พระราชปุจฉาที่ ๒
ข้อ ๑ ว่าด้วยอากรค่าน้ำแลอากรสุราที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบัญญัติขึ้นจะเปนโทษฤๅเปนคุณ
ข้อ ๒ ว่าพระเจ้าพิมพิสาร แลพระเจ้ามหานามจะปราบปรามโจรผู้ร้ายมิให้เกี่ยวข้องแก่ทศอกุศลกรรมบถ แลจะเรียกส่วยสาอากร ให้ปราศจากมิจฉาชีพนั้นจะวางพระอารมณ์ประการใด
ข้อ ๓ ว่าด้วยท้าวเวสวรรณมหาราชเปนพระโสดา จะลงทัณฑกรรมแก่บริวารที่หยาบช้าด้วยกรรมกรณ์อันใด แลจะวางพระสติประการใด
----------------------------
๏ ศุภมัสดุจุลศักราช ๑๑๘๘ โสณสังวัจฉรนักษัตรธอัฐศกมิคสิรมาศกาลปักษ์จตุรสดิถีจันทวารกาลบริเฉทกำหนด สมเด็จพระบรมนารถบรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระวิริยภาพในพุทธการกธรรมอันมหาประเสริฐ เสด็จออกณพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมานเพลาเช้าห้าโมงเศษทรงปรนิบัติพระสงฆ์ แล้วตรัสประภาษด้วยพระราชปุจฉา ทรงสังเวชในอายุไขยแห่งสัตวโลก จึงทรงพระมหากรุณาดำรัสเหนือเกล้าว่า กาลนี้เปนหายนกาลอายุไขยแห่งสัตว์น้อยนักพลันดับพลันสูญมิได้เที่ยงเปนพระอนิจจัง ซึ่งจะมิได้ปรีชาญาณพิจารณาให้ละเอียดในบาปแลบุญคุณแลโทษ ประโยชน์แลใช่ประโยชน์นั้นมิได้ควร ควรที่สัตวโลกจะมีชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ด้วยมิจฉาอาชีวะนั้นมิได้ชอบ
อนึ่งทรงพระราชรำพึงเห็นว่า ทรงบำเพ็ญซึ่งศีลบารมีแลทานบารมีทั้งปวงนั้น ก็นับเนื่องเข้าในพระสมดึงษบารมี ล้วนเปนปัจจัยแก่พระโพธิญาณบารมีสิ้นทั้งนั้น พระกระมลหฤทัยจะยังพระสมดึงษบารมีให้บริสุทธิ์ จึงทรงพระวิมุติสงไสยในอากรค่าน้ำแลอากรสุรา เกรงจะเปนที่เศร้าหมองแห่งสัมมาอาชีวะ จึงมีพระราชโองการมานพระบัญฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้พระยาธิเบศบดีจางวางมหาดเล็ก พระวิเชียรปรีชาพระเมธาธิบดี หลวงธรรมานุรักษ์ ราชบัณฑิต ขุนมหาสิทธิโวหารยอาลักษณเชิญพระราชบริหารเปนพระราชปุจฉา ออกไปเผดียงถามสมเด็จพระสังฆราช แลพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงว่า แต่ตั้งพระมหานครศรีอยุทธยามาช้านานนับด้วยร้อยปีเปนอันมาก ได้ทรงฟังในพระราชพงษาวดาร เปนโบราณกถากล่าวสืบๆ กันมา กระษัตริย์พระองค์ใด ที่จะเปนมฤฉาทิฐินั้นมิได้มี พระมหากระษัตริย์แต่ละพระองค์ๆ ย่อมทรงพระมหันตปรีชาญาณขยันยิ่ง พระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยแต่ละพระองค์ ย่อมทรงพระปริยัติธรรมแตกฉานในห้องพระไตรปิฎก มิได้ทรงตรัสสั่งสนทนากันฤๅว่า อากรค่าน้ำอากรสุรานี้จะมีโทษฤๅหาโทษมิได้ประการใด จึงทรงพระราชบัญญัติไว้ ครั้นทรงพระพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณอันละเอียด จะเห็นว่าไม่มีโทษก็มิได้มีที่อ้างอิง แต่ทรงฟังพระสัทธรรมเทศนามาด้วยพระสุตตาไมยญาณช้านานนับด้วยปีเปนอันมาก ก็ยังมิได้พบเห็นพระบาฬีในคัมภีร์อันใด ครั้นจะเห็นว่ามีโทษ พระมหากระษัตริย์ซึ่งได้ดำรงแผ่นดินล่วงไปในอดีต ล้วนทรงพระปัญญาอันฦกซึ้ง ทรงพระราชบัญญัติไว้ ฤๅจะเห็นค่าอากรค่าน้ำแลอากรสุรานี้เหมือนกันกับค่านา ครั้งเมื่อพระเจ้ามหาสมมุติวงศ์ จะเอาเยี่ยงอย่างอันนั้นมาทรงบัญญัติไว้ เพื่อจะบันเทาซึ่งโทษแห่งคนที่เสพสุรา แลกระทำปาณาติบาตให้กระทำน้อยลง แล้วจะมิให้บังเกิดความวิวาทซึ่งกันแลกันจะเปนดังนี้ฤๅประการใด
อนึ่งพระราชดำริห์จะดำรงแผ่นดินให้เปนยุติธรรมอันยิ่ง จะใคร่ทรงทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารราชบรมกระษัตริย์ พระเจ้ามหานามบรมกระษัตริย์ เป็นพระโสดาบันบุทคล พระองค์จะดำรงแผ่นดินปราบปรามซึ่งโจรผู้ร้ายด้วยพระราชอาญา มิได้ให้เกี่ยวข้องในทัศอกุศลกรรมบถ แลจะเรียกส่วยสาอากรให้ปราศจากมิจฉาชีพนั้น จะวางพระอารมณ์ประการใด
อนึ่งท้าวเวสวรรณมหาราชบพิตรเปนพระโสดา แต่บริสัชบริวารแห่งพระองค์ล้วนกักขฬะหยาบช้าทารุณนัก พระองค์จะว่ากล่าวสั่งสอนลงทัณฑกรรมด้วยกรรมกรณ์อันใด จะวางพระสติประการใด ให้สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ค้นดูพระบาฬีแลคัมภีร์พระอรรถกถา กับทั้งอัตโนมัตยาธิบายถวายวิสัชนาเข้ามาให้แจ่มแจ้ง ให้เปนประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน อย่ายังประโยชน์ทั้งสองฝ่ายให้สูญไป จะได้เปนราชวัตตานุวัตร สำหรับบรมกระษัตริย์สืบๆ แผ่นดินต่อไป
แก้พระราชปุจฉาที่ ๒
อาตมภาพสมเด็จพระสังฆราช ๑ สมเด็จพระพนรัต ๑ พระพิมลธรรม ๑ พระธรรมอุดม ๑ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ๑ พระพรหมมุนี ๑ พระพุทธโฆษาจารย์ ๑ พระธรรมไตรโลก ๑ พระธรรมเจดีย์ ๑ พระวิเชียรโมฬี ๑ พระปรากรม ๑ พระญาณวิริยะ ๑ พระเทพโมฬี ๑ พระอริยวงศ์มุนี ๑ พระเทพมุนี ๑ พระญาณสมโพธิ ๑ พระสุเมธ ๑ พระราชกระวี ๑ พระอมรโมฬี ๑ พระศรีวิสุทธิวงศ์ ๑ พระศรีสุธรรมมุนี ๑ พระรัตนมุนี ๑ พระศรีสมโพธิ ๑ พระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ๒๓ รูปขอถวายพระพรเจริญพระราชศิริสวัสดิพิพัฒมงคลพระชนมศุขทุกประการ แด่สมเด็จบรมพิตรพระราชสมภารพระองค์ สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระบวรศรัทธาธิคุณอันประเสริฐ ด้วยมีพระราชโองการให้ราชบุรุษอัญเชิญพระราชบริหาร เปนข้อพระราชปุจฉายยกมาเผดียงถามว่า ซึ่งโบราณราชกษัตริย์ทรงพระบัญญัติ อากรค่าน้ำ อากรสุราไว้ให้เปนจารีตขัติยราชประเพณีสืบๆ กันมาทั้งนี้ เพื่อจะมิให้บังเกิดความวิวาทซึ่งกันแลกัน ดุจค่านาครั้งเมื่อพระเจ้ามหาสมมติเทวราชแต่ปฐมกัลปแล้วบันเทาเสียซึ่งโทษแห่งชนที่เสพสุรา แลกระทำปาณาติบาตให้กระทำน้อยตัวลง จะเปนดังนี้ฤๅประการใดนั้น
แก้ข้อ ๑
อาตมภาพทั้งปวงขอพระราชทานถวายวิสัชนา โดยอัตโนมัตยาธิบาย พิจารณาเห็นตามกระแสพระราชปุจฉาว่า สมเด็จพระบรมขัติยาธิบดี ซึ่งได้ดำรงแผ่นดินล่วงไปในอดีตนั้น ล้วนมีพระสันดานมากไปด้วยพระมหากรุณาคุณ จะทรงพิจารณาเห็นว่าสันดานแห่งสัตวโลกในหายนไสมย มักหนาไปด้วยราคะโทสะโมหะ จะข่มขี่ด้วยราชอาญาโดยกรรมกรณ์ต่างๆ นั้น เห็นจะหนักในพระราชอาญานัก จึงทรงบัญญัติด้วยราชทัณฑ์สินไหม เพื่อจะบันเทาเสียซึ่งโทษแห่งชนที่เสพสุราแลกระทำปาณาติบาต ให้กระทำน้อยตัวลง ดุจพระบาฬีในคัมภีร์มิลินทปัญหาว่า “การุญเน ตถาคโต สพฺพุตญาโณ เทคทตฺตสฺส คตึ โอโลเกนฺโต อทฺทส เทวทตฺตํ พหูนิ กปฺปสตสหสฺสานิ นิรเย นิริยํ ฯลฯ มม สาสเน ปพฺพชิตสฺส ปริยนฺตคตํ ภวิสฺสตีติ” แปลเนื้อความว่า พระนาคเสนเถรเจ้าถวายวิสัชนาแก่กรุงมิลินทราชกระษัตริย์ ว่าดูกรบพิตร สมเด็จพระสัพพัญญูทรงพิจารณา เห็นซึ่งคติแห่งพระเทวทัตด้วยพระสัพพัญญุตญาณว่า พระเทวทัต ถ้ามิได้บรรพชาในพระสาสนาจะกระทำอกุศลกรรมเนืองๆ แลจะไปบังเกิดในอบายภูมิสิ้นกาลถึงแสนกัลปเปนอันมาก หากำหนดที่สุดแห่งกรรมบมิได้ เบื้องว่าพระเทวทัตได้บรรพชาในสาสนาตถาคตกรรมนั้นก็จะมีที่กำหนดน้อยลง จะตั้งอยู่ในนิริยภูมิแต่กำหนดกัลปหนึ่งเท่านั้น เหตุดังนั้นสมเด็จพระสัพพัญญู จึงพระราชทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระเทวทัต ด้วยทรงพระมหากรุณาจะบรรเทาเสียซึ่งอกุศลโทษในมหานรกนั้น ให้น้อยลงฉันใดก็ดี อันว่าโบราณราชกระษัตริย์ ทรงบัญญัติอากรค่าน้ำแลอากรสุราด้วยราชทัณฑ์สินไหม เหตุมีพระกระมลหฤทัยกอปรด้วยพระมหากรุณาจะบันเทาเสียซึ่งอกุศลโทษแห่งชนที่เสพสุรา แลกระทำปาณาติบาตให้น้อยตัวลง มีอุปไมยดุจนั้น
อนึ่งทรงพระวิมุติสงไสยในอากรค่าน้ำแลอากรสุรา เกรงจะเปนที่เศร้าหมองแห่งสัมมาอาชีวะนั้น อาตมภาพทั้งปวงพิจารณาเห็นว่า ซึ่งจะเปนกุศลากุศลกรรมนั้น ก็อาไศรยแก่เจตนาเปนประธาน เมื่อหาเจตนามิได้แล้วผลแห่งกุศลแลอกุศลนั้นก็มิได้มี สมด้วยวาระพระบาฬีในพระคัมภีร์ปฐมสามนตปาสาทิกอรรถกถาว่า พระโมคลีบุตรดิศเถรเจ้าถวายพระพรวิสัชนาเปลื้องพระราชปริวิตก แห่งสมเด็จพระเจ้าธรรมาโลกราชบพิตรว่า พระพุทธฎีกาตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมนติ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสาติ” ดูกรสงฆ์ทั้งปวง บุคคลยังเจตนาให้เปนไปแล้ว แลกระทำกรรมอันเปนกุศลแลอกุศล ด้วยกายแลวาจาแลจิตรต่างๆ ตถาคตกล่าวว่า เจตนาอันประกอบด้วยทวารทั้งสามนั้นเรียกว่ากุศลากุศลกรรม ตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้ดังนี้ แลข้อซึ่งประพฤติเลี้ยงชีพโดยชอบธรรมแลมิได้ชอบธรรมเปนบุญเปนบาปประการใดนั้น ก็มีแก่ชนทั้งปวงตามแต่ที่ประพฤติดีแลชั่วโดยโวหารกิจแห่งตนต่างๆ ใช่จะนับเนื่องเข้ามาถึงพระบวรราชสันดานด้วยนั้นหามิได้ เหตุพระเจ้าแผ่นดินก็มิได้ปลงพระกระมลเจตนายินดีลงในอกุศลจิตร อันชนทั้งปวงกระทำนั้น
อนึ่งพระบาฬีในพระมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งสมเด็จพระสัพพัญญูบัณฑูรพระสัทธรรมเทศนา แก่พระอานนท์ในอปริหานิยธรรมคำรบสามนั้นว่า “กินฺติ เต อานนฺท สุตํ วชฺชี อปฺตฺตํ น ปฺาเปนฺติ ปฺตตํ น สมุจฺฉินฺทนฺติ ยถาปฺตฺเต โปราเณ วชฺชีธมฺเม สมาทาย วตฺตนฺติ” ดูกรอานนท์ ท่านยังได้สดับแลฤๅว่า กระษัตริย์วัชชีราษฐในกรุงไพสาลีบมิได้บัญญัติขึ้นใหม่ ซึ่งจารีตอันบมิได้บัญญัติไว้แต่ก่อน อนึ่งบมิได้ตัดรอนเสียซึ่งจารีตราชประเพณี อันโบราณราชกระษัตริย์ทรงบัญญัติไว้ย่อมประพฤติโดยวัชชีธรรม ตามขัติยราชบัญญัติไว้แต่ก่อนนั้น พระอานนท์ ก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้สดับสมดังพระพุทธฎีกา จึงดำรัสว่า “ยาวกีวฺจ อานนฺท วชฺชี ปฺตฺตํ น ปฺเปสฺสนฺติ ปฺตฺตํ น สมุจฺฉินฺทิสฺสนฺติ ยถา ปฺตฺเต โปราเณ วชฺชิธมฺเม สมาทาย วตฺติสฺสนฺติ วุฑฺฒิเยว อานนฺท วชฺชีนํ ปาฏิกํขา โน ปาริหานิ” ดูกรอานนท์ เบื้องว่ากระษัตริย์วัชชีราษฐบมิได้บัญญัติขึ้นใหม่ ซึ่งจารีตอันบมิได้บัญญัติไว้แต่ก่อน อนึ่งบมิได้ตัดรอนเสียซึ่งจารีตราชประเพณี อันโบราณราชกระษัตริย์บัญญัติไว้แต่ก่อน แลประพฤติในวัชชีธรรมตามโบราณราชบัญญัติอยู่ตราบใด อันว่าความเจริญราชศิริสวัสดิ์ก็ปรากฎมีแก่กระษัตริย์วัชชีราชทั้งปวง บมิได้เสื่อมสูญสิ้นกาลตราบนั้น
อนึ่งมีพระบาฬีกล่าวแก้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอรรถกถาว่า “ปฺตฺตํ สมุจฺฉินฺทนฺตานํ ปเวณี อาคตานิ สุํงกาทีนิ อคณฺหนฺตานํ โกโส ปริหายติ ตโต หตฺถีอสฺสพลกายา โอโรธาทโย ยถา นิพทฺธํ อลพฺภมานา ถาเมนพเลน ปริหายนฺติ เตเนว ยุทฺธกฺขมา เจว น ปาริจริยกฺขมา ฯลฯ เอวํ ราชูนํ ปาริหานี โหนฺติฯ ปฺตฺตํ อสมุจฺฉินฺทนฺตานํ ปเวณิ อาคตานิ สุํงกาทีนิ คณฺหนฺตานํ โกโสฺ วทฺฒติ ตโต หตฺถีอสฺสพลกายา โอโรธาทโย ยถา นิพทฺธิ วตฺถุํ ลพฺภมานา ถามพลสมฺปนฺนา ยุทฺธกฺขมา เจว ปาริจริยกฺขมาโหนฺติ เอวํ ราชูนํ วุฑฺฒิ โหติ” แปลเนื้อความว่า เมื่อพระมหากระษัตริย์ตัดรอนเสียซึ่งโบราณราชบัญญัติ มิได้ถือเอาซึ่งทรัพย์สำหรับขึ้นท้องพระคลังมีสร่วยเปนต้น อันเนื่องมาตามขัติยราชประเพณีแต่โบราณนั้น อันว่าราชโกษฐาคารก็จะร่วงโรยเสื่อมจากพระราชทรัพย์ ลำดับนั้นราชบรรสัชทั้งหลาย มีจัตุรงคเสนาทั้งสี่หมู่ แลนางพระสนมเปนอาทิจะมิได้รับพระราชทานธนสาร โดยสมควรที่ตนได้มาแต่ก่อน ก็จะย่อหย่อนจากพิริยพลภาพในการยุทธสงคราม อันจะปราบปรามปัจจามิตร ซึ่งจะมาย่ำยีขอบขัณฑสีมาพระราชอาณาเขตรแลกิจที่จะอุปฐากสมเด็จบรมกระษัตริย์ กับทั้งสรรพกิจต่างๆ เปนเหตุจะให้เสื่อมลงซึ่งพระราชอิศริยยศดังนี้ อนึ่งผิวบรมกระษัตริย์บมิได้ตัตรอนเสียซึ่งขัติยจารีตราชบัญญัติมาแต่ก่อน แลถือเอาซึ่งทรัพย์อันควรจะขึ้นท้องพระคลัง มีสร่วยเปนต้น ตามเยี่ยงอย่างโบราณราชประเพณีสืบๆ กันมา อันว่าราชโกษฐาคารก็จะมั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยธนสารสมบัติราชบรรสัชทั้งปวง เมื่อได้รับพระราชทานซึ่งพระราชทรัพย์ โดยอันควรแก่ตนเคยได้นั้น ก็จะประกอบด้วยพิริยพลภาพในการยุทธสงคราม อันจะปราบปรามปกป้องกันขอบขัณฑสีมาอาณาเขตร แลกิจอุปฐากในสมเด็จพระมหากระษัตริย์ กับทั้งสรรพราชกิจต่างๆ เปนเหตุที่จะให้เจริญพระราชอิศริยยศ เหตุฉนั้นบรมกระษัตริย์วัชชีราชทั้งปวง ย่อมประพฤติโดยโบราณจารีตขัติยประเพณี บมิได้ตัดรอนเสียซึ่งราชบัญญัติอันสืบ ๆ มาแต่ก่อน ได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม ดุจพระบรมพุทธาธิบายบัณฑูรแก่พระยานนท์ดังนี้
อนึ่งอาตมภาพทั้งปวงค้นดูพระบาฬีในคัมภีร์ต่างๆ อันมีในห้องพระไตรปิฎกเห็นแจ้งว่า ซึ่งจะเลี้ยงชีวิตโดยสัมมาอาชีวะ แลมิจฉาอาชีวะนั้น ก็มีมาแต่ปฐมกัลป ประชาชนทั้งปวงย่อมกระทำค้าขายเลี้ยงชีวิตรโดยวิไสยที่เปนสัปรุษแลเปนอสัปรุษแลสืบๆ กันมาแต่อดีตกาลช้านาน ใช่จะพึงบังเกิดแต่ครั้งตั้งพระมหานครศรีอยุธยามาจนตราบเท่ากาลทุกวันนี้นั้นหาบมิได้
อาตมภาพทั้งปวง จึงพิจารณาเห็นว่า สร่วยสัตพัฒนาสรรพอากรต่างๆ จะเปนสัมมาอาชีวะ แลมิจฉาอาชีวะก็ดีบรรดามีในโลก ก็คงจะเปนสร่วยสัดพัฒนากรขึ้นท้องพระคลัง แห่งสมเด็จบรมกระษัตราธิราชเจ้าสิ้นทั้งนั้น อนึ่งพระบาฬีในคัมภีร์ใดๆ จะได้ออกความชัดว่า ให้ภัณฑาคาริกามาตย์ แห่งบรมขัติยาธิบดีเรียกสร่วยสรรพากรแก่ราษฎรทั้งปวง ให้เรียกแต่ที่เลี้ยงชีวิตเปนสัมมาอาชีวะ ที่เปนมิจฉาอาชีวะแล้วห้ามมิให้เรียกขึ้นยังท้องพระคลัง พระบาฬีจะจะดความดังนี้ก็หามิได้มี เหตุฉนั้น อาตมภาพทั้งปวงจึงพิจารณาเห็นว่าอากรค่าน้ำแลอากรสุรานี้ จะมิได้เกี่ยวข้องมัวหมองในพระเจ้าแผ่นดิน เหตุหาพระกระมลเจตนามิได้
แก้ข้อ ๒
ประการหนึ่งซึ่งพระราชปุจฉาว่า สมเด็จพระเจ้าพิมพิสาร สมเด็จพระเจ้ามหานาม บรมขัติยราชทั้งสอง เปนพระโสดาบันบุทคล พระองค์จะดำรงแผ่นดินปราบปรามโจรผู้ร้ายให้ราบคาบด้วยพระราชอาญามิได้ให้เกี่ยวข้องในทัศแกุศลกรรมบถ แลเรียกสร่วยสรรพอากรไห้ปราศจากมิจฉาชีพ จะวางพระอารมณ์เปนประการใดนั้น
อาตมภาพทั้งปวงพิจารณาเห็นโดยอัตโนมัตยาธิบาย ขอพระราชทานถวายวิสัชนาว่า กระษัตริย์ทั้งสองพระองค์วางพระอารมณ์มัธยัตอยู่ตามเสกขภูมิ บมิได้มีพระกระมลเจตนา ในที่จะกระทำโทษแก่ผู้ซึ่งเลมีดพระราชอาณาจักร แต่บมิได้ตัดรอนเสียซึ่งโบราณราชประเพณี เพื่อจะรักษาจารีตบรมกระษัตริย์ ซึ่งดำรงแผ่นดินมาแต่ก่อน ถึงมาตรว่าจะมีผู้กราบทูลว่าจับโจรผู้ร้ายได้จะนำเอามาถวาย ก็จะมีพระราชโองการดำรัสว่า ท่านทั้งปวงจงพิจารณาว่ากล่าวกันเถิด ซึ่งจะปลงพระไทยให้ลงโทษโดยพระราชอาญานั้นมิได้มีเปนอันขาด เหตุสันดานแห่งพระโสดาขาดจากวธกเจตนา แลมละเสียซึ่งปฏิฆสังโยชน์ กล่าวคือโทโสที่มีกำลังกล้านั้นสิ้นแล้ว อนึ่งอันว่าบาปธรรมทั้งปวง ซึ่งเปนส่วนอันพระโสดาปติมรรคญาณประหารเสียได้นั้นก็มีเปนอันมาก สมด้วยพระบาฬีในวิสุทธิมัคว่า “สํโยชเนสุ สกฺกายทิฏฺิวิจิกิจฺฉาสีลพฺพตฺตปรามาโส อปายคมนิยา จ กามราคปฏิฆาติ เอเต ปฐมฌานวชฺฌา” ล้ำสังโยชน์ทั้งหลาย ๑๐ นั้น พระโสดามรรคญาณฆ่าเสียได้ซึ่งสังโยชน์แต่ห้าประการ คือ สกฺกายทิฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลพัตปรามาส ๑ กามราค ๑ ปฏิฆคือโทโสนั้น ๑ เปนห้าประการด้วยกัน อธิบายว่าสักกายทิฐินั้นสงเคราะห์เอาทิฐิทั้ง ๖๒ มีสักกายทิฐิเปนต้น แลสังโยชน์ทั้ง ๓ ตัว คือทิฐิวิจิกิจฉาสีลพัตปรามาสนี้ พระโสดาฆ่าเสียหาเศษบมิได้ ฝ่ายกามราคกับปฏิฆนั้น พระโสดาแบ่งประหารเสียแต่ที่กำลังกล้า อาจให้ผลไปบังเกิดในอบายได้ ที่กำลังอ่อนมิอาจให้ผลไปสู่อบายนั้นยังเหลืออยู่ในสันดานแห่งพระโสดาบันบุทคลบ้าง “กิเลเสสุ ทิฏฺฐิวิจิกิจฺฉา ปมฌานวชฌา” ถ้าจะจัดฝ่ายกิเลสทั้ง ๑๐ นั้น พระโสดาฆ่าเสียได้ซึ่งกิเลส ๒ ประการ คือสักกายทิฐิกับวิจิกิจฉา
อนึ่ง ฝ่ายมิจฉัตธรรมทั้ง ๑๐ นั้น พระโสดาฆ่าเสียได้สี่ประการ คือมิจฉาทิฐิ ๑ มุสาวาท ๑ มิจฉากัมมันต ๑ มิจฉาอาชีวะ ๑ ในกองมัจฉริยห้า มีอาวาศมัจฉิริยเปนอาทินั้น พระโสดาฆ่าเสียสิ้นเปนนิราวเสส ฝ่ายวิปลาศนั้น พระโสดาฆ่าเสียได้ซึ่งสัญญาวิปลาศ จิตรวิปลาศ ทิฐิวิปลาศ อันสำคัญคิดเห็นว่าเที่ยงในสิ่งอันบมิได้เที่ยง ว่าเปนตนในสิ่งอันใช่ตน กับทิฐิวิปลาศซึ่งเห็นว่าศุขในกองทุกข์ เห็นงามในกองอศุภ วิปลาศเหล่านี้เปนส่วนพระโสดาฆ่าเสีย ให้อันตรธานจากสันดานดังพรรณนามาฉนี้ จึงเห็นว่าพระกระมลหฤทัยแห่งสมเด็จบรมกระษัตริย์ทั้งสองนั้น ขาดจากวธกเจตนาเปนแท้ เหตุจิตรแห่งพระโสดาบันบุทคลนั้น เว้นจากปาณาติบาตกรรมเปนนิราวเสส แลมละเสียซึ่งโทโสที่มีกำลังกล้านั้นสิ้นแล้ว เปนแต่บมิได้ตัดซึ่งโบราณราชประเพณี เพื่อมิให้เสียจารีตบรมกระษัตริย์สืบมาแต่ก่อน เหมือนกันกับเศรษฐีธิดา ซึ่งเปนภรรยาแห่งกุกุฏมิตรมฤคลุทธก มีในคัมภีร์พระธรรมบท แลนางผู้นี้ก็เปนพระโสดาบันบุทคล ขณะเมื่อสามีจะไปสู่ป่านั้นก็กล่าวว่า เจ้าส่งธนูแลหอกกับทั้งหลาวแลข่ายมาให้แก่เรา นางนั้นก็ส่งอาวุธทั้งปวงให้แก่สามีๆ นั้นก็ไปกระทำปาณาติบาต ฆ่ามฤคชาติด้วยอาวุธนั้นๆ เหตุอันนี้พระสงฆ์ทั้งหลายสโมสรสนทนาแก่กันบังเกิดวิมุติกังขาค่า บุทคลที่ได้พระโสดานั้น ยังกระทำปาณาติบาตอยู่แลฤๅ สมเด็จพระบรมโลกนารถเจ้า จึงบัณฑูรพระพุทธบริหารว่า ดูกรสงฆ์ทั้งปวง ธรรมดาว่าพระโสดาบันบุทคลที่จะกระทำปาณาติบาตนั้นบมิได้มี นางนั้นกระทำตามบังคับสามีแห่งตน แลจิตรแห่งนางจะได้คิดว่าสามีอาตมาจงถืออาวุธนี้ไปฆ่าสัตวเถิด จะได้ดำริห์ดังนี้หามิได้ แล้วจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาด้วยพระคาถาว่า
“ปาณิมฺหิ เจ วโณ นาสฺส | หเรยฺย ปาณินา วิสํ |
นา วณํ วิสมเนฺวติ | นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต.” |
ดูกรสงฆ์ทั้งปวง อันว่าบุทคลผู้ใด มีมืออันปรกติดี ปราศจากบาดแผลบุทคลผู้นั้นจะพึงถือเอาซึ่งยาพิษด้วยมือแห่งตน ยาพิษนั้นก็มิได้ซาบเข้าไปในหัดถาพยพ อันนี้แลมีครุวรรณาฉันใด อันว่าบาปก็มิได้มีแก่นางเศรษฐีธิดา ซึ่งส่งอาวุธให้แก่สามีด้วยปราศจากอกุศลเจตนาก็มีอุประไมยเหมือนดังนั้น มีพระพุทธพยากรณ์ปลดเปลื้องความสงไสยแห่งสงฆ์ทั้งปวงด้วยประการฉนี้ แลกิริยาที่นางเศรษฐีธิดา ส่งอาวุธให้ด้วยมิได้ตัดเสียซึ่งคำบังคับแห่งสามี หาอกุศลเจตนาบมิได้ดุจใด อันว่าบรมกระษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ผู้ดำรงไอสุริยสมบัติ แลดำรัสในราชกิจจานุกิจทั้งปวง ก็มิได้ตัดเสียซึ่งโบราณราชบัญญัติ แต่หาอกุศลเจตนาบมิได้ดุจนั้น
อนึ่ง ข้อซึ่งกษัตริย์ทั้งสองจะวางพระอารมณ์ให้พ้นจากมิจฉาชีพประการใดนั้นเนื้อความวิสัชนาก็เหมือนในบทก่อน แต่กระษัตริย์ที่เปนกัลยาณบุถุชน ประพฤติโดยโบราณจารีตราชบัญญัติมิได้ตัดรอนเสียนั้น ก็ได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม พระสัพพัญญูตรัสสรรเสริญมิได้ติเติยนว่าเปนมิจฉาชีพแล้ว จะปวยกล่าวดังฤๅถึงกระษัตริย์ที่บรรบุแก่พระโสดานั้นเล่า แลอำนาจพระโสดาปติมรรคญาณนั้น ฆ่าเสียได้ซึ่งมิจฉาอาชีวะในกองมิจฉัตธรรมนั้น ขาดสูญโดยนัยพรรณนามาแล้วแต่หนหลัง เหตุฉนี้อาตมภาพทั้งปวงจึงถวายวิสัชนาว่า บรมกระษัตริย์ทั้งสองอันเปนโสดาบันบุทคลนั้น ขาดจากมิจฉาชีพกับทั้งวธกเจตนาในปาณาติบาตกรรม แลอกุศลทุจริตต่างๆ ซึ่งจะให้ผลไปสู่อบายได้นั้นเปนนิราวเสสโดยแท้
แก้ข้อ ๓
ประการหนึ่ง ซึ่งข้อพระราชปุจฉาว่า ท้าวเวสวรรณมหาราชเปนพระโสดาบันบุทคล แต่อมนุษย์บรรสัชซึ่งเปนบริวารแห่งพระองค์นั้นล้วนกักขละทารุณนัก พระองค์จะว่ากล่าวสั่งสอนลงทัณฑกรรมด้วยกรรมกรณ์อันใด แลจะวางพระอารมณ์เปนประการใดนั้น อาตมภาพทั้งปวงพิจารณาเห็นโดยอัตโนมัตยาธิบายถวายวิสัชนาว่า ท้าวกุเวรุราชโลกบาลบพิตรก็จะวางพระอารมณ์เหมือนกันกับสมเด็จพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้ามหานาม เหตุพระองค์เปนพระโสดาด้วยกัน ซึ่งจะไว้พระอารมณ์ต่างกันนั้นหาบมิได้ แลกองบาปธรรมทั้งปวงที่เปนส่วนพระโสดาประหารเสียได้ดุจถวายวิสัชนาในบทก่อนนั้น ก็ขาดสูญจากพระกมลสันดานเหมือนกัน มาตรว่าพระองค์จะว่ากล่าวหมู่นิกรบรรสัช ก็จะมิได้ตัดเสียซึ่งจารีตเทวราชประเพณีสืบมา แต่ซึ่งจะปลงพระไทยลงในที่จะกระทำกรรมกรณ์อาญา ด้วยอกุศลเจตนานั้นบมิได้มี แลข้อซึ่งพระองค์มากราบทูลถวายอาฏานาฏิยปริตแก่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าเปนธรรมอาญาให้จตุพิธบรรสัชในพระพุทธสาสนาเจริญ เพื่อจะป้องกันสรรพอุปัทวันตรายอันบังเกิดแต่มนุษย์ไภย แล้วแลทูลบรรยายซึ่งเทพทัณฑอาญานั้น มีพระบาฬีในคัมภีร์สุมังคละวิลาสินีอรรถกถาว่า
“จตฺตาโร มหาราชาโน อาฏานาฏิยนคเร นิสินฺนา สตฺตพุทฺเธ อารพฺภ อิมํ ปริตฺตํ พนฺธิตฺวา เย สตฺถุ ธมฺมอาณํ อมฺหากฺจ ราชอาณํ น สุณนฺติ เตสํ อิทฺจิทฺจ กริสฺสามาติ สาวนํ กตฺวา” แปลเนื้อความว่า ท้าวมหาราชทั้งสี่นั้น มาสโมสรสันนิบาตณเมืองอาฏานาฏิยเทพธานี อันมีในชั้นจาตุมมหาราชิกเทวโลกแล้ว ทรงพระปรารภซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าทั้ง ๗ พระองค์มีพระพุทธวิปัสสิเปนต้น นิพนธ์เข้าเปนพระคาถา ชื่อว่าอาฏานาฏิยปริต เหตุรจนาในเมืองอาฏานาฏิยเทวนคร เพื่อจะถวายให้เปนธรรมอาญาแห่งสมเด็จพระธรรมราชเจ้า จึงให้กระทำพระราชกฤษฎีกา ประกาศแก่หมู่มนุษย์บรรสัชทั้งสี่จำพวก อันอยู่ในเทวอาณาประวัติแห่งพระองค์ให้รู้ทั่วกันว่า อมนุษย์ผู้ใดบมิได้ฟังซึ่งธรรมอาญาแลราชอาญาแห่งเรา แลเบียดเบียนซึ่งพุทธบรรสัช อมนุษย์นั้นก็จะต้องเทพกรรมกรณ์อย่างนี้ๆ อมนุษย์มเหสักข์ทั้งหลายจักพึงกระทำตามอย่างที่กระทำแก่ผู้ล่วงพระราชบัญญัติโดยจารีตเทวโลกประเพณีอันมีมาแต่ก่อน เบื้องว่าท้าวมหาราชทั้งสี่ มีท้าวกุุเวรุราชเปนต้น ตั้งไว้ซึ่งเทพอาญาประกาศแก่อมนุษย์บรรสัชดังนี้แล้ว ก็นำพระอาฏานาฏิยปริตนั้นมาถวายแก่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า ล้ำท้าวมหาราชทั้งสี่นั้น อันว่าท้าวเวสวรรณมหาราชพระองค์นี้ ประกอบด้วยวิสาสะกับพระบรมครูยิ่งกว่าท้าวโลกบาลทั้งสาม จึงทูลถวายพระอาฏานาฏิยปริต แลกล่าวบรรยายซึ่งเทพทัณฑอาญาแต่พระองค์เดียวว่า อมนุษย์ใดมิได้ฟังบังคับบัญชาข้าพระองค์ทั้งสี่แลกระทำประทุษฐร้ายแก่พุทธบรรสัช อันเจริญซึ่งพระอาฏานาฏิยปริตนี้ อันว่าอมนุษย์มเหสักข์ทั้งหลาย มียักขเสนาบดีเปนต้น ก็จะกระทำโทษแก่อมนุษย์ผู้นั้น ด้วยเทพกรรมกรณ์อย่างนี้ๆ แลจะได้กราบทูลว่า พระองค์จะกระทำโทษเองนั้นหามิได้ ประการหนึ่งซึ่งท้าวโลกบาลทั้งสี่ มีท้าวเวสวรรณผู้เปนพระโสดาบันบุคคลเปนประธานทรงบัญญัติซึ่งเทพอาญาประกาศแก่อมนุษย์ทั้งปวงนั้น หวังจะให้ยำเกรงซึ่งเทวกรรมกรณ์ห้ามมิให้เบียดเบียฬกระทำประทุษฐโทษแก่คณานิกรมนุษย์พุทธบรรสัชทั้งสี่ มีภิกษุบรรสัชเปนต้น ด้วยพระกระมลเมตรภาพพรหมวิหาร ใช่จะบัญญัติไว้ด้วยโทสะจิตรเจตนาประสงค์แต่จะคอยกระทำโทษอมนุษย์ทั้งปวงนั้นหามิได้ แลพระองค์ทรงบัญญัติห้ามปรามทั้งนี้ เปนพระอานิสงส์ถึงสองประการ คือจะคุ้มครองป้องกันรักษาพุทธบรรสัช ให้เสวยผาศุกวิหาร เหตุพ้นจากอมนุษย์ไภยนั้นหนึ่ง คือจะยังหมู่อมนุษย์ให้เว้นจากบาป ในกิริยาอันเบียดเบียฬบีฑาซึ่งพุทธบรรสัชนั้นหนึ่ง อนึ่งอันว่าเทพทัณฑบัญญัตินี้ มีอุประมาดุจบิดามารดาอันห้ามปรามบุตรว่า อย่าให้กระทำกรรมอันทารุณทุจริต ถ้าบมิฟังคำห้ามแลกระทำกรรมดังนั้นก็จะต้องพระราชอาญาอันสาหัสอย่างนั้นๆ กล่าวห้ามปรามทั้งนี้ด้วยสามารถมีจิตรกรุณาแก่บุตร จะให้พ้นจากทุจริตกรรมฉันใดก็ดี อันว่าเทพทัณฑบัญญัติ อันท้าวมหาราชทั้งสี่มีท้าวกุเวรุราชเปนต้นตั้งไว้ หวังจะห้ามปรามอมนุษยนิกรทั้งหลายให้ยำเกรงบมิให้กระทำประทุษฐโทษแก่พุทธบรรสัช ถ้าบมิฟังอาณัติกบรรหารแลกระทำกรรมดังนั้นก็จะต้องเทพอาญา อมนุษย์มเหสักข์จะกระทำอย่างนั้นๆ แลซึ่งทรงบัญญัติห้ามปรามทั้งนี้ ด้วยสามารถมีพระไทยกรุณาแก่หมู่อมนุษย์ทั้งปวง จะให้เว้นจากครุกรรมก็มีอุปไมยเหมือนดังนั้น อนึ่งผิวอมนุษย์ใดมีสันดานอันกระด้างบมิได้ยำเกรงซึ่งเทพทัณฑอาญา ด้วยทราบเหตุตระหนักว่าท้าวเวสวรรณมหาราชพระองค์ก็เปนพระโสดาบมิได้กระทำทุษฐโทษแก่บุทคลผู้ใดผู้หนึ่ง แลอมนุษย์ผู้นั้นจะเบียดเบียฬบีฑาแก่พุทธบรรสัช ซึ่งเจริญธรรมอาญานั้นก็ดี อันท้าวเทวมหาราชทั้งสามพระองค์ กับอมนุษย์มเหสักข์ทั้งหลาย มียักขเสนาบดีเปนต้น ที่ยังมิได้บรรลุแก่พระโสดา ก็คงจะกระทำโทษแก่อมนุษย์ผู้นั้น ด้วยเทพกรรมกรณ์อันสาหัส โดยนัยอันประกาศไว้นั้นเปนแท้ เหตุท้าวโลกบาลทั้งสี่ ตรัสปฤกษาพร้อมกันห้ามปราม หมู่อมนุษย์มิให้เบียดเบียฬบีฑาพุทธบรรสัช ใช่จะตรัสห้ามแต่ท้าวกุเวรราชอันเปนพระโสดาพระองค์เดียวนั้นหาบมิได้ เหตุฉนี้จึงเห็นว่าท้าวเวสวรรณมหาราช วางพระอารมณ์มัธยัตอยู่ตามเสกขภูมิ มิได้เกี่ยวช้องในกิจที่จะกระทำโทษแก่อมนุษย์บรรสัชโดยแท้ อาตมภาพทั้งปวงพิจารณาเห็นในพระคัมภีร์ต่างๆ กับทั้งอัตโนมัตยาธิบายถวายวิสัชนาดังนี้ ขอถวายพระพร ๚