บทที่ ๑๔ คำตักเตือนของเพื่อนเก่า

หกเดือนได้ผ่านพ้นไป ข้าพเจ้ายังคงสามารถตรากตรำทำหน้าที่ที่ท่านผู้ช่วยบรรณาธิการจัดให้ทำโดยสะดวก สำหรับผู้ที่อยู่ภายนอก น้อยคนนักที่จะทราบความแตกต่างระหว่างผู้แทนและผู้ส่งข่าวหนังสือพิมพ์ไทมส์ ผู้แทนเป็นผู้ที่ได้รับเกียรติยศดีพอที่จะไปอินเตอร์วิวกับผู้ที่มีชื่อเสียงใหญ่โตทั้งหลายในนามของหนังสือพิมพ์ ต้องเป็นผู้รู้พงศาวดารของโลกเพียงพอที่จะสนทนากับผู้เป็นใหญ่ได้ โดยไม่มีข้อตะขิดตะขวงใจเกรงว่าวิชชาการที่ตนพูดไปนั้นจะผิด ต้องรู้ความหมาย ความต้องการ หรือ ‘เข็ม’ ของหนังสือพิมพ์ของตน ส่วนผู้ส่งข่าวคือพวกที่เที่ยววิ่งร่อนหาข่าวตีหัวหมาปาหัวเจ๊กมาใส่ในหน้าหนังสือให้เต็มไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น การที่ได้เลื่อนจากผู้ส่งข่าวเป็นผู้แทน พวกหนังสือพิมพ์ถือกันว่าเป็นเกียรติยศอันสำคัญ ความสำเร็จในกิจการ เงินเดือนขึ้น.

ข้าพเจ้าได้เลื่อนจากผู้ส่งข่าวเป็นผู้แทน พวกเพื่อนๆ ที่โรงพิมพ์และสโมสรช่วยกันออกเงินเลี้ยงให้เป็นเกียรติยศที่เรสเตอรอง เปติริชต์ในโซโห นี่หมายความว่าข้าพเจ้าจะได้มีโอกาสเที่ยวไปในประเทศต่างๆ เช่นเดียวกับมาเรีย มีเกียรติยศพอที่จะไปอินเตอร์วิว ซินยอร์ มูโซลินี เมสิเออร์ ปวงกาเรย์ ประธานาธิบดีคูลลิดย์ บารอนทะนากะ และนายพลเชียงไกเช๊ก ฯลฯ

วันหนึ่ง ทิ้งอาร์โนลด์ไว้ที่โรงพิมพ์ ข้าพเจ้าเดิรไปรับประทานน้ำชาที่ไลออนส์ในปิกาดิลี เซอกาสแต่ผู้เดียว นั่งอยู่สักครู่มีสตรีสวมเสื้อขนสัตว์สีเทา สวมหมวกจีบเป็นริ้วเดิรเข้ามา พอถึงโต๊ะ หล่อนก็หยุดจ้องดูข้าพเจ้าคล้ายคนรู้จักกันมานาน พลางยิ้มน้อยๆ ถามว่า “มิสเตอร์วิสูตร์ เธอจำฉันไม่ได้หรือ?”

ข้าพเจ้าลุกขึ้นยืนต้อนรับหล่อนทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบว่าหล่อนคือใคร.

“กู๊ดอาฟเตอร์นูน” ข้าพเจ้าพูดอย่างลังเลใจ แล้วเชิญให้หล่อนนั่งตรงข้ามที่โต๊ะเดียวกัน หล่อนมีวงพักตร์อันงามนัยน์ตาสีน้ำเงิน ปากนิดจมูกหน่อย ผมสีทองซึ่งสยายออกมานอกหมวก นั่งคิดอยู่สักครู่ก็ระลึกขึ้นได้ อา! แม่ตุ๊กตาแม่เต่าของประดิษฐ์นั่นเอง.

“มิสแคทลินไมลส์” ข้าพเจ้าพูด “ฉันไม่ได้พบเธอนาน ขอโทษที่จำเธอไม่ได้ตั้งแต่แรก”

“ทำไมเธอจึงไม่ไปหาเราที่บ้านบ้าง?” แคทลินถาม “เธอโกรธเคืองเราด้วยเรื่องอะไร? ประดิษฐ์ไปทำอะไรขึ้นหรือ?”

“เปล่า ประดิษฐ์ไม่เคยทำอะไรขึ้นเลย” ข้าพเจ้าตอบด้วยเสียงอันแน่นแฟ้น “แต่ฉันเป็นคนที่มีธุระยุ่งเสมอ จะไปไหนก็ลำบาก”

“ฉันรู้เรื่องราวของเธอมากนะ มิสเตอร์วิสูตร์” หล่อนพูด “ฉันรู้จักอีดิทซ์ มาเชิล”

“อีดิทซ์ มาเชิล!” ข้าพเจ้าทวนคำ “ผู้แทนหนังสือพิมพ์เดลีครอนนิเกิล?”

“ถูกแล้ว” หล่อนตอบรับ “อีดิทซ์เคยพาฉันไปที่สโมสรหนังสือพิมพ์สองครั้ง แต่ฉันไม่เคยพบเธอที่นั่นเลย เคราะห์ร้ายจัง”

“ฉันเสียใจมากเหมือนกันที่ไม่มีโอกาสได้พบเธอที่นั่น ฉันเคยพูดกับอีดิทซ์ มาเชิลสองสามครั้ง ดูสนุกสนานดี เธอชอบหล่อนมากหรือ?”

“เราเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ” แคทลินตอบ.

ทันใดนั้น แจ๊กปาร์เกอร์ สหายที่โรงพิมพ์เดิรตรงเข้ามาหาข้าพเจ้าอย่างรีบร้อน.

“บอบบี้” เขาพูด “เอ็ดดี้ต้องการอาร์ติเกิลอันเมื่อวานนี้ของเธอ สั่งมาว่าให้เอาไปที่โรงพิมพ์เดี๋ยวนี้”

“กันฉีกทิ้งเสียแล้ว” ข้าพเจ้าตอบ.

“ตายจริง บอบบี้” แจ๊กปาร์เกอร์พูดอย่างตกใจ “เธอมีอะไรอื่นบ้างไหม?”

“มี ‘สกู๊ป’ อยู่อีกอันหนึ่งราวสองพันคำ” ข้าพเจ้าตอบ “ลื้อเอาไปให้เอ็ดดี้ทีซี แจ๊ก”

“ได้ บอบบี้” ปาร์เกอร์ตอบ “สำหรับพรุ่งนี้ เอ็ดดี้บอกให้ลื้อไปอินเตอร์วิวชาลส์เอคเจอร์ตัน แล้วเขียนอาร์ติเกิลส่งไปให้เร็วที่สุด”

“ได้”

ข้าพเจ้าหยิบข่าวสองพันคำจากกะเป๋าใน ส่งให้แจ๊ก.

“มิสไมลส์” ข้าพเจ้าพูด “ฉันขอแนะนำให้เธอรู้จักแจ๊กปาร์เกอร์ แจ๊ก นี่มิสไมลส์”

จับมือกันอยู่สักครู่ ปาร์เกอร์ก็ลาผลุนผลันออกไป.

“เธอนี่เป็นคนมีชื่อเสียงจริงนะ?” แคทลินพูด “เพื่อนของเธอเขาเรียกเธอว่าบอบบี้ทั้งนั้น ชื่อนี้มาจากไหนกัน?”

“ฉันก็ลืมเสียแล้ว” ข้าพเจ้าตอบ “เรื่องมันมาอย่างไรกันก็ไม่ทราบ”

“เธอโกรธกับประดิษฐ์หรือ!”

“เปล่า เราเป็นเพื่อนกัน”

“ประดิษฐ์บอกฉันว่าเขาพบเธอเพียงสองครั้งเท่านั้นตั้งแต่เธอมาเมื่อสองปีมานี้?”

“เราไม่เคยมีเรื่องที่จะต้องพบกันนัก มิสไมลส์”

“วันนี้เธอว่างไม่ใช่หรือ?” หล่อนถาม “ไปบ้านเราสักครู่ไหมเล่า?”

“ฉันอยากดูภาพยนตร์เหลือเกิน เพราะไม่ได้ดูมานานแล้ว” ข้าพเจ้าตอบอย่างสุภาพ “ที่รีแอลโตมีหนังสนุกมาก เธอไปกับฉันไหมเล่า?”

“ไปซี บอบบี้” หล่อนตอบ “ให้ฉันเรียกเธอว่าบอบบี้นะ?”

“ได้ซี มิสไมลส์!”

“เธอเรียกฉันว่า แคทลิน-”

จะเป็นการบังเอิญอย่างไรไม่ทราบ วันนั้นข้าพเจ้า-ในระหว่างที่เดิรอยู่กับแคทลินไมลส์-ต้องเผชิญหน้ากับคนทุกคนที่ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะพบ ในขณะที่เรา-แคทลินและข้าพเจ้า-สอดแขนกันเดิรไปตามถนนอันหนาแน่นไปด้วยมหาชน ชั้นแรกเราพบประดิษฐ์บุญญารัตน์ ข้าพเจ้าสะดุ้งทั้งตัวเพราะเกรงว่าประดิษฐ์จะสงสัยไปต่างๆ อาจทำให้เป็นทุกข์ไปก็ได้ แต่สำหรับแคทลินไมลส์-หล่อนหามีความสะดุ้งสะท้านอะไรไม่ อิริยาบถของหล่อนยังคงเป็นไปตามธรรมดา ส่วนประดิษฐ์นั้นข้าพเจ้าอาจสังเกตได้จากสีหน้าทันทีว่าไม่ชอบ.

“แฮลโหล แคทลิน แฮลโหล วิสูตร์!” เขาทักอย่างพยายามระงับความกะตือรือร้นไว้ภายใน “นี่จะไปเที่ยวไหนกัน?”

“เธอแปลกใจหรือ ประดิษฐ์ ที่เห็นฉันมาเที่ยวกับบอบบี้?” หล่อนถาม.

“แปลกใจมาก แคทลิน” เขาตอบอย่างจริงใจ.

“ก็เรารู้จักกันมานานแล้ว” หล่อนอธิบาย “และเราได้เคยไปเที่ยวด้วยกันเสมอ”

เวลานั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นคนปราศจากมรรยาทคงจะออกเสียงคัดค้านลั่นอยู่กลางถนนเป็นแน่ เพราะคำมุสาของแคทลินทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกวิตกและชังหล่อนมาก นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้พบกันหลังจากวันที่ข้าพเจ้าไปที่บ้านหล่อนเมื่อหกเดือนเศษมานี้.

ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจเป็นล้นพ้นเมื่อได้ยินประดิษฐ์พูดตัดบทแคทลินอย่างจังว่า “ไม่จริงดอก แคทลิน เธอพูดปด ฉันไปเที่ยวกับวิสูตร์ทุกวันและฉันรู้”

“เอ๊ะ บอบบี้” แคทลินหันมาพูดกับข้าพเจ้าอย่างงง “ก็เธอบอกฉันว่าเธอไม่ได้พบประดิษฐ์มาสองปีแล้ว?”

ข้าพเจ้าหวัวเราะแล้วตอบว่า “มิสไมลส์ เราทั้งสามเห็นจะพูดปดกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นฉันขอออกความเห็นว่าเราควรไปดูหนังที่รีแอลโตด้วยกันทั้งสามคนจะสนุกมาก”

ต่างคนต่างนิ่งคิดกันอยู่เป็นครู่ ข้าพเจ้าเสริมขึ้นว่า “อย่างไร ประดิษฐ์ เธอไม่ไปกับเราหรือ?”

“กันมีธุระจะต้องไปที่อื่น” ประดิษฐ์ตอบช้าๆ “พบกันวันหลังนะ วิสูตร์ กันรู้แล้วว่าลื้ออยู่ที่ไหน”

“ตกลง” ข้าพเจ้ากล่าว “ไปหากันพรุ่งนี้เวลา ๔ โมงเย็นไปกินน้ำชาด้วยกัน”

“ดีแล้ว กันจะไป” ประดิษฐ์ตอบ “กู๊ดบายแคทลิน”

“กู๊ดบาย ประดิษฐ์”

เสร็จแล้วเราก็ตั้งต้นออกเดิรต่อไป.

“บอบบี้” หล่อนพูด “ถ้าเธอเอาประดิษฐ์มาดูหนังกับเรา ฉันจะต้องฆ่าเธอเสียทีเดียว”

“ทำไมเธอจึงปดประดิษฐ์อย่างนั้นด้วย?” ข้าพเจ้าถามอย่างพื้น “ฉันไม่เห็นว่าเธอควรจะทำเลย”

“ฉันเกลียดประดิษฐ์” หล่อนตอบอย่างขึ้งเคียด “เขาเป็นคนขี้หึงเหลือเกิน ทำราวกับจะมาเป็นสามีฉันฉะนั้น”

“เธอควรจะให้อภัย” ข้าพเจ้าพูดไกล่เกลี่ย “ประดิษฐ์ไม่มีโอกาสสมาคมกับผู้ชายมากนัก เขาเคยอยู่กับผู้หญิงตั้งแต่เมืองไทยมาแล้ว ก็ต้องเป็นคนขี้หึงเป็นธรรมดา ทำไมเธอไม่พูดกับเขาดีๆ ให้เข้าใจเล่า?”

“ขี้เกียจรำคาญ” หล่อนพูดอย่างทิ้งหางเสียง.

ได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นการบังเอิญอย่างเหลือที่จะคาดได้ถูก ดังนั้นพอถึงหน้าโรงภาพยนตร์ เราก็พบ-มาเรียเกรย์และอาร์โนลด์เข้าอีก ข้าพเจ้าสะดุ้งทั้งตัว รู้สึกหวั่นไปว่ามาเรียจะเป็นเช่นประดิษฐ์.

“แฮลโหล บอบบี้” หล่อนพูดพลางเดิรเข้ามาหาเราอย่างยิ้มละไม “เธอจะไปไหน? เข้าดูหนังกันดีกว่า”

ข้าพเจ้าแนะนำให้คนทั้งสามรู้จักกัน แล้วก็ซื้อตั๋วเข้าดูภาพยนตร์.

“บอบบี้” มาเรียกะซิบถามข้าพเจ้าขณะที่กำลังนั่งดูภาพยนตร์ “มิสไมลส์เป็นเพื่อนของเพื่อนเธอไม่ใช่หรือ?”

“ฉลาดตามเคย มาเรีย” ข้าพเจ้าชม “แต่ทำไมเธอจึงรู้?”

“เธอจำได้ไหมเมื่อสามสี่เดือนมานี้” หล่อนถาม “เธอเคยบอกฉันถึงเรื่องตุ๊กตาแม่เต่า? ฉันยังไม่ลืม มิสไมลส์เหมือนตุ๊กตาแม่เต่าไม่มีผิด”

“เราพบเพื่อนมิสไมลส์ที่ลอนดอนแปวิเลียนก่อนพบเธอที่หน้าโรงหนัง” ข้าพเจ้าพูด.

“ตายจริง!” หล่อนออกอุทาน “แล้วอย่างไรกันเล่า?”

“สนุกจัง ฉันจะเล่าให้เธอฟังวันหลัง”

หล่อนเอาแขนสอดแขนข้าพเจ้าแล้วก็ดูภาพยนตร์ต่อไป.

“มาเรีย” ข้าพเจ้าถามเมื่อเงียบไปแล้วสักครู่หนึ่ง “เธอมากับอาร์โนลด์ อาร์โนลด์เป็นเพื่อนของเพื่อนเธอเหมือนกันไม่ใช่หรือ?”

“ไม่ใช่” หล่อนกะซิบตอบ “อาร์โนลด์เป็นเพื่อนของคู่รักฉัน เธอไม่หึงไม่ใช่หรือ?”

“ไม่หึงเลย มาเรียยอดที่รัก” ข้าพเจ้าตอบ “ชีวิตเรายาวไม่พอที่จะเที่ยวไปหึงคนโน้นคนนี้ไม่เข้าเรื่อง”

พอดูภาพยนตร์จบรอบแล้ว ข้าพเจ้าก็พาแคทลินขึ้นรถ ‘แท๊กซี่’ ตั้งใจจะพาไปส่งถึงบ้านหล่อนที่พัตนีย์.

“เธอกับมิสเกรย์นี่ช่างเคราะห์ดีเสียจริงๆ หล่อนกล่าวช้าๆ “เป็นคู่รักกัน แต่มีใจกว้างขวางด้วยกันทั้งคู่”

ตั้งแต่วันนั้นมา ข้าพเจ้าเคยรำพึงอยู่บ้างว่า จะมีวันใดบ้างไหมหนอที่แคทลินจะทราบความจริงแห่งฐานะของมาเรียและข้าพเจ้าซึ่งมีต่อกัน......?

ประดิษฐ์บุญญารัตน์มาหาข้าพเจ้าที่บ้านเย็นวันรุ่งขึ้น เราพูดกันอยู่นานถึงเรื่องต่างๆ บังเอิญเป็นเวลาที่อาร์โนลด์ไม่อยู่เราจึงได้มีโอกาสสนทนากันได้เต็มที่ มาพบกันครั้งนี้ข้าพเจ้ารู้สึกไม่แน่ว่าเมืองนอกได้ทำให้ประดิษฐ์เป็นคนดีขึ้นหรือดีเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อครั้งอยู่เมืองไทยข้าพเจ้าเคยนึกว่าประดิษฐ์เป็นคนใจโอบอ้อมอารีที่สุดคนหนึ่ง และเคยเชื่ออยู่ว่าจะเป็นคนเช่นนั้นเสมอไป เมืองนอกคงมีแต่จะทำให้เป็นคนดีขึ้นหรือดีเลิศ ​แต่ก็นั่นแหละ ท่านเอ๋ย ในโลกนี้ถ้าเราหวังมาก เราก็จะต้องเสียใจทุกครั้งไป.

ตลอดเวลาที่ประดิษฐ์พูดตักเตือนข้าพเจ้าถึงเรื่องมาเข้าอยู่ในสำนักพวกหนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้านั่งตรับฟังอยู่ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง หวังว่าคงจะมีเหตุผลดีพอมาตักเตือนว่ากล่าว บางคราวก็ใช้ภาษาที่แรงจนใกล้เป็นหยาบ แต่ข้าพเจ้าก็คงทนนิ่งฟังอยู่ได้ด้วยดวงหน้าอันยิ้มละไม ข้าพเจ้าปล่อยให้พูดไปคนเดียว...พูดไปเรื่อยจนเกือบไม่มีอะไรจะพูดต่อไปได้อีก.

คำตักเตือนของประดิษฐ์มีย่อๆ ว่าดังนี้ การที่ข้าพเจ้ามาเข้าพวกหนังสือพิมพ์ หมายความว่าข้าพเจ้ามาเหลว มาผลาญเงินซึ่งท่านบิดาเหลือไว้เพื่อสำหรับเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยใช่เหตุ กลับไปเมืองไทยก็จะได้ชื่อว่ากลับไปมือเปล่า ไม่มีคุณวุฒิ ไม่มีดีกรี ไปทำงานที่ไหนใครเขาจะรับ ข้าพเจ้าจะเรียกตนเองว่าเป็นคนมีการศึกษาที่ดีได้ละหรือ? ชีวิตภายหน้าของข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไร?

แม้คำตักเตือนนี้ออกจะแรง แต่ข้าพเจ้าก็ยังอดชมความตรงไปตรงมาของประดิษฐ์ไม่ได้ เขาถือเสียว่าเคยช่วยเหลือข้าพเจ้ามาก่อนที่เมืองไทย เคยช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากห้วงแห่งความหายนะของชีวิตบางอย่าง แต่ประดิษฐ์หาคิดไม่ว่าระหว่างสองปีที่เราจากกัน ข้าพเจ้ารู้ถึงความเป็นไปของโลกมาบ้าง ได้อยู่ในสมาคมที่ดี ทั้งได้เห็นและได้ยินมามาก.

“ประดิษฐ์” ข้าพเจ้าถามขึ้นในที่สุด “สำหรับความคิดของเธอ คนที่มีการศึกษาที่ดีคือคนชะนิดใด?”

“คนที่ได้มีโอกาสอย่างลื้อ” เขาตอบอย่างฉาดฉาน “จะไปอยู่มหาวิทยาลัยที่ไหนก็ได้”

“เธอหมายความว่าคนที่ได้มีโอกาสไปเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งที่โลกนิยม?” ข้าพเจ้าย้อนถาม.

“จริง”

“ยังงั้นก็คนที่มั่งมีเท่านั้นซีที่จะได้ชื่อว่าเป็นคนมีการศึกษาที่ดี คนจนไม่มีเงินพอที่จะไปทำเช่นนั้นได้ คนจนมากกว่าคนรวยหลายหมื่นหลายพันเท่านัก ถ้าคนจนไม่มีโอกาสได้เป็นผู้มีการศึกษาที่ดีบ้างแล้ว โลกจะดำรงอยู่ไหวหรือ?”

“กันไม่ต้องการจะพูดกับลื้อถึงเรื่องโลกหรืออะไรบ้าๆ เช่นนั้น” เขาค้านเสียงแข็ง “กันต้องการจะพูดเป็นส่วนตัวต่างหาก”

“ประดิษฐ์ เธอก็ได้พูดมามากแล้ว” ข้าพเจ้าตอบพยายามทำเสียงให้เป็นธรรมดาที่สุด “กันรู้สึกจำเป็นที่จะต้องพูดตรงไปตรงมากับเธอบ้าง กันหวังใจว่าเธอคงมีใจกว้างขวางที่จะไม่โกรธ จริงอยู่ การที่ได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งโลกนิยมนั้นช่วยมาก แต่มหาวิทยาลัยเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาที่ดีสำหรับชีวิตเท่านั้น เธอยอมรับไม่ใช่หรือว่าเดวิดลอยด์ยอร์ช แรมเซย์แมกดอนเนิล เจ้าคุณยมราชและเจ้าคุณอภัยราชาเป็นผู้มีการศึกษาที่ดี? หาไม่คงจะไม่ได้เป็นอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีไปตามกัน เซอร์เอ็ดเวอร์ด มาเชิลฮอลล์ เป็นหมอกฎหมายที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลกคนหนึ่งเพราะการศึกษาที่ดีไม่ใช่หรือ?”

“แน่นอน” ประดิษฐ์ตอบ

“เธอรู้หรือเปล่าว่าคนพวกนี้ไม่เคยได้มีโอกาสไปเรียนวิชชาที่มหาวิทยาลัยไหนเลยในโลก ไม่มีดีกรีอะไรที่เป็นแก่นสารเช่น บี.เอ. หรือ เอม.เอ.? การศึกษาที่ดีและการสำเร็จในกิจการต่างๆ ที่อาจทำให้เราเป็นคนใหญ่โตในภายหน้าไม่ใช่แต่จะไปอยู่มหาวิทยาลัยอย่างเดียว ผู้ที่มีการศึกษาที่ดีไม่ใช่ผู้ที่ได้รับโอกาสไปเรียนตามมหาวิทยาลัย แต่เป็นผู้ที่สามารถจะเรียนมีสมองที่จะเรียนได้ด้วยตนเองไม่ว่าอยู่ที่ไหน โดยใช้หนังสือเป็นมัคคุเทศก์และเป็นครู มีคนไทยหลายคนที่ไม่เคยมาเมืองนอกแต่มีความรู้ดีกว่าผู้ที่ได้เคยไปอ๊อกสฟอร์ดและเคมบริดชมาแล้ว เป็นนายของพวกเหล่านี้ มีนักเรียนอ๊อกสฟอร์ดหรือเคมบริดชที่เขียนหนังสือเกือบไม่เป็นทั้งไทยทั้งฝรั่งอยู่หลายคน คนที่เรียกว่า-redtape.”

“กันไม่เชื่อว่าคนอย่างเจ้าพระยาอภัยราชามีความรู้ดีไปกว่ากันเท่าใดนัก” ข้าพเจ้าพูดต่อไป “แต่ทำไมเจ้าคุณอภัยจึงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุกติธรรมได้ ก็เพราะ ท่านมีอะไรบางอย่างที่เธอและกันไม่มี ท่านอาจมีความสง่าเป็นพิเศษ เป็นที่รักใคร่ยำเกรงของผู้น้อย และเป็นผู้สามารถทำกิจการให้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยได้เคยเป็นผู้มีความอุตสาหะเรียนไปทำไป จริงไหม? นั่นแหละประดิษฐ์ ที่เราเรียกกันว่าการศึกษาที่ดีหรือความคงแก่เรียน”

“วิสูตร์” เขาถาม “เธอก็ยอมรับเหมือนกันไม่ใช่หรือว่าดีกรีอาจช่วยเธอมากในภายหน้า?”

“แน่นอน” ข้าพเจ้าตอบ “แต่เธอมั่นใจหรือว่าดีกรีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จในราชการที่เราจะเข้าทำในภายหน้า เราจะเป็นอธิบดีหรือเสนาบดีเพราะมีดีกรี?”

“กันก็ไม่สู้แน่ใจนัก” เขาตอบเสียงอ่อนลง “แต่กันพูดสำหรับลื้อ ดีกรีจะช่วยลื้อมากเมื่อไปทำราชการ สมัยนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากเหมือนกัน ‘ชานส์’ (Chance) อย่างเจ้าคุณอภัยฯ หรือยมราชเห็นจะมีน้อย”

“ประดิษฐ์เพื่อนรัก” ข้าพเจ้าพูดเป็นเชิงตัดบทอย่างสุภาพ “ชีวิตของกัน กันรู้สึกพอใจมากอยู่แล้ว กันอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ก็ได้เป็นสมหวัง วิชชาทางนี้กันเชื่อมั่นว่าจะช่วยกันมากในเวลานี้และในภายหน้า จะช่วยกันในกิจการต่างๆ ยิ่งกว่าดีกรีใดๆ ทั้งหมดในโลก นี่แหละประดิษฐ์ คือเหตุผลที่กันเป็นนักหนังสือพิมพ์”

“แต่เมื่อลื้อเข้าไปรับราชการเมืองไทย” ประดิษฐ์ว่า “ลื้อไม่มีดีกรี จะต้องตั้งต้นแต่ชั้นต่ำที่สุด”

“ข้อนั้นเป็นของธรรมดา” ข้าพเจ้าตอบ “เราจะต้องตั้งต้นครั้งหนึ่งในชีวิต ถ้าเราต้องการจะขึ้นบันไดขั้นสูง ก็ต้องขึ้นตั้งแต่ขั้นต่ำที่สุดไปก่อนจะได้ไม่พลาด.

คืนนั้น ข้าพเจ้าชวนประดิษฐืให้ไปรับประทานอาหารกับมาเรียเกรย์และข้าพเจ้าที่บาร์คเคลย์และไปดูละครที่เซนต์เยมส์ ประดิษฐ์กลับไปบ้านที่ฟูลแฮม แต่งตัวราตรีสโมสรเสียหรู ข้าพเจ้าโทรศัพท์เรียกรถยนตร์เช่ามาคันหนึ่ง เรานั่งไปรับมาเรียเกรย์ที่บ้านตำบลไนทส์บรีดช ข้าพเจ้าปล่อยให้ประดิษฐ์อยู่ในรถ ส่วนตนเองขึ้นไปหามาเรียบนบ้าน ข้าพเจ้ายังรู้สึกขันเมื่อนึกถึงเวลาที่แนะนำให้คนทั้งสองรู้จักกัน มาเรียดูเรียบร้อยไม่ตื่นเต้น รู้สึกว่าการที่ได้มารู้จักกับเพื่อนข้าพเจ้าอีกคนหนึ่ง นั้นเป็นของธรรมดา ส่วนประดิษฐ์ แม้ว่าอิริยาบถภายนอกจะเรียบร้อยเพียงไร ก็ยังเป็นเครื่องแสดงให้เห็นได้อย่างชัดว่าเขามีใจตื่นเต้นมากที่สุด ระหว่างที่รถกำลังวิ่งไปเรื่อยๆ มาเรียนั่งกลาง เรานั่งสองข้าง ประดิษฐ์คอยเหลือบดูมาเรียเสมอ ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเขาจะเห็นหล่อนสวยจนเลิศหรืออะไรเช่นนั้น แต่มาเรียเป็นคนมีกิริยาท่าทางและวาจาเป็นที่น่ารักน่าสนใจยิ่งนัก หล่อนไม่เคยได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยใดๆ ในโลก แต่มาเรียเป็นผู้มีการศึกษาที่ดี และเป็นหญิงที่มีความยั่วยวนเป็นอุปนิสสัย.

“บอบบี้จะต้องไปอยู่เมืองปารีสอีกสองสามวันนี้แหละ มิสเตอร์ประดิษฐ์” มาเรียกล่าวขณะที่นั่งไปในรถ “เธอจะไม่คิดถึงเขาบ้างเจียวหรือ?”

ประดิษฐ์ยิ้มแต่มิได้ตอบประการใด.

“เธอเรียนวิชชาวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เห็นจะชำนาญในเชิงคำนวณมากกะมัง?” หล่อนถาม.

“ก็พอรู้บ้าง มิสเกรย์” เขาตอบช้าๆ.

“คนที่เป็นนักเรียนของรัฐบาลไทยเช่นเธอจะมีโอกาสไปเที่ยวเมืองต่างๆ บ้างได้ไหม?”

“ก็ได้เหมือนกัน เจ้าคุณราชทูตสัญญากับฉันไว้ว่าจะให้ไปฮอลลิเดย์ที่ปารีส ถ้าฉันสอบไล่ได้คราวนี้”

“เธอไม่เคยสอบตกเลยไม่ใช่หรือ?”

“อะไรได้ ฉันเคยตกตั้งสองหนแล้ว มิสเกรย์”

“ฉันไม่เห็นจะน่าเสียใจเลย มิสเตอร์ประดิษฐ์ ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาของเธอ แต่เด็กอังกฤษของเราบางคนยังเคยตกกันตั้งห้าหกหน พอออกทำงานก็ยังเป็นใหญ่เป็นโตกันได้ บอบบี้บอกฉันว่าเธอสอบได้ทุนเล่าเรียนหลวงเมืองไทย นั่นเป็นการแสดงพออยู่แล้วว่าเธอเก่งเพียงไร”

“มิสเตอร์ประดิษฐ์” มาเรียถามเมื่อเงียบกันมาแล้วสักครู่ “เขาลือกันว่าเมืองไทยผู้ชายมีเมียกี่คนก็ได้ไม่ใช่หรือ?”

“ที่เมืองไทยยังคงทำกันอยู่ มิสเกรย์” ประดิษฐ์ตอบ.

“ต้องเป็นเมืองที่สนุกที่สุดสำหรับผู้ชาย จริงไหม?”

“ไม่จริงดอก มาเรีย” ข้าพเจ้าเสริมขึ้น “เพราะผู้หญิงที่เมืองไทยก็คงทำได้เหมือนผู้ชายถ้าหล่อนต้องการ”

การดินเนอร์ที่บาร์คเคลย์ของเราได้เป็นไปโดยเรียบร้อย ผู้คนเต็มและอาหารอร่อยตามเคย ข้าพเจ้าปล่อยให้ประดิษฐ์เอาอกเอาใจมาเรียตามแต่จะประสงค์ เพราะรู้สึกว่าประดิษฐ์ต้องการเช่นนั้นเพื่อความสุขที่นานๆ จะได้รับครั้งหนึ่ง เสร็จจากบาร์คเคลย์เราไปดูละคร มาเรียและประดิษฐ์ก็คงยังคุยกันสนิทสนม ข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกว่าจะมีใครในโลกนี้ที่จะชิงความรักของเด็กหญิงคู่ชีวิตซึ่งมีต่อข้าพเจ้าไปได้เป็นอันขาด ความสุขชั่วแล่นข้าพเจ้าอาจอุททิศให้ประดิษฐ์ได้ แต่ความรักจากน้ำใจอันบริสุทธิ์ของหล่อนจะต้องเป็นของข้าพเจ้าไปชั่วกัลปาวสาน.

ออกจากโรงละครข้าพเจ้าส่งประดิษฐ์ที่สถานีรถใต้ดินปิกาดิลี แล้วพามาเรียนั่งรถไปบ้านหล่อนที่ไนทส’บรีดช.

“ประดิษฐ์เป็นเด็กดีเหลือเกินนะ บอบบี้” มาเรียพูด “ฉันออกจะสงสารและชอบเขามาก”

สองสามวันต่อมา ข้าพเจ้าพบมาเรียที่สโมสรหนังสือพิมพ์ เรานั่งคุยกันอยู่สักครู่ในห้องโถงใหญ่ หล่อนยื่นจดหมายมาให้ข้าพเจ้าฉะบับหนึ่ง.

“อ่านนี่ซี บอบบี้” หล่อนพูด “มันแปลกเหลือเกิน”

ข้าพเจ้ารับซองนั้นมาอ่าน เป็นจดหมายประดิษฐ์เขียนถึงมาเรีย กล่าววิงวอนให้หล่อนออกมาเที่ยวรับประทานอาหารกลางคืนและดูหนังกับเขาวันพุธหน้า ประดิษฐ์จะไปรับหล่อนที่บ้านตำบลไนทส’บรีดช เวลา ๒๐ น. ข้าพเจ้ารู้สึกสะดุ้งใจ แต่คิดอยู่สักครู่ก็สงบใจได้.

“แล้วเธอจะไปหรือ มาเรีย?” ข้าพเจ้าถาม.

“บอบบี้ที่รัก” หล่อนตอบ “ถ้าฉันจะไปฉันจะเอาจดหมายมาให้เธออ่านทำไม”

เราจากกันที่สโมสร มาเรียจะต้องกลับบ้าน ข้าพเจ้าจะต้องกลับไปโรงพิมพ์ วันพุธเวลา ๒๐ น. ประดิษฐ์ไปรับมาเรียที่บ้าน แต่คนใช้บอกว่าหล่อนออกจากที่นั่นไปเสียนานแล้ว.

ข้าพเจ้าไม่เคยบอกประดิษฐ์ถึงเรื่องจดหมายนี้เลย และตั้งใจจะไม่ขอบอกในชาตินี้ เพราะข้าพเจ้าชอบประดิษฐ์มากเกินกว่าที่จะทำเช่นนั้น.

สัปดาห์หนึ่งต่อมา อาร์โนลด์และข้าพเจ้าก็โดยสารเรือบินออกเดิรทางจากลอนดอนไปนครปารีสตามคำสั่งของ ‘เอ็ดดี้’ ผู้ช่วยบรรณาธิการของเรา.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ