่อนมีเสียงขึ้นจมูกเป็นชาวอเมริกันเล็กน้อย.

“เปล่า” ข้าพเจ้าตอบ “ฉันเสียใจที่จะต้องบอกว่าฉันได้ลาออกจากตำแหน่งในละครโรงใหญ่เสียแล้ว ฉันมาเป็นนักเรียนส่วนพระองค์ของพระราชาแห่งสยาม จะไปเรียนวิชชาต่างประเทศที่เมืองวอชิงตัน”

“ตายจริง!” ท่านเซอร์ออกอุทาน “ทำไมจึงลาออกเสียเล่า?”

“ร่างกายของผมไม่แข็งแรงพอสำหรับชีวิตอันบุกบั่นเช่นนั้น” ข้าพเจ้าตอบ.

“แต่ชีวิตหนังสือพิมพ์สนุกมากนะบอบบี้” เลดีเปอร์ซีเวิลกล่าว “พอลลีของฉันก็เคยเป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์มาแล้วเหมือนกัน”

นั่งคุยกันจนดึก พอได้เวลาเราต่างก็ลากันลงไปนอน.

ระหว่างสิบวันที่เรือออกจากลิเวอร์ปูลจนถึงนครนิวยอร์คแห่งประเทศอเมริกา ความสนิทสนมชอบพอระหว่างตระกูลเปอร์ซีเวิลฮัมเฟรย์กับข้าพเจ้าได้เป็นไปอย่างไกลจากที่ได้เคยคาดไว้มาก ตระกูลนี้ได้เคยท่องเที่ยวมาแล้วรอบโลก และชอบคุยกับข้าพเจ้าถึงสิ่งต่างๆ ที่ตนได้เคยพบมาแล้วตามประเทศที่ตนเคยไป ส่วนข้าพเจ้าก็เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบในยุโรป ความรู้เรื่องการท่องเที่ยวช่วยให้การสนทนาของเรากลมเกลียวสนุกสนาน

เซอร์เปอร์ซีเวิลฮัมเฟรย์เป็นพ่อค้าโบราณวัตถุที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก มีสำนักงานเป็นห้างใหญ่อยู่ที่ถนนนิวบอนด์สตรีต เมืองลอนดอน และถนนที่ ๘๗ ในนครนิวยอร์ค กับมีสาขาอยู่ที่กรุงโตเกียว เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง และกัลกัตตา กิจการนี้ทำให้ท่านเซอร์ต้องท่องเที่ยวตรวจตราอยู่เสมอ ซื้อวัตถุโบราณจากเมืองนี้ไปขายเมืองโน้น ทำเช่นนี้อยู่ตั้งแต่มหาสงครามเลิก ตั้งตัวขึ้นได้จนเราเรียกกันว่าเป็นเศรษฐี อยู่ในเรือ ‘อาเดรียติค’ สองวันข้าพเจ้าจึงทราบได้ว่าเซอร์เปอร์ซีเวิลเสียตาไปข้างหนึ่งเนื่องจากมหาสงคราม นัยน์ตาข้างนั้นใส่นัยน์ตาแก้วแทน เคลื่อนที่ไม่ได้.

เลดีเปอร์ซีเวิลเป็นสตรีกลางคนซึ่งพอเห็นต้องทราบดีทันทีว่าเมื่อสาวเธอเป็นคนสวยมาก ผมซึ่งเคยเป็นสีทองงามตามธรรมชาติก็จางเป็นสีเทาอ่อน ตามวงพักตร์ซึ่งมีสง่างามก็มีรอยแห่งความชราปรากฏอยู่ทั่ว นัยน์ตาซึ่งเคยคมเป็นสีฟ้าแก่ ก็ไร้รัศมีแห่งความสดชื่นเสียแล้ว ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ปราศจากความเมตตา ทำให้เราเป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วทำให้เราแก่ ทำให้เราตายเพื่อเปิดช่องให้คนอื่นมาแทนที่ แต่_ยังมีสิ่งวิเศษสิ่งหนึ่งซึ่งชีวิตได้อำนวยให้เลดีเปอร์ซีเวิลมาแล้ว สิ่งนั้นคือความสุขแห่งชีวิตแต่งงานของเธอ เธอไม่เคยแตกร้าวกับสามีเลย เธอเป็นคนชอบสนุก คุยเก่ง อัธยาศัยสุภาพ.

พอลลีเดอร์เวอร์ด มีผมสีทอง ตาสีน้ำเงิน แก้มเป็นพวงมีลักยิ้มทั้งสองข้าง ผอมสูง แต่งงานแล้ว อย่าแล้ว จะเป็นเพราะอะไรข้าพเจ้าไม่ทราบ โลกได้ให้ความรู้ในเรื่องชีวิตแก่พอลลีมากที่สุดเท่าที่จะให้ผู้หญิงอายุยี่สิบเจ็ดพึงทราบได้ หล่อนสูบบุหรี่ ดื่ม เล่นการพะนัน หล่อนรู้จักโลกดีเกินที่จะรักชายใดยิ่งไปกว่าเป็นเพื่อน พอลลีชอบเป็นเด็ก หล่อนกับข้าพเจ้าเล่นเกมต่างๆ ในเรือด้วยกันเสมอ หล่อนเรียกข้าพเจ้าว่า ‘บอบบี้’ หรือ ‘น้องชาย’ ส่วนข้าพเจ้าเรียกหล่อนว่า ‘พอลลี’ หรือ ‘พี่สาว’

ข้าพเจ้าเป็นสุขสนุกสบายกับคนทั้งสามนี้ตลอดทางที่มาในเรือ เรากินเข้าร่วมโต๊ะกันทุกมื้อนั่งคุยอยู่ด้วยกัน เป็น ‘พวก’ (Party) เดียวกัน เห็นเซอร์เปอร์ซีเวิลทำให้นึกถึง ‘แด็ดดี’ หรือนายร้อยเอกแอนดรูที่เมืองเบ็กสฮิลล์ เลดีเปอร์ซีเวิล คือ มิสซิสแอนดรู ส่วนพอลลีนั้นทำให้นึกไปถึงสเตเฟนี เมื่อหล่อนโตเป็นสาวแล้ว สำหรับพอลลี ข้าพเจ้ารู้สึกว่ายังคงเป็นเด็กอยู่ด้วยกัน หล่อนเป็นพี่สาวของข้าพเจ้าโดยแท้จริง.

ตระกูลฮัมเฟรย์ชอบดื่มเหล้าแชมเปน ข้าพเจ้าก็เลยต้องเป็นนักดื่มแชมเปนไปด้วย ระหว่างที่เรือ ‘อาเดรียติค’ แล่นอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติคเราสนุกสนานกันมาก เราดื่มแชมเปน เล่นปิงปอง กอล์ฟ บนดาดฟ้าเรือและเกมต่างๆ

วันหนึ่ง เซอร์เปอร์ซีเวิลถามข้าพเจ้าว่า “บอบบี้ ช้างเผือกที่บ้านเธอน่ะมันขาวจริงๆ หรือ-ขาวอย่างสำลีหรืออะไรกัน?”

“ไม่ขาว เปอร์ซี” ข้าพเจ้าตอบ “ช้างเผือกสีเทามีสีดำปน”

“นี่ ดูซี” ท่านเซอร์พูดเป็นเชิงล้อ “เธอทิ้งบ้านเมืองไปอยู่ประเทศอื่นเสียนานจนลืมสีของช้างเผือกเสียแล้ว ช้างเผือกสีขาวจ๊วกทีเดียวรู้ไหม? ขาวเหมือนสำลี”

“ไม่จริง เปอร์ซี” ข้าพเจ้าพูดหวัวเราะ.

“ฉันจะซื้อให้เธอตัวหนึ่ง ก่อนเธอกลับเมืองไทย” ท่านเซอร์พูด “ซื้อช้างเผือกที่ขาวอย่างสำลีทีเดียวสำหรับให้เธอไปอวดเพื่อนบ้าน”

“เธอจะไปซื้อที่ไหน?”

“ฉันเห็นอยู่ตัวหนึ่งที่ญี่ปุ่น”

ตั้งแต่วันนั้นมา ข้าพเจ้าก็เฝ้ารอที่จะเห็นช้างเผือกสีขาวอย่างสำลีซึ่งจะได้เป็นของกำนัลก่อนกลับเมืองไทย.

สองวันต่อมาเรือก็ถึงนครนิวยอร์ค นครแห่งความฝัน นครซึ่งหรูและเจริญที่สุดในสหรัฐอเมริกา โลกใหม่!

เจ้าหน้าที่กรมตรวจคนเข้าเมืองของประเทศอเมริกาเอางานเอาการมากเสียเหลือเกิน พอเรือจอดก็มีเจ้าหน้าที่ขึ้นมาตรวจว่าจะมีโรคระบาดชะนิดใดหรือของหวงห้ามเช่นฝิ่นเถื่อน สุรา ฯลฯ อยู่บ้างหรือไม่ ตรวจอยู่หนึ่งชั่วโมงเต็มจึงได้อนุญาตให้คนโดยสารลงจากเรือได้ ลงไปแล้วยังมีเจ้าพนักงานตรวจหนังสือเดิรทางซักถามอย่างถี่ถ้วนถึงกิจการส่วนตัวของเรา แล้วรื้อของในหีบเครื่องแต่งตัวออกตรวจกระจุยกระจายไปทุกชิ้น กว่าจะหลุดจากด่านนี้ไปได้ก็ต้องเสียเวลาอีกชั่วโมงหนึ่ง ครั้นแล้วเรา-พวกเซอร์เปอร์ซีเวิลและข้าพเจ้า-ก็จับรถแท๊กซี่หรูคันหนึ่งไปยังภัตตาคารวอลดอทฟแอสตอเรีย ซึ่งเป็นภัตตาคารที่ใหญ่ หรู และแพงที่สุดในนครนิวยอร์ค.

ข้าพเจ้ามาทราบภายหลังว่าเจ้าคุณราชทูตได้ส่งผู้ช่วยทูตคนหนึ่งมารับข้าพเจ้าที่นิวยอร์ค แต่เราพลัดไม่พบกันเลย ดังนั้นเซอร์เปอร์ซีเวิลจึงชวนให้ข้าพเจ้าไปอยู่กับพวกแกสักวันสองวันเพื่อเที่ยวในนิวยอร์คเสียก่อนจึงค่อยเดิรทางไปเมืองวอชิงตัน.

ข้าพเจ้าตื่นนิวยอร์ค ตื่นอเมริกามาก รู้สึกราวกับอยู่ในเมืองสวรรค์ ลอนดอน ปารีส โรม เบอร์ลิน และนครหลวงต่างๆ ในยุโรปที่เคยเห็นมาแล้วก็รู้สึกว่าไม่มีเมืองใดเหมือนนิวยอร์ค ตึกรามอันสูงเยี่ยมเทียมฟ้า นับไม่ถ้วนว่ามีกี่ชั้น ถนนหนทางอันหรูงาม พลเมืองอันหนาแน่น ความมั่งคั่งสมบูรณ์ ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ถนนฟิฟต์แอเวนนิวย์ บรอดเวย์ ฯลฯ และโคมไฟซึ่งจุดไว้สว่างราวกับกลางวัน ทำให้ข้าพเจ้าสนุกเพลิดเพลินอย่างเหลือที่จะพรรณนาได้ถูก ข้าพเจ้าไม่เคยนึกเลยว่าโลกเราจะเจริญได้ถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้าเคยเห็นภาพยนตร์เยอรมันเรื่องหนึ่งชื่อ ‘Metropolis’ หรือ ‘โลกอนาคต’ มาแล้ว จึงทำให้รู้สึกได้ทันทีว่าในไม่ช้านครนิวยอร์คก็คงจะเป็นเช่นนั้นเป็นแท้.

ข้าพเจ้าเคยมีอาชีพในเชิงหนังสือพิมพ์มาแล้วตั้งสามปีเศษ มาถึงนิวยอร์คถ่านไฟเก่าแห่งความรู้สึกนั้นก็เป็นประกายรุ่งโรจน์ขึ้นอีกเป็นคำรบสอง เที่ยวไปตามนิวยอร์ค ข้าพเจ้ามีเรื่องที่จะเขียนลงหน้าหนังสือพิมพืได้มากมาย เซอร์เปอร์ซีเวิลคุ้นเคยกับพวกหนังสือพิมพ์ในอเมริกามาก ดังนั้นท่านจึงพาข้าพเจ้าไปเที่ยวตามที่ทำการหนังสือพิมพ์ต่างๆ เกือบทุกแห่ง เป็นความรู้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย.

ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ ข้าพเจ้าพบ กิลเบอร์ตแอลเล็นโฮป เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ด้วยกันเมื่อครั้งอยู่อังกฤษ กิลเบอร์ตยังไม่ทราบว่าข้าพเจ้าได้ลาออกจากตำแหน่งผู้แทนเสียแล้ว ดังนั้นพอเห็นก็ดีใจ เต้นแร้งเต้นกาโดดเข้ามากอดข้าพเจ้า ถือวิสสาสะว่าโรงพิมพ์ได้ส่งข้าพเจ้ามาสืบหาเรื่องตามเคย.

“เคราะห์ดีที่เธอมา บอบบี้” กิลเบอร์ตพูด “กันหงอยอย่างนรกทีเดียว จะมาอยู่นานหรือ?”

เวลานั้นเซอร์เปอร์ซีเวิลกำลังยืนอยู่เบื้องหลัง ข้าพเจ้าจึงผละตัวออกจากกิลเบอร์ตอย่างสุภาพ แล้วกล่าวเป็นเชิงแนะนำว่า “กิลเบอร์ต เธอรู้จักเซอร์เปอร์ซีเวิล………?”

“แฮลโหล เซอร์เปอร์ซีเวิล” ข้าพเจ้าแปลกใจในการถือวิสสาสะของกิลเบอร์ต “เรารู้จักกันมานานแล้วไม่ใช่หรือครับ? ผมจำได้ว่าได้มีโอกาสพบท่านที่สโมสรหนังสือพิมพ์ครั้งหนึ่งนาน… หลายปีมาแล้ว”

“จริง กิลเบอร์ต” ท่านเซอร์ตอบ “เราเคยรู้จักกันดี”

กิลเบอร์ตชวนเราออกไปรับประทานน้ำชาที่ร้านช๎วอฟต์ เลยคุยกันถึงเรื่องต่างๆ ของเราที่ได้พบเห็นระหว่างที่จากกันไป พอทราบว่าข้าพเจ้าได้ลาออกเสียจากตำแหน่งผู้แทนแล้ว กิลเบอร์ตตกตะลึง พลางก็กล่าวคำสบถสาบาลอย่างพื้นเสีย.

“พวกเราอยู่ด้วยกันที่นี่-นิวยอร์ค-หลายคนนะ บอบบี้” เขากล่าวอย่างเศร้า “มี ยูเลีย แอนเฮอร์ส บอบเฮนริคสัน และคนอื่น เราเคยพูดกันเสมอว่าคงจะได้พบเธอ หรือพวกทแกล้วทหารสามเกลอสักวันหนึ่งที่ในอเมริกาเป็นแน่ เธอรู้ไหมว่าพวกเราเรียก เธอ มาเรีย และอาร์โนลด์ว่า ทแกล้วทหารสามเกลอ”

“ทราบแล้ว” ข้าพเจ้าตอบ.

“ดูไม่เห็นเธอจากกันได้เลย… เธอทั้งสาม” เขาพูด “แต่ในระหว่างเพื่อนทั้งสองของหล่อน เรามั่นใจกันแล้วว่า มาเรียได้เลือกเอาเธอเป็นคู่รัก เมื่อไรจะลงเอยกันเสียทีเล่า บอบบี้ กันจะได้ไปเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว”

“ลงเอย………” ข้าพเจ้าพูดย้อนคำด้วยสำเนียงอันเศร้า “เห็นจะไม่มีวันเสียแล้ว กิลเบอร์ต ละครแห่งชีวิตเรื่องนั้นได้ปิดฉากเสียแล้ว”

“ทำไม? เธอโกรธกันหรือ?”

“เปล่า แต่กันได้ออกเสียจากคณหนังสือพิมพ์แล้ว กันเป็นนักเรียนของพระราชา และกันตั้งใจจะกลับไปเมืองไทยในปีสองปีนี้แหละ”

“กลับไปเขียนเรื่อง ‘ละครแห่งชีวิต’ ……?”

“ถูกแล้ว กิลเบอร์ต”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ