พระราชปุจฉาที่ ๗

ว่าฉันใดจะได้พระภิกษุสามเณรเปนบาเรียน ให้สมควรแก่พระราชศรัทธา

----------------------------

๏ ศุภมัศดุ จุลศักราช ๑๑๘๘ โสนะสํวัจฉระนักษัตรอัฐศกมาฆมาสสุกกปักข์ เอการสดิถีพุฒวาระกาลปริจเฉทกำหนด สมเด็จพระบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้มีพระกระมลหมายมั่นในพุทธาภิเศกธรรมอันมหาประเสริฐ เสด็จออกณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอันพิศาลโดยสถานบุรพาภิมุข เพลาเช้าสองโมงเศษ ทรงปฏิบัติพระสงฆ์ตรัสประภาษด้วยพระพุทธสาสนา จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูร สุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้พระยาธิเบศบดีจางวางมหาดเล็ก พระเมธาธิบดีเจ้ากรมราชบัณฑิต ดำเนินพระราชโองการไปเผดียงสมเด็จพระสังฆราช แลพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง แต่บรรดาประชุมพร้อมกันณะพระที่นั่งบุศบกมาลามหาจักรพรรดิพิมานให้ทราบว่า นับแต่วันเสด็จถวัลยราชราชาภิเศกมาก็ได้มอบพระองค์เปนไวยยาวัจจกรแด่พระรัตนไตรย ตั้งพระหฤทัยจะทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองจำเริญสืบไป กว่าจะถ้วนห้าพันพระวัสสา ทรงปราถนานักด้วยจะใคร่ได้พระภิกษุสงฆ์แลสามเณรที่รู้พระไตรปิฎกเปนอย่าง เอก, โท, ตรี, จัตวา. จะได้ทรงถวายซึ่งจีวรบิณฑบาตเสนานะคิลานเภสัชปัจจัย จะได้เปนทานมัยนับเนื่องเข้าในพระปรมัตถบารมีทานอันยิ่ง จึงให้ประชุมพระราชาคณะสิบหกรูปล้วนทรงพระปริยัติธรรม จะได้ชำระสอบไล่พระไตรปิฎก พระภิกษุสงฆ์แลสามเณร ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนิร ด้วยจะได้ทรงฟังแปลพระไตรปิฎก พระราชประสงค์จนเปนพระอุปนิสัย ประดับพระสันดานไปในอนาคต แต่ทรงฟังพระกำหนดมา ๒๕ วันแล้ว ก็มิได้พระภิกษุสงฆ์แลสามเณรที่เรียนรู้พระไตรปิฎกเปนอย่าง เอก, โท, ตรี, จัตวา เมื่อมิได้สมพระหฤทัยที่มุ่งมาก ก็มีพระกระมลมัวหมองถึงพระพุทธสาสนาว่า นับแต่วันเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานมา พระพุทธสาสนาก็ยังมิได้ทันจะถึงกึ่ง ดุจพระอาทิตย์อุทัยขึ้นมายังมิทันจะถึงเพลาเที่ยง ดังฤๅจะมาขาดพระภิกษุสงฆ์สามเณรที่รู้พระไตรปิฎกดังนี้ควรจะอัศจรรย์นัก

อนึ่งพระพุทธฎีกาตรัสบัณฑูรไว้ว่า “มนุสฺสทุลฺลโภ” สรรพสัตวจะได้บังเกิดเปนมนุษย์พบพระพุทธสาสนานี้ยากนัก ดุจเต่ามีจักษุอันมืด จมอยู่ในท้องมหาสมุทร นับด้วยหมื่นปีแสนปีเปนอันมาก จะได้ผุดขึ้นมาแต่ละครั้ง ผุดขึ้นมาก็พอสบจะหมูกแอก เบื้องว่าจะหมูกแอกมิได้มีแล้ว สงสารเต่าผุดขึ้นมาจะประสบพบซึ่งสิ่งดังฤๅ เปนไปทั้งนี้เพราะเจ้าพระคุณพระราชาคณะทั้งปวงจะรักษาสาสนา ฝ่ายพระพุทธจักรนั้น มิได้มีดำริห์เหมือนด้วยพระดำริห์จะรักษาแผ่นดิน ฝ่ายพระราชอาณาจักรในพระราชอาณาจักรนี้ ย่อมทรงคิดจัดแจงอยู่เปนนิตย์ในเสนางคจตุรงค์ ถึงจะเปนอันตรายลงก็จัดแจงตั้งแต่งตัวแทนตัวกันขึ้นไว้ ฝ่ายพระพุทธจักรนั้น พระราชาคณะจะรักษาพระสาสนาก็มิได้ดำริห์คิดที่จะฝึกสอนศิษยานุศิษย์ให้รู้พระไตรปิฎก จะได้สนองพระองค์ ถึงจะเปนอันตรายลงจะได้แทนตัวกันขึ้นไว้ พระพุทธจักรกับพระราชอาณาจักรมีพระดำริห์มิได้ต้องกันจึงเปนดังนี้

อนึ่งอันตรายจะพึงมีแก่ผู้ที่จะรักษาพระสาสนานั้นถึง ๕ ประการ อันตราย ๕ ประการนั้น คือพระราชาคณะที่มีวัสสาอายุมาก มีกำลังพลังอันทุพลภาพ ด้วยความชราหากมารันทำย่ำยีให้มีจักษุมืดมือสั่น จะบอกพระปริยัติธรรมก็ไม่ได้ จะสำแดงธรรมโปรดสัตวก็ไม่ได้ บางพระองค์มีพระสริราพยพอันพยาธิโรคาหากมาครอบงำย่ำยียังกำลังพลังให้ทุพลภาพ บางพระองค์เหนื่อยหน่ายจากเพศบรรพชิต สิ้นศรัทธาลาผนวดจากพระสาสนา บางพระองค์มีกายแลวาจาปราศจากสังวรจะยังประสาทเลื่อมใสศรัทธาแห่งทายกให้เกิดมิได้ บางพระองค์ถึงแก่มรณภาพดับสูญไป อันตราย ๕ ประการนี้ เจ้าพระคุณพระราชาคณะทั้งปวงก็มิได้พิจารณาเห็น ถึงเจ้าพระคุณพระราชาคณะทั้งปวง จะรักพระสาสนาอยู่ ก็เหมือนมิได้รักสาสนา เหตุมิให้ศึกษาฝึกสอนศิษยานุศิษย์ให้รู้พระปริยัติธรรม จะได้แทนพระองค์รักษาพระพุทธสาสนาสืบไป ตั้งแต่นี้จะได้ขออาราธนาเจ้าพระคุณพระราชาคณะทั้งปวง กระทำซึ่งพระพุทธสาสนาให้เหมือนกับสระโบกขรณี ที่มีน้ำอันเย็นใส แลมีคอกประทุมชาติเกิดคอยกันเปนชั้นๆ ถึง ๕ ชั้น ชั้นที่ มิดอกอันบานแก่ แลมีดอกอันแก่พึงจะบาน แก่พึงจะแย้มกลีบแลเกษรที่มีดอกอันอ่อนพึ่งจะผุดขึ้นพ้นน้ำบ้างอยู่ในน้ำบ้าง เปนชั้นๆ กันดังนี้ สระโบกขรณีจึงบริบูรณ์ไปด้วยดอกประทุมชาติที่เปนเกษมศุข เปนที่อาศรัยแห่งสัตวจตุบาททวิบาท มีพระยาราชหงษ์แลพระยาราชสีห์เปนต้นฉันใด อันว่าพระพุทธสาสนา ถ้ารุ่งเรืองไปด้วยพระภิกษุสงฆ์แลสามเณรที่รู้พระไตรปิฎกเปนชั้น ๆ กันดังนี้แล้ว อันว่ากลิ่นคันธรศอันกล่าวคือคุณธรรม ก็จะฟุ้งขจรตระหลบไปในที่ทวนลมแลตามลมจะเปนที่อภิรมย์ยินดีเทพยดามนุษย์ทั้งปวง มีอุปมัยดุจนั้น

อนึ่งพระราชดำริห์จะขอวางพระไทยปลงราชธุระไว้กับเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช จะขอพระภิกษุสงฆ์สามเณรที่รู้พระไตรปิฎกเปนอย่าง เอก, โท, ตรี, จัตวา. ปีละ ๕ องค์บ้างปีละ ๖ องค์บ้างให้เสมอทุกปี ถ้าสมเด็จพระสังฆราช พระพุทธโฆษา พระพรหมมุนี พระญาณวิริยะ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ปฤกษาพร้อมกันว่าพระภิกษุสงฆ์รูปนี้ พระสามเณรรูปนี้ ควรจะเปนบาเรียนได้ เอก, โท, ตรี, จัตวา. ได้แล้ว ก็จะทรงนับถือ จะทรงถวายซึ่งจตุปัจจัยนิจภัตรแก่พระภิกษุสงฆ์รูปนั้น พระสามเณรรูปนั้นมิได้ทรงรังเกียจ อย่าให้เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช หวั่นพระไทยเกรงพระราชาคณะแลพระสงฆ์อนุจร จะกล่าวว่ายกย่องกันเปนมุโขโลกนะเลย ถ้าพระราชาคณะพระองค์ใด แลเห็นพระสงฆ์อนุจรรูปใดจะกล่าวดังนี้ พระราชาคณะพระองค์นั้น พระสงฆ์อนุจรรูปนั้น ก็เหมือนกับแมลงเม่าอันบินเข้าสู่กองเพลิง เหตุได้จาฤกไว้ในพระสุพรรณบัตรถวายออกไปว่า ให้เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชถาปนาซึ่งจตุบรรสัชทั้ง ๔ ซึ่งทรงพระราชดำริห์ดังนี้ จะชอบฤๅมิชอบประการใด ให้สมเด็จพระสังฆราชประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ให้พร้อมปฤกษากันถวายพระพรเข้ามาให้แจ้ง

แก้พระราชปุจฉาที่ ๗ (ความที่ ๑)

๏ อาตมภาพ สมเด็จพระสังฆราช พระพุทธโฆษาจารย์ พระพรหมมุนี พระญาณวิริย กรมหมื่นนุชิตชิโนรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ แลพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ขอถวายพระพรเจริญพระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒมงคล พระชนมศุขทุกประการ แด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภาร พระองค์สมเด็จพระบรมธรรมมิกราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระบวรศรัทธาธิคุณอันประเสริฐ ด้วยมีพระราชโองการดำรัสให้ราชบุรุษอัญเชิญพระราชบริหารมาเผดียง อาตมภาพทั้งปวงว่ามีพระราชหฤทัยทรงปราถนา ซึ่งพระภิกษุสงฆ์แลสามเณร ที่รู้พระไตรปิฎกอย่าง เอก, โท, ตรี, จัตวา. จะได้ดำรงพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองจำเจริญสืบไป อนึ่งจะได้ทรงถวายซึ่งจตุปัจจัยนิตยภัตรอันนับเนื่องเข้าในพระปรมัตถบารมีทานอันยิ่ง เมื่อมิได้สมพระหฤทัยที่มีพระราชประสงค์ ทรงพระปริวิตกถึงพระพุทธสาสนานั้นสมควรนัก ด้วยพระพุทธสาสนาเปนแก้วอันประเสริฐ จะหาได้ด้วยจากในโลกนานๆ จึงจะมีแต่ละครั้ง คือเปนสุญกัลป์เสียโดยมาก ถึงร้อยกัลป์บ้างพันกัลป์ หมื่นกัลป์ อสงไขยกัลป์บ้าง จึงจะมีพระสัพพัญญูอุบัติบังเกิดในโลกแต่ละพระองค์ๆ สมด้วยบรมพุทธภาษิตอันสมเด็จพระพิชิตมารบัณฑูรพระสัทธรรมเทศนาแก่กระษัตริย์ลิจฉวีราษฐทั้งปวงมีในพระคัมภีร์อังคุตตรนิกายปัญจกนิบาตโดยวารพระบาฬีว่า “ปฺจนฺนํ ลิจฺฉวี รตนานํ ปาตุภาโว ทุลฺลโภ โลกสฺมึ” ดูกรบพิตรลิจฉวีราษฐ อันว่าสภาพบังเกิดแห่งรัตนะมณีมีประเภท ๕ ประการ บุทคลจะหาได้ด้วยยากในโลก แล้วตรัสเปนกเถตุกามยตาปุจฉาว่า “กตเมสํ ปฺจนฺนํ” แก้วทั้ง ๕ ประการนั้นดังฤๅ ตรัสวิสัชนาว่า

“ตถาคตสฺส อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ปาตุภาโว ทุลฺลโภ โลกสฺมึ ตถาคตปฺปเวทิตสฺส ธมฺมวินยสฺส เทสิตา ปุคฺคโล ทุลฺลโภ โลกสฺมึ ตถาคตปฺปเวทิตสฺส ธมฺมวินยสฺส วิฺาตา ปุคฺคโล ทุลฺลโภ โลกสฺมึ ตถาคตปฺปเวทิตสฺส ธมฺมวินยสฺส เทสิตสฺส วิฺาตา ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ทุลฺลโภ โลกสฺมึ กตฺูกตเวที ปุคฺคโล ทุลฺลโภ โลกสฺมึ อิเมสํ โข ลิจฺฉวี ปฺจนฺนํ รตนานํ ปาตุภาโว ทุลฺลโภ โลกสฺมินฺติ”

ดูกรบพิตรลิจฉวีราษฐ อันว่าสภาพบังเกิดแห่งพระบรมนราศภสรรเพ็ชรผู้เผด็จสรรพเกลศมาร ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณด้วยพระองค์โดยอาการอันดีอันชอบ มิได้วิปริตนั้น ก็จัดได้ชื่อว่าเปนแก้วอันจะหาได้ด้วยยากในโลกเปนประถม

อนึ่งบุทคลที่สำแสดงบอกกล่าวได้ซึ่งพระธรรมวินัยอันพระพุทธองค์ตรัสรู้นั้น ก็ได้ชื่อว่าเปนแก้วอันหาได้ด้วยยากในโลกเปนคำรบ ๒ บุทคลที่รู้ซึ่งพระธรรมวินัยอันพระสัพพัญญูตรัสรู้นั้น ก็จัดเปนแก้วอันหาได้ด้วยยากในโลกเปนคำรบ ๓ บุทคลที่รู้พระธรรมวินัย อันพระบรมครูตรัสรู้ แลบัณฑูรพระสัทธรรมเทศนา อุสาหะปฏิบัติตามธรรโมวาทานุศาสน์ได้นั้น ก็จัดเปนเก้วอันหาได้ด้วยยากในโลกเปนคำรบ ๔ บุทคลกอประด้วยกตัญญูแลกตเวทีก็จัดเปนแก้วอันหาได้ด้วยยากในโลกเปนคำรบ ๕

ดูกรบพิตรลิจฉวีราษฐ อันว่าสภาพอันบังเกิดแห่งรัตนะมณีทั้ง ๕ ประการดังพรรณามาฉนี้ บุคคลจะหาได้เปนอันยากยิ่งนัก พิเศษกว่าสรรพรัตนะทั้งปวง แต่บรรดาที่มีในโลก มีพระพุทธบริหารดำรัสไว้ฉนี้

อนึ่งซึ่งมีพระกระมลมัวหมองถึงพระพุทธสาสนา เกรงจะเสื่อมสูญจากพระภิกษุสงฆ์แลสามเณร ซึ่งจะสืบสัทธรรมวงศ์ ดำรงพระปริยัติสาสนาให้วัฒนาการรุ่งเรืองไปในอนาคตนั้น พระราชดำริห์นี้กอประด้วยคุณแลประโยชน์อันยิ่ง สมดังโบราณจารีตราชานุวัติแห่งบรมขัตติยาราชกัลยาณบุถุชน อันมอบพระองค์เปนอรรคสาสนูประถัมภกมาแต่ก่อน อาตมาภาพทั้งปวงขอพระราชทานอนุโมทนาในส่วนพระราชกุศล ซึ่งปลงพระกมลหฤทัยไว้พระราชธุระในกิจทำนุบำรุงพระพุท ธสาสนา จัดเปนปฏิปัตติบูชามหาบุญขันธ์อันประเสริฐ พระอานิสงส์จะนับจะประมาณมิได้ ซึ่งทรงพระราชปริวิตกดังนี้ ก็ต้องตามกระแสพระพุทธปริวิตก อันเปนพระอนาคตังสญาณแห่งสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าอันมีในพระบาฬีคัมภีร์พระมหาวงศ์ว่า

“โวโลเกนฺโต ตโต นาโถ อทฺทกฺขิ ตทนนฺตเร
ปฺจจตฺตาฬีสวสุเสสุ อติกฺกนฺเตสุปิ อิโต
ปรินิพฺพานมฺจมฺหิ ยมกสาลานมนฺตเร
นิปนฺเน มยิ ตตฺเถว เวสาขปุณฺณมี ทิเน
ฯลฯ สาสนํ ปยิสฺสติ.”

อรรถาธิบายความตามวาระพระบาฬีว่า “นาโถ” อันว่าสมเด็จพระบรมโลกนารถเจ้า ปางเมื่อพระองค์ทรงสถิตย์เหนืออัปราชิตวิเชียรรัตนะบัลลังก์อาศน์ ภายใต้ดรุราชโพธิพฤกษมณฑล ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเสกสัมโพธิญาณแล้ว ทรงพิจารณาเห็นแจ้งไปในอนาคตว่า จำเดิมแต่กาลปมโพธิสมัยล่วงไปอีกสี่สิบห้าวัสสานั้น ตถาคตจักนิปัชชาการด้วยอนุฐานไสยาศน์เหนือมหาปรินิพพานมัญจาอาศน์ ในระว่างแห่งยมกะสาลพฤกษ์ณวันเพ็ญเดือนหก เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ลำดับนั้นพระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระมหากัสสปเถรเปนอาทิ จะได้กระทำสังคายนาพระไตรปิฎก แลบรมกระษัตริย์ทั้งหลาย มีกรุงอชาตสัตรูราชบพิตรเปนต้น จะเปนอรรคสาสนูปถัมภกทำนุบำรุงสาสนาตถาคต ให้ถาปนาการไพบูลย์ในพื้นแผ่นชมพูทวีป แลลังกาทวีปสืบไปในภายน่าพระพุทธปริวิตกมีดังนี้ ซึ่งอาตมภาพทั้งปวงประชุมกันสอบไล่พระไตรปิฎกภิกษุสงฆ์แลสามเณรครั้งนี้ บมิได้ขึ้นถึงภูมิบาเรียน เอก, โท, ตรี, จัตวา. ถวายสนองพระเดชพระคุณ ยังพระราชศรัทธาให้เศร้าหมองนั้น ก็จัดเปนปมาทาธิกรณโทษในพระพุทธอาณาจักร ควรจะมีทัณฑกรรมแก่ตนๆ เหตุมิได้ฝึกสอนศิษย์ให้รู้พระปริยัติอันเปนอายุพระสาสนา อาตมภาพพระราชาคณะทั้งปวงพร้อมกันรับสารภาพ ขอพระราชทานถวายปฏิญาณไว้ว่า จำเดิมแต่นี้สืบไปภายน่า อาตมภาพทั้งปวงจะพร้อมกันบอกกล่าวสั่งสอนกุลบุตร แลตักเตือนให้มีเพียรเล่าเรียนภิยโยภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จักกระทำพระพุทธสาสนาให้บริบูรณ์ตด้วยภิกษุสงฆ์แลสามเณรอันทรงพระปริยัติธรรมตามแต่อุปนิสัยวาศนาแห่งบุทคล อันคู่ควรแก่พระไตรปิฎกโดยอย่างยิ่งอย่างหย่อน เปนลำดับ ๆ กัน เหมือนด้วยสระโบกขรณีอันบริบูรณ์ไปด้วยเบญจผกากุสุมสาโรชรายเรียงเปนลำดับๆ กัน ดุจกระแสพระราชดำริห์นั้นจงได้

อนึ่งซึ่งพระราชคณะผู้จะรักษาพระสาสนา มากไปด้วยเบญจพิธภยันตราย ถึงจะรักษาพระสาสนาอยู่ ก็เหมือนมิได้รักษาพระสาสนาเหตุหาอันเตวาสิก ซึ่งเปนอติชาติแลอนุชาติ จะครอบครองธรรมทายาทสืบไปบมิได้นั้น อาตมภาพทั้งปวงพิจารณาเห็นสมควรโดยพระราชบริหาร แต่นี้จะขอรับพระราชทาน ตั้งใจบอกกล่าวโดยอุกฤษฐวิริย บมิให้เว้นว่างเหมือนอย่างแต่ก่อน จะให้ได้พระภิกษุสงฆ์สามเณรที่รู้พระปริยัติธรรมขึ้นถึงภูมิบาเรียน เอก, โท, ตรี, จัตวา. ถวายสนองพระเดชพระคุณบำรุงพระราชศรัทธาให้เสมอทุก ๆ ปี มิได้ขาด ตามแต่จะได้โดยมากแลน้อย สมด้วยพระราชประสงค์ทุกประการ ควรมิควรขอพระราชทานอภัย ขอถวายพระพร

แก้พระราชปุจฉาที่ ๗ (ความที่ ๒)

อาตมภาพ สมเด็จพระสังฆราชแลพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ขอถวายพระพรเจริญพระราชศิริสวัสดิพิพัฒมงคลพระชนมศุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันมหาประเสริฐ ด้วยอาตมภาพรับพระราชทานพิจารณาเห็นว่า ซึ่งทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะ ตั้งพระไทยจะบำรุงพระสาสนา ให้ถาวรวัฒนาไปในอนาตค จึงทรงพระราชดำริห์จะใคร่ได้พระภิกษุสามเณร ที่รู้พระไตรปิฎกเปนอย่าง เอก, โท, ตรี, จัตวา ปีละ ๕ องค์ ๖ องค์จงทุกปี จะได้บูชาด้วยจตุปัจจัยเปนทานบารมีอย่างยิ่งนั้น เห็นสมควรดังพระราชดำริห์แล้ว ฝ่ายอาตมภาพทั้งปวง ก็ตฤกตรองที่จะฉลองพระเดชพระคุณด้วยพระราชดำริห์อยู่ แต่ทว่ากุลบุตรผู้มีศรัทธา ได้อุสาหะฝึกสอนขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนานั้น มักเปนอันตรายเหมือนปทุมชาติที่มีอันตราย ๕ ประการ คือวายุพัดให้หักขจัดขจาย ๑ คือกิมิชาติเบียดเบียฬ ๑ คือฝูงนางกินรีเก็บเอาไปเชยชม ๑ คือกัจฉปขบกัดเพิกเสียให้สิ้นพืช ๑ คือน้ำแลเปือกตมมิได้บริบูรณ์ ๑ ประทุมชาติกอปรด้วยอันตราย ๕ ประการดังนี้ฉันใด อันว่ากุลบุตรทั้งหลายที่มีศรัทธาพากเพียรเล่าเรียนซึ่งพระปริยัติธรรมนั้นมักมีอันตราย ๕ ประการมีต้นว่าวายุพัด กล่าวคือต้องลิ้นลมแห่งคนพาล แล้วหน่ายรักจากพระปริยัติวิบัติด้วยเหตุต่างๆนั้น ๑ กิมิชาติเบียดเบียฬ กล่าวคือฉันนวุติโรคมารันทำย่ำยี ๑ นางกินรีเก็บเอาไปชมเชย กล่าวคือมาตุคามมาปองเพียรก็พอกุลบุตรสิ้นศรัทธาลาผนวช ๑ กัจฉปะขบกัดเพิกเสียให้สิ้นพืช กล่าวคือมัจจุราชหากมาครอบงำ ๑ น้ำแลเปือกตมมิได้บริบูรณ์นั้น กล่าวคือกุศลในอดีตแลกุศลวาศนาในปัจจุบันมิได้มี จึงมิควรที่จะทรงพระไตรปิฎกได้ แลมิควรที่จะรับจตุปัจจัยบูชาแห่งพระมหากระษัตริย์อันทรงธรรมได้ ก็มีอุปไมยดุจนั้น หนึ่งอาตมภาพพระราชาคณะมิได้ลืมละซึ่งธุระสองประการในพระพุทธสาสนา อุสาหะตักเตือนฝึกสอนกุลบุตรอยู่ ถึงจะอุสาหะข่มขี่ฝึกสอนไว้หวังจะได้แทนองค์ ก็มิใคร่จะสมหวังดังความปราถนา เหตุกุลบุตรในพุทธอาณาจักรกอบไปด้วยภัย ๕ ประการดังนั้น เมื่อพิจารณาไป ก็เหมือนเสนาคนางค์จตุรงค์ในพระราชอาณาจักร เสนางคจตุรงค์นั้น ย่อมมีจิตรเมตตากรุณาอุสาหะข่มขี่ผู้ฝึกสอนบุตรของตนไว้ หวังจะให้รุ่งเรืองเจริญในที่ฐานันดรแทนตนสืบไป แต่ฝ่ายบุตรนั้นหากุศลวาศนามิได้แล้วก็พเอินวิบัติไปด้วยไภย มีเสพซึ่งคนพาลเปนต้นจึงไม่ควรที่จะรับซึ่งที่ฐานันดรแลลาภยศศักดิ์ แห่งพระมหากระษัตริย์ได้ ก็อุปไมยดังกุลบุตรในพระพุทธสาสนาที่มีกุศลวาศนาได้บำเพ็ญมา ควรที่จะรับจตุปัจจัยบูชาแห่งพระมหากระษัตริย์นั้นหาได้โดยยาก เหตุมีกองกุศลได้สร้างสมมามาก คู่ควรด้วยพระไตรปิฎกจึงจะรู้ สมด้วยคำพระอรรถกถาจารย์เจ้าอธิบายไว้ว่า ตระกูลแห่งผู้ใดมิได้เคยเปนเศรษฐีเสนาบดีแลกระษัตริย์ ตระกูลใดมิได้เคยทรงเปนพระปริยัติธรรม ฝ่ายบุตรมาได้เปนเศรษฐีเสนาบดีเปนกระษัตริย์ ได้เปนคนเล่าเรียนรู้พระปริยัติสาสนานี้ สรรเสริญว่าเปนกุลบุตรมีอภินิหารบารมีมาก อนึ่งสมด้วยโบราณาจารย์เจ้าอธิบายไว้ว่า บุทคลเล่าเรียนรู้ซึ่งปริยัตินี้ร้อยคนจึงจะรู้ดีสักคน ๑ รู้พระไตรปิฎกแล้วพันคน จึงจะทรงพระสาสนาไว้ได้สักคน ๑ มักมีอันตรายเสียโดยมาก เปนดังนี้ก็เพื่อเพราะกุศลากุศลตกแต่งสัตวให้ชั่วดีมีอันตรายต่างๆ เหตุเปนปุถุชนจะข่มขี่กิเลสได้ด้วยตทังกปหานแต่ละขณะๆ ดังกลออมส่ายแหนขจายออกไป แล้วก็กลับหุ้มเข้ามาใหม่ จำเดิมแต่วันนี้ไป อาตมภาพพระราชาคณะทั้งปวง จะอุสาหะขวนขวายตักเตือนกุลบุตรที่มีกุศลวาศนา ให้มีศรัทธาความเพียรยิ่งๆขึ้นไป จะได้สอบไล่พระไตรปิฎกไว้เปนอย่าง เอก, โท, ตรี, จัตวา. ถวายสนองพระเดชพระคุณบำรุงพระราชศรัทธาปีละ ๕ องค์ ๖ องค์บ้าง บางปีจะหย่อนบางปีจะยิ่งกว่า ๕ บ้าง ๖ บ้างจงทุกปี แม้มิได้พระสงฆ์สามเณร ที่รู้พระไตรปิฎกดังพระราชประสงค์แล้ว อาตภาพพระราชาคณะทั้งปวงนี้หาอธิกรณ์มิได้ ก็เหมือนหนึ่งมีอธิกรณ์ เหมือนจะกระทำประบทัณฑกรรมตนเอง เหตุมิได้สอบสวนฝึกสอนศิษยานุศิษย์ไว้ให้สนององค์แลสืบพระพุทธสาสนา หนึ่งก็สมด้วยพระราชดำริห์ว่า พระราชาคณะทั้งปวงมักมีอันตราย ๕ ประการ ถึงพระราชาคณะจะรักษาพระสาสนาอยู่เหมือนมิได้รักษาพระสาสนา อนึ่งซึ่งพระราชดำริห์ จะบำรุงพระพุทธสาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองไปในอนาคตนั้น เห็นเปนปฏิปัตติบูชาธรรมอันเปนพิเศษ เปนเหตุที่จะภูลเพิ่มพระสมดึงษบารมีให้บริบูรณ์เปนมหามงคลราชดำริห์อันประเสริฐ ขอถวายพระพร ๚

พระราชปุจฉาที่ ๗ นี้มีเรื่องราวในจดหมายเหตุต่อมาว่า เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ มีจำนวนพระภิกษุสามเณรสอบพระปริยัติธรรมได้ถึงภูมิบาเรียน ๖๖ รูป ทำนองจะทรงพระปริวิตกว่า จะมีผู้ติเตียนว่าการสอบไล่อ่อนแอ เพื่อจะให้ได้บาเรียนมากดังพระราชประสงค์ จึงได้โปรดฯ ให้เชิญกระแสรับสั่งไปถามสมเด็จพระสังฆราชแลพระพระราชาคณะผู้สอบไล่ดังนี้

กระแสรับสั่งเรื่องสอบพระปริยัติธรรม

วันอังคารเดือน ๖ แรม ๑๓ ค่ำ ปีฉลูตรีศก (จุลศักราช ๑๒๐๓) มีพระราชบริหารให้เสด็จกรมหมื่นไกรสรวิชิต ดำเนิรความที่ทรงพระปรีดาปราโมช เพราะสมพระไทยที่มุ่งมาด ออกมาประกาศถวายเจ้าประคุณพระราชาคณะทั้งปวงให้ทราบทุกๆพระองค์ ด้วยทรงพระราชศรัทธา จะทำนุบำรุงพระพุทธสาสนา ให้ถาวรรุ่งเรืองสืบๆไป จึงให้เสด็จสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) สมเด็จพระวันรัต (นาค) พระพิมลธรรม (อู่) พระธรรมอุดม กรมหมื่นนุชิตชิโนรสศรีสุคตขัตติยวงศ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ พระเทพมุนี พระพรหมมุนี พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) พระโพธิวงศ์ พระธรรมโกษา พระเทพโมลี พระศรีสมโภช พระเทพกวี พระญาณไตรโลก พระญาณปริยัติ พระวิสุทธิโสภณ พระรัตนมุนี พระกระวีวงศ์ พระอมรโมลี (สา) พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก) พระวินัยมุนี พระศรีสากยบุตร พระสุธรรมเทพยเถร พระอริยะมุนี พระสุเมธาจารย์ พระอุดมญาณ พระไตรสรณธชะ พระธรรมวิสารทะ พระกุลวงศ์ เปน ๓๐ พระองค์พร้อมกันณพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุพระอารามหลวง จะให้สอบไล่พระไตรปิฎก พระสงฆ์สามเณรที่เปนเปรียญ เอก, โท, ตรี, จัตวา. แลพระสงฆ์สามเณรที่เปนอนุจร ทั้งไทยทั้งรามัญ แต่ทรงพระราชวิตกไปกลัวเกลือกเจ้าพระคุณพระราชาคณะทั้งปวง จะมิได้เปนสามัคคีรสอดออมซึ่งกันแลกัน เจ้าพระคุณพระราชาคณะทั้งปวง ก็พร้อมกันถวายพระพรเปลื้องพระราชวิตกเข้าไป ได้ทรงฟังก็ตั้งพระราชหฤทัยคอยฟังข่าวแต่เดือน ๑ แรม ๔ ค่ำ มาจนถึงเดือน ๒ แรม ๑๓ ค่ำ ๕ เดือนกับ ๘ วัน มหาดเล็กรายงานกราบบังคมทูลพระกรุณา สรรเสริญเจ้าประคุณทั้งปวงว่า เปนสามัคคีรสรักใคร่กัน ถ้าองค์ใดติดธุระสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะมิได้มา ก็ไว้วางธุระเจ้าพระคุณทั้งปวงผู้ที่มาหาความรังเกียจกันมิได้ก็ดีพระไทยทรงพระโสมนัศนัก ทรงพระอนุสรคำนึงถึงพระพุทธฎีกาตรัสพระสัทธรรมเทศนาว่า “วนปฺปคุุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค คิมฺหานมาเส ปมสฺมึ คิเมฺห” อันว่าพุ่มไม้ในป่าดวงดอกอันบานพร้อมกันตั้งแต่ต้นจนตลอดยอด ในคิมหมาศ อันเปนเดือนแรกฤดูร้อน พิศโสภาคควรจะพึงชมฉันใด เจ้าพระคุณพระราชาคณะทั้งปวง พร้อมกันกระทำสามัคคีรสรักใคร่ซึ่งกันและกัน ก็โสภาคควรพึงชมเหมือนดังนั้น ให้เจ้าพระคุณพระราชาคณะทั้งปวง ทรงพระเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในพระพุทธสาสนานั้นเถิด

บัดนี้การที่จะสอบไล่พระไตรปิฎกก็สำเร็จแล้ว ได้พระสงฆ์สามเณรทั้งไทยทั้งรามัญเปรียญถึง ๖๖ พระองค์ จึงโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าอ่านชื่อพระสงฆ์สามเณรเปรียญประกาศถวาย ให้เจ้าพระคุณทั้งปวงทรงฟังทุกๆพระองค์ ถ้าเจ้าพระคุณทั้งปวง เห็นว่าพระสงฆ์สามเณร ๖๖ องค์นี้ สมควรจะเปนเปรียญ เอก, โท, ตรี, จัตวา. ได้ โดยอันควรแก่กำลังสติปัญญาแห่งตนๆแล้ว ก็ให้เจ้าประคุณพระราชาคณะทั้งปวง พร้อมกันส้องสาธุการ พระสงฆ์สสามเณรเปรียญจะได้มีเกียรติคุณปรากฎไป ในพระพุทธจักรและพระราชอาณาจักร แล้วจะได้เปนที่สักการะแห่งเทพามนุษย์สืบๆ ไป

ครั้นอ่านชื่อพระสงฆ์สามเณรเปรียญสิ้นลงแล้ว เจ้าพระคุณพระราชาคณะทั้งปวง ก็ส้องสาธุการขึ้นพร้อมกัน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ