พระราชปุจฉาที่ ๕
(ไม่พบพระราชปุจฉา มีแต่คำถวายวิสัชนา)
ข้อ ๑ ว่าได้บำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใดไว้ จึงได้มาเสวยศิริราชสมบัติ
ข้อ ๒ ว่าด้วยทรงพระปริวิตกถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แลพระพันปีหลวง แลพระบรมราชประยูรวงศานุวงศ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาท แลราชพาหนะทั้งปวงว่า ยังไม่สมควรที่จะล่วงลับไป ไฉนจึงล่วงลับไป
ข้อ ๓ ว่าได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลไว้เปนอันมาก แลได้ทรงแผ่ส่วนพระราชกุศลนั้นแด่สมเด็จพระประยูรวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเปนต้น ไฉนพระราชกุศลนั้นจึงไม่ช่วยป้องกันไว้ได้
ข้อ ๔ ว่าจะบำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใด จึงจะมีพระชนม์ยืนนาน แลพรักพร้อมด้วยพระราชโอรสราชธิดา แลพระประยูรวงศานุวงศ์ทั้งปวง
แก้พระราชปุจฉาที่ ๕
อาตมภาพ พระธรรมเจดีย์ มุนีวงศนายกติปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อันสถิตย์ณจักรวรรดิราชาวาศ วรวิหารพระอารามหลวง ขอถวายพระพรว่า อาตมภาพได้รับพระราชทานข้อพระราชปุจฉามาแล้ว พิจารณาในข้อพระราชปุจฉาแต่ต้น จนอวสาน ก็เห็นว่าจะทรงทราบในพระราชบวรสันดานแล้ว ด้วยทรงพระสดับพระสัทธรรมเทศนาทั่วไปในห้องพระไตรปิฎกแล้ว จักถวายวิสัชนาโดยสังเขปกถาตามแต่จะได้ พอประดับพระสติปัญญาบารมี
แก้ข้อ ๑
ซึ่งทรงพระปริวิตกว่า ได้บำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใดไว้ จึงได้มาเสวยศิริราชสมบัติดังนี้ อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า ประพฤติเปนไปด้วยอำนาจบุญญาภินิหาร หากได้ทรงบำเพ็ญมาแต่เบื้องบุริมภพโดยวารพระบาฬีในนิธิกัณฑสูตรว่า “เอสเทวมนุสฺสานํ สพฺพกามทโท นิธิ ฯลฯ สพฺพเมเตน ลพฺภติ” เนื้อความว่าปุญนิธิ ขุมทองกล่าวคือบุญนี้ ย่อมสำเร็จความปราถนาแห่งเทพยดาแลมนุษย์ทั้งปวง “ยํยํ เทวาภิปตฺเถนฺติ” เทพยดาแลมนุษย์ทั้งหลาย จะปราถนาซึ่งสมบัติสิ่งใดๆ ก็ย่อมได้ตามความปราถนาสิ้นทุกประการ ด้วยบุญนิธิขุมทองกล่าวคือบุญ “สุวณฺณตา สุสรตา” อนึ่งบุทคลมีฉวีวรรณพรรณแห่งกายอันงามเปรียบเสมอด้วยทองแลมีสุรเสียงอันไพเราะห์ ประดุจเสียงแห่งท้าวมหาพรหมแลนกการเวกก็ดี “สุสณฺาณํ สุรูปตา” อนึ่งบุทคลจะมีสัณฐานแห่งสริรกายอันงาม สถานประเทศแห่งอังคาพยพใหญ่น้อยควรจะเสมอก็เสมอ ควรจะเต็มก็เต็ม ควรจะกลมก็กลม แลมีสกลกายินทรีย์อันงามพร้อม คือไม่สูงหนักไม่ต่ำหนัก ไม่พีนักไม่ผอมนัก ไม่ดำหนักไม่ขาวหนัก นั้นก็ดี “อาธิปจฺจํ ปริวาโร” บุทคลจะได้เปนอธิบดี คือได้เปนขัติยมหาศาล พราหมณมหาศาล คหบดีมหาศาล มีบริวารมากนั้นก็ดี สมบัติทั้งปวงนี้บุทคลย่อมได้ด้วยบุญนิธิขุมทองกล่าวคือกองบุญ “ปเทสรชฺชํ อิสฺสริยํ” อนึ่งบุทคลจะได้เปนอิศราธิบดีเปนใหญ่ในประเทศราช แลผ่านสมบัติเปนบรมจักรพรรดิ์ได้เปนใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ นั้นก็ดี “เทวรชฺชมฺปิ ทิพฺเพสุ” บุทคลอันเปนมนุษย์ได้ไปเสวยสมบัติทิพในเทวโลก เหมือนพระยาสกมันทาตุราชนั้นก็ดี บุทคลอันจุติจากมนุษยโลกแล้ว ได้ไปเปนเทวราชเปนใหญ่ในเทวโลกนั้นก็ดี สมบัติทั้งปวงนี้บุทคลย่อมได้ด้วยบุญนิธิขุมทองกล่าวคือกองบุญ ใช่แต่เท่านั้นบุญนิธินี้ ย่อมให้สำเร็จผลตลอดจนพระโลกุตรสมบัติ อาไศรยวารพระบาฬีดังนี้ แลซึ่งได้มาเสวยศิริราชสมบัติดังนี้ ก็จัดได้ชื่อเปนไปด้วยกุศลราษีพระบารมีได้บำเพ็ญมาแต่ในกาลปางก่อน
แก้ข้อ ๒
ประการหนึ่ง ซึ่งทรงพระปริวิตกปรารภถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระพันปีหลวง ถึงว่ายังไม่ควรที่จะเสด็จสวรรคต แลด่วนเสด็จสวรรคล่วงไป พระบรมราชประยูรวงศานุวงศ์ มีองค์สมเด็จพระอนุชาธิราชเปนอาทิ ก็ยังไม่ควรจะเสด็จทิวงคต ไฉนจึงเสด็จทิวงคตล่วงไป แลข้าพระบาทบริจาฝ่ายใน แลข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงฝ่ายน่าก็ยังไม่ควรที่จะลาล่วงลับไป เหตุไฉนจึงถวายบังคมลาล่วงลับไป แลราชพาหนะทั้งปวงเล่าก็ยังไม่ควรจะล่วงลับไปก็ดี
ข้อนี้อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า เปนไปด้วยอำนาจผลแห่งอกุศลกรรมของท่านที่มีมาแล้วในภาคก่อน อาไศรยวารพระบาฬีในคัมภีร์พระสารสังคหะแลทศศีลว่า “ปาณาติปาโต ฯลฯ ปาณาติปาตสฺส วิปาโก” ความว่า บุทคลผู้ใดกระทำปาณาติบาตกรรม บุทคลผู้นั้นเมื่อได้มาเกิดเปนมนุษย์นั้น เศษบาปเปนกรรม ๔ ประการคือ อุปปิฬกะกรรม ๑ อุปัจเฉทกะกรรม ๑ ชนกะกรรม ๑ อุปัตถัมภกะกรรม ๑ เปน ๔ อุปปิฬกะกรรม เปนพนักงานที่จะเบียดเบียฬสัตวให้ยากลำบากเวทนา อุปัจเฉทกะกรรม เปนพนักงานที่จะเข้าไปใกล้ ได้โอกาศแล้วก็จะตัดซึ่งชีวิตินทรีย์แห่งสัตวให้ขาด ชนกะกรรมเปนพนักงานที่จะยังสัตวให้อุบัติบังเกิดในที่ชั่วต่ำช้า อุปัตถัมภกะกรรม เปนพนักงานที่จะอุปถัมภ์ค้ำชูอุดหนุนสัตวให้ได้ทุกข์ได้ยาก ให้ได้ความลำบากเวทนามีประการต่างๆ ไม่รู้แล้ว กรรมทั้งหลายให้ผลให้เปนบุทคลมีอายุสั้นพลันมรณภาพแต่ในปฐมไวยแลมัชฌิมไวย “ปิเยหิ มนาเปหิ วิโยโค” กรรมที่กระทำไว้วิโยคพลัดพรากจากสัตวแลสังขารอันเปนที่รักแลเปนที่ยังจิตรให้เจริญก็เพราะปาณาติบาต ใช่แต่เท่านั้น ปาณาติบาตนี้มีโทษมากอยู่ สมเด็จพระบรมครูตรัสเทศนาแก่ศุภมาณพ ในศุภสูตรในคัมภีร์พระมัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสว่า “มาณว” ดูกรศุภมาณพ “มนุสฺสา” อันว่ามนุษย์ทั้งหลาย “กมฺมสฺสกา” มีกรรมเปนของแห่งตน “กมฺมทายาทา” อนึ่งมนุษย์ทั้งหลายมีกรรมเปนทรัพย์แห่งตน “กมฺมโยนิ” อนึ่งมนุษย์ทั้งหลายมีกรรมเปนกำเนิดแห่งตน “กมฺมพนฺธุ” อนึ่งมนุษย์ทั้งหลายมีกรรมเปนเผ่าพันธุ์ญาติแห่งตน “กมฺมปฏิสรณา” อนึ่งมนุษย์ทั้งหลายมีกรรมเปนที่พึ่งแห่งตน มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมามีอายุสั้นพลันมรณภาพแต่ประถมไวยกับมัชฌิมไวยนั้น ก็เพราะกระทำปาณาติบาตกรรม ฆ่าสัตวตัดชีวิตในปุริมภพ
อนึ่งบุทคลทั้งหลายที่เกิดมา ย่อมมากไปด้วยโรคาพยาธิมักป่วยมักไข้นั้น “วิเหธนชาติกา” เพราะเหตุเบียดเบียฬสัตวกระทำให้สัตวลำบากป่วยเจ็บ กระทำทัณฑกรรมต่างๆ “อทยาปนฺนา” ไม่เอ็นดูสัตวในปุริมภพนั้น
อนึ่งบุทคลทั้งหลายที่เกิดมา “ทุพฺพณฺณา” มีสีสันพรรณอันเศร้าหมองนั้น ก็เพราะเหตุมีความโกรธมากปุริมชาตินั้น
อนึ่งบุทคลทั้งหลายที่เกิดมา “อปฺเปสกฺขา” มีศักดานุภาพน้อยนั้น ก็เพราะเหตุผูกจิตรอิจฉาฤศยาประทุษฐร้ายในลาภสักการครุการมานนะวันทนะบูชาแห่งชนทั้งหลายอื่นในปุริมภพ
อนึ่งบุคคลทั้งหลายที่เกิดมา มีสมบัติพัศถานน้อยนั้น ก็เพราะเหตุมิได้ให้ซึ่งเข้าแลน้ำวัตถายานมาลาคันธะวิเลปนะ แก่สมณะแลพราหมณ์ในปุริมภพ
อนึ่งบุทคลที่เกิดมา มีตระกูลอันต่ำช้านั้น ก็เพราะเหตุไม่มีคารวะ เปนคนกระด้างด้วยมานะ ไม่มีคารวะบิดามารดา สมณะพราหมณ์ แลพระอุปัชฌาย์อาจารย์แลผู้เฒ่าผู้แก่ ควรจะบูชาก็ไม่บูชา ในปุริมชาตินั้น
อนึ่งบุทคลที่เกิดมา “ทุปฺปฺโ” เปนคนโง่เง่าเฉาโฉดหาปัญญาบมิได้นั้น เพราะเหตุไม่ไต่ถามซึ่งอรรถธรรมแก่สมณะแลพราหมณาจารย์ท่านเปนผู้นักปราชญ์ว่า “กึ ภนฺเต กุสลํ” ข้าแต่พระผู้เปนเจ้าผู้เจริญ จะกระทำเปนประการใด จึงจะเปนบุญเปนกุศล “กึ อกุสลํ” กระทำเปนประการใดจึงเปนบาปเปนอกุศล จะได้ไต่ถามดังนี้ก็หามิได้ กระทำแต่อกุศลกรรมในปุริมชาตินั้น ครั้นเกิดมาในชาตินี้จึงหาปัญญาบมิได้ สมเด็จพระศาสดาตรัสพระสัทธรรมเทศนาในอกุศลราษี มีปาณาติบาตเปนต้น แก่ศุภมานพยุติลงเพียงนี้
สมเด็จพระศาสดาจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนา “ปาณาติปาตา เวรมณี” ในกุศลราษีมีเว้นจากปาณาติบาตเปนต้น ต้องเข้าในข้อที่ทรงพระปริวิตกว่าจะบำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใดจึงจะมีพระชนม์ชีพยืนนั้น แก่ศุภมาณพว่า “มาณว” ดูกรศุภมาณพ “ทีฆายุโก” บุทคลที่มีอายุอันยืนนั้น ก็เพราะกุศลที่ตนรักษาศีลปาณาติบาต ไม่ฆ่าสัตวตัดชีวิต สันดานมากไปด้วยเมตตากรุณา “ทยาปนฺโน” อนุเคราะห์เอ็นดูสัตว เห็นสัตวต้องไภยได้ทุกข์แล้ว ก็คิดอ่านปลดเปลื้องให้พ้นจากมรณภาพด้วยอุบายอันเปนธรรมปราศจากโทษปราศจากบาป
อนึ่งบุทคลที่เกิดมา “อปฺปาพาโธ” มีความศุขมากไม่อาพาธป่วยไข้ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยนั้น “อวิเหธกาติโก” เพราะเหตุที่ไม่เบียดเบียฬสัตว ไม่กระทำให้สัตวทั้งปวงได้ความลำบากสันดานมากไปด้วยหิริ แลโอตัปปะในปุริมชาติปุริมภพ
อนึ่งบุทคลที่เกิดมาแลมากด้วยญาติมากด้วยสมบัติพัศถาน มิได้ยากมิได้จน เพราะกุศลที่ตนรักษาศีลอทินนาทาน ไม่ฉกไม่ลักไม่ช่วงไม่ชิงไม่ฉ้อไม่ตระบัดเอาทรัพย์อันเจ้าของหวงแหนรักษา อนึ่งก็มีใจศรัทธาอุสาหะบำเพ็ญทาน ทรมานจิตรตระหนี่เสียได้
อนึ่งบุทคลที่เกิดมา มีบุตรภรรยาว่าง่ายสอนง่ายตั้งอยู่ในถ้อยคำมิได้กระทำให้เคืองให้แค้น มีแต่จะแสวงหาประโยชน์มาให้ แต่ใจก็มิได้ส่งไปในภายนอก ได้บุตรภรรยาที่ดีๆ อย่างนี้ เพราะกุศลที่ตนรักษาศีลกาเมสุมิจฉาจารไว้เปนอันดี มิได้ประมาทในปุริมชาติ
อนึ่งบุทคลที่เกิดมามีตบะเดชะมาก จะว่ากล่าวสิ่งใดชนทั้งปวงบมิอาจฝ่าฝืนเกินเลยได้ ชนทั้งหลายนับถือเชื่อฟังตั้งอยู่ในถ้อยคำนั้นด้วยอำนาจกุศลที่รักษาศีลมุสาวาทไว้ในชาติหนหลัง ในปุริมภพนั้นถือความสัตย์ปราศจากมายา กุศลนั้นติดตามมาอำนวยผล เกิดมาจึงมีตบะเดชะมีสง่า มีวาจาประสิทธิประสาท ชนทั้งหลายบมิอาจจะล่วงจะเกินได้
บุทคลที่เปนนักปราชญ์มีสติสัมปชัญญะ บริบูรณ์ด้วยหิริแลโอตัปปะ มาตรว่าแก่ชราก็หาฟั่นหาเฟือนไม่ เปนคนดีมีสติมาก มิได้รู้เปนใบ้เปนบ้านั้น ด้วยกุศลที่รักษาศีลสุราเมรัยไว้ในปุริมภพ
ตกว่าสรรพสัตวในโลกสันนิวาศจะชั่วจะดีจะมีจะยากจะได้เสวยศุขแลทุกข์นั้น แล้วด้วยกุศลแลอกุศลประชุมแต่ง
อนึ่งบุทคลที่เกิดมา “มหาปฺโ” เปนบุทคลมีปัญญามากเฉลียวฉลาด ก็เพราะกุศลที่ตนไม่ประมาท มีคารวะเคารพแก่สมณะพราหมณาจารย์ท่านผู้เปนปราชญ์ “ปริปุจฺฉิตา” ไต่ถามว่า “กึ ภนฺเต กุสลํ” ข้าแต่พระผู้เปนเจ้า จักกระทำเปนประการใด จึงจะเปนบุญเปนกุศล “กึ อกุสลํ” กระทำเปนประการใด จึงเปนบาปเปนอกุศล “กึ สาวชฺชํ” กระทำเปนประการใด จึงประกอบไปด้วยโทษ “กึ อนาวชฺชํ” ทำเปนประการใด จึงจะไม่มีโทษ อุสาหะไต่ถามแล้วก็ปรนิบัติตามคำสอน แต่ในปุริมชาติ ครั้นเกิดมาชาตินี้ จึงมีสติแลปัญญาปรีชาญาณอันประเสริฐ
สมเด็จพระทศพลญาณตรัสประทานพระสัทธรรมเทศนาด้วยบุทคลอันกระทำซึ่งปัญจพิธเวรกรรมทั้งห้า แล้วตรัสเทศนาด้วยบุทคลอันเว้นจากปัญจพิธเวรกรรมทั้งห้า แก่ศุภมานพจบลงแล้ว ศุภมานพได้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถวายวิสัชนาโดยสังเขปกถาในศุภสูตรยุติลงแต่เพียงนี้
แก้ข้อ ๓
อนึ่งซึ่งได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เปนต้นว่าทานแลศีลสดับพระสัทธรรมเทศนาแล้วแลทรงแผ่ส่วนพระราชกุศลนั้น แด่สมเด็จพระประยูรวงศานุวงศ์ มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระพันปีหลวงเปนต้น แลให้ทั่วไปแก่สรรพสัตวทั้งปวง แลพระราชกุศลซึ่งทรงแผ่ให้บมิอาจป้องกันรักษาซึ่งพระประยูรวงศานุวงศ์ มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระพันปีหลวง เปนต้นไว้ได้ ด้วยอำนาจอกุศลมาตาปิตุฆาฏกรรมมีกำลังกล้า เปนกรรมาวรณ์ป้องกันซึ่งกุศลทั้งปวงเสียได้นั้นอย่างหนึ่ง จะป่วยกล่าวไปไยถึงโลกิยบุถุชนเล่า จนแต่พระอริยบุทคลอันประเสริฐคือพระมหาโมคคัลลานุเถรเจ้า สำเร็จซึ่งสาวกบารมีญาณ เปนบรมอรรคสาวกเบื้องซ้ายแล้ว เมื่ออกุศลคือมาตาปิตุฆาตกรรมที่พระผู้เปนเจ้ากระทำไว้ในกาลก่อนนั้นมีกำลังกล้า โจรทั้งหลาย ๕๐๐ มาเข้าแวดล้อมซึ่งวัสนสถานที่อยู่ของพระผู้เปนเจ้าไว้ พระมหาโมคคัลลานเถรรู้ว่าโจรมาล้อมไว้แล้ว พระผู้เปนเจ้าก็ออกโดยช่องดาลไป วันนั้นโจรทั้งหลายไม่พบแล้ว ไปวันอื่นโจรทั้งหลายก็ไปล้อมเข้าไว้อิก พระผู้เปนเจ้าก็ทำลายปริมณฑลช่อฟ้าเหาะไป “เอวํ เต โจรา” โจรทั้งหลายพากันไปแวดล้อมดังนั้นสิ้น ๒ เดือน แล้วก็กระทำอันตรายท่านไม่ได้ ครั้นล่วงเข้าในเดือนเปนคำรบ ๓ พระผู้เปนเจ้าก็รู้ว่า มาตาปิตุฆาฏกรรมนำโจรทั้งหลายมา พระผู้เปนเจ้าก็ไม่หลีกหนี โจรทั้งหลายก็จับพระผู้เปนเจ้าแล้ว ก็ประหารพระผู้เปนเจ้าให้แหลก เหลืออยู่แต่พระธาตุประมาณเท่าเมล็ดเข้าสาร “ณานเวเธน ถิรํ กตฺวา” พระผู้เปนเจ้าก็ผูกพันพระกายให้มั่นด้วยเชือกกล่าวคือฌาณ มาถวายนมัสการสมเด็จพระทศพลญาณ แล้วกลับไปปรินิพพานในฐานที่นั้น อาตมภาพนำมาถวายวิสัชนาเพื่อจะให้ทรงทราบว่าอกุศลกรรมมีกำลังกล้า
พระมหาโมคัลลานเถรนี้ ได้ที่เอตทัคคว่าเลิศว่าประเสริฐข้างฤทธิ์แล้ว พระผู้เปนเจ้าก็ไม่เอาฤทธิ์มาป้องกันโจร คือมาตาปิตุฆาฏกรรมได้ สมเด็จพระทศพลญาณเจ้าก็เปนอรรคบุทคลอันเลิศยอดโลกแล้ว ก็ยังไม่เอาพระพุทธานุภาพเจ้าไปช่วยพระมหาโมคคัลลาน ป้องกันโจรคือมาตาปิตุฆาฏกรรมได้ จะป่วยกล่าวไปไยกับด้วยโลกิยบุถุชน วัตถุนี้อยู่ในคัมภีร์พระธรรมบท
แก้ข้อ ๔
ซึ่งทรงพระปริวิตกว่า จะบำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใด จึงจะมีพระชนม์ยืนพร้อมด้วยพระราชโอรสพระราชธิดา พระประยูรวงศานุวงศ์นั้น อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า แต่ชั้นพระวิสาขามหาอุบาสิกา ท่านมีอายุยืนพร้อมด้วยประยูรวงศาคณาญาติแล้ว ไฉนเล่านางสุทัตตีกุมารีที่พระวิสาขาตั้งไว้ให้เปนไวยาวัจกร สำหรับปรนิบัติพระสงฆ์ที่เข้าไปฉันในเรือนวันละ ๒๐๐๐ นั้น นางสุทัตตีปรนิบัติพระสงฆ์มาไม่สู้ช้าสู้นาน อกุศลของนางสุทัตตีที่กระทำไว้ในปุริมภพนั้น เปนอุปเฉทกะกรรมเข้าตัดเอาชนม์ชีพของนางสุทัตตีนั้นให้ขาดเด็ดไปแต่ในประถมไวย กุศลที่นางสุทัตตีกระทำในปัจจุบันชาติก็ช่วยชีวิตรนางสุทัตตีไม่ได้ กุศลของพระวิสาขาก็บริบูรณ์ ก็ไม่อาจจะช่วยชนม์ชีพแห่งนางสุทัตตีไม่ได้ บุตรนัดดาคณาญาติที่มีอายุยืนอยู่พร้อมเพรียงกันกับด้วยนางวิสาขานั้น ก็เพราะกุศลที่ตั้งอยู่ในวัตรปรนิบัติ มีศรัทธาเชื่อลงในคุณแห่งพระศรีรัตนไตร บำเพ็ญทานตั้งอยู่ในปัญจางคิกศีล แลพระอัษฎางคิกศีลาจารวัตร ปรนิบัติเสมอด้วยพระวิสาขามาแต่ในปุริมชาติ จึงมีชนม์ชีพอายุยืนอยู่พร้อมด้วยพระวิสาขา “กาเรตฺวา” นางให้ชนทั้งหลายกระทำการฌาปนกิจแห่งนางสุทัตตีแล้ว “อสกฺโกนตี” นางบมิอาจดำรงซึ่งความโศกไว้ได้ “ทุกฺขิ ทุมฺมนา” นางเสวยซึ่งทุกข์โทมนัศไปยังสำนักนิ์แห่งพระศาสดา นางถวายนมัสการสมเด็จพระทศพลญาณแล้ว นั่งร้องไห้อยู่ในฐานที่นั้น สมเด็จพระศาสดามีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรนางวิสาขาไฉนจึงมานั่งร้องไห้อยู่ในฐานที่นี้ พระวิสาขากราบทูลว่า “ภนฺเต” ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงพระเจริญ “วตฺตสมฺปนฺนา” นางสุทัตตีหลานสาวเกล้ากระหม่อมประกอบด้วยวัตรปรนิบัติดี เปนที่พึ่งแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย บัดนี้นางวิโยคพลัดพรากจากเกล้ากระหม่อมไปแต่ในประถมไวย เกล้ากระหม่อมจึงมีความโศกาไลยอยู่ในนางสุทัตตีดังนี้ พระวิสาขามหาอุบาสิกานี้ ก็มีพระบารมีบริบูรณ์ ได้พระโสดาวัตตาภิรัติมาแต่พระนางมีชนม์ชีพได้ ๗ ปี นางก็เสวยปิยวิปโยคทุกข์ดังนี้ ถึงมาตรว่าจะเปนไปพร้อมด้วยพระประยูรวงศานุวงศ์บริบูรณ์ เหมือนนางวิสาขาก็ดี ก็ไม่พ้นจากที่เสวยปิยวิปโยคทุกข์
แม้มิได้ยุติด้วยธรรมกถาอะธิบายโวหารในข้อใดข้อหนึ่งก็ดี ขอเดชะพระเมตตาคุณพระกรุณาคุณพระขันตีคุณ จงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานอไภยแก่อาตมภาพ ผู้มีสติปัญญาน้อย ขอถวายพระพร ๚