พระราชปุจฉาที่ ๙
พระราชปรารภเรื่องพระสงฆ์ไทยห่มผ้าอย่างมอญ
กระแสพระราชโองการพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาทรงพระประชวรหนัก ทรงพระกรุณาโปรด ให้กรมหมื่นอุดมรัตนราษีจดมาพระราชทานสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรฯ เมื่อณวัน ๓ ๒ฯ ๓ ค่ำ ปีจอโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ เวลา ๒ ทุ่มเศษ มีข้อความดังต่อไปนี้
“พ่อมั่งขา พ่อจงเปนเชฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วาระน้ำจิตร แลอธิบายของข้าผู้พี่อันขันธทุพลภาพมากอยู่แล้ว ด้วยแผ่นดินศรีอยุทธยาทรงพระเจ้าแผ่นดินมาสองพระองค์แล้ว กับพี่ด้วยคนหนึ่งเปนสาม ตั้งแต่แผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อม สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านได้ปราบดาภิเศกปีขาน นับมาได้ห้าปีถึงปีมะแมพี่จึงเกิด ตั้งแต่จำความได้มาจนอายุได้ยี่สิบสองปี ได้บวชในแผ่นดินนั้น ต่ออายุได้ยี่สิบสามปีจึงสิ้นแผ่นดินไป มาเปนแผ่นดินของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอิกสิบหกปี จึงมาเปนแผ่นดินของพื่ พระภิกษุผู้เปนสงฆรัตนะในกรุงศรีอยุทธยาก็นุ่งสบงทรงจีวรเปนลูกบวบทั้งสิ้นด้วยกัน แต่พม่ารามัญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่นั้น แลเห็นครองผ้าผิดกับพระภิกษุของเรา จึงเรียกกันว่าพระมอญ เดี๋ยวนี้พระไทยห่มเปนมอญโดยอัตโนมัตแห่งตน ปัญญาของพี่เห็นว่า ถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสด็จอยู่ ก็เห็นว่าจะให้ประชุมพระราชาคณะได้ว่ากล่าวกันว่า ควรไม่ควรนานอยู่แล้ว พี่นี้กลัวจะเปนบาปบุญเปนคุณเปนโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไปจึงมิได้ว่ากล่าว แต่ใจนั้นรักแต่อย่างโบราณอย่างเดียวนั้นและ นานไปเบื้องน่าพระภิกษุไทยซึ่งห่มผ้าเปนมอญนั้นสูญไป พี่เห็นว่าจะควรกับศรีอยุทธยา ก็ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอิกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ได้เปนเจ้าแผ่นดินก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเปนเมืองมอญเมืองพม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น นี่และเปนความวิตกของพี่มากหนักหนา ให้พ่อเห็นแก่พี่ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเปนบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัตร ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระเจ้าเปนอันมาก แล้วก็เปนพระภิกษุศรีอยุทธยา พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่งให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอรับเอาไว้ครองได้ก็ให้ถวายเธอเถิด ถ้าเธอจะมิรับไว้ครองแล้วก็ให้เอาคืนมาเสีย ๚
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงพระผนวช ได้ทรงทำคำปฏิญาณถวายแด่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ เมื่อยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่นฉบับ ๑ มีข้อความดังนี้
กระหม่อมฉันเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ ขอรับพระราชทานสารภาพโดยสัตยโดยจริง ว่าแต่ก่อนเมื่อเปนภิกษุหนุ่มแรกบวช กำลังยังตั้งหน้าหาความรู้วินัยสิกขา ไปคบหากับสงฆ์พวกศึกษาคิดเลอียดไปต่างๆ ได้ฟังพูดกันว่าห่มอย่างรามัญเห็นถูกต้องด้วยเหตุต่างๆ ก็พลอยเห็นไปด้วย แต่ยังไม่ได้ห่มเองมิได้ ครั้นภายหลังพระสงฆ์อื่นๆ ท่านห่มเข้าไปในพระราชวัง เปนรับสังถามเลย ๆ มิได้มีรับสั่ง ก็พลอยคิดดีใจไปว่าทรงพระกรุณาโปรดให้ถือตามชอบใจ จึงพลอยทำด้วยต่อมาโดยรักไปข้างทางสิกขา หาได้นึกหาถึงพระเกียรติยศ แลการแผ่นดินเปนสำคัญแขงแรง ดังทรงพระราชดำริห์ครั้งนี้ไม่เลย ถ้านึกได้แต่ครั้งนั้น ก็เห็นจะมิได้ประพฤติมาดังนี้ อนึ่งเมื่อครั้งโน้นก็เปนแต่มีศิษย์เปนพระสงฆ์อนุจรอยู่ ๕ องค์ ๖ องค์ ไม่ทราบว่าจะมีศิษย์หามากมายไป ครั้นอาไศรยพระบารมีที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยง บริษัทจึงมากขึ้นจึงคิดเห็นบ้าง ว่าจะประพฤติห่มอย่างรามัญไม่สมควรแก่พระเกียรติยศแลประเพณีพระนคร แต่กาลเลยมานานแล้วก็กระดากอยู่ แลไม่มีผู้ใหญ่บังคับบัญชาเปนที่อ้าง ก็เกรงใจศิษย์หาพวกพ้องที่ประพฤติเหมือนกันนั้นอยู่ ครั้งนี้ได้รับสั่งในกรมเปนที่อ้างก็ยินดี จะประพฤติตามพระราชประสงค์ สนองพระเดชพระคุณมิให้มีความรำคาญเคืองพระบรมราชอัธยาไศรย พระเดชพระคุณเปนที่ล้นที่พ้น ชีวิตอยู่ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท อนึ่งก็จะได้เปนสามัคคีคารจะด้วยพระราชาคณะผู้ใหญ่เปนอันมากต่อไปในเบื้องน่าด้วย ควรมิควรสุดแต่จะโปรด ปฏิญาณนี้ถวายณวัน ๕ ๔ฯ ๓ ค่ำ ปีจอ โทศก ๑๒๑๒
พระลังกาในอารามนี้ ๑๑ องค์ ขอรับประทานตามใจเขาเถิด เพศบ้านเมืองครูอาจารย์เขาที่บวชอย่างนั้น ครั้นเคี่ยวเขนเข้าความจะอึงออกไปนอกบ้านนอกเมือง ๚